University Connect เบทาโกรเชื่อมองค์ความรู้พัฒนาอุตสาหกรรมไทย

“เพราะเศรษฐกิจไทย คนไทยต้องช่วยกัน University Connect ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย ไปช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในไทย เราจะช่วย Connect ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น” วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ Founder of University Connect and Chairman of the Executive Board, Betagro Group 

จากแนวคิดที่ต้องการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่อย่างเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ผู้ประกอบการก่อให้เกิด University Connect ยูนิตสำคัญที่เบทาโกรตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยวิสัยทัศน์ของ University Connect คือ จะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนา Thailand Competitiveness ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้องค์ความรู้และทรัพยากรที่มีคุณภาพของ
มหาวิทยาลัย

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เราทำงานกับทางมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และทางมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วย Improvement ทางด้านเทคโนโลยีและเรื่องของพื้นฐานการผลิตหลายอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นของดีซี่งมีอยู่ในทุกๆมหาวิทยาลัย องค์ความรู้บางอย่างเป็นในเชิงวิศวะ วิทยาศาสตร์ ซึ่งภาคธุรกิจไม่ได้หยิบเอามาใช้ ซึ่งจริงๆแล้วหากมีการหยิบเอาไปใช้จะสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และด้านอื่นอีกหลากหลายซึ่งคุณวนัสมองว่าของดีเหล่านี้น่าจะเอามาให้ภาคเอกชนได้นำไปใช้ แต่ปัญหาคือมหาวิทยาลัยขาดเรื่องของการทำการตลาด ดังนั้นเบทาโกรจึงขอทดสอบสมมุติฐานด้วยการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาในเบทาโกรที่ใช้ชื่อว่า University Connect เพื่อนำเอาความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  พระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล ออกไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านชื่อโครงการที่สื่อสารตรงถึงความต้องการของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Service menu นั่นเป็นเป้าหมายของ University Connect

คุณอาณัติ ทรัพย์ทวีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนัก Academic Contribution เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ University Connect



บริการของ University Connect แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

Good Routine operation (Work Effectiveness) เหมาะสำหรับโรงงานที่มาตรฐานไม่ชัด คุณภาพแกว่ง ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของการผลิตสินค้าคือการมีมาตรฐานในการทำงานที่ดี (Effective work instruction) พร้อมทั้งมีระบบในการควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพของสินค้า (Monitoring and Control System) หากมีระบบในการทำงานที่ดีแล้วการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป Service menuในกลุ่มนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานยังไม่ชัดเจน คุณภาพของสินค้ายังไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งหัวข้อสำคัญในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของ การสอนงานแรงงานให้ทำตาม Work Instruction, Safety​​,Follow Up & Monitoring System​​,Problem solving & Root Cause Analysis​,Database for Control Operation

Process Improvement (Work Efficient)  เหมาะสำหรับโรงงานที่มองหาการพัฒนาเพื่อก้าวนำคู่แข่ง บริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานที่ดีแล้ว ย่อมมีความพร้อมในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาให้ก้าวนำคู่แข่ง Service menu ในกลุ่มนี้ช่วยเพิ่ม Capacity, Yield, Quality, ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน เช่น การเพิ่มทักษะในการทำงานของพนักงานด้วยเทคนิค Feedback​,การลดค่าเผื่อในการผลิต (Give Away Loss) ด้วยหลักการทางสถิติและศาสตร์เฉพาะทาง​,การบริหารจัดการเพื่อ Max. Cap & Min. Cost ด้วย Optimization technics​,การเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งองค์กรด้วย Lean, Total Productivity management (TPm), Ideal Management (IM)​,การออกแบบ / สร้างอุปกรณ์อัตโนมัติต้นทุนต่ำด้วยหลักการ Karakuri Kaizen​ และการปรับปรุงวิธีการทำงานโดยเน้นเพียง 1 จุดงาน Station Improvement 

Transformation (Working Platform) เหมาะสำหรับโรงงานที่พร้อมปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยี ในยุค 4.0 ใครๆ ก็อยากจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น​ Service menu ในกลุ่มนี้เป็นการ Customize technology ให้ Fit กับความต้องการของบริษัท​ ออกแบบ / สร้างเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อใช้ทดแทนแรงงาน เช่น การใช้ Manufacturing Execution System (MES) เพื่อบริหารจัดการงานผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ​,ใช้ IoT ร่วมกับการวิเคราะห์แบบ Real time เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต และเครื่องจักร​,Implement ระบบ ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งองค์กร​,ใช้ Machine Learning ในกระบวนการผลิต 

“เรามี Service Menu ที่หลากหลายซึ่งเมนูเหล่านี้เราทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยโดยพยายามกลั่นองค์ความรู้ต่างๆออกมาเป็นเมนูพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ เป็นเมนูที่พร้อมใช้ พร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชนสามารถนำเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่ง Service menu เหล่านี้เรานำมาจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชน และเข้าไปคุยกับอาจารย์เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจอาหารเราก็เริ่มจากเรื่องของอาหารก่อน แต่จริงๆแล้วมี Service menu ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารด้วยเช่นเดียวกัน” 

แนวทางในการทำงานของ University Connect มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีของอาจารย์ โดยการจัดสัมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ โดยเชิญทั้งเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการแผนก และผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังทุกวันศุกร์ที่สำคัญคือ “ฟรี” ซึ่งนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้จัก University Connect จนปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 องค์กร

“เราใช้ช่องทางหลายช่องในการประชาสัมพันธ์ University Connect ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟรีสัมมนาทุกวันศุกร์ซึ่งแตก่อนเราจัดที่บริษัทแต่ช่วง COVID-19 เราเปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี นอกจากนี้เรายังมีการใช้ช่องทาง Direct Sale คือโทรเข้าไปตามบริษัทต่างๆ และผ่านกลุ่มสมาคม เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมกาแฟ ผ่านแบงค์ คือ TMB เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมี LINE@ ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้จักเรา เมื่อโรงงานไหนที่ฟังสัมมนาของเราแล้วรู้สึกสนใจ อยากให้เราใช้ข้อมูลเชิงลึกหรือเมนูที่เรามีไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจของเขา หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการ Consult กันส่วนตัว โดยเราจะพาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปวิเคราะห์ปัญหาที่โรงงานของลูกค้า เป็น Project set up ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือจริง ซึ่งตรงนี้ลูกค้าต้องทำสัญญาแล้วจ่ายเงินกับมหาวิทยาลัย เพราะการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปทำให้มีค่าดำเนินงานถ้าเราไม่เก็บเงินเลยก็จะทำให้เราอยู่ได้ไม่นานและช่วยองค์กรต่างๆได้ไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มมีลูกค้าให้เรานำองค์ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

 หลายคนคงอยากตั้งคำถามว่าการที่เบทาโกรเข้ามาทำตรงนี้ ได้อะไร? คุณอาณัติ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้อะไร สิ่งที่เราต้องการคือต้องการช่วยจริงๆ”

“มีคนที่พอทราบว่าเราเป็นบริษัทเอกชนเขาก็จะตั้งกำแพงเอาไว้ก่อนว่าเราทำแล้วได้อะไรจากตรงนี้ เราก็ต้องบอกเขาว่าจุดเริ่มต้นของเราคือการที่เราต้องการที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งพูดตามตรงก็คือเราไม่ได้อะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทางเบทาโกรต้องการทำ คือการแยกหน่วยงานนี้ออกมา เป็น Social Enterprise ในอนาคต ซึ่งการเป็น Social Enterprise ต้องมีรายได้เข้ามาเพื่อเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดไปได้ เราก็จะแจ้งลูกค้าเลยว่าเวลาที่เราทำโครงการพวกนี้รายได้บางส่วนต้องคืนกลับมาให้กับ Social Enterprise ด้วย เราอยากช่วยบนพื้นฐานที่จะทำให้บริษัทยั่งยืนเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อได้” 

เป้าหมายของ University Connect ถัดจากนี้ คุณอาณัติ มองว่าคือการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในระดับที่ Mass มากขึ้น อาจจะเป็นการช่วย SMEs ลอตใหญ่พร้อมๆกัน เนื่องจากตอนนี้การช่วยเหลือยังเป็นรูปแบบของการช่วยแบบ One by One ในอนาคตมองถึงการช่วยแบบ One to Many โดย Service Menu 1 Menu สามารถช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาได้ 5-10 รายในครั้งเดียว 

“สิ่งที่อยากแนะนำ SMEs ไทยคือเรามองว่าตอนนี้รายย่อยเยอะมาก แล้วธุรกิจตอนนี้วิ่งไวมากทั้งตัวธุรกิจเองและตัวผู้บริโภคพฤติกรรมก็เปลี่ยนการเทิร์นของธุรกิจหมุนเร็วเพราะฉะนั้นความไวในการปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ SMEs อาจจะยังมองไม่เห็นคือพวกพื้นฐานความรู้ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องไปซื้อออโตเมชั่น ความรู้ที่ลงทุนไม่มาก แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า พวก Basic Knowledge เป็นเรื่องที่ควรจะยอมลงทุนมากกว่าเพราะมันจะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานและอยู่กับเราตลอดไป”

Published on 2 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

สถาบันอาหาร One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และอาหารไทยก็มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจอาหารก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค

สถาบันอาหาร นับเป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่สะพานเชื่อมระหว่าง SME กับภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน (Future Food Hub of ASEAN)




นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารเป็น One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

“ถ้าผู้ประกอบการมีไอเดียว่าอยากจะทำอะไร เราสามารถให้บริการได้ครบถ้วน” ผอ.อนงค์ กล่าวว่า สถาบันอาหารให้บริการใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1) การตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางอย. กำหนดหรือไม่ รวมถึงมาตรฐานของต่างประเทศ เป็นการตรวจทดสอบทางด้านเคมี
จุลชีววิทยา และอายุของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการ และการสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

2) การบริการทางวิศวกรรม นักวิชาการจะเข้าไปตรวจเครื่องมือในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคำนวณหาจุดเหมาะสมในการผลิต ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายของอย. เช่น การตรวจกระบวนการที่ใช้ความร้อน (Thermal Process) และกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อน  (Aseptic Process)  ว่าการผลิตอาหารลักษณะนี้ต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่และนานเท่าใด พอคำนวณแล้วก็เอาใบรับรองให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม

3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นบริการที่สถาบันอาหารให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียว่าอยากผลิตอาหารต่างๆ ผู้ประกอบการบอกโจทย์ แล้วทางสถาบันจะทำสูตรให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ 

4) การให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบคุณภาพ เช่น GMP (Good Manufacturing Practice), HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) รวมถึงให้การตรวจรับรองว่าระบบต่างๆ ได้มาตรฐาน 

5) การรับจ้างการผลิตและให้เช่าเครื่องมือและสถานที่ “หลังจากทำสูตรของผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีสูตรแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงกับเครื่องมือเครื่องจักร ยังไม่แน่ใจว่าตลาดเป็นอย่างไร เราก็บริการทางด้านเครื่องมือเครื่องจักร เรามีโรงงานเล็กๆ รับจ้างผลิต (OEM) และรับออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเรายังมีสถานที่ มีห้องสำหรับสอนการทำอาหาร มีคลาสสาธิต เราให้เช่าพื้นที่ด้วย” ผอ.อนงค์ กล่าว

6) บริการฝึกอบรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ หลักสูตรมาตรฐาน GMP, HACCP, ISO 22000 รวมถึงการจัดอบรมพนักงานในองค์กร (In-House Training) 

7) บริการข้อมูลและวิจัยตลาด โดย
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สมาชิกจะได้รับข้อมูลต่างๆ อาทิ เทรนด์อาหาร กฏหมายกฏระเบียบของประเทศต่างๆ รวมถึงการทำวิจัยตลาด และให้บริการคำปรึกษาทางธุรกิจแก่องค์กร

จากบริการทั้งหมดข้างต้น ทำให้เห็นว่าสถาบันอาหารให้บริการที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ในโลกของการทำธุรกิจจริง SME ต้องเผชิญปัญหาในหลายมิติ ผอ.อนงค์ กล่าวถึงจุดอ่อนของ SME ไทยว่า SME ขาดเงินทุน มีเงินน้อยและสายป่านสั้น ขาดเครือข่ายในการทำธุรกิจ รวมถึงขาดองค์ความรู้ เช่น ความรู้ในการทำธุรกิจ การบริหารต้นทุน ความรู้เรื่องเทคโนโลยี การลดต้นทุน-การเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น  

สำหรับจุดแข็งของ SME ผอ.อนงค์ มองว่า อยู่ที่ความเล็ก และความปราดเปรียวในการเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ “เทรนด์ คือ คุณไม่ต้องผลิตเยอะ แต่ผลิตอะไรที่ตรงกับความต้องการลูกค้าที่เป็น Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มที่ชอบออกกำลังกาย กลุ่มที่ต้องการความสวยงาม เพราะฉะนั้น SME จึงต้องมี Agility (ความคล่องแคล่วว่องไว) ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมาก และเดี๋ยวนี้แข่งกันที่ความเร็ว (Speed)” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

แม้ SME จะปราดเปรียวในการทำธุรกิจอาหาร แต่ก็ต้องเจอความท้าทายที่อยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย

1) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ออโตเมชั่น และ BCG ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสังคมสีเขียว (Green Society) โดย SME ที่ทำธุรกิจอาหารต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ทัน
2) ช่องทางการตลาด เช่น การเติบโตของร้านสะดวกซื้อและช่องทางออนไลน์ 
3) ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม โดยโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกินอาหารอยู่ที่บ้านมากขึ้น และสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

ท่ามกลางบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ผอ.อนงค์ กล่าวว่า SME ต้องพัฒนาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นหลัก เรื่องแรก SME ต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ออโตเมชั่น โรโบติกส์ และผลิตสินค้าที่ตอบสนองเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เจาะตลาดแมส และเรื่องที่สอง
การพัฒนาทักษะและสร้างทักษะใหม่ของ
SME (Reskill, Upskill) เช่น การนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตสินค้า เป็นต้น  

สำหรับเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารโลก ผอ.อนงค์ กล่าวถึง 3 เทรนด์ ได้แก่  

1) เทรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Health Safe Trend) ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการอาหารที่อร่อยอย่างเดียว แต่อาหารต้องมีคุณภาพและช่วยเสริมสร้างสุขภาพ อาทิ อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน การปรับระดับฮอร์โมน เป็นต้น นอกจากนั้นผู้บริโภคก็ต้องการความสะดวกสบาย เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมทาน แต่ต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค

2) เทรนด์การบริโภคเพื่อความยั่งยืน (Environmental Safe Trend) การผลิตอาหารที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นการผลิตที่ยั่งยืนสอดรับกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกระบวนการผลิตได้ลดการใช้ทรัพยากร มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปจะพิจารณาในหลายประเด็น อาทิ ผลิตภัณฑ์มีฉลากเขียว (Green Label) หรือไม่ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือใช้แรงงานเด็กหรือไม่ แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

3) เทรนด์การบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ (Animal Safe Trend) ทำให้ธุรกิจอาหารวีแกนและอาหารจากพืช (Plant-based Food) เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสังเคราะห์/เนื้อเทียม หรือ โปรตีนทดแทน 


ผอ.อนงค์ กล่าวเสริมถึงบทบาทของสถาบันอาหารว่า “เราเป็นผู้ปฏิบัติการ (Implementer) เราไม่ใช่แค่วางกลยุทธ์ วางนโยบาย แต่เราเป็นคนทำ เราเหมือนเป็นสะพานระหว่าง SME ผู้ประกอบการ กับภาครัฐที่วางนโยบายแล้ว 

สถาบันอาหารจะดำเนินงานตามแนวทางแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)  สิ่งที่ต้องดำเนินการมีเป้าหมายว่า เราจะต้องเป็น Future Food Hub ของอาเซียน เราจะเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน   

ผอ.อนงค์ เสริมว่า อาหารอนาคตประกอบด้วย 4 เรื่อง

1) อาหารออร์แกนิค
2) Functional Food อาหารเพื่อฟังก์ชั่นของร่างกาย เช่น อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน อาหารเพื่อความงาม เป็นต้น
3) Medical Food อาหารทางการแพทย์ และ
4) Novel Food อาหารใหม่ ที่มีการใช้กระบวนการหรือวัตถุดิบใหม่

การนำพาประเทศไปสู่ศูนย์อาหารอนาคตของอาเซียน สถาบันอาหารมีแผนงานหลายด้าน อาทิ มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) และมาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling Factors)

ในภูมิทัศน์โลกใหม่ที่ผันผวน ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง ภารกิจข้างต้นนับเป็นงานที่ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจ หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการสร้างความสามารถเชิงแข่งขันที่สำคัญให้กับประเทศ

Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ

เปิดคัมภีร์บริหารใบชาตราสามม้า เร่งต่อยอดธุรกิจในช่องทางออนไลน์

ประวัติศาสตร์การดื่มชาจีนในไทยมีมาเนิ่นนาน และชาจีนที่คนนิยมดื่มตั้งแต่โบราณ ก็คือชาอูหลง หนึ่งในแบรนด์ชาจีนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมากว่า 80 ปี คือ ใบชาตราสามม้า โดยมีชาอูหลงเบอร์ 1 และเบอร์ 3 เป็นสินค้ายอดนิยมทั่วประเทศ และยังมีชาอีกหลากหลายชนิดวางจำหน่าย 

บางคนอาจไม่เคยซื้อดื่มด้วยตัวเอง แต่เวลาไปนั่งกินอาหารในเครือร้านอาหารขนาดใหญ่ หรือใช้บริการในโรงแรมมีชื่อเสียง ก็ได้ดื่มชาตราสามม้าโดยที่ไม่รู้ตัว

ในยุคเริ่มแรกของธุรกิจ จากรุ่นปู่ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน มารับจ้างทำงานในย่านเยาวราช ทำงานอยู่หลายอย่างก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจใบชาในปี 2480 ในนามห้างใบชาอุ้ยปอกี่ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นบริษัท ใบชาสามม้า จำกัด) โดยสมัยก่อนเป็นการนำเข้าใบชาเกือบทั้งหมด ไม่จากจีนก็ไต้หวัน

จนมาถึงยุคสองรุ่นพ่อ โมเดิร์นเทรดเริ่มเข้ามาในเมืองไทย ใบชาสามม้าก็เริ่มส่งขายเข้า 7-11

กาลเวลาผันผ่านจนถึงยุคทายาทรุ่นที่ 3 คุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์ ซึ่งเข้ามาช่วยทำงานในธุรกิจใบชาตราสามม้าตั้งแต่ปี 2535 หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย, ในยุคนี้ หลายสิ่งของธุรกิจปรับเปลี่ยนไป เช่น การมองเห็นโอกาสการค้าขายในโลกออนไลน์ แต่ปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัทที่เน้นเรื่องการดูแลผู้บริโภค ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากรุ่นบรรพบุรุษ 

ในยุคที่สามของคุณอิศเรศและพี่ชาย มีการพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย และพยายามรักษาคุณภาพของสินค้า คุณอิศเรศ ยอมรับว่า ใบชาตราสามม้าอาจตามเทรนด์บางอย่างไม่ทัน แต่ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง อย่างช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบถึงขนาดธุรกิจจะไปไม่รอด ธุรกิจใบชาจึงเป็นธุรกิจที่ทรงๆ

ในช่วงปี 2549 บริษัทได้ลองทำชาซองซาเช่ เพื่อตอบสนองเทรนด์การดูแลสุขภาพ ชาของใบชาสามม้าไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ไม่แต่งรส เน้นเจาะกลุ่มคนทำงาน โดยมองเห็นปัญหา (pain point) ของการดื่มชาจีนว่า ชงไม่สะดวก ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก แต่การสื่อสารการตลาดและอีเว้นท์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

ภายหลังจากที่หันกลับมามองจุดแข็งของบริษัท คุณอิศเรศ พบว่า สิ่งที่ต้องพยายามรักษาไว้ก็คือ คุณภาพของสินค้า หากเปรียบเทียบในย่านราคาเดียวกัน สินค้าของใบชาสามม้า ต้องมีกลิ่น สี และรสชาติดีที่สุด โดยทีมงานได้ไปซื้อสินค้าของคู่แข่งในทุกย่านราคา นำมาชิมเทียบเพื่อดูจุดเด่นและจุดด้อย และหาวิธีสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 

ชาอูหลงเบอร์ 1 และเบอร์ 3 ของใบชาสามม้า เป็นสินค้าที่ติดตลาดทั่วประเทศตั้งแต่ยุคแรก โดยชาอูหลงเบอร์ 1 จะผสมสัดส่วนของชาอูหลงจากเมืองนอก เป็นชาที่มีคุณภาพสูงขึ้น สีน้ำชาไม่เข้มเท่าเบอร์ 3 แต่กลิ่นหอมของใบชาจะมากกว่า ส่วนชาอูหลงเบอร์ 3 จะเป็นชาที่ผลิตในประเทศ จัดเป็นชาที่นิยมตามร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว, ร้านอาหาร เพราะมีความเข้มข้นของน้ำเยอะ สีน้ำจะเข้มจากการย่างไฟโดยธรรมชาติ จึงเหมาะทำเป็นกาใหญ่ ชงในปริมาณมาก

ในยุคสมัยปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์ก็เปิดโอกาสให้ใบชาสามม้าสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยบริษัททำเพจในเฟสบุ๊ค, ไลน์แอด และซื้อ Adwords ใน Google และด้วยฐานข้อมูลของช่องทางออนไลน์เหล่านี้ บริษัทก็เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพในงบประมาณที่ต่ำลง การเข้าถึง (Reach) ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่เฉพาะเจาะจงระดับหนึ่ง เจาะจงไปเลยได้ว่า ขอให้เป็นคนที่ชอบเครื่องชงดื่มก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นชาหรือกาแฟ นี่คือได้กลุ่มกว้างนิดหนึ่ง หรือเราจะลงลึกไปว่าชา หรือชาอูหลง คุณอิศเรศ กล่าวถึงการเลือกกลุ่มเป้าหมาย

ตลาดของใบชาสามม้า แบ่งได้เป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดโซนใกล้อย่างเช่น ชลบุรี คิดเป็นสัดส่วน 50% และที่เหลือทั่วประเทศอีก 50% และหากแบ่งยอดขายของบริษัทตามช่องทางขาย จะพบว่า โมเดิร์นเทรดคิดเป็นเกือบ 55% ที่เหลือเป็นโชห่วยทั่วประเทศรวมกัน โดยยอดขายที่มาจากออนไลน์คิดเป็นเพียง 2% ของยอดขายรวม แต่เติบโตก้าวกระโดดทุกปี 

ใบชาสามม้าเริ่มต้นขายสินค้าเกรดพรีเมียม ราคาแพงที่เพจในเฟสบุ๊ค แตกต่างจากสินค้าของบริษัทที่ขายตามโมเดิร์นเทรด ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นเกรดพรีเมียม ช่องทางของบริษัทประกอบด้วยเพจในเฟสบุ๊ค, ไลน์แอด, Shopee และกำลังจะขึ้นใน Lazada โดยช่องทางดิจิตัลจัดเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีศักยภาพการเติบโต และเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญ

แต่การขายใบชาทางออนไลน์มีความท้าทาย ต้องอธิบายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เพราะชาไม่ได้มีความเป็นแมสเหมือนกาแฟ กินกาแฟบอกได้ว่า ต้องการกาแฟกี่ช้อน นม น้ำตาล ครีมเทียมเท่าไหร่ ทว่าการแนะนำสำหรับลูกค้าที่ยังไม่มีความรู้เรื่องชาจีน ต้องอาศัยบทสนทนากว่าจะปิดการขายได้ คุณอิศเรศ บอกกับแอดมินว่า อย่าไปฮาร์ดเซลล์ และอย่าทำให้จุดเด่นและความน่ารักของทีมงานหายไป 

จุดเด่นอีกอย่างของใบชาสามม้าอยู่ที่การจัดส่ง โดยบริษัทมีหน่วยรถตู้ 4 คัน วิ่งทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และมีมอเตอร์ไซค์อีก 4 คัน การจัดส่งสินค้าในกรุงเทพจึงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว, ส่วนการจัดส่งในต่างจังหวัด บริษัทไม่เคยรอรอบ มีออเดอร์เข้ามาก็ส่งผ่านเคอรี่หรือ EMS ทันที

สำหรับปัจจัยความสำเร็จของใบชาสามม้า คุณอิศเรศ กล่าวว่า อยู่ที่ความซื่อสัตย์และจริงใจ เวลาแอดมินเพจคุยกับลูกค้า จะไม่ทำการฮาร์ดเซลล์ หรือพยายามปิดการขายอย่างรวดเร็ว แต่จะถามและให้ความรู้กับลูกค้า โดยคุณอิศเรศถือคติว่า จริงใจกับลูกค้าไว้ก่อน หากลูกค้าเชื่อใจก็จะเป็นความสัมพันธ์ในระยะยาว 

คุณอาจจะไม่ได้ขายเขาวันนี้ แต่ว่าเวลาเขามีปัญหา ถ้าเขาคิดถึงคุณก่อน คุณก็ได้เปรียบแล้ว

แม้โลกสมัยใหม่จะเคลื่อนไปสู่วิถีทางดิจิตอล และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในทุกมิติ แต่แก่นในการดำเนินธุรกิจของใบชาตราสามม้ายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นปู่ นั่นคือ การยึดมั่นคุณธรรมในการค้าขาย รักษาคุณภาพสินค้า และจริงใจซื่อสัตย์ต่อลูกค้า


Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ประกันการส่งออก EXIM Bank ลดความเสี่ยง SMEs ไทยในตลาดโลก

 

ธุรกิจ SMEs ในไทยถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แรงงานกว่า 80% ของทั้งประเทศถูกจ้างงานโดยธุรกิจ SMEs ซึ่งจากข้อมูลของสสว.หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระบุไว้ว่าในปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศราว 3.05 ล้านรายเป็น SMEs ถึง 3.04 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.8% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการ SMEs เพียงแค่ 1% หรือ 2.5 หมื่นรายของจำนวน SMEs ทั้งประเทศเท่านั้นที่สามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้ส่งออก ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วต้องถือเป็นสัดส่วนที่เรียกว่าน้อยมากเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างไต้หวันมีจำนวน SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกสูงถึง 37% เยอรมัน 28% ฝรั่งเศส 27% ญี่ปุ่น 25% และสหราชอาณาจักร 21% 

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank จึงมีบทบาทในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกซึ่งเป็นกลไกที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย รวมถึงมุ่งยกระดับภาคส่งออกที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้พร้อมยืนหยัดบนเวทีการค้าการลงทุนโลก

“EXIM Bank ตั้งขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ SMEs เติบโต ซึ่งในมุมมองของเราการเติบโตไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ควรเติบโตออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วยเพื่อสร้างโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น แต่โอกาสที่เพิ่มมากขึ้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน การจะให้ SMEs ไปเติบโตในต่างประเทศซึ่งมีคู่แข่งที่มากกว่าและแข็งแกร่ง SMEs ไทยควรมีการพัฒนา และเราจำเป็นต้องมีพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อองค์ความรู้จากหลายๆองค์กร เช่น สสว. ธกส. เอสเอ็มอีแบงก์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาและต่อยอดให้ผู้ประกอบการ SMEs เราจึงมองว่าเราเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา”  คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวิฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank กล่าวถึงบทบาทของ EXIM Bank ในการสนับสนุน SMEs ไทย

 

ประกันการส่งออก เพิ่มความมั่นใจค้าขายต่างประเทศ

แม้บทบาทของ EXIM Bank คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้พร้อมก้าวขึ้นไปเติบโตและแข่งขันบนเวทีการค้าการลงทุนโลกได้ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs พึงระวังก็คือเรื่องของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาคู่ค้าเบี้ยวชำระเงินหลังจากสั่งซื้อสินค้า ซึ่งหากเป็นการซื้อขายภายในประเทศยังสามารถติดตามได้ แต่ถ้าเป็นการค้าระหว่างประเทศ ด้วยระยะทางคงทำได้ลำบากโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 

ดังนั้น คุณพิศิษฐ์ จึงมองว่าสำหรับ SMEs ไทยความเสี่ยงของการค้าระหว่างประเทศประกอบด้วยปัจจัยหลัก 2 ส่วนคือ ความเสี่ยงในด้านอัตราการแลกเปลี่ยน และ ความเสี่ยงจากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่าสินค้า 

“ในแง่ของความเสี่ยงถ้า SMEs ต้องการที่จะขยายตลาดไปสู่ตลาดโลกก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงหลายข้อที่ต้องระวังไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ผู้ขายจะขายของแข่งกับคนอื่นได้ไหม ผู้ซื้อจะเลือกซื้อสินค้าของเราหรือเปล่า เลือกแล้วการชำระเงินเป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องชำระเงินก่อนไหม โดยรวมแล้วความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายข้อ หนึ่งคือกระบวนการส่งของ สองความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศตรงกันกับเราไหม สามคือความเสี่ยงในการส่งสินค้าออกไปแล้วได้เงินจริงหรือเปล่า”

 

EXIM Bank จึงมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยง 2 แนวทางเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs คือ 

 

แนวทางบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ผู้ส่งออกสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยตนเองหรือใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ในตลาด ส่วนของการป้องกันความเสี่ยงด้วยตัวเองอาจต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพอสมควรในการบริหารรายรับและรายจ่ายในสกุลเงินตราต่างประเทศผ่านการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposited : FCD การ Matching รายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ การใช้เงินตราต่างประเทศหลากหลายสกุลในการซื้อขายนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น 

นอกจากนี้ SMEs สามารถใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงผ่านบริการของสถาบันการเงินรวมถึง EXIM Bank เช่น การซื้อ Forward Contract หรือสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถล็อคอัตราแลกเปลี่ยนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งซื้อโดยไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตเมื่อได้รับชำระค่าสินค้าเงินบาทแข็งค่าไปเท่าไหร่ หรือสามารถเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกรูปแบบหนึ่งคือ FX Option ซึ่งเป็นสิทธิ์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญา โดยหากอัตราแลกเปลี่ยนตลาด ณ วันส่งมอบในอนาคตอ่อนค่าลงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์นั้นและสามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ ราคาตลาดได้ 

สำหรับ ระยะยาว ผู้ส่งออกอาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินอย่างยั่งยืนได้ในหลายมิติ ทั้งการกระจายตลาดส่งออกเพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป การพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ส่งออกมากขึ้น 

 

แนวทางบริหารความเสี่ยงจากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่าสินค้า

EXIM Bank มีบริการประกันการส่งออก ซึ่งถือเป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีบริการนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ส่งออกที่ต้องการการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ 

บริการประกันการส่งออกของ EXIM Bank ถือเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกค้าขายได้ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับเงินแน่นอน โดยครอบคลุมความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากสาเหตุด้านการค้าและด้านการเมือง 

สำหรับในโลกการค้ายุคใหม่ ประกันการส่งออกมีความสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมของผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงไปนิยมค้าขายแบบ Credit term ซึ่งมีความเสี่ยงเนื่องจากผู้ส่งออกต้องส่งออกสินค้าไปก่อนแล้วรอจนครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ผู้ซื้อจึงจะชำระเงิน ยิ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจไหนที่ปรับตัวไม่ทันก็ยากที่จะอยู่ต่อ นอกจากนี้เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนชะลอการใช้จ่ายความเสี่ยงจากการที่ส่งออกแล้วไม่ได้เงินหรือได้รับเงินช้าก็ยิ่งสูงขึ้น บริการประกันการส่งออกของ EXIM Bank จึงเป็นหนึ่งทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงของ SMEs ไทยที่ต้องการไปค้าขายในตลาดโลก

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประกันการส่งออกของ EXIM Bank มีการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ส่งออกมากขึ้น

โดยล่าสุดธนาคารได้ออกประกันส่งออก EXIM for Small Biz เป็นบริการประกันสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี หรือจ้างงานไม่เกิน 50 คน ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นส่งออก และไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก ให้มีความมั่นใจที่จะส่งออกโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการค้าหรือการเมือง เบี้ยประกันเริ่มต้น 600 บาท อัตราความคุ้มครอง 80% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาท ครอบคลุม 133 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนั้นในด้านการช่วยผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงในการส่งออก ก็ยังมี บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ เป็นบริการที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางการค้ารวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินและให้เครดิตทางการค้าแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการค้าของผู้ส่งออกเนื่องจากสามารถนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาทำการค้ากับผู้ซื้อธนาคารผู้ซื้อและกำหนดวงเงินที่ควรค้าขายได้ด้วยตนเอง

 

ปรับตัวไวเข้าใจตลาด ทางรอด SMEs ไทยยุค Covid-19

ช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบค่อนข้างมากต่อหลายธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้มีสายป่านยาวมากนัก EXIM Bank ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาลูกค้า SMEs ให้เป็นผู้ส่งออก จึงมีมาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าของ EXIM Bank มีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่มีนาคม 2563 กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ EXIM Bank หากเป็น SMEs ที่มีการส่งออก จะมีวงเงินให้ตามเอกสารที่มีการส่งออก และมีโปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน

หลังจากนี้ คุณพิศิษฐ์ มองว่า SMEs ที่จะสามารถอยู่รอดได้ต้องเป็น SMEs ที่มีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

“ธุรกิจไหนมีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถมีความเข้าใจในรูปแบบความต้องการของผู้บริโภค เข้าใจในกระบวนการการทำงานของตัวเองว่ากระบวนการทำงานแบบไหนมีประสิทธิภาพที่สุดจะสามารถอยู่รอดได้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องคำนึงถึงคือต้องมีความเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการของเราตรงใจลูกค้าหรือไม่ เป็นสิ่งที่ลูกค้าพร้อมจะจ่ายในราคาที่เหมาะสมหรือเปล่า ผมไม่ได้มองเรื่องของราคาถูกเป็นหลัก SMEs จะอยู่ได้ ต้องอย่ามองแค่ราคาถูก ถ้ามองราคาถูกเมื่อไหร่จะอยู่ได้แค่ช่วงระยะสั้น ต้องพยายามทำสินค้าให้มีความ Unique หรือมี Value Added ทำสินค้าหรือบริการที่ธุรกิจใหญ่ๆไม่มี” คุณพิศิษฐ์ กล่าวปิดท้าย


Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ตั้งเซ่งจั้ว ส่วนผสมที่ลงตัวของ Classic และ Modern

 

ตั้งเซ่งจั้วเป็นแบรนด์ร้านขนมเก่าแก่ในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 หรือ 88 ปีที่แล้ว โดยอากงฮก แซ่ตั้ง ชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองไทย และได้เอาความรู้ด้านการทำขนมจากประเทศจีนติดตัวมาเริ่มต้นธุรกิจร้านขนมเล็ก ๆ ที่เน้นทำขนมเปี๊ยะจำหน่าย

แม้จะอยู่ไกลจากตัวอำเภอเมือง อยู่ห่างจากถนนสายหลักถึง 6 กิโลเมตร แต่ด้วยรสชาติที่ถูกปากชาวจีน ทำให้ขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้วขายดีขนาดที่ว่าลูกค้าประจำต้องยอมลงทุนขับรถเข้ามาเพื่อซื้อขนมกลับไป

ปัจจุบันตั้งเซ่งจั้วเริ่มมีทายาทรุ่นที่ 3 หรือรุ่นหลานเข้ามาบริหารงานแล้ว แน่นอนว่าความคิดของคนรุ่นใหม่ย่อมมีความแตกต่างกับคนรุ่นก่อนตามยุคสมัยและสภาพสังคม ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่จะบริหารความทันสมัย (Modern)  ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความดั้งเดิมของแบรนด์ (Heritage) ได้อย่างไร

วันนี้คุณปิยะพร ตันคงคารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮก แอนด์ ซันส์ จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 รับหน้าที่มาเฉลยคำตอบ

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ มองเห็นโอกาสนี้ได้อย่างไร

ไปที่ ปัญหาที่พบระหว่างทางในการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success Factor ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME 

 

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ


 

SME One : ร้านตั้งเซ่งจั้วเริ่มต้นกิจการมาอย่างไร 

คุณปิยะพร : ตั้งเซ่งจั้วเป็นร้านขายขนมเปี๊ยะ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางคล้า ฉะเชิงเทรา เราเริ่มต้นธุรกิจจากอากงของผม อากงฮกเป็นคนจีนซัวเถา กวางตุ้งที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยตอนสมัยวัยรุ่น อากงเคยทำงานร้านขนมเปี๊ยะที่เมืองจีนมาก่อน พอมาเมืองไทยก็เลือกอาชีพตามความถนัด แล้วยุคที่อากงมาเมืองไทยมีชุมชนจีนอยู่เยอะพอสมควร อากงเลือกมาตั้งหลักที่อำเภอบางคล้า เดินทางมาจากกรุงเทพฯ นั่งรถไฟมาลงที่สถานีแปดริ้วแล้วก็ต่อเรือมา 

สมัยนั้นตลาดที่ใหญ่รองจากแปดริ้ว คือบางคล้า ตอนนั้นแปดริ้วมันแน่นไปแล้ว พอมาบางคล้าก็หุ้นกับเพื่อนทำร้านขนมเปี๊ยะ เพราะเพื่อนพอจะมีเงินทุนแต่ว่าอากงเนี่ยทำขนมเปี๊ยะได้ ทำไปสักพักต่างคนต่างสร้างครอบครัวใหม่ ทั้ง 2 คนก็ใช้วิธีว่าแบ่งเงินทั้งหมดเป็นเงินก้อน แล้วถ้าใครไม่ได้เงินก็ได้กิจการไป แต่ 2 คนไม่มีใครกล้าเลือก เลยใช้วิธีจับฉลากว่าใครจะได้อะไร พอดีอากงผมจับได้เงินก้อนก็เลยกลับบ้านไปแต่งงานแล้วพาอาม่ามาจากเมืองจีน พออาม่ามาก็เริ่มทำร้านตั้งเซ่งจั้วของตัวเอง

ตั้งเซ่งจั้วยุคแรกเริ่มจะมีลูกค้าอยู่ในละแวกใกล้ ๆ เพราะว่าการนั่งเรือจากบางคล้าไปแปดริ้วระยะทางประมาณ 20 กว่ากิโลเมตรทางรถยนต์ สมัยก่อนถ้าเดินเรือใช้เวลา 3 ชั่วโมง ดังนั้นลูกค้าของร้านจะเป็นคนอยู่ในละแวกพนมสารคาม บ้านสร้าง คลองท่าลาด ฯลฯ 

จนมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2519 เป็นยุคของรุ่นคุณพ่อกับคุณอาที่ช่วยกันทำท่านมีความคิดว่า ช่วงนั้นเป็นยุคสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันมาตัดถนนจากกรุงเทพไปอรัญประเทศ ถนนเส้นนี้ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นเลยซื้อรถกระบะแล้วเอาขนมเปี๊ยะไปส่งขายได้ไกลขึ้นถึงอรัญประเทศ เราก็ขายดีเพราะช่วงนั้นเนี่ยมีคนเขมรอพยพมา การค้าขายทางนี้คึกคักมาก จนเราเริ่มมีคู่แข่งที่เอาขนมไปขายแล้วใช้ชื่อว่า ขนมเปี๊ยะบางคล้า ซึ่งคนซื้อก็แยกไม่ออก

 

 

SME One : เจอปัญหานี้ ทางร้านแก้ปัญหาด้วยวิธีการอย่างไร 

คุณปิยะพร : เป็นความโชคดีที่ตั้งเซ่งจั้วได้รับรางวัลเชลล์ชวนชิมในปี พ.ศ. 2524 สมัยก่อนการที่จะได้เชลล์ชวนชิมนี่ยากมาก ใครที่ได้รางวัลเชลล์ชวนชิมการันตีจะขายดีมาก ทำให้เราขายดีขึ้น ขายดีขนาดที่ว่าช่วงนั้นมีงานแฟร์ที่สวนอัมพร เราเอาขนมเปี๊ยะไปขาย ขายหมดเกลี้ยงถึงขนาดมีลูกค้ามาพร้อมกัน 2 คนสุดท้าย แต่เหลือขนมอยู่แผ่นเดียว ลูกค้าใช้วิธีตัดแบ่งกันคนละครึ่ง คืออยากกิน ช่วงนั้นเราเริ่มมีที่ยืนในตลาดเพราะว่าได้เชลล์ชวนชิม แล้วขยับขยายมาเรื่อย ๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจ

เหตุผลดังกล่าวทำให้เรามีความคิดว่าจะมีร้านอยู่ริมถนนใหญ่อีก 1 สาขา บังเอิญช่วงนั้นผมเรียนสถาปัตย์ เรียนออกแบบภายใน พอที่บ้านเริ่มมีความคิดจะขยายสาขาก็ทำการบ้านหาข้อมูล ตอนนั้นมีทางเลือกว่าเราจะทำร้านแบบไหน ในยุคนั้นประมาณปี พ.ศ. 2543 ร้านขายของฝากที่อยู่ริมถนนมักจะสร้างเหมือนเป็นโกดังใหญ่ ๆ หลังคาใหญ่ ๆ แล้วก็มีของวางบนโต๊ะ แต่คุณอาผมรู้สึกว่าไม่อยากจะทำแบบนั้น เพราะว่าครอบครัวเราถึงแม้เราจะเงินน้อยแต่ว่าชอบท่องเที่ยว ครอบครัวเราให้ความสำคัญกับการไปเปิดหูเปิดตาก็มีความคิดว่าเวลาไปต่างประเทศการขับรถทางไกลจะมีจุดแวะพัก ซึ่งไม่ใช่แค่ซื้อของ เพราะจุดแวะพักในต่างประเทศมีบ้านเรือนที่ดูน่าพักผ่อน เลยคิดจะทำร้านแบบนั้น ก็เข้าทางผมเพราะเรียนออกแบบมา 

 

SME One : ด้วยความที่ชื่อร้านค่อนข้างจะเรียกยาก คนรุ่นจำชื่อได้ไหม 

คุณปิยะพร : ชื่อร้านเป็นอันดับแรกของการคิดเลย เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ เพราะตอนที่เรามีปัญหาใหม่ ๆ ว่าจะทำอย่างไรดีกับปัญหาคนจำชื่อร้านไม่ได้ บางทีเราไปส่งของตลาดนี้ ขายดี ๆ คนที่อยู่ในบางคล้าที่ทำเหมือนกับเราเอาของไปส่งอีกร้านก็รับ เพราะเราไม่ได้ใช้คำว่าตั้งเซ่งจั้ว เราบอกเราเอาขนมเปี๊ยะมาจากบางคล้า เพราะตั้งเซ่งจั้วเรียกยาก อ่านยาก พอคนจำไม่ได้ว่าเจ้าไหนคือเจ้าไหน จำได้แต่บางคล้าก็เริ่มงง ทำให้เราคิดว่าเราต้องสร้างแบรนด์ เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องออกแบบโลโก้มา ตอนนั้นคิดว่าจะเปลี่ยนตั้งเซ่งจั้วเป็น TSJ ดีไหม หลังจากที่สรุปความคิดกันเราก็คิดได้ว่า ชื่อตั้งเซ่งจั้วนี่สำคัญ ถึงแม้จะเป็นคำที่เรียกยาก เพื่อนผมเองยังเรียกไม่ถูกเลย แต่ว่าแบรนด์ที่เราทำมันก็มีความแตกต่างกับคู่แข่งมากจริง ๆ ส่วนเรื่องการรับรู้ คนก็เริ่มรับรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าขนมเปี๊ยะบางคล้าต้องเป็นเจ้านี้ เลยยังใช้คำว่าตั้งเซ่งจั้วเหมือนเดิม แต่ว่าเรามีโลโก้เสริม

โลโก้เรามาจากชื่อ ตั้งเซ่งจั้ว แปลว่าสายน้ำแห่งความสำเร็จ เราก็เอาคำนี้มาตีความเป็นโลโก้ที่เป็นตาน้ำที่เป็น Infinity ก็เริ่มโอเค ลูกค้าจะจำโลโก้ได้ หรือแม้แต่เรื่องการสื่อสารกับลูกค้า อย่างคำว่าขนมเปี๊ยะของเรา คือถ้าเขียนจริง ๆ ต้องเป็น “ขนมเปี๊ย” ไม่มีสระอะ เพราะอากงมาจากเมืองจีนก็เลยเชียนผิดมาตั้งแต่ต้น ลูกค้าหลายคนก็ไม่สบายใจ แต่เรามองว่าการเขียนผิดของอากงสื่อว่าร้านเราอยู่มานาน อยู่มาตั้งแต่รุ่นอากง แล้วอากงเขียนผิดมาตั้งแต่แรก ซึ่งมันคือการสื่อสารแบบของเรา มันเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ในแบบของเรา เหมือนกับเวลาเราไปชลบุรี ไปหนองมนก็มีข้าวหลามหนองมนเต็มไปหมด อันนี้คือสถานการณ์เดียวกันกับหนองมน แต่เป็นขนมเปี๊ยะบางคล้า 


 

มองเห็นโอกาสนี้ได้อย่างไร



 

SME One : คุณปิยะพรเป็นรุ่นที่ 3 วันที่เข้ามาบริหารงานมองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ บ้าง 

คุณปิยะพร : ตอนนี้คุณอายังเป็นคนที่ดูแลหลักอยู่ แต่มีรุ่น 3 ที่มาช่วยทำ ตอนที่ผมมาทำก็เห็นการเปลี่ยนแปลงว่า ธุรกิจเราเมื่อก่อนเราทำแบบหนึ่ง ถึงแม้มันจะดีแต่ก็มีข้อจำกัด พอเราเริ่มเปลี่ยนมุมมองแล้วก็หาคุณค่าใหม่ ๆ ขึ้นมามันให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างในทางที่ดีขึ้น สังคมปัจจุบันมันมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก บางทีเราเคยชินกับแบบนึง แต่สิ่งที่เราเคยชินบางทีก็ใช้ไม่ได้แล้ว อย่างการขายออนไลน์มันเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเรา 

เมื่อก่อนเราคิดว่า เราเปิดร้าน เราต้องไปลงทุนสร้างร้าน แต่ตอนนี้บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ ขายออนไลน์เอา ไม่ต้องลงทุนเยอะก็ได้ ทุกวันนี้เราขายผ่านออนไลน์น่าจะประมาณ 5 - 6 เปอร์เซ็นต์

 

SME One :  ด้วยความที่แบรนด์ตั้งเซ่งจั้วค่อนข้างจะมีอายุ เรามีวิธีการเจาะคนรุ่นใหม่อย่างไร

คุณปิยะพร : เรื่องนี้ก็สำคัญ เหมือนตอนผมมาทำงานใหม่ ๆ จะมีเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้พระจันทร์นี่คือเทศกาลใหญ่ที่สุดในสมัยอากงผมจนถึงรุ่นพ่อผมตอนทำใหม่ ๆ เพราะเป็นเทศกาลที่คนซื้อขนมเพื่อไปไหว้พระจันทร์ คือแค่ประชากรในบางคล้าวันนั้นทำอย่างไรก็ไม่ทันขาย แต่พอมาถึงยุคผมนี่ โอ้โห...นับได้เลยว่าบ้านที่ไหว้พระจันทร์มันน้อยมาก ผมว่าเหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดว่าเรายังอิงตลาดเดิมว่า ขายเพื่อคนซื้อไปไหว้พระจันทร์ ป่านนี้เราคงลำบาก

เป็นเรื่องดีของเราที่ว่าเรามีการปรับตัวอยู่ตลอด การปรับตัวบางทีมันไม่ได้เริ่มจากเราด้วยซ้ำ เช่น ตอนที่เราได้เชลล์ชวนชิม ก็เพราะมีท่านชลอ วนะภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่อยู่บางคล้าท่านชอบทานขนมเปี๊ยะ ท่านก็เลยเอาขนมเปี๊ยะไปให้คุณชายถนัดศรีได้ชิม

 

SME One :  ทุกวันนี้เราขายขนมแบบ Original กับขนมไส้ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อย่างไร

คุณปิยะพร : ถ้าพูดถึงขนมเปี๊ยะในสมัยอากงผมจะมีไส้ถั่วปนฟัก ไส้ถั่วดำ แต่ว่าพอยุคของพ่อผมเราอยู่บางคล้า ตอนนั้นเริ่มมีไส้มะพร้าว ไส้มะม่วงแล้ว อย่างไส้ช็อกโกแลตนี่เริ่มจากมีลูกค้าที่เป็นเด็ก เขาเห็นไส้ถั่วดำก็นึกว่าเป็นไส้ช็อกโกแลต แต่พอเขากัดเข้าไปก็ โอ้โห... หน้าเบ้เลย เพราะคิดว่าเป็นช็อกโกแลต เราก็คิดว่าจริง ๆ ทำช็อกโกแลตได้ ก็เลยทำให้มีไส้ใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะว่าเราคอยสังเกตดูว่าลูกค้าว่ามีความเห็นอย่างไร เป็นเรื่องแปลกที่ว่าขนมเปี๊ยะชนิดแรกที่ร้านได้สูตรมาจากเมืองจีนไส้ถั่วปนฟักซึ่งเป็นสินค้าที่เก่าแก่ที่สุด แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นของที่ขายดีที่สุด

เหมือนสมมติว่าถ้าเราบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยกินไส้ถั่วปนฟัก ก็ใช่ถ้าเกิดว่าเขาเพิ่งเริ่มกินขนมเปี๊ยะ เพิ่งเริ่มรู้จัก เขาไม่กินหรอกไส้ถั่วปนฟัก เขาจะกินไส้ครีมคัสตาร์ด ไส้มะพร้าว ไส้อะไรใหม่ ๆ แต่พอทำความรู้จักไปเรื่อย ๆ แล้ว เขาจะชอบไส้ถั่วปนฟัก เรามีเรื่องที่เราคุยกันเองว่า ถ้าคนกินขนมเปี๊ยะเป็นจะกินถั่วปนฟัก เหมือนคนที่กินกาแฟไม่เป็น ครั้งแรกเรากินแล้วมันขมต้องใส่น้ำตาล แต่พอกินไปสุดท้ายเราก็ชอบรสชาติกาแฟเพียว ๆ ผมว่าไส้ถั่วปนฟักนี่มันอยู่มานานเป็นหลายร้อยปี กลายเป็นว่าไส้ถั่วปนฟักขายดีที่สุด ยอดขายเฉพาะ Original เนี่ยก็เกิน 60 เปอร์เซ็นต์

 

SME One :  นอกจากที่บางคล้าแล้ว เรามีร้านสาขาอื่น ๆ กระจายไปตามภูมิภาคหรือไม่

คุณปิยะพร : เรามีหลัก ๆ อยู่ที่ฉะเชิงเทราประมาณ 7-8 สาขา ถ้าในกรุงเทพมีร้าน Golden Place ที่วางจำหน่ายอยู่ เหตุผลที่ทำไมเราถึงไม่ได้อยากไปข้างนอกเยอะ ๆ เพราะว่าก็ที่บ้านค่อนข้างจะอนุรักษนิยมนิดหน่อย เราคิดว่าขนมเปี๊ยะนี่ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนแล้วจะขายได้นะ เพราะว่าเวลาที่คนมาซื้อขนมเปี๊ยะ 1 ชิ้น เขาไม่ได้แค่ต้องการกินขนมเปี๊ยะนะ จริง ๆ มันเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เขาอยากรู้จักว่าสินค้าของท้องถิ่นของที่นี่มันเป็นอย่างไร

แล้วพอร้านมีเรื่องราวที่อยู่ข้างในขนมก็ทำให้มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่รสชาติขนม แต่เป็นเรื่องที่อยู่ข้างใน หรือพอเราอยู่มานาน เรามีลูกค้าตั้งแต่รุ่นอากง อากงเคยพาลูกมาซื้อขนมเปี๊ยะ วันนึงลูกมีลูกก็พาหลานมาซื้อขนมเปี๊ยะ อย่างรุ่นหลานมาถึงบอกผมว่า เคยมากับอากงวันนี้อากงไม่อยู่แล้ว ได้กินขนมรสชาติที่อากงเคยกินแล้วคิดถึงอากง


 

ปัญหาที่พบระหว่างทางในการทำธุรกิจ


SME One :  เราเคยเจออุปสรรคอะไรที่รุนแรงบ้างไหม แล้วเราแก้ปัญหาอย่างไร

คุณปิยะพร : ยุคแรกของอากงปัญหา คือไม่มีเงิน พูดไทยก็ไม่ได้ ทำให้ต้นทุนเราเยอะกว่าคนอื่น พอมารุ่นที่ 2 อาม่ามีลูก 4 คน คนที่ 5 อยู่ในท้องก็เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ บ้านเราอยู่ใกล้ ๆ กับต้นเพลิง เรียกว่าหมดตัวเลย หรือช่วงปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไม่ดีก็กระเทือน 

ถามว่าเราผ่านมาได้อย่างไร ผมคิดว่าโดยพื้นฐานแล้ว เราเป็นครอบครัวคนจีนอพยพ คนจีนเขามี DNA ที่ดี คือขยันมาก คือแบบคนรุ่นเราทำงานหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ว่าคนจีนรุ่นอากงปีนึงจะหยุดแค่ 4 วัน คือ วันตรุษจีน วันสารทจีน วันไหว้พระจันทร์ วันเช็งเม้ง คือมีความขยันมาก แล้วเขาอดทนต่อปัญหาและอุปสรรค เขาเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ผมว่าเรื่องพื้นฐานเหล่านี้เป็นภูมิต้านทานที่ดีในการเอาชนะอุปสรรค

 

SME One :  มีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

คุณปิยะพร : แนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจ ผมว่าแต่ละรุ่นเนี่ยมีจุดประสงค์คนละอย่างกัน อย่างถ้านับถึงรุ่นอากง แกอดอยากมาจากเมืองจีน ไม่มีจะกินมาจากเมืองจีน เป้าหมายแกคืออยากให้ครอบครัวกินอิ่ม ก็ถือว่าทำสำเร็จนะ อย่างรุ่นพ่อผมนี่เรียนหนังสือน้อย เพราะว่าไม่มีเงิน มีเงินเท่าไหร่ก็ต้องส่งไปช่วยเมืองจีน เพราะเมืองจีนลำบากมาก รุ่นเขาก็จะแบบต้องต่อสู้กับความยากจน ทำอย่างไรให้มันลืมตาอ้าปากได้ 

ส่วนยุคของผมมันเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คือถ้าเกิดว่าเรายังปรับตัวไม่ทันจริง ๆ มันไม่มีที่ยืน มันอันตราย ตอนนี้รุ่นผมก็มีลูก ลูกผมเป็นรุ่นที่ 4 เรามีภารกิจในครอบครัวที่เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้รุ่นที่ 4 เขามี DNA ตรงนี้ 


 

Key Success Factor ของธุรกิจ



 

SME One :  ถ้าถามว่าอะไรคือ Key Success Factor ของธุรกิจจะตอบว่าอะไร

คุณปิยะพร : เรื่องที่ผมถือว่าเป็น Key Success ของบ้านเราเลย คือ อากงเป็นคนที่ทำงานแล้วอยากทำให้มันดี คือมีเรื่องเล่าว่าพ่อผมทำขนมกับอากงแล้วชอบบ่นว่า ทำกับอากงแล้วเหนื่อย ยุ่งยาก จุกจิก จนพ่อผมบอกอากงว่า นี่จะทำให้ฮ่องเต้กินรึอย่างไร ทำไมต้องทำขนาดนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราขายของแบบชาวบ้าน ๆ แต่ร้านเราเคยมีโอกาสได้รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนที่รถพระที่นั่งจอดอยู่ที่หน้าร้าน ผมนึกถึงประโยคนี้เลย “จะทำให้ฮ่องเต้กินหรือไง” ผมว่าเรื่องนี้คือ Key Success ของเรา


 

คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME

 

SME One :  ถ้าจะขอคำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME อยากจะแนะนำอะไรบ้าง

คุณปิยะพร : ถ้าจะทำอะไรให้ดีต้องค้นหาหัวใจของมันให้เจอ แล้วต้องมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงให้ได้ ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะบางทีเราจะผัดกะเพรา แต่ว่า โอ้โห...มีบางคนที่เขาแบบไปค้นหาว่าใบกะเพราพันธุ์อะไรที่หอมที่สุด ใช้หมูส่วนไหน หั่นอย่างไร ผมว่าอย่างนี้ทำให้มันน่าสนใจ

การทำธุรกิจมันไม่มีอะไรที่มันดีที่สุดจริง ๆ บางทีถ้ามัวแต่จะรอให้ดีที่สุดมันก็ไม่ต้องเริ่มทำ ตั้งเซ่งจั้วเราคิดแบบโอเคแล้ว ใช้ได้ เราก็ทำ ผมว่ามันไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่เสี่ยง เช่น การลงทุนของที่บ้านตอนที่เราทำร้านเก๋งจีน เราเอาเงินเก็บทั้งหมดมาทำ เสี่ยงไหมก็เสี่ยง แต่ความเสี่ยงนี้เรายอมรับได้ก็ทำ เรื่องสุดท้าย SME ทำอะไร เสียงของลูกค้าสำคัญ เพราะว่าเราเองมีโอกาสดี ๆ มากมายที่เกิดขึ้น เพราะว่าลูกค้าเป็นคนบอก เป็นคนชี้นำให้เราทำ 

ส่วนเรื่องที่อยากเตือนคือ เวลาเราเห็นคนอื่นทำอะไรแล้วดี แต่เราไม่ได้อินกับมัน แต่เห็นว่าทำแล้วได้เงินเยอะก็ไปเลียนแบบอย่างนี้ไม่ดี กับอีกเรื่องที่หนีไม่พ้น คือการใช้เงิน บางที SME ใหม่ ๆ ชอบเอาเงินไปใช้เงินผิดประเภท แบบนี้ก็อันตราย เช่น กู้เงินมาเพื่อทำธุรกิจ แต่กลับเอาไปใช้เรื่องอื่นก็ไม่ดี กับเรื่องสุดท้ายคือ การทำธุรกิจต้องไม่เอาเปรียบคนอื่น ทั้งการเอาเปรียบลูกค้า และเอาเปรียบคู่ค้า


บทสรุป

ความสำเร็จของตั้งเซ่งจั้วมาจากการที่เจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นในแบรนด์และคุณภาพของสินค้า จึงได้พยายามรักษาและต่อยอด Brand Positioning ของตัวเองมาตลอด 88 ปี แม้ว่าในช่วงหนึ่งชื่อร้านที่เรียกค่อนข้างยากจะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารก็ตาม แต่ผู้บริหารรุ่นใหม่ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อาทิ การออกแบบตราสินค้าหรือแม้กระทั่งร้านค้าให้มีจุดเด่นจนสามารถสร้างการจดจำได้มากขึ้นในที่สุด


 

จุดแข็งที่ทำให้ ตั้งเซ่งจั้ว ยืนหยัดมาถึง 88 ปี สามารถส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างแข็งแรง 

  1. คุณภาพของสินค้าที่ดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสามารถรักษามาตรฐานและคุณค่าไว้ตลอด 88 ปี

  2. การให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ทำให้ตั้งเซ่งจั้วมีความแตกต่างจากขนมเปี๊ยะบางคล้าร้านอื่นๆ

  3. การทำ Storytelling ของขนมเปี๊ยะดั้งเดิมด้วยการเปิดสาขาเก๋งจีนซึ่งใช้เงินลงทุนถึง 18 ล้านบาท ทำให้ตั้งเซ่งจั้วถูกพูดถึงอย่างมากจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

  4. การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และปรับตัวตามสภาพแวดล้อม เช่นการเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่

  5. การเพิ่มช่องทางการขายใหม่ ๆ เช่น ช่องทางออนไลน์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่สะดวกเดินทาง

 


 

Published on 30 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ