บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่ดูแลทั้งชุมชนให้ยั่งยืน

บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่ดูแลทั้งชุมชนให้ยั่งยืน

บ้านสวนจิ๊จ๋า คือ สวนเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดนครสวรรค์ ที่เริ่มจากการปลูกผักในสวนหลังบ้าน จนสามารถหาจุดขายที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เชื่อมโยงเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ให้กลายเป็นเครือข่ายการเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันผลิตสินค้า ที่สร้างรายได้กระจายให้กับเกษตรกรในชุมชน

จากความคิดริเริ่มของคุณเอ๋ นันทนา เกษกำจร เจ้าของบ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่แต่เดิมเป็นเพียงสวนหลังบ้านที่ปลูกผักของคุณแม่ สำหรับรับประทานกันเองในบ้าน และแบ่งขายในตลาดบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีคุณแม่นั้นทำสวนเอง ปลูกเอง และขายเองเพียงคนเดียว

คุณเอ๋ จึงคิดว่า ถ้าหากมีการบริหารจัดการสวนผักแห่งนี้ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ก็น่าจะสร้างผลผลิตให้เป็นรายได้ได้มากขึ้น จึงเริ่มขยายช่องทางการตลาด นำสินค้าเข้าไปขายในระบบออนไลน์ แม้ว่าจะสามารถขายออกได้เรื่อย ๆ แต่กลับไม่ได้ผลกำไรอย่างที่ตั้งใจไว้

ตั้งโจทย์ให้ธุรกิจ เพื่อคิดหาวิธีพัฒนา

หลังจากกลับมาทบทวนดู คุณเอ๋ จึงลองปรับวิธีคิดใหม่ หาวิธีที่จะทำให้สวนเป็นที่รู้จักมากขึ้น วิธีที่คุณเอ๋ใช้ คือการเปิดโซเชียลมีเดียให้กับสวน ถ่ายรูปผลผลิตภายในสวนให้สวยงาม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผักภายในสวน เห็นวิธีการปลูกด้วยกระบวนการปลอดสารพิษและเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ทุกขั้นตอน มีการสื่อสารให้เห็นความเคลื่อนไหว และทำให้สวนมีชีวิตด้วยเรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ

พร้อมกันนั้น ยังมีการนำเสนอสินค้าที่มีในแต่ละวันให้ผู้ติดตามได้รู้จัก ซึ่งอาจสร้างความสนใจให้เกิดการซื้อขายได้ แต่ก็ยังขายได้ในวงแคบ ๆ เพียงแค่ลูกค้าภายในจังหวัดเท่านั้น

 

ความต้องการของลูกค้า คือไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์

วันหนึ่ง มีลูกค้าที่ตั้งครรภ์มาถามหาน้ำมะกรูด ทั้งที่ตอนนั้นในสวนจิ๊จ๋า มีต้นมะกรูดอยู่เพียงต้นเดียว และยังไม่เคยทำสินค้าจากมะกรูดออกจำหน่าย คุณเอ๋ จึงได้เริ่มทำการศึกษามะกรูดอย่างจริงจัง แล้วพบว่าในมะกรูดมีสารอาหารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ตั้งครรภ์ ก็ได้ทดลองทำการผลิตน้ำมะกรูดคั้นสดเพื่อขายให้กับลูกค้าเพียงคนเดียวดู 

พอทำขายครั้งนั้น คนก็เห็นว่าที่สวนนี้มีน้ำมะกรูดคั้นสดขาย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในตอนนั้น เพราะในตลาดยังไม่มีที่ไหนมีน้ำมะกรูดคั้นสด ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น บวกกับการมีชื่อว่าเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ว่าจะได้น้ำมะกรูดสด ๆ จากสวนอย่างแน่นอน

ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จนคุณเอ๋ และ แม่ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน จึงขอแรงจากคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดสวนให้ชาวบ้านในชุมชนได้เข้ามาทำงานในสวน และด้วยปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น มะกรูดที่ปลูกในสวนเองก็ไม่พอ จึงต้องทำโรงเรือนสำหรับรับซื้อมะกรูดจากชาวสวนในชุมชน ที่มั่นใจว่าเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีเช่นเดียวกัน เริ่มวางระบบ และเริ่มให้สาธารณะสุขเข้ามาดูแลคุณภาพ

ไม่มีส่วนไหนไร้ค่า ถ้ารู้จักหาวิธีใช้ประโยชน์

เมื่อสินค้าเยอะขึ้น คนเข้ามาทำงานมากขึ้น ก็ต้องมีการบริหารจัดการสวนให้เป็นระบบ คุณเอ๋ ได้มีโอกาสเข้าอบรมกับโครงการของทาง สสว. ที่ได้ช่วยปรับปรุงโครงสร้าง กระบวนการคิดทางธุรกิจ ไปจนถึงการจัดการวัตถุดิบที่ถูกต้อง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นทำให้ บ้านสวนจิ๊จ๋า จัดการวางระบบการจัดการภายในสวนใหม่ รวมถึงการพัฒนาด้านการตลาด ขยายช่องทางการขายมาเน้นที่ตลาดออนไลน์ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว จึงได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเติบโตที่มากขึ้น

ในการผลิตน้ำมะกรูดคั้นสดนั้นมีชิ้นส่วนที่เหลือทิ้งมากมาย แต่จริงๆแล้ว ทุกส่วนของมะกรูด ทั้งผิวและกากนั้น ก็ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเห็นอย่างนั้น คุณเอ๋ จึงเริ่มศึกษาการแปรรูปจากส่วนต่างๆ ของมะกรูด เพื่อหมุนเวียนวัตถุดิบให้เกิดคุณค่าสูงสุด เช่น สกัดน้ำมันจากผิวมะกรูดซึ่งอุดมด้วยวิตามิน นำมาทำเป็นยาสระผม ทำเป็นครีมบำรุงลดท้องลายสำหรับคุณแม่ที่มีบุตรแล้ว เมื่อวางขายก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นอย่างมาก

คุณเอ๋ ยึดหลักในการทำธุรกิจว่า เรามีอะไร ลูกค้าต้องการอะไร เราก็ผลิต แปรรูปของที่เรามีเป็นสินค้าให้กับเขา เราก็จะขายได้

บ้านสวนจิ๊จ๋า ไม่สามารถเติบโตด้วยคนคนเดียวได้ เพราะฉะนั้นทีมงานจึงมีความสำคัญ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่ทำให้บ้านสวนจิ๊จ๋า เติบโตแข็งแรงอย่างยั่งยืนไปด้วยกันทั้งชุมชนได้อย่างในทุกวันนี้

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ นครวรรค์

ที่อยู่: 8/1 หมุ่6 ตำบล บางประมุง อำเภอโกรกพระ นครสวรรค์ 60170

โทร: 089-502-0192

Line: @bansounjija

Facebook: mybansounjija

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

 

บทความแนะนำ

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรม สมาคม และสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ บรรจุภัณฑ์

เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วใน กองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภายใต้แนวคิด "บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่ขยะ" คัดแยกก่อนทิ้ง

โดยมีเป้าหมายที่จะให้สถาบันฯ ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะด้วยวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ทางสถาบันฯ ได้มีการกำหนดแนวทางในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้

  1. สร้างความรู้ ความเข้าใจบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
  2. รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ทุกภาคส่วน
  3. สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลและรวบรวมเครื่องมือการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุ รีไซเคิล
  4. เชื่อมโยงวงจรบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลให้ครบวงจร

 

บริการของทางสถาบัน

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลให้กับทุกภาคส่วนอย่างครบวงจร โดยดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นสถาบันฯ ยังเปิดเป็นศูนย์กลางที่ให้บริการด้านข้อมูล และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิล ให้กับผู้คน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงเรื่องการจัดการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ที่ยังมีคุณค่าภายในครัวเรือน

มากไปกว่านั้น หากผู้ประกอบการ หรือ สมาชิกของทางสถาบันฯ มีความต้องการ ที่จะขับเคลื่อนความสำคัญของการจัดการวัสดุรีไซเคิลให้เป็นข้อบังคับเชิงนโยบาย ก็สามารถที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของทางสถาบันฯ เพื่อนำเสนอแนวคิดและพัฒนาแผนงานร่วมกับทางสถาบันฯได้ โดยทางสถาบันฯ นั้นยินดีที่จะให้บริการทีมที่ปรึกษา ไปจนถึงการทำโครงการทดลองนำร่องนโยบายในพื้นที่จริง เพื่อศึกษาผลกระทบและหาผลลัพธ์ไปด้วยกัน จนสามารถที่จะบรรจุนโยบายให้เป็นข้อบังคับใช้จริงได้ในอนาคต

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม

ที่อยู่: เลขที่ 2 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ชั้น 7
ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถ.นางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ
เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120

โทร. : 02-345-1289

อีเมล : tipmse.channel@gmail.com

Facebook: tipmse

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน 
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220821233743.pdf

บทความแนะนำ

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC)

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC)

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation center - ITC) อยู่ภายใต้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสิรมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภายในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์

ทางศูนย์ฯ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการคำปรึกษาแนะนำตั้งแต่แรกเริ่ม การวิจัยเชิงพาณิชย์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาผู้ผลิต การจัดหาแหล่งทุน รวมทั้งการทดสอบและรับรองมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและนำไปประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมแนวคิดของผลิตภัณฑ์เอาไว้เบื้องต้นก่อนเข้ามาปรึกษา

 

บริการจากทางศูนย์

การให้บริการจากทางศูนย์ฯ นั้นจะมีอยู่ 4 ด้าน คือ

- การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ
- การให้บริการเครื่องจักรเพื่อช่วยในการผลิต
- การสาธิต การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับท้องตลาด
- การเชื่อมโยงกับแหล่งสถาบันทางการเงิน

 

แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 หน่วย หลัก ได้ดังนี้

  1. หน่วยพัฒนาสินค้าต้นแบบเกษตรแปรรูป (Unit PP – Unit Pilot Plant) ให้บริการกับกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูป โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสเข้ามาใช้เครื่องจักรเพื่อทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ หรือใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดการผลิตสินค้านวัตกรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการทดสอบความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหารให้กับผู้ประกอบการ
  2. หน่วยสกัดพืชน้ำมัน (Unit OX – Unit Oil Extractor) ให้บริการสกัดน้ำมันจากพืชอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเหนือ มีพืชอยู่เป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่สามารถสกัดน้ำมันแล้วได้ปริมาณน้ำมันและสารสำคัญสูงกว่าพืชจากแหล่งอื่น
  3. หน่วยให้บริการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Unit 1C – Unit One Connection) ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ รวมถึงให้บริการออกแบบโดยทีมนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญ ใน 4 ด้าน คือ ออกแบบผลิตภัณฑ์, แฟชั่น, กราฟิก, และบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยพัฒนาต้นแบบให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ  เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, เครื่องสแกน 3 มิติ, บริการถ่ายรูปสินค้า, เครื่องพิมพ์บรรจุภัณฑ์, จักรเย็บผ้าประเภทต่าง ๆ

 

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต นั้นเปิดให้บริการครบวงจร โดยมีความมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาสินค้าและการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ให้มีการเชื่อมโยงนวัตกรรม งานวิจัย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างทัดเทียม

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1

ที่อยู่: 158 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000

โทร: 053-245-361, 053-245-362

โทรสาร: 053-248315

อีเมล: ipc1@dip.go.th

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Thais Ecoleathers รีไซเคิลเครื่องหนัง ให้รักษ์โลกอย่างแท้จริง

 

 

Thais Ecoleathers รีไซเคิลเครื่องหนัง ให้รักษ์โลกอย่างแท้จริง

หากนำเศษหนังทั้งหมดที่ถูกทิ้งจากโรงงานผลิตเครื่องหนังทั่วประเทศไทยในเวลา 1 ปี มาวางตั้งเรียงกัน จะได้ความสูงมากกว่าตึกมหานครถึง 6 เท่า หรือนับเป็นปริมาณได้มากเกินกว่า 10,000 ตัน วัสดุราคาสูงเหล่านี้ต่างถูกทิ้งเป็นขยะ ฝังกลบอยู่ใต้ดินไปอย่างไร้ค่า และยากต่อการย่อยสลาย 

มีไม่ถึง 1% ของปริมาณเศษหนังมหาศาลเหล่านี้ ที่จะถูกนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นประโยชน์ และยิ่งน้อยลงไปกว่านั้น ถ้าต้องใช้กระบวนการรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนเรียกได้ว่าในโลกนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการใดที่สนใจที่จะทำมาก่อน

สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นคำถามในใจของ คุณธันย์ ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล และ คุณเม พัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล มาตลอดช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจผลิตเครื่องหนัง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้ง 2 คน ก่อตั้ง Thais Ecoleathers เพื่อคิดหาวิธีที่จะนำเศษหนังเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ชุบชีวิตให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง โดยตั้งโจทย์ใหญ่ไว้ว่า ตลอดกรรมวิธีของการรีไซเคิล นั้นต้องปลอดภัยต่อโลก โดยไม่มีการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ชุบชีวิตเศษหนัง สู่เครื่องหนังรักษ์โลก

Thais ได้ทดลอง และพัฒนารูปแบบอยู่หลายปี จนสามารถสร้างนวัตกรรมรีไซเคิลเศษหนัง ด้วยกระบวนการที่รักษ์โลก 100% ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นที่แรกและที่เดียวในโลก ให้ผลลัพธ์เป็นแผ่นหนังรีไซเคิลที่ยังคงคุณสมบัติทั้งความสวยงามของเครื่องหนัง มีความหรูหรา และทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนานนับ 10 ปี มีเอกลักษณ์ และเรียกได้ว่าเป็นเครื่องหนังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ก้าวต่อมาคือการนำวัตถุดิบนี้ไปออกงานเพื่อแนะนำให้นานาประเทศได้รู้จัก การออกงานในครั้งนั้นได้รับผลตอบรับที่ดีจากชาวต่างชาติ จนได้รับการสั่งผลิตสินค้าล็อตใหญ่ นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Thais ได้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บให้เป็นสินค้าด้านแฟชั่น เช่น กระเป๋า ไปจนถึงการผลิตเป็นวัสดุสำหรับใช้ตกแต่งบ้าน เช่น แจกัน หรือ เฟอร์นิเจอร์

ด้วยวิธีคิดอย่างใส่ใจ จนสามารถพัฒนานวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ทำให้ Thais ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ และชนะรางวัลจากทั้งในระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ เช่น ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในการพัฒนาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ ขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น, ได้รับรางวัลงานออกแบบ DeMark, ได้รับรางวัลจาก UNIDO องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ

 

วิธีคิดอย่างยั่งยืน เพื่อคืนคุณค่าให้วัสดุ

เคล็ดลับในการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Thais นั้น ให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน คือ

People – ทำอย่างไรที่จะสร้างผู้มีส่วนร่วมในวงจรธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ Thais ทำ คือการเข้าไปสร้างทีมพันธมิตร จากชาวสวน ชาวไร่ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมให้พวกเขามีรายได้เพิ่มนอกฤดูเก็บเกี่ยว จากการตัดเย็บผลิตภัณฑ์

Planet – ตั้งต้นจากการคิดเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ และยังมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เหลือจากการผลิตทุกส่วน เพื่อไม่ให้มีขยะเหลือทิ้งจากการผลิต 

Profit – คือการคิดเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย เช่น การช่วยลดต้นทุนการกำจัดขยะให้กับโรงงานเครื่องหนัง ด้วยการเข้าไปรับวัสดุเศษหนัง เพื่อนำมาใช้ในการรีไซเคิลกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

 

ด้วยรูปแบบวิธีคิดและการดำเนินธุรกิจของ Thais นั้น เรียกได้ว่าตอบรับกับนโยบายเศรษฐกิจ ด้าน BCG อย่างครบถ้วน ซึ่ง Thais มีความเข้าใจในความเกี่ยวข้องของทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นอย่างดี และสามารถส่งต่อแนวคิดนี้ออกไปให้กับผู้ที่ใความเกี่ยวข้อง สร้างวงจรของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

Thais Ecoleathers Co., Ltd.

ที่อยู่: 296 ซอย กาญจนาภิเษก10 ถนน กาญจนาภิเษก
แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160

โทร: 092 545 5744

อีเมล: info@thais-ecoleathers.com

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

เว็บไซต์: www.thais-ecoleathers.com/

Line: @thais.ecoleathers

Facebook: thais.ecoleathers

Instagram: thais.ecoleathers

 

บทความแนะนำ