Get Well Zone
Refillery Store ร้านค้าที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์
Get Well Zone เป็นร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ในย่านเอกมัยที่เน้นขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผม และร่างกาย ภายใต้แนวคิด Less waste living หรือ การใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด โดยมีคุณหยุย มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ กับเพื่อนสนิทร่วมหุ้นกันเปิดร้านเมื่อหลายปีก่อน
จุดแตกต่างของ Get Well Zone อยู่ที่การเลีอกสินค้ามาวางจำหน่าย คือจะเน้นคัดเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าประเภทรีฟิล และสินค้าปลอดสารเคมี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แต่เนื่องจากร้านค้าปลีกประเภทนี้เป็นอะไรที่ใหม่มากในประเทศไทย แน่นอนว่าในระยะแรกคุณหยุยต้องใช้เวลาไปกับการสื่อสารแนวคิดใหม่นี้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย จนร้านเริ่มที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น Get Well Zone ก็ต้องมาเจอกับวิกฤต COVID-19 ซึ่งทางร้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชนิดที่ทำให้คุณหยุยเกือบจะถอดใจหลายครั้ง แต่คุณหยุยก็ยังกัดฟันสู้มาจนถึงปัจจุบัน พยายามของคุณหยุยมาจากเหตุผลเดียว คืออยากเห็นโลกใบนี้ดีขึ้นจากความร่วมมือของทุกคน
SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Get Well Zone เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
มณีรัตน์ : Get Well Zone เปิดบริการช่วงปี 2019 ประมาณเดือนพฤษภาคม ตอนนั้นจริง ๆ ทำกับเพื่อนอีกคนชื่อตูน เหตุผลที่เราเริ่มเปิดธุรกิจนี้ขึ้นมาเพราะว่าตอนนั้นกระแสโลกร้อน และสิ่งแวดล้อมมาแรง ถามว่าเราเปิดตามกระแสหรือเปล่า จริง ๆ มันก็ไม่ทั้งหมด เนื่องจากก่อนหน้านี้หยุยทำงานประจำมาก่อน แล้วก็เป็นจังหวะที่ออกจากงานพอดีช่วงประมาณต้นปี 2019 ส่วนตูนเขาเป็นแม่บ้านแล้วเขาก็กำลังมองหาธุรกิจสักอย่างที่เคยคุยกันว่าอยากทำด้วยกันมานานแล้ว พอหยุยออกจากงานก็เลยมาคุยกันว่าตอนนี้เราพร้อมที่จะทำธุรกิจด้วยกัน
เราเลยมาดูว่าเราชอบอะไรกัน ความชอบที่ว่าก็คือ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ค่อนข้างรู้สึก Concern กับเรื่องของขยะที่เราพบเห็นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นพวกถุงพลาสติก ขวดน้ำ อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของเรา เราจะพกพวกกระบอกน้ำ พวกถุงผ้ากันอยู่แล้ว บวกกับว่าช่วงนั้นเรื่องขยะค่อนข้างมาแรง เราก็เลยคิดว่ามันมีธุรกิจอะไรที่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้
แล้วช่วงนั้นมันจะมีเทรนด์เรื่องของร้านรีฟิล เราก็รู้สึกว่าธุรกิจนี้น่าสนใจก็เริ่มศึกษาว่าร้านรีฟิล หรือว่าร้านที่ลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์มีร้านไหนบ้าง ก็ไปตามดูข้อมูล ไปตามร้านต่าง ๆ เหมือนไปสำรวจตลาด แล้วก็ไปศึกษา ไปพูดคุยกับเจ้าของร้านที่เขาเคยเปิดมาก่อน แล้วก็ตัดสินใจเปิดร้านรีฟิล
อันนี้ก็เป็นที่มาของการเปิดร้าน Get Well Zone คือเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างให้เป็นพื้นที่ให้คนที่มีแนวคิดเดียวกับเรา รู้สึก Concern เหมือนกันมาใช้บริการตรงนี้ได้ และเรารู้สึกว่าร้านแบบนี้ตอนนั้นยังมีน้อย ถ้าเราเปิดร้านลักษณะนี้ขึ้นมาก็น่าจะช่วยซัพพอร์ต หรือว่าช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนที่อยากจะลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ได้มาใช้บริการตรงนี้ด้วย
SME ONE : จากวันที่เริ่มคิดจนมาเปิดร้านใช้เวลาประมาณกี่เดือน
มณีรัตน์ : หยุยออกจากงานประจำเดือนมีนาคม เดือนเมษายนก็ตัดสินใจเปิดเลย คือตัดสินใจว่าจะทำไม่นาน แต่ว่าระหว่างที่ตัดสินใจทำเราก็ไปเซอร์เวย์ ไปตามตลาด Market ต่าง ๆ ไปหาผลิตภัณฑ์ ด้วยความที่ตูนเขาเป็นแม่บ้านมาก่อน เขาก็มีลูกมีสามี เขาจะพิถีพิถันในเรื่องของการหา Product ที่ดีต่อครอบครัวเขา คือไม่มีสารเคมี ใช้แล้วไม่แพ้ หน้าที่ของการหาผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นตูน ส่วนหยุยทำงานด้าน Production มาก่อนจะมีความถนัดในเรื่องของการทำโซเชียล ทำ Content เราก็จะแบ่งหน้าที่กัน
ณ ตอนนั้นเราก็เริ่มเก็บข้อมูล เริ่มหาผลิตภัณฑ์ แล้วก็เริ่มทำ Content โปรโมทตามสื่อโซเชียล คือ Facebook เราเริ่มทำมาเรื่อย ๆ จนเป็นรูปเป็นร่าง ก็คือตอนได้พื้นที่ตรงเอกมัย 24 ก็เริ่มตกแต่ง ได้เปิดจริง ๆ เดือนพฤษภาคม แบบ Soft Opening แล้วก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้
SME ONE : ตอนเปิดร้าน Get Well Zone หาสินค้าจากแหล่งไหน มี Contact อยู่แล้ว หรือว่าอย่างไร
มณีรัตน์ : เริ่มแรกเลยก็ไม่ได้มี Contact ส่วนตัวอะไร แต่ตูนเขาจะมี Product ที่เขาใช้ประจำอยู่แล้ว ของที่ใช้ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ SMEs ที่ไม่ใช่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ คือเป็นแบรนด์เล็ก ๆ เป็นตัวบุคคลที่เขาผลิตน้ำยาทำความสะอาด แชมพู สบู่ ฯลฯ อันดับแรกก็คือตูนเขาใช้ก่อน เขาก็จะเลือก Product ตรงนั้นมาจำหน่าย แต่ทีนี้ในการที่จะนำมาจำหน่าย เราต้องไปคุยกับเจ้าของ Product ก่อนว่าเขายินดีที่จะให้เรานำมาจำหน่ายในลักษณะแบบรีฟิลหรือไม่ เพราะว่าการที่เอาสินค้าเขามารีฟิล มันเป็นการเหมือน Repackage ซึ่งมันจะมีในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของการบรรจุใหม่
ถ้าเกิดเจ้าของ Product เขาอนุญาต เราก็นำมาจำหน่าย แต่ถ้าเกิดเขาไม่อนุญาตก็ไม่เป็นไร เราก็หา Product ใหม่ ๆ ไป Product แรก ๆ ของร้านส่วนใหญ่จะเป็นของที่ตูนใช้มาก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็จะไปเดินตามพวก Green Market ช่วงปลายปี 2018 - 2019 Green Market ค่อนข้างเฟื่องฟู ตอนนั้นไม่ว่าจะที่ไหน ตลาดไหนก็ต้องมี Concept ในเรื่องของ Green Market คือ เรื่องของลดขยะ มีพวกสินค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีสารเคมี ไม่ได้ทดลองในสัตว์ เราก็จะไปดูว่า Product ไหนน่าสนใจก็ดีลมาจำหน่าย
นอกจากนี้เรายังไปดูตามร้านรีฟิลที่เปิดมาก่อนหน้านี้ ว่ามี Product อะไรที่น่าสนใจ เราก็ลองนำมาใช้ ถ้าเกิดเรารู้สึกโอเค เราก็ติดต่อเจ้าของ Product เขาก็ยินดีให้เรามาจำหน่าย อันนี้ก็จะเป็นในเรื่องของเริ่มต้นของการหาProduct มาที่ร้าน
ปัจจุบันเรามีสินค้าอยู่ 2 หมวดหลัก ๆ คือ สินค้าครัวเรือนที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เช่น น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจ้าน น้ำยาซักผ้า ทำความสะอาด แล้วก็มีสินค้ากลุ่มสกินแคร์ บอดี้แคร์ เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ
SME ONE : สินค้ากลุ่มไหนขายดีกว่ากัน
มณีรัตน์ : กลุ่ม Household หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านขายดีกว่า เนื่องจากว่าเป็นของที่มันใช้ง่าย แล้วก็ราคาไม่ได้สูงมาก พวกสกินแคร์ต้องยอมรับว่าราคาค่อนข้างสูงในระดับหนึ่ง แล้วก็คนไม่ได้ใช้เปลืองหรือว่าบ่อยเท่ากับพวกน้ำยาใช้ภายในบ้าน
SME ONE : มองเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างไร คนเปิดรับแค่ไหน
มณีรัตน์ : ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเทรนด์ที่คนให้ความสนใจเยอะ เพราะความแปรปรวนต่าง ๆ ทั้งสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อน ฝนตกผิดฤดูอะไรอย่างนี้ มันทำให้คนเริ่ม Concern กับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แล้วก็บวกกับอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ คนก็รู้สึกว่าจะต้องหา Product อะไรที่ดีต่อตัวเอง ลดเคมีให้มากที่สุด เพราะว่าถ้าพูดถึง Product เก่า ๆ ก่อนหน้านี้ที่เราใช้กันทั่ว ๆ ไป เคมีมันค่อนข้างเยอะ ถ้าเกิดว่าเรายังใช้ตรงนี้ มันก็เหมือนสะสมกับเราไปเรื่อย ๆ คนก็จะเริ่มมองหา Product ที่ Low Chemical เพื่อที่จะลดความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด จริง ๆ แล้วเทรนด์พวกนี้บูมมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว แต่พอ COVID-19 เข้ามา มันทำให้กระแสตกลงไป 2-3 ปี จนตอนนี้ COVID-19 ไปแล้วก็เลยกลับมาบูมเหมือนเดิม
SME ONE : สินค้าปลอดสาร สินค้าออร์แกนิกเหล่านี้ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป คนยอมจ่ายเพิ่มตรงนี้หรือไม่
มณีรัตน์ : ตรงนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ร้านเราเลยจับกลุ่ม Niche คือเป็นเฉพาะบุคคลที่เขาสนใจเรื่องพวกนี้เป็นอันดับแรก แล้วก็มีกำลังจับจ่าย Product เหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปเทียบกับร้านสะดวกซื้อทั่ว ๆ ไปที่มีน้ำยาราคาไม่แพงมาก มันคนละกลุ่มอย่างชัดเจน
ร้านของเราโชคดีที่อยู่ในย่านเอกมัย มีคนต่างชาติมาอาศัยในย่านนี้เยอะ ทำให้ลูกค้าของร้าน Get Well Zone 80% เป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่เขามีกำลังจับจ่าย และเขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ว่าทำไมเขาจะต้องเอาขวดมาเติมน้ำยา บางคนที่เอาขวดมาเติมน้ำยา ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะใช้ Product แค่ Low Chemical แต่ว่าเขาอยากที่จะลดขยะ กับกลุ่มคนที่มาซื้อสินค้าที่ร้านก็จะเป็นกลุ่มที่เขาอยากจะได้ Product ที่ดีต่อตัวเขา ก็คือเป็น Homemade Handmade ทำเอง No Chemical
ร้านเราจริงๆ ไม่ถึงกับติด BTS ซะทีเดียว คือพอลงจาก BTS ต้องต่อรถมาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมันก็ไม่ได้ถึงกับสะดวกสบายขนาดที่ว่าลงสถานีมาแล้วเจอเลย แต่เราก็ยังมีลูกค้าที่มาจาก Emporium มาจากโซนสาทรที่นั่ง BTS มา
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ Get Well Zone เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไร
มณีรัตน์ : ถ้าย้อนไปตอนเปิดธุรกิจใหม่ๆ ต้องยอมรับว่าร้านรีฟิลเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีบางร้านที่เขาเปิดมาแล้วก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น ร้าน Refill Station ซึ่งต้องบอกว่าร้านนี้เป็นร้านแรก ๆ เลยที่เปิดในประเทศไทยว่าเป็นร้านแบบรีฟิล จริง ๆ ก่อนที่ร้านเราจะเปิดตอนปี 2019 เขาเปิดมาแล้ว 3 ปี ซึ่งเราก็ไม่รู้จักร้านเขาเลย แต่พอปี 2019 เทรนด์มันเริ่มมา คนก็เริ่มสนใจร้านลักษณะนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าอันนี้มันน่าสนใจ คือเราเริ่มจากความสนใจ เราเลยเปิดร้านลักษณะนี้ เราเลยเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร แต่กับคนทั่วไปที่เขาไม่เข้าใจ เวลาที่เขามาใช้บริการที่ร้าน เขาจะเกิดคำถามเยอะแยะมากมาย บางคนเขาไม่เข้าใจว่าร้านนี้คือร้านอะไร เข้ามาทำไมถึงมีแกลลอนวาง แล้วจะใช้บริการอย่างไร
เพราะฉะนั้นช่วงแรกที่เปิดร้านก็จะเป็นลักษณะเหมือนร้านเราเป็นแหล่งเรียนรู้มากกว่า คือคนเขาสนใจแล้วก็อยากจะมาดูว่าเป็นอย่างไร เราเน้นให้ข้อมูลมากกว่าที่จะขายด้วยซ้ำ ถ้าพูดถึงตอนเปิดร้านใหม่ ๆ แทบขายไม่ได้เลย หรือว่าขายได้ก็แค่คนที่มาเพื่อที่อยากรู้ว่าร้านมันเป็นอย่างไร แล้วก็มาซื้อน้ำยากลับไป ครั้งเดียวจบ อันนี้คือแรก ๆ แต่ว่าเราก็จะมีลูกค้ากลุ่มต่างชาติที่เขาคุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ กับร้านลักษณะนี้ในบ้านเขา พอเขาเห็นว่าร้านเราเป็นอย่างไร เขาก็จะมาซื้อน้ำยา
แต่ด้วยตอนที่เปิดร้านใหม่ ๆ Product เรามันไม่ได้เยอะ มี Product ละ 1 อย่าง เพราะฉะนั้นตัวเลือกมันน้อย มันก็เลยทำให้การจำหน่ายมันก็ไม่ได้แบบว่าขายดีอะไรมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นอุปสรรคแรกของการเปิดร้านแรก ๆ ก็คือการให้ข้อมูลคนที่ไม่รู้จักธุรกิจนี้มากกว่า คือต้องสร้างความเข้าใจให้เขามากกว่าการจำหน่ายด้วยซ้ำไป
ปัจจุบันเรามีไลน์สินค้าเยอะขึ้น แต่ว่าบางตัวที่เราจำหน่ายแล้วขายไม่ดี เราก็ไม่ได้เอามาจำหน่ายต่อ เพราะฉะนั้นตัวที่ขายแรก ๆ บางตัวก็ไม่ได้ขายตอนนี้ แต่ว่าบางตัวที่แบบลูกค้ามาแล้วเขาก็ถามหา เราก็จะไปหามาจำหน่าย เพราะฉะนั้นตัว Product ก็จะเพิ่มมากกว่าเดิมประมาณสัก 30-40% แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะว่าด้วยความที่มันเป็นลักษณะของการรีฟิล การที่เราถือตัว Product จำนวนมากจะทำให้ตัวสินค้าถูกระบายได้น้อย
ร้านเราเลยต้องเน้นตัวที่ขายดีที่สุดจริง ๆ แล้วก็ตัวที่มันตอบโจทย์คนที่เขาตั้งใจมาซื้อ อย่างตัว Low Chemical ราคาไม่ได้สูงมาก คือเจ้าของ Product บางตัว เขาจำหน่ายด้วยตัวเขาอยู่แล้ว เขาจะมีกลุ่มลูกค้าที่ติดตาม Product เขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่มาซื้อส่วนมาก เขาก็จะตาม Product นี้มา
SME ONE : ช่วง COVID-19 Get Well Zone ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
มณีรัตน์ : ต้องบอกว่าได้รับผลกระทบมากพอสมควร เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นร้านแบบรีฟิล ถ้าพูดถึงความ Hygiene มันเทียบไม่ได้กับ Product ที่จำหน่ายเป็นขวดที่มีการซีลขวดพลาสติก ป้องกันเชื้อโรคอะไรอย่างนี้ การรีฟิล คือการเอาขวดที่ใช้แล้วมาเติมน้ำยาแล้วเอากลับไปใช้ ตอน COVID-19 ระบาดมันไม่มีใครที่เขากล้าเอาขวดมาเติมน้ำยาหรอก เพราะฉะนั้นธุรกิจรีฟิล ณ ตอนนั้นต้องบอกได้เลยว่ามันเป็นช่วงต่ำสุด ซบเซาที่สุด เนื่องจากคนไม่กล้าออกจากบ้าน คนไม่กล้ามา ส่วนคนที่ใช้บริการอยู่ก็ยังมี แต่ไม่ได้เยอะมาก
คนที่เขามาใช้บริการจะเป็นคนที่เขาไม่ได้กังวลมาก แต่ตอนนั้นเรื่องพวกนี้มัน Sensitive ถึงบางคนเขาไม่กังวล แต่เราในฐานะร้านค้า เราก็รู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย เราก็มีช่วงหนึ่งเราปิดร้านไปประมาณ 1 เดือน ปรากฏว่าพอปิดไปแล้ว ตัวน้ำยารีฟิลในแกลลอนมันไม่ได้มีการหมุนเวียนของอากาศ มันก็ทำให้น้ำยามันเริ่มเสื่อมคุณภาพ เราก็เลยตัดสินใจเปิดแบบเปิดร้านปกติ แต่ว่าก็จะจำกัดจำนวนคนที่เข้ามา แล้วก็จะเน้นขายออนไลน์ เน้นขายของพวกของใช้ทั่ว ๆ ไปมากกว่า
COVID-19 มันมาเป็นระลอก ระลอกแรกเราก็คิดว่าโอเค จบแล้ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป พอระลอก 2, 3 มาปุ๊บ เราก็เริ่มหาทางออกใหม่ ก็คือตอนนั้น ช่วงระบาดรอบ 2 เรามีการย้ายพื้นที่ ก่อนหน้านี้ร้านเราอยู่ตรงเอกมัย 24 เราย้ายมาเอกมัย 26 ที่ย้ายเพราะสัญญาเช่าที่เก่าจะครบแล้ว แต่ใจเรายังอยากทำอยู่ เรารู้สึกว่าธุรกิจนี้มันไปต่อได้ แต่ว่าเราจะไปต่อไหวไหม ตอนนั้นมันก็เป็นเหมือนแรงฮึดสุดท้ายเหมือนกัน
คือจริง ๆ ตอนที่สัญญาเช่าร้านเก่าหมด ถ้าเราตัดสินใจจะเลิกทำ ณ ตอนนั้นก็จบ มันก็จะไม่มีร้าน Get Well Zone อีกต่อไป แต่ส่วนตัวหยุยรู้สึกว่ามันยังไปต่อได้ ตอนนั้นก็ถามใจตัวเองว่าอยากทำไหม คำตอบ ก็คือเราอยากทำ แต่มันจะไปต่อได้หรือเปล่าก็ต้องใช้คำว่าวัดใจล้วน ๆ บวกกับช่วงนั้นพาร์ทเนอร์อีกคน คือตูน เขามีครอบครัวที่ต้องดูแลอยู่ก็คุยกัน ตูนบอกเขาไม่ไปต่อ เราก็เลยตัดสินใจ เราย้ายพื้นที่จากเอกมัย 24 มาอยู่ตรงซอยข้าง ๆ กัน
SME ONE : ตอนนี้ทำคนเดียว ยังไม่มีหุ้นส่วนเพิ่มใช่หรือไม่
มณีรัตน์ : ตอนนี้ทำอยู่คนเดียว แต่ว่าพอมาทำตรงนี้ ถามว่ามันขายได้ดีไหม มันก็ไม่ได้ดีมาก เราก็เลยคิดไปว่ามันจะต้องมีอีกธุรกิจหนึ่งที่มาซัพพอร์ตกัน ก็คือร้านอาหาร ตอนนี้หยุยก็เลยมีอีกธุรกิจ คือทำร้านอาหารอยู่ในตึกเดียวกัน แต่คนละพื้นที่ แต่ถามว่าธุรกิจร้านอาหารมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับร้าน Get Well Zone แต่ตอนนั้นถ้าเราทำร้านเดียว เราไม่สามารถที่จะมีเงินทุนมาทำให้ร้านนี้ให้อยู่ต่อไปได้ คือใจเราอยากให้มีร้านนี้ต่อ แต่เราต้องหาเงิน เราก็เลยต้องเปิดร้านอาหาร ซึ่งร้านอาหารตรงนี้ก็ทำกับแฟน แฟนเป็นคนทำแล้วเราเป็นคนดูแล
ณ วันนี้ที่ร้านอยู่ได้ก็เพราะว่ามีร้านอาหาร มีเงินหมุนเวียนจากร้านอาหารมาซัพพอร์ตร้าน ถ้าเกิดจะถามถึงคำถามถัดไปว่าร้าน Get Well Zone ทำกำไรไหม ณ ตอนนี้มันยังไม่ได้ทำกำไร เพราะว่ามันถูก COVID-19 ดูดเงินไปเป็นปี ๆ เราจะต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่า แล้วก็ลูกค้าก็ไม่ได้แบบเฟื่องฟูมาก แต่ว่าก็ยังมีกลุ่มลูกค้าเดิมตั้งแต่ Gen แรกของร้านที่มาใช้บริการ
ตอนนี้เรียกว่า Get Well Zone กำลังฟื้นตัวก็ไม่ผิด เราเปิดกลางปี 2019 ก่อน COVID-19 ครึ่งปี ซึ่ง 2-3 เดือนแรกของการเปิดร้าน ไม่ต้องพูดถึงกำไรเลย มันไม่ได้ดีขนาดนั้น ร้านเราเริ่มมีเงินเข้ามาแต่ก็ยังไม่อยากให้เรียกว่ากำไร เพราะว่าเงินที่เราลงทุนไปตอนแรกเรายังไม่ได้คืน แต่ว่าก็ถือว่าเริ่มจำหน่ายของได้ เริ่มมีคนรู้จัก แล้วก็เริ่มไปออกตามพวก Green Market ก็เริ่มมีเงินเข้ามา แต่ยังไม่ถึงขั้นมีกำไรที่จะแบบไปหักลบกับเงินลงทุนมาก่อนหน้านี้ได้ แต่ว่าพอเรามาทำร้านอาหาร ร้าน Get Well Zone ก็อยู่ได้แต่เรายังไม่ได้มีเวลาที่จะไปพัฒนามันต่อเท่านั้นเอง
SME ONE : วางอนาคตของ Get Well Zone ไว้อย่างไร อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
มณีรัตน์ : Get Well Zone ในส่วนของ Concept ร้าน เราจะต้องทำให้มีคนรู้จักให้มากขึ้น เพื่อที่จะมาใช้บริการ คือเป้าหมายเรา เราก็ยังยืนยันว่าเรายังอยากให้ทุกคนมา Concern และหันมาใส่ใจเรื่องพวกนี้ คือเวลาลูกค้ามาใช้บริการที่ร้าน ถ้าบางคนเขาสนใจ เขาจะมาพูดคุย เราเป็นเหมือนคล้าย ๆ วิทยากรย่อม ๆ มาให้ข้อมูลว่าการที่คุณมาเติมน้ำยาอย่างนี้ หรือว่าการที่คุณมาแยกขยะ เรารู้สึกว่าร้านเราเป็นมากกว่าการที่มาขายของอย่างเดียว เราอยากให้คนที่มีความคิดแนวเดียวกันมาเจอกัน มาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า
ด้วยความที่ร้านยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1 ล็อก ก็กำลังคิดว่าจะทำเป็นเหมือนคาเฟ่เล็กๆ อันนี้เป็นแผนที่คุยกันไว้ว่าจะทำประมาณกลางปีนี้ คือจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้คนเข้ามาแล้วมีพื้นที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ มาใช้บริการ แล้วก็เพิ่ม Traffic มากขึ้น
คือต้องบอกว่าทำร้านอาหาร ถ้านึกออกมันวุ่นวายมาก ถ้าเทียบความวุ่นวายกับร้าน Get Well Zone ร้านอาหารวุ่นวายกว่ามาก เพราะมันมี Detail มาก ๆ แต่ตอนนี้เราเริ่มอยู่ตัว เริ่ม Setup คนได้ เริ่มวางระบบร้านอาหารได้ จนตอนนี้เริ่มมีเวลาให้กับร้านตรงนี้ ร้าน Get Well Zone แล้ว เราก็เลยมองว่าตอนนี้เราได้เวลากลับมาพัฒนาร้าน Get Well Zone ให้คนรู้จักมากขึ้น เพิ่มไลน์ Product ให้มากขึ้น แล้วก็หากิจกรรมอะไรให้คนมาใช้บริการตรงนี้มากขึ้น
เพราะก่อนหน้านี้คนค่อนข้างสนใจที่จะมาทำ Workshop อะไรต่าง ๆ แต่เราไม่มีเวลาที่จะมาจัดการ เพราะเราไม่มีคน เราก็คิดว่าอนาคตเราก็อยากจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้มันตาม Concept ที่เราตั้งไว้ Get Well Zone มันมาจากคำว่า Get Well ขอให้คุณหายไว ๆ ก็คืออยากให้โลกนี้มันดีขึ้นไว ๆ แล้ว Zone มันก็จะเป็น Space หนึ่ง เพราะฉะนั้น Concept ของ Get Well Zone ก็คือเป็นพื้นที่พื้นเล็ก ๆ ที่หนึ่งที่จะทำให้โลกนี้มันดีขึ้น เรายังยืนยัน Concept ตรงนี้อยู่ว่าเราอยากจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ในใจกลางเมืองตรงนี้ให้คนคิดถึงถ้าอยากจะทำอะไรสักอย่างให้โลกมันดีขึ้น คือเป้าหมายเราอยากจะสร้างเป็น Community เล็ก ๆ สำหรับคนที่มีความคิดเดียวกันก็คือแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม
SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของ Get Well Zone
มณีรัตน์ : ความท้าทายก็คือเราจะดูแลทั้งร้านอาหารแล้วก็ร้านรักษ์โลกให้มันไปด้วยกันได้อย่างไร ถ้าพูดถึงร้านอาหารมันค่อนข้าง Contrast กับร้าน Get Well Zone 100% เลยก็ว่าได้ คือต้องบอกว่า Get Well Zone กลุ่มคนที่มาใช้บริการจะเป็นกลุ่มที่เขา Concern เรื่องสิ่งแวดล้อม เขาจะเอาขวดเอาถุงอะไรอย่างนี้มาเอง เขาจะไม่ถามหา Packaging อะไรให้มันมากมาย มันขัดกับเรื่องของร้านอาหาร ที่มันมีแต่เรื่องของ Package เต็มไปหมด
ทุกวันนี้ร้านอาหารที่ทำอยู่ หยุยมีหน้าที่ในเรื่องของการคัดแยกขยะเป็นหลัก แล้วก็พยายามที่จะรับขยะส่งต่อไปรีไซเคิล แต่ทีนี้ต่อไปหยุยอยากให้ร้านอาหารอย่างน้อยคนที่มาใช้บริการเริ่มมีความคิดเดียวกัน เริ่ม Concern เรื่องพวกนี้ ไม่มากก็น้อย
ร้านอาหารที่เราทำเป็นร้านส้มตำ แล้วก็เป็นพวกแจ่วฮ้อน เป็นร้านอาหารอีสาน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นคนละกลุ่มกับร้านรักษ์โลก คือเป็นพนักงานออฟฟิศที่อยู่แถว ๆ นี้เข้ามาใช้บริการ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะเน้นเรื่องความรวดเร็ว เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก คือมาถึงแล้วก็สั่งอาหารหรือว่าใส่ถุงกลับบ้านอะไรอย่างนี้ คือต้องยอมรับว่าที่ร้านก็ยังมีการใส่ถุงกลับบ้าน แต่เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าถุงพลาสติกที่คุณรับไป คุณสามารถที่จะรักษ์โลกได้ด้วยการที่คุณเอากลับมาใช้ซ้ำ หรือว่ามีการส่งไปรีไซเคิล
พูดจริง ๆ หยุยทำร้าน Get Well Zone มา 4 ปี เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วปัญหาของขยะหรือว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันไม่ได้มาจาก Package เลย ถ้าคนหรือว่าผู้บริโภคมีการแยกขยะ เพราะว่าทุกวันนี้หยุยรับพลาสติกมาจำนวนมาก แต่หยุยมีการทำความสะอาด หรือว่ามีการนำมาใช้ซ้ำ หรือว่านำไปรีไซเคิล ขยะที่เกิดจากเราแต่ละวันมันน้อยมาก
เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญ ก็คือเราอยากจะให้คนเข้าใจว่าขยะหรือว่า Pollution ต่าง ๆ มันเกิดจากตัวผู้บริโภคเอง ไม่อยากให้ไปโทษผู้ผลิต ผู้บริโภคเองนี่แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะทำให้โลกนี้มันดีขึ้นได้อย่างไร ก็คือคุณต้องมีการจัดการขยะหรือว่าการที่บริโภคไม่ได้เหลือทิ้งเหลือขว้าง ทำให้เกิด Waste จำนวนมาก
อันนี้ก็คือเป็นสิ่งที่เราเฝ้าใฝ่ฝันว่าเราอยากจะทำให้ได้ซึ่งมันยาก เราต้องค่อย ๆ ปลูกฝังเข้าไปทีละนิด ๆ คงไม่ได้แบบทำทันทีเปรี้ยงทั้งหมด เพราะตอนเปิดร้านอาหารใหม่ ๆ หยุยเป็นสายสิ่งแวดล้อม เราก็บอกไม่ได้ ห้ามใช้หลอด ห้ามนู่นนี่นั่น ปรากฏว่าพอทำจริง ๆ มันทำไม่ได้ ลูกค้ายังต้องถามหาหลอดพลาสติกในการดื่มน้ำ จะไปใช้หลอดไม้ไผ่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาออกใหม่ ใช้หลอดพลาสติกในร้านได้ก็จริง แต่หลอดพลาสติกเหล่านี้ เราต้องนำไปรีไซเคิลได้ แค่มีการแยกขยะภายในร้านอย่างจริงจัง เราก็ค่อย ๆ Input เรื่องพวกนี้ให้กับลูกค้าได้เข้าใจว่าพวกนี้มันเกิด Pollution อย่างไร ค่อย ๆ แทรกเข้าไปแทนที่จะแบบไปทำตู้มเดียว แล้วคนก็แบบไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ เขาก็จะไม่เข้าใจอยู่ดี
SME ONE : อยากให้คุณมณีรัตน์ให้คำแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs
มณีรัตน์ : บอกตรง ๆ ว่าหยุยเป็นนักธุรกิจมือใหม่มาก ๆ ก่อนหน้านี้หยุยเป็นพนักงานออฟฟิศมา 20 ปี เพิ่งจะมาทำธุรกิจนี้คือครั้งแรกในชีวิต ต้องบอกว่าทำด้วยใจล้วนๆ คือเป็นแนวติสท์ แต่ทีนี้ถ้าถามว่าในมุมมองของหยุย การที่จะทำธุรกิจอะไรให้รอด คุณต้องให้ใจกับมันก่อน ใจ คือความตั้งใจที่จะทำ แล้วก็รู้สึกว่าธุรกิจที่คุณอยากทำ คุณอยากทำให้มันสำเร็จจริง ๆ แล้วก็พอมันเกิดอุปสรรค เกิดปัญหา คุณต้องถามตัวเองว่าคุณพร้อมที่จะสู้ หรือสู้จนสุดทางแล้วหรือยัง ถ้าเกิดว่าสุดทางแล้วมันไปต่อไม่ได้ เราต้องกลับมาย้อนคิดแล้วว่าทำไมมันถึงไปต่อไม่ได้ มันเป็นเพราะอะไร
อย่างที่ผ่านมาหยุยก็เคยท้อจะปิดร้านไปก็หลายรอบ แต่เราก็กลับมาถามตัวเองว่าเราสู้สุดทางแล้วหรือยัง ถามว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม มันสามารถไปต่อได้ไหม ก็กลับมาถามตัวเอง แล้วก็ไปต่อ แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปต่อได้ หลัก ๆ แล้วสำหรับหยุยการที่จะทำธุรกิจได้ หยุยทำด้วยใจ แล้วก็ต้องมีสติ ด้วยความที่ธุรกิจหยุยมันค่อนข้าง Niche พอสมควร ไม่ใช่ธุรกิจทั่ว ๆ ไป แบบแฟรนไชส์หรืออะไรอย่างนี้ เคยมีคนที่มาปรึกษาอยากจะเปิดร้านแบบนี้กับหยุยเยอะมาก สิ่งที่หยุยบอกอันดับแรก คือคุณเป็นคนที่ Concern เรื่องพวกนี้จริง ๆ หรือเปล่า ชีวิตประจำวันคุณเป็นคนที่พกขวด พกถุงผ้า เป็นคนที่มีการแยกขยะจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าคุณอยากจะมาทำเพื่อหาผลกำไร คุณอย่ามาทำธุรกิจนี้ เพราะสุดท้ายคุณจะไปต่อไม่ได้ คุณต้องถามใจตัวเองก่อนว่าคุณอยากทำจริงไหม ถ้าอยากทำจริงๆ ค่อยมาคุยกันว่าทำอย่างไร พื้นที่คุณอยู่ตรงไหน
ที่หยุยทำได้ทุกวันนี้ เพราะว่าหยุยเริ่มจากเล็ก ๆ เราไม่ได้ทำอะไรที่มันใหญ่เกินตัว เงินทุนเราไม่ได้เยอะ เราเริ่มจากทำพื้นที่เล็ก ๆ แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ มีเงินก็เอามาลงทุนซื้อของเพิ่ม ตกแต่งเพิ่ม ปรับเปลี่ยนนู่นนี่นั่นเพิ่ม คือไม่ทำอะไรที่มันใหญ่เกินตัว เพราะอะไรที่มันใหญ่เกินตัวไป สุดท้ายมันก็อาจจะเจ็บตัวได้
บทสรุป
การที่ร้าน Get Well Zone สามารถยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤต COVID-19 ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของร้านที่ชัดเจนมาตั้งแต่วันแรก ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกที่จับกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดขายอยู่ที่สินค้าปลอดสารเคมีและสินค้ารีฟิล นอกจากนี้อีกปัจจัยที่มีผลอย่างมากก็คือ การเลือกทำเลที่ตั้งของร้านที่อยู่ในย่านเอกมัย ซึ้งถือเป็นแหล่งชุมชนที่มีกำลังซื้อ และมีชาวต่างชาติที่ให้ความใส่ใจในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
สนใจติดต่อ
Website: getwellzoneth.com
Facebook: Get Well Zone
Instragram: getwellzone
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตัวช่วยการันตีผลิตภัณฑ์ชุมชน
ภารกิจสำคัญของ “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข” ไม่ได้มีขอบเขตแค่การการดูแลด้านสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งภารกิจในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยผ่านการกำหนดและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบและวิธีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือเกี่ยวข้องกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารระเหยเครื่องสำอางเครื่องมือแพทย์ รังสี และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค
โดยมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือที่เกี่ยวกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท สาระเหย ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค เพื่อควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพและมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้และผลผลิตที่ได้จากการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยสู่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายถึงภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยหรือ MSME ว่า
“ปกติเราถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการของประเทศ เราจึงใช้เครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ค่อนข้างมาก อยู่เบื้องหลังการทำแล็บต่าง ๆ ของประเทศ เรามองว่าทำอย่างไรจะให้ความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถช่วยลงไปถึงชุมชนได้ ด้วยแนวคิด From Lab to Community จากห้องแล็บสู่ชุมชน เรียกว่า งานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน”
งานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนมองได้เป็น 2 มิติ คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับประชาชน เรียกว่า Detection เป็นการเข้าไปดูระบบสุขภาพของชุมชนที่มี อสม.เป็นแกนหลัก โดยใช้เครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การตรวจน้ำ ตรวจอาหาร นำมาแปลงเป็นชุดทดสอบง่าย ๆ เพื่อให้ อสม.นำไปตรวจของใช้และอาหารในชุมชน เพื่อให้สามารถทราบถึงระดับความปลอดภัยของน้ำหรืออาหาร นั้น ๆ ได้
รวมถึงพัฒนา อสม.กลุ่มหนึ่งเข้ามาเพื่อให้สามารถใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ตรวจเครื่องสำอาง อาหารว่ามีสิ่งปนเปื้อนสารพิษ สารกำจัดศัตรูพืช หรือสารอื่นที่เป็นอันตรายกับสุขภาพหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม.นักวิทย์ ทำมาตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบันขยายครอบคลุมทุกอำเภอในปีนี้ ซึ่ง อสม.จะไปตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการของตนเองในชุมชน เรียกว่าศูนย์เตือนภัยสุขภาพ เพื่อตรวจสอบลดการกระจายความเสี่ยง และดูแลสุขภาพของคนชุมชน
อีกหนึ่งภารกิจคือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนผลิตออกมาให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถนำไปจำหน่ายได้ เรียกว่า Development (มีภาษาไทยไหมคับ) โดยลงไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือ MSME และผู้ประกอบการชุมชน หรือ OTOP ซึ่งมีความไม่พร้อมในแง่ของห้องปฏิบัติการ ซึ่งหากไม่มีการทำเรื่องนี้อาจจะขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีผลตรวจ วิเคราะห์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงลงไปร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด และผู้ประกอบการรายย่อย หรือ MSME รวมทั้งผู้ประกอบการชุมชน หรือ OTOP ให้เข้าสู่กระบวนการผลิตและพัฒนากระบวนการผลิต โดยใช้ผลการตรวจวิเคราะห์เข้ามาช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถขึ้นทะเบียนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน ซึ่งส่วนนี้คือบทบาทของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เป็นภารกิจที่ทำมากว่า 10 ปี ด้วยข้อได้เปรียบในแง่ของการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการที่ได้ ISO17205 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล
“มีผู้ประกอบการหลายรายที่พอเราเข้าไปช่วยเขาแล้วทำให้เขาขายสินค้าได้ดีขึ้น เพิ่มมูลค่าของสินค้าเขา เช่น มีรายหนึ่งทำสินค้ากาแฟ พอศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เชียงรายเข้าไปช่วยและได้ใบรับรอง (ด้านอะไร) จากเราทำให้เขาสามารถนำสินค้าของเขาไปขายบนสายการบินได้ มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า อีกเจ้าเป็นน้ำสมุนไพรทางอีสานซึ่งเราเข้าไปช่วยพัฒนา (ด้านอะไร) จนเขาได้มาตรฐานและสามารถสร้างการเติบโตให้ผลิตภัณฑ์ของเขาได้มากขึ้น”
กระบวนการในการเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับ อย.เนื่องจากผลวิเคราะห์และรับรองจากห้องปฏิบัติการ จะสามารถนำไปสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากปัญหาหนึ่งของผู้ประกอบการ คือ การใช้บริการห้องปฏิบัติการแต่ละครั้งจะใช้เงินจำนวนมาก หากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จะเสียค่าธรรมเนียมการตรวจแต่ละหัวข้ออยู่ที่ 1,000 –10,000 บาท ในการเข้าไปตรวจแล็บหรือตรวจวิเคราะห์ แต่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าไปช่วยพัฒนาซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ อาหาร และเครื่องสำอาง โดยเฉพาะ เครื่องสำอางผสมสมุนไพร ปีนี้จะมีการขยายไปสู่ยาสมุนไพรที่ผลิตจากโรงงานของโรงพยาบาล ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะได้รับการช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการการพัฒนาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ในขั้นต้น จะได้โลโก้และใบรับรองเรียกว่า Safety Product หากผ่านกระบวนการขั้นต้นและสามารถเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารก็เป็นกลุ่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการจะเรียกว่า Smart Product และสำหรับผลิตภัณฑ์ดีต่อเนื่องทุกปีจะได้โลโก้ Sustainable Smart Product
ปัจจุบัน Safety Product มีทั้งหมด 219 ผลิตภัณฑ์ Smart Product 143 ผลิตภัณฑ์ Sustainable Smart Product ทั้งหมด 17 ผลิตภัณฑ์ จากทั่วประเทศ ทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งเราสามารถตรวจกระจายไปทั่วประเทศเนื่องจากเรามีเรามีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำอยู่ทุกเขต ทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งกระจายคลุมพื้นที่ 5-10 จังหวัด ตามเขตสุขภาพ นอกจากนั้นเรายังมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเองด้วย โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและควบคุมคุณภาพให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจซื้อไปทำการผลิตและขาย โดยตอนนี้เราทอดถ่ายและผลิตจำหน่ายไปแล้ว 31 ผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดมีผลวิจัยอ้างอิง เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอาง ชุดทดสอบตรวจวิเคราะห์ เช่น ชุดทดสอบกัญชา ชุดทดสอบสารไฮโดรควิโนนในเครื่องสำอาง ชุดทดสอบสารปรอท ผลิตภัณฑ์กันยุง เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการ OTOP/SMEs Development สามารถเข้าไปขอรับความช่วยเหลือได้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ละจังหวัด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คัดเลือกจากผู้ประกอบการที่ตั้งใจพัฒนากระบวนการของตนโดยมี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงและตรวจแล็บยืนยันความปลอดภัยให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมในการพัฒนากระบวนการผลิตจนกว่าจะได้สินค้าที่ปลอดภัย
นพ.พิเชฐ แนะนำว่าสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นมา สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นมาตรฐานแรกคือเรื่องของความปลอดภัย ไม่มีสิ่งปนเปื้อนที่จะทำอันตรายต่อผู้บริโภค สองคือคุณภาพในการผลิตที่ต้องไม่มีสิ่งปนเปื้อน สุดท้ายคือต้องมีคุณค่า ซึ่งตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.กลุ่มอาหารและยา จะเน้นเรื่องความปลอดภัยกับคุณภาพ ส่วนของคุณค่า ประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลจะไปอีกขั้นตอนหนึ่ง
“ตอนนี้หากผู้ประกอบการมาเข้ากระบวนการพัฒนาอาหารกับทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราจะมีการตรวจฉลากโภชนาการให้เพื่อบอกว่าอาหารของผู้ประกอบการมีสารสำคัญอะไรบ้าง ซึ่งจะยกระดับให้ผู้ประกอบการมากกว่าแค่เรื่องของความปลอดภัยเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ประเทศมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น”
ปีนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วางแผนงานในการมอบโลโก้ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ได้เพื่อเป็นการการันตีผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากการได้รับใบรับรองเป็นกระดาษที่จะมอบให้ผู้ประกอบการอยู่แล้ว นอกจากนี้จะมีการเพิ่มศักยภาพในการรองรับ OTOP และ MSME มากขึ้น โดยในปี 2567 ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับโลโก้ตั้งแต่ Safety Product ไปจนถึง Smart Product และ Sustainable Smart Product ทั้งหมด 30 ผลิตภัณฑ์
สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
E-Mail : prdmsc@dmsc.mail.go.th รับ-ส่งหนังสือราชการ
E-Mail : saraban@dmsc.mail.go.th
โทรศัพท์ : 0 2589 9850-7, 0 2951 0000
โทรสาร : 0 2591 1707
เว็บไซต์ : https://www3.dmsc.moph.go.th/
ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BID)
ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BID) สวทช. นั้น ดูแลในส่วนของการพัฒนาผู้ประกอบการฐานเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการ SME ที่นำเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้เพื่อทำธุรกิจ โดยการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการเริ่มต้นธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ ที่นำพาธุรกิจให้ออกสู่ตลาดแล้วก็มีการเติบโตสูงอย่างยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน 4 เสานวัตกรรมหลัก ได้แก่ Process Innovation, Market Innovation, Product Innovation และ Organization Innovation ให้ผู้ประกอบการมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 5 ปี ผ่านกลไกสนับสนุนจากหลากหลายช่องทาง
ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BID) มีความมุ่งมั่น และภาคภูมิใจที่ได้ช่วยคนไทย ช่วยสินค้าไทย เพราะการได้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงนั้น มันจะส่งผลไปทั้งระบบ เมื่อธุรกิจเติบโตก็จะช่วยสร้างรายได้ กระจายไปอีกหลายต่อจนถึงต้นทางที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ และเมื่อทั้งระบบเติบโต ทั้งหมดนี้ก็จะมีส่วนช่วยส่งผลให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้นด้วย
บริการจากทางศูนย์
ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BID) พร้อมให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ ที่มีความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BID) สวทช.
ที่อยู่: 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์: 02-564-7000
อีเมล: bid@nstda.or.th
เว็บไซต์ : www.nstda.or.th/bid
Lekker Café and Restaurant รักสุขภาพพร้อมรักษ์โลก
จะมีใครคิดบ้างว่า การที่ลูกค้าเดินเข้าร้านอาหาร แล้วสั่งกาแฟแค่ 1 แก้ว หรือ อาหารเพียง 1 มื้อ จะสามารถช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้ พร้อมกับดูแลสุขภาพของตัวเองได้พร้อมกันด้วย
นี่คือวิธีคิดจากคุณอัจฉรา ฟุกเท็น เจ้าของร้าน Lekker Café and Restaurant ที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ที่ต้องการให้ลูกค้าทุกคนได้มีส่วนช่วยดูแลโลก ผ่านไลฟ์สไตล์ปกติในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ต้องไปลงมือลงแรงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปจากเดิม เรียกว่า ที่ร้าน Lekker Café นั้นอำนวยความสะดวกให้ทุกคนได้ดูแลโลกผ่านการเข้ามาทานอาหาร หรือแค่เข้ามานั่งดื่มกาแฟ
แล้วมันจะช่วยดูแลโลกได้อย่างไร ก็ต้องมาดูลึกลงไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังของเมนูอาหารและเครื่องดื่ม ที่ทุกขั้นตอนนั้นต้องช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ไล่มาตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบจากผู้ผลิตในชุมชนอ่าวนางเลยทีเดียว ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นสโลแกนสั้นกระชับจับใจ ว่า “Drink Black, Eat Green”
Drink Black, Eat Green
สโลแกนนี้เป็นการสื่อสารคุณค่าที่ทางร้าน Lekker ยึดถือ ให้ไปถึงลูกค้า โดย
Drink Black นั้นเป็นการสนับสนุนให้คนหันมาทานกาแฟดำไม่ใส่นมไม่ปรุงรส ซึ่งทางร้านมีเมล็ดกาแฟคัดสรร 3 สายพันธุ์ ที่ผ่านกระบวนการหมักผลของกาแฟรวมกับเมล็ดกาแฟ เพื่อให้เมล็ดนั้นมีรสชาติหวานปลายในตัวเอง ทำให้กาแฟดำดื่มได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลเพิ่ม เมื่อไม่ต้องใส่น้ำตาล ก็จะเป็นผลดีกับสุขภาพ และเป็นการลดการใช้น้ำตาล ที่มาจากอุตสาหกรรมไปอีกทางหนึ่ง รวมถึงการทานกาแฟที่ไม่ใส่นม ก็เป็นการช่วยลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ ที่ทั่วโลกนับว่าเป็นกระบวนการที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากอันดับต้น ๆ นอกจากนั้นลักษณะพฤติกรรมของคนทานกาแฟ ใน 1 วัน จะไม่ได้ดื่มกาแฟเพียงแค่แก้วเดียว จะต้องมีการดื่มระหว่างวัน เป็นแก้วที่ 2-3 ถ้าทุกแก้วนั้นดื่มเป็นกาแฟดำ ก็ยิ่งส่งผลดีมากยิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน
Eat Green เป็นการสนับสนุนให้ทานอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิกในชุมชนอ่าวนาง เป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ผลิตด้วยทางหนึ่ง ร้าน Lekker เองยังได้มีการนำเสนอทางเลือกให้กับเมนูมังสวิรัติในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีรสชาติดี ให้ประโยชน์ทางโภชนาการสูง จากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชน สร้างสรรค์เมนูที่หาทานที่ไหนไม่ได้ กลายเป็นเมนูยอดนิยมที่จุดประกายให้ลูกค้ารู้สึกเกิดไอเดียอยากหาวัตถุดิบกลับไปเข้าครัวทำกินกันที่บ้าน ซึ่งทางร้าน Lekker เชื่อว่าหากว่าผู้คนสามารถลดการทานเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อลงได้ ก็เป็นอีก 1 ทาง ที่จะช่วยส่งผลให้ขนาดของอุตสาหกรรมปศุสัตว์เล็กลงได้
จากแนวคิดที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ทำให้ ร้าน Lekker Café and Restaurant ได้รับการติดต่อจาก หน่วยงานต่าง ๆ สามารถชนะรางวัล SME Provincial Champions 2023 รางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับ SME ที่เชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับชุมชนได้อย่างโดดเด่น โดยเป็นรางวัลที่มอบให้ SME ที่มีคะแนนสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวของจังหวัด รวมถึงได้รับรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ SME National Awards อีกรางวัลหนึ่งด้วย
นอกจากเป็นร้านที่ชนะรางวัลแล้ว ยังเป็นร้านที่ชนะใจลูกค้าในละแวกอ่าวนางที่ทำให้คนพูดถึงกันปากต่อปาก ทั้งจากคนในชุมชนไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่ต่างปักหมุดมาแวะเวียนจากทั่วโลก
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
Lekker Café and Restaurant
ที่อยู่: 33/5 หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ 81180
โทร: 080-870-2383
อีเมล: adchara.voeten@gmail.com
Facebook: Lekker Cafe’ Krabi
เสบียงคลีน ร้านอาหารคลีนที่เข้าใจคนยุคใหม่
หลังจากยุคโควิดเป็นต้นมา ผู้คนเริ่มมาให้ความสนใจในด้านสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งในเรื่องการดูแลสุขอนามัยไปจนถึงอาหารการกิน ที่ต้องเลือกอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และดีต่อสุขภาพ
คุณจิรภัทร ปั้นสำรอง ได้มองเห็นรูปแบบไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำร้านอาหารคลีน เพื่อช่วยดูแลสุขภาพให้กับผู้คนอีกทางหนึ่ง โดยเปิดร้านในชื่อว่า เสบียงคลีน ร้านอาหารคลีนสไตล์มินิมอล
แม้ว่าช่วงที่เปิดร้านแรกที่สาขานวมินทร์ จะเป็นช่วงเวลาท่ามกลางสถานการณ์โควิด แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ร้านเสบียงคลีนหยุดชะงัก ทางร้านได้ปรับวิธีการขายที่เข้าใจผู้บริโภค ด้วยการปรับรูปแบบเป็นขายออนไลน์ทั้งหมด พร้อมให้บริการส่งให้ถึงที่ นับได้ว่าเป็นการเริ่มเรียนรู้การทำระบบออนไลน์ให้กับร้าน และกลายเป็นช่องทางหลักที่ประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงสถานการณ์โควิดมาได้
ความใส่ใจที่กลายเป็นผลตอบรับ
ร้านเสบียงคลีนในช่วงแรกที่เปิดร้านนั้น เรียกว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูก ลองลงมือทำไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้วางกลุ่มเป้าหมายหลักว่าลูกค้าจะเป็นคนกลุ่มใด แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องย้ายร้านออกจากสาขานวมินทร์ และกำลังหาทำเลของร้านที่จะเปิดใหม่ในบริเวณย่านศาลายา เมื่อได้ตระเวนดู สังเกตการใช้ชีวิตของผู้คน และเก็บข้อมูลมากขึ้นก็พบว่าผู้คนบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นั้นเต็มไปด้วยผู้ที่รักและให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นช่องทางที่น่าสนใจที่จะย้ายร้านมาเปิด
เป็นไปตามคาด เมื่อร้านเปิดที่ตลาดเมืองนอก ศาลายา ผู้คนต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรก โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงผู้ที่ออกกำลังกายจริงจังเป็นประจำ เหตุผลหนึ่งมาจากร้านอาหารคลีนในย่านนี้ยังมีจำนวนน้อย และการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าหาร้านได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องมาถึงร้านด้วยตัวเอง
สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มลูกค้าคือ เมนูอาหารที่หลากหลาย ปรุงสด สะอาด น่ารับประทาน มีคุณประโยชน์ ให้ในปริมาณที่คุ้มค่า ราคาไม่สูง และยังมีการคำนวณค่าโภชนาการให้เหมาะกับแต่ละกิจกรรม เช่น หากเป็นคนที่มีการออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อ สามารถแจ้งกับทางร้าน เพื่อให้จัดเตรียมอาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมได้ รวมถึงทางร้านเองก็มีการให้คำแนะนำกับลูกค้าว่าว่า มื้อไหนเหมาะกับเมนูอะไร โดยอ้างอิงจากปริมาณแคลอรี ทำให้ชนะใจกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงดูแลร่างกายได้เป็นพิเศษ
ด้วยวิธีทำการตลาดแบบออนไลน์ ทำให้ร้านเสบียงคลีน เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และด้วยกระแสตอบรับที่ดี ทำให้มีหน่วยงานจากกระทรวงพาณิชย์ติดต่อเข้ามา เนื่องจากเล็งเห็นว่าร้านเสบียงคลีน เป็นร้านเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ มีความแปลกใหม่ และมีรูปแบบการทำธุรกิจที่ปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้ร้านเสบียงคลีนเข้าร่วมการประกวดรางวัล SME Excellence Awards ซึ่งในท้ายที่สุดร้านเสบียงคลีนก็สามารถชนะรางวัลมาได้
คุณจิรภัทร เจ้าของร้านเสบียงคลีน มีแนวคิดในการทำธุรกิจที่ยึดถือมาตลอด ว่า การจะทำธุรกิจต้องมีความเชื่อมั่น มีความศรัทธาเป็นอย่างแรก ต้องโฟกัสจดจ่อกับสิ่งที่ทำว่านี่คือสิ่งที่ใช่ และ ชอบ แล้วลุยให้เต็มที่ ถึงจะท้อแต่ก็ต้องสู้ในทุกสถานการณ์ เพราะกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงต้องเชื่อมั่นก่อน ว่าเราทำได้
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บริษัท เสบียงคลีน จำกัด
ที่อยู่: 895 หมู่ 4 ซอยกะทุ่มล้ม10 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กทม.
โทร: 080-593-5299
อีเมล: sabiangclean.1@gmail.com
Facebook: เสบียงคลีน cafe