ฟางไทย จากเศษฟาง สร้างเยื่อกระดาษรักษ์โลก

ฟางไทย จากเศษฟาง สร้างเยื่อกระดาษรักษ์โลก

เพราะการทำนาไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิต เป็นกิจวัตรและจิตวิญญาณความทุ่มเทของชาวนา เมื่อถึงฤดูกาล ชาวนาทุกคนต่างเตรียมตัวปลูกข้าวกัน โดยไม่มีใครสนใจว่าปีนี้ราคาข้าวจะเป็นอย่างไร ทำแล้วคุ้มค่าเหนื่อยที่ลงทุน ลงแรงหรือไม่ แต่เพราะมันเป็นวิถีชีวิต ที่มีความสุขที่จะได้เห็นข้าวที่พวกเขาลงมือลงแรงปลูกเอง เจริญงอกงาม และได้เห็นข้าวเต็มยุ้งฉางเพียงพอให้เลี้ยงปากท้องต่อไปได้ตลอดทั้งฤดู

คนไทยรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก และมีการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักกันทั่วทั้งประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีฟางข้าวปริมาณมหาศาล ถูกกำจัดทิ้งไปด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการฝังกลบ การเผา ไปจนถึงการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ทรัพยากรเหลือใช้เหล่านี้ถูกกำจัดทิ้งไปอย่างสูญเปล่า

จากการเติบโตและสัมผัสวิถีชีวิตลูกชาวนามาโดยตลอด ทำให้คุณ นุ๊ก จารุวรรณ คำเมือง มองเห็นเรื่องราวในวิถีชีวิตของชาวนาเหล่านี้ และเก็บเป็นโจทย์ที่ตั้งอยู่ในใจว่า จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะเปลี่ยนฟางข้าว และวัตถุดิบเหลือใช้ในการเกษตร ให้กลับมาสร้างคุณค่า และสร้างเป็นรายได้กลับคืนให้แก่เกษตรกรในชุมชน โดยไม่ต้องกำจดทิ้งอย่างสูญเปล่า และใช้กรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

 

ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสืบสานวิถีชุมชน

คุณนุ๊ก ตั้งใจที่จะทำให้วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ สามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่งนอกจากการทำไร่ ทำนา ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะช่วนอกฤดูกาล และคิดต่อยอดไปอีกว่าผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นตัวช่วยเชื่อมโยง บอกเล่าเรื่องราวคุณค่าความตั้งใจของเกษตรกรในชุมชน เพราะนับได้ว่ามันเป็นผลผลิตจากพื้นที่ไร่นาเดียวกัน

เมื่อมีโจทย์ชัดเจน และเป็นเรื่องที่มาจากสิ่งใกล้ตัว การเริ่มต้นทดลองหาคำตอบก็สามารถทำได้ทันที โดย คุณนุ๊กเริ่มจากฟางข้าว ที่สามารถเดินไปเก็บได้จากที่นาหลังบ้าน 

แม้ไม่ได้เรียนจบจากสายวิจัย แต่เพราะมีความรู้ภาษาอังกฤษติดตัว ทำให้สามารถค้นหาความรู้ งานวิจัยต่าง ๆ จากโลกออนไลน์ได้หลากหลายรูปแบบ ศึกษาข้อมูลจนสามารถทำความเข้าใจหลักการ และกระบวนการผลิตที่น่าจะนำมาใช้เปลี่ยนฟางข้าวให้นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แล้วจึงได้ทดลองลงมือทำด้วยการประยุกต์อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัว ใช้ห้องครัวให้เป็นห้องแล็บทดลองสร้างเยื่อกระดาษจากเศษฟางข้าว

 

คิดใหม่ ทำใหม่ ให้รักษ์โลก

ข้อมูลต่าง ๆ ที่สืบค้นมาได้นั้น ยังไม่มีวิธีไหนที่ตอบโจทย์ในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพราะยังต้องมีการใช้ส่วนผสมที่เป็นสารเคมี เช่น การอัดกาว เข้ามาอยู่ในกระบวนการ แต่คุณนุ๊กยังคงมีความเชื่อมั่นว่ามันจะต้องมีกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% และสามารถทำได้จริง จึงได้นำหลักการมาทดลองทำ ลองผิด ลองถูก เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดอยู่หลายครั้ง ในที่สุดคุณนุ๊ก ก็สามารถสร้างเยื่อกระดาษจากฟางข้าวได้สำเร็จ 

ถึงแม้จะสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้แล้ว แต่ก็ต้องพบกับโจทย์ต่อไป นั่นคือการนำไปผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพราะแค่ห้องครัวในบ้าน คงไม่สามารถรองรับการผลิตที่มีจำนวนมาก ๆ ได้ 

เป็นโอกาสเดียวกันกับที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ได้เปิดรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการที่ลำปาง คุณนุ๊ก จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ และได้ร่วมงานกับนักออกแบบ ที่ขยายความเป็นไปได้จากคุณสมบัติของวัสดุนี้ ให้สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้จริง เช่น ทำเป็นภาชนะ เป็นโคมไฟ
คุณนุ๊ก ยังได้มีการร่วมโครงการกับ สวทช. ในการพัฒนากระบวนการผลิต และได้มีโอกาสส่งประกวดผลงานในโครงการของ GEF UNIDO ที่เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ และสามารถชนะรางวัลจากประเทศสหรัฐอเมริกามาได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจให้ คุณนุ๊ก อยากที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ จนเกิดเป็นแบรนด์ ฟางไทย ขึ้นมา

 

คุณค่าของผลิตภัณฑ์ คือสิ่งที่สำคัญกว่ามูลค่า

วิธีในการทำธุรกิจของ คุณนุ๊ก นั้นมองว่า อย่าทำธุรกิจตามเทรนด์ เพราะบางทีเราอาจไม่ได้มีความเข้าใจ รู้ลึกรู้จริงในธุรกิจนั้น ๆ และอาจจะทำให้เราพัฒนาธุรกิจไปได้ยาก 

แต่ถ้าเราเริ่มต้นธุรกิจโดยมองจากสิ่งที่เราให้คุณค่า และเป็นความตั้งใจจากตัวเราเอง และเรามองเห็นโอกาส ตรงนี้จะทำให้เรามองหากลยุทธ์ และแผนงานที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยเสียงของตัวเอง โดยเราอาจจะเริ่มต้นมองหาจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน นั่นจะทำให้เราสามารถที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจได้มากขึ้น ในส่วนปัญหาและอุปสรรคระหว่างทาง เป็นสิ่งที่เราต้องเจออยู่แล้ว ถ้าเรามองว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์ และเป็นบันไดให้เราพัฒนาก้าวไปอีกขั้น นั่นก็จะทำให้เรามีพลังในการต่อสู้ สนุก และเชื่อว่าทุกสิ่งสามารถที่จะเป็นไปได้ 

คุณนุ๊กยังมองว่า การจะสร้างความเชื่อมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดให้สำเร็จ มันอยู่ที่มุมมองของเรา การลงมือทำของเรา และแนวคิดของเรา ว่าเราอยากจะกำหนด หรือ อยากจะเดินไปในเส้นทางไหน

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ฟางไทย แฟคทอรี่

ที่อยู่: 83 หมู่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 52150

โทร.: 08-1899-0394

อีเมล: fangthaifactory@gmail.com

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่ดูแลทั้งชุมชนให้ยั่งยืน

บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่ดูแลทั้งชุมชนให้ยั่งยืน

บ้านสวนจิ๊จ๋า คือ สวนเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดนครสวรรค์ ที่เริ่มจากการปลูกผักในสวนหลังบ้าน จนสามารถหาจุดขายที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เชื่อมโยงเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ให้กลายเป็นเครือข่ายการเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันผลิตสินค้า ที่สร้างรายได้กระจายให้กับเกษตรกรในชุมชน

จากความคิดริเริ่มของคุณเอ๋ นันทนา เกษกำจร เจ้าของบ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ ที่แต่เดิมเป็นเพียงสวนหลังบ้านที่ปลูกผักของคุณแม่ สำหรับรับประทานกันเองในบ้าน และแบ่งขายในตลาดบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีคุณแม่นั้นทำสวนเอง ปลูกเอง และขายเองเพียงคนเดียว

คุณเอ๋ จึงคิดว่า ถ้าหากมีการบริหารจัดการสวนผักแห่งนี้ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ก็น่าจะสร้างผลผลิตให้เป็นรายได้ได้มากขึ้น จึงเริ่มขยายช่องทางการตลาด นำสินค้าเข้าไปขายในระบบออนไลน์ แม้ว่าจะสามารถขายออกได้เรื่อย ๆ แต่กลับไม่ได้ผลกำไรอย่างที่ตั้งใจไว้

ตั้งโจทย์ให้ธุรกิจ เพื่อคิดหาวิธีพัฒนา

หลังจากกลับมาทบทวนดู คุณเอ๋ จึงลองปรับวิธีคิดใหม่ หาวิธีที่จะทำให้สวนเป็นที่รู้จักมากขึ้น วิธีที่คุณเอ๋ใช้ คือการเปิดโซเชียลมีเดียให้กับสวน ถ่ายรูปผลผลิตภายในสวนให้สวยงาม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผักภายในสวน เห็นวิธีการปลูกด้วยกระบวนการปลอดสารพิษและเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ทุกขั้นตอน มีการสื่อสารให้เห็นความเคลื่อนไหว และทำให้สวนมีชีวิตด้วยเรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ

พร้อมกันนั้น ยังมีการนำเสนอสินค้าที่มีในแต่ละวันให้ผู้ติดตามได้รู้จัก ซึ่งอาจสร้างความสนใจให้เกิดการซื้อขายได้ แต่ก็ยังขายได้ในวงแคบ ๆ เพียงแค่ลูกค้าภายในจังหวัดเท่านั้น

 

ความต้องการของลูกค้า คือไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์

วันหนึ่ง มีลูกค้าที่ตั้งครรภ์มาถามหาน้ำมะกรูด ทั้งที่ตอนนั้นในสวนจิ๊จ๋า มีต้นมะกรูดอยู่เพียงต้นเดียว และยังไม่เคยทำสินค้าจากมะกรูดออกจำหน่าย คุณเอ๋ จึงได้เริ่มทำการศึกษามะกรูดอย่างจริงจัง แล้วพบว่าในมะกรูดมีสารอาหารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ตั้งครรภ์ ก็ได้ทดลองทำการผลิตน้ำมะกรูดคั้นสดเพื่อขายให้กับลูกค้าเพียงคนเดียวดู 

พอทำขายครั้งนั้น คนก็เห็นว่าที่สวนนี้มีน้ำมะกรูดคั้นสดขาย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในตอนนั้น เพราะในตลาดยังไม่มีที่ไหนมีน้ำมะกรูดคั้นสด ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น บวกกับการมีชื่อว่าเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ว่าจะได้น้ำมะกรูดสด ๆ จากสวนอย่างแน่นอน

ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จนคุณเอ๋ และ แม่ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน จึงขอแรงจากคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดสวนให้ชาวบ้านในชุมชนได้เข้ามาทำงานในสวน และด้วยปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น มะกรูดที่ปลูกในสวนเองก็ไม่พอ จึงต้องทำโรงเรือนสำหรับรับซื้อมะกรูดจากชาวสวนในชุมชน ที่มั่นใจว่าเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีเช่นเดียวกัน เริ่มวางระบบ และเริ่มให้สาธารณะสุขเข้ามาดูแลคุณภาพ

ไม่มีส่วนไหนไร้ค่า ถ้ารู้จักหาวิธีใช้ประโยชน์

เมื่อสินค้าเยอะขึ้น คนเข้ามาทำงานมากขึ้น ก็ต้องมีการบริหารจัดการสวนให้เป็นระบบ คุณเอ๋ ได้มีโอกาสเข้าอบรมกับโครงการของทาง สสว. ที่ได้ช่วยปรับปรุงโครงสร้าง กระบวนการคิดทางธุรกิจ ไปจนถึงการจัดการวัตถุดิบที่ถูกต้อง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นทำให้ บ้านสวนจิ๊จ๋า จัดการวางระบบการจัดการภายในสวนใหม่ รวมถึงการพัฒนาด้านการตลาด ขยายช่องทางการขายมาเน้นที่ตลาดออนไลน์ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว จึงได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเติบโตที่มากขึ้น

ในการผลิตน้ำมะกรูดคั้นสดนั้นมีชิ้นส่วนที่เหลือทิ้งมากมาย แต่จริงๆแล้ว ทุกส่วนของมะกรูด ทั้งผิวและกากนั้น ก็ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเห็นอย่างนั้น คุณเอ๋ จึงเริ่มศึกษาการแปรรูปจากส่วนต่างๆ ของมะกรูด เพื่อหมุนเวียนวัตถุดิบให้เกิดคุณค่าสูงสุด เช่น สกัดน้ำมันจากผิวมะกรูดซึ่งอุดมด้วยวิตามิน นำมาทำเป็นยาสระผม ทำเป็นครีมบำรุงลดท้องลายสำหรับคุณแม่ที่มีบุตรแล้ว เมื่อวางขายก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นอย่างมาก

คุณเอ๋ ยึดหลักในการทำธุรกิจว่า เรามีอะไร ลูกค้าต้องการอะไร เราก็ผลิต แปรรูปของที่เรามีเป็นสินค้าให้กับเขา เราก็จะขายได้

บ้านสวนจิ๊จ๋า ไม่สามารถเติบโตด้วยคนคนเดียวได้ เพราะฉะนั้นทีมงานจึงมีความสำคัญ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่ทำให้บ้านสวนจิ๊จ๋า เติบโตแข็งแรงอย่างยั่งยืนไปด้วยกันทั้งชุมชนได้อย่างในทุกวันนี้

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บ้านสวนจิ๊จ๋า สวนเกษตรอินทรีย์ นครวรรค์

ที่อยู่: 8/1 หมุ่6 ตำบล บางประมุง อำเภอโกรกพระ นครสวรรค์ 60170

โทร: 089-502-0192

Line: @bansounjija

Facebook: mybansounjija

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

 

บทความแนะนำ

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรม สมาคม และสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ บรรจุภัณฑ์

เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วใน กองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภายใต้แนวคิด "บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่ขยะ" คัดแยกก่อนทิ้ง

โดยมีเป้าหมายที่จะให้สถาบันฯ ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะด้วยวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

ทางสถาบันฯ ได้มีการกำหนดแนวทางในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้

  1. สร้างความรู้ ความเข้าใจบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
  2. รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ทุกภาคส่วน
  3. สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลและรวบรวมเครื่องมือการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุ รีไซเคิล
  4. เชื่อมโยงวงจรบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลให้ครบวงจร

 

บริการของทางสถาบัน

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลให้กับทุกภาคส่วนอย่างครบวงจร โดยดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นสถาบันฯ ยังเปิดเป็นศูนย์กลางที่ให้บริการด้านข้อมูล และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิล ให้กับผู้คน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงเรื่องการจัดการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ที่ยังมีคุณค่าภายในครัวเรือน

มากไปกว่านั้น หากผู้ประกอบการ หรือ สมาชิกของทางสถาบันฯ มีความต้องการ ที่จะขับเคลื่อนความสำคัญของการจัดการวัสดุรีไซเคิลให้เป็นข้อบังคับเชิงนโยบาย ก็สามารถที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของทางสถาบันฯ เพื่อนำเสนอแนวคิดและพัฒนาแผนงานร่วมกับทางสถาบันฯได้ โดยทางสถาบันฯ นั้นยินดีที่จะให้บริการทีมที่ปรึกษา ไปจนถึงการทำโครงการทดลองนำร่องนโยบายในพื้นที่จริง เพื่อศึกษาผลกระทบและหาผลลัพธ์ไปด้วยกัน จนสามารถที่จะบรรจุนโยบายให้เป็นข้อบังคับใช้จริงได้ในอนาคต

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม

ที่อยู่: เลขที่ 2 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ชั้น 7
ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถ.นางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ
เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120

โทร. : 02-345-1289

อีเมล : tipmse.channel@gmail.com

Facebook: tipmse

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) รายเดือน 
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220821233743.pdf

บทความแนะนำ

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC)

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC)

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation center - ITC) อยู่ภายใต้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสิรมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภายในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์

ทางศูนย์ฯ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการคำปรึกษาแนะนำตั้งแต่แรกเริ่ม การวิจัยเชิงพาณิชย์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาผู้ผลิต การจัดหาแหล่งทุน รวมทั้งการทดสอบและรับรองมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและนำไปประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมแนวคิดของผลิตภัณฑ์เอาไว้เบื้องต้นก่อนเข้ามาปรึกษา

 

บริการจากทางศูนย์

การให้บริการจากทางศูนย์ฯ นั้นจะมีอยู่ 4 ด้าน คือ

- การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ
- การให้บริการเครื่องจักรเพื่อช่วยในการผลิต
- การสาธิต การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับท้องตลาด
- การเชื่อมโยงกับแหล่งสถาบันทางการเงิน

 

แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 หน่วย หลัก ได้ดังนี้

  1. หน่วยพัฒนาสินค้าต้นแบบเกษตรแปรรูป (Unit PP – Unit Pilot Plant) ให้บริการกับกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูป โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสเข้ามาใช้เครื่องจักรเพื่อทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ หรือใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดการผลิตสินค้านวัตกรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการทดสอบความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหารให้กับผู้ประกอบการ
  2. หน่วยสกัดพืชน้ำมัน (Unit OX – Unit Oil Extractor) ให้บริการสกัดน้ำมันจากพืชอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเหนือ มีพืชอยู่เป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่สามารถสกัดน้ำมันแล้วได้ปริมาณน้ำมันและสารสำคัญสูงกว่าพืชจากแหล่งอื่น
  3. หน่วยให้บริการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Unit 1C – Unit One Connection) ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ รวมถึงให้บริการออกแบบโดยทีมนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญ ใน 4 ด้าน คือ ออกแบบผลิตภัณฑ์, แฟชั่น, กราฟิก, และบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยพัฒนาต้นแบบให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ  เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, เครื่องสแกน 3 มิติ, บริการถ่ายรูปสินค้า, เครื่องพิมพ์บรรจุภัณฑ์, จักรเย็บผ้าประเภทต่าง ๆ

 

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต นั้นเปิดให้บริการครบวงจร โดยมีความมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาสินค้าและการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ให้มีการเชื่อมโยงนวัตกรรม งานวิจัย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างทัดเทียม

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1

ที่อยู่: 158 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000

โทร: 053-245-361, 053-245-362

โทรสาร: 053-248315

อีเมล: ipc1@dip.go.th

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ