สวทช. ชวนดาวน์โหลด e-book เติมเต็มความรู้ “Smart Farming”

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเชิญชวนเกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจ ดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) เรื่อง “Smart Farming” (การเกษตรอัจฉริยะ) ที่มีการรวบรวมผลงานการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ สวทช. เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ สนับสนุนให้ภาคเกษตรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมลดต้นทุนจากการลดใช้ปุ๋ยและยา

เนื้อหาในเล่มอัดแน่นไปด้วยข้อมูลตั้งแต่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูกและจัดการพืช/สัตว์สมัยใหม่ การเตือนการณ์ การคาดการณ์ผลผลิต การบริหารจัดการกระบวนการผลิต และบริการต่าง ๆ ของ สวทช. เพื่อผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจเทคโนโลยี

 

สนใจดาวน์โหลด e-book ได้ที่นี่ คลิก!!

 

 

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

การขอรับสิทธิ์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร

 

ขอเชิญวิสาหกิจชุมชน และ SME รับสิทธิ์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร โดยลงทะเบียน ที่นี่

 

การส่งเสริมผู้ประกอบการ ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ได้แก่

1. เป็นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ
2. ส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ
3. ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
4. ให้คำปรึกษา หรือการเตรียมเอกสารทางวิชาการ เกี่ยวกับการผลิต หรือการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร
5. อบรมพัฒนาศักยภาพในการประกอบการ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
6. ให้เอกสารคำแนะนำ คู่มือ หนังสือวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
7. สิทธิและประโยชน์อื่น ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
โทร. 02-149-5609

 

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ไอติมหม้อไฟยศเส แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเป็นออริจินอล

กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งสตรีท ฟู้ดส์ ที่ชาวต่างชาติให้การยกย่อง แหล่งรวมร้านอาหาร ของคาวหวาน ต้นตำรับสูตรดังมากมาย จนครอบครองใจผู้บริโภคในทุกกลุ่มและได้กลายมาเป็นกระแสหลักวัฒนธรรมการกินดื่มของสังคมไทยในปัจจุบัน หากจะเอ่ยถึงร้านขนมหวานโดยเฉพาะในประเภทไอศกรีมโฮมเมดที่โด่งดังในระดับตำนาน หนึ่งในชื่อที่ต้องถูกเอ่ยคงไม่พ้นร้านไอติมหม้อไฟยศเส ที่เปิดมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ "โชกุน" สุรชัย ที่คอยปลุกปั้นและนำพาแบรนด์ให้ก้าวขึ้นสู่หนึ่งในแบรนด์ไอศกรีมขวัญใจสายสตรีท ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนใส่ใจทุกรายละเอียด ถึงกระทั่งว่าลูกค้าหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามามองหาร้านไอติมชื่อดังที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านยศเส คุณโชกุนสามารถบ่งบอกได้ว่าคนที่เดินมองหาอะไรสักอย่างละแวกนี้ ต้องเป็นลูกค้าที่กำลังมองหาร้านตนอย่างแน่นอนและพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตั้งแต่ปากซอย 

“ถ้าเราทำสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำ แม้เราจะทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่พ้นที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งเดิมที่มีคนเคยทำ แล้วทำไมเราไม่สร้างสิ่งใหม่ นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้คนชื่นชมและกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเราในที่สุด” คือ แนวคิดที่คุณ สรุชัย หรือที่ใคร ๆ เรียก โชกุน ยึดถือเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ทำให้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ไอติมหม้อไฟยศเส ไม่เคยหยุดคิดที่จะมอบสีสัน ความสดใส ตื่นตาตื่นใจ ประสบการณ์ความแปลกใหม่มาให้ทุกคนสัมผัสลิ้มลองอยู่เสมอ สมดั่งปณิธานแรกเริ่มที่ตั้งชื่อร้านไอกรีมของตนเองว่า Tongue fun 

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพื่อนสมัยเรียนชวนมาลงทุนทำธุรกิจร้านไอกรีมเล็ก ๆ ในวันนั้น ไอติมหม้อไฟยศเสได้ผ่านร้อนผ่านหนาวฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานา มาอย่างโชคโชน เพื่อคงไว้ซึ่งความคุณภาพมาตรฐานที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างสูงสุดเสมอมา และกำลังจะก้าวสู่บททดสอบใหม่ ความแปรเปลี่ยนในแวดวงการตลาดและการบริโภค ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดการสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำจะยังคงอยู่เคียงคู่กับแบรนด์ไปโดยตลอด

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE : ช่วยเล่าประวัติความเป็นมา กว่าจะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสทุกวันนี้ 

คุณโชกุน: เมื่อก่อนผมทำงานโฆษณา มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ค่อนข้างดี จนมีอยู่วันหนึ่งมีเพื่อนสมัยเรียนมาชวนผมให้ร่วมทำธุรกิจไอศกรีมกันซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมทางบ้านเขา ซึ่งในตอนนั้นผมก็ตกลงทำกันแบบครึ่งตัวคือยังไม่ได้ลาออกจากงานประจำ และรับหน้าที่ดูแลด้านการตลาดการโฆษณาให้กับแบรนด์ ซึ่งตอนเริ่มแรกนั้นก็ได้เลือกเปิดที่บ้านของผมเองซึ่งเป็นทำเลที่ค้าขายอาหารได้ดี มีร้านอาหารเจ้าดัง ๆ ที่ดึงดูดคนมาทานได้มากกว่า 10 ร้าน และทั้งหมดล้วนแต่เป็นร้านอาหารคาวทั้งสิ้น มีขนมหวานน้ำแข็งใสอยู่เพียงรายเดียว ซึ่งทำให้ผมเล็งเห็นโอกาสที่จะนำเสนอสินค้าที่ทานไปควบคู่กับอาหารได้ทุกเพศทุกวัยอย่างไอศกรีม

ในช่วงแรกผมก็คุยกับเพื่อนหุ้นส่วนว่า อยากทำอะไรที่แตกต่าง ไม่อยากทำไอศกรีมที่ใคร ๆ ก็ขายซ้ำรอยคนอื่น เพราะอย่างที่บอก ถึงเราทำรสชาติออกมาได้ดีกว่า หลายคนต่างยกย่อง แต่ก็ไม่พ้นต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดอื่น ๆ ซึ่งคิดสูตรออกมาเป็นคนแรก ๆ เลยคุยกับเพื่อนว่างั้นของเราจะเป็นสูตรเฉพาะของทางร้านที่เรียกว่าพิเศษไม่เคยมีใครทำ แต่ยังต้องเป็นรสชาติที่คนไทยชื่นชอบต้องเป็นรสชาติประหลาดที่คุ้นลิ้นคนไทย อย่างไอติมรสโคตรนมของทางร้าน เรียกว่าเป็นสูตรต้นตำรับเลยก็ว่าได้ เพราะไอศกรีมสายนมที่มีในท้องตลาดตอนนั้นก็มีทั่ว ๆ ไปอย่าง รสกะทิ รสวนิลา รสช็อกโกแลต แต่ของทางร้านเราอยากทำให้มีรสชาติที่เข้มข้นแบบกินแล้วต้องติดใจ ทั้งหอมนมสด ทั้งมีรสมันกลมกล่อม และหวานพอดี ซึ่งแต่แรกเลยยังนึกชื่อไม่ออกไม่ได้คิดว่าต้องตั้งประหลาดอะไรมากมาย จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเผลอพูดตอนจดออเดอร์ลูกค้าว่า “ไอติมโคตรนม หนึ่งถ้วย” ซึ่งตั้งแต่นั้นมาเราก็เรียก รสโคตรนมมาโดยตลอด และขายดีมาจนถึงทุกวันนี้กลายเป็น ของที่ใคร ๆ มาที่ร้านต้องสั่งไม่สั่งเหมือนมาไม่ถึงร้านเรา

SME ONE : แล้วคำว่าไอติมหม้อไฟ มายังไง เกิดขึ้นจากแนวคิดอะไร

คุณโชกุน: ตอบพร้อม เสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี จะว่าบังเอิญก็ว่าได้ จะว่าจงใจหรือเราก็ตั้งใจคิด คิดมาอย่างดีแล้วนะ ทดลองผิดทดลองถูกมาหลายอย่างจนมาลงตัวที่หม้อไฟ หลังจากที่เราคิดสูตรเด็ด รสชาติเฉพาะของร้านมา เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ โคตรนม บานาน่าชีส วาซาบิ ยาคูลท์ปีโป้ เบียร์ จนกระทั่ง กระทิงแดงว๊อดก้า ทุกรสต่างล้วนผ่านการคิดอย่างละเมียดละไมใส่ใจและอาศัยการสังเกต ผมเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ใครมาชวนไปเรียนอะไรถ้ามีเวลาผมก็ไป อย่างกระทิงแดงว๊อดก้า นั้นเกิดขึ้นมาตอนที่มีคนมาชวนผมไปลงทุนขายไอติมที่ประเทศเวียดนาม เราก็ศึกษาตลาดว่า ที่โน่นอะไรขายดี แล้วพบว่าคนเวียดนามดื่มเครื่องดื่มชูกำลังกันดุเดือดมาก ราวกับคนอิตาลี่ดื่มกาแฟ เราจึงได้คิดพัฒนาสูตรแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งเรียกความฮือฮา ชวนให้คนแวะเวียนมาถามหาอยู่ตลอดเหมือนกัน หรืออย่าง ไอติมเบียร์ เอง ผมก็ได้แนวคิดมาจากการสังเกตคนมาทานอาหารละแวกนี้ ว่าจะมีกลุ่มนักดื่มร้านอาหารตามสั่งอยู่ไม่น้อย หลายคนทานของคาวต้องมีเบียร์แกล้ม เราเลยทดลองพัฒนาสูตรไอติมเบียร์ออกมาขาย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน 

โชกุน ยังเล่าต่อว่า ปกติคนมาทานไอติมที่ร้านจะมักไม่ค่อยมาคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องทีละสองคน ส่วนมากจะมามากกว่า 3-4 คน ทำให้ลูกค้ามักจะสั่งรสชาติของตนคนละลูกสองลูกแล้วมาทานแบ่งกันในภาชนะใหญ่ทีเดียว แรกเลยเราก็เสิร์ฟในชามใหญ่ปกติ ซึ่งลูกค้าจะสั่งเราว่าขอแบบเอิร์ธเควก ซึ่งเป็นชื่อเมนูของร้านไอศกรีมบนห้างชื่อดังเจ้าหนึ่ง เราฟังแล้วก็รู้สึกขัดต่อแนวทางที่เราเป็น คือเราชอบความแตกต่างความเป็นออริจินอล เลยเกิดความคิดว่าไม่ได้การแล้ว ต้องหาทางเปลี่ยน perception คนตรงนี้ให้จดจำเราในชื่อเรียกสไตล์เรา เลยระดมความคิดกันทั้งบ้าน คนรอบข้างก็มาช่วยกันออกไอเดีย ทั้งภาชนะถาดยาว ๆ เป็นราง ทั้งลองนำเอาจานเปลที่เขาเสิร์ฟปลาแป๊ะซะมาลองจัดวาง แต่ก็ยังไม่ลงตัวทั้งขนาดและน้ำหนัก ทั้งหลายทั้งมวลทำให้ยังไม่ตอบโจทย์กับการขายการเก็บรักษา จนสุดท้ายก็มาเจอเจ้าหม้อไฟ ซึ่งผมครั้งแรกที่เห็นก็ปิ้งเลย แบบว่าเราทำงานวงการครีเอทีฟอยู่แล้วใช่ไหมครับ เรานึกไปถึงคอนเซ็ปท์ใหญ่ ๆ เลยว่า หม้อไฟกับไอติมมันเป็นส่วนผสมที่แตกต่างอย่างลงตัว เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งการใช้งาน ความบันเทิง และความคิดสร้างสรรค์กับลูกค้าได้ครบถ้วน

ตอนแรกนั้นก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นจุดพลิกผันของธุรกิจขนาดนี้ จากเดิมที่ขายได้วันนึงหลักร้อย หลักพัน จนพอเรามีการเสิร์ฟไอติมด้วยคอนเซ็ปท์ที่ว่านี้ คนก็เริ่มมากขึ้น จากวันละพันกลายเป็นมียอดขายวันละหลาย ๆ พัน เรียกว่าลูกค้าต้องรอคิวเพื่อหาที่นั่งทานกันเป็นชั่วโมง ตอนนั้นเองก็เริ่มมีสื่อให้ความสนใจ มีติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ มาขอถ่ายรายการ ขอนำเรื่องไปลง จนกระทั่งทางรายการตลาดสดสนามเป้าติดต่อเข้ามาให้ไปออกรายการ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดที่แท้จริงของแบรนด์ สร้างการรับรู้ สร้างความสนใจ สร้างความต้องการในตลาดให้มีสูงขึ้นเพียงชั่วรายการเทปเดียว



ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

 

SME ONE : อยากให้เล่าถึงอุปสรรค ปัญหาหลัก ๆ ที่พบเจอระหว่างการปลุกปั้นธุรกิจนี้

คุณโชกุน: ฟังดูแล้วเหมือนง่ายเลยใช่ไหมครับ แต่ความเป็นจริงแล้วเราผ่านอะไรมาเยอะ เยอะจนหุ้นส่วนล้มเลิกขอถอนตัวไปก่อนที่จะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสในวันนี้ เรื่องแรกเลยคือไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีโอกาสการรับประทาน คือมันไม่เหมือนอาหารจานหลักที่ทุกคนจะต้องทานทุกวันทุกมื้อ แต่ไอศกรีมไม่ใช่ วันไหนฝนตก นี่เรียกว่าเตรียมเก็บร้านแต่หัววันได้เลย ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความมั่นคงในจิตใจสูง ผมเองก็เคยมีช่วงที่ทำให้ท้อแท้อยู่เหมือนกัน ตอนที่เริ่มทำร้านใหม่ ๆ ยังอาศัยการลองผิดลองถูก การเก็บข้อมูล ราคาก็สำคัญจะทำอย่างไรให้ของเรามีคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันกับตลาดได้ ยังไม่รวมถึงปัญหาจิปาถะของการเป็นร้านแบบสตรีทฟูดส์ ที่การควบคุมบรรยากาศแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเราไม่สามารถจะคาดเดาได้เลยว่าวันไหนเราจะเจอบรรยากาศอย่างไร รถจะแออัดจอแจหรือไม่ เสียงจะดังไปหรือเปล่า ฟ้าฝนจะเป็นใจให้เราได้ขายมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจริง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาหลักที่เจอในช่วงเริ่มแรก ตอนที่เรายังไม่ได้ดัง ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมาย

จนพอมาถึงยุคที่แบรนด์เราเริ่มเติบโตเริ่มไต่ระดับเพดานสูงขึ้น ๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น เราพบกับปัญหาสำคัญต่อมาคือการ โดนลอกเลียนแบบสินค้า ซึ่งเชื่อว่าคนทำธุรกิจหลาย ๆ ท่านคงเคยประสบกับปัญหาอันน่าปวดหัวปวดใจแบบนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งแรก ๆ มันก็ค่อนข้างกระทบจิตใจผมเหมือนกันนะ ในฐานะผู้ปลุกปั้นมันขึ้นมา สิ่งที่ผมกังวลคือการที่คนลอกเลียนไปแล้วเขาทำให้ชื่อเสียงเสียหาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นไอติมหม้อไฟยศเสที่เราเป็นคนคิดค้นขึ้นมา จากเดิมที่ผมไม่คิดจะจัดการอะไร ลองปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินและเลือกในคุณค่าที่แท้จริง ซึ่งแบรนด์เรามีดีทั้งข้างในและข้างนอก เพราะไม่ใช่แค่เสิร์ฟด้วยคอนเซ็ปท์เท่ห์เท่านั้นแต่รสชาติและคุณภาพไอศกรีมต้องถึงต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วย แต่สุดท้ายแล้วผมก็ต้องจดทะเบียนสินค้า ใช้ชื่อว่า ไอติมหม้อไฟยศเส เพื่อเป็นการปกป้องตัวเราเองด้วยไม่ให้โดนฟ้องร้องจากคนที่ไม่หวังดีในภายหลัง และเพื่อเป็นการวางรากฐานมาตรฐานที่ดีกับลูกค้าเรา ว่าภายใต้ชื่อแบรนด์ ไอติมหม้อไฟยศเส ของเรานี้ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดไปจากเรา รวมถึงการนำไปพัฒนาต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

 


Key Success ของธุรกิจ

SME ONE : อยากให้ช่วยถ่ายทอดถอดบทเรียนทางธุรกิจว่าอะไรคือ Key Success ของแบรนด์

คุณโชกุน: สำหรับผมแล้วสิ่งสำคัญเลยคือการที่เราเลือกที่จะแตกต่าง การที่เราไม่พยายามไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือใคร ๆ การที่เรามองเห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวเรา และการที่เราใส่ใจเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ทั้งสามสิ่งนี้คือกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้แบรนด์เรามีพัฒนาการความก้าวหน้าต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และยังครองใจนักชิมสายตรีทส์ได้อย่างเหนียวแน่น

 



คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

SME ONE : อยากขอคำแนะนำให้กับ SME ที่กำลังเริ่มต้นสนใจธุรกิจร้านอาหาร หรือที่ทำอยู่แล้วเพื่อนำไปใช้พัฒนาสร้างแบรนด์ตนเอง 

คุณโชกุน: สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มนะครับผมอยากให้ลองศึกษาข้อมูลให้เพียงพอ เพราะความสำเร็จที่แต่ละแบรนด์สร้างขึ้นมานั้นไม่ได้มาโดยคำว่าบังเอิญอย่างแน่นอน สิ่งแรกเลยคืออยากให้ศึกษาและลงมือทำไปควบคู่กัน อยากให้เรียนรู้จากประสบการณ์ไปพร้อม ๆ กับการเรียนในตำรา เพราะธุรกิจอย่างร้านอาหารนั้นมักจะมีปัญหาที่อยู่นอกตำรา มาทดสอบเราอยู่เสมอ ดังนั้นไม่อยากให้ยึดติดอยู่กับองค์ความรู้ในทางเดียว อย่างผมเองในช่วงแรกเริ่มแม้จะรับหน้าที่ดูแลงานด้านการตลาดเป็นหลักแต่ผมก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องการผลิตสูตรต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดช่วยทำให้ผมเข้าใจผลิตภัณฑ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี 

อีกเรื่องที่มีคนชอบพูดถึงกันมากเกี่ยวกับการหา passion หรือแรงบันดาลใจ สำหรับผมเองมองว่าไม่ต้องรอให้เจอ passion ก็เริ่มทำได้ หากเรารอจนให้พบ passion ดังที่ว่า เราอาจจะไม่ได้ออกเดินจากจุดสตาร์เลยก็ได้ ดังนั้นอยากให้ศึกษาข้อมูลให้พร้อมแล้วกางแผนที่เริ่มออกลุยกันไปเลย พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ระหว่างทางให้ได้มากที่สุด แล้วจะยิ่งทำให้เราเชี่ยวชาญ จนสุดท้ายกลายมาเป็นความหลงใหลในสิ่งที่ได้ทำได้ประคบประหงมฟูมฟักอย่างร้านไอติมหม้อไฟยศเสก็ได้

อีกเรื่องที่สำหรับผมแล้วเป็นบทเรียนอันมีค่าเลยก็ว่าได้คือ การมีความอดทน ความอึด ความมุ่งมั่นและการรู้จักรอคอย เพราะความสำเร็จนั้นไม่ได้สร้างขึ้นได้เพียงวันเดียว ดังนั้นกว่าที่เราจะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสที่ใคร ๆ รู้จักดังเช่นวันนี้ เราได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการทดสอบมาไม่น้อยเหมือนกัน สำคัญที่อยากจะฝากบอกไว้คือ เราไม่มีทางรู้ว่าจุดที่เราเดินอยู่นั้นใกล้กับปากถ้ำที่เต็มไปด้วยแสงสว่างอันงดงามมากน้อยเพียงใด อยากให้ทุกคนอดทนและรอคอยให้ได้ แล้วถ้าทำอย่างตั้งใจ สร้างสรรค์แล้ว ผมเชื่อว่าไม่ช้าเวลาของคุณก็จะมาถึง

อีกประการสำคัญสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจในสายนี้อยู่แล้ว ที่อยากฝากคือ การไม่ยึดติดกับดักความสำเร็จเดิม ๆ แม้จะคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของแบรนด์แต่ก็ควรมีการนำเสนอที่แปลกใหม่ พัฒนาไปตามยุคตามสมัยของผู้บริโภค อย่างผมเองตอนนี้ได้เริ่มพัฒนาธุรกิจร้านอาหารขึ้นมาอีกร้านชื่อว่า เสน่ห์หน้าเนื้อ อยู่ใกล้ ๆ ร้านไอติมนี่เอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความคิดที่อยากทำร้านอาหารหลักคือร้านที่คนต้องกินอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะฝนตก ต้นเดือน ปลายเดือน ก็ยังต้องกิน ซึ่งผมได้เอาแนวคิดความแตกต่างของสองสิ่งที่ไม่น่าจะไปกันได้อย่างไอติมกับหม้อไฟ ร้อนมาเจอเย็น มาเป็นแกนหลักในการวางคอนเซ็ปต์ร้าน เสน่ห์หน้าเนื้อ ก็เช่นกัน คือใครจะนึกว่าร้านกะเพราเนื้อที่ เนื้อนุ่มลิ้นรสชาติเผ็ดร้อนหอมกระเพราในราคาแบบร้านอาหารสตรีทฟู้ดส์ จะมาอยู่คู่กับบทเพลงบรรเลงเสียงเปียโนคลาสสิคได้อย่างลงตัว  

หรือแม้แต่รูปแบบการทำการตลาดก็ควรต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว อย่างยุคแรกที่ร้านเราเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ จะเป็นยุคของการตลาดการวาง positioning การนำเสนอ concept ของแบรนด์ แต่มาถึงยุคนี้แล้วเริ่มเห็นทิศทางความเปลี่ยนแปลงสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ซึ่งในจุดนี้แบรนด์เราเองก็ต้องเรียนรู้และปรับกลยุทธ์ตามให้ทัน

และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมยึดมั่นในหลักการทำธุรกิจมาโดยตลอด คือการใส่ใจและเข้าใจผู้บริโภคของเรา ร้านอาหารกับงานบริการเป็นของคู่กัน ผมเองไม่เคยทิ้งร้าน ไม่เคยทิ้งลูกน้องและทีมงาน และมักจะอยู่ดูแลลูกค้าทุกคนด้วยตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมเห็นพฤติกรรมและความต้องการของคนที่เข้ามาทาน ถือเป็นการเก็บข้อมูลนำไปต่อยอดไปใช้ในการวางแผนธุรกิจอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างรสชาติแปลก ๆ ที่โดนใจ ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ก็มาจากที่ผมสังเกตเห็นพฤติกรรมคนในร้านมาทั้งนั้น

อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ดส์ เหมือนกันคือการสร้างพันธมิตรและการเกื้อกูลชุมชน การเข้าอกเข้าใจคนที่อาศัยอยู่รายรอบธุรกิจของเราพยายามให้เกิดผลกระทบกับพวกเขาให้น้อยที่สุดหรือ ต้องรีบจัดการแก้ไขหากพบปัญหาไม่เพิกเฉย ซึ่งทั้งหมดนี้ร้านเราก็ทำมาโดยตลอดและไม่เคยมีปัญหากับชุมชนในละแวกแถบนี้ 



บทสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์ชีวิตและการคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจร้านไอศกรีมมากว่า 15  ปีของคุณ สรุชัย หรือ เฮียโชกุน ที่ลูกค้าเรียกขานอย่างเป็นกันเอง ชายผู้เลือกที่จะแตกต่าง ไม่พยายามไปเปรียบเทียบกับใครเป้าหมายของเขาคือการเอาชนะตนเองในวันวาน และอดทนเพื่อรอคอยความสำเร็จอย่างเพียรพยายามโดยที่ไม่ละทิ้งความตั้งใจไปก่อน

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น)

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นพื้นที่ให้บริการที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและประเทศ - ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน - การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี - การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ - การถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีและการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา - การให้บริการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน - การให้บริการห้องปฏิบัติการและเครื่องมือ - การให้บริการโรงงานต้นแบบ - การให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้าน วทน. ไปทำงานกับภาคเอกชน - การให้บริการพื้นที่ Research Unit คลิกดูวิดีโอแนะนำ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) สอบถามข้อมูลการให้บริการเพิ่มเติม โทรศัพท์ : +66 (0) 4304 8048 มือถือ : +66 (0) 8 9712 7126 อีเมล info@kkusp.com   Published on 6 February 2020 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

[embed]https://youtu.be/MCzI8O9YOcE[/embed] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) องค์กรในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ผ่านมาตรการส่งเสริมสนับสนุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนากำลังคนทั้งกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน นักเรียน-นักศึกษา /การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่ม Startup/การเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร ชุมชน/การร่วมวิจัยและพัฒนาไปจนถึงการช่วยจับคู่ธุรกิจเพื่อขยายช่องตลาด ด้วยเป้าหมายให้เกิดการขับเคลื่อนดิจิทัลสู่ทุกมิติของชีวิต ยิ่งปัจจุบันเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งอยู่ล้อมรอบตัวเราจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และเข้าถึงบริการของภาครัฐที่เป็นตัวช่วยเชื่อมต่อเทคโนโลยีและดิจิทัล depa จึงมีบริการต่างๆ ที่พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ณ อาคารลาดพร้าวฮิลล์ ถนนลาดพร้าว ซอย 4 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม.
  • บริการให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ DOSS (Digital One Stop Service) เพื่อให้บริการผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษาแนะนำ ความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐไปจนถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ให้บริการด้านดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบคูปอง และบริการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของคุณได้
  • บริการพื้นที่ทำงานและจัดประชุม ทั้งในรูปแบบ Co-Working Space พื้นที่สำนักงาน ห้องประชุม ห้องอบรม ห้องสัมมนา และลานอเนกประสงค์ อยู่บริเวณชั้น 3 ซึ่งเปิดให้หน่วยงานที่สนใจ ผู้ประกอบการ กลุ่ม Startup เข้ามาเช่าใช้บริการได้ในราคาไม่แพง
  • สถาบัน Startup ที่มีกลุ่ม Startup นั่งทำงานที่นี่ เช่น กลุ่ม FinTech กลุ่มบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถ Walk-in เข้ามาเพื่อพูดคุยหรือขอรับบริการที่จะช่วยจุดประกายการพัฒนาธุรกิจได้
  • สถาบัน Big Data ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBDi) ที่ได้คิดค้นการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดเป็น Platform ที่ SME สามารถใช้บริการเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลในการต่อยอดธุรกิจ หรือกรณีมีหน่วยงานที่ต้องการจัดการกับระบบข้อมูลของตนเอง จะมี Data Scientist ให้คำแนะนำ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้สนใจในรูปแบบ คูปองดิจิทัล ทั้งด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฯ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยี การรับรองมาตรฐาน รวมถึงการขยายตลาดของธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิทัล   Published on 23 January 2020 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ