กระแสรักสุขภาพจากโควิด สร้างโอกาสธุรกิจเอสเอ็มอี

หัวข้อ : กระแสรักสุขภาพจากโควิต สร้างโอกาสธุรกิจ SME 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com//Healthtrend_SME/Healthtrend_SME.pdf

 

 

กระแสรักสุขภาพ (Health Conscious) ถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทั้งในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และยิ่งการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวของการระวังป้องกัน รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติใหม่ (New Normal) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

กระแสการตื่นตัวทางด้านสุขภาพได้รับความสนใจในประเทศไทย ยืนยันได้จากจำนวนคนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาของคนไทย พบว่า มีประมาณ 12.9 ล้านคน เทียบกับ 12.7 ล้านคน ในการสำรวจครั้งก่อน รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทำได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ โดยลูกค้าเป้าหมายกลุ่มรักสุขภาพที่มีความสำคัญ อาทิ 

  • คนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15-40 ปี (กลุ่ม GEN Y และ GEN Z) ซึ่งให้ความสนใจต่อสุขภาพค่อนข้างสูง กลุ่มนี้มีประชากรประมาณ 24 ล้านคน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะด้านที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยหรือช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 11.1 ล้านคน

แต่ก่อนที่ผู้ประกอบการจะพิจารณาลงทุนในธุรกิจใด ๆ จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้ ซึ่งมีดังนี้

 

การลงทุนต้องใกล้เคียงกับธุรกิจเดิม 

เพื่อจะได้อาศัยองค์ความรู้ทางด้านการตลาด ลักษณะพฤติกรรมลูกค้าที่มีอยู่พอสมควร โดยที่ไม่ต้องไปเรียนรู้ใหม่ นอกจากนี้อาจใช้เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่รวมถึงฐานลูกค้าเดิมเพื่อนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจ

 

ต้องไม่ลงทุนมาก 

  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัดของธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงนี้ อาจทำให้จัดการสภาพคล่องได้ยาก
  • ไม่สามารถคาดการณ์ว่า ธุรกิจที่ลงทุนจะให้ผลตอบแทนด้านรายได้หรือผลกำไรกลับมาได้รวดเร็วเพียงใด เงินที่จะใช้ลงทุนต้องไม่ก่อให้เกิดหนี้ใหม่
  • ต้องมีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังไม่ให้มีมากเกินไปจนกระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ

 

มีความสามารถในการแข่งขัน 

ซึ่งต้องประกอบด้วยหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ

  • มีทำเลที่ตั้งธุรกิจที่เหมาะสม เข้าถึงกลุ่มลูกค้า
  • มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญหรือมีนวัตกรรม 
  • มีพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพทั้งด้านการผลิต การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย

 


 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม

แม้ว่าโควิด-19 ในไทยจะลดระดับความรุนแรงจนสามารถควบคุมได้ แต่คนทั่วไปยังคงระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตนเองเจ็บป่วยและต้องเข้าไปในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง  โดยสินค้าหรือบริการที่จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว อาทิ

  • อุปกรณ์การแพทย์ในครัวเรือน ซึ่งนอกจากหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว สินค้าเครื่องมือแพทย์ที่มีความต้องการสูงในภาคครัวเรือน ได้แก่ เครื่องตรวจวัดเบาหวาน วัดความดันโลหิต เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังไม่ใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจะตอบโจทย์ความต้องการได้ ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศอาจต้องพิจารณาความสามารถในด้านการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่เน้นคุณภาพ (จากญี่ปุ่น) หรือสินค้าที่เน้นด้านราคา (จากจีน) 

สำหรับช่องทางการตลาดนั้น อาจต้องใช้ช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ 

- กลุ่มผู้สูงอายุ ขายผ่านร้านค้า มีจุดเด่นทางด้านการแนะนำวิธีการใช้ หรือคุณสมบัติที่ละเอียด

- กลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นช่องทางออนไลน์ที่ไม่ต้องการรายละเอียดวิธีใช้มากเท่ากลุ่มแรก

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย เช่น 

- ธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารที่บำรุงสุขภาพ อย่างอาหารเสริมและวิตามิน เครื่องดื่มสมุนไพร ที่น่าจะมีความต้องการสูงในช่วงนี้ ได้แก่ สินค้าที่ช่วยป้องกันหรือบำรุงสายตา เพื่อรองรับพฤติกรรมคนส่วนใหญ่

ที่อยู่บ้านมากขึ้น มีการติดตามสื่อออนไลน์ อาจกระทบต่อสุขภาพดวงตา

- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เช่น ฟิตเนส แต่อาจปรับในรูปแบบการเปิดคอร์ทสอน

การออกกำลังกายที่บ้านสำหรับคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งโดยปกติมักต้องพึ่งพาเทรนเนอร์ เพื่อแนะนำหรือดูแลการออกกำลังกายไม่ให้เกิดอันตราย อาจจะมีบริการให้เช่ายืมอุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นบริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวก

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาตนเอง

โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น ได้แก่ อาหารที่ต้องทานในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าถึงหากถูกล็อกดาวน์จากการระบาดรอบใหม่ รวมถึงมั่นใจด้านคุณภาพ โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารทานที่บ้าน จากพฤติกรรมการอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้คนบางส่วนหันมาทำอาหารกินเอง

    • ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอาจจัดคอร์ทเรียนแบบออนไลน์ 
    • ธุรกิจบางรายที่มีวัตถุดิบและเครื่องปรุงอยู่แล้ว อาจจัดวัตถุดิบสำเร็จรูปเป็นชุด สำหรับเมนูอาหารแต่ละชนิด เพื่ออำนวยความสะดวกสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่ของตนเอง ตอบโจทย์ความกังวลต่อความปลอดภัยของสินค้าที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือขั้นตอนการปลูก รวมถึงลดการไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดสด และลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

ตลาดที่น่าสนใจในช่วงนี้ได้แก่ กลุ่มคนที่มีพื้นที่ว่างในเมือง ชุมชนที่ต้องการพึ่งตนเองในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มโรงงานที่ทำแบบสวัสดิการพนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะกับความต้องการแต่ละตลาด ตามปัจจัยที่แตกต่าง

 

ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพอื่นๆ

  • ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากศักยภาพในการควบคุมการระบาดและอัตราการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผลสำเร็จสูง ที่ยืนยันได้จากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ซึ่งไทยอยู่ในลำดับ 6 ของโลก (ปี 2562) จะเป็นจุดขายและเป็นปัจจัยดึงดูดคนรักสุขภาพทั่วโลกเดินทางมาใช้บริการในไทย ซึ่งอาจมีทั้งเพื่อการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ อาทิ ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รวมถึงการนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะกับคนเหล่านี้

 


 

ความท้าทายด้านกำลังซื้อที่ลดลง

  • กำลังซื้อจะยังคงไม่ฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2563 และยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะ 
  • คนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น 
  • กลุ่มคนรักสุขภาพที่แต่เดิมยอมรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้มากกว่ากลุ่มอื่น ก็มีการวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น
  • กลุ่ยวัยรุ่น - วัยทำงาน (กลุ่ม GEN Y และกลุ่ม GEN Z) มีความเสี่ยงด้านการจ้างงานสูง จะระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นเช่นกัน

 

ความท้าทายด้านความยั่งยืนของเทรนด์ที่เกิดขึ้น 

  • เทรนด์ที่คาดว่าเกิดจากความต้องการหรือการเติบโตของธุรกิจ จะยังคงมีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อาทิ ธุรกิจวิตามินหรืออาหารเสริม (สินค้าอาจปรับกลับมาเป็นกลุ่มชะลอวัย (Anti Aging) 
    • ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) 
    • อุปกรณ์การแพทย์ในครัวเรือน
    • ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • บางเทรนด์อาจเป็นกระแสที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งคาดว่าหลังโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการอาจลดลง อาทิ 
    • ธุรกิจปลูกพืชผักเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน 
    • ธุรกิจสอนการทำอาหารหรือการเปิดคอร์ทสอนการออกกำลังกายที่บ้านในรูปแบบออนไลน์

 

ความท้าทายจากผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งตนเอง ที่ไปกระทบกับธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน อาทิ การปลูกพืชผักในครัวเรือน รวมถึงในชุมชนหรือโรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีการผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน อาทิ การปลูกพืชผักออแกนิกส์สำหรับคนรักสุขภาพ หรือธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการอาหารสุขภาพ

 

ความท้าทายด้านความพร้อมของธุรกิจ 

แม้ว่าธุรกิจบางประเภทจะมีปัจจัยสนับสนุนความต้องการ แต่อาจมีปัจจัยแวดล้อมบางประการที่ยังไม่เหมาะสม อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หากมีการกลับมาระบาดรอบ 2 จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางด้านการท่องเที่ยวได้

 


 

เพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้

 

การนำเสนอสินค้าที่จับต้องได้ เช่น เครื่องดื่ม อาหารเสริมหรือวิตามิน 

  • สำหรับกลุ่มลูกค้ารายเก่าที่รู้จักสินค้าอยู่แล้ว อาจมีโปรโมชั่นบรรจุภัณฑ์ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ราคาต่ำกว่าหากเทียบกับปริมาณและราคาเดิม 
  • สำหรับลูกค้ารายใหม่ ทั้งในส่วนของตลาดในประเทศและต่างประเทศ อาจเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อให้ทดลองใช้ 
  • ขณะที่สินค้าสุขภาพที่มีราคาสูงอาจทำโปรโมชั่นที่มีความยืดหยุ่น อาทิ การผ่อน 0% หรือนำเสนอสินค้าในรูปแบบเช่าแทน

 

การสร้างกระแสให้เกิดความต่อเนื่อง แม้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่หลาย ๆ เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สามารถนำมาขยายหรือต่อยอดได้ เช่น การสอนออกกำลังกายออนไลน์

  • สามารถใช้ควบคู่กับการสอนในสถานออกกำลังกาย จะได้ประโยชน์ทางด้านลูกค้ารายใหม่ ๆ ที่อาจไม่สะดวกเข้ามาในสถานออกกำลังกาย (อาทิ กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้านที่ไม่มีเวลามาออกกำลังกายที่ฟิตเนส หรืออาจไม่พร้อมรับค่าใช้จ่ายปกติ)
  • การขยายตลาดการสอนผ่านออนไลน์ จะสนับสนุนให้ธุรกิจฟิตเนส บริการลูกค้าได้จำนวนมากขึ้น โดยใช้สถานที่ รวมถึงบุคลากรเท่าเดิม

 

การร่วมมือเป็นพันธมิตร สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากกระแสการพึ่งตนเอง อาทิ ธุรกิจที่ปลูกพืชผัก

สุขภาพ 

  • อาจนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่าที่ครัวเรือนหรือโรงงานผลิต เพื่อป้อนความต้องการ
  • อาจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับชุมชน หรือโรงงานเพื่อเป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่วนที่อาจเกินความต้องการ โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือโรงงาน รวมถึงจำกัดผลกระทบต่อธุรกิจ

 

การเตรียมความพร้อมธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่น่าจะเป็นจุดขายหลังโควิดคลี่คลาย

  • อาจต้องเตรียมพร้อมทั้งทางด้านการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศ โดยชูจุดเด่นด้านความปลอดภัยของการระบาด 
  • พัฒนาเพิ่มทักษะหรือ Upskill เกี่ยวกับภาษา หรือการให้บริการด้านสุขภาพ อาทิ นวดสปา นวดแผนไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

บัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญอย่างไรกับเอสเอ็มอี?

หัวข้อ : บัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญอย่างไรกับ SME?
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=275

 

 

การทำบัญชีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจเจ้าของธุรกิจควรมีความรู้ด้านบัญชีเป็นพื้นฐาน แล้วความรู้ด้านบัญชีและข้อมูลทางบัญชีมีความสำคัญกับธุรกิจอย่างไร แบ่งเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

 

การประเมินสถานะทางการเงินของบริษัท

การประเมินสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นต้องใช้ข้อมูลที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดคือข้อมูลในระบบบัญชีของบริษัททั้งหมด ดังนั้น เจ้าของกิจการก็จึงจำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลส่วนนี้ ใช้ประเมินอะไรเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น

  • ประเมินได้ตั้งแต่ความคุ้มทุนของการลงทุนต่างๆ ของบริษัท 
  • ประเมินว่าบริษัทมี “เงินทุนหมุนเวียน” พอหรือไม่
  • ประเมินว่าบริษัทต้องการเงินเพิ่มอีกเท่าไร เพื่อจะคิดว่าจะต้องไปกู้ยืมและลงทุนอย่างไร 
  • ประเมินความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
  • ประเมินการขึ้นเงินเดือนหรือการให้โบนัสพนักงาน

 

การกู้เงินจากสถาบันทางการเงิน

ไม่มีสถาบันการเงินไหนที่จะให้กู้เงิน โดยไม่ขอดูบัญชีของเราเพื่อประเมินความสามารถทางธุรกิจ และไม่น่าจะมีสถาบันการเงินไหนเช่นกันที่จะปล่อยกู้ให้กับเราถ้าการทำบัญชีของเราไม่โปร่งใส ไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจน ดังนั้น งานบัญชีที่ได้มาตรฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเติบโตของธุรกิจ

 

การระดมทุน

แหล่งทุนต่าง ๆ ที่จะมาลงทุนในธุรกิจเรา ต้องการความโปร่งใสทางบัญชีไม่น้อยกว่าเหล่าสถาบันการเงิน

  • การระดมทุนระดับใหญ่ เช่น การยื่นขอเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งมีข้อกำหนดทางบัญชีอย่างชัดเจน ดังนั้นทำบัญชีที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานของธุรกิจที่ต้องการเติบโตเลยก็ว่าได้
  • สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดกลาง หากธุรกิจของคุณโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมา แต่เงินลงทุนที่คุณมีไม่เพียงพอ ทำให้คุณต้องการจะกู้เงินหรือระดมทุน ค่อยมานั่งทำบัญชีอาจจะพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
  • ไม่ว่าจะสถาบันทางการเงินหรือแหล่งทุน ส่วนใหญ่จะขอดูบัญชีย้อนกลับไปหลายปี หากคุณที่ไม่เคยทำบัญชีอย่างถูกต้องมาก่อน จะทำให้ไม่มีบัญชีที่เป็นระบบและโปร่งใสไปแสดงว่าธุรกิจของคุณกำลังโตจริง ๆ

 

การวางแผนภาษีและการจ่ายภาษี

  • การทำบัญชีมีผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องภาษี เพราะการทำบัญชีพร้อมเก็บเอกสารบันทึกรายรับ-รายจ่ายทั้งหมด จะช่วยให้การจ่ายภาษีเป็นเรื่องง่าย 
  • หากไม่ทำบัญชีอย่างชัดเจน จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ารายได้ธุรกิจไปถึงขั้นไหนแล้ว และ
  • หากเราไปรู้ทีหลังวันที่ต้องจ่ายภาษีพอดี ผลก็คือเราจะต้องจ่ายภาษีเกินกว่าที่เราคำนวณไว้ 
  • กรณีที่แย่ที่สุดคือการที่ทำธุรกิจแล้วไม่มีกำไร เพราะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากการทำบัญชีไม่ถูกต้อง

 

การลดปัญหาในหมู่หุ้นส่วน

สุดท้ายการทำบัญชีก็ยังจำเป็นระดับพื้นฐานในหมู่หุ้นส่วนทางธุรกิจ เพราะถ้าบัญชีไม่ชัดทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปีหนึ่งบริษัทมีกำไรเท่าไร ซึ่งผลที่ตามมาคือ บริษัทก็จะไม่รู้ว่าควรจะเอาผลกำไรไปแบ่งเป็นปันผลในหมู่หุ้นส่วนเท่าไร และอาจนำมาสู่ความบาดหมางในหมู่หุ้นส่วนได้ง่าย ๆ

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

8 รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี

หัวข้อ : 8 รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=303

 

 

ในระบบภาษีของเราก็มีสิ่งที่เรียกว่ารายจ่ายต้องห้ามทางภาษีอยู่ กล่าวคือ มีรายจ่ายจำนวนหนึ่งในบัญชีบริษัททั่วไปที่ต้องนับเป็นรายจ่าย เพราะเป็นการเสียเงินของบริษัท แต่รายจ่ายเหล่านั้น ห้ามนำไปคิดคำนวณเป็นรายจ่ายตอนเสียภาษีเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มีหลัก ๆ ดังนี้

 

1. รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารที่อยู่นอกระเบียบบริษัท

เช่น ค่าน้ำมัน เงินช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรือกระทั่งงานศพของพนักงาน เป็นต้น รายจ่ายแบบนี้ถ้าไม่มีกำหนดในระเบียบชัดเจน ห้ามนำมาหักภาษีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจและเป็นรายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารบริษัทเอง ไม่ใช่ของบริษัท หากบริษัทมองว่ารายจ่ายเหล่านี้ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นและจะใช้เงินบริษัทมาจ่าย ควรทำการระบุไว้ในระเบียบของบริษัทให้ชัดเจน

 

2. รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินโควต้า

คนทำธุรกิจโดยทั่วไปจะเข้าใจว่ากว่าจะปิดดีลกับลูกค้าได้ ต้อง “เลี้ยง” ลูกค้าไปหลายรอบ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงเหล่านี้ในทางกฎหมายมีโควต้าว่า

  • ต้องเลี้ยงไม่เกินหัวละ 2,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น (นับหัวรวมพนักงานที่พาไปเลี้ยงด้วย)
  • รายจ่ายพวกนี้จะต้องไม่เกิน 0.3% ของรายได้บริษัท
  • เพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท 

หมายความว่าไม่ว่าบริษัทจะต้องเลี้ยงลูกค้าแค่ไหนกว่าจะปิดดีลได้ แต่รายจ่ายตรงนั้นจะไม่สามารถเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีถ้าเกินเพดานที่ว่าไป

 

3. รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ

คือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนไปว่าจ่ายไปที่ใคร อาจพบได้มากในบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทต้องตั้งงบเบ็ดเตล็ดไว้จัดการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รายจ่ายเหล่านี้หากจ่ายไปเป็นเงินสด และผู้รับไม่มีการออกใบเสร็จไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าจ่ายไปที่ใคร จะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้

 

4. รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม

อาจนับเป็นรายจ่ายของบริษัทแต่สรรพากรไม่นับ คือรายจ่ายที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ จะมีเงินส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือต้องเก็บไว้เพื่อนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับสรรพากร 

เช่น บริษัทขายของได้ 100 บาท บริษัทได้เงินจริง 93 บาท อีก 7 บาทต้องเก็บไว้นำจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร 7 บาทนี้ ไม่สามารถเอามาคิดเป็น “รายจ่าย” ของบริษัทตอนเสียภาษีได้

 

5. รายจ่ายให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูก

บริษัทจำนวนมากมีการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทในเครือข่ายที่เป็นบริษัทแม่หรือบริษัทลูก ซึ่งใน

  • ทางบัญชี บริษัทก็จะลงเป็นค่าใช้จ่ายกัน
  • ทางภาษี ตามกฎหมายไทย บริษัทไม่ว่าจะแม่หรือลูกถือเป็นบริษัทเดียวกันในทางภาษี ดังนั้นการซื้อสินค้าและบริการกันเอง จึงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของเงินในบริษัท ซึ่งนับเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้

 

6. รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

บริษัทจำนวนมากมีทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในทางบัญชีทั่ว ๆ ไปจะต้องมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งมากขึ้นหรือลดลง

กรณีที่ลดลง 

  • ทางบัญชี อาจถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์บริษัทลดลง
  • ทางภาษี เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และการประเมินมูลค่าก็ไม่มีหลักทางภาษีที่แน่นอนตายตัวในรายละเอียด ทางสรรพากรจึงห้ามเอาการที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถืออยู่ซึ่งลดลงไปมาคิดเป็นรายจ่ายเด็ดขาด

 

7. รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

ในกรณีที่บริษัทสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตัวเองถืออยู่ เช่น การขุดแร่หรือตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าจากมุมของบริษัท เมื่อเอาทรัพยากรมาใช้แบบนี้ ทรัพยากรย่อมลดลง

  • ทางบัญชี โดยทั่วไปถือเป็นรายจ่ายที่ต้องคำนวณกันไป
  • ทางภาษี ไม่สามารถนำมานับเป็นรายจ่ายได้ เพราะมันไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป และถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นรายจ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง

 

8. รายจ่ายค่าปรับ

ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับบริษัทไม่ว่าบริษัทจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อยหรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ แน่นอนว่ามันเป็นเงินของบริษัทที่ต้องจ่ายออกไป

  • ทางบัญชี ต้องคิดเป็นรายจ่ายตามจริง
  • ทางภาษี จะไม่สามารถเอาค่าปรับต่าง ๆ มาคำนวณในส่วนของรายจ่ายได้ เพราะจากมุมของสรรพากร รายจ่ายตรงนี้ไม่ใช่รายจ่ายทางธุรกิจ แต่เกิดจากการที่ธุรกิจทำผิดกฎหมายและได้รับการลงโทษโดยรัฐ มันจึงเอามาคำนวณเป็น “รายจ่าย” ในทางภาษีของบริษัทไม่ได้

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

การวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย

หัวข้อ : หลักการวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=311

 

 

ในทางธุรกิจนอกจากการขายสินค้าและบริการตามปกติแล้ว การส่งเสริมการขายก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการขายมีส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่จะต้องพิจารณา จึงต้องมีการวางแผนด้านภาษีเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่เราต้องให้ความใส่ใจมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราสามารถแยกคำตอบในการวางแผนภาษีส่งเสริมการขาย เป็นกรณีดังนี้

 

1. การลดราคาสินค้าทั่วไป

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคิดจากราคาที่ลด ซึ่งก็ต้องมีใบกำกับภาษีที่ชัดเจนประกอบตอนยื่นภาษี 

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องแยกเป็น 2 กรณี

  1. กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นตอนซื้อขายสินค้าและบริการเลย ยอดขายตอนนั้นก็จะลงบัญชีเป็นรายได้ปกติ ไม่ต้องมีส่วนลดเข้ามาเพิ่ม
  2. กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นภายหลังการซื้อขายสินค้าและบริการ (เช่น กรณีของ Cash Back) ในการรายงานบัญชี ให้รายงานรายได้จากยอดขายในราคาเต็ม และเพิ่มส่วนลดที่เกิดขึ้นไปได้ในส่วนของ “รายจ่าย” ซึ่งที่เพิ่มได้เพราะส่วนลดในแบบนี้ ไม่เข้าข่ายรายจ่ายต้องห้าม
  3. การลดราคาระดับล้างสต็อค

 

2. การลดราคาระดับล้างสต็อค

มีประเด็นภาษีต้องคำนึงเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ใช่การลดราคาระดับทั่วไป แต่ลดต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้นจึงต้องมีข้อคำนึงทางภาษีที่ต่างออกไป

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ลดแบบล้างสต็อคก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ราคาขายล้างสต็อค เหมือนสินค้าลดราคาทั่วไป

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการลดราคาแบบล้างสต็อคนั้นไม่ได้มีราคาต่ำกว่าราคาตลาด จะคิดเหมือนการลดราคาทั่วไป แต่ถ้าการขายมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดเมื่อใด จะเข้าเงื่อนไขที่เราควรต้องจัดการอย่างพิเศษถึงจะมีประสิทธิภาพทางภาษีสูงสุด หรือพูดในภาษากฎหมายก็คือต้อง “มีเหตุอันสมควร” ในการขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด

เงื่อนไขสำหรับสินค้าที่จะนำมาลดล้างสต็อค

  • ต้องเป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” (ดูเพิ่มเติมที่คำสั่งกรมสรรพากร ป.79 /2541) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดไว้
  • สินค้าพวกนี้ต้องได้รับการตรวจสอบ และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก 
  • ต้องมีบุคคลร่วมสังเกตการณ์ประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายบัญชี โดยลงลายมือชื่อเป็นพยานในการขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี
  • ถ้าบริษัทนำสินค้าเหล่านี้ไปขายล้างสต็อค ถือได้ว่าบริษัทได้ขายทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควร

ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขดังนี้ เจ้าพนักงานด้านภาษีก็จะมีสิทธิ์ในการประเมินรายได้จากการล้างสต็อคของเราในราคาตลาด เช่น ถ้าปกติเราขายสินค้าในราคา 100 บาท แต่ขายลดล้างสต็อคไปในราคา 30 บาท เจ้าพนักงานก็มีอำนาจที่จะให้เราเพิ่มรายได้ในบัญชีไปให้เป็นราคาตลาด ซึ่งถือว่าเรามีราคาได้จากการขายสินค้านั้น 100 บาท เป็นต้น

 

3. การแถมสินค้าหรือการแจกสินค้าฟรี

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียตามมูลค่าตลาด  ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นต่าง ๆ อย่าง

  • มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่ แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ ถ้าเป็นการแถมในลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น หนังสือ และพวกสินค้าเกษตร (ดูรายละเอียด ได้ที่ มาตรา 81 (1) ของประมวลรัษฎากร) ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน

ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดเหมือนการขายสินค้าราคาต่ำกว่าตลาดแบบการ “ล้างสต็อค” คือถ้าไม่มี “เหตุสมควร” เจ้าพนักงานจะมีอำนาจในการสั่งให้เอา “ของแถม” มาคิดเป็นรายได้ของบริษัทตามราคาตลาดในบัญชีภาษี

 

ในแง่นี้ “ของแถม” ที่มีประสิทธิภาพทางภาษีก็คือ “สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มันมี “เหตุสมควร” ในการที่บริษัทจะขายออกไปในราคาต่ำกว่าตลาด ดังที่อธิบายไว้แล้วในหัวข้อการลดล้างสต็อค

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ไขปัญหายอดฮิตเอสเอ็มอี ของการทำวิจัยและพัฒนาสินค้า

หัวข้อ : ไขข้อกังวล Top Hits เกี่ยวกับการทำR&D
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/previewPdf.action?fileId=23#book/9


การทำวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือการทำ R&D เป็นส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น เราได้รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการทำ  R&D ของผู้ประกอบการ พร้อมคำตอบเเละตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

  1. ไม่มีบุคลากร เเละเครื่องมือจะทำได้อย่างไร 

ผู้ประกอบการที่ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือทำ R&D สามารถขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่พร้อมให้บริการวิจัย ซึ่งเเบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มเเรกคือ สถาบันการศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยภาครัฐ 
  • กลุ่มที่สอง ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม
  • กลุ่มที่สาม ศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การกำกับดูเเลของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เเละนวัตกรรม 

การสนับสนุนของหน่วยงานดังกล่าวประกอบด้วย

  • ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ใช้เครื่องมือ / ทีมวิจัย / สถานที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละในบางเเห่ง เช่น ศูนย์วิจัยของ สวทช. หรือ วว. จะมีบริการเครื่องมือ / สถานที่ / ทีมวิจัย หรือเเม้กระทั้งผลงาน R&D ที่พร้อมถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ด้วย
  • จัดโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมครบวงจร ในรูปแบบอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 
  • เป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้าตั้งเเต่ต้นจนจบ คอยให้คำปรึกษา ช่วยประสานงานผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำ R&D ไปจนถึงการช่วยหาช่องทางส่งเสริมการขายกหลังพัฒนาสินค้าสำเร็จ

ซึ่งการสนับสนุนแต่ละระดับก็เหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีเงื่อนไขของการพัฒนาสินค้าที่ต่างกัน 

  • การให้คำปรึกษาอาจเหมาะสมกับผู้ที่เริ่มต้นมองหาโจทย์การพัฒนาสินค้า 
  • การขอรับบริการเครื่องมือ/ทีมวิจัย/สถานที่ เเละการถ่ายทอดผลงาน R&D เหมาะสมกับผู้ที่มีโจทย์พัฒนาสินค้าที่ชัดเจน เเละมีเงินทุนระดับหนึ่ง 
  • การพึ่งพาแบบพี่เลี้ยงเหมาะสมกับผู้ที่ริเริ่มทำธุรกิจ เเต่มีไอเดียการพัฒนาสินค้าที่แปลกใหม่เพียงพอที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการต่างๆ ที่พี่เลี้ยงจัดขึ้น รวมไปถึงมีเวลาในการรับคำแนะนำจากพี่เลี้ยงเเละหน่วยงานต่างๆ ที่พี่เลี้ยงส่งมาให้คำปรึกษาหรือร่วมทำ R&D เพิ่มเติม

  1. หากข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรืองานวิจัยใหม่ๆ ไม่รู้จะหาจากไหนดี 

ผู้ประกอบการสามารถติดตามผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองหรือตามช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำนวัตกรรม เช่น สวทช. สำนักงานนวัตกรรมเเห่งชาติ (สนช.) หรือ สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) ฯลฯ ได้รวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากหลากหลายเเห่ง

หากสนใจไปเห็นด้วยตัวเองทำได้ด้วยการไปร่วมงานโชว์เคส ทั้งมหกรรมเเละงานประกวดรางวัลที่เกี่ยวกับนวัตกรรมโดยตรง โดยจุดเด่นของงานเหล่านี้คือ เป็นงานที่รวมตัวของผู้ประกอบการเเละนักวิจัยที่สามารถพัฒนาผลงาน R&D ในระดับต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มีอยู่ 3 รูปแบบให้เลือกเข้าร่วม คือ

  • แบบเเรก คือ งานมหกรรมเเสดงผลงานนวัตกรรม ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงาน R&D ขายได้จริง ของผู้ประกอบการเเละนักวิจัยจากหลายอุตสาหกรรม พร้อมการเสวนาหัวข้อน่าสนใจ
  • เเบบที่สอง คือ งานประกวดรางวัลนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานจัดเเข่งขันประกวดผลงานนวัตกรรมในระดับต่อยอดเชิงพาณิชย์เเล้ว จากผู้เข้าเเข่งขันทั่วประเทศ 
  • เเบบที่สาม คือ งานเเสดงสินค้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะนำเสนอสินค้าหรือบริการของอุตสาหกรรมนั้นไว้อย่างหลากหลาย เเละมักจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมนั้นๆ มานำเสนออยู่เสมอ

แต่หากต้องการดูผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ซึ่งรวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากศูนย์วิจัยต่างๆ ไว้เเล้ว เเละยังมีข้อมูลสำหรับติดต่อผู้วิจัย/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ให้อีกด้วย

  1. กลัวเเพง หรือไม่ค่อยมีทุน ทำอย่างไรดี?

สำหรับผู้ประกอบการที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ สามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับการทำ R&D จากสถาบันการเงินชั้นนำได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับธนาคารพาณิชย์ มีเสนอให้เข้าร่วมได้ 3 รูปแบบ ได้เเก่ 

  1. โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ของ สวทช. ที่จะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท 
  2. โครงการ นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสินเชื่อวงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท โดย สนช. จะจ่ายดอกเบี้ยเเทน SMEs ให้ใน 3 ปีแรก
  3. โครงการ Startup&Innobiz ที่จะให้สินเชื่อวงเงินสูงสุด 40 ล้านบาท ในลักษณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นเเละยังมีหลักทรัพย์เพื่อขอยื่นกู้ตามโครงการปกติ ไม่เพียงพอเป็นอย่างยิ่ง

หากผู้ประกอบการรายใดที่มีไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์เเละต้องการเงินสนับสนุน สามารถยื่นขอเงินทุนให้เปล่าเพิ่มเติมจากโครงการ 4 ประเภท (ตาราง ที่ 5 ) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีการช่วยออกค่าใช้จ่าย R&D สูงถึง 50%-75% โดยบางโครงการจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจ หรือสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ บางโครงการก็มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการได้ทำ R&D ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้วย

  1. ถ้าสนใจทำ R&D ควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน?

หากผู้ประกอบการเริ่มสนใจในการทำ R&D เเต่ยังมีข้อสงสัยว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน เเละสงสัยว่าจะทำ R&D เรื่องอะไรดี สามารถดูได้จากข้อมูลเเละวิเคราะห์เส้นทางการทำ R&D ในภาพด้านล่างนี้

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ