เป้าประสงค์ของแบรนด์ สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจกับคนรุ่นใหม่

 

ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทางเลือกค่อนข้างมาก และยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ค่อนข้างง่าย แถมผู้บริโภคยุคนี้ จะซื้อของแต่ละครั้ง ไม่ได้มองแค่เรื่องคุณประโยชน์พื้นฐานของสินค้าเท่านั้น เพราะนั่นคือเรื่องเบสิคที่พวกเขาจะได้ ดังนั้นผู้บริโภคยุคใหม่จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ากับบริษัทที่ทำสินค้าเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามเขาอยากจะซื้อสินค้ากับบริษัทที่วางตัว อย่างเหมาะสมและรับผิดชอบต่อธุรกิจของตัวเองด้วย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในธุรกิจของโลก และประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่มีการขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมักจะเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริง SMEs ก็สามารถทำได้เช่นกัน แถมยังมีความได้เปรียบในเรื่องของขนาดองค์กรที่เล็ก สามารถปรับตัวได้ทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้ SMEs แต่ละราย จึงต้องมีการบอกถึงเป้าประสงค์ที่องค์กรหรือแบรนด์ของเขามีว่าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องอะไรหรือตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้ามีความกังวลได้อย่างไรบ้าง ในภาษาทางการตลาดเรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า Corporate & Brand Purpose ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาตลอดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ 

 

การมองถึงเป้าประสงค์ที่องค์กรหรือแบรนด์ที่อยู่ในท้องตลาดมีนั้น กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้แล้วในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นแบรนด์หรือองค์กรใหญ่ๆ ออกมาสื่อสารถึงเรื่องนี้กันแทบเกือบจะทุกบริษัท ในแง่ของเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายย่อยเอง เป้าประสงค์ของการทำธุรกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะเข้ามาช่วยผลักดันให้องค์กรหรือแบรนด์สินค้าที่ทำออกมาเข้าไปใกล้ชิด และมีความผูกพันโดยเฉพาะความผูกพันด้านอารมณกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นตัวที่สามารถช่วยให้สามารถจับต้องความแตกต่างได้เป็นอย่างดี

ต้องเป็นสินค้าหรือแบรนด์ที่ถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายที่การทำให้ลูกค้า สังคม หรือโลกใบนี้ดีขึ้น มุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้การสร้างสินค้า หรือแบรนด์ เปลี่ยนมุมไป โดยเจ้าของสินค้าหรือนักการตลาดที่เป็นคนสร้างแบรนด์นั้น จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบสินค้าหรือแบรนด์เพื่อให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ดีขึ้น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค ไม่ใช่เพื่อยอดขายหรือส่วนแบ่งการตลาดของแบรนด์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า แบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าประสงค์ของแบรนด์ที่ชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยทำให้ผู้ใช้ สังคม ตลอดจนโลกใบนี้จะถูกจนจำได้ง่าย และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค แม้จะมีแบรนด์อยู่ในตลาดมากมายก็ตาม

เรื่องของเป้าประสงค์ในการทำแบรนด์หรือธุรกิจนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลับมานิยมอีกครั้งนั้น เป็นเพราะอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ทำให้การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเป็นเรื่องสะดวก เข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น การทำซึ่งเอาเรื่องของเป้าประสงค์เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น จะเข้ามาช่วยทำให้เกิดการเชื่อมต่อด้านอารมณ์และความรู้สึกระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้จะเป็นการปูทางไปสู่ความเชื่อใจ และความภักดีระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีบทบาทต่อการทำตลาดสินค้าแทบทุกประเภท ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้หรือให้การสนับสนุนแบรนด์ที่มีเป้าประสงค์ในการทำให้ตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น  

 

การนำเรื่องของเป้าประสงค์ในการทำธุรกิจนั้น มีหลักการในการเลือกวางเป้าประสงค์โดยจะดูจาก 

  1. ธุรกิจหรือแบรนด์อยู่ในตลาดหรือเซ็กเม้นต์ หรือมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
  2. มีคุณสมบัติทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา และข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไรบ้าง
  3. ลูกค้าหรือสังคมกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไร  โดยจะดูจากความกังวัลตั้งแต่ระดับโลกมาสู่ประเทศ รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรม และสิ่งร่วมสมัยที่กำลังเกิดขึ้น

ภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการใช้เป้าประสงค์ของแบรนด์เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำตลาดก็คือ กรณีของบรีส ที่จับเอา Insight ของบรรดาแม่บ้านเข้ามาเป็นตัวตั้ง โดยคนที่เป็นแม่กังวลว่า การออกไปเล่นซนของลูกๆ จะทำให้เสื้อผ้าสกปรก และซักออกได้ยาก บรีสจึงพยายามเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติ หรือมุมมองนี้ใหม่ โดยกระตุ้นให้กล้าที่จะปล่อยให้ลูกๆ ของพวกเขาออกไปเล่น เพราะการเล่นคือการเรียนรู้อย่างดี ส่วนเรื่องของความสกปรกของเสื้อผ้าลูกๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรีส เป็นการเข้าไปช่วยตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยทั้งลูกค้า และแบรนด์บรีสต่างมีเป้าประสงค์ ที่ตรงกันในเรื่องของการเพิ่มทักษะความรู้ให้กับลูกๆ ผ่านการออกไปมีประสบการณ์ในการเล่นนอกบ้าน การขับเคลื่อนตลาดในรูปแบบดังกล่าวทำให้บรีสยังคงเป็นเบอร์ 1 ที่ถูกลูกค้าเลือกใช้เป็นอันดับแรก ๆ 

 

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว หลายรายมีการนำเรื่องนี้มาใช้ โดยสินค้าชุมชนหลายแห่ง หลายชุมชนที่ออกมาทำสินค้าออร์แกนิกส์ ก็เพราะมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน อย่างในกรณีของร้าน The Salad Concept ที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ร้านในรูปแบบนี้ดูผิวเผินอาจจะเป็นเทรนด์ของการทำร้านอาหารสมัยใหม่แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าของร้านต้องการขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเจ้าของร้านมีพ่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และทําอาหารที่ดีให้พ่อรับประทานจนดีขึ้น จึงตัดสินใจเอาแนววคิดเรื่องการกินเพื่อสุขภาพมาเปิดเป็นร้านอาหาร การที่ผู้ประกอบการเจอปัญหากับตัวเองแล้ว จึงรู้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลตัวเองให้ดีหนึ่งในนั้น คือการเลือกบริโภคอาหารที่ดี มีคุณค่า

ดังนั้นการบริโภคอาหารที่เป็นออร์แกนิกส์จึงเป็นเรื่องดีที่ The Salad Concept อยากจะส่งต่อ ให้กับสังคมในวงกว้างได้บริโภคและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายเหมือนกับที่ครอบครัวเคยประสบปัญหามาก่อน เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยประสงค์ที่เกิดแรงบันดาลใจจากชีวิตจริง ตัวอย่างนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่ก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากมีประสงค์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะส่งต่ออะไรให้กับผู้บริโภค

การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้การมองเรื่องของคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เคยเป็นวิธีการเดิมๆ อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือคำตอบที่ดีอีกต่อไป แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจุดยืนของแบรนด์เรา ยืนอยู่ข้างใคร รวมถึงต้องบอกที่มาที่ไปของแบรนด์เราให้ได้ว่า แบรนด์หรือธุรกิจของเราเกิดมาเพื่อใคร

ที่สำคัญสุดก็คือ การทำให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงเหตุผลของการดำรงอยู่ของแบรนด์หรือธุรกิจของเราให้ได้ว่า ไม่ได้มองแค่ยอดขาย แต่แบรนด์นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร  เพราะจะเป็นวิธีการที่ทำให้แบรนด์หรือธุรกิจสามารถสร้างคุณค่าในใจของลูกค้าได้

การขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเป้าประสงค์ จึงเป็นอีก 1 หัวใจสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ในโลกธุรกิจใบนี้....

 

 

บทความแนะนำ

SHA Plus+ อีกหนึ่งทางรอดธุรกิจท่องเที่ยว เพื่ออนาคตของสถานประกอบการยุค COVID-19

 

ธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยวถือเป็นด่านแรกที่ได้รับแรงปะทะนับจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ยิ่งทำให้ทุกคนกังวลต่อความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัยยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องความไม่มั่นใจต่อเรื่องนี้ดังกล่าว ผู้ประกอบการควรหยิบมาแก้ไขโดยด่วน ด้วยการปรับตัวเพื่อให้ลูกค้ากลับมามั่นใจในความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

และ SHA Plus+ ก็คือคำตอบนั้น

 

SHA Plus+ ถือเป็นเวอร์ชั่นอัปเดตของ SHA นั่นเอง หลังจากกลางปีที่แล้วการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการประเทศไทย 

โดยกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA ได้ มี 10 หมวด ได้แก่ 1. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. โรงแรม/ที่พัก และสถานที่จัดประชุม 3. นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ยานพาหนะ 5. บริษัทนำเที่ยว 6. สุขภาพและความงาม 7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9. โรงละคร โรงมหรสพและการจัดกิจกรรม และ 10. ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ

หนึ่งปีผ่านไป เมื่อเมืองไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ แน่นอนว่า SHA จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ดังนั้น SHA Plus+ เลยเข้ามาเสริมทัพเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยวได้ไปต่อ

เงื่อนไขสำคัญของการได้มาซึ่งสัญลักษณ์ SHA Plus+ นี้มีเพียง 2 ข้อหลักๆ นั่นคือ สถานประกอบการนั้นๆ จะต้องได้รับสัญลักษณ์ SHA มาก่อน และ 70% ของบุคคลากรของสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้ 

 

SHA Plus+  เป็นโครงการที่มี “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโมเดลนำร่อง แม้หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นจังหวะที่ไม่ค่อยเหมาะสมซักเท่าไหร่ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงสูงอยู่ ซ้ำยังไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวสำหรับทะเลอันดามันอย่างภูเก็ต แต่อย่างน้อยการตัดสินใจเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้เรียนรู้ว่าการเปิดประเทศแบบนี้ปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ต้องเพิ่มต้องลดอะไร เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อฤดูท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้มาถึง พูดง่ายๆ ว่าเหมือนกับทดสอบระบบ เพื่อให้พร้อมในฤดูท่องเที่ยวปลายปี

สำหรับ SMEs ที่ทำธุรกิจโรงแรมและที่พัก ที่ต้องการเข้าระบบ SHA Plus+ จำเป็นต้องมี SHA Plus+ Manager เพื่อเข้ามาดูแลประสานงานและอำนวยความสะดวกกับลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวโดยตรง เพราะในระยะแรกที่ระบบฐานข้อมูลและกฏกติกายังมีการเปลี่ยนแปลง SHA Plus+ Manager จะต้องทำหน้าที่ประสานงานด้านข้อมูลระหว่างนักท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ รับผลการตรวจ COVID-19 ของนักท่องเที่ยว ติดตามผลการตรวจในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 การแจ้งผลตรวจ และอัปเดตเส้นทางการเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้กับภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีรายละเอียดมากมาย 

สมมติว่า นักท่องเที่ยว 1 คน ต้องการจะเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต จะต้องเริ่มจากลงทะเบียน Certificate of Entry (COE) เพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว รวมถึงยังต้องซื้อประกัน COVID-19 และซื้อ Pre Paid Swap ไว้ล่วงหน้า และก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงจะต้องมีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1  COVID-19 ก่อนขึ้นเครื่องบิน จนมาถึงจังหวัดภูเก็ตก็ยังต้องมีการตรวจอีก 3 รอบ คือ วันแรกที่มาถึงภูเก็ตนักท่องเที่ยวจะต้องถูกตรวจครั้งแรกแบบ RT-PCR ที่สนามบิน หลังจากนั้นจะมีรถของโรงแรมมารับไปที่ห้องพักโรงแรมโดยจะยังไม่สามารถเดินทางไปที่อื่นได้ จนกว่าผลตรวจครั้งแรกจะออกเป็นลบ พอผลตรวจจะออกมา SHA Plus+ Manager จำต้องทำหน้าที่แจ้งข้อมูลกับแขกที่มาพักภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากทราบว่าผลตรวจเป็นลบ นักท่องเที่ยวถึงจะสามารถไปไหนก็ได้เฉพาะในจังหวัดภูเก็ต และจะมีการตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 และในวันที่ 13 อีกรอบ ซึ่งการตรวจรอบที่ 3 นี้มีผลเป็นลบ นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางไปได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ถ้ามาอยู่ภูเก็ตแค่ 7 วัน ก็ไม่ต้องตรวจครั้งที่ 3

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการต้อนรับนักท่องเที่ยวในมาตรฐาน SHA Plus+ ค่อนข้างจะมีรายละเอียดอยู่พอสมควร จึงแนะนำให้มี SHA Plus+ Manager คอยดูแล

นอกจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้ว ในตอนนี้ก็มีหลายจังหวัดที่เริ่มโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ผู้ประกอบการในเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน ก็รวมตัวกันเปิดสมุย พลัส แซนด์บ็อกซ์ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กระบี พังงา ก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อเปิดทดลองต่อไป

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดภูเก็ตในเวลานี้ควรเตรียมตัวศึกษาขั้นตอนวิธีการขอสัญลักษณ์นี้ก่อน หรืออย่างน้อยก็เตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม เมื่อ  SHA Plus+ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และบุคคลากรของสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็สามารถสมัครได้ทันที

 

เรามาดู 6 ขั้นตอนง่ายๆ ในการขอ SHA Plus+ สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA มาแล้วเท่านั้น (หากสถานประกอบการใดที่ยังไม่มีได้รับมาตรฐาน SHA สามารถสมัครได้ที่ www.thailandsha.com/index#Register)

  1. สมัคร SHA Plus+ ลงทะเบียนได้ที่ www.ภูเก็ตต้องชนะ.com คลิก https://bit.ly/3zAVLB1 คลิกเลือก “ลงทะเบียนขอรับ company vaccine certificate สำหรับ SHA Plus+”
  2. คลิกดาวน์โหลดไฟล์สำหรับใช้ในการสมัคร  โดยเอกสารที่ต้องใช้ ดังนี้

  >>> ไฟล์สำหรับใส่ข้อมูลพนักงานต่างชาติ **ช่องA ใส่สัญชาติตามพาสปอร์ต ช่องB ใส่หมายเลขพาสปอร์ต เมื่อกรอกเสร็จทำการลบชีตชื่อ “ห้ามแก้ไข” ออกแล้วจึงค่อยกด save**

  >>> ไฟล์สำหรับใส่ข้อมูลพนักงานคนไทย **ใส่เลขบัตรประชาชนพนักงานคนไทยทั้งหมด โดยไม่ต้องใส่เครื่องหมายใดๆ และไม่เว้นวรรค**

  >>> กรณีไม่มีประกันสังคม เอกสารรับรองจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจ **ยกเว้น โรงแรมที่พักต้องมีประกันสังคมทุกกรณี**

  >>> หนังสือแต่งตั้ง SHA Plus+ Manager 

  1. คลิก log in ลงทะเบียนโดยใช้ email และ password ขององค์กร/สถานประกอบการ ที่เคยลงทะเบียนในเว็บไซต์ภูเก็ตต้องชนะ
  2. เมื่อเข้าระบบ เอกสารที่จะต้องอัปโหลด คือ 

  >>> อัปโหลดไฟล์ Excel พนักงานไทย โดยใช้ไฟล์นามสกุล .xls หรือ .xlsx เท่านั้น

  >>> อัปโหลดไฟล์ Excel พนักงานต่างชาติ โดยใช้ไฟล์นามสกุล .xls หรือ .xlsx เท่านั้น

  >>> อัปโหลด เอกสารประกันสังคม สปส.1-10 ส่วนที่1 และ ใบเสร็จรับเงินกองทุนประกันสังคม มาตรา33

  >>> SHA Certificate หากบริษัทมีสาขา มี SHA ที่มีภายใต้บริษัทเดียวกันมากกว่า 1 ใบ ให้ใส่ไฟล์แยกตามรูป โดยเซฟไฟล์ .jpg .jpeg .png .pdf และ ต้องบันทึกไฟล์เป็นเลข SHA เท่านั้น 

  >>> SHA Plus+ Manager โดยอัปโหลดหนังสือเป็นไฟล์ .doc .docx .pdf เท่านั้น พร้อมทั้งอัปโหลดสำเนาบัตรประชาชน และสำเนา passport **บันทึกชื่อไฟล์เป็น SHA Plus Manager (ชื่อสถานประกอบการ) และ สำเนาบัตร/Passport SHA Plus+ Manager (ชื่อสถานประกอบการ)**

  1. คลิก เลือกวันเปิดทำการของสถานประกอบการ โดยหากเปิดทำการอยู่ ให้คลิกที่ “กำลังเปิดทำการ” หากยังไม่เปิดทำการ ให้คลิกที่ “จะเปิดทำการในวันที่” และจากนั้น กดใส่วันที่จะเปิดทำการ 
  2. ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้น กดส่งแบบฟอร์ม เป็นอันเสร็จเรียบร้อย และรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้

 

 

บทความแนะนำ

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทางเลือกใหม่ของคนไทย

 

โลกเรามีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine : ICE) วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1886 โดย Karl Benz วิศวกรชาวเยอรมันได้พัฒนารถยนต์ Benz Patent Motorwagen ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบเครื่องยนต์เบนซินขับเคลื่อนด้วยกำลัง 0.75 แรงม้า

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 135 ปีแล้ว ที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในถูกใช้งานมา และยังคงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เหตุผลมาจากเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนามาอย่างยาวนานจนมีประสิทธิภาพสูง และมีราคาที่ถูก แต่ทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ปัญหาโลกร้อนนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์สันดาปนั่นเอง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ทั่วโลกก็พยายามหาทางออกด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันเพียงอย่างเดียว และพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทนเครื่องยนต์สันดาป

 

ปี 1997 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota มีการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดที่ใช้พลังงานน้ำมันและพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Toyota Prius ซึ่งได้รับความนิยมและถูกพูดถึงอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

คิดดูก็แล้วกันขนาดดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Will Smith ยังซื้อไปใช้ในชีวิตประจำวันเลย รถยนต์ไฮบริดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก เพราะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาเครื่องยนต์มอเตอร์ไฟฟ้า 100% อย่างจริงจัง

 

ปี 2006 Tesla Motors สตาร์ทอัพใน Silicon Valley มีการเปิดตัว The Roadster รถต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นไม่นาน ทั่วโลกก็รู้จักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla Model S ในฐานะรถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

การแจ้งเกิดของ Tesla เป็นเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่เร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการปฏิวัติครั้งใหม่ เพราะค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เกือบทุกค่ายทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจกับตลาดนี้อย่างจริงจัง เพราะ Tesla ขายดีจนน่าตกใจ

 

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างน่าสนใจว่า ยอดขายรถ EV (ทั้ง Battery EV : BEV และ Plug-in Hybrid EV: PHEV) ทั่วโลกในปี 2020 สูงถึง 3.2 ล้านคัน ขยายตัว 43% สวนทางตลาดรถยนต์โดยรวมที่หดตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสัดส่วนการขายของ EV กับเครื่องยนต์สันดาปปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% แล้ว

KKP Research ประเมินว่ายอดขาย EV ทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 14 ล้านคันในปี 2025 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเริ่มลดลงเป็นการถาวรหลังแตะระดับ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2027 จากการเสื่อมความนิยมของรถสันดาป

 

โดยปัจจุบัน ประเทศที่รถ EV ได้รับความนิยมละขายดีมากที่สุด คือ ประเทศจีนที่ยอดขายรถ EV ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนถึง 41% จากทั่วโลก 

 

สำหรับประเทศไทย ปีที่ผ่านมามีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารวมรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่วิ่งบนท้องถนนประมาณ 181,000 คัน เกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง หรือคิดเป็นเพียง 1.7% ของยอดรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด 10.4 ล้านคัน แม้ตัวเลขสัดส่วนจะยังดูน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะตลาดรถพลังงานไฟฟ้ามีการเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

 

ถ้าจะให้สรุปเหตุผลที่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็พอจะรวบรวมเหตุผลหลักๆ ได้ดังนี้

1) การรับรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

2) ปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 ที่สูงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

3) การกำหนดเงื่อนเวลาที่จะยุติการผลิตรถสันดาปของค่ายรถทั่วโลก

4) ราคาของรถ BEV ที่ถูกลงโดยเฉพาะรถจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่

5) ราคาของแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาแบตเตอรี่มีราคาลดลงมาถึง 10 เท่าตัว และในอนาคตจะยิ่งถูกกว่านี้อีก

6) นโยบายการเพิ่มสถานีชาร์จทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีข้อเสนอให้รถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสีย 100% (ZEV: Zero-Emissions Vehicles) เท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก แต่ก็สะท้อนถึงความสนใจของภาครัฐต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV และอาจหนุนให้ความต้องการรถ EV ในประเทศเร่งตัวขึ้น

แน่นอนว่า EV นี้เป็นเทรนด์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมมีทั้งผลลบและผลบวกตามมา 

 

SMEs กับรถยนต์ไฟฟ้า ทางรอด และโอกาส

ในส่วนของผลลบนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปที่สำคัญของโลกมายาวนาน แต่ในสายการผลิตรถยนต์ EV ที่หลายค่ายเริ่มมองหาโลเคชั่นที่จะใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ ก็ต้องยอมรับว่านโยบายการสนับสนุนของทางภาครัฐที่ออกมาในตอนนี้ อาจจะสร้างแรงดึงดูดใจของนักลงทุนสู้กับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด 

ข้อมูลจากรายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing ได้รายงานเปรียบเทียบว่า จากรถยนต์สันดาปที่ต้องใช้ชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้นต่อการประกอบรถ 1 คัน พอเปลี่ยนมาเป็นรถ EV พบว่ารถ 1 คันกลับใช้ชิ้นส่วนในการประกอบเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป อาทิ เครื่องยนต์ ลูกสูบ หัวเทียน เพลา เกียร์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ฯลฯ เพราะชิ้นส่วนหรืออะไหล่ทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 

ส่วนคนที่ได้รับโอกาสการขายเพิ่มก็จะเป็นกลุ่มชิ้นส่วนเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สายไฟ, สมองกล, แบตเตอรี่ ฯลฯ

ในส่วนของผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, สถานบริการ Fast Fit ก็อาจจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเช่นกัน เพราะไม่ช้าก็เร็วตลาดรถ EV ก็ต้องมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นใครที่ทำธุรกิจนี้และอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นหน้าด่านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนก็อาจจะต้องวางแผนสำรองไว้ล่วงหน้า

สำหรับคนที่มองเห็นโอกาสและอยากจะลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จ  ปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัทที่เปิดรับคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, บริษัท พร้อมชาร์จ จำกัด (EO charging), EA Anywhere, Fimer ฯลฯ 

แต่ก่อนที่จะลงทุนอาจจะต้องศึกษาเรื่องเม็ดเงินการลงทุน และระยะเวลาในการคืนทุนให้ละเอียดก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานีชาร์จ EV นั้นใช้เวลาต่อคันมากกว่าสถานีน้ำมันอยู่พอสมควร ดังนั้นการสร้างสถานีชาร์จเพียงลำพังอาจจะไม่พอ แต่ต้องสร้างร้านค้า หรือร้านอาหารเพื่อเป็นจุดพักรอ และหวังรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ส่วนนี้ด้วย

ในความเป็นจริง การเติบโตของรถ EV นี้ กลุ่ม SMEs ก็สามารถหยิบมาสร้างเป็นจุดขายได้ อย่างเช่นผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีลานจอดรถ ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวก็สามารถติดตั้งสถานีชาร์จไว้ในบริเวณลานจอดรถได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่มาทานอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลาในร้านค่อนข้างนาน

มีกรณีศึกษาการปรับตัวของ SMEs รายหนึ่งที่น่าสนใจ ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจอาหารแช่แข็งรายเล็กๆ คือ บริษัท วราภรณ์ โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถ EV ยี่ห้อ Fomm ส่งอาหารในพื้นที่ใกล้ๆ ในเขตเมือง

คุณวราภรณ์ อธิบายว่า บริษัทอยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษ และลดโลกร้อน จึงหันมาใช้รถไฟฟ้าในการส่งสินค้าและพบลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ทดลองใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้าซึ่งสามารถลดต้นทุนได้มาก เพราะต้นทุนของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่อวันเฉลี่ยแล้วแค่ 8 บาทเท่านั้น ส่วนรถ Fomm ที่นำมาเสริมก็สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 166 กิโลเมตรต่อชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง (ละ 35 บาท) หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกิโลเมตรละ 25 สตางค์

 

“รถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายถูกลง และลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถ เช่น ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และอื่นๆ อีกมากมาย”

 

 


 

อ้างอิง

https://www.energy.gov/timeline/timeline-history-electric-car

https://www.transtimenews.co/7458/

บทความแนะนำ

Internet of Things เทรนด์เปลี่ยนโลกที่ SMEs ต้องตามให้ทัน

 

ข้อมูลจาก Statista ได้รายงานว่าเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) จะสามารถสร้างรายได้จากทั่วโลกได้ถึง 440 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,058 พันล้านเหรียญตามจำนวนของอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2030 โดยประมาณการว่าในปัจจุบันโลกเรามีอุปกรณ์ IoT ที่สามารถสื่อสารกันเองได้มากกว่า 20.4 พันล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นสินค้าคอนซูเมอร์ถึง 12.86 ล้านชิ้น

 

ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ?

คำตอบ ก็คือ IoT จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่อยู่รายล้อมตัวเราตลอด 24 ชั่วโมงในอนาคต

IoT ย่อมาจาก Internet of Things ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารที่มุ่งเน้นให้แต่ละอุปกรณ์สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้แบบอัตโนมัติ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง ชนิดที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ในปัจจุบัน IoT ก็มีการขยายตัวจากภาคอุสาหกรรมมาสู่สินค้าทั่วไปมากขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีเร็วแบบก้าวกระโดด โดยการเชื่อมต่อที่ว่านี้สามารถทำได้ทั้งแบบระยะไกลและใกล้

ปัจจุบันเราสามารถสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านแบบข้ามโลกผ่านเทคโนโลยีสื่อสารดาวเทียม, ระบบโครงข่าย, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G, 5G, WiFi, Bluetooth, Z-Wave, ZigBee ที่เข้ามาช่วยทำให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถสื่อสารกันได้แบบ Peer to Peer พูดเชิงวิชาการแบบนี้หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออก จึงขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวให้เห็นภาพมากขึ้น

เชื่อว่าวันนี้หลายคนคงสมัครแพ็กเกจดูหนังกับทาง Disney+ Hotstar ที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยไปแบบสดๆ ร้อนๆ 

คนที่สมัครแพคเกจนี้จะสามารถดูคอนเทนต์ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ได้อย่างไม่จำกัด แต่ถ้าดูแล้วรู้สึกว่าหน้าจอมือถือเล็กไปไม่สะใจ ก็ต้องใช้วิธี Chromecast หรือ Mirror Screen ขึ้นไปบนหน้าจอสมาร์ททีวีเพื่อดูบนจอใหญ่ ทั้งหมดนี้ก็แค่ใช้ผ่านเทคโนโลยี IoT

 

ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่หลากหลายของระบบ IoT นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง ทั้งแบบ B2B และ B2C อาทิ

1) ธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ ระบบ IoT สามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลการขนส่งสินค้าได้แบบ Realtime ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าได้อย่างมหาศาล

2) ธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันก็มีโซลูชั่นการชำระเงินผ่าน QR code และ Digital Wallet ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี Wifi, NFC เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค

3) ธุรกิจเฮลธ์แคร์ หรือสุขภาพ ทุกวันนี้เทคโนโลยี IoT ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น สมาร์ทวอทช์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะสามารถบอกข้อมูลการทำกิจกรรมพื้นฐานในแต่ละวัน ตั้งแต่การนับก้าวเดิน, วัดอัตราการเต้นของหัวใจ, วัดคุณภาพการนอนหลับ ฯลฯ

การได้รับความนิยมของสมาร์ทวอทช์ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้อีก เช่น ในธุรกิจประกันชีวิตที่มีการจัดแคมเปญ Challenge ให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อแลกกับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่างๆ เพราะบริษัทประกันรู้ดีว่า ยิ่งลูกค้าออกกำลังกายมากขึ้นเท่าไหร่ สุขภาพก็จะดีขึ้นตาม เมื่อสุขภาพดีการเคลมการรักษาก็ลดน้อยลงตามไปด้วย

4) ธุรกิจสมาร์ทโฮม ทุกวันนี้สินค้าอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านแบบ IoT มีราคาถูกมาก ตัวอย่างเช่น ปลั๊กไฟ IoT ที่มีราคาเพียง 200-300 บาท ก็สามารถสั่งเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้แล้ว

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs กระแสความนิยมของ IoT นี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผู้ประกอบการ SMEs ในหลายธุรกิจสามารถหยิบเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้งานกับธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

เช่น ใครที่ทำธุรกิจร้านอาหาร, ร้านกาแฟ หรือ Co-Working Space แค่เปลี่ยนหลอดไฟในร้านมาเป็นหลอดไฟ IoT ก็สามารถเพิ่มลูกเล่นให้กับสถานที่ได้อย่างมากมาย เพราะปัจจุบันมีหลอดไฟอัจฉริยะออกมาวางจำหน่ายมากมายหลายแบรนด์ จนทำให้มีราคาถูกลง

ผู้ประกอบการเพียงแค่เพิ่มอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Bridge เข้าไปโดยต่อกับ Wi-Fi Router หลอดไฟในร้านทั้งหมดสามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนได้ตามความต้องการ

คราวนี้พอเจ้าของร้านสามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนได้ ก็เท่ากับว่าจะสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในร้านได้ตามความต้องการ เพราะหลอดไฟอัจฉริยะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเฉดสีได้มากถึง 16 ล้านสีได้ในหลอดเดียว จึงสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในร้าน, ในห้องประชุมให้เป็นแสง Cool White สำหรับอ่านหนังสือหรือประชุมตอนกลางวัน และเปลี่ยนเป็นแสง Warm White ในช่วงกลางคืน หรือจะเปลี่ยนบรรยากาศของร้านตามอีเว้นท์ที่จัดก็ทำได้ เพราะค่ายผู้ผลิตต่างก็มีการทำแอปพลิเคชั่นและมีการออกแบบ Color Scene ไว้พื้นฐานไว้อยู่แล้ว อาทิ Romance, Relax, Party, Disco แถมในช่วงเทศกาลต่างๆ ทางบริษัทผู้หลอดไฟหลายค่ายก็มีธีมไฟ เช่น คริสมาสต์, วาเลนไทน์ให้ดาวโหลดมาใช้งานได้ทันที

 

สำหรับร้านค้าที่อยู่ริมถนนใหญ่แต่ปิดบริการตั้งแต่ตอนเย็น แทนที่จะปิดร้านให้มืดสนิท แค่มีปลั๊กไฟ IoT กับผ้าม่าน IoT ก็ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถเปลี่ยนร้านที่ปิดบริการไปแล้วให้กลายเป็นดิสเพลย์เพื่อให้คนจดจำร้านเราได้มากขึ้น โดยสามารถตั้งเวลาของจอ Display ให้แสดงกราฟได้ตามที่ต้องการในช่วงหัวค่ำ และสั่งปิดไฟ ปิดจอ Display และปิดผ้าม่านในช่วงดึกได้

ส่วนร้านค้าหรือกิจการขนาดเล็กที่เจ้าของไม่ได้อาศัยอยู่ ทุกวันนี้เราสามารถติดตั้งชุดกล้องวงจรปิด IoT ให้สามารถดูหรือแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินได้ในราคาไม่กี่พันบาทแล้ว

 

สำหรับผู้ผลิตสินค้าหรืออุปกรณ์การนำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาใส่ไว้ในสินค้าก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันราคาของเทคโนโลยีก็ถูกลงมาจากยุคแรกๆมาก และตอนนี้ก็มีบริษัทผู้ผลิตของไทย ที่ผลิตสินค้า IoT ออกมาจำหน่ายแล้ว อาทิ ปลั๊กไฟ IoT ของ Anitech

เทคโนโลยี IoT ยังสามารถประยุกต์ใช้งานกับด้านการส่งเสริมการขายได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ Challenge ให้ลูกค้ามาออกกำลังกายสำหรับคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เช่นทำ Virtual Run ทั้งทำเองและผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Eventpop ก็ยังทำได้

ทุกวันนี้ทางบริษัทผู้ผลิตสินค้าหลายรายไม่ได้มองที่เทคโนโลยี IoT แบบเบสิก แต่มองไกลไปถึงอนาคตของ IoT ที่จะพัฒนาไปสู่ Sensorization of Things หรือ (SoT) กันแล้ว

SoT เป็นแอดวานซ์ เทคโนโลยีที่พัฒนาเพิ่มขึ้นมาให้อุปกรณ์เพิ่มความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวของมนุษย์ผ่านระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ อาทิ ม่านตา, ใบหน้า, เสียง, ท่าทาง ฯลฯ เพื่อนำเอาข้อมูลที่ประมวลผลได้ไปเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน

 

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ IoT และ SoT ที่ SME One อยากให้ SMEs ทุกคนอัปเดตข้อมูล และหาทางเกาะกระแสนี้ไว้จะได้ไม่ตกขบวนรถไฟ

 


อ้างอิง

https://www.statista.com/statistics/1194709/iot-revenue-worldwide/

https://www.statista.com/statistics/370350/internet-of-things-installed-base-by-category/

บทความแนะนำ

เปิดสูตรสำเร็จ 3 SMEs ไทยในร้านเซเว่นฯ… เติบโตนานกว่าทศวรรษ

 

การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ก็เปรียบเสมือนการสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมแข่งขันในตลาดโลก แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ SMEs ต้องเร่งปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ หนึ่งในผู้นำที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มธุรกิจ SMEs มาตลอด จึงได้นำเรื่องราวและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนแนวคิดของ 3 SMEs ไทยที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างยอดขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าทศวรรษ มาร่วมแบ่งปันเคล็ดลับให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้ต่อยอดธุรกิจสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน

 

เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม “ปุ้น&เปา” : เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ลดความผิดพลาด

นับเป็นเวลาร่วม 30 ปีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชลกิจปทานผล ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพและอยู่เคียงข้างเป็นบริษัทคู่ค้ากับเซเว่น อีเลฟเว่น มาโดยตลอด จนในวันนี้แบรนด์ “ปุ้น&เปา” ได้ถูกส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาช่วยสานต่อกิจการและยังคงเดินทางร่วมกับซีพี ออลล์ เพื่อทำภารกิจส่งมอบสินค้าคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงง่ายสู่มือผู้บริโภคทุกวัน

ชลกุล ชลกิจปทานผล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ชลกิจปทานผล เล่าย้อนความให้ฟังว่า เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม “ปุ้น&เปา” เป็นสินค้าตัวที่ 3 ที่บริษัทส่งขายให้กับเซเว่น อีเลฟเว่น จากเดิมเคยทำวุ้นกะทิและวุ้นน้ำมะพร้าวในน้ำเชื่อม แต่ด้วยความไม่แน่นอนในเรื่องของราคาวัตถุดิบหลักอย่างมะพร้าว จึงทำให้คุณพ่อมองหาสินค้าตัวใหม่ ซึ่งก็คือ “เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม” โดยใช้แบรนด์ “ปุ้น&เปา” ในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบถ้วย นอกจากนี้ ยังเพิ่มรูปแบบการจำหน่ายสู่แบบถุงภายใต้แบรนด์ “บางช้าง” ในราคาเพียง 8-12 บาทเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี และสร้างยอดขายสูงสุด 100,000 ถ้วยต่อวัน

“แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อจากคุณพ่อได้เพียง 3 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านมักสอนเสมอก็คือ เราจะต้องเป็น SME ที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้นิยามใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเอง SME (Small Micro Enterprises) นั่นคือพยายามทำให้องค์กรเล็กที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อลดความผิดพลาดในส่วนต่างๆ เพราะการเป็นคู่ค้ากับซีพี ออลล์ สิ่งสำคัญคือเราต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ ส่งผลให้วันนี้เราสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ถ้วยต่อวันในปี 2545 เป็น 120,000 ถ้วยต่อวัน ด้วยคนจำนวนเท่ากันคือ 15 คน” ชลกุล กล่าว

 

แม่ละมาย : แบ่งปันโอกาส ส่งต่อความยั่งยืน

คงไม่มีใครไม่รู้จัก หากเอ่ยถึงชื่อแบรนด์ “แม่ละมาย” เพราะมีสินค้าครอบคลุมทั้งเครื่องดื่มและขนมหวานวางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่นนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นส่งในเซเว่น อีเลฟเว่นเพียงแค่ 20 สาขา กระทั่งปัจจุบันมีจำหน่ายมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีสินค้ามากกว่า 10 ตัว อาทิ วุ้นมะพร้าวผสมเม็ดแมงลัก,วุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำลำไย,วุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำแดง,ลูกตาลลอยแก้ว,วุ้นมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักในน้ำใบเตย,เครื่องดื่มเม็ดแมงลักผสมวุ้นมะพร้าวในน้ำแดง,น้ำขิงผสมวุ้นมะพร้าว,น้ำใบเตยผสมวุ้นมะพร้าว และยังมีสินค้าช่วงเทศกาล เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล, เต้าทึง ซึ่งได้สร้างยอดขายให้บริษัทมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ละมาย ผู้ผลิตขนมหวานตรา “แม่ละมาย” เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์ “แม่ละมาย” เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คือ การได้แบ่งปันโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเหล่าซัพพลายเออร์ ด้วยการมอบความรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องการเพาะปลูก การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพของวัตถุดิบ ที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพส่งต่อให้กับผู้บริโภค ตลอดจนรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในรูปแบบประกันราคา ไม่ว่าจะเป็นวุ้นน้ำมะพร้าว,เม็ดแมงลัก,ลำไยอบแห้ง,ลูกตาล,สัปปะรด คิดเป็นปริมาณการใช้งานเฉลี่ยกว่า 1,000 ตันต่อปี และก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนคิดเป็นจำนวนเงินราว 12-14 ล้านบาทต่อปี

 

 

“การที่ SME จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องรู้จักแบ่งปันโอกาสการเติบโตให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนของเรามองว่า เกษตรกร ถือเป็นซัพพลายเออร์หลักที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เราได้วัตถุดิบมีคุณภาพ เพื่อนำมาผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภค วัตถุดิบที่ดีบวกกับการรักษามาตรฐานการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค นำมาซึ่งยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เราเรียกการเติบโตเช่นนี้ว่า การเติบโตแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” วีระ กล่าว

นอกจากการให้โอกาสแล้ว ในฐานะที่เป็น SME สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ การพัฒนาตัวเองและสินค้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทได้มีการนำ แห้ว ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของ จ.สุพรรณบุรี มาใช้เป็นส่วนประกอบในวุ้นมะพร้าวรวมมิตรในน้ำแดง และได้ทีม ซีพี ออลล์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการพัฒนาแพ็กเก็จจิ้ง ให้มีความสวยงามทันสมัย สะดวกต่อการบริโภค รวมถึงมาตรฐานการผลิต เนื่องจากมองว่ายิ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน ยิ่งต้องพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด

 

 

ขนมตาล EZY SWEET : ขนมไทย เน้นใช้เทคโนโลยี

อีกหนึ่ง SME ที่ต้องจับตามองเพราะเตรียมจะก้าวสู่ปีที่ 10 กับการเป็นคู่ค้าของเซเว่น อีเลฟเว่นอย่างบริษัท เจ เอช แอนด์ สโนว์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเติบโตจนเป็นที่รู้จักจากแบรนด์ “แม่สุนีย์ ขนมไทย” ปัจจุบันได้ผันตัวมาผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ EZY SWEET ให้กับ ซีพี ออลล์เนื่องจากเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดขนมไทยรวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้อย่างรอบด้านจากซีพี ออลล์ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และด้านการตลาด

ก้องปพัฒน์ เรืองจินดาชัยกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ เอช แอนด์ สโนว์ กรุ๊ป จำกัดกล่าวว่า จากความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ แม่สุนีย์ ขนมไทย ทำให้บริษัทมีความคิดที่จะต่อยอดโอกาสไปสู่ขนมไทยประเภทอื่นๆ จึงได้ร่วมปรึกษากับซีพี ออลล์ ในการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ซึ่งได้รับคำแนะนำให้ทดลองผลิตขนมตาล ภายใต้โจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ขนมตาลยังคงนุ่ม หอม น่ารับประทานเหมือนเพิ่งนึ่งมาใหม่ มีเนื้อสัมผัสและรสสัมผัสไม่เปลี่ยนแปลงแม้นำไปอุ่น โดยใช้เวลาในการคิดค้นประมาณ 1 ปี จนได้มาเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นเทคนิคเฉพาะของบริษัท สามารถผลิตได้ในปริมาณมากถึง 6,000 ชิ้นต่อวัน และมีอายุการเก็บรักษา (Shelf  Life) ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจำหน่ายรูปแบบแพ็ค 4 ชิ้น ในราคาเพียง 25 บาท 

“การผลิตขนมไทยแบบเดิมๆ จะใช้ภูมิปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมา แต่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยยืดอายุขนมและรักษารสชาติให้คงเดิม สำหรับตัวขนมตาลถือเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะปัญหาคือเนื้อขนมจะแข็งหากทิ้งไว้นาน หรือแฉะเมื่อนำไปอุ่น ทำให้รสชาติเปลี่ยนได้ แต่จากการแนะนำด้านเทคโนโลยีของซีพี ออลล์ ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ บวกกับวัตถุดิบตาลพันธุ์ดีที่เรารับซื้อจากเกษตรกร จ.เพชรบุรี ทำให้เมื่อออกวางจำหน่ายจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดถึงวันละประมาณ 10,000 ชิ้นต่อวัน จากยอดขายทั้งหมดของบริษัทในสินค้าทุกประเภทที่วางจำหน่ายในปัจจุบันร่วม 9 รายการ ทั้งในส่วนของแบรนด์แม่สุนีย์ ขนมไทย และ EZY SWEET ที่มียอดขาย 650,000 ชิ้นต่อวัน การที่ SME จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของตนเอง แต่สิ่งที่จำเป็นคือพันธมิตรและคู่คิดที่ดี” ก้องปพัฒน์ กล่าว

 

การเติบโตที่แข็งแกร่ง เกิดจากการนำเอาประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตนเอง โอกาสที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนย่อมไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ บริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

คุณสาวิตรี เกลี้ยงเกิด (ก้อย) 092-292-4624, คุณตะวัน หวังเจริญวงศ์ (ปุ๊ย) 083 074 2230,

คุณดวงจันทร์ สอดสุข (บี) 085-059-5981   Email : agatepr@agatethai.com

สำนักบริหารการสื่อสารองค์กร บมจ.ซีพี ออลล์

คุณธนิกานต์ สงฤทธิ์ (เปิ้น) 096-164-2998 Email : thanikarnson@cpall.co.th

บทความแนะนำ