บัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญอย่างไรกับเอสเอ็มอี?

หัวข้อ : บัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญอย่างไรกับ SME?
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=275

 

 

การทำบัญชีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจเจ้าของธุรกิจควรมีความรู้ด้านบัญชีเป็นพื้นฐาน แล้วความรู้ด้านบัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญกับธุรกิจอย่างไร แบ่งเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

 

การประเมินสถานะทางการเงินของบริษัท

การประเมินสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นต้องใช้ข้อมูลที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดคือข้อมูลในระบบบัญชีของบริษัททั้งหมด ดังนั้น เจ้าของกิจการก็จึงจำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลส่วนนี้ ใช้ประเมินอะไรเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น

  • ประเมินได้ตั้งแต่ความคุ้มทุนของการลงทุนต่างๆ ของบริษัท 
  • ประเมินว่าบริษัทมี “เงินทุนหมุนเวียน” พอหรือไม่
  • ประเมินว่าบริษัทต้องการเงินเพิ่มอีกเท่าไร เพื่อจะคิดว่าจะต้องไปกู้ยืมและลงทุนอย่างไร 
  • ประเมินความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
  • ประเมินการขึ้นเงินเดือนหรือการให้โบนัสพนักงาน

 

การกู้เงินจากสถาบันทางการเงิน

ไม่มีสถาบันการเงินไหนที่จะให้กู้เงิน โดยไม่ขอดูบัญชีของเราเพื่อประเมินความสามารถทางธุรกิจ และไม่น่าจะมีสถาบันการเงินไหนเช่นกันที่จะปล่อยกู้ให้กับเราถ้าการทำบัญชีของเราไม่โปร่งใส ไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจน ดังนั้น งานบัญชีที่ได้มาตรฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเติบโตของธุรกิจ

 

การระดมทุน

แหล่งทุนต่าง ๆ ที่จะมาลงทุนในธุรกิจเรา ต้องการความโปร่งใสทางบัญชีไม่น้อยกว่าเหล่าสถาบันการเงิน

  • การระดมทุนระดับใหญ่ เช่น การยื่นขอเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งมีข้อกำหนดทางบัญชีอย่างชัดเจน ดังนั้นทำบัญชีที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานของธุรกิจที่ต้องการเติบโตเลยก็ว่าได้
  • สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดกลาง หากธุรกิจของคุณโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมา แต่เงินลงทุนที่คุณมีไม่เพียงพอ ทำให้คุณต้องการจะกู้เงินหรือระดมทุน ค่อยมานั่งทำบัญชีอาจจะพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
  • ไม่ว่าจะสถาบันทางการเงินหรือแหล่งทุน ส่วนใหญ่จะขอดูบัญชีย้อนกลับไปหลายปี หากคุณที่ไม่เคยทำบัญชีอย่างถูกต้องมาก่อน จะทำให้ไม่มีบัญชีที่เป็นระบบและโปร่งใสไปแสดงว่าธุรกิจของคุณกำลังโตจริง ๆ

 

การวางแผนภาษีและการจ่ายภาษี

  • การทำบัญชีมีผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องภาษี เพราะการทำบัญชีพร้อมเก็บเอกสารบันทึกรายรับ-รายจ่ายทั้งหมด จะช่วยให้การจ่ายภาษีเป็นเรื่องง่าย 
  • หากไม่ทำบัญชีอย่างชัดเจน จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ารายได้ธุรกิจไปถึงขั้นไหนแล้ว และ
  • หากเราไปรู้ทีหลังวันที่ต้องจ่ายภาษีพอดี ผลก็คือเราจะต้องจ่ายภาษีเกินกว่าที่เราคำนวณไว้ 
  • กรณีที่แย่ที่สุดคือการที่ทำธุรกิจแล้วไม่มีกำไร เพราะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากการทำบัญชีไม่ถูกต้อง

 

การลดปัญหาในหมู่หุ้นส่วน

สุดท้ายการทำบัญชีก็ยังจำเป็นระดับพื้นฐานในหมู่หุ้นส่วนทางธุรกิจ เพราะถ้าบัญชีไม่ชัดทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปีหนึ่งบริษัทมีกำไรเท่าไร ซึ่งผลที่ตามมาคือ บริษัทก็จะไม่รู้ว่าควรจะเอาผลกำไรไปแบ่งเป็นปันผลในหมู่หุ้นส่วนเท่าไร และอาจนำมาสู่ความบาดหมางในหมู่หุ้นส่วนได้ง่าย ๆ

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

8 รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี

หัวข้อ : 8 รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=303

 

 

ในระบบภาษีของเราก็มีสิ่งที่เรียกว่ารายจ่ายต้องห้ามทางภาษีอยู่ กล่าวคือ มีรายจ่ายจำนวนหนึ่งในบัญชีบริษัททั่วไปที่ต้องนับเป็นรายจ่าย เพราะเป็นการเสียเงินของบริษัท แต่รายจ่ายเหล่านั้น ห้ามนำไปคิดคำนวณเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มีหลัก ๆ ดังนี้

 

1. รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารที่อยู่นอกระเบียบบริษัท

เช่น ค่าน้ำมัน เงินช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรือกระทั่งงานศพของพนักงาน เป็นต้น รายจ่ายแบบนี้ถ้าไม่มีกำหนดในระเบียบชัดเจน ห้ามนำมาหักภาษีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจและเป็นรายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารบริษัทเอง ไม่ใช่ของบริษัท หากบริษัทมองว่ารายจ่ายเหล่านี้ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นและจะใช้เงินบริษัทมาจ่าย ควรทำการระบุไว้ในระเบียบของบริษัทให้ชัดเจน

 

2. รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินโควต้า

คนทำธุรกิจโดยทั่วไปจะเข้าใจว่ากว่าจะปิดดีลกับลูกค้าได้ ต้อง “เลี้ยง” ลูกค้าไปหลายรอบ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงเหล่านี้ในทางกฎหมายมีโควต้าว่า

  • ต้องเลี้ยงไม่เกินหัวละ 2,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น (นับหัวรวมพนักงานที่พาไปเลี้ยงด้วย)
  • รายจ่ายพวกนี้จะต้องไม่เกิน 0.3% ของรายได้บริษัท
  • เพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท 

หมายความว่าไม่ว่าบริษัทจะต้องเลี้ยงลูกค้าแค่ไหนกว่าจะปิดดีลได้ แต่รายจ่ายตรงนั้นจะไม่สามารถเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีถ้าเกินเพดานที่ว่าไป

 

3. รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ

คือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนไปว่าจ่ายไปที่ใคร อาจพบได้มากในบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทต้องตั้งงบเบ็ดเตล็ดไว้จัดการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รายจ่ายเหล่านี้หากจ่ายไปเป็นเงินสด และผู้รับไม่มีการออกใบเสร็จไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าจ่ายไปที่ใคร จะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้

 

4. รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม

อาจนับเป็นรายจ่ายของบริษัทแต่สรรพากรไม่นับ คือรายจ่ายที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ จะมีเงินส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือต้องเก็บไว้เพื่อนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากร 

เช่น บริษัทขายของได้ 100 บาท บริษัทได้เงินจริง 93 บาท อีก 7 บาทต้องเก็บไว้นำจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร 7 บาทนี้ ไม่สามารถเอามาคิดเป็น “รายจ่าย” ของบริษัทตอนเสียภาษีได้

 

5. รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูก

บริษัทจำนวนมากมีการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในเครือข่ายที่เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทลูก ซึ่งใน

  • ทางบัญชี บริษัทก็จะลงเป็นค่าใช้จ่ายกัน
  • ทางภาษี ตามกฎหมายไทย บริษัทไม่ว่าจะแม่หรือลูกถือเป็นบริษัทเดียวกันในทางภาษี ดังนั้นการซื้อสินค้าและบริการกันเอง จึงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของเงินในบริษัท ซึ่งนับเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้

 

6. รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

บริษัทจำนวนมากมีทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในทางบัญชีทั่ว ๆ ไปจะต้องมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งมากขึ้นหรือลดลง

กรณีที่ลดลง 

  • ทางบัญชี อาจถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์บริษัทลดลง
  • ทางภาษี เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และการประเมินมูลค่าก็ไม่มีหลักทางภาษีที่แน่นอนตายตัวในรายละเอียด ทางสรรพากรจึงห้ามเอาการที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถืออยู่ซึ่งลดลงไปมาคิดเป็นรายจ่ายเด็ดขาด

 

7. รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

ในกรณีที่บริษัทสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตัวเองถืออยู่ เช่น การขุดแร่หรือตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าจากมุมของบริษัท เมื่อเอาทรัพยากรมาใช้แบบนี้ ทรัพยากรย่อมลดลง

  • ทางบัญชี โดยทั่วไปถือเป็นรายจ่ายที่ต้องคำนวณกันไป
  • ทางภาษี ไม่สามารถนำมานับเป็นรายจ่ายได้ เพราะมันไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป และถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นรายจ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง

 

8. รายจ่ายค่าปรับ

ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับบริษัทไม่ว่าบริษัทจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อยหรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ แน่นอนว่ามันเป็นเงินของบริษัทที่ต้องจ่ายออกไป

  • ทางบัญชี ต้องคิดเป็นรายจ่ายตามจริง
  • ทางภาษี จะไม่สามารถเอาค่าปรับต่าง ๆ มาคำนวณในส่วนของรายจ่ายได้ เพราะจากมุมของสรรพากร รายจ่ายตรงนี้ไม่ใช่รายจ่ายทางธุรกิจ แต่เกิดจากการที่ธุรกิจทำผิดกฎหมายและได้รับการลงโทษโดยรัฐ มันจึงเอามาคำนวณเป็น “รายจ่าย” ในทางภาษีของบริษัทไม่ได้

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

การวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย

หัวข้อ : หลักการวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=311

 

 

ในทางธุรกิจนอกจากการขายสินค้าและบริการตามปกติแล้ว การส่งเสริมการขายก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการขายมีส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่จะต้องพิจารณา จึงต้องมีการวางแผนด้านภาษีเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่เราต้องให้ความใส่ใจมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราสามารถแยกคำตอบในการวางแผนภาษีส่งเสริมการขาย เป็นกรณีดังนี้

 

1. การลดราคาสินค้าทั่วไป

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคิดจากราคาที่ลด ซึ่งก็ต้องมีใบกำกับภาษีที่ชัดเจนประกอบตอนยื่นภาษี 

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องแยกเป็น 2 กรณี

  1. กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นตอนซื้อขายสินค้าและบริการเลย ยอดขายตอนนั้นก็จะลงบัญชีเป็นรายได้ปกติ ไม่ต้องมีส่วนลดเข้ามาเพิ่ม
  2. กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นภายหลังการซื้อขายสินค้าและบริการ (เช่น กรณีของ Cash Back) ในการรายงานบัญชี ให้รายงานรายได้จากยอดขายในราคาเต็ม และเพิ่มส่วนลดที่เกิดขึ้นไปได้ในส่วนของ “รายจ่าย” ซึ่งที่เพิ่มได้เพราะส่วนลดในแบบนี้ ไม่เข้าข่ายรายจ่ายต้องห้าม
  3. การลดราคาระดับล้างสต็อค

 

2. การลดราคาระดับล้างสต็อค

มีประเด็นภาษีต้องคำนึงเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ใช่การลดราคาระดับทั่วไป แต่ลดต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้นจึงต้องมีข้อคำนึงทางภาษีที่ต่างออกไป

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ลดแบบล้างสต็อคก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ราคาขายล้างสต็อค เหมือนสินค้าลดราคาทั่วไป

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการลดราคาแบบล้างสต็อคนั้นไม่ได้มีราคาต่ำกว่าราคาตลาด จะคิดเหมือนการลดราคาทั่วไป แต่ถ้าการขายมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดเมื่อใด จะเข้าเงื่อนไขที่เราควรต้องจัดการอย่างพิเศษถึงจะมีประสิทธิภาพทางภาษีสูงสุด หรือพูดในภาษากฎหมายก็คือต้อง “มีเหตุอันสมควร” ในการขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด

เงื่อนไขสำหรับสินค้าที่จะนำมาลดล้างสต็อค

  • ต้องเป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” (ดูเพิ่มเติมที่คำสั่งกรมสรรพากร ป.79 /2541) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดไว้
  • สินค้าพวกนี้ต้องได้รับการตรวจสอบ และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก 
  • ต้องมีบุคคลร่วมสังเกตการณ์ประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายบัญชี โดยลงลายมือชื่อเป็นพยานในการขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี
  • ถ้าบริษัทนำสินค้าเหล่านี้ไปขายล้างสต็อค ถือได้ว่าบริษัทได้ขายทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควร

ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขดังนี้ เจ้าพนักงานด้านภาษีก็จะมีสิทธิ์ในการประเมินรายได้จากการล้างสต็อคของเราในราคาตลาด เช่น ถ้าปกติเราขายสินค้าในราคา 100 บาท แต่ขายลดล้างสต็อคไปในราคา 30 บาท เจ้าพนักงานก็มีอำนาจที่จะให้เราเพิ่มรายได้ในบัญชีไปให้เป็นราคาตลาด ซึ่งถือว่าเรามีราคาได้จากการขายสินค้านั้น 100 บาท เป็นต้น

 

3. การแถมสินค้าหรือการแจกสินค้าฟรี

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียตามมูลค่าตลาด  ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นต่าง ๆ อย่าง

  • มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่ แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ ถ้าเป็นการแถมในลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น หนังสือ และพวกสินค้าเกษตร (ดูรายละเอียด ได้ที่ มาตรา 81 (1) ของประมวลรัษฎากร) ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดเหมือนการขายสินค้าราคาต่ำกว่าตลาดแบบการ “ล้างสต็อค” คือถ้าไม่มี “เหตุสมควร” เจ้าพนักงานจะมีอำนาจในการสั่งให้เอา “ของแถม” มาคิดเป็นรายได้ของบริษัทตามราคาตลาดในบัญชีภาษี

 

ในแง่นี้ “ของแถม” ที่มีประสิทธิภาพทางภาษีก็คือ “สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มันมี “เหตุสมควร” ในการที่บริษัทจะขายออกไปในราคาต่ำกว่าตลาด ดังที่อธิบายไว้แล้วในหัวข้อการลดล้างสต็อค

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ไขปัญหายอดฮิตเอสเอ็มอี ของการทำวิจัยและพัฒนาสินค้า

หัวข้อ : ไขข้อกังวล Top Hits เกี่ยวกับการทำR&D
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/previewPdf.action?fileId=23#book/9


การทำวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือการทำ R&D เป็นส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น เราได้รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการทำ  R&D ของผู้ประกอบการ พร้อมคำตอบเเละตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

  1. ไม่มีบุคลากร เเละเครื่องมือจะทำได้อย่างไร 

ผู้ประกอบการที่ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือทำ R&D สามารถขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่พร้อมให้บริการวิจัย ซึ่งเเบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มเเรกคือ สถาบันการศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยภาครัฐ 
  • กลุ่มที่สอง ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม
  • กลุ่มที่สาม ศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การกำกับดูเเลของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เเละนวัตกรรม 

การสนับสนุนของหน่วยงานดังกล่าวประกอบด้วย

  • ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ใช้เครื่องมือ / ทีมวิจัย / สถานที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละในบางเเห่ง เช่น ศูนย์วิจัยของ สวทช. หรือ วว. จะมีบริการเครื่องมือ / สถานที่ / ทีมวิจัย หรือเเม้กระทั้งผลงาน R&D ที่พร้อมถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ด้วย
  • จัดโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมครบวงจร ในรูปแบบอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 
  • เป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้าตั้งเเต่ต้นจนจบ คอยให้คำปรึกษา ช่วยประสานงานผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำ R&D ไปจนถึงการช่วยหาช่องทางส่งเสริมการขายกหลังพัฒนาสินค้าสำเร็จ

ซึ่งการสนับสนุนแต่ละระดับก็เหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีเงื่อนไขของการพัฒนาสินค้าที่ต่างกัน 

  • การให้คำปรึกษาอาจเหมาะสมกับผู้ที่เริ่มต้นมองหาโจทย์การพัฒนาสินค้า 
  • การขอรับบริการเครื่องมือ/ทีมวิจัย/สถานที่ เเละการถ่ายทอดผลงาน R&D เหมาะสมกับผู้ที่มีโจทย์พัฒนาสินค้าที่ชัดเจน เเละมีเงินทุนระดับหนึ่ง 
  • การพึ่งพาแบบพี่เลี้ยงเหมาะสมกับผู้ที่ริเริ่มทำธุรกิจ เเต่มีไอเดียการพัฒนาสินค้าที่แปลกใหม่เพียงพอที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการต่างๆ ที่พี่เลี้ยงจัดขึ้น รวมไปถึงมีเวลาในการรับคำแนะนำจากพี่เลี้ยงเเละหน่วยงานต่างๆ ที่พี่เลี้ยงส่งมาให้คำปรึกษาหรือร่วมทำ R&D เพิ่มเติม

  1. หากข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรืองานวิจัยใหม่ๆ ไม่รู้จะหาจากไหนดี 

ผู้ประกอบการสามารถติดตามผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองหรือตามช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำนวัตกรรม เช่น สวทช. สำนักงานนวัตกรรมเเห่งชาติ (สนช.) หรือ สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) ฯลฯ ได้รวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากหลากหลายเเห่ง

หากสนใจไปเห็นด้วยตัวเองทำได้ด้วยการไปร่วมงานโชว์เคส ทั้งมหกรรมเเละงานประกวดรางวัลที่เกี่ยวกับนวัตกรรมโดยตรง โดยจุดเด่นของงานเหล่านี้คือ เป็นงานที่รวมตัวของผู้ประกอบการเเละนักวิจัยที่สามารถพัฒนาผลงาน R&D ในระดับต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มีอยู่ 3 รูปแบบให้เลือกเข้าร่วม คือ

  • แบบเเรก คือ งานมหกรรมเเสดงผลงานนวัตกรรม ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงาน R&D ขายได้จริง ของผู้ประกอบการเเละนักวิจัยจากหลายอุตสาหกรรม พร้อมการเสวนาหัวข้อน่าสนใจ
  • เเบบที่สอง คือ งานประกวดรางวัลนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานจัดเเข่งขันประกวดผลงานนวัตกรรมในระดับต่อยอดเชิงพาณิชย์เเล้ว จากผู้เข้าเเข่งขันทั่วประเทศ 
  • เเบบที่สาม คือ งานเเสดงสินค้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะนำเสนอสินค้าหรือบริการของอุตสาหกรรมนั้นไว้อย่างหลากหลาย เเละมักจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมนั้นๆ มานำเสนออยู่เสมอ

แต่หากต้องการดูผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ซึ่งรวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากศูนย์วิจัยต่างๆ ไว้เเล้ว เเละยังมีข้อมูลสำหรับติดต่อผู้วิจัย/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ให้อีกด้วย

  1. กลัวเเพง หรือไม่ค่อยมีทุน ทำอย่างไรดี?

สำหรับผู้ประกอบการที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ สามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับการทำ R&D จากสถาบันการเงินชั้นนำได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับธนาคารพาณิชย์ มีเสนอให้เข้าร่วมได้ 3 รูปแบบ ได้เเก่ 

  1. โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ของ สวทช. ที่จะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท 
  2. โครงการ นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสินเชื่อวงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท โดย สนช. จะจ่ายดอกเบี้ยเเทน SMEs ให้ใน 3 ปีแรก
  3. โครงการ Startup&Innobiz ที่จะให้สินเชื่อวงเงินสูงสุด 40 ล้านบาท ในลักษณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นเเละยังมีหลักทรัพย์เพื่อขอยื่นกู้ตามโครงการปกติ ไม่เพียงพอเป็นอย่างยิ่ง

หากผู้ประกอบการรายใดที่มีไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์เเละต้องการเงินสนับสนุน สามารถยื่นขอเงินทุนให้เปล่าเพิ่มเติมจากโครงการ 4 ประเภท (ตาราง ที่ 5 ) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีการช่วยออกค่าใช้จ่าย R&D สูงถึง 50%-75% โดยบางโครงการจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจ หรือสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ บางโครงการก็มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการได้ทำ R&D ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้วย

  1. ถ้าสนใจทำ R&D ควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน?

หากผู้ประกอบการเริ่มสนใจในการทำ R&D เเต่ยังมีข้อสงสัยว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน เเละสงสัยว่าจะทำ R&D เรื่องอะไรดี สามารถดูได้จากข้อมูลเเละวิเคราะห์เส้นทางการทำ R&D ในภาพด้านล่างนี้

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เมื่อโควิดทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดพัก แล้วจะปรับยังไงให้องค์กรได้ไปต่อ

เมื่อโควิดทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดพัก แล้วจะปรับยังไงให้องค์กรได้ไปต่อ

อุตสาหกรรมที่บาดเจ็บมากที่สุดจากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ  เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเจอผลกระทบหนักถ้วนหน้า 

แต่ท่ามกลางการบาดเจ็บล้มตาย ย่อมมีผู้รอดชีวิตเสมอ  ไม่ใช่เพราะมีร่างกายแข็งแกร่ง แต่อยู่ที่ทัศนคติทำให้ตั้งหลักได้เร็ว และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ด้วยกันทั้งองค์กร 

วิธีนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จมาแล้ว จากตัวอย่างของ Local Alike บริษัทท่องเที่ยวสตาร์ทอัพที่แม้จะทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise แต่ก็ยังฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนองค์กรรอดพ้นจากวิกฤต แถมยังต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคตย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 Local Alike แจ้งเกิดในตลาดท่องเที่ยวชุมชนผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยในระยะแรกจับกลุ่ม B2B (Business to Business) และ B2G (Business to Government) เป็นหลัก ทำให้มีลูกค้ามากกว่า 50 ราย ทั้งในภาคที่เป็นองค์กรเอกชนอย่างไทยแอร์เอเชีย เอสซีจี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซีพีเอฟ และหน่วยงานภาครัฐอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เป็นต้น 

โดย Local Alike จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านการท่องเที่ยวของชุมชน และทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กลายเป็นโมเดลที่ทำให้ Local Alike ประสบความสำเร็จกลายเป็นที่จับตาในฐานะสตาร์ทอัพดาวรุ่งใน Travel Tech 

แม้จะมีลูกค้า B2C (Business to Consumer) เข้ามาบ้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100% ที่ชอบท่องเที่ยวแบบเจาะลึกในชุมชน ปลายปีที่ผ่านมา Local Alike จึงขยายธุรกิจใหม่เพื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มลูกค้า B2C คนไทยบ้าง ภายใต้แบรนด์ Local Aroi หรืออาหารชุมชน อันจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับคนในชุมชนต่อยอดจากการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านการจัดเตรียมอาหารมื้อพิเศษแบบ Chefs Table ให้คนเมืองมาลิ้มรส ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นโดยชาวบ้านในชุมชน และปรุงด้วยเชฟชาวบ้าน เพื่อคงรสชาติดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเรื่องราวของแต่ละชุมชนจากทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้ขยาย Private Dinner Catering และ Cooking Class 
โปรแกรมแต่ละอย่างดังกล่าวที่จัดขึ้นในแต่ละชุมชนหลายสิบอีเวนท์เมื่อปลายปีก่อนถูกจองเต็ม เช่นเดียวกับโปรแกรมในปีนี้ที่มีลูกค้าจองเต็มล่วงหน้าเช่นกัน แต่..........

 “พอ COVID-19 มาปุ๊ป โปรแกรมท่องเที่ยวของ Local Alike และโปรแกรมต่างๆ ของ Local Aroi ต้องถูกระงับจากมาตรการล็อคดาวน์ทันที และส่วนหนึ่งคนยังไม่กล้าท่องเที่ยวด้วย ทำให้รายได้เราหายไปทันที 20 ล้านบาท” คุณสมศักดิ์ บุญคำ หรือไผ Founder & CEO ของ Local Alike กล่าว

เดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นห้วงเวลาที่ผู้บริหาร Local Alike ยอมรับว่าองค์กรอยู่ในขั้นบาดเจ็บสาหัส แต่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีหัวใจของการทำงานที่คล่องตัว ตัดสินใจไว และทุกคนในองค์กรมีส่วนในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ Local Alike ค่อยๆ ฟื้นตัวมาได้ โดยใช้เวลาเพียงเดือนเดียวในการปรับตัว Local Aroi ให้กลายเป็น Local Aroi Dee Delivery แพลตฟอร์มการสั่งอาหารชุมชนผ่านเดลิเวอรี 

“มันเป็นไอเดียส่งความอร่อยจากท้องถิ่นถึงบ้านคุณในรูปแบบ Delivery โดยเราให้ชุมชนส่งวัตถุดิบหลักมา ส่วนทีมงาน Local Aroi  จะทำหน้าที่เป็นเชฟ และ Food Stylist นำวัตถุดิบมาทำเป็นเมนูฟิวชั่นให้ถูกจริตคนเมือง จากวัตถุดิบท้องถิ่นนั้นๆ อาทิ ใบโกงกาง จากชุมชนบางหญ้าแพรก จากสมุทรสาคร, กะปิ จากชุมชนคลองโคน สมุทรสงคราม, พริกแกงเขียวหวาน จากนครศรีธรรมราช และปอเปี๊ยะ จากคลองเตย เป็นต้น”

แม้จะมีจุดแข็งที่ขายอาหารผ่านสตอรีสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นได้อย่างสบายๆ ท่ามกลางสงครามฟู้ดเดลิเวอรีที่แข่งขันกันดุเดือดก็ตาม แต่อุปสรรคก็ยังมีไว้ให้ฝ่าฟัน เพราะค่าส่งและ GP ที่เจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเก็บ 30% ยังเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ต้องทลายมันลงมา

“เราขายอาหาร 60 บาท แต่เจอค่าส่งแพงกว่าค่าอาหาร เราคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เราจึงอาศัยความสัมพันธ์จากการเข้าไปทำท่องเที่ยวชุมชนในสลัมคลองเตยก่อนหน้านี้ ให้พี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์ รวบรวมพรรคพวกที่ว่างงานจากการล็อคดาวน์ มาตั้งกลุ่มคลองเตยไบค์ เราให้ค่าจ้างเขาเป็นรายวัน แล้วเราก็มาบริหารจัดการค่าจัดส่งไปยังลูกค้าในราคาที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี” 

มีท่องเที่ยวชุมชนแล้ว อาหารชุมชนแล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกัน Local Alike ก็ได้ขยายอีกหนึ่งธุรกิจ นั่นคือ Local A lot ในฐานะสินค้าชุมชนบ้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างรายได้หล่อเลี้ยงให้กับองค์กรและชุมชนในช่วงธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก

Local A lot เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับสินค้าชุมชน จากการที่เราทำงานร่วมกับชุมชนมานาน เราพบว่าชุมชมมีของดีเยอะมาก เราเลยตั้งชื่อนี้”

แต่ใช่ว่าจะสักแต่ขายของลูกเดียว โดยไม่เข้าใจสถานการณ์ ทุกอย่างต้องมีไอเดียการขายทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสอย่างนี้

“เราให้แม่ๆ ในชุมชน เย็บหน้ากากจากผ้าทอมือมาขายเป็นหน้ากากชุมชน หรือบางแห่งผลไม้ออกพอดี เราก็ขายมังคุดชุมชน รวมถึงออกโปรดักท์เป็นถุงยังชีพชุมชนเลย โดยเราเอาของดีจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งมารวมอยู่ในถุงยังชีพ เพื่อนำมาขายให้กับองค์กรเอกชน หรือพรรคการเมืองที่ต้องซื้อไปแจกผู้ประสบปัญหาอยู่แล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เฉพาะแค่หน้ากาก เราขายได้ 1,000 ชิ้นภายใน 2 วัน ทำให้หลังจากที่ Local A lot เปิดตัวมาได้ 45 วัน เราสร้างรายได้ให้ชุมชนมากถึง 3 ล้านบาท และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Local Alike ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด”คุณไผ กล่าวถึงบทเรียนที่เขาได้รับจากวิกฤตนี้ว่ามีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 

เรื่องแรก ธุรกิจท่องเที่ยวมีความเปราะบางมากกว่าที่คิด ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ต้องเรียนรู้ที่จะหาโมเดลใหม่เพื่อสร้างรายได้จากช่องทางอื่น

เรื่องที่สอง ธุรกิจทัวร์ต้องมีความเกื้อกูลกันมากขึ้น (Inclusive) ในกรณีของ Local Alike หากไม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนไว้ตั้งแต่แรก ชุมชนก็คงไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือยามลำบากด้วยการขายสินค้าในราคาต้นทุนให้ Local Aroi และ Local A lot แจ้งเกิดได้ ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไปทำในชุมชมแต่ไม่สนใจชุมชมรอบข้างก็จะอยู่ยาก

และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการ คือ การสร้างทีมให้เข้าใจภารกิจเดียวกัน และพร้อมที่จะ Reskill สู้ไปด้วยกัน จะสังเกตได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ ทีมไหนมี Grow Mindset สูงมักจะอยู่รอด

และบทเรียนทั้งหมดก็พิสูจน์ได้ว่า Local Alike ไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่ยังพลิกวิกฤตให้ธุรกิจและชุมชนมีโอกาสเพิ่มรายได้ไปด้วยกันในอนาคต

“ในอนาคต Local Aroi และ Local A lot มีศักยภาพที่จะเติบโตไปได้อีกไกล เพราะจับตลาดแมส เมื่อเทียบกับ Local Alike เป็นการที่ชวนคนไปเที่ยวชุมชน หลายคนอาจจะคิดเยอะ เพราะแพ็กเกจหลักพันขึ้นไป แต่สองอันนี้แค่หลักร้อย แล้วจุดเด่นคือ สตอรี ที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น แค่นำเสนอผ่านอาหารและสินค้าชุมชนเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือ พัฒนาอาหาร ปรับเมนู และปรับแพ็กเกจจิ้งสินค้าทำสไตล์ให้สวยขึ้นเท่านั้นเอง”

รู้จักเพิ่มมูลค่า และคว้าโอกาสในวิกฤต

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ