NIA ตั้งเป้าพัฒนา 100 สตาร์ทอัพ สู่ New S-Curve ผ่าน Deep Tech

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับและขับเครื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรืออุตสาหกรรม NewS-Curve เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตเป็นสิ่งที่หลายประเทศมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตในอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานที่บูรณาการระบบสตาร์ทอัพของไทย (System integrator) ที่สนับสนุนในการสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพ (Startup ecosystem) ให้มีการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ กับภารกิจหลักในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ ของไทย ก้าวไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สามารถรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่าปัจจุบัน NIA ได้สานรับนโยบายคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ช่วงก่อนโควิดและระหว่างโควิดในเรื่องของการพัฒนา 300 สตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology Startup หรือ Deep Tech Startup) และการขยายโอกาสทางนวัตกรรมออกสู่ภูมิภาค โดยมีแนวทางในการสนับสนุนสตาร์ทอัพในภูมิภาค4 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ 

สำหรับการสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในภูมิภาคนั้น NIA มีการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ภายใต้แคมเปญ “เสริมพลังสร้างโอกาสทางระบบนวัตกรรมภูมิภาค (Empowering Regional Innovation System)” เพื่อกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมทั้งด้านองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน และเครือข่าย และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นภายในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน 

NIA จะเน้นการเสริมพลังและสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่นผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างให้จังหวัดหัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในพื้นที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรืองค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาคเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางนวัตกรรมในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในภาคธุรกิจให้มากขึ้น” ดร. พันธุ์อาจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม NIA ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้ครอบคลุมในทุกมิติ ผ่าน 7 เครื่องมือดังต่อไปนี้

  1. Incubator/Accelerator ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้ บ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ เช่น โครงการ AgGrowth, Space F
  2. Investment โดย NIA จะเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้เข้าถึงแหล่งลงทุนมากขึ้น ผ่านเครือข่ายนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
  3. Innovation Organization / Digital / Transformation เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรมีการใช้ระบบดิจิทัล หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินองค์กรนวัตกรรม
  4. SID หรือหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อบ่มเพาะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมจนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ซึ่งปัจจุบันมี 8 แห่ง กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
  5. Grant เงินทุนอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ ผ่านกลไกการสนับสนุนของ NIA หรือ สถาบันการเงินพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  6. Region/Innovation Hub/Innovation District เพื่อสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันในแบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างศักยภาพให้แก่พื้นที่นั้นๆ โดยการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย 
  7. Entrepreneurial University การส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการในระดับมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจนวัตกรรม สามารถสร้างโมเดลการทำธุรกิจใหม่ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยหลักๆ ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความรู้และโอกาสไปยังท้องถิ่น

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวถึง การสนับสนุนสตาร์ทอัพในสถานการณ์โควิด-19 ว่า NIA ให้ความสำคัญในการดูแลสตาร์ทอัพที่มีปัญหา เช่น สตาร์ทอัพทางด้านการท่องเที่ยว มีการให้คำปรึกษาในการปรับแผนธุรกิจ (Business model) ให้สตาร์ทอัพรีแบรนด์ หรือมีการพัฒนานวัตกรรมอีกครั้ง เพื่อรองรับ New normal รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสสูง เนื่องจากเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มที่สร้างงานและทำให้เกิดการเติบโตสูง เช่น มีการช่วยหานักลงทุนมาลงทุน เป็นต้น

เราก็ช่วยได้ไม่หมด เราช่วยได้บางรายเท่านั้น ที่มีศักยภาพและมีความยืดหยุ่น (Flexible) ในการปรับตัว และบางกลุ่มมีการเติบโต อาทิ สตาร์ทอัพ ทางด้านเกษตร อาหาร และการแพทย์ เป็นต้นสำหรับการสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep technology มีการนำการวิจัยมาต่อยอดการพัฒนา มีการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวและว่า 

สำหรับแผนในการช่วยสตาร์ทอัพขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศนั้น NIA จะร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ โดยนำบริษัทสตาร์ทอัพไป ร่วมลงทุน (Joint venture) เพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน และฝรั่งเศส 

“เราทำงานร่วมกับสถานฑูตไทย ทำงานร่วมกับหน่วยงานในประเทศนั้นๆที่เค้าเป็นหน่วยงานนวัตกรรมแห่งชาติเหมือนเรา คือวัน วินวิน  เราก็ต้องเปิดให้เค้าเข้ามาด้วยแล้วเค้าก็ต้องเปิดให้เราเข้าไปด้วย อาทิ ประเทศโปรแลนด์  ที่จะนำนวัตกรรมของไทยไปต่อยอดได้ เรามีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์นวัตกรรม ที่คนอื่นเค้าไม่มี เช่น เรามีวิถีชีวิต มีไลสไตล์ของเราเป็นจุดแข็งของคนไทย” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวและว่า 

ในส่วนของศักยภาพและการปรับตัวของภาคเอกชนนั้น สตาร์ทอัพมีการปรับตัวค่อนข้างไว เพื่อความอยู่รอดในอนาคต และมีการเรียนรู้กฎเกณฑ์ของตลาดเพราะพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างไว นอกจากนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงภาวะโลกร้อน จึงเป็นโอกาสในการนำนวัตกรรมไปตอบโจทย์ภัยคลุกครามต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิด Innovation base enterprise เป็นการประกอบการโดยเน้นนวัตกรรม หรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นนวัตกรรมมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ

“สำหรับทิศทางและแนวโน้มสตาร์ทอัพที่กำลังเข้ามาในอนาคตมีหลายด้าน อาทิ พลังงาน แพทย์ทางไกล (Tele-medicine) เกษตรและอาหาร ที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้นมากขึ้นมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังจะมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) และนวัตกรรมใหม่ๆมาช่วยในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) เทคโนโลยีอวกาศ การทหาร  Augmented reality หรือ AR ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Learning machine)เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic) และ เทคโนโลยีที่สร้างความกลมกลืนระหว่างโลกในความจริงกับโลกจำลองแบบดิจิทัล (Immersive technology)มากขึ้น และสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะ และใช้เงินลงทุนสูงกว่าธุรกิจอื่นๆรวมถึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหรือการแข่งขันเดิมในลักษณะหน้ามือเป็นหลังมือและผลกระทบสูงกว่าธุรกิจทั่วไป” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม NIA มีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกประมาณ 300 ราย จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็น “นวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก” ได้แก่ เกษตร (Agritech) อาหาร (FoodTech) อารีย์ (AI, Robotic, Immersive; ARI) อวกาศ (SpaceTech) สุขภาพ (Healthtech) และ “นวัตกรรมเชิงคอนเท้นท์” ได้แก่ มาร์เทค (MARtech - ดนตรี/ศิลปะ/นันทนาการ) และการท่องเที่ยว/ไมซ์ (Traveltech & MICE)และสร้างสตาร์ทอัพที่อยู่ตามภูมิภาคจำนวน 3,000 รายในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรืออุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้อย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ

ซีเอส ฟาร์ม ฟาร์มปลาเมืองสุพรรณ เพราะยืดหยุ่นจึงรอดในภาวะวิกฤตโควิด

ประสบการณ์การเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีมากว่า 30 ปี ทำให้ บ่อปลาซีเอส ฟาร์ม ในจังหวัดสุพรรณบุรี สามารถประคองตัวให้รอดได้จากวิกฤต COVID-19 ครั้งล่าสุด ซึ่งคุณแชมป์ ธนัชธีธัช อภิญวัฒนานนท์ เจ้าของธุรกิจ บริษัท ซีเอส ฟาร์ม สุพรรณบุรี จำกัด บอกว่าหนักที่สุดตั้งแต่เจอวิกฤติมา

 “บ่อปลาขนาดกลาง ขนาดเล็ก ปิดไปหลายบ่อ เพราะวิกฤติโควิด ตลาดส่งมันปิดเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพียงแต่เรามีบ่อปลาจำนวนหลายบ่อ มีปลาให้เลือกเยอะ ยังพอที่จะประคองตัวให้รอดไปได้ ธนัชธีธัช กล่าว

ก่อนวิกฤติ โควิด บริษัทซีเอส ฟาร์ม มีบ่อปลามากกว่า 400 ไร่ นอกจากที่ดินของตัวเองแล้ว ก็ยังเช่าที่ดินข้างๆ เพื่อทำบ่อปลาเพิ่มขึ้น แต่หลังจากวิกฤติโควิด บริษัทซีเอส จำเป็นต้องลดขนาดบ่อลงให้เหลือเพียง 100 ไร่ และเหลือเพียง 40-50 บ่อ และก่อหน้านี้ปลาของ ซีเอส ฟาร์ม ส่งออกไปยัประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและลาว โดยผ่าน พ่อค้าและแม่ค้า คนไทย แต่ทุกวันนี้ ธุรกิจในส่วนนี้ต้องหยุดชะงักไปก่อน เนื่องจาก สถานการณ์ COVID-19

อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้จะหนักหนา แต่คุณแชมป์เล่าว่า ประสบการณ์การทำบ่อปลาที่ผ่านมาสามารถทำให้เขายังสามารถเลี้ยงลูกน้อง และยังมีรายได้เข้ามาที่ฟาร์มปลาเกือบทุกวัน แม้รายได้จะหายไปมากกกว่าครึ่งแต่ก็ไม่ทำให้ ต้องปลดคนงานออก

เจ้าของธุรกิจซีเอส ฟาร์ม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด อาทิ ปลาดุก และ ปลาสวายซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจนี้เป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ จากคนหนุ่มบ้านใกล้แม่น้ำที่พัฒนาคุณภาพการเลี้ยงปลาและพื้นที่มาเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นของฟาร์มเพียง 20 ไร่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันนี้ขยายไปกว่า 400 ไร่หรือมีบ่อปลานับร้อยบ่อ โดยภายในฟาร์มมีบ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาสวายที่โตเร็ว เลี้ยงง่าย จับได้ครั้งละปริมาณมากๆ โดยมีพ่อค้ามารับซื้อหน้าฟาร์ม เนื่องจาก ซีเอส ฟาร์ม เป็นผู้เลี้ยงปลาที่มีบริการเลี้ยง การจับ เพื่อส่งขายทั่วประเทศ

เราเน้นขยายบ่อเลี้ยงปลาให้มีขนาดใหญ่ เพื่อจะได้เลี้ยงปลาครั้งละมากๆ ขายทีละเยอะๆ ขณะเดียวกันก็มีการสร้างมาตรฐานบ่อปลาให้ได้คุณภาพ ลูกค้าเราก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พ่อค้า แม่ค้า มาจากทั่วประเทศ”

ซีเอส ฟาร์ม เน้นเลี้ยงปลาเป็นขนาดมาตรฐาน มีตลาดขายส่งทั่วประเทศ และผู้ค้าส่งจากต่างประเทศมารับซื้อถึงที่ฟาร์ม โดยเรามีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการล้นตลาด ซึ่งมีการวางแผนกำหนดปริมาณปลาที่ต้องจับ และปริมาณส่งขายล่วงหน้า โดยเป็นการวางแผนร่วมกันกับผู้ซื้อ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดประสบปัญหา เช่น กรณี COVID-19 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดรายย่อยยังไม่กล้าลงทุนปล่อยปลาลงบ่อ เนื่องจากตลาดปิดและโดนกดราคา

ปัญหาที่เจอในการเลี้ยงปลาคือ ผนังดินรอบบ่อมักเกิดการพังทลาย ทำให้บ่อปลาพัง ถมน้ำในบ่อให้ตื้น เลยต้องใช้หินก้อนใหญ่ๆ อัดเป็นผนังรอบบ่อปลาเพื่อป้องกันตลิ่งพัง 

แม้จะสิ้นเปลืองเงินลงทุนไปมาก แต่ก็ทำให้สามารถเลี้ยงปลาได้ทั้งปี โดยไม่ต้องหยุดพักซ่อมแซมบ่อ และด้วยการที่เป็นฟาร์มใหญ่ มีบ่อปลาหลายบ่อ และมีปลาหลายขนาด ทำให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มปลาให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักการคือ ทำบ่อชำ และสต๊อกปลาให้มีจับขายได้ทั้งปีและมีปลาทุกขนาดเพื่อลดการขาดทุน

ธนัชธีธัช บอกว่า ซีเอส ฟาร์มมี บ่อชำ หรือบ่ออนุบาลปลาหลายบ่อ ทำให้สามารถบริหารจัดการปลาในฟาร์มให้มีผลผลิตที่เพียงพอให้จับขายได้ตลอดทั้งปี ขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะเป็นลักษณะการปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยงแบบเลี้ยงยาวไปเลย ไม่มีบ่อชำ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับคลังสินค้า หรือการกักตุนลูกปลาเอาไว้เยอะๆ บ่อหนึ่งนับหลายแสนตัว

และแม้จะสูญเสียบ้างในช่วงที่เป็นลูกปลา แต่เมื่อปลาโตขึ้นอัตราสูญเสียก็ลดลง และเมื่อถึงกำหนดก็จับไปปล่อยในบ่อเลี้ยงเพื่อขุนให้โตตามขนาดมาตรฐานต่อไป เป็นการวางแผนการเลี้ยงที่ทำให้ฟาร์มมีปลาขายได้ตลอดปี

“เรามีปลาทุกขนาดให้เลือก และเมื่อมีบ่อปลาจำนวนมาก ก็ทำให้เราสามารถย้ายปลาไปยังบ่อที่ว่างได้ เมื่อลูกค้ามาเลือกซื้อปลา เขาจะได้ปลาตามขนาดที่เขาต้องการ ส่วนปลาไซส์ใหญ่ เราก็ขายราคาถูกลงมาหน่อย ซึ่งก็คละกันไปทำให้เราบริหารจัดการปลา และราคาปลาในบ่อเราได้ ในขณะที่ถ้าเป็นรายเล็ก เขาจะเอาปลาใหม่ลงบ่อไม่ได้ ถ้ายังขายปลาในบ่อเก่าได้ไม่หมดทำให้โดนกดราคา และจำเป็นต้องขายขาดทุน เพราปลาดุกยิ่งตัวโตราคาก็จะยิ่งถูก ซึ่งต่างจากปลาสวาย ที่ยิ่งโต ราคายิ่งแพง ธนัชธีธัช กล่าว

 

เผยเทคนิกเลี้ยงเยอะ คละไซส์ ความเสี่ยงลดลง

ข้อดีของซีเอส ฟาร์ม คือสามารถบริหารจัดการได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ กรณีเช่นการจับปลาแต่ละบ่อ การจับแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องจับทั้งบ่อ และถ้าลูกค้าต้องการปลาขนาดไหน ก็ยังสามารถเลือกได้ด้วยทุกขนาดหรือจะคละไซส์ก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่กระนั้นการจับปลาไม่ควรเกิน 5 วันเพราะจะทำให้ปลาน้ำหนักลดลง

บ่อนึงไม่ควรเกิน 5 วัน ปลาจะผอม ไม่สวย คุณภาพลดลง ฟาร์มเรามีจับปลาทุกวัน ไม่มีปัญหาเรื่องไซส์เพราะ เรามีบ่อเยอะ ถ้าไซส์ไหนเหลือเราก็เอาไปคละไซส์กันได้หมด ความเสี่ยงก็ลดลงไปเยอะ ราคาก็ไม่ถูกกดลงไปมาก และถ้าตัวที่ไซส์ใหญ่เกิดก็ขายถูกลงมาหน่อย ถั่วเฉลี่ยกันไป”

ทุกวันนี้บ่อปลาของ ซีเอส ฟาร์ม ยังมีพ่อค้า แม่ค้าแวะเวียนมาจับปลาไปขายทุกวัน แม้จะไม่คึกคักเหมือนก่อนโควิด แต่ธนัชธีธัช ก็บอกว่าถือว่าโชคดีที่เรายังรอดในขณะที่หลายบ่อ ต้องปิดกิจการไป และที่เรารอดเพราะ ประสบการณ์การบริหารปลาที่ทำกันมาก่อนหน้านี้  

สำหรับแผนในอนาคต ซีเอส ฟาร์ม ก็จะยังมุ่งมั่นในการทำฟาร์มปลาต่อไปในอนาคต และอาจจะแตกไลน์จากการขายปลาสด อย่างเดียว มาทำปลาชิ้นหรือปลาแห้งเพิ่มเติม  ซึ่งธนัชธีธัช บอกว่า อนาคตผมต้องขยับธูรกิจเพิ่มเติมแน่นอน เพราะการขายปลาสด อย่างเดียวทำให้ต้องง้อ พ่อค้า แม่ค้า แต่ถ้าแตกไลน์ไปขายปลาที่สำเร็จรูปมากขึ้นก็จะเป็นการกระจายความเสี่ยงและกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นไปก่อน

บทความแนะนำ

Microgreen อาหารสุขภาพทางเลือก “Super food” จากงานวิจัยสู่ผู้บริโภค

ไมโครกรีน (Microgreen) หรือ อาหารสุขภาพทางเลือก Super Food กำลังได้รับความนิยมของผู้ที่ชอบทานผักและรักสุขภาพ เพราะคุณสมบัติพิเศษของไมโครกรีนที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูง ผักขนาดจิ๋วกินน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก รูปแบบใหม่ของการบริโภคผัก

“ไมโครกรีน” คือ ต้นอ่อนของพืชผักชนิดต่างๆ ที่มีการงอกและยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยอาจเพาะจากเมล็ดของพืช ผัก สมุนไพร หรือธัญพืชต่างๆ จุดเด่นของไมโครกรีนที่แตกต่างจากผักทั่วไป คือ แม้ไมโครกรีนจะเป็นผักขนาดจิ๋ว ต้นเล็กๆ แต่มีรายงานวิจัยพบว่า ไมโครกรีน มีปริมาณสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูง เช่น ปริมาณวิตามินซี แคโรทีนอยด์ สารประกอบฟีนอล ปริมาณธาตุต่างๆ (Ca, Mg, Fe, Zn, Snและ Mo) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารต้านมะเร็งสูงกว่าในผักโตเต็มวัยทั่วไป ด้วยคุณประโยชน์ที่ไม่ได้เล็กตามขนาด ส่งผลให้ไมโครกรีนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางขุนเทียน กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคผักกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยทานผักต้นโตเต็มวัย ปัจจุบันคนเริ่มหันมาบริโภคไมโครกรีนหรือต้นอ่อนเพิ่มขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องทานผักในปริมาณมาก การบริโภคไมโครกรีนในอาหารแค่เพียงเล็กน้อยก็จะได้รับคุณค่าของสารอาหารในปริมาณที่มากกว่าการบริโภคผักโตเต็มวัยทั่วไปได้ เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ ทานได้ทุกเพศทุกวัย

“ปกติการบริโภคผัก เช่น บร็อคโคลี หรือคะน้าที่โตเต็มวัย เราจะคุ้นเคยกับการรับประทานกันเป็นต้นหรือหัวใหญ่ๆ แต่ต้นยิ่งโตคุณค่าสารอาหารบางชนิดยิ่งน้อยลง แต่การทานต้นอ่อนจะได้คุณประโยชน์มากกว่า เปรียบเทียบเช่นการทานต้นอ่อนบร็อคโคลีเพียง 50 กรัม ได้คุณประโยชน์เท่ากับการทานบร็อคโคลีโตเต็มวัย 1 หัว ไมโครกรีนสามารถนำมารับประทานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น นำมาทานเป็นผักสลัด นำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ หรือ นำมาโรยหน้าทานกับซุป สลัด หรือแซนวิช ก็ได้รับประโยชน์และได้คุณค่าทางอาหาร”

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยยืนยันว่า ไมโครกรีนมีคุณประโยชน์ดีต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะต้นอ่อนของผักในตระกูลกะหล่ำ เช่น บร็อคโคลี คะน้า กะหล่ำปลี หัวไชเท้า (ไควาเระ) มัสตาร์ด เนื่องจากมีสารต้านมะเร็ง (Glucosinolate) ที่มีเฉพาะในผักตระกูลกะหล่ำเท่านั่น นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการศึกษาการนำผักพื้นบ้านของไทยมาเพาะเป็นไมโครกรีนได้หลายชนิด

สำหรับผักไทยสามารนำมาทำไมโครกรีนได้เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ผศ.ดร.ณัฐชัย กล่าวว่า เราได้มีการวิจัยหาผักพื้นบ้านที่สามารถนำมาทำไมโครกรีน เช่น กระเจี๊ยบแดง ผักขี้หูด สามารถนำมาเพาะเป็นไมโครกรีนได้ และมีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้ไมโครกรีนต่างประเทศ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค แต่สิ่งที่ต้องคำนึงและศึกษาเพิ่มคือ กรณีผักพื้นบ้านของไทย ต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างจากเมล็ดพันธุ์ผักของต่างประเทศจึงต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม เพื่อออกแบบสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผักชนิดนั้นๆ จึงจะทำให้ไมโครกรีนเจริญเติบโตดีและมีคุณค่าทางอาหารและปริมาณสารพฤกษเคมีสูง

สำหรับการเพาะไมโครกรีนนั้น มีหลักการเหมือนกับการปลูกผักทั่วไป แต่ใช้ระยะเวลาการเพาะปลูกสั้นกว่าเพียง 7-10 วันเท่านั้น ถือเป็นข้อดีอีกอย่างของการเพาะไมโครกรีน คือ เมื่อต้นอ่อนมีขนาดความสูงประมาณ 1 - 4 นิ้ว มีใบเพียง 2 - 3 ใบ ก็สามารถเก็บมาขายหรือนำมารับประทานได้แล้ว ทำให้สามารถเพิ่มรอบการผลิตได้รวดเร็วกว่าการปลูกผักต้นโตเต็มวัยทั่วไปหลายเท่า

อย่างไรก็ตามเมล็ดพันธ์ของไมโครกรีนส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากประเทศอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก ไม่คุ้มค่าที่จะผลิตเอง เนื่องจากต้นทุนสูง และการเพาะไมโครกรีนก็ต้องใช้เมล็ดจำนวนมาก เมล็ดพันธ์ของไทยที่เคยทำปรากฏว่ามีการงอกไม่สม่ำเสมอ 

การปลูกผักไมโครกรีน ดร.ณัฐชัย บอกว่า ได้ทำการปลูกในโรงเรือนปิด หรือระบบปิด เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมร่วมกับระบบการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน ลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากดินและสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการปลูกลงดินหรือการปลูกในระบบเปิด ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้สารเคมีเลย และผลิตภัณฑ์ทีใช้ปลูกก็สามารถนำไปวางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ทันที ทำให้ยืดอายุไมโครกรีนได้นานขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องตัดต้นอ่อนไปวางขาย เพราะสินค้าของเราสามารถนำไปวางที่ชั้นของสินค้าได้เลย 

ทั้งนี้ ดร.ณัฐชัย ได้ใช้พื้นที่ ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (บางขุนเทียน )เป็นสถานที่ ทำโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไมโครกรีนในระบบปิดควบคุมสภาวะแวดล้อมภายใต้แสงเทียม (Plant Factory with Artificial Light, PFAL) โดยได้รับการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) โดยการพัฒนาระบบต้นแบบ PFAL สำหรับผลิตไมโครกรีน ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไมโครกรีนในระบบ PFAL แบบไม่ใช้ดิน แห่งแรกในประเทศไทยที่พัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น

“ปัจจุบันก็ยังใช้สถานที่แห่งนี้ในการปลูกเพื่อผลิต และส่งขายอยู่ 

การปลูกพืชในระบบบ PFAL มีลักษณะเด่น คือ เป็นการปลูกพืชในระบบปิดภายใต้แสงเทียมที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างๆ โดยปลูกไมโครกรีนบนชั้นแนวตั้งที่มีการติดตั้งแสงเทียม เลียนแบบแสงธรรมชาติ มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ ระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้น, ระบบหมุนเวียนอากาศ, ระบบควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และระบบควบคุมแสงเทียมโดยใช้หลอดไฟ LED  ซึ่งนอกจากช่วยลดความเสี่ยงเรื่องของการปนเปื้อน การป้องกันโรคจากแมลง และปลอดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ยังเอื้อต่อการผลิตในปริมาณมากๆ นอกจากนี้ข้อดีของการเพาะปลูกผักไมโครกรีนแนวตั้ง คือ ทำให้ใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศ หรือฤดูกาล ปัจจุบันระบบปลูกพืชภายใต้แสงเทียม หรือ PFAL ได้นำมาใช้ในการปลูกพืชผักที่ให้ผลผลิตมูลค่าสูง ทั้งพืชใบ พืชสมุนไพร และไมโครกรีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ณัฐชัย กล่าวว่า การปลูกไมโครกรีน ไม่จำเป็นต้องปลูกในระบบปิดเท่านั้น แต่การเลือกปลูกในระบบปิดจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการปนเปื้อน และการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย

ไมโครกรีนเริ่มวางตลาด มาสองปีแล้ว เริ่มแรกที่โกลเด้นเพลส 4-5 สาขา  ปีที่ผ่านมาเริ่มวางในเครือเดอะมอลล์ เช่น กรูเม่ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์, ดิเอ็มโพเรียม และสยามพารากอน และ ที่ฟูจิ ซูเปอร์มาร์เก็ต และถ้าไม่ติด COVID-19 เราคงได้วางที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตอนนี้เลยชะลอไปก่อนภายใต้แบรนด์ “Dr.Sprouts & Microgreens” ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพราะของที่เราขาย  ราคาค่อนข้างสูง และคนไทยก็ไม่ค่อยรู้จัก คนไทยก็จะ งง ว่าเอาไปทำอะไรกิน  ตอนแรก ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าโกลเด้นเพลง ผมเคยไปตั้ง บู้ทและไปยืนขายบริเวณสถานี รถไฟฟ้า คนไทย ไม่รู้จัก คนที่เข้ามาซื้อจะเป็นฝรั่งต่างชาติ ญี่ปุ่น คนไทยจะเข้ามาถามว่าเอาไปปลูกต่อได้หรือไม่ เพราะมันสวย และต้นเล็กๆ คิดว่าเอาไปปลูกต่อ ต้องใช้เวลา แต่ถือว่าดีขึ้น จากที่เริ่มทำ เพราะที่ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาสิบปี กว่าคนจะเริ่มเข้าใจ และที่สำคัญข้างกล่อง จะมีคำแนะนำ ประโยชน์ของไมโครกรีน ผศ.ดร.ณัฐชัย กล่าว

 

ดร.ณัฐชัย กล่าวว่า ปีที่แล้วสามารถทำยอดขายได้ หมื่นกล่อง กล่องละ 65 บาท (ขายปลีก) ยังไม่ได้กำไร แต่เริ่มมีฐานลูกค้าประจำแล้ว 

“เราต้องจัดการเองทั้งหมด ตั้งแต่ตระเวนส่ง การดูแลสินค้า บนชั้นวาง และพอเป็นของสด ของเสีย เราต้องรับผิดชอบเก็บกลับมาเอง ปีแรกที่เราทำ ของเสียกับของขายได้ ครึ่งๆ   เราพยายาม ลดของเสียลดจำนวนการส่ง ทำการคาดการณ์ว่า แต่ละสาขา ปริมาณ การซื้อเป็นอย่างไร สมัยก่อน เราส่งเยอะ เราคิดว่า วางเยอะจะดูดี ปรากฏว่ากลายเป็นของเสียเยอะ ตอนนี้ก็ลดของเสียมาได้ เหลือสัก 20%  ก็ดีขึ้น   นอกจากนี้ เราทำวิจัยไปด้วย เราจ้าง ทีซีในห้างด้วยที่เค้าจะจัดของ อะไรให้ เวลาของใกล้ ๆ จะหมดอายุเราก็จัดให้เค้ามัดรวมกัน ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ถ้าเราเอาของกลับมา เราก็ต้องทิ้ง แต่ถ้าเราจับมัดรวมอย่างน้อยก็ได้ครึ่งหนึ่ง เราได้ลูกค้ามากขึ้นด้วย ซึ่งก็ดีขึ้น และให้ พีซี เขาทำรีเสิร์ชเล็กๆให้ ก็พบว่าคนซื้อ เป็นกลุ่มผู้หญิง อายุประมาณ 40-50 ปี และเริ่มมีลูกค้าที่เป็นเชฟร้านอาหาร  เพิ่มขึ้นด้วย ปกติจะส่งอาทิตย์ละครั้ง” ดร.ณัฐชัย กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐชัย ยังได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาต่อยอดการผลิตไมโครกรีนว่า เนื่องจากสถานการณ์การผลิตไมโครกรีนปัจจุบันยังคงเน้นการผลิตเพื่อบริโภคสดเป็นหลัก แต่เมื่อเล็งเห็นคุณสมบัติพิเศษของไมโครกรีนที่ประกอบไปด้วยสารอาหารและปริมาณสารพฤกษเคมีสูง จึงได้วางแผนที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่การแปรรูปไมโครกรีนเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงต้นอ่อน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ หรือใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพได้ในอนาคต นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการตลาดแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้บริโภคไมโครกรีนในรูปแบบที่สะดวกยิ่งขึ้น เชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์ผู้ที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี รวมถึงผู้ที่ไม่ชอบทานผักจะสามารถทานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

“ความฝันอยากเห็นสินค้าของตัวเอง วางอยู่บน Shelf ซึ่งก็ทำสำเร็จ และอนาคตอยากเห็นคนบริโภค ไมโครกรีน มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีประโยชน์มหาศาลจริง ๆ และ ถ้ารู้จักประโยชน์ของมัน คนจะยิ่งอยากลอง

บทความแนะนำ

DIP กับบทบาท การสร้างสรรค์การคุ้มครอง การเอาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และป้องปราบ

ทรัพย์สินทางปัญญา คือแต้มต่อทางธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการ เพราะการค้าขายในปัจจุบันเป็นการค้าบนโลกไร้พรมแดน ซึ่งนำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยง SMEs และภาคธุรกิจไทยควรเตรียมตัวอย่างไร ขณะเดียวกันบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทำหน้าที่ทั้ง สร้างสรรค์ คุ้มครอง และป้องปราบก็ปรับความยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ข้อมูลที่มีให้เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจมากที่สุด 

นุสรากาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ได้กล่าวถึงแนวนโยบายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในภาพรวมนโยบายของกรมฯ ที่จะส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะมองตั้งแต่เริ่มกระบวนการที่มีการสร้างสรรค์ การเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง การเอาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และ ป้องปราบซึ่งเป็นห่วงโซ่สุดท้าย คือสร้างสรรค์ ใช้ประโยชน์ คุ้มครองและป้องปราบการละเมิด

รองนุสรา ขยายความ ในส่วนของการสร้างสรรค์  ว่า การพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิบัตร ที่ผู้ประกอบการสามารถ นักวิจัย หรือสถาบันการศึกษา เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และถ้าอยากจะรู้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในวันนี้ มีเทคโนโลยีตัวไหนที่หมดอายุการคุ้มครองบ้าง เพื่อจะสามารถเอาไปต่อยอดได้กรมฯได้พัฒนาดึงขึ้นมาให้สามารถหาได้ที่เว็บไซต์ของกรม ฯ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ที่กำลังจะหมดอายุใน 5 ปี ข้างหน้า หรือว่าที่หมดไปแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนการเข้าไปค้นหาจะไม่ได้ง่าย จะต้องเข้าไปดูในถังที่เป็นฐานรวมทั้งหมด

นอกจากนี้ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IPAC ทางกรมฯ ได้ใบอนุญาต (License)  เกี่ยวกับฐานข้อมูลนวัตกรรม สิทธิบัตร ที่สามารถให้ นักวิจัย สามารถเข้ามาค้นหา ข้อมูลดูภาพของนวัตกรรมข้อมูลเป็นCommercial Patent /Data Base ที่กรมฯ เช่ามาและให้ User คนทั่วไปสามารถจองเวลาเข้ามาใช้ได้  เพื่อจะได้ตรวจดูว่าวันนี้มีนวัตกรรมตัวไหนที่น่าสนใจ  และในปีงบประมาณ 2565 จะเพิ่มระบบการวิเคราะห์แนวโน้มสิทธิบัตร จะมีคนช่วยวิเคราะห์ ให้เห็นภาพ ที่เราเรียกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตร  “Patent Landscape” เราจะเห็นภาพของแนวโน้มของการพัฒนานวัตกรรมในสาขาต่างๆ ที่เราจะรู้ว่าจะไปในทิศทางไหน เช่น  วันนี้จะมีเทคโนโลยี เรื่อง DCG ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม  กับเรื่องของ  Bio Circular Green  ระบบเราจะวิเคราะห์ให้  เราจะเห็นได้จากข้อมูลสิทธิบัตร ประเทศไหนจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีกลุ่มนี้  ประเทศไทยมี position ในเทคโนโลยีตรงไหน เราก็จะได้รู้ว่า คนไทยเราเองเก่งตรงไหน  เราควรจะไปในทิศทางไหน 

 

คนไทยยังขอสิทธิบัตรน้อย

คนไทยคำนึงถึง ความสำคัญของการคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้า มากขึ้น จะเห็นได้จาก  คำขอต่างๆ ที่เข้ามา ส่วนใหญ่เป็นคำขอ เครื่องหมายการค้า  ปีหนึ่งประมาณ 4.8-5 หมื่นคำขอ  ส่วนใหญ่เป็นของคนไทย  ส่วนคำขอสิทธิบัตร ประมาณ 8 พัน คำขอ ประมาณ 80% เป็นของต่างประเทศประเทศ อนุสิทธิบัตร ประมาณ 2.5-3 พันคำขอ ส่วนใหญ่เป็นของคนไทย  ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นคนไทย เป็นส่วนใหญ่ที่ยื่นขอเข้ามา

รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า ตัวเลขจะบอกได้ว่า เช่น เครื่องหมายการค้า คนไทย เข้ามาสู่ธุรกิจ มากขึ้น เป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น และตระหนักในเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ถ้าเมื่อก่อน  ถ้าเราไม่จด  พอถูกละเมิดไปแล้วมันแก้ไขปัญหาได้ยาก ตอนนี้เรา พยายามสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก ความสำคัญ ที่เราจะต้องใช้ IP มาเป็นเครื่องมือ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ในการที่จะปกป้องกิจการ หรือธุรกิจของเรา 

ส่วนเรื่องสิทธิบัตร  ความแตกต่างระหว่างสิทธิบัตรและอนุสุทธิบัตร อนุสิทธิบัตร เป็น นวัตกรรมที่เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนคนไทย ยื่นเยอะ  คนไทยยังไม่เก่ง ถึงขั้นคิดค้นนวัตกรรมที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น  เลยสะท้อนให้เห็นว่า ต่างประเทศ ยื่นขอสิทธิบัตรในบ้านเรามากกว่าคนไทย 

“คนไทยยื่นเข้ามาจะเป็นเรื่องของการต่อยอด ไม่มีของใหม่ เทคโนโลยีไม่สูง ยกเว้นกลุ่มบริษัทใหญ่ เช่น เอสซีจี การไฟฟ้า ที่อาจจะทำสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มีการจดสิทธิบัตรในบ้านเราและไปจดในต่างประเทศด้วย แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เน้นในเชิงของการจดดีไซน์  เราจะเก่งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมชั้นต้น ยังไม่ได้เทคโนโลยีสูง

 

Fast track

อย่างไรก็ตาม กรม ฯ ก็พยายามที่จะช่วย เพราะเรามองว่าประสิทธิภาพของกาจดทะเบียน ความเร็วความสะดวกที่ผู้ประกอบการจะได้มันจะส่งผลถึง การที่เขาจะได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้น ส่งผลถึงการเอาไปใช้ประโยชน์ ที่เร็วขึ้น โดยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา  กรมฯ นำระบบ fast track มาใช้ในการขออนุญาตเครื่องหมายการค้า สำหรับผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้มีหลายรายการ 5-6 รายการ หรือไม่เกิน 10 รายการ ไม่ต้องไปเข้าคิวรอ จะเข้าเงื่อนไข first action fast track  ภายใน 6 เดือน (เดิม 12 เดือน) เขาจะได้รับการหยิบมาพิจารณา มีคำสั่งว่าประกาศโฆษณา ว่าจะรับจด หรือแก้ไขเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปรอคิว เพราะบางรายอาจจะยื่นขอมาเป็นพันรายการ

สำหรับเรื่องการต่ออายุหนังสือสำคัญ เช่น เครื่องหมายการค้า ปกติ  เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนให้ความคุ้มครองสิบปี  ถ้ายังทำการค้าต่อ ต้องมาต่ออายุ เราก็เลยบอกว่า ถ้า รายการของคุณมีไม่เกิน 30 รายการ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลจากเดิม ไปลดทอนหรือปรับ เราสามารถให้รอรับได้เลย จากเดิมต้องรอสองเดือน หรือ 60 วัน วันนี้จะเหลือ แค่ 60 นาที  

 

E-Certificate

สิทธิบัตร กระทบวนการแรกที่เราเริ่มทำมาได้หลายเดือนคือการออกหนังสือสำคัญ เราเริ่มทำมาได้หลายเดือนแล้ว  เป็น E-Certificate  การรับรองสิทธิ์ทางอิเล็กทรอนิกส์  จากเดิม 60 วัน ตอนนี้เราออกให้เป็นอีเมล์ เป็น E- Certificate ก่อนภายใน 15 วัน เอาไปใช้ได้เลยหลังจากนั้นจะส่งเหมือนเดิมตามไป เขาจะทำได้เร็วขึ้น /  สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรการคุ้มครอง มันจะนับย้อยไปถึงวันที่เขา ยื่นขอจดทะเบียน เพียงแต่ว่า ถ้าได้จดเร็วขึ้นจะดี เพราะ บางรายที่เขาต้องไปทำ License 

อีกอันที่มามาช่วยในเรื่องของสิทธิบัตรคือระบบแจ้งเตือนจะมีการแจ้งเตือนบนเว็บไซต์ โดยจัดหมวดหมู่ประเภท ให้ค้นง่าย เมื่อก่อนจะรวมกันไปหมด ประเภทไหน สาขา เทคโนโลยีไหน ก็จะรวมกันไปหมด หายาก คราวนี้จะแยกหมวดหมู่ออก เช่น เคมี /ไฟฟ้า  

ลิขสิทธิ์  สามารถขอโดยใช้ไฟล์แนบมากับอีเมลได้ เมื่อก่อนต้องมาที่กรมฯ หรือไปที่สำนักงานพาณิชย์ จังหวัด เรามีระบบอีไฟล์ ที่ใช้ได้ดีมาก ๆ สำหรับคนที่ต้องการมีหลักฐานเพื่อประโยชน์ในอนาคตก็สามารถยื่นผ่านระบบอีเมลได้  แต่ สำหรับการยื่นขอเครื่องหมายการค้า กับ สิทธิบัตร อาจจะไม่คล่องมาก เพราะต้องการเอกสารเยอะ คงต้องยื่นด้วยตัวเองก่อน หรือส่งทางไปรษณีย์ 

 

ฟื้นตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา

ตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IPmart บนเว็บไซต์ เป็นแพลตฟอร์มให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและผู้ซื้อมาเจอกัน ตกลงกัน ซื้อขายกันได้สะดวกมากขึ้น ทำมาตั้งแต่ปี 2560  แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยตรงจุดประสงค์ กลายเป็นผู้ขาย มาขายโปรดักต์ของตัวเองไม่ใช่ตลาดขยายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างที่ตั้งใจ ดังนั้นในปี 2565 กรมฯ กำลังจะปรับโฉม และทำฟังก์ชั่นให้ชัดเจน เราอยากให้ตรงนี้ เป็นการซื้อขาย IP  กันจริง ๆ เพื่อการแปลงทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาหนึ่งที่คนเอาไป แปลงได้ยาก เพราะมันประเมินมูลค่ายากปัญหาการประเมินมูลค่าอย่างหนึ่งนอกจาก  ขาดผู้เชี่ยวชาญ เราไม่รู้ราคากลางของ IP ลักษณะที่ใกล้เคียงกันราคาเท่าไหร่ เพราะเราไม่เคยเห็นเขาไปซื้อขายกัน และไม่มีใครเคยจะมา บอกกัน เราคิดว่า  ถ้ามันมีที่มีแหล่ง ทางกรมฯ อาจจะสามารถ ตามหรือเห็นได้บ้างว่า ราคาแต่ละตัวมันจะประมาณไหน และเอาไปใช้ประโยชน์ในการประเมินราคาทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป 

 

ร่วมมือกับ จีน สกัดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการค้าขายทางออนไลน์เกิดขึ้นอย่างมากมาย เมื่อมีการค้าขายข้ามพรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซ การละเมิดเกิดได้ง่าย ที่ผ่านมากรมฯ ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเยอะ โดยเฉพาะจากประเทศจีน จึงทำให้เกิดความร่วมมือ ทำเอ็มโอยูร่วมกันกับ  China National Intellectual Property  Administration  หรือ CNIPA เหมือนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ของบ้านเรา โดย ตกลงทำความเข้าใจในรูปของการบันทึกเอ็มโอยู ขอมีโต๊ะที่ดูแลเรื่องนี้ ถ้ามีปัญหา เราจะติดต่อโดยตรง เพื่อหาทางแก้ไข  ขอคำแนะนำในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่นมีคนเอาเครื่องหมายทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ไปจดเยอะมากที่คนไทยอาจจะยังไม่จดในเมืองจีน แต่คนจีนเอาไปจดเอง เยอะมาก เราจะติดต่อกับเขาโดยตรงว่า ว่ามันมีจดในเมืองไทยแล้ว และเราจะทำเรื่องยื่นมา มันเป็นการ alert เขาเหมือนกัน ว่าอย่าพึ่งผลีพลาม  หรือถ้ามีการละเมิดอื่นๆ เขาก็จะช่วยแนะนำเราได้ 

“ถ้าธุรกิจ SMEs ที่กำลังโต และรู้ว่ากำลังจะทำตลาดที่ประเทศไหนลูกค้าเยอะ ควรจะต้องปกป้องตัวเองด้วยการเข้าสู่การคุ้มครองของประเทศนั้น ด้วย เช่น  ถ้าเขามีลูกค้าที่จีน ก็ควรจะจดเครื่องหมายการค้า หรือยื่นสิทธิบัตรที่จีนด้วย  โดยที่มีระบบ สิทธิบัตรหรือระบบ PCT สามารถยื่นคำขอครั้งเดียวที่ไทยและระบุไปเลยว่า จะคุ้มครองในประเทศไหนบ้าง โดยคำขอเมื่อส่งมาที่ไทย ตรวจเบื้องต้นเสร็จแล้วก็จะส่งไปที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เมื่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกดู ความครบถ้วน เขาจะส่งไปที่สำนักงานที่เราขอความคุ้มครอง เขาจะ เป็นสิ่งที่ SMEs เล็ก กลางใหญ่  ที่จะออกสู่ตลาดโลก  ต้องใส่ใจ เพราะเป็นโอกาสและขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยง โอกาสคือมีตลาดที่กว้างขึ้น ความเสี่ยงคือ คนที่จะละเมิดเราก็จะมากขึ้น ดังนั้นเราต้องใส่เกราะคุ้มครองไว้ เมื่อเกิดการละเมิด เราก็จะรู้ว่าเรามีสิทธิเต็มที่ อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ทำเลย ยังไงมันก็ไปไม่รอด 

สำหรับการละเมิดในบ้านเรา ทางกรมฯ ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและกรม ฯ ได้ทำเอ็มโอยู กับ Shopee / Lazada / JD central  และหน่วยงานอื่นๆ 20 กว่าหน่วยงาน รวมถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย เพื่อที่จะร่วมมือกัน ถ้ามีการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต ช่องทางแพลตฟอร์ม ก็จะสามารถติดกต่อกันช่วยเหลือเอาคอนเท้นนั้นลง หรือปิดร้านที่เป็นร้านขายของปลอม ได้ทันท่วงที รวมถึงในช่วงสุดท้ายถ้าละเมิดจริง ถ้าจะต้องไปที่ศาล บางครั้งจะรู้สึกว่ามันน่าเหนื่อยที่ต้องไปศาล  เสียเงิน เสียเวลา เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กรมฯ พึ่งจัดทำ บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ก.ยุติธรรม โดยเป็นระบบไกลเกลี่ยออนไลน์  ติดต่อกันทาง Chat / อีเมล / zoom  ตกลง จ่ายค่าเสียหายให้รวดเร็ว

บทความแนะนำ

Organ Thai ธุรกิจเพาะปลูกกัญชากัญชงครบวงจร จับเทรนด์พืชเศรษฐกิจตามโมเดล BCG Economy

จากข้อมูลของ “MarketsandMarkets” คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดกัญชาโลกมีมูลค่าตลาดสูงถึง 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 642,060 ล้านบาท และต่อจากนี้อีก 5 ปี ตลาดกัญชาโลกจะมีมูลค่าพุ่งขึ้นสูงถึง 90,400 เหรียญสหรัฐ หรือ มากถึง 2,831,328 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวทำให้กัญชากัญชงขึ้นชื่อว่าเป็นพืชแห่งความหวังของไทย ทั้งยังเป็นพืชที่จัดอยู่ใน BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) อีกด้วย ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม

สุดเขต นราธิปภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท Organ Thai จำกัด กล่าวว่า BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท (24% ของ GDP) ใน 5 ปีข้างหน้า และเกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน ซึ่งกัญชากัญชงถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่ที่คนกำลังจับตามอง นอกจากเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงแล้ว ยังเป็น Circular Economy เพราะทุกส่วนของพืชตั้งแต่ใบ กิ่ง ก้าน ราก สามารถนำไปต่อยอดหรือแปรรูปทางการเกษตรได้ทั้งหมด จึงเป็น Zero waste agriculture หรือระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ โดยในส่วนของใบสามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องดื่ม ในขณะที่ กิ่งก้านใบรากจะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และทางการแพทย์ 

“ผมมองว่ากัญชากัญชงสามารถตอบโจทย์ในฐานะพืชเศรษฐกิจ และสามารถนำไปเป็นสินค้าเกษตรแปปรูปได้มากมาย ที่สำคัญในอนาคตประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต หรือฮับของสินค้าเกษตรแปรรูปกัญชากัญชงเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เพราะไทยเก่งอยู่แล้วในด้านการเกษตร ไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคหรือโนว์ฮาวจากที่อื่น เช่นเดียวกันกับความคิดสร้างสรรค์ในการแปรรูป”

ปัจจุบันการแปรรูปกัญชากัญชงจะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแทนที่จะขายอาหารผสมใบกัญชา น้ำปั่นกัญชา พิซซ่ากัญชา หรือชานมกัญชา ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำ Organ Thai เลือกที่จะทำธุรกิจต้นน้ำ เนื่องจากคู่แข่งน้อย แม้ปัจจุบันฟาร์มที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชากัญชง ยังมีไม่มาก แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ประกอบกับบริษัทจำหน่ายปุ๋ยมูลไส้เดือนแบรนด์ Agus และมีความรู้เรื่องวัสดุอุปกรณ์การปลูกพืชอยู่แล้ว จึงนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เพื่อปลูกกัญชากัญชง รวมถึงให้คำปรึกษาและรับจ้างทำฟาร์มกัญชากัญชาแบบครบวงจรแก่บุคคลทั่วไปที่มีใบอนุญาตการปลูก

ด้วยการวางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการเพาะปลูกกัญชากัญชงครบวงจร Organ Thai จึงแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ B2B และ B2C

B2C เป็นกลุ่มครัวเรือน โดยบริษัทได้มีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์มาจำหน่าย เช่น กระถาง Air Pot , กรรไกรตัดแต่งกิ่ง, ดิน , โดมปักชำ และผงเร่งราก เป็นต้น ผ่านร้านโฮมโปร และแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ Lazada, JD Central, Shopee, เพจ Facebook และ Instagram ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวยังรองรับการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าสูงอย่างไม้ด่าง ไม้มงคล บอนไซ ไม้ฟอกอากาศ และแคกตัสได้ด้วย

“กระถาง Air Pot จะมีความต่างจากกระถางทั่วไปตรงที่ ช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิตของต้นไม้ 30% เมื่อเทียบกับกระถางดำทั่วไป แม้ราคาจะสูงกว่า 2-3 เท่า แต่คุณประโยชน์และฟังก์ชั่นการทำงานดีกว่า เพราะสามารถระบายอากาศดี ทำให้รากเดินดี จึงลดการเกิดเชื้อราในราก หรือลดการเกิดโรครากเน่า ทั้งยังมีความทนทานใช้ได้นาน 5-8 ปี และนำกลับเอามาใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ทำให้ต้นไม้ เพิ่มผลผลิตได้” 

สำหรับ B2B เป็นเจาะกลุ่มนักลงทุน หรือเจ้าของฟาร์มทั่วไปที่มีใบอนุญาตการเพาะปลูกกัญชา โดยให้บริการที่ปรึกษาการทำฟาร์มเพาะปลูกครบวงจร รับจ้างทำฟาร์ม และให้บริการระบบสมาร์ทฟาร์มควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT ที่ออกแบบมาเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตกัญชากัญชงโดยเฉพาะ โดยสามารถควบคุมระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบเซ็นเซอร์ ความชื้น การไหลเวียนของอากาศ ค่าความเป็นกรดเป็นด่างในดิน และอุณหภูมิ ผ่านแอพพลิเคชั่น Farm Press ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“บริการของเรามุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์สูงสุด และลดต้นทุนมากที่สุดให้กับนักลงทุน/เจ้าของฟาร์ม โดย Customize ตามลักษณะและขนาดของที่ดิน นำองค์ความรู้หนองน้ำโมเดล และใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์เข้ามาผสมผสาน เพราะ Organ Thai มีความชำนาญในด้าน Circular Economy อยู่แล้ว อีกทั้งยังพัฒนาระบบ IoT Controller เข้ามาใช้ควบคุมการทำงาน จึงทำให้ฟาร์มกัญชากัญชงที่เราให้บริการเป็นทั้ง Smart Farm และเกษตรแม่นยำ ที่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ 1,500,000 บาทต่อ 2 ปี ลด Human Error และลดค่าใช้จ่ายในการใช้คนดูแลได้ถึง 3 คน ในขณะที่ได้ปริมาณสารสกัด CBD เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับการปลูกแบบทั่วไป”

ในปีหน้า Organ Thai มีแผนที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่น Farm Press ให้สามารถคาดการณ์ผลผลิต 2 เดือนล่วงหน้าพร้อมฟังก์ชั่น Market Place เพื่อให้ผู้ที่สนใจซื้อผลผลิตกัญชากัญชงสามารถเข้ามาพรีออเดอร์สินค้า ในขณะที่เจ้าของฟาร์มไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตออกมาแล้วจะขายใคร 

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ฟาร์มมีความเป็นอัจฉริยะและเป็นเกษตรแม่นยำ จะทำให้เจ้าของฟาร์มคำนวณต้นทุน และผลผลิตที่จะได้ล่วงหน้า ช่วยความเสี่ยงในการลงทุน โดยที่ผ่านมาพบว่าหากปลูกต้นกัญชา 300 ต้น จะได้ผลผลิตเป็นใบกัญชาสด ขายได้ 2,250,000 บาท/ปี ผลผลิตขั้นต่ำปีละ 150 กิโลกรัม ลำต้นกัญชา ขายได้ 1,125,000 บาท/ปี ผลผลิตขั้นต่ำปีละ 75 กิโลกรัม และรากกัญชา ขายได้ 3,375,000 บาท/ปี ผลผลิตขั้นต่ำปีละ 75 กิโลกรัม รวม 6,750,000 บาท/ปี หรือคืนทุนภายใน 2 ปี 4 เดือน”

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับระยะเวลาการปลูกประมาณ 6 เดือนแต่กลับให้ผลผลิตราคาดี เพราะใบกัญชาสดราคาประมาณ 15,000 บาทต่อกิโลกรัม ใบกัญชาแห้งราคากิโลกรัมละ 40,000 บาท ลำต้นกัญชาราคากิโลกรัมละ 15,000 บาท และรากกัญชาราคากิโลกรัมละ 45,000 บาท จึงเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า กัญชากำลังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ต้องช่วยกันผลักดัน และเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจต่อการลงทุนทั้งในแง่ทำฟาร์มเพาะปลูกหรือการแปรรูป รองรับดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

บทความแนะนำ