บทบาทของบรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่เพียงทำหน้าที่ห่อหุ้ม และปกป้องสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็น “Silent Salesman” ที่ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็น “Marketing Tools” ทั้งด้านการสร้างแบรนด์, สร้างการรับรู้, สร้างความแตกต่าง, เป็น Touch Point สื่อสารแบรนด์ หรือใส่แมสเสจที่ต้องการบอกผู้บริโภค รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์ กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
จากหน้าที่แฝงที่มีมากมายดังกล่าว ทำให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ ทรงพลังมากเพียงใด! ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงเป็นกระบวนการสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาคุณภาพสินค้า
และรู้หรือไม่ว่า ?!? ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์สินค้าไทยหลายแบรนด์ สามารถคว้ารางวัลจากเวทีประกวดการออกแบบระดับโลกมาแล้วมากมาย โดยหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา และผลักดันแพคเกจจิ้งไทยไปสู่ระดับสากล คือ “PROMPT DESIGN” บริษัทออกแบบสัญชาติไทย ก่อตั้งโดย “สมชนะ กังวารจิตต์”หรือ “คุณแชมป์” ได้ริเริ่มบริษัทเมื่อ 15 ปีที่แล้ว
ถึงวันนี้ “PROMPT DESIGN”สามารถพาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยฝีมือคนไทย ไปคว้ารางวัลจากเวทีออกแบบ ทั้งไทย และระดับโลกถึง 117 รางวัล เช่น จากเวที Pentawards,The Dieline, Reddot, IF Design Award, Good Design Awards, DEmark
จาก Passion “รักการออกแบบ” สู่จุดเริ่มต้น “บริษัทแพคเกจจิ้งดีไซน์”
เส้นทางของ PROMPT DESIGNมาจากความรักในการออกแบบของ “สมชนะ”ซึ่งเรียนจบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่กว่าจะมาเป็นบริษัทออกแบบชื่อดังที่คว้ารางวัลออกแบบระดับโลกมากมายในวันนี้และสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่าย!
เพราะในอดีต ประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญการออกแบบบรรจุภัณฑ์มากนัก และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่กับ 2 สายธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจเอเยนซีโฆษณา เนื่องจากยุคนั้นเอเยนซีให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ทำโฆษณา, อีเว้นท์, โรดโชว์ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และ 2. สายผู้ผลิต เช่น โรงงานใหญ่ มีบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือร้านออกแบบป้าย
แต่คุณแชมป์ ไม่ยอมแพ้ ยังคงเดินหน้าปลุกปั้น PROMPT DESIGN โดยระหว่างที่รองานเข้ามา ได้ร่วมกับทีมงาน ออกแบบและผลิตเสื้อยืด จำหน่ายในงาน Fat Radio โดยดีไซน์เป็นลายเนื้อสัตว์ และลายผัก แล้วทำแพคเกจแบบม้วนห่อไว้ และทำเชลฟ์วางสินค้าเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ต แตกต่างจากร้านอื่นที่จะแขวนเสื้อยืดโชว์บนราว ทำให้เสื้อของคุณแชมป์ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน จนขายหมดเกลี้ยง
ต่อมา “PROMPT DESIGN” เริ่มมีงานเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ ออกแบบShopping Bag ของแบรนด์ Kokoa Hut ทำเป็น Interactive Packagingบนถุงมีรอยฉลุ ให้ผู้ใช้พับรอยฉลุตามสิ่งที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้รับ เช่น พับรอยฉลุเป็นรูปหัวใจ หรือข้อความที่ผู้ให้ต้องการบอกผู้รับ และจากความคิดสร้างสรรค์นี้เองทำให้ผลงาน Shopping Bag ได้อันดับ 1 จากเวที The Dielineของอเมริกาได้สำเร็จ
หลังจากพิสูจน์ผลงานการออกแบบด้วยการคว้ารางวัลที่ 1 เวทีประกวดระดับโลก ทำให้ชื่อ PROMPT DESIGNเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น
“เรามองว่าการส่งผลงานเข้าประกวด น่าจะเวิร์ค เพราะทำมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ก็เลยส่งผลงานเข้าประกวดเรื่อยๆ ผิดหวังแล้ว ผิดหวังอีก จนวันหนึ่ง เราชนะรางวัล Pentawardsติดต่อกัน 3 ปี ทำให้ทางผู้จัดงานเชิญผมไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะเราเป็นคนไทยที่ไม่ได้มี Back up เป็นเอเยนซี และไปเป็นกรรมการตัดสินระดับโลก ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มาจากบริษัทใหญ่ เช่น P&G, Nestle, Suntory แต่เราต้องคว้าโอกาสนั้นไว้…”
การได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดทั้งของ Pentawards และได้ถูกเชิญไปอีกหลายเวทีทำให้ คุณแชมป์ ได้ประสบการณ์, การเรียนรู้ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านแบรนด์ดิ้ง และได้เห็นมุมมองการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ถึงวันนี้ PROMPT DESIGNออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับทั้งแบรนด์ใหญ่ และแบรนด์ผู้ประกอบการSME โดยหลายผลงานสามารถได้รางวัลบรรจุภัณฑ์ระดับโลก
ทำความรู้จัก “Differentiation Checklist” ทฤษฎีออกแบบแพคเกจจิ้งให้แตกต่างจากคู่แข่ง
หลังจากทำ PROMPT DESIGN มาได้สักพัก คุณแชมป์ได้นำเอาความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาพัฒนาโมเดลทฤษฎี “Differentiation Checklist”สำหรับให้ทีมงานในบริษัทนำไปใช้เป็นแนวทางออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับลูกค้า รวมทั้งเพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับองค์กร หรือบุคคลภายนอกได้ด้วยเช่นกัน
โมเดล “Differentiation Checklist”ประกอบด้วย 8 มิติ ซึ่งจะเอาคู่แข่งทางการตลาดมา Benchmark ด้วย เพื่อทำให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่แบรนด์เราพัฒนาอยู่นั้น แตกต่างจากคู่แข่ง หรือแบรนด์ที่มีในตลาดอย่างไร และสอดคล้องกับ Insight ของผู้บริโภคหรือไม่ ประกอบด้วย
“ทั้ง 8 ข้อเป็น Key Word กว้างๆ เพื่อเป็นปลายเปิดให้แบรนด์ หรือนักออกแบบได้ไปคิดต่อ เพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ดี และสอดคล้องกับแบรนด์ของตัวเอง หรือของลูกค้า ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดี ต้องประกอบด้วย
จับตาเทรนด์ “วัสดุทดแทนพลาสติก” และ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”
เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ “สิ่งแวดล้อม” ไม่ได้เป็นเรื่องของภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่ง แต่เป็นวาระสำคัญของคนทั้งโลกที่ต้องตระหนัก และรับผิดชอบทั้งต่อการผลิต และการบริโภค ซึ่งบรรจุภัณฑ์ ทันทีที่หน้าที่ของมันได้สิ้นสุดลง ก็กลายเป็น “ขยะ”โดยบางวัสดุ เช่น พลาสติก ทำลายยาก กลายเป็นปริมาณขยะพลาสติกมหาศาล!
ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันหลายประเทศ หลายภาคส่วน ทั้งรัฐ และองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์, แบรนด์ผู้ผลิตสินค้า, บริษัทออกแบบ รวมทั้งภาคประชาชน ต่างพยายามหา Solution แก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์
โดยปัจจุบันมี 2 Solutions ที่ปรากฏให้เห็นถึงการใช้จริงบ้างแล้ว คือ
“ก้าวต่อไปของบรรจุภัณฑ์ ทั้งโลกจะหาวัสดุทดแทนการใช้พลาสติก ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้ง 100% เพราะในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วยหลาย Layer โดย Layer ชั้นในสุดยังคงเป็นพลาสติก เนื่องจากพลาสติกช่วยปกป้องสินค้าได้ดี แต่ขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้พลาสติกย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Bio Plastic ในขณะที่ Layer อื่น ทำจากวัสดุอื่น เช่น กระดาษ, วัสดุจากธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้วัสดุทดแทนยังติดปัญหาด้านต้นทุน เพราะ Scale การผลิตยังสู้พลาสติกไม่ได้ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา แนวโน้มการใช้วัสดุทดแทนจะมาแน่นอน”
ใช้พลังแพคเกจจิ้ง ผลักดันสินค้า SME ไทย สู่ตลาดอินเตอร์
หากใครเดินผ่านเชล์ฟเครื่องดื่มพาสเจอร์ไรซ์ใน Modern Trade เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นตากับบรรจุภัณฑ์ขวดเหมือนปล้องของต้นอ้อย ทำให้ใครเห็น ก็รู้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำอ้อย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้คือ “แบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จน” และผู้ที่อยู่เบื้องหลังแพคเกจจิ้งสุดสร้างสรรค์นี้ คือ PROMPT DESIGNสามารถพาผลงานชิ้นนี้ ไปคว้ารางวัลประกวดระดับโลกหลายเวที เช่น Pentawards, IF Design Award, Good Design Awards, DEmark
ด้วยพลังของบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ แตกต่าง และเข้าใจง่าย ทำให้ทุกวันนี้แบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จน เป็นที่รู้จักทั้งในไทย และตลาดต่างประเทศ หรือหากใครยังจำได้ก่อนหน้านี้ในโลกโซเชียล มีการแชร์รูปบรรจุภัณฑ์กล่องข้าวที่ทำมาจากแกลบ สำหรับใส่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของแบรนด์“ข้าวศรีแสงดาว” ออกแบบโดย PROMPT DESIGNบรรจุภัณฑ์นี้ สามารถคว้ารางวัลประกวดแพคเกจจิ้งโลกในหลายเวทีเช่นกัน
ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ PROMPT DESIGN ที่ต้องการเห็นสินค้า SMEs ไทย ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือทรงพลัง ทั้งในด้านแบรนด์ดิ้ง และการขาย
“นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจว่างานดีไซน์บรรจุภัณฑ์ของเรามีพลังทำให้แบรนด์ SME ไทย เป็นที่รู้จักและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ” คุณแชมป์ กล่าวทิ้งท้าย
ทราบหรือไม่ว่าเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำในกระบวนการย้อมถึง 25 ลิตร และอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบัน Fast Fashion เข้ามาเป็นตัวเร่งทำให้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นแม้ไม่จำเป็น ยิ่งทำให้ทรัพยากรถูกใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับมลพิษในกระบวนการผลิตที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว
บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอมากว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับ Core Value ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดการเกิดมลพิษ ต่อยอดธุรกิจสิ่งทอที่คนมักมองว่าเป็น Sunset Industry ให้สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน
“เราเป็นบริษัทในเครือของเย่กรุ๊ปที่ทำ OEM ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 30 กว่าปี รับผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่หัวจรดเท้า ในการทำงานส่วนใหญ่เราจะให้ Core Value กับทรัพยากรเป็นหลักทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรผู้คนของเรา ซึ่งนี่เป็นความคิดตั้งแต่รุ่นอากงแล้ว คนมักพูดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็น Sunset Industrial เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราเป็น Sunset Industrial แบบที่คนอื่นพูด
นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่เรามุ่งมั่นจะรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจของเราให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ” พิชญ์สินี เย่ Visual & Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทายาทรุ่น 3 ผู้นำเทคโนโลยี Drydye เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ย้อนกลับไปในปี 2008 คุณพ่อของพิชญ์สินี เย่ และ กันตวัฒน์ เย่ Project Engineer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีโอกาสได้ไปดูงาน ITMA FAIR ที่สิงคโปร์ แล้วพบกับศาตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งนำเสนอวิทยานิพนธ์กับต้นแบบเครื่องย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ ซึ่งเมื่อลองทำความเข้าใจดูก็ทราบว่าเทคโนโลยีที่สามารถย้อมผ้าได้ด้วยตัวกลางอย่างคาร์บอนไดออกไซด์แทนน้ำเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ
“ธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก มีงานวิจัยจาก Adidas พูดถึงเรื่องของธุรกิจสิ่งทอทั่วโลกที่ใช้น้ำทุก 2 ปี เท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เราจึงอยากเป็นผู้นำในด้านของการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรที่เราใช้ และเป็นเจ้าแรกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ จึงเริ่มลงทุนร่วมกับศาตราจารย์ท่านนี้และก่อตั้งบริษัทขึ้นที่เนเธอร์แลนด์รวมถึงเริ่มสร้างเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้น ในปี 2010 หลังจากที่เราล้มลุกคลุกคลานมาเราก็สามารถผลิตเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้นมาได้ซึ่งเราใช้ชื่อว่า Drydye โดยคอนเซ็ปต์ของเราคือเรานำผ้าเข้าไปย้อมแบบแห้งและนำออกมาโดยที่ผ้าก็ยังแห้งอยู่ ซึ่งนั่นทำให้กระบวนการย้อมด้วยเครื่อง Drydye ของเราไม่ต้องใช้น้ำจึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ระบบ” กันตวัฒน์ เสริม
กระบวนการทำงานของ Drydye จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 มาย้อมแทนน้ำ ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 25 ลิตร ต่อการย้อมเสื้อ 1 ตัว รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังเก็บกักก๊าซไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียออกสู่ในชั้นบรรยากาศ ก๊าซ CO2 สามารถนำกลับมาย้อมซ้ำได้ เมื่อต้องการใช้งานจะใช้แรงดันสูงมาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปแบบ Supercritical Fluid หลังใช้งานเสร็จก็จะกลายเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม
นอกจากนี้ผงสี Pure Dyes ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งผ้าที่ผ่านการย้อมสีด้วยก๊าซ CO2 จะใช้พลังงานลดลงถึง 50% รวมถึงลดการปล่อย CO2 ลง 50-75% เพราะการย้อมสีทั่วไปจะปล่อย CO2 ออกมา 517 กก. ในขณะที่ Drydye ปล่อย CO2 เพียง 137 กก.และ 90% ที่ปล่อยออกมาสามารถนำไป รีไซเคิลได้
แม้ว่าในแง่ของนวัตกรรมจะมีความโดดเด่นและรักษ์โลกซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณพิชญ์สินีมองว่า Drydye ต้องมีวิธีในการสื่อสารแบรนด์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการจดจำที่มากกว่าแค่การเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้โดยแบรนด์ใหญ่เท่านั้น
“เราพยายามให้คนรับรู้ถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานที่พอคนนึกถึงเรื่องของการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำก็จะนึกถึง Drydye เพราะก่อนหน้านี้เราจับมือนำเทคโนโลยีของเราไปใช้กับแบรนด์ดัง แต่การสื่อสารผ่านแบรนด์เหล่านั้นไม่ได้เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงนวัตกรรม Drydye ถ้าเราสื่อสารแบรนด์ Drydye ให้ชัดเจนจะทำสามารถขยายการรับรู้ได้มากขึ้น”
ดังนั้นเรื่องของการการขยายฐานไปสู่กลุ่ม B2C เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณพิชญ์สินีเสริมว่าการใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญในการทำเสื้อผ้ากีฬาให้มีสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นจะทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าสิ่งที่เขาใส่สามารถสร้าง Impact ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
“เราต้องการให้คนพูดถึงเราและเทคโนโลยีของเรามากขึ้น เพื่อเดินหน้าไปใน Business Model ที่ไม่ได้แค่ทำเสื้อผ้าแต่ยังสามารถรับคืนกลับมาผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วกลับไปทำใหม่เป็นเส้นด้าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องทอผ้าใหม่ เพราะในปัจจุบันบนโลกนี้มี เสื้อผ้าเยอะกว่าความจำเป็นมากอยู่แล้ว”
ปัจจุบัน Drydye สามารถผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น Adidas, Mizuno รวมถึงผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งขององค์กรต่างๆ เช่น TMB จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ในอนาคต Drydye ต้องการที่จะสื่อสาร Brand Story โดยเน้นเรื่องของการเป็น Environmental Friendly Brand และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับผ้าในส่วนอื่นๆ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์โดยค่อยๆให้ข้อมูลเพื่อสร้าง Awareness ให้คนซึมซับในสิ่งที่ Drydye ทำ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความใส่ใจกับคุณค่าของสินค้าว่าสร้างผลกระทบอะไรกับโลกมากกว่าจำนวนงานที่จ่ายในแต่ละครั้ง
เป้าหมายในปีนี้ของ Drydye คือเดินหน้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้าง Brand Awareness ให้ ลูกค้าจดจำแบรนด์ Drydye ว่าเป็นแบรนด์ที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมองถึงเป้าหมายในการขยาย ลูกค้ากลุ่ม Consumer และพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเสื้อผ้า
กรณีศึกษาของ Drydye จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของ SMEs ในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสบนโลกใบนี้ ทั้งที่มาจากบริษัทผู้ผลิตเอง และมาจากเรียกร้องของจากทางผู้บริโภคซึ่งนับวันเสียงนี้จะดังขึ้นทุกวัน
SMEs รายไหนที่ซัพพลายเชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หัวข้อที่ 12 การผลิตและการบริธภคที่ยั่งยืนได้ที่ www.sdgs.nesdc.go.th/
รีคัลท์ (Ricult) เป็นแอพพลิเคชั่นการเกษตรแรกและแอพพลิเคชั่นเดียวของไทยที่คว้ารางวัล ชนะเลิศ Fintech Disrupt Challenge จากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ พร้อมได้เงินสนับสนุนการลงทุน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 83 ล้านบาทเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาสู่ความตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มเกษตรอัจอัจฉริยะ (Smart Agriculture) สำหรับเกษตรกรไทยและทั่วโลกในอีก 3 ข้างหน้า
อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด (Ricult Thailand) กล่าวว่ารีคัลท์ เกิดขึ้นจากการที่ตนเองนำเสนอโครงการสตาร์ทอัพ ภายใต้แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ในรูปแบบของ Social Enterprise ขณะเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา ด้วยแรงบันดาลใจและวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรที่ประเทศไทยเก่งอยู่แล้วให้เก่งไปมากกว่านี้รวมถึงสนบสนุนให้เกษตรกรมีความพร้อมสำหรับเข้าสู่ยุค Digital disruption
อุกฤษ เล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รีคัลท์จึงเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นการเกษตรของไทยที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่า การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรที่ใช้แอพพลิเคชั่นของรีคัลท์จะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากรีคัลท์ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep technology อาทิ Big data, เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี Machine learning มาช่วยตอบโจทย์ของเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart farmer) รวมถึงช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“ผมมองว่าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยผลิตอาหารเพื่อป้อนเป็นครัวโลกการทำเกษตรเป็นงานที่จ้างงานเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของคนในประเทศไทยถ้าเราไปดูสำมะโนครัวเรือนของประเทศประชากรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คนที่อยู่ในแวดวงการเกษตรและเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดคำถามคือจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรบ้านเราลืมตาอ้าปากได้ทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลง ทำอย่างไรที่จะทำน้อยได้มากในการใช้เทคโนโลยีใช้นวัตกรรมมาช่วยในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นเพราะว่าถ้าเกิดเกษตรกรรายย่อยอยู่ได้มีผลผลิตดีขึ้นมันก็จะดีกับภาคการเกษตรในอุตสากรรมภาพรวมของประเทศด้วย ทำให้สามารถส่งออกและแข่งขันกับต่างประเทศได้” อุกฤษ กล่าวและว่า
แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ที่ SMEs สามารถนำไปใช้ในธุรกิจการเกษตรได้นั้น ประกอบด้วย 5 ฟังก์ชั่นหลัก คือ ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลชุดดิน ข้อมูลแหล่งน้ำ และข้อมูลการเพาะปลูกพืช โดยในส่วนของข้อมูลพยากรณ์อากาศนั้น รีคัลท์ สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้นานถึง 9 เดือน การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำที่ 70-75 เปอร์เซ็นต์มีการนำข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปี มาวิเคราะห์เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการประมวลผลเนื่องจากการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมนั้น รีคัลท์ สามารถมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่แปลงเกษตรทั่วประเทศไทยทุก 5 วันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสามารถช่วยวัดขนาดของแปลง รวมถึงสามารถช่วยเกษตรกรที่มีไร่ นาห่างออกไป 10-30 กิโลเมตร เกษตรกรสามารถมอนิเตอร์ หรือ ดูแปลงเกษตรของตนเองจากที่บ้านได้เลยว่าพื้นที่เพาะปลูกตรงไหนมีการเจริญเติบโตดีหรือไม่ดีได้ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาในการต้องเดินทางไปหรือ เกษตรกรที่ปลูกอ้อยสามารถดูการเติบโตของต้นอ้อยผ่านข้อมูลดาวเทียมได้ ทั้งนี้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกพืช และข้าวที่มีขนาด 5 ไร่ขึ้นไปในการใช้ดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์การเพาะปลูกแต่ละแปลง
“เราใช้เวลาในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศน่าจะเกือบ 2-3 ปี ดาวเทียมใช้เวลา3 ปีทีมเราเป็นบริษัทนักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก เราใช้เทคโนโลยีเอไอ (Artificial intelligence) คือการเอาคอมพิวเตอร์มาประมวลผลมาดูว่าภาพถ่ายดาวเทียมแปลงนี้พื้นดินตรงจุดนี้มีการเติบโตเป็นอย่างไร สามารถพยากรณ์ได้ถึงเก้าเดือนล่วงหน้าเราเอาข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปีมาให้เอไอในการวิเคราะห์เพื่อประมวลผลในอนาคต ตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคเอไอ ในการเอาเอไอมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจบนแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มของเรา” อุกฤษ กล่าวและว่า
สำหรับข้อมูลชุดดินนั้น จะเป็นการนำเสนอข้อมูลของดินในพื้นที่นั้นๆว่าเหมาะที่จะปลูกพืชชนิดใด และข้อมูลแหล่งน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร
สุดท้ายข้อมูลการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด โดยปัจจุบันมีข้อมูลชุดปลูกพืชหลายชนิด อาทิ เช่น ข้าวอ้อยข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เป็นต้น เกษตรกรสามารถนำวิธีการปลูกและเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการปลูกพืชแต่ละชนิดและช่วยตัดสินใจทำให้การเพาะปลูกดีขึ้นความเสี่ยงลดน้อยลง
นอกจากนี้ รีคัลท์ ยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อจะไปนำไปช่วยบริษัทต่างๆหรือธุรกิจต่างๆที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับเกษตรกร เช่นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร บริษัทปุ๋ย ร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต มีการนำข้อมูลมาช่วยในซัพพลายเชน ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างภาคธุรกิจกับเกษตรกร และระหว่างเกษตรกรกับลูกค้าปลายทางด้วย ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกำไรจากการการเกษตรมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการการเพาะปลูกเฉลี่ย 20-30 เปอร์เซ็นต์
อุกฤษ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้แอพพลิเคชั่นรีคัลท์มากกว่า 400,000 ราย มีพื้นที่ครอบคลุม ประมาณ 4-5 ล้านไร่ จากจำนวนเกษตรกร 15 ล้านคนทั่วประเทศมีพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศประมาณ 100 ล้านไร่ บริษัทตั้งเป้าที่จะมีเกษตรกรใช้แอพพลเคชั่นที่ 1 ล้านคน สามารถมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุม 20-30 ล้านไร่ในปีหน้า
และเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นมากขึ้น รีคัลท์ ได้ต่อยอดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ผัก ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง เสาวรส ผักกาด พริก มะม่วง เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มให้บริการชาวสวนได้ในปีหน้า
“ที่ผ่านมาเราให้บริการพืชไร่เป็นหลัก เราจะเริ่มมุ่งสู่พืชสวนปีหน้าจะเน้นผักผลไม้ที่เรา กินกันมากขึ้น ผมมองว่าเกษตรกรบ้านเรามี 2 กลุ่ม คือพืชไร่ พืชสวนพืชไร่ เราค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว มีเกษตรกรหลายแสนรายเป็นพืชไร่ บ้านเราก็มีพืชสวนอีกหลายหมื่นหลายแสนคน ยังไม่มีใครเอาเทคโนโลยีมาจับ เราก็เลยมองว่ากลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่ม หนึ่งที่น่าสนใจ ที่เรามองว่าจะช่วยได้” อุกฤษ กล่าวและว่า
ในส่วนของพืชสวนจะมีลักษณะที่แตกต่างจากพืชไร่ คือ พืชสวนส่วนมากจะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ประมาณ 1-5 ไร่ต่อ 1 ราย ทำให้ดาวเทียมอาจจะไม่มีประโยชน์มากนักเท่าแปลงขนาดใหญ่และพืชสวนจะเน้นที่การเพาะปลูกของเกษตรพรีเมี่ยม ผักผลไม้ปลอดภัย ทำอย่างไงที่จะสามารถช่วยเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีลง ปลูกผัก และผลไม้ให้มีคุณภาพมากขึ้น
อุกฤษ กล่าวว่า รีคัลท์ นอกจากนำเสนอข้อมูลให้กับเกษตรกรใน 5 เรื่องหลักแล้ว บริษัทยังร่วมกับพันธมิตรในหลายอุคสาหกรรม อาทิ ธนาคาร บริษัทขายปุ๋ย โรงงานรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ตในการใช้ระบบของรีคัลท์ในการซื้อขายสินค้าในรูปแบบe-market place มีการเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์และการปล่อยสินเชื่อด้วย โดยในปัจจบันมีการซื้อขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นของรีคัลท์กว่า 10,000 ล้านบาท เช่น การรับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลจากเกษตรกร และเป็นตัวกลางในการรับซื้อซากของพืชเกษตร เช่น ซากมันสำปะหลัง ซากอ้อย เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดการเผาซากการเกษตร ขณะเดียวกันสามารถนำซากพืชไปแปรรูปเป็นพืชพลังงานมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถรองรับธุรกิจในรูปแบบของเศรษฐกิจชีวภาพ หรือBio economy ได้อีกด้วยทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถช่วยเกษตรกรจำหน่ายซากพืชเกษตรเข้าสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) สามารถรองรับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(Bio Circular Green)แล้วประมาณ 1,000 ตัน
อุกฤษ กล่าวว่า ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น รีคัลท์ มีการใช้ในประเทศไทยและประเทศปากีสถาน บริษัทคาดว่าจะร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอาทิ กัมพูชา เวียดนาม ในปีหน้า
“ตอนนี้ถึงยุคที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ในการทำเกษตร ช่วยลดความเลื่อมล้ำในประเทศไทยลง ทำให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งมากขึ้น คอนเซ็ปของเราคือเราทำแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรใช้ฟรีจุดประสงค์หนึ่งก็คือเราต้องการช่วยเขาในการเอาเทคโนโลยีมาปรับวิธีการทำเกษตร ช่วยเขาในการบันทึกรายรับรายจ่ายยทำให้เขารู้ว่าเขามีกำไรเท่าไหร่เป็นต้น เกษตรกรในบ้านเราเกือบ 20 ล้านคน ตอนนี้มีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี ยังเป็นโอกาสที่กระดูกสันหลังของชาติเราจะใช้นวัตกรรม ในการมาเปลี่ยนแปลงตัวเองผมอยากจะอยู่ในจุดที่ว่าถ้าเกิดองค์กรนานาชาติ สหประชาชาติ หรือผู้นำระดับโลก คิดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรช่วยลดความเลื่อมล้ำได้จะคิดถึงรีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้นคือเป้าหมายอีกซัก 3 ปีนี่แหล่ะผมอยากจะให้ รีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกแรกที่เค้าคิดถึงนั่นคือเป้าหมายของเรา” อุกฤษ กล่าวทิ้งท้าย
สกู๊ตตาร์ (Skootar) เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทย รุ่นแรกๆที่ให้เข้ามาลงสนามโลจิสติกส์และดิลิเวอรี่ ชนิดที่ว่าหลายคนยังไม่รู้จักคำว่าแพลตฟอร์ม โดยเลือกลงแข่งในสนามที่มีการแข่งขันสูงอย่าง “โลจิสติกส์” ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นยักษ์ข้ามชาติ อาทิ ไลน์แมน แกร็ป และโกเจ็ท ซึ่งปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดยแอร์เอเชีย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ถึงขนาดที่ว่ามีผู้เล่นรายใหญ่ข้ามชาติบางรายต้องถอนตัวออกไป แต่สกู๊ตตาร์ที่เป็นสตาร์ทอัพสายเลือดไทยก็ยังสามารถยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
การเข้ามาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ของสกู๊ตาร์ นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากสกู๊ตตาร์ จะต้องหาจุดเด่นของตนเอง หรือมีความยูนิคในการให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก
ม.ล. กมลพฤทธิ์ ชุมพล CEO บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด กล่าวว่าบริษัทเริ่มให้บริการรับ-ส่งเอกสาร (Messenger) ออนไลน์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกค้าทั่วไป สามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ภายใต้ชื่อ สกู๊ตตาร์ (Skootar) เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาจากการเข้าเรียนหลักสูตรสตาร์ทอัพ
“สกู๊ตตาร์ เริ่มมา 6 ปี ตอนนั้น ผมกับผู้ร่วมก่อตั้ง ได้เจอกันในคอร์สที่เรียนเกี่ยวกับการทำสตาร์ทอัพของพี่กระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท KBTG) เรามีการคุยไอเดียต่างๆ สุดท้ายมาลงตัวที่ไอเดียนี้เพราะว่า ณ เวลานั้นตอนนั้นก็ยังไม่มีสตาร์ทอัพ เจ้าไหนมาทำในเรื่องส่งของ ส่งเอกสาร ตอนนั้นก็จะมีเฉพาะ Grab taxi เราก็คิดประยุกต์มาเป็นส่งอาหาร ส่งเอกสาร เราก็รู้อยู่แล้วว่าใน กรุงเทพคน ใช้แมสเซ็นเจอร์ (Messenger) กันเยอะโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็เลยเริ่มทำตั้งแต่ตรงนั้น มาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 5 ปีครึ่ง ตอนนั้นผมคิดว่าเป็น Pain point ของธุรกิจ เอสเอ็มอีในบ้านเรา ทางเลือกของเค้าจะใช้ Messenger อิสระ อาจจะราคาสูงด้วยและมีปัญหาเรื่องที่ว่าไม่ได้มีเครือข่าย ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล” ซีอีโอ กล่าว
สกู๊ตตาร์ ในช่วงแรกมี แมสเซ็นเจอร์ให้บริการรับ-ส่งเอกสาร 40 คนโดยมีราคาในการใช้บริการเริ่มต้น ที่ 55 บาทจากนั้นจะราคาเพิ่มขึ้นคิดตามระยะทาง กิโลเมตรละ 9.50 บาท ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ทั้งในรูปแบบเงินสด บัตรเครดิต หรือเป็นรายเดือน
“ตอนแรกรับสมัครคนขับและเทรนนิ่งเอง ในล็อตแรกมีคนขับ 40 คน มันก็เพียงพอ เพราะว่าลูกค้าก็ยังแทบไม่มี ปัจจุบันมีคนขับมากกว่า 15,000 คน คนขับทุกคนมีคะแนนการให้บริการจากลูกค้า และคนขับของสกู๊ตตาร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน แมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนสูงจะสามารถเห็นงานมากกว่าแมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนน้อย สำหรับแมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนน 4.2 -4.3 คะแนนจะเห็นออร์เดอร์งานน้อยมาก และในที่สุดก็จะออกจากระบบเอง” ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าว
ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าวต่อว่า สกู๊ตตาร์ ไม่เพียงมีจุดเด่นในเรื่องของการรับ-ส่งเอกสารทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และคิดค่าใช้จ่ายตามระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางเท่านั้น ยังมีการันตรีของเสียหาย มีใบเสร็จรับเงิน หากมีการรับ-ส่งเอกสารและพัสดุของลูกค้าเสียหาย ลูกค้าสามารถเคลมค่าเสียหายได้ไม่เกิน 2,000 บาท ในส่วนของแมสเซ็นเจอร์ ยังมีการอบรมก่อนให้บริการ มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของแมสเซ็นเจอร์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความสบายใจในการใช้บริการแมสเซ็นเจอร์ รวมถึงมีระบบการให้คะแนนกับแมสเซ็นเจอร์ (Rating score) และเปิดโอกาสให้แมสเซ็นเจอร์ที่ได้คะแนนมาก สามารถที่จะเห็นการส่งงานมากกว่าแมสเซ็นเจอรที่ได้คะแนนจากลูกค้าน้อย อีกทั้งลูกค้าสามารถที่จะเลือกใช้แมสเซ็นเจอร์ที่ลูกค้าคุ้นเคยได้
นอกจากนี้สกู๊ตตาร์ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาระบบการขนส่งด้วย โดยมีการนำเทคโนโลยี ระบบจีพีเอส สำหรับติดตามงาน และโมบายน์แอพพลิเคชั่น มาช่วยในการวิเคราะห์เส้นทางมีการเขียนออการิทึมสำหรับระบบให้คะแนน (Rating score) ด้วย เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“สกู๊ตตาร์ เป็นตัวกลาง เรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เรามีข้อมูลของพี่คนขับทั้งหมด มีระบบจีพีเอสในตัวแอพพลิเคชันมันจะโชว์ให้ลูกค้าเห็นเลยว่าพี่คนขับอยู่ตรงไหน ทำงานอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เสร็จหรือยัง เอาของไปถึงหรือยัง ถ่ายรูปได้มีการเซ็นลายเซ็นของผู้รับ ผู้ส่งมาได้และก็มีหลักฐานที่เก็บเอาไว้ได้ชัดเจน มันก็เกิดความสบายใจ ว่าของเรามันไปถึงจริง หรือว่ามันอยู่ตรงไหนแล้วมันตกหล่นหรือป่าว ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆเกิดอุบัติเหตุ คนขับติดต่อไม่ได้ หายตัวไปเราก็มี call center support ว่ามีจริง ทำให้ลูกค้าสบายใจขึ้นในแง่ของความสบายใจในการใช้บริการ สกู๊ตตาร์ เป็นบริการเรียก Messenger online ณ ปัจจุบันเราเรียกตัวเองว่าเราเป็น บริการขนส่งออนไลน์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี” ซีอีโอ กล่าว
ปัจจุบันสกู๊ตตาร์ ได้พัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมีคุณภาพให้กับลูกค้าโดยเน้นลูกค้ากลุ่มองค์กร และธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นหลัก ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่บริการรับ-ส่งเอกสาร โดยแมสเซ็นเจอร์ด้วยรถมอเตอร์ไซต์ บริษัทยังขยายบริการไปยังการส่งสินค้าที่มีขนาด 50x50x80 เซ็นติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ส่งอาหาร บริการส่งพัสดุด้วยรถสี่ล้อ ซึ่งเริ่มให้บริการในปีที่ผ่านมา มีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 120 บาท
บวกระยะทางที่เพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 10 บาท และภายในปลายปีนี้จะมีการนำรถกะบะมาให้บริการ ส่งของส่งพัสดุด้วย
“ตอนนี้มีมอเตอร์ไซต์กับรถสี่ล้อ เป็นรถสี่ล้อ 4 ประตู 5 ประตู ที่ให้บริการอยู่ และภายในปลายปีนี้ไตรมาสสาม ไตรมาสสี่จะมีรถประภทอื่นด้วยพวกรถกะบะ ต่างๆเข้ามาโดยตัวระบบยังใกล้เคียงกันอยู่เพียงแต่ว่าจะมีตัวเลือกให้กับทางลูกค้ามากขึ้น และเราต้องปรับตัวออการิทึมบางส่วน เนื่องจากมอเตอร์ไซค์อาจจะมีการขนส่งเป็นแบบนึง ไม่ค่อยมีรถติดไม่ต้องสนใจเรื่องรถติด พอเป็นรถใหญ่ ก็ต้องสนใจเรื่องรถติดด้วย” ซีอีโอ อธิบาย
ม.ล. กมลพฤทธิ์กล่าวต่อว่า ทิศทางในการทำธุรกิจของสกู๊ตตาร์จะเน้นให้บริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจเอสเอ็มอี ร้านอาหาร มุ่งเพิ่มความหลากหลายของบริการเพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอี และมีบริการรองรับลูกค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายลูกค้าไปยัง ชลบรี พัทยา ศรีราชา รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ อาทิ นครราชสีมา และ เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะขยายบริการไปเชียงใหม่ในกลางปีหน้า เพื่อรองรับความต้องการและตอบโจทย์ลูกค้า เนื่องจากตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“อุตสาหกรรมดิลิเวอรี่ ยังโตได้อย่างต่อเนื่อง จริงๆจะต้องมองแยกเป็น เซ็กเม้นท์ (Segment)ด้วย ของอาหารชัดเจนอย่างไงก็โต ทุกคนเห็นพร้อมต้องกันแล้วว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมา สั่งอาหารกินที่บ้านเยอะขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็โตต่อ เพราะว่าที่เมืองนอก เมืองจีนก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะกว่านี้เทียบกับตลาดอาหารทั้งหมด ของเราก็โตต่อ ลักษณะธุรกิจคล้ายๆกัน อันที่สอง เป็นพวกส่งสินค้าอันนี้ก็เป็นเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่เราก็พอเห็นจากอเมริกาเหมือนกันว่า มัน ด่วนขึ้นเรื่อยๆ คือแต่เดิมส่งกันถ้าเราจำได้สมัย 5ปีที่แล้ว เราซื้อของ Lazada ส่งของ2 วันเราก็ว่าเร็วแล้ว เดี๋ยวนี้เริ่มมาวันเดียว หรือว่าภายในวันก็จะเริ่มมี ซึ่งตรงนี้มันเป็นบริการขนส่งด่วนของ สกู๊ตตาร์ก็เริ่มเข้ามามีส่วนในสินค้าบางประเภท ยกตัวอย่างเช่น สินค้าไอที”
ปัจจุบันสกู๊ตตาร์ ให้บริการหลัก ประกอบด้วย บริการรับ-ส่งจดหมาย ขนส่งของด้วยรถยนต์ ส่งอาหาร รวมถึงช่วยพันธมิตร บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร (Food delivery) ภายใต้ชื่อ โรบินฮู้ด (Robinhood) ในการส่งอาหารให้กับลูกค้าและ ขนส่งออนดีมานท์ (On demand) ซึ่งเป็นบริการส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง เช่นบริการส่งสินค้าไอที โดยบริษัทจะร่วมกับพันธมิตร เมื่อพันธมิตรมีการเปิดตัวสินค้าใหม่และต้องการส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมงหลังเปิดตัวสินค้าใหม่ ส่งสินค้าสำหรับลูกค้าที่ซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ ไปยังลูกค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นต้น
นอกจากนี้ในปีผ่านมาบริษัทยังขยายธุรกิจในรูปแบบการขายไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทที่ต้องการระบบรับส่งสินค้าของสกู๊ตตาร์ โดยบริษัทจะมีการปรับซอฟต์แวร์ (Customized software) ให้ตรงความต้องการของธุรกิจเพื่อลูกค้าธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งสินค้าภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับสัดส่วนลูกค้าของบริษัท กลุ่มลูกค้าบีทูบีและเอสเอ็มอียังเป็นลูกค้าหลักมีสัดส่วนอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าทั่วไป
“ลูกค้าหลักของเรา เป็นองค์กร บีทูบีและเอสเอ็มอี เราก็อยู่ในจุดที่ว่าเราดูแลลูกค้าที่เราทาร์เก็ต (Target) หรือว่าที่เราเกิดมาเพื่อเขาซึ่งมันก็คือกลุ่มเอสเอ็มอีก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเขาให้เยอะขึ้น และสร้างประสบการณ์หรือว่าบริการที่มันตอบโจทย์เขาให้ต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ม.ล. กมลพฤทธิ์ยังกล่าวถึงธุรกิจในช่วงโควิด-19 ว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พอสมควร ทำให้มีการให้บริการลดลงในช่วงแรกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบในการรับ-ส่งเอกสารของลูกค้าบริษัททัวร์ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมีลูกค้ามาใช้บริการในการส่งอาหารมากยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีฐานลูกค้าองค์กรที่ยังมีการใช้บริการอย่างต่อเนื่องประมาณ 20,000 ราย
ม.ล. กมลพฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงโควิดนี้ สกู๊ตตาร์ นอกจากให้บริการส่งเอกสาร ส่งอาหารและส่งพัสดุแล้ว ยังร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี สำนักอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งอาหารให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ทั่วกรุงเทพมหานครด้วย
อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 บริษัทมีความพร้อมในการดูแลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น และมีความรวดเร็วพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีการบริหารกระแสเงินสดที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงรักษาฐานลูกค้า ให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และดูแลทีมให้ดีที่สุดมีระบบที่ยืดหยุ่นสามารถรองรับการทำงานที่บ้านให้กับพนักงาน (Work form home)
นอกจากนี้บริษัทยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) มีการทำ Data mining ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลจำนวนมาก (Big data) เพื่อให้บริษัทสามารถวางแผนและกำหนดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการปรับออการิทึมต่างๆ เพื่อในการปรับเส้นทางทำให้การบริการขนส่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับบริการขนส่งออนไลน์เคียงคู่ธุรกิจไทย ที่มีบริการที่หลากหลาย มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยประสิทธิภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง
และบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายบริการทั่วประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า
“สกู๊ตต้าเราเน้นพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจตรงนี้ทุกคนพยายามแข่งกันอยู่ว่าใครสามารถให้บริการได้ในราคาที่เหมาะสมจุดเด่นของเราเน้นในเรื่องคุณภาพการบริการดูแลคนขับที่มีคุณภาพ” ม.ล. กมลพฤทธิ์ กล่าว
การเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตกะปิขายในแบรนด์ “กะปิแม่ยินดี” กะปิขึ้นชื่อในจังหวัดพัทลุง ทำให้คุณสุขศิริ ฤทธิเดช มีความตั้งใจที่จะสานต่อกิจการจากรุ่นแม่อยู่แล้ว แต่ประสบการณ์การทำงานในประเทศอังกฤษนาน 7 ปี ได้เปลี่ยนความคิดและทำให้เธอตัดสินใจที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไปไกลกว่าเดิม
หลังกลับมาจากอังกฤษสิ่งแรกที่เธอทำคือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยการเข้าสู่โมเดิร์นเทรด แต่ก็ต้องพบว่าเจอโจทย์หิน เพราะการเอากะปิเข้าห้างสรรพสินค้านั้นเต็มไปด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัดมากมายที่กะปิแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้ ไหนจะมีคู่แข่งที่อยู่ในชั้นวางของอยู่แล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่ากะปิแม่ยินดี นั่นหมายความว่า หากลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักรสชาติกะปิแม่ยินดีมาก่อน ย่อมไม่เลือกซื้อกะปิที่ราคาแพงกว่า
การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่เคยวางไว้เป็นตัวตั้งในการทำงานจึงถูกตีตกไป ในเมื่อการเปลี่ยนใจลูกค้าที่เคยใช้กะปิในกระปุกแบบเดิมเป็นเรื่องยาก เลยหันมาสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วยวิธีการใช้กะปิแบบใหม่ซะเลย
สุขศิริ ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายขาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ กล่าวว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายที่ใหม่ที่เธอตั้งใจที่จะสร้างฐานขึ้นมา ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมในกลุ่มนี้พบว่ามีทัศนคติว่าอาหารเมนูกะปิทำยาก หากอยากกินต้องไปที่ร้านอาหารเท่านั้น ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่ชอบกะปิเพราะกลิ่นเหม็น เลยนำโจทย์นี้มาคิดเป็นของที่มีนวัตกรรมให้ง่ายต่อการใช้งานรองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่
“เราวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นทั่วประเทศอายุ 22 ปีขึ้นไป โดยไม่เน้นภาคใดภาคหนึ่ง หลังทำการวิจัยแล้วพบว่า แม้คนใต้จะเป็นกลุ่มกินกะปิที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นซึ่งยังนิยมใช้กะปิแบบเดิมอยู่ดี ดังนั้นจึงตั้งใจเจาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบลองของใหม่ และอยากทำกับข้าวด้วยวิธีไม่ยุ่งยาก”
แน่นอนว่าการทำกับข้างด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยากจำเป็นต้องเอากะปิออกจากประปุก มาเป็นผลิตภัณฑ์กะปิแบบใหม่
เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ทีมงานจึงทดลองเปลี่ยนรูปแบบเป็นก้อนกะปิคล้ายซุปก้อน และกะปิแบบผงปรุงรส แต่ก็พบว่าทั้ง 2 อย่างนี้ยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ เพราะรสชาติไม่อร่อยเท่าเดิม จนสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบซอสกะปิปรุงรส ซึ่งนอกจากจะสามารถรักษาต้นตำรับความอร่อยไว้ได้แล้ว ยังตอบโจทย์ด้านความสะดวกต่อการใช้งาน เหมาะกับการใช้ชีวิตในเมืองที่ทำกับข้าวไม่เป็นก็สามารถเทซอสปรุงอาหารในเมนูกะปิได้ง่ายๆ
“ซอสกะปิ “เคยนิคะ” ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมครั้งแรกในตลาดซอสปรุงรสที่ทำมาจากกะปิ โดยนำกะปิซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนใต้มาผ่านกระบวนการการย่อยสลายโดยเอนไซม์ ย่อยโปรตีนและไขมันจากกุ้งเคย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และจุลินทรีย์ในกระบวนการหมักโดยธรรมชาติ ช่วยทำให้เกิดกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมคงเอกลักษณ์การเป็นกะปิไว้ สามารถใช้งานในรูปแบบซอสเหมือนกับซอสมะเขือเทศ และซอสพริก แก้ปัญหาการใช้งานกะปิในรูปแบบเก่าที่ใช้งานยุ่งยากและต้องมีขั้นตอนการเตรียมและการชั่งตวงที่ยุ่งยาก ไม่เหมาะกับในยุคสมัยปัจจุบัน และยังลดปัญหาการปนเปื้อนจากการผลิตกะปิในปัจจุบัน เหมาะกับการนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้กะปิเป็นตัวชูรสอาหารให้กลมกล่อม และทำให้ทานอาหารได้อร่อยขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็น Base Sauce หรือเครื่องปรุงรสพื้นฐานแทนการใช้หรือร่วมใช้กับซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า และน้ำปลา จึงเป็นซอสที่ทำอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งผัด ยำ และน้ำพริก”
สุขศิริ เน้นย้ำว่า เนื่องจากซอสกะปิแบบนี้ไม่เคยมีในไทยมาก่อน เคยนิคะจึงวางตำแหน่งซอสกะปิเป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานที่สามารถไปใช้กับซอสอื่นได้ แม้จะตีตลาดในซอสผัด แต่ไม่ขอไม่แข่งกับใคร เพราะอยากให้ซอสกะปิเคยนิคะไปช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น
สุดท้ายนี้สุขศิริ มีแนวคิดการต่อยอดกิจการครอบครัวมาฝากว่า การต่อยอดด้วยวิธีคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในอีกทางหนึ่งทายาทต้องกลับไปหา Core Value ของธุรกิจรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้เจอ เพื่อนำมรดกเหล่านั้นมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
“ทายาทผู้รับไม้ต่อต้องคุยกับรุ่นพ่อแม่ และเข้าใจเขาเยอะๆ อาจจะเหนื่อยในการอธิบายในสิ่งใหม่ที่เรากำลังจะทำ ก็ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันโดยใช้เหตุผล หรือผลการสำรวจต่างๆ มาอธิบาย ซึ่งการทำธุรกิจครอบครัว ข้อดีคือทายาทไม่ต้องมานับศูนย์ใหม่ แต่ต้องหาแวลูเพื่อต่อยอด สำหรับซอสกะปิเคยนิคะ เรามีคอนเซ็ปต์การพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลังจากที่เรามั่นใจว่ารสชาติกะปิของครอบครัวอร่อยไม่แพ้ใคร เราจึงขยายฐานหาคนกลุ่มลูกค้าใหม่ และใช้ความได้เปรียบที่เราเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่ารุ่นพ่อแม่ แล้วหาทางพัฒนาสินค้าแบบใหม่ที่มีรสชาติความอร่อยแบบกะปิแม่ยินดีเหมือนเดิม และช่องทางจัดจำหน่ายให้โดนใจกลุ่มนี้”
คอนเซ็ปต์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังยังถูกนำมาใช้กับการตั้งชื่อแบรนด์ “เคยนิคะ” ด้วย
“ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะใช้ชื่อที่ทำให้คนจำง่าย จึงเลือกที่จะใช้ชื่ออื่นแทน “กะปิแม่ยินดี” ซึ่งเป็นแบรนด์เดิม แต่ในเวลาเดียวกันแบรนด์นั้นก็ต้องแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของภาคใต้ด้วย จึงนำคำว่า “เคย” ซึ่งแปลว่ากะปิในภาษาใต้ แล้วกะปิก็ทำมาจากกุ้งเคยมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาคำที่เรียกแล้วเข้าปาก เลยเป็นที่มาของเคยนิคะ สร้างการจดจำได้ทันที เพราะคนใต้ที่รู้จักคำว่า “เคย” อยู่แล้วก็เข้าใจว่ามันคือกะปิ ส่วนใครที่ไม่รู้จักคำนี้อาจจะคิดว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นหรือเปล่า ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ก็ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ได้เร็วขึ้นในอีกทางหนึ่ง”
สำหรับช่องทางการจำหน่ายนั้น ปัจจุบันซอสกะปิเคยนิยะขนาด 290 กรัม ราคาขวดละ 79 บาท มีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่างโฮมเฟรชมาร์ท ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และวิลล่า มาร์เก็ต ส่วนแผนต่อไปจะเป็นการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และ CLMV ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาซอสกะปิสูตรใหม่ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม คือการนำอาหารใต้สู่อาหารโลก โดยใช้นวัตกรรมผสมผสานกับรากเหง้าของอาหารท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย คาดว่าภายในปีหน้าจะสร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการซอสได้อีกครั้ง