SCI-Park ม.นเรศวร เป็นศูนย์บ่มเพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี One stop service ที่มีบริการที่หลากหลาย เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารด้านนวัตกรรมมีบริการหลัก ๆ คือ บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบ่มเพาะธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ทดสอบการนำอาจารย์ไปเป็นที่ปรึกษาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ด้านเกษตร อาหาร เครื่องสำอาง ด้านการแพทย์ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ แปรรูปอาหาร เครื่องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึงพื้นที่ให้เช่า
ทางศูนย์มีบริการอื่นๆ อีกมากมายให้ผู้ประกอบการ ดังนี้
ผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจสามารถเข้ามาติดต่อได้ ทั้งผู้ประกอบการที่เคยผ่านโครงการ ผู้ประกอบการที่ติดต่อผ่านนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการที่อยาก Walk-in สามารถเข้ามาได้เลยและรอผลการคัดเลือก
ติดต่อได้ที่
กองการวิจัยและพัฒนา อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่างมหาวิทยาลัยนเศวร
(อาคารB) อาคารมหาธรรมราชา 99 หมู่ 9 ตำบล ท่าโพธิ์ จังหวัด พิษณุโลก 65000
เบอร์ 055-96-8721-8 E-mail : sciencepark@nu.ac.th
Website : http://scipark.nu.ac.th/
Facebook : https://www.facebook.com/pages/category/Government-Organization/NU-SciPark-547002178663488/
SME Showcase by SMEONE
บทสัมภาษณ์ถอดแบบความสำเร็จ คุณบอส ยุทธดนัย แก้วสีมรกต เจ้าของธุรกิจข้าวหมูแดงสีมรกต สาขาเซนต์หลุย 1 ใน 10 ร้านข้าวหมูแดงที่ต้องลอง! ด้วยรสชาติที่ป็นเอกลัษณ์จนใคร ๆ ก็ต้องมากิน กับเคล็ดลับเพิ่มยอดขาย ด้วยการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
คุณบอส : เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอากง เสื่อผืนหมอนใบเข้ามาที่กรุงเทพฯ ครับ แล้วก็เหมือนกับว่าไปเรียน ยอมไปเป็นลูกจ้างเขาก่อน แล้วมาเปิดเองโดยที่เป็นแบบหาบเร่มาก่อน แล้วเขาก็ปรับปรุงสูตรที่เคยเรียนมาให้ถูกปากลูกค้า ก็เริ่มมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครับ หลังจากที่อากงเสียไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พ่อผมก็เข้ามาดูแล ผมอยู่กับข้าวหมูแดงสีมรกตมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เกิด
คุณบอส : หลังจากที่ผมเรียนจบปริญญาโท ก็เหมือนกับว่าร้อนวิชา อยากจะลองดูสักตั้งว่าเราจะขยายไปได้ไหม เหมือนบ้านเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว แทนที่เราจะสานต่อธุรกิจที่บ้าน ทำไมเราต้องไปทำที่อื่น จบป.โทมาใหม่ ๆ เขาบอกว่าออกไปทำงานหาประสบการณ์ข้างนอกมาก่อน แต่ผมเห็นว่า Product มันยังไงก็ขายได้ แค่ปรับตรงนี้นิดตรงนี้หน่อย ก็น่าจะดีขึ้น
คุณบอส : ส่วนใหญ่คนจะติดใจรสชาติครับ รสชาติของที่นี่จะต่างจากที่อื่น จะแตกต่างตั้งแต่หมูเลยครับ หมูทุกอย่างเราจะย่างด้วยเตาถ่าน น้ำราดก็จะเป็นสูตรพิเศษที่รับสูตรมาจากอากง
คุณบอส : ผมเน้นจุดที่อยู่ใจกลางเมืองเป็นหลัก อยู่ใกล้กับแหล่งออฟฟิส เพราะว่าตรงนี้ใกล้กับสาทร ลูกค้าเวลากดสั่งมาค่าส่งมันจะถูก ถ้าแบบอยู่ที่เขตออฟฟิสแต่ว่าไปสั่งที่ตรอกหัวหมู ค่าส่งมันก็จะแพงขึ้นมาอีก
คุณบอส : มีอุปสรรคนิดหน่อยครับ แต่ว่าก็ไม่เยอะ เช่นการเปิดใจของเรา อย่างตอนที่เดลิเวอรี่เข้ามาติดต่อให้ผมทำกับเขาใหม่ ๆ เขาก็จะมีการกินเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมก็รับไม่ค่อยได้ครับ เพราะว่าจริง ๆ ผมขายข้าวหมูแดงกำไรผมไม่ได้เยอะอยู่แล้ว กำไรก็จะเหลืออีกแค่นิดเดียว งั้นผมขอเพิ่มราคาขึ้นมาอีกนิดหนึ่งได้ไหม แต่ว่าไม่ได้เพิ่มน่าเกลียดจนลูกค้าสั่งไม่ได้ ซึ่งลูกค้าที่สั่งเดลิเวอรี่เขาก็ยอมรับได้อยู่แล้ว ขายแต่หน้าร้านอย่างเดียว ยอดขายมันก็ไม่โตครับ เราก็ต้องยอมเสียอะไรบ้างอย่างไว้บ้าง เพื่อที่จะได้บางอย่างขึ้นมา
คุณบอส : คุณพ่อไม่เห็นด้วยเลยครับ คุณพ่อบอกว่าขายราคาเท่านี้เดี๋ยวลูกค้าเขาก็ว่าเอา เขาไม่เข้าใจครับ แต่จริง ๆ แล้วในทางลูกค้าเขาเข้าใจครับ เขาเอาตังค์ของเขาไปซื้อความสะดวกสบายของเขา เพื่อที่จะได้กินอาหารในออฟฟิส ไม่ต้องออกมา
คุณบอส : คนค่อนข้างเปลี่ยนครับ อย่างช่วงโควิด-19 ร้านอื่น ๆ ยอดตกใช่ไหมครับ แต่ว่าที่ร้านนี้รับเดลิเวอรี่เป็นหลัก กลายเป็นว่ายอดขึ้นสูงกว่าเดิม แล้วพอโควิดเริ่มซาลงไป ก็มีลูกค้าเข้ามากินในร้านบ้าง แล้วก็มีเดลิเวอรี่เหมือนเดิม ก็ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นไปอีก
คุณบอส : ณ ตอนนี้ที่มาได้ถึงขนาดนี้ เกิดจาก Social Network มีการถ่ายรูปอาหารไป ก็มีคนกดไลค์ มีคนกดแชร์ บางรายการมาถ่ายก็มีการแชร์ แชร์ไปกระจายไปเรื่อย ๆ ทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จากคนต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยรู้จักเรา กลายเป็นว่าเขาไปเห็นจากการแชร์ใน Facebook เออน่ามากิน ถ้าวันไหนแวะมากรุงเทพฯ เขาก็อาจจะต้องแวะมากิน
คุณบอส : เราต้องเข้าใจลูกค้าก่อนครับ ว่าเขาชอบรสชาติแบบไหน เขาต้องการให้เราตั้งราคาเท่าไหร่ที่เขาพอจะรับได้ แล้วเราควรจะไปอยู่ตรงไหนที่กลุ่มลูกค้าของเราเข้าถึง ผมว่าควรจะเปิดเรื่องการขายผ่านเดลิเวอรี่ได้แล้วครับ เพราะว่าตอนนี้ยุคสมัยก็เปลี่ยนไปแล้ว สมัยก่อนจริง ๆ เวลาหาทำเลก็ต้องดูทำเลที่คนผ่านเยอะ ๆ คนผ่านหน้าร้านแล้วเห็น แต่ตอนนี้ทำเลของเรามันเปลี่ยนไปแล้ว มันเปลี่ยนไปอยู่ในออนไลน์แล้ว ก็คือ Grab, FoodPanda, Lineman, Go jek ตรงนี้คือทำเลของผม
SME Showcase by SMEONE
บทสัมภาษณ์ถอดแบบความสำเร็จ คุณนพ หมูนุ่ม เจ้าของบริษัทหมูนุ่มนมสด จากกรรมกรสู่ธุรกิจหมูปิ้ง 200 ล้าน
เฮียนพ : เฮียเรียนจบแค่ม.3 อายุ 20 กว่า ก็ไปสมัครทำงานโรงงาน เผอิญมันมาประสบปัญหาวิกฤตโรงงานเขาเริ่มมีการสมัครใจลาออก เลิกจ้าง ออกมาจากงานตอนอายุสามสิบก็เร่ร่อน ได้ทุนมาก้อนหนึ่งทำขายเสื้อผ้า ขายไอศครีม ค้าขายอะไรต่าง ๆ แต่ค้าขายก็ไม่ดี จนกระทั่งเงินหมด ไปเป็นรปภ.มานอนอยู่ที่ป้อมยาม แล้วก็ไปอาศัยน้องสาวอยู่ที่โรงพักปากเกร็ด
ที่โรงพักปากเกร็ดเด็กวัยรุ่นเขาตั้งวินมอเตอร์ไซค์กันขึ้นมา และให้เสื้อมาตัวหนึ่งก็เลยขับวิน การขับวินนี่แหละเป็นที่มาของการรู้จักหมูปิ้งนมสด กลุ่มแม่บ้านโรงพักปากเกร็ดเขาทำหมูปิ้งนมสดอยู่ แล้วเขามาจ้างเราวิ่งวิน
ส่วนจุดเริ่มต้นทำจริงจังคือน้องสาวไปขอสูตรคุณอั่วมาทำ แล้วพอดีสามีของน้องสาวที่เป็นตำรวจเสียชีวิตเขาไม่มีคนช่วย น้องเลยมาขอให้เราทำส่งให้น้อง เริ่มแรกเลยทำแล้วไม่ได้ขายเอง เฮียนพเป็นคนที่ทำหมูปิ้งแต่ไม่เคยขายหมูปิ้งเอง พอเสียบไม้เสร็จก็วิ่งไปให้น้องสาว น้องก็จะมีหน้าที่ขายอย่างเดียว
เฮียนพ : ตรงที่ทำอยู่นี่อยู่ที่โรงพักปากเกร็ดและตรงข้ามเป็นโรงเรียนหอวัง ก็มีป้าคนหนึ่งเขาขายไอศครีมปั่นอยู่ เราก็บอกเขาว่าป้าขายไอศครีมแบบนี้เด็กสมัยนี้ไม่กินหรอก ป้าเอาหมูปิ้งขายสิ ป้าแกก็เลยปิ้งหมูเราขาย
ผู้ปกครองเขามารับลูกทุกวันเขาก็กินหมูป้าทุกวัน เขาอยากได้หมูไปขาย เขาก็รอเฮียตั้ง 3-4 วันแล้วไม่เจอ เพราะว่าตอนโรงเรียนเลิกเราก็ขับวินส่งนักเรียน จนกระทั่งวันนั้นมีโอกาสได้เจอ เขาเลยสั่งหมูปิ้งเรา 1,000 ไม้ ซึ่งเป็นการสั่งที่เยอะมาก ๆ เราไปส่งตั้งแต่ตี 4 บ่ายเย็น ๆ เขาก็โทรมาสั่งอีก เราก็บอกทำไมหมดแล้วหรอเอาไป 1,000 ไม้ นึกว่าเขาเอาไปแจกโรงทาน ที่แท้เขาบอกว่าคุณมาตอนมืดคุณไม่เห็น คุณมาตอนเช้าที่นี่เป็นโรงเรียนนักเรียนเยอะมาก ปรากฏว่าเขาสั่งไปขาย 1,000 ไม้ไม่พอ เขาก็เลยสั่งเราทุกวัน เขาเห็นเราวิ่งวินเขาก็บอกว่าถ้างั้นเอามาทีละ 1,000 ทุกวัน เพราะว่าขายจันทร์ถึงศุกร์นะ
ด้วยความที่เราตกงานมาเป็นสิบปี ไม่เคยมีเงินติดตัวเลย พอได้เงินมา 4,000 บาท กำเงินแน่นเลย ก็เลยนึกโอกาสว่าถ้ามีแบบนี้ซัก 10 เจ้า รวยแน่! ณ วันนั้นพอส่งของเสร็จก็จอดตั้งแต่ตลาดเตาปูน เจอตลาดสดตรงไหนจอดตรงนั้น เดินเข้าไปหาคนที่ขายไส้กรอก หมูปิ้ง บอกเขาว่าพี่เอาหมูปิ้งผมขายไหม หมูผมขายได้ไม่ต้องมีน้ำจิ้มนะพี่ ไม่ต้องมีผักเหมือนไส้กรอกนะ เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำไส้กรอก เราก็ไม่ได้ไปโจมตีไส้กรอกแต่เราบอกว่าการขายไส้กรอกต้นทุนมันจะเพิ่มคือผักต้องแถม แต่หมูไม่ต้อง ขายไส้กรอกขายข้าวเหนียวด้วยไม่ได้ แต่ขายหมูปิ้งขายข้าวเหนียวด้วยได้ ได้กำไรทั้งสองอย่างทั้งข้าวเหนียวทั้งหมูปิ้ง เดินไปบอกพ่อค้าแม่ค้า เจอตลาดตรงไหนก็เอาหมูติดไปเอาไปให้ตัวอย่าง ลูกค้าเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะบางคนเขาก็เชื่อเรา
เฮียนพ : พอเราต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตมีคนสั่งเพิ่มขึ้น ก็ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าระแวกที่เราอยู่ เราก็ชักชวนเขา ลาว เขมร พม่า ว่าเลิกงานมาเสียบหมูมั้ย จ้างร้อยละสามสิบบาท บางคนก็มาเสียบ 100 ไม้เขาก็ได้ 35 บาท ไปซื้อกับข้าว แม่บ้านที่โรงพักปากเกร็ด คนทำความสะอาดเลิกงานมาก็มาเสียบหมูเรา
เฮียนพ : เฮียเป็นเจ้าแรกในเมืองไทยที่ไปขออนุญาตว่าจะสร้างโรงงานเนื้อหมูเสียบไม้ สร้างเรื่องของมาตรฐานก่อน เราไม่รู้เรื่องของมาตรฐาน เราก็ไปที่เทศบาลปากเกร็ด ไปที่สาธารณสุขจังหวัด ให้เขาเข้ามาตรวจโรงงานเราก่อน เราอยากให้สินค้าเราไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อ คิดว่าสินค้าหมูปิ้งมันน่าจะไปวางในร้านสะดวกซื้อได้
เฮียนพ : สาธารณะสุขเขาก็จะเข้ามาตรวจว่า ถ้าคุณจะขออย.คุณต้องเป็นแบบนี้ ๆ พอเราเริ่มปรับปรุงโรงงานเราเข้าสู่ระบบและเราก็เริ่มขออย. ซึ่งเดิมเราขายดีอยู่แล้ว พอยิ่งได้มาตรฐานมีโรงงาน ความมั่นใจของลูกค้าก็มีเพิ่มขึ้น เลยทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มมาอีกตลาดหนึ่ง คือตลาดโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเริ่มเอาสินค้าเราไปขาย มันเป็นการเติบโตโดยก้าวกระโดด
เฮียนพ : ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรมันก็เหมือน ๆ กันแหละ มันมีการวิจัยว่าการที่คนจะควักสตางค์ซื้ออะไรสักอย่าง 50% เขาจะตัดสินใจจากแบรนด์ เฮียก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องบอกกับผู้ประกอบการหรือตัวเราเองว่า เราต้องทำแบรนด์เราให้เป็นที่จดจำ คือทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กร้านน้อยไม่จำเป็นต้องเป็นแฟรนไชส์ จะขายข้าวแกงหน้าปากซอยก็ตาม คุณต้องมีเครื่องหมายการค้า
โฆษณามันต้องคู่ไปกับพัฒนา ทำธุรกิจโฆษณาต้องมี ทำธุรกิจคุณต้องไม่หยุดตะโกน การตะโกนไม่ใช่ตะโกนเพ้อเจ้อไปเรื่อย แต่ในทำนองเดียวกันคุณก็ต้องพัฒนาไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราดูแลลูกค้าโดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์และพัฒนาสินค้าด้วย คนที่ซื้อแฟรนไชส์เราไปเขาก็ไม่เปลี่ยนไปจากเราหรอก
เฮียนพ : การเข้าหาหน่วยงานภาครัฐ เราจะได้คำแนะนำที่มันถูกต้อง เพราะเราเป็นคนที่ไม่มีความรู้อยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นเรื่องของ สสว. หรือ สวทช. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งแต่วิธีการทำบัญชีทำอะไรต่าง ๆ ถามว่าเข้าหาหน่วยงานภาครัฐไหม? เฮียเข้าทุกหน่วยงานเลย
เฮียนพ : การทำธุรกิจ การที่คุณจะเอากำไรมาขยายธุรกิจ มันทำได้ไหม ทำได้แต่ยาก ธุรกิจของท่านกำลังทำอยู่แล้วมันจะต้องขยายจะต้องเติบโต ก็ต้องบอกท่านไปเลยว่า ณ ตอนนี้ให้ท่านเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ สิ่งเดียวที่เฮียอยากจะบอก คือท่านต้องทำตัวให้ขาวสะอาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเขาตรวจตัวท่านอันดับแรก ถ้าตัวท่านเป็นหนี้ ติดบัตรเครดิต เก็บบูโร ติดอะไรต่าง ๆ เขาไม่คุยอย่างอื่น เพราะฉะนั้นก็ฝากไปถึงผู้ประกอบการว่า เป็นผู้ที่จะประสบความสำเร็จ แต่ท่านก็ต้องเตรียมอย่าให้เสียเครดิต
การที่มันเติบโตมาได้ หนึ่งมันเกิดจากเรามีวินัย SME ไทยที่ไปไม่รอดส่วนใหญ่ขาดวินัย ก็หมายความว่าไม่มีการจัดการที่ดี ก็คือไม่มีระบบบัญชีที่ดี ไม่มีระบบการควบคุมคุณภาพที่ดี ไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดี
ข้อที่สองคือต้องมีความซื่อสัตย์ เพราะพอเราซื่อสัตย์จะทำให้ลูกค้าอยู่กับเรา พอลูกค้าอยู่กับเรา เราก็จะมีการผลิตแล้วขายได้เรื่อย ๆ
ประการที่สาม เราต้องมีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเฮีย 50 กว่าแล้ว จะมาค้าขายแบบคนแก่สมัยก่อนมันก็ไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เฮียนพเองถ้าจะบอกแก่กะโหลกกะลาก็ต้องเรียนรู้ เพจ เฟซบุ๊ก ออนไลน์ อินเตอร์เน็ต ทุกอย่างต้องเรียนรู้หมด
วินัย ซื่อสัตย์ วิสัยทัศน์ มันอาจจะไม่ได้รุ่งโรจน์หรือใหญ่โตไปกว่านี้ แต่มันก็อาจจะไม่ย่ำแย่ไปกว่านี้ ถ้าเราไม่มีวิสัยทัศน์กับโลกปัจจุบัน มันไปต่อไม่ได้ ที่สำคัญคุณต้องแสวงหาความรู้กับหน่วยงานภาครัฐ เพราะการแสวงหาความรู้จะทำให้ธุรกิจเกิดไอเดียใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ ที่สำคัญมันเป็นไอเดียและความคิดที่ถูกต้อง หลายเรื่องที่เฮียนพไม่ได้เรียนรู้และจินตนาการขึ้นมาเอง แต่พอไปทำจริงมันทำไม่ได้ เพราะมันผิดหลักการมันไม่ได้มาตรฐาน มันไม่ถูกต้อง
SME ไทยเรามีมากมาย มีจำนวนเยอะ เกิดขึ้นมาปีหนึ่งเป็นหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นเจ้า แต่อย่าลืมว่า SME ที่ไปต่อได้มีเพียงแค่ 5% ท่านอยากจะเป็นหนึ่งใน 5% นั้น หรือท่านจะเป็นหนึ่งใน 95% ท่านก็ต้องเลือก แต่เฮียเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันสามารถปรับเปลี่ยนได้ แก้ไขได้ เพียงแต่เราต้องขยันเรียนรู้นะครับ
SME Showcase by SMEONE
บทสัมภาษณ์ถอดแบบความสำเร็จ คุณมิน Founder – Designer แบรนด์ April Pool Day แบรนด์ชุดว่ายน้ำที่มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองและรู้ใจสาวเอเชียมากที่สุด
คุณมิน : April pool day มันก็คล้ายคล้ายกับคาแรคเตอร์ของแบรนด์เหมือนกับวัน April Fool Day ค่ะ ก็คือเป็นวันโกหก ซึ่งจะเป็นคาแรคเตอร์ของสาว April ก็คือเป็นคนขี้เล่น สนุกสนาน มีความครีเอทีฟ มีความชอบท่องเที่ยวแล้วก็ให้ความสําคัญกับประสบการณ์ชีวิตอะคะ ซึ่งมันก็เป็นไลฟ์สไตล์ของเราด้วยค่ะ ว่าเวลาเราไปเที่ยว เราใช้ชีวิต เราต้องใส่ชุดว่ายน้ําเนี้ย เราทําอะไรบ้าง คนที่ใส่ชุดว่ายน้ํา April จะไม่ได้แค่ใส่ชุดว่ายน้ําแล้วก็ ถ่ายรูปแล้วก็จบ แต่ว่าค่อนข้างเป็นคนทํากิจกรรมจริง
คุณมิน : ถ้าเทียบกับเสื้อผ้ามันก็โอกาสในการใส่น้อยกว่าบวกกับสไตล์ด้วยว่า สไตล์ของเราไม่ได้ทํามาเพื่อทุกคนมันก็คือคนที่ชอบชุดว่ายน้ําที่เป็นสไตล์นี้อะคะ เพราะฉะนั้น หนึ่งคือชุดว่ายน้ําก็แคบประมาณหนึ่ง แล้วสไตล์ของแบรนด์ก็บีบให้มันแคบลงไปอีก
คุณมิน : ก็จริงจริงถ้าตอนเริ่มเลยก็เหมือนปากต่อปาก ก็จะเป็นคนในวงการใกล้ใกล้ตัวที่อยู่ในแบบหรือว่าศิลปะออกแบบอะไรอย่างเงี้ยค่ะในช่วงแรกแรก แล้วมันก็เริ่มขยายแบบปากต่อปาก
คุณมิน : เราก็ต้องบอกว่าที่ราคาเราสูง มันไม่ได้มาแบบไม่มีสาเหตุ คือผ้าก็นำเข้าจากอิตาลี การตัดเราก็ Finishing การออกแบบเราก็ให้ Detail แบบมากมาก แต่งานจีนมันเป็นงานแบบเร็วเร็ว แล้วก็ต้นทุนถูก เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ได้มีเวลามาใส่ใจพวกเรื่อง Detail เพราะว่าของก็อปก็จะมาจากจีนซะส่วนใหญ่ คนจีนเองเลยด้วยที่เป็นโรงงานจีนที่ก็อป แล้วก็ส่งมาที่ Shop ไทยแล้วโรงงานจีนเขาก็เหมือนกับเขาก็เอารูปเราไปขายด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่ Shop คนไทยไปซื้อจากจีนอะคะ จีนจะบอกเลยว่าให้เข้าไปเอารูปจากเว็บไซต์เขาได้เลย ซึ่งรูปนั้นก็คือรูปเรา
คุณมิน : จริง ๆ April ไม่ได้เป็นแบรนด์แฟชั่นนะคะก็เลยไม่จําเป็นต้องตามเทรนด์มาก แต่เราก็ดูไว้ว่ามันเข้ากับเราไหม ถ้ามันเข้าก็อาจจะใช้ แต่ว่าถ้าไม่เข้าก็ไม่ทํา
คุณมิน : ทุกครั้งที่เราจะออกคอลเลคชั่นใหม่ มันจะต้องใหม่แล้วก็ไม่ซ้ํากับที่เคยเห็นมาก่อนแล้ว มันจะต้องมีส่วนผสมของความวินเทจนิดนิด แต่ว่าไม่ใช่ว่าเห็นแบบแล้วก็ อ่ะ เอาแบบเนี้ยแหละ แต่เราแค่จะใช้มันเป็นเหมือนกับส่วนผสมตั้งต้น เป็น inspiration แล้วเอามารวมกันเพื่อสร้าง Design ที่ออกมาแบบใหม่แล้วก็ไม่เคยเห็นมาก่อน
คุณมิน : มีพวกวางตาม Multibrand Store พวกตามห้างด้วย แล้วก็มีขายออนไลน์ แล้วก็ถ้าเป็นต่างชาติเราจะส่งเป็น Distributor เช่น เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่นนิดหน่อยแล้วก็จีน
คุณมิน : ถ้าตั้งแต่ Covid-19 ตามห้างเนี้ยจะน้อยลงเลย เพราะว่าจริงจริงลูกค้าที่ซื้อก็จะเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เวลาสต็อคมาลงปึ๊บก็คือขายออนไลน์สั่งมาเท่าไรก็หมด ไม่พอส่งห้างด้วย
คุณมิน : อาจจะมีบ้างเป็น Gimmick คือก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีนะคะที่จะไม่มี แต่ว่าเราแค่รู้สึกว่าเราไม่อยากให้ราคา การลดราคามันมาเป็นตัวดึงดูดลูกค้าเข้ามาค่ะ จริง ๆ เรามีออกทั้งชุดว่ายน้ําใช่ไหมค่ะ แล้วก็คือปีหลังๆจะมีพวก Ready to wear ด้วยซึ่งมันก็ช่วย balance ยอดขายเราได้
คุณมิน : ก่อนออกคอลเล็กชั่น เราก็จะดูสามอย่างเป็นหลักว่า Design เนี้ยมัน Practical สําหรับการว่ายน้ําไหม และเราก็ต้องมีการเทสว่ามันว่ายน้ําได้ดีจริงในระดับที่เป็น Standard ของเรา แล้วก็มัน affordable ไหม ราคามันโอเคหรือเปล่า ต้นทุนมันเท่าเนี้ยแหละแต่ว่ามันต้องขายประมาณเนี้ย สุดท้ายคือ Individual เป็น Style ของตัวเอง ซึ่งก่อนออกพอมันครบสามแล้ว เราก็จะค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะต้องขายได้แน่นอน แต่ถ้าเกิดว่าปัจจัยที่มันจะทําให้ขายไม่ได้มันก็จะมี เช่น ฝนตกขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุ ไปเที่ยวไม่ได้ ลงว่ายน้ำไม่ได้ แล้วจะซื้อไปทำไม
คุณมิน : อาจจะต่างจากแบรนด์อื่นตรงที่ว่า พอเราออกคอลเล็กชั่นแค่ชุดว่ายน้ําปีละสองชุดใช่ไหมค่ะ เราจะไม่หยุดขายเหมือนรุ่นแรกตั้งแต่ที่ออกมาเราก็ยังทําอยู่ มันก็คือ repeat ไปเรื่อย ๆ เพราะเราออกน้อย มันก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้เป็นแบรนด์แฟชั่น มันมีความคลาสสิกประมาณนึงทีว่า แม้แต่รุ่นที่ออกไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้คนก็ยังซื้ออยู่
คุณมิน : ทุกคนมีความชอบมีความสนใจคล้ายคล้ายกันร่วมกัน มี Goal คล้ายคล้ายกัน ทุกครั้งที่ออกคอลเล็กชั่นเราก็คุยกันแล้วว่ามันจะไม่ใช่การถูกบังคับให้ออก เพราะเราออกแค่ปีละสองคอลเล็กชั่นเอง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกมันจะต้องมาจากความที่แบบอยากลองทําอันนี้ ไม่เคยทําอันนี้เลย อยากเห็นอันนี้ อะไรอย่างงี้ค่ะ ผลงานที่ออกมามันก็เลยแบบ เราค่อนข้างว่ามันดี อันนั้นน่าจะเป็น Core ของแบรนด์ บวกกับ เราก็ Develop เรียนรู้จากสิ่งที่เราทําไปเรื่อย ๆ Style เราก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ
คุณมิน : ต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอว่าจุดแข็งของเราคืออะไรเพื่อให้เราอยู่ในตลาดได้โดยที่เราไม่รู้สึกทรมาน เพราะว่าอุปสรรคในการทําธุรกิจมันเยอะแต่ถ้าเรารู้สึกว่าเราชอบมันก็จะรู้สึกอยากแก้ปัญหาค่ะ หรืออยากให้ดูว่าธุรกิจที่เรากําลังจะทําไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือรบกวนใคร เรามีปัญหาเรื่องของก๊อปปี้ใช่ไหมค่ะ มันก็มีทั้งเจ้าที่รู้ว่าตั้งใจก็อปปี้กับเจ้าที่ไม่รู้ตัวว่ากําลังก็อปปี้อยู่ เพราะฉะนั้นก็อยากให้สํารวจด้วยว่าในตลาดเดียวกันหรือว่าธุรกิจของเราเบียดเบียนใครรึเปล่าหรือทําให้ใครเดือดร้อนรึเปล่า
SCI-PARK มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำหน้าที่นำความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยการช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกรูปแบบ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ การพัฒนา SME การช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ที่นี่จึงเด่นในเรื่องของการแปรรูปวัตุดิบท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างเช่น การแปรูปยางพารา ที่นี่เรามีบริการเพื่อ SME ทุกประเภทโดยเฉพาะด้านอาหาร ดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ ยางพารา น้ำมันปาล์ม ประมง
นอกจากนี้ยังมีคณะเภสัชศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อนำมาต่อยอดเป็นงานวิจัยหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น รักษาโรค เครื่องสำอาง
ผู้ประกอบการที่มีไอเดีย สามารถเข้าไปติดต่อขอใช้บริการได้ที่
อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จ.สงขลา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ส่วนขยาย
หมู่ที่ 6 ตำบล ทุ่งใหญ่ อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัด 90110
เบอร์ 07-485-9500 , 07-485-9502 (หมายเลขภายใน 02-1000 , 02-1012)
Facebook : Prince of Songkla University Science Park