เจาะทิศทางโลกการค้าออนไลน์ ปี 2022
หากพูดถึง อี-คอมเมิร์ซ บอกเลยว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดมาแรง และเป้นที่นิยมอยู่ในช่วงนี้ เพราะผู้ประกอบการ ที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ต่างต้องแย่งชิงพื้นที่ เพื่อให้ธุรกิจอยู่บนโลกออนไลน์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด วันนี้ SME ONE ได้นำเคล็ดลับดีๆ จากคุณ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com มาฝากชาว SMEs ทุกคน
Marketplace เป็นช่องทางการขายที่เติบโตสูงสุดของวงการ อี-คอมเมิร์ซ จากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของ Lazada, Shopee และ JD Central ทำให้ช่องทางการขายนี้เริ่มมีสัดส่วนทางการตลาดที่เติบโตขึ้น
Social Media แม้จะยังเติบโตอยู่ แต่การที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะให้แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน หรือผู้ให้บริการต่างๆ สามารถติดตามได้หรือไม่ ส่งผลให้การยิงโฆษณาของโซเชียลมีเดีย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญเริ่มมีความแม่นยำน้อยลงนั่นเอง
O2O Marketing ต่อไปจะขายออนไลน์หรือออฟไลน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องผสานทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกัน โดยร้านค้าจะเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็น Automation หรือระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ (Vending Machine)
D2C เมื่อออนไลน์ทำให้ผู้ขายและลูกค้าเข้าใกล้กันมากขึ้น จึงเกิดเทรนด์ใหม่อย่าง D2C (Direct to Consumer) หรือการที่แบรนด์และโรงงานขายสินค้าไปยังลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจและทำให้ลูกค้ามีแนวโน้มซื้อของต่อครั้งในปริมาณที่มากขึ้น
Data อาวุธหลักช่วยให้ธุรกิจสำเร็จ เพราะเราสามารถจดบันทึกว่าช่วงเวลาไหนขายดี สินค้าไหนขายดีที่สุด ยอดขายแต่ละวันเป็นอย่างไร ลูกค้าเข้ามาในร้านค้ากี่คน ลูกค้าเป็นใคร อายุเท่าไร ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้สามารถต่อยอดและวางกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
ทำความเข้าใจกับ Growth Mindset แบบไหนถึงพาธุรกิจโตไม่มีหยุด
การประกอบธุรกิจ ไม่ใช่มองแค่เรื่องการแผนงานที่ดี เงินทุน หรือไอเดียเริ่ดเพียงอย่างเดียว การที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ต้องมี Growth Mindset หรือแนวคิดแบบพัฒนาไปข้างหน้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะแต่ละคนมี Mindset หรือกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างกัน โดยกระบวนการคิดนี้ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น ถ้าเรามี Mindset ที่ดีก็ย่อมจะช่วยพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าได้
Growth Mindset คือ ทัศนคติเชิงบวก มีแนวคิดของการเติบโตพัฒนาไปข้างหน้า มีความยืดหยุ่น การปรับตัว เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และมีความเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น ในการทำธุรกิจหากสามารถมีวิธีคิดแบบ Growth Mindset และมองว่าทุกปัญหาที่เข้ามาไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นความท้าทาย ย่อมจะทำให้โอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นจริงได้
การมีวิธีคิดแบบ Growth Mindset ไม่ใช่เรื่องยาก ลองมาทำตาม 7 วิธีคิดต่อไปนี้ดูแล้วจะพบความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจ
1.มีความเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติบนโลกใบนี้ ยิ่งเปลี่ยนแปลงยิ่งทำให้เราเติบโตขึ้น ส่วนคนที่มี Fixed Mindset มักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ
2.เรียนรู้จากความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวคือโอกาสสำคัญที่เราจะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด แล้วจะปรับปรุงแก้ไขจุดบอดของตัวเอง
3.ไม่ปกปิดด้านลบของตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดขึ้นมาสมบูรณ์แบบ แม้ว่าคุณจะเก่งแค่ไหนก็ยังมีด้านลบของตัวเองเช่นกัน และคนที่มี Growth mindset จะพยายามถามหาฟีดแบคจากคนอื่นเสมอเพื่อให้เขาพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้น
4.ชอบเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย ความท้าทายทำให้เราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอยู่เสมอ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่มี Growth mindset จึงชอบงานยากๆ และไม่เคยคิดว่าตัวเองทำไม่ได้
5.คนเราพัฒนาได้จากการเรียนรู้ พร้อมรองรับองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่เคยปิดกั้นและคิดว่าตัวเองเก่งกว่าใคร เพราะเขาคิดว่าคนเราพัฒนาได้จากการเรียนรู้
6.ไม่ยึดติดผลลัพธ์ ทุกผลลัพธ์นำไปสู่การพัฒนา ทุกเรื่องที่ลงมือทำไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน หากสิ่งที่ทำออกมาดี ก็ดูว่าตรงไหนที่ดีและพัฒนาต่อไป ส่วนตรงไหนที่ออกมาแย่ก็เก็บไว้เป็นบทเรียนเพื่อให้ไม่ผิดพลาดซ้ำ
7.อุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่คือโอกาสที่จะได้ลอง เพราะบางทีเราต้องเจออุปสรรคในชีวิตที่เข้ามาทักทายกัน และสำหรับคนที่มี Growth mindset เขาไม่เคยกลัวอุปสรรค แต่กลับมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เมื่อไรที่ก้าวข้ามอุปสรรคนั้นไปได้ก็จะทำให้คุณเก่งขึ้น
อ้างอิง : https://www.smethailandclub.com/startup-startingabusiness/7700.html
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
Checklist ก่อนคิดนำบริษัทเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์
หากพูดถึง SME หรือ Startup ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ถึงระดับหนึ่งอาจจะเริ่มมองหาโอกาสที่จะนำกิจการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อที่จะขยายธุรกิจ ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจระดมทุน วันนี้ SME ONE อยากให้ Startup ทุกคนมา Checklist เตรียมความพร้อมใน 5 ประเด็น ต่อไปนี้
ระบบบัญชีได้มาตรฐานหรือยัง
สาเหตุที่ทำให้ SME หรือ Startup ไม่สามารถที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็เพราะขาดมาตรฐานการทำระบบบัญชีที่ตลาดหลักทรัพย์ให้การรับรอง ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชีที่จะต้องอยู่ในรายชื่อของ ก.ล.ต. ระบบการลงบัญชีที่มีการซ้ำซ้อนหลายฉบับ ตลอดจนวิธีการได้มาซึ่งรายได้ที่มีความน่าสงสัยเช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สามารถระบุที่มาได้อย่างชัดเจน การวางมาตราฐานบัญชีจากธุรกิจในครอบครัวเพื่อเตรียมตัวสู่มหาชนอาจต้องใช้เวลานานถึงสามปี ผู้ที่มีความคิดจะเข้าตลาดหุ้นจึงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าพอสมควร
วัตถุประสงค์ของการระดมทุน
พราะจะบ่งบอกว่าธุรกิจจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในอนาคต ส่วนมากแล้ววัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อที่จะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจให้เติบโต แต่บางครั้งวัตถุประสงค์ของการเข้าตลาดหุ้นก็อาจจะมีเพื่อลดภาระหนี้สินได้เช่นกัน ซึ่งประวัติที่ผ่านมากิจการที่ใช้วัตถุประสงค์ดังกล่าวมักจะไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรวมถึงราคาหุ้นหลังเข้าจดทะเบียน ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาถึงแนวทางการระดมทุนให้ดีเสียก่อน
โครงสร้างทางการเงินในอนาคต
เจ้าของกิจการจำเป็นต้องวางโครงสร้างทางด้านการเงินเอาไว้เป็นแผนระยะยาวของบริษัททั้งก่อนและหลังเข้าตลาดหุ้น เช่น จะใช้เงินขยายธุรกิจจากการกู้เงินธนาคาร ออกหุ้นกู้หรือการเปิดรับผู้ถือหุ้นใหม่ในเชิง Strategic Partners เพราะนี่คือคำถามที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องขอคำตอบจากเจ้าของกิจการ ซึ่งโครงสร้างทางด้านการเงินจะนำไปสู่แผนการขยายธุรกิจในอนาคต
โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังระดมทุน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นก็คือโครงสร้างของผู้ถือหุ้น แม้กิจการส่วนใหญ่มักจะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นเพียงกลุ่มเดียวหรือครอบครัวเดียว แต่บางกิจการก็อาจจะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นมากกว่าหนึ่งกลุ่มเช่นมีการเสนอขายหุ้นนอกตลาด (OTC) หรือมีกลุ่มนักลงทุนวีซีหรือนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าของกิจการจะต้องวางโครงสร้างของผู้ถือหุ้นไว้ว่าหลังเข้าตลาดหุ้นแล้วจะมีกลุ่มใดบ้าง หากจะมีการเปิดรับพันธมิตรหน้าใหม่เข้ามาอาจจะต้องมีการตกลงพูดคุยกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
การแบกรับความคาดหวังจากผู้ถือหุ้น
การเป็นบริษัทจำกัดอาจจะมีผู้ถือหุ้นเพียงกลุ่มเดียวหรือไม่กี่กลุ่มแต่การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นเจ้าของกิจการต้องรับมือกับความคาดหวังของผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการของเรา ปัจจัยนี้คือสิ่งที่เจ้าของกิจการจะต้องเตรียมตัวรับมือเอาไว้ด้วย
อ้างอิง : https://www.smethailandclub.com/finance/6889.html
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (Department of Business Development - DBD)
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริม พัฒนาธุรกิจ รวมทั้งงานจดทะเบียน, งานส่งเสริมสมาคมการค้าและหอการค้ามาจากกรมการค้าภายใน นอกจากนั้นยังมีภารกิจใหม่คือการส่งเสริมธุรกิจบริการและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาทำการปฏิบัติอย่างผสมผสานพร้อมกับภารกิจเดิม ที่เป็นงานด้านจดทะเบียนธุรกิจ การกำกับดูแลธุรกิจ และการให้บริการธุรกิจ
บริการจากทางศูนย์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการเปิดให้บริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 4 ด้าน ได้แก่
-การจดทะเบียนธุรกิจ โดยการให้บริการจดทะเบียนธุรกิจ สามารถขอรับบริการผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ www.dbd.go.th ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจองชื่อนิติบุคคลออนไลน์, การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration), การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured), และการเชื่อมโยงข้อมูลการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI (e-Foreign Certificate)
-การขอข้อมูลธุรกิจ การให้บริการข้อมูลธุรกิจ ครอบคลุมการให้บริการข้อมูลแก่ภาคธุรกิจและประชาชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การให้บริการหนังสือรับรอง, การรับรองสำเนานิติบุคคลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในรูปแบบของเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ (e-Service / e-Certificate / e-Certificate File), การให้บริการคลังข้อมูลธุรกิจ (DBD Data Warehouse+) ผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน DBD e-Service ทั้งระบบ Android และ IOS
-การส่งงบการเงิน การให้บริการด้านงบการเงินของนิติบุคคล ได้แก่ การให้บริการนำส่งงบการเงินและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด สามารถจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เสมือนการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีที่ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดประชุม
หรือหากบริษัทใดที่ยังไม่ได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ก็สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และเมื่อดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว นิติบุคคลสามารถนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-filing ของกรมฯ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้นำส่งไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในเชิงธุรกิจ
-การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ การให้บริการส่งเสริมธุรกิจ ครอบคลุมธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การให้บริการรับการอบรมออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ DBD Academy (www.dbdacademy.com) และการขอเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Registered และ DBD Verified ผ่านทาง www.trustmarkthai.com
กรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้น มีความมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กรภาครัฐชั้นนำ ที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรในด้านการให้บริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ.2570 เพื่อให้มีความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว และทันสมัย ตอบโจทย์ และเข้าถึงประชาชน ได้อย่างทั่วถึง
และมุ่งหวังที่จะสร้างพลังขับเคลื่อนธุรกิจไทยโดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมกับการใช้นวัตกรรมเพื่อผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ให้เข้มแข็ง แข่งขันได้ ตั้งแต่ระดับรายย่อย (MSME) ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ขนาดใหญ่ (SML) พร้อมรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ที่อยู่: 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทร : 0 2528 7600
โทรสาร : 0 2547 4459
อีเมล : secretary@dbd.go.th
เว็บไซต์ : dbd.go.th
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone