เช็กด่วน! รวมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผลกระทบจาก COVID-19

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การสั่งปิด สถานที่เป็นการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า การระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล และในอีกหลายพื้นที่ การงดกิจกรรม อาทิ การแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกับการดำเนินชีวิตของประชาชน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้

1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อช่วยเหลือเยียวยา ให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนาม กีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ

ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความ ช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด

1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชน ฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

1.5 มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำ กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถ นำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น

1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ (1) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 (2) ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

 


 

2. มาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัส COVID-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่ เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อ รายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563

สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้ง ทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID -19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเร็ว เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในภาวะเช่นนี้

2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

(1) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 (2) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจาก การเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น (2) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดังกล่าว

2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาด ไวรัส COVID กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการ สถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่ เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการ ประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่น แบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามรายการ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น

2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

2.7.1 (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้

(2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือ การให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตาม สัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี

(4) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ

2.7.2 ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการขยายหลักเกณฑ์จากมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมภายใต้มาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SME สร้างไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมการปรับปรุง โครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ แล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ และเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้ สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

 


 

นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ รวมถึงองค์ความรู้ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถรับมือในสถานการณ์นี้ได้

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้จาก สคบ. ฉลากสินค้าแบบไหนที่เรียกว่า “ดี”

สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย

ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน

โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้

  • ยี่ห้อ และประเภทหรือชนิดของสินค้า
  • ชื่อ-ที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายหรือนำเข้าที่สามารถติดต่อได้จริง
  • กรณีสั่ง/นำเข้าให้ระบุประเทศที่ผลิต
  • ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
  • ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก
  • วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ หรือคำเตือน (ถ้ามี)
  • วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
  • ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ

1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า

2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า

 

 

ที่มา

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

จดเครื่องหมายการค้าด้วยตัวเอง ทำง่ายใน 3 ขั้นตอน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน

จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…

 

 

1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

 

 

2. ยื่นคำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย

  • คำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) ดาวน์โหลด แบบ ก.01 โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร ต้นฉบับ 1 ชุด และถ่ายสำเนาอีกจำนวน 5 ชุด
  • รูปเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนกับรูปที่ติดในคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 รูป
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับนายทะเบียนรับรองและออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ในกรณีการมอบอำนาจ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18) ดาวน์โหลด แบบ ก.18 พร้อมปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน

สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

 

3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ

สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท

หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง

จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม

เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ส่องนวัตกรรมอาหาร 10 เทรนด์แรง! ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

“ทางเลือก” “ความยั่งยืน” และ “การปรับแต่งให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล” เป็น 3 สิ่งสำคัญที่จะเข้ามากำหนดแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารโลกในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีความหลากหลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลได้อย่างแท้จริงเท่านั้น ยังต้องมีการพัฒนาและนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อทำให้ “อาหาร” แหล่งพลังงานสำคัญของการขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ สามารถเติมเต็มช่องว่างของความต้องการของผู้บริโภคได้

Statista หน่วยงานที่รวบรวมสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดของอุตสาหกรรมต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 รายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกจะอยู่ที่ 64,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 10.2% ส่งผลให้รายได้ของตลาดจะขยับขึ้นไปถึง 95,421 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2566

เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสที่จะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ไป มาดู 10 เทรนด์ที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารในมุมมองของบริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม Innova Market Insights กัน

 

 

1. “ความแปลกใหม่” เอาใจผู้บริโภคชอบผจญภัย

การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ “โลกาภิวัฒน์” กระตุ้นให้ผู้คนออกไปแสวงหาอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ พยายามเพิ่มลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ กลิ่น รสชาติ สี หรือ เนื้อสัมผัสของอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ เช่น Kit Kat ได้เปิดตัวช็อกโกแลตรสชาติใหม่อย่าง Ruby Chocolate หรือช็อกโกแลตทับทิม ที่มาในสีชมพูสดใส และมีรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ เหมือนผสมเบอร์รี่ ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญและวิวัฒนาการของวงการช็อกโกแลต จากเดิมที่มีเพียงแค่ดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต และไวท์ช็อกโกแลต

 

2. อาณาจักรแห่ง “พืช”

กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค บวกกับการคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนและสวัสดิภาพของสัตว์ ส่งผลให้อาหารที่มีส่วนประกอบหรือทำจากพืชยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์เองก็หันมาใช้พืชเป็นส่วนประกอบในอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งหมด หรือเป็นการผสมผสานกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น Carrefour ได้นำเสนอ Le Palet Boeuf Et Vegetal ซึ่งเป็นการผสมผสานของเบอร์เกอร์ที่มีส่วนประกอบจากพืชและเนื้อวัว

 

 

3. “อาหารทางเลือก” มาแรง

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืชและอาหารมังสวิรัติ จำนวนของชาววีแกน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก อย่างเช่น เนื้อ นม โปรตีน สารให้ความหวาน และแม้กระทั่งปลา โดยกระแสโปรตีนทางเลือกจากพืชกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น และมีหลายแบรนด์ทำผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในจุดนี้ เช่น Likemeat ที่ทำไส้กรอกแฮมจากโปรตีนถั่ว หรือ Jimini’s ที่ทำธัญพืชอัดแท่งที่มีโปรตีนจากจิ้งหรีด เป็นต้น

 

4. “รักษ์โลก” แรงหนุนด้านความยั่งยืน

จากผลการสำรวจของ Innova Market Insights บอกไว้ว่า ผู้บริโภค 2 ใน 3 ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน กล่าวว่า บริษัทอาหารต่างๆ ควรมีการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นด้านของการพัฒนา ตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือความรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า แบรนด์หรือบริษัทนั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

 

5. “ขนมขบเคี้ยว” ไม่ใช่แค่ของกินเล่น

ของกินเล่น หรือ ขนมขบเคี้ยว จะไม่ใช่แค่อาหารที่ทานเล่นอีกต่อไป เมื่อ 63% ของชาวมิลเลนเนียม (Millennials) เลือกบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลัก เนื่องจากไม่มีเวลาว่าง ซึ่งด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาหารมื้อหลักและของทานเล่นเริ่มจะถูกผสานเข้าด้วยกัน โดยขนมเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขนมที่ทำจากผักหรือเห็ด เป็นต้น

 

 

6. จับตา “อาหารส่วนบุคคล”

ความต้องการและความชอบส่วนบุคคล มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเห็นได้ว่า อาหารสามารถปรับให้เข้ากับความชอบเฉพาะบุคคล หรือ Personalised ได้ เช่น EatLove แพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคลและบริการวางแผนอาหาร ได้จับมือร่วมกับ AmazonFresh เพื่อส่งมอบอาหารส่วนบุคคล โดยเป็นบริการที่จะทำการวิเคราะห์สูตรอาหารที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ พร้อมบอกรายการของที่ต้องใช้ในการทำอาหารในมื้อนั้นๆ ซึ่งสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ผ่านทาง AmazonFresh และรอรับที่หน้าบ้านได้เลย

 

7. การกลับมาของ “ไฟเบอร์”

ไฟเบอร์ หรือ เส้นใยอาหาร กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวงการอาหาร โดยผลการศึกษาของ Innova Market Insights บอกว่า 44% ของคนในอเมริกา และ 33% ของคนในสหราชอาณาจักรที่ตอบแบบสอบถามนั้น มีการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อ้างถึงการใช้ไฟเบอร์เป็นส่วนผสมเติบโตขึ้นถึง 21% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นการใช้ไฟเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนผสมของโภชนาการด้านกีฬา เช่น สปอร์ตบาร์ต่างๆ (Sports Bars) เป็นต้น

 

 

8. ทานแล้ว “รู้สึกดี”

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งแค่เรื่องของโภชนาการอีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องการทานอาหารที่จะทำให้รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือ จิตใจ โดยมีอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตัวโดยชูเรื่องทานแล้วรู้สึกดีให้เห็นมากขึ้น เช่น Oreo Joy Fills โอรีโอโฉมใหม่ที่ไม่ได้มาในแบบคุกกี้กลมๆ เหมือนเดิม ถึงรูปทรงจะเปลี่ยนไปแต่ความอร่อยยังถูกใจสาวกเช่นเดิม นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ยังกล่าวว่า “ความผ่อนคลาย” คือ สิ่งสำคัญในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

 

9. คนเลือกซื้อของจาก “แบรนด์เล็ก”

บริษัทสตาร์ทอัพยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้ามาเขย่าวงการอาหารและเครื่องดื่ม โดย 2 ใน 5 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ชอบซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์เล็กๆ เนื่องจากมองว่า พวกเขามีความใส่ใจในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า และมีเรื่องราวในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นการแก้เกม แบรนด์ใหญ่จึงเริ่มหันมาจับมือร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่าง Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตเนื้อกระป๋องทดแทนจากพืช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Tyson Foods, Humane Society, General Mills และนักแสดงอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ

 

 

10. “โซเชียลส่งเสียง” ร่วมสร้างสูตรอาหาร

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับเทรนด์นี้ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ว่า พวกเขาทานอะไรกันได้แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารไปยังแบรนด์หรือบริษัท ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอาหาร โดยผู้บริโภคชาวจีน (55%) อเมริกัน (43%) และอังกฤษ (24%) ที่มีอายุ 26 – 35 ปี กล่าวว่า พวกเขาถ่ายรูปอาหาร แล้วโพสต์บนออนไลน์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และด้วยเทรนด์นี้ ทาง โอรีโอ จึงสร้างแฮชแท็ก #myoreocreation ที่ให้แฟนๆ เลือกได้ว่า อยากได้รสชาติใหม่รสไหน ซึ่งรสเชอร์รี่โคล่า เป็นผู้ชนะไปและได้ผลิตออกสู่ตลาดจริง

 

“นวัตกรรม” ทางออก SME สร้างความต่าง ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

ในขณะที่แบรนด์โลกเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ต่างพากันนำเอานวัตกรรมมาประยุตก์ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาท้าสายตาของผู้บริโภคและนักชิม ยกตัวอย่าง ดร. ภูมิยศ พยัคฆวรรณ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไก่แผ่นอบกรอบ Sexy Chick ที่นำเนื้ออกไก่มาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว ซึ่งผ่านกระบวนการขึ้นรูปใหม่และอบแห้ง ให้ทั้งโปรตีนสูงและพลังงานแก่ร่างกาย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ

 

 

“เรามุ่งเจาะไปที่ตลาดนักกีฬา คนออกกำลังกาย คนเล่นกล้ามที่ต้องอาศัยการทานโปรตีน รวมถึงคนรักสุขภาพที่ไม่อยากทานพวกไขมันและแป้ง โดยทำการเปลี่ยนการบริโภคเนื้ออกไก่ในรูปแบบเดิมๆ มาเป็นขนมทานเล่นที่มีโปรตีนสูง เพื่อทำให้เกิดความแปลกใหม่ และไม่จำเจ โดยเฉพาะกับนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องทานอกไก่อยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาสินค้าออกมาสักชิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า จะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งการจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และเข้าไปอุดช่องว่างในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการใช้นวัตกรรม ที่จะมาช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น”

 

 

ในขณะที่ตลาด Ready to Cook หรือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณอภัสนันท์ พงศ์ธนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Top THAI LED CO WORKER CO., LTD จึงไม่รอช้าที่จะนำนวัตกรรมการทำแห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze dehydration หรือ Lyophilisation) มาพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ภายใต้แบรนด์ AP Thailand

“ฟรีซดราย เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของต่างชาติ ช่วยรักษาคุณภาพ โดยคงสภาพความสดใหม่ของอาหารได้เป็นอย่างดี และเก็บได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังตอบรับกับกระแส Ready to Cook ทั้งในแง่ของผู้บริโภครายเล็กและร้านอาหารในต่างประเทศที่ต้องการหาสมุนไพรและวัตถุดิบแบบไทยๆ ได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เมื่อสังคมผู้สูงวัยมีการเติบโตมากขึ้น ขณะที่ผู้มีปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืนยังถูกมองข้าม จึงจุดประกายให้ คุณชวลิต ธนสหวรคุณ ผู้อำนวยการ บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุกขึ้นมาพัฒนาเยลลี่สูตรใหม่ ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น รับประทานง่าย รสชาติอร่อย และพกพาสะดวก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้

 

 

“เดิมทีเรามีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย เป็นแบบผงชงแล้วดื่มอยู่แล้ว ทำให้เรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ จึงมีความคิดที่จะต่อยอดและนำไปพัฒนาเป็นอาหารประเภทอื่น จนมาตกผลึกที่การเป็นเยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มี โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ทดลองกันอยู่หลายสิบครั้งจึงสำเร็จออกมา โดยเป็นเยลลี่ที่กลืนง่าย มีความลื่นหรือหนืดที่เหมาะสม และมีการเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น สารสกัดจากใบแปะก๊วย โอเมก้า 3 (อีพีเอ/ EPA) โปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม และวิตามินแร่ธาตุสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน น้ำตาล และน้ำตาลแลคโตส”

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากและช่องคอ ผู้มีความบกพร่องของหลอดอาหาร รวมถึง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งระบบประสาทสั่งงานด้านการเคี้ยวและกลืนไม่สัมพันธ์กัน

“การกลืนอาหารหรือน้ำไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาการขาดน้ำและสารอาหารแล้ว ยังทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมด้วย โดยผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาทำให้ทั้งสุขภาพและชีวิตทางสังคมของคนเหล่านี้ดีขึ้นได้”

เห็นแล้วใช่ไหมว่า หากต้องการจะทำธุรกิจอาหารยุคใหม่ให้แตกต่างและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องไม่มองข้าม “นวัตกรรม” อย่างเด็ดขาด

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ