9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้จาก สคบ. ฉลากสินค้าแบบไหนที่เรียกว่า “ดี”

สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย

ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน

โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้

  • ยี่ห้อ และประเภทหรือชนิดของสินค้า
  • ชื่อ-ที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายหรือนำเข้าที่สามารถติดต่อได้จริง
  • กรณีสั่ง/นำเข้าให้ระบุประเทศที่ผลิต
  • ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
  • ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก
  • วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ หรือคำเตือน (ถ้ามี)
  • วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
  • ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ

1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า

2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า

 

 

ที่มา

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

จดเครื่องหมายการค้าด้วยตัวเอง ทำง่ายใน 3 ขั้นตอน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน

จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…

 

 

1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

 

 

2. ยื่นคำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย

  • คำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) ดาวน์โหลด แบบ ก.01 โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร ต้นฉบับ 1 ชุด และถ่ายสำเนาอีกจำนวน 5 ชุด
  • รูปเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนกับรูปที่ติดในคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 รูป
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับนายทะเบียนรับรองและออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ในกรณีการมอบอำนาจ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18) ดาวน์โหลด แบบ ก.18 พร้อมปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน

สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

 

3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ

สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท

หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง

จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม

เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ส่องนวัตกรรมอาหาร 10 เทรนด์แรง! ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

“ทางเลือก” “ความยั่งยืน” และ “การปรับแต่งให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล” เป็น 3 สิ่งสำคัญที่จะเข้ามากำหนดแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารโลกในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีความหลากหลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลได้อย่างแท้จริงเท่านั้น ยังต้องมีการพัฒนาและนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อทำให้ “อาหาร” แหล่งพลังงานสำคัญของการขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ สามารถเติมเต็มช่องว่างของความต้องการของผู้บริโภคได้

Statista หน่วยงานที่รวบรวมสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดของอุตสาหกรรมต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 รายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกจะอยู่ที่ 64,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 10.2% ส่งผลให้รายได้ของตลาดจะขยับขึ้นไปถึง 95,421 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2566

เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสที่จะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ไป มาดู 10 เทรนด์ที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารในมุมมองของบริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม Innova Market Insights กัน

 

 

1. “ความแปลกใหม่” เอาใจผู้บริโภคชอบผจญภัย

การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ “โลกาภิวัฒน์” กระตุ้นให้ผู้คนออกไปแสวงหาอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ พยายามเพิ่มลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ กลิ่น รสชาติ สี หรือ เนื้อสัมผัสของอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ เช่น Kit Kat ได้เปิดตัวช็อกโกแลตรสชาติใหม่อย่าง Ruby Chocolate หรือช็อกโกแลตทับทิม ที่มาในสีชมพูสดใส และมีรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ เหมือนผสมเบอร์รี่ ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญและวิวัฒนาการของวงการช็อกโกแลต จากเดิมที่มีเพียงแค่ดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต และไวท์ช็อกโกแลต

 

2. อาณาจักรแห่ง “พืช”

กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค บวกกับการคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนและสวัสดิภาพของสัตว์ ส่งผลให้อาหารที่มีส่วนประกอบหรือทำจากพืชยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์เองก็หันมาใช้พืชเป็นส่วนประกอบในอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งหมด หรือเป็นการผสมผสานกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น Carrefour ได้นำเสนอ Le Palet Boeuf Et Vegetal ซึ่งเป็นการผสมผสานของเบอร์เกอร์ที่มีส่วนประกอบจากพืชและเนื้อวัว

 

 

3. “อาหารทางเลือก” มาแรง

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืชและอาหารมังสวิรัติ จำนวนของชาววีแกน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก อย่างเช่น เนื้อ นม โปรตีน สารให้ความหวาน และแม้กระทั่งปลา โดยกระแสโปรตีนทางเลือกจากพืชกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น และมีหลายแบรนด์ทำผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในจุดนี้ เช่น Likemeat ที่ทำไส้กรอกแฮมจากโปรตีนถั่ว หรือ Jimini’s ที่ทำธัญพืชอัดแท่งที่มีโปรตีนจากจิ้งหรีด เป็นต้น

 

4. “รักษ์โลก” แรงหนุนด้านความยั่งยืน

จากผลการสำรวจของ Innova Market Insights บอกไว้ว่า ผู้บริโภค 2 ใน 3 ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน กล่าวว่า บริษัทอาหารต่างๆ ควรมีการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นด้านของการพัฒนา ตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือความรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า แบรนด์หรือบริษัทนั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

 

5. “ขนมขบเคี้ยว” ไม่ใช่แค่ของกินเล่น

ของกินเล่น หรือ ขนมขบเคี้ยว จะไม่ใช่แค่อาหารที่ทานเล่นอีกต่อไป เมื่อ 63% ของชาวมิลเลนเนียม (Millennials) เลือกบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลัก เนื่องจากไม่มีเวลาว่าง ซึ่งด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาหารมื้อหลักและของทานเล่นเริ่มจะถูกผสานเข้าด้วยกัน โดยขนมเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขนมที่ทำจากผักหรือเห็ด เป็นต้น

 

 

6. จับตา “อาหารส่วนบุคคล”

ความต้องการและความชอบส่วนบุคคล มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเห็นได้ว่า อาหารสามารถปรับให้เข้ากับความชอบเฉพาะบุคคล หรือ Personalised ได้ เช่น EatLove แพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคลและบริการวางแผนอาหาร ได้จับมือร่วมกับ AmazonFresh เพื่อส่งมอบอาหารส่วนบุคคล โดยเป็นบริการที่จะทำการวิเคราะห์สูตรอาหารที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ พร้อมบอกรายการของที่ต้องใช้ในการทำอาหารในมื้อนั้นๆ ซึ่งสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ผ่านทาง AmazonFresh และรอรับที่หน้าบ้านได้เลย

 

7. การกลับมาของ “ไฟเบอร์”

ไฟเบอร์ หรือ เส้นใยอาหาร กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวงการอาหาร โดยผลการศึกษาของ Innova Market Insights บอกว่า 44% ของคนในอเมริกา และ 33% ของคนในสหราชอาณาจักรที่ตอบแบบสอบถามนั้น มีการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อ้างถึงการใช้ไฟเบอร์เป็นส่วนผสมเติบโตขึ้นถึง 21% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นการใช้ไฟเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนผสมของโภชนาการด้านกีฬา เช่น สปอร์ตบาร์ต่างๆ (Sports Bars) เป็นต้น

 

 

8. ทานแล้ว “รู้สึกดี”

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งแค่เรื่องของโภชนาการอีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องการทานอาหารที่จะทำให้รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือ จิตใจ โดยมีอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตัวโดยชูเรื่องทานแล้วรู้สึกดีให้เห็นมากขึ้น เช่น Oreo Joy Fills โอรีโอโฉมใหม่ที่ไม่ได้มาในแบบคุกกี้กลมๆ เหมือนเดิม ถึงรูปทรงจะเปลี่ยนไปแต่ความอร่อยยังถูกใจสาวกเช่นเดิม นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ยังกล่าวว่า “ความผ่อนคลาย” คือ สิ่งสำคัญในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

 

9. คนเลือกซื้อของจาก “แบรนด์เล็ก”

บริษัทสตาร์ทอัพยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้ามาเขย่าวงการอาหารและเครื่องดื่ม โดย 2 ใน 5 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ชอบซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์เล็กๆ เนื่องจากมองว่า พวกเขามีความใส่ใจในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า และมีเรื่องราวในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นการแก้เกม แบรนด์ใหญ่จึงเริ่มหันมาจับมือร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่าง Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตเนื้อกระป๋องทดแทนจากพืช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Tyson Foods, Humane Society, General Mills และนักแสดงอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ

 

 

10. “โซเชียลส่งเสียง” ร่วมสร้างสูตรอาหาร

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับเทรนด์นี้ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ว่า พวกเขาทานอะไรกันได้แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารไปยังแบรนด์หรือบริษัท ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอาหาร โดยผู้บริโภคชาวจีน (55%) อเมริกัน (43%) และอังกฤษ (24%) ที่มีอายุ 26 – 35 ปี กล่าวว่า พวกเขาถ่ายรูปอาหาร แล้วโพสต์บนออนไลน์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และด้วยเทรนด์นี้ ทาง โอรีโอ จึงสร้างแฮชแท็ก #myoreocreation ที่ให้แฟนๆ เลือกได้ว่า อยากได้รสชาติใหม่รสไหน ซึ่งรสเชอร์รี่โคล่า เป็นผู้ชนะไปและได้ผลิตออกสู่ตลาดจริง

 

“นวัตกรรม” ทางออก SME สร้างความต่าง ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

ในขณะที่แบรนด์โลกเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ต่างพากันนำเอานวัตกรรมมาประยุตก์ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาท้าสายตาของผู้บริโภคและนักชิม ยกตัวอย่าง ดร. ภูมิยศ พยัคฆวรรณ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไก่แผ่นอบกรอบ Sexy Chick ที่นำเนื้ออกไก่มาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว ซึ่งผ่านกระบวนการขึ้นรูปใหม่และอบแห้ง ให้ทั้งโปรตีนสูงและพลังงานแก่ร่างกาย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ

 

 

“เรามุ่งเจาะไปที่ตลาดนักกีฬา คนออกกำลังกาย คนเล่นกล้ามที่ต้องอาศัยการทานโปรตีน รวมถึงคนรักสุขภาพที่ไม่อยากทานพวกไขมันและแป้ง โดยทำการเปลี่ยนการบริโภคเนื้ออกไก่ในรูปแบบเดิมๆ มาเป็นขนมทานเล่นที่มีโปรตีนสูง เพื่อทำให้เกิดความแปลกใหม่ และไม่จำเจ โดยเฉพาะกับนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องทานอกไก่อยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาสินค้าออกมาสักชิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า จะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งการจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และเข้าไปอุดช่องว่างในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการใช้นวัตกรรม ที่จะมาช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น”

 

 

ในขณะที่ตลาด Ready to Cook หรือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณอภัสนันท์ พงศ์ธนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Top THAI LED CO WORKER CO., LTD จึงไม่รอช้าที่จะนำนวัตกรรมการทำแห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze dehydration หรือ Lyophilisation) มาพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ภายใต้แบรนด์ AP Thailand

“ฟรีซดราย เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของต่างชาติ ช่วยรักษาคุณภาพ โดยคงสภาพความสดใหม่ของอาหารได้เป็นอย่างดี และเก็บได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังตอบรับกับกระแส Ready to Cook ทั้งในแง่ของผู้บริโภครายเล็กและร้านอาหารในต่างประเทศที่ต้องการหาสมุนไพรและวัตถุดิบแบบไทยๆ ได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เมื่อสังคมผู้สูงวัยมีการเติบโตมากขึ้น ขณะที่ผู้มีปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืนยังถูกมองข้าม จึงจุดประกายให้ คุณชวลิต ธนสหวรคุณ ผู้อำนวยการ บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุกขึ้นมาพัฒนาเยลลี่สูตรใหม่ ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น รับประทานง่าย รสชาติอร่อย และพกพาสะดวก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้

 

 

“เดิมทีเรามีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย เป็นแบบผงชงแล้วดื่มอยู่แล้ว ทำให้เรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ จึงมีความคิดที่จะต่อยอดและนำไปพัฒนาเป็นอาหารประเภทอื่น จนมาตกผลึกที่การเป็นเยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มี โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ทดลองกันอยู่หลายสิบครั้งจึงสำเร็จออกมา โดยเป็นเยลลี่ที่กลืนง่าย มีความลื่นหรือหนืดที่เหมาะสม และมีการเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น สารสกัดจากใบแปะก๊วย โอเมก้า 3 (อีพีเอ/ EPA) โปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม และวิตามินแร่ธาตุสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน น้ำตาล และน้ำตาลแลคโตส”

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากและช่องคอ ผู้มีความบกพร่องของหลอดอาหาร รวมถึง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งระบบประสาทสั่งงานด้านการเคี้ยวและกลืนไม่สัมพันธ์กัน

“การกลืนอาหารหรือน้ำไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาการขาดน้ำและสารอาหารแล้ว ยังทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมด้วย โดยผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาทำให้ทั้งสุขภาพและชีวิตทางสังคมของคนเหล่านี้ดีขึ้นได้”

เห็นแล้วใช่ไหมว่า หากต้องการจะทำธุรกิจอาหารยุคใหม่ให้แตกต่างและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องไม่มองข้าม “นวัตกรรม” อย่างเด็ดขาด

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

10 เทคนิคกู้เงิน ฉบับ SMEs

ปัญหาหลักที่มักพบ เวลากู้เงินธนาคาร

ปัญหาการกู้เงินของผู้ประกอบการ SMEs ไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือง่าย แต่ด้วยปัจจุบันการกู้ไม่ผ่าน หรือที่บอกว่ากู้ยาก น่าจะเป็นการสื่อสารหรือไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ ที่ความคิดเห็นในบางมุมยังไม่ตรงกัน เช่น ธนาคารต้องการข้อมูลบางอย่าง แต่ผู้กู้ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ได้ตรงตามที่ธนาคารต้องการได้ ก็อาจทำการกู้นั้นกู้ไม่ผ่าน ดั้งนั้น ผู้ที่ต้องการกู้จะต้องเตรียมตัวพอสมควร เพื่อให้ธนาคารหรือผู้ให้กู้ มั่นใจว่า การกู้ครั้งนี้ผู้กู้สามารถชำระเงินคืนได้

นอกจากการสื่อสารที่เป็นปัญหาแล้ว ต้องมองในมุมผู้ให้กู้ว่า หากมีคนมากู้เงินเรา สิ่งที่เรากังวลคือวัตถุประสงค์ของเงินนี้จะนำไปทำอะไร มีโอกาสที่จะชำระคืนได้ไหม ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน สามารถชำระได้หรือไม่ ในมุมของธนาคารก็เช่นกัน การที่จะให้ SMEs หนึ่งรายกู้เงิน ธนาคารก็ต้องการทราบว่าธุรกิจที่ต้องการกู้มีศักยภาพหรือความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และความสามรถในการชำระคืนเป็นไปตามที่ตกลงกันหรือเปล่า

สิ่งเหล่านี้ คือ การที่ SMEs ต้องแสดงตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์พูดคุย หรือการเตรียมข้อมูลเอกสารต่างๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่า สิ่งที่ธนาคารต้องการนั้น ลูกค้าสามารถสอบผ่านในเกณฑ์ต่างๆ ของธนาคารได้

เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs กู้เงินจากธนาคารได้ง่ายขึ้น
เป็นเทคนิคที่ บสย. รวบรวมจากผู้ประกอบการ SMEs และธนาคาร สรุปเป็นหัวข้อ ดังนี้

1.  พฤติกรรมการชำระหนี้ 

ทำอย่างไรให้ธนาคารรู้จักเราพอสมควร เราเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สิ่งนี้ ถือเป็นด่านแรกที่ธนาคารจะตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการมีประวัติชำระหนี้ที่ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบธนาคารได้มากที่สุดในเรื่องพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่านมาว่า ลูกค้ารายนี้เป็นลูกค้าที่ดีหรือไม่ เคยติดยอดค้างชำระอะไรหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการยื่นขอสินเชื่อธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือสินเชื่อส่วนบุคคล หรือซื้อรถ ซื้อบ้าน ทุกคนต้องแสดงตัวตน เรื่องประวัติการชำระหนี้ จากการตรวจสอบประวัติเครดิต หรือที่เรียกว่า “เครดิตบูโร”

 

2. เตรียมบัญชีธุรกิจ 

การเตรียมบัญชีของกิจการหรือธุรกิจ ธนาคารจะขอดูเรื่องการเดินบัญชีว่า มีเงินบวกมากกว่าเงินออกหรือไม่  โดยจะดูเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของกิจการ

 

3. วัตถุประสงค์การกู้ 

แผนธุรกิจหรือแผนงานการลงทุนที่จะขอกู้ การกู้ในครั้งนี้จะนำไปลงทุนในส่วนไหนของกิจการ นำไปลงทุนขยายงาน หรือไปใช้หมุนเวียนในกิจการ เรื่องเหล่านี้ต้องตอบธนาคารให้ชัดเจน เพราะการจะกู้เงินได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแผนงานของธุรกิจด้วยว่า เรามีความรอบคอบในการจัดแผนงานในการไปขอกู้ มีการวางแผน และประมาณการไปข้างหน้าว่า ได้เงินแล้วจะทำอะไร อย่างไร

 

4. เอกสารที่นอกเหนือจากแผนธุรกิจ

คือเอกสารของตัวผู้กู้ เช่น หนังสือรับรอง หนังสือจดทะเบียนบริษัท ในกรณีบุคคลธรรมดา เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ต้องเตรียมไปให้พร้อม รวมถึงเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ

 

5. ศึกษาข้อมูลสินเชื่อ

การปรึกษาธนาคารเกี่ยวกับสินเชื่อที่จะขอว่ามีกี่ประเภท แบบไหนบ้าง สินเชื่อแบบไหนควรเข้าไปปรึกษาที่ธนาคารใด หรือจะสอบถามผ่านธนาคารที่มีบัญชีอยู่แล้ว หรือสอบถามมาทาง บสย. เราจะเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลและคำแนะนำว่า สินเชื่อแบบไหน มีธนาคารใดให้บริการอยู่

 

6. ให้ข้อมูลกับธนาคารถูกต้อง ครบถ้วน

ให้ข้อมูลกิจการกับธนาคาร ข้อมูลที่ให้ต้องชัดเจน ถูกต้อง เป็นข้อมูลที่ตอบธนาคารได้อย่างมั่นใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธนาคารทำเรื่องในการขออนุมัติได้ง่ายขึ้น

 

7. เตรียมสัดส่วนเงินทุน

การเตรียมสัดส่วนเงินทุน ทั้งทุนของเราเองกับเงินที่กู้ธนาคาร ในการกู้ธุรกิจธนาคารไม่ได้ให้กู้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อเอาไปลงทุน แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ระหว่างทุนของกิจการเองและจากทางธนาคาร ทุนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิดสดอย่างเดียว อาจจะเป็นรถที่ซื้อใช้ในกิจการ บ้านที่เป็นที่อาศัยและออฟฟิศในตัว หรือเป็นที่สต๊อกสินค้า ให้แจ้งกับธนาคารว่าเป็นส่วนที่กิจการลงทุนมาเบื้องต้น

 

8. ศึกษาแนวโน้มธุรกิจ

ศึกษาแนวโน้มของธุรกิจ เมื่อดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วต้องมีการศึกษาข้อมูลมาประกอบ เพราะในการขอสินเชื่อ ธนาคารจะมองแผนธุรกิจที่วางไว้ ว่าต้องไปในทิศทางเดียวกันกับการทำธุรกิจในปัจจุบันด้วย

 

9. กรณีได้สินเชื่อไม่ตรงตามความต้องการ

กิจการควรเตรียมเอกสารหรือข้อมูล เพื่อที่จะให้กับธนาคารเพิ่มเติม และค่อยๆ หาเหตุผลประกอบ กรณีที่ธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อเต็มวงเงินตามที่เราต้องการได้

 

10. หลักประกัน

การขอสินเชื่อ คือการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารว่า กิจการจะสามารถชำระเงินคืนได้ ในระยะเวลา และจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนด แต่ในเรื่องการรองรับความเสี่ยง แม้ว่าธนาคารจะพิจารณาสินเชื่ออย่างดี และอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจตามต้องการแล้ว แต่ธนาคารเอง ก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยง จึงต้องมีหลักประกันเป็นตัวบริหารความเสี่ยง เช่น ที่ดิน สำนักงาน เพื่อที่จะขายชำระหนี้แทน ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่ง บสย. เป็นหนึ่งในหลักประกัน ที่ผู้กู้สามารถใช้บริการได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นพันธกิจหลักของ บสย. เพื่อให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ