5 เหตุผล ขายของออนไลน์ทำไมต้องมีรีวิว

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 51 ปีที่ 9 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190902105049.pdf

 

การมี รีวิว” (Review) แสดงประกอบรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์ หรือร้านค้าของคุณบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้นจะช่วยเสริมการพิจารณาของลูกค้าที่กำลังดูร้านค้าอยู่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าในยุคนี้มองหาเมื่อสนใจสินค้าหรือบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อนั่นก็คือรีวิวจากลูกค้าก่อนหน้านี้นั่นเอง นอกจากนี้ความสำคัญอื่นๆ ที่เราได้รับจากการมีรีวิวสินค้าหรือรีวิวบริการก็คือ

 

ความน่าเชื่อถือ

เพราะก่อนเราจะเสียเงินไปซื้อของอะไรก็ตาม หากดูแล้วร้านค้าที่เรากำลังสนใจมีรายละเอียดสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีรีวิวจากลูกค้าว่าสั่งซื้อแล้วได้รับของมาสภาพไหน , การจัดส่งไวหรือไม่ , ตอบคำถามลูกค้าดีไม่ดีอย่างไร หากเป็นอย่างนี้ความเชื่อมั่นต่อร้านค้าก็ไม่เกิดขึ้น

 

ได้รับความคิดเห็นโดยตรงจากลูกค้า

บ่อยครั้งมักจะมีความคิดเห็นดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการ มักมาจากลูกค้าโดยตรง หลังจากที่พวกเขาได้ทดลองใช้สินค้าของเราแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง ๆ ที่มีคุณค่า อาจช่วยให้เราได้พัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

 

ช่วยให้ค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือค้นหาเสิร์ซเอนจิ้นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิ้ล (Google) มักดึงเอาสินค้าที่มีคนรีวิวมาแสดงให้นักท่องเว็บฯ เห็นด้วย ยิ่งสินค้าของเราได้รับการรีวิวหรือพูดถึงจากลูกค้ามีจำนวนมาก ยิ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของสินค้าของเรามากตามไปด้วย จนทำอยากคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

 

รีวิวด้านลบบางครั้งส่งผลดี 

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ หากเจ้าของร้านรับมือกับบางรีวิวที่ตำหนิการให้บริการได้ดีและแสดงออกถึงความจริงใจในการขออภัยลูกค้า รับผิดชอบในความผิดพลาดอย่างเหมาะสม ลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวจะรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้บริการมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงการบริการหลังการขายอีกมุมหนึ่ง หากร้านค้ามีแต่คำชมอย่างเดียว มักทำให้ความรู้สึกน่าสงสัยมากกว่าเกิดความไว้วางใจ

 

สินค้ามีรีวิว คนยิ่งสนใจ

เมื่อลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาเห็นรีวิวก่อนหน้านี้ จะเกิดแรงจูงใจและความกล้าที่จะแชร์ความเห็นเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป ยิ่งสินค้าชิ้นไหนมีรีวิวใหม่ ๆ เพิ่มเติมสม่ำเสมอ คนมักให้ความสนใจเพิ่มตามไปด้วย

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

กระตุ้นยอดขายร้านอาหารด้วยมาตรฐาน Thai SELECT

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 61 ปีที่ 11 
อ่านเพิ่มเติม :www.dbd.go.th/download/article/article_20200626145341.pdf

เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลาย และการท่องเที่ยวของไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจร้านอาหารไทยต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการ และดึงดูดลูกค้าเข้าร้านด้วยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่าง Thai SELECT

Thai SELECT เป็นมาตรฐานรับรองสินค้าร้านอาหารไทย ทั้งในเรื่องของคุณภาพและรสชาติความอร่อยแบบไทย ๆ และเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมากว่า 20 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเกิดแนวคิดในการนำตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาต่อยอดส่งเสริมให้ร้านอาหารในประเทศไทย โดยคัดสรรร้านอาหารที่มีรสชาติไทยแท้และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เน้นความใส่ใจด้านคุณภาพ รสชาติ และการบริการ 

นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ยังช่วยสร้างการจดจำ ได้เป็นอย่างดีเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ร้านอาหารไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น โดยตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในประเทศไทยมี 3 ประเภท คือ

 

 

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ร้านอาหารจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้

1) ต้องมีรายการอาหารไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายการอาหารทั้งหมด ตกแต่งบรรยากาศ และใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงอาหารแบบไทย

2) ปรุงอาหารได้ตามมาตรฐานกรรมวิธีการปรุงแบบไทยใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงของไทย 

3) เปิดให้บริการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

4) อายุการใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT นาน 3 ปี หากร้านประสงค์จะต่ออายุต้องยื่นใบสมัครขอต่อก่อนวันหมดอายุ 3 เดือน 

5) ผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะได้รับประกาศนียบัตรที่ลงนามโดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมระบุปีที่ได้รับ 

6) ร้านอาหารไทยที่มีมากกว่า 1 สาขา แต่ละสาขาต้องยื่นใบสมัครขอใช้หรือต่ออายุการใช้ตราสัญลักษณ์

Thai SELECT แยกจากสาขาอื่น

7) ผู้สมัครต้องผ่านการตรวจสอบและให้คะแนนโดยกรรมการ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dbd.go.th/images/relation_pic/info%20Thai%20SELECT.pdf

 

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

เอสเอ็มอีพัฒนาสินค้าอย่างไรให้โดนใจตลาดผู้หญิงที่เติบโตไม่หยุด

หัวข้อ : Hersumers สายเปย์แห่งวงการนักชอป 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Sep-2019.aspx

ผู้หญิง เรียกได้ว่าเป็น มหาอำนาจกำลังซื้อตัวจริงของโลก เพราะด้วยศักยภาพด้านการจับจ่ายของตลาดผู้หญิงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งผู้หญิงยังมีส่วนในการตัดสินใจซื้อถึง 78% แต่ใช่ว่าการทำตลาดให้โดนเหล่าสาว ๆ นักชอปจะง่ายไปซะหมด หากไม่รู้จักรู้ใจกันจริง ๆ ก็อาจกลายเป็นงานหินได้
แม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่างไนกี้ยังมีการปรับตัว เพื่อให้รับความหลากหลายและเจาะตลาดของผู้หญิง อย่างผ้าคลุมศีรษะที่เอาไว้ใช้ในการเล่นกีฬา "โปร ฮิญาบ" ไปจนถึงหุ่นจำลองเสื้อผ้าตัวแทนของสาวพลัสไซส์ หรือกระทั่งสินค้าผู้ชายแมนๆ อย่างตลาดมอเตอร์ไซค์ก็ปรับตัวรับยุคนักบิดสาว เช่น การทำเกียร์ ให้เหมาะสมกับผู้หญิง

เพราะอะไร? ผู้หญิงถึงเป็นมหาอำนาจของตลาดยุคใหม่ 
ตลาดผู้หญิงมีทิศทางที่จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากผู้หญิงเป็นกำลังหลักในการตัดสินใจซื้อ และเป็นเพศที่ซื้อของโดยมีเรื่องของอารมณ์ (Emotional) เข้ามาร่วมด้วยค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นในโลกของออนไลน์หรือออฟไลน์ ผู้หญิงมักได้สินค้ามากกว่าที่ตั้งใจซื้อไว้ตั้งแต่แรก ในขณะที่ผู้ชายจะมีเป้าหมายว่าจะซื้ออะไรและพุ่งตรงไปยังสิ่งนั้นๆ

ในภาพรวมผู้หญิงมีส่วนในการตัดสินใจซื้อถึงประมาณ 78% ของตลาด โดยในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้จะเห็นว่า การแบ่งตลาดของผู้หญิง (Segmentation) ค่อนข้างจะละเอียด เช่น

- กลุ่มผู้หญิงโสด เป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เพราะมีการตัดสินใจซื้อที่ค่อนข้างง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ และจะเป็นการซื้อเพื่อตัวเอง ลงทุนเพื่อตัวเอง

- กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัว จะคิดมากขึ้น โดยจะนึกถึงคนในครอบครัวก่อนและคิดถึง

รายได้โดยรวมเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ค่อนข้างจะใช้เวลาในการศึกษาและตัดสินใจซื้อนานกว่า

 

เจาะพฤติกรรมลูกค้าผู้หญิง

- ผู้หญิงปัจจุบันใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อค่อนข้างสั้น ภายในเวลา 5 นาที หากเจอสินค้าที่ใช่ ตรงใจ ก็ยินดีที่จะจ่ายเลยในทันที

- ส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการทันโลก ทันกระแส จึงเป็นที่มาของคำว่า “ของมันต้องมี”

- การตัดสินใจซื้อมีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้องอย่างมาก ราคาไม่ใช่ประเด็นหลักของการตัดสินใจ ถึงแม้สินค้านั้น ๆ จะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นก็ตาม

- การจัดส่งที่สะดวกรวดเร็ว สั่งเช้าได้บ่าย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้หญิงตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นไปอีก

 

ถึงไม่ใช่สินค้าสำหรับสาว ๆ แต่ขายผู้หญิงได้

ด้วยกระแสของตลาดผู้หญิงที่ค่อนข้างมาแรง ทำให้หลายแบรนด์ด์เริ่มทำสินค้าออกมาตอบโจทย์ผู้หญิงมากขึ้น แม้ไม่ใช่สินค้าที่ทำเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะก็ตาม เพราะผู้หญิงไม่ได้ใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ

ที่ทำมาเพื่อเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่อาจจะซื้อสินค้าอื่น ๆ เพื่อคนใกล้ตัวอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับทุกธุรกิจที่สามารถเจาะเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้ เพียงแค่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์ต้องสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคุณกำลังสื่อสารอยู่กับลูกค้ากลุ่มผู้หญิงนั่นเอง

ตัวอย่างการทำตลาดเจาะกลุ่มผู้หญิง เช่น

- แบรนด์น้ำดื่ม เริ่มหันมาทำตลาดและสื่อสารกับผู้หญิงมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต

- รองเท้าแตะผู้ชาย ก็มีการทำตลาดกับผู้หญิงเช่นกัน เพราะผู้ซื้อตัวจริงคือผู้หญิงที่ซื้อให้แฟนตัวเอง

- แบรนด์สบู่สำหรับผู้ชายในต่างประเทศ ก็พบว่า พฤติกรรมของผู้ชายจะเน้นอะไรง่าย ๆ มาก่อน คือใช้สบู่ของผู้หญิงในการอาบน้ำ ทางแบรนด์จึงออกมาทำการสื่อสารไปในทางที่ว่า อยากให้แฟนกลิ่นเหมือนตัวเองหรือทำไมไม่ใช้สบู่ที่สมกับการเป็นผู้ชายหน่อย ซึ่งจริง ๆ แล้ว นั่นคือการสื่อสารกับผู้หญิง เพราะแบรนด์รู้ว่าผู้หญิงเป็นผู้ซื้อตัวจริง

 

 

อยากพัฒนาสินค้าให้ตรงใจผู้หญิง เอสเอ็มอีควรรู้อะไร? สิ่งสำคัญคือ ต้องหาปัญหา (Pain Point) ของผู้หญิงที่มีอยู่ให้เจอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ ให้ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าผู้หญิงมากที่สุด


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

3 ตัวช่วยเอสเอ็มอีเรื่องกฎหมายสำหรับธุรกิจโรงแรม

หัวข้อ : เจาะ 3 ตัวช่วยเรื่องกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม SME
อ่านเพิ่มเติม :https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/hotel-law1

 

สำหรับธุรกิจบูทีคโฮเต็ล เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล รีสอร์ท โฮมสเตย์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ฯลฯ ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น มีข้อกฎหมายสำคัญอะไรที่ควรรู้บ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

ทำความรู้จักกฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม

  • พรบ. โรงแรม ได้ระบุไว้ว่า โรงแรมคือ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน โดยคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน 
  • การให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้พรบ. โรงแรมฉบับนี้ทั้งสิ้น และต้องได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
  • ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวังต่างๆ หากไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท (ม.59)

สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ยังมีที่พักประเภทหนึ่งที่สามารถขอยกเว้นใบขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งก็คือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม


สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม

คือ สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน โดยเปิดให้พักเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้ประกอบการลักษณะนี้ที่มีผู้ประกอบการที่มีรายได้หลักสามารถไปติดต่อนายทะเบียนแจ้งขอเป็น “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม” ก็สามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สิทธิในการประกอบธุรกิจนี้จะติดตัวคนแจ้งไปตลอดไม่มีวันหมดอายุ ตัวอย่างการขออนุญาตลักษณะนี้ เช่น โฮสเทลขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่ใช้พื้นที่ส่วนล่างขายของ โดยแจ้งการขายของเป็นรายได้หลัก บริการที่พักเป็นรายได้เสริม เป็นต้น


ธุรกิจโรงแรมและพรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.ผังเมือง

ธุรกิจโรงแรมยังเกี่ยวข้องกับพรบ.ควบคุมอาคารและพรบ.ผังเมืองอีกด้วย โดยเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  3 มาตรา ได้แก่

  • มาตรา 21 : ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
  • มาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยยังไม่ได้รับใบรับรองก่อสร้างอาคาร หรือใบอ.6 ซึ่งโรงแรมก็เป็นหนึ่งในอาคารประเภทควบคุมการใช้ เมื่อก่อสร้าง/ดัดแปลงเสร็จต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจรับรองการก่อสร้าง/ดัดแปลง ออกใบอ.6 ก่อนเปิดการใช้อาคาร
  • มาตรา 33  ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการตามมาตรา 32  (เช่นโรงแรม) เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เรียกว่าใบอ.5 และบังคับแก่การเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ด้วย

สรุปคือ

  • ถ้าสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคารใหม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อออกใบอ.6 ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ - ถ้ามีอาคารเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้เป็นโรงแรม ต้องแจ้งขอใบอ. 5 เพื่อเปลี่ยนการใช้งานมาประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ใบอ.5/อ.6 นี้ เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ถ้าฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคารทั้ง 3 มาตรานี้ ก็มีโทษอาญาปรับ/จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

7 ขั้นตอนสู่การได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

  1. กรรมสิทธิ์ในที่ดิน : ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้พื้นที่ โดยมีเอกสารเช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๑), แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง/ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นต้น
  2. ตรวจสอบผังเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามก่อสร้างโรงแรม ในพื้นที่ที่จะประกอบกิจการ : ขณะนี้มีคำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 เป็นตัวช่วยสำหรับอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน19 สิงหาคม 2559 ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายผังเมืองใดๆ ซึ่งตัวช่วยนี้จะสิ้นสุด 18 สิงหาคม 2564
  3. ตรวจสอบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ว่าเข้าข่ายต้อทำ EIA หรือ IEE ก่อนการขอนุญาตอื่น ๆ หรือไม่
  4. พิจารณาสถานที่ตั้งตาม พ.ร.บ.โรงแรม
  5. ดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอ.1 อนุญาตให้ดัดแปลงอาคาร
  6. เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร : ถ้าระบุในใบอ.1 ระบุว่าเป็นอาคารประเภทโรงแรม เมื่อดัดแปลงเสร็จแล้วติดต่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร ออกใบอ.6 / ถ้าใบอ.1 ระบุเป็นอาคารประเภทอื่นที่ไม่ใช่โรงแรม ติดต่อพนักงานท้องถิ่น ออกใบอ.5 อนุญาตให้เปลี่ยนการใช้เป็นอาคารโรงแรม
  7. นำใบอ.5 หรือใบอ. 6 ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สองกฎหมายตัวช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

- ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2562 – 18 สิงหาคม 2564 อนุญาตให้นำอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 (ใช้เอกสารที่ออกโดยราชการเช่นทะเบียนบ้าน ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เป็นหลักฐาน) เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 (บริการเฉพาะห้องพัก) หรือประเภทที่ 2 (บริการห้องพักและห้องอาหาร) อย่างถูกกฎหมาย สามารถใช้ละเว้นจากการบังคับของพ.ร.บ.ผังเมืองทุกฉบับ

- ผู้ประกอบการควรตรวจดูอาคารและปรับปรุงความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2540) และติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 เมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง และไปยื่นเอกสารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบและออกใบเว้นโทษจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

หัวข้อ : 3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจ E-Commerce
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-e-commerce.html

ทุกวันนี้ผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจหันมาเปิดบริการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น สำหรับคนที่กำลังทำหรือสนใจที่จะทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซ มักจะมีข้อสงสัยในเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีมากมาย ว่าต้องเสียแบบไหนและอย่างไรบ้าง สามารถแยกเรื่องของการเสียภาษีออกเป็นคำถาม 3 ข้อดังนี้

 

1. รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องเสียภาษีหรือไม่?

คำตอบคือ ต้องเสียแน่นอน (ข้อกฎหมายเพิ่มเติม : มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากร)

 

2. จะต้องเสียภาษีประเภทไหนและอย่างไรบ้าง?

ประเภทของภาษีที่ต้องเสียนั้นให้ตรวจสอบจากรูปแบบของธุรกิจและรายได้ที่ได้รับ

รูปแบบธุรกิจ

หมายถึง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรานั้นอยู่ในรูปแบบของ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล

บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ และเงินได้พึงประเมิน ตามวิธีการดังต่อไปนี้

  1. รายได้ : ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้าและบริการ (เงินได้ประเภทที่ 8)
  2. ค่าใช้จ่าย : สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราเหมาและหักตามค่าใช้จ่ายจริง โดยขึ้นอยู่กับอัตราค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดของธุรกิจแต่ละประเภท
  3. ค่าลดหย่อน : สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนตามกฎหมายได้ เช่น คู่สมรส บุตร ประกันชีวิต LTF RMF ฯลฯ
  4. คำนวณภาษี : ด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า

วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน

  • ในกรณีเราที่มีเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนจำนวนมากกว่า 60,000 บาท ให้นำยอดเงินได้คูณด้วย 0.005 และ
  • ถ้าภาษีที่คำนวณได้ตามวีธีนี้ มีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี 
  • ถ้าคำนวณได้ภาษีเกินกว่า 5,000 บาท ให้เปรียบเทียบต่อว่า ภาษีที่คำนวณได้จากทั้งสองวิธีนั้น วิธีไหนได้จำนวนภาษีสูงกว่า ให้เลือกเสียตามวิธีนั้น

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ

0 - 300,000 ร้อยละ 5*

300,001 - 500,000 ร้อยละ 10

500,001 - 750,000 ร้อยละ 15

750,001 - 1,000,000 ร้อยละ 20

1,000,001 - 2,000,000 ร้อยละ 25

2,000,000 - 5,000,000 ร้อยละ 30

เกิน 5,000,000 ร้อยละ 35

นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่จดทะเบียนในประเทศไทย) จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยคำนวณตามเกณฑ์ที่เรียกว่า “กำไรสุทธิตามกฎหมายภาษีอากร” (ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฏากร) ซึ่งสำหรับการเลือกเสียภาษีตามรูปแบบนี้นั้น จะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการคำนวณกำไรสุทธิ แนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีเป็นผู้ดูแลจะสะดวกกว่า

อัตราภาษีกิจการ SMEs

  • พ.ร.ฎ. 530 ยกเว้นและลดอัตราภาษี
  • ม. 4 และ ม. 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  • พ.ร.ฎ. 603 การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีก าไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธ.ค. 2559


 

อัตราภาษีกิจการ SMEs (จดแจ้ง พรก.)

  • พ.ร.ฎ. 595 บริษัทจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 59 ได้จดแจ้งตาม พ.ร.ก. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 59 แต่ไม่เกินวันที่31 ธ.ค. 59ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป เป็น 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 60 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 60

รายได้

คือ จำนวนของรายได้ เพราะมีภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ต้องเสียนอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยเมื่อไรก็ตามที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรามีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงมีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีอีกด้วย

 

3. ไม่เสียภาษีได้ไหม

หากไม่เสียภาษี จะถือว่าธุรกิจของเราทำผิดกฎหมาย และต้องมีการรับโทษ โดยการเสียค่าปรับและดอกเบี้ย ที่เรียกว่า “เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม” ที่จะต้องเสียในอัตราแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี

 



Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ