เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ Disrupt ตัวเอง ก่อนจะถูก Disrupt

เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์

Disrupt ตัวเอง ก่อนจะถูก Disrupt

 

เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ ครอบครัว “สิริธนนนท์สกุล” ประกอบธุรกิจค้าส่งในชื่อ “หาดใหญ่ โก่วย่งฮั้ว ค้าส่ง” มาก่อน กระทั่งความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศมีมากขึ้น ค้าปลีกสมัยใหม่จากส่วนกลางจึงเริ่มมองเห็นโอกาสในตลาดภูธร และทยอยตบเท้าเข้ามาเปิดบริการในอำเภอหาดใหญ่

กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นที่ 2 ในยุคนั้นเล็งเห็นว่าธุรกิจที่ทำอยู่กำลังถูกคู่แข่งจากส่วนกลางเข้ามาชิงตลาด จึงจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่

30 ปีผ่านไปจากร้านค้าปลีกเล็กๆ ปัจจุบันเคแอนด์เค ซุปเปอรสโตร์ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนที่แข็งแกร่งมั่นคงไม่แพ้ค้าปลีกจากส่วนกลางแต่อย่างใด

SME ONE : จุดเริ่มต้นของเคแอนด์เคมีที่มาที่ไปอย่างไร

กวิศพงษ์ : ก่อนที่เราจะมาเป็นเคแอนด์เค เราเป็นร้านยี่ปั๊ว ขายส่งต่างอำเภอชื่อ โก่วย่งฮั้ว ซึ่งตอนนั้นโกดังเราอยู่ที่ถนนสามชัย ตอนนั้นเราทำค้าส่งและปล่อยบัญชีลูกค้า จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2534 ช่วงนั้นค่อนข้างจะมีวิกฤต การแข่งขันค่อนข้างสูง เริ่มมีโมเดิร์นเทรดอย่างแม็คโครเข้ามาทำให้เห็นว่าธุรกิจเราจะโดนดิสรัปแน่นอน ก็เลยมีความคิดว่าเราน่าจะปรับตัว เพราะปัญหาที่เราเจอ เช่น การส่งของให้ลูกค้าแล้วให้เครดิต ถ้าเจอคู่แข่งมาตัดราคา พอถึงดีลที่เราต้องไปเก็บบัญชี ลูกค้าก็หักคอเรา แทนที่จะได้กำไรก็ไม่ได้ 

เหตุผลที่ 2 พอเราขยายตลาด ให้ลูกน้องหรือเซลส์ไปจดออเดอร์ จดไปจดมาลูกน้องหาย เงินก็หายไปด้วย เราก็เห็นแล้วว่ามันมีความเสี่ยง พอเห็นรูปแบบของแม็คโครที่มาเปิดในเมืองไทย ก็คิดว่าเราน่าจะลองเปลี่ยนรูปแบบ เอาโกดังที่ถนนสามชัยครึ่งหนึ่งมาติดฝ้าติดไฟติดแอร์ เอาเชลฟ์วางของซุปเปอร์มาจัดเรียง แล้วก็นำสินค้ามาเรียง ให้เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ราคาของเราเป็นราคาขายส่ง ดังนั้นลูกค้าที่มาเลือกสินค้าไปขาย ก็สามารถเลือกสินค้าราคาส่งได้ ลูกค้าบริโภคก็ยิ่งซื้อของได้ถูก 

สิ่งที่เราได้ก็คือเงินสด จากที่เมื่อก่อนปล่อยเครดิตทำให้เราซื้อเชื่อ ขายสด Cash Flow เราก็จะดี ก็เป็นการแก้สถานการณ์ได้ สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าตลาดจะเติบโตในยุคนั้น เราก็คิดว่าวันนึงน่าจะขายได้ 2-3 แสนบาท แต่พอเอาเข้าจริงขายได้ 5-6 แสนบาทต่อวัน บางวันได้ถึงวันละล้าน ทำให้เรารู้ว่าธุรกิจค้าปลีกไม่ได้แคบเหมือนที่เราเคยเจออยู่ จากยี่ปั๊วค้าส่งก็เลยมาเป็นค้าปลีกที่ชื่อ เคแอนด์เค อย่างทุกวันนี้

 

SME ONE : ใช้เวลาตัดสินใจนานแค่ไหที่จะหยุดทำธุรกิจค้าส่ง

กวิศพงษ์ : หลังจากที่ตัดสินใจเป็นเคแอนด์เคได้ประมาณ 6 เดือน แผนกค้าส่งเราก็ยกให้น้องชายไปดูแล ส่วนผมและพี่ชายอีกคนก็สนใจที่จะมาทำค้าปลีกแบบนี้ เพราะเรามองว่ารถก็ไม่ต้องเอาไปส่ง เครดิตก็ไม่ต้องปล่อย เราขายสดแบบนี้แล้วก็โฟกัสให้ชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าเราคือใคร ตอนนั้นเราถือสัดส่วนค้าส่ง ขายแบบเป็นแพ็คเป็นลัง ซื้อราคาส่งประมาณ 70% ลูกค้าซื้อ 30% แต่พอเราขยายสาขามาเรื่อยๆ ลูกค้าที่ซื้อเป็นแพ็คก็มีจำกัด ทำให้สัดส่วนตอนนี้ของเราเปลี่ยนข้างเป็นลูกค้าซื้อแบบปลีกย่อย 80% ส่วนลูกค้าที่ซื้อเป็นแพ็คเป็นลัง 20% 

 

SME ONE : ตอนที่เราทำค้าส่งใช้รถวิ่งหาลูกค้าได้ไกลมาก พอเป็นค้าปลีกลูกค้าต้องมาหาเรารัศมีการขายเป็นอย่างไร

กวิศพงษ์ : พอเราเปิดเป็นค้าปลีกกึ่งค้าส่งคือเคแอนด์เค ลูกค้าที่มาจากต่างอำเภอก็มี แต่พอถึงจุดนึงที่โมเดิร์นเทรดเริ่มขยายตัวหรือมีหลายแบรนด์มากขึ้น ช่วงที่ค่อนข้างแรงก็คือตั้งแต่ปี 40 ปี 42 โลตัสและบิ๊กซีมา แล้วก็จะมีคาร์ฟูร์ด้วย ก็ส่งผลให้ตัวเลขเราลดลงเพราะโดนแชร์ไป เราจึงปรับตัวด้วยการขยายสาขา ซึ่งเป็นการตอบสนองลูกค้าด้วยการเดินทางที่น้อยลง เราใช้สโลแกนว่า “ซื้อของครบ พบของถูก ถูกทุกวัน ที่เคแอนด์เค สาขาใกล้บ้านท่าน” เมื่อขยายแล้วเราได้การตอบรับที่ดี เพิ่มการเติบโตของเรา จึงมีแผนขยายสาขาไปเรื่อยๆ 

ปัจจุบันเรามี 31 สาขา มีที่จังหวัดสตูล 1 สาขาที่เราไปเปิดนำร่อง และที่จังหวัดพัทลุง 2 สาขา นอกนั้นก็จะอยู่ในจังหวัดสงขลา 

 

SME ONE : ช่วงที่ปรับธุรกิจจากค้าส่งมาเป็นค้าปลีก เจออุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่

กวิศพงษ์ : ตอนที่เราเชิญอาจารย์ที่ปรึกษามาวางกลยุทธ์ร่วมกัน คำถามแรกที่เจอคือ ตกลงคุณเป็นค้าปลีกหรือค้าส่ง เหมือนกับคำถามว่า ตกลงแล้วคุณเป็นเพศอะไร เราเหมือนเป็นประเภทครึ่งน้ำครึ่งบก ทำให้การโฟกัสของเราไม่ดีมากพอ เช่น พอคิดโปรโมชั่นค้าส่งก็จะกระทบค้าปลีก ถ้าเราโฟกัสลูกค้ากลุ่มค้าปลีก เราจะมีการจัดพรีเมียมของแถม เช่น ซื้อนม 2 กล่อง แถมของเล่น 1 ชิ้น ลูกค้าที่ซื้อค้าส่งก็จะบอกว่า ถ้าฉันซื้อยกลังนึง 12 กล่อง ฉันก็ต้องได้ของแถม 6 ชิ้นสิ แต่มันไม่ได้ เพราะค้าส่งราคาถูกกว่าอยู่แล้ว

พนักงานเราที่อยู่หน้าด่านก็จะเจอปัญหา เจอลูกค้าฟีดแบ็คกลับมา พอเรามาวางกลยุทธ์จริงๆ ก็เกิดการสับสนตัวเอง จึงมานั่งดูว่า ถ้าเราทำค้าส่งมันจะเป็นยังไงต่อ ถ้าทำค้าปลีกจะเป็นยังไงต่อ แล้วคณะกรรมการก็ตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะทุ่มเทมาที่ค้าปลีก ส่วนลูกค้าค้าส่งที่เคยซื้อแบบจงรักภักดีกับเราก็ยังต้องคงอยู่ ก็เลยทำให้สัดส่วนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 80:20 ในตอนนี้ 

 

SME ONE : การเปลี่ยนมาเป็นค้าปลีกต้องซื้อเทคโนโลยี เช่น ระบบ POS (Point of Sale) มาช่วยหรือไม่

กวิศพงษ์ : ระบบ POS ที่เรามีอยู่ก็ตอบสนองได้ระดับนึง แต่พอเราอยากได้มากกว่านั้น เช่น อยากได้ข้อมูลลูกค้ามากขึ้น บังเอิญว่าลูกชายผมจบวิศวะคอมพิวเตอร์ ก็เลยมาเขียนซอฟต์แวร์ใส่เข้าไปเพิ่มในเครื่องแคชเชียร์ให้บันทึก เพศ วัย ได้ เราก็จะจัดกลุ่มได้มากขึ้น และช่วงหลังเราก็มาพัฒนาเป็น Application ของ เค. แอนด์ เค. เอง แล้วก็ให้ลูกค้าสมัครเป็นสมาชิก โดยสิ่งที่เราต้องการก็คือข้อมูลลูกค้า ส่วนลูกค้าก็จะได้สะสมคะแนนเพื่อมาแลกของพรีเมียมหรือได้สิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ปัจจุบันเรามีลูกค้าที่เป็นสมาชิกประมาณ 50,000 ราย ถ้าเทียบในภูมิภาคภูธรก็ถือว่าสูง 

SME ONE : ช่วง COVID-19 ระบาดรุนแรง ธุรกิจเราได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

กวิศพงษ์ : COVID-19 ที่ผ่านมาเราได้อานิสงส์จากภาครัฐที่ช่วยเหลือมา เป็นการซัพพอร์ตเงินเข้าไปในบัตรประชารัฐและโครงการอื่นๆ ที่มีการเติมเงินเข้ามา โครงการที่เราไม่ได้คือคนละครึ่ง เพราะอันนั้นให้เฉพาะบุคคลธรรมดา นิติบุคคลไม่ได้ ดังนั้นเราจึงได้อานิสงส์ คนที่เดือดร้อนได้บัตรประชารัฐมาซื้อสินค้าเราได้ ทำให้มีวอลุ่มพอสมควร

 

SME ONE : ในช่วงที่เราเปลี่ยนผ่านธุรกิจเคแอนด์เคเคยขอข้อความช่วยเหลือจากทางภาครัฐหรือไม่ 

กวิศพงษ์ : ก่อนหน้านั้นเคแอนด์เคก็เข้าโครงการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว ก็มีอาจารย์ 2-3 ท่านจากที่นั่นมาช่วยเรา โดยมาช่วยให้เราโฟกัสชัดเจนว่าเราจะไปในทิศทางไหน และการบริหารสาขาโดยใช้แนวคิดของแฟรนไชส์ ผมก็มีโอกาสไปอบรมแฟรนไชส์ที่กรมพัฒนาธุรกิจมา อาจารย์ของกรมพัฒนาธุรกิจก็มาช่วยดูระบบภายใน เป็นมินิของ Internal audit เพื่อตรวจว่าสิ่งที่เราวางแผนไป พนักงานได้ทำตามนั้นอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า ส่วนนี้ก็ถือว่าเราโชคดีที่ได้เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ จากนั้นพอมีกิจกรรมของกรมการค้าภายใน เราก็ไปร่วมกิจกรรม ทำให้ภาพลักษณ์ของเรากลายเป็นสถานประกอบการที่เชื่อถือได้ เพราะมีภาครัฐคอยดูแลและสนับสนุน

 

SME ONE : เคยคิดจะนำเอาระบบแฟรนไชส์มาใช้ในการขยายธุรกิจหรือไม่

กวิศพงษ์ : เราใช้แนวคิดบริหารแฟรนไชส์ แต่ว่าไม่ได้ทำธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะแฟรนไชส์ท้องถิ่นพาวเวอร์ไม่แรงเท่าแฟรนไชส์ส่วนกลางที่เขาซื้อแบรนด์มาจากต่างประเทศ เรียกได้ว่าเงื่อนไขของเขาแข็งแรงกว่า ผมเคยมีผู้ประกอบการที่มาซื้อแฟรนไชส์กับเรา ตอนนั้นผมสร้างแบรนด์ชื่อว่า มิสเตอร์เค เอามาเป็นตลาดแฟรนไชส์มีอยู่ 2 สาขา พอเข้าโครงการของกรมพัฒนาธุรกิจแล้ว จะต้องมีไป Road show และหาลูกค้า

เราทำมาประมาณ 2 ปี ก็เจอปัญหาว่าคนที่ซื้อแฟรนไชส์เราไป ไม่ได้ซื่อสัตย์กับเรา เขาแอบไปซื้อของห้างอื่นมายัดในสต็อกเรา เพราะเรามีการตรวจสอบสต๊อกทุกสิ้นเดือน ก็จะเห็นว่ามันติดบวกตลอด แสดงว่ามีการขายมากกว่าของที่มีอยู่ เราก็เลยตัดสินใจพอครบอายุสัญญา ก็ไม่ต่อสัญญา

 

SME ONE : ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติมีแผนจะขยายธุรกิจอย่างไร

กวิศพงษ์ : เรามองว่าก็ยังต้องขยาย ไม่อย่างนั้นแบรนด์จากส่วนกลางไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซีมินิ หรือโลตัสเอ็กซ์เพรสผมเชื่อว่าเขาต้องขยายเพิ่มขึ้นแน่นอน ก็เลยมีแผนที่จะขยายขึ้นไปข้างบน คือ จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี นี่เป็นแผนงาน 5 ปี 

 

SME ONE : เราโตมาจากธุรกิจครอบครัว ตอนนี้มีทายาทเข้ามาช่วยธุรกิจบ้างหรือไม่

กวิศพงษ์ : มีรุ่นที่สืบต่อก็คือหลาน คือลูกของพี่ชาย และลูกสาวของผมที่เรียกว่าแถว 2 เราเลือก 2 คนนี้มาเป็น Successor ในการเรียนรู้ฝึกงานด้วยกันไป คนนึงดูแลเรื่องการบริหารจัดการซัพพลายเชน อีกคนดูเรื่องเซลส์และการตลาด 

 

SME ONE : จากธุรกิจกงสีตอนนี้เคแอนด์เคเป็นบริษัทมหาชนแล้ว อยากทราบเหตุผลของการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

กวิศพงษ์ : มีแนวคิด 3 อย่าง อย่างที่ 1 เตี่ยพยายามพูดย้ำกับพวกผมว่า สิ่งที่ยากของผู้ประกอบการก็คือ จะทํายังไงให้ธุรกิจถึง 3 ช่วงอายุคน อย่างที่ 2 ถ้าเราอยากจะเติบโตไปข้างหน้า เติบโตอย่างแข็งแรง เราจะต้องทำอย่างไร อย่างที่ 3 ธุรกิจที่เราเติบโตมา เติบโตจากพี่น้อง 4 คน เมื่อพี่น้อง 4 คนนี้มีครอบครัว แล้ววันข้างหน้ารุ่นลูกรุ่นหลานจะยังไงต่อ 

3 ปัจจัยนี้เรามานั่งแก้ทีละเรื่องว่าจะทำยังไงให้ธุรกิจของเราส่งไม้ต่อไปให้ลูกหลานได้ ให้ได้เกิน 3 ช่วงอายุคน รุ่นเตี่ย รุ่นผมแล้วถ้ารุ่นลูกผมสามารถต่อได้ แล้วก็มีรุ่นหลานมาดูแล ก็แสดงว่าเป็นรุ่น 4 เราก็ตายตาหลับตามที่เตี่ยพูด แต่การที่เราจะส่งไม้ต่อให้ลูก ถ้าเป็นไม้ผุๆ ไม่มีระบบอะไรเลย ผมคิดว่าศึกสงครามในครอบครัวเกิดขึ้นแน่นอน เพราะทุกคนไม่ได้โฟกัสงาน มาโฟกัสว่าสมบัติจะแบ่งกันอย่างไร 

ดังนั้นการเติบโตน่าจะยาก เราก็เลยคิดว่าถ้าเราไปซื้อระบบ หรือให้มี Auditor เข้ามาก็จะทำให้แข็งแรง ของแถมก็คือเข้าตลาดได้ เพราะถ้าระบบแข็งแรงสามารถเข้าตลาดได้ มันก็ดี การเข้าตลาดได้มันก็ต้องมีการจัดการหุ้นส่วนภายในเรียบร้อย ก็คือจัดการระบบกงสีให้เรียบร้อย ทีนี้รุ่นลูกจะแบ่งยังไงกับหลานต่ออันนั้นเรื่องของเขาแล้ว มันก็จะทำให้เรื่องตรงนี้มันจบ ก็เลยคิดว่าการเข้าตลาดจะทำให้ตอบโจทย์ 3 อันได้

SME ONE : จากนี้อะไรคือ ความท้าทายของเคแอนด์เค

กวิศพงษ์ : ความท้าทายมีอยู่ 2 ประการ อันที่ 1 การที่เราจะขยายตัวจากฐานเรา ซึ่งอยู่ที่หาดใหญ่สงขลา อำเภอในจังหวัดสงขลาจะรู้จัก เค. แอนด์ เค. แต่พอเราจะข้ามจังหวัดไปตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี มันก็มีความท้าทายว่าเราจะต้องสร้าง Branding อย่างไรง ให้เขารู้จักเรามากขึ้นกว่านี้ เรื่องที่ 2 คือ ทายาทธุรกิจ ความท้าทายก็คือเราจะสามารถสร้างให้เขาเหมือนเราได้มากแค่ไหน เพราะเราไม่ได้ใช้ระบบการโคลนนิ่ง เราใช้ระบบการศึกษาตามกัน ก็เป็นความท้าทายว่าเขาจะสามารถทำงานได้แบบเราแค่ไหน หรือทำได้เก่งกว่าเรามากเท่าไหร่ 

 

SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนำกับกลุ่มคนที่จะมาทำธุรกิจ SMEs 

กวิศพงษ์ : ผมอาจจะไม่สามารถให้คำแนะนำได้ตรงๆ ทุกอย่าง เพราะธุรกิจและความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเคยฟังคำนึงมาจากรุ่นเตี่ย เตี่ยเคยเล่าให้ฟังว่า นายห้าง เทียม โชควัฒนาเคยพูดว่า ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราถนัด ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เรารัก ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราตั้งใจ มันก็จะมีโอกาสสำเร็จ ถ้าคุณไม่ถนัด คุณก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มให้มาก ถ้าไม่ได้เรียนรู้เลยแล้วลงสนามมา ก็มีโอกาสแพ้ อย่างที่ 2 คือถ้าไม่รัก ถูกข่มให้มาทำ คุณก็ไม่ตั้งใจ เมื่อมีอุปสรรคคุณก็ล้ม ก็คือเลิกไปเลย อย่างที่ 3 ทำอะไรที่ไม่ตั้งใจ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ยาก ดังนั้น 3 คำนี้ที่ท่านพูด สนทนากับเตี่ย แล้วเตี่ยก็มาสอนพวกผมต่อ 3 คำนี้ถือเป็นปรัชญาที่เราต้องนำไปใช้ ดังนั้นจะทำอะไร พอตัดสินใจแล้วต้องเรียนรู้ให้ลึก แล้วก็มุ่งมั่นตั้งใจทำ และอย่าล้มเลิกไปก่อน สำหรับผู้ประกอบการใหม่หรือผู้ที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ ถ้าเป็นเรื่องปรัชญาก็อยากจะฝากอันนี้ 

อีกเรื่องที่จะฝากก็คือ ถ้ามีโอกาสที่คุณได้ทำธุรกิจแล้ว ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเล็กหรือใหญ่ หัวใจคือบัญชี ควรจัดทำบัญชีเล่มเดียว อย่าทำบัญชีหลายเล่ม เพราะเมื่อถึงวันข้างหน้าที่คุณจะเติบโต มันจะมีอุปสรรคอย่างมากเลยในการเติบโต ด้วยความที่บัญชีของคุณมันซับซ้อนมากเกินไป แล้วอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เช่น มีความคิดที่จะหนีภาษีสรรพากร แต่สุดท้ายแล้วถ้าถูกจับได้ คุณอาจจะต้องเสียมากกว่าเดิม จึงอยากจะฝากแนวคิดนี้ไว้ด้วย

 

บทสรุป

Key success ของเคแอนด์เคมาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1) การปรับตัวในการทำธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และการมองหาว่าอะไรคือจุดแข็งของตัวเองและนำมาพัฒนาต่อยอด 2) การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าและนำมาพัฒนาต่อเพื่อใช้ในการบริหารสินค้าต่างๆ 3) การมองหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจ 4) เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากว่า 50 ปี จึงมีความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในท้องถิ่น 5) เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่สนับสนุนกิจกรรมด้านสังคมมาโดยตลอด 



สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ท่าน้ำภูแล ยืนหนึ่งร้านอาหารล้านนาเชียงราย

ท่าน้ำภูแล

ยืนหนึ่งร้านอาหารล้านนาเชียงราย

 

“ภูแล” เป็นร้านอาหารพื้นเมืองเก่าแก่เล็กๆในจังหวัดเชียงรายชื่อของภูแลก็มาจากสับปะรดภูแลมีที่เดียวในประเทศไทย คือเชียงราย ภูแลมีการขยายกิจการมาเปิดสาขาใหม่ในชื่อ “ท่าน้ำภูแล” และกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญของเชียงรายเพราะสาขาใหม่นี้เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า2,000 คนมีห้องประชุมขนาดใหญ่รองรับงานประชุมสัมมนาได้ประมาณ 300 คน

  ความสำเร็จของร้านอาหารภูแลนี้ มี ดร. อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

อะไรที่ทำให้ดร. อนุรัตน์ มั่นใจและขยายพื้นที่ร้านอาหารบนพื้นที่ 12 ไร่ครึ่งจนสามารถรองรับคนในระดับ 2,000 คนต่อวัน บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ…

SME ONE : จุดเริ่มต้นของร้านอาหารภูแลคืออะไร

ดร. อนุรัตน์ : พื้นเพผมเป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด เมื่อก่อนผมทำธุรกิจหลายตัว เคยทำรับเหมาก่อสร้าง ร้านเช่าวิดีโอ พอดีมีห้องว่างก็เลยลองเปิดร้านอาหารดูเป็นร้านเล็กๆ พอทำมาหลังจากนั้น VCD ก็เริ่มซาลง เพราะมีเรื่องอินเทอร์เน็ตเข้ามา มีการดูหนังออนไลน์มากขึ้นก็เลยมาทำร้านอาหารเหนือ เพราะที่เชียงรายยังไม่ค่อยมี

เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า ร้านอาหารเหนือภูแล แล้วก็พัฒนามาย้ายมา 2-3 ที่ จนมาเปิดอีกสาขานึงอยู่ริมแม่น้ำกก ก่อนช่วง COVID-19 นิดนึงก็มาได้ที่ใหม่ใช้ชื่อว่า ท่าน้ำภูแล โดยเป็นการยุบ 2 สาขามารวมกัน ร้านใหม่นี้จะเป็นร้านขนาดใหญ่มีพื้นที่กว่า 12 ไร่ครึ่ง มีห้องประชุมขนาดใหญ่ 4-5 ห้อง มีห้องคาราโอเกะ 8 ห้อง สามารถรับคนได้ถึง 2,000 คน 

 

SME ONE : ในวันที่คิดจะเปิดร้านอาหารเหนือเราเห็นโอกาสของการขายวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ตอนนั้นผมเป็นรองประธานหอการค้าฝ่ายท่องเที่ยวแล้วรู้สึกว่าร้านอาหารเหนือในเชียงรายไม่ค่อยมี เหมือนเวลาที่เราไปใต้เราก็อยากจะทานอาหารใต้ ไปอีสานก็อยากจะทานอาหารอีสาน แต่เวลามาเหนือก็อยากให้มีร้านอาหารที่ดูดีหน่อยเป็นห้องแอร์ เป็นกระจกอะไรแบบนี้ ผมก็คิดว่าน่าจะอัพเกรดตรงนี้ได้ จึงเกิดความคิดที่จะทำร้านอาหารเหนือที่ทานในห้องแอร์ มีอาหารที่มีมาตรฐานสะอาดไว้สำหรับรองรับแขกผู้ใหญ่ หรือแขกที่มาต่างถิ่นได้ โดยวางเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย เพราะต่างชาติไม่ค่อยชอบทานอาหารไทยโดยเฉพาะอาหารเหนือเท่าไหร่

 

SME ONE : คนไทยมองอาหารไทยเป็นอาหารที่หากินได้ง่ายหรือทำเองได้ ดังนั้นเวลาจะเฉลิมฉลองมักจะไปกินอาหารต่างประเทศ มองตรงนี้อย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ช่วงนั้นที่ผมเปิดร้านอาหารพวกชาบูหรืออาหารญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ เพราะที่ผมเปิดมาก็ 20 กว่าปีแล้ว ถือว่าตอนนั้นอาหารไทยยังโดดเด่นอยู่แต่ก็มีอาหารต่างชาติบ้างเล็กน้อย แต่มันแพงมากคนก็ไม่กล้าทาน ผมมองว่าคนในท้องถิ่นหรือแม้แต่คนต่างท้องถิ่นมา เขาก็อยากจะทานอาหารไทยเป็นส่วนใหญ่ 

 

SME ONE : ร้านอาหารภูแลผูกติดกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มองเทรนด์การท่องเที่ยวเป็นอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : การเติบโตในเรื่องท่องเที่ยวในเชียงรายเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เมื่อก่อนมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่หลักแสนตอนนี้ก็ขยับขึ้นเป็นหลักล้าน ปัจจุบันนี้เชียงรายมีนักท่องเที่ยวต่อปีเกิน 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 70-80% ก็เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แตกต่างจากที่เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือพัทยาที่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวจีนก็จะเข้าเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ ของเราจะเป็นนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักศึกษาดูงานเป็นกลุ่มอบต. เทศบาลที่เขามาศึกษาดูงานเป็นส่วนใหญ่ และในช่วงหน้าหนาวที่อากาศดีๆ คนก็จะเยอะมาก 

SME ONE : จากวันที่เราเริ่มต้นธุรกิจวันแรกๆกับทุกวันนี้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน 

ดร. อนุรัตน์ : ก็เปลี่ยนไปเยอะ ทุกวันนี้ร้านก็ใหญ่ขึ้นค่าใช้จ่ายและค่าอะไรต่างๆ ก็สูงขึ้น ต้นทุนเราก็สูงขึ้นด้วยรายได้ช่วงก่อน COVID-19 ก็ถือว่าดี ผมทำร้านใหม่มา 20 กว่าล้านบาท คาดว่าไม่เกิน 5 ปีก็คืนทุน แต่พอเจอ COVID-19 ก็เลยชะงักไปนิดนึง เพราะเราทำรับแขกผู้ใหญ่ ภูแลมีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3-4 คน รวมถึงยังได้ต้อนรับเชื้อพระวงศ์ด้วย เรารับประกันเรื่องความอร่อย ความสะอาด และความปลอดภัย เป็นร้านที่ขึ้นชื่อในเชียงรายรับแขกบ้านแขกเมืองได้ 

 

SME ONE : พอเกิด COVID-19  ภูแลได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และแก้ปัญหาอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ลูกค้าเราหายไปประมาณ 90% เหลือแค่ 10% ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ ประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นยอมรับว่าหนักมากเลย เพราะตอนนั้นคนก็กลัวกันมาก ส่วนตอนนี้คนกลับมาประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70-80% 

ช่วงที่ลูกค้าน้อยลง เราประคองธุรกิจด้วยการลดพนักงานลง และลดค่าใช้จ่าย และให้พนักงานเข้าเป็นเวลา ช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ ก็ให้พนักงานทำวันเว้นวัน ถ้าช่วงเช้าไม่มีคนก็ทำช่วงบ่ายสลับไป พยายามลดค่าใช้จ่าย มีพนักงานบางส่วนที่เขาอยากออกเราก็ให้ออก ไม่ได้ยื้อไว้และไม่ได้รับเพิ่ม แล้วก็บริหารจัดการต้นทุนไป

ตอนแรกมีความคิดว่าว่าจะปิดร้านชั่วคราว แต่การทำร้านอาหารหัวใจสำคัญคือ เรื่องกุ๊ก เพราะตัวเราทำอาหารไม่เป็น ถ้ากุ๊กไปทำงานที่อื่นแล้วเราดึงตัวเขากลับมาจะยาก จึงตัดสินใจเปิดร้านต่อเพื่อที่จะประคับประคองไปและทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด 

เราก็บอกพนักงานว่า เราไม่อยากปิดร้าน เพราะทุกคนก็ตกงาน เราต้องช่วยกันประหยัดไปก่อน ถ้าอะไรกลับมาดีก็ให้ทำงานปกติ เหมือนตอนนี้ก็กลับมาทำงานปกติแล้ว 

SME ONE : การไม่มีความชำนาญในเรื่องของการทำอาหาร อยากทราบว่าทำไมถึงกล้าลงทุนเปิดร้านอาหารขนาดใหญ่แบบนี้

ดร. อนุรัตน์ : ผมเป็นคนชอบทานอาหาร ไปจังหวัดไหนก็ชอบชิมอาหาร บางทีก็เอามาคิดสูตรเอง เช่นที่นี่ กะหล่ำผัดน้ำปลาอร่อย เราเอามาลองทำหลายๆ แบบ แล้วก็คิดค้นวัตถุดิบใหม่ๆ มาลองทำเมนูอาหารใหม่ๆ เช่น เนื้อย่างจากเมื่อก่อนใช้เนื้อโคขุนธรรมดาก็ลองเปลี่ยนมาเป็นโคขุนวากิวออสเตรเลีย พยายามทำให้ที่ร้านมีความหลากหลายมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เป็นอาหารเหนืออย่างเดียว ก็กลับมามีอาหารจีนด้วย อาหารทั่วไปด้วย แล้วก็มีอาหารญี่ปุ่นมาเสริม หรือมีอาหารเกาหลีมาบางส่วน เพื่อให้มันหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ช่วงแรกภูแลเป็นอาหารเหนือ 100% แต่ช่วงหลังก็มาเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะร้านใหม่เราก็มีอาหารญี่ปุ่น ด้วยมีปลาดิบ มียำแซลมอนให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น 

 

SME ONE : การเพิ่มเมนูอาหารนานาชาติเข้ามามีความกังวลว่านักท่องเที่ยวจะสับสนหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : ภูแลที่ขายอาหารเหนือจริงๆ จะเป็นช่วงที่เปิด 2 สาขาพอมาทำสาขาใหม่ก็มีอาหารทั่วไปมาเพิ่มแต่ร้านเดิมที่ใช้ชื่อภูแลก็ยังเป็นอาหารเหนือส่วนใหญ่ เพราะคนรู้จักในชื่อนั้นว่าเป็นอาหารเหนือ ส่วนท่าน้ำภูแลจะได้เรื่องบรรยากาศเพราะอยู่ริมแม่น้ำกก แต่มีการเพิ่มความหลากหลายในร้านใหม่ ลูกค้าก็ไม่สับสน แต่พอคนมากินแล้วรู้ว่าเป็นร้านเดียวกัน คนก็เริ่มไปร้านที่แม่น้ำกกเพราะเห็นว่าบรรยากาศดีกว่า ก็คือเป็นเหมือนเดิมแต่เพิ่มอาหารทั่วไปมากขึ้น ดังนั้นพอเราย้ายมาสาขาใหม่ก็เลยคิดว่าเปิดสาขาเดียวดีกว่า เพราะบริหารจัดการง่ายกว่า แล้วคนก็รู้จักชื่อร้านเราเยอะแล้ว และลูกค้าก็ไม่สับสน

SME ONE : ช่วงที่เราเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆเราเจอปัญหาอุปสรรคอะไร และมีการแก้ปัญหาอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ก็มีปัญหาเรื่องกุ๊ก เพราะว่าเราทำอาหารไม่เป็น เราก็ต้องง้อเขาตลอด ยอมเขาเกือบทุกอย่างจนเราคิดว่าก็ต้องพัฒนาในเรื่องพวกนี้ ถึงแม้เราทำอาหารไม่เป็น แต่เราก็ควรรู้ว่ามันควรจะทำยังไง ถ้ามีกุ๊กคนใหม่มาเขาก็ต้องทำอาหารให้รสชาติเหมือนกับสไตล์ของร้านเรา 

เราแก้ปัญหาโดยเอาระบบเข้ามาเป็นตัวช่วยบริหารจัดการ เมื่อก่อนมีกุ๊กใหญ่ 1 คนและมีผู้ช่วยกุ๊ก 1 คน ตอนหลังเราก็มีกุ๊กเพิ่มมากขึ้น สอนให้มีความชำนาญมากขึ้นและมีความหลากหลาย เราพยายามสอนให้กุ๊ก 1 คนสามารถทำอาหารได้ 2-3 ประเภททำให้เขาเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วก็พยายามฝึกฝนตัวเอง ที่ร้านครัวจะใหญ่มากคนในครัวประมาณ 30 คน เราต้องบริหารจัดการให้ได้ว่าในครัวจะทำกันอย่างไร คนไหนทำประเภทไหน คนนี้ทำประเภทต้ม คนนี้ทำประเภทผัดหรือทอดก็แยกกันไปเลย

ผมเคยไปนั่งทานร้านซูชิที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ลองไปนั่งกินแล้วก็ดูเขาทำก็เห็นเขาแยกส่วนกันทำ เวลามีออเดอร์เข้ามาก็เห็นเขามีหน้าที่ของตัวเอง มันก็ทำให้อาหารไม่ช้า ต่างจากเมื่อก่อนที่มีเชฟใหญ่คนเดียวกว่าจะรอเชฟใหญ่ทำเสร็จคนมาเต็มร้านแล้วทำไม่ทัน 

ผมค่อนข้างโชคดีที่จบปริญญาตรีวิศวะโยธา จึงเอาระบบวิศวะมาใช้บริหารงานในครัวด้วยการแบ่งเป็นสถานีย่อยๆ ออกไป ใช้ทักษะที่เราเคยเป็นอดีตผู้รับเหมามาจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ใช้ศาสตร์หลายๆ เรื่องมาบริหารจัดการ ทำให้ปัญหาใหญ่ของร้านอาหาร คือเวลาเปลี่ยนพ่อครัวแม่ครัวรสชาติจะเปลี่ยนของร้านเราไม่ค่อยมี ร้านผมถึงจะเปลี่ยนกุ๊กก็มีคนแทนตลอด 

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : มีบ้างในช่วงที่ทำการตลาดออนไลน์และเรื่องอื่นๆ บ้าง เขามาทำเรื่องร้านอาหารปลอดภัย อาหารสะอาดมีการอบรมพนักงานอะไรตลอด เราก็ทำทุกอันที่เขามีมาตรการเรื่อง COVID-19 มีมาตรฐานอะไรทำทุกอย่าง มีการพัฒนาพนักงานตลอด เพราะผมก็เป็นประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายด้วย เราก็ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจว่าร้านเรามีเกณฑ์มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ เพราะบางทีรับแขกผู้ใหญ่อย่างปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี เราก็ต้องมีความมั่นใจตรงนี้ไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่กล้าพาผู้ใหญ่มารับประทาน 

 

SME ONE : การเลือกวัตถุดิบที่พรีเมียมขึ้นสามารถเพิ่มมูลค่าอาหารได้มากน้อยเพียงใด

ดร. อนุรัตน์ : ผมสังเกตมาตลอดแม้ว่าส่วนตัวผมเป็นคนชอบทานอาหารเหนือ แต่เวลาผมไปทะเลรับประทานอาหารหนึ่งมื้อต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 พันบาท แต่พอมากินอาหารเหนือผมหมดไม่ถึงพันบาท เราก็สงสัยว่าทำไมอาหารเหนือแทบจะไม่มีมูลค่า เราก็เลยมาออกแบบเมนูใหม่ มีการจัดจานใหม่รูปแบบใหม่ วัตถุดิบดีขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าขึ้นไป

อย่างเราไปทะเลปูกิโลกรับละ 1,200-1,500 บาท เราก็ต้องซื้อทาน เพราะว่าเราไปถึงที่แล้วถามว่าสดไหมบางทีมันก็ไม่สด เราก็เลยมาดูว่าเมนูไหนที่กำลังเป็นที่นิยมเวลาเอามาทำก็ได้รับการตอบรับที่ดี เช่นเนื้อวากิวเราก็เอาเนื้อจากออสเตรเลียมาขาย หรือปลาแซลมอนเราเอาแซลมอนมาทำเมนูแช่น้ำปลา โดยเฉพาะผู้หญิงจะชอบทานแซลมอนอยู่แล้ว เราก็พยายามคิดค้นความหลากหลาย เด็กก็มีเมนูสำหรับเด็ก เมนูผู้สูงอายุก็มี เมนูคนทานเจก็มีพยายามคิดเมนูให้หลากหลาย

SME ONE : ภูแลมีเมนูที่เป็นอาหารเหนือแต่ใช้วัตถุดิบพรีเมียมบ้างหรือไม่

ดร. อนุรัตน์ : ไม่ค่อยมี ถ้าเป็นอาหารเหนือก็ยังเป็นแบบเดิม เพราะถ้ามันแพงมากเกินไปคนก็จะไม่กล้าสั่ง ทุกวันนี้อาหารที่ร้านคนมาทานก็ยังบอกว่าถูกแล้ว เราก็ไม่ได้ขึ้นราคา ช่วงเทศกาลก็ไม่ขึ้น เมนูก็เป็นแบบชุดเดียวแบบเดียว 1-2 ปี กว่าจะเปลี่ยนเมนูครั้งนึง 

 

SME ONE : มีเคล็ดลับบริหารร้านอย่างไรให้ภูแลเป็นที่พูดถึงของนักท่องเที่ยวได้ตลอดเวลา

ดร. อนุรัตน์ : ก็เป็นเรื่องของคุณภาพ และความสะอาด รวมถึงเรื่องชื่อเสียงก็สำคัญ เพราะเราเปิดมา 20 กว่าปีแล้ว เราก็ค่อนข้างรักษาชื่อเสียง เราให้ความสำคัญเรื่องการเอาใจใส่กับลูกค้า เวลามีปัญหาเจ้าของร้านก็ต้องรีบเข้าไปดูเลยทันที ไม่ใช่ให้ลูกน้องไปแทน เพราะลูกน้องก็ตอบไม่ได้ ไม่งั้นลูกค้าก็ลง Facebook ด่า Complain เราต้องกล้าเผชิญกับเหตุการณ์แล้วก็ตัดสินใจแก้ปัญหา

 

SME ONE : ในอนาคตภูแลจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

ดร. อนุรัตน์ : ผมทำมาเยอะแล้วทำมาหลายธุรกิจ อนาคตก็อาจจะมีไปซื้อแฟรนไชส์ร้านของหวานมา หรือเปิดบริการในส่วนของอาหารว่าง, อาหารกลางวันอาหารแบบจานเดียว เช่น สปาเก็ตตี้อะไรแบบนี้ เพื่อเอามาเสริมธุรกิจเพราะว่าร้านอาหารของเราพื้นที่กว้างมาก และส่วนใหญ่คนมากินตอนเย็น ช่วงกลางวันจะเงียบ ผมก็มีแนวคิดว่าอาจจะทำเป็นคาเฟ่ หรือสวนน้ำตกสวยๆอ าจจะไม่ต้องใหญ่มาก แต่สามารถดึงให้มีลูกค้าช่วงกลางวันได้ 

โครงการนี้กำลังคิดอยู่ผมเพิ่งจะไปดูงานมา 2-3 ที่คิดว่าน่าจะเปิดบริการได้ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คือหน้าหนาวเลย 

 

SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะกับร้านอาหาร 

ดร. อนุรัตน์ : ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ถ้าจะทำร้านอาหารก็ต้องรักในธุรกิจจริงๆ อย่าคิดว่ามาทำได้เล่นๆ สนุกๆ เพราะการเปิดร้านอาหารรายละเอียดมันเยอะมาก แล้วก็ต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอน อย่างปัจจุบันนี้ผมยังไปจ่ายตลาดเองเลย ตอนเช้า 8-9 โมง ผมก็ไปตลาดทุกวัน เมื่อก่อนผมก็หลวมให้เด็กไปจ่ายตลาดก็โดนโกง ถ้าเราทำเองได้มันก็จะช่วยเซฟและได้พัฒนา แต่เราก็ต้องมีเวลาและรักมันด้วย ไม่ใช่มาทำแล้วปล่อยให้ลูกน้องทำ แบบนี้อย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็ให้มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องตามโลกให้ทัน ต้องปรับตัวเองตลอดเวลา 

 

บทสรุป

ปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารท้องถิ่นอย่างภูแลสามารถดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 20 ปี นั้นมาจากการวางโพสิชั่นนิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นร้านอาหารเหนือที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย รวมถึงการรักษาเรื่องมาตรฐานและคุณภาพอาหารให้คงเส้นคงวา และมีรสชาติที่เหมือนเดิม โดยเอาประสบการณ์จากสายงานวิศวะกรเข้ามาพัฒนาระบบการจัดการในครัว และสุดท้ายคือการปรับปรุงสถานที่ให้ใหม่และคงความความสะอาดไว้ตลอดเวลา

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center - MTEC)

ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะส่งมอบไปถึงมือให้ลูกค้านั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการสร้างขีดความสามารถ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ ของเสียมีจำนวนน้อย ลดระยะเวลาการส่งมอบ และมีคุณภาพสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานต่าง ๆ 

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC มีบทบาทในการร่วมงานกับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาขีดความสามรถให้ผู้ประกอบการสามารถทำผลิตภัณฑ์ ให้ส่งมอบได้ภายใต้เงื่อนไข

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC เป็นหน่วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง หน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งภายใต้ สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีบทบาทหน้าที่ในการทำวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตและ ภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม SME ต่าง ๆ โดยทางศูนย์ฯ นั้นมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของวัสดุที่ใช้ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ ตอดจนกระบวนการใช้วัสดุเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ โดยอาศัยความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบวิศวกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามมาตรฐาน และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเป็นไปได้จริง

นอกจากการพัฒนาด้านวัสดุให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว ในอีกด้านหนึ่งนักวิจัยของทางศูนย์ฯ เองยังได้มีการตั้งโจทย์ วิเคราะห์ และพิจารณาไปในอนาคตข้างหน้าว่า จะมีเทคโนโลยีใดเข้ามา และเมื่อเทคโนโลยีนั้นมาถึงแล้ว จะมีการใช้ประโยชน์รองรับมันอย่างไร

อีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC นั้น คือการสนับสนุนการอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคคลากรของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหัวข้อเฉพาะตามความต้องการของผู้ประกอบการที่ทางศูนย์ฯ ได้มีโอกาสสำรวจและเก็บรวบรวมจากการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการผ่านวงสัมมนาหรือการประชุมในเชิงอุตสาหกรรมต่างๆ  และทางศูนย์ฯ เองมีเครื่องมือที่มากมายที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

 

บริการจากทางศูนย์

บริการด้านเทคนิค เป็นการบริการทดสอบวิเคราะห์ทางด้านวัสดุในเชิงเทคนิค เพื่อหาคุณสมบัติของวัสดุ เช่น มีความแข็งแรง มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่อ้างอิงไหม ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง 

ประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นโครงการที่ทางศูนย์ร่วมหาคำตอบให้กับผู้ประกอบการ สามารถเป็นทั้งในนรูปแบบของการให้คำปรึกษา, การรับจ้าง หรือร่วมวิจัย และหาแหล่งทุนสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

บริการอบรมสัมมนา จัดฝึกอบรมพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการทำเวิร์กชอป และสัมมนาต่างๆ ทำให้ทางศูนย์ได้พบปะกับผู้ประกอบการโดยตรง สามารถช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาในเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยี, เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือให้คำแนะนำด้านโปรแกรมต่าง ๆ

บริการด้านวิชาการ ศูนย์ให้ข้อมูลในเชิงเทคโนโลยี เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ได้เข้ามาสืบค้นว่าในปัจจุบัน มีเทคโนโลยี, วัสดุ, ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมตัวใดอยู่แล้วบ้าง ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นทางเลือกให้เกิดสินค้าที่แข่งขันในตลาดได้ ไปจนถึงการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ขึ้นในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการในยุคใหม่ ที่อาจจะเป็นลักษณะแบบธุรกิจที่เรียกกันว่า สตาร์ทอัพ นั้นควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี มากๆ และอยากให้คิดว่าการทำวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว เรื่องวิจัยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของอาจารย์นักวิชาการเท่านั้น แต่กระบวนการวิจัยคือเครื่องมือวิถีในการหาคำตอบอย่างมีระบบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมีโจทย์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีความชัดเจนนัก สามารถติดต่อมาที่ MTEC ได้ ทางศูนย์นั้นยินดี มีบุคคลากรที่พร้อมหารือและให้ข้อมูล ต่อยอดขีดความสามารถ พัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ที่อยู่: 114 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร: 0 2564 6500
โทรสาร: 0 2564 6501- 5
เว็บไซต์ : mtec.or.th

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

รายงานสถาณการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน

บทความ รายงานสถาณการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน
อ่านต่อที่
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220518095747.pdf

บทความแนะนำ

เปิดแนวคิดวิสาหกิจชุมชน “สมุนไพรปลูกรัก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้พืชสมุนไพรมาเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรคมาแต่โบราณ โดยในปัจจุบันสมุนไพรไทยได้เพิ่มบทบาทสู่การแพทย์ทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งกระแสรักสุขภาพทำให้สมุนไพรไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

วันนี้ SME ONE อยากสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ และอยากพัฒนาสินค้า และบริการจากพืชหรือสมุนไพรประจำถิ่น กับแนวคิดของการทำธุรกิจดีๆ จากคุณจอน เสาวลักษณ์ มณีทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด และผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

ตนเองเติบโตในครอบครัวเกษตรกร มีโอกาสเรียนและทำงานในเมืองหลวง แต่ทุกครั้งที่กลับบ้านเกิด จะได้พบเห็นว่า เกษตรกรไทยยังลำบาก กลุ่มแม่บ้านไม่มีงานทำ จึงอยากนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้สร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ มีเอกลักษณ์ มีนวัตกรรม มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชสมุนไพรที่ใกล้สูญพันธุ์ สร้างป่าให้ชุมชนนำมาซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรักจึงเกิดขึ้น เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์ (Organic) โดยมีเป้าหมายคือ “เป็นความสุขของเกษตรกรในอ้อมกอดของขุนเขา”

แนวคิดและหลักการในการทำธุรกิจ

นับตั้งแต่ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก เมื่อปี 2557 ขณะนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 300 ราย สิ่งที่เรายึดถือมาตลอดคือ “การแบ่งปัน” นั่นคือ การอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศที่เกื้อกูลและให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิด 3 ดี ดีต่อเรา คือ สุขภาพดีเพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์ ดีต่อเขา คือ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้บริโภคหรือคนรอบข้าง และสุดท้าย ดีต่อโลก คือ การอยู่อย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดแข็งหรือกุญแจแห่งความสำเร็จ

จากการพัฒนากระบวนการเพาะปลูก ตลอดจนการแปรรูปสมุนไพรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก เช่น ขมิ้นชันผง ในนาม “ปันแสน” ได้รับมาตรฐาน USDA Organic ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐฯ ที่ออกให้กับสินค้า Organic ตามมาตรฐาน USDA คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้จะต้องเป็นพืชที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี พืชที่ปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์ รางวัลนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับ ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ปันแสน” เป็นที่รู้จักของผู้ซื้อในต่างประเทศ

เป้าหมายหรือแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต

“จากที่เคยฝันไว้ว่า ถ้าประสบความสำเร็จในการสร้างป่าแห่งอาหารที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ขุนเขา และจะปักธงชัยบนภูเขาแห่งบ้านเกิด จากความฝันอันเลือนรางในวันนั้น ถึงวันนี้ที่สามารถนำสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกได้ ดร.รักษ์ สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากปักธงชัยบนภูเขาโลกแล้วจริง ๆ และอยากพาคุณค่าสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยความภาคภูมิใจของเกษตรกรในอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก”

เราจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เพิ่มยอดขายควบคู่กับพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรได้อิ่มท้อง อิ่มใจ และร่วมกันสร้างป่าอาหารที่สมบูรณ์ไปด้วยความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการสร้างวิสาหกิจชุมชน

อ้างอิง : https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/26418/0222_CEO_talk.html

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ