กลยุทธ์แถมสินค้าของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ สร้างโอกาสการตลาดตอบโจทย์ลูกค้าและซัพพลายเออร์

 

วิธีคิดและมุมมองนับเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางเดินธุรกิจเจ้าของหรือผู้บริหาร คิดแบบไหนธุรกิจก็เดินแบบนั้น SME บางรายอาจคิดว่า เสียเปรียบคู่แข่งขันรายใหญ่ทุกทาง เพราะทรัพยากรน้อยกว่า ทำอย่างไรก็ไม่เห็นทางชนะหรืออยู่รอด หากใครคิดเช่นนั้นอยู่ ลองมาศึกษากรณีของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ ในจังหวัดอุดรธานี จากโชห่วยรายเล็กๆ พัฒนาจนเป็นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกชั้นนำของประเทศมีเพียง 2 สาขาแต่ปักหลักสู้กับยักษ์โมเดิร์นเทรดในพื้นที่อย่างสมน้ำสมเนื้อ

หนึ่งในกลยุทธ์หลักของตั้งงี่สุน คือการแถมสินค้า หรือการนำสินค้าของแถมมามัดหนังสติ๊กแถมไปพร้อมกับสินค้าที่จัดโปรโมชั่นวิธีการนี้ดูเหมือนธรรมดา แต่จริงๆเป็นการทำการตลาดที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่มาซื้อสินค้า และซัพพลายเออร์


คุณมิลินทร์วีระรัตนโรจน์หรือเฮียกบประธานกรรมการบริษัทตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์จำกัด เล่าย้อนความถึงบริบทเมื่อ15-20 ปีที่แล้วว่า พอโมเดิร์นเทรดรายใหญ่เข้ามา มีสาขาเยอะสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก ทำให้ดีลที่โมเดิร์นเทรดซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์นั้นถูกกว่าร้านทั่วไป และตั้งงี่สุนซื้อสินค้าในราคาแพงกว่า พอโมเดิร์นเทรดถือตัวเลขมากขึ้น ก็มีอำนาจต่อรองสูง ซัพพลายเออร์จึงคิดว่าหากปล่อยให้โมเดิร์นเทรดโตเกินไป ก็จะเสียเปรียบและมีกำไรน้อยลง ซัพพลายเออร์จึงทำการบาลานซ์ตลาด ทำการสนับสนุนร้านค้าท้องถิ่นอย่างตั้งงี่สุน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันเพราะสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต้องการ คือการกระจายสินค้าให้มากที่สุดในทุกไซต์ ยิ่งกระจายได้ไกลและลึก โอกาสที่ลูกค้าจะหยิบซื้อก็มีสูง ตั้งงี่สุนมองโมเดิร์นเทรดเป็นคู่แข่งที่รัก ทำให้ทางร้านได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง“แต่แข่งเรื่องราคาเราสู้โมเดิร์นเทรดไม่ได้” คุณมิลินทร์ยอมรับ กลยุทธ์การแถมจึงเข้ามาตอบโจทย์

 

“การแถมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองบริษัท (ซัพพลายเออร์) ในเรื่องการกระจายสินค้า บริษัทก็แฮปปี้ในอีกด้านหนึ่ง ลูกค้าก็มองของแถม ไม่ได้มองราคา”

 

คุณมิลินทร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ตั้งงี่สุนขายน้ำมันพืช 30 บาทต่อขวด แม็คโครขาย 28 บาท แต่ลูกค้าซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุน ได้รับแถมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์รอง1 ซอง ลูกค้าจะคิดในหัวว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ราคา 4 บาท ทำให้น้ำมันพืชจากราคา 30 บาทเหลือเพียง 26 บาท การซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุนจึงมีราคาถูกกว่าแม็คโคร

ในบางกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าอื่นๆ ที่นำมาแถม เป็นสิ่งที่ตั้งงี่สุนได้มาฟรีผ่านการจัดซื้อ งบของซัพพลายเออร์ หรือการต่อรอง ในขณะที่ซัพพลายเออร์ก็ต้องการกระจายสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลอง จากแบรนด์ หรือรสชาติที่ลูกค้าไม่เคยลอง พอได้รับแถม ผ่านลิ้นลูกค้า ก็อาจเปิดใจ เปลี่ยนจากแบรนด์ที่เคยซื้อประจำมาซื้อแบรนด์ใหม่ รสชาติใหม่, ทางด้านร้านค้าที่ซื้อไปขายต่อ เมื่อได้รับของแถมมา ก็มีแรงจูงใจที่จะเชียร์ขายแบรนด์ที่ได้รับแถมมาเพราะไม่มีต้นทุน และพอขายได้ ก็จะกลับมาซื้อไปขายเอง ของแถมจึงไม่ใช่แค่ของฟรี แต่เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด

สำหรับหลักการจับคู่เพื่อแถมสินค้า คุณมิลินทร์จะไม่นำสินค้าคู่แข่งโดยตรงมาจับคู่กัน เช่น ไม่นำไมโลไปจับคู่กับโอวัลติน แต่จะใช้แนวทาง “พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก” นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็กหรือสินค้าที่ไม่ได้รับความสนใจ หรือบางที สินค้าตัวแถมอาจเป็นแบรนด์ใหญ่ แล้วสินค้าโปรโมชั่นเป็นแบรนด์เล็กก็ได้ “พี่ใหญ่กับน้องเล็กสลับกันได้หมด อยู่ที่ความเหมาะสม”กลยุทธ์การแถมของตั้งงี่สุนจึงไร้กระบวนท่า ขึ้นอยู่กับการบริหารงบประมาณ

 

“การทำสิ่งพวกนี้ เราจะไม่กำหนดว่าอันไหนถูกหรือผิด พอเราทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ เห็นว่าไม่ใช่ เราก็แยกมันออก แล้วก็เปลี่ยนสินค้าใหม่ได้, สินค้าที่จับคู่กันเรียกว่าการแต่งงานถ้าแต่งงานถูกคู่ถูกเวลา คู่สร้างคู่สม ทำอะไรก็เจริญและมีความสุข แต่ถ้าเป็นคู่เวรคู่กรรม ทำยังไงก็ไม่เดิน” คุณมิลินทร์กล่าว

 

นี่จึงเป็นบทเรียนให้กับ SME ที่คิดว่า ถ้าเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่ สู้ตรงๆ ด้วยราคาไม่ได้ จะพลิกแพลงกลยุทธ์อย่างไรให้เกิดคุณค่ากับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและซัพพลายเออร์หากทดลองทำไปแล้วยังไม่สำเร็จ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปตามสถานการณ์ 

คุณมิลินทร์ ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME และโชห่วยว่า

1) เปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง ทำเรื่องระบบภาษีให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไม่เติบโต
2) อย่าลงทุนเกินตัว ทำน้อยๆก่อน อย่าไปเร็ว
3) บางครั้งไม่ต้องหานวัตกรรมใหม่ แต่ปรับเปลี่ยนของเดิมให้ดีขึ้น รีแพคเกจจิ้งใหม่
4) ฟังเสียงตลาด นักธุรกิจที่ดีอย่านั่งวางแผนอยู่แต่ในออฟฟิศ ต้องเดินตลาด ฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าและคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจตลาดและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

 

“จงเป็นนักธุรกิจ อย่าเป็นพ่อค้า พ่อค้าคุยแต่เรื่องกำไร ไม่สนใจเรื่องอื่น แต่นักธุรกิจ กำไรน้อยหน่อยไม่เป็นไร แต่อนาคต ตัว Branding ตัวสินค้าต้องดี ต้องทำได้แล้วค่อยๆไป นักธุรกิจกับพ่อค้าแตกต่างกัน นักธุรกิจเวลาทำงานเสร็จแล้วต้องดูว่าเพื่อนรอบข้างเราอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้ไม่ลำบาก ให้เพื่อนรอบข้างเราอยู่ดีก่อนดีไหม เดี๋ยวเราก็ดี” คุณมิลินทร์ อธิบายถึงหลักการและวิธีคิดในการดำเนินธุรกิจ

 

วิธีคิดทางธุรกิจเปลี่ยน วิธีการขายก็เปลี่ยน ตั้งงี่สุนเปลี่ยนจากการสู้กับโมเดิร์นเทรดด้วยราคา ซึ่งสู้ไม่ได้ พลิกกลยุทธ์มาแถมสินค้าทำให้ธุรกิจพัฒนาเติบใหญ่มีกระแสเงินสดที่ดี และมีความยืดหยุ่น



โชว์ห่วยกับกลยุทธ์แถมสินค้าสไตล์ตั้งงี่สุน

-หากได้รับสินค้าฟรีผ่านการจัดซื้อ ลองนำมาจัดโปรโมชั่นแถมโดยการจับคู่สินค้า เพื่อสร้างโอกาสการตลาดและหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้วยราคา

-หลักการแถมแบบ“พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก”นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็ก หรือสินค้าแบรนด์ใหญ่อาจเป็นตัวแถม ที่ช่วยผลักดันสินค้าแบรนด์เล็ก

-ทดลองทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากสินค้าที่จับคู่กันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ให้แยกออกและปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ 

 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

วิธีการสร้างลูกค้าประจำของร้านทุเรียน น้องนิดระยอง แค่เปลี่ยนการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย”

 

เคยไหมที่เวลาเราซื้อผลไม้มากินที่บ้านทั้งจากตลาดสดหรือบนห้างสรรพสินค้าก็ตาม ทั้งๆที่เราเลือกเองกับมือ ผลไม้ก็ดูสวยงามไม่มีตำหนิ แต่พอกลับมาแกะกินที่บ้านแล้ว กับพบว่ารูปร่างหน้าตาและรสชาติผิดจากที่เราคาดหวังไว้ไปไกลมากๆ จากปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมีผู้ประกอบการ SME บางรายที่หยิบเอาความเจ็บช้ำของผู้บริโภคมาสร้างเป็นจุดขายใหม่ แถมทำแล้วได้ผลดีเสียด้วย ตัวอย่างเช่น “ร้านทุเรียน น้องนิดระยอง” ที่ตลาดอ.ต.ก.

 

แรกเริ่มเดิมทีนางพุธชาติ ลาภผล หรือน้องนิด เป็นเกษตรกรปลูกผังผลไม้อยู่ที่จังหวัดระยองมาก่อน ซึ่งปัญหาใหญ่ของเกษตรบ้านเราก็คือ มักจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา น้องนิดเล่าย้อนความให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวถูกพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อทุเรียนกดราคา และหลอกซื้อด้วยการคัดแต่เฉพาะลูกที่ดีๆ ไป ถูกหลอกบ่อยๆ เข้า ก็ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเป็นหนี้ธกส. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

น้องนิดตัดสินใจเข้ามากรุงเทพเพื่อมาขอคำแนะนำและความรู้ในการทำธุรกิจที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ด้วยตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ น้องนิดเคยมีโอกาสติดตามญาติมาขายผลไม้ที่นี่ ด้วยคำแนะนำของคุณเสริมศักดิ์ การุณ สส.จังหวัดระยองและความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อ.ต.ก. ในที่สุดน้องนิดก็ได้มาเปิดแผงขายทุเรียนเล็กๆ ในตลาดอตก. ด้วยการเอาที่ดินที่มีอยู่จำนวน 6 ไร่ ไปกู้เงินมาเริ่มต้นธุรกิจ ไม่เพียงแต่ให้พื้นที่ขาย เจ้าหน้าที่ของอ.ต.ก. ยังให้คำแนะนำน้องนิดเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนที่มาเดินซื้อของในตลาดอ.ต.ก.นั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ ดังนั้นสินค้าที่นำมาขายจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพดีจริงๆ

การได้เข้ามาจำหน่ายสินค้าในตลาดอ.ต.ก. น้องนิดใช้หลักการบริหารความคาดหวังของลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนวิธีการขายทุเรียนใหม่ จากการชั่งน้ำหนักเป็นลูกแล้วมีบริการแกะขาย มาเป็นแกะขายเป็นพูราคาตามน้ำหนัก เป็นเจ้าแรกๆ ในตลาดอ.ต.ก. พูดง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนวิธีการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย” ลูกค้าได้เห็นสินค้าก่อนจ่ายเงินซื้อ เรียกว่าลูกค้าชอบกินทุเรียนเนื้อแบบไหนร้านทุเรียนน้องนิดระยองสามารถหาทุเรียนตามที่ต้องการมาจำหน่ายได้หมด

จากประสบการณ์ในการคลุกคลีกับตลาดผลไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก น้องนิดรู้ดีว่าความคาดหวังของคนที่ซื้อผลไม้สดไปรับประทานทุกคน ล้วนคาดหวังที่จะได้กินผลไม้สด รสชาติดี ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตร เป็นอะไรที่ไม่สามารถการันตรีได้ 100% จนกว่าจะแกะเปลือกออกมาดู หลายครั้งที่เราเลือกทุเรียนด้วยตัวเองมาแล้ว กลับต้องผิดหวังเวลาหยิบออกมากิน ทั้งๆที่เราเป็นคนเลือกดูเองกับตา เลือกสัมผัสเนื้อเองกับมือ โดยเฉพาะกับทุเรียนออร์แกนิค

 

เหตุผลเพราะว่าทุเรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะใช้วิธีการป้ายน้ำยาเร่งสุกที่ขั้ว เพื่อให้ทุกเรียนสุกเร็วและสุกพร้อมกันทั้งลูก แต่ทุเรียนปลอดสารเคมีจะสุกไม่พร้อมกันทั้งลูก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้กินทุเรียนปลอดสารเคมีแบบเนื้อเดียวกันทั้งลูกจึงเป็นไปได้ยากมากๆ ปัจจุบันนี้ราคาเฉลี่ยของทุเรียนพันธุ์หมอนทองแบบชั่งขายทั้งลูกจะตกประมาณ 150-300 บาทต่อกิโลกรัม ถูกหรือแพงตามขนาดของลูกและทำเล แต่ร้านน้องนิดตั้งราคาขายทุเรียนแกะขายเฉพาะเนื้อในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ถ้าเป็นทุเรียนกก้านยาวหรือหมอนทองคัดพิเศษจะขายกิโลกรัมละ 5,000 บาท

เห็นราคาขายสูงขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสไปดูที่ร้านจะเห็นว่าคนซื้อไม่มีใครต่อราคาเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับคุณภาพ ถูกต้องแล้ว ร้านน้องนิดระยองกำลังทำธุรกิจแบบบริหารความคาดหวังของลูกค้า น้องนิดเล่าให้ฟังว่า มีลูกค้าของร้านจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเพื่อไปเป็นของฝากผู้ใหญ่หรือไปรับแขก ซึ่งความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ คืออยากเห็นคนที่รับหรือคนที่ได้กินรู้สึกดี จึงไม่เกี่ยงเรื่องราคา

เบื้องหลังความสำเร็จของการตั้งราคาขายได้สูงขนาดนี้ น้องนิดบอกว่า กว่าจะซื้อใจลูกค้าได้ต้องใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์ เพราะเทียบกับน้ำหนักทั้งเปลือกทุเรียน 1 กิโลกรัม น้องนิดสามารถแกะเนื้อขายได้เพียง 300 กรัมเท่านั้น ที่เหลือต้องนำไปแปรรูป เพราะคุณภาพไม่ถึง ถ้าเป็นร้านอื่นอาจจะใช้วิธีแอบยัดป่ะปนไป แต่ร้านน้องนิดไม่ทำเด็ดขาด ข้อดีของการปลูกเองและมีหน้าร้านขายเองที่ตลาดอ.ต.ก.นี้ทำให้น้องนิดสามารถควบคุมคุณภาพของทุเรียนได้ 100% 

 

ปัจจุบันนี้ทางอ.ต.ก.เองก็มีการควบคุมดูแลคุณภาพของร้านค้าที่จำหน่ายในตลาด ตามนโยบายที่จะส่งเสริมเกษตรให้พัฒนาคุณภาพของสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น โดยแต่ละปีจะมีการเลือกร้านค้าดีเด่นเพื่อมอบรางวัล Best of Ortorkor ซึ่งร้านทุเรียนน้องนิดก็ได้รางวัลมาเช่นกัน รางวัล Best Of Ortorkor นี้ ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จัดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับสินค้าเกษตรของไทย และให้เกษตรกรเน้นสร้างแบรนด์ หรือใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก้าวสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยแบรนด์ โดยคณะกรรมการจะมอบรางวัลให้กับร้านค้าผ่านการคัดสรรสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ดีที่สุดตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ อ.ต.ก.ที่มีเป้าหมาย การสร้างมูลค่าทางการตลาดสินค้าเกษตร ช่วยให้เกษตรไทยหลุดพ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปรับเปลี่ยนจากผลิตในเชิงปริมาณ มาเป็นผลิตในเชิงคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การตลาดนำการผลิตส่งตรงสินค้าเกษตรคุณภาพคัดสรร เจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าวิสัยทัศน์ใหม่ ชู อ.ต.ก.เป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2564

แม้จะมีรางวัลการันตรีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้น้องนิดก็ยังทำตลาดด้วยการบริหารความคาดหวังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มจากลูกค้าทุกคนจะได้ชิมทุเรียนแบบไม่เสียดายของ คือหั่นให้ลองชิมเป็นชิ้นใหญ่ๆ แบบชิ้นนึงครึ่งพูโดยไม่หวงของ เพื่อให้ทราบความต้องการของลูกค้าว่าชอบกินเนื้อแบบไหน เพราะบางคนชอบกินเนื้อนุ่ม บางคนชอบกินเนื้อแข็ง บางคนชอบกินกรอบนอกนุ่มใน แต่การจะสังเกตเนื้อและสีของทุเรียนแต่ละพูให้ออกจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการคัดทุเรียนจริงๆ ถึงจะคัดเกรดทุเรียนให้ได้เนื้อที่พอดี ความหวานที่ต้องการ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ

 

ทุกวันนี้ลูกค้าของพี่นิดเป็นลูกค้าประจำและขาจรอย่างละครึ่ง โดยลูกค้าประจำนั้นส่วนใหญ่จะโทรสั่งล่วงหน้าหลัง 2 ทุ่ม 1 วัน เพราะรู้ว่าหลัง 2 ทุ่มจะโทรติดง่าย การที่ร้านทุเรียนน้องนิดระยองเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารความคาดหวังความต้องการของลูกค้าได้เกือบ 100% นับวันการขายทุเรียนแบบแกะเนื้อขายที่ตอบโจทย์การบริหารความคาดหวังจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น 

 

ในตลาดนัดออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมช่วง COVID-19 เราจึงเห็นพ่อค้าแม่ค้าโพสต์ขายทุเรียนแบบแกะขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิธีนี้สามารถปิดการขายได้ง่ายสำหรับคนที่อยากได้สินค้าคุณภาพ ไม่ต้องมานั่งลุ้น

ลองหลับตานึกภาพดู...

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมแล้วศูนย์บริการแจ้งระยะเวลา 1 สัปดาห์ แต่วันรุ่งขึ้นได้รับโทรศัพท์จากพนักงานว่า โทรศัพท์ซ่อมเสร็จแล้วไปรับได้เลย

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปซื้อของแล้วร้านมอบของขวัญวันเกิดชิ้นเล็กๆ ให้จากเก็บข้อมูลสมาชิกไว้

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปรับประทานอาหารแล้วเชฟเดินออกมาทักทายลูกค้าด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการ SME ทุกคน จึงควรหมั่นสำรวจธุรกิจของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าสินค้าและบริการของเรานั้น สามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าหรือยัง

 

Did You Know

ปัจจุบันนี้ อ.ต.ก. ได้เพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ www.ortorkor.com โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากตลาด อ.ต.ก. โดยตรง และมียังมีบริการส่งสินค้าถึงบ้านอีกด้วย

หรือหากเกษตรท่านใดต้องการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ QR Code นี้ แล้วส่งใบสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าไปที่ E-Mail : ortorkor@mof.or.th

 



Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

บทความแนะนำ

รีวิวศูนย์บริการ SME 1

รีวิวศูนย์บริการ SME 1

ติดอาวุธ SME ไทย ด้วย Digital Marketing

ติดอาวุธ SME ไทย ด้วย Digital Marketing


Digital Marketing โอกาสที่เปิดกว้างสำหรับ SME


เมื่อ Digital Marketing คือเทรนด์ของการทำการตลาดยุคใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องไม่มองข้าม โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้โอกาสในการลงทุนที่จะใช้สื่อเพื่อทำการตลาดอาจมีไม่เท่ากับองค์กรขนาดใหญ่ที่สายป่านยาวกว่า ดังนั้นช่องทางออนไลน์จึงกลายเป็นโอกาสทองให้กับบรรดา SME รายเล็กรายน้อย หรือแม้แต่มือใหม่ มือสมัครเล่นทั้งหลาย สามารถสร้างสรรค์พื้นที่และฐานลูกค้าของตนเองขึ้นมาได้ รวมถึงยังเป็นช่องทางที่จะเปิดกว้างออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในประเทศเท่านั้นอีกด้วย

ดร.ประวิทย์ เขมะสุนันท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า ปัจจุบัน Digital Marketing มีความจำเป็นอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการ SME เนื่องจากในอดีตนั้น วิธีการทำการตลาดโดยทั่วไป โดยเฉพาะในยุคอุตสาหกรรม (Industrialization) มักจะพูดถึงเรื่องของ Economies of Scale หรือ การผลิตจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนลดลง เมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำนั้น ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องมีการวางแผนเรื่องของการกระจายสินค้า ต้องมีร้านค้าหรือสาขาเป็นจำนวนมาก หรือส่งสินค้าเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีรองรับอีกด้วย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นวิธีการในการขับเคลื่อนสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคก็จริง แต่บางครั้งการที่จะให้ผู้ประกอบการ SME เอาสินค้าเข้าไปตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาจำนวนมาก ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่พร้อมที่จะขยายตัวเพื่อผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ย่อมมาพร้อมกับการลงทุนที่สูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงว่าสินค้านั้นๆ จะเป็นที่นิยมของลูกค้าในขณะนั้นหรือไหม

แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้คน สามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือสื่อสารถึงกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้วิธีการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือ SME มีโอกาสที่จะสร้างตลาดเป็นของตัวเอง โดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นเวทีในการโชว์ตัวให้ลูกค้าได้เห็น และมีแนวโน้มอย่างชัดเจนว่า ช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นเรื่องปกติของคนยุคใหม่ไปแล้ว เมื่อเทียบกับอดีตที่อาจจะเคยมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยบนโลกดิจิตอล

 

Published by scbsme.scb.co.th on 17 September 2012

SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ