ทำธุรกิจช่องทางออนไลน์ จัดการเงินอย่างไรให้คล่องมือ

หัวข้อ : Trust ผูกใจลูกค้าด้วยประสบการณ์ขั้นกว่า
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/Inspired-Feb-2020.aspx

 

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ การมีช่องทางรับเงินที่หลากหลายนอกจากจะเป็นทางเลือกให้ลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย และนี่เป็นช่องทางการชำระเงินที่นิยมใช้กันในตอนนี้

 

1. การเก็บเงินปลายทาง

ลูกค้าหลายคนชอบทางเลือกนี้ เพราะมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าแน่นอน ในขณะที่ผู้ขายจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง กรณีส่งสินค้าไปแล้วแต่ลูกค้าไม่รับสินค้าและถูกส่งกลับ ปัจจุบันช่องทางการขายของออนไลน์หลายรายบังคับให้มีช่องทางเก็บเงินปลายทางไว้ให้ลูกค้า ผู้ประกอบการที่จึงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ไว้ด้วย

 

2. การโอนเงิน

เป็นวิธีชำระเงินที่หลายคนคุ้นเคย พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนจะชอบวิธีการนี้ เพราะเป็นการได้รับเงินสดก่อนที่จะส่งสินค้าไป

 

3. ชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต

เป็นวิธีที่สะดวกทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ผู้ขายอาจต้องเสียค่าธรรมเนียม หากลงขายสินค้าตามช่องทางต่าง ๆ อย่าง ช้อปปี้ (Shopee) หรือ ลาซาด้า (Lazada) จะมีระบบรับบัตรเครดิตเตรียมไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณสร้างเว็บไซต์ของตัวเองอาจต้องทำ ระบบชำระเงินออนไลน์ที่ชำระผ่านระบบของธนาคาร (Payment Gateway) ด้วยตัวเอง ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง

 

4. กระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet)

ปัจจุบันยังมีช่องทางอย่าง กระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) ที่เริ่มมีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น TrueMoney, Rabbit Line Pay และ Airpay

 

เมื่อธุรกิจออนไลน์มีช่องทางการรับเงินมากกว่าหนึ่ง การจะบริหารจัดการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการจัดการเบื้องต้น ดังนี้

– จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด พร้อมเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ใบเสร็จต่างๆ ฯลฯ จะทำให้เห็นว่าธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุน หรือรายได้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร
– ต้องมีเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องธุรกิจ โดยหลักกว้าง ๆ อาจสำรองเงินไว้ที่ 6 เท่าของรายจ่ายแต่ละเดือน หรือสามารถประเมินได้จากมูลค่าของสต็อกสินค้าเทียบกับระยะเวลาขายออกไป จะทำให้ทราบว่าควรมีเงินสำรองไว้มากน้อยเท่าไร
– ต้องแยกบัญชีส่วนตัวและบัญชีธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าเงินที่เข้ามาเป็นเงินของธุรกิจหรือไม่
– แบ่งบัญชีโดยยึดบัญชีธนาคารเดียวเป็นบัญชีจ่ายออก ส่วนบัญชีรับเงินสามารถมีกี่บัญชีธนาคารก็ได้

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

เป็นหนี้อย่างไร ให้ธุรกิจได้ประโยชน์

หัวข้อ : The Next Challenger ท้าทายให้สุด สนุกที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/Inspired-Jul-2020.aspx

 

 

การไม่มี “หนี้” คือลาภอันประเสริฐ แต่ในแง่ของการทำธุรกิจนั้น การเป็นหนี้อาจไม่ใช่เรื่องร้ายเท่าที่คิด นี่เป็นมุมมองที่น่าสนใจของการเป็นหนี้จากการกู้สินเชื่อธนาคาร ที่เอสเอ็มอีต้องรู้

 

1. เป็นหนี้ แล้วหักภาษีได้ 

ดอกเบี้ยที่เกิดจากสินเชื่อต่าง ๆ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่นำไปหักลดหย่อนภาษีได้  ในขณะที่การใช้เงินทุนของตัวเองไม่สามารถทำได้

 

2. เป็นหนี้ ช่วยรักษาความเป็นเจ้าของกิจการได้

เฉพาะในกรณีของธุรกิจที่มีหลายหุ้นส่วน หลายคนอาจคิดว่าดอกเบี้ยสินเชื่อแพงจึงอยากใช้เงินส่วนตัว แต่หุ้นส่วนคุณอาจไม่ได้มีเงินลงทุนพร้อมกัน เช่น มีหุ้นส่วน 4 คน แต่มีคนที่พร้อมลงทุน 2-3 คน แบบนี้สัดส่วนการถือหุ้นจะเปลี่ยนทันที แต่ถ้าลงทุนโดยใช้สินเชื่อจากธนาคาร จะยังคงสถานะสัดส่วนกรรมสิทธิ์ของบริษัทได้เช่นเดิม

 

3. เป็นหนี้ แต่มีสภาพคล่องสำรอง

หากคุณมีเงินไม่มากพอ และนำเงินส่วนตัวมาใช้ลงทุนธุรกิจ อาจทำให้ไม่เหลือเงินไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนได้

 

4. เป็นหนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสโตให้ธุรกิจ

เพราะบางครั้งโอกาสอาจเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น มีออร์เดอร์ใหญ่เข้ามา หากมีเงินทุนไม่มากพออาจพลาดโอกาสนั้นได้ การกู้สินเชื่อจึงเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น

 

5. เป็นหนี้ อาจให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า

ยกตัวอย่าง หากคุณมีเงินทุนอยู่ 30 ล้านบาท แทนที่จะนำมาลงทุนธุรกิจ แต่ใช้การขอสินเชื่อมาลงทุนแทน อาจจะเสียดอกเบี้ยที่ 6-7% แล้วนำเงินส่วนตัวไปลงทุนประเภทอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ผลตอบแทน 8-9% แสดงว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกับผลตอบจากการลงทุนลงทุนประเภทอื่นนั้น มีส่วนต่างที่คุณจะได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุนและผลตอบแทนของแต่ละคนหรือแต่ละบริษัทจะได้ไม่เท่ากันด้วย

 

เคล็ดลับการเป็นหนี้ที่ดี ให้ธุรกิจได้ประโยชน์

– ต้องใช้สินเชื่อให้ถูกวัตถุประสงค์การกู้ยืม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง 

  • ผู้ประกอบการหลายคนเลือกที่จะกู้เงินระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน เพราะดอกเบี้ยถูกกว่า เพื่อนำไปลงทุนในระยะยาว เช่น นำเงินไปสร้างโรงงาน ซึ่งกว่าโรงงานจะให้ผลตอบแทนกลับมาต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ 
  • ผู้ประกอบการใช้ธุรกิจ A ในการขอสินเชื่อ แต่กลับนำเงินที่ได้ไปใช้กับธุรกิจ B หากธุรกิจ A เกิดขาดสภาพคล่อง แต่ธุรกิจ B ยังไม่สามารถสร้างรายได้ กลายเป็นว่าทั้งสองธุรกิจของคุณอาจล้มไปด้วยทั้งคู่

– ต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะนั่นจะกลายเป็นเครดิตทางการเงินให้ตัวคุณเอง เนื่องจากเวลาธนาคารอนุมัติสินเชื่อหากเป็นลูกค้าเก่าจะดูจากประวัติการชำระเงิน หากเป็นลูกค้าใหม่จะดูจากเครดิตบูโร การที่มีประวัติการชำระเงินดี จะช่วยเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และอาจได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษกว่าด้วย
– ต้องพิจารณาเลือกใช้ธนาคารมากว่า 1 แห่ง เพราะแต่ละธนาคารมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อและคิดดอกเบี้ยแตกต่างกัน จะทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสการกู้ผ่านและได้รับดอกเบี้ยที่เหมาะสม

 

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้เสียในภาวะวิกฤต

– ทบทวนแผนธุรกิจ โดยประเมินรายได้และรายจ่ายในปัจจุบัน เพื่อดูว่ามีเงินพอชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน
– ขอเจรจากับธนาคาร เพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เหมาะกับธุรกิจช่วงวิกฤต
– เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้ธนาคารสามารถช่วยวางแผนทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เช็กสุขภาพกระแสเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ

หัวข้อ : เช็กสุขภาพกระแสเงินสำหรับ e-commerce
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/e-commerce-money-flow-checkup.html

 

การทำธุรกิจไม่ว่าจะประเภทใดต้องมีการดูแลบัญชีเบื้องต้น ธุรกิจที่ทำผ่านออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซก็เช่นกัน หากจัดการเงินไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง นั่นอาจทำให้ธุรกิจล้มได้ มาเช็กสุขภาพทางการเงินของกิจการผ่าน “งบดุล” โดยสามารถดูตัวเลขดังต่อไปนี้เพื่อประกอบการพิจารณาได้

 

ส่วนของสินทรัพย์ 

กิจการที่มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและดีพอ ย่อมสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ สินทรัพย์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้แก่

  • ระบบการซื้อขายออนไลน์ หรือ เว็บไซต์ ควรหมั่นเช็กระบบให้ดีเพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้รวดเร็ว 
  • เงินสด ซึ่งในกิจการส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ เงินหมุนในธุรกิจนี้ต้องกันเอาไว้ให้ครอบคลุมยอดขาย และยอดสั่งซื้อสินค้า

ยกตัวอย่างเช่น

กิจการที่ทำอีคอมเมิร์ซแห่งหนึ่ง มีสินทรัพย์รวมแล้ว 10 ล้านบาท และมีหนี้สินทั้งหมด 5 ล้านบาทจากการกู้ยืมเงินจากธนาคาร เท่ากับว่า

บริษัทนี้จะมีทุน = 10 – 5 = 5 ล้านบาท

ในขณะที่มีหนี้สิน 5 ล้านบาท 

ทำให้หนี้สินต่อส่วนของทุน = 5/5 = 1 เท่า นั่นเอง 

หมายความว่า กิจการแห่งนี้ถ้ามีรายได้สม่ำเสมอ มีเครดิตที่ดีพอ ยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 5 ล้านบาท หรือกว่าเท่าตัวเพื่อมาเสริมสภาพคล่องได้

การดูแลในส่วนของหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรอบคอบ การก่อหนี้ที่มากเกินไปถ้าอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากสภาพเศรษฐกิจนั้นกดดันให้เกิดภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะทำให้ “ดอกเบี้ย” ที่กิจการต้องจ่ายให้กับธนาคารสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาไม่มีเงินจ่ายหนี้ หรือจ่ายดอกเบี้ยมีให้เห็นมาแล้วในช่วงภาวะวิกฤติต่าง ๆ ดังนั้นการบริหารจัดการหนี้สินในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

 

ส่วนของทุน

คือ การหักลบระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินของกิจการ กิจการที่ดีมีแนวโน้มเติบโต สินทรัพย์จะมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หนี้สินอาจจะลดลง ทำให้ส่วนของทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วยเช่นกัน และเริ่มมีเงินสดกองไว้ในบริษัทมากขึ้น นั่นคือกิจการที่เติบโต

ในทางกลับกัน กิจการที่ไม่ดี หนี้สินอาจมีมากกว่าสินทรัพย์ ปัญหาอาจเกิดจากการขายของไม่ได้ ขาดสภาพคล่อง เก็บเงินลูกค้าไม่ได้ ทำให้ต้องกู้เงินมากขึ้นเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง หากประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณอันตราย เจ้าของกิจการต้องรีบหาทางแก้ไขโดยเร็ว

การบริหารจัดการเรื่องเงินถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท หลายคนอาจคิดว่ายุ่งยาก แต่หากใช้เวลาเรียนรู้สักนิด เมื่อพบปัญหาอย่าง กิจการขาดสภาพคล่อง จะสามารถแก้ไขได้ทันการณ์

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

Class Cafe แบรนด์กาแฟไทยแห่งภาคอีสาน กับการพัฒนาธุรกิจแบบ Collaboration

ในวันที่คุณมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Class Cafe ตัดสินใจเริ่มต้นในธุรกิจ Hospitality อย่างร้านกาแฟนั้น เขาไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย เพราะตลอดชีวิตการทำงาน มารุตเติบโตมาในสายงานด้านเทคโนโลยีคมนาคม มารุตคือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ Non Voice เมื่อสิบกว่าปีก่อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น AIS, Hutch, Nokia

วันหนึ่งมารุตตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อกลับไปเปิดร้านกาแฟที่บ้านเกิดจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพที่เรียกว่า Open Coffee Platform 

จากวันนั้นถึงวันนี้ Class Cafe ได้รับการยอมรับจากวงการสตาร์ทอัพว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการทำธุรกิจ Food Tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเมืองไทย วิธีคิดและการบริการงาน Class Cafe ของมารุต ชุ่มขุนทด ที่ถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์นี้ จึงเป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพและ SME ทุกคน

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้


จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ


SME ONE : เส้นทางธุรกิจ Class Cafe จากคนในวงการโทรคมนาคมมาจบที่ร้านกาแฟได้อย่างไร

คุณมารุต : ผมเริ่มต้นทำงานในธุรกิจมือถือ ทำแบรนด์ AIS, Hutch, Nokia เพราะฉะนั้นเราเป็นคนสายเทคโนโลยีมาตลอด แต่ช่วงนั้นที่กรุงเทพมีการประท้วงเยอะมาก ส่วนตัวมองว่าไม่รอดแน่ถ้ายังทนอยู่กรุงเทพฯ ก็เลยตัดสินใจกลับไปเปิดร้านกาแฟที่โคราชบ้านเกิด  พอได้ทำจริงปรากฏว่าโคราชมันมีพลังบางอย่างที่เราเข้าใจผิดมาตลอด คนแถวนี้บางคนรวยแบบบ้าคลั่งเป็นเจ้าของโรงสี เป็นเจ้าของโรงงานยางพารา บางคนรวยเป็นพันล้าน โดยที่เราไม่เคยรู้ คือเราอยู่กรุงเทพ Ego สูง อยู่บริษัทชั้นนำ เราจะคิดคนละอย่าง เราคิดว่าเราเจ๋งแล้ว แต่ที่จริงไม่เลย

วันที่ตัดสินใจมาโคราช ผมมองว่าผมเป็น Tech Company 100% Ego มาก ธุรกิจร้านกาแฟนี่หมูสับ แต่พอลงมาทำจริงเหนื่อยมาก คือไม่เหมือนกับโลกที่เราอยู่แม้แต่น้อย แทบไม่ได้เปิด PowerPoint เลย ปีแรกเปิด PowerPoint วันเดียว ที่เหลือต้องมาถูพื้น ล้างจาน หัดทำทุกอย่าง แต่รู้สึกสนุกเพราะว่าเหมือนกับเป็นคน Digital มาทำ Analog ตื่นเต้นไปหมด พอลงมาทำจริงๆ ก็อยากไปให้สุด ผมไปเรียนคั่วกาแฟเอง ไปขึ้นไร่ขึ้นดอย ไปคองโก ไปรวันดา ที่ไหนกาแฟดีไปหมด เพราะอยากรู้จริงทุกเรื่องตั้งแต่ปีแรก ๆ นั่นคือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว 



SME ONE : วันที่เริ่มธุรกิจ เรา Definition ตัวเองเป็นอะไร

คุณมารุต : ร้านกาแฟ เริ่มต้นเป็นร้านกาแฟก่อน ชงกาแฟล้วน ๆ อยู่ 2 ปี พอ 2 ปีเริ่มเห็นแล้วว่าแข่งเหนื่อย แข่งกับร้านใหญ่ ยังไงก็ถูกทุบตาย ก็เริ่มคิดว่า ถ้าแบบนี้ขอไปเล่นเกมที่เราถนัดดีกว่า ตอนนั้นกระแสสตาร์ทอัพกำลังมาประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราก็มานั่งนึก เรามี CEO ที่เป็นคน Tech ที่คู่แข่งไม่มี ทำไม Starbucks เมืองนอกถึงเปลี่ยน CTO เอาคนจาก Adobe มา เพราะเก่งเรื่อง Data ทำไมสุดท้าย Starbucks ถึงเปลี่ยน CEO เป็นคน Microsoft จนเข้าใจว่ามาถูกทางแล้ว  นี่คือของฟรีที่ Class Cafe มี เรามีคน Tech ที่เชี่ยวชาญเรื่อง Tech Platform ทุกอย่าง เราต้อง Raise Fund ได้ เราต้องเป็นสตาร์ทอัพก็เลยเริ่มเบนเลย จับ Class Cafe เปลี่ยนเป็น Co-Working Space 

 

SME ONE : วันที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากร้านกาแฟเป็นสตาร์ทอัพ Class Cafe ปัจจุบันมีอยู่กี่สาขาแล้ว

คุณมารุต :  ช่วงก่อนโควิด-19 จะมีทั้งหมด 28 สาขา แต่พอเกิดโควิด-19 เราปิดไปครึ่งนึง ซึ่งตอนนี้กำลังทยอยกลับมาเปิดใหม่ เพราะสถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้น ก็เลยอยู่ประมาณ 26 สาขาในตอนนี้ 

ในช่วงโควิด-19 เราทดลองทำระบบ Delivery ด้วย ทำรถพุ่มพวงออกไปต่างอำเภอ เครื่องดื่มเปลี่ยนจากแก้วไปเป็นขวด โยเกิร์ตก็ไปเข้าโรงงานผลิตออกมา ทำทุกอย่างใหม่หมดทั้งกระบวนการ Product ใหม่ ช่องทางสื่อสารใหม่ LINE, Facebook, IG ทุกช่องทางที่ลูกค้าอยู่ พอทำแบบนี้ เราได้ Digital Landscape ใหม่ ทำให้การที่เราต้องปิด 14 สาขาเพราะโควิด-19 กลายเป็นจุดแข็ง เพราะเราไม่ต้องมีสาขาให้ปวดหัว แล้วกรุงเทพเดือดร้อนเรื่องโควิด-19 มาก เราปิดทุกสาขาใน 2 อาทิตย์แล้วย้ายคนไปโคราชหมด ของที่มีวันหมดอายุ เราขาย Clearance ทำใส่ขวดขาย 1 แถม 1 ล้าง Stock เพื่อกำเงินสดตามสูตร Cash is king 

 

SME ONE : เมื่อตัดสินใจกลับไปพัฒนาสาขาที่โคราช และปรับตัวสู่ระบบ Delivery ผลเป็นอย่างไร?

คุณมารุต :  ใช่ไปรวมศูนย์ เราเอา Stock กลับไปขายที่โคราช ยอดขายที่โคราชขึ้น 4 เท่าจากช่วงไม่มีโควิด-19 สาขาโคราช, ขอนแก่นขายดีขึ้นเยอะ เพราะทำ Delivery ได้ แล้วแบรนด์แข็งแรง คนในเมืองก็มาซื้อไปตุน กลายเป็นว่าเรากลับไปอยู่ในโหมด Digital เพียว ๆ เลย Class Cafe เป็น Digital Platform ที่ชัดเจน แข็งแรง ทาง SCB ก็หนุนทุกอย่างชำระเงินด้วย QR Code แม่มณี ทุกอย่างเป็น Digital หมดเลย เราก็เลยกลายเป็นโมเดลในการโชว์ว่า  SME ถ้าอยากจะรอดจากโควิด-19 ต้องทำแบบนี้ เราสนุกกับการทำงาน เราไม่ได้เน้นยอดขาย เราเน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง แบรนด์ก็เลยแข็งแรงขึ้น ตอนที่เราพูดเยอะขึ้นว่าแบบ Class Cafe เป็นแรงบันดาลใจ คุณไปทำน้ำส้มขวดนี้ขายที่กรุงเทพสิ เราทำแล้วสำเร็จนะที่โคราช คนก็แห่กันไปทำ Class Cafe ก็เลยกลายเป็นคนที่ Inspire คน แบรนด์ก็เริ่มกลายเป็นแหล่งของคนทำงาน คนอยากมานั่ง Class Cafe

 

SME ONE : เคยไปสำรวจกลุ่มลูกค้าที่มานั่งในร้านไหม ว่ามาเพราะว่า Environment หรือมาเพราะกาแฟ 

คุณมารุต :  เขาไม่ได้มาเพราะกาแฟ แต่มาเพราะว่าต้องการใช้ชีวิตอยู่กับแบรนด์ เพราะเราสร้าง Environment ให้คนรู้สึกว่า Class café คือจุดเริ่มต้นดีๆ ของวันก่อนที่จะออกไปบู๊กับงาน ออกไปสัมภาษณ์งาน ออกไปขายของ หรืออะไร ขอมาเริ่มต้นที่ Class Cafe ก่อนแล้วพื้นที่บริเวณภาคอีสานที่มี Class Cafe อยู่ มันกลายเป็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับเราจริง ๆ 

ตอนเกิดเหตุการณ์ที่ Terminal เราเห็นภาพคนโคราชเศร้าหมอง Class Cafe ก็ออกมารณรงค์สร้างโคราชสตรองกลับมา คือ Class Cafe ยึดมั่นในเรื่องของเมือง คือเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำอยู่กับเมือง คนก็เลยมาใช้ชีวิตอยู่กับเรา อย่างล่าสุดเราทำแก้วดูดวง Horoscope เพราะ Insight คนตอนนี้ต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการความสมหวัง ต้องการคนสนับสนุนและคอยช่วยเหลือ พอหยิบกาแฟมาแก้วหนึ่งแล้วได้อ่านดวง โห ใจมันได้แล้ว

 

SME ONE : ฟังดูแล้ว Class Cafe เป็นเหมือนกับห้องทดลองขนาดใหญ่

คุณมารุต :  โคราชเป็น Sandbox ขนาดใหญ่ของเราที่เราเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้ เราเปิดตัวแม่มณีคนก็ใช้ 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่มาวันนึงบอกว่าไม่มีโปรโมชั่นตามปกติในสาขาต้องจ่ายผ่านแอปเท่านั้นถึงจะได้ Promotion คนก็ใช้แอปกันอีรุงตุงนังกันทั้งเมือง อยู่ดี ๆ สาขาในมหาวิทยาลัยบอกไม่รับแล้วเงินสด แรกๆ ก็วุ่นวายแต่ลูกค้าก็จ่ายผ่าน Cashless คือเรื่องพวกนี้มันกลายเป็นพลังสร้างสรรค์ที่เราสนุกกับมัน แล้วลูกค้าก็สนุกด้วย ลูกค้าก็รู้สึกว่า Class Cafe ไม่ใช่เรื่องของความสมบูรณ์ของ Product แต่เป็นเรื่องของความพยายามของคนที่จะดีขึ้นทุกวันให้ได้ อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราเล่าให้ทุกคนฟังเสมอ แล้วคนจะเสพ Story ของเราตลอด 120,000 คนที่อยู่ใน Facebook ที่ Active ก็คืออยู่ประมาณ 30,000 คน เวลามีอะไรก็จะ Like กันแบบเป็นหลักหมื่น มันกลายเป็นเราสนุกกับเรื่องพวกนี้ อย่างตอนนี้ฉันชอบกล้องฟิล์ม น้องๆ มารวมกันถ่ายกล้องฟิล์มกันเถอะ Class ถ่ายกล้องฟิล์ม หรือน้องๆ อยากทำสตาร์ทอัพใช่ไหม เราก็เอาคนมาสอน ช่วงนี้คนตกงาน Class Cafe จะช่วยอะไรได้บ้าง เราก็ทำ Platform หางานกันเถอะ ชวน Seekster มาเปิด Platform ที่โคราช


ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ


SME ONE : ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง Class Café กับร้านกาแฟทั่วไป มีอะไรที่คู่แข่งมีแล้วเราไม่มี

คุณมารุต :  เราไม่มีมุม Private เราไม่มีความขมเข้มของกาแฟ เราไม่มีเพลงแบบ Bossa Nova เบา ๆ เราไม่มีสวน เราไม่มีสิ่งที่เขามีทั้งหมด เราพยายามไม่มีด้วย เพราะเราคือคนที่จะมาเปลี่ยนแปลง เราเป็น Disruptor เราต้องไม่มีสิ่งสำคัญที่สุดของคู่แข่ง เพราะเขามีทุนมากกว่าเรา คู่แข่งเราดีดนิ้วอยากมี Co-Working Space ทำได้เลย ธุรกิจกาแฟเป็น Red Ocean มาก แต่สิ่งที่เรามีแล้วเราแข็งแรงที่สุด คือวัฒนธรรมองค์กร ถ้าไปที่สำนักงานใหญ่ทีมเราเป็นทีม Digital หมดเลย ทีม Barista เราเป็นคนนั่งวิเคราะห์ Data Science ทำ User Experience Design App เหมือน Agency นั่งทำเรื่องพวกนี้ นั่งทำ Content 

สิ่งที่คู่แข่งไม่มีคือ Mindset แบบเรา ไม่ใช่ Technical Product ที่ว่าใครมีเงินก็ซื้อเทคโนโลยีมาใส่ได้ ที่ร้านเราสอนพนักงานว่า อย่าไปเก็บแก้วกาแฟเขานะ อยู่เป็นเพื่อนเขานะ อย่ารบกวนลูกค้านะ อย่าเดินออกมาเพ่นพ่านให้เขารู้สึกอึดอัด อย่าไปถูพื้นตอนที่เขานั่งประชุม เพราะเขาคุยเรื่อง Private ของเค้า

 

SME ONE :  ในส่วนของกาแฟที่ Class Café ใช้เป็น Standard หรือว่าเป็น Specialty

คุณมารุต :  กาแฟต้องเป็น Specialty ที่ดีที่สุดเสมอ เรามีโรงคั่วของตัวเอง ที่โคราช 2 โรง และที่เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ก็คั่วของเราเอง เป็นเครื่อง Probat ที่ดีที่สุดในโลก โคราชใช้เครื่อง Giesen ที่ดีที่สุดในโลก ทุกอย่างต้องดีที่สุดเสมอ ต้องเกิดมาจากแหล่งกาแฟชั้นดี เราใช้กาแฟนอกทั้งหมดตั้งแต่เปิดร้าน นำเข้ามาจากแหล่งปลูกหลายประเทศ เช่น เคนย่า เราได้กาแฟที่ดีที่สุดในโลกมาทุกปี 

 

SME ONE : กลับไปตอนที่เราบอกว่าเราจะเป็น Startup เราจะต้องไป Raise Fund ตอนนั้นคนคาดหวังอะไรจากร้านกาแฟ

คุณมารุต :  Coffee Tech เราอธิบาย Present เต็มรูปแบบเรื่องของ Spot Data Analysis การเก็บข้อมูล เครื่อง POS Link กับแอปพลิเคชัน ทำเรื่องนี้แบบ Hardcore เรื่องการประมวลผล การเอาข้อมูลเข้ามาใช้งาน เราเก็บตำแหน่งที่นั่งของลูกค้ามา Plot Graph Plot Match วิเคราะห์ Furniture ทำมันทุกอย่างเพราะเป็น Coffee Tech

Class Cafe เป็น Coffee Technology สิ่งที่เราทำทั้งหมด เราทำเพื่อให้เราสเกลตัวเอง ขยายไปเรื่อย ๆ ได้ อันนี้คือสิ่งที่ชัดเจน แต่เราก็บอกว่า คุณเดินเข้ามาในสาขา คุณก็ไม่ต้องมาสนใจหรอกว่า LED Display จะปรับเปลี่ยนตามตัวคุณ เพราะเป็น Server ที่ Feed Advertising อัตโนมัติ คุณไม่ต้องสนใจหรอกว่าข้างหลังของ Cashier คือคนทำ UI ไม่ต้องสนใจว่าเทคโนโลยีคืออะไร สนใจว่าคุณจะได้เครื่องดื่มที่คุณอยากได้และมีที่นั่งที่คุณพอใจไหม และมีสิ่งแวดล้อมที่คุณแฮปปี้หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ลูกค้า Value แต่สิ่งที่คนทำ Tech Value คืออยากเห็นจอ Pop Graph ขึ้น ไม่ใช่หัวใจ เรามองที่การ Sustain และการใช้ชีวิตมากกว่า นี้คือสิ่งที่เปลี่ยนวิธีคิด

 

SME ONE : กำลังซื้อของต่างจังหวัดกับกรุงเทพมีความแตกต่างกัน จุดนี้เป็นอุปสรรคไหม

คุณมารุต :  เราขายกาแฟ Premium Grade แต่ราคาเพียง 70 บาท สิ่งหนึ่งที่คนต่างจังหวัดให้เราได้ คือ Loyalty พอ Loyalty สูงมาก ๆ ใน Quality นี้ เขากินกาแฟอื่นไม่ได้แล้ว เขาก็อยู่กับเราทุกวัน เพราะฉะนั้น เราต้องตอบคำถามว่า Class Cafe อยากเป็นกาแฟที่เป็น Self Reward ที่สัปดาห์หนึ่งกินครั้งหนึ่ง Class Cafe อยากเป็นกาแฟที่อยู่กับเขาทุกวัน พอเราชัดเจนเรื่อง Price Point เราต้อง Friendly กับเขา เราต้องมีช่วงเวลาที่ถูกกว่า 70 บาทได้ไหม ถ้าอยู่ใกล้โรงพยาบาลแล้ว 70 บาทนี่พยาบาลมาซื้อไม่ไหวนะ แล้วถ้าสวิงมา 50 กว่าบาทล่ะ ลด 25% Happy Hour อะ พยาบาลซื้อไหม ซื้อ เอา จัดเลย คนออเต็มหน้าร้าน 

เรื่องพวกนี้สำคัญ แล้ว Fly High ของ Class Cafe คือการเคลมจำนวนคนที่อยู่บน Platform ไม่ใช่เคลมยอดขาย แต่การเข้าตลาด ต้องการยอดขาย เพราะฉะนั้นเราก็บอกว่าเราทำตลาด เราทำ Balance เรื่องพวกนี้ให้ไปคู่กันให้ได้ เราโต Double ไปเรื่อย ๆ สัก 2-3 รอบ เราก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว เพราะวันนี้ยอดขายเราอยู่ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี ถ้า Double ไปก็ 180 ล้านบาท Double อีกครั้งก็ 360 ล้านบาทแล้ว เราตั้งเป้าจะเข้าตลาด MAI ปลายปี 2021 หรือต้นปี 2022 

 

SME ONE : ถ้าจะไปให้ถึง 320 ล้าน ต้องขยายไปต่างประเทศหรือไม่

คุณมารุต : : ไม่ต้อง อันนี้คือจุดที่แตกต่างระหว่าง Class Cafe และเด็ก ๆ ที่ทำสตาร์ทอัพ เราไม่ต้องพยามไปให้ไกลมากที่สุด เราอยู่ใกล้กันให้มากที่สุด ผมอะพยายามเปิดสาขาให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะใกล้ได้ อย่างสยามกับสามย่านใกล้กันมากแต่ไม่กวนกัน ที่โคราช ผมคั่น Class Cafe เปิดให้ใกล้ที่สุดเพื่อจะครอบคลุมตลาดและอยู่กับคนให้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเปิดไกล ผมว่าอีสานพอกับเป้าหมาย 320 ล้านบาท เพราะฉะนั้นวีธีคิดเราจะต่างกับสตาร์ทอัพ ที่ปกติต้องไปอินโดนีเซีย ต้องไปฟิลิปปินส์ ต้องไปประเทศนู้นประเทศนี้ แต่ไปแล้วขาดทุน

ผมถึงบอกว่ายังไม่จำเป็น ผมกำลังบอกว่าวันนี้เราคิดว่าเราจะเป็นบริษัท 1,000 ล้านด้วยการ Cover Asia เพื่ออะไร ทำไมเราไม่ทำ 1,000 ล้านได้ตั้งแต่เมืองไทย ในเมื่อต้นทุนก็ต่ำกว่า ความเสี่ยงก็น้อยกว่า นี่คือแนวคิดที่ทำให้ Class Cafe เป็น Hybrid ทำไมเราถึงเป็น SME เพราะเราคิดแค่นี้ว่าเราทำแค่นี้เราก็ถึงเป้าได้แล้ว แล้วถ้าเราครอบคลุมเมืองไทยทั้งหมดก็หลายพันล้านแล้ว เราเอา 1,000 ล้านตรงนี้ก่อน Good Enough แล้ว Class Cafe จะคิดคนละอย่าง 



SME ONE : พอเราเป็นสตาร์ทอัพ เราอยากได้สเกล เราคิดจะทำแฟรนไชส์บ้างหรือไม่

คุณมารุต :  Class Cafe ไม่คิดจะทำแฟรนไชส์ เพราะว่าเราเปลี่ยนเทคโนโลยีตลอด เทคโนโลยีที่อยู่ด้านหลัง คือสิ่งที่เราเปลี่ยนตลอด Application เป็นสิ่งที่เรา Centralize เราคุมปลายทางไม่ได้ ถ้าเราทำแฟรนไชส์จะทะเลาะกันมั่วไปหมด ผมเห็น Gen ใหม่ ๆ ที่ทำร้านกาแฟแล้วไปทำแฟรนไชส์เนี่ย ทะเลาะฟ้องร้องกันเยอะ ระบบแฟรนไชส์เหมาะกับธุรกิจร้านอาหารที่นิ่งแล้ว แต่ไม่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการ Innovation คุณจะแชร์ค่า R&D อย่างไร คุณจะบอกเขา เดี๋ยวเปลี่ยนเครื่องคิดเงินใหม่เพราะมีเทคโนโลยีใหม่อย่างไรในเมื่อเขาเพิ่งลงทุนไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มันทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่อธิบายว่าโมเดล Class Cafe ไม่เหมาะกับแฟรนไชส์ เราเหมาะกับการเติบโตแบบ Organic ไปเรื่อย ๆ


Key Success ของธุรกิจ

SME ONE : อะไรคือ Key Success ของ Class Cafe 

คุณมารุต :  ผมมองว่า Key Success คือ Staff ของเรา ช่วงโควิด-19 ทำให้เราเห็น กาแฟเราขายไม่ได้ กาแฟเป็นขวดขายไม่ได้ เราไปขายน้ำส้มแทนในร้านเลย ที่นั่งไม่มี เราไปขายออนไลน์ เอา Staff มานั่งทำออนไลน์หมดเลย เราไม่มีทั้ง Space Cafe เราไม่มีทั้งเครื่องดื่มกาแฟที่เราถนัด แต่ทำไมเรารอดมาได้ ทีมงานอย่างเดียวเลย คน คือ Asset Value ของ Class Cafe ที่ดีที่สุดของเรา เรามีพนักงานที่อายุงาน 7 ปีแล้ว ที่ทำ Class ตั้งแต่ปี 1 จนเรียนจบ แล้วก็กลับมาทำงานที่ Class Cafe แต่ไม่ได้กลับมาเป็น Barista กลับมาเป็น Engineer กลับมาเป็น Legal กลับมาเป็น HR ล่าสุดมีกลับมาเป็น Food Science คนกลุ่มนี้คือสิ่งที่เรามีความสุขกับการสร้างเขาขึ้นมาแล้วเราอิ่มใจมาก วันนี้มันมาไกลเกินกว่าที่คิด 

ผมมีความสุขแบบไหน ผมแฮปปี้กับจุดที่ว่า ผมไปโรงพยาบาลเพราะปวดหลังแบบขับรถเยอะ เลยไปทำกายภาพ แล้วนักกายภาพบำบัดบอกว่า พี่ทำ Class Cafe หรอ เพราะเห็นพี่ใส่เสื้อ Class Cafe หนูอะจบมาได้เพราะว่าไปนั่งอ่านหนังสือที่ Class Cafe โห แบบเฮ่ย... นี่มันเป็นความสุขที่สุดแล้ว เพราะว่าลูกค้าเรากลับมารักษาเรา เราไม่ต้องทำบุญแล้วรอถึงชาติหน้า สำหรับการทำธุรกิจ นี่คือรางวัลชิ้นใหญ่  

อีกหนึ่ง Key Success ก็คือโมเดลกับวิธีคิดของ Class Cafe เป็นเรื่องของการตี Context ที่เราคิด แล้วพอเราคิดแบบนี้ทำให้เราได้รับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อย่างสาขาสามย่านนี่เราไม่มีค่าเช่า เราอยู่ฟรี เพราะว่าจุฬาลงกรณ์สนับสนุน Class Cafe ตอนนี้เราทำงานกับหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มศว.,  มหิดล ทุกคนให้ Space เราหมด เราเปิดพื้นที่ให้ บริหารคนให้ เอากิจกรรมมาลง ทำสร้างสรรค์สังคมให้ ทางมหาวิทยาลัยก็อยากสร้างสตาร์ทอัพแบบนี้ให้เกิดเยอะ ๆ เราก็ร่วมแรงร่วมมือทำ โดยที่พนักงานสาขาสามย่านก็เอานิสิตจุฬามาทำ เพราะเราร่วมมือกับคณะศิลปกรรม

 

SME ONE : ในตลาดภูมิภาคจะมีความแตกต่างระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองธรรมดา Class Cafe สามารถขยายธุรกิจไปได้ขนาดไหน

คุณมารุต :  ตอนนี้เรายังอยู่ในเมือง เราอยู่กับเมือง เราถนัดเมือง เราเป็น Daily เป็นกาแฟที่คนต้องมากินทุกวัน ถ้าไปอยู่เมืองที่เหงา ๆ อาจจะไม่เหมาะ แต่ Class Cafe ใช้วิธีการสร้างเอเย่นต์ ทุกวันนี้เรามีเอเย่นต์ที่เอาเครื่องดื่มเราไปขายในแต่ละอำเภอ วันนี้เราทดลองไปแล้ว 30 อำเภอ เอเย่นต์ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าเรามาก่อน แล้วเรา Convert ให้กลายเป็นคู่ค้ารับสินค้าเราไปขาย คนซื้อก็สั่งผ่านแอปพลิเคชัน แล้วเขาไปส่ง เราเรียกโมเดลนี้ว่า Class Agent ตอนนี้เรามีเอเย่นต์ 14 คน ซึ่งสร้างยอดขายให้เยอะมาก เยอะจนแบบเรา เฮ่ย...ไม่เห็นต้องเปิดสาขาเลย 

เพราะฉะนั้น Class Cafe ก็เลยไปทำเรื่องนวัตกรรม ทำยังไงให้ยืดอายุสินค้าได้เป็น 15 วัน 30 วันได้ไหม Class Cafe ทำเรื่องพวกนี้ เราทำ Food Innovation เพราะ Founder อีก 2 ท่านเป็น Food Science เราพยายามพัฒนาเพื่อที่จะยืดอายุสินค้าให้นานขึ้น ทำ Lab ทำ Test กาแฟไป Delivery แล้วรสชาติยังดีอยู่ไหม ความเข้มข้นอยู่ไหม 

 

SME ONE : มีวิธีการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็น Agent อย่างไร เผื่อคนอ่านสนใจ

คุณมารุต :  ก็ดูความเข้าใจธุรกิจ เพราะในอนาคตพวกนี้จะเป็น Digital Service อนาคตอาจจะมี Service อื่น ๆ เช่น จ่ายบิลได้ไหม จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ไหม เพราะเป็น Digital Service เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเป็น Digital มาก่อนมี Digital Background สั่งของผ่านออนไลน์นะ รับลูกค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะเราไม่ได้มีแบบเป็น Analog แต่เราแบ่งกำไรที่ทำให้เอเย่นต์อยู่ได้ และเราก็ยังมีกำไร ตอนนี้ Class Cafe เป็นโรงงานหมดแล้ว เรามีโรงงานพาสเจอร์ไรซ์ เรามีโรงงานทำกาแฟ โรงคั่วกาแฟ เรามีโรงงานนมบรรจุขวด เรามีฟาร์มปิด 

นอกจากนี้เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทำ Research ด้วย พวกนี้เป็นการลงทุนที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารีทำฟาร์มวัวแบบปิดเพื่อทดลองเรื่องนม มหาลัยได้ความรู้ น้อง ๆ คณะ Food Science มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มาทำงานที่ Class Cafe เราจ้างคุณ มหาวิทยาลัยก็สนับสนุน เราก็มี Product ไปขาย เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ใช่การลงทุนที่มากมายมหาศาล

 

SME ONE : ถามจริง ๆ เราหวงโมเดลไหม ถ้าใครจะเลียนแบบ Class Cafe

คุณมารุต : ทำเลย นี่คือโลกยุคใหม่ คน Collaboration กันเยอะมาก แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หนึ่ง เรา Open ได้แค่ไหน เรา Control ได้แค่ไหน เรามีมาตรฐานแค่ไหน Class Cafe จะยึดหลัก 60-40 เสมอ คือ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นเอกลักษณ์ความเป็นเรา 40 เปอร์เซ็นต์เป็นเขา อย่างเราไปเปิดสาขาในศิลปากร เราเปิด Audition รับ 10 คน แต่มีคนมาสมัคร 300 คน ยิ่งกว่า The Voice เราเปิดที่ธรรมศาสตร์ ที่ขอนแก่นก็เหมือนกัน 

อย่างสาขาขอนแก่น สิ่งที่ Amazing ก็คือ เราทำกับ SCG ทาง SCG เอางานสถาปัตมาลง มูลค่าโปรเจกต์สาขานั้น 80 ล้านบาท อยู่ใจกลางขอนแก่นเลย แค่ Sculpture ก็หลายล้านแล้ว พอคอนเซ็ปต์ร้านชัดเจน เราเปิดรับ Audition ปรากฏว่าคนที่มา Audition เป็นเด็กคณะสถาปัตหมดเลย มีทั้งเรียนปริญญาโท ปริญญาตรี เราก็งงว่าน้องรู้ได้ไงว่าสาขานี้มันจะเป็นแนวดีไซน์ น้องเขาบอกว่า Class Cafe จะมีเรื่องงาน Design

Class Café แต่ละสาขาที่ไปเปิดเราจะได้ Partner ที่เป็นบริบทของย่านนั้นจริง ๆ อย่างสาขามหิดล เราก็ได้คนเรียนแพทย์มาเป็น Partner กับเรา หรือที่จังหวัดขอนแก่นสาขาที่ 2 เราอยู่ตรงข้ามศูนย์แพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอสาขาที่ 3 กลายเป็นเด็กเรียนหมอมาทำงานกับเรา บางทีเรายังคิดเลย เรียนหมอก็หนักอยู่แล้วยังมาชงกาแฟอีกหรือ


คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้


SME ONE : สมมติว่าถ้ามีพนักงานออฟฟิศที่โดนลดเงินเดือน หรือลังเลว่าจะออกมาทำธุรกิจร้านกาแฟดีไหม เรามีคำแนะนำอะไรให้บ้าง

คุณมารุต :  ตอนนี้วิกฤตน่ากลัวเหลือเกิน เรื่องที่ต้องลงทุนยังไม่อยากให้ลงทุน ไปลงทุนทำร้าน เดี๋ยวเจ๊ง คือเราควรจะเริ่มจากสิ่งที่ไม่ต้องลงทุน เช่น ขายออนไลน์ก่อนได้ไหม ขายผ่าน Platform คนอื่นก่อนได้ไหม ทำร้านที่ไม่ต้องมี Furniture ได้ไหม ทำ Delivery อย่างเดียวได้ไหม เปลี่ยนวิธีคิดที่จะต้องลงทุน เป็นการไม่ลงทุนก่อน แล้วเริ่มต้นให้ได้เร็วที่สุด ทดลองให้เร็วที่สุด อย่าจมอยู่กับความเสียใจ ผิดหวัง โควิด-19 มันกินเราแน่ ๆ แล้วโควิดไม่ได้ทำอะไรเราคนเดียวมันทำกับทุกคน มันเสมอภาคมาก วิกฤตธรรมชาติครั้งนี้ทำให้เราเท่าเทียมกันมาก เพราะฉะนั้นอย่าไปเศร้า แล้วก็ลุกขึ้นมาสู้ มองหาพลังบวกจากเรา ลุกขึ้นมาทำ ลุกขึ้นมาสู้ 

อันนี้คือสิ่งที่อยากบอกทุกคน แล้วก็อยากแชร์ทุกคน เหมือนกับสิ่งที่ Class Cafe ทำวันนี้ Class Cafe ไม่ได้รวย Class Cafe ยังเล็กมากนะ แต่ Class Cafe ออกมาทำ Platform เพื่อช่วยคนและคิดที่จะช่วยคนตลอดเวลาได้

 

SME ONE : ถ้าเป็นสภาวะปกติ แล้วคนอยากจะทำร้านกาแฟพอจะมีคำแนะนำไหม

คุณมารุต :  ไม่แนะนำให้ทำร้านกาแฟ คือมันจะมีธุรกิจอะไรที่มีคู่แข่งเกิดได้ทุก 2 ชั่วโมงก็ร้านกาแฟนี่แหละ เดินเข้าร้านขายเครื่องกาแฟ อีก 2 ชั่วโมงมาพร้อมอาวุธครบมือ เพราะฉะนั้นธุรกิจนี้เป็น Red Ocean เปิดแล้วโอกาสเจ๊งมันสูงมาก อย่าทำเลย ไปลองคิดขายอย่างอื่น ขาย Bakery ขายชานมไข่มุก ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่กาแฟ ร้านกาแฟมันถูกลงทุนโดยไม่ได้คิด ROI ลงทุนโดยที่เราเห็นร้านแบบแพง ๆ ขาย 90 บาท 40 บาท วันนี้เห็นเครื่องแพง ๆ เอารุ่น Black Eagle ล้านกว่าบาทมาลงในร้าน แล้วจะอยู่ยังไง คืออยู่ไม่ได้ แถมยังมีประเภทคนหน้าตาดี หล่อ นายแบบ ดารามาทำร้านกาแฟอีก แล้วคุณจะเอาอะไรไปแข่งกับเขา ร้านกาแฟมีคน Success ไม่เยอะ 

ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ถ้าดูดีๆ จะมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นมากมาย ตลอดเวลาบางร้านเปลี่ยนเจ้าของไปไม่รู้กี่รอบ เจ้าของเดิมไม่อยู่แล้ว เพราะว่าถ้าดีจริงมันต้องทำต่อ




บทสรุป

การทำธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องทำคนเดียวเสมอไป แต่สามารถหาพาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Collaboration วิธีนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีโฟกัสทางธุรกิจในสิ่งที่ตนเองถนัด ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่มีความถนัดได้ แต่การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึง ก็คือทุกความร่วมมือจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของแบรนด์ (Brand Positioning) ไว้ให้อยู่คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ

ปรับธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่ สร้างความมั่นใจด้วยสัญลักษณ์ SHA

หัวข้อ : อพท.ชวนชุมชนสร้างมาตรฐาน ‘เที่ยวชุมชนวิถีใหม่’
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/standard-the-new-community-tourism

 

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง แต่เรายังคงต้องใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และเพื่อสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยวใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสำหรับ 10 ประเภทกิจการ หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข สภาหอการค้าไทย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่การให้บริการด้านการท่องเที่ยวของไทย คือ

1. สร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย
2. สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

ในส่วนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว โดยจัดทำ “ข้อปฏิบัติของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อสุขอนามัยปลอดภัยใส่ใจในสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับชุมชนท่องเที่ยว ให้ชุมชนที่ทำท่องเที่ยวปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวชุมชนเองและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

 

 

ซึ่งชุมชนท่องเที่ยวสามารถนำข้อปฏิบัตินี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ หากชุมชนท่องเที่ยวต้องการรับรองจากมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ก็สามารถสมัครเพื่อรับการประเมินและรับตราสัญลักษณ์ SHA ในประเภท นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยวจาก ททท.ได้

ลงทะเบียนเพื่อรับตราสัญลักษณ์ SHA ได้ที่ : https://thailandsha.tourismthailand.org/index

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ