สำนักงานเลขานุการฉลากเขียว – สัญลักษณ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำนักงานเลขานุการฉลากเขียว – สัญลักษณ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์สัก 1 ชิ้นนั้น ขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิต จะต้องมีการนำพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจุดนี้เองที่อาจเป็นส่วนหนึ่ง ที่มีโอกาสทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย รวมถึงตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น เมื่อถูกใช้งานจนเสร็จสิ้นแล้ว จะถูกจัดการอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

.

สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างเห็นเป็นเรื่องใหญ่ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเองก็เช่นกัน มีความต้องการมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมและผลักดัน สร้างความตระหนักรู้ให้กับทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้มีความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้มีการทำฉลากรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ในชื่อว่า ฉลากเขียว หรือ Green Label Thailand ขึ้น

ฉลากเขียว นั้นเป็นเครื่องหมายรับรอง ที่มีเครือข่ายมาตรฐานเดียวกันกับฉลากสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก เพิ่อมอบให้กับองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม มีความเอาใจใส่ตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบ เข้ามาสู่กระบวนการผลิต ตลอดจนจบครบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

.

โลกรัก เมื่อรักษ์โลก

สินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวนั้น เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสเป็นอย่างมากให้กับองค์กร ที่เห็นได้ชัด คือ มีความภาคภูมิใจ เพราะถือว่าเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือวางใจในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเปิดกว้างโอกาสในการขยายตลาดออกไปสู่ระดับประเทศ และต่อยอดออกไปสู่ระดับสากลได้อย่างราบรื่นเพราะทั่วโลกพร้อมให้การต้อนรับ อีกทั้งยังได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อของกรมควบคุมมลพิษ ว่าเป็นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทางภาครัฐสามารถทำการเลือกซื้อได้

.

ฉลากเขียวยินดีต้อนรับ

การขอรับรองฉลากเขียวนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการต้องทำการศึกษาข้อกำหนดว่ามีหลักเกณฑ์ตรวจรับรองอย่างไรบ้าง ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มสินค้าและบริการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้คำแนะนำปรึกษา คอยดูแลกันไปตลอดทุกขั้นตอน ให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าหรือสร้างการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนกว่าจะสามารถผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เพื่อขอการรับรองฉลากเขียว ที่จะช่วยให้คำแนะนำ ในเรื่องของการจัดเตรียมความพร้อมในทุกด้านตั้งแต่เรื่องจัดเตรียมเอกสาร ไปจนถึงการเตรียมตัวเรื่องต่าง ๆ ของสินค้า โรงงาน สถานประกอบการ หรือองค์กร ฯลฯ ที่สอดคล้องกับเรื่องคุณภาพและสอดคล้องกับด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการขับเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ระบบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ระดับสากล

.

ผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่
สำนักงานเลขานุการฉลากเขียว
มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
16/151 เมืองทองธานี ถ.บอนด์สตรีท ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
โทรศัพท์ 0-2503-3333
E-mail: greenlabelthailand@tei.or.th
Website : www.tei.or.th
Facebook: greenlabelthailand
Youtube: ฉลากเขียวประเทศไทย
Line Official: GreenlabelThailand

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

เซรั่มมังคุด “เพ็ชรคีรี” ก้าวข้ามขีดจำกัดเงินทุน สู่ผู้ประกอบการสายประกวดสานฝันธุรกิจให้เป็นจริง

สำหรับผู้ประกอบการที่อยากทำธรุกิจแต่ไม่มีเงินทุนส่วนใหญ่มักจะหันไปหาคนใกล้ตัวเพื่อหยิบยืม กดบัตรเครดิต หรือไม่ก็หาหลักทรัพย์เพื่อไปขอกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน จะได้มีเงินก้อนไว้เป็นจุดตั้งต้นกิจการ แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นล่ะ จะเริ่มต้นธุรกิจยังไง  

เคสของ อาจินต์ เพ็ชรวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนันญากรุ๊ป จะเป็นบทพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทุนก็สามารถทำธุรกิจได้ เพราะเธอใช้วิธีก้าวข้ามขีดจำกัดด้านเงินทุนด้วยการเดินสายประกวดโครงการต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์กระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะเครื่องสำอางสารสกัดจากมังคุด ผลิตภัณฑ์ที่สืบสานภูมิปัญญมรกดอันล้ำค่าสู่ความเป็นเลิศทางนวัตกรรม ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ความภาคภูมิใจจากการเป็นคนหมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีอากาศดีที่สุดของไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มังคุดเขาคีรีวงยังได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication (GI) ด้วยคุณลักษณะ ผิวมัน หัวเขียว ลูกใหญ่ ก้นรี เปลือกหนา ผิวมันวาว รสชาติหวานซ่อนเปรี้ยว เพราะอยู่บนเขา จึงมีความโดดเด่นจากมังคุดทั่วไป เบื้องต้นจึงก่อเกิดเป็นแนวคิดที่จะนำมังคุดเขาคีรีวงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ และยาสระผม ให้กับลูกค้าที่มาเข้าพักในโฮมสเตย์ เพื่อสร้างประสบการณ์และมูลค่าเพิ่มในอัตลักษณ์ให้กับชุมชน 

แม้ที่ผ่านมาจะมีผลวิจัยมังคุดออกมามากมายก็ตาม แต่ยังไม่มีใครนำมังคุดจากเขาคีรีวงมาวิจัย ด้วยความเชื่อว่า มังคุดจากพื้นที่แห่งนี้น่าจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่ามังคุดแหล่งอื่น ปลายปี 2561 คุณอาจินต์ จึงเดินหน้าปรึกษากับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำเปลือกมังคุดเขาคีรีวงมาทำสารสกัดเครื่องสำอาง 

“เราตั้งใจอยากที่จะทำสินค้าคุณภาพให้เทียบเท่ากับเคาน์เตอร์แบรนด์ แล้วก็พบว่าสารสกัดที่ได้จากกมังคุดเขาคีรีวงอุดมไปด้วย เอนไซม์ไทโรซิเนส มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ก่อให้เกิดฝ้ากระ ลดริ้วรอย ทั้งยังเต็มไปด้วยอัลฟัลฟ่าในปริมาณสูงกว่ามังคุดทั่วไป ซึ่งสารดังกล่าวมีสารแคโรทีนและอุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย คุณสมบัติที่โดดเด่นนี้สามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางคุณภาพสูงได้”

ปีต่อมาผลวิจัยที่ได้ในครั้งนี้ถูกนำไปพรีเซนต์ครั้งแรกในโครงการหนึ่งของหน่วยงานรัฐบาลที่ชิงเงินรางวัล 2 ล้านบาท แต่การไม่มีประสบการณ์การนำเสนอผลงานมาก่อนจึงตกรอบ แต่อย่างน้อยเวทีนี้ก็ได้เปิดโลกกว้างอะไรหลายๆ อย่างให้เธอ

“ที่ตัดสินใจไปประกวดโครงการนี้เพราะมองว่าเงินรางวัลสูง แล้วก็เชื่อมั่นว่าผลวิจัยของเรามันดี คิดแค่นั้นเอง นอกนั้นเราไม่มีความพร้อมอะไรเลย ยังไม่รู้จักคำว่าพิชชิ่ง ไม่มีพาวเวอร์พ้อยท์ เพราะทำไม่เป็น ที่สำคัญเราขายฝันเหมือนคนอื่นไม่เป็น เพราะคิดว่าถ้าของเราดีจริงก็อธิบายตามนั้น เราไปบิดเบือนสร้างฝันใหญ่โตไม่ได้”

การตกรอบในครั้งนั้นไม่ได้ทำให้อาจินต์ท้อแท้ ในทางกลับกันกลายเป็นแรงส่งให้เธอมุ่งมั่นหาเวทีประกวดอื่นต่อไป จนกระทั่งมาสมหวังในโครงการแรกที่ชื่อว่า โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2562 ภายใต้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศที่จัดขึ้นโดย สสว. และได้เงินรางวัล 250,000  บาทเป็นก้อนแรกในการทำทุนพัฒนาเป็นโปรดักท์เซรั่มเปลือกมังคุดบำรุงผิวหน้าภายใต้แบรนด์ “เพ็ชรคีรี” 

  “ความสำเร็จจากเวทีนี้จุดประกายให้เรารู้ว่าอย่าไปหวังไกล หรือหวังเงินรางวัลเยอะๆ เราเอาแค่นี้ก็พอ ค่อยๆ สะสมไป พอได้รางวัลจากโครงการแรกจึงเริ่มมีกำลังใจในการประกวดในเวทีอื่นๆ ต่อ แม้บางเวทีจะกำหนดรางวัลผู้ชนะเป็นเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในกระบวนการผลิต เรายิ่งชอบไปร่วมแข่งขัน เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นจะทำให้เราทุ่นแรง ประหยัดเวลาและแรงงาน อีกอย่างจากประสบการณ์เคยเห็นว่า ผู้ประกอบการที่ชนะได้เงินรางวัลมาส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายอย่างอื่นหมด สู้ได้รางวัลเป็นของแบบนี้ดีกว่า”

รางวัลต่างๆ ที่ได้รับในเวลาต่อมาถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยปัจจุบันนอกจากเซรั่มมังคุดแล้ว เพ็ชรคีรียังมีสลีปปิ้งมาส์ก โลชั่นบำรุงผิว สบู่ล้างหน้า และครีมกันแดด จำหน่ายผ่านระบบตัวแทน และร้านค้าในกลุ่มผ้ามัดย้อมชุมชน 

ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพ็ชรคีรีอย่างต่อเนื่องทำให้ คุณอาจินต์ มุ่งมั่นเข้าร่วมประกวดทุกโครงการที่มีโอกาส เพียงแค่ขอให้มีรางวัลติดปลายนวมก็พอ เพราะสิ่งที่ได้กลับมานั้นมากกว่าเงินรางวัลหลายเท่า

“เราไม่เกี่ยงเรื่องจำนวนเงินรางวัลว่าจะต้องเยอะ อาศัยลูกขยัน อันไหนมีรางวัลเราก็ไป บางทีรางวัลไม่เยอะเท่าไหร่ แถมเราต้องเสียเงินในการเดินทางค่าที่พักซึ่งมากกว่าเงินที่ได้อีก แต่สิ่งที่ได้กลับมามันมากมายมหาศาล เช่น การที่ได้ไปออกบูธก็ทำให้คนได้รู้จักแบรนด์ หรือการไปนั่งประชุมหรือเวิร์คช้อป เราก็ได้องค์ความรู้มาต่อยอด แต่ละโครการให้ความรู้ใกล้เคียงกัน แต่เทคนิคผู้บรรยาย วิทยากร และอาจารย์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เท่ากับว่าเราได้ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่จะนำมาใช้ได้แค่ไหนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยทำให้เรารู้ว่าจะต้องพัฒนาไปทิศทางไหน ที่สำคัญคือการได้เจอเพื่อนใหม่ๆ มากมาย นี่คือความคุ้มค่า ดิฉันประกาศบนเวทีทุกแห่งว่า ไม่ได้มาสร้างศัตรู หรือคู่แข่ง แต่อยากมาหาเพื่อน หาคอนเนคชั่น หาคู่ค้า แลกสินค้าใช้กันยังได้เลย มันไม่จำเป็นต้องแข่งกัน สุดท้ายเราก็ได้เพื่อนจริงๆ ช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันข้อมูล ชวนกันไปประกวดที่นั่นที่นี่” 

อาจินต์ กล่าวว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วจากคนที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี เทียบกับวันนี้มีความเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว และรู้จักการปรับตัวกับโจทย์ใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เธอผันไปเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์

“ความรู้จากการที่เราเข้าไปฝึกอบรมโครงการต่างๆ ทำให้เรารู้ทิศทางการทำงานมากขึ้น และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างช่องทางออนไลน์ที่เราทำทุกวันนี้ ถามว่าถ้าไม่ไปอบรมวันนั้นเราจะมีไอเดียนี้ไหม ก็ไม่นะ ถึงทำได้แต่เราก็ไม่มีเคล็ดลับหรือเทคนิคการทำตลาดออนไลน์อยู่ดี เลยอยากแนะนำผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินทุน ให้ขยันพูด ขยันถาม ขยันเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง ไม่จริงเลยว่าถ้าไม่มีเงินทุนแล้วจะทำธุรกิจไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่มีโครงการช่วยเหลือ SMEs เพียงแต่เวลาที่เราจะไปประกวดต้องเลือกหน่วยงานที่มีความจริงใจในการช่วยเหลือ SMEs จริงๆ” 

หลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย คุณสุจินต์ ยังคงวางแผนที่จะประกวดต่อไป เพื่อปั้นให้ “เพ็ชรคีรี” เป็นเพชรน้ำเอกแห่งวงการเครื่องสำอางไทย

บทความแนะนำ

“PROMPT DESIGN” เบื้องหลังผู้สร้างสรรค์ Packaging สินค้าไทยดังไกลระดับโลก

บทบาทของบรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่เพียงทำหน้าที่ห่อหุ้ม และปกป้องสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็น “Silent Salesman” ที่ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็น “Marketing Tools” ทั้งด้านการสร้างแบรนด์, สร้างการรับรู้, สร้างความแตกต่าง, เป็น Touch Point สื่อสารแบรนด์ หรือใส่แมสเสจที่ต้องการบอกผู้บริโภค รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์ กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

จากหน้าที่แฝงที่มีมากมายดังกล่าว ทำให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ ทรงพลังมากเพียงใด! ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงเป็นกระบวนการสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาคุณภาพสินค้า  

และรู้หรือไม่ว่า ?!? ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์สินค้าไทยหลายแบรนด์ สามารถคว้ารางวัลจากเวทีประกวดการออกแบบระดับโลกมาแล้วมากมาย โดยหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา และผลักดันแพคเกจจิ้งไทยไปสู่ระดับสากล คือ “PROMPT DESIGN” บริษัทออกแบบสัญชาติไทย ก่อตั้งโดย “สมชนะ กังวารจิตต์”หรือ “คุณแชมป์” ได้ริเริ่มบริษัทเมื่อ 15 ปีที่แล้ว 

ถึงวันนี้ “PROMPT DESIGN”สามารถพาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยฝีมือคนไทย ไปคว้ารางวัลจากเวทีออกแบบ ทั้งไทย และระดับโลกถึง 117 รางวัล เช่น จากเวที Pentawards,The Dieline, Reddot, IF Design Award, Good Design Awards, DEmark

จาก Passion “รักการออกแบบ” สู่จุดเริ่มต้น “บริษัทแพคเกจจิ้งดีไซน์”

เส้นทางของ PROMPT DESIGNมาจากความรักในการออกแบบของ “สมชนะ”ซึ่งเรียนจบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่กว่าจะมาเป็นบริษัทออกแบบชื่อดังที่คว้ารางวัลออกแบบระดับโลกมากมายในวันนี้และสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่าย! 

เพราะในอดีต ประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญการออกแบบบรรจุภัณฑ์มากนัก และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่กับ 2 สายธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจเอเยนซีโฆษณา เนื่องจากยุคนั้นเอเยนซีให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ทำโฆษณา, อีเว้นท์, โรดโชว์ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และ 2. สายผู้ผลิต เช่น โรงงานใหญ่ มีบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือร้านออกแบบป้าย 

แต่คุณแชมป์ ไม่ยอมแพ้ ยังคงเดินหน้าปลุกปั้น PROMPT DESIGN โดยระหว่างที่รองานเข้ามา ได้ร่วมกับทีมงาน ออกแบบและผลิตเสื้อยืด จำหน่ายในงาน Fat Radio โดยดีไซน์เป็นลายเนื้อสัตว์ และลายผัก แล้วทำแพคเกจแบบม้วนห่อไว้ และทำเชลฟ์วางสินค้าเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ต แตกต่างจากร้านอื่นที่จะแขวนเสื้อยืดโชว์บนราว ทำให้เสื้อของคุณแชมป์ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน จนขายหมดเกลี้ยง

ต่อมา “PROMPT DESIGN” เริ่มมีงานเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ ออกแบบShopping Bag ของแบรนด์ Kokoa Hut ทำเป็น Interactive Packagingบนถุงมีรอยฉลุ ให้ผู้ใช้พับรอยฉลุตามสิ่งที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้รับ เช่น พับรอยฉลุเป็นรูปหัวใจ หรือข้อความที่ผู้ให้ต้องการบอกผู้รับ และจากความคิดสร้างสรรค์นี้เองทำให้ผลงาน Shopping Bag ได้อันดับ 1 จากเวที The Dielineของอเมริกาได้สำเร็จ 

หลังจากพิสูจน์ผลงานการออกแบบด้วยการคว้ารางวัลที่ 1 เวทีประกวดระดับโลก ทำให้ชื่อ PROMPT DESIGNเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น 

 

“เรามองว่าการส่งผลงานเข้าประกวด น่าจะเวิร์ค เพราะทำมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ก็เลยส่งผลงานเข้าประกวดเรื่อยๆ ผิดหวังแล้ว ผิดหวังอีก จนวันหนึ่ง เราชนะรางวัล Pentawardsติดต่อกัน 3 ปี ทำให้ทางผู้จัดงานเชิญผมไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะเราเป็นคนไทยที่ไม่ได้มี Back up เป็นเอเยนซี และไปเป็นกรรมการตัดสินระดับโลก ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มาจากบริษัทใหญ่ เช่น P&G, Nestle, Suntory แต่เราต้องคว้าโอกาสนั้นไว้…” 

การได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดทั้งของ Pentawards และได้ถูกเชิญไปอีกหลายเวทีทำให้ คุณแชมป์ ได้ประสบการณ์, การเรียนรู้ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านแบรนด์ดิ้ง และได้เห็นมุมมองการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

ถึงวันนี้ PROMPT DESIGNออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับทั้งแบรนด์ใหญ่ และแบรนด์ผู้ประกอบการSME โดยหลายผลงานสามารถได้รางวัลบรรจุภัณฑ์ระดับโลก 

ทำความรู้จัก “Differentiation Checklist” ทฤษฎีออกแบบแพคเกจจิ้งให้แตกต่างจากคู่แข่ง

หลังจากทำ PROMPT DESIGN มาได้สักพัก คุณแชมป์ได้นำเอาความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาพัฒนาโมเดลทฤษฎี  “Differentiation Checklist”สำหรับให้ทีมงานในบริษัทนำไปใช้เป็นแนวทางออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับลูกค้า รวมทั้งเพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับองค์กร หรือบุคคลภายนอกได้ด้วยเช่นกัน 

โมเดล “Differentiation Checklist”ประกอบด้วย 8 มิติ ซึ่งจะเอาคู่แข่งทางการตลาดมา Benchmark ด้วย เพื่อทำให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่แบรนด์เราพัฒนาอยู่นั้น แตกต่างจากคู่แข่ง หรือแบรนด์ที่มีในตลาดอย่างไร และสอดคล้องกับ Insight ของผู้บริโภคหรือไม่ ประกอบด้วย 

  1. สีบรรจุภัณฑ์ (Color)
  2. รูปทรงบรรจุภัณฑ์ (Shape) 
  3. ข้อมูลภาพบนบรรจุภัณฑ์ (Graphic)
  4. ข้อความบนบรรจุภัณฑ์ (Message) 
  5. วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ (Material)
  6. บรรจุภัณฑ์สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค (Interactive)
  7. การใช้งานบรรจุภัณฑ์ (Functional)
  8. กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ (Production) 

“ทั้ง 8 ข้อเป็น Key Word กว้างๆ เพื่อเป็นปลายเปิดให้แบรนด์ หรือนักออกแบบได้ไปคิดต่อ เพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ดี และสอดคล้องกับแบรนด์ของตัวเอง หรือของลูกค้า ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดี ต้องประกอบด้วย 

  1. สื่อสารข้อดีของสินค้าไปยังผู้บริโภคเข้าใจในคุณประโยชน์ของสินค้านั้นๆ, 2. บรรจุภัณฑ์นั้น นอกจากบรรจุสินค้าแล้ว ควรต้องบรรจุ “หัวใจของผู้ประกอบการ” ลงไปด้วย และ 3. ควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว บรรจุภัณฑ์นั้นก็คือขยะ”

 

จับตาเทรนด์ “วัสดุทดแทนพลาสติก” และ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ “สิ่งแวดล้อม” ไม่ได้เป็นเรื่องของภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่ง แต่เป็นวาระสำคัญของคนทั้งโลกที่ต้องตระหนัก และรับผิดชอบทั้งต่อการผลิต และการบริโภค ซึ่งบรรจุภัณฑ์ ทันทีที่หน้าที่ของมันได้สิ้นสุดลง ก็กลายเป็น “ขยะ”โดยบางวัสดุ เช่น พลาสติก ทำลายยาก กลายเป็นปริมาณขยะพลาสติกมหาศาล! 

ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันหลายประเทศ หลายภาคส่วน ทั้งรัฐ และองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์, แบรนด์ผู้ผลิตสินค้า, บริษัทออกแบบ รวมทั้งภาคประชาชน ต่างพยายามหา Solution แก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ 

โดยปัจจุบันมี 2 Solutions ที่ปรากฏให้เห็นถึงการใช้จริงบ้างแล้ว คือ 

  1. การใช้วัสดุทดแทน เช่น วัสดุจากธรรมชาติ มาผลิตบรรจุภัณฑ์ 
  2. สร้าง Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์, การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว กลับมาหมุนเวียนด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น รีไซเคิล, ใช้ซ้ำ 

“ก้าวต่อไปของบรรจุภัณฑ์ ทั้งโลกจะหาวัสดุทดแทนการใช้พลาสติก ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้ง 100% เพราะในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วยหลาย Layer โดย Layer ชั้นในสุดยังคงเป็นพลาสติก เนื่องจากพลาสติกช่วยปกป้องสินค้าได้ดี แต่ขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้พลาสติกย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Bio Plastic ในขณะที่ Layer อื่น ทำจากวัสดุอื่น เช่น กระดาษ, วัสดุจากธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้วัสดุทดแทนยังติดปัญหาด้านต้นทุน เพราะ Scale การผลิตยังสู้พลาสติกไม่ได้ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา แนวโน้มการใช้วัสดุทดแทนจะมาแน่นอน” 

ใช้พลังแพคเกจจิ้ง ผลักดันสินค้า SME ไทย สู่ตลาดอินเตอร์

หากใครเดินผ่านเชล์ฟเครื่องดื่มพาสเจอร์ไรซ์ใน Modern Trade เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นตากับบรรจุภัณฑ์ขวดเหมือนปล้องของต้นอ้อย ทำให้ใครเห็น ก็รู้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำอ้อย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้คือ “แบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จน” และผู้ที่อยู่เบื้องหลังแพคเกจจิ้งสุดสร้างสรรค์นี้ คือ PROMPT DESIGNสามารถพาผลงานชิ้นนี้ ไปคว้ารางวัลประกวดระดับโลกหลายเวที เช่น Pentawards, IF Design Award, Good Design Awards, DEmark

ด้วยพลังของบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ แตกต่าง และเข้าใจง่าย ทำให้ทุกวันนี้แบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จน เป็นที่รู้จักทั้งในไทย และตลาดต่างประเทศ หรือหากใครยังจำได้ก่อนหน้านี้ในโลกโซเชียล มีการแชร์รูปบรรจุภัณฑ์กล่องข้าวที่ทำมาจากแกลบ สำหรับใส่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของแบรนด์“ข้าวศรีแสงดาว” ออกแบบโดย PROMPT DESIGNบรรจุภัณฑ์นี้ สามารถคว้ารางวัลประกวดแพคเกจจิ้งโลกในหลายเวทีเช่นกัน  

ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ PROMPT DESIGN ที่ต้องการเห็นสินค้า SMEs ไทย ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือทรงพลัง ทั้งในด้านแบรนด์ดิ้ง และการขาย 

“นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจว่างานดีไซน์บรรจุภัณฑ์ของเรามีพลังทำให้แบรนด์ SME ไทย เป็นที่รู้จักและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ” คุณแชมป์ กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ

Drydye ย้อมผ้าแบบรักษ์โลก ลดน้ำลดมลพิษ

ทราบหรือไม่ว่าเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำในกระบวนการย้อมถึง 25 ลิตร และอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบัน Fast Fashion เข้ามาเป็นตัวเร่งทำให้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นแม้ไม่จำเป็น ยิ่งทำให้ทรัพยากรถูกใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับมลพิษในกระบวนการผลิตที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว 

บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอมากว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับ Core Value ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดการเกิดมลพิษ ต่อยอดธุรกิจสิ่งทอที่คนมักมองว่าเป็น Sunset Industry ให้สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน 

“เราเป็นบริษัทในเครือของเย่กรุ๊ปที่ทำ OEM ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 30 กว่าปี รับผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่หัวจรดเท้า ในการทำงานส่วนใหญ่เราจะให้ Core Value กับทรัพยากรเป็นหลักทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรผู้คนของเรา ซึ่งนี่เป็นความคิดตั้งแต่รุ่นอากงแล้ว คนมักพูดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็น Sunset Industrial เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราเป็น Sunset Industrial แบบที่คนอื่นพูด 

นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่เรามุ่งมั่นจะรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจของเราให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ” พิชญ์สินี เย่ Visual & Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทายาทรุ่น 3 ผู้นำเทคโนโลยี Drydye เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปในปี 2008 คุณพ่อของพิชญ์สินี เย่ และ กันตวัฒน์ เย่ Project Engineer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีโอกาสได้ไปดูงาน ITMA FAIR ที่สิงคโปร์ แล้วพบกับศาตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งนำเสนอวิทยานิพนธ์กับต้นแบบเครื่องย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ ซึ่งเมื่อลองทำความเข้าใจดูก็ทราบว่าเทคโนโลยีที่สามารถย้อมผ้าได้ด้วยตัวกลางอย่างคาร์บอนไดออกไซด์แทนน้ำเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ 

“ธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก มีงานวิจัยจาก Adidas พูดถึงเรื่องของธุรกิจสิ่งทอทั่วโลกที่ใช้น้ำทุก 2  ปี เท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เราจึงอยากเป็นผู้นำในด้านของการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรที่เราใช้ และเป็นเจ้าแรกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ จึงเริ่มลงทุนร่วมกับศาตราจารย์ท่านนี้และก่อตั้งบริษัทขึ้นที่เนเธอร์แลนด์รวมถึงเริ่มสร้างเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้น ในปี 2010 หลังจากที่เราล้มลุกคลุกคลานมาเราก็สามารถผลิตเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้นมาได้ซึ่งเราใช้ชื่อว่า Drydye โดยคอนเซ็ปต์ของเราคือเรานำผ้าเข้าไปย้อมแบบแห้งและนำออกมาโดยที่ผ้าก็ยังแห้งอยู่ ซึ่งนั่นทำให้กระบวนการย้อมด้วยเครื่อง Drydye ของเราไม่ต้องใช้น้ำจึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ระบบ” กันตวัฒน์ เสริม 

กระบวนการทำงานของ Drydye จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 มาย้อมแทนน้ำ ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 25 ลิตร ต่อการย้อมเสื้อ 1 ตัว รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังเก็บกักก๊าซไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียออกสู่ในชั้นบรรยากาศ ก๊าซ CO2 สามารถนำกลับมาย้อมซ้ำได้ เมื่อต้องการใช้งานจะใช้แรงดันสูงมาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปแบบ Supercritical Fluid หลังใช้งานเสร็จก็จะกลายเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม 

นอกจากนี้ผงสี Pure Dyes ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งผ้าที่ผ่านการย้อมสีด้วยก๊าซ CO2 จะใช้พลังงานลดลงถึง 50% รวมถึงลดการปล่อย CO2 ลง 50-75% เพราะการย้อมสีทั่วไปจะปล่อย CO2 ออกมา 517 กก.  ในขณะที่ Drydye ปล่อย CO2 เพียง 137 กก.และ 90% ที่ปล่อยออกมาสามารถนำไป รีไซเคิลได้ 

แม้ว่าในแง่ของนวัตกรรมจะมีความโดดเด่นและรักษ์โลกซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณพิชญ์สินีมองว่า Drydye ต้องมีวิธีในการสื่อสารแบรนด์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการจดจำที่มากกว่าแค่การเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้โดยแบรนด์ใหญ่เท่านั้น

“เราพยายามให้คนรับรู้ถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานที่พอคนนึกถึงเรื่องของการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำก็จะนึกถึง Drydye เพราะก่อนหน้านี้เราจับมือนำเทคโนโลยีของเราไปใช้กับแบรนด์ดัง แต่การสื่อสารผ่านแบรนด์เหล่านั้นไม่ได้เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงนวัตกรรม Drydye ถ้าเราสื่อสารแบรนด์ Drydye ให้ชัดเจนจะทำสามารถขยายการรับรู้ได้มากขึ้น”

ดังนั้นเรื่องของการการขยายฐานไปสู่กลุ่ม B2C เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณพิชญ์สินีเสริมว่าการใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญในการทำเสื้อผ้ากีฬาให้มีสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นจะทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าสิ่งที่เขาใส่สามารถสร้าง Impact ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ 

“เราต้องการให้คนพูดถึงเราและเทคโนโลยีของเรามากขึ้น เพื่อเดินหน้าไปใน Business Model ที่ไม่ได้แค่ทำเสื้อผ้าแต่ยังสามารถรับคืนกลับมาผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วกลับไปทำใหม่เป็นเส้นด้าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องทอผ้าใหม่ เพราะในปัจจุบันบนโลกนี้มี เสื้อผ้าเยอะกว่าความจำเป็นมากอยู่แล้ว”

ปัจจุบัน Drydye สามารถผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น  Adidas, Mizuno รวมถึงผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งขององค์กรต่างๆ เช่น TMB จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ในอนาคต Drydye ต้องการที่จะสื่อสาร Brand Story โดยเน้นเรื่องของการเป็น Environmental Friendly Brand และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับผ้าในส่วนอื่นๆ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์โดยค่อยๆให้ข้อมูลเพื่อสร้าง Awareness ให้คนซึมซับในสิ่งที่ Drydye ทำ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความใส่ใจกับคุณค่าของสินค้าว่าสร้างผลกระทบอะไรกับโลกมากกว่าจำนวนงานที่จ่ายในแต่ละครั้ง

เป้าหมายในปีนี้ของ Drydye คือเดินหน้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้าง Brand Awareness ให้ ลูกค้าจดจำแบรนด์ Drydye ว่าเป็นแบรนด์ที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมองถึงเป้าหมายในการขยาย ลูกค้ากลุ่ม Consumer และพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเสื้อผ้า 

กรณีศึกษาของ Drydye จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของ SMEs ในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสบนโลกใบนี้ ทั้งที่มาจากบริษัทผู้ผลิตเอง และมาจากเรียกร้องของจากทางผู้บริโภคซึ่งนับวันเสียงนี้จะดังขึ้นทุกวัน

SMEs รายไหนที่ซัพพลายเชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หัวข้อที่ 12 การผลิตและการบริธภคที่ยั่งยืนได้ที่ www.sdgs.nesdc.go.th/

บทความแนะนำ

Ricult Application สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต

รีคัลท์ (Ricult) เป็นแอพพลิเคชั่นการเกษตรแรกและแอพพลิเคชั่นเดียวของไทยที่คว้ารางวัล ชนะเลิศ Fintech Disrupt Challenge จากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์  พร้อมได้เงินสนับสนุนการลงทุน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 83 ล้านบาทเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาสู่ความตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มเกษตรอัจอัจฉริยะ (Smart Agriculture) สำหรับเกษตรกรไทยและทั่วโลกในอีก 3 ข้างหน้า

อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด (Ricult Thailand) กล่าวว่ารีคัลท์ เกิดขึ้นจากการที่ตนเองนำเสนอโครงการสตาร์ทอัพ ภายใต้แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ในรูปแบบของ Social Enterprise ขณะเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา ด้วยแรงบันดาลใจและวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรที่ประเทศไทยเก่งอยู่แล้วให้เก่งไปมากกว่านี้รวมถึงสนบสนุนให้เกษตรกรมีความพร้อมสำหรับเข้าสู่ยุค Digital disruption

อุกฤษ เล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รีคัลท์จึงเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นการเกษตรของไทยที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่า การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรที่ใช้แอพพลิเคชั่นของรีคัลท์จะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากรีคัลท์ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep technology อาทิ Big data, เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี Machine learning มาช่วยตอบโจทย์ของเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart farmer) รวมถึงช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

“ผมมองว่าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ประเทศไทยผลิตอาหารเพื่อป้อนเป็นครัวโลกการทำเกษตรเป็นงานที่จ้างงานเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของคนในประเทศไทยถ้าเราไปดูสำมะโนครัวเรือนของประเทศประชากรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คนที่อยู่ในแวดวงการเกษตรและเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดคำถามคือจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรบ้านเราลืมตาอ้าปากได้ทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลง ทำอย่างไรที่จะทำน้อยได้มากในการใช้เทคโนโลยีใช้นวัตกรรมมาช่วยในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นเพราะว่าถ้าเกิดเกษตรกรรายย่อยอยู่ได้มีผลผลิตดีขึ้นมันก็จะดีกับภาคการเกษตรในอุตสากรรมภาพรวมของประเทศด้วย ทำให้สามารถส่งออกและแข่งขันกับต่างประเทศได้” อุกฤษ กล่าวและว่า 

แอพพลิเคชั่น รีคัลท์ ที่ SMEs สามารถนำไปใช้ในธุรกิจการเกษตรได้นั้น ประกอบด้วย 5 ฟังก์ชั่นหลัก คือ ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลชุดดิน ข้อมูลแหล่งน้ำ และข้อมูลการเพาะปลูกพืช โดยในส่วนของข้อมูลพยากรณ์อากาศนั้น รีคัลท์ สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้นานถึง 9 เดือน การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำที่ 70-75 เปอร์เซ็นต์มีการนำข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปี มาวิเคราะห์เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการประมวลผลเนื่องจากการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมนั้น รีคัลท์ สามารถมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่แปลงเกษตรทั่วประเทศไทยทุก 5 วันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสามารถช่วยวัดขนาดของแปลง รวมถึงสามารถช่วยเกษตรกรที่มีไร่ นาห่างออกไป 10-30 กิโลเมตร เกษตรกรสามารถมอนิเตอร์ หรือ ดูแปลงเกษตรของตนเองจากที่บ้านได้เลยว่าพื้นที่เพาะปลูกตรงไหนมีการเจริญเติบโตดีหรือไม่ดีได้ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาในการต้องเดินทางไปหรือ เกษตรกรที่ปลูกอ้อยสามารถดูการเติบโตของต้นอ้อยผ่านข้อมูลดาวเทียมได้ ทั้งนี้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกพืช และข้าวที่มีขนาด 5 ไร่ขึ้นไปในการใช้ดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์การเพาะปลูกแต่ละแปลง

“เราใช้เวลาในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศน่าจะเกือบ 2-3 ปี ดาวเทียมใช้เวลา3 ปีทีมเราเป็นบริษัทนักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก เราใช้เทคโนโลยีเอไอ (Artificial intelligence) คือการเอาคอมพิวเตอร์มาประมวลผลมาดูว่าภาพถ่ายดาวเทียมแปลงนี้พื้นดินตรงจุดนี้มีการเติบโตเป็นอย่างไร สามารถพยากรณ์ได้ถึงเก้าเดือนล่วงหน้าเราเอาข้อมูลอากาศย้อนหลัง 30 ปีมาให้เอไอในการวิเคราะห์เพื่อประมวลผลในอนาคต ตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคเอไอ ในการเอาเอไอมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจบนแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มของเรา” อุกฤษ กล่าวและว่า 

สำหรับข้อมูลชุดดินนั้น จะเป็นการนำเสนอข้อมูลของดินในพื้นที่นั้นๆว่าเหมาะที่จะปลูกพืชชนิดใด และข้อมูลแหล่งน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร

สุดท้ายข้อมูลการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด โดยปัจจุบันมีข้อมูลชุดปลูกพืชหลายชนิด อาทิ เช่น ข้าวอ้อยข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เป็นต้น เกษตรกรสามารถนำวิธีการปลูกและเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการปลูกพืชแต่ละชนิดและช่วยตัดสินใจทำให้การเพาะปลูกดีขึ้นความเสี่ยงลดน้อยลง

นอกจากนี้ รีคัลท์ ยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อจะไปนำไปช่วยบริษัทต่างๆหรือธุรกิจต่างๆที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับเกษตรกร  เช่นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร บริษัทปุ๋ย ร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต มีการนำข้อมูลมาช่วยในซัพพลายเชน ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างภาคธุรกิจกับเกษตรกร และระหว่างเกษตรกรกับลูกค้าปลายทางด้วย ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกำไรจากการการเกษตรมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการการเพาะปลูกเฉลี่ย 20-30 เปอร์เซ็นต์ 

อุกฤษ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้แอพพลิเคชั่นรีคัลท์มากกว่า 400,000 ราย มีพื้นที่ครอบคลุม ประมาณ 4-5 ล้านไร่ จากจำนวนเกษตรกร 15 ล้านคนทั่วประเทศมีพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศประมาณ 100 ล้านไร่ บริษัทตั้งเป้าที่จะมีเกษตรกรใช้แอพพลเคชั่นที่ 1 ล้านคน สามารถมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุม 20-30 ล้านไร่ในปีหน้า

และเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นมากขึ้น รีคัลท์ ได้ต่อยอดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ผัก ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง เสาวรส ผักกาด พริก มะม่วง เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มให้บริการชาวสวนได้ในปีหน้า 

“ที่ผ่านมาเราให้บริการพืชไร่เป็นหลัก เราจะเริ่มมุ่งสู่พืชสวนปีหน้าจะเน้นผักผลไม้ที่เรา กินกันมากขึ้น ผมมองว่าเกษตรกรบ้านเรามี 2 กลุ่ม คือพืชไร่ พืชสวนพืชไร่ เราค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว มีเกษตรกรหลายแสนรายเป็นพืชไร่ บ้านเราก็มีพืชสวนอีกหลายหมื่นหลายแสนคน ยังไม่มีใครเอาเทคโนโลยีมาจับ เราก็เลยมองว่ากลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่ม หนึ่งที่น่าสนใจ ที่เรามองว่าจะช่วยได้” อุกฤษ กล่าวและว่า

ในส่วนของพืชสวนจะมีลักษณะที่แตกต่างจากพืชไร่ คือ พืชสวนส่วนมากจะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ประมาณ 1-5 ไร่ต่อ 1 ราย ทำให้ดาวเทียมอาจจะไม่มีประโยชน์มากนักเท่าแปลงขนาดใหญ่และพืชสวนจะเน้นที่การเพาะปลูกของเกษตรพรีเมี่ยม ผักผลไม้ปลอดภัย ทำอย่างไงที่จะสามารถช่วยเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีลง ปลูกผัก และผลไม้ให้มีคุณภาพมากขึ้น 

อุกฤษ กล่าวว่า รีคัลท์ นอกจากนำเสนอข้อมูลให้กับเกษตรกรใน 5 เรื่องหลักแล้ว บริษัทยังร่วมกับพันธมิตรในหลายอุคสาหกรรม อาทิ ธนาคาร บริษัทขายปุ๋ย โรงงานรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ตในการใช้ระบบของรีคัลท์ในการซื้อขายสินค้าในรูปแบบe-market place มีการเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์และการปล่อยสินเชื่อด้วย โดยในปัจจบันมีการซื้อขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นของรีคัลท์กว่า 10,000 ล้านบาท  เช่น การรับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลจากเกษตรกร และเป็นตัวกลางในการรับซื้อซากของพืชเกษตร เช่น ซากมันสำปะหลัง ซากอ้อย เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดการเผาซากการเกษตร ขณะเดียวกันสามารถนำซากพืชไปแปรรูปเป็นพืชพลังงานมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถรองรับธุรกิจในรูปแบบของเศรษฐกิจชีวภาพ หรือBio economy ได้อีกด้วยทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถช่วยเกษตรกรจำหน่ายซากพืชเกษตรเข้าสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) สามารถรองรับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(Bio Circular Green)แล้วประมาณ 1,000 ตัน

อุกฤษ กล่าวว่า ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น รีคัลท์ มีการใช้ในประเทศไทยและประเทศปากีสถาน บริษัทคาดว่าจะร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอาทิ กัมพูชา เวียดนาม ในปีหน้า

“ตอนนี้ถึงยุคที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ในการทำเกษตร ช่วยลดความเลื่อมล้ำในประเทศไทยลง ทำให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งมากขึ้น คอนเซ็ปของเราคือเราทำแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรใช้ฟรีจุดประสงค์หนึ่งก็คือเราต้องการช่วยเขาในการเอาเทคโนโลยีมาปรับวิธีการทำเกษตร ช่วยเขาในการบันทึกรายรับรายจ่ายยทำให้เขารู้ว่าเขามีกำไรเท่าไหร่เป็นต้น เกษตรกรในบ้านเราเกือบ 20 ล้านคน ตอนนี้มีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี ยังเป็นโอกาสที่กระดูกสันหลังของชาติเราจะใช้นวัตกรรม ในการมาเปลี่ยนแปลงตัวเองผมอยากจะอยู่ในจุดที่ว่าถ้าเกิดองค์กรนานาชาติ สหประชาชาติ หรือผู้นำระดับโลก คิดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรช่วยลดความเลื่อมล้ำได้จะคิดถึงรีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้นคือเป้าหมายอีกซัก 3 ปีนี่แหล่ะผมอยากจะให้ รีคัลท์ เป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกแรกที่เค้าคิดถึงนั่นคือเป้าหมายของเรา” อุกฤษ กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ