เปิดแนวคิด “ร้านทางเลือก” ทางเลือกของคนรักสุขภาพ
ก่อนจะเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพ คุณการะเกด สรพิพัฒน์ เคยทำงานเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข คือเป็นพยาบาลในจังหวัดตรัง และได้สัมผัสคลุกคลีกับคนไข้ในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่บ่อนทำลายสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งมาตลอด คุณการะเกดมองว่า ถ้าคนในต่างจังหวัดมีข้อมูลด้านโภชนาการที่ดีเหมือนคนกรุงเทพก็มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อันจะนำมาซึ่งการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในที่สุด จนถึงจังหวะที่เหมาะสม คุณการะเกดจึงตัดสินใจออกจากงานมาเปิด “ร้านทางเลือก” ร้านอาหารที่เน้นจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีเมนูอาหารพื้นบ้านของภาคใต้อย่าง “ข้าวยำทางเลือก” เป็นตัวชูโรง
SME ONE : แรงบันดาลใจที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ร้านทางเลือก”
การะเกด : ร้านทางเลือกเกิดขึ้นมา 20 กว่าปีแล้ว เริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2543 แต่แรกเราเริ่มมีกลุ่มเพื่อนที่สนใจอาหารสุขภาพและงานของชุมชน คุยกันว่าเราน่าจะมีร้านค้าที่รวบรวมผลผลิตของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้หรืองานหัตถกรรมต่างๆ มาจำหน่าย เพื่อจะช่วยเหลือชาวบ้านให้มีรายได้ สมัยนั้นรัฐบาลยังไม่มีโครงการ OTOP ส่วนตัวมองว่าโครงการนี้น่าจะอยู่ได้ยากถ้าไม่มีการเพิ่มพูนมูลค่าของสินค้า อย่างเช่นผักพื้นบ้านสมัยก่อนก็มีราคาที่ถูกมาก ก็เลยคิดว่าควรจะเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และมีร้านค้าด้วยเพื่อช่วยขายผลิตภัณฑ์ สาเหตุที่เราคิดถึงเรื่องอาหารสุขภาพก็คือ ตอนนั้นเราก็มีข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังที่บอกว่าสาเหตุของคนที่เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือด มะเร็งเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องของการกิน กินเนื้อสัตว์ กินแป้ง
กินหวานมาก กินผักน้อย หรือกินผักที่ปนเปื้อนสารเคมี และจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่กินอาหารนอกบ้าน เวลาที่เราแนะนำให้คนกินอาหารสุขภาพก็มักจะมีคำตอบว่า ไม่รู้จะหากินได้ที่ไหน ความรู้ความเข้าใจของคนสมัยนั้น คือคิดว่าอาหารสุขภาพมีแต่ผัก กินยาก และไม่อร่อย เราก็เลยคิดว่าเราจะต้องมาทำเกี่ยวกับเรื่องความรู้ความเข้าใจตรงนี้เพื่อเป็นตัวอย่าง พอเปิดร้านก็เลยตั้งชื่อว่า “ร้านทางเลือก” ทางเลือกที่เป็น Alternative หมายความว่าเราจะสนใจผู้คนและสิ่งแวดล้อม และอีกความหมายหนึ่งก็คือ อยากให้เป็นทางเลือกเกี่ยวกับการกินของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตรัง เพราะว่าอาหารอร่อยๆ ก็มีเยอะ แต่เราอยากจะเสนอทางเลือกแบบนี้อีกทางหนึ่ง
ด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานในด้านธุรกิจทางด้านอาหารเลย แต่ก็รู้ว่าถ้าจะทำร้านอาหารแล้วอยู่ได้ จะต้องมีเมนูเด่นสักเมนูหนึ่งเพื่อที่จะดึงลูกค้า เราก็คิดว่าเราจะเอาอะไรมาเป็นเมนูเด่นเพื่อที่จะดึงลูกค้าได้ และเมนูเด่นต้องเป็นเมนูเพื่อสุขภาพด้วย แล้วก็เลยคิดเป็นเมนูข้าวยำขึ้นมา เนื่องจากว่าข้าวยำเป็นอาหารพื้นถิ่นของปักษ์ใต้ เราก็ตั้งชื่อเป็นข้าวยำทางเลือก ที่เลือกเมนูนี้ก็เพราะว่าข้าวยำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชั้นยอด เพราะมีสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ อันนี้ก็เป็นแนวคิดตั้งต้น แล้ววัฒนธรรมการกินข้าวยำเมื่อ 20 กว่าปีก่อนก็จะเป็นแค่อาหารในท้องถิ่น เป็นอาหารราคาถูก ไม่พิถีพิถันในการปรุง ปรุงแบบง่ายๆ ให้ครบเครื่องตามตำรับดั้งเดิม ส่วนใหญ่เลยไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป จะมีกินเฉพาะในกลุ่มของคนใต้ ทีนี้เมื่อเราเลือกเมนูนี้ขึ้นมาในร้าน เราก็คิดว่าถ้าเราจะขายข้าวยำราคาถูก เราจะต้องขายวันละกี่จานถึงจะได้ค่าแรงพนักงาน ก็เลยเป็นแนวคิดที่เราต้องทำข้าวยำให้เป็นเมนูที่โดดเด่นขึ้นมาจากอาหารทั่วไป เป็นอาหารที่ขึ้นโต๊ะได้ มีมูลค่ามากพอจนคนยินดีที่จะจ่าย อันนี้เป็นแนวคิดเริ่มต้นของร้าน แต่ตอนแรกเราก็ขายได้แค่จานละ 15 บาท ขายเกือบตายกว่าจะได้เงินสักร้อยบาท เราก็มีการขายอาหารหลายเมนู เพราะถ้าขายข้าวยำอย่างเดียวคงไม่มีเงินพอเลี้ยงพนักงาน เมื่อขายได้สักพักก็สังเกตว่าลูกค้าเวลามากินที่ร้านเราชอบซื้อกลับบ้าน เราก็คิดว่าถ้าเราจะทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใส่อาหารแล้วเก็บได้ยาวนานและดูดี จนสามารถเป็นของฝากที่คนรับไปแล้วรู้สึกชื่นใจ เพราะมีความอร่อยด้วย และสวยงามด้วย เราก็เลยคิดบรรจุภัณฑ์ขึ้นมา บรรจุภัณฑ์ของเราก็ต้องทำด้วยกระดาษ เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ รีไซเคิลได้ แนวคิดตรงนี้ก็เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะเพิ่มยอดขายเพื่อให้เราอยู่ได้
SME ONE : 20 ปีที่แล้ว คำว่าอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอะไรที่ใหม่มาก แม้แต่คนที่อยู่กรุงเทพฯ ยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ อะไรทำให้เราตัดสินใจว่าจะทำในต่างจังหวัดได้สำเร็จ
การะเกด : จริงๆ ในต่างจังหวัดจะมีกลุ่มคนที่สนใจอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว เราอาศัยเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา ก็คิดว่าต่อไปในเรื่องของการท่องเที่ยวเมืองไทยจะได้รับความนิยม ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ต่างถิ่นแต่เรามีอาหารที่ดีมีประโยชน์ แล้วการให้เป็น Signature ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถดึงดูดผู้คนให้มากินอาหารที่ดีได้อะไรประมาณนั้น
SME ONE : อาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่มักจะไม่อร่อย เพราะผักเยอะ และรสชาติอ่อน มีวิธีการทำให้อาหารสุขภาพอร่อยได้อย่างไร
การะเกด : จริงๆ เราสามารถรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและความอร่อยได้จากความสดใหม่ของวัตถุดิบ พืชผักที่มีความสดใหม่มันทำให้มีรสชาติอยู่แล้วในตัว ตรงนี้เราเลยต้องเน้นเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ และมีความปราณีตในการปรุง ในเรื่องของผักหรือ เส้นใย คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบกินผักเพราะว่าผักมันเคี้ยวยาก พอเรามาทำอาหารประเภทผักที่เป็นข้าวยำ เราก็ต้องมาเน้นในเรื่องของกระบวนการว่าเราจะต้องหั่นซอยยังไงให้ละเอียดคนกินง่ายขึ้น ที่สำคัญคือต้องจัดรูปแบบให้ดูน่ากิน คนมาเห็นก็รู้สึกว่าอาหารตาก็มีด้วย รู้สึกดึงดูดไปถึงความอร่อยของอาหารด้วย
SME ONE : การยอมรับอาหารเพื่อสุขภาพในช่วงแรกๆ กับช่วงปัจจุบันแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
การะเกด : ปัจจุบันการยอมรับก็มีมากขึ้น เพราะเราสามารถเผยแพร่ในเรื่องของอาหารสุขภาพได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับตัวของเราด้วยในการเข้าถึงลูกค้า แม้แต่ในเรื่องของรสชาติเราก็ต้องดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อมาใช้ในการประเมินและปรับไปเรื่อยๆ เราต้องมาดูว่าอาหารทางใต้มีรสชาติเฉพาะอย่างไร หรือคนทั่วไปกินแบบไหน เราก็ต้องมีการปรับตัวไปเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ เราเน้นขายพวกอาหารพื้นบ้านพื้นถิ่นค่อนข้างเยอะ พวกแกงส้ม แกงเผ็ดอะไรพวกนี้ ปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนไปเมนูมากขึ้น แต่เมนูมากหรือน้อยมันเป็นข้อจำกัดของร้านเราในเรื่องของกำลังที่จะผลิตได้แค่ไหน แต่ทั้งหมดก็จะยังอยู่ในโซนของเมนูสุขภาพ ทั้งในเรื่องของการปรุงและรสชาติ ไม่เค็มเกินไป ไม่หวานเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความอร่อยด้วย ในเรื่องของเมนูก็จะมีเมนูข้าว เมนูอาหารเส้น เมนูยำ ก็มีมากขึ้นตามที่ลูกค้าต้องการเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันที่มากขึ้นบางอย่าง เราก็ลดบางอย่างเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นมันจะเกินกำลังที่เราทำ เพราะเราไม่ได้เป็นร้านที่ใหญ่โตอะไร ปัจจุบันลูกค้าของเราเป็นคนพื้นถิ่นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และเป็นคนต่างชาติประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ คนต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น ครูสอนศาสนาหรือครูสอนนักเรียนทั่วไป
SME ONE : สมมติว่าเจอลูกค้าที่ไม่ชอบกินผักมาที่ร้าน คุณการะเกดจะแนะนำอาหารอย่างไร
การะเกด : ก็ต้องพยายามอธิบายว่าข้าวยำเป็น signature ของร้าน ประกอบด้วยข้าวกล้อง แต่เราก็คัดเลือกข้าวกล้องที่นิ่ม ที่ร้านจะใช้ข้าวเบายอดม่วงที่เป็นข้าว GI ของตรังผสมกับข้าวกล้องมะลิ ซึ่งข้าวกล้องมะลิเป็นข้าวที่นิ่มอยู่แล้ว ข้าวเบายอดม่วงก็นิ่มก็เลยทานง่าย อย่างที่เรารู้ว่าข้าวกล้องมีประโยชน์ตรงที่เส้นใยเยอะ วิตามินครบถ้วน ส่วนเรื่องผัก ผักที่ใช้ตรงนี้เป็นผักพื้นบ้าน ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งหมดเลย ผักของเราจะหั่นละเอียดฝอย เคี้ยวไม่ยาก เครื่องปรุงต่างๆ ก็ลงตัว ถ้ามาถึงที่ร้านอย่างแรกเลยคืออยากให้ลองชิมก่อน แล้วจะรู้ว่าอร่อย
SME ONE : ร้านทางเลือกช่วงแรกเจอปัญหาในการทำธุรกิจบ้างหรือไม่ และแก้ปัญหาอย่างไร
การะเกด : อย่างที่บอกว่าช่วงแรกในเรื่องอาหารสุขภาพคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ คนมองว่าเข้าถึงยาก กินยาก มองว่าอาหารสุขภาพมีแต่ผักหรือข้าวกล้องกินยาก มีลูกค้าบางคนจะชวนเพื่อนมากิน เพื่อนบอกว่าไม่ไปหรอก ฉันยังไม่ป่วยฉันยังไม่ไป ช่วงแรกเป็นอย่างนั้นจริงๆ บางคนก็ไม่กล้าเข้ามา เพราะมันเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ในต่างจังหวัดในสมัยก่อน การแก้ปัญหาก็คือ เวลาที่คนเข้ามาเราก็ต้องมีการเชิญชวน มีสาระความรู้ในร้านเกี่ยวกับเรื่องอาหารสุขภาพ หน้าร้านก็มีโปสเตอร์เชิญชวน มีโปรโมชั่น ช่วงแรกๆ เราก็ต้องออกสื่อท้องถิ่นว่าเรามีร้านแบบนี้แล้วก็มีไปแจกใบปลิว หรือถ้ามีงานที่ไปออกบูธ เราก็ต้องเอาอาหารของเราไปนำเสนอให้คนได้รู้จัก การที่เราสามารถทำธุรกิจมาได้ยาวนานขนาดนี้ก็เพราะว่า ช่วงแรกมีสื่อต่างๆ มองเห็นถึงความตั้งใจ เห็นเราจากการที่ไปออกบูธอะไรต่างๆ ก็เลยช่วยเขียนโฆษณาให้
SME ONE : การระบาดของ COVID-19 ทำให้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้นทุกๆ วัน อยากรู้ว่าร้านทางเลือกได้รับผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบมากกว่ากัน
การะเกด : เชิงบวก ก็คือทำให้คนใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น สนใจอาหารที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ เพราะคนรู้ว่าการที่ร่างกายจะแข็งแรงต้าน COVID-19 ได้ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานสู้กับโรคต่างๆ ได้ อย่างที่มีการทำวิจัยว่า คนที่กินผักอยู่แล้วประจำเยอะๆ พอเป็น COVID-19 ร่างกายก็ยังดีกว่าคนที่กินหวานกินเค็ม ตรงนี้ก็เป็นความรู้ซึ่งมีผลในเชิงบวก แต่ถ้าเป็นผลในเชิงลบ ในช่วง 1-2 ปีกว่าที่ผ่านมา ก็ทำให้คนเดินทางไปมาหาสู่กันน้อยลง คนไม่กล้ามานั่งในร้าน ร้านของเรายอดขายก็ลดลงเยอะในช่วงนั้น ตอนนั้นที่เราแก้ปัญหาได้ก็เพราะว่ามีไรเดอร์เยอะขึ้น และเราก็ให้พนักงานในร้านของเราเองไปส่งด้วย เพราะไม่มีลูกค้ามาในร้าน พนักงานก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่ทำให้เราประคับประคองธุรกิจได้ก็คือ เราหาทางลดค่าใช้จ่ายด้วย
SME ONE : วัตถุดิบของที่ร้านมาจากท้องถิ่นทั้งหมดเลยหรือไม่
การะเกด : วัตถุดิบที่ร้านของเราจะมาจากท้องถิ่นหมดเลย ผักของเราเป็นผักสดและเน้นผักที่ปลอดสารพิษ ปัจจุบันเรามีฟาร์มผักออร์แกนิคของเราเอง แต่ถ้าจะต้องหาซื้อบ้างเราก็จะดำเนินตามหลักของความสะอาด การล้างอะไรแบบนี้แต่ก็เอาเฉพาะในท้องถิ่น ส่วนในเรื่องของการปรุงก็เป็นท้องถิ่นหมดเลย ใช้มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง กะปิ บูดู ทั้งหมดเราจะใช้ของจากท้องถิ่นหมด 100 เปอร์เซ็นต์
SME ONE : ที่ผ่านมาคุณการะเกดเคยไปขอคำปรึกษาจากทางหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่
การะเกด : ช่วงแรกก็มีบ้าง เราเองเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ก็มีวัตถุประสงค์ใหญ่ในแง่อาหารเพื่อสุขภาพ ก็เลยมีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ช่วงแรกๆ สถาบันอาหารของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เคยเข้ามาแนะนำในเรื่องของมาตรฐาน GMP แล้วก็มีทางสาธารณสุขจังหวัดก็มาให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน อย. และการผลิตอาหาร ซึ่งก็มีมาอยู่เรื่อยๆ
SME ONE : ทุกวันนี้ร้านทางเลือกขายผ่านช่องทางร้านค้าอย่างเดียวหรือไม่การะเกด : เราเป็นร้านอาหารขนาดกลางไม่ถือว่าใหญ่มาก มีประมาณ 15 โต๊ะ นอกจากขายในร้านแล้วเรามีขายส่งให้คนอื่นไปขาย เช่น ที่สนามบินขายเป็นของฝากที่สามารถหิ้วขึ้นเครื่องเพื่อไปกินที่บ้าน
นอกจากนี้ก็ยังมีสาขาที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ตลาดหลังบริษัทการบินไทยสำนักงานใหญ่ ซอยวิภาวดี 22 ที่ถือว่าเป็นร้านขายดีในศูนย์อาหาร เพราะมีขายผ่านเดลิเวอรี่ และมีร้านค้าย่อยตามสำนักงานมารับไปขายตามออฟฟิศ ร้านที่กรุงเทพกลุ่มเป้าหมายก็ยังคงเป็นกลุ่มที่สนใจอาหารสุขภาพเหมือนที่ตรัง แต่อยากได้ความสะดวก และอาหารอร่อย พอเรามาทำข้าวยำในลักษณะพิเศษแบบนี้ ก็พบว่าสามารถกินเป็นอาหารที่เย็นได้เหมือนกัน เช่นผักหรือเครื่องปรุงไม่จำเป็นต้องกินร้อน แล้วก็มีบรรจุภัณฑ์ที่สามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้ ก็คืออร่อยได้นาน สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นกินวันรุ่งขึ้นได้ง่ายๆ
SME ONE : วางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจไว้อย่างไร
การะเกด : ตอนนี้ของเราค่อนข้างเป็นอาหารพื้นถิ่นอยู่ อย่างที่บอกของเราเป็นร้านเล็กๆ มันจะต้องขยายของเราออกไปให้กว้างและไกลมันถึงจะเพิ่มยอดขายได้ ก็คงจะต้องทำตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บได้ และสะดวกในการไปทำกินเองได้ที่บ้าน ตัวนี้ก็เป็นตัวที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ ปัจุบันเรามีขายเมนูเครื่องปรุงที่ทำสำเร็จสามารถซื้อไปกินกับเองได้ เราผลิตเอง ที่ร้านจะทำสดขายสด แต่ก็จะมีหน่วยผลิตที่เป็นเหมือนโรงงานเล็กๆ ผ่านมาตรฐานทั้งหมด ทำเป็นน้ำเป็นชุดปรุงอะไรแบบนี้ เป็นบรรจุภัณฑ์ออกมาเก็บได้อย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วก็มีน้ำ มีมะพร้าวคั่ว มีกุ้งแห้ง มีข้าว มีผัก ผสมเสิร์ฟได้เลยที่ขายเป็นชุด
SME ONE : อยากจะเปิดสาขาเพิ่มอีกหรือไม่
การะเกด : ไม่แล้วค่ะ อาหารท้องถิ่นโดยเฉพาะข้าวยำเป็นงานที่ค่อนข้างใช้แรงงานเยอะ ผักแต่ละยอดที่ได้มาต้องทำความสะอาดต้องเลือก คือต้องใช้เวลา เครื่องปรุงเยอะ วัตถุดิบอะไรต่างๆ ที่มาอยู่ในเมนูข้าวยำมีเยอะมาก จะเห็นว่าข้าวยำคนก็ชอบกินแต่ว่าคนทำน้อย เพราะยุ่งยาก แล้วผลกำไรไม่มาก ถ้าจะให้ได้กำไรมากก็ต้องทำขายปริมาณเยอะๆ ซึ่งก็ย้อนไปเรื่องการควบคุมคุณภาพอีก
SME ONE : คิดว่าอะไรคือ Key success ของร้านทางเลือก
การะเกด : มาจากเราผลิตของที่มีคุณภาพ และมุ่งเน้นความยั่งยืน มีประโยชน์ต่อคนต่อมวลมนุษย์ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนความท้าทายของร้านตอนนี้ คือ ปัจจุบันแรงงานหายากขึ้น ค่าแรงและค่าวัตถุดิบก็แพงขึ้น ค่าครองชีพของคนทั่วไปก็สูง ทุกคนก็ต้องประหยัด ทำให้เราผลิตสินค้าออกมาแต่ยังไม่สามารถเพิ่มราคาให้มันสมดุลกับต้นทุนพื้นฐานที่มันเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเราขายข้าวยำอยู่ที่ 60 บาท ซึ่งอาหารที่มีผักสดจริงๆ เป็นวัตถุดิบหลักก็เรียกว่าไม่ได้แพง เพราะตอนนี้ผักสดราคาแพงมาก ผักพื้นบ้านแต่เดิมสมัยก่อนซื้อ 2 บาท ปัจจุบันนี้เพิ่มเป็น 10 บาทแล้ว ส่วนต้นทุนการผลิตก็แพงขึ้นเนื่องจากแรงงานแพง ส่วนหนึ่งของเราที่ยังไปได้เพราะเราผลิตเองอยู่บ้าง แต่ผลิตเองค่าแรงก็แพงเหมือนกัน
SME ONE : อยากให้คุณการะเกดฝากคำแนะนำกับ SMEs
การะเกด : ความจริงแล้ว เป้าหมายของแต่ละคนในการมาเป็น SMEs นั้นแตกต่างกัน บางคนทำเพราะต้องการกำไรสูงสุดในธุรกิจนั้นๆ บางคนมีวัตถุดิบอยู่แล้วก็อยากเอามาเพิ่มมูลค่า บางคนอาจจะทำเพราะรักในงานนั้น หรือเพื่อที่จะสร้างงานในชุมชน แล้วแต่เป้าหมาย แต่การที่ธุรกิจจะดำเนินไปได้ โชคดีที่ปัจจุบันมีหน่วยงานสนับสนุนมากกว่าสมัยก่อนทั้งในเรื่องวิชาการและเงินทุนของทางภาครัฐและเอกชนก็มีเยอะ จึงมีโอกาสมากมายที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วการทำธุรกิจอยากให้คำนึงถึงความยั่งยืน และมีความสุขในการทำธุรกิจนั้นๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ
บทสรุป
ร้านทางเลือกประสบความสำเร็จมาจาก Brand Purpose หรือความตั้งใจของคุณการะเกดที่ต้องการเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพมาเป็นทางเลือกของคนในจังหวัดตรัง โดยมีการชูโรงเมนูอาหารท้องถิ่นอย่าง “ข้าวยำ” ขึ้นมาเป็น Signature Menu ซึ่งในยุคนั้นอาหารเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ข้าวยำทางเลือกเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ปรุงจากข้าวกล้องปลอดสารพิษ ผักสมุนไพรปลอดสารพิษ ปลอดผงชูรส แต่ยังคงรับประทานได้ง่าย เพราะมีรสชาติกลมกล่อม เมื่อโปรดักต์กับคอนเซ็ปต์ของร้านลงตัว ในเวลาไม่นานเมนูข้าวยำทางเลือกของร้านก็ได้รับความนิยม จนร้านทางเลือกก็กลายเป็นจุดปักหมุดของนักท่องเที่ยวในจังหวัดตรังในที่สุด
การเคหะแห่งชาติ เปิดให้ผู้สนใจเลือกจองห้องและทำสัญญาเช่าบ้านพร้อมอาชีพในโครงการบ้านเคหะสุขประชา (รายละเอียดตามภาพ)
SME D Bank จัดแคมเปญพิเศษ นาทีทอง! ต้อนรับลูกค้าใหม่
เติมทุนวันนี้ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 66 รับ Cash Back สูงสุด 30,000 บาท
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank
จัดแคมเปญ “Cash Back เติมทุนวันนี้ มีเงินคืน” ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งทุน
พิเศษสุดสำหรับลูกค้าใหม่ของ SME D Bank เมื่อยื่นกู้และใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1-50 ล้านบาท
ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 นี้ รับ Cash Back ค่าประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าสูงสุด
30,000 บาทต่อราย สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของ SME D Bank ได้หลากหลาย
ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งเพื่อลงทุน ขยาย หมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือรีไฟแนนซ์ เช่น “BCG
Loan” ติดปีกธุรกิจยกระดับสู่ BCG Model “SME D พร้อม” เสริมสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ และ
“SME Speed Up” หนุนยกระดับธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด เป็นต้น นอกจากนั้น
ยังได้สิทธิเข้าใช้บริการงานพัฒนา ฟรี ทุกโปรแกรม ผ่านโครงการ “SME D Coach”
ให้คำปรึกษาโดยโค้ชมืออาชีพ เพิ่มศักยภาพธุรกิจ
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจใช้บริการแคมเปญ “Cash Back เติมทุนวันนี้ มีเงินคืน”
แจ้งความประสงค์ได้ที่ สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์
www.smebank.co.th , LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน เมษายน 2566 PDFที่นี่