5 เทคนิคโพสต์เฟซบุ๊กให้ขายดี

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried ต่าง Gen แต่เป้าหมายไม่แตกต่าง
อ่านเพิ่มเติม :www.kasikornbank.com/th/business/sme/Inspired-Jan-2019.aspx

 

ข้อความที่สื่อผ่านเฟซบุ๊กนับเป็นปราการด่านแรกทำให้ผู้พบเห็นอ่านแล้วเกิดความสนใจ บทความหรือคำโฆษณาจะต้องมีพลังโน้มน้าวให้ลูกค้าตัดสินใจได้ในทันที แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ก็พอจะมีสูตรเด็ดเคล็ดไม่ลับที่ใช้กัน และมักได้ผลเสมอ

การเขียนคำโฆษณา หมายถึง ข้อความที่ทำให้ผู้บริโภคเล็งเห็นถึงคุณค่าที่เป็นเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจซื้อสินค้ามากกว่า “ราคา” กูรูทางด้านการเขียนข้อความโฆษณากล่าวไว้อีกด้วยว่า นักเขียนคำโฆษณาคือ “พนักงานขายที่อยู่หลังแป้นพิมพ์” เพราะข้อความที่เขียนต้องทำให้เกิดการขาย คำโฆษณาที่ดี “ต้องยาวพอที่จะปกปิด (ครอบคลุม) ส่วนสำคัญ และสั้นพอที่จะเร้าใจ” สรุปเป็นเทคนิคสั้น ๆ ได้ว่า “สั้นกระชับ ครอบคลุม กระตุ้นต่อมอยาก”

การเขียนข้อความบนโฆษณาเฟซบุ๊กให้ขายดี อาจจะไม่ถึงกับต้องเขียนได้ระดับเดียวกับครีเอทีฟ แต่เป้าหมายคือ 

  • ต้องทำให้ผู้พบเห็นเกิดความสนใจ อยากอ่านต่อ
  • เกิดอารมณ์ หรือความต้องการ อยากได้ใคร่มี 
  • ต้องโน้มน้าว (สร้างความชอบ และเชื่อ) เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ

 

เคล็ดการเขียนคำโฆษณาที่ใช้ได้ผลเสมอ

1. ตั้งคำถาม เรียกร้องให้สนใจ

กระตุ้นความสนใจ ด้วยคำถามให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึง เช่น คิดจะย้ายบ้าน? หรือ อยากแต่งสวน? 

  • การเริ่มต้นด้วยคำถามจะทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้คิด หรือกำลังคิด เกิดความสนใจ และอยากรู้คำตอบ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง
  • เป้าหมายของการทำโฆษณาก็คือ ต้องการให้ผู้เห็นโฆษณาตอบ “ใช่” หรือ “เห็นด้วย” 
  • การเรียกร้องให้สนใจด้วยคำถามที่เป็นปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่เป็นเทคนิคที่ใช้ได้เสมอ

ข้อควรระวัง : เทคนิคนี้ใช้ได้เฉพาะโพสต์ที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะจ่ายเงินซื้อโฆษณากับเฟซบุ๊กเท่านั้น เนื่องจากการเลือกใช้ประโยคคำถามในข้อความ อาจจะทำให้ซื้อโฆษณาไม่ผ่านได้

 

2. อย่าใช้คำที่เป็นทางการเกินไป

เพราะเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีบุคลิกของความเป็นเพื่อน ดังนั้น ภาษาที่เป็นทางการมากเกินไปจะทำให้ไม่น่าสนใจ และเลี่ยงการภาษาที่สูงส่งเกินเข้าใจ

  • ผู้บริโภคมีเวลาไม่กี่วินาทีในการตัดสินใจว่า จะอ่านโพสต์นั้นๆ หรือไม่ 
  • การเลือกใช้คำในเฟซบุ๊กยังส่งผลต่อคะแนนความตรงเป้าหมาย (Relevance Score) อย่างมีนัยอีกด้วย
  • พยายามใช้ข้อความที่เหมือนการพูดคุย สนุกสนาน บันเทิง
  • เวลาเขียนให้นึกถึงว่า ถ้าเรากำลังจะเล่าให้เพื่อนฟังเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการใหม่ที่น่าสนใจ 
  • เทคนิคเพิ่มเติมก็คือ ใส่อีโมจิ ที่ช่วยเพิ่มอารมณ์ และความน่าสนใจ อีกทั้งยังช่วยให้โทนของข้อความไม่ดูทางการ เกินไปได้ทันที :D

 

3. หากซื้อโฆษณา อย่าแก้ไขโฆษณาเร็วเกินไป

เทคนิคนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเขียนโดยตรง แต่ควรรู้ไว้ว่า

  • หลังจากที่เราสั่งรันแคมเปญ ระบบเฟซบุ๊กจะเริ่มนำส่งโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เราเลือก ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้ฟีดแบ็กที่ได้จากโฆษณานั้น ๆ
  • ในระหว่างที่ระบบโฆษณากำลังเรียนรู้ เพื่อจัดเตรียมกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสสูงสุด (นี่คือ เหตุผลที่ทำให้เราสังเกตเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในช่วงแรกจะยังไม่โอเคนัก จนกว่าระบบเฟซบุ๊กจะเจอรูปแบบของกลุ่มที่ใช่) 
  • ไม่ควรเปลี่ยนข้อความโฆษณาช่วงนี้ เพราะจะทำให้การเรียนรู้ของระบบผิดพลาด หากจำเป็นต้องแก้ไขจริง ๆ ให้ทำหลังจากระบบแจ้งว่า initial learning complete แล้ว

 

4. อ่านจบได้ไม่ต้องคลิก “ดูเพิ่มเติม”

เทคนิคนี้อาจต้องมีการทดสอบข้อความโฆษณา โดยเฉพาะการเลือกใช้ข้อความโฆษณาแบบยาวกับแบบสั้น เพราะกูรูโฆษณาส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า 

  • การโพสต์ด้วยข้อความสั้น โดยไม่มีลิงก์คลิก ดูเพิ่มเติม...หรือ see more... แต่สามารถเห็นลิงก์ไปยังหน้าเว็บเป้าหมาย หรือแอ็กชันด้วยการคลิกปุ่มได้ทันที จะให้ผลลัพธ์ดีกว่ามาก 
  • การให้กลุ่มเป้าหมายต้องคลิก ดูเพิ่มเติม เพื่ออ่านต่ออีก ผลลัพธ์จะลดลงได้ (หากอ่านแล้ว ไม่ได้ทำให้อยากซื้อเพิ่มขึ้น) 

เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่อ่านโฆษณาทั้งชิ้น แต่จะใช้การลากนิ้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเห็นโฆษณาแล้วอ่านข้อความจบ ครบถ้วน ชวนให้อยากแล้วคลิกไปซื้อ หรือลงหน้าเว็บผลิตภัณฑ์ได้ทันทีก็จะเป็นการดีสำหรับพวกเขาและธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กฎทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เพื่อความมั่นใจแนะนำให้ทำโฆษณาทดสอบโฆษณาก๊อบปี้ยาวกับสั้นเทียบกันก่อน

 

5. เริ่มต้นข้อความด้วย “ตัวเลข”

ถ้าคุณขายสินค้าจับต้องได้ ผู้พบเห็นโฆษณาอาจต้องการรู้ว่า มันมีราคาเท่าไร โดยเฉพาะหากคุณกำลังจะเซลสินค้าตัวนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจแทบจะทันที เทคนิคนี้ เชื่อว่า น่าจะมีอาการคลิกลั่น เกิดกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน 

  • แม้ก๊อบปี้หรือข้อความโฆษณาจะสำคัญหรือน่าสนใจแค่ไหนก็ตาม การมีข้อเสนอที่ชัดเจน (ตัวเลข) ดึงดูดจะช่วยให้โฆษณานั้นสำเร็จไวขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
  • ไม่ใช่เฉพาะสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากเท่านั้น แม้แต่ดีลเลอร์ขายรถก็ยังสามารถใช้เทคนิคนี้ได้เหมือนกัน ตัวอย่าง เช่น “0% ผ่อนสบาย ๆ ไม่ต้องมีเงินดาวน์”

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ตลาดเครื่องสำอางกับโอกาสทางธุรกิจ

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried Small - scale แจ็คผู้ไล่ยักษ์ 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Dec-2018.aspx

 

 

เมื่อผู้หญิงไม่หยุดสวย ช่วยให้ตลาดเครื่องสำอางไทยโตไม่หยุด แบบไม่แคร์เศรษฐกิจหรือการเมือง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผลิตจากธรรมชาติ เครื่องสำอางเฉพาะกลุ่ม แม้แต่เครื่องสำอางที่จับตลาดชาวมุสลิมก็มีมูลค่าสูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นขุมทรัพย์ที่เอสเอ็มอีมีโอกาสไม่น้อย  สำหรับมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท แยกเป็น ตลาดในประเทศ 66.9% ตลาดส่งออก 33.1%

 

5 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางครองตลาดในประเทศ

  1. ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ที่ครองตลาดเครื่องสำอางสูง ถึง 46.8% แยกเป็นผลิตภัณฑ์
  • ดูแลผิวหน้า 84%
  • ดูแลผิวกาย 16%
  1. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม (Hair) ครองตลาดอยู่ที่ 18.3% แยกเป็น
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 83%
  • เปลี่ยนสีผม 11%
  • จัดแต่งทรงผม 4%
  • ยึดติดผม 1%
  1. เครื่องสำอางสำหรับตกแต่ง (Makeup) ครองตลาดอยู่ที่ 13.5% แยกเป็น
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้า 56%
  • ริมฝีปาก 26% 
  • ตกแต่งตา 17%
  • ตกแต่งเล็บ 1%
  1. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (Hygiene) ครองตลาดอยู่ที่ 16.3%
  2. น้ำหอม (Fragrance) ครองตลาดอยู่ที่ 5.1%


ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ อาจเป็นผลจากสภาพอากาศ มลภาวะต่างๆ ทำให้ความต้องการเครื่องสำอางที่ช่วยปกป้อง หรือซ่อมแซมผิวหรือร่างกายได้รับความนิยม นอกจากนี้ พฤติกรรมคนไทยที่หันมาเพิ่มขั้นตอนในการดูแลผิวหน้า ทำให้เครื่องสำอางประเภทมาส์กหน้า (Mask) ที่มีสารบำรุงผิวเข้มข้นได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน

 


 

ตลาดเครื่องสำอางส่งออก

ด้วยคุณภาพมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัย ประกอบกับการมีวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายของประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีเอกลักษณ์และนวัตกรรมการผลิตที่หลากหลายเครื่องสำอางของไทยจึงได้รับความนิยมในต่างประเทศ

  • ตลาดที่สำคัญ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน
  • ตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับเครื่องสำอางไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน  กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
  • ลูกค้าคนหนุ่มสาวคนวัยทำงานมีเพิ่มขึ้น และตอบรับพฤติกรรมการดูแลร่างกายตามค่านิยมสมัยใหม่มากขึ้น
  • ความชื่นชอบในดารานักร้องของไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เครื่องสำอางจากไทยได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะสินค้าประเภทแต่งหน้าและดูแลผิว




 

5 กลุ่มตลาดโอกาสทางธุรกิจเครื่องสำอาง

เด็ก ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยุคใหม่เริ่มเปิดกว้างต่อการใช้เครื่องสำอางเพื่อดูแลและเสริมบุคลิกภาพในกลุ่มเด็กมากขึ้น แต่เครื่องสำอางควรต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบาง

ผู้ชาย หันมาใส่ใจตัวเองเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ซึ่งกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผม น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและน้ำหอมที่มีการใช้อยู่แล้ว

ผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มมีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตรวมถึงการเสริมบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ต่อต้านริ้วรอยให้ดูอ่อนกว่าวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ

ประเทศมุสลิม ตลาดเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี โดยประเภทของเครื่องสำอางที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวสำหรับเด็ก ซึ่งตลาดมุสลิมที่มีมูลค่าสูงได้แก่ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี มาเลเซีย และบังกลาเทศ ตามลำดับ

นักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทำให้สินค้ามีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และไทยยังมีสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมซื้อ เครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว 25.5%

 


 

4 ข้อต่อยอดธุรกิจความงาม

  • พัฒนานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแตกต่าง ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด ขณะเดียวกันต้องใช้วัตถุดิบที่มีความน่าเชื่อถือ เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ เช่น 
    • ต้องมีความอ่อนโยนต่อผิวของเด็กและผู้สูงอายุ
    • ส่วนผสมและขั้นตอนการผลิตที่สอดคล้องกับหลักฮาลาลเพื่อจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิม
  • การสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้า สำหรับเอสเอ็มอีอาจมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณวิจัยและพัฒนา ดังนั้น การมุ่งผลิตสินค้าที่จับตลาดเฉพาะจะง่ายต่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินค้า
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เช่น เครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุควรมีความสะดวกในการหยิบจับ มีรายละเอียดวิธีใช้ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป มีการค้นหาข้อมูลจากสื่อโซเชียลและออนไลน์ผ่านการรีวิวสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเพิ่มช่องทางตลาดผ่านออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

6 ข้อดีของการทำระบบบัญชีออนไลน์

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried สมการทำธุรกิจแบบ WIN - WIN  
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Oct-2018.aspx

ข้อจำกัดของการทำบัญชีระบบเดิมที่มีมากมาย เช่น การรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่กระจายอยู่กับฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งยากต่อการอัปเดต ยิ่งนานวันเอกสารที่สะสมเพิ่มจำนวนทำให้การปิดงบล่าช้า ส่งผลหลาย ๆ เรื่องหนัก-เบา ต่างกันไป เช่น ถูกสรรพากรตรวจสอบต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับมหาโหด หรือลูกน้องคนขยันโกงเงิน กลายเป็นปัญหาที่วนเวียนแบบนี้ปีแล้วปีเล่า 

 

ปัญหาจากการทำระบบบัญชีแบบเดิม

บัญชีภายใน

  • หากเจ้าของกิจการต้องการดูบัญชีกำไร-ขาดทุน อาจจะได้เห็นเพียงตัวเลขคร่าว ๆ เพราะตัวเลขกระจายอยู่กับฝ่ายต่างๆ และไม่อัปเดท 
  • หลายฝ่ายจะอ้างได้ว่างานเยอะ คนไม่พอ ไม่มีเวลาบันทึกเอกสารที่กองอยู่บนโต๊ะ
  • ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือ พนักงานบัญชีทั้งระดับหัวหน้าและลูกน้องผลัดกันเข้า-ออกเพราะทนต่อความกดดัน
  • ในการทำงานไม่ไหว หากโดนตามงานมาก ๆ และทำได้ไม่ทัน

บัญชีชุดสรรพากร

  • การสะสมเอกสารไว้จนปลายปีแล้วค่อยมาปิดบัญชี งบการเงินจึงได้ล่าช้าแบบเส้นยาแดงผ่าแปด อาจจะได้ใน 2-3 วันสุดท้ายก่อนเส้นตายของการยื่นงบ 
  • ไม่มีเวลาตรวจสอบเอกสาร หรือถึงแม้ตรวจสอบไปก็แก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว
  • ปัญหาหนักที่อาจเกิดขึ้นคือจากการแก้ไขไม่ทันคือ อาจถูกสรรพากรตรวจสอบ แล้วให้จ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับมหาโหด
  • อาจมีลูกหนี้คงค้างจำนวนมากแต่ไม่รู้ตัว เพราะบัญชีไม่อัปเดทจึงตามสถานการณ์ไม่ทัน

 

ขอเพียงนับหนึ่ง เริ่มต้นปฏิวัติการทำบัญชีชุดเดียวบนโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป

  1. เริ่มต้นด้วยการใช้ระบบบัญชีบนคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถบันทึกหรือเลือกดูข้อมูลได้จากหลากหลายอุปกรณ์ (คอมพิวเตอร์, มือถือ, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต) และจากมุมไหนของโลกก็ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  2. งานจากทุกฝ่าย (ฝ่ายขาย จัดซื้อ ฯลฯ) สามารถบันทึกบนโปรแกรมเดียวกันหรือโปรแกรมอื่นที่สามารถโอนข้อมูลมายังโปรแกรมบัญชีได้เลยโดยไม่ต้องมาบันทึกซ้ำ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ลดงานซ้ำซ้อน
  3. ฝ่ายบัญชีก็มีงานเบาบางลงเพราะไม่ต้องบันทึกงานซ้ำซ้อน เพียงแต่ตรวจสอบและใส่รหัสบัญชี และปรับระบบให้นักบัญชีฝีมือดีที่เป็นคนรุ่นใหม่เลือกทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้างาน 8 โมงเช้าและต้องทนนั่งแช่ถึง 5 โมงเย็น ขอให้งานเสร็จตามกำหนดเท่านั้น เพื่อจูงใจให้เขาทำงานกับเรานาน ๆ
  4. ผู้บริหารก็สามารถเรียกดูตัวเลข รายได้ ค่าใช้จ่าย ลูกหนี้ค้างชำระ หรือแม้กระทั่งงบกำไรขาดทุนได้เองจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ และมีตัวเลขที่เป็นปัจจุบันทันต่อการตัดสินใจ
  5. ส่วนสำนักงานบัญชีก็สามารถออนไลน์เข้ามาตรวจเอกสาร เพื่อนำไปยื่นภาษีอย่างครบถ้วนถูกต้องและสามารถปิดตรวจสอบและบัญชีให้ได้ทุกเดือนโดยไม่ต้องเสียเวลาบันทึกซ้ำ จึงทำให้ปิดงบได้รวดเร็วตอนสิ้นปี มีเวลาให้ผู้บริหารตรวจสอบก่อนยื่นเสียภาษี
  6. กรมสรรพากรก็สบายใจได้เป้าของผู้เสียภาษีที่ทำบัญชีชุดเดียวตามนโยบาย

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

พิชิตรายได้ธุรกิจอาหาร จากตลาดออร์แกนิก

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried นวัตกรรมนำความล้ำ ทำให้ชีวิตง่าย ขยายโอกาสธุรกิจ 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Sep-2018.aspx

 

 

วิถีชีวิตผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจกับสุขภาพและอาหารการกินที่ดีมากขึ้น ทำให้มูลค่าสินค้าออร์แกนิกเฉพาะในไทยสูงถึงเกือบ 3 พันล้านบาท และมีความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เช่น 

  • ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ปี พ.ศ. 2560-2564 
  • อุตสาหกรรมในอนาคตกลุ่ม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมเกษตร-เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 

น่าจะทำให้อุปสงค์และอุปทานตลาดออร์แกนิกในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

 


 

5 ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีบทบาทในตลาดออร์แกนิก

นอกเหนือจากสินค้าออร์แกนิกรูปแบบเดิม ๆ ที่วางจำหน่ายในตลาดแล้ว มีการคาดการณ์ว่า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกที่มาพร้อมนวัตกรรมและตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคหรือการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดออร์แกนิกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มต่อไปนี้

  1. กลุ่มอาหารออร์แกนิกแปรรูปขั้นสูง เช่น กลุ่มซูเปอร์ฟู้ด, กลุ่มอาหารปราศจากสารกันบูด/กลูเตน/สารแต่งสี และพวกผงสกัดจากพืช
  2. อาหารออร์แกนิกเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับเด็ก ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ (เช่น นมออร์แกนิกแคลอรีต่ำ)
  3. อาหารเสริมและวิตามิน เช่น สารสกัดจากพืชออร์แกนิกที่ช่วยบำรุงร่างกายและความงาม
  4. เครื่องดื่มออร์แกนิก เช่น กลุ่มเครื่องดื่มที่เติมสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม
  5. อาหารออร์แกนิกพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวออร์แกนิกฟรีซพร้อมอุ่น สแน็กบาร์จากธัญพืชออร์แกนิก อาหารพร้อมรับประทานออร์แกนิก

 


 

3 กลุ่มเป้าหมายสำคัญของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก

  1. กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Millennial) มีกว่า 20 ล้านคน พฤติกรรมที่น่าสนใจของกลุ่มนี้คือ
  • ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงหันมาเอาใจใส่สุขภาพตนเองและคนในครอบครัว
  • เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ตัดสินใจซื้อง่าย
  • ชอบจับจ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล
  • สนใจติดตามผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ รวมถึงการใช้ชีวิต ผ่านโซเชียลมีเดีย และนำมาปรับใช้ในชีวิต
  1. กลุ่มผู้สูงอายุ (Aging-Society) จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี พ.ศ.2561เป็น 13% ในปี พ.ศ.2563 ทำให้ประชากรกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  • ผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปและมีกำลังซื้อสูง
  • มีลูกหลานดูแลผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
  • ปัจจุบันจะเริ่มเห็นมีการใช้โซเชียลมีเดียด้วยตัวเองมากขึ้น เพื่อการสื่อสารหาข้อมูลและสั่งซื้อสินค้า
  1. กลุ่มผู้ป่วย ผู้คนในปัจจุบันเผชิญกับความเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสังคมเมือง มีการสะสมสารพิษในร่างกายจากภาวะแวดล้อม จึงต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 


 

3 ปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิก

1. ราคาจับต้องได้-ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ

พฤติกรรมผู้บริโภค

  • มองหาสินค้าที่ดีกับสุขภาพ แต่ต้องเหมาะสมกับราคา
  • มักซื้อสินค้าจากการบอกต่อของคนใกล้ตัว
  • ชอบทดลอง ดังนั้นควรมีขนาดเล็ก ราคาไม่สูง ถ้าดีจะกลับมาซื้อซ้ำ

กลยุทธ์ทางการตลาด

  • ตั้งราคาเหมาะสมกับคุณภาพ
  • สื่อสารผ่านคนดังทางโซเซียลมีเดีย
  • ต้องหาซื้อได้ง่ายและมีขนาดทดลอง

กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด

  • วัยรุ่น-วัยทำงาน
  • กลุ่มแม่บ้านที่จับจ่ายของเข้าบ้าน

สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ

  • ข้าวออร์แกนิกประเภทต่างๆบรรจุถุง
  • ข้าว+อาหารพร้อมรับประทานออร์แกนิกแบบฟรีซพร้อมอุ่น
  • กลุ่มอาหารเช้า เช่น ซีเรียล สแน็กบาร์ธัญพืช
  • เครื่องดื่มออร์แกนิก (น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว)
  • ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ เพื่อความงามและการรักษาโรค ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เช่น วิตามิน/อาหารเสริมที่ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ร้านอาหารและผู้ให้บริการเกี่ยวกับออร์แกนิก ทั้งที่มีหน้าร้านและบริการออนไลน์/ส่งเดลิเวอรี

 

2. เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

พฤติกรรมผู้บริโภค

  • นิยมใช้สมาร์ทโฟนสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต
  • ทำอาหารเองน้อยลง รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
  • เลือกสินค้าจากคุณภาพ ความสะดวกสบายและดีต่อสุขภาพ

กลยุทธ์ทางการตลาด

  • สื่อสารผ่านคนดังทางโซเซียลมีเดีย
  • สินค้าต้องมีความหลากหลาย แปลกใหม่ มีมาตรฐาน และนวัตกรรม

กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด

  • วัยรุ่น-วัยทำงาน
  • กลุ่มคนเมืองรายได้ปานกลางขึ้นไป

สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ

  • ข้าวออร์แกนิกประเภทต่างๆบรรจุถุง
  • ข้าว+อาหารพร้อมรับประทานออร์แกนิกแบบฟรีซพร้อมอุ่น
  • กลุ่มอาหารเช้า เช่น ซีเรียล สแน็กบาร์ธัญพืช
  • เครื่องดื่มออร์แกนิก (น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว)
  • ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ เพื่อความงามและการรักษาโรค ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เช่น วิตามิน/อาหารเสริมที่ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ร้านอาหารและผู้ให้บริการเกี่ยวกับออร์แกนิก ทั้งที่มีหน้าร้านและบริการออนไลน์/ส่งเดลิเวอรี

 

3. มุ่งเน้นคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ให้คุณค่าเฉพาะ (Functional Food Product)

พฤติกรรมผู้บริโภค

  • ปัจจัยด้านราคาเป็นรองเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพ
  • มักหาข้อมูลจากคนใกล้ตัว และสื่อต่าง ๆ
  • คนซื้อส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ หรือลูกหลานของคนในครอบครัว
  • ให้ความสำคัญกับใบรับรองมาตรฐานระดับสากล

กลยุทธ์ทางการตลาด

  • สินค้าต้องมีความหลากหลาย แปลกใหม่ มีมาตรฐาน และนวัตกรรม
  • มีใบรับรองมาตรฐานสินค้า
  • ให้ข้อมูลสินค้าเชิงลึกกับลูกค้าได้
  • จำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด

  • กลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก-ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ
  • กลุ่มนักท่องเที่ยว
  • กลุ่ม Expat และครอบครัว

สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ

  • ข้าวออร์แกนิกน้ำตาลต่ำ
  • กลุ่มอาหารซูเปอร์ฟู้ด เช่น เมล็ดเชีย
  • ผลสกัดจากผักและผลไม้ออร์แกนิก
  • อาหารกลุ่มฟรีฟอร์ม (ปราศจากสารกันบูด/สารแต่งสี/กลูเตน) เช่น เส้นพาสตาปราศจากกลูเตน
  • ร้านอาหารและผู้ให้บริการเกี่ยวกับออร์แกนิก ทั้งที่มีหน้าร้านและบริการออนไลน์/เดลิเวอรี
  • อื่นๆ เช่น สินค้าออร์แกนิกต่าง ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

 


 

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในตลาดออร์แกนิก

การจะอยู่ในธุรกิจออร์แกนิกนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์แล้ว ปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการยังขึ้นอยู่กับ

1) การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ เช่น การได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก จากองค์กรหรือสถาบันที่ได้รับการยอมรับ การรีวิวจากผู้บริโภค/ผู้ใช้จริง

2) สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของนวัตกรรมอาหาร การออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารออร์แกนิกสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ฟรีซพร้อมอุ่นสำหรับสังคมเมือง) ข้าวออร์แกนิกน้ำตาลต่ำ (สำหรับกลุ่มที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก) อาหารออร์แกนิกกลุ่มฟรีฟอร์ม (สำหรับคนแพ้กลูเตน) เป็นต้น

3) การเพิ่มช่องทางการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น 

  • การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์/โซเชียลมีเดีย
  • การชำระเงินที่รวดเร็วและทันสมัย เช่น การชำระเงินผ่าน Mobile Banking
  • การขนส่งสินค้าด้วยระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เช่น บริษัทขนส่งเอกชนที่เพิ่มบริการส่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ในลักษณะเฉพาะในรูปแบบฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to Table) ส่งตรงถึงผู้บริโภค

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศกระทรวงแรงงาน ลดหย่อนเงินสมทบของนายจ้าง-ผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจนุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ความว่า

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมีการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มิให้นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ อันส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้องที่ประเทศไทย จึงควรลดหย่อนการออกเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละสองของค่าจ้างของผู้ประกันตน

ข้อ 2 ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละเก้าสิบหกบาท

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้าง หรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

สุชาติ ชมกลิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ