สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

 

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการทำนโยบายเพื่อนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้ขยายขีดความสามารถทางธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และมีรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

บริการจากทางศูนย์

  1. Talent Mobility บริการส่งนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญจากทางศูนย์ เข้าไปให้ความรู้และให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ
  2. การพัฒนายกระดับทักษะ เป็นการจัดอบรมฝึกฝนทักษะแห่งอนาคตให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 600 หลักสูตร
  3. Sandbox เป็นหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในสังกัดของอว. ในการออกแบบหลักสูตรสร้างบุคคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ตามความต้องการตามแต่ละสถานประกอบการได้
  4. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ หลักสูตรบ่มเพาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

หน่วยบริหารจัดการทุน มีด้วยกัน 3 หน่วย ได้แก่

  1. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนทุนเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี
  2. ด้านการพัฒนาในระดับพื้นที่ สนับสนุนทุนให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด
  3. ด้านการขยายตลาด ส่งเสริมการทำตลาดในตลาดต่างประเทศ และตลาด E-Commerce

Sale Talent โครงการสร้างนักขายจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่มีการนำนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ มาฝึกฝนให้สามารถนำสินค้าจากประเทศไทยกลับออกไปขายยังต่างประเทศได้ 

สอวช. เองยังมีนบายที่ร่วมมือกับ สสว. ในการออกแบบกระบวนการทางธุรกิจเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในประเทศไทย

สอวช. นั้นมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคธุรกิจมีการขยายกิจการให้เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และ มีภาคการผลิตที่มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนในระบบอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล เพราะในอนาคตอันใกล้ เรื่องนี้จะเป็นโจทย์หลักที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันทำให้สำเร็จ

 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ที่อยู่: 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์: 0-2109-5432

โทรสาร: 0-2160-5438

อีเมล: info@nxpo.orth

เว็บไซต์ : nxpo.or.th

Facebook: NXPOTHAILAND

YouTube: NXPO - สอวช.

บทความแนะนำ

Joy Ride Thailand รับ-ส่ง-ดูแล คนที่ห่วงใย อย่างคนในครอบครัว

 

จากผู้ป่วย สู่จุดเริ่มต้นดูแลผู้ป่วย

จุดเริ่มต้นของ Joy Ride Thailand นั้นมาจาก คุณจอย - ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร ในตอนนั้นยังทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาที่ตั้งใจทำงานอย่างหนัก จนวันหนึ่งมีอาการป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล และที่โรงพยาบาลนี่เอง ที่คุณจอยได้เห็นว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่กำลังรอคิวตรวจ ต่างเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้น บางท่านมาโรงพยาบาลด้วยตนเอง บาง่านเป็นผู้สูงอายุที่พาผู้สูงอายุอีกท่านหนึ่งมา ภาพที่เห็นนั้นกระทบใจ จนทำให้คุณจอยเกิดความรู้สึกว่า อยากที่จะเปลี่ยนอาชีพมาดูแลผู้สูงอายุ เป็นผู้ดูแลรับส่งผู้สูงอายุมาโรงพยาบาล

เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว ในคืนวันนั้นเอง คุณจอยก็ได้ปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจรับจ้างดูแลรับส่งผู้สูงอายุนี้ขึ้น กับผู้คนในกลุ่มสังคมออนไลน์ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งมีผลตอบรับสนับสนุนนับพันคอมเมนต์ในชั่วข้ามคืน ทำให้วันรุ่งขึ้น คุณจอย เลือกที่จะยื่นใบลาออกจากกงาน แล้วหันมาเริ่มต้นบทบาทใหม่ทันที

 

Start-up เต็มที่กับสิ่งที่เชื่อมั่น

ใช้เวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง ในการวางแผนรูปแบบการให้บริการ การตั้งชื่อธุรกิจ ไปจนถึงการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ยื่นจดทะเบียน เปิดเว็บไซต์ เตรียมช่องทางติดต่อต่าง ๆ 

Joy Ride Thailand สามารถถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด โดยมีรูปแบบการให้บริการ ที่ครอบคลุมดูแลผู้ที่มีความต้องการการดูเป็นพิเศษ หลากหลายกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึง ดูแลเป็นเพื่อนพาเที่ยว ทำธุระต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งบริการออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่

  • บริการพาไปรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 - บริการพาไปรับวัคซีนแบบไป-กลับ มีระยะเวลาให้บริการ 2 ชม. รวมระยะเวลาเดินทาง รับวัคซีน และพักคอยดูอาการ
  • Joy Go Round - บริการรับจ้างพาเที่ยว ทำธุระต่าง ๆ 
  • Joy Ride to Fly – บริการพาผู้สูงอายุเดินทางข้ามจังหวัดโดยเครื่องบิน
  • Mama Babe - บริการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแก่ หรือ คุณแม่หลังคลอดที่ต้องพาลูกน้อยไปโรงพยาบาล
  • Ambulove - บริการดูแลรับส่งญาติผู้ใหญ่ ตั้งแต่ก้าวออกจากประตูบ้านไปจนถึงโรงพยาบาล รวมถึงการรายงานสถานะทุกขั้นตอนขณะอยู่โรงพยาบาล / บริการรับส่งสำหรับผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ใช้เวลาสั้น ๆ แต่ต้องไปบ่อย ๆ เช่น การฟอกไต ฉายแสง หรือทำกายภาพบำบัด
  • ThisAble - บริการรับส่งดูแลผู้พิการหรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็นในการเดินทาง
  • Welcome Home พาเธอกลับบ้าน - บริการพาผู้ที่เข้ารับการรักษา COVID-19 ในโรงพยาบาล และหายเป็นปกติโดยไม่อยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว กลับไปหาคนที่คุณรักและบ้านที่คุณคิดถึง

 หัวใจของ Joy Ride

หัวใจหลักในการให้บริการของ Joy Ride Thailand ก็คือ ความใส่ใจ และนั่นเองที่เป็นจุดแข็งที่ยากจะลอกเลียนแบบ เพราะผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้บริการต่างประทับใจที่จะใช้บริการจากผู้คนที่พวกเขาไว้วางใจ จุดนี้เองที่ทำให้ทีมงานของ Joy Ride Thailand นั้นต้องผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกคนสามารถให้บริการลูกค้าอย่างเอาใจใส่ได้ ในระดับเดียวกัน

Joy Ride Thailand ได้วางเส้นทางอนาคตไว้ว่า อยากที่จะกระจายความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ หรือขยายการให้บริการออกไป ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุในทุกที่ สามารถได้รับการดูแลได้อย่างเต็มที่ 

Joy Ride Thailand หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะ อยู่เคียงข้างคอยรับส่งดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในยามปกติ ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไปจนถึงการส่งทุกท่านเดินทางพักผ่อนอย่างสงบในวันสุดท้ายของชีวิต และนั่นเป็นสิ่งที่ Joy Ride Thailand กำลังทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการต่อไปในอนาคต

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท วีล ออฟ จอย จำกัด

โทร: 095-395-3974

อีเมล: joyridethailand@gmail.com

เว็บไซต์: joyridethailand.com

Line: @Joyride

Facebook: JoyRideThailand

บทความแนะนำ

นวยนาด สินค้าจากธรรมชาติที่ขอเดินแบบสโลว์ไลฟ์

นวยนาด

สินค้าจากธรรมชาติที่ขอเดินแบบสโลว์ไลฟ์

นวยนาดเป็นแบรนด์ Natural Skin care ก่อตั้งโดยคุณปุ้ม นนท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ คุณว่าน ปกาสิต เนตรนคร ทั้ง 2 คนตัดสินใจปลดล็อกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่เร่งรีบ เพื่อย้ายกลับไปอยู่ชนบทในหมู่บ้านเล็กๆ ณ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จุดเด่นของนวยนาดนั้นอยู่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ในเชิงการค้านวยนาดเป็นธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ที่รันธุรกิจในจังหวะกึ่ง Slow Motion ไม่เร็วเกินไป แต่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวความสุขกับสิ่งรอบตัว จากสินค้า Skin care นวยนาดได้ขยายธุรกิจมาสู่สินค้า Living product อย่างสินค้าเทียนหอม ล่าสุดนวยนาดได้มีการแตกไลน์สินค้าไปสู่ตลาดอาหาร ด้วยการทำ ไส้กรอกโฮมเมด ขาย คุณปุ้มซึ่งเป็นคนชอบทำอาหารอธิบายว่า การทำอาหารเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรที่ทำแล้วมีความสุข ซึ่งไส้กรอกโฮมเมดนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการทำอาหารเองมาตลอด

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของนวยนาดมีที่มาที่ไปอย่างไร

นันท์พัทธ์ : เริ่มจากตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำเกี่ยวกับหนังสือ สำนักพิมพ์ ทำพวก Magazine ทำ Content งานล่าสุดก็ทำเอเจนซี  ก็เริ่มคิดแล้วว่าอยากเปลี่ยนไปทำฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่รู้สึกว่าอยากจะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น และอยากมีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นท้องถิ่นอะไรแบบนี้ ตอนนั้นก็ทำผลิตภัณฑ์พวกงานคราฟต์ใช้เองอยู่แล้ว รวมไปถึงทำพวก Skin care ด้วย พอทำมาสักพักก็เริ่มแจกให้คนรู้จักใช้ แล้วก็เหมือนหลายอย่างเป็นใจ เพราะมีคนอยากซื้อก็เลยคิดว่าน่าจะทำแบรนด์ขายเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า 

ถึงแม้ว่าจากงาน Publisher มาเป็น Skin care จะมันคนละทักษะ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง งานเขียนก็ชอบ งานคราฟต์ก็ชอบ แค่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เอางานคราฟต์มาทำเป็นงานหลักเท่านั้นเอง แล้วงานหลักที่ทำเป็นงานเขียนมันก็สร้างรายได้ได้ดีด้วย แต่งานฟรีแลนซ์ต้องใช้ความรับผิดชอบสูง คำว่าฟรีแลนซ์มันเหมือนจะอิสระก็จริง แต่กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักกว่าตอนทำงานประจำ เพราะความรับผิดชอบเยอะ และงานก็ไม่รู้ว่าจะมีต่อเนื่องหรือเปล่า ใครใจดีให้งานเรามา เราก็รับหมด กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักมาก หลังๆ ก็เริ่มเลือกงานมากขึ้น ลดงานลง เหมือนมันค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายมาทางงานคราฟต์มากขึ้น จนงานฟรีแลนซ์ก็เริ่มน้อยลงไป

 

SME ONE : ชื่อนวยนาดมาจากอะไร  

นันท์พัทธ์ : ตอนที่ทำก็คิดไว้หลายชื่อ จากที่คุยกับแฟน (คุณว่าน) ชื่อนี้ว่านเป็นคนตั้งให้ เขาบอกว่ามันเป็นคำที่เขาเคยได้ยินยายพูดบ่อย เหมือนเขาโดนคุณยายบ่นว่าชักช้านวยนาด เป็นคำที่คนสมัยก่อนพูด เราได้ยินก็รู้สึกว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรามานานมากแล้ว ฟังแล้วมันก็ดูสวยดี แล้วก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เราเป็นอยู่ด้วย เราก็เลยขอคำนี้มาใช้แล้วกัน เอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า นวยนาดเป็นคำเหมือนเป็นคำบ่นของคน ประมาณนวยนาดเชื่องช้าอะไรแบบนี้ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นคำที่สวย มันเป็นภาษาพูดที่สวย ไม่ได้มองไปในเชิงลบเลย 

 

SME ONE : ตอนที่เปลี่ยนอาชีพมาขาย Skin care จากธรรมชาติ เราเห็นโอกาสนี้อย่างไร

นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นมองว่าตลาดที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีแต่ OTOP เรื่องของบรรจุภัณฑ์มันก็ยังไม่ค่อยดึงดูดใจ เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ยังใช้สินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ เพราะเขายังไม่มั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากนัก เราก็เลยคิดว่าถ้าเราจะทำก็ลองทำรูปร่างหน้าตา หรือทำคอนเซปต์ให้ดูสวยงาม น่าเชื่อถือเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เหมือนเราได้คุยภาษาเดียวกัน เพราะตอนแรกๆที่เราทำ คนส่วนใหญ่ยังมองว่าสินค้าจากธรรมชาติเป็นของที่คนสูงวัยใช้ คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยกล้าใช้ของแบบนี้เท่าไหร่ อาจจะมีบ้างแต่เป็นกลุ่มที่ Niche จริงๆ ช่วงแรกที่เราทำนวยนาดก็ใช้วิธีการบอกกล่าวว่าเราได้วัตถุดิบมาจากไหน หามาอย่างไร และขั้นตอนทำเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ เราอาจจะไม่ได้เล่าทีเดียวทั้งหมด แต่เราใช้วิธีค่อยๆ เล่าไปทีละ Product และไปออกอีเว้นท์ในงานที่เกี่ยวข้องกับ Organic skin care หรือพวกของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน คือเรารู้สึกว่าถ้าไปออกอีเว้นท์ในงานกลุ่มนี้ เราก็จะได้กลุ่มลูกค้าที่ตรงและสื่อสารได้ง่าย

 

SME ONE : ประสบการณ์จากงานประจำที่เคยทำ Content หรือ Publisher มีส่วนช่วยมากน้อยเพียงใด

นันท์พัทธ์ : มีส่วนช่วยมาก เป็นข้อดีที่เราสามารถทำให้ Content มันกระชับหรือเป็นคอนเซปต์เราได้ง่ายจากงานที่เราเคยทำมา แม้กระทั่งตอนนี้ที่นิยมสื่อสารผ่าน Instagram, Facebook, เว็บไซต์ก็ยังมีประโยชน์อยู่

 

SME ONE : สินค้าที่ขายดีของนวยนาดคืออะไร

นันท์พัทธ์ : ยังเป็นสบู่เหลวชื่นจิต ชื่นใจ เพราะเป็นสินค้าที่จับต้องได้ง่าย และมีกลิ่นที่เป็น Signature ของแบรนด์ด้วย กลิ่นชื่น จิตชื่นใจของสบู่เหลว พัฒนาต่อยอดมาจากสบู่ก้อน ซึ่งตอนทำสบู่ก้อนยังไม่ได้มีกลิ่นที่ดึงดูดใจลูกค้า เพราะเราทำเป็นแบบธรรมชาติเพียวมาก สบู่รำข้าวกลิ่นก็จะอ่อนๆ แล้วเวลาที่เราไปออกร้าน เวลาที่ลูกค้าลองเทส สิ่งแรกที่เขาทำก็คือดม เราก็คิดว่าหรือเราจะลองออกสินค้าที่มีกลิ่นดู เราก็ลองมาศึกษาว่าอะไรบ้างในบ้านเราที่มีกลิ่นแต่ไม่ใช้สารเคมีหรือมีการใช้สารสังเคราะห์ที่น้อยมาก เราก็ไปเจอน้ำอบที่เป็น Signature ของไทยเรา เป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มาก แต่ถ้าให้เรามาทำน้ำอบเฉยๆ คนเขาก็ทำเยอะแล้ว เราก็เลยลองมาทำน้ำอบ 2 กลิ่นดู แต่ก็ยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำอบอยู่ ก็คือกลิ่นชื่นใจที่เป็นดอกไม้ไทย แล้วเราก็ทำอีกกลิ่นหนึ่งขึ้นมา คือกลิ่นชื่นจิต แล้วเราก็มาตั้งคำถามอีกว่าจะทำอย่างไรให้คนเอากลิ่นน้ำอบนี้ไปใช้อยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขาด้วย เราก็เลยทำเป็นสบู่เหลวที่มีกลิ่นน้ำอบ ก็คือกลิ่นชื่นจิตกับกลิ่นชื่นใจ ก็เลยเป็นคอลเลคชั่นชื่นจิต ชื่นใจที่มีน้ำอบแล้วก็สบู่เหลว เหมือนอาบน้ำเสร็จแล้วก็ใช้น้ำอบทาตัว

SME ONE : จากสินค้า Skin care นวยนาดขยายมากลุ่มสินค้า Living product ได้อย่างไร 

นันท์พัทธ์ : ที่ทำ Skin care แล้วมาทำเครื่องหอมของแต่งบ้าน เพราะว่าในพื้นที่ที่เราอยู่ อำเภอสี่คิ้วจะมีงานแกะสลักหินทราย เราเล็งไว้แล้วว่าอยากจะทำอะไรกับงานช่าง แต่ตอนนั้นเราทำ Skin care อยู่เรายังตกผลึกหรือคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรแบบไหนดี เราเอาวัสดุมาทดลองทำหลายอย่างมาก จนเรามาทดลองแล้วเจอคุณสมบัติหนึ่งของหินทรายที่เขาไม่ได้เป็นเนื้อหินที่แน่นมาก จะมีรูอากาศที่พรุนอยู่ แล้วเราทำ Skin care ที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ของเราอยู่แล้ว เราก็เลยเอามาทดลองพัฒนาเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องหอม 

เราเคยเห็นของคนญี่ปุ่นที่เขามีหินภูเขาไฟแล้วก็เอามาหยดเป็นหินกระจาย เราก็คิดว่าน่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้าเป็นของไทยก็เป็นหินทรายไหม แล้วลองออกแบบรูปลักษณ์ดูว่ามันจะสามารถนำไปใช้เป็นของแต่งบ้านได้หรือเปล่า นอกจากคุณสมบัตินั้นก็ยังสามารถนำมาเป็นอย่างอื่นได้ เช่น เทียนหอมอีกอะไรแบบนี้

หินทรายที่นำมาใช้ ทำให้เครื่องหอมสามารถระเหยได้ด้วยตัวเองเหมือนเป็นถาดแล้วเอาน้ำหอมหยดลงไป 2-3 หยดแล้วก็วางทิ้งไว้ โดยไม่ต้องใช้ความร้อนหรือไฟฟ้าเลย แล้วหินทรายตามธรรมชาติเขาจะมีสี สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีชมพู คือแต่ละชิ้นมันจะไม่เหมือนกัน

 

SME ONE : ปัจจุบันสินค้าของนวยนาดครอบคลุมกลุ่มไหนบ้าง 

นันท์พัทธ์ : ตอนนี้นวยนาดมี Skin care เป็นพวกอาบน้ำบำรุงผิว แล้วก็มีของแต่งบ้านที่เป็นเครื่องหอมเข้ามา ปีนี้เราจะมีเรื่องเกี่ยวกับอาหารด้วย โดยจะแยก Facebook ต่างหากแต่จะใช้คำว่านวยนาดเหมือนกัน เป็นอาหารพวก โฮมเมดไส้กรอก หรือของหมักดองอะไรแบบนี้ อันนี้มันเกิดจากการที่เราอยู่แล้วเราก็ต้องทำกินกันอยู่แล้ว เราก็อยากให้คนที่มาได้กินของแบบเดียวกับที่เรากินด้วย และอาจจะซื้อสินค้านวยนาดด้วยก็แล้วแต่ เป็นโฮมเมดไส้กรอกเหมือนที่กินกับสเต็กอะไรแบบนี้ 

 

 SME ONE : สินค้าของนวยนาดขายความเป็นของไทย หรือขายความเป็นอีสาน

นันท์พัทธ์ : เราใช้วัตถุดิบที่มาจากอีสาน เราพยายามใช้ของที่อยู่ใกล้พื้นที่เรามากที่สุด แต่เราไม่ได้หยิบความเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาเป็นจุดขาย ถ้าจะให้จำกัดความจริงๆ คือ เราพยายามหาอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือเราในที่ๆ เราอยู่ แล้วด้วยความที่จังหวัดนครราชสีมามันอยู่ในแถบอีสาน สิ่งที่เราเจอและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ก็จะเป็นพืชพรรณในแถบนี้

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจเจอปัญหาอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร

นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับลูกค้า เราต้องพูดกับคนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคอนเซปต์ที่เราต้องสื่อสาร และช่วงแรกๆ รายได้มันก็ไม่ได้หวือหวาเหมือนกับคนที่ทำธุรกิจที่เขาจะต้องหายอดให้ได้ภายในปีนั้นๆ นวยนาดโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ ขยายสินค้า ค่อยๆ เดินทางมากกว่า ก็เลยต้องใช้ความอดทนและมองเป้าหมายไกลๆ แม้ว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันนำไปสู่อะไร เราต้องค่อยๆ เดินทางไป ช่วงแรกก็เลยติดขัดนิดนึง แต่ด้วยความที่เรารู้ว่าเราทำอะไร ก็เลยไปต่อได้ ปัจจุบันนี้นอกจากขายในประเทศ นวยนาดยังมีจำหน่ายไปต่างประเทศ ถ้าเป็นในแถบเอเชียก็จะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มีทั้งแบบตัวแทน และสั่งไปใช้เอง

 

SME ONE : ที่ผ่านมานวยนาดเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

นันท์พัทธ์ : มีไปเข้าโครงการ Talent Thai ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มาให้คำแนะนำการมาแมทชิ่งวัสดุกับดีไซเนอร์แล้วร่วมกันออกแบบ ตอนนั้นได้ทำงานกับทีมงานที่มีคุณภาพ แล้วก็รู้ว่าดีไซเนอร์เวลาทำงานจริงๆ ทำยังไง แล้วก็ได้รู้เรื่องการส่งออกการนำเข้า นอกจากนี้สินค้าเทียนหอมก็ยังเคยได้รางวัลจากการส่งประกวด Design Excellence Award (DEmark) ในปี 2019 สินค้าของนวยนาดมีความน่าสนใจคือ ตอนนั้นเทียนหอมส่วนใหญ่มีแต่ที่บรรจุภัณฑ์เซรามิค ฟังก์ชันที่นอกเหนือจากการจุดยังไม่มีแบรนด์ไหนทำ แต่เทียนหอมนวยนาดฝาเทียนเป็นหินทราย อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าหินมีคุณสมบัติในการหยดอยู่แล้ว แล้วของเราถ้าเราไม่อยากจุดเทียนแล้ว เราก็เอาน้ำหอมหยดแค่ที่ฝาก็ได้ แล้วตัวสินค้าก็สามารถนำมา Reuse ได้อีก 

SME ONE : ถ้าจะถามว่าอะไรคือ Key success ของนวยนาด

นันท์พัทธ์ : น่าจะเป็นเรื่องแนวทางในแบบที่เราตั้งใจจะเดิน เราตั้งมั่นว่าเราอยากจะมีอาชีพที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ เราก็เลยยืนหยัดและพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้มันสามารถเดินทางได้ต่อไปเรื่อยๆ และเรามั่นใจด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถเดินต่อไปได้อีกเยอะ และยังมีอะไรให้เราทำอีกเยอะแยะมากมาย เราแค่ต้องบริหารจัดการและรอจังหวะให้ได้เท่านั้นเองว่าแต่ละขั้นตอนเราจะทำอะไร อาจเป็นความโชคดีด้วยที่ ตอนเริ่มต้นเราเริ่มต้นด้วยเงินทุนสำรองที่เราเก็บมา ไม่ใช่เริ่มต้นจากการกู้เพื่อมาทำธุรกิจ เพราะการตัดสินใจมันจะต่างกัน และช่วงคาบเกี่ยวตอนที่ทำใหม่ๆ เราก็ยังมีงานประจำทำอยู่ เราก็เอาเงินจากงานประจำมาต่อทุนได้อยู่เรื่อยๆ ในช่วงแรก 

 

SME ONE : จากนี้ต่อไปคิดว่าจะต่อยอดธุรกิจของนวยนาดอย่างไร

นันท์พัทธ์ : ด้วยความที่เพิ่งจะมีลูกเมื่อปีที่แล้ว เราก็เลยเริ่มวางแผนว่าจะเริ่มนิ่งอยู่กับที่มากขึ้น อย่างที่บอกเรามีเรื่องอาหารโฮมเมดเข้ามา เรามอง Product ในเรื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมด ของใช้ในบ้านหรืออะไรก็ตามที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เราอยากพัฒนาสินค้าไปในแนวทางนั้น เพื่อที่เราจะได้อยู่กับมันได้ เราทำของขึ้นมาเพื่อใช้มันและก็สามารถนำของที่เราทำขึ้นมาขายได้ด้วย แล้วก็อาจจะออกอีเว้นท์น้อยลงเพื่อมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น 

การดำเนินธุรกิจของนวยนาดจะเป็นไปในแนวทางนี้มากกว่า คือหาวิธีการหาเงินในแบบอยู่กับที่ ขยับตัวน้อยลง แต่ไม่ได้หมายถึงย้ายไปที่อื่น ก็คือการขยับตัวจะอยู่ที่บ้านอยู่ที่เดิมแบบนี้

ส่วนความท้าทายหลังจากนี้ไป น่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าแต่ละปีมันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันคือสิ่งที่เราไม่รู้ นี่คือความท้าทาย เหมือนตอน COVID-19 ที่ผ่านมาก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

ตัวอย่างเช่นวิกฤต COVID-19 ในช่วงแรก เราได้รับผลกระทบจากสินค้าที่เราไปวางขายหน้าร้านไม่ได้ ยอดขายตรงนั้นจะหายไป แต่พอเรารู้ว่ายอดขายจากหน้าร้านหายไป แต่คนยังจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ เราก็เลยลงมาทำพวกของ Limited special จำหน่าย เพราะเราไม่สามารถไปฝากร้านขายได้แล้ว ห้างก็ปิด หน้าร้านก็ไม่ได้เปิด เราก็เลยดึงยอดจากตรงนั้นมาแทนด้วยการทำของที่มันพิเศษหน่อย และเป็นของใช้ที่เหมาะสำหรับคนอยู่บ้าน เป็นกลิ่นพิเศษ เป็นพวกเทียนหอม ก้านหอมกระจายกลิ่นที่สามารถใช้ในบ้านได้ ช่วงนั้นจะเป็น product ประเภทนั้นที่เราทำจำหน่าย เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ที่หายไป

 

SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่จะมาเป็น SMEs

นันท์พัทธ์ : อยากให้ฝึกทักษะการตัดสินใจและกล้าตัดสินใจ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำ การไม่ทำก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง เมื่อเราตัดสินใจบ่อยๆ จะรู้ว่าทุกๆ การตัดสินใจมันส่งผลหมด แต่ไม่ว่าอยากจะทำธุรกิจอะไร ก็ให้ทำเลยและใช้การตัดสินใจเยอะๆ ถ้าทำแล้วไม่ตัดสินใจมันจะไม่เกิดการเดินต่อไปข้างหน้า การกล้าตัดสินใจนี้ใช้ได้ทั้งกับคนที่กู้เงินมา หรือเป็นเงินก้อนสุดท้ายของตัวเอง เพราะว่าการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เราเองก็เคยอยู่ในจุดที่ต้องลุ้นแล้วเหมือนกัน เราก็ต้องตัดสินใจเหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไปและไม่ทำอะไร 

การตัดสินใจมันคือการวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ใช้แค่อารมณ์ ทุกๆ การตัดสินใจเราจะต้องมองข้ามช็อตไปข้างหน้า วิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดและคัดกรองออกมา แล้วเราจะรู้ว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เหมือนเราต้องมองเห็นสิ่งที่แย่ที่สุดที่มันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำสิ่งนี้ สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง เราจะไม่ได้มองแค่ภาพฝันอย่างเดียว

 

บทสรุป

ความสำเร็จของนวยนาดมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ตัวโปรดักต์เองที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน กับการเลือกวางโพสิชั่นนิ่งของแบรนด์ โดยอาศัยช่องว่างทางการตลาด คือ วางตำแหน่งให้อยู่สูงกว่าสินค้าในกลุ่ม OTOP แต่ต่ำกว่ากลุ่มสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามทันสมัยจนสามารถคว้ารางวัล Design Excellence Award ซึ่งทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในส่วนของงานสื่อสารการตลาด นวยนาดใช้การสร้าง Brand value ผ่านการทำ Storytelling ด้วยการบอกกล่าวเล่าขานถึงความเป็น Organic ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ หรือจะเป็นเรื่องของความเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัว

 

บทความแนะนำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566

Link อ่านบทความ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566 ที่นี่

บทความแนะนำ