Drydye ย้อมผ้าแบบรักษ์โลก ลดน้ำลดมลพิษ

ทราบหรือไม่ว่าเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำในกระบวนการย้อมถึง 25 ลิตร และอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบัน Fast Fashion เข้ามาเป็นตัวเร่งทำให้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นแม้ไม่จำเป็น ยิ่งทำให้ทรัพยากรถูกใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับมลพิษในกระบวนการผลิตที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว 

บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอมากว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับ Core Value ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดการเกิดมลพิษ ต่อยอดธุรกิจสิ่งทอที่คนมักมองว่าเป็น Sunset Industry ให้สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน 

“เราเป็นบริษัทในเครือของเย่กรุ๊ปที่ทำ OEM ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 30 กว่าปี รับผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่หัวจรดเท้า ในการทำงานส่วนใหญ่เราจะให้ Core Value กับทรัพยากรเป็นหลักทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรผู้คนของเรา ซึ่งนี่เป็นความคิดตั้งแต่รุ่นอากงแล้ว คนมักพูดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็น Sunset Industrial เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราเป็น Sunset Industrial แบบที่คนอื่นพูด 

นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่เรามุ่งมั่นจะรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจของเราให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ” พิชญ์สินี เย่ Visual & Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทายาทรุ่น 3 ผู้นำเทคโนโลยี Drydye เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปในปี 2008 คุณพ่อของพิชญ์สินี เย่ และ กันตวัฒน์ เย่ Project Engineer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีโอกาสได้ไปดูงาน ITMA FAIR ที่สิงคโปร์ แล้วพบกับศาตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งนำเสนอวิทยานิพนธ์กับต้นแบบเครื่องย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ ซึ่งเมื่อลองทำความเข้าใจดูก็ทราบว่าเทคโนโลยีที่สามารถย้อมผ้าได้ด้วยตัวกลางอย่างคาร์บอนไดออกไซด์แทนน้ำเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ 

“ธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก มีงานวิจัยจาก Adidas พูดถึงเรื่องของธุรกิจสิ่งทอทั่วโลกที่ใช้น้ำทุก 2  ปี เท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เราจึงอยากเป็นผู้นำในด้านของการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรที่เราใช้ และเป็นเจ้าแรกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ จึงเริ่มลงทุนร่วมกับศาตราจารย์ท่านนี้และก่อตั้งบริษัทขึ้นที่เนเธอร์แลนด์รวมถึงเริ่มสร้างเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้น ในปี 2010 หลังจากที่เราล้มลุกคลุกคลานมาเราก็สามารถผลิตเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้นมาได้ซึ่งเราใช้ชื่อว่า Drydye โดยคอนเซ็ปต์ของเราคือเรานำผ้าเข้าไปย้อมแบบแห้งและนำออกมาโดยที่ผ้าก็ยังแห้งอยู่ ซึ่งนั่นทำให้กระบวนการย้อมด้วยเครื่อง Drydye ของเราไม่ต้องใช้น้ำจึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ระบบ” กันตวัฒน์ เสริม 

กระบวนการทำงานของ Drydye จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 มาย้อมแทนน้ำ ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 25 ลิตร ต่อการย้อมเสื้อ 1 ตัว รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังเก็บกักก๊าซไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียออกสู่ในชั้นบรรยากาศ ก๊าซ CO2 สามารถนำกลับมาย้อมซ้ำได้ เมื่อต้องการใช้งานจะใช้แรงดันสูงมาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปแบบ Supercritical Fluid หลังใช้งานเสร็จก็จะกลายเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม 

นอกจากนี้ผงสี Pure Dyes ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งผ้าที่ผ่านการย้อมสีด้วยก๊าซ CO2 จะใช้พลังงานลดลงถึง 50% รวมถึงลดการปล่อย CO2 ลง 50-75% เพราะการย้อมสีทั่วไปจะปล่อย CO2 ออกมา 517 กก.  ในขณะที่ Drydye ปล่อย CO2 เพียง 137 กก.และ 90% ที่ปล่อยออกมาสามารถนำไป รีไซเคิลได้ 

แม้ว่าในแง่ของนวัตกรรมจะมีความโดดเด่นและรักษ์โลกซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณพิชญ์สินีมองว่า Drydye ต้องมีวิธีในการสื่อสารแบรนด์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการจดจำที่มากกว่าแค่การเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้โดยแบรนด์ใหญ่เท่านั้น

“เราพยายามให้คนรับรู้ถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานที่พอคนนึกถึงเรื่องของการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำก็จะนึกถึง Drydye เพราะก่อนหน้านี้เราจับมือนำเทคโนโลยีของเราไปใช้กับแบรนด์ดัง แต่การสื่อสารผ่านแบรนด์เหล่านั้นไม่ได้เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงนวัตกรรม Drydye ถ้าเราสื่อสารแบรนด์ Drydye ให้ชัดเจนจะทำสามารถขยายการรับรู้ได้มากขึ้น”

ดังนั้นเรื่องของการการขยายฐานไปสู่กลุ่ม B2C เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณพิชญ์สินีเสริมว่าการใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญในการทำเสื้อผ้ากีฬาให้มีสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นจะทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าสิ่งที่เขาใส่สามารถสร้าง Impact ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ 

“เราต้องการให้คนพูดถึงเราและเทคโนโลยีของเรามากขึ้น เพื่อเดินหน้าไปใน Business Model ที่ไม่ได้แค่ทำเสื้อผ้าแต่ยังสามารถรับคืนกลับมาผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วกลับไปทำใหม่เป็นเส้นด้าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องทอผ้าใหม่ เพราะในปัจจุบันบนโลกนี้มี เสื้อผ้าเยอะกว่าความจำเป็นมากอยู่แล้ว”

ปัจจุบัน Drydye สามารถผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น  Adidas, Mizuno รวมถึงผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งขององค์กรต่างๆ เช่น TMB จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ในอนาคต Drydye ต้องการที่จะสื่อสาร Brand Story โดยเน้นเรื่องของการเป็น Environmental Friendly Brand และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับผ้าในส่วนอื่นๆ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์โดยค่อยๆให้ข้อมูลเพื่อสร้าง Awareness ให้คนซึมซับในสิ่งที่ Drydye ทำ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความใส่ใจกับคุณค่าของสินค้าว่าสร้างผลกระทบอะไรกับโลกมากกว่าจำนวนงานที่จ่ายในแต่ละครั้ง

เป้าหมายในปีนี้ของ Drydye คือเดินหน้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้าง Brand Awareness ให้ ลูกค้าจดจำแบรนด์ Drydye ว่าเป็นแบรนด์ที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมองถึงเป้าหมายในการขยาย ลูกค้ากลุ่ม Consumer และพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเสื้อผ้า 

กรณีศึกษาของ Drydye จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของ SMEs ในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสบนโลกใบนี้ ทั้งที่มาจากบริษัทผู้ผลิตเอง และมาจากเรียกร้องของจากทางผู้บริโภคซึ่งนับวันเสียงนี้จะดังขึ้นทุกวัน

SMEs รายไหนที่ซัพพลายเชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หัวข้อที่ 12 การผลิตและการบริธภคที่ยั่งยืนได้ที่ www.sdgs.nesdc.go.th/

บทความแนะนำ

Ricult Application สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต

รีคัลท์ (Ricult) เป็นแอพพลิเคชั่นการเกษตรแรกและแอพพลิเคชั่นเดียวของไทยที่คว้ารางวัล ชนะเลิศ Fintech Disrupt Challenge จากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์  พร้อมได้เงินสนับสนุนการลงทุน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 83 ล้านบาทเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาสู่ความตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มเกษตรอัจอัจฉริยะ (Smart Agriculture) สำหรับเกษตรกรไทยและทั่วโลกในอีก 3 ข้างหน้า

อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด (Ricult Thailand) กล่าวว่ารีคัลท์ เกิดขึ้นจากการที่ตนเองนำเสนอโครงการสตาร์ทอัพ ภายใต้แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ในรูปแบบของ Social Enterprise ขณะเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา ด้วยแรงบันดาลใจและวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรที่ประเทศไทยเก่งอยู่แล้วให้เก่งไปมากกว่านี้รวมถึงสนบสนุนให้เกษตรกรมีความพร้อมสำหรับเข้าสู่ยุค Digital disruption

อุกฤษ เล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รีคัลท์จึงเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นการเกษตรของไทยที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่า การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรที่ใช้แอพพลิเคชั่นของรีคัลท์จะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากรีคัลท์ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep technology อาทิ Big data, เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี Machine learning มาช่วยตอบโจทย์ของเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart farmer) รวมถึงช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

“ผมมองว่าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยผลิตอาหารเพื่อป้อนเป็นครัวโลกการทำเกษตรเป็นงานที่จ้างงานเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของคนในประเทศไทยถ้าเราไปดูสำมะโนครัวเรือนของประเทศประชากรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คนที่อยู่ในแวดวงการเกษตรและเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดคำถามคือจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรบ้านเราลืมตาอ้าปากได้ทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลง ทำอย่างไรที่จะทำน้อยได้มากในการใช้เทคโนโลยีใช้นวัตกรรมมาช่วยในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นเพราะว่าถ้าเกิดเกษตรกรรายย่อยอยู่ได้มีผลผลิตดีขึ้นมันก็จะดีกับภาคการเกษตรในอุตสากรรมภาพรวมของประเทศด้วย ทำให้สามารถส่งออกและแข่งขันกับต่างประเทศได้” อุกฤษ กล่าวและว่า 

แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ที่ SMEs สามารถนำไปใช้ในธุรกิจการเกษตรได้นั้น ประกอบด้วย 5 ฟังก์ชั่นหลัก คือ ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลชุดดิน ข้อมูลแหล่งน้ำ และข้อมูลการเพาะปลูกพืช โดยในส่วนของข้อมูลพยากรณ์อากาศนั้น รีคัลท์ สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้นานถึง 9 เดือน การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำที่ 70-75 เปอร์เซ็นต์มีการนำข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปี มาวิเคราะห์เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการประมวลผลเนื่องจากการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมนั้น รีคัลท์ สามารถมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่แปลงเกษตรทั่วประเทศไทยทุก 5 วันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสามารถช่วยวัดขนาดของแปลง รวมถึงสามารถช่วยเกษตรกรที่มีไร่ นาห่างออกไป 10-30 กิโลเมตร เกษตรกรสามารถมอนิเตอร์ หรือ ดูแปลงเกษตรของตนเองจากที่บ้านได้เลยว่าพื้นที่เพาะปลูกตรงไหนมีการเจริญเติบโตดีหรือไม่ดีได้ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาในการต้องเดินทางไปหรือ เกษตรกรที่ปลูกอ้อยสามารถดูการเติบโตของต้นอ้อยผ่านข้อมูลดาวเทียมได้ ทั้งนี้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกพืช และข้าวที่มีขนาด 5 ไร่ขึ้นไปในการใช้ดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์การเพาะปลูกแต่ละแปลง

“เราใช้เวลาในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศน่าจะเกือบ 2-3 ปี ดาวเทียมใช้เวลา3 ปีทีมเราเป็นบริษัทนักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก เราใช้เทคโนโลยีเอไอ (Artificial intelligence) คือการเอาคอมพิวเตอร์มาประมวลผลมาดูว่าภาพถ่ายดาวเทียมแปลงนี้พื้นดินตรงจุดนี้มีการเติบโตเป็นอย่างไร สามารถพยากรณ์ได้ถึงเก้าเดือนล่วงหน้าเราเอาข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปีมาให้เอไอในการวิเคราะห์เพื่อประมวลผลในอนาคต ตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคเอไอ ในการเอาเอไอมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจบนแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มของเรา” อุกฤษ กล่าวและว่า 

สำหรับข้อมูลชุดดินนั้น จะเป็นการนำเสนอข้อมูลของดินในพื้นที่นั้นๆว่าเหมาะที่จะปลูกพืชชนิดใด และข้อมูลแหล่งน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร

สุดท้ายข้อมูลการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด โดยปัจจุบันมีข้อมูลชุดปลูกพืชหลายชนิด อาทิ เช่น ข้าวอ้อยข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เป็นต้น เกษตรกรสามารถนำวิธีการปลูกและเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการปลูกพืชแต่ละชนิดและช่วยตัดสินใจทำให้การเพาะปลูกดีขึ้นความเสี่ยงลดน้อยลง

นอกจากนี้ รีคัลท์ ยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อจะไปนำไปช่วยบริษัทต่างๆหรือธุรกิจต่างๆที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับเกษตรกร  เช่นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร บริษัทปุ๋ย ร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต มีการนำข้อมูลมาช่วยในซัพพลายเชน ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างภาคธุรกิจกับเกษตรกร และระหว่างเกษตรกรกับลูกค้าปลายทางด้วย ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกำไรจากการการเกษตรมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการการเพาะปลูกเฉลี่ย 20-30 เปอร์เซ็นต์ 

อุกฤษ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้แอพพลิเคชั่นรีคัลท์มากกว่า 400,000 ราย มีพื้นที่ครอบคลุม ประมาณ 4-5 ล้านไร่ จากจำนวนเกษตรกร 15 ล้านคนทั่วประเทศมีพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศประมาณ 100 ล้านไร่ บริษัทตั้งเป้าที่จะมีเกษตรกรใช้แอพพลเคชั่นที่ 1 ล้านคน สามารถมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุม 20-30 ล้านไร่ในปีหน้า

และเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นมากขึ้น รีคัลท์ ได้ต่อยอดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ผัก ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง เสาวรส ผักกาด พริก มะม่วง เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มให้บริการชาวสวนได้ในปีหน้า 

“ที่ผ่านมาเราให้บริการพืชไร่เป็นหลัก เราจะเริ่มมุ่งสู่พืชสวนปีหน้าจะเน้นผักผลไม้ที่เรา กินกันมากขึ้น ผมมองว่าเกษตรกรบ้านเรามี 2 กลุ่ม คือพืชไร่ พืชสวนพืชไร่ เราค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว มีเกษตรกรหลายแสนรายเป็นพืชไร่ บ้านเราก็มีพืชสวนอีกหลายหมื่นหลายแสนคน ยังไม่มีใครเอาเทคโนโลยีมาจับ เราก็เลยมองว่ากลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่ม หนึ่งที่น่าสนใจ ที่เรามองว่าจะช่วยได้” อุกฤษ กล่าวและว่า

ในส่วนของพืชสวนจะมีลักษณะที่แตกต่างจากพืชไร่ คือ พืชสวนส่วนมากจะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ประมาณ 1-5 ไร่ต่อ 1 ราย ทำให้ดาวเทียมอาจจะไม่มีประโยชน์มากนักเท่าแปลงขนาดใหญ่และพืชสวนจะเน้นที่การเพาะปลูกของเกษตรพรีเมี่ยม ผักผลไม้ปลอดภัย ทำอย่างไงที่จะสามารถช่วยเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีลง ปลูกผัก และผลไม้ให้มีคุณภาพมากขึ้น 

อุกฤษ กล่าวว่า รีคัลท์ นอกจากนำเสนอข้อมูลให้กับเกษตรกรใน 5 เรื่องหลักแล้ว บริษัทยังร่วมกับพันธมิตรในหลายอุคสาหกรรม อาทิ ธนาคาร บริษัทขายปุ๋ย โรงงานรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ตในการใช้ระบบของรีคัลท์ในการซื้อขายสินค้าในรูปแบบe-market place มีการเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์และการปล่อยสินเชื่อด้วย โดยในปัจจบันมีการซื้อขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นของรีคัลท์กว่า 10,000 ล้านบาท  เช่น การรับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลจากเกษตรกร และเป็นตัวกลางในการรับซื้อซากของพืชเกษตร เช่น ซากมันสำปะหลัง ซากอ้อย เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดการเผาซากการเกษตร ขณะเดียวกันสามารถนำซากพืชไปแปรรูปเป็นพืชพลังงานมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถรองรับธุรกิจในรูปแบบของเศรษฐกิจชีวภาพ หรือBio economy ได้อีกด้วยทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถช่วยเกษตรกรจำหน่ายซากพืชเกษตรเข้าสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) สามารถรองรับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(Bio Circular Green)แล้วประมาณ 1,000 ตัน

อุกฤษ กล่าวว่า ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น รีคัลท์ มีการใช้ในประเทศไทยและประเทศปากีสถาน บริษัทคาดว่าจะร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอาทิ กัมพูชา เวียดนาม ในปีหน้า

“ตอนนี้ถึงยุคที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ในการทำเกษตร ช่วยลดความเลื่อมล้ำในประเทศไทยลง ทำให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งมากขึ้น คอนเซ็ปของเราคือเราทำแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรใช้ฟรีจุดประสงค์หนึ่งก็คือเราต้องการช่วยเขาในการเอาเทคโนโลยีมาปรับวิธีการทำเกษตร ช่วยเขาในการบันทึกรายรับรายจ่ายยทำให้เขารู้ว่าเขามีกำไรเท่าไหร่เป็นต้น เกษตรกรในบ้านเราเกือบ 20 ล้านคน ตอนนี้มีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี ยังเป็นโอกาสที่กระดูกสันหลังของชาติเราจะใช้นวัตกรรม ในการมาเปลี่ยนแปลงตัวเองผมอยากจะอยู่ในจุดที่ว่าถ้าเกิดองค์กรนานาชาติ สหประชาชาติ หรือผู้นำระดับโลก คิดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรช่วยลดความเลื่อมล้ำได้จะคิดถึงรีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้นคือเป้าหมายอีกซัก 3 ปีนี่แหล่ะผมอยากจะให้ รีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกแรกที่เค้าคิดถึงนั่นคือเป้าหมายของเรา” อุกฤษ กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ

สกู๊ตตาร์ จาก Messenger ออนไลน์ สู่บริการรถบรรทุกรับเทรนด์ดิจิทัล

สกู๊ตตาร์ (Skootar) เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทย รุ่นแรกๆที่ให้เข้ามาลงสนามโลจิสติกส์และดิลิเวอรี่ ชนิดที่ว่าหลายคนยังไม่รู้จักคำว่าแพลตฟอร์ม โดยเลือกลงแข่งในสนามที่มีการแข่งขันสูงอย่าง “โลจิสติกส์” ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นยักษ์ข้ามชาติ อาทิ ไลน์แมน แกร็ป และโกเจ็ท ซึ่งปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดยแอร์เอเชีย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ถึงขนาดที่ว่ามีผู้เล่นรายใหญ่ข้ามชาติบางรายต้องถอนตัวออกไป แต่สกู๊ตตาร์ที่เป็นสตาร์ทอัพสายเลือดไทยก็ยังสามารถยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

การเข้ามาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ของสกู๊ตาร์ นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากสกู๊ตตาร์ จะต้องหาจุดเด่นของตนเอง หรือมีความยูนิคในการให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก 

ม.ล. กมลพฤทธิ์ ชุมพล CEO บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด กล่าวว่าบริษัทเริ่มให้บริการรับ-ส่งเอกสาร (Messenger) ออนไลน์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกค้าทั่วไป สามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ภายใต้ชื่อ สกู๊ตตาร์ (Skootar) เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาจากการเข้าเรียนหลักสูตรสตาร์ทอัพ

“สกู๊ตตาร์ เริ่มมา 6 ปี ตอนนั้น ผมกับผู้ร่วมก่อตั้ง ได้เจอกันในคอร์สที่เรียนเกี่ยวกับการทำสตาร์ทอัพของพี่กระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท KBTG) เรามีการคุยไอเดียต่างๆ สุดท้ายมาลงตัวที่ไอเดียนี้เพราะว่า ณ เวลานั้นตอนนั้นก็ยังไม่มีสตาร์ทอัพ เจ้าไหนมาทำในเรื่องส่งของ ส่งเอกสาร ตอนนั้นก็จะมีเฉพาะ Grab taxi เราก็คิดประยุกต์มาเป็นส่งอาหาร ส่งเอกสาร เราก็รู้อยู่แล้วว่าใน กรุงเทพคน ใช้แมสเซ็นเจอร์ (Messenger) กันเยอะโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็เลยเริ่มทำตั้งแต่ตรงนั้น มาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 5 ปีครึ่ง ตอนนั้นผมคิดว่าเป็น Pain point ของธุรกิจ เอสเอ็มอีในบ้านเรา ทางเลือกของเค้าจะใช้ Messenger อิสระ อาจจะราคาสูงด้วยและมีปัญหาเรื่องที่ว่าไม่ได้มีเครือข่าย ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล” ซีอีโอ กล่าว

สกู๊ตตาร์ ในช่วงแรกมี แมสเซ็นเจอร์ให้บริการรับ-ส่งเอกสาร 40 คนโดยมีราคาในการใช้บริการเริ่มต้น ที่ 55 บาทจากนั้นจะราคาเพิ่มขึ้นคิดตามระยะทาง กิโลเมตรละ 9.50 บาท ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ทั้งในรูปแบบเงินสด บัตรเครดิต หรือเป็นรายเดือน 

“ตอนแรกรับสมัครคนขับและเทรนนิ่งเอง ในล็อตแรกมีคนขับ 40 คน มันก็เพียงพอ เพราะว่าลูกค้าก็ยังแทบไม่มี ปัจจุบันมีคนขับมากกว่า 15,000 คน คนขับทุกคนมีคะแนนการให้บริการจากลูกค้า และคนขับของสกู๊ตตาร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน แมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนสูงจะสามารถเห็นงานมากกว่าแมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนน้อย สำหรับแมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนน 4.2 -4.3 คะแนนจะเห็นออร์เดอร์งานน้อยมาก และในที่สุดก็จะออกจากระบบเอง”  ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าว

ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าวต่อว่า สกู๊ตตาร์ ไม่เพียงมีจุดเด่นในเรื่องของการรับ-ส่งเอกสารทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และคิดค่าใช้จ่ายตามระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางเท่านั้น ยังมีการันตรีของเสียหาย มีใบเสร็จรับเงิน หากมีการรับ-ส่งเอกสารและพัสดุของลูกค้าเสียหาย ลูกค้าสามารถเคลมค่าเสียหายได้ไม่เกิน 2,000 บาท ในส่วนของแมสเซ็นเจอร์ ยังมีการอบรมก่อนให้บริการ มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของแมสเซ็นเจอร์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความสบายใจในการใช้บริการแมสเซ็นเจอร์ รวมถึงมีระบบการให้คะแนนกับแมสเซ็นเจอร์ (Rating score) และเปิดโอกาสให้แมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนมาก สามารถที่จะเห็นการส่งงานมากกว่าแมสเซ็นเจอรที่ได้คะแนนจากลูกค้าน้อย อีกทั้งลูกค้าสามารถที่จะเลือกใช้แมสเซ็นเจอร์ที่ลูกค้าคุ้นเคยได้

นอกจากนี้สกู๊ตตาร์ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาระบบการขนส่งด้วย โดยมีการนำเทคโนโลยี ระบบจีพีเอส สำหรับติดตามงาน และโมบายน์แอพพลิเคชั่น มาช่วยในการวิเคราะห์เส้นทางมีการเขียนออการิทึมสำหรับระบบให้คะแนน (Rating score) ด้วย เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

“สกู๊ตตาร์ เป็นตัวกลาง เรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เรามีข้อมูลของพี่คนขับทั้งหมด มีระบบจีพีเอสในตัวแอพพลิเคชันมันจะโชว์ให้ลูกค้าเห็นเลยว่าพี่คนขับอยู่ตรงไหน ทำงานอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เสร็จหรือยัง เอาของไปถึงหรือยัง ถ่ายรูปได้มีการเซ็นลายเซ็นของผู้รับ ผู้ส่งมาได้และก็มีหลักฐานที่เก็บเอาไว้ได้ชัดเจน มันก็เกิดความสบายใจ ว่าของเรามันไปถึงจริง หรือว่ามันอยู่ตรงไหนแล้วมันตกหล่นหรือป่าว ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆเกิดอุบัติเหตุ คนขับติดต่อไม่ได้ หายตัวไปเราก็มี call center support ว่ามีจริง ทำให้ลูกค้าสบายใจขึ้นในแง่ของความสบายใจในการใช้บริการ สกู๊ตตาร์ เป็นบริการเรียก Messenger online ณ ปัจจุบันเราเรียกตัวเองว่าเราเป็น บริการขนส่งออนไลน์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี” ซีอีโอ กล่าว 

ปัจจุบันสกู๊ตตาร์ ได้พัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมีคุณภาพให้กับลูกค้าโดยเน้นลูกค้ากลุ่มองค์กร และธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นหลัก ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่บริการรับ-ส่งเอกสาร โดยแมสเซ็นเจอร์ด้วยรถมอเตอร์ไซต์ บริษัทยังขยายบริการไปยังการส่งสินค้าที่มีขนาด 50x50x80 เซ็นติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ส่งอาหาร บริการส่งพัสดุด้วยรถสี่ล้อ ซึ่งเริ่มให้บริการในปีที่ผ่านมา มีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 120 บาท

บวกระยะทางที่เพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 10 บาท และภายในปลายปีนี้จะมีการนำรถกะบะมาให้บริการ ส่งของส่งพัสดุด้วย

“ตอนนี้มีมอเตอร์ไซต์กับรถสี่ล้อ เป็นรถสี่ล้อ 4 ประตู 5 ประตู ที่ให้บริการอยู่ และภายในปลายปีนี้ไตรมาสสาม ไตรมาสสี่จะมีรถประภทอื่นด้วยพวกรถกะบะ ต่างๆเข้ามาโดยตัวระบบยังใกล้เคียงกันอยู่เพียงแต่ว่าจะมีตัวเลือกให้กับทางลูกค้ามากขึ้น และเราต้องปรับตัวออการิทึมบางส่วน เนื่องจากมอเตอร์ไซค์อาจจะมีการขนส่งเป็นแบบนึง ไม่ค่อยมีรถติดไม่ต้องสนใจเรื่องรถติด พอเป็นรถใหญ่ ก็ต้องสนใจเรื่องรถติดด้วย” ซีอีโอ อธิบาย

ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าวต่อว่า ทิศทางในการทำธุรกิจของสกู๊ตตาร์จะเน้นให้บริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจเอสเอ็มอี ร้านอาหาร มุ่งเพิ่มความหลากหลายของบริการเพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอี และมีบริการรองรับลูกค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายลูกค้าไปยัง ชลบรี พัทยา ศรีราชา รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ อาทิ นครราชสีมา และ เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะขยายบริการไปเชียงใหม่ในกลางปีหน้า เพื่อรองรับความต้องการและตอบโจทย์ลูกค้า เนื่องจากตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมดิลิเวอรี่ ยังโตได้อย่างต่อเนื่อง จริงๆจะต้องมองแยกเป็น เซ็กเม้นท์ (Segment)ด้วย ของอาหารชัดเจนอย่างไงก็โต ทุกคนเห็นพร้อมต้องกันแล้วว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมา สั่งอาหารกินที่บ้านเยอะขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็โตต่อ เพราะว่าที่เมืองนอก เมืองจีนก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะกว่านี้เทียบกับตลาดอาหารทั้งหมด ของเราก็โตต่อ ลักษณะธุรกิจคล้ายๆกัน อันที่สอง เป็นพวกส่งสินค้าอันนี้ก็เป็นเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่เราก็พอเห็นจากอเมริกาเหมือนกันว่า มัน ด่วนขึ้นเรื่อยๆ คือแต่เดิมส่งกันถ้าเราจำได้สมัย 5ปีที่แล้ว เราซื้อของ Lazada ส่งของ2 วันเราก็ว่าเร็วแล้ว เดี๋ยวนี้เริ่มมาวันเดียว หรือว่าภายในวันก็จะเริ่มมี ซึ่งตรงนี้มันเป็นบริการขนส่งด่วนของ สกู๊ตตาร์ก็เริ่มเข้ามามีส่วนในสินค้าบางประเภท ยกตัวอย่างเช่น สินค้าไอที” 

ปัจจุบันสกู๊ตตาร์ ให้บริการหลัก ประกอบด้วย บริการรับ-ส่งจดหมาย ขนส่งของด้วยรถยนต์ ส่งอาหาร รวมถึงช่วยพันธมิตร บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร (Food delivery) ภายใต้ชื่อ โรบินฮู้ด (Robinhood) ในการส่งอาหารให้กับลูกค้าและ ขนส่งออนดีมานท์ (On demand) ซึ่งเป็นบริการส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง เช่นบริการส่งสินค้าไอที โดยบริษัทจะร่วมกับพันธมิตร เมื่อพันธมิตรมีการเปิดตัวสินค้าใหม่และต้องการส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมงหลังเปิดตัวสินค้าใหม่ ส่งสินค้าสำหรับลูกค้าที่ซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ ไปยังลูกค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นต้น

นอกจากนี้ในปีผ่านมาบริษัทยังขยายธุรกิจในรูปแบบการขายไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทที่ต้องการระบบรับส่งสินค้าของสกู๊ตตาร์ โดยบริษัทจะมีการปรับซอฟต์แวร์ (Customized software) ให้ตรงความต้องการของธุรกิจเพื่อลูกค้าธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งสินค้าภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับสัดส่วนลูกค้าของบริษัท กลุ่มลูกค้าบีทูบีและเอสเอ็มอียังเป็นลูกค้าหลักมีสัดส่วนอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าทั่วไป

“ลูกค้าหลักของเรา เป็นองค์กร บีทูบีและเอสเอ็มอี เราก็อยู่ในจุดที่ว่าเราดูแลลูกค้าที่เราทาร์เก็ต (Target) หรือว่าที่เราเกิดมาเพื่อเขาซึ่งมันก็คือกลุ่มเอสเอ็มอีก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเขาให้เยอะขึ้น และสร้างประสบการณ์หรือว่าบริการที่มันตอบโจทย์เขาให้ต่อเนื่อง” 

นอกจากนี้ ม.ล. กมลพฤทธิ์ยังกล่าวถึงธุรกิจในช่วงโควิด-19 ว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พอสมควร ทำให้มีการให้บริการลดลงในช่วงแรกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบในการรับ-ส่งเอกสารของลูกค้าบริษัททัวร์ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมีลูกค้ามาใช้บริการในการส่งอาหารมากยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีฐานลูกค้าองค์กรที่ยังมีการใช้บริการอย่างต่อเนื่องประมาณ 20,000 ราย

ม.ล. กมลพฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงโควิดนี้ สกู๊ตตาร์ นอกจากให้บริการส่งเอกสาร ส่งอาหารและส่งพัสดุแล้ว ยังร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี สำนักอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งอาหารให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ทั่วกรุงเทพมหานครด้วย

อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 บริษัทมีความพร้อมในการดูแลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น และมีความรวดเร็วพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีการบริหารกระแสเงินสดที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงรักษาฐานลูกค้า ให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และดูแลทีมให้ดีที่สุดมีระบบที่ยืดหยุ่นสามารถรองรับการทำงานที่บ้านให้กับพนักงาน (Work form home) 

นอกจากนี้บริษัทยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) มีการทำ Data mining ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลจำนวนมาก (Big data) เพื่อให้บริษัทสามารถวางแผนและกำหนดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการปรับออการิทึมต่างๆ เพื่อในการปรับเส้นทางทำให้การบริการขนส่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับบริการขนส่งออนไลน์เคียงคู่ธุรกิจไทย ที่มีบริการที่หลากหลาย มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยประสิทธิภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง

และบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายบริการทั่วประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า

“สกู๊ตต้าเราเน้นพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจตรงนี้ทุกคนพยายามแข่งกันอยู่ว่าใครสามารถให้บริการได้ในราคาที่เหมาะสมจุดเด่นของเราเน้นในเรื่องคุณภาพการบริการดูแลคนขับที่มีคุณภาพ” ม.ล. กมลพฤทธิ์ กล่าว

บทความแนะนำ

“เคยนิคะ” เอากะปิออกจากกระปุก ความคิดนอกกรอบจากสินค้าดั้งเดิม สู่การเป็นผู้ส่งออกได้

การเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตกะปิขายในแบรนด์ “กะปิแม่ยินดี” กะปิขึ้นชื่อในจังหวัดพัทลุง ทำให้คุณสุขศิริ ฤทธิเดช มีความตั้งใจที่จะสานต่อกิจการจากรุ่นแม่อยู่แล้ว แต่ประสบการณ์การทำงานในประเทศอังกฤษนาน 7 ปี ได้เปลี่ยนความคิดและทำให้เธอตัดสินใจที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไปไกลกว่าเดิม 

หลังกลับมาจากอังกฤษสิ่งแรกที่เธอทำคือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยการเข้าสู่โมเดิร์นเทรด แต่ก็ต้องพบว่าเจอโจทย์หิน เพราะการเอากะปิเข้าห้างสรรพสินค้านั้นเต็มไปด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัดมากมายที่กะปิแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้ ไหนจะมีคู่แข่งที่อยู่ในชั้นวางของอยู่แล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่ากะปิแม่ยินดี นั่นหมายความว่า หากลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักรสชาติกะปิแม่ยินดีมาก่อน ย่อมไม่เลือกซื้อกะปิที่ราคาแพงกว่า  

การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่เคยวางไว้เป็นตัวตั้งในการทำงานจึงถูกตีตกไป ในเมื่อการเปลี่ยนใจลูกค้าที่เคยใช้กะปิในกระปุกแบบเดิมเป็นเรื่องยาก เลยหันมาสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วยวิธีการใช้กะปิแบบใหม่ซะเลย 

สุขศิริ ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายขาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ กล่าวว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายที่ใหม่ที่เธอตั้งใจที่จะสร้างฐานขึ้นมา ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมในกลุ่มนี้พบว่ามีทัศนคติว่าอาหารเมนูกะปิทำยาก หากอยากกินต้องไปที่ร้านอาหารเท่านั้น  ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่ชอบกะปิเพราะกลิ่นเหม็น เลยนำโจทย์นี้มาคิดเป็นของที่มีนวัตกรรมให้ง่ายต่อการใช้งานรองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่

“เราวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นทั่วประเทศอายุ 22 ปีขึ้นไป โดยไม่เน้นภาคใดภาคหนึ่ง หลังทำการวิจัยแล้วพบว่า แม้คนใต้จะเป็นกลุ่มกินกะปิที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นซึ่งยังนิยมใช้กะปิแบบเดิมอยู่ดี ดังนั้นจึงตั้งใจเจาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบลองของใหม่ และอยากทำกับข้าวด้วยวิธีไม่ยุ่งยาก”

แน่นอนว่าการทำกับข้างด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยากจำเป็นต้องเอากะปิออกจากประปุก มาเป็นผลิตภัณฑ์กะปิแบบใหม่ 

เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ทีมงานจึงทดลองเปลี่ยนรูปแบบเป็นก้อนกะปิคล้ายซุปก้อน และกะปิแบบผงปรุงรส แต่ก็พบว่าทั้ง 2 อย่างนี้ยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ เพราะรสชาติไม่อร่อยเท่าเดิม จนสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบซอสกะปิปรุงรส ซึ่งนอกจากจะสามารถรักษาต้นตำรับความอร่อยไว้ได้แล้ว ยังตอบโจทย์ด้านความสะดวกต่อการใช้งาน เหมาะกับการใช้ชีวิตในเมืองที่ทำกับข้าวไม่เป็นก็สามารถเทซอสปรุงอาหารในเมนูกะปิได้ง่ายๆ 

 “ซอสกะปิ “เคยนิคะ” ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมครั้งแรกในตลาดซอสปรุงรสที่ทำมาจากกะปิ โดยนำกะปิซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนใต้มาผ่านกระบวนการการย่อยสลายโดยเอนไซม์ ย่อยโปรตีนและไขมันจากกุ้งเคย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และจุลินทรีย์ในกระบวนการหมักโดยธรรมชาติ ช่วยทำให้เกิดกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมคงเอกลักษณ์การเป็นกะปิไว้ สามารถใช้งานในรูปแบบซอสเหมือนกับซอสมะเขือเทศ และซอสพริก แก้ปัญหาการใช้งานกะปิในรูปแบบเก่าที่ใช้งานยุ่งยากและต้องมีขั้นตอนการเตรียมและการชั่งตวงที่ยุ่งยาก ไม่เหมาะกับในยุคสมัยปัจจุบัน และยังลดปัญหาการปนเปื้อนจากการผลิตกะปิในปัจจุบัน เหมาะกับการนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้กะปิเป็นตัวชูรสอาหารให้กลมกล่อม และทำให้ทานอาหารได้อร่อยขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็น Base Sauce หรือเครื่องปรุงรสพื้นฐานแทนการใช้หรือร่วมใช้กับซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า และน้ำปลา จึงเป็นซอสที่ทำอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งผัด ยำ และน้ำพริก”

สุขศิริ เน้นย้ำว่า เนื่องจากซอสกะปิแบบนี้ไม่เคยมีในไทยมาก่อน เคยนิคะจึงวางตำแหน่งซอสกะปิเป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานที่สามารถไปใช้กับซอสอื่นได้ แม้จะตีตลาดในซอสผัด แต่ไม่ขอไม่แข่งกับใคร เพราะอยากให้ซอสกะปิเคยนิคะไปช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น 

สุดท้ายนี้สุขศิริ มีแนวคิดการต่อยอดกิจการครอบครัวมาฝากว่า การต่อยอดด้วยวิธีคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในอีกทางหนึ่งทายาทต้องกลับไปหา Core Value ของธุรกิจรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้เจอ เพื่อนำมรดกเหล่านั้นมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

“ทายาทผู้รับไม้ต่อต้องคุยกับรุ่นพ่อแม่ และเข้าใจเขาเยอะๆ อาจจะเหนื่อยในการอธิบายในสิ่งใหม่ที่เรากำลังจะทำ ก็ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันโดยใช้เหตุผล หรือผลการสำรวจต่างๆ มาอธิบาย ซึ่งการทำธุรกิจครอบครัว ข้อดีคือทายาทไม่ต้องมานับศูนย์ใหม่ แต่ต้องหาแวลูเพื่อต่อยอด สำหรับซอสกะปิเคยนิคะ เรามีคอนเซ็ปต์การพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลังจากที่เรามั่นใจว่ารสชาติกะปิของครอบครัวอร่อยไม่แพ้ใคร เราจึงขยายฐานหาคนกลุ่มลูกค้าใหม่ และใช้ความได้เปรียบที่เราเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่ารุ่นพ่อแม่ แล้วหาทางพัฒนาสินค้าแบบใหม่ที่มีรสชาติความอร่อยแบบกะปิแม่ยินดีเหมือนเดิม และช่องทางจัดจำหน่ายให้โดนใจกลุ่มนี้”     

คอนเซ็ปต์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังยังถูกนำมาใช้กับการตั้งชื่อแบรนด์ “เคยนิคะ” ด้วย

“ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะใช้ชื่อที่ทำให้คนจำง่าย จึงเลือกที่จะใช้ชื่ออื่นแทน “กะปิแม่ยินดี” ซึ่งเป็นแบรนด์เดิม แต่ในเวลาเดียวกันแบรนด์นั้นก็ต้องแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของภาคใต้ด้วย จึงนำคำว่า “เคย” ซึ่งแปลว่ากะปิในภาษาใต้ แล้วกะปิก็ทำมาจากกุ้งเคยมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาคำที่เรียกแล้วเข้าปาก เลยเป็นที่มาของเคยนิคะ สร้างการจดจำได้ทันที เพราะคนใต้ที่รู้จักคำว่า “เคย” อยู่แล้วก็เข้าใจว่ามันคือกะปิ ส่วนใครที่ไม่รู้จักคำนี้อาจจะคิดว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นหรือเปล่า ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ก็ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ได้เร็วขึ้นในอีกทางหนึ่ง”

สำหรับช่องทางการจำหน่ายนั้น ปัจจุบันซอสกะปิเคยนิยะขนาด 290 กรัม ราคาขวดละ 79 บาท มีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่างโฮมเฟรชมาร์ท ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และวิลล่า มาร์เก็ต ส่วนแผนต่อไปจะเป็นการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และ CLMV ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาซอสกะปิสูตรใหม่ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม คือการนำอาหารใต้สู่อาหารโลก โดยใช้นวัตกรรมผสมผสานกับรากเหง้าของอาหารท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย คาดว่าภายในปีหน้าจะสร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการซอสได้อีกครั้ง

บทความแนะนำ

ถูกดี มีมาตรฐาน ร้านโชวห่วยโมเดลใหม่ที่เป็นมากกว่าร้านค้าปลีก

หากมองเข้ามาที่ตัวเลขร้านค้าปลีกขนาดเล็กในรูปแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าโชวห่วยแล้ว จะพบว่า ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ราว กว่า 4 แสนร้าน ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่ไม่ขึ้นลงมานานหลายปี เพราะขณะที่มีร้านโชวห่วยหลายรายต้องปิดกิจการไป แต่ก็มี SMEs ที่สนใจเปิดร้านโชวห่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขรวมอยู่ในระดับนี้มาหลายปี 

ร้านโชวห่วย ถือเป็นช่องทางขายสำคัญของสินค้าอุปโภคและบริโภค เพราะนอกจากจะเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างลงลึกในระดับหมู่บ้านแล้ว ยังถือเป็นช่องทางขายของสินค้าโดยเฉพาะกับแบรนด์เล็กๆ ที่มีอำนาจต่อรองกับเชนค้าปลีกโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ไม่มากนัก ได้ใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับรากหญ้า

ด้วยการที่ เป็นช่องทางขายที่เข้าถึงคนทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี ทำให้มีการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่หากสามารถร้อยเรียงร้านค้าพวกนี้เข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนที่สร้างขึ้น โอกาสที่จะมีเครือข่ายการขายที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าก็มีมากตามไปด้วย ทำให้หากสามารถรวบรวมตัวเลขร้านโชวห่วยเข้ามาอยู่ในเชนที่สร้างขึ้น โอกาสที่จะพัฒนาหรือต่อยอดให้เป็นมากกว่าร้านขายสินค้า แต่เป็นศูนย์รวมของการให้บริการรูปแบบต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปนัก

การสร้างโมเดลร้านโชวห่วยในรูปของ “คอนวีเนียนสโตร์ ท้องถิ่น” ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของเจ้าพ่อคาราบาวแดง เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ที่ทำในนามบริษัท บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการขยับตัวทางธุรกิจครั้งนี้ ไม่ได้มองแค่การมีร้านค้าปลีก แต่มองถึงการเป็น Point of Everything ที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้มากมาย

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ถูกส่งเข้ามาในตลาดครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมองถึงการเข้ามาจับมือกับผู้ประกอบการร้านโชวห่วยที่มีประมาณกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐาน โดยทีดี ตะวันแดง จะเป็นคนเข้าไปช่วยวางระบบบริหารจัดการค้าปลีกรูปแบบใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการ และการทำรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถยกระดับการทำธุรกิจให้มีมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศได้ ซึ่งถือเป็นโมเดลการทำร้านโชวห่วยที่ค่อนข้างน่าสนใจ

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทีดี ตะวันแดง ตั้งใจจะให้ SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการร้านโชวห่วยเข้ามาร่วมอยู่ในเชนด้วยการไม่คิดค่าแฟรนไชส์ แต่เป็นการแชร์กำไรร่วมกัน โดยร้านโชวห่วยที่สนใจต้องเสียเงินค่ามัดจำสินค้าจำนวน 2 แสนบาท และเงินจำนวนนี้จะได้คืนเมื่อเลิกทำ 

ขณะที่ ทีดี ตะวันแดง จะจัดหาสินค้าหมุนเวียนเข้ามาขายในร้านให้ และจะใช้วิธีแบ่งผลกำไรกันโดยเจ้าของร้านโชวห่วยจะได้ 85% ส่วนทีดี ตะวันแดง จะได้ 15% ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างดี เพราะเงินลงทุนที่ต้องควัก หากไม่มีเงินก้อน ก็สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอย่างธนาคารกสิกรไทยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ 

หลังจากตกลงร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว จะต้องมีการตกแต่งร้านให้ออกมาในมาตรฐานเดียวกัน โดยทีดี ตะวันแดงจะเป็นคนวางระบบบริหารจัดการให้ โดยจะมีการลงเครื่อง P.O.S หรือ Point of Sales ให้ ซึ่งเจ้าเครื่องดังกล่าวนี้ จะเป็นตัวเชื่อมโยงระบบการขายมาที่บริษัทแม่ ทำให้สามารถรู้ข้อมูลว่าสินค้าตัวไหนขายดี ไม่ดีอย่างไร 

ทีดี ตะวันแดง เริ่มทดลองทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน ด้วยการลงทุนเองเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยทดลองเปิดร้านในจังหวัดนครปฐม อุดรธานี ขอนแก่น และพิษณุโลก พบว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาร่วมอยู่ในเชน โดยเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ย้ำว่า ไม่ได้ต้องการแข่งกับร้านโชวห่วยที่มีอยู่ แต่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับให้โชวห่วยมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะปัญหาที่ผ่านมาของการทำร้านโชวห่วยก็คือ การขาดการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงขาดเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการร้านค้าปลีกในปัจจุบัน

ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะมีการเปิดร้านถูกดี มีมาตรฐานให้ครบ 6,000 ร้านภายในปีนี้ ส่วนในปีนี้ จะขยับขึ้นไปเป็น 30,000 ร้าน และจะเพิ่มเป็น 50,000 ร้านค้าภายในปี 2566 ซึ่งการมีจำนวนสาขาที่มากขนาดนั้น จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ก้าวขึ้นมาเป็นเชนค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าระดับรากหญ้าได้แบบลงลึกทั่วประเทศ ซึ่งนั่นจะทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การเป็น Point of Every Thing หรือเป็นเครือข่ายที่ทำได้ทุกสิ่งอย่าง ทั้งในเรื่องของการให้บริการจ่ายบิล ลงทะเบียน หรือแม้แต่การสร้างรายได้จากค่าโฆษณา ณ จุดขาย 

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เสถียรเลือกโมเดลการทำธุรกิจแบบ Sharing โดยยืนยันว่า นอกจากการดึงร้านโชวห่วยเข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจแล้ว ยังจะเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเจ้าของสินค้าโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กๆ ในพื้นที่ที่สามารถใช้เป็นช่องทางขายได้ โดยเริ่มทำบ้างแล้วกับสินค้าในกลุ่มน้ำปลาร้าที่มีผู้ผลิตในพื้นที่ภาคอีสานเข้ามาเป็นพันธมิตร นำสินค้ามาวางขายในสาขาต่างๆ 

ปัญหาใหญ่ของเจ้าของสินค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ในการนำสินค้าเข้าไปวางขายในเชนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ก็คือ การมีต้นทุนในการขายค่อนข้างมาก จากค่าเรียกเก็บต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs บางรายต้องเลือกที่จะธุรกิจในรูปแบบของผู้รับจ้างผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ให้กับเชนค้าปลีกแทน ขณะที่มีไม่น้อย ต้องยอมที่จะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อให้มีที่ยืนในร้านค้าปลีกที่เป็นเชนขนาดใหญ่

ขณะที่ การมียอดสั่งซื้อจำนวนมากจากการทำร้านซี เจ เอ็กซ์เพรส ที่เป็นซูเปอร์ คอนวีเนียนสโตร์ในเครือของทีดี ตะวันแดงที่มีอยู่มากกว่า 600 สาขาในปัจจุบัน ทำให้มีวอลุ่มการสั่งซื้ออยู่แล้ว ส่งผลให้ได้ต้นทุนสินค้าที่ค่อนข้างต่ำ จึงสามารถขายสินค้าในราคาถูกได้ ซึ่งเสถียรบอกว่า จากการทดลองทำร้านของตัวเอง สามารถมียอดขายออกมาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่โชวห่วยทั่วไปที่ทำได้เฉลี่ยวันละ 2,000 – 3,000 บาท ทำให้แต่ละร้านที่ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ สามารถมีรายได้เฉลี่ย 2 – 3 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่สามารถอยู่ได้อย่างสบายในต่างจังหวัด

เสถียร ย้ำให้เห็นภาพว่า ธุรกิจค้าปลีกมีมาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ หักค่าบริหารจัดการแล้วเหลือแค่ 2% การวางเป้าหมายให้ร้านถูกดี มีมาตรฐานเป็น Point of Everything จึงถือเป็นตัวช่วยที่จะทำให้สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ตามมาในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการทำค้าปลีกในลักษณะของการเป็นเชนที่มีจำนวนสาขามากๆ นั้น ระบบหลังบ้านต้องดี ซึ่งการทำร้านซีเจ เอ็กซ์เพรสมาก่อน ทำให้มีการลงทุนเรื่องของระบบและได้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยเป็นพลังขับเคลื่อน ส่วนเรื่องของคลังสินค้าที่จะเข้ามาดูแลการกระจายสินค้าเข้าร้านนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 8 แห่งทั่วประเทศ เป็นคลังสินค้าในรูปแบบเช่าซึ่งเป็นการทดสอบตลาดก่อนที่จะมีแผนการลงทุนทำคลังสินค้าของตัวเอง 15 แห่งในปีหน้านี้ ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยต่อแห่ง 3,000 ล้านบาท

ถูกดี มีมาตรฐาน ถือเป็นอีกการขยับตัวเพื่อปูทางไปสู่การเป็นร้านโชวห่วยโมเดลใหม่ที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั่วประเทศ ซึ่งทำให้คนที่อยากจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ SMEs ร้านโชวห่วย แม้จะไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำได้ทันที 

ถูกดี มีมาตรฐานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบ SMEs ที่วันนี้สามารถสร้างธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กของตัวเองโดยมีระบบการบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนในวงเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลหรือขอร่วมเป็นพันธมิตรได้หลากหลายช่องทาง ทั้งโทรศัพท์ที่หมายเลข 02 023 8888 เว็บไซต์ www.ร้านถูกดีมีมาตรฐาน.com เฟสบุ๊กร้านถูกดีมีมาตรฐานพาร์ทเนอร์ และ Line official @tdofficial หรือสมัครโดยตรงที่สำนักงานใหญ่ อาคาร 393 สีลม ชั้นที่ 3 เลขที่ 393 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 

บทความแนะนำ