
นับตั้งแต่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หายไปจากระบบแล้ว 35% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย ส่วนจำนวนที่เหลือในระบบส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่ากลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและค้าปลีกเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ 100% ในช่วง 2 เดือนแรก แม้หลังคลายล็อค มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดเท่านั้น ในขณะเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ก็มีอาการอ่อนล้าไม่ต่างกัน หากภาครัฐไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้อีกครั้ง และสถานการณ์ยังคงลากยาวต่อไป เชื่อว่าเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการไปอีกจำนวนมากในปีหน้า
“ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด และไม่มีการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนที่ดีพอ เมื่อยิ่งเจอกับวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าผลิตไปก่อนแต่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันที เนื่องจากติดกับกับเครดิตเทอมที่มีระยะเวลายาวนาน แต่ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้หลายๆ รายจึงเกิดการสะสมให้เงินลงทุนจมไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีระบบออโตเมท จึงจำเป็นต้องใช้แรงงาน เมื่อไม่มีเงินมาหมุน แต่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น”
คุณโชนรังสี สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทางสมาพันธ์ SME ไทยจึงได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม”
เริ่มจาก “2 ลด” ได้แก่ การลดภาระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการรวมหนี้จากหลายๆ สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อให้มาอยู่ในสถาบันการเงินเดียว เพื่อเกิดความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษ และไม่เป็นแบล็กลิสต์ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือที่เป็นแล้ว ภาครัฐควรมีวิธีการพิจารณาคัดแยกเกรดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพในการฟื้นตัวสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสนามรบได้อีกครั้ง
“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากทางภาครัฐมีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนไปเร็ว ทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการยื่นขอสินเชื่อ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา เราจึงคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินแบ่งสินเชื่อที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ขยัก โดยปล่อยเม็ดเงินบางส่วนออกมาก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินตรงนั้นมาหยุดเลือด หรือรันให้ธุรกิจพอหายใจได้ ส่วนขยักที่ 2 ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ต้องก็มีความยืดหยุ่นด้วย”
ต่อมาคือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการยืดมาตรการที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว อาทิ ลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดอัตราค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าจัดส่งของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด
ส่วน “2 เพิ่ม” ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการให้สินเชื่อที่มีกลไกเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าที่ผ่านมา , สร้างกองทุนเอสเอ็มอี และมาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือลดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การหักภาษี โดยเฉพาะภาษีนิติลบุคคลประจำปี เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปในปีหน้าได้
อีกหนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสการค้าทางการตลาด โดยเฉพาะในยามที่สินค้ายังไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทางภาครัฐควรสร้างกลไกให้เกิดช่องทางตลาดในประเทศมากขึ้น
คุณโชนรังสี กล่าวว่า ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องสร้างความแข็งแรง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกภายในให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ระดับสากล
ในเวลาเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง ด้วยการต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับยุคดิจิตัล โดยเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ในองค์กร และเติมพนักงานรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการต้องมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลการทำงานแบบ Agility เพื่อปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญต้องวางแผนกระแสเงินสด ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปีละครั้งเหมือนในอดีต
“ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ SME ไทย เราอยากให้เอสเอ็มอีมี Mindset ของการเป็นนักสู้ซึ่งเป็นนักสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราเป็นนักสู้แบบมวยวัด ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมวยสากลให้ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนพยายามมีความหวัง โดยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหาทางออกหรือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ SME ไทยที่ว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย