กรณีศึกษากลยุทธ์ Standardization “บ้านส้มตำ” คุณภาพสินค้า-บริการคือ รากฐานสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจที่สำคัญ แน่นอนว่าคือ“ผลประกอบการ” แต่การจะได้มาซึ่งตัวเลขผลประกอบการที่ดีนั้น ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีล้ำสมัย หรือต้องทำธุรกิจอยู่ในเทรนด์ หรือมีกลยุทธ์ธุรกิจที่เกาะกระแส หากแต่มาจากการมีรากฐานอันแข็งแกร่ง นั่นคือ “คุณภาพสินค้า - บริการ” และ “การรักษามาตรฐาน” ของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็น Commitment ของผู้ประกอบการธุรกิจที่มีต่อผู้บริโภค 


ยิ่งในธุรกิจร้านอาหาร “คุณภาพ” และ “การรักษามาตรฐาน” เป็นหนึ่งหัวใจหลักของการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค “รู้สึกประทับใจและกลับมาใช้บริการในครั้งต่อๆ ไป”

 

“บ้านส้มตำ” เป็นหนึ่งใน Case Study ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่มีลูกค้าประจำที่กลับมาใช้บริการต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มต้นสาขาแรกบนถนนพุทธมณฑลสาย 2 เมื่อปี 2548 โดยคุณสุภาพร ชูดวง ที่ชอบเสน่ห์ของอาหารอีสาน และเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคย เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยก็ว่าได้ 

กระทั่งทุกวันนี้เติบโตเป็น “เชนธุรกิจร้านอาหารอีสาน”ปัจจุบันมี 10 สาขา โดยเกิดจากการสร้าง Standardization ทั้งในด้านคุณภาพ และมาตรฐานทั้งในส่วนอาหาร การให้บริการ และการออกแบบประสบการณ์การมาใช้บริการที่ร้าน  

“ความสำเร็จของบ้านส้มตำ เริ่มจากโปรดักต์ก่อน ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าเนื่องจากทางร้านไม่ compromise กับการคัดสรรวัตถุดิบ เพราะสิ่งที่จะสร้างความประทับให้กับลูกค้าอย่างแรกคือ รสชาติ และคุณภาพวัตถุดิบ”

คุณพีรณัช ชูดวง กรรมการบริหาร บริษัท บ้านส้มตำ กรุ๊ป จำกัด และทายาทรุ่น 2 เล่าถึงสเต็ปแรกของการเริ่มต้นธุรกิจบ้านส้มตำเมื่อ 15 ปีที่แล้ว 

หลังจากเปิดสาขาแรกที่พุทธมณฑลสาย 2 ได้สักหนึ่งปี ทำเลโซนดังกล่าวมีการทำถนน ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกในการมาใช้บริการที่ร้าน จึงได้มองหาทำเลใหม่ ในที่สุดไปได้ทำเลบนถนนพระราม 5 เปิดเป็นสาขา 2 

เมื่อเปิด 2 สาขา “บ้านส้มตำ” ได้ทำคู่มือสูตรชั่ง ตวง วัด การทำอาหารเมนูต่างๆ ให้กับพนักงานในครัว โดยในยุคนั้นยังเป็นรูปแบบสมุดเล่ม ขณะที่ทุกวันนี้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลแล้ว เหตุผลสำคัญที่บ้านส้มตำต้องทำคู่มือให้กับพนักงาน เพื่อทำให้การบริหารรสชาติทุกสาขาได้มาตรฐานเหมือนกัน และไม่เพียงแต่ทำคู่มือเท่านั้น ในเวลาต่อมาได้เปิด “ครัวกลาง” เพื่อรองรับการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 

 

“หลังจากเปิด 2 สาขา เรามองต่อว่าถ้าจะขยายสาขามากกว่านี้ จะทำอย่างไรให้ยังคงสามารถรักษามาตรฐานด้านรสชาติ และคุณภาพอาหารไว้ได้ เพราะถึงเราจะมีคู่มือให้กับพนักงาน ทว่าแต่ละสาขามีหัวหน้าครัวคนละคน คนละสถานที่ อาจเกิดการบิดของวิธีการทำ 

เพราะฉะนั้นเมื่อจะเปิดสาขาที่ 3 เรามองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำครัวกลาง สำหรับจัดเตรียมวัตถุดิบอาหารบางประเภทเพื่อส่งไปที่ครัวของร้านบ้านส้มตำสาขาต่างๆ เช่น หมัก ปรุง ทำซอส และผักสดบางตัวที่ต้อง Pre-Cook ไว้ก่อน จากนั้นจัดส่งไปยังหน้าร้าน

ขณะที่ผักสดบางประเภท เช่น มะละกอ ผักเครื่องเคียง ทางบริษัทดีลกับซัพพลายเออร์ให้จัดส่งตรงเข้าที่สาขาต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสต็อควัตถุดิบของแต่ละสาขา” 

 

ครัวกลางของบ้านส้มตำ มีขนาด 100 ตารางวา สามารถรองรับ 10 – 15 สาขา โดยในแต่ละวันจะมีรถจัดส่งวัตถุดิบที่เตรียมจากครัวกลาง วิ่งไปยังร้านทั้ง 10 สาขาใน 4 เส้นทาง คือ เส้นทางราชพฤกษ์, เส้นทางสาทร – สุขุมวิท, เส้นบางนา, เส้นรามอินทรา 

จุดประสงค์ของการตั้งครัวกลาง นอกจากเพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ และมาตรฐานอาหารเมนูต่างๆ แล้ว ยังช่วยลดเวลาการทำอาหารที่ร้านสาขา ตอบโจทย์ทั้งลูกค้า ได้รับอาหารเร็วขึ้น และอาหารแต่ละเมนูมีรสชาติได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภายในร้าน เนื่องจากพนักงานไม่ต้องยุ่งยากกับการเตรียมวัตถุดิบเมนูอาหารต่างๆ เองทั้งหมด ทำให้พนักงานกลับบ้านได้เร็วขึ้น

“การทำอาหารอีสาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาก โดยเราพยายามใช้เครื่องมือมาวัดค่า เช่น วัดค่าความเปรี้ยว ค่าความหวานของวัตถุดิบ เพื่อควบคุมมาตรฐาน อย่างไรก็ตามด้วยความที่เราใช้วัตถุดิบสด ย่อมมีการ Swing ของรสชาติวัตถุดิบ เช่น ผลมะนาวที่ออกมาในแต่ละเดือน แต่ละฤดู ให้ความเปรี้ยวไม่เท่ากัน ดังนั้นการรับประทานอาหารอีสาน แล้วจะได้รสชาติเหมือนกันทุกครั้ง หรือเหมือนกันทั้ง 10 สาขา แบบเดียวกับฟาสต์ฟู้ด เป็นไปได้ยาก 

แต่เราพยายามควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราต้องรู้หลักการปรับเพิ่ม-ลดการใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงต่างๆโดยต้องฝึกพนักงานให้เข้าใจในหลักการปรับใช้วัตถุดิบ เพื่อให้อาหารจานนั้นมีรสชาติพอดี และรักษามาตรฐานให้ได้มากที่สุด” 

ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของครัวกลาง ก็มาพร้อมกับการนำโปรแกรมต่างๆ มาใช้กับงานส่วนออฟฟิศ และหน้าร้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้คล่องตัวขึ้น 

คุณพีรนัช เล่าว่า การมีครัวกลาง ที่มาพร้อมกับการเปิดสาขา 3 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของบ้านส้มตำ เพราะทำให้มองถึงการสร้างออฟฟิศอย่างจริงจัง และนำระบบโปรแกรมการทำงานส่วนต่างๆ มาใช้ ทั้งงานส่วนออฟฟิศ เช่น งานบัญชี และส่วนงานหน้าร้าน ที่นำระบบ POS เชื่อมโยงกับโปรแกรมบัญชี

 

นอกจากนี้บ้านส้มตำ ยังได้สร้าง Lab ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับครัวกลาง ทำหน้าที่พัฒนาเมนูใหม่ เพราะในธุรกิจร้านอาหาร การนำเสนอเมนูใหม่อย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นทั้ง Innovation และ Creativity ที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ทั้งในกลุ่มลูกค้าเดิมได้รู้สึกว่าทุกครั้งที่กลับมาใช้บริการนอกจากเมนูประจำที่สั่งอยู่แล้วยังได้เจอสิ่งใหม่ และมีผลต่อการขยายฐานลูกค้าใหม่ ดังนั้นเมื่อ Lab พัฒนาเมนูใหม่ได้แล้ว จะ Train พ่อครัวของสาขาต่างๆ ให้เรียนรู้การทำเมนูนั้นๆ

ไม่เพียงแต่การสร้างมาตรฐานในสินค้าเท่านั้น บ้านส้มตำยังได้สร้างมาตรฐานการให้บริการ และการออกแบบประสบการณ์การมาใช้บริการที่ร้าน 

“โดยเฉลี่ยพนักงานที่ร้าน มีประมาณ 30 คน ถือว่าใช้พนักงานเยอะ เพราะเราวางมาตรฐานการให้บริการในร้าน ที่ต้องรินน้ำให้ลูกค้า ทำให้ต้องใช้กำลังคนมากกว่า โดยพนักงานที่ร้านทุกคนจะได้รับการTraining ทั้งวิธีการต้อนรับลูกค้า พาไปที่โต๊ะ รับออเดอร์ เสิร์ฟอาหาร และรินน้ำให้ลูกค้า” 

ขณะเดียวกันทันทีที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้าน หนึ่งในเอกลักษณ์ของบ้านส้มตำ คือ การออกแบบ และตกแต่งร้านทุกสาขา ยึดหลักความอบอุ่น ผ่อนคลาย เน้นให้มีพื้นที่ร่มรื่นของต้นไม้ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างสาขาในรูปแบบ Stand Alone 

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า บ้านส้มตำทั้ง10 สาขา ยังคงยึดแนวทางการขยายสาขารูปแบบ Stand Alone ในขณะที่ทุกวันนี้ธุรกิจร้านอาหาร ต่างขยายสาขาเข้าศูนย์การค้า แต่บ้านส้มตำต้องการรักษาเอกลักษณ์ และนำเสนอประสบการณ์อบอุ่น ผ่อนคลาย ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ และพื้นที่พักสายตาโดยรอบให้กับลูกค้า

“เราต้องการให้ร้านอาหารอีสาน Cozy ได้ พาเพื่อนหรือพาครอบครัวมารับประทานนั่งสบาย ติดแอร์ ไว้ใจในรสชาติและคุณภาพได้ ขณะเดียวกันเรามองว่าการอยู่แบบ Stand Alone นั่นหมายความว่าลูกค้าที่เลือกมาร้านเรา เขาได้เลือกมาแล้ว ในขณะที่คนเดินเข้าศูนย์การค้า ส่วนใหญ่เขาคิดจะไปเข้าศูนย์การค้าก่อน แล้วเขาหิว จึงหาอะไรทาน 

ดังนั้นการที่เราเลือกอยู่แบบ Stand Alone ส่วนหนึ่งเป็นคาแรคเตอร์ของเรา กลายเป็นว่าเวลาคนนึกถึงบ้านส้มตำ จะนึกถึงความ Stand Alone มีที่จอดรถสะดวก มีวิว มีระยะการชมวิว เรายังคงอยากเก็บ Sense ของบรรยากาศเหล่านี้ไว้ให้ลูกค้า”  

คุณพีรนัช ในฐานะทายาทรุ่น 2 ของบ้านส้มตำ เล่าถึงเส้นทางจากนี้ของธุรกิจว่า ยังคง Maintain ทุกอย่างที่คุณแม่
(คุณสุภาพร ชูดวง) ทำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องทำให้เป็นรูปแบบบริษัทมากขึ้น เช่น การนำ Data การนำระบบต่างๆ อย่างการตรวจเชค มาใช้ในการทำงานมากขึ้น โดยที่ไม่เสียตัวตนในความเป็นบ้านส้มตำ

 

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 15 ปีของ “บ้านส้มตำ” พบเจอทั้งโอกาส และอุปสรรคทางธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านส้มตำ ยังคงดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมาถึงวันนี้ได้นั้น คือ Passion และยึดอยู่ในแก่นของความเป็นแบรนด์บ้านส้มตำ

“การทำธุรกิจ บางคนไม่ได้อินกับสิ่งที่ทำ พอไม่ได้อินกับสิ่งนั้นจริงๆ ทำให้การทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปอาจอยู่ที่ 100% แต่การจะเป็น Owner ผมคิดว่าต้องทุ่มลงไป 200% นั่นคือ คุณต้องเสียสละตัวเอง และต้องมี Passion กับสิ่งที่กำลังทำด้วย 

 

ดังนั้น ในการทำธุรกิจ หากไม่ได้อินกับสิ่งที่ทำ การจะก้าวผ่านอุปสรรคได้ จะไปได้อย่างจำกัด เพราะเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดการยอมแพ้ง่ายๆ แต่ถ้าเรามี Passion ไม่ถอยแน่นอน เมื่อเจออุปสรรค ก็จะมองว่าเป็นแค่อุปสรรค แล้วเดินหน้าต่อไป และจะประสบความสำเร็จเอง โดยที่พื้นฐานสำคัญต้องมีโปรดักต์ที่ดี” คุณพีรณัชให้คำแนะนำทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการธุรกิจ SME รุ่นใหม่ 

 

 

Published on 28 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ

วว. สร้างโซลูชั่น ตอบโจทย์ ธุรกิจ SME ...ผลักดันงานวิจัยสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานของผู้ประกอบการในเศรษฐกิจยุคใหม่

การนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ SME  หน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในเรื่องนี้ คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  


ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงบทบาทของ วว.ในการนำผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นคำตอบให้กับอุตสาหกรรม SME ในหลายด้าน โดยเฉพาะด้าน Bio-based  ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป ผลิตผลทางการเกษตรทางด้านอาหาร สมุนไพร รวมถึงการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการสร้างนวัตกรรมอาหารสำหรับอนาคต  

 
ด้านรูปแบบการทำงาน ดร.ชุติมา กล่าวว่า วว. จะช่วยหาคำตอบให้ธุรกิจ SME อาทิ การสร้างนวัตกรรม     การสร้างสินค้าให้มีความแตกต่าง การรับรองด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ SME เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยการสร้างความเชื่อมั่นนั้น เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ อาทิ SME มีผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ ทาง วว. จะมี Lab ที่รับรองว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์มีความสมบูรณ์หรือน่าเชื่อถือเพียงใด   วว.ยังมีการให้บริการทางด้านการทดสอบและการให้บริการทางด้านการรับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงมีการทำวิจัยที่เป็นโซลูชั่นให้ SME  


ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตร มุ่งเน้นเรื่องสมาร์ตฟาร์ม และเกษตรปลอดภัย อาทิ การไม่ใช้สารเคมี การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น โดย วว.สามารถเข้าไปรับรองแปลงเกษตรที่มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง (Good Agricultural Practices: GAP) และให้การรับรองตามมาตรฐานสากลว่า เกษตรแปลงนี้เป็นเกษตรปลอดภัยจริง ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรในยุคที่ผู้บริโภคมองหาสินค้าปลอดภัย 

 
  สำหรับในส่วนกลางน้ำ วว. มีเทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ ช่วยให้ผู้ประกอบการใช้แทนยากำจัดศัตรูพืช ทำให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกดีขึ้น ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารเคมี และในส่วนปลายน้ำ คือการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร  

ต้องยอมรับว่า เวลาที่เขาทำการเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรออร์แกนิค ผลิตผลทางการเกษตรบางส่วน ขนาดของผลิตภัณฑ์อาจไม่ได้ตามเกณฑ์  ในเรื่องเกษตรปลอดภัย วว. สามารถช่วยได้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง กระทั่งถึงปลายทาง เพราะเราเชื่อว่าถ้าต้นทางมาดีเรื่องของเกษตรปลอดภัย สินค้าแปรรูปก็จะปลอดภัยด้วย ถึงมือผู้บริโภคได้และไม่มีของเหลือทิ้ง อันนี้เป็นโซลูชั่นที่เราใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปช่วย” ดร.ชุติมา กล่าว 

ด้านการอาหารแปรรูป ดร.ชุติมา มองว่าเทรนด์ต่อไปจะเป็นในเรื่อง Functional Food หรืออาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เนื่องด้วยประเทศไทยนั้นความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้มีผลิตผลทางการเกษตรที่หลายหลาก สิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบของไทย หากผู้ประกอบการสามารถนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปให้เป็นอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ 

ประเทศไทยนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศในปริมาณมากและมูลค่าสูง แต่เวลานี้ วว. มีศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเป็น Scale Up Plant สำหรับผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ให้การรับรอง “ตรงนี้จะช่วยส่งเสริมผู้ผลิตที่ต้องการทำนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ มาใช้บริการได้ เรามีนักวิจัยที่จะช่วยทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นเกี่ยวกับอาหารและการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์” ดร.ชุติมา กล่าว 

ที่ผ่านมา ศูนย์บริการนวัตกรรมอาหารสุขภาพของ วว. ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์แล้ว 200 กว่ารายการ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการส่งออกแล้วกว่า 10 ราย 


ในภาพรวมของ SME ไทย ดร.ชุติมา มองว่าจุดแข็งของ SME คือมีความสามารถในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทันต่อเหตุการณ์ แต่จุดอ่อน คือเรื่องคุณภาพมาตรฐาน หรือความสม่ำเสมอของคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก ยังต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง 


สินค้าของ SME ไทย จะส่งออกได้หรือไม่ได้นั้น ขณะนี้มีมาตรฐานกำหนดที่ค่อนข้างหลากหลาย ในการส่งออกไปต่างประเทศ ถ้าเป็น SME ขนาดเล็กก็ยังมีความสามารถไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยสนับสนุน”  


SME ระดับกลางก็ต้องปรับตัวให้เร็วในเรื่องเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ ระเบียบกติกาต่างๆ โดยระเบียบกติกาทางด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ เช่น สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

SME ต้องพัฒนาเรื่องดิจิทัล ต้องปรับตัวและใช้งานดิจิทัลและโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น ตอนนี้มีการค้าขายสินค้าออนไลน์ แต่ก็เกิดประเด็นความมั่นใจของผู้บริโภค เวลาสินค้าออนไลน์มาถึงผู้บริโภคแล้ว ผู้บริโภคได้สิ่งที่เป็นไปตามข้อตกลง หรือเป็นไปตามโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือไม่ การสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก” ดร.ชุติมา กล่าว  


  งานอีกส่วนหนึ่งของ วว. คือ Sustainable Development โดยเป็นการทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำเทคโนโลยีช่วย  SME ให้มีการผลิตที่ของเสียเหลือศูนย์หรือลดลง หรือนำของเสียไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดต้นทุนของ SME และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน


ดร.ชุติมา ยกตัวอย่างเรื่องพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งในยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก วัสดุต่างๆ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นขยะ โดย วว. มีศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ หรือ BIO-D สามารถทดสอบได้ว่าพลาสติกแบบนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ทิ้งไปบนดินแล้วย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้จริงหรือไม่ ซึ่ง วว. มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองในระดับสากล และจะออกใบรับรองที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการหลายรายส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยุโรปได้ 


ดร.ชุติมา กล่าวว่า “
ผลิตภัณฑ์ เช่นหลอดกาแฟ พลาสติกกันเปื้อน เราช่วยในเรื่องการทดสอบและยังช่วยในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย ถ้าส่งมาทดสอบแล้วไม่ผ่าน เราจะมีโซลูชั่น แนะนำวิธีการพัฒนา เพื่อให้ไปปรับปรุงในกระบวนการผลิต ทำให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานและสามารถส่งออกได้” 


วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและให้บริการอุตสาหกรรม จึงมีฐานความรู้งานวิจัย/งานบริการ ที่ช่วยตอบโจทย์เสริมศักยภาพธุรกิจของ SME ให้แข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

สร้างยอดขายโรงแรมขนาดเล็กด้วยการตลาด

หัวข้อ : การตลาดดี สร้างยอดขายโรงแรมขนาดเล็กทะลุเป้า
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/hotel-marketing

 

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมหันมาจับธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กกันมากขึ้น จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกที่เริ่มนิยมเข้าพักในโรงแรมขนาดเล็กที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและบริการที่ดี รวมถึงมีความปลอดภัยสูง ทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้หลายโรงแรมได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไปตาม ๆ กัน ตอนนี้ได้เวลาเปิดรับนักท่องเที่ยวในประเทศ การจะฟื้นธุรกิจให้ไปต่อได้อาจต้องอาศัยเรื่องของการตลาดเข้าช่วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดได้มีคำแนะนำการตลาดสำหรับโรงแรมขนาดเล็กให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ให้คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้

 

รู้จักลูกค้าของคุณ

การทำการตลาดธุรกิจโรงแรมสิ่งแรกต้องแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มให้ชัดเจน เพราะจะทำให้เลือกได้ว่าจะทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง ลูกค้ากลุ่มไหนที่จะชอบและจะเข้าพักโรงแรมของคุณ ซึ่งการแบ่งลูกค้าออกมาเป็นกลุ่มนั้นจะทำให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

 

กำหนดจุดยืนทางการตลาด

เพื่อให้ลูกค้าจำคุณได้และนึกถึงคุณเป็นคนแรกเมื่ออยากหาที่พัก ซึ่งข้อดีของการมีจุดยืนทางการตลาดที่ชัดเจน คือคุณอาจเป็นเจ้าตลาดในจุดนั้นได้ด้วย

 

สร้างสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์

หากโรงแรมของคุณไม่ได้ตั้งอยู่ในศูนย์กลางการท่องเที่ยว การสร้างสื่อออนไลน์จะช่วยให้ลูกค้าเจอคุณได้ง่ายมากขึ้น เพราะในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ลูกค้ามากกว่า 95% พึ่งพาสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ลองเริ่มจากการสร้าง เพจเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือ อินสตาแกรม (Instagram) เพื่อกระจายข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย

 

ควรมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง

นอกจากสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว เว็บไซต์โรงแรมเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับสังคมสมัยนี้ เพราะเว็บไซต์จะช่วยให้คนที่กำลังหาที่พักสามารถหาคุณเจอได้ง่าย คุณสามารถปรับให้เข้ากับภาพลักษณ์ของโรงแรมได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังทำระบบการจองห้องพักได้ ช่วยเพิ่มยอดการจองตรงให้กับโรงแรมได้อีกทางหนึ่ง

 

ขายผ่านเว็บไซต์โรงแรมชื่อดัง

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจในตัวโรงแรมของคุณคือ การขายผ่านเว็บไซต์ชื่อดัง เช่น อโกด้า (Agoda), บุ๊คกิ้ง (Booking.com) และอื่น ๆ ซึ่งทำให้คุณสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทันที ทั้งนี้ คุณจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 16-20% ให้กับเว็บไซต์ แต่ก็คุ้มค่ากับการใช้บริการเหล่านี้ เพราะโอกาสที่โรงแรมเล็ก ๆ จะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างมีโอกาสน้อยมาก สื่อเหล่านี้จะช่วยให้โรงแรมเล็ก ๆ ได้เปรียบกว่าโรงแรมใหญ่ในการหาลูกค้าอีกด้วย

 

คุณภาพในการให้บริการ

ต้องให้บริการได้รวดเร็วและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า สำหรับธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก กระบวนการในการส่งมอบบริการจะครอบคลุมตั้งแต่ 

  • ขั้นตอนการจองห้องพักทั้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และจองตรงกับทางโรงแรมผ่านทางโทรศัพท์ การให้ข้อมูลต่าง ๆ
  • เมื่อถึงวันเข้าพัก กระบวนการในการเช็กอินต้องรวดเร็ว การจัดส่งกระเป๋าถึงห้องพัก 
  • บริการประสานงานกับแหล่งท่องเที่ยว ร้านสปา ร้านอาหาร บริการรถรับส่ง 

ทุกอย่างนี้ ถ้าคุณสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ รับรองลูกค้าจะต้องกลับมาใช้บริการอีกแน่นอน

 

ราคาของห้องพัก

เรื่องของราคามีความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของราคาจะผันแปรตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ฤดูกาลท่องเที่ยว ทำเลของโรงแรม คุณภาพของการบริการ และควรศึกษาอัตราค่าเข้าพักในย่านนั้นก่อน จึงจะนำมาเป็นแนวทางให้การปรับปรุง ออกแบบและกำหนดราคาค่าเข้าพัก ซึ่งหากโรงแรมของคุณมีการบริการที่ดี อยู่ในทำเลที่ดีแล้ว มีโอกาสที่อัตราค่าเข้าพักจะสูงกว่าคู่แข่งในย่านเดียวกันได้

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม

หัวข้อ : ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/KNOWLEDGE&cateId=9&itemId=184

 

 

ธุรกิจสุขภาพและความงาม ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม สปา นวดหน้า นวดตัว คลีนิกรักษาสิว ดูแลผิว รวมทั้งการทำศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งเปิดดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพ การเสริมความงาม และเปิดดำเนินการโดยระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีประเด็นทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอนำมากล่าวดังนี้

 

คลินิกรักษาสิว คลินิกความงาม รวมทั้งศัลยกรรมตกแต่ง

โดยมีแพทย์ประจำที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ตรวจและรักษา รวมทั้งสั่งจ่ายยา และมีการจ้างพนักงานผู้ช่วยแพทย์

1. การประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

  1. กรณีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ‘สถานพยาบาล‘ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน VAT ได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้
  2. กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ‘สถานพยาบาล‘ รายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณี ที่ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น

2. การประกอบกิจการในนามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นเดียวกับกรณีภาษีเงินได้นามบุคคลธรรมดาข้างต้น

3. กรณีมีรายได้เกี่ยวกับศัลยกรรมใบหน้าทั้งหลาย 

  • รายได้จากการฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม ฉีดสารเติมเต็ม
  • รายได้ขายครีมสำหรับทาหลังจากทำศัลยกรรม 
  • ค่าฉีดบำรุงด้วยวิตามิน ล้างสารพิษ เมโสหน้าใส 
  • รายได้เกี่ยวกับสิว ฉีดสิว ลดรอยสิว แผลเป็นจากสิว ครีมบำรุง และรักษาสิว ฝ้า กระ รอยด่างดำ 
  • รายได้จากค่าอาหารเสริม

หากรายได้เหล่านี้เป็นรายได้จากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนด ถือว่าเป็นรายได้ของสถานพยาบาลทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ในข่ายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายการ

แต่ถ้าไม่ได้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายสถานพยาบาล เช่น ขายอาหารเสริม โดยไม่มีข้อแนะนำใดๆ จากแพทย์ผู้รักษาพยาบาล เช่นร้านขายยาทั่วไป ถือเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

4. สำหรับแพทย์

ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าทำหน้าที่อะไรในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งนั้น

(1) กรณีเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนค่าจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) กรณีได้รับเงินได้ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะทำการรักษาพยาบาลหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) กรณีได้รับเงินได้จากการเปิดคลีนิคในสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงามอื่น ๆ

ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม นวดหน้า นวดตัว เครื่องสำอางหรือสมุนไพร ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจโดยบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายได้ที่ไดัรับจากการประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้
  2. ภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดาประจำภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในนิติบุคคลภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ดมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้

2. กรณีประกอบกิจการในนามของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคคล

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญขีปีแรกและปีสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดย นำภาษีที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 ในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมา หักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50

3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

รายได้จากการประกอบธุรกิจสุขภาพเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

  • ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือรับบริการ และออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อ ส่งมอบสินค้าหรือรับชำระราคา แล้วแต่กรณี
  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับการขายสินค้ารายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่

 

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

พ.ร.บ. สินค้าและบริการที่ผู้ประกอบต้องใส่ใจ

หัวข้อ :  ข้อกำหนดราคาและสินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/price-and-regulatory-requirements

 

 

รู้หรือไม่? การตั้งราคาขายสินค้าและบริการ จะตั้งตามใจอยากไม่ได้ เพราะมีข้อกฎหมายบัญญัติไว้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ภายใต้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นมา

กฏหมายนี้ออกมาเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในด้านราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ราคาสินค้า-บริการสูงขึ้นรวดเร็วเกินสมควร และทำให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศด้วย

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (สำหรับท่านที่ต้องการศึกษา)
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C753/%C753-20-2542-a0001.pdf

 

สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่มีการบังคับใช้มาจนถึงวันนี้ ซึ่งกำกับดูแลราคาสินค้าหรือบริการของประเทศไทยและต่างประเทศนั้น มีรายละเอียดโดยคร่าว ๆ ดังนี้

 

การดำเนินการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการแสดงราคาสินค้าและบริการได้ ซึ่งจะต้องมีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าหรือบริการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่าสินค้ารายการใดยังไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในบัญชีรายการที่จะต้องปิดป้ายแสดงราคา ก็จะต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้สินค้านั้น ๆ อยู่ในบังคับต้องปิดป้ายแสดงราคา

 

การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ : ตามข้อกำหนดในมาตรา 29 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด

 

าตรการการกำกับดูแลสินค้าควบคุม : ตามข้อกำหนดในมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

มาตรการกำกับดูแลธุรกิจบริการควบคุม : ตามข้อกำหนดในมาตรา 31 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการควบคุมหยุดการให้บริการตามปกติ หรือปฏิเสธการให้บริการ หรือประวิงการให้บริการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

เนื่องจากปัจจุบันมีการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์กันเยอะมากขึ้น จึงได้มีการประกาศบังคับใช้ ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 49 พ.ศ. 2561 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจําหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนให้ผู้ที่ค้าขายทางออนไลน์ต้องแสดงสิ่งเหล่านี้

  1. ราคาสินค้า
  2. ค่าบริการ เช่น ค่าจัดส่งทางไปรษณีย์
  3. ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนักของสินค้าหรือบริการ
  4. รายละเอียดของสินค้าหรือบริการ
  5. กรณีมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่วยสินค้าหรือบริการข้อ 1- 4 ต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจน

 

โดยวิธีการแจ้งราคาสินค้าและบริการที่ถูกต้อง คือ 

(1) เขียน พิมพ์ หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) ในลักษณะชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย และสามารถอ่านได้โดยง่าย

(3) ให้แสดงราคาต่อหน่วย

(4) ราคาหรือค่าบริการนั้น จะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย

(5) ข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการต้องเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้

 

ดูรายละเอียดรายการสินค้าควบคุมตามประกาศกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ วันที่ 3 กรกฎาคม 2562
เพิ่มเติมได้ที่ www.dit.go.th

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ