ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน ในรูปแบบของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม การสนับสนุนการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ไปจนถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลนั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมี สำนักงานย่อย ในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดนครนายก โดยแต่ละศูนย์มีการหน้าที่ดูแลในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป
บริการจากทางศูนย์
การให้บริการของทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลนั้น ครอบคลุมความต้องการหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือให้คำแนะนำด้านฮาลาลอย่างครบวงจรให้กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปจนถึงด้านการตลาด ด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถพัฒนาสินค้าส่งออกไปสู่ตลาดโลกอย่างถูกต้องตารมมาตรฐานฮาลาล
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่: 254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 11-13
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 02-2181053 – 4
โทรสาร: 02-2181105
อีเมล: info.hsc.cu@gmail.com
เว็บไซต์ : https://halalscience.org
ทีเส็บสนับสนุนอีโค่ซิสเต็มรอบด้าน
ส่งไทยเป็นจุดหมายชั้นนำสำหรับการจัดงานไมซ์
ทีเส็บมีเป้าหมายชัดเจนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายชั้นนำสำหรับการจัดงานไมซ์ระหว่างประเทศ ทั้งงานประชุมนานาชาติ งานประชุมองค์กร งานเดินทางเพื่อเป็นรางวัล งานแสดงสินค้า งานเทศกาล เพื่อให้การจัดงานเป็นกลไกในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินภาษีเข้าประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม
บทบาทของทีเส็บจึงมีหน้าที่เป็นผู้แทนประเทศไทยในการดึงงานจากต่างประเทศให้มาจัดในประเทศไทย หรือเป็น National Bidder ซึ่งการจัดงานที่นำเข้ามาแล้วให้ลงตัวและประสบผลสำเร็จ ต้องอาศัยผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์ เช่น กลุ่มผู้จัดงาน หรือ Organizer ผู้ประกอบการสถานที่จัดงานหรือ Venue Operator ผู้ให้บริการที่พักหรือโรงแรม ผู้สร้างสรรค์ออกแบบและบริหารจัดโปรแกรมงานและการเดินทางหรือ Destination Management Company (DMC) และซัพพลายเออร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ให้บริการขนส่ง ดังนั้นทีเส็บจึงมีภารกิจในการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้สามารถให้บริการการจัดงานหรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างราบรื่น โดยการสนับสนุนในภาพใหญ่มี 2 รูปแบบ คือ
การสนับสนุนในรูปตัวเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการรับจัดงานได้ใช้เป็นทุนสำหรับใช้จัดงาน โดยทีเส็บกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์เข้าถึงทุนการจัดงาน เช่น จำนวนผู้เข้าประชุมขั้นต่ำ 30-50 คน ใช้สถานที่จัดงานในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวดที่ตั้งองค์กรเจ้าของงาน จัดงานอย่างน้อย 1 วันเต็ม เป็นต้น
การสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน คือ ให้คำปรึกษาในการจัดงาน คำปรึกษาช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นสำหรับการจัดงาน เช่น แนะนำสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานให้กับ organizer แนะนำชุมชนที่สามารถจัดกิจกรรมรองรับนักเดินทางไมซ์ให้กับ Destination Management Company (DMC) สนับสนุนอุปกรณ์บริหารจัดการการจัดงาน อาทิ platform การลงทะเบียน ของที่ระลึกเพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ทีเส็บยังมีหน้าที่ในการช่วยอำนวยความสะดวกลดขั้นตอนการทำงานให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกฏระเบียบของภาครัฐ เพื่อให้การให้บริการของผู้ประกอบการไร้รอยต่อมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้การดำเนินการของผู้ประกอบการล่าช้าและไม่คล่องตัว เช่น อำนวยความสะดวกช่องทางการเข้าเมืองหรือ Immigration ให้กับแขกสำคัญระดับ VIP จากต่างประเทศ การนำเข้าสิ่งของผ่านศุลกากร หรือ customs เพื่อมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในลักษณะนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาได้ที่ศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ หรือ https://miceoss.tceb.or.th
การเข้าไปช่วยยกระดับองค์ความรู้การจัดงาน เป็นอีกองค์ประกอบในความสำเร็จ ทีเส็บจึงเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการอบรมการจัดงานแบบ Hybrid การอบรมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการออกแบบงาน การอบรมการจัดงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งการอบรมทดสอบมาตรฐานการปฏิบัติงาน ความเป็นมืออาชีพในการประกอบการให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานการประกอบการ เช่น มาตรฐานสถานที่จัดงาน มาตรฐานการบริหารจัดการงานอย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันระดับนานาชาติได้ เพราะมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือสามารถดึงงานมาจัดในประเทศได้
นอกจากนี้ทีเส็บยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดยการจัดงานจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและลูกค้า เช่น จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้จัดงานหรือ Organizer กับผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับการจัดงาน จัดกิจกรรมนำ Organizer เยี่ยมชมสถานที่จัดงานเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับใช้ที่เป็นสถานที่จัดงานในอนาคต จัดฝึกอบรมชุมชนท้องถิ่นผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเจาะตลาดไมซ์ การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์รวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการจัดงานหรือใช้บริการสืบค้นเพื่อการติดต่อทางธุรกิจในลำดับถัดไป
ทั้งหมดถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ทีเส็บจะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์มีโอกาสในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. กล่าวเสริมว่า หากมองถึงโครงการพิเศษ หรือแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทีเส็บเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME เติบโตอย่างเห็นได้ชัด คือ
โครงการ MICE Winnovation ซึ่งประกอบไปด้วยการจัด MICE Techno Mart เวทีซื้อขายหรือจับคู่ธุรกิจระหว่าง organizer และผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับการจัดงานหรือ Tech entrepreneurs ถือเป็นโอกาสเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการสายเทครุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneurs ได้นำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้จัดงานหรือสถานที่จัดงาน เช่น แอพพลิเคชั่นการจองตั๋วเข้างาน เซนเซอร์ตรวจจับความหนาแน่นของผู้ร่วมงานในพื้นที่จัดงาน แพลตฟอร์มการลงทะเบียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่นจองโปรแกรมท่องเที่ยวหลังจบงานประชุม เป็นต้น ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการจับคู่ธุรกิจมาสามารถจับคู่ธุรกิจได้กว่า 500 คู่
“เพื่อสนับสนุนการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการหน้าใหม่สายเทคและผู้จัดงานและสถานที่จัดงาน ทีเส็บได้จัดทำ Inno-Voucher สนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นให้กับผู้จัดงานและสถานที่จัดงานสำหรับใช้จัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการสายเทค ที่สำคัญคือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสายเทคจับมือกับ organizer ทำข้อเสนอโครงการจัดงานที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดงานหรือการบริหารการจัดงาน เพื่อข้อรับทุนสนับสนุน โดย ณ ปัจจุบัน ได้สนับสนุนไปแล้ว 78 งาน มูลค่าการสนับสนุนในภาพรวม 19.5 ล้านบาท”
อีกแคมเปญที่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ โครงการประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สมาคมภาคประชาสังคมและการศึกษา จัดประชุมสัมมนา อบรมนอกสถานที่ โดยทีเส็บให้เงินสนับสนุนภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการว่าจ้างงาน เพราะการจัดประชุมต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในสายผู้รับจัดงาน สถานที่จัดประชุม สถานที่พัก บริการขนส่ง บริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
“ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา เรามีการอนุมัติเงินสนับสนุนให้กับการประชุมทั่วประเทศทั้ง 4 ภาคไปแล้ว 622 งาน มีผู้เดินทางเข้าร่วมงานรวมทั้งหมด 19,004 คน ซึ่งจากการศึกษาเก็บสถิตพบว่า การสนับสนุนภายใต้แคมเปญนี้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 66 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่กระจายไปในระบบห่วงโช่ผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ”
สำหรับปีนี้ทีเส็บเดินหน้าต่อยอดโครงการ MICE Winnovation จัดเวทีซื้อขาย MICE Techno Mart เพื่อส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีต่อไปเพื่อให้มีโอกาสเจาะตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ มีลูกค้าเป็น organizer และหรือสถานที่จัดงาน เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ ทีเส็บสามารถรวบรวมผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีไว้ในระบบที่เรียกว่า MICE Innovation Catalog https://innocatalog.tceb.or.th/ ทั้งหมด 84 ราย และมีกลุ่มผู้ซื้อหรือผู้สนใจเข้าไปใช้งานสืบค้นสินค้าบริการของผู้ประกอบการสายเทคแล้วกว่า 1 หมื่น 3 พันราย สร้างการรับรู้ได้เกือบ 7 หมื่นเพจวิว จากตัวเลขที่สูงเช่นนี้ ทีเส็บจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป
โดยผู้ประกอบการในกลุ่ม organizer ที่รับงานจัดประชุมสามารถติตต่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากทีเส็บภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ผ่านระบบออนไลน์บนหน้าเวบไซต์ https://rfs.businesseventsthailand.com/ รวมถึงสามารถขอคำปรึกษาในการวางแผนการจัดงาน การติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ การเข้าถึงข้อมูลแหล่งติดต่อผู้ให้บริการด้านอื่นๆ ที่ผู้จัดงานต้องการเจรจาซื้อขายเพื่อใช้ในการทำงาน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงาน ทีเส็บยังมีตัวช่วยอื่นๆที่เป็นช่องทางในการขอความช่วยเหลือ คือ
Thai MICE Connect ผ่านเว็บไซต์ https://www.thaimiceconnect.com/ เว็บไซต์ของทีเส็บที่รวบรวมฐานข้อมูล สินค้า และบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์อย่างครบครันทั้งหมด 12 หมวดสินค้าของผู้ประกอบการร่วม 1 หมื่นราย พันราย เช่น สถานที่จัดงาน organizer ที่พัก บริการอาหารและเครื่องดื่ม วิทยากร การแสดง โลจิสติกส์ เป็นต้น และพัฒนาเป็น Marketplace ของอุตสาหกรรมไมซ์ครั้งแรกในไทย เชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและติดต่อธุรกิจได้ตรงตามความต้องการ สะดวกทุกที่ทุกเวลา และยังจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศตลอด ทั้งห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานไมซ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลไมซ์แห่งชาติ ซึ่งการเข้าใช้งานในพื้นที่ส่วนนี้ ทีเส็บไม่คิดค่าบริการใดๆ
BizConnect บริการ Event Management Platform เป็น application solution สำหรับการบริหารจัดการงาน เช่น การลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อให้ organizer นำไปใช้งาน โดยทีเส็บไม่คิดมูลค่า สามารถสมัครใช้และดาวน์โหลดได้ที่ https://intelligence.businesseventsthailand.com/en/page/mice-business
นอกเหนือจากนี้ ทีเส็บมีทุนสนับสนุนการจัดงานที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการจัดงาน โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสายเทคหรือ Tech Entrepreneur จับคู่กับ Organizer ทำข้อเสนอโครงการจัดงาน และทำรายงานให้เห็นผลของการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการจัดงานเพื่อจะได้รับอนุมัติได้รับทุนสนับสนุน รายละเอียดติดตามได้ที่ https://innocatalog.tceb.or.th/
“ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งในเอเชียสำหรับการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้า เทศกาลนานาชาติ ที่ได้รับความไว้วางใจจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงได้รับการจัดอันดับเป็นจุดหมายระดับต้นๆ ของวงการเดินทางระหว่างประเทศ ล่าสุด เราได้รับการจัดอันดับจากสื่อไมซ์ต่างประเทศ M&C Asia ให้เป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของเอเชียสำหรับการจัดงานประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ICCA Annual Congress ซึ่งเป็นการประชุมของบุคลากรมืออาชีพด้านการประชุมนานาชาติจากทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ดังนั้นในภาพรวม ถือว่าประเทศไทยมีแบรนด์ที่แข็งแรงน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาต่อยอด โดยเฉพาะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานให้มีเอกลักษณ์ที่สร้างจากพื้นฐานวัฒนธรรมไทยหรือวิถีชีวิตชุมชน เพราะปัจจุบันนักเดินทางไมซ์มักเสาะแสวงหาประสบการณ์เชิงท้องถิ่นหรือ Localised Experience เพื่อให้เข้าถึงประเทศที่ตนมาร่วมงานในเชิงลึกได้มากขึ้นเพราะถือเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของการลงทุนเดินทางมาร่วมงานหรือจัดงาน เรามีต้นทุนวิถีวัฒนธรรมที่เป็น Soft Power ในระดับสากลหลายรายการ เช่น มวยไทย อาหารไทย นวดแผนโบราณของไทย สิ่งเหล่านี้มีศักยภาพนำไปต่อยอดได้อีกมาก”
จิรุตถ์ ให้คำแนะนำถึงทิศทางความต้องการของตลาดหรือลูกค้าในการจัดงานในอนาคตไว้น่าสนใจว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆดังนี้
ต้องจัดงานอย่างยั่งยืนที่วัดผลได้ เช่น การลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนจากการจัดงาน การจัดซื้อวัสดุหรือวัตถุดิบจากผู้ประกอบการในพื้นที่จัดงาน หรือ local sourcing การจัดจ้างงานจากคนในพื้นที่จัดงานหรือชุมชนท้องถิ่น การบริหารจัดการเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในการร่วมงาน
ต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับการจัดงาน เช่น ซอฟท์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับการจองตั๋ว การคำนวณจำนวนคนเข้าออกจากงานเพื่อบริหารความหนาแน่นของพื้นที่
ต้องก้าวทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เช่น ลูกค้าต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางไปร่วมงาน โดยเฉพาะการเข้าถึงวิถีท้องถิ่นของสถานที่จัดงาน การได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ออกแบบเชิง exclusive หรือรองรับเฉพาะกลุ่ม การได้ร่วมกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ความท้าทายของทีเส็บ ในยุค Post Covid คือการผลักดันประเทศไทยเป็น High Value Destination ของวงการอุตสาหกรรมไมซ์ระหว่างประเทศ โดย ป็นประเทศที่สร้างโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจให้กับผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้มีการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในพื้นที่อีอีซี ทีเส็บจึงต้องพยายามให้การจัดงานประชุม งานแสดงสินค้าเป็นเวทีช่วยดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมแขนงนี้ให้กับประเทศไทย ครอบคลุมไปถึงการผลักดันให้การจัดงานในประเทศไทยสามารถวัดผลกระทบเชิงสังคม (social impact) ที่คำนวณเป็นมูลค่าที่จับต้องได้จริง นอกเหนือจากการวัดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (economic impact) ในแง่รายได้ การสร้างงานแต่เพียงอย่างเดียว
กรมการท่องเที่ยว
ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว จะมีความแข็งแรงที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เป็นคำถามและเป้าหมายที่กรมการท่องเที่ยวมุ่งเน้นที่จะผลักดัน ในการสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กรมการท่องเที่ยว คือ หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในด้านบริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนําเที่ยว มัคคุเทศก์ผู้นําเที่ยว มาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว ไปจนถึงการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยมีความสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ กฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวิดิทัศน์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศ ในราชอาณาจักร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ถ้าหากนับตั้งแต่นักท่องเที่ยวแตะเท้าลงถึงประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการแทบทุกภาคส่วนนั้นมีส่วนกับภาคการท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กิจการร้านอาหาร ร้านกาแฟ การขนส่ง ร้านค้าต่างๆ สถานที่พักทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ภาคการผลิตสินค้า สื่อโฆษณา อาหารแปรรูป ทั้งหมดนั้นรวมอยู่ในวงจรของภาคการท่องเที่ยวทั้งสิ้น
บริการจากทางศูนย์
กรมการท่องเที่ยว มีบริการที่จะช่วยขยายขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ อยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ
เรื่องที่ 1 คือ การได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยยกระดับคุณภาพให้ผู้ประกอบการนั้น มีความเข้มแข็งและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้
เรื่องที่ 2 คือ การช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้อย่างสะดวก ด้วยการมีเทคโนโลยีที่มาอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการให้ความช่วยเหลือต่างๆ
เมื่อกิจการมีคุณภาพมาตรฐานแล้ว ทางหน่วยงานยังมีการส่งเสริมกิจการด้วยนำไปจับคู่ธุรกิจให้อีกต่อหนึ่ง เป็นการเชื่อมโยงธุรกิจทุกขนาดเข้าไว้ด้วยกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นบันได้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ค่อยๆ ไต่ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นได้ นอกจากนั้นทุกธุรกิจที่ได้รับมาตรฐานยังถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนเข้าสู่โครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยดูแล ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
กรมการท่องเที่ยว
ที่อยู่: ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เลขที่ 120 หมู่ 3
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์: 0-2141-3333
Call Center: 0-2401-1111
โทรสาร: 0-2143-9719
อีเมล: webmaster@tourism.go.th
เว็บไซต์ : www.dot.go.th
Facebook: Deptourism
Youtube: PR กรมการท่องเที่ยว
รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMESI และโพลความคิดของ SME ต่อผู้ประกอบการต่างชาติในพื้นที่ ประจำเดือน กรกฎาคม
☎️ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ : โทร. 02 2983210
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม