นวยนาด สินค้าจากธรรมชาติที่ขอเดินแบบสโลว์ไลฟ์

นวยนาด

สินค้าจากธรรมชาติที่ขอเดินแบบสโลว์ไลฟ์

นวยนาดเป็นแบรนด์ Natural Skin care ก่อตั้งโดยคุณปุ้ม นนท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ คุณว่าน ปกาสิต เนตรนคร ทั้ง 2 คนตัดสินใจปลดล็อกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่เร่งรีบ เพื่อย้ายกลับไปอยู่ชนบทในหมู่บ้านเล็กๆ ณ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จุดเด่นของนวยนาดนั้นอยู่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ในเชิงการค้านวยนาดเป็นธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ที่รันธุรกิจในจังหวะกึ่ง Slow Motion ไม่เร็วเกินไป แต่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวความสุขกับสิ่งรอบตัว จากสินค้า Skin care นวยนาดได้ขยายธุรกิจมาสู่สินค้า Living product อย่างสินค้าเทียนหอม ล่าสุดนวยนาดได้มีการแตกไลน์สินค้าไปสู่ตลาดอาหาร ด้วยการทำ ไส้กรอกโฮมเมด ขาย คุณปุ้มซึ่งเป็นคนชอบทำอาหารอธิบายว่า การทำอาหารเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรที่ทำแล้วมีความสุข ซึ่งไส้กรอกโฮมเมดนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการทำอาหารเองมาตลอด

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของนวยนาดมีที่มาที่ไปอย่างไร

นันท์พัทธ์ : เริ่มจากตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำเกี่ยวกับหนังสือ สำนักพิมพ์ ทำพวก Magazine ทำ Content งานล่าสุดก็ทำเอเจนซี  ก็เริ่มคิดแล้วว่าอยากเปลี่ยนไปทำฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่รู้สึกว่าอยากจะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น และอยากมีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นท้องถิ่นอะไรแบบนี้ ตอนนั้นก็ทำผลิตภัณฑ์พวกงานคราฟต์ใช้เองอยู่แล้ว รวมไปถึงทำพวก Skin care ด้วย พอทำมาสักพักก็เริ่มแจกให้คนรู้จักใช้ แล้วก็เหมือนหลายอย่างเป็นใจ เพราะมีคนอยากซื้อก็เลยคิดว่าน่าจะทำแบรนด์ขายเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า 

ถึงแม้ว่าจากงาน Publisher มาเป็น Skin care จะมันคนละทักษะ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง งานเขียนก็ชอบ งานคราฟต์ก็ชอบ แค่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เอางานคราฟต์มาทำเป็นงานหลักเท่านั้นเอง แล้วงานหลักที่ทำเป็นงานเขียนมันก็สร้างรายได้ได้ดีด้วย แต่งานฟรีแลนซ์ต้องใช้ความรับผิดชอบสูง คำว่าฟรีแลนซ์มันเหมือนจะอิสระก็จริง แต่กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักกว่าตอนทำงานประจำ เพราะความรับผิดชอบเยอะ และงานก็ไม่รู้ว่าจะมีต่อเนื่องหรือเปล่า ใครใจดีให้งานเรามา เราก็รับหมด กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักมาก หลังๆ ก็เริ่มเลือกงานมากขึ้น ลดงานลง เหมือนมันค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายมาทางงานคราฟต์มากขึ้น จนงานฟรีแลนซ์ก็เริ่มน้อยลงไป

 

SME ONE : ชื่อนวยนาดมาจากอะไร  

นันท์พัทธ์ : ตอนที่ทำก็คิดไว้หลายชื่อ จากที่คุยกับแฟน (คุณว่าน) ชื่อนี้ว่านเป็นคนตั้งให้ เขาบอกว่ามันเป็นคำที่เขาเคยได้ยินยายพูดบ่อย เหมือนเขาโดนคุณยายบ่นว่าชักช้านวยนาด เป็นคำที่คนสมัยก่อนพูด เราได้ยินก็รู้สึกว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรามานานมากแล้ว ฟังแล้วมันก็ดูสวยดี แล้วก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เราเป็นอยู่ด้วย เราก็เลยขอคำนี้มาใช้แล้วกัน เอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า นวยนาดเป็นคำเหมือนเป็นคำบ่นของคน ประมาณนวยนาดเชื่องช้าอะไรแบบนี้ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นคำที่สวย มันเป็นภาษาพูดที่สวย ไม่ได้มองไปในเชิงลบเลย 

 

SME ONE : ตอนที่เปลี่ยนอาชีพมาขาย Skin care จากธรรมชาติ เราเห็นโอกาสนี้อย่างไร

นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นมองว่าตลาดที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีแต่ OTOP เรื่องของบรรจุภัณฑ์มันก็ยังไม่ค่อยดึงดูดใจ เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ยังใช้สินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ เพราะเขายังไม่มั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากนัก เราก็เลยคิดว่าถ้าเราจะทำก็ลองทำรูปร่างหน้าตา หรือทำคอนเซปต์ให้ดูสวยงาม น่าเชื่อถือเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เหมือนเราได้คุยภาษาเดียวกัน เพราะตอนแรกๆที่เราทำ คนส่วนใหญ่ยังมองว่าสินค้าจากธรรมชาติเป็นของที่คนสูงวัยใช้ คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยกล้าใช้ของแบบนี้เท่าไหร่ อาจจะมีบ้างแต่เป็นกลุ่มที่ Niche จริงๆ ช่วงแรกที่เราทำนวยนาดก็ใช้วิธีการบอกกล่าวว่าเราได้วัตถุดิบมาจากไหน หามาอย่างไร และขั้นตอนทำเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ เราอาจจะไม่ได้เล่าทีเดียวทั้งหมด แต่เราใช้วิธีค่อยๆ เล่าไปทีละ Product และไปออกอีเว้นท์ในงานที่เกี่ยวข้องกับ Organic skin care หรือพวกของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน คือเรารู้สึกว่าถ้าไปออกอีเว้นท์ในงานกลุ่มนี้ เราก็จะได้กลุ่มลูกค้าที่ตรงและสื่อสารได้ง่าย

 

SME ONE : ประสบการณ์จากงานประจำที่เคยทำ Content หรือ Publisher มีส่วนช่วยมากน้อยเพียงใด

นันท์พัทธ์ : มีส่วนช่วยมาก เป็นข้อดีที่เราสามารถทำให้ Content มันกระชับหรือเป็นคอนเซปต์เราได้ง่ายจากงานที่เราเคยทำมา แม้กระทั่งตอนนี้ที่นิยมสื่อสารผ่าน Instagram, Facebook, เว็บไซต์ก็ยังมีประโยชน์อยู่

 

SME ONE : สินค้าที่ขายดีของนวยนาดคืออะไร

นันท์พัทธ์ : ยังเป็นสบู่เหลวชื่นจิต ชื่นใจ เพราะเป็นสินค้าที่จับต้องได้ง่าย และมีกลิ่นที่เป็น Signature ของแบรนด์ด้วย กลิ่นชื่น จิตชื่นใจของสบู่เหลว พัฒนาต่อยอดมาจากสบู่ก้อน ซึ่งตอนทำสบู่ก้อนยังไม่ได้มีกลิ่นที่ดึงดูดใจลูกค้า เพราะเราทำเป็นแบบธรรมชาติเพียวมาก สบู่รำข้าวกลิ่นก็จะอ่อนๆ แล้วเวลาที่เราไปออกร้าน เวลาที่ลูกค้าลองเทส สิ่งแรกที่เขาทำก็คือดม เราก็คิดว่าหรือเราจะลองออกสินค้าที่มีกลิ่นดู เราก็ลองมาศึกษาว่าอะไรบ้างในบ้านเราที่มีกลิ่นแต่ไม่ใช้สารเคมีหรือมีการใช้สารสังเคราะห์ที่น้อยมาก เราก็ไปเจอน้ำอบที่เป็น Signature ของไทยเรา เป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มาก แต่ถ้าให้เรามาทำน้ำอบเฉยๆ คนเขาก็ทำเยอะแล้ว เราก็เลยลองมาทำน้ำอบ 2 กลิ่นดู แต่ก็ยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำอบอยู่ ก็คือกลิ่นชื่นใจที่เป็นดอกไม้ไทย แล้วเราก็ทำอีกกลิ่นหนึ่งขึ้นมา คือกลิ่นชื่นจิต แล้วเราก็มาตั้งคำถามอีกว่าจะทำอย่างไรให้คนเอากลิ่นน้ำอบนี้ไปใช้อยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขาด้วย เราก็เลยทำเป็นสบู่เหลวที่มีกลิ่นน้ำอบ ก็คือกลิ่นชื่นจิตกับกลิ่นชื่นใจ ก็เลยเป็นคอลเลคชั่นชื่นจิต ชื่นใจที่มีน้ำอบแล้วก็สบู่เหลว เหมือนอาบน้ำเสร็จแล้วก็ใช้น้ำอบทาตัว

SME ONE : จากสินค้า Skin care นวยนาดขยายมากลุ่มสินค้า Living product ได้อย่างไร 

นันท์พัทธ์ : ที่ทำ Skin care แล้วมาทำเครื่องหอมของแต่งบ้าน เพราะว่าในพื้นที่ที่เราอยู่ อำเภอสี่คิ้วจะมีงานแกะสลักหินทราย เราเล็งไว้แล้วว่าอยากจะทำอะไรกับงานช่าง แต่ตอนนั้นเราทำ Skin care อยู่เรายังตกผลึกหรือคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรแบบไหนดี เราเอาวัสดุมาทดลองทำหลายอย่างมาก จนเรามาทดลองแล้วเจอคุณสมบัติหนึ่งของหินทรายที่เขาไม่ได้เป็นเนื้อหินที่แน่นมาก จะมีรูอากาศที่พรุนอยู่ แล้วเราทำ Skin care ที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ของเราอยู่แล้ว เราก็เลยเอามาทดลองพัฒนาเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องหอม 

เราเคยเห็นของคนญี่ปุ่นที่เขามีหินภูเขาไฟแล้วก็เอามาหยดเป็นหินกระจาย เราก็คิดว่าน่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้าเป็นของไทยก็เป็นหินทรายไหม แล้วลองออกแบบรูปลักษณ์ดูว่ามันจะสามารถนำไปใช้เป็นของแต่งบ้านได้หรือเปล่า นอกจากคุณสมบัตินั้นก็ยังสามารถนำมาเป็นอย่างอื่นได้ เช่น เทียนหอมอีกอะไรแบบนี้

หินทรายที่นำมาใช้ ทำให้เครื่องหอมสามารถระเหยได้ด้วยตัวเองเหมือนเป็นถาดแล้วเอาน้ำหอมหยดลงไป 2-3 หยดแล้วก็วางทิ้งไว้ โดยไม่ต้องใช้ความร้อนหรือไฟฟ้าเลย แล้วหินทรายตามธรรมชาติเขาจะมีสี สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีชมพู คือแต่ละชิ้นมันจะไม่เหมือนกัน

 

SME ONE : ปัจจุบันสินค้าของนวยนาดครอบคลุมกลุ่มไหนบ้าง 

นันท์พัทธ์ : ตอนนี้นวยนาดมี Skin care เป็นพวกอาบน้ำบำรุงผิว แล้วก็มีของแต่งบ้านที่เป็นเครื่องหอมเข้ามา ปีนี้เราจะมีเรื่องเกี่ยวกับอาหารด้วย โดยจะแยก Facebook ต่างหากแต่จะใช้คำว่านวยนาดเหมือนกัน เป็นอาหารพวก โฮมเมดไส้กรอก หรือของหมักดองอะไรแบบนี้ อันนี้มันเกิดจากการที่เราอยู่แล้วเราก็ต้องทำกินกันอยู่แล้ว เราก็อยากให้คนที่มาได้กินของแบบเดียวกับที่เรากินด้วย และอาจจะซื้อสินค้านวยนาดด้วยก็แล้วแต่ เป็นโฮมเมดไส้กรอกเหมือนที่กินกับสเต็กอะไรแบบนี้ 

 

 SME ONE : สินค้าของนวยนาดขายความเป็นของไทย หรือขายความเป็นอีสาน

นันท์พัทธ์ : เราใช้วัตถุดิบที่มาจากอีสาน เราพยายามใช้ของที่อยู่ใกล้พื้นที่เรามากที่สุด แต่เราไม่ได้หยิบความเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาเป็นจุดขาย ถ้าจะให้จำกัดความจริงๆ คือ เราพยายามหาอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือเราในที่ๆ เราอยู่ แล้วด้วยความที่จังหวัดนครราชสีมามันอยู่ในแถบอีสาน สิ่งที่เราเจอและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ก็จะเป็นพืชพรรณในแถบนี้

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจเจอปัญหาอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร

นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับลูกค้า เราต้องพูดกับคนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคอนเซปต์ที่เราต้องสื่อสาร และช่วงแรกๆ รายได้มันก็ไม่ได้หวือหวาเหมือนกับคนที่ทำธุรกิจที่เขาจะต้องหายอดให้ได้ภายในปีนั้นๆ นวยนาดโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ ขยายสินค้า ค่อยๆ เดินทางมากกว่า ก็เลยต้องใช้ความอดทนและมองเป้าหมายไกลๆ แม้ว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันนำไปสู่อะไร เราต้องค่อยๆ เดินทางไป ช่วงแรกก็เลยติดขัดนิดนึง แต่ด้วยความที่เรารู้ว่าเราทำอะไร ก็เลยไปต่อได้ ปัจจุบันนี้นอกจากขายในประเทศ นวยนาดยังมีจำหน่ายไปต่างประเทศ ถ้าเป็นในแถบเอเชียก็จะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มีทั้งแบบตัวแทน และสั่งไปใช้เอง

 

SME ONE : ที่ผ่านมานวยนาดเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

นันท์พัทธ์ : มีไปเข้าโครงการ Talent Thai ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มาให้คำแนะนำการมาแมทชิ่งวัสดุกับดีไซเนอร์แล้วร่วมกันออกแบบ ตอนนั้นได้ทำงานกับทีมงานที่มีคุณภาพ แล้วก็รู้ว่าดีไซเนอร์เวลาทำงานจริงๆ ทำยังไง แล้วก็ได้รู้เรื่องการส่งออกการนำเข้า นอกจากนี้สินค้าเทียนหอมก็ยังเคยได้รางวัลจากการส่งประกวด Design Excellence Award (DEmark) ในปี 2019 สินค้าของนวยนาดมีความน่าสนใจคือ ตอนนั้นเทียนหอมส่วนใหญ่มีแต่ที่บรรจุภัณฑ์เซรามิค ฟังก์ชันที่นอกเหนือจากการจุดยังไม่มีแบรนด์ไหนทำ แต่เทียนหอมนวยนาดฝาเทียนเป็นหินทราย อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าหินมีคุณสมบัติในการหยดอยู่แล้ว แล้วของเราถ้าเราไม่อยากจุดเทียนแล้ว เราก็เอาน้ำหอมหยดแค่ที่ฝาก็ได้ แล้วตัวสินค้าก็สามารถนำมา Reuse ได้อีก 

SME ONE : ถ้าจะถามว่าอะไรคือ Key success ของนวยนาด

นันท์พัทธ์ : น่าจะเป็นเรื่องแนวทางในแบบที่เราตั้งใจจะเดิน เราตั้งมั่นว่าเราอยากจะมีอาชีพที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ เราก็เลยยืนหยัดและพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้มันสามารถเดินทางได้ต่อไปเรื่อยๆ และเรามั่นใจด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถเดินต่อไปได้อีกเยอะ และยังมีอะไรให้เราทำอีกเยอะแยะมากมาย เราแค่ต้องบริหารจัดการและรอจังหวะให้ได้เท่านั้นเองว่าแต่ละขั้นตอนเราจะทำอะไร อาจเป็นความโชคดีด้วยที่ ตอนเริ่มต้นเราเริ่มต้นด้วยเงินทุนสำรองที่เราเก็บมา ไม่ใช่เริ่มต้นจากการกู้เพื่อมาทำธุรกิจ เพราะการตัดสินใจมันจะต่างกัน และช่วงคาบเกี่ยวตอนที่ทำใหม่ๆ เราก็ยังมีงานประจำทำอยู่ เราก็เอาเงินจากงานประจำมาต่อทุนได้อยู่เรื่อยๆ ในช่วงแรก 

 

SME ONE : จากนี้ต่อไปคิดว่าจะต่อยอดธุรกิจของนวยนาดอย่างไร

นันท์พัทธ์ : ด้วยความที่เพิ่งจะมีลูกเมื่อปีที่แล้ว เราก็เลยเริ่มวางแผนว่าจะเริ่มนิ่งอยู่กับที่มากขึ้น อย่างที่บอกเรามีเรื่องอาหารโฮมเมดเข้ามา เรามอง Product ในเรื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมด ของใช้ในบ้านหรืออะไรก็ตามที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เราอยากพัฒนาสินค้าไปในแนวทางนั้น เพื่อที่เราจะได้อยู่กับมันได้ เราทำของขึ้นมาเพื่อใช้มันและก็สามารถนำของที่เราทำขึ้นมาขายได้ด้วย แล้วก็อาจจะออกอีเว้นท์น้อยลงเพื่อมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น 

การดำเนินธุรกิจของนวยนาดจะเป็นไปในแนวทางนี้มากกว่า คือหาวิธีการหาเงินในแบบอยู่กับที่ ขยับตัวน้อยลง แต่ไม่ได้หมายถึงย้ายไปที่อื่น ก็คือการขยับตัวจะอยู่ที่บ้านอยู่ที่เดิมแบบนี้

ส่วนความท้าทายหลังจากนี้ไป น่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าแต่ละปีมันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันคือสิ่งที่เราไม่รู้ นี่คือความท้าทาย เหมือนตอน COVID-19 ที่ผ่านมาก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

ตัวอย่างเช่นวิกฤต COVID-19 ในช่วงแรก เราได้รับผลกระทบจากสินค้าที่เราไปวางขายหน้าร้านไม่ได้ ยอดขายตรงนั้นจะหายไป แต่พอเรารู้ว่ายอดขายจากหน้าร้านหายไป แต่คนยังจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ เราก็เลยลงมาทำพวกของ Limited special จำหน่าย เพราะเราไม่สามารถไปฝากร้านขายได้แล้ว ห้างก็ปิด หน้าร้านก็ไม่ได้เปิด เราก็เลยดึงยอดจากตรงนั้นมาแทนด้วยการทำของที่มันพิเศษหน่อย และเป็นของใช้ที่เหมาะสำหรับคนอยู่บ้าน เป็นกลิ่นพิเศษ เป็นพวกเทียนหอม ก้านหอมกระจายกลิ่นที่สามารถใช้ในบ้านได้ ช่วงนั้นจะเป็น product ประเภทนั้นที่เราทำจำหน่าย เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ที่หายไป

 

SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่จะมาเป็น SMEs

นันท์พัทธ์ : อยากให้ฝึกทักษะการตัดสินใจและกล้าตัดสินใจ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำ การไม่ทำก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง เมื่อเราตัดสินใจบ่อยๆ จะรู้ว่าทุกๆ การตัดสินใจมันส่งผลหมด แต่ไม่ว่าอยากจะทำธุรกิจอะไร ก็ให้ทำเลยและใช้การตัดสินใจเยอะๆ ถ้าทำแล้วไม่ตัดสินใจมันจะไม่เกิดการเดินต่อไปข้างหน้า การกล้าตัดสินใจนี้ใช้ได้ทั้งกับคนที่กู้เงินมา หรือเป็นเงินก้อนสุดท้ายของตัวเอง เพราะว่าการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เราเองก็เคยอยู่ในจุดที่ต้องลุ้นแล้วเหมือนกัน เราก็ต้องตัดสินใจเหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไปและไม่ทำอะไร 

การตัดสินใจมันคือการวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ใช้แค่อารมณ์ ทุกๆ การตัดสินใจเราจะต้องมองข้ามช็อตไปข้างหน้า วิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดและคัดกรองออกมา แล้วเราจะรู้ว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เหมือนเราต้องมองเห็นสิ่งที่แย่ที่สุดที่มันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำสิ่งนี้ สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง เราจะไม่ได้มองแค่ภาพฝันอย่างเดียว

 

บทสรุป

ความสำเร็จของนวยนาดมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ตัวโปรดักต์เองที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน กับการเลือกวางโพสิชั่นนิ่งของแบรนด์ โดยอาศัยช่องว่างทางการตลาด คือ วางตำแหน่งให้อยู่สูงกว่าสินค้าในกลุ่ม OTOP แต่ต่ำกว่ากลุ่มสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามทันสมัยจนสามารถคว้ารางวัล Design Excellence Award ซึ่งทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในส่วนของงานสื่อสารการตลาด นวยนาดใช้การสร้าง Brand value ผ่านการทำ Storytelling ด้วยการบอกกล่าวเล่าขานถึงความเป็น Organic ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ หรือจะเป็นเรื่องของความเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัว

 

บทความแนะนำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566

Link อ่านบทความ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566 ที่นี่

บทความแนะนำ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของ การนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน 

ทาง วว. นั้นมีงานบริการที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ เช่น งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงขั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนานั้น ยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล ทาง วว. เองก็มีหน่วยงานที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลได้

สิ่งหนึ่งที่ทาง วว. สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ คือ การทดสอบเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานให้กับสินค้า เป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคในตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าได้มากขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง คือ การช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงในการลงทุนในการผลิตสินค้านวัตกรรม ด้วยการเปิดให้บริการ โรงงานผลิต ที่เรียกว่า Scale Up Plant เป็นโรงงานขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป แต่มีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถติดต่อเข้ามาให้ทาง วว. ช่วยพัฒนาสินค้าและทำการผลิตให้ เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้านวัตกรรมออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เร็วที่สุด

 

บริการจากทางศูนย์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ผ่านระบบดิจิทัล ชื่อ “วว. JUMP” ให้บริการแบบ Total Solution ครบจบในที่เดียว ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบายที่สุด เพื่อช่วยแก้ไขโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ ในเวลาที่ผู้ประกอบการต่างต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ ความต้องการที่จะขอใบรับรองคุณภาพต่าง ๆ ทางผู้ประกอบการเองจะสามารถติดต่อเข้ามาใช้บริการผ่านทางระบบนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา 

 

จากประสบการณ์ในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมมาตลอด 60 ปี ทำให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้เห็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต่างพบเจอ 

ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม เข้ามาช่วยสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการสามารถเพิ่มคุณภาพการผลิต ช่วยลดเวลา ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าสร้างผลกำไรให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ และ บริการต่าง ๆ ให้สูงขึ้น และจุดมุ่งหมายทั้งหมดนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจหลัก ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ที่อยู่: 35  หมู่  3  เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง  จังหวัดปทุมธานี 12120

โทรศัพท์: 0-2577-9000

โทรสาร: 0-2577-9009

Call Center: 0-2577 9300

อีเมล: tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์ : www.tistr.or.th

วว. JUMP ระบบบริการลูกค้า: https://tistrservices.tistr.or.th/

บทความแนะนำ

Predictive

One Stop Service Transform Solution

 

Predictive ถือเป็นผู้นำตลาดที่มีความชำนาญด้านบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล และการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Digital analytics & Customer experience consultancy) รายแรกของประเทศไทย

ในวันที่คุณณัฐกรณ์ รัตนชัยสิทธิ์ Founder & Managing Director Predictive ตัดสินใจกลับจากต่างประเทศเพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษา คุณณัฐกรณ์เริ่มต้นสร้างองค์กรด้วยคนเพียง 3 คน ผ่านไป 11 ปี ปัจจุบัน Predictive มีคนระดับมันสมอง ไม่ว่าจะเป็น Data analyst, Data scientist, Data engineer, Project management, Business development ฯลฯ รวมแล้วกว่า120 คน

อะไรที่ทำให้บริษัทของคนไทยสามารถแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี

บทสนทนากับผู้ก่อตั้งชุดนี้อธิบายวิธีคิดและการทำงานไว้อย่างละเอียดแล้ว...

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Predictive มีที่มาที่ไปอย่างไร

ณัฐกรณ์ : ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ปรึกษาในเรื่องของ Data ที่ประเทศสิงคโปร์มาก่อน และมีโอกาสเห็นเทรนด์ว่า ในโลกนี้การทำเรื่อง Customer data มันมีความจำเป็นมากๆ หลังจากนั้นก็เลยกลับมาตั้งบริษัท Predictive ขึ้นมา เพราะเห็นว่าการใช้ข้อมูล หรือความเข้าใจเกี่ยวกับ Customer experience ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากเท่าไหร่ในประเทศไทย

ถ้าเป็นยุคก่อน การที่เราจะเข้าใจประสบการณ์ของลูกค้า มันคือการใช้ในลักษณะ Traditional method อย่างเช่น การทำ Focus group การทำ Survey ซึ่งถามว่ามันได้ข้อมูลละเอียดเพียงพอไหม หรือข้อมูลนั้นๆ สามารถนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมเขาได้ไหม ก็ตอบว่าบางทีก็ยังไม่ตอบโจทย์ 

หลังจากที่ผมมีโอกาสได้ไปทำงานที่สิงคโปร์ ผมมีโอกาสเห็นว่า Global brand ที่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่เขามีการใช้ Data predict เกี่ยวกับอะไร ผมเคยทำ Affiliate marketing มาก่อนก็จะเห็นแล้วว่าการใช้ Data เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่าลูกค้าจะมีโอกาสกลับมาซื้อซ้ำไหม ใครบ้างที่จะมีโอกาสมาซื้อสินค้ากับเรา โอกาสการขายอยู่ตรงไหน

 

SME ONE : ปัญหาเรื่อง Data มีเฉพาะในบริษัทเล็กๆ หรือทุกองค์กรเป็นหมด

ณัฐกรณ์ : เป็นทุกองค์กร อย่างตอนแรกๆ เราก็ได้ลูกค้าที่มาจากองค์กรใหญ่ ณ ตอนนั้นองค์กรใหญ่ก็ยังไม่มีการใช้ข้อมูลในเชิงที่เป็น Customer data ถามว่าในทุกองค์กรมีการเก็บข้อมูลไหม เขาจะมีข้อมูลในเชิงที่เป็น Transaction data เช่น ข้อมูลยอดขาย ค่าใช้จ่าย สินค้าอะไรขายดี พวกนี้ต้องรู้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่การที่เขารู้ว่าตัวตนของคนที่มาซื้อสินค้าของเขาคือใคร โปรไฟล์เป็นแบบไหน Customer journey เป็นอย่างไรบ้าง ณ เวลานั้นย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แม้แต่บริษัทชั้นนำก็ยังไม่ได้มีการทำพวกนี้ขึ้นมา 

ปีแรกๆ ที่เราเปิดมา เราจึงเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ก่อน เพราะเราเห็นแล้วว่ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ หลายๆ ที่เริ่มมีเว็บไซต์ มีแอปพลิเคชั่น แต่ยังไม่ได้ทำเรื่องของ Data analytics โดยลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราจะเป็นกลุ่ม Financial ค่อนข้างเยอะ

  นอกจากธุรกิจการเงิน เมื่อ 10 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมที่เริ่มใช้ Data ก็คือ ค้าปลีกกับโทรคมนาคม แต่ตอนนี้เกือบทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญหมดแล้ว เพราะเขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าลูกค้าของเขาเป็นอย่างไร เพราะมันเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญว่าถ้าหากเขาเข้าใจลูกค้า เขาจะรู้เลยว่าจะเอาสินค้าหรือบริการอะไรมาขาย เขาควรจะตั้งราคาอย่างไรบ้าง ลูกค้าของเขาเป็น Segment กลุ่มไหน เขาจะนำเสนอสินค้าและบริการของเขากับเขาอย่างไรได้บ้างในแต่ละ Segment 

 

SME ONE : ช่วงที่เราเริ่มต้นธุรกิจปีแรกๆ กับปัจจุบันแตกต่างกันขนาดไหน

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกเลยว่าช่วงแรกๆ เหนื่อยมาก เพราะว่าตลาดยังไม่อยู่ตัว ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีคอมเมิร์ซก็ยังไม่เกิด Digital Player ต่างๆ ก็ยังไปโฟกัสในเชิงของ Business ค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่าง กลุ่มธนาคารก็ยังโฟกัสในการทำ Digitalization จากแมนนวลก็เริ่มมีในส่วนของ Digital channel ต่างๆ แต่ในปัจจุบันทุกธุรกิจเริ่มแตกขยาย ธนาคารเองก็เริ่มมี New Business เพราะทุกคนเริ่มมีข้อมูลที่เป็น Customer data ของตัวเอง ซึ่งตรงนี้มันสอดคล้องกับ Global Trend

เช่น Walmart, Amazon เขาเก็บข้อมูล data มาเป็น 10-20 ปี เขาก็สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ อย่าง Amazon มีธุรกิจแทบจะครบทุก Journey เลย ตั้งแต่ Financial, Product ฯลฯ เพราะเขามี Customer data แล้วตอนนี้ต้องบอกเลยว่าองค์กรไหนที่มี Customer data มากที่สุดเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงมาก เช่น Apple, Amazon, Facebook หรือแม้กระทั่ง TikTok ที่ตอนนี้ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาค่อนข้างกังวลกับข้อมูลที่จะส่งไปที่ประเทศจีน เพราะเขาเห็นว่าอำนาจของข้อมูลตรงนี้มันมีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

SME ONE : เปรียบเทียบแบบฟุตบอล 10 ปีที่แล้ว Data คือผู้เล่นตำแหน่งกองหลัง มาในปัจจุบัน Data ยังเป็นกองหลัง หรือย้ายมาเป็นกองกลาง หรือกองหน้าแล้ว

ณัฐกรณ์ : ถ้าผมมอง Data มันคือทุกตำแหน่งเลย กองหน้าก็สำคัญ กองหลังก็สำคัญ เพราะถ้าเกิดเรามองว่าเรามีข้อมูลหน้าบ้านแต่เราไม่เชื่อมข้อมูลหลังบ้าน จะทำอย่างไรถ้าเรามียอดขายเข้ามามากๆ แต่หลังบ้านการทำ Delivery การทำ Operation ของเรายังไม่ดีพอ เราก็โดนยิงอยู่ดี เพราะฉะนั้น Data ต้องเล่นได้ทุกตำแหน่ง

ในอดีตเขาอาจจะไปเน้นที่หลังบ้านเยอะ เมื่อ 10 ปีที่แล้วทุกองค์กรจะต้องมี ERP (Enterprise Resource Planning) ทำเรื่องของ Financial ทำเรื่องของตัวเลข พวกนี้ที่เป็นข้อมูลหลังบ้าน แต่ข้อมูลตรงนั้นมันคือปลายทางแล้ว ซึ่งข้อมูลที่เรากำลังพูดถึงในปัจจุบัน คือข้อมูล Customer data ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างทาง ซึ่งข้อมูลระหว่างทางสำคัญมาก เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่า ลูกค้ากำลังสนใจอะไร มีแนวโน้มที่จะสนใจสินค้าและบริการอะไรบ้างในอนาคต เราควรจะต้อง นำเสนออย่างไร นำเสนอสินค้าอะไร



SME ONE : ที่ทราบมาคือปัญหาของธุรกิจนี้คือ ลูกค้ามี Data เป็นจำนวนมาก แต่วิเคราะห์ไม่ถูก

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกว่าช่วงแรกของธุรกิจมันมีหลาย Stage ลูกค้าอาจจะยังไม่เคยเก็บข้อมูลเลย หรือในหน้าเว็บไซต์อาจจะมีการเก็บข้อมูลแต่เก็บไม่ละเอียด เช่น เขาแค่อาจจะเก็บว่าคนเข้ามาดูหน้าไหน แต่พฤติกรรมตรงนั้นไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนที่เข้ามาดูหน้านั้น เขามีความสนใจในส่วนไหน เขาให้ความสนใจจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่า ถ้าเราไปวิเคราะห์ที่ปัญหาจริงๆ เราจะต้องเข้าไปช่วยลูกค้าในการวางแผนการเก็บข้อมูลใหม่ 

หรือในกลุ่มลูกค้าที่เริ่มเก็บข้อมูลมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เก็บมาได้ 1 ปี แต่ไม่ได้เอาข้อมูลมาใช้เลย ก็ให้เอามาแบ่ง Segment หรือเอามาวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไรบ้าง มาวิเคราะห์ Journey หรือเส้นทางก่อนที่เขาจะมาซื้อ เขามีเส้นทางในการตัดสินใจอย่างไร เราก็เข้าไปช่วยลูกค้าดูว่าตรงนี้เขาต้องใช้อะไรบ้างในการเอาข้อมูลมาใช้ ตั้งแต่ในส่วนของการปรับ Customer experience หรือ UX/UI ปรับหน้าเว็บไซต์ หรือปรับในส่วนของการวาง Product ปรับช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็ต้องแก้ไปทีละจุดแล้วแต่ว่ามีโจทย์อย่างไรบ้าง 

สิ่งสำคัญก็คือ เวลาที่เราคุยกับลูกค้า เราต้องเริ่มจากการที่เข้าใจโจทย์ก่อน แล้วก็ดูว่าในปัจจุบันเขามีปัญหาเรื่องอะไร เช่น เขาอยากได้ลูกค้าใหม่ แต่ปัจจุบันสิ่งที่เขาเผชิญอยู่คือ ค่าใช้จ่ายมันสูง การออกแบบประสบการณ์ทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกที่สุด และเป็นต้นทุนที่มีคุณภาพด้วย ตัวอย่างเช่น ลูกค้ากลุ่มอสังหาที่เข้ามาดูเว็บไซต์ แต่สุดท้ายไม่ได้ไปเยี่ยมชมโครงการ ไม่เคยไปดูเลยว่าคอนโดเป็นอย่างไร ไม่ได้ไปดูเลยว่าบ้านเดี่ยวเป็นอย่างไร แบบนี้ต่อให้ได้ข้อมูลมามากๆ ก็ไม่มีคุณภาพ

บ่อยครั้งที่เราเจอลูกค้าที่เดินเข้ามาหาเรา บางทีเขาจะมีเป้าในใจอยู่แล้วว่าเกิดจากปัญหานี้ แต่พอเราไปคุยไปดูแล้วเรารู้สึกว่ามันผิด เพราะปัญหามันเกิดจากอีกจุดหนึ่ง หรือบางทีลูกค้ามาด้วยโจทย์ที่ยังไม่แน่ใจว่าอันนี้คือปัญหาของเขาจริงๆ หรือเปล่า ปกติเราก็จะมีการสัมภาษณ์ หรือนั่งคุยกันว่ามีประเด็นอะไรบ้าง บวกกับตัวเลขที่เขามีหลังบ้านที่บอกว่ายอดขายของเขามันตก หรือค่าเฉลี่ยของยอดซื้อของลูกค้าแต่ละรายมันต่ำ บางทีเราก็ต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่เราจะสรุปว่า อันนี้คือปัญหาที่แท้จริง แล้วหลังจากนั้นเราก็ค่อยมาดูว่ามีโซลูชั่นอะไรในการแก้ไขปัญหา

 

SME ONE : ช่วยอธิบายว่ากลุ่ม SMEs จะใช้ประโยชน์จากการใช้ Data หรือเทคโนโลยีได้อย่างไร

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกเลยว่าในเชิงของการใช้เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดเล็กก็ใช้ได้ แต่ขอให้มองว่า Used case ที่จะใช้ต้องมีความชัดเจน ปัญหาของ SMEs หลายๆ เจ้าคือเขาอยากทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน แล้วเขาอาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ลงตรงนั้นดี ลงตรงนี้ดี แล้วลงเงินตรงไหนดี มันเลยอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ 

เพราะฉะนั้นในมุมของ SMEs การที่เราเอาเครื่องมือมาใช้เพื่อที่จะเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นมันจะต้องวัดผลได้ ทำแล้วช่วยลดต้นทุนลูกค้าคนหนึ่งลดลงจากกี่บาทเป็นกี่บาท และสามารถหาลูกค้าเพิ่มได้เท่าไหร่ จำนวนตัวเลขรายได้ที่เข้ามาเป็นอย่างไร ก็ต้องเอามาคำนวณต่อว่าการลงทุนไปในเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมันมี ROI หรือเปล่า 

แต่ที่ผ่านมา SMEs บ้านเรามักจะให้ความสำคัญกับการตลาดในเชิงที่เป็น End user มากกว่าฝั่ง Data หลายคนชอบคิดว่าทำไมไม่เอาเงินไปซื้อมีเดีย หรือไปซื้อสื่อไปยิงแอดเพื่อให้ได้ลูกค้ากลับมา ตรงนี้คือมายด์เซตที่ผิด เพราะการที่คุณจะไปดึงเขามาที่บ้าน แต่บ้านคุณยังไม่เรียบร้อย บางคนยิงโฆษณาไปแต่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลเลย ยังไม่ได้คิดเลยว่าลูกค้าเข้ามาด้วยแคมเปญนี้จะทำอะไรต่อบ้าง 

SMEs บางเจ้ายิงโฆษณาเป็นล้านต่อเดือน แต่เขาไม่มีการเก็บข้อมูล เหมือนเปิดประตูเข้าบ้านแล้วไม่มีการ Tracking เลยว่าใครเข้ามาในบ้านบ้าง เข้ามาเท่าไหร่ ก็เหมือนเอาเงินไปทิ้ง เพราะได้คนเข้ามาแต่ไม่สามารถวัดได้ว่าคุณภาพของคนเป็นอย่างไร ประสบการณ์ที่เขาเข้ามามันโอเคหรือไม่ คนเข้ามาแล้วไม่ตอบโจทย์ อย่างเช่นให้เข้ามาโหลดแอปฯ แล้วไม่ตอบโจทย์ เขาก็เข้ามาแค่ 1-2 ครั้งแล้วก็ Uninstall

เวลาทำงานเราจะมองเลยว่าเวลา SMEs ใช้เงิน เขาใช้เงินถูกที่หรือเปล่า อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาลูกค้า บางครั้งเวลาที่ลูกค้าบรีฟว่าอยากได้ลูกค้าใหม่ อยากได้ยอดดาวน์โหลด เราจะถามกลับว่าความจริงแล้วคุณต้องการอะไรกันแน่ ยอดดาวน์โหลดหรือยอดคนเข้าเว้บมันตรงกับสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ หรือเปล่า มันสามารถเปลี่ยนมาเป็น Business Value ได้ไหม

 

SME ONE : ปัจจุบัน Predictive มีบริการอะไรบ้าง

ณัฐกรณ์ : ตั้งแต่เริ่มต้นเรามีบริการในเรื่องของการเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่การเข้าใจธุรกิจว่าธุรกิจของลูกค้าเป็นอย่างไร นอกจากนี้เราทำกลยุทธ์ในเชิงของการใช้ข้อมูลโดยแบ่งเป็น 2 แกนคือ Data กับ Customer experience พอเรารู้แล้วว่ากลยุทธ์ต้องเป็นแบบไหน การออกแบบประสบการณ์จะต้องทำอะไร ก็จะทำแบบ End to end คือทำตั้งแต่แพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรองรับการเก็บข้อมูล สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูล Predictive เราเป็นพาร์ทเนอร์กับ Google และ Saleforce ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จอาจจะมีการเชื่อมโยงข้อมูล Integration กับข้อมูลหลังบ้าน เพื่อช่วยเราเห็นว่าจากยอดขายมีต้นทุนเท่าไหร่ กำไรขาดทุนเป็นอย่างไร เรียกว่าสามารถดูข้อมูลลูกค้าได้เป็นรายบุคคลเลย

หลังจากนั้นพอเริ่มเอาข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ก็จะมีในส่วนของทีมที่ต้องทำ Machine Learning ในส่วนของ AI ต่างๆ เพราะลูกค้าบางรายมีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มประมาณ 10 กว่าล้านคน ถ้าเราเอาคนมานั่งวิเคราะห์ มันจะไม่เห็นแพทเทิร์น เราต้องเอา AI เข้ามาช่วยในการดูแพทเทิร์นเพื่อให้ได้ข้อมูลกลุ่มลูกค้าออกมา ก็มาดูต่อว่ากลุ่มลูกค้าไหนตรงตาม Criteria ที่เรากำหนดไว้ แล้วเราก็จะมีการทำ Marketing automation สื่อสารออกไปเป็นรายบุคคล ลูกค้าคนนี้จะต้องสื่อสารกับเขาอย่างไร แล้วหลังจากนั้นก็มีการวัดผล ที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของ Data governance คือเรื่องของ PDPA จะต้องมีการออกแบบให้มันถูกต้องตามกฎหมาย เราก็จะมีเครื่องมือของเราที่เป็น Consent management เพื่อทำการขอ Consent จากทางลูกค้ามาเพื่อนำไปใช้งานต่อได้ในอนาคต 

 

SME ONE : มาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดเรื่องการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่

ณัฐกรณ์ : ตรงนี้เป็น Global Trend ทุกประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เขาจะมีกฎหมายส่วนบุคคล ในทุกบริษัทจะต้องมีบริการนี้อยู่แล้ว สังเกตเลยว่าเวลาเข้าเว็บไซต์ทุกวันนี้จะต้องมีการขออนุญาตก่อน ในอนาคตการใช้ข้อมูลจะต้องมีการขออนุญาตจาก End user ด้วย เรามองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสมากๆ เพราะทุกคนจะต้องจัดการเรื่องของ Consent ของลูกค้า 

 

SME ONE : Predictive มีแผนจะต่อยอดธุรกิจอย่างไรในอนาคต

ณัฐกรณ์ : จากการที่เราเป็นบริษัทที่ปรึกษามา 11 ปี เราก็ได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มโดยมีเครื่องมือของเราเอง เรียกได้ว่าเราเป็น Marketing Technology ของคนไทยที่ผลิตซอฟต์แวร์ด้วยเหมือนกัน เพราะเรามองเห็นแล้วว่า Tools ของต่างประเทศที่ใช้กันมันมีช่องว่างอยู่ เราก็ศึกษาจากช่องว่างนี้เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งเรามองว่าในอนาคตรายได้จากส่วนนี้จะมากกว่ารายได้ที่เป็นงาน Service เพราะเราไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนคน แต่เราสามารถขาย Product ได้ทั่วโลก 

เพราะเมื่อเราเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแพลตฟอร์ม เรื่องของกำแพงที่จะมาขวางกั้นมันก็จะไม่มีแล้ว ปัจจุบันนี้เรามองไปถึงระดับ Global scale เรามีแผนจะออก New product ในไตรมาสที่ 2 ก็จะเน้นไปในระดับ Global เหมือนกัน แพลตฟอร์มพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปตั้งออฟฟิศ มันสามารถขายจากที่ไหนก็ได้ มันเป็นเหมือน Software as a Services 

 

SME ONE : Predictive เป็นบริษัทท้องถิ่นซึ่งมีบริษัทคู่แข่งจากต่างประเทศมากมาย ทำไมลูกค้าถึงเลือกเรา

ณัฐกรณ์ : ตลอดเวลาของการทำธุรกิจ เรามีบริษัทต่างประเทศที่เป็น Top Big Firm เป็นคู่แข่ง แต่สิ่งที่เขายังขาดอยู่ก็คือ Market understanding อันนี้คือสิ่งที่เขาไม่มี สิ่งที่เป็นท้องถิ่น คนที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า กรณีการได้รับความนิยมของแอปพลิเคชั่น LINE คือตัวอย่างหนึ่งที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้บริษัทต่างประเทศไม่เข้าใจ รวมถึง Nature ของการให้บริการด้วย ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่คนไทยชอบบริการอยู่แล้ว เป็น Service industry ดังนั้นการที่มีลูกค้าต่างประเทศมา การตอบผ่านอีเมล์มันอาจจะไม่ทำให้ลูกค้า Engage กับเขามาก เขาก็เลยกลับมาเลือกบริษัทของเรา แต่ด้วยความที่เราเป็นบริษัทไทยที่ก่อตั้งด้วยคนไทย แต่เรา Work with the best หมายความว่าเรา ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นในเชิงของ Knowhow Knowledge การที่เราเข้าใจในเรื่องของบริการและเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี เราไม่แพ้ต่างชาติอยู่แล้ว เพราะเราเห็น Roadmap เหมือนที่ต่างชาติเห็น และต่างชาติก็เป็นพาร์ทเนอร์เหมือนกัน 

เราใช้วิธีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็น Global technology อย่างของ Google หรือว่าในฝั่งของ Salesforce เขาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราตั้งแต่ต้น ผมมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Enterprise tools พวกนั้นมาก่อน เพราะฉะนั้นผมจะรู้ในเชิงของ Capability แต่ทาง Predictive เองก็ต้องเอาเครื่องมือพวกนั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับความต้องการ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย หรือ South East Asia ด้วยเช่นกัน

 

SME ONE : อะไรคือ Key success ของ Predictive

ณัฐกรณ์ : ถ้าดูในเชิงของการเงินก็จะเห็นการเติบโตของธุรกิจมาตลอด และในส่วนของการขยายทีมงานก็เป็นส่วนที่ซัพพอร์ตในการเติบโตตรงนั้น และได้รับความเชื่อใจหรือ Trust จากกลุ่มลูกค้าของเรา เรามีลูกค้าที่เป็น Enterprise ขนาดใหญ่ องค์กรที่เป็น Top 5 ของแต่ละอุตสาหกรรมก็เป็นลูกค้าของเราทั้งหมด ดังนั้นตรงนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่เรามองว่า Predictive ก็ประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง 

ถามว่าเรายังมีโอกาสเติบโตในอนาคตอีกหรือไม่ ก็ตอบว่ามีอีกเยอะแยะมากมายเลย เพราะเรามองว่าจากการที่เป็น Consulting เราพัฒนาจนทำแพลตฟอร์มขึ้นมาสำเร็จ ตอนนี้เราเริ่มมองหาโมเดลที่เป็น Joint Venture เข้ามาทำ Revenue sharing ก็เป็นอีกทิศทางหนึ่งในการขยายธุรกิจอีกเหมือนกัน

 

SME ONE : อยากให้ช่วยฝากคำแนะนำกับ SMEs เกี่ยวกับเรื่อง Data

ณัฐกรณ์ :  แนะนำให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน อย่าไปคิดว่าจะต้องลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่าง SMEs ที่มีการขายผ่าน Facebook ถ้ามีคนทักแชทมา คุณเริ่มเก็บแชทหรือยัง ถามว่าแค่นี้มีต้นทุนไหม ก็ไม่ได้มี สมมติเรามี Excel ถ้าจะต้องซื้อ License เสียเงิน เราก็ใช้ Google Sheet ก็ไม่มีต้นทุนอะไร จะมีก็แค่ต้นทุนพลังงานของเราเอง แต่ต้องเริ่มจากมายด์เซตที่จะต้องเก็บข้อมูลให้เป็นระเบียบ เช่น คนทักแชทมา เรามีการวางเป็นตารางหรือไม่ว่าชื่ออะไร ติดต่อมาเรื่องอะไร ติดต่อมาเมื่อไหร่ ตัดสินใจเรื่องอะไร ซื้อขายสำเร็จไหม ได้เงินหรือยัง แค่นี้ก็คือจุดเริ่มต้นแล้ว เขาก็จะเริ่มมีมายด์เซตแล้วว่าการจะไปวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องมีการเก็บข้อมูลก่อน แล้วความรู้ที่เหลือจะตามมาเอง

พอเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นค่อยพัฒนาทำเรื่องอื่นๆ เช่น อาจจะเริ่มลงทุนยิงโฆษณา หลังจากนั้นอาจจะเริ่มมีการใช้ Tools บ้าง ซึ่งต้นทุนตรงนี้มันไม่ได้สูงมากสำหรับ SMEs แต่ที่ SMEs ไม่กล้าคือเขากลัว และบางทีเขาไม่ได้ตั้งโจทย์ที่ชัดเจน ก็คิดแบบลอยๆ จะทำยังไงให้ธุรกิจโต โตอย่างไร อยากได้ลูกค้าเพิ่ม จะเพิ่มจากกลุ่มไหน จากลูกค้ากลุ่มใหม่หรือกลุ่มเก่า เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน

จากนั้นก็เริ่มหัดวิเคราะห์ข้อมูล เช่นข้อมูลที่เป็นยอดขายสามารถวิเคราะห์ได้ไหมว่าสินค้าตัวไหนขายดี และขายดีช่วงไหนเวลาไหน ช่องทางในการขายของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจาก Transaction data ก่อน หลังจากนั้นก็อาจจะเริ่มมีการใช้ Line OA เริ่มทำมีเว็บไซต์ เราเริ่มมีส่วนของ Facebook เอาพวกนี้มาใช้มากขึ้น แต่อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่มีก่อน 

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Predictive นั้น มาจาก 2 S’s คือ Service mind หรือ วิธีการทำงานให้บริการลูกค้าด้วยความเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ซึ่งเป็นจุดแข็งของคนไทยที่บริษัทต่างชาติไม่มี กับอีกเรื่องคือ Service Intelligent หรือการนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างในหลายด้านด้วยกัน

 

บทความแนะนำ