
สมใจเป็นร้านเครื่องเขียนเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 โดยคุณสมใจและคุณนิยม 2 ผู้ก่อตั้ง ตลอดระยะเวลา 65 ปีของการดำเนินกิจการขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะ คุณสมใจและคุณนิยมใส่ใจและคัดสรรแต่ที่ดีที่สุดมาจำหน่ายในร้าน จนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมายมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันร้านสมใจถูกส่งต่อการบริหารมายังคนรุ่นที่ 3 แล้ว.
จากร้านเครื่องเขียนเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากคน 2 คน ทุกวันนี้สมใจสามารถขยายสาขาไปทั่วประเทศได้มากกว่า 25 สาขา มีพนักงานนับร้อยคน
เรื่องราวของการก่อร่างสร้างตัวจากร้านค้าห้องแถวเล็ก ๆ จนสามารถเติบใหญ่สามารถขยายสาขาเข้าไปในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการขายสู่โลกออนไลน์ จึงมีรายละเอียดมากมายให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา
ในวันนี้คุณนพนารี พัวรัตนอรุณกร จะมาบอกเล่าถึงหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจผ่านแนวคิด “Enhancing People's Lifestyle”
ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ
ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ
ไปที่ แผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้
SME One : จุดเริ่มต้นของร้านเครื่องเขียนสมใจมีที่มาที่ไปอย่างไร
คุณนพนารี : เริ่มจากคุณสมใจและคุณนิยม ผู้ก่อตั้งมีความคิดที่จะทำธุรกิจโดยใช้ความรู้ที่ตัวเองมี ก่อนที่จะเปิดร้านของตัวเองคุณสมใจและคุณนิยมเป็นลูกจ้างขายสารานุกรมมาก่อน จนถึงจุดที่สามารถสร้างธุรกิจได้จึงเริ่มมองหาทำเลที่จะเปิดร้าน จนมาได้ที่บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งเป็นจุดที่คนผ่านไปผ่านมาค่อนข้างเยอะ โดยสินค้าแรกที่ขาย คือ สารานุกรม ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญที่ทั้ง 2 ท่านมี
แต่พอเปิดร้านจริงก็กลับตาลปัตร เพราะคนส่วนใหญ่ที่เดินเข้าร้านจะเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ ที่เข้ามาหาซื้อเครื่องเขียนแทนที่จะเป็นสารานุกรม ทางร้านก็เริ่มนำสินค้าเครื่องเขียนเข้ามาขายมากขึ้น จนเป็นจุดกำเนิดของร้านขายเครื่องเขียนสมใจ ณ เวลานั้น คือร้านสมใจเริ่มจาก Book แล้วค่อยปรับตัวมาเป็น Stationery
แล้วก็จุดที่เป็น Core Competency เราใช้จนถึงปัจจุบันนี้ คือเราจะขายของราคาคุ้มค่า ราคาไม่แพง แล้วก็คัดแต่ของดีมาขาย อย่างดินสอเราจะไม่ใช้ดินสอไม้ที่ด้ามหักง่าย แบบนี้ที่ร้านจะคัดเลือกออก ไม่ขาย เราขายทุกแบรนด์ที่คุณภาพดี ราคาที่ไม่แพง ทำให้เด็ก ๆ ติดใจ ก็จะเริ่มซื้อเรื่อย ๆ นอกจากเครื่องเขียน เราก็เริ่มขยายมาเป็นอุปกรณ์ออฟฟิศด้วย เพราะว่า Supplier คือคนเดียวกัน ต่อมาเราก็กระโดดมาในฝั่ง Art Supply คือคุณยายเขาไปซื้อห้องแถวอีกหนึ่งห้องอยู่ตรงข้ามโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งอยู่คูหาใกล้ ๆ วัตถุประสงค์ของคุณสมใจต้องการจะขยาย 4 สาขาเพราะมีลูก 4 คน คุณสมใจเริ่มทำสาขาใหญ่ คือสาขาที่ 2 เพราะอยู่ตรงข้ามเพาะช่าง ซึ่งนักเรียนที่เดินเข้ามาซื้อจะเป็นนักเรียนเพาะช่าง สมใจเลยเริ่มขยายไปที่ธุรกิจฝั่ง Art Supply ด้วย
SME One : ร้านสมใจเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว ถึงจุดหนึ่งต้องใช้ระบบอะไรมาช่วยพัฒนาธุรกิจ เพราะมีสาขามากขึ้น
คุณนพนารี : เราพยายาม Limit Resource คือสาขาที่ 4 เราเปิดตอนนั้นจะอยู่ละแวกเดียวกันหมดเลย คือ สมใจตรงข้ามสวนกุหลาบมี 2 สาขา เพาะช่าง 1 สาขา ศูนย์การค้าดิโอลด์ สยาม 1 สาขา พอสาขาที่ 5 คือสาขาตึกวรรณสรณ์ สาขานั้นจะเป็นช่วงระหว่าง Gen 1 กับ Gen 2 ยังทำงานร่วมกันอยู่ Gen 2 ก็มีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้คือ ระบบ POS (Point of Sale)
การมีเครื่อง POS ช่วยผ่อนแรงเราอย่างไร คือเราไม่จำเป็นต้องให้ญาติซึ่งเราไว้ใจไปเฝ้าร้านอีกแล้ว เราสามารถจ้างผู้จัดการร้านได้ จ้างคนให้เข้ามาดูแลโดยใช้ระบบควบคุม เราเริ่มใช้ Inventory Management ตั้งแต่สาขาที่ 5 เป็นต้นมา
ทุกวันนี้สมใจยังเป็นระบบเครือญาติ แต่เรามีโครงสร้างผู้ถือหุ้นชัดเจน โดยมีพี่น้องเจน 2 ทั้ง 4 คนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก รายได้ของสาขาก็จะส่งเข้าบริษัทแม่
SME One : พอมารุ่นที่ 3 เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
คุณนพนารี : มองการเปลี่ยนแปลงได้หลายทาง แต่คิดว่าน่าจะเป็น 3 มุมมอง 1. การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค 2. การเปลี่ยนแปลงในแง่การบริหารธุรกิจ 3. การเปลี่ยนแปลงในแง่มี Tools อะไรเข้ามาเป็นตัวเร่งการเติบโตของธุรกิจ
ในแง่ของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง มี Demand ที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก ด้วยความที่ว่าเขารับสื่อหลายทางมาก แล้วเขาก็มี Channel ในการที่จะตอบสนองความต้องการ ปัจจุบันเข้า Shopee เข้า Lazada หรือค้นหาใน Alibaba ก็จะเจอ Stationery มากมาย เดินผ่านหลายร้าน ห้างเปิดตัวใหม่อะไรทำนองนี้ ถ้าเทียบกับสมัยคุณสมใจที่ก่อตั้งมาจนวันนี้ตัวเลือกลูกค้ามีเยอะกว่ามาก ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทันที
ส่วนทางฝั่ง Demand การซื้อเครื่องเขียนก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก อย่างเช่น เมื่อก่อนอ่านการ์ตูน เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ไม่อ่านการ์ตูน อ่านในมือถือ หรือแต่ก่อนจะชอบซื้อภาพประกอบการศึกษา จัดบอร์ด เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะ Print เอาได้ โหลดใน Google มีหมด มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะสำหรับตัวผู้บริโภค
ส่วนในเรื่อง Management กับทีมบริหารของทางสมใจ แต่ก่อนเราบริหารแบบ Passive คือขอแค่ว่ามีคนมาติดต่อเราไปเปิด ยิ่งเราขยายมากขึ้น ความมั่งคั่งก็จะมากขึ้นตามการขยาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เราต้องมีวิธีรุกมากขึ้น Active เพื่อให้เกิด Profit หรือ Revenue ที่มากขึ้น เราต้องมีแผนก Marketing เพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนที่เป็นระบบกงสี แค่ซื้อมาขายไปธรรมดาก็ต้องมีการทำ Branding ต้องขยายไปขายใน Platform ออนไลน์
เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง Tools การ Digitize องค์กรหรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดข้อมูลผ่าน Tools ที่เป็น Digital ให้กับ End User ได้มากขึ้น อย่างในองค์กรเราก็มีการพัฒนาระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ภายในให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ใช้ Data ในองค์กรเพื่อคาดคะเนยอดขาย หรือ คัดเลือกสินค้าเพื่อให้ถูกใจผู้บริโภค มีการทำ Marketing ผ่านทาง Facebook Website หรือ Instagram เพื่อให้ End User ได้เห็นเรา
SME One : ปัจจุบันสมใจมีช่องทางการขายกี่แพลตฟอร์ม
คุณนพนารี : เราแบ่งการขายเป็น 2 ช่องทางหลัก คือออฟไลน์กับออนไลน์ ส่วนในออฟไลน์เราจะแบ่งเป็นขายส่งกับขายปลีก ประมาณ 25% กับ 75% ในช่องทางออนไลน์เราจะแบ่งเป็น E-Commerce ผ่านเว็บไซต์เรา หรือ Marketplace ส่วน Social Commerce จะขายผ่าน Facebook, Line@, Instagram ช่องทางออนไลน์ตอนนี้ยังทำตัวเลขประมาณ 10% แต่แนวโน้มตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าตัว Accelerate ที่ชัดเจนของปีนี้ คือตอนโควิด-19 ระบาด เราเปิดเหลือแค่ 6 สาขาจาก 25 แต่มีออนไลน์ช่วย ผู้บริโภคก็จะรู้วิธีหรือคุ้นเคยกับการใช้ E-Commerce มากขึ้น
การเปิดรับในที่นี้ไม่ใช่ว่ามาในลักษณะเพื่อซื้อของผ่านทางออนไลน์ แต่บางทีอาจจะติดต่อเราผ่านออนไลน์เพียงเพื่อจะถามว่าสาขานี้มีของหรือไม่ สาขานี้ของมาหรือยัง ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มผู้บริโภคที่เป็น Aging Society ก็ใช้เครื่องมือนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
SME One : ในส่วนของร้านค้า เรามีกี่ขนาด เราแบ่งประเภทอย่างไร
คุณนพนารี : ขนาดของร้านเราแบ่งเป็น 3 ประเภทตามขนาดร้าน S M L ส่วนการคัดเลือกเลือกสินค้าให้ Match กับ Location เราใช้ Data ที่เรามีมา Categorize จะดูเอกลักษณ์ของสาขา Predict เอกลักษณ์ของสาขาที่เรากำลังจะเปิดว่า Match กับสินค้ารูปแบบไหน แล้วเราก็ทำโมเดลของเราขึ้นมาว่าเราควรจะต้องมีสินค้าอะไรบ้างสำหรับสาขาใหม่ที่จะเปิด หลังจากนั้นก็ต้อง Monitor ว่าผ่านไปในช่วง Quarter แรก ร้านผ่าน Assumption เราหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องมีการปรับโฉม
ในส่วนที่เป็น Niche Product ถ้าไม่นับออนไลน์ เราต้องเลือกว่าสินค้า Niche จะลงที่ไหน อย่างเช่น สาขาดิโอลด์ สยาม คือขุมทรัพย์ของอุปกรณ์ศิลป์ ยกตัวอย่างสี Gouache ในประเทศไทยจะมีร้านสมใจขายที่เดียว แล้วก็มีอยู่ร้านเดียว คือดิโอลด์ สยาม นอกจากดิโอลด์ สยาม เรา Expand มามากขึ้นคือขายที่ออนไลน์ด้วย เพราะ Inventory มันอยู่ที่เดียวกัน หรือถ้าลูกค้ามองหาเครื่องตอกบัตร ซึ่งเป็น Office Supply ก็อาจจะมีแค่ 2 สาขา คือ สาย 4 หรือ สาขาราชพฤกษ์
SME One : เราเคยคุยกับผู้บริโภคไหม ว่าภาพของคนที่มองมาที่ร้านสมใจ เขานึกถึงอะไร
คุณนพนารี : เราเคยทำ Survey ช่วงหนึ่งว่า เวลานึกถึงสมใจนึกถึงอะไร เราได้ภาพของป้า Hipster คนหนึ่งที่มีทุกอย่าง เวลาหาอะไรไม่เจอก็มาสมใจ กับอีกภาพหนึ่ง คือพนักงานใจดี รู้ทุกเรื่อง นี่คือ Feedback ที่ได้มา เราก็พยายามรักษาภาพลักษณ์เรื่องความครบครัน เรื่องความคุ้มค่าของสินค้า เราพยายามรักษาราคาให้เป็นเราตลอดเวลา แล้วพยายามเลือกสินค้าให้หลากหลายครอบคลุมสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังกับเรา ข้อที่ 2 เราพยายามรักษาเอกลักษณ์ความเป็นผู้เชี่ยวชาญของพนักงานเราตลอดเวลา อันดับสุดท้ายเราพยายามจะรักษาความเป็นร้านสมใจที่ Easy to reach สำหรับลูกค้า
SME One : เราวางเป้าหมายการขยายธุรกิจไว้อย่างไร
คุณนพนารี : เราคงขยายของเราไปเรื่อย ๆ โดยเปิดสาขาของเราเอง ตอนนี้เรายังไม่ได้มีความคิดเรื่องที่จะนำเอาระบบแฟรนไชส์เข้ามาใช้ เรายังคงยึดแนวคิด Enhancing End User's Lifestyle โดยสามารถปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ สมใจจะไม่เหมือนแบรนด์ใหญ่ ๆ คือเราจะมีความ Sexy ความเป็นเอกลักษณ์ของสมใจเอง ซึ่งเราก็พยายามจะ Preserve ตรงนี้ไว้แล้วก็ขยายสาขาไปเรื่อย ๆ
SME One : มาถึงยุคปัจจุบันที่เรียกยุค Post-PC คนใช้การสไลด์จอบนสกรีนกันหมด เรามองเป็นปัญหาหรือโอกาส
คุณนพนารี : ก็มีไปลดปริมาณความต้องการในการใช้ในบางจุด แต่ถ้าเป็น Stationery Category ยังมองว่าไม่ได้ Drop ขนาดนั้น ทั่วไปคนก็ยังมีปากกาใช้ แต่มัน Drop ในแง่ความหลากหลายที่คนจะใช้ สมมติว่าปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน แต่ก่อนอาจจะต้องมีทั้งหมด 20 แบรนด์ในร้าน ทุกวันนี้อาจจะ Select เหลือแค่ 5 แบรนด์สำคัญ แล้วคนก็จะใช้แค่นั้น เราก็ปรับตัวตามนั้น แต่ถ้าในโหมด Art Supply มันก็จะมีแบบการใช้ Digital เข้ามาแทนที่ด้วย อย่างเช่น แต่ก่อนใช้ปากกาสีระบายสี เดี๋ยวนี้มี Pad Illustrator ซึ่งเราก็ขาย Pad Illustrator เรามีการขายสินค้าประเภท IT มากขึ้นด้วย เพราะเรามองว่าเราเป็น Enhancing People's Lifestyle ไม่แปลกที่สมใจจะขายสินค้า IT ได้ เพราะมันทำให้ Enhance ผู้บริโภค
SME One : ในฐานะผู้บริหารรุ่นที่ 3 เราจะต่อยอดธุรกิจของครอบครัวอย่างไร
คุณนพนารี : เราทำการตลาดเป็น New Move ของแบรนด์เรา และมีการทำ Merchandise Product เราเอง หนทางที่จะไปต่อก็คือ เราไม่สามารถวาง Goal แบบ 5 ปีจะเป็นยังไงได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่าง Abrupt หมด ก็เลยมองว่าตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำ คือทำข้างในองค์กรเราให้มี Strongest ERP ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมายนั้น
เรามองว่าถ้าเราสามารถทำให้ระบบเราแข็งแรง จะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ ไม่ใช่ถูกใช้แค่ Top Management แต่ระดับผู้จัดการก็สามารถดึงเอาข้อมูลมาให้ทำงานได้ง่ายขึ้น อันนี้คือ เป้าหมายในมุมมองของเรา นอกจากนี้ก็ยังต้องมองเรื่องการขยายสาขา และพัฒนา E-Commerce ไปเรื่อย ๆ
SME One : ถ้ามีคนมาขอคำปรึกษาอยากจะเปิดร้านเครื่องเขียนหรือร้านค้าเล็ก ๆ จะให้คำแนะนำอะไร
คุณนพนารี : ไม่ต้องมาออฟไลน์ ไปออนไลน์เลย คุณเสีย Investment น้อยมาก ไปอยู่กับ Platform ทุกวันนี้ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราคงยังไม่สร้างเว็บไซต์ เราคงไปใช้ Marketplace และดูพฤติกรรมลูกค้าก่อน เพราะว่าสมใจมีการแก้ไขเว็บไซต์มาน่าจะ 4 รอบแล้ว แก้ไขตามความต้องการของลูกค้า ตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าคุณไปอยู่ใน Marketplace คุณจะเห็นพฤติกรรม คุณจะรู้ Pain Point แล้วคุณจะรู้ว่าคุณจะสร้างอะไร ส่วนตัวมองว่าคนที่เติบโตใน Marketplace มีเยอะมาก
ส่วนข้อที่อยากให้พึงระวัง คือ อย่าใจใหญ่ อย่าลองอะไรใหญ่ ๆ มองว่าการทำธุรกิจ Step by step คือความปลอดภัย แล้วยิ่งถ้าเราเป็น Starter สมมติจะขายเครื่องเขียนก็ไม่ใช่สั่งทุกอย่างมาลงหมด เราต้องลองก่อนว่ามันขายอะไรแล้ว Feedback ดี แล้วจึงค่อย ๆ ขยาย
บทเรียนจากความสำเร็จของร้านสมใจที่ร้านค้าขนาดเล็กสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่เริ่มต้น ก็คือ ทุกธุรกิจควรดำเนินไปอย่าง Step by step ก้าวช้า ๆ อย่างมั่นคง และเรียบรู้ feedback จากลูกค้าระหว่างทาง เพื่อการปรับธุรกิจให้ตอบโจทย์กับลูกค้า และเข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เช่น การปรับจากร้านขายหนังสือสารานุกรมมาเป็นร้านเครื่องเขียน, การปรับปรุงระบบแคชเชียร์ด้วยการนำเอาระบบ POS มาใช้ หรือแม้กระทั่งการปรับตัวด้วยการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ ๆ เช่น Social Commerce & E-Marketplace เป็นต้น
Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่คิดอยากจะตั้งโรงงานของตัวเอง เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังไม่แน่ใจว่าต้องดำเนินการขออนุญาตอย่างไร เพื่อให้ถูกกฎหมาย …ก่อนที่จะไปรู้ถึงขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน มาดูกันว่า โรงงานของคุณนั้นจัดอยู่ในจำพวกใด
ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวก คือ
โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า และมีคนงานไม่เกิน 20 คน โรงงานจำพวกนี้ สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ (ยกเว้นโรงงานที่มีมลภาวะให้จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3)
โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานที่มีเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 50 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาต ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนประกอบกิจการ รวมถึงต้องต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ประกาศกระทรวงฯ และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีทุกปี ในวันครบรอบวันเริ่มประกอบการ
โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานที่มีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ โรงงานจำพวกนี้จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 หากต้องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จะต้องดำเนินการตาม 4 ขั้นตอนต่อไปนี้
ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการยื่นคำขอรับใบอนุญาต (ร.ง.3) ต่อหน่วยงานผู้อนุญาตในท้องที่ที่จะตั้งโรงงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เรียบร้อยก่อนการอนุญาต ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 35 วัน
ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอใบอนุญาต (แบบ ร.ง.3) พร้อมเอกสารประกอบคำขอและเอกสารผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งโรงงาน โดยจะต้องยื่นภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันประกาศสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่ครบถ้วนถูกต้อง จะไม่รับคำขอ พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนก่อนนำมายื่นใหม่ในภายหลัง
เมื่อเจ้าหน้าที่รับคำขอแล้วจะดำเนินการพิจารณาเอกสารและตรวจสอบข้อเท็จจริงของทำเลที่ตั้งโรงงาน การประกอบกิจการ กระบวนการผลิต การป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ และการบำบัดมลพิษต่างๆ พร้อมจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบ
หลังจากตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบ หากได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และดำเนินการตั้งโรงงานภายในระยะเวลาที่ระบุในคำขออนุญาต จากนั้นให้แจ้งเริ่มประกอบกิจการและชำระค่าธรรมเนียมรายปี (ก่อนเริ่มประกอบการ 15 วัน ) หากเป็นในกรณี ไม่อนุญาต ผู้ประกอบการยังสามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 30 วัน
Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ในความฝันของคนที่คิดอยากจะเริ่มต้นธุรกิจ เชื่อว่า ร้านกาแฟ เป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ แต่อย่างที่ทราบกันดี ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่สามารถเปิดได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ปิดตัวลงได้ง่ายเช่นกันด้วย เรียกว่าเป็นธุรกิจปราบเซียน ที่ใครไม่เจ๋งจริง ก็ยากที่ฝ่าสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดกาแฟไปได้ แต่อย่างไรแล้ว ความหอมหวลของธุรกิจกาแฟก็ยังมีมากจนทำให้หลายคนพร้อมที่จะลุยไปกับธุรกิจนี้
จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยมูลค่าธุรกิจกาแฟไทยที่มีมากถึง 21,220 ล้านบาทในปี 2560 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดกาแฟในประเทศไทยนั้นมีการขยายตัวทั้งในแง่ของผู้เล่นในตลาด ที่มีตั้งแต่รายใหญ่ ซึ่งเป็นระดับ Global Brand ยักษ์ใหญ่ในประเทศ เรื่อยไปถึงจนถึงผู้เล่นรายกลาง รายเล็ก และรายย่อย ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน ขณะเดียวกันฝั่งผู้บริโภคเองก็มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมานิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่บอกไว้ว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 4 ของประเทศในอาเซียนที่ติดอยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก ที่มีการบริโภคกาแฟโดยเฉลี่ยมากที่สุด โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 36 มาเลเซียอันดับที่ 45 และฟิลิปปินส์ติดอยู่ที่อันดับ 49
ทั้งนี้ จากความเห็นของกูรูด้านกาแฟเมืองไทยอย่าง คุณชาตรี ตรีเลิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเบอร์รี่ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องชง อุปกรณ์การทำกาแฟระดับพรีเมียม และผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Pacamara Coffee Roasters บอกไว้ว่า ปัจจุบันตลาดกาแฟที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด คือ “ตลาดกาแฟคั่วบด” ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ความนิยมดื่มกาแฟคั่วบดมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าในตลาดกาแฟคั่วบดนั้น “กลุ่มกาแฟพรีเมียม” ซึ่งหมายถึงร้านกาแฟที่ใช้กรรมวิธีการชงในแบบเครื่องชงเอสเพรสโซ่แล้วนำไปผสมเป็นเมนูต่างๆ รวมถึงมีการคัดสรรเมล็ดกาแฟ ซึ่งร้านกาแฟพรีเมียมสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก ตามระดับราคา รูปแบบธุรกิจ และการตกแต่งร้าน นับเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและน่าสนใจ
สะท้อนให้เห็นได้จากเจ้าตลาดกาแฟพรีเมียม อย่าง Starbucks ที่มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แบรนด์ไทยอื่นๆ เองก็พยายามที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดกาแฟพรีเมียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งนี้ เป็นผลจากพฤติกรรมการดื่มกินของคนปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของวัตถุดิบมากขึ้น รวมถึงช่วงอายุของผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟจากเดิมจะอยู่ที่ 23 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้เริ่มลดลงมาอยู่ในช่วงอายุ 16-18 ปีขึ้นไป จึงทำให้ฐานผู้บริโภคกาแฟนั้นกว้างและมีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสของธุรกิจกาแฟยังเติบโตได้อีกมาก
แน่นอนว่าทุกแบรนด์มองเห็นโอกาสเช่นเดียวกันหมด ฉะนั้นการจะอยู่รอดและแข่งขันได้สำหรับแบรนด์เล็กๆ คุณชาตรี แนะนำว่า ต้องรู้จักธุรกิจและรู้จุดยืนของตนเองให้ดี พร้อมทั้งโฟกัสตลาดอย่างชัดเจน เพราะอย่างไรแล้ว ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าตลาดหรือครองตลาดได้ทุกกลุ่ม (Segment) แม้แต่ Café Amazon ถึงจะเป็นแบรนด์ที่ได้ชื่อว่ามีสาขามากที่สุด แต่ก็ยังวางตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ในกลุ่มหนึ่ง หรือ Starbucks อาจจะทำบางอย่างไม่ได้เหมือนกับแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ดังนั้นจะเห็นว่า แต่ละแบรนด์จะมีจุดยืนของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป และนั่นคือ สิ่งที่ SME ต้องทำเช่นกัน เข้าใจแบรนด์ของตัวเองให้ได้ เพื่อหาจุดแตกต่างของธุรกิจให้เจอ
หากมองเทรนด์ของธุรกิจกาแฟจะเห็นว่า เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเมนู หรือรสชาติกาแฟเท่านั้น แต่จะเริ่มเห็นถึงความหลากหลายของธุรกิจกาแฟที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีกับร้านกาแฟ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและกลมกล่อมอย่างมากสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่
ยกตัวอย่าง ร้านกาแฟแบรนด์ดังของจีน อย่าง Luckin Coffee สตาร์ทอัพกาแฟเจ้าถิ่นแดนมังกร ที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Starbucks ได้ ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี สามารถขยายสาขาได้มากกว่า 2,000 แห่ง และยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 2,500 แห่งภายในสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่า จำนวนสาขาของ Luckin Coffee กำลังจะแซงหน้า Starbucks ที่เข้ามาเปิดตลาดในจีนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วและมีสาขาประมาณ 3,600 แห่ง
โดยปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ Luckin Coffee เป็นที่นิยมของชาวจีนอย่างมาก นอกเหนือจากกลยุทธ์การตั้งราคาที่เน้นความถูก ซึ่งเฉลี่ยราคาเครื่องดื่มของ Luckin Coffee จะถูกกว่าของ Starbucks ประมาณ 20 – 30% แล้ว สิ่งที่ทำให้กาแฟท้องถิ่นรายนี้โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ การเป็นร้านกาแฟแห่งเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การบริโภคสไตล์จีนได้เป็นอย่างดี เพราะทุกๆ การสั่งซื้อและการชำระเงินจะทำผ่านแอปพลิเคชันทั้งหมด โดยจะการมีบริการเดลิเวอรี่จัดส่งถึงที่ภายใน 30 นาที หรือลูกค้าสามารถเดินออกไปรับกาแฟเองได้ที่สาขาที่สะดวกที่สุด ซึ่งนับเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการใช้จ่ายแบบเงินสด และต้องการความสะดวกรวดเร็วนั่นเอง
เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น เมื่อผู้ผลิตกาแฟพร้อมดื่มแบรนด์ BOSS ลุกขึ้นมาเปิดร้านกาแฟที่ชื่อว่า TOUCH-AND-GO COFFEE ซึ่งจุดเด่นของร้านนี้คือ การที่ลูกค้าสามารถสั่งกาแฟ โดยเลือกเมนูตามที่ต้องการได้ผ่านทาง LINE Official Account พร้อมชำระเงินผ่าน LINE Pay หรือบัตรเครดิตก็ได้ จากนั้นลูกค้าสามารถกำหนดเวลาในการไปรับกาแฟได้เอง โดยสามารถไปรับกาแฟได้ที่ Locker ตามหมายเลขที่แจ้งเตือนเข้ามา กลายเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ที่มอบให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟในยุคนี้ ซึ่งเป็นการเชื่อมผสานระหว่างออนไลน์ (Online) กับออฟไลน์ (Offline) ได้เป็นอย่างดี
ด้วยโอกาสมหาศาลในธุรกิจกาแฟ ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะผู้เล่น ในธุรกิจกาแฟให้เข้ามาช่วงชิงตลาดเท่านั้น ยังมีผู้เล่นที่ไม่ได้อยู่ในตลาดกาแฟโดยตรง พากันกระโดดเข้ามาร่วมวงชิงเค้กก้อนนี้กันอย่างสนุกสนาน ใครจะคิดว่าเครื่องดื่มน้ำดำอย่าง โค้ก ก็ขอเกาะกระแสโตไปด้วย โดยภายในสิ้นปีนี้ โคคา-โคลา บริษัทเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลกตั้งเป้าที่จะวางขาย โคคา–โคลา คอฟฟี่ (Coca-Cola Coffee) ให้ได้ใน 25 ตลาดทั่วโลก
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการดื่มน้ำอัดลมไปสู่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง ซึ่งโคคา– โคลา คอฟฟี่ เป็นเครื่องดื่มที่ผสมระหว่างโค้กและกาแฟ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการน้ำตาลน้อยแต่อยากได้คาเฟอีนเพิ่มขึ้น ซึ่ง โคคา–โคลา คอฟฟี่นั้นมีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟทั่วไปเล็กน้อย แต่ก็เป็นปริมาณที่มากกว่าน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ซึ่งในการทำเครื่องดื่มแบบนี้ออกมา เพราะโคคา-โคลาเอง ต้องการจับกับกระแสกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มของธุรกิจกาแฟที่มีการเติบโตด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับ เบอร์เกอร์คิง ที่หันมานำเสนอบริการแบบใหม่ เพื่อขยายฐานคอกาแฟ โดยทาง เบอร์เกอร์คิง ฟาสต์ฟู้ดระดับโลก ได้หยิบเอาระบบสมาชิก (Subscription) มาใช้กับธุรกิจ โดยลูกค้าจ่ายเพียงแค่ 5 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็สามารถดื่มกาแฟได้ทุกวันๆ ละแก้ว โดยต้องทำการโหลดแอปพลิเคชัน BK® Café Coffee เพื่อสมัครสมาชิก ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้คนหันมาโหลดแอปของทางแบรนด์และแวะเวียนเข้ามาที่ร้านทุกวันแล้ว ยังตอบสนองความต้องการของนักดื่มที่คำนึงถึงความคุ้มค่าในการดื่มกาแฟอีกด้วย
จากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย “ธุรกิจร้านกาแฟ บริหารอย่างไรให้รุ่ง” ได้เผยถึงเคล็ดลับสำหรับการลงทุนเปิดร้านกาแฟเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยแนะนำ 5 ข้อควรรู้!! ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมตัวให้พร้อม
1.เตรียมพร้อมเรื่องการเงิน เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และมีระยะเวลาคืนทุนนาน ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน อาจเลือกใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น เงินสะสมที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในยามปกติ และสามารถนำไปลงทุนในระยะยาวได้ หรือพิจารณาใช้เงินสะสมร่วมกับแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน
2.บริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ด้วยต้นทุนคงที่ที่อาจจะสูงถึง 60% ของต้นทุนรวม เช่น ค่าเช่าที่ที่มีราคาสูงในย่านธุรกิจหรือห้างสรรพสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการควรบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เปิดร้านในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือหากมีความจำเป็นต้องเช่าพื้นที่ อาจจะมีการแบ่งพื้นที่การใช้งานและปล่อยเช่าให้กับผู้อื่น
3.ควบคุมอัตรากำไรส่วนเกินให้ดี เพื่อให้เกิดกำไรสุทธิสูงสุด ผู้ประกอบการควรควบคุมอัตรากำไรส่วนเกินให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 60-70% ผ่านการควบคุมต้นทุนแปรผันและราคาขายในผลิตภัณฑ์หลัก รวมถึงการเพิ่มรายได้ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอัตรากำไรส่วนเกินที่สูง เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่มทางเลือก เมล็ดกาแฟสำเร็จรูป อุปกรณ์การการชงกาแฟ เป็นต้น
4.วิเคราะห์ความต้องการลูกค้าเชิงลึก ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์ถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเชิงลึก ยิ่งในภาวะที่การแข่งขันสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าที่จะได้รับ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในสินค้าและบริการ โดยผู้ประกอบการอาจจะต้องสังเกตและติดตามเทรนด์และแนวโน้มของตลาด เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้กับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
5.เพิ่มการประชาสัมพันธ์ช่องทางใหม่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าหน้าใหม่ รวมถึงดึงดูดลูกค้ากลุ่มเดิมให้เข้ามาใช้บริการอีก เนื่องจากรายได้ของร้านกาแฟมักมาจากลูกค้าประจำที่กลับมาซื้อซ้ำในแต่ละวัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเสนอโปรโมชั่นต่างๆ แทนการลดราคา เพราะการลดราคาอาจนำไปสู่สงครามราคาที่จะก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ประกอบการเอง
Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
เทศกาลตรุษจีนในปี 2020 นี้ ถือเป็นฝันร้ายของชาวจีน เนื่องจากประเทศจีนได้ถูกโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โจมตีทั่วประเทศทำให้ต้องปิดบ้านปิดเมือง ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ที่คล้ายกับโรคซาร์สในปี 2003 โดยหลังจากผ่านวิกฤตโรคซาร์สในครั้งนั้นเศรษฐกิจจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมใหม่มากมาย ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังจากการระบาดของโรคร้ายดังกล่าว เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่จีนต้องเผชิญกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จนทำให้มีการคาดการณ์ว่า จะมีการพัฒนาของอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ถึง 9 ประเภท หลังวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ดังนี้
อุตสาหกรรมยา เช่น การพัฒนาวัคซีน การทดสอบไวรัส และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางชีวภาพ โดยคาดว่ารัฐบาลจีนจะกำหนดนโยบายเพิ่มเติมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของประชาชน ภายหลังจากการระบาดของโรคเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคในครั้งนี้พบว่า มีบริษัทหลายรายเริ่มพัฒนาสารเคมีที่สามารถตรวจสอบผลลัพธ์ได้ภายในครึ่งชั่วโมง แสดงให้เห็นว่า การวิจัยทางการแพทย์และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในประเทศจีนอยู่ในขั้นสูงมาก ซึ่งทำให้ต่อจากนี้บริษัทเหล่านี้น่าจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาอุตสาหกรรม AI เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงของการระบาดของโรคในครั้งนี้ โดยพบว่า บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ AI หลายรายได้มีส่วนช่วยในการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในมณฑลหูเป่ยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น ได้นำหุ่นยนต์ AI เข้ามาใช้ในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคแล้ว ยังช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ AI Big Data ยังได้สร้างผลงานที่ดีในการตรวจสอบจำนวนประชากรจีนในมณฑลหูเป่ยจำนวน 5 ล้านคน ที่เดินทางออกนอกพื้นที่ พร้อมกับประยุกต์ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการระบุตำแหน่งของบุคคลที่เดินทางออกจากมณฑลหูเป่ยอีกด้วย ขณะที่ในเทคโนโลยี AI ของอาลีบาบาก็ได้เข้ามามีส่วนในกระบวนการพัฒนาและ คิดค้นวัคซีนให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการใช้ AI ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น
การเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง จะเห็นได้จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ว่า การมีภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคและความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์สหรือโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล โดยคนที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสน้อย หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันแต่ติดเชื้อไวรัสก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและมีโอกาสในการ รักษาหายได้ง่ายกว่า เป็นต้น
การเพิ่มภูมิคุ้มกันจากยารักษาโรคมีความสำคัญมากพอๆกับการมีร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงเริ่มตระหนักถึงการออกกำลังกายและการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จึงคาดว่า เครื่องออกกำลังกายและอุปกรณ์กีฬาจะขายได้ดีมากขึ้นและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องออกกำลังกายที่สามารถใช้ภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยหลบเลี่ยงการพบปะหรือรวมตัวของผู้คน ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการติดโรค จะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม และมีความต้องการในการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การรักษาสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนทุกคนเริ่มตระหนักว่า สภาพแวดล้อมที่ไม่แข็งแรงหรือไม่บริสุทธิ์ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการแพร่กระจายของโรคและการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ดังนั้น เมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไป อุตสาหกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อม จะเข้าสู่ยุคของความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ไม่เพียงแต่ทุกคนจะให้ความสำคัญกับการรักษาและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้บริสุทธิ์ แต่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเพิ่มการลงทุนและจัดสรรงบประมาณ เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้ซื้อไม่ต้องเจอผู้ขาย ซึ่งการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการพบปะและการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เพราะมีความหวาดระแวงต่อการแพร่ระบาดของโรค ประกอบกับยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน จึงส่งผลกระทบในระยะสั้น ทำให้ร้านค้าต่างๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้การซื้อของออนไลน์กลายเป็นรูปแบบการค้าขายที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งคาดการณ์ว่า หลังจากการระบาดของไวรัสจะมีการพัฒนาการค้าออนไลน์และรูปแบบการค้าแบบอีคอมเมิร์ซในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนพบหรือสัมผัสคนโดยตรง ซึ่งการซื้อขายออนไลน์ดังกล่าวจะมีความก้าวหน้าไปอีกขั้นอย่างแน่นอน
ธุรกิจการศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกับการค้าอีคอมเมิร์ซคือ ผู้รับบริการไม่ต้องสัมผัสหรือติดต่อกับคนโดยตรง เมื่อการติดต่อของมนุษย์กลายเป็นความเสี่ยง แต่การศึกษายังเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้น ทุกคนจึงทำได้เพียงเรียนผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของตลาดการศึกษาจีน เนื่องจากประเทศจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรและให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งหากธุรกิจดังกล่าว ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะสร้างผลประโยชน์และมูลค่าได้อย่างมหาศาลอย่างแน่นอน
เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส วิธีที่ดีที่สุดก็คือให้ทุกคนอยู่แต่ในบริเวณบ้าน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ และการพบปะผู้คนให้น้อยที่สุด ดังนั้น เมื่ออยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย มีแต่กิจกรรมที่ซ้ำซากจำเจ ทำให้เกมมือถือกลายเป็นรูปแบบความบันเทิงใหม่ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย สามารถสร้างความบันเทิงและโอกาสในการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ออนไลน์ได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงคาดการณ์ว่า ตลาดเกมมือถือในจีน จะได้รับการพัฒนาให้มีความหลากหลาย และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต
ธุรกิจ We Media เติบโตและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในครั้งนี้ ที่ส่งผลให้ประชาชนต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกตินอกบ้านได้ ทำให้เกิดโอกาสมากมายแก่ชาว We Media ที่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ ถ่ายคลิปวีดีโอสั้นๆ และเผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ประกอบกับโลกออนไลน์ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสาร ติดตามสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงคาดการณ์ว่า ธุรกิจ We Media จะได้รับการพัฒนารูปแบบให้มีความก้าวหน้า น่าสนใจ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
การปรับตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวจีนหลังวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาด จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมากในระยะสั้น เนื่องจากประชาชนอาจจะยังมีความหวาดระแวงต่อการแพร่ระบาดของโรค และกลัวการออกจากบ้าน หรือประชาชนบางส่วนอาจหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บางชนิดจากต่างประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคสินค้าและบริการที่สามารถใช้บริการได้แม้จะอยู่แต่ในบ้าน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคและความต้องการของตลาดจีน รวมทั้งการปรับตัวของธุรกิจต่างๆของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการค้าที่เหมาะสมและแสวงหาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในการทวงคืนตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดจีนได้ทันท่วงที
การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่เดินทางออกไปจับจ่ายใช้สอยและเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้น ภาครัฐสามารถส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือใช้บริการได้แม้จะอยู่ในบ้าน นั่นก็คือ “สินค้าดิจิทัล” ได้แก่ สินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเท้นต์ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซอฟท์แวร์ เกม แอพพลิเคชั่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากประชาชนที่อยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยภาครัฐสามารถดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพระดับหนึ่งก่อน เพื่อเป็นการทดสอบตลาดควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำ Digital marketing โดยใช้นักแสดงไทยที่มีชื่อเสียงในตลาดจีน และ Online Promotion ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมของจีน ซึ่งในระยะสั้นอาจจะเป็นการสร้างการรับรู้ถึง Digital Product และศักยภาพของดิจิทัลคอนเท้นท์ในรูปแบบใหม่ๆของไทย ในขณะที่ ระยะกลางและระยะยาว จะเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยและประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และนำมาซึ่ง โอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมทั้งสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ด้วยขนาดของตลาดมุสลิมที่ใหญ่มหาศาล มีจำนวนผู้บริโภคทั่วโลกไม่น้อยกว่า 2,140 ล้านคน มูลค่าการค้ากว่า 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ในการที่จะขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าดังกล่าว แต่รู้ไหมว่า การจะขายสินค้าให้กับผู้บริโภคมุสลิมได้นั้น สิ่งสำคัญคือ สินค้าต้องผ่านการรับรองเครื่องหมายฮาลาล เพื่อยืนยันว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามหลักศาสนา สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อนั่นเอง
แล้วการที่ผู้ประกอบการ SME จะได้เครื่องหมายฮาลาล ควรต้องทำอย่างไร…มีคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มาฝากให้ได้รู้กัน…
ก่อนจะดำเนินการยื่นขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบก่อน นั่นคือ ในจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต มีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือไม่ หากมี ก็สามารถติดต่อดำเนินการได้เลย แต่ถ้าไม่มี การรับรองฮาลาลจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ที่ www.cicot.or.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2096-9499 (10 คู่สาย)
จากนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อม คือ เอกสารสำหรับการยื่นขอรับรองฮาลาล ประกอบด้วยเอกสารคำขอ HL.Cicot OC 01-08 ได้แก่ เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนขอรับรองฮาลาล คู่มือฮาลาลเพื่อการขอรับรอง (Halal Manual) สัญญาคำขอให้เครื่องหมายรับรองฮาลาล เป็นต้น (คลิกดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล)
หลังจากผู้ประกอบการยื่นเอกสาร ที่สำนักงานอิสลามประจำจังหวัดแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสาร กรณีไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะติดต่อให้ส่งเอกสารให้ครบถ้วนภายในเวลา 7 วันทำการ
ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการตรวจสอบสถานประกอบการ (คลิกดูรายละเอียดค่าธรรมเนียม) โดยจะได้รับใบแจ้งหนี้หลังจากส่งเอกสารขอรับรองฮาลาลไม่เกิน 15 วัน
ในขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะนัดหมายตรวจโรงงาน โดยแจ้งวันและเวลาในการตรวจรับรองสถานประกอบการ หลังจากนั้นคณะผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะเข้าตรวจสถานที่ และตรวจสอบตั้งแต่ วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต คลังสินค้า ตลอดจนการขนส่ง เป็นต้น ขั้นตอนนี้หากเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ตรวจรับรองฮาลาลเกิดข้อสงสัยในส่วนผสมบางอย่าง จะต้องส่งส่วนผสมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อความชัดเจน
หากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จะลงมติผลการตรวจรับรอง
จากนั้นจะส่งรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุมัติการใช้เครื่องหมาย เมื่อที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติ ก็จะดำเนินการออกหนังสือรับรองฮาลาลให้สถานประกอบการนั้นๆ สำหรับการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามฯ จะจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง
ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรับหนังสือรับรองฮาลาล ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี การนำเครื่องหมายรับรองฮาลาลไปใช้มีระเบียบและกติกามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การนำไปพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ การใช้เครื่องหมายในการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถศึกษาวิธีการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลเบื้องต้นได้ที่ ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติการขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลและการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ปี พ.ศ.2559
นอกจากนี้ กรณีที่ต้องการต่ออายุเครื่องหมายฮาลาล ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันก่อนหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องยื่นคำขอใหม่
Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย