มือใหม่อยากทำร้านอาหาร เริ่มต้นอย่างไรดี?

 

ร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของผู้ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2562 โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ติดอยู่ในอันดับ 3 ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ มักจะให้ความสนใจธุรกิจร้านอาหารเป็นลำดับต้นๆ เพราะเหตุผลสำคัญคือ อาหาร เป็นปัจจัย 4 ที่คนขาดไม่ได้ ยิ่งทุกวันนี้ ร้านอาหารเสมือนเป็นสถานที่แฟชั่นให้คนยุคดิจิทัล ไปอัพสเตตัสเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์กัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายของตัวเอง เรียกว่า “เก่าไป ใหม่มา” กันไม่ขาดสาย

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ใช่ว่ามีสูตรอาหารอร่อย มีทำเลดี ๆ แล้วจะสามารถเปิดร้านได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องมี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ จะต้องศึกษาและรู้ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้ถ่องแท้ มาดูกันว่า ถ้ามือใหม่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง ควรรู้และต้องทำอะไรบ้าง?

 

เลือกรูปแบบร้านอาหารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนเลือกรูปแบบของร้านและอาหารที่ต้องการจะขายให้ชัดเจน โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทร้านอาหารเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining) และร้านริมบาทวิถี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ Kiosks, Street Food, Food Truck เป็นต้น

 

สร้างเอกลักษณ์ให้ร้านอาหาร

เมื่อพิจารณารูปแบบของร้านอาหารได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การสร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ คือการมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเอกลักษณ์ด้วยเมนูอาหาร การให้บริการ หรือบรรยากาศภายในร้าน เป็นต้น

 

ขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง

เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีผลต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโดยตรง ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเรื่องสถานที่จำหน่ายและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545

โดยกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท

สำหรับการการยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ  ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ดังนี้

– สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

– สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล

– สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล

– สำนักงานเมืองพัทยา

ส่วนในกรณีของร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หากร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขายสุราต่อกรมสรรพสามิต โดยสามารถดำเนินการได้ที่

– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

หรือในกรณีที่ทางร้านอาหารมีการเปิดเพลง ฉายภาพวีดีทัศน์ หรือฉายภาพถ่ายทอดสดรายการที่มีลิขสิทธิ์  จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย รวมถึงการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการก็จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

 

จัดเตรียมเรื่องอาหาร สถานที่และบุคลกรให้พร้อม

ในส่วนสถานที่ ในการก่อสร้าง / ดัดแปลงอาคาร เพื่อทำร้านอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง/ ดัดแปลงอาคาร เพราะเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

ส่วนสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสถานที่ เช่น ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ล้างมือ การจัดการด้านห้องสุขา ซึ่งจำนวนห้องสุขาจะขึ้นกับจำนวนที่นั่งในร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดการน้ำเสีย เช่น การติดตั้งบ่อดักไขมัน น้ำทิ้ง การจัดการขยะมูลฝอย เช่น การแยกเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย เนื่องจากร้านอาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีเขตปลอดบุหรี่

ในส่วนของอาหารที่จำหน่ายก็ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด/ แห้ง/ ปรุงสำเร็จ ต้องสะอาดปลอดภัย น้ำ เช่น น้ำดื่ม/ น้ำแข็ง ต้องได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารต้องถูกต้องปลอดภัย เช่น ห้ามใช้ก๊าซกระป๋องปรุงอาหารบนโต๊ะ ตลอดจนสุขลักษณะของอุปกรณ์และภาชนะ เช่น เก็บอุปกรณ์สูงจากพื้น 60 ซม. ป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์หรือแมลงนำโรค การฆ่าเชื้อภาชนะหลังทำความสะอาด

สุดท้ายด้านบุคคลกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หรือผู้สัมผัสอาหาร ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น คือต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้

 

จัดการเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง

เรื่องของภาษีต่างๆ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรดำเนินการอย่างถูกต้องเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ซึ่งต้องมีการยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.40 และลดหย่อนโดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% กรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และถ้ากำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 20%

พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายได้เกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ต้องการมีป้ายหน้าร้าน จะต้องขออนุญาตติดตั้งป้ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้าน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด โดยภาษีป้ายจะเรียกเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึก ตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา รวมถึงป้ายหน้าร้านตามร้านอาหารทั่วไป ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ส่วนอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือใช้ร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และขนาดของป้ายตามที่กำหนด

 

หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารบ้าง?

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th

2. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง www.excise.go.th

3. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ foodsan.anamai.moph.go.th

 

ที่มาข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

Published on 13 February 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

อยากเปิดร้านอาหาร คาเฟ่ เริ่มต้นอย่างไร?

หัวข้อ : คู่มือการให้คำปรึกษาธุรกิจ SMEs
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติมwww.dbd.go.th/download/promotion_file/manual_sme600529.pdf

 

ธุรกิจร้านอาหารยังคงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ สำหรับคนที่มีไอเดียและความพร้อม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเปิดร้านอย่างไรให้ถูกขั้นตอนตามกฏหมาย เริ่มต้นได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

สำหรับ “ธุรกิจร้านอาหาร” นั้นหมายถึง

  • การประกอบกิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน โดยอาจจัดเตรียมที่นั่งให้ผู้บริโภคได้รับประทานภายในสถานที่ที่ให้บริการ
  • การให้บริการบรรจุอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคนำไปรับประทานที่อื่นได้

 

กระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งประเภทร้านอาหารออกเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่

  1. ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining)
  2. ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining)
  3. ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining)
  4. ร้านริมบาทวิถี (Kiosk)

 

ขั้นตอนในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร

1) วางแผนรูปแบบของร้านอาหาร

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก สิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ผู้บริโภคอาหารของเราเป็นกลุ่มไหน จะต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจและคู่แข่งในบริเวณนั้นด้วย

  • กลุ่มคนทำงานที่มีกำลังซื้อสูง อาจมีความต้องการในการนัดพบปะเพื่อเข้าสังคมหรือบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเจรจาธุรกิจ หรือ
  • หากเจาะกลุ่มครอบครัว หรือทำเลร้านอยู่ใกล้ชุมชนที่อยู่อาศัย อาจเป็นลักษณะร้านที่ขายอาหารที่เน้นคุณภาพ มีเมนูที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของครอบครัวที่มารับประทาน

 

2) สร้างเอกลักษณ์ของร้านอาหาร หรือสิ่งที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเป็นสิ่งแรกเมื่อจะใช้บริการร้านเรา

  • อาจเป็นเมนูอาหารที่โดดเด่น มีการควบคุมคุณภาพและรสชาติให้ดีอยู่เสมอ
  • การบริการที่สร้างความประทับใจ หากราคาสินค้าสูง ลูกค้าจะมีความคาดหวังต่อบริการมาก แต่หากเป็นร้านอาหารทั่วไปอาจคาดหวังต่อบริการแค่ความรวดเร็วเท่านั้น
  • บรรยากาศที่ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากร้านอื่น ๆ หรือ ความสะอาดของสถานที่ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก (Word of Mouth) หรือการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดเพื่อให้เกิดการจดจำนำไปสู่การใช้บริการซ้ำในอนาคต

 

3) ขอจดทะเบียนจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร

  • การเปิดร้านอาหาร หรือร้านขายอาหารเป็นธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงได้ ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติ เพื่อควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร
  • ร้านอาหารที่มีพื้นที่ของร้านไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้ง” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  • ร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาต” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท
  • การยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้
    – สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
    – สำนักงานองค์การบริหารส่วนต าบล
    – สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล
    – สำนักงานเมืองพัทยา

 

4) ขอใบอนุญาตและจดทะเบียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

• การขออนุญาตจำหน่ายสุราหรือยาสูบ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต โดยสามารถขออนุญาตได้ที่
– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

• การขอออนุญาตเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลง
– การเปิดเพลง ภาพวิดีโอ หรือ การถ่ายทอดสด ที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดอยู่ จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
– อัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้าของสิขสิทธิ์เป็นผู้กำหนด
– ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตไม่ว่าจะเป็นการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ตก็ตาม

• การขอประกอบกิจการสถานบริการ
– ร้านที่จำหน่ายอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่ม โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น.
– สถานที่เต้นรำหรือมีการเต้นรำ การอนุญาตให้พนักงานหรือนักแสดงนั่งกับลูกค้า มีคาราโอเกะให้ลูกค้าร้องเพลง
ถือว่าเข้าข่ายสถานบันเทิงต้องขออนุญาตตามหน่วยงานที่กำหนด
กรุงเทพมหานคร: สถานีตำรวจท้องที่ หรือ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่างจังหวัด: ที่อำเภอท้องที่ ที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่ (ที่ทำการปกครองอำเภอ)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
– สำนักงานจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
– กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

• จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
– ผู้ประกอบการหากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
– กรณีใช้เครื่องบันทึกการเก็บ จะต้องขออนุญาตการใช้เพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร

• ขออนุญาตติดตั้งป้ายเพื่อเสียภาษีป้าย คือ
– ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ
– ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึกตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา
– ผู้ประกอบการเปิดร้านกาแฟที่มีป้ายหน้าร้านก็ต้องเสียภาษี ด้วยอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดที่กำหนด

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพของธุรกิจและเสริมสร้างความรู้ในการทำธุรกิจตลอดจนทำการเชื่อมโยงตลาด (Business Matching)
เว็บไซต์ www.dbd.go.th
ที่อยู่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินน้ำ) 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
สายด่วน 1570
อีเมล computer@dbd.go.th

 

กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

บริหารจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสินค้าและบริการซึ่งควรรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไนต์คลับ และดิสโก้เธค ผู้ประกอบการที่ต้องการจทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราหรือยาสูบ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ www.excise.go.th
ที่อยู่ 1488 ถ.นครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 022415600
อีเมล webmaster@excise.go.th

 

สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารและน้ำบริโภคของประเทศ เช่น มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean food Good taste รวมถึงจัดอบรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกสุขอนามัย ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ foodsan.anamai.moph.go.th
ที่อยู่ 88/22 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
สายด่วน 025904188
อีเมล webmaster@excise.go.th

 

 

Published on 2 July 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

4 ปัจจัยสู่ความสำเร็จธุรกิจฟู้ดทรัค

หัวข้อ : Food truck เทรนด์ธุรกิจร้านค้าตอบโจทย์ชีวิตช่วงโควิด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/food-truck-trend-in-store-business-responds-to-life-covid-19

 

 

ฟู้ดทรัค (Food Truck) รถขายอาหารเคลื่อนที่ เป็นเทรนด์ธุรกิจที่นักลงทุนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและได้รับการตอบรับดีในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะใช้ลงทุนตั้งต้นไม่สูงนัก ประมาณ 450,000–500,000 บาท สามารถย้ายร้านไปหากลุ่มเป้าหมายได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปักหลักประจำหรือนำไปร่วมงานกิจกรรมอีเว้นต่างๆ และยังบริหารจัดการง่าย เพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินกิจการได้ ธุรกิจนี้จึงตอบโจทย์ลูกค้าและไลฟสไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไปได้ดี

 

 

ปัจจัยในการทำธุรกิจ Food Truck ให้ประสบความสำเร็จ

1. มีพื้นที่ทำเล ที่ตั้ง ทั้งแบบจรหรือปักหลักที่ดี

ทำเลที่ตั้งคือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารแบบฟู้ดทรัค จะเป็นต้องอาศัยเรื่องทำเลเข้าช่วยเป็นอย่างมาก สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ

  • ควรหาที่ตั้งทั้งแบบปักหลักหรือจรเป็นบางช่วงเวลา
  • ตั้งอยู่ใกล้ออฟฟิศใหญ่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ใจกลางเมือง หรือสถานที่คนพลุกพล่าน
  • ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่วางไว้
  • ออกร้านตามงานต่างๆ เช่น งาน Art box, งาน FOOD TRUCK FESTIVAL หรืองานที่เปิดโอกาสให้ฟู้ดทรัคเข้าร่วมออกร้านด้วย

 

2. การตกแต่งดี คลุมธีมดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

  • ทำให้ร้านเป็นจุดสนใจ นอกจากจะดูเรื่องคุณภาพของรถที่จะนำมาทำเป็นฟู้ดทรัคแล้ว การตกแต่ง สีสันและการคุมธีมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ลูกค้าเกิดภาพจำที่ดี ทำให้ลูกค้าเกิดการแชะ ชิม แชร์ ซึ่งเป็นการทำตลาดที่ได้ผลทำให้เกิดความสนใจจากกลุ่มคนหน้าใหม่ ๆ ตามมา
  • สีสันตัวรถที่ต้องโดดเด่น เห็นง่าย เพื่อให้คนสนใจและจดจำ
  • ต้องคุมธีมของร้านให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งบรรยากาศ รายการอาหาร ภาชนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์

 

3. รสชาติดี มีรวยติดล้อ

การทำฟู้ดทรัคก็เหมือนการทำร้านอาหารรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่เป็นแบบเคลื่อนที่ได้ ไม่มีหน้าร้านประจำ และใช้งบประมาณไม่มากในการดำเนินการภายในร้านเหมือนร้านอาหารทั่วไป ดังนั้นเรื่องของรายการอาหาร การตกแต่ง สีสัน และรสชาติดี จึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจอาหาร เพื่อช่วยในเรื่องของยอดขาย การจดจำแบรนด์ที่ดี คืนทุนได้เร็ว และต่อยอดธุรกิจออกไป


4. ปรับแต่งรถให้ได้มาตรฐาน

การเน้นความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล ก็เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

  • ดูแลเรื่องความสะอาดภายในรถให้ดี
  • นำรถไปตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสอบระบบสายไฟฟ้า อย่าให้รั่วชำรุดมีอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้ารั่วได้แบบอัตโนมัติ และควรติดตั้งสายดินไว้เป็นตัวช่วยในการใช้งานระบบไฟฟ้าให้ปลอดภัย

 

การทำธุรกิจฟู้ดทรัคนั้นต่างจากรถพุ่มพวงหรือรถพ่วงขายอาหารที่เห็นกันเจนตาในบ้านเรา และเป็นร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งที่เคลื่อนดีได้ หัวใจสำคัญดังกล่าวจึงเป็นเสมือนกุญแจที่จะนำพาธุรกิจฟู้ดทรัคไปสู่ความสำเร็จได้ โดยช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าเช่าสถานที่แบบประจำถาวรเหมือนการเปิดหน้าร้าน และลดต้นทุนการจัดการเรื่องคนงานลง นอกจากนี้ยังเหมาะที่จะใช้ลุยฝ่าวิกฤติโควิด-19 รับกระแส New Normal ได้ด้วย

 

Published on 7 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

รีวิวศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

รีวิวศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 

รีวิวศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

รีวิวศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

บทความแนะนำ