Butterfly Thai Perfume ปรุงวัตถุดิบไทยเป็นทุน ด้วยเทคนิคโบราณให้ทันสมัย

 

ในความหลากหลายของรสนิยมและตัวเลือกบนโลกสมัยใหม่ ผู้บริโภคชาวไทยบางส่วนอาจหันไปนิยมชมชอบแบรนด์น้ำหอมต่างชาติ หลงลืมประวัติศาสตร์น้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณของไทย แต่เมื่อผู้ประกอบการไทยนำสมุนไพรเครื่องเทศมาเป็นส่วนประกอบในการทำน้ำหอม สร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบไทย และบริหารจัดการธุรกิจด้วยวิถีทันสมัย ความรับรู้ถึงน้ำหอมแบรนด์ไทยก็เปลี่ยนไป 

 

 

หนึ่งในน้ำหอมไทยที่โดดเด่นและโลดแล่นในวงการมาเกือบทศวรรษ คือ Butterfly Thai Perfume น้ำหอมแบรนด์ไทยที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 9 ปี  ซึ่งมีผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่เป็นเอกลักษณ์หลากหลายกลิ่น อาทิ กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง กลิ่นว่านสาวหลง กลิ่นมะกรูดกานพลู กลิ่นส้มผักชี กลิ่นบุหรี่กุหลาบ กลิ่นโคลนสาบควาย เป็นต้น 

หากกลิ่นข้างต้นยังไม่แปลกใหม่เพียงพอ อนาคตเราอาจได้ดอมดม กลิ่นส้มตำ จากน้ำหอม Butterfly หากจะทำความเข้าใจแบรนด์ Butterfly ก็ต้องรู้ถึงภูมิหลังและพื้นเพชีวิตเจ้าของแบรนด์ คุณสุชิน แก้วอุดร 

 

จากเด็กเลี้ยงวัวที่จังหวัดชัยภูมิ มีพ่อเป็นชาวนาปลูกข้าว คุณสุชินได้กลิ่นสมุนไพรไทยที่เกิดตามท้องไร่ท้องนาตั้งแต่วัยเยาว์ เช่น ดอกกระเจียว ดอกกล้วยไม้ป่า ทำให้ชื่นชอบกลิ่นอายความหอมแบบไทยๆ และเคยคิดว่าพืชพรรณเหล่านี้สามารถตีมูลค่าเป็นเงินมากกว่าข้าวที่พ่อปลูกได้หรือไม่ แม้ว่าตอนเด็กคุณสุชินอยากเป็นดีไซเนอร์ แต่ไม่เคยคิดจะทำน้ำหอม หลังเรียนจบวิศวกรรมโยธา คุณสุชินทำงานหลายอย่าง เช่น ออกแบบบ้าน ทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า คุณสุชินบอกว่า การทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก รายได้ที่มาจากหลายธุรกิจจึงมีความจำเป็น ประจวบกับที่เริ่มศึกษาจริงจังเรื่องการทำน้ำหอม

คุณสุชินเรียนรู้วิธีการทำน้ำหอมจากการสอบถาม ถามคนเฒ่าคนแก่ เก็บข้อมูล อ่านหนังสือ และทดลองทำผมศึกษาเรื่องสมุนไพร หากดูประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อน ประเทศไทยส่งออกเครื่องหอม กฤษณากำยาน ไปเมืองนอกได้เยอะมาก แสดงว่ามีโอกาส จากตรงนั้นเลยหันมาดูเรื่องไม้กฤษณา ช่วงนั้นกำลังจะมีคนเริ่มปลูกไม้กฤษณาเพื่อส่งไปขายที่ดูไบ ผมเลยไปอ่านตำราไม้กฤษณา และเอามาบวกกับการทำน้ำหอม ลองทำโดยใช้ทั้งเทคนิคการทำน้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณ และการทำน้ำหอมสมัยใหม่ โดยใช้สมุนไพรจากบ้านเรา นี่เป็นโจทย์แรกที่คิดขึ้นมา

คุณสุชิน ยกตัวอย่างเทคนิคการทำน้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณ เช่น ใบเนียมไม่มีกลิ่น แต่พอโดนความร้อนจะมีกลิ่น จึงเอาใบเนียมมาย่างไฟแล้วดูดซับ (absorb) กลิ่นด้วยแอลกอฮอล์ การนำใบไม้ไปต้มเพื่อสกัดกลิ่น การเก็บดอกไม้ที่ส่งกลิ่นตอนเที่ยงคืน เป็นต้น ส่วนการทำน้ำหอมสมัยใหม่ คือ กระบวนการหมักที่ทันสมัยมากขึ้น การเก็บวัตถุดิบในโถอลูมิเนียม รวมถึงกรรมวิธีการทำที่ง่ายขึ้น และเป็นรูปแบบธุรกิจ

สมัยก่อน เขาจะกรองน้ำหอมโดยใช้ผ้าขาวบาง แต่เรากรองโดยระบบโรงงาน ทำสุญญากาศให้ทันสมัยและสะอาดมากขึ้นคุณสุชิน กล่าวและเสริมว่า Butterfly ใช้เทคนิคโบราณโดยนำทองคำที่บดเป็นผง มาเป็นส่วนผสมในการหมักทำน้ำหอม เพื่อทำให้มวลสารเสถียรมากขึ้นและได้กลิ่นที่ดีมากขึ้น

โรงงานทำน้ำหอมสมัยใหม่ส่วนมากจะผสมแอลกอฮอล์ ออยล์ และส่วนผสมอื่น แต่ Butterfly แตกต่างด้วยกระบวนการร่วมสมัยบวกเข้ากับวิธีโบราณ รวมถึงการใช้สมุนไพรและวัตถุดิบจากธรรมชาติหลายชนิด อาทิ ตะไคร้ ข่า ส้มโอ ใบสะระแหน่ ใบหูเสือ ดอกสารภี ดอกแก้ว ชะลูด กำยาน ลูกจันทน์เทศ ใบเนียม เป็นต้น

 

คุณค่าของวัตถุดิบไทย คือ กลิ่น ความต่างคือกลิ่นคุณสุชิน กล่าวว่าน้ำหอม Butterfly พยายามลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด และใช้สมุนไพรในการผลิตให้มากที่สุด”

 

 

หนึ่งในกลิ่นหอมที่โดดเด่นแตกต่างของ Butterfly คือ กลิ่นโคลนสาบควาย คำว่าโคลนสาบควาย เด็กสมัยนี้อาจไม่ได้สัมผัสมันแล้ว เราคิดว่าจะทำกลิ่นโคลนสาบควายให้เด็กสมัยนี้รู้ว่ากลิ่นเป็นอย่างไร โดยได้แรงบันดาลใจจากควายที่เล็มหญ้าอยู่กลางท้องทุ่ง ความเขียวของหญ้า กลิ่นโคลนที่ติดอยู่บนตัวควาย กลิ่นโคลนสาบควาย มีหลายกลิ่นผสมผสาน อาทิ ดอกพุด ดอกปีบ แอมเบอร์ หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด เป็นต้น 

คุณสุชิน กล่าวว่า กว่าจะได้น้ำหอมแต่ละกลิ่น ต้องทำการทดสอบ 300-400 ครั้งกว่าจะลงตัว บางครั้งกว่าจะได้กลิ่นน้ำหอมมาขาย ต้องผ่านกระบวนการถึง 2 ปี เช่น กลิ่นว่านสาวหลง เขาต้องให้ชาวบ้านปลูกว่านสาวหลงประมาณ 5 ตัน เพื่อสกัดน้ำมันว่านสาวหลง และนำมาทำน้ำหอม

 

การทำน้ำหอมเป็นเรื่องง่าย แต่การทำให้ขายได้และยั่งยืนเป็นเรื่องยาก ในการเทสต์ เราต้องเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ สูตรน้ำหอมต้องเป็นที่นิยมพอสมควร จะเฉพาะกลุ่ม (Niche) เกินไปก็ไม่ได้ สุดโต่งเกินไปก็ไม่ใช่ เราทำน้ำหอมกลิ่นหนึ่ง เราต้องคิดถึงญาติเรา คิดถึงคนใกล้ตัวว่าจะชอบหรือเปล่า เราไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นงานศิลปะที่ขายแค่ชิ้นเดียว แต่คนส่วนมากอยากไปยืนอยู่ใกล้ๆ คนฉีดน้ำหอมกลิ่นนี้ การทำน้ำหอมจึงเป็นการบาลานซ์ทั้งศิลปะและการตลาดให้ลงตัวมากที่สุด

 

หลังจากทำธุรกิจมานานหลายปี น้ำหอม Butterfly อยู่ในช่วงการขยายธุรกิจ และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนและช่องทางการขายสินค้า ในเรื่องคนหรือพนักงาน คุณสุชิน กล่าวว่า ในแต่ละร้านสาขาของ Butterfly จะมีพนักงานประจำที่ร้าน แต่การควบคุมบริหารพนักงานร้านเป็นเรื่องยาก พนักงานบางส่วนถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์และน้ำหอมได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนั้น บริษัทยังต้องการทีมงานออกแบบน้ำหอมที่ดีมากกว่านี้ เพราะตัวคุณสุชินทำทั้งหมดคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมงานสนับสนุนที่ดี 

สำหรับช่องทางการขาย ยอดขายของน้ำหอม Butterfly มาจากร้านสาขา 50% และมาจากช่องทางออนไลน์ 50%  “ในช่องทางออนไลน์ เราได้จาก Shopee เรามีน้ำหอมขวดเล็กขายในราคาไม่แพง ลดราคาให้ลูกค้าได้ไปลองใช้ก่อน แล้วลูกค้ากลับมาซื้อใหม่” คุณสุชินเสริมว่าในอีคอมเมิร์ซ บริษัทยังสามารถควบคุมสารที่ต้องการสื่อไปถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นวีดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวกลิ่นของน้ำหอม รวมถึงการทำไลฟ์สด น้ำหอมในปัจจุบันจึงขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้ง่ายขึ้น ลูกค้าบางคนอาจไม่ไปที่ร้าน คุณสุชิน กล่าวว่า เตรียมจะลดจำนวนร้านสาขาและขายผ่านอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น  ผมมองว่าอีคอมเมิร์ซน่าสนใจ ในระยะยาวแล้วมีมูลค่ามากมายสำหรับเรา ถ้าเราวางแผนและจัดการดีๆ

นอกจากตลาดในเมืองไทย น้ำหอม Butterfly ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปตลาดต่างประเทศผ่านดีลเลอร์ เช่น ไต้หวัน จีน พม่า ฮ่องกง เป็นต้น  สำหรับน้ำหอมกลิ่นต่อไป คุณสุชิน บอกว่าอยากทำน้ำหอมกลิ่นส้มตำ ซึ่งประกอบด้วยความเผ็ดของพริก มะนาว เกลือ ปลาร้า และน้ำหอมกลิ่นบำบัด (Aromatherapy) กลิ่นที่ทำให้คนมีความสุขและหลับสบายขึ้น แต่ Butterfly ไม่ใช่แค่แบรนด์น้ำหอม คุณสุชินวางแผนให้ Butterfly เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ โดยอาจแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต อาทิ เครื่องหอมในบ้าน สเปรย์ที่ฉีดให้ผ้าหอม น้ำหอมในรถยนต์ เสื้อผ้า เป็นต้น 

หากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการสมัยใหม่ และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยที่มีเสน่ห์ วัตถุดิบไทยก็เป็นทุนที่ต่อยอดได้ไม่จบสิ้น เหมือนกลิ่นหอมที่กำจรกำจายไปไกลแสนไกล

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เคล็ดไม่ลับ ยกระดับการจัดซื้อเอสเอ็มอี

หัวข้อ : รวยลัดแบบไม่เสี่ยงด้วยธุรกิจเฟรนไชน์ 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.apptodaygroup.com/INS_FEB/images/Ebook_inspired_FEB.pdf

 

 

ในแง่ของพัฒนาการแข่งขันทางธุรกิจ “การจัดซื้อ” เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายๆ องค์กรมองข้ามไป ในอดีตการจัดซื้อ มักถูกมองว่ามีหน้าที่แค่สนับสนุนการดำเนินงานมากกว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมทำกำไรให้กับบริษัท มีหน้าที่แค่จัดซื้อตามความต้องการของแผนกอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ ต้องพัฒนาอะไรมากมาย แต่นั่นไม่ใช่แนวคิดในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ เพราะการจัดซื้อนั้นเป็นปราการด่านแรกที่จะสร้างกำไรหรือลดต้นทุน ให้กับธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนอะไร 

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับแผนกจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายหรือการวางกลยุทธ์ การลงทุนเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับแผนกจัดซื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของงานจัดซื้อให้มีประสิทธิภาพมีอยู่ 7 ประการ คือ

 

1. คุณภาพที่ถูกต้อง (Right Quality)

วัตถุดิบ นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิต คุณภาพสินค้า การกำหนดคุณสมบัติวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพที่ถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยที่ไม่ควรละเลย

 

2. ปริมาณที่ถูกต้อง (Right Quantity)

จำนวนสิ่งของหรือวัตถุดิบกับปริมาณที่จัดซื้อจัดหามานั้น จะต้องตรงกับปริมาณความต้องการ ไม่ขาด ไม่เกิน เพื่อลดปัญหา และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการสั่งซื้อ และระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า

 

3. เวลาที่ถูกต้อง (Right Time)

การกำหนดเวลาในการส่งสินค้า/วัตถุดิบ ซึ่งมีความสำคัญในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร หากมีการส่งสินค้า/วัตถุดิบช้ากว่ากำหนดที่ต้องการ อาจส่งผลทำให้โครงการหรือกระบวนการผลิตหยุดชะงัก

 

4. สถานที่ที่ถูกต้อง (Right Place)

การระบุสถานที่ที่ชัดเจนในการจัดส่ง เพื่อให้ได้สินค้า/วัตถุดิบที่ถูกต้องตามคุณภาพ ปริมาณที่ครบถ้วน เวลาที่ตรงกับความต้องการ ราคาที่เหมาะสม ซึ่งองค์กรบางแห่งให้ผู้ขายสินค้า/วัตถุดิบ มีการแยกส่งตามจำนวนที่แต่ละแห่งต้องการโดยเฉพาะ การจ้างผู้ประกอบการในการจัดส่ง ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จัดซื้อไม่ควรมองข้าม

 

5. ราคาที่ถูกต้อง (Right Price)

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานขององค์กรด้วย เช่น วัตถุดิบราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ หรือคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดก็ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตมานั้นขาดคุณภาพ ขาดความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า 

 

6. แหล่งขายที่เชื่อถือได้ (Right Source)

การตรวจสอบประวัติผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นทุนจดทะเบียน กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ หรือแม้แต่สภาพคล่องทางการเงิน ก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามยิ่งในผลิตภัณฑ์อาหาร การสืบกลับที่มาของวัตถุดิบนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

7. การบริการเป็นที่น่าเชื่อถือ (Right Service)

ไม่ว่าอุตสาหกรรมการผลิต หรืออุตสาหกรรมการบริการ การให้บริการที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการได้ตรงตามความต้องการหรือเกินความคาดหวัง เพื่อก่อให้เกิดความพึงพอใจจากการซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ขาย

 

ปัจจัยทั้ง 7 ข้อนั้น มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรเป็นอย่างมาก และสามารถสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของท่านได้  จะเห็นได้ว่าการจัดซื้อถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ยิ่งในปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์จำเป็นที่จะต้องได้รับการร่วมมือจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัตถุดิบ หรือวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด 

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 ขั้นตอนพาธุรกิจสู่โลกออนไลน์

หัวข้อ : 100 ธุรกิจออนไลน์ขนาดเล็กกับสูตรสู่ความสำเร็จที่ต้องรู้
อ่านเพิ่มเติม :etda.or.th/publishing-detail/the-100-knowhow-for-smes-go-online.html

 

ร้านค้าออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายอันทรงพลัง ที่จะช่วยสร้างโอกาสและรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้ ทั้งคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่หรือคนที่อยากต่อยอดและพัฒนาธุรกิจเดิม นอกจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีให้เลือกใช้ เว็บไซต์ก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นเสมือนหน้าร้านที่คุณาสามารถควบคุมจัดการได้ และนี่คือ 5 ขั้นตอนพาธุรกิจสู่โลกออนไลน์ที่เอสเอ็มอีควรรู้

 

1. เริ่มต้นจากแผนธุรกิจที่ดี

แผนธุรกิจ เป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก เพราะเป็นผลสรุปของกระบวนการคิด ทำหน้าที่เหมือนแผนที่นำทางที่จะช่วยจัดลำดับขั้นตอนในการก่อตั้งกิจการ รวมถึงการตัดสินใจทั้งในเรื่องการตลาด กลยุทธ์ การเงิน รวมถึงชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อควรระวังอีกด้วย

แผนธุรกิจที่ดี ต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้

  • การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน
  • ธุรกิจน่าลงทุนหรือไม่
  • ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
  • ธุรกิจนี้มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวมากน้อยเพียงใด
  • สินค้าที่จะผลิตมีวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
  • สินค้าที่จะผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
  • วิธีการผลิตและการวางตลาดมีทางเลือกอื่นที่ประหยัดกว่าหรือไม่
  • หน้าที่ต่าง ๆ เช่น การผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีและเหมาะสมเพียงใด จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่



 

2. จดโดเมนด้วยชื่อที่น่าเชื่อถือและเป็นที่จดจำ

ความหมายของคำว่าโดเมนเนม คือชื่อของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปเข้าชมเว็บไซต์ผ่านเบราว์เซอร์ของผู้ใช้ทั่วไปได้ เช่น www.google.com ซึ่ง google.com คือชื่อโดเมนเนมนั่นเอง

 

 

3. ออกแบบเว็บไซต์ให้น่าสนใจ

เว็บไซต์ที่ดีอาจไม่ใช่แค่การมีดีไซ์ที่อลังการ แต่เจ้าของธุรกิจต้องเริ่มด้วยการรู้และทำสิ่งเหล่านี้

  • คุณต้องการขายอะไร แล้วนำเสนอคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการออกมาให้เห็นเด่นชัด
  • ไม่ควรเป็นเพียงแคตาล็อกสินค้าเพียงอย่างเดียว
  • ควรคำนึงถึงการออกแบบ ที่จะทำให้ลูกค้าค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
  • สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรทำให้การโหลดข้อมูลช้าจนเกินไป
  • ควรให้น้ำหนักกับการสร้างเนื้อหาที่เป็นกันเองกับผู้ชมเว็บไซต์ แต่ไม่ทิ้งความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ

 

 

4. สร้างระบบการชำระเงิน

วิธีการชำระเงินควรทำให้ทั้งฝั่งผู้ค้าและลูกค้าใช้บริการได้สะดวกที่สุด โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร จะทำให้รู้ว่าวิธีชำระเงินแบบไหนจะสะดวกต่อกลุ่มลูกค้า จะเป็นการโอนเงินทางธนาคาร โอนผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต

 

 

5. วางระบบการจัดส่งสินค้าที่ไว้ใจได้

แม้ผู้ประกอบการอาจมองว่า การจัดส่งสินค้าไม่ใช่หน้าที่หลักโดยตรงของการทำธุรกิจ แต่หากละเลยและไม่ได้วางแผนระบบการจัดส่งไว้อย่างดี เมื่อเกิดปัญหาในการจัดส่ง ลูกค้าก็ไม่ได้โทษบริษัทขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยตรงอีกด้วย

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย

หัวข้อ : 7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/business-rules-apply-everytime

 

การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาด้วยการลงมือทำผ่านทักษะหลายด้านจึงจะสามารถสร้างธุรกิจให้ไปไกลได้ หากแต่หลายคนพังก่อนจะปังเพราะก้าวพลาดตั้งแต่เริ่มต้นจากความไม่รู้และขาดประสบการณ์ เพราะการเริ่มธุรกิจด้วยความสนใจหรือความรักเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ซึ่งการจะไปถึง ณ จุดนั้น ได้จะต้องผ่านกฎเหล็กเหล่านี้

 

1. หาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาในตลาดและกลุ่มเป้าหมายให้ได้ก่อนจะหาสินค้าหรือบริการ 

ถ้าเราไม่รู้ความต้องการของผู้บริโภค เราก็มีโอกาสที่จะเริ่มต้นพลาด จะไม่รู้เลยว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความแตกต่าง และไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ เพราะถ้าพลาดในข้อนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะตกม้าตายตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นได้เลย และการหาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหา (pain point) ที่ซ่อนตัวอยู่ในตลาดเจอนั่นคือจุดเริ่มต้นของชัยชนะ

 

2. ทำความเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองอย่างถี่ถ้วน 

  • จะได้รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ตรงไหน 
  • ตัวตนของสินค้าคืออะไร มีสไตล์แบบไหน
  • สินค้าตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใด 

ถ้าเจ้าของเข้าถึงสินค้าของตัวเองได้ทุกแง่มุม จะง่ายต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำตลาด

 

3. การตั้งราคาต้องเหมาะสม 

การกำหนดราคาของหนึ่งสิ่งควรมีการคำนวณอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายทางตรงและค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นรอบด้าน

  • ไม่ควรเริ่มจากราคาที่ต่ำสุดจนเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือสูงสุดจนขายไม่ได้
  • หากเป็นสินค้าตามกระแสนิยม (Seasonal Peak) มักมีการบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูงในช่วงแรก เพื่อชดเชยในช่วงที่สินค้าล้าสมัย
  • ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำหรือซื้อบ่อย (Convenience Goods) หาได้ง่ายและมีการแข่งขันกันมาก อาจบวกเปอร์เซ็นกำไรให้ต่ำลง 
  • สินค้าที่ขายไม่ได้บ่อยนักหรือใช้พื้นที่วางสินค้ามาก จำต้องบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูง
  • ถ้าเป็นสินค้าที่จับกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะดี ก็จะบวกเปอร์เซ็นต์กำไว้สูงเกินกว่าสินค้าที่ผู้ซื้อมีฐานะยากจน

 

4. การทำงานเป็นทีมคือสิ่งสำคัญ

ในการสร้างธุรกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญจากคนหลายกลุ่มความรู้ การทำอะไรตัวคนเดียวไปทุกอย่าง นอกจากจะไม่สามารถทำออกมาให้ดีที่สุดแล้ว ยังจะทำให้พลาดโอกาสในการใช้เวลาที่มีไปคิดต่อยอดบริหารกิจการ วางแผนกลยุทธ์ในด้านอื่น ดังนั้นทีมทำงานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจ

 

5. คิดถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากกว่าเงินที่จะได้จากลูกค้า 

การยึดสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าเป็นที่ตั้งมากกว่าการคาดหวังเรื่องเงินหรือผลกำไรที่จะได้ อาจนำมาซึ่งฐานลูกค้าอันเหนียวแน่น และทำให้ลูกค้าเดินเข้าหาแทนการที่เราต้องวิ่งไล่ตามลูกค้า เพราะลูกค้าจะสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นดีหรือไม่

 

6. ตุนเงินสำรองในการทำธุรกิจอย่างน้อย 6 เดือนแต่จะให้ดีควรมีสัก 1 ปี

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ อาจไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรหรือยอดขายตามที่หวัง เนื่องจากยังใหม่ต่อตลาด กว่าลูกค้าจะรู้จัก วางใจ ให้การยอมรับ อาจต้องใช้เวลาและการยืนหยัดที่ยาวนานจนลูกค้าเกิดความคุ้นชิน และเห็นว่าธุรกิจมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ จนเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจและนำมาสู่การเข้าหาสินค้าอย่างวางใจ

 

7. แผนสำรองต้องมี เพราะทุกการลงทุนคือความเสี่ยง 

ควรมีแผน 2-3-4 สำรองไว้เสมอ ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจอะไรต้องทำความเข้าใจให้ได้ด้วยว่า ได้ก้าวขาเข้ามายืนอยู่บนความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่จุดที่แย่ที่สุด (The worst point) ด้วย เพื่อเตรียมแผนการรับมือ อย่าคิดแต่ในทางที่จะได้เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นจะสะดุดล้มแล้วหายไปแทนที่จะลุกขึ้นได้ใหม่ ในแนวทางที่ดีกว่าเดิม

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ