สมาพันธ์ SME กับมุมมองทางรอดเอสเอ็มอียุคโควิด

นับตั้งแต่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หายไปจากระบบแล้ว 35% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด  3 ล้านราย ส่วนจำนวนที่เหลือในระบบส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่ากลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและค้าปลีกเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ 100% ในช่วง 2 เดือนแรก แม้หลังคลายล็อค มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดเท่านั้น ในขณะเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ก็มีอาการอ่อนล้าไม่ต่างกัน หากภาครัฐไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้อีกครั้ง และสถานการณ์ยังคงลากยาวต่อไป เชื่อว่าเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการไปอีกจำนวนมากในปีหน้า

“ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด และไม่มีการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนที่ดีพอ เมื่อยิ่งเจอกับวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าผลิตไปก่อนแต่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันที เนื่องจากติดกับกับเครดิตเทอมที่มีระยะเวลายาวนาน แต่ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้หลายๆ รายจึงเกิดการสะสมให้เงินลงทุนจมไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีระบบออโตเมท จึงจำเป็นต้องใช้แรงงาน เมื่อไม่มีเงินมาหมุน แต่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น”

คุณโชนรังสี สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทางสมาพันธ์ SME ไทยจึงได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” 

เริ่มจาก “2 ลด” ได้แก่ การลดภาระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการรวมหนี้จากหลายๆ สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อให้มาอยู่ในสถาบันการเงินเดียว เพื่อเกิดความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษ และไม่เป็นแบล็กลิสต์ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือที่เป็นแล้ว ภาครัฐควรมีวิธีการพิจารณาคัดแยกเกรดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพในการฟื้นตัวสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสนามรบได้อีกครั้ง 

“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากทางภาครัฐมีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนไปเร็ว ทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการยื่นขอสินเชื่อ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา เราจึงคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินแบ่งสินเชื่อที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ขยัก โดยปล่อยเม็ดเงินบางส่วนออกมาก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินตรงนั้นมาหยุดเลือด หรือรันให้ธุรกิจพอหายใจได้ ส่วนขยักที่ 2 ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ต้องก็มีความยืดหยุ่นด้วย”    

ต่อมาคือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการยืดมาตรการที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว อาทิ ลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดอัตราค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าจัดส่งของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด    

ส่วน “2 เพิ่ม” ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการให้สินเชื่อที่มีกลไกเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าที่ผ่านมา , สร้างกองทุนเอสเอ็มอี และมาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือลดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การหักภาษี โดยเฉพาะภาษีนิติลบุคคลประจำปี เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปในปีหน้าได้ 

อีกหนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสการค้าทางการตลาด โดยเฉพาะในยามที่สินค้ายังไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทางภาครัฐควรสร้างกลไกให้เกิดช่องทางตลาดในประเทศมากขึ้น

คุณโชนรังสี กล่าวว่า ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องสร้างความแข็งแรง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกภายในให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ระดับสากล

ในเวลาเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง ด้วยการต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับยุคดิจิตัล โดยเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ในองค์กร และเติมพนักงานรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการต้องมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลการทำงานแบบ Agility เพื่อปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญต้องวางแผนกระแสเงินสด ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปีละครั้งเหมือนในอดีต

“ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ SME ไทย เราอยากให้เอสเอ็มอีมี Mindset ของการเป็นนักสู้ซึ่งเป็นนักสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราเป็นนักสู้แบบมวยวัด ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมวยสากลให้ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนพยายามมีความหวัง โดยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหาทางออกหรือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ SME ไทยที่ว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” 


Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้จาก สคบ. ฉลากสินค้าแบบไหนที่เรียกว่า “ดี”

สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย

ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน

โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้

  • ยี่ห้อ และประเภทหรือชนิดของสินค้า
  • ชื่อ-ที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายหรือนำเข้าที่สามารถติดต่อได้จริง
  • กรณีสั่ง/นำเข้าให้ระบุประเทศที่ผลิต
  • ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
  • ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก
  • วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ หรือคำเตือน (ถ้ามี)
  • วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
  • ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ

1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า

2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า

 

 

ที่มา

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

จดเครื่องหมายการค้าด้วยตัวเอง ทำง่ายใน 3 ขั้นตอน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน

จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…

 

 

1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

 

 

2. ยื่นคำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย

  • คำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) ดาวน์โหลด แบบ ก.01 โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร ต้นฉบับ 1 ชุด และถ่ายสำเนาอีกจำนวน 5 ชุด
  • รูปเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนกับรูปที่ติดในคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 รูป
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับนายทะเบียนรับรองและออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ในกรณีการมอบอำนาจ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18) ดาวน์โหลด แบบ ก.18 พร้อมปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน

สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

 

3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ

สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท

หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง

จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม

เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. จองชื่อบริษัท

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่

 

2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม

ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้

  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น

 

3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์

การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด

เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว

จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ