เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดจากแบงก์ชาติ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีผลกระทบต่อรายได้ของหลาย ๆ คน เพื่อลดภาระทางการเงินโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหนี้ แบงก์ชาติจึงทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่

การพิสูจน์หรือวิเคราะห์ว่าลูกหนี้รายใดได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อาจใช้เวลานาน ไม่ทันต่อการขาดรายได้ของประชาชนอย่างกระทันหัน จึงมีการกำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยลูกหนี้ทุกรายที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งยังไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL)

 

มาตรการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ คลิก

 

การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยจะยังเดินอยู่ เมื่อพ้นช่วงนี้แล้ว ก็จะค่อย ๆ ทยอยจ่ายดอกเบี้ยในช่วงที่เลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดยอาจเป็นการจ่ายงวดสุดท้ายครั้งเดียว กระจายจ่ายในแต่ละงวดที่เหลือเท่า ๆ กัน หรือขยายจำนวนงวดการผ่อนออกไป

 

ลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ก็ควรชำระตามปกติเพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่ นอกจากนี้ ยังช่วยให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องสำหรับช่วยเหลือลูกหนี้รายอื่นด้วย

 

ความช่วยเหลือของผู้ให้บริการทางการเงิน

นี่เป็นเพียงมาตรการขั้นต่ำ ซึ่งออกมาเพื่อความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือเท่านั้น ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบประสบปัญหาขาดรายได้ อาจติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ โดยสามารถศึกษาและเปรียบเทียบแนวทางการให้ความช่วยเหลือของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้ที่นี่

 

อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม :

https://www.bot.or.th/covid19/Pages/content/retail/measures/default.aspxhttps://www.depa.or.th/th/article-view/gen-z-digital-natives/

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

"พร้อมเพย์" จบทุกปัญหาการเพย์ในช่วงโควิด ให้การขายของคุณง่ายยิ่งขึ้น

หัวข้อ : พร้อมเพย์ : ลงทะเบียนให้พร้อม จบทุกปัญหาการเพย์ในช่วงโควิด
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : https://www.bot.or.th/covid19/Pages/content/public/promptpay/default.aspx#!#promptpay_stephttps://www.bot.or.th/covid19/Pages/content/public/qa/default.aspx

 

“พร้อมเพย์” อีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่จะทำให้เรื่องเงิน ไม่ว่าการโอน-รับ-จ่าย ก็สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น อย่างในช่วงโควิด 19 นี้ที่บางธนาคารอาจปิดสาขาชั่วคราวหรือจำกัดคนเข้าใช้บริการ หากคุณผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะทำธุรกรรมใด จะโอน-รับ-จ่าย ก็ทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพียงปลายนิ้ว โดยไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร

 

พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร

พร้อมเพย์ คือ บริการที่จะให้การโอนเงินและรับเงินสะดวกและง่ายขึ้น เพียงผูกบัญชีเงินฝากธนาคารที่ท่านมีกับหมายเลขอ้างอิง (proxy ID) เช่น หมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นแค่รู้หมายเลขบัตรประชาชน หรือจำเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนได้ ก็สามารถทำธุรกรรมได้เลย

ที่ผ่านมา พร้อมเพย์มีบริการต่อยอดอื่น ๆ ออกมาเป็นระยะ เช่น พร้อมเพย์ e-Wallet ซึ่งเป็นการผูกพร้อมเพย์กับเลขบัญชี e-Wallet ที่ช่วยให้การโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารและบัญชี e-Wallet ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ทำได้สะดวกขึ้น หรือ Thai QR Payment บริการจ่ายเงินด้วยการสแกน QR Code ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการจ่ายเงินมากขึ้น ติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพร้อมเพย์ได้ที่นี่

 

ประโยชน์ของพร้อมเพย์คืออะไร

  •   สะดวก รวดเร็ว สามารถทำธุรกรรมโอน-รับ-จ่ายเงิน ได้ตลอด ทุกที่ ทุกเวลา
  •   เป็นช่องทางสำคัญในการรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ รวมถึงการรับคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (กรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขทะเบียนนิติบุคคล)
  •   ปลอดภัย ในแง่ของการลดการใช้เงินสด ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องพกเงินจำนวนมากติดตัว อีกทั้งระบบกลางพร้อมเพย์ยังมีความมั่นคงปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับ

 

อยากลงทะเบียนพร้อมเพย์ ต้องทำอย่างไร

– ก่อนที่จะลงทะเบียนพร้อมเพย์ต้องมีบัญชีธนาคารใดธนาคารหนึ่งก่อน

– หลังจากนั้นลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารเข้ากับพร้อมเพย์ เลือกได้ว่าจะผูกพร้อมเพย์กับ หมายเลขบัตรประชาชน หรือ เบอร์โทรศัพท์มือถือ

– ในกรณีที่ต้องการรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐจะต้องผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน

– ถ้าต้องการความสะดวกในการรับโอนเงินจากผู้อื่น แบบไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคาร อาจเลือกผูกพร้อมเพย์กับเบอร์โทรศัพท์มือถือ

– การลงทะเบียนพร้อมเพย์ทำได้ที่ธนาคารทุกสาขา โดยมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร

– ธนาคารส่วนใหญ่ยังมีช่องทางอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากสาขาธนาคารด้วย เช่น ลงทะเบียนผ่าน mobile banking, internet banking, ตู้ ATM หรือ call center

 

จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเคยผูกพร้อมเพย์ไว้หรือไม่ และผูกกับธนาคารใด

สามารถติดต่อกับธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่ โดยมีช่องทางดังนี้

  •   ตรวจสอบผ่าน internet/mobile banking ของธนาคาร โดยการสมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์อีกครั้ง ระบบธนาคารจะตอบกลับว่าได้ลงทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ บางธนาคารจะแจ้งว่าเคยลงทะเบียนไว้กับธนาคารใด
  •   ติดต่อผ่าน call center ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่จะพิสูจน์ตัวตน และให้คำตอบว่าคุณได้ลงทะเบียนไว้กับธนาคารนั้น ๆ แล้วหรือไม่ โดยไม่สามารถบอกข้อมูลของธนาคารอื่นได้

    ตรวจสอบผ่านสาขาธนาคาร โดยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งขอลงทะเบียนอีกครั้ง (ต้องมีหลักฐานแสดงตัวตน) ในกรณีที่พบว่ามีการลงทะเบียนซ้ำ เจ้าหน้าที่สามารถให้ข้อมูลว่าประชาชนเคยลงทะเบียนไว้แล้วที่ธนาคารใด

 

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ปรับตัวให้ทันรับโอกาสใหม่ ด้วยการเข้าใจลูกค้ากลุ่ม Gen Z ให้มากขึ้น

 

การจะเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจคุณให้ไปได้ไกลมากขึ้น กลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นกลุ่ม Gen Z แล้วคนกลุ่มนี้คือใคร ดังนี้

– คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2555 (ค.ศ. 1997 – 2012) ซึ่งในปีปัจจุบัน พ.ศ. 2563 คน Gen Z จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 7 ปี ถึง 22 ปี

– ถูกเรียกว่า Digital Natives และเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขั้นสูง (Tech-savvy)

– เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อมติบโตมาพร้อมกับโลกแห่งความก้าวหน้า และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัด มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Smartphone และ Platform ต่างๆ เป็นที่แพร่หลาย

– พวกเขาไม่เคยรู้จักโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ที่พวกเขาสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างทันที

– บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินการเรียกคน Gen Z ว่า คน Gen C (ซี) ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวอักษร C มาจากคำว่า Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การทำงานร่วมกัน), Connection (การเชื่อมโยง) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของ Gen Z นั่นเอง

 

ทำไมคนทำธุรกิจทั่วโลกถึงจับตามองคน  Gen Z

เพราะปัจจุบัน Gen Z คิดเป็น 32% ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งทำให้ Gen Z จะเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2562 และ Global Consumer Population ของ Gen Z คาดว่าจะมีจำนวน 2.6 พันล้านคน ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2564 สิ่งนี้ทำให้คน Gen Z มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก โครงสร้างทางวัฒนธรรม โครงการทางสังคม โครงสร้างขององค์กร และวิธีชีวิตของประชาชนทั่วโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเข้าใจ Gen Z มากขึ้น และเห็นความแตกต่างระหว่าง Gen Z กับคนรุ่นก่อนๆ (Baby Boomers, Gen X, Millennials) ได้แก่

 

1. พฤติกรรมการบริโภค Social Media ของ Gen Z

เป็นสิ่งที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจนตรงที่ พวกเขาไม่ได้ใช้ Social Media เพื่อการติดต่อพุดคุยอย่างเดียว แต่ยังใช้เพื่อความบันเทิง เพื่อเรียนรู้สิ่งที่สนใจ และเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ซึ่ง Gen Z ใช้เวลาเฉลี่ยบน Social Media ประมาณ 7.4 ชั่วโมงต่อวัน โดย Online Platforms ที่ใช่มากที่สุดคือ Youtube รองลงมาเป็น Instagram, Snapchat, Facebook และ Twitter ตามลำดับ สำหรับ Facebook นั้นมีเปอร์เซ็นการใช้ลดลงจาก 71% ในปี พ.ศ. 2557 เหลือเพียง 51% ในปี พ.ศ. 2561

การจะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Gen Z ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า และการทำการตลาดอื่นๆ ควรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับ Youtube เป็นอันดับแรก นอกเหนือจากนี้ Gen Z ยังใช้ประโยชน์จาก Youtube เพื่อการศึกษาผ่อนคลาย ให้กำลังใจตนเอง และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของพวกเขาอีกด้วย

 

2. พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย (Shopping) ของ Gen Z

– 66% ของ Gen Z กล่าวว่า คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา

– 93% เลือกที่จะซื้อสินค้าที่ดูดี รองลงมาเป็น การทำงาน (Functionality) คุณภาพสินค้า (Quality) ที่ตรงตามความต้องการของตน และ ความทันสมัย ตามลำดับ

– 62% ของ Gen Z ที่ช้อปปิ้งออนไลน์ ชื่นชอบเว็ปไซต์ที่มีส่วนลด รองลงมาเป็นการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าคืน (Free Return Shipping) และรูปภาพที่ดึงดูด ตามลำดับ

– 60% ของ Gen Z จะไม่ใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มี Loading Times ช้า

– 58% ของนักช้อปปิ้งกล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 150 บาท ($5) หากสินค้าถึงมือพวกเขาภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง

– Gen Z ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ สูงกว่าคนในรุ่น Millennial ถึง 2 เท่า

 

3. ทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและงานในอนาคต ของ Gen Z

จากงานวิจัยของ บริษัท Dell Technologies ที่ได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 12,000 คน ทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ใน 17 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศบราซิล สหราชอาณาจักร ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศตุรกี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจพบว่า Gen Z มีความมั่นใจในทักษะทางด้านเทคโนโลยีของพวกเขา แต่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับความพร้อมสำหรับการเป็นพนักงาน ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 Gen Z จะอยู่ในตลาดแรงงานถึง 20 % ของตลาดแรงงานทั่วโลก

 

ผลการสำรวจของ บริษัท Dell Technologies ระบุว่า

– 98% ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา

– 91% กล่าวว่าเทคโนโลยีที่นายจ้างเสนอให้นั้น เป็นปัจจัยในการตัดสินใจสำหรับการเลือกงาน

– 80% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cutting-edge Technology 38% มีความสนใจในสายงานอาชีพไอที และ 39% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity

– 80% เชื่อว่าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อม การทำงานที่เท่าเทียมมากขึ้น โดยสามารถป้องกันการเลือกปฏิบัติและอคติได้

– 89% ตระหนักดีว่า พวกเขากำลังเข้าสู่ยุคของการเป็นหุ้นส่วนมนุษย์กับเครื่องจักร (Human-machine Partnerships) โดย 51% เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานเป็นทีมรวมกันได้ในขณะที่ 38% มองว่าเครื่องจักรเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับมนุษย์

 

ผลการศึกษาของทีมนักวิเคราะห์ของ Indeed เว็บไซต์หางานอันดับ 1 ของโลก ในหัวข้อ “งานอะไรที่ได้รับความสนใจจาก Gen Z” โดยวิเคราะห์จากการคำนวณจาก “Popularity Index” ที่ Gen Z คลิกในประกาศการรับสมัครงานแบบเต็มเวลา (Full-time Job Postings) ผลการศึกษานี้ ระบุว่า ตำแหน่งงานด้านดิจิทัล ได้รับความนิยมสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ในบรรดางานด้านอื่นๆ ดังนี้

อันดับที่ 1 นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ iOS (iOS Developer)

อันดับที่ 2 วิศวกรคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision Enginee

คอมพิวเตอร์วิทัศน์ เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยการฝึกให้ระบบ เรียนรู้ เข้าใจและตอบสนองต่อวัตถุต่าง ๆ ผ่านแบบจำลอง Deep Learning ด้วยภาพดิจิทัลหรือวิดีโอต่าง ๆ โดยตัวอย่างของการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ ได้แก่ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality), เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition), เทคโนโลยีด้านการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing), เทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูง (Advanced Robotic) และเทคโนโลยียานพาหนะ ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) เป็นต้น

อันดับที่ 3 วิศวกรการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning Engineer)

 

จากจากพฤติกรรมของ Gen Z ในข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างไปจากคนในยุค Baby Boomers, Gen X, Millennials อย่างมาก ทำให้หลายประเทศเห็นโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคใหม่ของ Gen Z จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับและดึงดูดเด็ก Gen Z ที่ถูกคาดว่าจะเป็นบุคลากรทักษะสูงทางด้านดิจิทัลในอนาคต (Tomorrow’s Digital Talent) จะเป็นผู้สร้างในอนาคต (Tomorrow’s Creators) และ จะเป็นผู้สนับสนุนในอนาคต (Tomorrow’s Advocates) รวมถึง จะเป็น ผู้บุกเบิกในอนาคต (Tomorrow’s Pioneers)

ซึ่งการเตรียมความพร้อมของเมืองดังกล่าวเป็นการดึงดูด Gen Z ไม่ว่าจะเป็นในประเทศของตนเองหรือจากต่างประเทศที่มีต้องการจะเข้ามาศึกษาต่อ ทำงานหรือเริ่มต้นธุรกิจในประเทศนั้นๆ โดย คน Gen Z จากต่างประเทศกลุ่มนี้มีแนวความคิดว่า พวกเขาสามารถปฏิเสธที่จะอาศัย ศึกษา หรือทำงานในประเทศของตัวเองได้ หากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาได้

Nestpick ได้ทำการสำรวจและประเมินเมืองทั่วโลกจำนวน 110 เมือง สำหรับ “ความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของ Gen Z” โดย ผลการศึกษาระบุว่า 5 อันดับแรกของเมืองที่มีความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของเด็ก Gen Z ได้แก่

อันดับที่ 1 เมืองลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร (United Kingdom)

อันดับที่ 2 เมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน (Sweden)

อันดับที่ 3 ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America)

อันดับที่ 4 เมืองโทรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา (Canada)

อันดับที่ 5 เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America)

สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 103

 

Nestpick ใช้เกณฑ์ประเมินทั้งสิ้น 22 เกณฑ์สำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการศึกษานี้คือ Nestpick ใช้ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization เป็นครั้งแรก โดย ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization ประกอบด้วย

  1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ตาม 2018 United Nations E-government Development Index นั้น ระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ประเมินจากประสิทธิภาพของการบริหารระดับชาติในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government)

โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่

– การให้บริการออนไลน์ (Online Services)

– การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure)

– การขับเคลื่อน การเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนดิจิทัล

โดยเมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ได้รับการประเมินในระดับความก้าวหน้ามากที่สุด สำหรับการพัฒนา E-government ด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองเมลเบิร์น (Melbourne) เมืองซิดนีย์ (Sydney) เมืองบริสเบน (Brisbane) และเมืองเพิร์ท (Perth)

  1. การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ตาม Ookla Speedtest และ 5G Map, Testmy.net และ Cable.co.uk นั้น การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ประเมินจากโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร ความเร็วสูง รวมถึงความพร้อมในการผสมผสานและต่อยอดกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Next Generation Technology)

โดยมีตัวชี้วัดประกอบด้วย

– ความเร็วบรอดแบนด์ของเมือง (City Broadband)

– ความเร็วของมือถือเฉลี่ยในระดับประเทศ

– ความพร้อมในการทดสอบหรือการวางแผนการขับเคลื่อนการบริการในเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ

ประเทศสิงคโปร์มีคะแนนการเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) สูงที่สุดด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองโซล (Seoul) และเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm)

  1. การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ตาม 2018 EIU Government E-Payments Adoption Ranking, G4S 2018 World Cash Report และ Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และ ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ประเมินจากความพยายามของรัฐบาลในการประยุกต์ใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การแพร่หลายของการชำระเงินดิจิทัล และความพร้อมของเมืองในการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless)
  2. การขับเคลื่อนระบบขนส่งด้วยดิจิทัล (Digitalized Mobility) และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ตาม 2018 Timbro Sharing Economy Index, 2019 Coya Bicycle Cities Index, ADL 2018 Future of Mobility Report, 2019 Easypark Smart Cities Index, Uber และ Bike Share Map นั้น ประเมินจากระบบนิเวศของเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้ (Peer to Peer : P2P) โดยมุ่งเน้นไปที่การบริการการสัญจรแบบแบ่งปัน (Shared Mobility Services) เช่น การบริการรถจักรยานสาธารณะแบบแบ่งปัน (Bike-sharing) และ การบริการผ่านทางแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะในเครือข่ายผู้ให้บริการ (Ride-hailing)
  3. นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ตาม Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ประเมินจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และร้อยละ ของพลเมืองที่ใช้บริการดิจิทัลเพื่อจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  4. การศึกษา (Education) ตาม Times Higher Education 2019 World University Rankings นั้น การศึกษา (Education) มีตัวชี้วัดประกอบด้วยจำนวนสถาบันการศึกษาระดับสูงที่มีหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เทคโนโลยี (Technology) และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม โดย คำนวณจากที่ตั้งของสถาบันการศึกษา อยู่ภายในรัศมี 200 กิโลเมตรจากใจกลางเมืองนั้น ๆ
  5. ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และ ความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ตาม The French National Commission on Informatics and Liberty (CNIL), National Cyber Security Index, Kaspersky และ TheBestVPN นั้น ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ประเมินจากการให้คำมั่นของรัฐบาลที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและปกป้องความปลอดภัยบนออนไลน์ โดยคะแนนจะรวมถึงขอบเขตของกฎหมายความเป็นส่วนตัวทางด้านดิจิทัล (Digital Privacy Legislation) ข้อห้ามของเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) และ ระดับความปลอดภัยสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

นอกเหนือจากนี้ เกณฑ์ประเมินยังประกอบด้วยคะแนนจากตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ความเท่าเทียมกันทางสังคม (Social Equality) ความเป็นสากล (Internationalism) ความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกมอิเล็กทรอนิกส์ (E-gaming Events) สถานที่นั่งทำงานร่วมกันกับผู้อื่นแบบชั่วคราว (Co-working Space) การเข้าถึงบริการสุขภาพ (Access to Healthcare) จิตวิญญาณผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurial Spirit & Innovation) ความเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ในท้ายที่สุดประเทศที่มีศักยภาพและพร้อมรองรับคน Gen Z ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะมีผลต่อเนื่องทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถเป็น Pool ของ Global Talent และยกระดับระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Global Competitiveness) ต่อไป

 

อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : โอกาสและความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของยุค Gen Z

https://www.depa.or.th/th/article-view/gen-z-digital-natives/

บทความแนะนำ

ธุรกิจแฟชั่นควรปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับ New Normal หลังวิกฤตสิ้นสุด

อีกครั้งกับเรื่องของ New Normal ที่เราจะพาคุณไปเจาะกลุ่มธุรกิจแฟชั่นกันบ้าง COVID-19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายธุรกิจและรวมถึงในธุรกิจแฟชั่น ในรูปแบบที่ใหม่ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ระบบการผลิต วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ระบบการจำหน่าย รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการตลอด supply chain ที่กระแสของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์แบบ

 

ลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี

ทันทีที่การระบาดสิ้นสุดลงคาดการณ์ว่า ธุรกิจแฟชั่นในหลากหลายแบรนด์ต่างจะมุ่งเน้นลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี และแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจแฟชั่นรูปแบบใหม่ในอนาคต โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะประสบความสำเร็จต่อการปรับเปลี่ยนนั้น ต่างต้องยอมรับรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (วิธีการทำงาน/การจ้างงาน)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดนั้น เช่น

ในสายงานปฏิบัติการออกแบบและวิจัยของ Adidas ได้เพิ่มสัดส่วนการทำงานในระยะไกล หรือ remote working สูงถึง 84% ขณะที่การประชุมผ่าน VDO conference อยู่ 79% และเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (flexible working) เพิ่มขึ้น 58% การลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการสื่อสารในองค์กรเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและรองรับรูปแบบการเปลี่ยนของการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

การเลือกใช้ Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่น

การนำเรื่องของเทคโนโลยีจาก Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่นมาใช้ในช่วงโรคระบาดได้รับความสนใจจากแบรนด์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการออกแบบ หรือการจัดแสดงผลงานแฟชั่นโชว์ในรูปแบบเสมือนจริง หรือ Digital showroom หรือผ่านการใช้ Livestream และรวมถึงการใช้ AI โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2020 พบว่า มียอดคำสั่งซื้อการใช้งาน Platform เหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 20%  (Zoom VDO communication ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าต่อวันตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรค)

แบรนด์แฟชั่นจะต้องปรับให้เกิดความยืดหยุ่นใน supply chain มากขึ้น โดยลดเวลาในการออกสู่ตลาดและปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น นั่นคือ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้า จะต้องย่นระยะเวลาในกระบวนการออกแบบ การผลิต ไปจนส่งกระบวนการส่งมอบให้กับลูกค้าใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยอาศัย Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่นเป็นตัวขับเคลื่อน

 

การย้ายฐานการผลิต

การผลิตอัจฉริยะ ในรูปแบบของ Nearshoring คือ การย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ๆ ประเทศของตนเอง กำลังเป็นทางเลือกที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าจากราคาค่าขนส่งและนำเข้า บวกกับระยะเวลาการขนส่งสินค้า ทั้งยังสามารถลดมลภาวะ เพราะผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด จึงช่วยลดขยะจากเสื้อผ้าเหลือทิ้ง คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 เสื้อผ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อเลือกเสื้อผ้าของผู้บริโภคในอนาคต

การเพิ่มขึ้นของ Digital showroom และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ B2B ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลแบบ update ได้ตลอดเวลา ทำให้ลดขั้นตอนการซื้อขาย เกิดการซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว เพราะข้อมูลต่าง  อยู่บน social network และเกิดการสื่อสารกับธุรกิจอื่น  ที่อาจจะมีการติดต่อธุรกิจแบบ B2B ด้วยเช่นกัน และยังรวมถึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมของธุรกิจให้ปรากฏต่อสาธารณะง่ายขึ้น และง่ายต่อการขยายธุรกิจแบบ networking”

 

กระแสความยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจแฟชั่นของแบรนด์ต่างๆ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์จากพื้นฐานแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสำคัญ ความยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการในสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งยังคงเป็นประเด็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับธุรกิจแฟชั่น ในปี 2020

 

ธุรกิจแฟชั่นจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับให้มีความเหมาะสมกับในการดำเนินธุรกิจภายหลังที่วิกฤตการณ์สิ้นสุด ดังนั้น New Normal ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบหรือธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดจะประกอบด้วย

 

  1. การบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของ supply chain รูปแบบใหม่ที่มีรอบระยะเวลาที่สั้นลง และ/หรือความร่วมมือระหว่างกันของธุรกิจ เพื่อขจัดข้อจำกัดในการดำเนินงานและเป็นการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ร่วมกัน
  2. การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นบนพื้นฐานของคววามโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้
  3. การสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจตลอด supply chain และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด โดยอาศัยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
  4. พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค จะกลายเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดทิศทางระบบทางการตลาดในอนาคต
  5. ถึงแม้กระแสด้านเทคโนโลยีจะส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบัน แต่เชื่อมั่นว่า กระบวนการขั้นพื้นฐานเพื่อการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกถึงความสวยงาม จะยังคงอยู่ในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในอนาคต
  6. Local brand จะกลับมามีบทบาทสำคัญในระบบแฟชั่นของแต่ละประเทศ
  7. โมเดลของความต้องการของตลาด หรือ Demand driven จะถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ เทคโนโลยี 3D, การจัดแสดงผลงานในรูปแบบเสมือนจริง (virtual sampling) และระบบปฏิบัติการด้วย AI

 

อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : New Normal ที่มีต่อธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด

https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.1785.1.0.html

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

10 เทรนด์ผู้บริโภคของโลกหลังวิกฤต COVID-19

‘ความปกติรูปแบบใหม่’ หรือ New Normal ซึ่ง Bill Gross นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2008 ที่อธิบายถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อาทิ การถือกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน จนกระทั้งมาถึงวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด New Normal และกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจหรือเจ้าของแบรนด์ให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนกลยุทธให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Trendwatching บริษัทที่ปรึกษาด้านเทรนด์ผู้บริโภคชั้นนำของโลก ได้คาดการณ์ถึง 10 แนวโน้มผู้บริโภคหลังจากผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เพื่อให้ภาคธุรกิจหรือเจ้าของแบรนด์ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึงนี้

 

1. VIRTUAL EXPERIENCE ECONOMY

Virtual Experience หรือ ประสบการณ์บนโลกเสมือน จะเป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินธุรกิจและปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ ตัวอย่างเช่น เกม Assassin’s Creed โดยบริษัท Ubisoft ผู้ผลิตเกมจากฝรั่งเศส ที่พัฒนาเกมให้ผู้เล่นได้เข้าไปท่องเที่ยวในพีระมิดหรือศึกษาอารยธรรมของอียิปเสมือนได้ไปอยู่ในสถานที่จริง หรือบรรดาพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก อาทิ British Museum หรือ Louvre Museum ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจชมผลงานศิลปะสามารถเข้าชมด้วย Google Street View หรือในแวดวงแฟชั่นที่ล่าสุดมีการจัด ‘Shanghai Fashion Week’ โดยใช้ Virtual Runway และทำการ Livestream มียอดผู้ชมกว่า 11 ล้านวิว สร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านหยวน (ประมาณ 2.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมไปถึงนักร้องชื่อดังอย่าง เลดี้ กาก้า ที่กำลังจะจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ virtual music festival ที่มีชื่อว่า “One World Together at Home” ในวันที่ 18 เม.ย. นี้

 

 

2. SHOPSTREAMING

ในเทรนด์ของปี 2018 ที่ผ่านมา Trendwatching ได้คาดการณ์ว่าตลาด e-commerce และการขายออนไลน์ด้วยการ Live streaming ในเอเชียจะมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่หลังจากวิกฤตนี้จบลง ตลาดการขายของออนไลน์ในรูปแบบของการ Streaming จะเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว ไม่เพียงแค่ภาคเอกชนที่จะมีการนำแพลตฟอร์มต่างๆ มาเป็นช่องทางการขายมากยิ่งขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการค้าของภาคประชาชนด้วย เช่นที่เมืองซานยาในไหหนาน จังหวัดทางตอนใต้ของจีน ที่ทางนายกเทศมนตรีช่วยเหลือเกษตรกรขายมะม่วงด้วยการใช้ Taobao Live ในการ Live streaming ซึ่งได้ยอดขายถึงวันละ 3,000 ตัน

 

 

3. VIRTUAL COMPANIONS

เราอาจจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่มาช่วยสร้างความสะดวกสบายหรือเครื่องมือช่วยในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น Siri ระบบสั่งการด้วยเสียงที่สามารถโต้ตอบได้ หรือ Chatbot การตอบกลับข้อความแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้ของผู้บริโภคในอนาคตอีกต่อไป และผลกระทบจากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้เราต้องการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือกระทั่งเป็นเพื่อนคลายเหงาในยามที่เราไม่สามารถพบปะกันได้ อย่างเช่น ‘NEON’ โครงการสร้าง มนุษย์ประดิษฐ์ (Artificial Humans) ของ Samsung ที่ได้เปิดตัวในงาน CES 2020 ที่ผ่านมา โดย NEON ใช้เทคโนโลยีเรียกว่า CORE R3 (Reality, Real Time และ Responsiveness) ที่จะสามารถตอบโต้ได้เหมือนกับแชทบอต แต่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า รวดเร็วกว่า และกำลังพัฒนาสำหรับใช้โต้ตอบลูกค้า ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยที่ดีในการดำเนินธุรกิจได้ในอนาคตโดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ

 

 

4. AMBIENT WELLNESS

พฤติกรรมการล้างมือเป็นประจำและการใส่ใจในสุขอนามัยอาจนับว่าเป็น New Normalที่เห็นได้ชัดเจนของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบพฤติกรรมที่จะอยู่กับผู้บริโภคไปอีกระยะนึง ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคหลังจากนี้จะตั้งคำถามเชิงสุขอนามัยต่อตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ใส่ใจรายละเอียดไม่เพียงแค่ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบ แต่รวมไปถึงการขนส่ง หรือการส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือลูกค้าอย่างสะอาดและปลอดภัย แบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Stella McCartney สาขาลอนดอน ได้นำเสนอจุดเด่นของร้านในเรื่องของสุขอนามัยภายในร้านด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 95% พร้อมปรับอากาศด้วยน้ำหอมเพิ่มบรรยากาศที่ดีในการเดินเลือกสินค้าภายในร้าน แสดงให้เห็นว่า แบรนด์ใส่ใจลูกค้าไม่เว้นกระทั่งอากาศที่ลูกค้าหายใจเข้าไป หรือ EnergyUp café ร้านกาแฟ Starbucks ในเนเธอแลนด์ร่วมกับบริษัท Philips ด้วยการติดตั้งหลอดไฟภายในร้านที่ให้แสงธรรมชาติซึ่่งทำให้ลูกค้าสดชื่นและผ่อนคลาย

 

5. M2P (MENTOR TO PROTÉGÉ)

การที่ผู้บริโภคมีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นไม่ต้องสูญเสียเวลากับการเดินทางไปทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ และมีเวลาอยู่กับตัวเอง สำรวจตัวเอง หรือพัฒนาตนเอง เราจึงเห็นคอร์สเรียนออนไลน์ที่เปิดให้เรียนฟรีมากมายหลายแห่ง เช่น เว็บไซต์เรียนออนไลน์ Coursera ที่เปิดให้ผู้ใช้งานได้ลงทะเบียนเรียนกว่า 100 คอร์ส หรือแคมเปญที่ชื่อว่า ‘Global Ambassador’ ของเว็บไซต์สอนภาษา Duolingo ร่วมกับ TWITCH แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ ร่วมกันทำ Live streaming สอนภาษา โดยให้ผู้ที่ไลฟ์สตรีมเกมอยู่นั้น พูดอธิบายเกมในรูปแบบ 2 ภาษา (หรือมากกว่านั้น) เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้เรื่องภาษาอื่นไปในตัว

 

 

6. A-COMMERCE

ผลจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกัน การบริโภคสินค้าจึงมุ่งสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ธุรกิจเดลิเวอรี่เป็นที่นิยมอย่างมาก ส่งผลให้เกิดเทรนด์ที่เรียกว่า ‘การขายสินค้าอัตโนมัติ หรือ A-Commerce (Automated Commerce)’ คือการใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวกในการขายสินค้า อย่างที่ Domino Pizza ได้เริ่มมีการทดสอบระบบการขายสินค้าอัตโนมัติ โดยร่วมกับบริษัท Nuro พัฒนาหุ่นยนต์ R1 ยานยนต์ไรคนขับ สำหรับส่งพิซซ่าอุ่นร้อนและสินค้าประเภทอื่นๆ ให้กับลูกค้า หรือ Amazon Dash ของ Amazon บริษัทขายของ ออนไลน์ของอเมริกา ที่ให้สร้างความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ได้เพียงแค่กดปุ่ม สินค้าก็จะถูกจัดส่งมาให้ทันที ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราคงจะได้เห็นรูปแบบการขายในลักษณะนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

7. THE BURNOUT

ผลกระทบต่อจิตใจในภาวะวิกฤตเช่นนี้สร้างความเครียดและเหนื่อยล้า ไม่เพียงแค่จากข่าวสารมากมายที่ผู้บริโภคได้รับ แต่อาจเกิดจากการนั่งทำงานในห้องเดิมเป็นเวลานาน หรือจากปัญหาอื่นๆ รายวัน การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้บริโภคได้ในพื้นที่ที่จำกัด เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นกันบ้างแล้ว อย่างโรงแรม ‘The Moxy NYC Chelsea’ โรงแรมที่พักในเครือ Marriott ใช้แนวคิดของการ ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) คือวิธีการผ่อนคลายแนวใหม่ที่ใช้การตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึก มาสร้างโปรแกรมการพักผ่อนที่เรียกว่า Bedtime Stories เช่นเดียวกับแบรนด์เครื่องใช้ในบ้านอย่าง IKEA ก็ได้นำ ASMR มาใช้ในการโฆษณาสินค้าบนยูทูปที่มีความยาวกว่า 25 นาที

 

8. OPEN SOURCE SOLUTIONS

ในปี 2018 สามบริษัทยักใหญ่อย่าง Ford, Uber และ Lyft ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะที่ชื่อว่า ‘SharedStreets’ ด้วยเงินทุนจากองค์กรการกุศลอย่าง Bloomberg Philanthropies เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางของผู้คนใน 30 เมืองทั่วโลก และใช้เป็นข้อมูลในการลดปัญหาที่เกิดจากการขับขี่บนท้องถนน หรืออย่างการจดสิทธิบัตรรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของอีลอน มัสก์ ในรูปแบบโอเพนซอร์ส (Open Source) เพื่อให้เกิดการนำนวัตกรรมนี้ไปพัฒนาและช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากตัวอย่างทั้งสองสะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่เกิดจากการร่วมมือกันทั้งในฐานะหน่วยงาน หรือในฐานะผู้บริโภคเองก็จะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต และมักจะนึกถึงแบรนด์หรือบริษัทเหล่านี้เป็นอันดับต้นๆ

 

 

 

9. ASSISTED DEVELOPMENT

การที่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น (แทบจะ 24 ชั่วโมง) ทำให้ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง การเติบโตของธุรกิจบริการแบบ On-demand อาทิ บริการรับส่งของ/อาหาร จึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงผู้บริโภคต้องทำอาหารทานเองมากขึ้น แบรนด์เครื่องครัว ‘Equal Parts’ จึงมีบริการที่ตอบรับกับเทรนด์นี้ที่เรียกว่า ‘Text a Chef’ ที่ลูกค้าสามารถส่งข้อความไปขอสูตรหรือเคล็ดลับการทำอาหารจากทางแบรนด์ได้ และยังสามารถกระตุ้นยอดขายเครื่องครัวจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการนี้ได้อีกด้วย หรือแพลตฟอร์มหาที่พักอย่าง Airbnb ที่ตอบรับเทรนด์นี้ด้วย Airbnb Online Experience ที่ชวนโฮสหรือเจ้าบ้านมาร่วมทำกิจกรรมในรูปแบบ VDO On-demand และพร้อมหารายได้ในช่วงวิกฤตนี้ โดยมีตั้งแต่กิจกรรมนั่งสมาธิกับพระภิกษุชาวญี่ปุ่น เยี่ยมเยือนสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล และทำอาหารกับครอบครัวชาวโมร็อกโก เป็นต้น

 

 

10. VIRTUAL STATUS SYMBOLS

ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสถานะบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น การมีตัวตนบนโลกเสมือนจริงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถวิลหา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในธุรกิจแฟชั่น อย่างเช่น ‘Drest’ แอพลิเคชันรูปแบบเกมที่ผู้ใช้สามารถเลือกเสื้อผ้ามาแต่งให้กับนางแบบ ซึ่งเป็นคอลเลคชันเสื้อผ้าที่มีอยู่จริงจากเเบรนด์ชั้นนำ อาทิ Burberry, Gucci และ Prada และยังสามารถกดซื้อได้จากภายในเกม (in-game purchases) ได้เลยด้วย

 

 

เรียบเรียงโดย ฐิติญาณ สนธิเกษตริน

อ้างอิง:
skift.com/2020/03/17/after-the-virus-10-consumer-trends-for-a-post-coronavirus-world/
marketingoops.com/reports/industry-insight/shanghai-fashion-week-virtual-runway-and-live-streaming
weforum.org/agenda/2020/04/lady-gaga-coronavirus-response-fund
xinhuanet.com/english/2020-02/14/c_138783295.htm
techsauce.co/pr-news/online-experiences-airbnb-covid-19

 

ขอบคุณแหล่งที่มาhttps://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/newnormal/

 

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ