3 ตัวช่วยเอสเอ็มอีเรื่องกฎหมายสำหรับธุรกิจโรงแรม

หัวข้อ : เจาะ 3 ตัวช่วยเรื่องกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม SME
อ่านเพิ่มเติม :https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/hotel-law1

 

สำหรับธุรกิจบูทีคโฮเต็ล เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล รีสอร์ท โฮมสเตย์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ฯลฯ ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น มีข้อกฎหมายสำคัญอะไรที่ควรรู้บ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

ทำความรู้จักกฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม

  • พรบ. โรงแรม ได้ระบุไว้ว่า โรงแรมคือ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน โดยคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน 
  • การให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้พรบ. โรงแรมฉบับนี้ทั้งสิ้น และต้องได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
  • ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวังต่างๆ หากไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท (ม.59)

สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ยังมีที่พักประเภทหนึ่งที่สามารถขอยกเว้นใบขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งก็คือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม


สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม

คือ สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน โดยเปิดให้พักเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้ประกอบการลักษณะนี้ที่มีผู้ประกอบการที่มีรายได้หลักสามารถไปติดต่อนายทะเบียนแจ้งขอเป็น “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม” ก็สามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สิทธิในการประกอบธุรกิจนี้จะติดตัวคนแจ้งไปตลอดไม่มีวันหมดอายุ ตัวอย่างการขออนุญาตลักษณะนี้ เช่น โฮสเทลขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่ใช้พื้นที่ส่วนล่างขายของ โดยแจ้งการขายของเป็นรายได้หลัก บริการที่พักเป็นรายได้เสริม เป็นต้น


ธุรกิจโรงแรมและพรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.ผังเมือง

ธุรกิจโรงแรมยังเกี่ยวข้องกับพรบ.ควบคุมอาคารและพรบ.ผังเมืองอีกด้วย โดยเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  3 มาตรา ได้แก่

  • มาตรา 21 : ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
  • มาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยยังไม่ได้รับใบรับรองก่อสร้างอาคาร หรือใบอ.6 ซึ่งโรงแรมก็เป็นหนึ่งในอาคารประเภทควบคุมการใช้ เมื่อก่อสร้าง/ดัดแปลงเสร็จต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจรับรองการก่อสร้าง/ดัดแปลง ออกใบอ.6 ก่อนเปิดการใช้อาคาร
  • มาตรา 33  ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการตามมาตรา 32  (เช่นโรงแรม) เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เรียกว่าใบอ.5 และบังคับแก่การเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ด้วย

สรุปคือ

  • ถ้าสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคารใหม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อออกใบอ.6 ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ - ถ้ามีอาคารเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้เป็นโรงแรม ต้องแจ้งขอใบอ. 5 เพื่อเปลี่ยนการใช้งานมาประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ใบอ.5/อ.6 นี้ เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ถ้าฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคารทั้ง 3 มาตรานี้ ก็มีโทษอาญาปรับ/จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

7 ขั้นตอนสู่การได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

  1. กรรมสิทธิ์ในที่ดิน : ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้พื้นที่ โดยมีเอกสารเช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๑), แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง/ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นต้น
  2. ตรวจสอบผังเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามก่อสร้างโรงแรม ในพื้นที่ที่จะประกอบกิจการ : ขณะนี้มีคำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 เป็นตัวช่วยสำหรับอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน19 สิงหาคม 2559 ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายผังเมืองใดๆ ซึ่งตัวช่วยนี้จะสิ้นสุด 18 สิงหาคม 2564
  3. ตรวจสอบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ว่าเข้าข่ายต้อทำ EIA หรือ IEE ก่อนการขอนุญาตอื่น ๆ หรือไม่
  4. พิจารณาสถานที่ตั้งตาม พ.ร.บ.โรงแรม
  5. ดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอ.1 อนุญาตให้ดัดแปลงอาคาร
  6. เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร : ถ้าระบุในใบอ.1 ระบุว่าเป็นอาคารประเภทโรงแรม เมื่อดัดแปลงเสร็จแล้วติดต่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร ออกใบอ.6 / ถ้าใบอ.1 ระบุเป็นอาคารประเภทอื่นที่ไม่ใช่โรงแรม ติดต่อพนักงานท้องถิ่น ออกใบอ.5 อนุญาตให้เปลี่ยนการใช้เป็นอาคารโรงแรม
  7. นำใบอ.5 หรือใบอ. 6 ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สองกฎหมายตัวช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

- ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2562 – 18 สิงหาคม 2564 อนุญาตให้นำอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 (ใช้เอกสารที่ออกโดยราชการเช่นทะเบียนบ้าน ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เป็นหลักฐาน) เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 (บริการเฉพาะห้องพัก) หรือประเภทที่ 2 (บริการห้องพักและห้องอาหาร) อย่างถูกกฎหมาย สามารถใช้ละเว้นจากการบังคับของพ.ร.บ.ผังเมืองทุกฉบับ

- ผู้ประกอบการควรตรวจดูอาคารและปรับปรุงความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2540) และติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 เมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง และไปยื่นเอกสารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบและออกใบเว้นโทษจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

หัวข้อ : 3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจ E-Commerce
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-e-commerce.html

ทุกวันนี้ผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจหันมาเปิดบริการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น สำหรับคนที่กำลังทำหรือสนใจที่จะทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซ มักจะมีข้อสงสัยในเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีมากมาย ว่าต้องเสียแบบไหนและอย่างไรบ้าง สามารถแยกเรื่องของการเสียภาษีออกเป็นคำถาม 3 ข้อดังนี้

 

1. รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องเสียภาษีหรือไม่?

คำตอบคือ ต้องเสียแน่นอน (ข้อกฎหมายเพิ่มเติม : มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากร)

 

2. จะต้องเสียภาษีประเภทไหนและอย่างไรบ้าง?

ประเภทของภาษีที่ต้องเสียนั้นให้ตรวจสอบจากรูปแบบของธุรกิจและรายได้ที่ได้รับ

รูปแบบธุรกิจ

หมายถึง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรานั้นอยู่ในรูปแบบของ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล

บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ และเงินได้พึงประเมิน ตามวิธีการดังต่อไปนี้

  1. รายได้ : ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้าและบริการ (เงินได้ประเภทที่ 8)
  2. ค่าใช้จ่าย : สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราเหมาและหักตามค่าใช้จ่ายจริง โดยขึ้นอยู่กับอัตราค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดของธุรกิจแต่ละประเภท
  3. ค่าลดหย่อน : สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนตามกฎหมายได้ เช่น คู่สมรส บุตร ประกันชีวิต LTF RMF ฯลฯ
  4. คำนวณภาษี : ด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า

วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน

  • ในกรณีเราที่มีเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนจำนวนมากกว่า 60,000 บาท ให้นำยอดเงินได้คูณด้วย 0.005 และ
  • ถ้าภาษีที่คำนวณได้ตามวีธีนี้ มีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี 
  • ถ้าคำนวณได้ภาษีเกินกว่า 5,000 บาท ให้เปรียบเทียบต่อว่า ภาษีที่คำนวณได้จากทั้งสองวิธีนั้น วิธีไหนได้จำนวนภาษีสูงกว่า ให้เลือกเสียตามวิธีนั้น

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ

0 - 300,000 ร้อยละ 5*

300,001 - 500,000 ร้อยละ 10

500,001 - 750,000 ร้อยละ 15

750,001 - 1,000,000 ร้อยละ 20

1,000,001 - 2,000,000 ร้อยละ 25

2,000,000 - 5,000,000 ร้อยละ 30

เกิน 5,000,000 ร้อยละ 35

นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่จดทะเบียนในประเทศไทย) จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยคำนวณตามเกณฑ์ที่เรียกว่า “กำไรสุทธิตามกฎหมายภาษีอากร” (ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฏากร) ซึ่งสำหรับการเลือกเสียภาษีตามรูปแบบนี้นั้น จะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการคำนวณกำไรสุทธิ แนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีเป็นผู้ดูแลจะสะดวกกว่า

อัตราภาษีกิจการ SMEs

  • พ.ร.ฎ. 530 ยกเว้นและลดอัตราภาษี
  • ม. 4 และ ม. 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  • พ.ร.ฎ. 603 การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีก าไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธ.ค. 2559


 

อัตราภาษีกิจการ SMEs (จดแจ้ง พรก.)

  • พ.ร.ฎ. 595 บริษัทจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 59 ได้จดแจ้งตาม พ.ร.ก. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 59 แต่ไม่เกินวันที่31 ธ.ค. 59ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป เป็น 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 60 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 60

รายได้

คือ จำนวนของรายได้ เพราะมีภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ต้องเสียนอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยเมื่อไรก็ตามที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรามีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงมีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีอีกด้วย

 

3. ไม่เสียภาษีได้ไหม

หากไม่เสียภาษี จะถือว่าธุรกิจของเราทำผิดกฎหมาย และต้องมีการรับโทษ โดยการเสียค่าปรับและดอกเบี้ย ที่เรียกว่า “เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม” ที่จะต้องเสียในอัตราแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี

 



Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SME ให้มีประสิทธิภาพ

หัวข้อ : เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-for-sme-1.html

พูดถึงเรื่องของภาษี ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันแสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน และมีรายละเอียดมากมายจนอาจทำให้สับสน ควรวางแผนแบบไหน ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ วันนี้จึงนำเคล็ดลับ5 ข้อ ในการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพที่สุดมาฝาก

 

1. รู้ก่อนว่า “ธุรกิจ” ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว”

ตามหลักของกฎหมาย สถานภาพของ “เจ้าของ” หรือ “ผู้บริหาร” จะถือว่าเป็น “บุคคลธรรมดา” แยกออกจาก “ธุรกิจ” ที่มีสถานภาพเป็น “นิติบุคคล” โดยเด็ดขาด แถมกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) ยังห้ามไว้ด้วยว่า อย่าเอารายจ่ายมารวมกัน เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย

ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัว ไม่ควรเอามารวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในภายหลังได้

 

2. เข้าใจว่าธุรกิจของเราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ภาษีที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเสียให้ถูกต้อง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม ซึ่งแต่ละประเภทนั้น มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่มีการเรียกเก็บเงินจากเราโดยตรงและไม่สามารถผลักภาระให้กับใครได้เลย ซึ่งก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นเอง

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เราสามารถผลักภาระภาษีทั้งหมดไปให้กับผู้บริโภคได้ โดยประกอบด้วยภาษีหลักๆ 3 ประเภท 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการบริโภคผ่านการซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากธุรกิจต่างๆ
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บจากธุรกิจเฉพาะอย่าง เช่น ธนาคาร ประกันชีวิต โรงรับจำนำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บในรูปแบบของสแตมป์ เมื่อมีการจัดทำสัญญาหรือเอกสารหลักฐาน ด้วยอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทที่กฏหมายได้กำหนดไว้

 

3. มองหาผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาดี ๆ

เพราะเรื่องของภาษีอาจมีรายละเอียดที่ซับซ้อน การมองหาที่ปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสักคน อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจของเราง่ายขึ้นกว่าเก่า

 

4. วางแผนเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การวางแผนภาษีที่ดีที่สุด คือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เราสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ค่าใช้จ่ายบางรายการที่สามารถหักได้ 2 เท่า เป็นต้น

 

5. อย่าอายที่จะโทรหาสรรพากร

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เข้าเรื่องเกี่ยวกับภาษี หรือมีปัญหาที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน สามารถสอบถามจากทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตที่กิจการของเราตั้งอยู่ เพื่อป้องกันปัญหาการตีความผิดๆ ทางด้านกฎหมาย ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ หรือในเบื้องต้นสามารถติดต่อและดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ก่อนที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือโทร 1161

 


Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

กลยุทธ์แถมสินค้าของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ สร้างโอกาสการตลาดตอบโจทย์ลูกค้าและซัพพลายเออร์

 

วิธีคิดและมุมมองนับเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางเดินธุรกิจเจ้าของหรือผู้บริหาร คิดแบบไหนธุรกิจก็เดินแบบนั้น SME บางรายอาจคิดว่า เสียเปรียบคู่แข่งขันรายใหญ่ทุกทาง เพราะทรัพยากรน้อยกว่า ทำอย่างไรก็ไม่เห็นทางชนะหรืออยู่รอด หากใครคิดเช่นนั้นอยู่ ลองมาศึกษากรณีของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ ในจังหวัดอุดรธานี จากโชห่วยรายเล็กๆ พัฒนาจนเป็นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกชั้นนำของประเทศมีเพียง 2 สาขาแต่ปักหลักสู้กับยักษ์โมเดิร์นเทรดในพื้นที่อย่างสมน้ำสมเนื้อ

หนึ่งในกลยุทธ์หลักของตั้งงี่สุน คือการแถมสินค้า หรือการนำสินค้าของแถมมามัดหนังสติ๊กแถมไปพร้อมกับสินค้าที่จัดโปรโมชั่นวิธีการนี้ดูเหมือนธรรมดา แต่จริงๆเป็นการทำการตลาดที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่มาซื้อสินค้า และซัพพลายเออร์


คุณมิลินทร์วีระรัตนโรจน์หรือเฮียกบประธานกรรมการบริษัทตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์จำกัด เล่าย้อนความถึงบริบทเมื่อ15-20 ปีที่แล้วว่า พอโมเดิร์นเทรดรายใหญ่เข้ามา มีสาขาเยอะสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก ทำให้ดีลที่โมเดิร์นเทรดซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์นั้นถูกกว่าร้านทั่วไป และตั้งงี่สุนซื้อสินค้าในราคาแพงกว่า พอโมเดิร์นเทรดถือตัวเลขมากขึ้น ก็มีอำนาจต่อรองสูง ซัพพลายเออร์จึงคิดว่าหากปล่อยให้โมเดิร์นเทรดโตเกินไป ก็จะเสียเปรียบและมีกำไรน้อยลง ซัพพลายเออร์จึงทำการบาลานซ์ตลาด ทำการสนับสนุนร้านค้าท้องถิ่นอย่างตั้งงี่สุน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันเพราะสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต้องการ คือการกระจายสินค้าให้มากที่สุดในทุกไซต์ ยิ่งกระจายได้ไกลและลึก โอกาสที่ลูกค้าจะหยิบซื้อก็มีสูง ตั้งงี่สุนมองโมเดิร์นเทรดเป็นคู่แข่งที่รัก ทำให้ทางร้านได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง“แต่แข่งเรื่องราคาเราสู้โมเดิร์นเทรดไม่ได้” คุณมิลินทร์ยอมรับ กลยุทธ์การแถมจึงเข้ามาตอบโจทย์

 

“การแถมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองบริษัท (ซัพพลายเออร์) ในเรื่องการกระจายสินค้า บริษัทก็แฮปปี้ในอีกด้านหนึ่ง ลูกค้าก็มองของแถม ไม่ได้มองราคา”

 

คุณมิลินทร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ตั้งงี่สุนขายน้ำมันพืช 30 บาทต่อขวด แม็คโครขาย 28 บาท แต่ลูกค้าซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุน ได้รับแถมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์รอง1 ซอง ลูกค้าจะคิดในหัวว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ราคา 4 บาท ทำให้น้ำมันพืชจากราคา 30 บาทเหลือเพียง 26 บาท การซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุนจึงมีราคาถูกกว่าแม็คโคร

ในบางกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าอื่นๆ ที่นำมาแถม เป็นสิ่งที่ตั้งงี่สุนได้มาฟรีผ่านการจัดซื้อ งบของซัพพลายเออร์ หรือการต่อรอง ในขณะที่ซัพพลายเออร์ก็ต้องการกระจายสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลอง จากแบรนด์ หรือรสชาติที่ลูกค้าไม่เคยลอง พอได้รับแถม ผ่านลิ้นลูกค้า ก็อาจเปิดใจ เปลี่ยนจากแบรนด์ที่เคยซื้อประจำมาซื้อแบรนด์ใหม่ รสชาติใหม่, ทางด้านร้านค้าที่ซื้อไปขายต่อ เมื่อได้รับของแถมมา ก็มีแรงจูงใจที่จะเชียร์ขายแบรนด์ที่ได้รับแถมมาเพราะไม่มีต้นทุน และพอขายได้ ก็จะกลับมาซื้อไปขายเอง ของแถมจึงไม่ใช่แค่ของฟรี แต่เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด

สำหรับหลักการจับคู่เพื่อแถมสินค้า คุณมิลินทร์จะไม่นำสินค้าคู่แข่งโดยตรงมาจับคู่กัน เช่น ไม่นำไมโลไปจับคู่กับโอวัลติน แต่จะใช้แนวทาง “พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก” นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็กหรือสินค้าที่ไม่ได้รับความสนใจ หรือบางที สินค้าตัวแถมอาจเป็นแบรนด์ใหญ่ แล้วสินค้าโปรโมชั่นเป็นแบรนด์เล็กก็ได้ “พี่ใหญ่กับน้องเล็กสลับกันได้หมด อยู่ที่ความเหมาะสม”กลยุทธ์การแถมของตั้งงี่สุนจึงไร้กระบวนท่า ขึ้นอยู่กับการบริหารงบประมาณ

 

“การทำสิ่งพวกนี้ เราจะไม่กำหนดว่าอันไหนถูกหรือผิด พอเราทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ เห็นว่าไม่ใช่ เราก็แยกมันออก แล้วก็เปลี่ยนสินค้าใหม่ได้, สินค้าที่จับคู่กันเรียกว่าการแต่งงานถ้าแต่งงานถูกคู่ถูกเวลา คู่สร้างคู่สม ทำอะไรก็เจริญและมีความสุข แต่ถ้าเป็นคู่เวรคู่กรรม ทำยังไงก็ไม่เดิน” คุณมิลินทร์กล่าว

 

นี่จึงเป็นบทเรียนให้กับ SME ที่คิดว่า ถ้าเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่ สู้ตรงๆ ด้วยราคาไม่ได้ จะพลิกแพลงกลยุทธ์อย่างไรให้เกิดคุณค่ากับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและซัพพลายเออร์หากทดลองทำไปแล้วยังไม่สำเร็จ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปตามสถานการณ์ 

คุณมิลินทร์ ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME และโชห่วยว่า

1) เปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง ทำเรื่องระบบภาษีให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไม่เติบโต
2) อย่าลงทุนเกินตัว ทำน้อยๆก่อน อย่าไปเร็ว
3) บางครั้งไม่ต้องหานวัตกรรมใหม่ แต่ปรับเปลี่ยนของเดิมให้ดีขึ้น รีแพคเกจจิ้งใหม่
4) ฟังเสียงตลาด นักธุรกิจที่ดีอย่านั่งวางแผนอยู่แต่ในออฟฟิศ ต้องเดินตลาด ฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าและคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจตลาดและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

 

“จงเป็นนักธุรกิจ อย่าเป็นพ่อค้า พ่อค้าคุยแต่เรื่องกำไร ไม่สนใจเรื่องอื่น แต่นักธุรกิจ กำไรน้อยหน่อยไม่เป็นไร แต่อนาคต ตัว Branding ตัวสินค้าต้องดี ต้องทำได้แล้วค่อยๆไป นักธุรกิจกับพ่อค้าแตกต่างกัน นักธุรกิจเวลาทำงานเสร็จแล้วต้องดูว่าเพื่อนรอบข้างเราอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้ไม่ลำบาก ให้เพื่อนรอบข้างเราอยู่ดีก่อนดีไหม เดี๋ยวเราก็ดี” คุณมิลินทร์ อธิบายถึงหลักการและวิธีคิดในการดำเนินธุรกิจ

 

วิธีคิดทางธุรกิจเปลี่ยน วิธีการขายก็เปลี่ยน ตั้งงี่สุนเปลี่ยนจากการสู้กับโมเดิร์นเทรดด้วยราคา ซึ่งสู้ไม่ได้ พลิกกลยุทธ์มาแถมสินค้าทำให้ธุรกิจพัฒนาเติบใหญ่มีกระแสเงินสดที่ดี และมีความยืดหยุ่น



โชว์ห่วยกับกลยุทธ์แถมสินค้าสไตล์ตั้งงี่สุน

-หากได้รับสินค้าฟรีผ่านการจัดซื้อ ลองนำมาจัดโปรโมชั่นแถมโดยการจับคู่สินค้า เพื่อสร้างโอกาสการตลาดและหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้วยราคา

-หลักการแถมแบบ“พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก”นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็ก หรือสินค้าแบรนด์ใหญ่อาจเป็นตัวแถม ที่ช่วยผลักดันสินค้าแบรนด์เล็ก

-ทดลองทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากสินค้าที่จับคู่กันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ให้แยกออกและปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ 

 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

วิธีการสร้างลูกค้าประจำของร้านทุเรียน น้องนิดระยอง แค่เปลี่ยนการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย”

 

เคยไหมที่เวลาเราซื้อผลไม้มากินที่บ้านทั้งจากตลาดสดหรือบนห้างสรรพสินค้าก็ตาม ทั้งๆที่เราเลือกเองกับมือ ผลไม้ก็ดูสวยงามไม่มีตำหนิ แต่พอกลับมาแกะกินที่บ้านแล้ว กับพบว่ารูปร่างหน้าตาและรสชาติผิดจากที่เราคาดหวังไว้ไปไกลมากๆ จากปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมีผู้ประกอบการ SME บางรายที่หยิบเอาความเจ็บช้ำของผู้บริโภคมาสร้างเป็นจุดขายใหม่ แถมทำแล้วได้ผลดีเสียด้วย ตัวอย่างเช่น “ร้านทุเรียน น้องนิดระยอง” ที่ตลาดอ.ต.ก.

 

แรกเริ่มเดิมทีนางพุธชาติ ลาภผล หรือน้องนิด เป็นเกษตรกรปลูกผังผลไม้อยู่ที่จังหวัดระยองมาก่อน ซึ่งปัญหาใหญ่ของเกษตรบ้านเราก็คือ มักจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา น้องนิดเล่าย้อนความให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวถูกพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อทุเรียนกดราคา และหลอกซื้อด้วยการคัดแต่เฉพาะลูกที่ดีๆ ไป ถูกหลอกบ่อยๆ เข้า ก็ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเป็นหนี้ธกส. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

น้องนิดตัดสินใจเข้ามากรุงเทพเพื่อมาขอคำแนะนำและความรู้ในการทำธุรกิจที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ด้วยตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ น้องนิดเคยมีโอกาสติดตามญาติมาขายผลไม้ที่นี่ ด้วยคำแนะนำของคุณเสริมศักดิ์ การุณ สส.จังหวัดระยองและความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อ.ต.ก. ในที่สุดน้องนิดก็ได้มาเปิดแผงขายทุเรียนเล็กๆ ในตลาดอตก. ด้วยการเอาที่ดินที่มีอยู่จำนวน 6 ไร่ ไปกู้เงินมาเริ่มต้นธุรกิจ ไม่เพียงแต่ให้พื้นที่ขาย เจ้าหน้าที่ของอ.ต.ก. ยังให้คำแนะนำน้องนิดเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนที่มาเดินซื้อของในตลาดอ.ต.ก.นั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ ดังนั้นสินค้าที่นำมาขายจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพดีจริงๆ

การได้เข้ามาจำหน่ายสินค้าในตลาดอ.ต.ก. น้องนิดใช้หลักการบริหารความคาดหวังของลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนวิธีการขายทุเรียนใหม่ จากการชั่งน้ำหนักเป็นลูกแล้วมีบริการแกะขาย มาเป็นแกะขายเป็นพูราคาตามน้ำหนัก เป็นเจ้าแรกๆ ในตลาดอ.ต.ก. พูดง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนวิธีการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย” ลูกค้าได้เห็นสินค้าก่อนจ่ายเงินซื้อ เรียกว่าลูกค้าชอบกินทุเรียนเนื้อแบบไหนร้านทุเรียนน้องนิดระยองสามารถหาทุเรียนตามที่ต้องการมาจำหน่ายได้หมด

จากประสบการณ์ในการคลุกคลีกับตลาดผลไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก น้องนิดรู้ดีว่าความคาดหวังของคนที่ซื้อผลไม้สดไปรับประทานทุกคน ล้วนคาดหวังที่จะได้กินผลไม้สด รสชาติดี ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตร เป็นอะไรที่ไม่สามารถการันตรีได้ 100% จนกว่าจะแกะเปลือกออกมาดู หลายครั้งที่เราเลือกทุเรียนด้วยตัวเองมาแล้ว กลับต้องผิดหวังเวลาหยิบออกมากิน ทั้งๆที่เราเป็นคนเลือกดูเองกับตา เลือกสัมผัสเนื้อเองกับมือ โดยเฉพาะกับทุเรียนออร์แกนิค

 

เหตุผลเพราะว่าทุเรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะใช้วิธีการป้ายน้ำยาเร่งสุกที่ขั้ว เพื่อให้ทุกเรียนสุกเร็วและสุกพร้อมกันทั้งลูก แต่ทุเรียนปลอดสารเคมีจะสุกไม่พร้อมกันทั้งลูก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้กินทุเรียนปลอดสารเคมีแบบเนื้อเดียวกันทั้งลูกจึงเป็นไปได้ยากมากๆ ปัจจุบันนี้ราคาเฉลี่ยของทุเรียนพันธุ์หมอนทองแบบชั่งขายทั้งลูกจะตกประมาณ 150-300 บาทต่อกิโลกรัม ถูกหรือแพงตามขนาดของลูกและทำเล แต่ร้านน้องนิดตั้งราคาขายทุเรียนแกะขายเฉพาะเนื้อในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ถ้าเป็นทุเรียนกก้านยาวหรือหมอนทองคัดพิเศษจะขายกิโลกรัมละ 5,000 บาท

เห็นราคาขายสูงขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสไปดูที่ร้านจะเห็นว่าคนซื้อไม่มีใครต่อราคาเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับคุณภาพ ถูกต้องแล้ว ร้านน้องนิดระยองกำลังทำธุรกิจแบบบริหารความคาดหวังของลูกค้า น้องนิดเล่าให้ฟังว่า มีลูกค้าของร้านจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเพื่อไปเป็นของฝากผู้ใหญ่หรือไปรับแขก ซึ่งความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ คืออยากเห็นคนที่รับหรือคนที่ได้กินรู้สึกดี จึงไม่เกี่ยงเรื่องราคา

เบื้องหลังความสำเร็จของการตั้งราคาขายได้สูงขนาดนี้ น้องนิดบอกว่า กว่าจะซื้อใจลูกค้าได้ต้องใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์ เพราะเทียบกับน้ำหนักทั้งเปลือกทุเรียน 1 กิโลกรัม น้องนิดสามารถแกะเนื้อขายได้เพียง 300 กรัมเท่านั้น ที่เหลือต้องนำไปแปรรูป เพราะคุณภาพไม่ถึง ถ้าเป็นร้านอื่นอาจจะใช้วิธีแอบยัดป่ะปนไป แต่ร้านน้องนิดไม่ทำเด็ดขาด ข้อดีของการปลูกเองและมีหน้าร้านขายเองที่ตลาดอ.ต.ก.นี้ทำให้น้องนิดสามารถควบคุมคุณภาพของทุเรียนได้ 100% 

 

ปัจจุบันนี้ทางอ.ต.ก.เองก็มีการควบคุมดูแลคุณภาพของร้านค้าที่จำหน่ายในตลาด ตามนโยบายที่จะส่งเสริมเกษตรให้พัฒนาคุณภาพของสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น โดยแต่ละปีจะมีการเลือกร้านค้าดีเด่นเพื่อมอบรางวัล Best of Ortorkor ซึ่งร้านทุเรียนน้องนิดก็ได้รางวัลมาเช่นกัน รางวัล Best Of Ortorkor นี้ ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จัดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับสินค้าเกษตรของไทย และให้เกษตรกรเน้นสร้างแบรนด์ หรือใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก้าวสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยแบรนด์ โดยคณะกรรมการจะมอบรางวัลให้กับร้านค้าผ่านการคัดสรรสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ดีที่สุดตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ อ.ต.ก.ที่มีเป้าหมาย การสร้างมูลค่าทางการตลาดสินค้าเกษตร ช่วยให้เกษตรไทยหลุดพ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปรับเปลี่ยนจากผลิตในเชิงปริมาณ มาเป็นผลิตในเชิงคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การตลาดนำการผลิตส่งตรงสินค้าเกษตรคุณภาพคัดสรร เจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าวิสัยทัศน์ใหม่ ชู อ.ต.ก.เป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2564

แม้จะมีรางวัลการันตรีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้น้องนิดก็ยังทำตลาดด้วยการบริหารความคาดหวังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มจากลูกค้าทุกคนจะได้ชิมทุเรียนแบบไม่เสียดายของ คือหั่นให้ลองชิมเป็นชิ้นใหญ่ๆ แบบชิ้นนึงครึ่งพูโดยไม่หวงของ เพื่อให้ทราบความต้องการของลูกค้าว่าชอบกินเนื้อแบบไหน เพราะบางคนชอบกินเนื้อนุ่ม บางคนชอบกินเนื้อแข็ง บางคนชอบกินกรอบนอกนุ่มใน แต่การจะสังเกตเนื้อและสีของทุเรียนแต่ละพูให้ออกจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการคัดทุเรียนจริงๆ ถึงจะคัดเกรดทุเรียนให้ได้เนื้อที่พอดี ความหวานที่ต้องการ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ

 

ทุกวันนี้ลูกค้าของพี่นิดเป็นลูกค้าประจำและขาจรอย่างละครึ่ง โดยลูกค้าประจำนั้นส่วนใหญ่จะโทรสั่งล่วงหน้าหลัง 2 ทุ่ม 1 วัน เพราะรู้ว่าหลัง 2 ทุ่มจะโทรติดง่าย การที่ร้านทุเรียนน้องนิดระยองเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารความคาดหวังความต้องการของลูกค้าได้เกือบ 100% นับวันการขายทุเรียนแบบแกะเนื้อขายที่ตอบโจทย์การบริหารความคาดหวังจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น 

 

ในตลาดนัดออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมช่วง COVID-19 เราจึงเห็นพ่อค้าแม่ค้าโพสต์ขายทุเรียนแบบแกะขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิธีนี้สามารถปิดการขายได้ง่ายสำหรับคนที่อยากได้สินค้าคุณภาพ ไม่ต้องมานั่งลุ้น

ลองหลับตานึกภาพดู...

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมแล้วศูนย์บริการแจ้งระยะเวลา 1 สัปดาห์ แต่วันรุ่งขึ้นได้รับโทรศัพท์จากพนักงานว่า โทรศัพท์ซ่อมเสร็จแล้วไปรับได้เลย

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปซื้อของแล้วร้านมอบของขวัญวันเกิดชิ้นเล็กๆ ให้จากเก็บข้อมูลสมาชิกไว้

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปรับประทานอาหารแล้วเชฟเดินออกมาทักทายลูกค้าด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการ SME ทุกคน จึงควรหมั่นสำรวจธุรกิจของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าสินค้าและบริการของเรานั้น สามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าหรือยัง

 

Did You Know

ปัจจุบันนี้ อ.ต.ก. ได้เพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ www.ortorkor.com โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากตลาด อ.ต.ก. โดยตรง และมียังมีบริการส่งสินค้าถึงบ้านอีกด้วย

หรือหากเกษตรท่านใดต้องการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ QR Code นี้ แล้วส่งใบสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าไปที่ E-Mail : ortorkor@mof.or.th

 



Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ