ท่าน้ำภูแล ยืนหนึ่งร้านอาหารล้านนาเชียงราย

ท่าน้ำภูแล

ยืนหนึ่งร้านอาหารล้านนาเชียงราย

 

“ภูแล” เป็นร้านอาหารพื้นเมืองเก่าแก่เล็กๆในจังหวัดเชียงรายชื่อของภูแลก็มาจากสับปะรดภูแลมีที่เดียวในประเทศไทย คือเชียงราย ภูแลมีการขยายกิจการมาเปิดสาขาใหม่ในชื่อ “ท่าน้ำภูแล” และกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญของเชียงรายเพราะสาขาใหม่นี้เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า2,000 คนมีห้องประชุมขนาดใหญ่รองรับงานประชุมสัมมนาได้ประมาณ 300 คน

  ความสำเร็จของร้านอาหารภูแลนี้ มี ดร. อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

อะไรที่ทำให้ดร. อนุรัตน์ มั่นใจและขยายพื้นที่ร้านอาหารบนพื้นที่ 12 ไร่ครึ่งจนสามารถรองรับคนในระดับ 2,000 คนต่อวัน บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ…

SME ONE : จุดเริ่มต้นของร้านอาหารภูแลคืออะไร

ดร. อนุรัตน์ : พื้นเพผมเป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด เมื่อก่อนผมทำธุรกิจหลายตัว เคยทำรับเหมาก่อสร้าง ร้านเช่าวิดีโอ พอดีมีห้องว่างก็เลยลองเปิดร้านอาหารดูเป็นร้านเล็กๆ พอทำมาหลังจากนั้น VCD ก็เริ่มซาลง เพราะมีเรื่องอินเทอร์เน็ตเข้ามา มีการดูหนังออนไลน์มากขึ้นก็เลยมาทำร้านอาหารเหนือ เพราะที่เชียงรายยังไม่ค่อยมี

เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า ร้านอาหารเหนือภูแล แล้วก็พัฒนามาย้ายมา 2-3 ที่ จนมาเปิดอีกสาขานึงอยู่ริมแม่น้ำกก ก่อนช่วง COVID-19 นิดนึงก็มาได้ที่ใหม่ใช้ชื่อว่า ท่าน้ำภูแล โดยเป็นการยุบ 2 สาขามารวมกัน ร้านใหม่นี้จะเป็นร้านขนาดใหญ่มีพื้นที่กว่า 12 ไร่ครึ่ง มีห้องประชุมขนาดใหญ่ 4-5 ห้อง มีห้องคาราโอเกะ 8 ห้อง สามารถรับคนได้ถึง 2,000 คน 

 

SME ONE : ในวันที่คิดจะเปิดร้านอาหารเหนือเราเห็นโอกาสของการขายวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ตอนนั้นผมเป็นรองประธานหอการค้าฝ่ายท่องเที่ยวแล้วรู้สึกว่าร้านอาหารเหนือในเชียงรายไม่ค่อยมี เหมือนเวลาที่เราไปใต้เราก็อยากจะทานอาหารใต้ ไปอีสานก็อยากจะทานอาหารอีสาน แต่เวลามาเหนือก็อยากให้มีร้านอาหารที่ดูดีหน่อยเป็นห้องแอร์ เป็นกระจกอะไรแบบนี้ ผมก็คิดว่าน่าจะอัพเกรดตรงนี้ได้ จึงเกิดความคิดที่จะทำร้านอาหารเหนือที่ทานในห้องแอร์ มีอาหารที่มีมาตรฐานสะอาดไว้สำหรับรองรับแขกผู้ใหญ่ หรือแขกที่มาต่างถิ่นได้ โดยวางเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย เพราะต่างชาติไม่ค่อยชอบทานอาหารไทยโดยเฉพาะอาหารเหนือเท่าไหร่

 

SME ONE : คนไทยมองอาหารไทยเป็นอาหารที่หากินได้ง่ายหรือทำเองได้ ดังนั้นเวลาจะเฉลิมฉลองมักจะไปกินอาหารต่างประเทศ มองตรงนี้อย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ช่วงนั้นที่ผมเปิดร้านอาหารพวกชาบูหรืออาหารญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ เพราะที่ผมเปิดมาก็ 20 กว่าปีแล้ว ถือว่าตอนนั้นอาหารไทยยังโดดเด่นอยู่แต่ก็มีอาหารต่างชาติบ้างเล็กน้อย แต่มันแพงมากคนก็ไม่กล้าทาน ผมมองว่าคนในท้องถิ่นหรือแม้แต่คนต่างท้องถิ่นมา เขาก็อยากจะทานอาหารไทยเป็นส่วนใหญ่ 

 

SME ONE : ร้านอาหารภูแลผูกติดกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มองเทรนด์การท่องเที่ยวเป็นอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : การเติบโตในเรื่องท่องเที่ยวในเชียงรายเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เมื่อก่อนมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่หลักแสนตอนนี้ก็ขยับขึ้นเป็นหลักล้าน ปัจจุบันนี้เชียงรายมีนักท่องเที่ยวต่อปีเกิน 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 70-80% ก็เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แตกต่างจากที่เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือพัทยาที่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวจีนก็จะเข้าเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ ของเราจะเป็นนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักศึกษาดูงานเป็นกลุ่มอบต. เทศบาลที่เขามาศึกษาดูงานเป็นส่วนใหญ่ และในช่วงหน้าหนาวที่อากาศดีๆ คนก็จะเยอะมาก 

SME ONE : จากวันที่เราเริ่มต้นธุรกิจวันแรกๆกับทุกวันนี้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน 

ดร. อนุรัตน์ : ก็เปลี่ยนไปเยอะ ทุกวันนี้ร้านก็ใหญ่ขึ้นค่าใช้จ่ายและค่าอะไรต่างๆ ก็สูงขึ้น ต้นทุนเราก็สูงขึ้นด้วยรายได้ช่วงก่อน COVID-19 ก็ถือว่าดี ผมทำร้านใหม่มา 20 กว่าล้านบาท คาดว่าไม่เกิน 5 ปีก็คืนทุน แต่พอเจอ COVID-19 ก็เลยชะงักไปนิดนึง เพราะเราทำรับแขกผู้ใหญ่ ภูแลมีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3-4 คน รวมถึงยังได้ต้อนรับเชื้อพระวงศ์ด้วย เรารับประกันเรื่องความอร่อย ความสะอาด และความปลอดภัย เป็นร้านที่ขึ้นชื่อในเชียงรายรับแขกบ้านแขกเมืองได้ 

 

SME ONE : พอเกิด COVID-19  ภูแลได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และแก้ปัญหาอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ลูกค้าเราหายไปประมาณ 90% เหลือแค่ 10% ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ ประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นยอมรับว่าหนักมากเลย เพราะตอนนั้นคนก็กลัวกันมาก ส่วนตอนนี้คนกลับมาประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70-80% 

ช่วงที่ลูกค้าน้อยลง เราประคองธุรกิจด้วยการลดพนักงานลง และลดค่าใช้จ่าย และให้พนักงานเข้าเป็นเวลา ช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ ก็ให้พนักงานทำวันเว้นวัน ถ้าช่วงเช้าไม่มีคนก็ทำช่วงบ่ายสลับไป พยายามลดค่าใช้จ่าย มีพนักงานบางส่วนที่เขาอยากออกเราก็ให้ออก ไม่ได้ยื้อไว้และไม่ได้รับเพิ่ม แล้วก็บริหารจัดการต้นทุนไป

ตอนแรกมีความคิดว่าว่าจะปิดร้านชั่วคราว แต่การทำร้านอาหารหัวใจสำคัญคือ เรื่องกุ๊ก เพราะตัวเราทำอาหารไม่เป็น ถ้ากุ๊กไปทำงานที่อื่นแล้วเราดึงตัวเขากลับมาจะยาก จึงตัดสินใจเปิดร้านต่อเพื่อที่จะประคับประคองไปและทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด 

เราก็บอกพนักงานว่า เราไม่อยากปิดร้าน เพราะทุกคนก็ตกงาน เราต้องช่วยกันประหยัดไปก่อน ถ้าอะไรกลับมาดีก็ให้ทำงานปกติ เหมือนตอนนี้ก็กลับมาทำงานปกติแล้ว 

SME ONE : การไม่มีความชำนาญในเรื่องของการทำอาหาร อยากทราบว่าทำไมถึงกล้าลงทุนเปิดร้านอาหารขนาดใหญ่แบบนี้

ดร. อนุรัตน์ : ผมเป็นคนชอบทานอาหาร ไปจังหวัดไหนก็ชอบชิมอาหาร บางทีก็เอามาคิดสูตรเอง เช่นที่นี่ กะหล่ำผัดน้ำปลาอร่อย เราเอามาลองทำหลายๆ แบบ แล้วก็คิดค้นวัตถุดิบใหม่ๆ มาลองทำเมนูอาหารใหม่ๆ เช่น เนื้อย่างจากเมื่อก่อนใช้เนื้อโคขุนธรรมดาก็ลองเปลี่ยนมาเป็นโคขุนวากิวออสเตรเลีย พยายามทำให้ที่ร้านมีความหลากหลายมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เป็นอาหารเหนืออย่างเดียว ก็กลับมามีอาหารจีนด้วย อาหารทั่วไปด้วย แล้วก็มีอาหารญี่ปุ่นมาเสริม หรือมีอาหารเกาหลีมาบางส่วน เพื่อให้มันหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ช่วงแรกภูแลเป็นอาหารเหนือ 100% แต่ช่วงหลังก็มาเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะร้านใหม่เราก็มีอาหารญี่ปุ่น ด้วยมีปลาดิบ มียำแซลมอนให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น 

 

SME ONE : การเพิ่มเมนูอาหารนานาชาติเข้ามามีความกังวลว่านักท่องเที่ยวจะสับสนหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : ภูแลที่ขายอาหารเหนือจริงๆ จะเป็นช่วงที่เปิด 2 สาขาพอมาทำสาขาใหม่ก็มีอาหารทั่วไปมาเพิ่มแต่ร้านเดิมที่ใช้ชื่อภูแลก็ยังเป็นอาหารเหนือส่วนใหญ่ เพราะคนรู้จักในชื่อนั้นว่าเป็นอาหารเหนือ ส่วนท่าน้ำภูแลจะได้เรื่องบรรยากาศเพราะอยู่ริมแม่น้ำกก แต่มีการเพิ่มความหลากหลายในร้านใหม่ ลูกค้าก็ไม่สับสน แต่พอคนมากินแล้วรู้ว่าเป็นร้านเดียวกัน คนก็เริ่มไปร้านที่แม่น้ำกกเพราะเห็นว่าบรรยากาศดีกว่า ก็คือเป็นเหมือนเดิมแต่เพิ่มอาหารทั่วไปมากขึ้น ดังนั้นพอเราย้ายมาสาขาใหม่ก็เลยคิดว่าเปิดสาขาเดียวดีกว่า เพราะบริหารจัดการง่ายกว่า แล้วคนก็รู้จักชื่อร้านเราเยอะแล้ว และลูกค้าก็ไม่สับสน

SME ONE : ช่วงที่เราเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆเราเจอปัญหาอุปสรรคอะไร และมีการแก้ปัญหาอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ก็มีปัญหาเรื่องกุ๊ก เพราะว่าเราทำอาหารไม่เป็น เราก็ต้องง้อเขาตลอด ยอมเขาเกือบทุกอย่างจนเราคิดว่าก็ต้องพัฒนาในเรื่องพวกนี้ ถึงแม้เราทำอาหารไม่เป็น แต่เราก็ควรรู้ว่ามันควรจะทำยังไง ถ้ามีกุ๊กคนใหม่มาเขาก็ต้องทำอาหารให้รสชาติเหมือนกับสไตล์ของร้านเรา 

เราแก้ปัญหาโดยเอาระบบเข้ามาเป็นตัวช่วยบริหารจัดการ เมื่อก่อนมีกุ๊กใหญ่ 1 คนและมีผู้ช่วยกุ๊ก 1 คน ตอนหลังเราก็มีกุ๊กเพิ่มมากขึ้น สอนให้มีความชำนาญมากขึ้นและมีความหลากหลาย เราพยายามสอนให้กุ๊ก 1 คนสามารถทำอาหารได้ 2-3 ประเภททำให้เขาเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วก็พยายามฝึกฝนตัวเอง ที่ร้านครัวจะใหญ่มากคนในครัวประมาณ 30 คน เราต้องบริหารจัดการให้ได้ว่าในครัวจะทำกันอย่างไร คนไหนทำประเภทไหน คนนี้ทำประเภทต้ม คนนี้ทำประเภทผัดหรือทอดก็แยกกันไปเลย

ผมเคยไปนั่งทานร้านซูชิที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ลองไปนั่งกินแล้วก็ดูเขาทำก็เห็นเขาแยกส่วนกันทำ เวลามีออเดอร์เข้ามาก็เห็นเขามีหน้าที่ของตัวเอง มันก็ทำให้อาหารไม่ช้า ต่างจากเมื่อก่อนที่มีเชฟใหญ่คนเดียวกว่าจะรอเชฟใหญ่ทำเสร็จคนมาเต็มร้านแล้วทำไม่ทัน 

ผมค่อนข้างโชคดีที่จบปริญญาตรีวิศวะโยธา จึงเอาระบบวิศวะมาใช้บริหารงานในครัวด้วยการแบ่งเป็นสถานีย่อยๆ ออกไป ใช้ทักษะที่เราเคยเป็นอดีตผู้รับเหมามาจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ใช้ศาสตร์หลายๆ เรื่องมาบริหารจัดการ ทำให้ปัญหาใหญ่ของร้านอาหาร คือเวลาเปลี่ยนพ่อครัวแม่ครัวรสชาติจะเปลี่ยนของร้านเราไม่ค่อยมี ร้านผมถึงจะเปลี่ยนกุ๊กก็มีคนแทนตลอด 

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : มีบ้างในช่วงที่ทำการตลาดออนไลน์และเรื่องอื่นๆ บ้าง เขามาทำเรื่องร้านอาหารปลอดภัย อาหารสะอาดมีการอบรมพนักงานอะไรตลอด เราก็ทำทุกอันที่เขามีมาตรการเรื่อง COVID-19 มีมาตรฐานอะไรทำทุกอย่าง มีการพัฒนาพนักงานตลอด เพราะผมก็เป็นประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายด้วย เราก็ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจว่าร้านเรามีเกณฑ์มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ เพราะบางทีรับแขกผู้ใหญ่อย่างปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี เราก็ต้องมีความมั่นใจตรงนี้ไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่กล้าพาผู้ใหญ่มารับประทาน 

 

SME ONE : การเลือกวัตถุดิบที่พรีเมียมขึ้นสามารถเพิ่มมูลค่าอาหารได้มากน้อยเพียงใด

ดร. อนุรัตน์ : ผมสังเกตมาตลอดแม้ว่าส่วนตัวผมเป็นคนชอบทานอาหารเหนือ แต่เวลาผมไปทะเลรับประทานอาหารหนึ่งมื้อต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 พันบาท แต่พอมากินอาหารเหนือผมหมดไม่ถึงพันบาท เราก็สงสัยว่าทำไมอาหารเหนือแทบจะไม่มีมูลค่า เราก็เลยมาออกแบบเมนูใหม่ มีการจัดจานใหม่รูปแบบใหม่ วัตถุดิบดีขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าขึ้นไป

อย่างเราไปทะเลปูกิโลกรับละ 1,200-1,500 บาท เราก็ต้องซื้อทาน เพราะว่าเราไปถึงที่แล้วถามว่าสดไหมบางทีมันก็ไม่สด เราก็เลยมาดูว่าเมนูไหนที่กำลังเป็นที่นิยมเวลาเอามาทำก็ได้รับการตอบรับที่ดี เช่นเนื้อวากิวเราก็เอาเนื้อจากออสเตรเลียมาขาย หรือปลาแซลมอนเราเอาแซลมอนมาทำเมนูแช่น้ำปลา โดยเฉพาะผู้หญิงจะชอบทานแซลมอนอยู่แล้ว เราก็พยายามคิดค้นความหลากหลาย เด็กก็มีเมนูสำหรับเด็ก เมนูผู้สูงอายุก็มี เมนูคนทานเจก็มีพยายามคิดเมนูให้หลากหลาย

SME ONE : ภูแลมีเมนูที่เป็นอาหารเหนือแต่ใช้วัตถุดิบพรีเมียมบ้างหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : ไม่ค่อยมี ถ้าเป็นอาหารเหนือก็ยังเป็นแบบเดิม เพราะถ้ามันแพงมากเกินไปคนก็จะไม่กล้าสั่ง ทุกวันนี้อาหารที่ร้านคนมาทานก็ยังบอกว่าถูกแล้ว เราก็ไม่ได้ขึ้นราคา ช่วงเทศกาลก็ไม่ขึ้น เมนูก็เป็นแบบชุดเดียวแบบเดียว 1-2 ปี กว่าจะเปลี่ยนเมนูครั้งนึง 

 

SME ONE : มีเคล็ดลับบริหารร้านอย่างไรให้ภูแลเป็นที่พูดถึงของนักท่องเที่ยวได้ตลอดเวลา

ดร. อนุรัตน์ : ก็เป็นเรื่องของคุณภาพ และความสะอาด รวมถึงเรื่องชื่อเสียงก็สำคัญ เพราะเราเปิดมา 20 กว่าปีแล้ว เราก็ค่อนข้างรักษาชื่อเสียง เราให้ความสำคัญเรื่องการเอาใจใส่กับลูกค้า เวลามีปัญหาเจ้าของร้านก็ต้องรีบเข้าไปดูเลยทันที ไม่ใช่ให้ลูกน้องไปแทน เพราะลูกน้องก็ตอบไม่ได้ ไม่งั้นลูกค้าก็ลง Facebook ด่า Complain เราต้องกล้าเผชิญกับเหตุการณ์แล้วก็ตัดสินใจแก้ปัญหา

 

SME ONE : ในอนาคตภูแลจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ผมทำมาเยอะแล้วทำมาหลายธุรกิจ อนาคตก็อาจจะมีไปซื้อแฟรนไชส์ร้านของหวานมา หรือเปิดบริการในส่วนของอาหารว่าง, อาหารกลางวันอาหารแบบจานเดียว เช่น สปาเก็ตตี้อะไรแบบนี้ เพื่อเอามาเสริมธุรกิจเพราะว่าร้านอาหารของเราพื้นที่กว้างมาก และส่วนใหญ่คนมากินตอนเย็น ช่วงกลางวันจะเงียบ ผมก็มีแนวคิดว่าอาจจะทำเป็นคาเฟ่ หรือสวนน้ำตกสวยๆอ าจจะไม่ต้องใหญ่มาก แต่สามารถดึงให้มีลูกค้าช่วงกลางวันได้ 

โครงการนี้กำลังคิดอยู่ผมเพิ่งจะไปดูงานมา 2-3 ที่คิดว่าน่าจะเปิดบริการได้ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คือหน้าหนาวเลย 

 

SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะกับร้านอาหาร 

ดร. อนุรัตน์ : ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ถ้าจะทำร้านอาหารก็ต้องรักในธุรกิจจริงๆ อย่าคิดว่ามาทำได้เล่นๆ สนุกๆ เพราะการเปิดร้านอาหารรายละเอียดมันเยอะมาก แล้วก็ต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอน อย่างปัจจุบันนี้ผมยังไปจ่ายตลาดเองเลย ตอนเช้า 8-9 โมง ผมก็ไปตลาดทุกวัน เมื่อก่อนผมก็หลวมให้เด็กไปจ่ายตลาดก็โดนโกง ถ้าเราทำเองได้มันก็จะช่วยเซฟและได้พัฒนา แต่เราก็ต้องมีเวลาและรักมันด้วย ไม่ใช่มาทำแล้วปล่อยให้ลูกน้องทำ แบบนี้อย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็ให้มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องตามโลกให้ทัน ต้องปรับตัวเองตลอดเวลา 

 

บทสรุป

ปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารท้องถิ่นอย่างภูแลสามารถดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 20 ปี นั้นมาจากการวางโพสิชั่นนิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นร้านอาหารเหนือที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย รวมถึงการรักษาเรื่องมาตรฐานและคุณภาพอาหารให้คงเส้นคงวา และมีรสชาติที่เหมือนเดิม โดยเอาประสบการณ์จากสายงานวิศวะกรเข้ามาพัฒนาระบบการจัดการในครัว และสุดท้ายคือการปรับปรุงสถานที่ให้ใหม่และคงความความสะอาดไว้ตลอดเวลา

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center - MTEC)

ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะส่งมอบไปถึงมือให้ลูกค้านั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการสร้างขีดความสามารถ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ ของเสียมีจำนวนน้อย ลดระยะเวลาการส่งมอบ และมีคุณภาพสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานต่าง ๆ 

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC มีบทบาทในการร่วมงานกับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาขีดความสามรถให้ผู้ประกอบการสามารถทำผลิตภัณฑ์ ให้ส่งมอบได้ภายใต้เงื่อนไข

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC เป็นหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง หน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งภายใต้ สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีบทบาทหน้าที่ในการทำวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตและ ภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม SME ต่าง ๆ โดยทางศูนย์ฯ นั้นมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของวัสดุที่ใช้ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ ตอดจนกระบวนการใช้วัสดุเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ โดยอาศัยความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบวิศวกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามมาตรฐาน และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเป็นไปได้จริง

นอกจากการพัฒนาด้านวัสดุให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว ในอีกด้านหนึ่งนักวิจัยของทางศูนย์ฯ เองยังได้มีการตั้งโจทย์ วิเคราะห์ และพิจารณาไปในอนาคตข้างหน้าว่า จะมีเทคโนโลยีใดเข้ามา และเมื่อเทคโนโลยีนั้นมาถึงแล้ว จะมีการใช้ประโยชน์รองรับมันอย่างไร

อีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC นั้น คือการสนับสนุนการอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคคลากรของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหัวข้อเฉพาะตามความต้องการของผู้ประกอบการที่ทางศูนย์ฯ ได้มีโอกาสสำรวจและเก็บรวบรวมจากการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการผ่านวงสัมมนาหรือการประชุมในเชิงอุตสาหกรรมต่างๆ  และทางศูนย์ฯ เองมีเครื่องมือที่มากมายที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

 

บริการจากทางศูนย์

บริการด้านเทคนิค เป็นการบริการทดสอบวิเคราะห์ทางด้านวัสดุในเชิงเทคนิค เพื่อหาคุณสมบัติของวัสดุ เช่น มีความแข็งแรง มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่อ้างอิงไหม ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง 

ประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นโครงการที่ทางศูนย์ร่วมหาคำตอบให้กับผู้ประกอบการ สามารถเป็นทั้งในนรูปแบบของการให้คำปรึกษา, การรับจ้าง หรือร่วมวิจัย และหาแหล่งทุนสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

บริการอบรมสัมมนา จัดฝึกอบรมพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการทำเวิร์กชอป และสัมมนาต่างๆ ทำให้ทางศูนย์ได้พบปะกับผู้ประกอบการโดยตรง สามารถช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาในเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยี, เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือให้คำแนะนำด้านโปรแกรมต่าง ๆ

บริการด้านวิชาการ ศูนย์ให้ข้อมูลในเชิงเทคโนโลยี เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ได้เข้ามาสืบค้นว่าในปัจจุบัน มีเทคโนโลยี, วัสดุ, ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมตัวใดอยู่แล้วบ้าง ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นทางเลือกให้เกิดสินค้าที่แข่งขันในตลาดได้ ไปจนถึงการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ขึ้นในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการในยุคใหม่ ที่อาจจะเป็นลักษณะแบบธุรกิจที่เรียกกันว่า สตาร์ทอัพ นั้นควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี มากๆ และอยากให้คิดว่าการทำวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว เรื่องวิจัยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของอาจารย์นักวิชาการเท่านั้น แต่กระบวนการวิจัยคือเครื่องมือวิถีในการหาคำตอบอย่างมีระบบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมีโจทย์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีความชัดเจนนัก สามารถติดต่อมาที่ MTEC ได้ ทางศูนย์นั้นยินดี มีบุคคลากรที่พร้อมหารือและให้ข้อมูล ต่อยอดขีดความสามารถ พัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ที่อยู่: 114 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร: 0 2564 6500
โทรสาร: 0 2564 6501- 5
เว็บไซต์ : mtec.or.th

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

รายงานสถาณการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน

บทความ รายงานสถาณการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน
อ่านต่อที่
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220518095747.pdf

บทความแนะนำ

เปิดแนวคิดวิสาหกิจชุมชน “สมุนไพรปลูกรัก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้พืชสมุนไพรมาเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรคมาแต่โบราณ โดยในปัจจุบันสมุนไพรไทยได้เพิ่มบทบาทสู่การแพทย์ทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งกระแสรักสุขภาพทำให้สมุนไพรไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

วันนี้ SME ONE อยากสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ และอยากพัฒนาสินค้า และบริการจากพืชหรือสมุนไพรประจำถิ่น กับแนวคิดของการทำธุรกิจดีๆ จากคุณจอน เสาวลักษณ์ มณีทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด และผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

ตนเองเติบโตในครอบครัวเกษตรกร มีโอกาสเรียนและทำงานในเมืองหลวง แต่ทุกครั้งที่กลับบ้านเกิด จะได้พบเห็นว่า เกษตรกรไทยยังลำบาก กลุ่มแม่บ้านไม่มีงานทำ จึงอยากนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้สร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ มีเอกลักษณ์ มีนวัตกรรม มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชสมุนไพรที่ใกล้สูญพันธุ์ สร้างป่าให้ชุมชนนำมาซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรักจึงเกิดขึ้น เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์ (Organic) โดยมีเป้าหมายคือ “เป็นความสุขของเกษตรกรในอ้อมกอดของขุนเขา”

แนวคิดและหลักการในการทำธุรกิจ

นับตั้งแต่ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก เมื่อปี 2557 ขณะนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 300 ราย สิ่งที่เรายึดถือมาตลอดคือ “การแบ่งปัน” นั่นคือ การอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศที่เกื้อกูลและให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิด 3 ดี ดีต่อเรา คือ สุขภาพดีเพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์ ดีต่อเขา คือ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้บริโภคหรือคนรอบข้าง และสุดท้าย ดีต่อโลก คือ การอยู่อย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดแข็งหรือกุญแจแห่งความสำเร็จ

จากการพัฒนากระบวนการเพาะปลูก ตลอดจนการแปรรูปสมุนไพรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก เช่น ขมิ้นชันผง ในนาม “ปันแสน” ได้รับมาตรฐาน USDA Organic ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐฯ ที่ออกให้กับสินค้า Organic ตามมาตรฐาน USDA คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้จะต้องเป็นพืชที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี พืชที่ปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์ รางวัลนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับ ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ปันแสน” เป็นที่รู้จักของผู้ซื้อในต่างประเทศ

เป้าหมายหรือแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต

“จากที่เคยฝันไว้ว่า ถ้าประสบความสำเร็จในการสร้างป่าแห่งอาหารที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ขุนเขา และจะปักธงชัยบนภูเขาแห่งบ้านเกิด จากความฝันอันเลือนรางในวันนั้น ถึงวันนี้ที่สามารถนำสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกได้ ดร.รักษ์ สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากปักธงชัยบนภูเขาโลกแล้วจริง ๆ และอยากพาคุณค่าสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยความภาคภูมิใจของเกษตรกรในอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก”

เราจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เพิ่มยอดขายควบคู่กับพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรได้อิ่มท้อง อิ่มใจ และร่วมกันสร้างป่าอาหารที่สมบูรณ์ไปด้วยความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการสร้างวิสาหกิจชุมชน

อ้างอิง : https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/26418/0222_CEO_talk.html

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ทำไมแฟรนไซส์ ถึงเนื้อหอมในช่วงวิกฤต

ทำไมแฟรนไซส์ ถึงเนื้อหอมในช่วงวิกฤต

หลังวิกฤต COVID-19 ธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งจากคนที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ถูกใช้เป็นโมเดล ในการสร้างการเติบโตให้กับหลายธุรกิจ เนื่องจากระบบแฟรนไชส์ เป็นโมเดล ที่สามารถลดความเสี่ยงได้ เพราะมีแบรนด์และระบบการจัดการต่างๆ ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จได้จริง จึงกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของคนที่อยากลงทุนธุรกิจของตัวเองโดยเฉพาะ

ท่ามกลางวิกฤตที่มีความเสี่ยงรอบด้าน แฟรนไชส์ นับว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการ ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยตัวเองทั้งหมด ขณะเดียวกัน แฟรนไชส์ยังเป็นระบบ ธุรกิจที่โตเร็วกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 3 เท่า เนื่องจากแฟรนไชส์เป็นเรื่องของ Economies of Scale โดยแฟรนไชส์ต้องอาศัยจำนวนสาขากระจายออกไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความได้เปรียบ ทั้งเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง สาขา ครอบคลุมตลาดได้มากกว่า และแบรนด์ยังเป็นที่รู้จักได้มากกว่าด้วย

“แฟรนไชส์ต้องเริ่มจากออกแบบธุรกิจ (Business Design) การจะทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ธุรกิจจะต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Profitability คือ ธุรกิจต้องกำไรให้ได้ก่อน อย่าผลักดันธุรกิจ ที่ไม่มีกำไรออกมาเป็นแฟรนไชส์ จากนั้นต้อง ศึกษาว่าธุรกิจแฟรนไชส์จริงๆ คืออะไร แฟรนไชส์ไม่ได้เหมาะกับทุกธุรกิจ รวมทั้งต้องศึกษาเรื่องสัญญากฎหมาย การวางระบบ หรือ กระบวนการถ่ายทอดไปสู่แฟรนไชส์ วิธีการทำการตลาด ตลอดจนการคัดเลือกแฟรนไชส์ที่ดีเข้าสู่ระบบ เป็นต้น เรียกได้ว่า เมื่อผ่าน การออกแบบธุรกิจที่ดีและถูกต้องจนได้โมเดล แฟรนไชส์แล้ว จากนั้นค่อยขยายธุรกิจด้วยการตลาดเหล่านี้คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจก่อนจะก้าวสู่ธุรกิจแฟรนไชส์”

“ออนไลน์ต้องมี”

ธุรกิจในยุคนี้ต้องออกแบบธุรกิจที่เกาะเกี่ยวไปกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องของออนไลน์ การออกแบบธุรกิจให้เข้าสู่รูปแบบออนไลน์กลายเป็นสิ่งสำคัญในเวลานี้ เช่น อาจปรับเป็น Cloud Kitchen แฟรนไชส์อาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านทำทุกอย่างภายในบ้านและรับออร์เดอร์ผ่านออนไลน์ หรือแม้แต่ระบบเทรนนิ่งก็ต้องปรับมาทำผ่านออนไลน์ด้วยเช่นกัน

“ต้องสร้างประสบการณ์”

นอกจากนี้ รูปแบบแฟรนไชส์ที่จะ ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องสร้างประสบการณ์ (Experience) กับผู้บริโภคได้ด้วยและต้องไม่ใช่แค่ประสบการณ์บนออฟไลน์ (ผ่านหน้าร้านหรือสาขา) เท่านั้น แต่ต้องเป็นประสบการณ์บนออนไลน์ด้วย เพราะอย่างที่กล่าวไว้ว่า แฟรนไชส์กำลังถูกเชื่อมโยงระหว่างออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกัน

ด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจทำให้การตัดสินใจเลือกลงทุนของแฟรนไชซีต้องพิจารณามากขึ้น เช่น เป็นแฟรนไชส์ที่มีระบบออนไลน์รองรับหรือไม่ และธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปไหม ซึ่งก่อนจะตัดสินใจลงทุนอาจต้องทำการบ้านมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี๋ยวกับโครงสร้างของธุรกิจแฟนไซส์และผล ตอบแทนที่ได้มานั้นจะสัมพันธ์กับการลงทุนมากยิ่งขึ้นครับ

อ้างอิง : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Dec-2020.aspx

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ