ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ สร้างสรรค์ขนมพื้นบ้านให้ทันสมัย
หากนึกถึงเมืองเพชรบุรี เชื่อว่าสิ่งแรกที่วิ่งเข้ามาในความคิดของใครหลาย ๆ คนก็คือ ขนมหม้อแกง แน่นอนว่าขนมหม้อแกงเป็นขนมขึ้นชื่อที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็สามารถหาซื้อได้แทบทุกที่ในจังหวัด
จุดเริ่มต้นของโรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ก็มีที่มาจากการทำขนมแบบบ้าน ๆ พวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมหม้อแกง เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยย้อนไปตั้งแต่สมัยคุณยายของคุณโจ้ - ประวิทย์ เครือทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ นับเป็นรุ่นที่ 3 ที่สืบทอดสูตรขนมหวานต้นตำรับที่ส่งต่อผ่านคุณยาย มาถึงคุณพ่อ และส่งต่อจนมาถึงตน
สมัยคุณโจ้ยังเด็กนั้น ได้คลุกคลี ผูกพันกับการทำขนม เนื่องจากคุณย่าเป็นแม่ครัวงานวัด ซึ่งจะมีการทำขนมไปตามงานบุญ งานบวช อยู่เสมอ จึงมีความรักความชื่นชอบในขนมเพชรบุรีอยู่ในใจมานับตั้งแต่นั้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้ขนมเมืองเพชร สร้างความประทับใจให้ใครต่อใครนั้น อยู่ที่วัตถุดิบ ที่ทำให้ขนมมีรสชาติดี
เมื่อใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมากับขนมไทย จึงเกิดความคิดที่อยากจะสืบทอดและต่อยอดขนมไทยที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก อยากเห็นวงการขนมไทยเมืองเพชรออกไปโลดแล่นอยู่ทั่วประเทศไทย จึงพัฒนารูปแบบการทำขนมไทยจากทำมือ ให้เป็นรูปแบบโรงงาน เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและรสชาติให้มีมาตรฐาน ในแบบที่ไม่ว่าหยิบชิ้นไหนก็อร่อยเหมือนกันทั้งหมด
สืบสานขนมไทยให้ทันเทรนด์โลก
เมื่อสร้างคุณภาพได้แล้ว ก็ต้องสร้างการจดจำให้เกิดขึ้น ถึงแม้จะสืบทอดสูตรขนมมา แต่จะให้ทำขนมเหมือนคุณย่า ก็คงไม่มีเอกลักษณ์ให้ใครจดจำได้ และคงไม่ต่างจากขนมที่พบเห็นได้ทั่วไป สิ่งที่คุณโจ้ต้องการให้ผู้คนจดจำ ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ นั้น คือขนมหวานที่มีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่าง
ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ จึงต้องการที่จะยกระดับขนมเพชรบุรี ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นเพชรบุรี อย่างหนึ่งที่คุณโจ้เลือกเข้ามาใช้สร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมเพชรบุรี ก็คือเรื่องของความเป็นสกุลช่างฝีมือ ซึ่งสกุลช่างเมืองเพชรก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องขึ้นชื่อของเพชรบุรี ที่มีความวิจิตร ละเอียดอ่อน นำเรื่องนี้เข้ามามาอยู่บนบรรจุภัณฑ์ของฝาก เป็นกิฟต์เซ็ตขนมมงคลพรีเมียม ตัวขนมเองก็มีขั้นตอนที่ใช้งานฝีมือตกแต่งขนม ประกอบด้วย ขนมดาราทอง ทองเอก เสน่ห์จันทร์ และอาลัว
ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ยังสร้างสรรค์ขนมขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่ง โดยการพัฒนารูปแบบของขนมหม้อแกงรูปแบบเดิม ๆ ปรับสูตร ปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย และเข้าใจเทรนด์การรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดความหวาน และขนาดให้อรอ่ยได้อย่างพอเหมาะ เปลี่ยนจากถาด มาเป็นรูปแบบกระปุกที่ทานง่าย เก็บได้นานมากยิ่งขึ้น และสร้างสรรค์รสชาติต่างๆ ให้กับขนมหม้อแกง 6 รสชาติ เช่น รสกล้วยหอมทอง รสฟักทอง รสทุเรียน รสมัทฉะ เป็นต้น
ไม่หยุดแค่นั้น ยังได้ทำขนมหม้อแกงให้เป็น ขนมหม้อแกงชีสเค้ก ที่ทั้งคนรุ่นใหม่และคนต่างชาติมาเห็นเป็นร้อง ว้าว ว่าขนมไทยสามารถไปได้ไกลขนาดนี้ และมีรสสัมผัสดี เนื้อนุ่ม อร่อยติดใจ
สิ่งสำคัญที่โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ใช้ในการสร้างสรรค์สินค้าชนิดใหม่ คือข้อมูลความต้องการของลูกค้า ที่แตกต่างกัน ทำให้ขนมหวานต้องมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสูตรที่แตกต่างกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และพร้อมเรียนรู้ปรับปรุงพัฒนารูปแบบได้ตลอด
เบื้องหลังยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุน และยกระดับมาตรฐานของขนมหวานลุงอเนก ให้มีความแปลกใหม่แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองเพชร ที่ทั้งถูกปากถูกใจคนไทยและคนต่างชาติ เมื่อได้แวะเวียนมา เป็นต้องหอบขนมยกลังกลับไปฝากคนทางบ้านเสมอ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์
ที่อยู่: เลขที่9 หมู่5 ต.สำมะโรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000
โทร: 089-796-5052
เว็บไซต์: kanommuangphet.com
Facebook: lunganake
แรบบิทจันท์ สร้างธุรกิจจากมะปี๊ดหลังบ้าน
ใครจะไปคิดว่า ต้นส้มมะปี๊ด พืชสวนครัวที่พบเห็นได้ทั่วไป ปลูกอยู่ในทุกบ้านของจังหวัดจันทบุรีมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย จากพืชที่เกษตรกรมองไม่เห็นค่า จนสามารถกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง ที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้
ด้วยมุมมองที่เปิดกว้างและไอเดียที่พลิกวิธีคิดของคุณนุ่ม - วรพชร วงษ์เจริญ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท แรบบิทจันท์ จำกัด อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ ที่ตั้งคำถามและมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสินค้าจากเจ้าส้มหลังบ้านที่คุ้นหน้าคุ้นตานี้ แต่ด้วยจุดเด่นเฉพาะตัวของส้มมะปี๊ด ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน คล้ายกับลูกครึ่งของส้มและมะนาว มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จนถูกหยิบจับมาใช้ทำอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าตามงานวัด งานบุญ ตลอดมา
อีกประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การคิดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากเดิมที่เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีนั้นนิยมทำสวนผลไม้ปลูกทุเรียน มังคุด ซึ่งเก็บรายได้ได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง แล้วฝากชีวิตไว้กับรายได้ก้อนนี้ตลอดทั้งปี ซึ่งมีความไม่แน่นอน จะทำอย่างไรให้เกษตรกรในจังหวัดสามารถมีรายได้เลี้ยงชีพตลอดทั้งปี คุณนุ่มมองเห็นว่า ส้มมะปี๊ดนั้น สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี จึงน่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ยังมีโจทย์อยู่ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเพิ่มมูลค่าของส้มมะปี๊ด ให้สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงดูเกษตรกรได้
คิดต่อยอดจากส้มที่ปลูกทุกบ้าน
ในช่วงแรกเริ่ม แนวความคิดของคุณนุ่มที่จะนำส้มมะปี๊ดมาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรนั้น กลับไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเกษตรกร เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าส้มมะปี๊ด จะมีราคาและขายได้อย่างไร ในเมื่อเป็นผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไปและมีปลูกอยู่ทุกบ้าน
คุณนุ่มมองอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าหากนำส้มมะปี๊ดมาทำเป็นเครื่องดื่ม ก็น่าจะเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับมันได้ เพราะรสชาติที่หอมหวานอมเปรี้ยวเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนี้เอง ที่จะสร้างความแปลกใหม่ทำให้คนติดใจและจดจำ จึงได้ทำการทดลองทำเป็นเมนูเครื่องดื่มขึ้นในร้าน “สภากาแฟ” ของคุณพ่อ นอกจากเครื่องดื่มมะปี๊ดคั้นชงสดแล้ว คุณนุ่มยังได้มีการใส่ไอเดียให้เป็น กาแฟมะปี๊ด เนื่องจากส้มมะปี๊ดก็เป็นพืชตระกูลซิตรัส เช่นเดียวกับ ส้ม ยูซุ มะนาว จึงไม่แปลกอะไรที่จะมาเป็นส่วนผสมคู่กับกาแฟ และยังต่อยอดเป็น ชามะปี๊ด อิตาเลียนโซดา รูปแบบต่าง ๆ อีกหลากหลายเมนู
พอสามารถสร้างเมนูที่ทำให้คนติดใจได้แล้ว ต้องสร้างการรับรู้และการจดจำด้วย จึงได้มีการขึ้นป้ายหน้าร้านกาแฟว่า “มาจันทบุรีต้องห้ามพลาด น้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้ง เอกลักษณ์เฉพาะจันทบุรี” พร้อมกันนั้นก็ใช้ความรู้ในการทำ SEO ย้ำคำนี้ลงไปในออนไลน์ ทำให้เวลาค้นหาจังหวัดจันทบุรี จะพบน้ำมะปี๊ดแรบบิทจันท์ไปด้วย จนทำให้กลายเป็นจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาแวะเวียนไม่ขาดสาย
เมื่อมีนักท่องเที่ยว ก็ต้องมีของฝาก จากเมนูเครื่องดื่มขายเป็นแก้ว ก็พัฒนาใส่ขวดสเตอริไลซ์เก็บได้นาน ให้ซื้อกลับไปฝากได้ เก็บไว้ดื่มได้ หรือ นำไปประกอบอาหารต่อได้ เกิดช่องทางพัฒนาสินค้าได้อีกหลากหลายรูปแบบ
อีกจุดหนึ่งทดลองนำน้ำมะปี๊ดไปชงกับกาแฟ โดยมีบาริสต้ามือรางวัล ที่จะเลือกเมล็ดกาแฟให้ส่งเสริมกับรสชาติของมะปี๊ด ซึ่งเมื่อทานแล้วจะได้รสชาติเบอร์รีของกาแฟตามด้วยซิตรัสของมะปี๊ด เข้ากันได้ดีมาก จากจุดเริ่มต้นนี้ จึงกลายเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้ร้านกาแฟต่าง ๆ เข้ามาสั่งน้ำมะปี๊ดไปผสมในกาแฟของร้านบ้าง คุณนุ่มต่อยอดด้วยการร่วมมือกับร้านกาแฟ ด้วยการยิงโฆษณาให้กับนักท่องเที่ยว ว่าถ้าไปจังหวัดนั้นนี้ จะมีร้านไหนบ้างที่สามารถไปแวะทานกาแฟมะปี๊ดได้ เรียกได้ว่าเป็นการขายสินค้าและช่วยทำการตลาดให้ลูกค้าที่เป็นร้านกาแฟได้ประโยชน์ไปด้วยอีกต่อหนึ่ง
วิธีคิดในการทำธุรกิจของคุณนุ่ม คือเราต้องมองว่าสิ่งที่เราอยากสำเร็จคืออะไร แล้วอะไรที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จได้ แล้ววางกลยุทธ์ภายในของเราให้ดี มันก็จะสามารถไปได้ ด้วยวิธีคิดนี้ทำให้คุณนุ่มสามารถสร้างตัวจากเครื่องดื่มเพียงประเภทเดียว ต่อยอดจนสร้างยอดขายที่ทั้งเลี้ยงตัวเอง และสร้างอาชีพให้เกษตรกรในจังหวัดมีรายได้ตลอดทั้งปี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
แรบบิทจันท์
ที่อยู่: 58 หมู่ที่ 3 ต.พลับพลา อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี 22000
โทร: 089-092-7999
อีเมล: RbChanFarm@gmail.com
เว็บไซต์: www.rabbitchan.com
Facebook: RabbitOrganicChan
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย มุ่งสร้างองค์ความรู้รอบด้าน
เพื่อยกระดับงานคราฟต์ไทยสู่สายตาชาวโลก
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. (SACIT) มีชื่อเดิม คือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกด้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คุณพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ภารกิจหลักของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย คือ การดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งงานหัตถกรรมไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป ทั้งในแง่การสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น และการยกระดับหัตถกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัยสอดคล้องตามความนิยมของแนวโน้มผู้คนทั่วโลก
“เราตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนางานหัตถกรรม จึงมีกระบวนการต้นน้ำในการดำรงไว้ซึ่งงานหัตถกรรมไทย คือ รักษาและขยายองค์ความรู้เหล่านั้น ผ่านการนำเสนอข้อมูลวิธีการสร้างสรรค์ รวมถึงความรู้ที่สามารถนำพาชิ้นงานไปสู่ผู้คนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อาทิ การ Co - Creation เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับงาน การเสริมสร้างทักษะในการทำตลาดหรือทำในเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร เพื่อให้งานหัตถกรรมสามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ”
บนแพลตฟอร์มของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ และ E- Learning Course ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้คนเกี่ยวกับงานหัตถกรรมได้ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีค่าใช้จ่าย
มากไปกว่านั้น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยยังมีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ MSME เพิ่มเติม โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมตามกำหนดการที่ระบุไว้ อาทิ การให้ความรู้ในศาสตร์ของการย้อมผ้า, ย้อมอย่างไรโดยปราศจากการใช้สารเคมีอาศัยเพียงวัสดุท้องถิ่นของคนพื้นที่ และได้มาซึ่งผ้าที่มีสีสวยงาม รวมไปถึงวิธีการเพิ่มโอกาสทางการตลาดต่าง ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์
“ทางสถาบันฯ มีการลงพื้นที่ดำเนินงานต่อยอดทักษะที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว โดยสนับสนุนให้หาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ที่สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถศิลป์ได้ โดยส่วนมากจะเป็นในทางเน้นการ Upskill – Reskill ให้แก่ผู้คนที่สนใจ”
คุณพรรณวิลาส กล่าวเสริมว่า อีกเรื่องที่ทางสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญากับผู้ประกอบการ MSME เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ จึงมีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการตระหนัก และใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม หรือ Intellectual Properties of Crafts โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เหล่าผู้ผลิตผลงานศิลปหัตถกรรมไทยจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านลายเส้น รูปภาพ เทคนิคบางอย่าง และอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตดังกล่าวได้รับการคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันการลอกเลียนแบบ ที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางการตลาด รวมไปถึงสามารถต่อยอดผลงานไปในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ทางสถาบันฯ เล็งเห็นว่าเหล่าครูช่างฯ หรือครูศิลป์ฯ เป็นบุคคลผู้มีความรู้ จึงมีการจัดกิจกรรม Workshop เพื่อเป็นพื้นที่ในการส่งต่อองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงยังมีแผนงานคัดบุคลากรผู้มีศักยภาพสูงเข้าร่วม Cross - culture project ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ ตลอดจนทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นผู้นำทางด้านงานคราฟต์ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
คุณพรรณวิลาส เผยวิสัยทัศน์ในเชิงธุรกิจว่า เสน่ห์ของงานคราฟต์ไทยสามารถนำมาสร้างเป็นจุดแข็งให้กับ MSME ไทยได้ โดยอาศัยตัวช่วยอย่างเทคโนโลยี เนื่องจากงานหัตถกรรมไทยมีโอกาสในแง่ของการส่งออก สิ่งที่ตามมา คือ การขยายฐานผลิต ฉะนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องการย่นระยะเวลา อย่างที่ทราบกันดีว่างานหัตถกรรมในแต่ละขั้นตอนมักจะใช้เวลาพอสมควร จนเมื่อมีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรง เช่น การเหลาไม้ไผ่ สมัยก่อนมักจะใช้มีดเหลา แต่ปัจจุบันมีเครื่องช่วยเหลาไม้ไผ่เข้ามา ผลพลอยได้คือ ช่วยลดอาการบาดเจ็บของผู้ผลิต อีกทั้งยังทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง และสามารถควบคุมคุณภาพให้ไม้ไผ่ที่เหลาออกมามีขนาดเท่ากันทุกชิ้น
“สิ่งเหล่านี้ จะทําให้การทํางานหัตถกรรมมีความสวยงามและน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาไว้ซึ่งเสน่ห์ของชิ้นงานได้ เราเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรม หรือคนที่ทํางานทางด้านอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อรังสรรค์เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่ทํางานหัตถกรรมให้มีอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงมากขึ้น”
คุณพรรณวิลาส ย้ำว่างานคราฟต์ คือ การสร้างอรรถรสทางใจและอรรถรสทางตาให้แก่คนเสพซึ่งเรื่องของอรรถรสอาจจะไม่ใช่อะไรที่เป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต จึงมีโจทย์ที่ตามมา คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนและให้ผู้คนมองหาสิ่งนี้กันมากขึ้น
ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคที่มีกำลังสำคัญในการซื้อ มักมีชุดความคิดเกี่ยวกับการตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ไม่ทำร้ายโลก และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทะนุบำรุงโลกนี้ จึงนิยมบริโภคสินค้าที่ Eco - Friendly เช่น ผลิตภัณฑ์จากการ Reuse, กระเป๋าจากเศษผ้า, รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
“จากงาน Crafts Bangkok 2024 ที่สถาบันฯ เพิ่งจัดไป ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเห็นศักยภาพงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญารากเหง้าของไทยว่าเป็นอะไรที่สามารถส่งต่อ-ส่งออกได้ เนื่องจากสอดรับกับเทรนด์การบริโภคของผู้คนในปัจจุบัน
ที่สำคัญผลงานของไทยเป็นอะไรที่มีเสน่ห์อย่างมาก เพราะผลงานแต่ละชิ้นจากแต่ละท้องถิ่นมีเรื่องราวเฉพาะแฝงไว้เสมอ จนผู้คนสามารถ Remind ได้เองโดยปริยายว่าถ้าต้องการสินค้าลักษณะนี้ต้องเป็นจากพื้นที่นี้เท่านั้น เช่น ถ้าพูดถึงงานไม้ ก็ต้องเชียงใหม่, ถ้างานผ้า ก็ต้องภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน, ถ้าพวกงานที่เกี่ยวกับมโนราห์ จะเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลัง Craft Power ที่สามารถผลักดันเป็น Soft Power ของประเทศได้” คุณพรรณวิลาส กล่าวเพิ่มเติม
ฉะนั้น แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัย ที่มาจากผู้ผลิตที่ได้รับการเติมองค์ความรู้เสริมแกร่งในด้านต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยด้วยตนเองได้ จะสามารถก้าวต่อไปสู่เวทีตลาดโลกต่อไปได้เช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook, Youtube และ TikTok ชื่อ “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย” หรือค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sacit.or.th
สถาบันไทย-เยอรมัน
ผู้วางรากฐาน Ecosystem ของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง
หัวใจสำคัญของการสร้างความเหนือชั้นในโลกธุรกิจ คือกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะความรวดเร็ว ปริมาณที่เครื่องจักรสามารถผลิตได้ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีที่อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายรายตามไม่ทัน จึงต้องมี “สถาบันไทย-เยอรมัน” เป็นตัวช่วย
สถาบันไทย-เยอรมัน หนึ่งในฟันเฟืองของภาครัฐในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2538 มีภารกิจส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกระบวนการผลิต ให้คำแนะนำตามโรงงานในการพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไปจนถึงฝึกอบรมบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต
สถาบันไทย-เยอรมันได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมและเครื่องมือใหม่ ๆ จากทั้งพันธมิตรอีกนานาประเทศ ทั้งเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ทำให้มีองค์ความรู้ด้านการผลิตใหม่ ๆ มาส่งต่อให้กับธุรกิจไทยอยู่เสมอ รวมถึงยังมีการจัดงานสัมมนาศึกษาเทคโนโลยีที่ประเทศดังกล่าวด้วย
ที่ผ่านมาสถาบันไทย-เยอรมันจึงเป็นศูนย์กลางระหว่างฝั่งผู้ผลิตและลูกค้า ผู้มีบทบาทในการสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องกล
อย่างที่ได้กล่าวว่า สถาบันไทย-เยอรมันมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต ลูกค้ารายหลักจึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีงบประมาณสำหรับพัฒนาบุคลากร สามารถลงทุนจัดอบรมเพื่ออัปเดตความรู้ให้กับคนในบริษัทได้ แต่ผู้ประกอบการ MSME มีเงินทุนไม่มากพอที่จะทำเช่นนั้น สถาบันไทย-เยอรมันจึงพยายามจัดโครงการต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ หรือนิทรรศการร่วมกับหน่วยงานเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงองค์ความรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นบันไดขั้นสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย
“เนื่องจากการจัดอบรมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ทำให้ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เช่นกลุ่มยานยนต์ ขนาดกลางก็จะเป็นธุรกิจแพคเกจจิ้งอาหารที่กำลังมาแรง แต่มีลูกค้ากลุ่ม MSME มีน้อย เราจึงใช้โครงการสนับสนุนจากภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ เช่น จัดหลักสูตรพัฒนาการผลิต หากมีโอกาสก็จะเชิญ MSME เข้ามาฝึกอบรมกับทางสถาบันด้วย” คุณสิริวัฒน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กล่าว
ด้วยขนาดของธุรกิจประเภท MSME ที่ยังเล็ก ซึ่งเสี่ยงต่อการลงทุนซื้อเครื่องจักรอันเกิดจากขาดแคลนเงินทุน บุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิต สถาบันไทย-เยอรมันจึงมีวิธีสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME โดยแบ่งออกตามประเภทของอุปสรรค ดังนี้
1.ขาดแคลนเงินทุน สำหรับผู้ประกอบการที่กังวลเกี่ยวกับการลงทุนซื้อเครื่องจักร สถาบันไทย-เยอรมันจะช่วยทำการวิเคราะห์ผ่าน System Analyze ว่าธุรกิจนั้น ๆ เหมาะกับการลงทุนเทคโนโลยีแบบใด อะไรคือกลไกแห่งความสำเร็จ จากนั้นหารือร่วมกับธนาคารที่เป็นพันธมิตรของสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อสร้าง Credit ในการกู้ยืม ให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก และหามาตรการทางภาษี (เหมาะกับบริษัทที่มีกำไร) ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30% หรือมากที่สุด 100% ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่ค่อยรู้ ว่าปัญหาเรื่องเงินทุนก็สามารถเข้ามารับคำปรึกษากับสถาบันไทย-เยอรมันได้เช่นกัน
สถาบันไทย-เยอรมัน มองเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมว่า ความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญต่อธุรกิจทั้ง MSME และธุรกิจรายใหญ่ในปัจจุบัน
ทางสถาบันไทย-เยอรมันจึงเตรียมการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ลดคาร์บอน มีเทคโนโลยี Carbon Platform ที่จะเข้าไปดูว่าในกระบวนการนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไร ต้องปรับปรุงในไลน์การผลิตใดเพื่อลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำ Carbon Credit ไปใช้ต่อได้ในอนาคต
อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือเทคโนโลยีการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่ยังไม่ต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) เทคโนโลยีที่สถาบันไทย-เยอรมันคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ก็คือการใช้หุ่นยนต์แบบ Physical ซึ่ง MSME สามารถติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาได้ เพราะที่สถาบันไทย-เยอรมันมีห้องปฏิบัติการทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ เพื่อรับรองมาตรฐานความปลอดภัย
“การลงทุนซื้อเครื่องจักรต้องคำนึงถึงจำนวนในการผลิตแต่ละรอบ สำหรับกลุ่ม MSME ควรจะออกแบบกระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่นสูง (Flexible Automation) เท่ากับว่าสามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้แบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้ ให้สามารถผลิตได้หลาย ๆ อย่าง (Modular Design) ซึ่งจะสนับสนุนความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต ให้มีความ Customized หรือ Individual ไว้จะดีกว่า” คุณสิริวัฒน์ กล่าวถึงการนำลงทุนเครื่องจักรที่เหมาะสมกับธุรกิจ MSME
ในอนาคตสถาบันไทย-เยอรมัน จะมีโครงการศูนย์ 5G Test Base ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัล เหมาะสำหรับโรงงานที่ไม่อยากเดินสายไฟ ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง AI ในการใช้ Data บริหารการผลิตในโรงงาน อาทิ Advance Robotic ที่ทางสถาบันไทย-เยอรมันร่วมพัฒนากับญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมนี้ให้นักพัฒนาระบบนำไปใช้กับโรงงานของตน และมีระบบ Smart Logistic เพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงผลิตภัณฑ์ ทำให้การขนส่งแม่นยำยิ่งขึ้น
สุดท้าย คุณสิริวัฒน์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักในการลงทุนเครื่องจักรไว้อีกว่า “เห็นหลายที่มีการลงทุนเครื่องจักรที่มีการเชื่อมโยง Data มาใช้ในการจัดการ ที่อยากแนะนำคือ ควรใช้เครื่องจักรที่สามารถเชื่อมระบบการทำงานกับเครื่องจักรอื่น ๆ ได้ด้วย เพื่อให้บริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่ต้องดูการผลิตแบบ Real Time ก็จะทำให้ผู้ควบคุมตัดสินใจวิธีการทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งก็คือการผสานเทคโนโลยี AI กับ Data นั่นเอง”
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันไทย-เยอรมัน ที่อยู่: 700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถ. บางนา-ตราด กม. 57 ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 E-mail: crm_dept@tgi.mail.go.th และ www.facebook.com/thaigermaninst
กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ ได้จัดทำ "รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๗ และแนวโน้มปี ๒๕๖๗" โดยมี
วัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำไตรมาสและประมาณการเศรษฐกิจในรอบปี รวมทั้ง
วิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในระยะเวลา ๑ ปีข้างหน้า ให้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาและสาธารณชน
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์และดาวน์โหลด
ได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ "www.nesdc.go.th" หัวข้อ "ภาวะเศรษฐกิจรายใตรมาส" หรือสแกน OR Code ที่ปรากฏในรูปภาพหรือลิงก์ที่แนบมานี้