ปลูกไม้ยืนต้นลงทุนไม่เสียเปล่า 4 กลุ่มต้นไม้เศรษฐกิจ ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

จากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บังคับหลักประกัน สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ประเด็น “ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร” จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ทำให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เชิงลึกและเข้าใจถึงแก่นหลักของการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายความหมายของคำว่า ไม้ยืนต้น ตามกฎกระทรวงพาณิชย์ว่า “คือต้นไม้ชนิดใดๆ ที่มีศักยภาพและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกต้นไม้ถือเป็นการลงทุน และหากไม้ยืนต้นที่ปลูกมีอัตราการเจริญเติบโตช้า การปลูกไม้ยืนต้นนั้นก็จะเป็นการลงทุนระยะยาว

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างแรงจูงใจและต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้ง การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูกก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับต้นไผ่ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แต่ปัจจุบันมีการนำไม้ไผ่มาแปรรูปและทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ดังนั้น การนำไม้ไผ่มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคู่สัญญาระหว่างผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันที่จะตกลงกัน แต่ในมุมมองของไม้มีค่า “ไผ่” ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินราคาทรัพย์สิน คุณไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ได้กล่าวว่า การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ “ต้นไม้” ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองโดยไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้หลักวิธีการประเมินทรัพย์สินอื่นที่เทียบเคียง โดยวิธีการประเมินทรัพย์สินที่เป็นมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจะใช้หลัก IVSC (International Valuation Standards Council) แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่

วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน (Cost Approach) คือ มูลค่าของไม้ยืนต้นจะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ ต้นทุนเริ่มเตรียมการ การพัฒนาดิน ค่ากล้าไม้ และต้นทุนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เบี้ยประกัน ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการประกอบการ วิธีนี้จะไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลผลิต และการเติบโตในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนที่สูงไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าตลาดว่าจะสูงตามไปด้วย

วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีการนี้เป็นการวิเคราะห์มูลค่าจากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) สำนักงานส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณามูลค่ามาตรฐานไม้ยืนต้น แก่นไม้ กระพี้ เปลือก วิธีนี้จะสะท้อนมูลค่าของตลาด แต่ข้อมูลที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคาจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินราคาด้วย

วิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิที่จะได้มาในอนาคต ด้วยการจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ข้อมูลสำหรับการประเมินได้จากการประมาณการปริมาตรไม้ยืนต้นบนแปลงที่ประเมิน มูลค่าตามอายุไม้ที่สามารถตัดไปทำประโยชน์ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ วิธีการประเมินไม้ยืนต้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ การประเมินราคาโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) โดยสืบหาและเทียบเคียงราคาซื้อขายในตลาดให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และปัจจุบันมีการซื้อขายต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ครบถ้วน แพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินราคาต่อไป

 

 

ขณะเดียวกัน คุณวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมหารือกับสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประเด็น “การนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดรับไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ปัญหา-อุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด และเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี/ประชาชนทั่วไปที่ต้องการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจหรือเพื่อการกู้เงิน

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. จองชื่อบริษัท

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่

 

2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม

ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้

  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น

 

3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์

การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด

เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว

จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

บุคคลธรรมดา VS นิติบุคล ความต่างเรื่องภาษี...ที่คนทำธุรกิจต้องรู้!!

การจะเข้าสู่วงจรธุรกิจเพื่อเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ประเด็นแรกๆ ที่ควรให้ความสำคัญ คือจะทำธุรกิจแบบ “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” เพราะ 2 รูปแบบนี้มีความต่างกันทั้งในเรื่องข้อดี ข้อเสีย รวมถึงการจัดทำบัญชี และภาษี ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้ดีก่อน

 

ทำธุรกิจรูปแบบ “บุคคลธรรมดา”

รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของลงทุนคนเดียว หรือในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม่ได้จดทะเบียน) ซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน แต่มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา

กิจการรูปแบบนี้แม้ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงรายได้ รายจ่าย ผลกําไรหรือขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้จัดตั้งง่าย มีความคล่องตัวสูง แต่ความน่าเชื่อถือจะมีน้อยกว่าเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน เพราะเจ้าของธุรกิจต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด

 

ทำธุรกิจรูปแบบ “นิติบุคคล”

ธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” จะมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  รูปแบบนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี พร้อมทั้งมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี แน่นอนว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ส่งผลให้การขยายกิจการ การติดต่อกับลูกค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถทำได้ง่ายกว่าเช่นกัน เพราะมีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือ ทำให้ธนาคารรู้ฐานะที่แท้จริงของกิจการ ขณะเดียวกัน สามารถนำไป วางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้

นอกจากนี้ หากมองความเสี่ยงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า  เพราะธุรกิจจะถูกแยกจากตัวเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน หนี้สินของกิจการจะเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้น จำกัดเฉพาะมูลค่าหุ้นที่เป็นเจ้าของเท่านั้น

 

ความแตกต่างด้านภาษี ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล”

เมื่อพิจารณาในด้านภาษีระหว่างผู้ประกอบการในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล” พบว่ามีความแตกต่าง เริ่มจาก…

 

การเสียภาษี

บุคคลธรรมดา : สำหรับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี

วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน)

วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%

ทั้งนี้ หากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1

นิติบุคคล : ผู้ประกอบการจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้-รายจ่าย) อัตราภาษี หากเป็นนิติบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 20% สำหรับ SME มีการยกเว้น/ลดพหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20%  ในกรณีขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีและยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย

(สำหรับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี)

จะเห็นได้ว่า ระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะแตกต่างกันตามรูปแบบของธุรกิจ ลองย้อนกลับมาดูว่าธุรกิจของท่านอยู่ในรูปแบบใด แล้วทำให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตัวธุรกิจของท่านเอง

 

การคำนวณค่าใช้จ่าย

บุคคลธรรมดา : สามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ 1. หักแบบเหมา ซึ่งไม่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่าย จึงสะดวกและง่าย แต่ส่วนใหญ่จะหักได้น้อยกว่าหักค่าใช้จ่ายตามจริง และ 2. หักตามจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่ายนั้นๆ

 

การหักค่าใช้จ่าย

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำรายการค่าใช้จ่ายบางประเภทมากหักได้มากกว่าค่าใช้จ่ายจริง เช่น การจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การจ้างนักศึกษาทำบัญชี หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การทำวิจัยและพัฒนา หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า การลงทุนซื้อเครื่องจักร หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า เป็นต้น

 

การหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินบางประเภทในอัตราเร่งได้ (นับจากวันที่ได้มา) เช่น อาคารชั่วคราว หักได้ 100% เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และโรงงาน หักได้ 40% เป็นต้น (สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างงานไม่เกิน 200 คน)

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ปรับลุคแบรนด์เก่าให้ปัง! สไตล์ “แม่ประนอม”

สำหรับแบรนด์ที่อยู่มาอย่างยาวนาน บางครั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์อาจถูกมองว่ามีความเก่าแก่ เชย หรือไม่ร่วมสมัย กลายเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการทำการตลาดกับคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่า มีผู้ประกอบการหลายคนอยากรู้ถึงวิธีในการจะปรับลุคแบรนด์เก่าอย่างไร ให้สามารถโลดแล่นอยู่ในโลกใบใหม่นี้ได้ 
แบรนด์ “แม่ประนอม” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อก้าวให้ทันกับโลกยุคใหม่ แบรรนด์ที่เป็นตำนานซึ่งอยู่มากว่า 61 ปี อย่าง แม่ประนอม ได้ลุกขึ้นมาปรับโฉมกลายเป็น “ตัวแม่ยุค 2020” จนเกิดเป็นกระแส Talk of the Town ให้คนพูดถึงแบรนด์นี้ในชั่วข้ามคืน และครั้งนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นการพาแม่ประนอมออกจากกรอบแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน

ถึงแม้ แม่ประนอม จะยืนหยัดมาอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หลากหลายภายใต้แบรนด์แม่ประนอม ทั้งน้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ และอีกสารพัดมากมาย ที่อยู่คู่ครัวคนไทยมายาวนานตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในอีกมุมของความเป็นแบรนด์ ความยาวนานที่ว่านี้ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในสายตาคนรุ่นใหม่มองว่า เก่าแก่และมีความเชย อีกทั้งการจดจำแบรนด์ในกลุ่มเจนเนอเรชันใหม่ก็ค่อยๆ จางหายไปจากการรับรู้

 

ด้วยเหตุนี้ ทีมผู้บริหารเลือดใหม่เจนเนอเรชันที่ 3 ของแม่ประนอมที่เริ่มเข้ามาสานต่อภารกิจนำพาแบรนด์ให้เดินต่อไปข้างหน้า จึงเกิดความคิดที่จะปรับภาพลักษณ์ของแม่ให้ดูเด็กลง เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับลูกค้ารุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น โดยครั้งนี้ เราได้ตัวแทนของทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ อย่าง คุณพงศภัทร์ สุขุมาลจันทร์ Public Relations Manager บริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด มาเป็นผู้คลายความสงสัยและบอกถึงเคล็ดลับของการปรับลุคแบรนด์เก่าว่าต้องทำอย่างไรถึงจะปังได้ในยุคนี้ 

 

ลดอายุแบรนด์ ด้วยวิธีเปลี่ยนการสื่อสาร 

“สิ่งที่เราทำครั้งนี้หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการรีแบรนด์ แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพียงแคมเปญสั้นๆ ที่เราต้องการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์แม่ประนอมให้ดูเด็กลง ด้วยการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ เพื่อทำให้เราสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะเคยกินและจำรสชาติได้ แต่ไม่รู้ว่านี่คือ แบรนด์แม่ประนอม ดังนั้นเราจึงต้องมาตอกย้ำว่า สิ่งที่เขากินอยู่นั้น คือแบรนด์แม่ประนอม เพื่อให้เกิดการจดจำแบรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่”

แน่นอนว่า การจะสื่อสารไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ คงไม่มีอะไรทรงพลังไปกว่า ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ทำให้วิธีการสื่อสารใหม่ของแบรนด์แม่ประนอมจึงมุ่งไปที่ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ภายใต้คอนเซปต์ “คู่ครัวตัวแม่” ที่จะมาให้ข้อคิดการใช้ชีวิตและเรื่องในครัวกับทุกคน ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ด้วยโลโก้แม่ประนอมที่อยู่ในกรอบวงรีมาโดยตลอด เป็นการสื่อว่า แม่ประนอมมีกรอบที่เป็นแนวทางของตนเอง แต่ในปี 2020 นี้ แม่ประนอมจะขอออกจากกรอบ พร้อมทั้งชวนให้สร้างกรอบใหม่ที่ผู้หญิงกำหนดเอง ด้วยการให้ 4 ศิลปินหญิงนักวาดภาพประกอบ (Illustrator) รุ่นใหม่มาสร้างสรรค์ภาพของแม่ประนอมที่ถูกออกแบบมาภายใต้คำว่า “กรอบ” ใน 4 คอนเซปต์ด้วยกัน คือ

กรอบ...นอก แต่นุ่มใน ไม่อ่อนข้อเหมือนข้อไก่ แต่ยังนุ่มในกับใครที่รักเรา เป็นการสื่อถึงกรอบของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง แต่คงไว้ซึ่งความอ่อนโยนกับคนที่รักเรา

กรอบ...เด้ง ทั้งเรื่องงานและเรื่องเล่น  ให้ลูกกล้าแอดเฟรนด์ สื่อถึงกรอบการเลี้ยงดูลูกของผู้หญิงยุคใหม่ที่สามารถเป็นเพื่อนกับลูกได้ 

ไม่ลืมกอบโกย...ความสำเร็จ แม้เป็นเวิร์กกิ้งวูแมน...แต่ยังแม่นเรื่องทำอาหาร สื่อถึงกรอบความเก่งรอบด้านของผู้หญิงยุคใหม่ ทั้งเรื่องงานนอกบ้านและงานในครัว

รักษากรอบ...หน้า ไม่ให้ฝ้าขึ้นในวันทอดๆ จนเพื่อนลูกเผลอเรียกว่า “คุณพี่” สื่อถึงกรอบความเป็นผู้หญิงที่แม้จะทำอาหารเก่งอยู่ในครัว แต่ก็ไม่ลืมเรื่องความสวยความงาม ยังต้องดูแลตัวเองให้ดูดีเสมอ

เมื่อภาพวาดทั้ง 4 คอนเซ็ปต์นี้ ถูกสื่อสารออกไปบนโลกโซเชียล ทำให้คนเห็นถึงภาพลักษณ์ใหม่ของแม่ประนอม กลายเป็นคุณแม่ที่มีความเป็นวัยรุ่นขึ้น และเมื่อรวมกับวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ เช่น การแชร์ข้อคิด คำคมในการใช้ชีวิตต่างๆ รวมไปถึงเคล็ดลับสูตรการทำอาหาร ที่ใช้ภาษาเด็กลง ผ่านทางโซเชียลมีเดียของแม่ประนอม ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram ยิ่งทำให้แบรนด์เกิดการรับรู้และสามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างใกล้ชิดตามเป้าหมายที่วางไว้

 


ถอดวิธีคิด แนะเคล็ดลับปรับโฉมแบรนด์เก่า

จะเห็นได้ว่า เพียงแค่แม่ประนอมเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ ด้วยภาษาใหม่ และในช่องทางใหม่อย่างออนไลน์ โดยที่ยังไม่ได้ทำการรีแบรนด์แต่อย่างใด ภาพความเป็นแบรนด์เก่าแก่ในสายตาหลายคนก็ถูกทลายกำแพงลงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งตรงกับผลตอบรับที่ คุณพงศภัทร์ บอกว่า เกินกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งในด้านของการมีส่วนร่วม Comment  ต่างๆ บนออนไลน์ หรือแม้แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่แม่ประนอมจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะนี่เป็นแค่สเต็ปเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีแคมเปญต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามมาอีกแน่นอน

ถึงตรงนี้ ผู้บริหารแม่ประนอม บอกว่า การปรับโฉมแบรนด์เก่านั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ต้องทำไม่มากไปและไม่น้อยไป” เพราะถ้าทำเยอะ เปลี่ยนแยะ คุณค่าของแบรนด์ที่ถูกสะสมมาหลายสิบปีอาจจะหายไปได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าทำน้อยไป เพราะกลัวว่า คุณค่าของแบรนด์จะหาย จึงไม่กล้าเปลี่ยนแปลงมาก พอเมื่อทำน้อยก็กลายเป็นว่าไม่เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงทำให้การจะปรับโฉมแบรนด์เก่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ 

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อยากจะปรับโฉมแบรนด์เก่า มีดังนี้

1.รู้ตัวเองว่ามีอะไรและขาดอะไร อย่าง แม่ประนอม จุดแข็งคือความเชี่ยวชาญในเรื่องผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่แม่ประนอมอาจจะไม่เก่งคือเรื่องของภาพลักษณ์ หรืออาจจะเป็นตำนานที่อยู่คู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน แต่ไม่มีความหวือหวา เมื่อรู้ว่าจุดอ่อนคืออะไร เข้าไปแก้ตรงนั้นให้ได้ ถามว่าจะทำอย่างไรให้แม่ประนอมเผ็ดขึ้น เปรี้ยวขึ้น อาจจะเป็นการใช้ภาษาที่เด็กลง และเข้าไปอยู่ในจุดที่คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิต แต่ต้องคงจุดแข็งและความเป็นเอกลักษณ์ของแม่ประนอมไว้

2.ต้องตีกรอบให้ชัดเจน การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า เขาต้องการอะไรจากแคมเปญหรือจากการกระทำนั้นๆ อย่าง แม่ประนอม สิ่งที่ต้องการ คือการเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา อาจจะไม่ได้มีโอกาสรับฟังลูกค้าว่าต้องการอะไร หรือคิดอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ แต่ตอนนี้เราตีกรอบแคมเปญนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า เราต้องการไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าเป้าหมายอยู่กัน พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า 

3.สามารถวัดผลได้ ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงต้องสามารถวัดผลได้ การมีเป้าหมายแล้ววัดผลได้นั้น จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือทำในสิ่งไหนได้ดี แล้วยังมีจุดไหนที่ต้องแก้ไข เพื่อให้การทำในครั้งต่อไป มีเป้าหมาย ไม่หลงทางนั่นอง 

 

 

จากเรื่องราวของแบรนด์แม่ประนอม เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SME เริ่มมองเห็นแนวทางของการพัฒนาแบรนด์ได้มากขึ้น หรือหากต้องการความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์เพิ่มเติมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์และการพัฒนาแบรนด์ให้มีความโดดเด่นน่าสนใจแก่ผู้ประกอบการ อาทิ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นต้น

 

 

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

หมดปัญหากับ “สต็อกบวม” เทคนิคบริหารจัดการคลังสินค้า หนุนเพิ่มกำไร

ปัญหาใหญ่หนึ่งเดียวของ SME คือ สินค้าคงคลัง (Inventory) ที่มักจะสั่งสต็อกสินค้าเก็บไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเพื่อรอการขาย แต่เมื่อใดที่สินค้านั้นขายไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในทันที อย่างเหตุการณ์โควิดที่ผ่านมา แม้ว่าสินค้าหลายประเภทจะขายดีทางออนไลน์ แต่อีกหลายประเภทกลับถูกลดความต้องการลงกระทันหันเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ SME หลายรายต้องเจอกับภาวะสต็อกบวม เงินจม จนเกิดอาการซวนเซ ดังนั้น การบริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่ SME ไม่ควรละเลย

นิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า กล่าวว่า การจัดการด้านคลังสินค้านั้น ถือเป็นแนวทางป้องกันเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาสต็อกบวม หรือสต็อกขาด แต่ในกรณีที่ SME เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ควรเร่งระบายสินค้าเหล่านั้นให้เร็วที่สุดโดยสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดทำโปรโมชั่น ออกแคมเปญการขาย และลดราคา เป็นต้น ซึ่งการทำตลาดที่ชาญฉลาดและเคลียร์สต็อกได้อย่างรวดเร็วนั้น  จะต้องเลือกจังหวะที่เหมาะสมอีกด้วย

นอกจากนี้ SME ควรเพิ่มช่องทางการขายหลากหลายช่องทาง ทั้งการขายหน้าร้าน และการขายทาง online และการเปิดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เช่นขยายไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

โดยการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นวิธีหนึ่งที่จะเข้าไปช่วย SME ให้สามารถสร้างกำไรให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งต้นทุนหลักของการขายสินค้าโดยเฉพาะการขายของออนไลน์ คือค่าโลจิสติกส์ เรื่องการคลังจะทำให้เห็นค่าขนส่งที่ชัดเจน และยังบอกได้อีกว่า สินค้าตัวใดควรเลิกขาย สินค้าตัวไหนควรขายมากขึ้น และสินค้าประเภทใดบ้างควรจัดขายแบบเซท เพื่อทำให้กำไรต่อหน่วยให้ดีขึ้น รวมถึงการเลือกใช้บริการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท หากบริหารจัดการทุกอย่างได้ดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในส่วนคลังสินค้าและค่าโลจิสติกส์จะถูกลง มาร์จิ้นก็จะมีมากขึ้น

“ปัญหาสต็อก ถือเป็นจุดตายจุดเดียวของคนขายของออนไลน์เลยก็ว่าได้ อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา สินค้าหลายประเภทขายดีมาก แต่ยิ่งขายกลับยิ่งจนเพราะสต็อกจม ซึ่งการบริหารจัดการที่ไม่ดีเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกันคือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) หมายถึงมีสินค้า 100 ชิ้น แต่ควรขายได้ 200 ชิ้น ถือว่าเก็บสินค้านั้นน้อยไปทำให้เสียโอกาสการขาย และ ต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึงมีสินค้า 100 ชิ้น แต่ขายได้เพียง 50 ชิ้น ถือว่าเก็บสินค้านั้นมากเกินไป เงินเลยจม ผู้ขายจึงต้องบาลานซ์ให้ได้ว่าสินค้าตัวไหนควรเก็บเท่าไหร่ อย่างไร

แต่ประเด็นคือ ผู้ขายออนไลน์ไม่รู้ว่าสินค้าตัวไหนขายดีควรเก็บสต็อกเพิ่ม หรือควรเก็บในปริมาณเท่าไหร่ และสินค้าตัวไหนขายได้น้อยลง ควรสั่งของน้อยลง นั่นเป็นเพราะพวกเขาขาดข้อมูลที่มากพอในการตัดสินใจ ทำให้ไม่มีการวางแผนบริหารจัดการสต็อก โดยการทำการตลาดเพื่อเร่งการขายอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่คำตอบที่สำคัญคือ ข้อมูล (DATA) ซึ่งคนทำงานคลังสินค้าจะมีข้อมูลเหล่านี้ พวกเขาจะรู้ว่าสินค้าตัวใดมีการสั่งเข้ามาเติมเรื่อย ๆ หรือทุก 2 วัน สินค้าตัวไหนที่นาน ๆ ทีเติมที หากเก็บนานเกินไปก็จะเปลืองพื้นที่เก็บและเปลืองเงินเปล่า ๆ จึงควรลดจำนวนลง และให้พื้นที่กับสินค้าที่ขายดีเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะทำให้การจ่ายค่าที่ถูกลงและขายของได้มากขึ้น 

เรื่องเหล่านี้เป็นการจัดการสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Stock Optimization) ซึ่งต้องมานั่งดูทุก ๆ วัน หรือทุก ๆ เดือน แต่การมานั่งทำเองก็อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ปัจจุบันจึงมีระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยคำนวณให้” นิธิ กล่าว 

เขาบอกด้วยว่า อีกปัญหาหนึ่งของ SME คือการทำงานด้วยระบบเถ้าแก่ ลงทุนเองและทำทุกอย่างเองหมด แต่ปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก โดยเฉพาะหลังโควิด เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น ทุกอย่างกลับตาลปัดไปหมด คนที่เปลี่ยนตัวเองไม่ทันก็จะถูกคลื่นซัดหายไป ปิดธุรกิจไปเลยก็มี และเมื่อมองไปข้างหน้าอีก ก็จะเห็นแต่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนอยู่มากมาย 

ดังนั้น สิ่งที่ SME ต้องมีคือวิชาตัวเบา มีความยืดหยุ่น ทำในสิ่งที่ควรทำเท่านั้นถึงจะสามารถอยู่รอดได้ โดยวิธีการทำงานแบบใหม่จะเป็นการทำงานแบบที่เรียกว่า agile คือทำไป เรียนรู้ไป และพลิกแพลงตามสถานการณ์ เรื่องใดที่ไม่เก่ง ไม่ถนัดก็ให้คนอื่นที่เชี่ยวชาญกว่าทำแทน ซึ่งปัจจุบันนี้ SME สามารถให้คนอื่นที่เก่งกว่าทำแทนได้ทั้งเรื่องบัญชี ทรัพยากรบุคคล การตลาด การคลังและการขนส่ง 

ทั้งนี้ หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจเรียกได้ว่าเป็นยุควิถีใหม่ (New Normal) และจะเป็นยุคของ SME โดยเฉพาะ ซึ่ง นิธิ แนะนำว่า SME ควรต้องรู้จุดแข็งของตัวเอง ทำตัวให้เล็ก ผอมเพรียว และเป็นปลาที่ซอกแซกได้ เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาจะสามารถปรับตัวได้ก่อนและปรับตัวได้เร็ว รวมทั้งสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงข้างหน้าได้ก่อนใคร และเมื่อเห็นแล้วก็ลงมือทำได้ทันที 

“ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ SME ต้องเข้าใจคนหรือเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคน ไม่จำเป็นต้องไปหาว่าสินค้าไหนขายดี แต่ให้มองหาว่า คนชอบอะไร มีปัญหาอะไร และต้องการอะไร จากนั้นเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาให้ได้ ถัดมาคือเข้าใจช่องทางการขาย ควรมีทั้ง offline และ online และเข้าใจในคาแลคเตอร์ของแต่ละช่องทางว่าเป็นอย่างไร ควรใช้แต่ละช่องทางนั้นเพื่ออะไร เช่น offline เป็นพื้นที่สำหรับสร้างประสบการณ์ ทดลองใช้สินค้า ส่วน online จะมีหลากหลาย บางช่องทางเหมาะสำหรับทำโปรโมชั่น บางช่องทางให้คิดแค่ว่าใช้เป็นพื้นที่โฆษณา หรือพื้นที่สร้างกิจกรรมสนุก ๆ เท่านั้น และสุดท้าย ควรเข้าใจธรรมชาติในปัจจุบัน ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลาดไม่ได้มีขีดจำกัดในวงแคบ ๆ อีกต่อไป แต่จะกว้างขึ้นอย่างไร้พรมแดน” นิธิ กล่าวทิ้งท้าย

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ