Natipong ลูกปัดมโนราห์ ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

Natipong ลูกปัดมโนราห์

ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

 

ก่อนหน้าที่จะกลับบ้านเกิดมาสร้างธุรกิจชุมชนด้วยการพลิกฟื้นชีวิตของวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง “มโนราห์” ที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา เนติพงศ์ ไล่สามที่เกิดและโตมากับครอบครัวมโนราห์ ขึ้นไปตามหาความฝันในเมืองกรุง ด้วยการไปเป็นสถาปนิกออกแบบอยู่พักใหญ่ เวลาผ่านไป เนติพงศ์เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังตามหานั้นไม่ได้อยู่ ณ ที่แห่งนี้ เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่สงขลาเพื่อมาหยิบเอาวัฒนธรรมล้ำค่าของบ้านเกิด ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังเคยมองข้ามไปมาพลิกฟื้นใหม่ จนกลายเป็นสินค้าเครื่องประดับและของแต่งบ้านจนเป็นที่มาของลูกปัดมโนราห์

 

ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Natipong ลูกปัดมโนราห์มีที่มาที่ไปอย่างไร

เนติพงศ์ : ที่ผมทำอยู่ปัจจุบันเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ลูกปัดมโนราห์ เริ่มแรกคือ ด้วยความที่ตัวผมมีปัญหาในการใช้ชีวิตในการทำงานประจำ เหมือนไม่ค่อยพอใจกับการใช้ชีวิตที่โดนตีกรอบตลอดเวลา ก็เลยเป็นแรงผลักดันในการค้นหาที่จะทำธุรกิจส่วนตัว คืออยากทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่ออกจากกรอบของงานประจำ ผมเริ่มสำรวจตัวเองก่อน ผมคิดว่าถ้าผมทำงานหรือทำธุรกิจส่วนตัว ผมต้องทำในสิ่งที่ผมถนัด สิ่งที่ผมทำได้ดี ก็คือมีคนชมผมมากๆ ก็เป็นงานที่เกี่ยวกับงานฝีมือ งานศิลปะ หรืองานออกแบบ

ตรงนี้เป็นคีย์เวิร์ดของการเป็นจุดเริ่มต้นค้นหาว่ามีทรัพยากรอะไรที่สามารถซัพพอร์ตความสามารถของเรา ผมเริ่มสำรวจสิ่งรอบข้างว่าอะไรที่พอจะเป็นต้นทุนที่หยิบออกมาเป็นธุรกิจได้ ตัวผมเป็นคนต่างจังหวัดจึงมองมาที่บ้านของผมก่อน ผมมองในแง่ที่ไม่ใช่งานศิลปะในตอนแรก มองว่าบ้านเราทำการเกษตร แต่ถ้าเป็นการเกษตรแล้วจะโยงมาเรื่องการออกแบบ ผมคิดว่ามันยังไม่สามารถไปในทิศทางนั้นได้ เมื่อเทียบกับสิ่งอื่นอย่าง เช่น งานจักสานไม้ไผ่ โดยเฉพาะงานลูกปัดมโนราห์ที่มีอยู่ในชุมชน 

จนในที่สุดก็ตกผลึกว่า การทำชุดมโนราห์ การรำมโนราห์ของเรา ที่คุณป้าของผมทำเองเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กทำให้เห็นถึงชุดมโนราห์ที่จะนำมาทำเป็นธุรกิจของตัวเองได้ โดยการนำเอาความรู้ความรักที่ตัวเองทำมาใช้ในการทำธุรกิจตัวนี้

 

SME ONE : ประสบการณ์จากการทำงานสายสถาปัตย์มีส่วนช่วยในการเริ่มต้นธุรกิจมากน้อยเพียงใด

เนติพงศ์ : มีส่วนช่วยเยอะมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าการมาทำงานตรงนี้ นอกจากการใช้ฝีมือ หรือใช้ทักษะในงานร้อยลูกปัดแล้ว ความรู้ที่เราเรียนมายังสามารถช่วยให้งานของเราเป็นระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน สามารถถ่ายทอดให้ช่างคนอื่นและขยายตัวได้ โดยเราต้องมีการเข้าใจกลไก เราจะต้องดูก่อนว่าวัสดุอุปกรณ์มีเท่าไหร่ ต้องมีการจดบันทึกเป็นข้อมูล ในส่วนของขั้นตอนการออกแบบก็ทำได้อย่างมีกระบวนการ มีคอนเซปต์ มีการพัฒนา มีการทดลองสี พอเราเรียนศิลปะมา เราจะรู้ว่าคู่สีอะไร คือคู่สีที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ไหน มันเป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้ ตั้งแต่ระบบการจัดการ ระบบการออกแบบดีไซน์ เรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน คือเราสามารถมองทั้งความสวยงาม และฟังก์ชันไปพร้อมๆ กันได้

 

 

SME ONE : วันที่กลับมาทำลูกปัดมโนราห์ มุมมองเกี่ยวกับมโนราห์ยังเหมือนตอบเป็นเด็กหรือไม่

เนติพงศ์ : ต่างกันมาก ต่างกันในที่นี้เหมือนสถานที่ที่มันอยู่ต่างกัน หมายความว่าพอผมอยู่บ้าน ผมก็ใช้ชีวิตปกติ เช้ามาเห็นทุ่งนา รำมโนราห์ งานประเพณีอะไรต่างๆ เราก็รู้สึกว่ามันสวยนะมันเป็นประเพณีที่ดีอะไรแบบนี้ แต่พอเราย้ายตัวเองออกไปจากสังคมเดิมๆ ที่ไม่ใช่สังคมภาคใต้ ไม่ใช่บริบทที่เป็นชุมชนต่างจังหวัด ผมไปอยู่ในสังคมเมือง ไปอยู่ในต่างภาคอะไรแบบนี้ ซึ่งมโนราห์ก็หาชมได้ยาก มันทำให้เรารู้สึกอีกแบบ จากที่เราเฉยๆ แต่พอไปอยู่ที่อื่นไกลๆ พอเรามองกลับมา มโนราห์มันคือความคิดถึงบ้าน มันคือความอุ่นใจ พอผมมองมโนราห์และได้ยินเสียงมโนราห์ ตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ น้ำตาของความคิดถึงบ้าน น้ำตาของความภาคภูมิใจ ความรู้สึกตรงนั้นมันออกมาเยอะมาก

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เรากลับมาทำลูกปัดด้วย ผมรู้สึกว่ามันเป็นการขับเคลื่อนทางใจที่สุดยอดมาก เรารู้สึกว่าเราผูกพันอะไรบางอย่าง เหมือนมันตรงจริตกันมาก

 

SME ONE : วิธีการทำให้ศิลปะพื้นบ้านสามารถประยุกต์ให้เป็นสินค้าร่วมสมัยมีเคล็บลับอะไร

เนติพงศ์ : ผมมองตรงที่ว่าสิ่งที่เราจะรักษาไว้ได้ ก็คืออัตลักษณ์ จริงๆ อัตลักษณ์ในความคิดของผมคือลวดลายและสีสันซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ ส่วนเทรนด์แฟชั่นกับสินค้าแฟชั่นเราคงทำตามไม่ได้มาก เพราะการผลิตของเรามันช้า ถ้าเราไปมองเทรนด์หรืออิงกับแฟชั่นมากๆ จะทำให้เราทำงานยาก เพราะเราจะผลิตไม่ทัน ถ้าเราผลิตขึ้นมาแล้วเทรนด์เปลี่ยนไปแล้วอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมจะเลือกมองไปที่เทรนด์การใช้งานมาดีกว่า แต่ยังคงความเป็นลวดลายสีสันที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา เทรนด์ที่เลือกดูอาจจะเป็นกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น แจกันอะไรแบบนี้ จะมองไปในลักษณะนั้นมากกว่า

 

SME ONE : ปัจจุบันสินค้าสินค้าตกแต่งบ้าน หรือสินค้ากลุ่มแฟชั่นขายดีกว่ากัน

เนติพงศ์ : ที่ขายดี คือสินค้ากลุ่มแฟชั่น ผมว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเราได้มาก ผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็น User ที่น่าสนใจ ที่คิดว่าถ้าเราทำอะไรน่าจะต้องอิงกลุ่มผู้หญิง และต้องเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ค่อนข้างมีระดับ อันนี้สำหรับงานหัตถกรรมของผมที่มีระยะในการทำงานที่ค่อนข้างยากและนาน

 

SME ONE : ปัจจุบัน Natipong ลูกปัดมโนราห์ขายสินค้าผ่านช่องทางไหนบ้าง

เนติพงศ์ : หลักๆ ผมมี 2 ช่องทางคือ ผมออกบูธ และขายผ่าน Facebook นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าร้านอยู่ในชุมชน ซึ่งเราทำเหมือนเป็นศูนย์เรียนรู้ ตรงนี้ก็เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้า ชาวบ้าน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผมคิดว่าเขาก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งด้วยเหมือนกันที่จะมาช่วยกระจาย ช่วยสร้างการเชื่อมต่อไปยังลูกค้าอื่นๆ ได้

 

SME ONE : ตอนนี้ Natipong ลูกปัดมโนราห์กลายมาเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว อยากทราบเหตุผล

เนติพงศ์ : ความเป็นธุรกิจส่วนตัวกับธุรกิจที่มีความเป็นชุมชน ถ้าธุรกิจส่วนตัวเรารู้สึกว่าผลประโยชน์เราได้คนเดียว มันจะมีความอึดอัดอย่างหนึ่ง คือเหมือนเรารวยคนเดียวอะไรประมาณนั้น ซึ่งสิ่งที่เราหยิบมาทำมันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของชุมชน ของประเทศ ผมมองว่าสินค้าของเรา ตัวงานของเราที่เป็นลูกปัดมโนราห์มันต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนได้ประโยชน์ ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน เพราะมันไม่ได้เป็นอะไรที่ผมคิดขึ้นมาคนเดียวตอนแรก เพราะผมต้องไปเรียนรู้กับคนอื่น ต้องไปเรียนกับครู กับป้า กับอาจารย์ หรือไปดูช่างคนอื่นที่เขาทำงานมาก่อนหน้านี้ ผมเป็นเหมือนตัวเชื่อม เป็นคีย์แมน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันแตกต่างกับธุรกิจส่วนตัว และผมมีความรู้สึกว่ามันจะทำให้ผมเติบโตไปอย่างยั่งยืนจากความเป็นตัวตนของผมข้างในด้วย 

วันที่ผมเริ่มต้นธุรกิจ ผมเริ่มจากคน 4 คน แต่ในปัจจุบันนี้ในการทำงานของเรามีตั้งแต่ทำของแต่งบ้าน ของใช้ในโรงแรม มีสินค้าที่ต้องใช้ฝีมือเยอะ ผมเคยมีการร่วมมือกันถึง 200 กว่าคนในบางช่วงเวลา เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีงานประจำที่เป็นงานเกษตรหรืองานอื่นๆ แต่ใช้เวลาว่างมาเป็นอาชีพเสริม 

ตอนนี้ผมจะมีช่างหลักๆ ที่มีทักษะชั้นสูง อยู่ประมาณ 12 คน แต่จะมีเครือข่ายที่เป็นชาวบ้านที่เป็นเหมือนลูกหลาน เป็นเหมือนพี่น้องช่างแถวๆ นั้น ในบางงานที่เราสามารถกระจายได้ บางทีก็ 50 คน บางทีก็ 100 คน 200 คน ถ้าเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่

 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจเจอปัญหาอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร

เนติพงศ์ : ช่วงเริ่มแรกก็เป็นช่วงของเงินทุน ทุกอย่างมันต้องใช้ปัจจัยมาก และสิ่งหนึ่งที่ผมทำงานมาคือ ในเรื่องของกระบวนการในการทดลองในระยะแรกๆ ว่างานมันจะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งช่วงนี้มันยังขายสินค้าไม่ได้ และมันก็ต้องทำสินค้าไว้เยอะมาก สิ่งที่เป็นปัญหาตามมา คือเงินทุนเราจม ทำให้เราไม่ได้ได้กำไรตลอดเวลา ซึ่งการแก้ปัญหาของผมก็คือการใช้ความรู้เดิมที่ผมมี ความรู้ที่ผมเขียนแบบบ้าน ทำกราฟฟิก เพื่อให้มีรายได้อย่างอื่นเสริม ระหว่างนั้นเราก็ทำตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ จนเริ่มขายได้ ผมคิดว่าความเป็นสินค้าหัตถกรรมประเภทนี้ มันต้องไปแบบช้าๆ หน่อย แต่มันจะมั่นคง 

นอกจากนี้เรายังมีรับงานโปรเจกต์บ้าง ปีละ 2-3 โปรเจกต์เป็นอย่างมาก จริงๆ งานมันมีงานโปรเจกต์เข้ามาเเยอะ แต่ด้วยราคามันยังทำไม่ได้ เพราะกำลังการผลิตของเราราคามันค่อนข้างสูง งานคราฟต์มันต้องราคาสูงอยู่แล้ว มันจะได้มีคุณค่า

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเราเคยไปขอคำปรึกษาจากทางภาครัฐบ้างหรือไม่

เนติพงศ์ : มีครับ แต่จะเป็นในลักษณะที่ภาครัฐเข้ามาหาเยอะกว่า หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเราในช่วงแรกๆ เลย ก็คือกรมพัฒนาชุมชนที่มากับโครงการ OTOP นวัตวิถี อันนั้นเป็นน้ำเป็นเนื้อมากๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่อื่น  ที่นี่พี่ๆ เขาเชื่อใจตัวของผม เชื่อใจในกลุ่มของผม เขาก็จะให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งการซัพพอร์ตเรื่องสถานที่เรื่องของการทำการตลาดครบวงจร อีกหนึ่งงานก็คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เข้ามาซัพพอร์ตเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ 

นอกจากนี้ก็ยังมีสถาบันส่งเสริมศิลปะหัตถกรรมไทยที่มาให้รางวัลตัวบุคคลครูช่างศิลป์ ซึ่งความเป็นครูช่างศิลป์มันเป็นใบเบิกทางให้เรา ให้เราได้เป็นที่รู้จักได้เป็นวิทยากร สร้างรายได้เข้ามาอีก 1 ช่องทาง 

 

SME ONE : คุณเนติพงศ์อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

เนติพงศ์ : ตอนนี้ผมทำเกือบหมดทุกอย่างแล้ว แต่ผมต้องเน้นให้มันดียิ่งขึ้น ผมเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว Product ในเรื่องของแฟชั่นผมก็ทำ เรื่องของ Deco ของแต่งบ้านผมก็ทำ เรื่องของการเรียนรู้ผมก็เผยแพร่ เพื่อให้ทุกอย่างมีคุณภาพมากขึ้น 

แต่สิ่งสุดท้ายผมรู้สึกว่า สิ่งที่ผมอยากทำมากๆ คือ ผมอยากทำอะไรที่ผมเป็นศิลปินจริงๆ ที่ไม่ได้มีอะไรมาตีกรอบผมมาก จากวันแรกที่ผมอยากใช้อิสระอย่างเต็มที่ในการทำธุรกิจ ซึ่งการทำงานศิลปะที่ไม่ต้องอธิบายอะไรมากแบบ Pure Art คงจะเป็นสิ่งที่ผมอยากฝากไว้กับโลกใบนี้

สิ่งที่ท้าทายในตัวของผมเอง ผมเชื่อว่าคนเราทำได้ทุกอย่าง ยิ่งถ้าเรารู้ว่าเรารักหรือชอบอะไร เราทำอะไรแล้วเราทำได้ดี เราก็ทำได้หมด แต่สิ่งที่ผมมองว่ามันจะมาขัดขวางในการทำงานของเราคือ การหลงในตัวของตัวเอง  เหมือนว่าพออะไรมันเข้ามาเยอะหลายๆ อย่างแล้วเราไม่สามารถจัดการมันได้ 

บางครั้งมันก็เลยกลายเป็นอัตตาไป เช่น ผมเคยมานั่งคิดทบทวนกับตัวเองว่าทำไมเราไม่คุยกับลูกค้าคนนี้ บางคนเขาพยายามตามเรามาหลายช่องทาง แต่เราก็ยังไม่ยอมสื่อสารกับเขาอย่างจริงจัง มาคิดทีหลังก็รู้สึกผิด เหมือนเมื่อวานผมเจอพี่คนหนึ่งเขาตามผมมาจากหลายๆ ช่องทาง แต่พี่เขาไม่ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร ผมก็เลยเลือกที่จะไม่สื่อสาร จนเขาต้องตามมาถึงบ้าน แต่เขาก็ไม่ได้โกรธหรืออะไรเรา เขาก็เข้าใจเรา

 

 

 

SME ONE : อยากให้คุณเนติพงศ์ฝากคำแนะนำกับผู้ประกอบการ SMEs

เนติพงศ์ : ผมอยากแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เราต้องทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ ทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะรู้ว่าเราทำสิ่งนี้ได้หรือเปล่า เพราะผมก็มีความมั่นใจในการทำงานมาเรื่อยๆ มีความท้อแท้บ้าง แต่ผมก็สู้มาเรื่อยๆ เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ผมทำมันเกิดจากความรู้สึกดีของเราจริงๆ ถ้ามันเป็นงานที่เราทำแล้วมีคุณค่าได้ประโยชน์มากมายมันก็มีโอกาสสำเร็จสูง แต่ถ้าไม่สำเร็จเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยน โดยมีระยะเวลาก็เป็นตัวกำหนด เช่นลองทำมา 3-4 ปีแล้วยังไม่สำเร็จมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ และการที่ทำธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จในตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิต เราอาจจะต้องปรับไปอย่างอื่นด้วยก็ได้

อีกสิ่งที่อยากฝากไว้คือ เราต้องให้กำลังใจตัวเองเยอะ ในวันที่ผมรู้สึกท้อแท้ ผมให้กำลังใจตัวเองด้วยการคุยกับงาน มันอาจจะฟังดูเป็นศิลปินมากๆ แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนเพราะว่า ผมทำธุรกิจมา 2 ปีจะ 3 ปีแล้ว ความกดดันจากพ่อแม่ หรือสิ่งรอบข้างก็เยอะ เงินก็ไม่มีแล้ว การให้กำลังใจตัวเอง ด้วยการมองงานตัวเองและพิจารณามันว่าเราทำมาเราตั้งใจทำขนาดไหน ผมมีความเชื่อว่าถ้างานมันมีคุณค่า มีประโยชน์ก็ขอให้มันแสดงออกมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นครับ กำลังใจก็มาจากตัวเราเอง จากงานของเรา 

 

ความสำเร็จของ Natipong ลูกปัดมโนราห์ นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และตัวตนของคุณเนติพงศ์เอง สองสิ่งนี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถขัยเคลื่อนมาจนถึงวันนี้ได้ เพราะการรักษาสมดุลย์ระหว่างคำว่า “ศิลปะ “กับ “พาณิชย์ศิลป์” ที่ลงตัวนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ เพราะถ้าชิ้นงานเอียงมาในทางศิลปะมากเกินไป โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในทางเชิงธุรกิจก็จะลดลง ในทางกลับกับถ้าชิ้นงานเอนเอียงมาทางพาณิชย์ศิลป์มากเกินไป ก็จะขาดจุดยืนซึ่งจะส่งผลกับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

บทความแนะนำ

SME อยากรู้ อยากได้ อยากให้ช่วย! เข้ามาที่ SME ONE เว็บเดียวพอ! เพราะเรามีครบจบให้คุณทุกเรื่อง
+SME Calendar ปฏิทินกิจกรรมหรือสิทธิประโยชน์ดีๆ รวมไว้ให้แล้ว
+Success Case ถอดรหัสความสำเร็จจากผู้ประกอบการตัวจริง
+รวมบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของคุณให้แข็งแกร่ง
และอื่นๆ อีกมากมาย
มาโตครบจบทุกเรื่อง กับ SME ONE ตอนนี้เลย! https://www.smeone.info/

 


#โตครบจบทุกเรื่องกับSMEONE #SMEONEโดยสสว #โตหลายเท่าแค่เข้าถึงSMEACCESSจากสสว
#SMEACCESS #สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม #สสว #OSMEP

บทความแนะนำ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT

GIT เสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยก้าวสู่ระดับนานาชาติ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการส่งออกและการค้าภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพีประเทศ มีแรงงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมาณ 1 ล้านคน ถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ และมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีบทบาทสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

วิสัยทัศน์ของ GIT คือ “เป็นผู้นำด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเพื่อสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่าทุกประเภท รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ผ่านงานวิจัยจากต้นน้ำ-ปลายน้ำ มีศูนย์การศึกษาเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบจากสาขาต่างๆสามารถต่อยอดในเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นนักอัญมณีศาสตร์ หรือการ Work Shop ต่างๆที่ทางสถาบันสร้างสรรค์ร่วมกับพันธมิตร เช่น สมาคมช่างทองไทย ช่างทองเหลือง ในการฝึกแรงงานขึ้นมาเฉพาะด้าน

“เราเป็นสถาบันวิจัย มีศูนย์ข้อมูลที่สามารถทำ Data Analysis วิเคราะห์เทรนด์ต่างๆในตลาดเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการ ช่วยในเรื่องของการตัดสินใจ รวมถึงในเรื่องของการสร้างอาชีพในศูนย์ฝึกอบรม เราทำทั้ง In House เป็นหลักสูตรมาตรฐานและบูรณการในระดับภูมิภาคในการลงไปทำ Product Development ให้กับพื้นที่ต่างๆให้สินค้ามีความโดดเด่น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สถาบันมีดีไซเนอร์ลงไปช่วยให้สามารถออกแบบได้ในระดับสากล แต่ยังคงอัตลักษณ์ และทำสตอรี่ต่างๆขึ้นมา เหล่านี้เป็นพันธกิจหลักของสถาบัน” คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อธิบายถึงบทบาทของ GIT

ในส่วนบริการ GIT เป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบที่ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติแท้ปลอมของอัญมณีและโลหะมีค่า นอกจากนี้ยังมีบริการข้อมูลต่างๆซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ รวมถึงหลักสูตรการเรียนต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ประกอบการในเรื่องของทำมาตรฐาน กระบวนการต่างๆของอุตสาหกรรม โดยเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในแต่ละด้านเพื่อช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากบางบริการที่ต้องเป็นสมาชิก เช่น โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ หรือ Buy with Confidence เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรม ที่จะมีการกำหนดกลุ่มซึ่งจะเข้ามาใช้บริการก่อนว่า การเข้ามาใช้บริการไม่มีเรื่องของการหลอกลวง หรือฉ้อโกงผู้ใดมาก่อน

“บริการที่มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้ทุกวันคือตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า เนื่องจากว่าคุณสมบัติต่างๆของอัญมณีมีปัจจัยเรื่องของราคา เพราะฉะนั้นการตรวจสอบตรงนี้จึงเป็นบริการที่มีคนเข้ามาใช้เป็นประจำ เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่เขาซื้อหรือเขามีเป็นของแท้หรือของปลอม เพราะทุกวันนี้มีการหลอกลวงกันค่อนข้างมาก เราจึงเข้าไปช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสิ่งที่เขาต้องการซื้อ บางครั้งที่เป็นคดีความกันเราก็เข้าไปช่วยตรวจสอบ ทุกวันนี้มีแลปตรวจสอบจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะส่งมาตรวจที่แลปของ GIT เมื่อต้องการตรวจสอบสินค้าที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากเรามีมาตรฐานที่สูง เชื่อถือได้ ซึ่งเราเน้นเรื่องของ GIT Standard ซึ่งเราทำมา 3 ปีแล้วและตอนนี้เริ่ม Implement ออกไป หลายแห่งเริ่มเป็นพันธมิตรและเข้ามาใช้บริการตรงนี้ เช่น กลุ่มซื้อขายออนไลน์เริ่มเข้ามาใช้บริการและขอใบรับรองของเรามากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขาย ซึ่งใบรับรองจาก GIT ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการเสียงเงินค่าใบรับรองเพียง 200 บาท ปีที่ผ่านมาเราตรวจและออกใบรับรอง Buy with Confidence หรือ BWC ไปถึง 12,000 ใบ”

แผนงานในปีนี้ของทางสถาบัน GIT คุณสุเมธ เสริมว่าจะเข้มข้นมากในเรื่องของมาตรฐาน GIT Standard โดยจะมีการขยายขอบข่ายให้กว้างขึ้นและครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์ ในลักษณะการร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยรวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการขยายองค์ความรู้และมาตรฐาน GIT Standard ออกไป 

“เราวางแผนขยายจุดบริการโครงการซื้อด้วยความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้ต้องส่งตรวจสอบที่แลปของเราที่เดียวตรงสีลมทำให้การบริการอาจจะไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอนนี้เรากำลังทำงานกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีเครื่องไม้ เครื่องมือ มีความสามารถในการตรวจสอบ โดยที่เราเข้าไปวางมาตรฐานกับเขาและกำลังจะขยายให้เป็นจุดตรวจ ถ้าเป็นพลอยที่ตรวจยากเราจะให้เขาเป็นจุดรับ เพื่อส่งต่อให้เรา ถือเป็นการขยายขอบข่ายของเรา

ในเรื่องของบริการอื่นๆ เช่นการฝึกอบรมเราจะเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการว่าเข้ามีความต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรแล้วเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมให้ แม้กระทั่งกลุ่มที่เป็นสถานธนานุบาลเราก็มีหลักสูตรเรื่องของการดูเพชร พลอย อัญมณี เพื่อให้เขาใช้ในการประเมินราคา หรือต่อยอดธุรกิจจากของที่หลุดจำนำ” 

นอกจากนี้ในด้านของการออกแบบ ทางสถาบัน GIT มีหลักสูตรทางด้านการออกแบบอัญมณี และมีโครงการส่งเสริมนักออกแบบ ทุกปีจะมีการจัดโครงการ World Jewelry design award ของ GIT ให้ผู้สนใจส่งแบบวาดและเรื่องราวของแบบวาดเข้ามาประกวด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมประกวดปีละประมาณ 400-500 แบบวาด ส่งมาจากนักออกแบบ 20-30 ประเทศ การประกวดแต่ละปีสร้างประโยชน์ในแง่ของการมองเห็นเทรนด์การออกแบบจากทั่วโลก และถือเป็นการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ขึ้นมาในอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมาช่างฝีมือของไทยค่อนข้างได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ คุณสุเมธ มองว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน สำหรับจุดแข็ง คือ ช่างฝีมือไทยเก่งด้านงานฝีมือ มีภูมิปัญญาในการปรับปรุงอัญมณีต่างๆ แม้จะไม่มีเหมือง แต่อัญมณีตัวอย่างเช่น ทับทิมกว่า 80-90% ของทั้งโลกจะต้องวิ่งเข้ามาที่ประเทศไทยก่อน เพื่อปรับปรุงคุณภาพ เจียระไนแล้วส่งออกอีกครั้ง ส่วนของจุดอ่อนคือลักษณะการทำงานของในรูปแบบของการมี OEM ที่เป็นโรงงานใหญ่จำนวนมาก แต่ไม่มีการทำเรื่องแบรนด์ดิ้งอย่างจริงจัง ซึ่งการทำ OEM ของโรงงานไทยจะทำภายใต้ Non disclosure agreement ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าทำให้แบรนด์ไหน แม้แบรนด์นั้นจะเป็นแบรนด์ระดับโลกก็ตาม

“การลงทุนสร้างแบรนด์อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเมืองไทยเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เรามีคนทำด้านจิวเวอรี่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่รับของมาขาย ออกแบบบางส่วนแล้วจ้างทำ ดังนั้นใครมีแบบจากแบรนด์ดังๆมาก็สามารถนำไปให้ร้านทำได้เลย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ค่อยลงทุนในเรื่องของแบรนด์ดิ้ง ของที่ทำเลียนแบบโดยช่างไทยฟิกเกอร์หรือเทคนิคต่างๆอาจจะไม่ยูนีกเหมือนของแท้ แต่ใส่แล้วดูเหมือนกัน อันนี้เป็นทั้งจุดแข็งจุดอ่อน พอเราไม่มีแบรนด์เราจะได้แค่ค่าแรง อีกจุดอ่อนคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานด้านนี้ เพราะมีความละเอียด ประณีต ต้องมีสมาธิ คนก็ไม่ค่อยอยากมาทำ” 

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งคุณสุเมธอธิบายว่าวันนี้อาจจะได้ยินเรื่องของ Synthetic diamonds และ Lab Grown Diamond หรือ LGD พวกนี้เป็นอัญมณีสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการทำในห้องปฏิบัติการซึ่งภายนอกจะเหมือนอัญมณีแท้ แต่ราคาถูกกว่ามาก ตัวนี้อาจจะเข้ามาแทนที่เพชรแท้ได้

“ในอเมริการมีการประกาศชัดว่าสินค้าชิ้นนี้เป็น Lab Grown Diamond ซึ่งคนทางนั้นก็มองว่าเป็นเครื่องประดับที่ซื้อมาเพื่อใส่ แต่ในเอเชียยังมองอัญมณีว่าเป็น Rare Item เป็นเรื่องของการลงทุน จึงต้องการซื้อเพชรแท้ที่สามารถส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เป็นมรดกได้ ดังนั้นเมื่อ Tradition ที่ต่างกันทำให้เกิดการหลอกลวง การนำ Lab Grown Diamond มาหลอกขายว่าเป็นเพชรธรรมชาติ ซึ่งราคาแตกต่างกันมาก เรื่องพวกนี้ก็อาจจะเป็นการ Disrupt แบบหนึ่ง อีกเรื่องก็คือเรื่องเทรนด์ที่ถือว่าเป็น Disruption เช่นกัน โจทย์ที่เราได้จากร้านค้า ร้านขายทองตู้แดงก็คือเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยใส่ทองกัน เราต้องพยายามหาอะไรใหม่ๆเข้ามานำเสนอ วันนี้จึงเห็นร้านค้าทองขายทองแท่งที่เป็นไซส์เล็กๆ หนึ่งสลึง ห้าสิบสตางค์ ซึ่งในอดีตไม่มีไซส์เล็กแบบนี้ เพราะวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ได้โชว์สเตตัสด้วยการใส่ทองอีกต่อไป”

แม้ช่างฝีมือไทยจะได้เปรียบด้วยความเป็น Nation Brand แต่คุณสุเมธก็มองว่าความท้าทายของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ คือ ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ต้องการจะสืบทอดจุดแข็งตรงนี้ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์

“วันนี้เรายังทำ OEM อยู่ อย่างน้อยถ้าเราสามารถต่อยอดไปสู่ OBM หรือ Original Brand Manufacturer และ ODM หรือ Original Design Manufactuere ได้ ก็จะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้งานของเรา ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องของการทำแบรนด์ นอกจากนี้เรื่องของการสนับสนุน Compliance ต่างๆ วันนี้กลุ่มที่ทำอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับส่วนมากเป็น SME เรามการประกาศเรื่อง BCG ออกมา ซึ่งอยู่ใน In Line ของ ESG ทั่วโลก กลุ่มจิวเวอรี่ก็มีหลายองค์กร เช่น Responsible Jewelry Council หรือ RGC ออกมากำหนดกฏเกณฑ์มากมาย ถ้าผู้ประกอบมาติดเรื่องของ Compliance ต่างๆเหล่านี้ก็จะทำให้ไม่สามารถเกิดการค้าขึ้นได้ เราจึงก็ค่อนข้างตื่นตัวที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้กับผู้ประกอบการ”         

 สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามข่าวสารหรือเข้าไปขอใช้บริการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT 

ได้ผ่านช่องทาง 

Website : https://www.git.or.th  

Facebook : The Gem and Jewelry Institute of Thailand | Facebook 

หรือ GIT - Gem testing laboratory and research & development | Bangkok | Facebook 

รวมถึงแอพลิเคชั่น Carat 

บทความแนะนำ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. หรือ ARDA

สวก. ขับเคลื่อนภารกิจด้วยงานวิจัย

สร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. เป็นหนึ่งในหน่วยงานของภาครัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทยในรูปแบบของทุนวิจัย โดยมีพันธกิจสำคัญ คือ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร และการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของสวก. คือการเป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนด้านงานวิจัย สวก.จะให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การเพิ่มผลผลิต ที่ได้นำงานวิจัยไปช่วยขับเคลื่อน เช่น ปรับปรุงสายพันธุ์พืช การคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลเรื่องโรคแมลง และโรคระบาดต่างๆ การควบคุมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ มีความปลอดภัยไปจนถึงผู้บริโภค รวมถึงการนำงานวิจัยไปช่วยในเรื่องของการตรวจสอบต่างๆ เช่น การตรวจสอบโรคพืชโรคแมลง การตรวจสอบยืนยันพันธุกรรม 

“ในส่วนปลายน้ำ เป็นเรื่องของกระบวนการแปรรูป เช่น การอบแห้ง การผลิตสารสกัด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่างสารสกัดจากขมิ้นชันถูกในไปใช้ในผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอางจำนวนมาก ซึ่งการสนับสนุนการให้ทุนวิจัยของสวก.ยังต่อยอดไปถึงเรื่องของการลงทุนทางธุรกิจ เพื่อไม่ให้งานวิจัยจบอยู่แค่การเป็นข้อมูลขึ้นหิ้ง ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกันกับบริษัทเอกชน งานวิจัยหลักๆ จะมาจากสถาบันการศึกษาที่ทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้ร่วมวิจัยที่อาจเป็นเกษตรกร ผู้ผลิตต้นน้ำ ผู้ส่งออก รวมถึงผู้ที่จะรับเอางานวิจัยไปทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ที่สามารถมาลงขันร่วมในงานวิจัยที่สนใจได้” 

ที่ผ่านมาก สวก.เน้นการสนับสนุนทุนวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2566 สวก. ได้กำหนดกรอบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1) การยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะใช้เป็นพืชพลังงานทดแทนในอนาคต 3) เครื่องจักรกลการเกษตร ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในด้านการผลิตและลดการใช้แรงงาน 4) โรคอหิวาต์อัฟริกาในสุกร (ASF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง 5) การวิจัยด้านสัตว์เศรษฐกิจ (โคเนื้อ) ยังขาดประเด็นวิจัยสำคัญที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่มีการเชื่อมโยงตลอดทั้งกระบวนการ และ 6) สมุนไพรไทย การวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกระบวนการตั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ผลผลิตในรูปแบบต่างๆ มีคุณภาพและมาตรฐาน 

“แผนงานในปีนี้ เราได้รับงบประมาณสนับสนุนมาทำโครงการที่เป็นเรื่องของการขยายผล เรื่องแรก คือ การสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นงานยุทธศาสตร์ โดยนำประเด็นที่มีปัญหาด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง มาทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องโรคระบาดในสุกร ทางสวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยจัดทำโครงการราชบุรี Sandbox” เพื่อนำร่องควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรในจังหวัดราชบุรีเรื่องต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืชไร่ เป็นผลจากปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จากการเผาไร่อ้อย ข้าวโพด จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อลดการเผาไร่อ้อยไร่ข้าวโพด โดยการสร้างเครื่องจักรสำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อยสดที่สามารถเก็บใบอ้อยที่ร่วงหล่นเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้า รวมถึงเรื่องของการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งในราชบุรี SANBOX” ยังมีเรื่องของการสร้างแปลงต้นแบบแม่พันธุ์และการพัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI จ.ราชบุรี และจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งยีนความหอม และสาระสำคัญของมะพร้าวน้ำหอมในแปลงปลูก เพื่อผลักดันให้เกษตรกรที่ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดราชบุรีหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมสายพันธุ์แท้กันมากขึ้น”

ดร.วิชาญ กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการที่สนใจการสนับสนุนทุนวิจัย สามารถขอเข้าร่วมโครงการผ่านทางเว็บไซต์ www.arda.or.th ซึ่งจะมีแบบฟอร์มการขอทุนวิจัยที่เชื่อมต่อไปสู่ระบบของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกและส่งกลับ โดยสวก.จะเป็นฝ่ายพิจารณาการให้ทุนวิจัย ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนขอทุนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งการให้ทุนจะเป็นเฉพาะในด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อมการเกษตร ด้านการบริหารจัดการการเกษตร และด้านการตลาด เป็นต้น 

“ยังมีการสนับสนุนทุนวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใหม่ของสวก.ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือการให้ทุนสนับสนุนทางด้าน Research Utilization (RU) การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เป็นการให้ทุนสนับสนุนแบบใหม่ที่เพิ่งได้รับการพิจารณาในปี 2566 เป็นปีแรก เพื่อยกระดับและสร้างผลกระทบที่ชัดเจนให้กับภาคการเกษตรของประเทศ เน้นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น” 

โดย RU จะเน้นการขยายผลที่เป็นงานวิจัยใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1) ผลงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการขยายองค์ความรู้ออกไปสู่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจ 2) ผลงานวิจัยของสวก.ที่มีอยู่ในคลังงานวิจัยมากกว่า 600 ชนิด โดยปัจจุบันมีผู้มาขอใช้สิทธิบัตรงานวิจัยของสวก.เพื่อไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนถึง 172 ชนิด และ 3) ผลงานวิจัยของผู้ประกอบการ หรือเกษตรกร ที่ต้องการพัฒนาขึ้นเพื่อนำไปต่อยอด หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน และต้องการทุนสนับสนุนการวิจัยจากทางสวก.

เรายังมีทุนการวิจัยให้กับนักวิจัยระดับชุมชนจำนวน 42 ทุน เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท ปัจจุบันร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม่โจ้ และราชภัฏ โดยนำกิจการงานทางด้านการเกษตรที่ทำอยู่ของผู้ประกอบการมาเป็นหัวข้องานวิจัย รวมถึงรูปแบบของการพัฒนาเป็น Smart Farming เป็นการนำเอาเกษตรกรที่มีความรู้ที่ต้องการต่อยอดไปฝึกงานกับบริษัทใหญ่เพื่อให้เข้าใจบริบทของการทำธุรกิจ ถือเป็นการพัฒนาบุคคลากรที่ได้ทำร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นเรื่องของการดูแลภาคการเกษตร

ผู้สนใจสามารถขอรับทุนวิจัยได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. หรือส่งข้อเสนอการวิจัยตามแบบเสนอแผนงานวิจัย โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและคู่มือการยื่นข้อเสนอการวิจัยผ่านระบบ EPMS ได้ที่ www.arda.or.th โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่สามารถดูเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ หรือติดตามข่าวสาร ผลงานวิจัยต่างๆ ได้จาก www.facebook.com/ardathai, www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017, Youtube : www.youtube.com/@ardathailand และบล็อกองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย http://blog.arda.or.th/

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ของผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทย กำลังเกิด Disrupting ในหลากหลายมิติ อาทิ 1) การขาดแคลนแรงงานหาย เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 2) ผู้บริโภคมีความห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ทำให้การผลิตต้องได้มาตรฐานที่สูงขึ้น จึงเกิดความต้องการสินค้าทั้งที่เป็นออร์แกนิค หรือปลอดสารพิษมากขึ้น แต่ยังมีต้นทุนการจัดการที่ค่อนข้างสูงในขณะที่ราคาขายแทบไม่แตกต่างจากสินค้าปกติ จึงต้องมีเทคโนโลยี หรืองานระบบเข้ามาช่วยการเพาะปลูกแบบออร์แกนิค หรือปลอดสารพิษให้มากขึ้น 3) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังยึดติดกับวิถีการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาระบบไปสู่ Smart Farming จึงยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยจัดการได้ 4) Function Food หรือ Future Food เป็นเทรนด์ที่มาแรง มีการพัฒนาโปรตีนที่มาจากพืช (Plant Base) ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยเพราะโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ เป็นต้น  

ดร.วิชาญ ย้ำว่า ความท้าทายของสวก.ในแง่ของการทำงาน คือจะทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง หรือเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นได้ เช่น เทรนด์ของอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสำหรับผู้สูงวัย ประเทศไทยโชคดีที่มีความหลากหลายของพืช มีสมุนไพรที่เป็นพระเอก จึงต้องทำวิจัยให้ได้ว่า สมุนไพรชนิดไหนสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อีกบ้าง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเรื่องโรคระบาดต่างๆ และการผลิตวัคซีนปศุสัตว์ที่ปัจจุบันยังเป็นการนำเข้า สวก.จึงพยายามใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการผลิตวัคซีนปศุสัตว์ขึ้นในประเทศไทย รวมถึงเรื่องของผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ จะมีการพัฒนารูปแบบการจัดการทั้งเรื่องวิธีการปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งเพาะปลูก 

“กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจะให้การสนับสนุน โดยในแต่ละปีเราได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุน ววน. ที่ได้จัดสรรให้ตามแผนงานที่นำเสนอไป ปีที่แล้วเราได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณเพื่อส่งเสริมเรื่อง RU สำหรับปีนี้เราเสนองบประมาณไปกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากเราได้งบประมาณมากขึ้นก็จะมีโครงการที่ดีที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นไปด้วย” ดร.วิชาญ กล่าว

ติดตามข่าวสาร ผลงานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือขอรับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. ได้ที่เว็ปไซต์ https://www.arda.or.th/

 

ช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม 

โทรศัพท์: 0-2579-7435

Facebook : www.facebook.com/ardathai

Youtube : www.youtube.com/@ardathailand

บล็อกองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างง่าย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย: http://blog.arda.or.th/



สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม

Facebook: SME ONE

Line: @SMEONE

Youtube: SME ONE

Website: info@smeone.info

TikTok: smeone.info

บทความแนะนำ

Siam Delight Group ส่งทองม้วนไทยดังไกลถึงตลาดโลก

Siam Delight Group ส่งทองม้วนไทยดังไกลถึงตลาดโลก

มะพร้าวไทย คือมะพร้าวคุณภาพสูงที่คนทั่วโลกยกย่องว่ามีรสชาติดีที่สุดในโลก จนสามารถส่งออกเป็นสินค้าเศรษฐกิจของประเทศ จะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้มะพร้าวไทยเป็นที่รู้จัก เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยในวงกว้างมากได้ขึ้น คำตอบหนึ่งที่ สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป คิด คือการทำให้เป็นขนมที่สามารถรักษารสชาติของมะพร้าวไว้อย่างเต็มเปี่ยม และขนมที่ทำแบบนั้นได้ ก็คือ ทองม้วน ขนมพื้นบ้านของไทยนี่เอง ที่ใช้กะทิคั้นสดมาแปรรูป จึงสามารถเก็บความอร่อยเอาไว้ได้ ทั้ง กลิ่นหอม และรสสัมผัสของมะพร้าวไทยได้ครบถ้วน

สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป คือ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากสินค้าเกษตรไทย วางจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ Green Ville ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย โดยมีความต้องการทำให้ขนมพื้นบ้าน เป็น Snack ระดับสากลที่สามารถทานได้ทุกโอกาส ทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทั่วโลก โดยมีสโลแกนว่า “Bite of Happiness” คือความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบ “ความสุข” ในทุก ๆ คำ ด้วยสินค้า ไปสู่ลูกค้าให้กระจายไปทั่วทั้งประเทศไทยและทั่วทั้งโลก

สินค้าภายใต้แบรนด์ Green Ville นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลไม้อบแห้งจากผลไม้สด และ กลุ่มขนมทองม้วน ที่เป็นที่นิยมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ สินค้าแบรนด์ Green Ville ได้มีการส่งออกไปวางจำหน่ายในประเทศ จีน ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ และยังคงทำการติดต่อคู่ค้าในอีกหลากหลายประเทศทั่วโลก

 

ใช้ปัญหาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางธุรกิจ

จุดเริ่มต้นจากศูนย์ของคุณพงศ์-พีรพงศ์ คุณเลิศอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป จำกัด ที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง ได้ทำการก่อตั้งกิจการขึ้นด้วยเงินทุนที่เก็บออมมาจากการเป็นพนักงานบริษัท เมื่อปี 2019 ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ โควิด-19 กำลังระบาดหนัก เมื่อประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ทุกอย่างถูกหยุดชะงักไปทั้งหมด

คุณพงศ์ใช้การปรับตัว โดยมองว่าปัญหานี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ต้องพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปให้ได้ โดยมองข้ามไปข้างหน้าว่า หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เมื่อทุกอย่างกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติแล้วนั้น จะต้องมีตลาดที่ต้องการสินค้าเกษตรจากประเทศไทยแน่นอน จุดนี้เองที่เป็นการเติมเชื้อไฟให้เร่งพัฒนาสินค้าจนสามารถสร้างแบรนด์ Green Ville ขึ้นมา

 

ประตู สู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจ

นอกจากการพัฒนาสินค้าแล้ว สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป ยังได้เข้าร่วมโครงการ DTN Business plan award ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสามารถผ่านการคัดเลือก ได้เป็น 1 ใน 5 ผู้กอบการ ที่ชนะเลิศแผนธุรกิจยอดเยี่ยม จนสามารถเข้าสู่กระบวนการจับคู่ทางธุรกิจกับลูกค้าชาวจีน ในส่วนนี้ได้มีการใช้ประโยชน์จากนโยบาย FTA ของกรมเจรจาการค้าที่มีการเจรจากับรัฐบาลจีน ทำให้สามารถส่งสินค้าได้โดยที่ทางลูกค้าชาวจีนไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้า นับว่าโครงการนี้เป็นเครื่องมือที่ดีมาก ที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ ผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถแข่งขันเอาชนะคู่แข่งจากภูมิภาคต่าง ๆ จนสามารถเปิดช่องทางทำธุรกิจในตลาดโลกได้

การเป็นผู้ประกอบการรายเล็กนั้นมีต้นทุนที่จำกัด เพราะฉะนั้นในทุกขั้นตอนของการทำงานจำเป็นที่จะต้องคิดให้ครบทุกกระบวนการ ต้องดูความคุ้มค่าและความเหมาะสมที่จะทำ สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของการเป็นผู้ประกอบการรายเล็กนั้น ก็คือความคล่องตัวในการทำงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยนแผนตามสภาวะตลาดได้อย่างรวดเร็วทันเวลา และเมื่อคิดจะทำสินค้าใหม่ ๆ ขึ้นมา ผู้ประกอบการต้องมีการศึกษาดูว่า แนวโน้มของตลาดเป็นอย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร และจะมีการวางขายทำตลาดอย่างไร


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป จำกัด (สำนักงานใหญ่)

ที่อยู่: 7 ซอยเรวดี 9 ตำบลตลาขวัญ อำเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

โทร: +66 (0) 65-665-9646

อีเมล: info@siamdelight.co.th

เว็บไซต์: www.siamdelight.co.th

 

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม

Facebook: SME ONE

Line: @SMEONE

Youtube: SME ONE

Website: info@smeone.info

TikTok: smeone.info

บทความแนะนำ