“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ปรับบทบาทสู่ “Service Organization” ช่วย SME ทรานส์ฟอร์มธุรกิจยุค Technology Disruption พร้อมฝ่าวิกฤต COVID-19

นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โลกได้เปลี่ยนจาก “ยุคหัตถกรรม – เกษตรกรรม” ก้าวสู่ “ยุคอุตสาหกรรม” เริ่มจากยุโรป และอเมริกาก่อนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงวันนี้เข้าสู่ “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” หรือ “The Fourth Industrial Revolution 4.0” ที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องผสานการใช้ “เทคโนโลยีอัจฉริยะ” (Smart Technology) และ “Data” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต และการดำเนินธุรกิจ เช่น IoT (Internet of Things), Cloud Computing, Big Data, AI (Artificial Intelligence), Autonomous Mobile Robots, 3D Printing, AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) ฯลฯ

จึงกล่าวได้ว่าในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ไม่มีอุตสาหกรรมใด ไม่ถูก Technology Disruption เพราะฉะนั้นทั้งภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการธุรกิจที่จะอยู่ดำรงอยู่ได้ต้องเป็น “ปลาเร็ว”

ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ “COVID-19” เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รุนแรงอย่างไม่มีใครคาดคิด กระทบกันเป็นโดมิโน ทั้งการสาธารณสุข, วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยน, เศรษฐกิจ, สังคม ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมหยุดชะงักในทันที! 


เพราะเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในยุค “Technology Disruption” และความท้าทายอย่าง “COVID-19” ที่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) ในฐานะเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงได้ปรับนโยบายใหม่เป็น “Service Organization” มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤต COVID-19 และเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

“เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ “Industry Transformation” มาตลอด เนื่องจากมองเห็นว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง และ Disrupt ในอุตสาหกรรมต่างๆ 

เราจึงมีการจัดดสัมมนา เชิญวิทยากรระดับโลกหลายสาขามาบรรยายให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการได้มีโอกาสเรียนรู้นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาตรฐานระดับโลก เทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT, AI มากขึ้น รวมทั้งพาไปดูงานด้านเทคโนโลยีต่างต่างประเทศ 

ในขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลให้ความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมนั้น ไม่ง่าย ถึงจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มลำบากขึ้น เพราะภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเปลี่ยน และการบริโภคเปลี่ยน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ปรับตัวสู่การเป็น “Service Organization” ทำหน้าที่ให้บริการช่วยสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจใน 6 ด้านคือ ด้านการเงิน, การตลาด, เทคโนโลยี - นวัตกรรม, การพัฒนาองค์ความรู้, การพัฒนาประสิทธิภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็น “คนกลาง” ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ – ภาคเอกชน – ภาคการศึกษา” คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงนโยบายใหม่ของ ส.อ.ท. 



รายละเอียด 6 ข้อภายใต้นโยบายใหม่ ประกอบด้วย 

“การตลาด” (Marketing) พัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ, เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และซัพพลายเชน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์รับรองสินค้าไทย (Made in Thailand) วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมสินค้าไทยสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรับรองผู้ผลิตสินค้า Made in Thailand รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ, จัดนิทรรศการ และสมาชิกสัมพันธ์ (One Stop Service) เพื่อทำให้สมาชิก และผู้ประกอบการสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ 

“การเงิน” (Finance) ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ด้านการเงิน ภาษี การจัดทำบัญชี ซึ่งบัญชีมีความสำคัญต่อการขอสินเชื่อ การนำเข้ากับสถาบันการเงิน และการนำเข้า - ส่งออกสินค้า 

“นวัตกรรม” (Innovation) สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อส่งเสริมให้สมาชิก และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ 

“พัฒนาประสิทธิภาพ”​ (Efficiency) ทั้งในด้านการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Database ของภาคอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี, โลจิสติกส์, พลังงาน ตลอดจนการให้บรากรด้านกฎหมาย และการขออนุญาต, การพัฒนาระบบประเมินศักยภาพ และข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการ SME

“พัฒนาองค์ความรู้” ให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการจัดตั้ง F.T.I. Academy” เป็นสถาบันฝึกอบรม เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งจับมือกับสถาบันการศึกษา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร Upskill – Reskill สำหรับให้ทั้งผู้ประกอบการ และพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้พัฒนาทักษะความรู้ใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 

“สิ่งแวดล้อม” (Environment) ให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจับมือกับภาครัฐ ทำโครงการ Eco Town Green Factory, ผลักดันแนวคิด BCG Model (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ดำเนินการตามหลัก SDGs และผลิตสินค้า Eco Product 



ประธาน ส.อ.ท. ขยายความเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของผู้ประกอบการ SME คือ ทำธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามขยายธุรกิจตัวเอง ไม่หยุดดนิ่ง แต่ขณะเดียวกันพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องระบบหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชี การเงิน การเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการทำธุรกิจ และการพัฒนานวัตกรรม หรือการทำ R&D (Research & Development) เพราะความที่มีงบประมาณจำกัด ทำให้ SME ไทย ยังเป็น C&D (Copy & Development) มากกว่าจะลงทุนด้าน R&D 

ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เน้นการให้บริการช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการ SME กับภาครัฐ เนื่องจากธุรกิจ SME ต้องการการสนับสนุน และความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ที่ผ่านมา SME เข้าไม่ถึงกลไกภาครัฐ เพราะฉะนั้น “ส.อ.ท.” จะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ กับภาครัฐ 

“ต้องยอมรับว่า SME บางส่วนยังปรับตัวได้ช้าอยู่ ก่อนหน้าจะเกิด COVID-19 ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีกำลังมา บางคนปรับตัว เริ่มลงทุนด้าน Robotic หรือนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการธุรกิจแล้ว ขณะที่บางส่วนยังไม่ได้เริ่ม แต่วันนี้จากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าถ้าไม่รีบปรับตัว จะแย่ลง ทุกอย่างต้องใช้เทคโนโลยี และวัฒนธรรมการบริโภค, วิถีชีวิต, การใช้สื่อเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเริ่มขยับ ปรับตัว และเรียนรู้ใหม่” 

ขณะเดียวกันในโลกดิจิทัล เป็นยุค Globalization ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มทุนต่างประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ไม่เพียงแต่เจอโจทย์ COVID-19 และ Technology Disruption เท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นแนวทางสร้างการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ SME  ต้องไม่ “Stand Alone” แต่ต้องพยายาม “สร้างความร่วมมือ” (Collaboration) กับพันธมิตรธุรกิจ ที่ส่งเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันได้ 

“ปัจจุบันเป็นยุคของความร่วมมือ ผู้ประกอบการทำธุรกิจแบบ Stand Alone ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันต้องขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งการเติบโต ผู้ประกอบการจะทำคนเดียว อยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องหาพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม ที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน มาจับมือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งร่วมกัน” คุณสุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

Published on 09 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย


บทความแนะนำ

นิตยสารคิด (Creative Thailand) ตุลาคม 2563 ปีที่ 12 ฉบับที่ 1

“กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว”

 

ไม่ว่าใคร โดยเฉพาะคนเมืองกรุงที่เห็นวลีนี้คงจะยิ้มมุมปาก เกลือกตามองบน พร้อมร้องหึหึ กันเป็นแถว

ทุกคนต่างรู้ดีว่าความจริงนั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่วลีนี้ก็สามารถบรรยายสภาพความเป็นอยู่ได้ตรงใจใครหลายคน..

แม้ความหมายนั้นอาจดูย้อนแย้ง

 

มีอะไรในความยอกย้อนภายใต้คำกล่าวประเภทนี้กันแน่ หรือแท้จริงแล้วภาษาเหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือ

เพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่เผยให้เห็นศักยภาพของภาษาและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ไร้ขีดจำกัด

 

สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

Published on 5 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

University Connect เบทาโกรเชื่อมองค์ความรู้พัฒนาอุตสาหกรรมไทย

“เพราะเศรษฐกิจไทย คนไทยต้องช่วยกัน University Connect ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย ไปช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในไทย เราจะช่วย Connect ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น” วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ Founder of University Connect and Chairman of the Executive Board, Betagro Group 

จากแนวคิดที่ต้องการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่อย่างเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ผู้ประกอบการก่อให้เกิด University Connect ยูนิตสำคัญที่เบทาโกรตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยวิสัยทัศน์ของ University Connect คือ จะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนา Thailand Competitiveness ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้องค์ความรู้และทรัพยากรที่มีคุณภาพของ
มหาวิทยาลัย

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เราทำงานกับทางมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และทางมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วย Improvement ทางด้านเทคโนโลยีและเรื่องของพื้นฐานการผลิตหลายอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นของดีซี่งมีอยู่ในทุกๆมหาวิทยาลัย องค์ความรู้บางอย่างเป็นในเชิงวิศวะ วิทยาศาสตร์ ซึ่งภาคธุรกิจไม่ได้หยิบเอามาใช้ ซึ่งจริงๆแล้วหากมีการหยิบเอาไปใช้จะสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และด้านอื่นอีกหลากหลายซึ่งคุณวนัสมองว่าของดีเหล่านี้น่าจะเอามาให้ภาคเอกชนได้นำไปใช้ แต่ปัญหาคือมหาวิทยาลัยขาดเรื่องของการทำการตลาด ดังนั้นเบทาโกรจึงขอทดสอบสมมุติฐานด้วยการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาในเบทาโกรที่ใช้ชื่อว่า University Connect เพื่อนำเอาความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  พระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล ออกไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านชื่อโครงการที่สื่อสารตรงถึงความต้องการของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Service menu นั่นเป็นเป้าหมายของ University Connect

คุณอาณัติ ทรัพย์ทวีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนัก Academic Contribution เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ University Connect



บริการของ University Connect แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

Good Routine operation (Work Effectiveness) เหมาะสำหรับโรงงานที่มาตรฐานไม่ชัด คุณภาพแกว่ง ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของการผลิตสินค้าคือการมีมาตรฐานในการทำงานที่ดี (Effective work instruction) พร้อมทั้งมีระบบในการควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพของสินค้า (Monitoring and Control System) หากมีระบบในการทำงานที่ดีแล้วการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป Service menuในกลุ่มนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานยังไม่ชัดเจน คุณภาพของสินค้ายังไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งหัวข้อสำคัญในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของ การสอนงานแรงงานให้ทำตาม Work Instruction, Safety​​,Follow Up & Monitoring System​​,Problem solving & Root Cause Analysis​,Database for Control Operation

Process Improvement (Work Efficient)  เหมาะสำหรับโรงงานที่มองหาการพัฒนาเพื่อก้าวนำคู่แข่ง บริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานที่ดีแล้ว ย่อมมีความพร้อมในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาให้ก้าวนำคู่แข่ง Service menu ในกลุ่มนี้ช่วยเพิ่ม Capacity, Yield, Quality, ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน เช่น การเพิ่มทักษะในการทำงานของพนักงานด้วยเทคนิค Feedback​,การลดค่าเผื่อในการผลิต (Give Away Loss) ด้วยหลักการทางสถิติและศาสตร์เฉพาะทาง​,การบริหารจัดการเพื่อ Max. Cap & Min. Cost ด้วย Optimization technics​,การเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งองค์กรด้วย Lean, Total Productivity management (TPm), Ideal Management (IM)​,การออกแบบ / สร้างอุปกรณ์อัตโนมัติต้นทุนต่ำด้วยหลักการ Karakuri Kaizen​ และการปรับปรุงวิธีการทำงานโดยเน้นเพียง 1 จุดงาน Station Improvement 

Transformation (Working Platform) เหมาะสำหรับโรงงานที่พร้อมปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยี ในยุค 4.0 ใครๆ ก็อยากจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น​ Service menu ในกลุ่มนี้เป็นการ Customize technology ให้ Fit กับความต้องการของบริษัท​ ออกแบบ / สร้างเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อใช้ทดแทนแรงงาน เช่น การใช้ Manufacturing Execution System (MES) เพื่อบริหารจัดการงานผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ​,ใช้ IoT ร่วมกับการวิเคราะห์แบบ Real time เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต และเครื่องจักร​,Implement ระบบ ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งองค์กร​,ใช้ Machine Learning ในกระบวนการผลิต 

“เรามี Service Menu ที่หลากหลายซึ่งเมนูเหล่านี้เราทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยโดยพยายามกลั่นองค์ความรู้ต่างๆออกมาเป็นเมนูพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ เป็นเมนูที่พร้อมใช้ พร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชนสามารถนำเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่ง Service menu เหล่านี้เรานำมาจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชน และเข้าไปคุยกับอาจารย์เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจอาหารเราก็เริ่มจากเรื่องของอาหารก่อน แต่จริงๆแล้วมี Service menu ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารด้วยเช่นเดียวกัน” 

แนวทางในการทำงานของ University Connect มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีของอาจารย์ โดยการจัดสัมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ โดยเชิญทั้งเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการแผนก และผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังทุกวันศุกร์ที่สำคัญคือ “ฟรี” ซึ่งนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้จัก University Connect จนปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 องค์กร

“เราใช้ช่องทางหลายช่องในการประชาสัมพันธ์ University Connect ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟรีสัมมนาทุกวันศุกร์ซึ่งแตก่อนเราจัดที่บริษัทแต่ช่วง COVID-19 เราเปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี นอกจากนี้เรายังมีการใช้ช่องทาง Direct Sale คือโทรเข้าไปตามบริษัทต่างๆ และผ่านกลุ่มสมาคม เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมกาแฟ ผ่านแบงค์ คือ TMB เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมี LINE@ ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้จักเรา เมื่อโรงงานไหนที่ฟังสัมมนาของเราแล้วรู้สึกสนใจ อยากให้เราใช้ข้อมูลเชิงลึกหรือเมนูที่เรามีไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจของเขา หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการ Consult กันส่วนตัว โดยเราจะพาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปวิเคราะห์ปัญหาที่โรงงานของลูกค้า เป็น Project set up ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือจริง ซึ่งตรงนี้ลูกค้าต้องทำสัญญาแล้วจ่ายเงินกับมหาวิทยาลัย เพราะการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปทำให้มีค่าดำเนินงานถ้าเราไม่เก็บเงินเลยก็จะทำให้เราอยู่ได้ไม่นานและช่วยองค์กรต่างๆได้ไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มมีลูกค้าให้เรานำองค์ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

 หลายคนคงอยากตั้งคำถามว่าการที่เบทาโกรเข้ามาทำตรงนี้ ได้อะไร? คุณอาณัติ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้อะไร สิ่งที่เราต้องการคือต้องการช่วยจริงๆ”

“มีคนที่พอทราบว่าเราเป็นบริษัทเอกชนเขาก็จะตั้งกำแพงเอาไว้ก่อนว่าเราทำแล้วได้อะไรจากตรงนี้ เราก็ต้องบอกเขาว่าจุดเริ่มต้นของเราคือการที่เราต้องการที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งพูดตามตรงก็คือเราไม่ได้อะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทางเบทาโกรต้องการทำ คือการแยกหน่วยงานนี้ออกมา เป็น Social Enterprise ในอนาคต ซึ่งการเป็น Social Enterprise ต้องมีรายได้เข้ามาเพื่อเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดไปได้ เราก็จะแจ้งลูกค้าเลยว่าเวลาที่เราทำโครงการพวกนี้รายได้บางส่วนต้องคืนกลับมาให้กับ Social Enterprise ด้วย เราอยากช่วยบนพื้นฐานที่จะทำให้บริษัทยั่งยืนเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อได้” 

เป้าหมายของ University Connect ถัดจากนี้ คุณอาณัติ มองว่าคือการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในระดับที่ Mass มากขึ้น อาจจะเป็นการช่วย SMEs ลอตใหญ่พร้อมๆกัน เนื่องจากตอนนี้การช่วยเหลือยังเป็นรูปแบบของการช่วยแบบ One by One ในอนาคตมองถึงการช่วยแบบ One to Many โดย Service Menu 1 Menu สามารถช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาได้ 5-10 รายในครั้งเดียว 

“สิ่งที่อยากแนะนำ SMEs ไทยคือเรามองว่าตอนนี้รายย่อยเยอะมาก แล้วธุรกิจตอนนี้วิ่งไวมากทั้งตัวธุรกิจเองและตัวผู้บริโภคพฤติกรรมก็เปลี่ยนการเทิร์นของธุรกิจหมุนเร็วเพราะฉะนั้นความไวในการปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ SMEs อาจจะยังมองไม่เห็นคือพวกพื้นฐานความรู้ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องไปซื้อออโตเมชั่น ความรู้ที่ลงทุนไม่มาก แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า พวก Basic Knowledge เป็นเรื่องที่ควรจะยอมลงทุนมากกว่าเพราะมันจะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานและอยู่กับเราตลอดไป”

Published on 2 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

สถาบันอาหาร One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และอาหารไทยก็มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจอาหารก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค

สถาบันอาหาร นับเป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่สะพานเชื่อมระหว่าง SME กับภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน (Future Food Hub of ASEAN)




นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารเป็น One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

“ถ้าผู้ประกอบการมีไอเดียว่าอยากจะทำอะไร เราสามารถให้บริการได้ครบถ้วน” ผอ.อนงค์ กล่าวว่า สถาบันอาหารให้บริการใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1) การตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางอย. กำหนดหรือไม่ รวมถึงมาตรฐานของต่างประเทศ เป็นการตรวจทดสอบทางด้านเคมี
จุลชีววิทยา และอายุของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการ และการสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

2) การบริการทางวิศวกรรม นักวิชาการจะเข้าไปตรวจเครื่องมือในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคำนวณหาจุดเหมาะสมในการผลิต ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายของอย. เช่น การตรวจกระบวนการที่ใช้ความร้อน (Thermal Process) และกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อน  (Aseptic Process)  ว่าการผลิตอาหารลักษณะนี้ต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่และนานเท่าใด พอคำนวณแล้วก็เอาใบรับรองให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม

3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นบริการที่สถาบันอาหารให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียว่าอยากผลิตอาหารต่างๆ ผู้ประกอบการบอกโจทย์ แล้วทางสถาบันจะทำสูตรให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ 

4) การให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบคุณภาพ เช่น GMP (Good Manufacturing Practice), HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) รวมถึงให้การตรวจรับรองว่าระบบต่างๆ ได้มาตรฐาน 

5) การรับจ้างการผลิตและให้เช่าเครื่องมือและสถานที่ “หลังจากทำสูตรของผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีสูตรแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงกับเครื่องมือเครื่องจักร ยังไม่แน่ใจว่าตลาดเป็นอย่างไร เราก็บริการทางด้านเครื่องมือเครื่องจักร เรามีโรงงานเล็กๆ รับจ้างผลิต (OEM) และรับออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเรายังมีสถานที่ มีห้องสำหรับสอนการทำอาหาร มีคลาสสาธิต เราให้เช่าพื้นที่ด้วย” ผอ.อนงค์ กล่าว

6) บริการฝึกอบรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ หลักสูตรมาตรฐาน GMP, HACCP, ISO 22000 รวมถึงการจัดอบรมพนักงานในองค์กร (In-House Training) 

7) บริการข้อมูลและวิจัยตลาด โดย
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สมาชิกจะได้รับข้อมูลต่างๆ อาทิ เทรนด์อาหาร กฏหมายกฏระเบียบของประเทศต่างๆ รวมถึงการทำวิจัยตลาด และให้บริการคำปรึกษาทางธุรกิจแก่องค์กร

จากบริการทั้งหมดข้างต้น ทำให้เห็นว่าสถาบันอาหารให้บริการที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ในโลกของการทำธุรกิจจริง SME ต้องเผชิญปัญหาในหลายมิติ ผอ.อนงค์ กล่าวถึงจุดอ่อนของ SME ไทยว่า SME ขาดเงินทุน มีเงินน้อยและสายป่านสั้น ขาดเครือข่ายในการทำธุรกิจ รวมถึงขาดองค์ความรู้ เช่น ความรู้ในการทำธุรกิจ การบริหารต้นทุน ความรู้เรื่องเทคโนโลยี การลดต้นทุน-การเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น  

สำหรับจุดแข็งของ SME ผอ.อนงค์ มองว่า อยู่ที่ความเล็ก และความปราดเปรียวในการเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ “เทรนด์ คือ คุณไม่ต้องผลิตเยอะ แต่ผลิตอะไรที่ตรงกับความต้องการลูกค้าที่เป็น Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มที่ชอบออกกำลังกาย กลุ่มที่ต้องการความสวยงาม เพราะฉะนั้น SME จึงต้องมี Agility (ความคล่องแคล่วว่องไว) ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมาก และเดี๋ยวนี้แข่งกันที่ความเร็ว (Speed)” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

แม้ SME จะปราดเปรียวในการทำธุรกิจอาหาร แต่ก็ต้องเจอความท้าทายที่อยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย

1) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ออโตเมชั่น และ BCG ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสังคมสีเขียว (Green Society) โดย SME ที่ทำธุรกิจอาหารต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ทัน
2) ช่องทางการตลาด เช่น การเติบโตของร้านสะดวกซื้อและช่องทางออนไลน์ 
3) ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม โดยโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกินอาหารอยู่ที่บ้านมากขึ้น และสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

ท่ามกลางบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ผอ.อนงค์ กล่าวว่า SME ต้องพัฒนาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นหลัก เรื่องแรก SME ต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ออโตเมชั่น โรโบติกส์ และผลิตสินค้าที่ตอบสนองเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เจาะตลาดแมส และเรื่องที่สอง
การพัฒนาทักษะและสร้างทักษะใหม่ของ
SME (Reskill, Upskill) เช่น การนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตสินค้า เป็นต้น  

สำหรับเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารโลก ผอ.อนงค์ กล่าวถึง 3 เทรนด์ ได้แก่  

1) เทรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Health Safe Trend) ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการอาหารที่อร่อยอย่างเดียว แต่อาหารต้องมีคุณภาพและช่วยเสริมสร้างสุขภาพ อาทิ อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน การปรับระดับฮอร์โมน เป็นต้น นอกจากนั้นผู้บริโภคก็ต้องการความสะดวกสบาย เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมทาน แต่ต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค

2) เทรนด์การบริโภคเพื่อความยั่งยืน (Environmental Safe Trend) การผลิตอาหารที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นการผลิตที่ยั่งยืนสอดรับกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกระบวนการผลิตได้ลดการใช้ทรัพยากร มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปจะพิจารณาในหลายประเด็น อาทิ ผลิตภัณฑ์มีฉลากเขียว (Green Label) หรือไม่ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือใช้แรงงานเด็กหรือไม่ แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

3) เทรนด์การบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ (Animal Safe Trend) ทำให้ธุรกิจอาหารวีแกนและอาหารจากพืช (Plant-based Food) เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสังเคราะห์/เนื้อเทียม หรือ โปรตีนทดแทน 


ผอ.อนงค์ กล่าวเสริมถึงบทบาทของสถาบันอาหารว่า “เราเป็นผู้ปฏิบัติการ (Implementer) เราไม่ใช่แค่วางกลยุทธ์ วางนโยบาย แต่เราเป็นคนทำ เราเหมือนเป็นสะพานระหว่าง SME ผู้ประกอบการ กับภาครัฐที่วางนโยบายแล้ว 

สถาบันอาหารจะดำเนินงานตามแนวทางแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)  สิ่งที่ต้องดำเนินการมีเป้าหมายว่า เราจะต้องเป็น Future Food Hub ของอาเซียน เราจะเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน   

ผอ.อนงค์ เสริมว่า อาหารอนาคตประกอบด้วย 4 เรื่อง

1) อาหารออร์แกนิค
2) Functional Food อาหารเพื่อฟังก์ชั่นของร่างกาย เช่น อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน อาหารเพื่อความงาม เป็นต้น
3) Medical Food อาหารทางการแพทย์ และ
4) Novel Food อาหารใหม่ ที่มีการใช้กระบวนการหรือวัตถุดิบใหม่

การนำพาประเทศไปสู่ศูนย์อาหารอนาคตของอาเซียน สถาบันอาหารมีแผนงานหลายด้าน อาทิ มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) และมาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling Factors)

ในภูมิทัศน์โลกใหม่ที่ผันผวน ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง ภารกิจข้างต้นนับเป็นงานที่ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจ หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการสร้างความสามารถเชิงแข่งขันที่สำคัญให้กับประเทศ

Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ

เปิดคัมภีร์บริหารใบชาตราสามม้า เร่งต่อยอดธุรกิจในช่องทางออนไลน์

ประวัติศาสตร์การดื่มชาจีนในไทยมีมาเนิ่นนาน และชาจีนที่คนนิยมดื่มตั้งแต่โบราณ ก็คือชาอูหลง หนึ่งในแบรนด์ชาจีนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมากว่า 80 ปี คือ ใบชาตราสามม้า โดยมีชาอูหลงเบอร์ 1 และเบอร์ 3 เป็นสินค้ายอดนิยมทั่วประเทศ และยังมีชาอีกหลากหลายชนิดวางจำหน่าย 

บางคนอาจไม่เคยซื้อดื่มด้วยตัวเอง แต่เวลาไปนั่งกินอาหารในเครือร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือใช้บริการในโรงแรมมีชื่อเสียง ก็ได้ดื่มชาตราสามม้าโดยที่ไม่รู้ตัว

ในยุคเริ่มแรกของธุรกิจ จากรุ่นปู่ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน มารับจ้างทำงานในย่านเยาวราช ทำงานอยู่หลายอย่างก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจใบชาในปี 2480 ในนามห้างใบชาอุ้ยปอกี่ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นบริษัท ใบชาสามม้า จำกัด) โดยสมัยก่อนเป็นการนำเข้าใบชาเกือบทั้งหมด ไม่จากจีนก็ไต้หวัน

จนมาถึงยุคสองรุ่นพ่อ โมเดิร์นเทรดเริ่มเข้ามาในเมืองไทย ใบชาสามม้าก็เริ่มส่งขายเข้า 7-11

กาลเวลาผันผ่านจนถึงยุคทายาทรุ่นที่ 3 คุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์ ซึ่งเข้ามาช่วยทำงานในธุรกิจใบชาตราสามม้าตั้งแต่ปี 2535 หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย, ในยุคนี้ หลายสิ่งของธุรกิจปรับเปลี่ยนไป เช่น การมองเห็นโอกาสการค้าขายในโลกออนไลน์ แต่ปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัทที่เน้นเรื่องการดูแลผู้บริโภค ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากรุ่นบรรพบุรุษ 

ในยุคที่สามของคุณอิศเรศและพี่ชาย มีการพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย และพยายามรักษาคุณภาพของสินค้า คุณอิศเรศ ยอมรับว่า ใบชาตราสามม้าอาจตามเทรนด์บางอย่างไม่ทัน แต่ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง อย่างช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบถึงขนาดธุรกิจจะไปไม่รอด ธุรกิจใบชาจึงเป็นธุรกิจที่ทรงๆ

ในช่วงปี 2549 บริษัทได้ลองทำชาซองซาเช่ เพื่อตอบสนองเทรนด์การดูแลสุขภาพ ชาของใบชาสามม้าไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ไม่แต่งรส เน้นเจาะกลุ่มคนทำงาน โดยมองเห็นปัญหา (pain point) ของการดื่มชาจีนว่า ชงไม่สะดวก ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก แต่การสื่อสารการตลาดและอีเว้นท์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

ภายหลังจากที่หันกลับมามองจุดแข็งของบริษัท คุณอิศเรศ พบว่า สิ่งที่ต้องพยายามรักษาไว้ก็คือ คุณภาพของสินค้า หากเปรียบเทียบในย่านราคาเดียวกัน สินค้าของใบชาสามม้า ต้องมีกลิ่น สี และรสชาติดีที่สุด โดยทีมงานได้ไปซื้อสินค้าของคู่แข่งในทุกย่านราคา นำมาชิมเทียบเพื่อดูจุดเด่นและจุดด้อย และหาวิธีสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 

ชาอูหลงเบอร์ 1 และเบอร์ 3 ของใบชาสามม้า เป็นสินค้าที่ติดตลาดทั่วประเทศตั้งแต่ยุคแรก โดยชาอูหลงเบอร์ 1 จะผสมสัดส่วนของชาอูหลงจากเมืองนอก เป็นชาที่มีคุณภาพสูงขึ้น สีน้ำชาไม่เข้มเท่าเบอร์ 3 แต่กลิ่นหอมของใบชาจะมากกว่า ส่วนชาอูหลงเบอร์ 3 จะเป็นชาที่ผลิตในประเทศ จัดเป็นชาที่นิยมตามร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว, ร้านอาหาร เพราะมีความเข้มข้นของน้ำเยอะ สีน้ำจะเข้มจากการย่างไฟโดยธรรมชาติ จึงเหมาะทำเป็นกาใหญ่ ชงในปริมาณมาก

ในยุคสมัยปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์ก็เปิดโอกาสให้ใบชาสามม้าสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยบริษัททำเพจในเฟสบุ๊ค, ไลน์แอด และซื้อ Adwords ใน Google และด้วยฐานข้อมูลของช่องทางออนไลน์เหล่านี้ บริษัทก็เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพในงบประมาณที่ต่ำลง การเข้าถึง (Reach) ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่เฉพาะเจาะจงระดับหนึ่ง เจาะจงไปเลยได้ว่า ขอให้เป็นคนที่ชอบเครื่องชงดื่มก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นชาหรือกาแฟ นี่คือได้กลุ่มกว้างนิดหนึ่ง หรือเราจะลงลึกไปว่าชา หรือชาอูหลง คุณอิศเรศ กล่าวถึงการเลือกกลุ่มเป้าหมาย

ตลาดของใบชาสามม้า แบ่งได้เป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดโซนใกล้อย่างเช่น ชลบุรี คิดเป็นสัดส่วน 50% และที่เหลือทั่วประเทศอีก 50% และหากแบ่งยอดขายของบริษัทตามช่องทางขาย จะพบว่า โมเดิร์นเทรดคิดเป็นเกือบ 55% ที่เหลือเป็นโชห่วยทั่วประเทศรวมกัน โดยยอดขายที่มาจากออนไลน์คิดเป็นเพียง 2% ของยอดขายรวม แต่เติบโตก้าวกระโดดทุกปี 

ใบชาสามม้าเริ่มต้นขายสินค้าเกรดพรีเมียม ราคาแพงที่เพจในเฟสบุ๊ค แตกต่างจากสินค้าของบริษัทที่ขายตามโมเดิร์นเทรด ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นเกรดพรีเมียม ช่องทางของบริษัทประกอบด้วยเพจในเฟสบุ๊ค, ไลน์แอด, Shopee และกำลังจะขึ้นใน Lazada โดยช่องทางดิจิตัลจัดเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีศักยภาพการเติบโต และเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญ

แต่การขายใบชาทางออนไลน์มีความท้าทาย ต้องอธิบายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เพราะชาไม่ได้มีความเป็นแมสเหมือนกาแฟ กินกาแฟบอกได้ว่า ต้องการกาแฟกี่ช้อน นม น้ำตาล ครีมเทียมเท่าไหร่ ทว่าการแนะนำสำหรับลูกค้าที่ยังไม่มีความรู้เรื่องชาจีน ต้องอาศัยบทสนทนากว่าจะปิดการขายได้ คุณอิศเรศ บอกกับแอดมินว่า อย่าไปฮาร์ดเซลล์ และอย่าทำให้จุดเด่นและความน่ารักของทีมงานหายไป 

จุดเด่นอีกอย่างของใบชาสามม้าอยู่ที่การจัดส่ง โดยบริษัทมีหน่วยรถตู้ 4 คัน วิ่งทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และมีมอเตอร์ไซค์อีก 4 คัน การจัดส่งสินค้าในกรุงเทพจึงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว, ส่วนการจัดส่งในต่างจังหวัด บริษัทไม่เคยรอรอบ มีออเดอร์เข้ามาก็ส่งผ่านเคอรี่หรือ EMS ทันที

สำหรับปัจจัยความสำเร็จของใบชาสามม้า คุณอิศเรศ กล่าวว่า อยู่ที่ความซื่อสัตย์และจริงใจ เวลาแอดมินเพจคุยกับลูกค้า จะไม่ทำการฮาร์ดเซลล์ หรือพยายามปิดการขายอย่างรวดเร็ว แต่จะถามและให้ความรู้กับลูกค้า โดยคุณอิศเรศถือคติว่า จริงใจกับลูกค้าไว้ก่อน หากลูกค้าเชื่อใจก็จะเป็นความสัมพันธ์ในระยะยาว 

คุณอาจจะไม่ได้ขายเขาวันนี้ แต่ว่าเวลาเขามีปัญหา ถ้าเขาคิดถึงคุณก่อน คุณก็ได้เปรียบแล้ว

แม้โลกสมัยใหม่จะเคลื่อนไปสู่วิถีทางดิจิตอล และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในทุกมิติ แต่แก่นในการดำเนินธุรกิจของใบชาตราสามม้ายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นปู่ นั่นคือ การยึดมั่นคุณธรรมในการค้าขาย รักษาคุณภาพสินค้า และจริงใจซื่อสัตย์ต่อลูกค้า


Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ