เสริมศักยภาพเอสเอ็มอีไทยด้วย UOB BizSmart บทสัมภาษณ์คุณสยุมรัตน์ มาระเนตร, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี, ธนาคารยูโอบี (ไทย)

ธนาคารยูโอบี (ไทย) คือ หนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ที่ผ่านมามีบทบาทในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้เติบโต และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง 

ธนาคารเล็งเห็นถึงความต้องการ และความจำเป็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
  

ธนาคารยูโอบี (ไทย) จึงมุ่งเสริมศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการพัฒนา ยูโอบี บิสสมาร์ท” (UOB BizSmart) โซลูชันจัดการธุรกิจครบวงจรบนระบบคลาวด์ที่สามารถใช้งานได้ง่ายในราคาที่จับต้องได้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดเวลาการจัดการระบบหลังบ้าน ทำให้มีเวลาในการทำตลาดเพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ยูโอบี บิสสมาร์ท เป็นโซลูชันที่รวมการทำงานทุกส่วนของธุรกิจแบบครบวงจร ช่วยการจัดระบบธุรกิจต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งในเรื่องของการขาย การออกใบแจ้งหนี้ การจัดการเงินเดือน การจัดทำบัญชี และอื่นๆ เพียงแค่มีบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีกระแสรายวันบัญชีของธนาคารยูโอบี ก็สามารถเชื่อมต่อกับโซลูชันที่ธนาคารเตรียมไว้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ และด้านการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญ เพื่อสร้างความสะดวกสำหรับการดำเนินงาน และง่ายต่อการบริหารจัดการระบบการเงินของบริษัท ส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องธุรกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ยูโอบี บิสสมาร์ท โซลูชันจัดการธุรกิจออนไลน์ ที่สามารถเข้าใช้งานได้จากทุกที่ผ่านสมาร์ทโฟน จึงช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดต้นทุน และประหยัดเวลาในการบริหารธุรกิจ ด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็ก มีระบบจัดการมาตรฐานสากล SAP Business One ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจได้อย่างราบรื่น

หนึ่งในฟังก์ชันที่น่าสนใจของ ยูโอบี บิสสมาร์ท คือ การบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน และระบบวันลาของพนักงานผ่าน HReasily โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าไปใช้งาน SAP Business One ซึ่งเป็นโซลูชันการบริหารจัดการ และเป็นครั้งแรกที่ SAP ร่วมกับธนาคารยูโอบีในการให้บริการ SAP Business One แก่เอสเอ็มอีไทย

เจ้าของธุรกิจสามารถเลือกแพคเกจตามฟังก์ชันที่เหมาะสมกับธุรกิจ และตามจำนวนผู้ใช้งานในองค์กรโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับแพคเกจพื้นฐาน ราคาเริ่มต้นที่ 700 บาท สูงสุดเพียง 1,800 บาท 

 

คุณสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวถึงนโยบายการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยว่า เป็นการเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เติบโตในระยะยาว และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าค่อยๆ เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการมอบโซลูชันส์แบบครบวงจรที่ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของลูกค้า 

เราพยายามนำเสนอบริการที่เป็นมากกว่าธนาคาร โดยต้องเชื่อมต่อธุรกิจของลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ หรือช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีสามารถขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราติดตามสถานการณ์และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปทุก 3 - 5 ปี ว่าควรต้องใช้เทคโนโลยีด้านใดเข้ามาช่วยอีก ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีต้องมาเรียนรู้ไปด้วยกันเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ธนาคารยูโอบี (ไทย) มีลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมดกว่า 50,000 ราย โดยเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งาน ยูโอบี บิสสมาร์ท จะเป็นกลุ่มที่ยอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 40 ล้านบาท 

ยูโอบี บิสสมาร์ท เน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีความกังวลเรื่องการจัดเก็บภาษี และรู้ว่าระบบสามารถช่วยงานได้จริง ขณะเดียวกันทางภาครัฐต้องการผลักดันเรื่องระบบบัญชีเดียว เราจึงได้นำไปเชื่อมต่อกับระบบบัญชีที่มีอยู่จริงในลักษณะ Total Solution 

ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารขยายความช่วยเหลือมายังเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาออนไลน์เพื่อให้ความรู้เรื่องบัญชีเดียว  ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาดมีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังมากขึ้น โดยคาดว่าอีกไม่นานระบบบัญชีเดียวจะเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึง จึงเชื่อว่าอนาคตความต้องการการใช้โซลูชันนี้จะมีเพิ่มมากขึ้น

คุณสยุมรัตน์ ยังมองว่าปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นเรื่องของต้นทุนการทำธุรกิจ และหลายครั้งมักไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายบางจุดที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนด้วยเช่นกัน เช่น การนำบ้าน หรือสินทรัพย์ส่วนตัวมาทำธุรกิจก็คือต้นทุนประเภทหนึ่ง หรือลืมให้ค่าแรงกับตัวเอง และคนในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลต่อความถูกต้องในการทำตัวเลขในระบบบัญชี และมีผลไปถึงเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่อาจไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อ หากมีการทำตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง 

ถ้าเรามีการจัดกระบวนทัพที่ดี ทำทุกอย่างถูกต้องทั้งหมดก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี และอย่าติดกับในเรื่องยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ดูเรื่องต้นทุนของสินค้านั้นๆ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีระบบการทำตัวเลขที่ชัดเจน โดยผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจอยากจะปรับในเรื่องดิจิทัลควรมีโซลูชันเข้ามาช่วยบริหารเพื่อลดต้นทุน เป็นประเด็นสำคัญ และควรมองการเติบโตแบบมั่นคง อย่าไปมองว่าต้องเติบโตกี่หลัก แต่อยากให้เอสเอ็มอีมองภาพรวมให้ครบในเรื่องของต้นทุนที่เกิดขึ้นว่าเป็นต้นทุนระยะสั้น หรือระยะยาว ถ้าเป็นต้นทุนระยะยาวต้องสร้างความยั่งยืนอย่างไร และคำนึงปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกับการเติบโตของธุรกิจ” 

ยูโอบี บิสสมาร์ท คือ โซลูชันหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจปรับองค์กรสู่ดิจิทัลซึ่งคุณสมบัติข้อแรกของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ คือ ผู้ประกอบการต้องเต็มใจ และอยากที่จะทำ เมื่อเข้ามาถึงกระบวนการที่เริ่มทรานส์ฟอร์มธุรกิจจะมีหลายๆ อย่างที่ต้องมีการปรับกระบวนการ หรือ Business Process ให้เข้ากับระบบด้วยเช่นกัน ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวธุรกิจเองด้วย 

คุณสยุมรัตน์ กล่าวเสริมว่า ความท้าทายหลังจากนี้ เป็นเรื่องของความไม่หยุดนิ่งของสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง New Normal ที่เกิดขึ้นไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่อีกนานแค่ไหน ส่วนการเตรียมพร้อมสำหรับหลังสถานการณ์โควิด ทางยูโอบีมองว่า จะมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันเป็นลำดับแรก เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าอยู่รอดไปพร้อมกัน เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็น ฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจ และยังอิงกับจีดีพีของประเทศเป็นหลัก 

วันนี้สถานการณ์โควิด-19 เร่งให้ทุกคนเกิดการทรานส์ฟอร์ม การมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลไปข้างหน้า 1-2 ก้าว จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และจากการล็อคดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพว่า องค์กรไหนมีความพร้อม องค์กรไหนไม่มีความพร้อม ซึ่งการมองไปข้างหน้าหรือการทรานส์ฟอร์มด้วยการนำ ยูโอบี บิสสมาร์ท เข้ามาช่วย ทำให้ลูกค้าสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติครั้งนี้ คุณสยุมรัตน์ กล่าว

Published on 12 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ปรับบทบาทสู่ “Service Organization” ช่วย SME ทรานส์ฟอร์มธุรกิจยุค Technology Disruption พร้อมฝ่าวิกฤต COVID-19

นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โลกได้เปลี่ยนจาก “ยุคหัตถกรรม – เกษตรกรรม” ก้าวสู่ “ยุคอุตสาหกรรม” เริ่มจากยุโรป และอเมริกาก่อนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงวันนี้เข้าสู่ “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” หรือ “The Fourth Industrial Revolution 4.0” ที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องผสานการใช้ “เทคโนโลยีอัจฉริยะ” (Smart Technology) และ “Data” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต และการดำเนินธุรกิจ เช่น IoT (Internet of Things), Cloud Computing, Big Data, AI (Artificial Intelligence), Autonomous Mobile Robots, 3D Printing, AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) ฯลฯ

จึงกล่าวได้ว่าในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ไม่มีอุตสาหกรรมใด ไม่ถูก Technology Disruption เพราะฉะนั้นทั้งภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการธุรกิจที่จะอยู่ดำรงอยู่ได้ต้องเป็น “ปลาเร็ว”

ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ “COVID-19” เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รุนแรงอย่างไม่มีใครคาดคิด กระทบกันเป็นโดมิโน ทั้งการสาธารณสุข, วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยน, เศรษฐกิจ, สังคม ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมหยุดชะงักในทันที! 


เพราะเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในยุค “Technology Disruption” และความท้าทายอย่าง “COVID-19” ที่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) ในฐานะเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงได้ปรับนโยบายใหม่เป็น “Service Organization” มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤต COVID-19 และเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

“เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ “Industry Transformation” มาตลอด เนื่องจากมองเห็นว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง และ Disrupt ในอุตสาหกรรมต่างๆ 

เราจึงมีการจัดดสัมมนา เชิญวิทยากรระดับโลกหลายสาขามาบรรยายให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการได้มีโอกาสเรียนรู้นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาตรฐานระดับโลก เทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT, AI มากขึ้น รวมทั้งพาไปดูงานด้านเทคโนโลยีต่างต่างประเทศ 

ในขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลให้ความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมนั้น ไม่ง่าย ถึงจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มลำบากขึ้น เพราะภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเปลี่ยน และการบริโภคเปลี่ยน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาแรงขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ปรับตัวสู่การเป็น “Service Organization” ทำหน้าที่ให้บริการช่วยสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจใน 6 ด้านคือ ด้านการเงิน, การตลาด, เทคโนโลยี - นวัตกรรม, การพัฒนาองค์ความรู้, การพัฒนาประสิทธิภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็น “คนกลาง” ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ – ภาคเอกชน – ภาคการศึกษา” คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงนโยบายใหม่ของ ส.อ.ท. 



รายละเอียด 6 ข้อภายใต้นโยบายใหม่ ประกอบด้วย 

“การตลาด” (Marketing) พัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ, เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และซัพพลายเชน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์รับรองสินค้าไทย (Made in Thailand) วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมสินค้าไทยสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรับรองผู้ผลิตสินค้า Made in Thailand รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ, จัดนิทรรศการ และสมาชิกสัมพันธ์ (One Stop Service) เพื่อทำให้สมาชิก และผู้ประกอบการสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ 

“การเงิน” (Finance) ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ด้านการเงิน ภาษี การจัดทำบัญชี ซึ่งบัญชีมีความสำคัญต่อการขอสินเชื่อ การนำเข้ากับสถาบันการเงิน และการนำเข้า - ส่งออกสินค้า 

“นวัตกรรม” (Innovation) สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อส่งเสริมให้สมาชิก และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ 

“พัฒนาประสิทธิภาพ”​ (Efficiency) ทั้งในด้านการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Database ของภาคอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี, โลจิสติกส์, พลังงาน ตลอดจนการให้บรากรด้านกฎหมาย และการขออนุญาต, การพัฒนาระบบประเมินศักยภาพ และข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการ SME

“พัฒนาองค์ความรู้” ให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการจัดตั้ง F.T.I. Academy” เป็นสถาบันฝึกอบรม เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งจับมือกับสถาบันการศึกษา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร Upskill – Reskill สำหรับให้ทั้งผู้ประกอบการ และพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้พัฒนาทักษะความรู้ใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 

“สิ่งแวดล้อม” (Environment) ให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจับมือกับภาครัฐ ทำโครงการ Eco Town Green Factory, ผลักดันแนวคิด BCG Model (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ดำเนินการตามหลัก SDGs และผลิตสินค้า Eco Product 



ประธาน ส.อ.ท. ขยายความเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของผู้ประกอบการ SME คือ ทำธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามขยายธุรกิจตัวเอง ไม่หยุดดนิ่ง แต่ขณะเดียวกันพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องระบบหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชี การเงิน การเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการทำธุรกิจ และการพัฒนานวัตกรรม หรือการทำ R&D (Research & Development) เพราะความที่มีงบประมาณจำกัด ทำให้ SME ไทย ยังเป็น C&D (Copy & Development) มากกว่าจะลงทุนด้าน R&D 

ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เน้นการให้บริการช่วยเหลือสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการ SME กับภาครัฐ เนื่องจากธุรกิจ SME ต้องการการสนับสนุน และความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ที่ผ่านมา SME เข้าไม่ถึงกลไกภาครัฐ เพราะฉะนั้น “ส.อ.ท.” จะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ กับภาครัฐ 

“ต้องยอมรับว่า SME บางส่วนยังปรับตัวได้ช้าอยู่ ก่อนหน้าจะเกิด COVID-19 ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีกำลังมา บางคนปรับตัว เริ่มลงทุนด้าน Robotic หรือนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการธุรกิจแล้ว ขณะที่บางส่วนยังไม่ได้เริ่ม แต่วันนี้จากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าถ้าไม่รีบปรับตัว จะแย่ลง ทุกอย่างต้องใช้เทคโนโลยี และวัฒนธรรมการบริโภค, วิถีชีวิต, การใช้สื่อเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเริ่มขยับ ปรับตัว และเรียนรู้ใหม่” 

ขณะเดียวกันในโลกดิจิทัล เป็นยุค Globalization ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มทุนต่างประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ไม่เพียงแต่เจอโจทย์ COVID-19 และ Technology Disruption เท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นแนวทางสร้างการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ SME  ต้องไม่ “Stand Alone” แต่ต้องพยายาม “สร้างความร่วมมือ” (Collaboration) กับพันธมิตรธุรกิจ ที่ส่งเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันได้ 

“ปัจจุบันเป็นยุคของความร่วมมือ ผู้ประกอบการทำธุรกิจแบบ Stand Alone ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันต้องขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งการเติบโต ผู้ประกอบการจะทำคนเดียว อยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องหาพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม ที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน มาจับมือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งร่วมกัน” คุณสุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

Published on 09 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย


บทความแนะนำ

นิตยสารคิด (Creative Thailand) ตุลาคม 2563 ปีที่ 12 ฉบับที่ 1

“กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว”

 

ไม่ว่าใคร โดยเฉพาะคนเมืองกรุงที่เห็นวลีนี้คงจะยิ้มมุมปาก เกลือกตามองบน พร้อมร้องหึหึ กันเป็นแถว

ทุกคนต่างรู้ดีว่าความจริงนั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่วลีนี้ก็สามารถบรรยายสภาพความเป็นอยู่ได้ตรงใจใครหลายคน..

แม้ความหมายนั้นอาจดูย้อนแย้ง

 

มีอะไรในความยอกย้อนภายใต้คำกล่าวประเภทนี้กันแน่ หรือแท้จริงแล้วภาษาเหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือ

เพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่เผยให้เห็นศักยภาพของภาษาและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ไร้ขีดจำกัด

 

สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

Published on 5 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

University Connect เบทาโกรเชื่อมองค์ความรู้พัฒนาอุตสาหกรรมไทย

“เพราะเศรษฐกิจไทย คนไทยต้องช่วยกัน University Connect ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย ไปช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในไทย เราจะช่วย Connect ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น” วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ Founder of University Connect and Chairman of the Executive Board, Betagro Group 

จากแนวคิดที่ต้องการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่อย่างเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ผู้ประกอบการก่อให้เกิด University Connect ยูนิตสำคัญที่เบทาโกรตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยวิสัยทัศน์ของ University Connect คือ จะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนา Thailand Competitiveness ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้องค์ความรู้และทรัพยากรที่มีคุณภาพของ
มหาวิทยาลัย

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เราทำงานกับทางมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และทางมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วย Improvement ทางด้านเทคโนโลยีและเรื่องของพื้นฐานการผลิตหลายอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นของดีซี่งมีอยู่ในทุกๆมหาวิทยาลัย องค์ความรู้บางอย่างเป็นในเชิงวิศวะ วิทยาศาสตร์ ซึ่งภาคธุรกิจไม่ได้หยิบเอามาใช้ ซึ่งจริงๆแล้วหากมีการหยิบเอาไปใช้จะสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และด้านอื่นอีกหลากหลายซึ่งคุณวนัสมองว่าของดีเหล่านี้น่าจะเอามาให้ภาคเอกชนได้นำไปใช้ แต่ปัญหาคือมหาวิทยาลัยขาดเรื่องของการทำการตลาด ดังนั้นเบทาโกรจึงขอทดสอบสมมุติฐานด้วยการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาในเบทาโกรที่ใช้ชื่อว่า University Connect เพื่อนำเอาความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  พระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล ออกไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านชื่อโครงการที่สื่อสารตรงถึงความต้องการของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Service menu นั่นเป็นเป้าหมายของ University Connect

คุณอาณัติ ทรัพย์ทวีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนัก Academic Contribution เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ University Connect



บริการของ University Connect แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

Good Routine operation (Work Effectiveness) เหมาะสำหรับโรงงานที่มาตรฐานไม่ชัด คุณภาพแกว่ง ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของการผลิตสินค้าคือการมีมาตรฐานในการทำงานที่ดี (Effective work instruction) พร้อมทั้งมีระบบในการควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพของสินค้า (Monitoring and Control System) หากมีระบบในการทำงานที่ดีแล้วการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป Service menuในกลุ่มนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานยังไม่ชัดเจน คุณภาพของสินค้ายังไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งหัวข้อสำคัญในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของ การสอนงานแรงงานให้ทำตาม Work Instruction, Safety​​,Follow Up & Monitoring System​​,Problem solving & Root Cause Analysis​,Database for Control Operation

Process Improvement (Work Efficient)  เหมาะสำหรับโรงงานที่มองหาการพัฒนาเพื่อก้าวนำคู่แข่ง บริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานที่ดีแล้ว ย่อมมีความพร้อมในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาให้ก้าวนำคู่แข่ง Service menu ในกลุ่มนี้ช่วยเพิ่ม Capacity, Yield, Quality, ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน เช่น การเพิ่มทักษะในการทำงานของพนักงานด้วยเทคนิค Feedback​,การลดค่าเผื่อในการผลิต (Give Away Loss) ด้วยหลักการทางสถิติและศาสตร์เฉพาะทาง​,การบริหารจัดการเพื่อ Max. Cap & Min. Cost ด้วย Optimization technics​,การเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งองค์กรด้วย Lean, Total Productivity management (TPm), Ideal Management (IM)​,การออกแบบ / สร้างอุปกรณ์อัตโนมัติต้นทุนต่ำด้วยหลักการ Karakuri Kaizen​ และการปรับปรุงวิธีการทำงานโดยเน้นเพียง 1 จุดงาน Station Improvement 

Transformation (Working Platform) เหมาะสำหรับโรงงานที่พร้อมปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยี ในยุค 4.0 ใครๆ ก็อยากจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น​ Service menu ในกลุ่มนี้เป็นการ Customize technology ให้ Fit กับความต้องการของบริษัท​ ออกแบบ / สร้างเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อใช้ทดแทนแรงงาน เช่น การใช้ Manufacturing Execution System (MES) เพื่อบริหารจัดการงานผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ​,ใช้ IoT ร่วมกับการวิเคราะห์แบบ Real time เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต และเครื่องจักร​,Implement ระบบ ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งองค์กร​,ใช้ Machine Learning ในกระบวนการผลิต 

“เรามี Service Menu ที่หลากหลายซึ่งเมนูเหล่านี้เราทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยโดยพยายามกลั่นองค์ความรู้ต่างๆออกมาเป็นเมนูพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ เป็นเมนูที่พร้อมใช้ พร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชนสามารถนำเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่ง Service menu เหล่านี้เรานำมาจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชน และเข้าไปคุยกับอาจารย์เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจอาหารเราก็เริ่มจากเรื่องของอาหารก่อน แต่จริงๆแล้วมี Service menu ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารด้วยเช่นเดียวกัน” 

แนวทางในการทำงานของ University Connect มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีของอาจารย์ โดยการจัดสัมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ โดยเชิญทั้งเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการแผนก และผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังทุกวันศุกร์ที่สำคัญคือ “ฟรี” ซึ่งนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้จัก University Connect จนปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 องค์กร

“เราใช้ช่องทางหลายช่องในการประชาสัมพันธ์ University Connect ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟรีสัมมนาทุกวันศุกร์ซึ่งแตก่อนเราจัดที่บริษัทแต่ช่วง COVID-19 เราเปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี นอกจากนี้เรายังมีการใช้ช่องทาง Direct Sale คือโทรเข้าไปตามบริษัทต่างๆ และผ่านกลุ่มสมาคม เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมกาแฟ ผ่านแบงค์ คือ TMB เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมี LINE@ ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้จักเรา เมื่อโรงงานไหนที่ฟังสัมมนาของเราแล้วรู้สึกสนใจ อยากให้เราใช้ข้อมูลเชิงลึกหรือเมนูที่เรามีไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจของเขา หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการ Consult กันส่วนตัว โดยเราจะพาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปวิเคราะห์ปัญหาที่โรงงานของลูกค้า เป็น Project set up ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือจริง ซึ่งตรงนี้ลูกค้าต้องทำสัญญาแล้วจ่ายเงินกับมหาวิทยาลัย เพราะการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปทำให้มีค่าดำเนินงานถ้าเราไม่เก็บเงินเลยก็จะทำให้เราอยู่ได้ไม่นานและช่วยองค์กรต่างๆได้ไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มมีลูกค้าให้เรานำองค์ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

 หลายคนคงอยากตั้งคำถามว่าการที่เบทาโกรเข้ามาทำตรงนี้ ได้อะไร? คุณอาณัติ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้อะไร สิ่งที่เราต้องการคือต้องการช่วยจริงๆ”

“มีคนที่พอทราบว่าเราเป็นบริษัทเอกชนเขาก็จะตั้งกำแพงเอาไว้ก่อนว่าเราทำแล้วได้อะไรจากตรงนี้ เราก็ต้องบอกเขาว่าจุดเริ่มต้นของเราคือการที่เราต้องการที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งพูดตามตรงก็คือเราไม่ได้อะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทางเบทาโกรต้องการทำ คือการแยกหน่วยงานนี้ออกมา เป็น Social Enterprise ในอนาคต ซึ่งการเป็น Social Enterprise ต้องมีรายได้เข้ามาเพื่อเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดไปได้ เราก็จะแจ้งลูกค้าเลยว่าเวลาที่เราทำโครงการพวกนี้รายได้บางส่วนต้องคืนกลับมาให้กับ Social Enterprise ด้วย เราอยากช่วยบนพื้นฐานที่จะทำให้บริษัทยั่งยืนเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อได้” 

เป้าหมายของ University Connect ถัดจากนี้ คุณอาณัติ มองว่าคือการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในระดับที่ Mass มากขึ้น อาจจะเป็นการช่วย SMEs ลอตใหญ่พร้อมๆกัน เนื่องจากตอนนี้การช่วยเหลือยังเป็นรูปแบบของการช่วยแบบ One by One ในอนาคตมองถึงการช่วยแบบ One to Many โดย Service Menu 1 Menu สามารถช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาได้ 5-10 รายในครั้งเดียว 

“สิ่งที่อยากแนะนำ SMEs ไทยคือเรามองว่าตอนนี้รายย่อยเยอะมาก แล้วธุรกิจตอนนี้วิ่งไวมากทั้งตัวธุรกิจเองและตัวผู้บริโภคพฤติกรรมก็เปลี่ยนการเทิร์นของธุรกิจหมุนเร็วเพราะฉะนั้นความไวในการปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ SMEs อาจจะยังมองไม่เห็นคือพวกพื้นฐานความรู้ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องไปซื้อออโตเมชั่น ความรู้ที่ลงทุนไม่มาก แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า พวก Basic Knowledge เป็นเรื่องที่ควรจะยอมลงทุนมากกว่าเพราะมันจะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานและอยู่กับเราตลอดไป”

Published on 2 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

สถาบันอาหาร One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และอาหารไทยก็มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจอาหารก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค

สถาบันอาหาร นับเป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่สะพานเชื่อมระหว่าง SME กับภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน (Future Food Hub of ASEAN)




นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารเป็น One-Stop Service ของอุตสาหกรรมอาหาร มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

“ถ้าผู้ประกอบการมีไอเดียว่าอยากจะทำอะไร เราสามารถให้บริการได้ครบถ้วน” ผอ.อนงค์ กล่าวว่า สถาบันอาหารให้บริการใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1) การตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางอย. กำหนดหรือไม่ รวมถึงมาตรฐานของต่างประเทศ เป็นการตรวจทดสอบทางด้านเคมี
จุลชีววิทยา และอายุของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการ และการสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

2) การบริการทางวิศวกรรม นักวิชาการจะเข้าไปตรวจเครื่องมือในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคำนวณหาจุดเหมาะสมในการผลิต ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายของอย. เช่น การตรวจกระบวนการที่ใช้ความร้อน (Thermal Process) และกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อน  (Aseptic Process)  ว่าการผลิตอาหารลักษณะนี้ต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่และนานเท่าใด พอคำนวณแล้วก็เอาใบรับรองให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม

3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นบริการที่สถาบันอาหารให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียว่าอยากผลิตอาหารต่างๆ ผู้ประกอบการบอกโจทย์ แล้วทางสถาบันจะทำสูตรให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ 

4) การให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบคุณภาพ เช่น GMP (Good Manufacturing Practice), HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) รวมถึงให้การตรวจรับรองว่าระบบต่างๆ ได้มาตรฐาน 

5) การรับจ้างการผลิตและให้เช่าเครื่องมือและสถานที่ “หลังจากทำสูตรของผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีสูตรแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงกับเครื่องมือเครื่องจักร ยังไม่แน่ใจว่าตลาดเป็นอย่างไร เราก็บริการทางด้านเครื่องมือเครื่องจักร เรามีโรงงานเล็กๆ รับจ้างผลิต (OEM) และรับออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเรายังมีสถานที่ มีห้องสำหรับสอนการทำอาหาร มีคลาสสาธิต เราให้เช่าพื้นที่ด้วย” ผอ.อนงค์ กล่าว

6) บริการฝึกอบรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ หลักสูตรมาตรฐาน GMP, HACCP, ISO 22000 รวมถึงการจัดอบรมพนักงานในองค์กร (In-House Training) 

7) บริการข้อมูลและวิจัยตลาด โดย
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สมาชิกจะได้รับข้อมูลต่างๆ อาทิ เทรนด์อาหาร กฏหมายกฏระเบียบของประเทศต่างๆ รวมถึงการทำวิจัยตลาด และให้บริการคำปรึกษาทางธุรกิจแก่องค์กร

จากบริการทั้งหมดข้างต้น ทำให้เห็นว่าสถาบันอาหารให้บริการที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ในโลกของการทำธุรกิจจริง SME ต้องเผชิญปัญหาในหลายมิติ ผอ.อนงค์ กล่าวถึงจุดอ่อนของ SME ไทยว่า SME ขาดเงินทุน มีเงินน้อยและสายป่านสั้น ขาดเครือข่ายในการทำธุรกิจ รวมถึงขาดองค์ความรู้ เช่น ความรู้ในการทำธุรกิจ การบริหารต้นทุน ความรู้เรื่องเทคโนโลยี การลดต้นทุน-การเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น  

สำหรับจุดแข็งของ SME ผอ.อนงค์ มองว่า อยู่ที่ความเล็ก และความปราดเปรียวในการเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ “เทรนด์ คือ คุณไม่ต้องผลิตเยอะ แต่ผลิตอะไรที่ตรงกับความต้องการลูกค้าที่เป็น Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มที่ชอบออกกำลังกาย กลุ่มที่ต้องการความสวยงาม เพราะฉะนั้น SME จึงต้องมี Agility (ความคล่องแคล่วว่องไว) ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมาก และเดี๋ยวนี้แข่งกันที่ความเร็ว (Speed)” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

แม้ SME จะปราดเปรียวในการทำธุรกิจอาหาร แต่ก็ต้องเจอความท้าทายที่อยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย

1) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ออโตเมชั่น และ BCG ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสังคมสีเขียว (Green Society) โดย SME ที่ทำธุรกิจอาหารต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ทัน
2) ช่องทางการตลาด เช่น การเติบโตของร้านสะดวกซื้อและช่องทางออนไลน์ 
3) ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม โดยโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกินอาหารอยู่ที่บ้านมากขึ้น และสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

ท่ามกลางบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ผอ.อนงค์ กล่าวว่า SME ต้องพัฒนาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นหลัก เรื่องแรก SME ต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ออโตเมชั่น โรโบติกส์ และผลิตสินค้าที่ตอบสนองเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เจาะตลาดแมส และเรื่องที่สอง
การพัฒนาทักษะและสร้างทักษะใหม่ของ
SME (Reskill, Upskill) เช่น การนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตสินค้า เป็นต้น  

สำหรับเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารโลก ผอ.อนงค์ กล่าวถึง 3 เทรนด์ ได้แก่  

1) เทรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Health Safe Trend) ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการอาหารที่อร่อยอย่างเดียว แต่อาหารต้องมีคุณภาพและช่วยเสริมสร้างสุขภาพ อาทิ อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน การปรับระดับฮอร์โมน เป็นต้น นอกจากนั้นผู้บริโภคก็ต้องการความสะดวกสบาย เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมทาน แต่ต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค

2) เทรนด์การบริโภคเพื่อความยั่งยืน (Environmental Safe Trend) การผลิตอาหารที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นการผลิตที่ยั่งยืนสอดรับกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกระบวนการผลิตได้ลดการใช้ทรัพยากร มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปจะพิจารณาในหลายประเด็น อาทิ ผลิตภัณฑ์มีฉลากเขียว (Green Label) หรือไม่ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือใช้แรงงานเด็กหรือไม่ แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

3) เทรนด์การบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ (Animal Safe Trend) ทำให้ธุรกิจอาหารวีแกนและอาหารจากพืช (Plant-based Food) เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสังเคราะห์/เนื้อเทียม หรือ โปรตีนทดแทน 


ผอ.อนงค์ กล่าวเสริมถึงบทบาทของสถาบันอาหารว่า “เราเป็นผู้ปฏิบัติการ (Implementer) เราไม่ใช่แค่วางกลยุทธ์ วางนโยบาย แต่เราเป็นคนทำ เราเหมือนเป็นสะพานระหว่าง SME ผู้ประกอบการ กับภาครัฐที่วางนโยบายแล้ว 

สถาบันอาหารจะดำเนินงานตามแนวทางแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)  สิ่งที่ต้องดำเนินการมีเป้าหมายว่า เราจะต้องเป็น Future Food Hub ของอาเซียน เราจะเป็นศูนย์อาหารอนาคตในภูมิภาคอาเซียน   

ผอ.อนงค์ เสริมว่า อาหารอนาคตประกอบด้วย 4 เรื่อง

1) อาหารออร์แกนิค
2) Functional Food อาหารเพื่อฟังก์ชั่นของร่างกาย เช่น อาหารที่สร้างภูมิต้านทาน อาหารเพื่อความงาม เป็นต้น
3) Medical Food อาหารทางการแพทย์ และ
4) Novel Food อาหารใหม่ ที่มีการใช้กระบวนการหรือวัตถุดิบใหม่

การนำพาประเทศไปสู่ศูนย์อาหารอนาคตของอาเซียน สถาบันอาหารมีแผนงานหลายด้าน อาทิ มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) และมาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling Factors)

ในภูมิทัศน์โลกใหม่ที่ผันผวน ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง ภารกิจข้างต้นนับเป็นงานที่ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจ หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการสร้างความสามารถเชิงแข่งขันที่สำคัญให้กับประเทศ

Published on 1 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ