ธุรกิจจะปังบรรจุภัณฑ์ต้องใช่ 7 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับรรจุภัณฑ์

หัวข้อ : ธุรกิจจะปัง…บรรจุภัณฑ์ต้องใช่ 7 เรื่องที่ SME ต้องรู้เกี่ยวกับรรจุภัณฑ์
อ่านเพิ่มเติม : www.scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/next-trend-2020content3

 

เรื่องของบรรจุภัณฑ์เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ด้วยหลากหลายประโยชน์ที่เป็นมากกว่าเพื่อใช้ปกป้องสินค้า แต่บรรจุภัณฑ์ยังมีส่วนช่วยในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น

  • มีผลิตภัณฑ์กว่า 70% ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อปกป้องดูแลผลิตภัณฑ์ให้คงคุณภาพอยู่ได้นานที่สุด
  • บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการทำตลาด ไปจนถึงดึงดูดใจลูกค้าให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้
  • บรรจุภัณฑ์เป็นเสมือนการเลือกที่จะแต่งตัวให้กับสินค้า หากเราอยากสร้างภาพการจดจำแบบใดให้กับผู้บริโภค อยากให้รับรู้ตัวตนของแบรนด์ไปในทิศทางใด สามารถทำได้ผ่านบรรจุภัณฑ์ที่นำมาเลือกใช้

ปัจจุบันการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพต่อการทำธุรกิจมีอยู่หลากหลายวิธีด้วยกัน และนี่คือ 7 เทรนด์การทำบรรจุภัณฑ์ที่มาแรงและสามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าหยิบมาใช้ หากแต่ยังการันตีด้วยการทดลองทำจริงจากประสบการณ์ตรงอีกด้วย

 

1. แมส คอมมูนิเคชั่น เพคเกจจิ้ง (Mass Customization Packaging)

การทำความแตกต่างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม เป็นเทรนด์ที่มีการนำมาใช้นานแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น

  • โค้ก ที่ทำแคมเปญพิมพ์ชื่อคนต่าง ๆ ติดอยู่ที่ฉลากกระป๋อง
  • น้ำดื่มสปริงเคิล ได้สร้างปรากฏการณ์ฉีดขวดสี เปลี่ยนจากขวดน้ำใสในตลาดน้ำดื่มธรรมดาทั่วไปมาใช้เป็นชุดสีต่าง ๆ ด้วยการไล่โทนและสร้างธีมขึ้นมาจากเรื่องราวต่าง ๆ สร้างความแตกต่างที่น่าสนใจ แถมขายในราคาเท่ากัน จึงไม่ยากที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคสนใจ และหยิบขึ้นมาทดลองได้ จนยอดขายพุ่งกระฉูดขายดี

 

2. เรียบง่าย แต่โดดเด่น (Be Simple, Bold and Clear)

ปัจจุบันสินค้าในตลาดโดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ มีการใช้เฉดสีฉูดฉาดและภาพประกอบมากมาย เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า จนบางครั้งเมื่อนำมาวางเรียงอยู่ด้วยกันอาจสร้างความสับสนผสมปนเปกันไปหมด จนไม่สามารถมองหาจุดเด่นของสินค้าได้ ความเรียบง่าย น้อยแต่มาก สไตล์มินิมอล จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าออกจากแบรนด์อื่น ๆ ได้

 

3. บอกเล่าคุณค่าที่มาของตัวสินค้า (Culture Story)

การบอกเล่าคุณค่าที่มาของตัวสินค้า เป็นอีกวิธีที่น่านำมาใช้สำหรับแบรนด์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มักมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งนี่เป็นอีกกลยุทธ์ที่จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องหาความแตกต่างในกระบวนการผลิตและตัวสินค้าให้ได้ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ควรฉีกออกมาจากตลาด และต้องถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่าที่เกิดขึ้นของแบรนด์ออกมาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ด้วย บรรจุภัณฑ์ลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น

  • ช่วยให้ไม่ต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดเดียวกับบริษัทใหญ่
  • สามารถแยกออกมาเล่นในตลาดพรีเมียมที่มีขนาดเล็กกว่า แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพได้
  • ช่วยทำให้สินค้าขายได้ราคาและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

 

4. บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Packaged Planet)

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างหันมาทำกันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถนำมาใช้ทำตลาด และประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของตัวเองได้ด้วย เนื่องจากมีการโหมสร้างกระแสของแบรนด์ใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และเรื่องนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ในทางธุรกิจกันมากขึ้น แต่ในแต่ละตลาดก็ยังมีช่องว่างอยู่ ดังนั้น ต้องหาช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำให้เจอ ถ้าทำได้ให้ตะโกนออกไปดัง ๆ แบรนด์ของเราจึงจะเป็นแบรนด์แรกที่อยู่ในภาพจำนี้ของลูกค้า

 

5. ประสบการณ์ใหม่ (New Experience)

จากสินค้าธรรมดา หากใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แตกต่าง สามารถสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่น่าจดจำให้แก่ลูกค้าได้

ตัวอย่างเช่น การออกแบบกล่องในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของแบรนด์กราโนล่าสายเฮลตี้ ที่ออกแบบรูปแบบกล่องใส่สินค้า ซึ่งหากลองนำมาพับต่อกันให้กลายเป็นต้นคริสต์มาสใช้ประดับตกแต่งได้ จากตอนแรกที่คิดจะทำออกมาพิเศษเพียง 10,000 ใบ ผลปรากฏสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้หมดภายในวันเดียว ทำให้ต้องมีการพรีออร์เดอร์ และผลิตออกมาเพิ่มถึงกว่า 30,000-40,000 ใบเลยทีเดียว

 

6. การจับมือร่วมกัน (Collaboration)

กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน คือ การจับมือร่วมกันเพื่อสร้างแคมเปญหรือทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันระหว่างแบรนด์

  • ไม่จำเป็นต้องไปจับมือร่วมกับแบรนด์ที่ทำสินค้าประเภทเดียวกันหรืออยู่ในตลาดเดียวกันเท่านั้น
  • สามารถจับคู่ระหว่างแบรนด์ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยได้ เพื่อสร้างความสนุก สร้างสีสันให้เกิดขึ้นในตลาด
  • ช่วยสร้างความตื่นเต้น น่าสนใจให้กับลูกค้าแล้ว ตัวแบรนด์เองจะกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
  • อาจได้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ที่ทำงานร่วมกันมาเพิ่มอีกด้วย

 

7. บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging)

เป็นวิธีที่เริ่มมีการนำมาใช้กันมากสำหรับแบรนด์ในตลาดต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากนัก เนื่องจากความไม่พร้อมของประชากรที่อาจยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนได้ทั่วถึงในทุกกลุ่ม เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับบรรจุภัณฑ์ได้ จึงอาจยังไม่เหมาะหากจะนำมาใช้สร้างตลาดในตอนนี้ แต่นับเป็นอีกวิธีที่หากทำได้จะสร้างความสนุก สร้างลูกเล่น และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอีกเทรนด์ที่มาแน่นอน เพียงแต่ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย ณ ตอนนี้เท่านั้นเอง

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ลดต้นทุนฝ่าวิกฤติ ด้วยการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหาร

หัวข้อ : EIC ส่องร้านอาหารฝ่า COVID–19 ตอน How to พิชิตขยะในร้านอาหาร
อ่านเพิ่มเติม : www.scbeic.com/th/EIC_Note_How-to-พิชิตขยะในร้านอาหาร_TH.pdf

 

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตอย่างโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อยในหลายอุตสาหกรรมต่างต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่มักมีเงินสดสำรองในธุรกิจต่ำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รายได้ลดลงเช่นนี้การควบคุมค่าใช้จ่ายจึงจำเป็นอย่างมาก หนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม คือ ค่าวัตถุดิบ ซึ่งคิดเป็นกว่า 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีวัตถุดิบจำนวนมากในร้านอาหารถูกทิ้งกลายเป็น “ขยะอาหาร” บ่งบอกถึงค่าใช้จ่ายที่สูญเสียและการจัดการที่ไม่เป็นระบบของร้านอาหารในปัจจุบัน

  • ร้านอาหารในสหรัฐฯ มีปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้ง 10,000 – 35,000 กิโลกรัม/ร้าน/ปี คิดเป็นประมาณ 3% - 9% ของอาหารที่ซื้อมาทั้งหมด
  • ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษของไทย พบว่าขยะกว่า 45% ของขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพมหานครล้วนเป็นอาหารเหลือทิ้งทั้งสิ้น
  • 45% ของขยะอาหารเกิดขึ้นระหว่างการทำอาหาร
  • 34% จากอาหารที่ผู้บริโภคทานเหลือ
  • 21% จากอาหารเน่าเสียก่อนการบริโภค

จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่ปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมักเกิดจากข้อผิดพลาดในการจัดการระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดซื้อวัตถุดิบ และการบริหารงานภายในร้านอาหาร ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

 

1. การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง

การจัดการสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ผู้ประกอบการคาดการณ์คำสั่งซื้อวัตถุดิบได้อย่างถูกต้อง หากมีสินค้าคงคลังมากเกินไปจะส่งผลให้พื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอ วัตถุดิบหมดอายุได้ง่าย และนำไปสู่การเน่าเสียของวัตถุดิบต่าง ๆ การบันทึกของเสียในคลังสินค้า การบริหารพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบต่าง ๆ และการบริหารจัดการคลังจึงจำเป็นอย่างยิ่ง อาทิ

  • การบันทึกวัตถุดิบเข้า-ออกในคลังสินค้า
  • การใช้ระบบเข้าก่อนออกก่อน (First-in First-out)
  • การสั่งของจากการคาดการณ์เมนูอาหารที่จะขายได้ในอนาคต ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในเมนูที่ขายดีและไม่ดีในแต่ละช่วงเวลา

 

2. การจัดซื้อวัตถุดิบ

เนื่องจากร้านอาหารจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่สดใหม่อยู่เสมอ วัตถุดิบหลายอย่างไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน และเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นการจัดซื้อวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

  • เลือกซื้อวัตถุดิบที่คุณภาพดี สดใหม่ จะสามารถช่วยร่นระยะเวลาวัตถุดิบเน่าเสียได้
  • เลือกซื้อวัตถุดิบกับร้านที่สามารถต่อรองการสั่งซื้อขั้นต่ำได้ เพื่อลดต้นทุนการจัดเก็บอาหารและลดปริมาณของเสียที่อาจเหลือทิ้ง
  • เลือกซื้อจากซัพพลายเออร์ที่อยู่ในระแวกเดียวกับร้านอาหาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียจากอาหารเน่าเสีย

 

3. การบริหารจัดการภายในร้าน

การบริหารจัดการภายในร้านผิดพลาด เช่น การจดออเดอร์ผิด ข้อผิดพลาดขณะทำอาหาร ไม่ว่าจะเกิดจากความเลินเล่อของพนักงาน หรือเกิดจากระบบการจัดการที่ไม่เป็นระบบ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอาหารที่ทำผิดมักถูกทิ้ง (ป้องกันพนักงานนำมารับประทานเอง) นี่เป็นข้อแนะนำเบื้องต้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว

  • พนักงานภายในร้านจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับระบบการจัดการร้านที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดข้อผิดพลาดได้
  • การลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน มีส่วนช่วยอย่างมากในการลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน เนื่องจากพนักงานที่เข้ามาใหม่มักทำงานผิดพลาดได้ง่าย เทียบกับพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า
  • นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากพนักงาน เช่น การใช้ระบบสั่งอาหารจากแท็บเล็ตให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ด้วยตนเอง คำสั่งอาหารจะถูกส่งตรงถึงพ่อครัวในห้องครัวและพนักงานเสิร์ฟทันที โดยปราศจากข้อผิดพลาดใด ๆ จากพนักงาน

 

4. กำหนดเกณฑ์ปริมาณขยะอาหารที่รับได้

ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละร้านควรกำหนดเกณฑ์ปริมาณขยะอาหารที่รับได้ ซึ่งสามารถเริ่มคำนวนจากเมนูอาหารที่มียอดขายแน่นอนของร้านก่อน ดังนี้

  • ทำให้อาหารเหลือทิ้งต่อวันของเมนูใดเมนูหนึ่งน้อยและคงที่ที่สุด
  • เมื่อได้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานแล้ว นำเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับเมนูอื่น ๆ ต่อไป

หากวันใดมีปริมาณขยะอาหารมากกว่าเกณฑ์ที่ร้านกำหนด สามารถบ่งบอกได้ว่าในระบบใดระบบหนึ่งของร้านต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไข เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงานภายในร้านได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ร้านอาหารสามารถสร้างประโยชน์จากขยะที่ไม่สามารถทานได้ เช่น

  • เศษอาหารจำพวกน้ำมันใช้แล้ว เปลือกผลไม้ เศษผักเน่าเสีย วิธีง่าย ๆ ที่มักนิยมมาปรับใช้ เช่น การนำเศษอาหารเหลือทิ้งมาทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำส้มสายชูผลไม้ น้ำหมักผลไม้ เป็นต้น
  • ร้านอาหารบางแห่งที่มีพื้นที่เหลือ สามารถทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพหรือ Biogas ที่ได้จากปฏิกิริยาการย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร วัตถุดิบเหลือจากผัก ผลไม้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มได้

 

การลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งนอกจากร้านอาหารจะสามารถลดค่าใช้จ่าย เพิ่มปริมาณกระแสเงินสดแล้ว ยังนับเป็นโอกาสในการดึงดูดกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ อย่างกลุ่มที่ต้องการช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งหรือดำเนินชีวิตแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) โดยเฉพาะร้านอาหารที่ทำอาหารจากวัตถุดิบที่กำลังจะถูกทิ้ง หรือร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่างเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งต้องคอยรังสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ จากวัตถุดิบที่คนมักเหลือทิ้งให้สามารถรับประทาน อร่อย ปลอดภัย ต้องคำนึงถึงวิธีการกำจัดขยะอาหารเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นทั้งก่อน - หลังถึงมือผู้บริโภค และต้องคอยสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

 

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรหันมาใส่ใจและจัดการอาหารเหลือทิ้งอย่างจริงจังเพื่อ ควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มกระแสเงินสด นับเป็นส่วนช่วยในการประคับประคองธุรกิจร้านอาหารในช่วงที่ทำรายได้ได้น้อย และเป็นการตอบรับกระแสรักษ์โลก ทั้งยังก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ร้านอาหารในระยะยาวอีกด้วย

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เริ่มต้นดี ต้องมีแผนกับ 6 สิ่งควรทำก่อนเริ่มธุรกิจ

หัวข้อ : 6 Step สร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นกิจการ
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/step-immunity-to-failure-start-business

 

การเริ่มต้นทำธุรกิจโดยไม่มีแผนการรองรับ ขาดการคิดวิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน จะทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายรูปแบบ และอาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่วาดฝันไว้ ดังนั้นเราจึงมีคำแนะนำสำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยขั้นตอนที่ถอดแบบมาจากการดำเนินธุรกิจของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยทุนที่ไม่ได้มีมากจนปัจจุบันมีมูลค่าความสำเร็จเป็นตัวเลขหลักร้อยล้านไปแล้ว ด้วยการเริ่มต้นทำธุรกิจ จาก 6 ขั้นตอน คือ

 

1. มีความพร้อมในสิ่งที่จะทำ

- จะขายอะไร ให้ใคร รูปแบบสินค้าบริการเป็นแบบไหน งบประมาณเท่าไหร่ มีการดำเนินการอย่างไร ที่ทางทำเล ร้านค้า การตกแต่ง แพ็คเกจจิ้ง ฯลฯ ต้องคิดออกแบบวางแผนให้ครบก่อนถึงจะเริ่มต้นเปิดกิจการได้

- ต้องมีการจัดสรรงบประมาณของเรื่องต่าง ๆ ให้สมดุลและมีขอบเขต ก่อนจะเปิดให้บริการ

- หากยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรูปแบบการดำเนินการ ยังไม่ควรเร่งเปิดกิจการ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพจำในด้านที่ไม่พึงปรารถนาได้

- หากยังไม่พร้อมในเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่ต้องมี อาจทำให้ธุรกิจสะดุดกลางคัน จากการที่ต้องบริหารเงินทุนที่ได้รับมาแล้วลงทุนหมุนเวียนต่อไป สุดท้ายจะไปสะดุดกับผลกำไรที่หายไปกับเงินที่ลงทุนไม่จบสิ้น

 

2. แบรนด์ชวนจำ ทำตลาดง่าย

- การจะตั้งชื่อแบรนด์หรือชื่อเรียกกิจการร้านค้า ควรสื่อความหมายถึงในสิ่งที่กำลังทำ

- การเล่นคำให้เกิดการจำง่าย เช่น เครปป้าเฉื่อย, ปังเว้ย...เฮ้ย, ตำสะท้านครก ฯลฯ ชื่อแปลกแหวกแนวแบบมีเอกลักษณ์ จะไปสะดุดทำให้คนจำได้ง่ายกว่าคำสามัญทั่วไปที่ใครๆ ใช้กัน

- หากสินค้าบริการปังติดตลาดขึ้นมา ชื่อที่ติดหูก็จะช่วยกระพือให้บินสูงได้ง่ายขึ้นไปด้วย

 

3. สินค้าและบริการโดดเด่นราคาเหมาะสม

เช่น ยำใหญ่ใส่กุ้งไซส์ยักษ์ สด ใหม่, ปังไส้ทะลักบริการขนส่งรวดเร็วภายใน 24 ชม., กาแฟสด No Fat, ขนมปังปิ้งเตาถ่าน (ทำให้หอม หวาน รอนานไปอีก) ล้วนเป็นการสร้างสินค้าให้โดดเด่น ด้วยลูกเล่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้สินค้าติดตลาดง่าย ชวนจำ ด้วยราคาที่เหมาะสม จะทำตลาดได้ง่ายกว่า

 

4. มีความเชื่อมั่น มุ่งมั่น และมั่นใจในสิ่งที่ทำ

หัวใจของความสำเร็จในการเริ่มต้นกิจการ ต้องเชื่อมั่นก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกค้าและสังคม และมุ่งมั่นเดินหน้าทุ่มพลังเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นก็ไม่ล้มเลิก

  • หากยังไม่มั่นใจต้องรู้จักพัฒนา อะไรที่ไม่รู้ต้องถามผู้รู้ อะไรที่ไม่เก่งต้องรู้จักฝึกฝน อะไรที่ไม่ถนัดต้องหาผู้ช่วย
  • ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามภาพที่อยู่ในหัวที่ชัดเจน เพราะคนที่ทำสำเร็จส่วนใหญ่มักเชื่อมั่นในตัวเองและมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน

 

5. วางที่ตั้งบนทำเลเหมาะสม

ทำเลเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะประเภทร้านค้าจำเป็นต้องมีที่ตั้งที่เหมาะสมกับธุรกิจที่ทำ ควรเลือกทำเลที่จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย มองเห็นชัด และวางพิกัดให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ เช่น

อาจวางร้านสาขาในโซนถนนเส้นเดียวกันไว้ 2-3 ร้าน โดยเว้นช่วงห่างตามสมควร เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ง่ายจนติดตา เพราะการที่เขาไม่รู้จักย่อมเกิดความลังเลเมื่อแรกเห็น หากขับรถผ่านไปสักพักเกิดสนใจก็มีสาขาข้างหน้าคอยดักทางอยู่ โดยที่ไม่ต้องวนรถกลับมา เป็นการทำตลาดที่ให้ผลดี อีกทั้งยังช่วยการันตีด้วยว่า สินค้าและบริการนี้ดีเพราะมีหลายสาขา

 

6. สร้างจุดแข็ง ด้วยจุดอ่อนของคู่แข่ง

การศึกษาคู่แข่งที่มีอยู่ก่อนหน้าในตลาดจะทำให้เห็นถึงจุดอ่อนที่มี และนำมาปรับใช้ในธุรกิจของคุณเองได้

  • สามารถนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเอง
  • ในวิกฤติสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นแต่ยังคงให้บริการได้ในราคาเท่าเดิม ไม่ปรับปรุงเพิ่มเติมราคา ทำให้แบรนด์หรือสินค้ามีจุดแข็งที่สามารถเอาชนะคู่แข่งและครองใจผู้บริโภคในท้องตลาดได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

10 พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าชอปปิงออนไลน์

หัวข้อ : 10 พฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคช่วงโควิด 19
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/consumer-behavior-covid-19

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปในหลายด้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมในการใช้จ่ายการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส ตลอดจนโซเชียล คอมเมิร์ซ เป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกธุรกิจให้รีบศึกษาและปรับธุรกิจให้ก้าวทันตามกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วย 10 พฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน ดังนี้

 

1. คนนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าหน้าร้าน

เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องก่อนจะมีการแพร่ระราดของโควิด หากแต่ก่อนหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะเป็นการซื้อขายในรูปแบบการให้บริการครบวงจร แต่เมื่อสถานการณ์ของโรคเริ่มลุกลามบานปลาย ทำให้พฤติกรรมผู้คนเข้าสู่ตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการซื้อขายออนไลน์ได้ทุกสิ่ง จนทำให้หน้าร้านเงียบเหงา ยอดขายไม่เดิน

  • มีรายงานว่าการชอปปิงสินค้าออนไลน์ได้กลายเป็นพฤติกรรมปกติ
  • ในประเทศไทยพบว่า 35% ของคนไทยนิยมสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มทางระบบออนไลน์
  • ตลาดสินค้าออนไลน์ขยายตัวเพิ่มมากถึง 80%

 

2. คนซื้อของใช้เข้าบ้านอายุน้อยลง

ปัจจุบันพบว่าหน้าที่การซื้อของเข้าบ้านเป็นของคนที่มีอายุน้อยลง โดยคนที่ทำหน้าที่จ่ายตลาดซื้อสินค้าเข้าบ้านนับตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา มีอายุน้อยกว่า 25 ปีมากถึง 75% ซึ่งมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของใช้ให้เพียงตัวเองเป็นการซื้อให้คนทั้งครอบครัว

 

3. คนสั่งซื้อของผ่านไลฟ์มากขึ้น

การไลฟ์ขายของยังเป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ผลดี จากพฤติกรรมการหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

  • การซื้อของผ่านไลฟ์นั้นทำให้สามารถตอบโต้สอบ-ถามข้อมูลได้โดยตรงและได้รับคำตอบในทันที
  • สามารถเห็นคุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของสินค้าได้ครบมิติ เสมือนมีคนมารีวิวไปพร้อมกับการเสนอขาย
  • มีการจัดส่งให้ถึงบ้านด้วยจึงสะดวกสบาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

4. ลูกค้าต้องการความพิเศษเฉพาะตัว

ลิมิตเต็ด อีดิชั่น (Limited Edition) ยังเป็นรูปแบบการทำตลาดที่ให้ผลดีเสมอ ในการสร้างความแตกต่างในระดับพรีเมียม ที่สามารถนำมาปรับใช้รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัว

  • สินค้าที่ตอบโจทย์ใช้งานได้ตรงจุด แก้ปัญหาในแบบที่ตัวเองเจอได้ด้วยคุณภาพ ราคาของสินค้าและบริการที่สมเหตุผล
  • สินค้าที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ากำหนดหรือปรับคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ได้ มียอดขายดีขึ้น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ลูกค้าสามารถเลือกสเป็คได้มียอดขายเพิ่มขึ้น 141

 

5. มีการลงทุนเพื่อสร้างบรรยากาศบ้านให้น่าอยู่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้มีการหันมาชีวิตติดบ้านกันมากขึ้นและไม่ปล่อยให้บ้านแค่ที่พักสำหรับการนอนยามค่ำคืนเพียงอย่างเดียว บ้านจึงกลายเป็นทั้งที่ทำงานและการพักผ่อนที่คนหันมาให้ความสำคัญในการจัดระเบียบ ตกแต่งบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่อาศัยและเป็นได้ทุกมิติของครอบครัวมากขึ้น โดยสามารถดูได้จากยอดขายสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์เกี่ยวกับที่พักอาศัยที่เติบโตขึ้น

 

6. สินค้าที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ขายดี

ชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) ไม่ได้มาพร้อมกับความนิยมในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หรืออุปกรณ์สนับสนุนการทำงานที่บ้านเพียงเท่านั้น แต่มาพร้อมกับการปรับใช้ชีวิตให้มีความสมดุล มีการหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกายกันมากขึ้น

 

7. ลูกค้าต้องการสินค้าที่มูลค่าไม่ด้อยลงนัก

ของถูกหรือสินค้าราคาต่ำกลับไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้บริโภคยุคนี้จะให้การตอบรับดีเสมอไป สิของดี ราคาไม่แรง ราคาสามารถเข้าถึงได้ ภายใต้คุณภาพที่คาดหวังได้ว่าจะดีในระดับหนึ่งกลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้การตอบรับดี คุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ ความคุมค่าในการใช้งานไป จนถึงการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการได้ครอบครองหรือขายต่อในตลาดได้ในส่วนของสินค้าที่มีราคา เช่น เครื่องประดับ ทองคำ รถยนต์

 

8. ต้องได้อะไรทันใจ แค่ปลายนิ้ว

พฤติกรรมนี้อาจเป็นความเคยชินของการใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตที่ต้องแข่งกับเวลา ทำให้ผู้คนยุคนี้มีความอดทนต่อการรอคอยอะไรที่ใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลืองได้น้อยลง

 

9. สินค้าให้พลังบวกกระตุ้นความต้องการซื้อได้มากกว่า

การเสพพลังบวกทำให้คนเข้าถึงคุณค่าของการมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ได้

  • อาจให้พลังในแง่ของการรักษ์โลก กู้ชีพ ช่วยเพื่อนมนุษย์
  • การเสริมสร้างกำลังใจ ดึงความปรารถนาเข้าสู่ตัว

เห็นได้จากสินค้าด้านความเชื่อหรือออกแนววัตถุมงคล ได้รับการตอบรับดีเป็นกระแสฮิตที่เข้าถึงคนทุกวงการได้ภายในเวลาไม่นาน ท่ามกลางโลกเทคโนโลยี

 

10. เท่าเทียมไม่เหลื่อมล้ำได้ใจกว่า

ในยุคที่โลกและสังคมเปิดกว้างให้กับรสนิยมทางเพศ หรือค่านิยมทางเพศที่มีมากกว่าแค่หญิงชาย จนกลายเป็นพฤติกรรมความเคยชินอย่างเป็นธรรมชาติที่จะเห็นผู้ชายเดินจับมือกับผู้ชาย หรือผู้หญิงควงกับผู้หญิง การให้คุณค่าของการมีตัวตนในเพศอันหลากหลาย หรือไม่ระบุชัดในเพศใดเพศหนึ่งในสินค้าหรือบริการ มีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับอันดีจากผู้บริโภคในยุคนี้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

4 ขั้นตอนเพิ่มยอดขายออนไลน์ด้วยยูทูป

หัวข้อ : 4 ขั้นตอนเพิ่มยอดขายออนไลน์ ด้วยการตลาดบน Youtube รายได้ 6 - 7 หลักต่อเดือน
อ่านเพิ่มเติม : www.dbd.go.th/download/article/article_20200626145341.pdf

 

การทำคลิปวิดีโอก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างการรับรู้ และช่วยดึงคนเข้าไปสู่แพลตฟอร์มที่ต้องการได้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า

  • คนที่ดูคลิปวิดีโอกว่า 65% จะติดตามเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ถูกพูดถึงในคลิป
  • หากมีการพูดถึงเบอร์โทรศัพท์ร้อยละ 39 จะโทรเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูล

นับว่าการทำคลิปวิดีโอเพื่อทำการตลาดออนไลน์บนยูทูป (YouTube) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
สำหรับขั้นตอนการทำอย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก

 

4 ขั้นตอนการตลาดบนยูทูปเพื่อโปรโมตสินค้ามีขั้นตอนดังนี้

1. บอกถึงวิธีการแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มเป้าหมาย

โดยมากเมื่อคนเรามีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่พวกเขามักจะทำ ก็คือการเข้าไปค้นหาข้อมูลวิธีการแก้ปัญหาในกูเกิ้ล ดังนั้น สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือคลิปที่ให้ความรู้ในการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของคุณ เน้นให้ความรู้ ไม่ใช่การพยายามขายของเพราะคนที่ขายของไม่ได้มีแต่เราเท่านั้น

  • หากคิดที่จะทำแต่คลิปที่เน้นการขายสินค้ามากเกินไปก็อาจจะทำ ให้คุณไม่ประสบความสำเร็จ พยายามสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเชื่อใจให้แก่ลูกค้าของคุณ
  • เมื่อพวกเขาเชื่อใจคุณมากพอเขาจะเข้ามาเป็นลูกค้าของคุณเอง โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องพยายามขายสินค้าเลยด้วยซ้ำ
  • ความถี่ในการทำคลิปและการเผยแพร่คลิปมีผลต่อการสร้างความเชื่อใจและการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้า หากคุณลงคลิปสม่ำเสมอกลุ่มเป้าหมายจะมีโอกาสเห็นธุรกิจของคุณบ่อยครั้ง

 

2. ทำคลิปที่แสดงจุดเด่นของสินค้าและบริการของคุณว่ามีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ

นอกเหนือไปจากคลิปที่ให้ความรู้ คุณควรจะทำคลิปเพื่อบอกแก่กลุ่มเป้าหมายของคุณ ว่าสินค้าและบริการของคุณมีจุดเด่นอะไรบ้าง และทำไมพวกเขาต้องซื้อสินค้าของคุณ

  • ควรจะแสดงจุดเด่นของสินค้าของคุณภายในคลิปที่มีความยาวไม่เกิน 1 นาทีเท่านั้น
  • จากสถิติที่มีผู้เก็บรวบรวมได้แสดงว่า คนที่ดูคลิปไปแล้ว 30 วินาทีพวกเขาจะปิดคลิปนั้นถึง 33 %และมีจำนวนถึง 45 % ที่จะปิดคลิปเมื่อผ่านไป 1 นาที
  • ภายใน 1 นาทีคุณจะต้องแสดงรายละเอียดของสินค้าของคุณให้ชัดเจนที่สุด

 

3. ทำคลิปเปรียบเทียบระหว่างสินค้าของคุณและสินค้าอื่นๆ

การทำคลิปเปรียบเทียบคุณสามารถจ้างคนที่มีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ มาช่วยในการสร้างคลิปเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจให้มีผู้มาติดตามสินค้าของคุณมากขึ้น หรืออาจเลือกจ้างคนธรรมดาก็ได้เช่นกัน ให้ทำคลิปรีวิวเปรียบเทียบสินค้าของคุณกับคู่แข่งแบรนด์ต่าง ๆ

  • การเปรียบเทียบระหว่างสินค้าควรจะปล่อยให้ผู้รีวิวได้เปรียบเทียบในรูปแบบของเขาเอง โดยอาจแค่กำหนดกรอบคร่าว ๆ ให้พวกเขา
  • อาจหามุมที่เป็นจุดเด่นของสินค้าของคุณที่มีเหนือกว่าของอีกเจ้าหนึ่ง
  • สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือความสมจริง เพราะไม่มีสินค้าหรือบริการใดที่จะเอาชนะคู่แข่งได้ทั้งหมด 100% นั่นจะดูเป็นการอวยสินค้าของตนเองมากเกินไป
  • ควรแสดงจุดเด่นที่สามารถเอาชนะสินค้าจากคู่แข่งได้ 80 - 90% เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับคลิปเปรียบเทียบสินค้า

 

4. ทำคลิปเพื่อรีวิวผลลัพธ์ความพึงพอใจจากการใช้สินค้า

อีกหนึ่งคลิปที่น่าสนใจและคุณควรจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าของคุณ คือการทำรีวิวหลังการใช้สินค้าเพื่อแสดงประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการของคุณ

  • หากมีฐานลูกค้าอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อาจขอให้กลุ่มลูกค้านั้นช่วยทำการรีวิวสินค้าและบริการของคุณได้ว่าพวกเขามีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด
  • หากคุณเป็นแบรนด์ที่เพิ่งจะเปิดตัวและยังไม่มีฐานลูกค้าอยู่มากนัก ผู้ที่จะมาช่วยริวิวสินค้าให้แก่คุณได้ก็คือคนใกล้ตัวของคุณทั้งครอบครัวและเพื่อนสนิท โดยอาจให้พวกเขาทดลองใช้สินค้าและบอกความพึงพอใจของพวกเขา อัดเป็นคลิปวิดีโอเพื่อนำมาใช้ทำคลิปรีวิวสินค้า
  • ในการทำรีวิวสินค้าด้วยคลิปวิดีโอนั้นมีข้อแนะนำเล็กน้อยเพื่อให้คลิปที่คุณถ่ายไว้ไม่เสียเปล่า คือให้ผู้ที่จะรีวิวบอกเป็นประสบการณ์ก่อนการใช้และหลังการใช้ เพื่อให้พวกเขามีกรอบความคิดอยู่ในหัวว่าจะต้องพูดถึงประเด็นใดบ้าง

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ