ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ 1.สินเชื่อฟื้นฟู และ 2.พักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งพักทรัพย์ พักหนี้ ถือเป็นมาตรการใหม่ ซึ่งมีการนำมาใช้ในหลายประเทศในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต และไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในต่างประเทศมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก โดยธปท.พยายามสร้างกลไกนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถรักษาสินทรัพย์ไว้ได้
เงื่อนไขสำคัญของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ คือ
ตั้งวงเงินช่วยเหลือแสนล้าน
สำหรับประเทศไทย ธปท.จะให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไป และมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับมาใช้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ โดยธปท.กำหนดวงเงินช่วยเหลือตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวม 100,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้รับความสนใจไม่มากนัก เพราะรอมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ ซึ่งล่าสุดกรมสรรพากร ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ โดยสาระสำคัญ คือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน หรือเจ้าของทรัพย์สินและสถาบันการเงินจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
ล่าสุด จากการติดตามความคืบหน้าโครงการของธปท. พบว่ามีลูกหนี้ติดต่อเข้าร่วมโครงการและได้รับการอนุมัติเป็นการภายในของสถาบันการเงินแต่ละแห่งรวมกว่า 10 ราย มูลค่าสินทรัพย์หลักหมื่นล้านบาท โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ขอเข้าร่วมโครงการเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา โรงงานแปรรูป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีความกังวลว่าจะถูกยึดทรัพย์เมื่อครบกำหนดสัญญานั้น ในทางปฏิบัติลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ร่วมกัน และทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. จะเข้าไปร่วมพิจารณาสัญญาให้เป็นธรรมโดยการกำหนดถ้อยคำในสัญญามาตรฐาน และให้สถาบันการเงินที่ขอเข้าร่วมโครงการส่งสัญญาตีโอนให้ ธปท. พิจารณาก่อนที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้
เร่งเครื่องดิจิทัลแฟคตอริ่ง
นอกจากนี้ ธปท.ยังมีโครงการพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่อง อย่างการพัฒนา Digital Factoringให้เป็นทางเลือกเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs
“ปัญหาสำคัญของ SMEs คือการเข้าถึงสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหานี้เป็น pain point สำคัญของผู้ประกอบการที่มักจะขาดเงินทุนหมุนเวียน แม้มีคำสั่งซื้อ ผลิตสินค้าและบริการได้ แต่กว่าจะเรียกเก็บเงินได้มีเครดิตเทอมตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 6 เดือนก็มี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ยิ่งในภาวะเช่นนี้สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น” ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.เล่าถึงที่มาของการพัฒนาโครงการ Digital Factoring สำหรับผู้ประกอบการ SMEs
สำหรับบริการ Factoring ที่มีอยู่เดิม เปิดโอกาสให้ผู้ขาย (SMEs) สามารถใช้ใบแจ้งหนี้ที่ออกให้ผู้ซื้อ (คู่ค้าที่เป็นBuyer) มาใช้เป็นเอกสารในการขอสินเชื่อได้ โดยมีรายรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลักประกัน แต่การใช้งานยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากผู้ให้บริการ Factoringมีความกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการยื่นขอสินเชื่อที่ซ้ำซ้อน
ธปท.จึงพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) สำหรับให้บริการ Digital Factoring ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยยึดหลักการสำคัญ 2 ข้อที่จะทำให้โครงการสำเร็จ ได้แก่
“ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ เร่งดำเนินการในเรื่อง Digital Factoring เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs อยากเข้ามาขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ขณะที่ช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ Factorสิ่งสำคัญต้องสร้างแรงจูงใจฝั่งผู้ซื้อให้เขามาช่วยคอนเฟิร์มใบแจ้งหนี้ดิจิทัล จะช่วยเอสเอ็มอีได้มากขึ้น สะดวกขึ้น ในภาวะเช่นนี้ยิ่งต้องเร่งช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์ให้อยู่รอดได้” ธรรมรักษ์ ระบุ
ปัจจุบัน มี SMEs ใช้บริการสินเชื่อ Factoring อยู่ประมาณ 3 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่มีผู้ประกอบการที่ใช้งานระบบ ERP อยู่ประมาณ 9 หมื่นราย ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลเพื่อขอสินเชื่อได้ ปัจจุบันทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ Factoringอยู่ระหว่างการปรับระบบหน้าบ้าน หลังบ้านให้สามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น ขณะที่ธปท.อยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมบัญชีกลาง เพื่อยืนยันข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเร็วขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำธุรกรรมชัดเจนขึ้นในปลายปีนี้
“ธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งพัฒนาบริการทางการเงิน การสร้างระบบนิเวศที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ให้สอดรับกับทิศทางของโลก เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับทุกคน ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง และเป็นธรรมมากขึ้น” ธรรมรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงภารกิจของธปท.ที่จะมุ่งต่อไปในอนาคต
ภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มีการประเมินว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกมจะช่วยสร้างรายได้ และอาชีพให้กับประเทศอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมเกมจึงมีบทบาทสำคัญ และเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเกมมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อตลาดเกมยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ อาชีพ “นักพัฒนาเกม” (Game Developer) จึงเป็นอีกหนึ่งสายงานอาชีพที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และอยากก้าวไปให้ถึงฝั่งฝัน แต่การพัฒนาเกมก็ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยเงินทุนเนื่องจากทรัพยากรการสร้างเกมยังมีราคาสูงเกินไป อีกทั้งการพัฒนาเกมยังต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งบางเกมที่ทำเพียงคนเดียวอาจต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปี กันเลยทีเดียว
จาก Pain Point ดังกล่าว เป็นที่มาของนวัตกรรม Campfire Engine ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Software House อย่าง “อิมเมจ เอนจิน” เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ และมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักพัฒนาเกม โดย Campfire Engine เป็นชุดคำสั่งอัตโนมัติ (Game Automated System) สำหรับระบบงานหลังบ้านในการพัฒนาเกม ช่วยสร้างโอกาสให้คนที่อยากสร้างเกมได้มีต้นแบบเกมเป็นของตัวเองโดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที
พลวัต ดีอันกอง ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ประยุกต์ ในส่วน Campfire Engine ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนักพัฒนาเกมทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเกมแต่ขาดความรู้การเขียนโปรแกรม และคนที่ต้องการใช้งาน Library เพื่อลดความยุ่งยากในการพัฒนาเกม รวมถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการสร้างเกมแต่ยังขาดฮาร์ดแวร์ที่ดีพอ เพราะ Campfire Engine สามารถสร้างเกมได้อัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มโดยใช้เวลาเพียง 5 นาที
“Campfire เป็นตัวสร้าง Asset เป็นเหมือนตัวสร้าง Ingredient ในเกม ปกติต้องใช้คนจำนวนมากในการทำขึ้นมาทำให้มีต้นทุนที่แพง แต่เราใช้ Campfire ในการสร้าง Ingredient ขึ้นมาเพื่อมาสร้างเกมอีกที ซึ่งตัว Ingredient หมายถึง Code หรือไฟล์ 3 D สำหรับการ Programming หรืออาจเป็นตัวละคร ต้นไม้ แม่น้ำ ที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในเกม”
ในมุมของ SME หรือผู้ประกอบการทางด้านการผลิตและการพัฒนาเกม รวมถึงนักพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ยังสามารถนำแพลตฟอร์ม Campfire Engine มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและสร้างสรรค์งาน ด้วยเพราะ Campfire Engine มีข้อดีที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่
1.มีราคาถูกที่สุดในตลาด Game Engine ทำให้นักพัฒนาเกมที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้สามารถสร้างเกมได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก ช่วยประหยัดงบ และช่วยลดต้นทุนการพัฒนาเกม เนื่องจาก Campfire Engine มีการทำตลาดแบบ Freemium คือให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้งานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายในระดับ Education แต่หากต้องการในระดับ Advance ที่สูงขึ้นไปก็จะมีแพ็คเกจเสียเงินให้เลือกใช้ตามลำดับ ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท ในขณะที่ Game Engine ของต่างประเทศอย่างประเทศจีน หรือสหรัฐอเมริกา จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 30 – 40 เหรียญขึ้นไป
2.เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่าย มีการทำงานที่รวดเร็ว จึงช่วยลดต้นทุนในเรื่องเวลา เพราะสามารถนำชุดคำสั่ง หรือไฟล์ 3D มาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับแต่ง ซึ่งการเป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานในแบบชุดคำสั่งอัตโนมัติ ทำให้นักพัฒนาเกม หรือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไม่ต้องยุ่งยากกับการเขียนโค๊ดที่ซับซ้อน ไม่ต้องเสียเวลากับการสร้างโปรเจ็ควัตถุที่ต้องใช้เวลาอย่างมากมาย เพียงแค่ใช้ “Procedural Generator” ของตัวแพลตฟอร์ม
“Campfire Engine จึงตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องของการออกแบบเกม เพราะทำให้การทำงานง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะคนที่ชื่นชอบการเล่นเกม และอยากก้าวสู่การเป็นนักพัฒนาเกมมักจะติดปัญหาการขาดความรู้เชิงเทคนิค ทำให้เขียนโค้ดไม่ได้ เมื่อเขียนโค้ดไม่ได้ก็ไม่สามารถทำภาพ 3D ได้ โดย Campfire Engine จะเข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยหลักการทำงานแบบการต่อเลโก้ คือ นำชิ้นส่วนมาใส่ที่ละชิ้น ต่อกันไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นเกมๆ หนึ่ง”
3.เป็นแพลตฟอร์มภาษาไทย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนักพัฒนาเกมคนไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากหนึ่งในอุปสรรคของนักพัฒนาเกมคนไทยก็คือเรื่องภาษา ซึ่ง Game Engine ที่มีให้เลือกใช้งานก่อนหน้านี้ล้วนเป็นภาษาต่างประเทศ และภาษาเทคนิคที่ยากต่อการทำความเข้าใจ
Library Assets จำนวนมากที่อยู่ใน Campfire Engine ยังถูกออกแบบมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ทำให้การสร้างเกมเป็นเรื่องง่าย และทำให้นักพัฒนาเกมสามารถสร้างเกมที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองได้ง่ายไม่ยาก
“โดยCampfire Engine มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ จึงสามารถปรับเปลี่ยนตัวละครในเกมได้อัตโนมัติตามขีดความสามารถของผู้เล่น และยังทำให้ต้นทุนการพัฒนาเกมถูกลงแต่ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น และยังเปิดโอกาสให้กับนักพัฒนามือใหม่ หรือผู้ที่ไม่มีทักษะด้านไอทีสามารถสร้างเกมเป็นของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดแม้แต่บรรทัดเดียว”
4.สามารถต่อยอดงานออกแบบได้มากมาย โดยเฉพาะการสร้างสรรค์งานออกแบบโปรแกรมต่างๆ นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มนักพัฒนาเกม และโปรแกรมประยุกต์ ด้วยการสร้างโปรแกรมประยุกต์จากภาพจำลองของไฟล์ 3D ตัวอย่างเช่น
โปรแกรมด้านทันตกรรม DigiproSmile ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภายในช่องปากของคนไข้ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ แม่นยำ และประหยัดกว่าการรักษาในแบบเดิม
โปรแกรม Web Based AR ของกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ทันทีโดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ สามารถทำงานได้ผ่านมือถือทุกเครื่องโดยที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น
นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาไปสู่โปรแกรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ โปรแกรมทางการแพทย์ด้านการผ่าตัด โปรแกรมด้านการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โปรแกรมประยุกต์ด้านเกษตรกรรมในระบบปิด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วันนี้ อาชีพ “นักพัฒนาเกม” กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่คนรุ่นใหม่อยากทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก โดย พลวัต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชากร 1 ใน 3 ของโลก ชอบการเล่นเกม และในประเทศไทยก็มีเกมเมอร์เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งคนที่หลงใหลการเล่นเกมมากๆ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็อยากพัฒนาเกมเป็นของตัวเอง เพราะบางสิ่งที่ต้องการระหว่างการเล่นเกมไม่มีอยู่ในเกมที่กำลังเล่น จึงอยากพัฒนาเกมในแบบฉบับของตนเองขึ้นมา
แม้ว่าแรงบันดาลในการอยากเป็นนักพัฒนาเกม จะมาจากอินไซต์ที่เป็นความหลงใหลในเกม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้จากการพัฒนาเกม หรือส่วนประกอบอื่นๆ ในเกมก็มีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้หลายคนอยากพัฒนาไปสู่การสร้างเป็นอาชีพ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ตลาดผู้ผลิต และพัฒนาเกมจึงยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนักพัฒนาเกมสามารถสร้างรายได้ในหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การออกแบบตัวละคร การออกแบบสภาพแวดล้อม การออกแบบเนื้อเรื่อง ไปจนถึงการออกแบบ Template Game ปัจจุบันจึงมีคนจำนวนไม่น้อยเข้ามาเป็นนักพัฒนาเกม เพราะมีตลาดรองรับงานเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก
“ตัวอย่าง รายได้จากการออกแบบตัวละครในระดับมือสมัครเล่นที่ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพ หากเป็นตัวละครดีๆ ตัวหนึ่งราคาจะอยู่ที่ 15,000 บาท ใช้เวลาทำประมาณ 14 วัน หรือถ้าทำช้าไม่ค่อยมีเวลาก็ประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา ถือว่าเป็นรายได้ที่เยอะอยู่ หรือถ้าไม่ใช่ตัวละครอาจเป็นภาพ 2D, 3D ก็ยังสามารถขายได้แต่ราคาอาจจะลดลงมาเพราะทำง่ายกว่าการออกแบบตัวละคร”
สำหรับ อิมเมจ เอนจิน วางแผนต่อยอดการพัฒนาตัว Asset ใน Campfire Engine เพื่อบุกตลาดเกมทั่วโลกในช่วงปลายปี 2564 รวมถึงการตั้งเป้ารายได้ให้มีรายได้ไหลกลับเข้าองค์กรในจำนวน 100,000 บาทต่อวัน และหากบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเดินหน้าสร้างงานในลักษณะของ Social Enterprise เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกมต่อไปในอนาคต
หลายปีมานี้ทาสแมวมีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดด สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความเป็นสังคมเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ความนิยมอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
ดังนั้นแทนที่จะเลี้ยงสุนัขซึ่งต้องใช้บริเวณกว้างและค่อนข้างเสียงดัง คนส่วนใหญ่จึงหันมาเลี้ยงแมวนั่นเอง
ไม่เพียงแต่จะดีมานด์อาหารแมวเพิ่มขึ้นแต่ดีมานด์ของทรายแมวก็เพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน หลังจากทาสแมวนิยมเลี้ยงระบบปิดมากกว่า เพราะนอกจากจะสะดวกแล้วยังตอบโจทย์พื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มีจำกัด ไม่สามารถพาน้องแมวออกไปข้างนอกได้ ที่สำคัญระบบปิดช่วยลดการออกไปสัมผัสกับแมวนอกบ้าน ลดการเกิดโรค ช่วยน้องแมวสุขภาพดี นั่นเท่ากับการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาไปในตัว
จุดนี้เองที่ทำให้ อภินันท์ มหาศักดิ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด มองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจ หลังจากอาชีพนักบินที่ยึดเป็นอาชีพหลักได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จึงรวมทีมกับเพื่อนที่เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการนำวัตถุดิบที่เหลือจากอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยนำประสบการณ์และความรู้เหล่านั้นมาวิจัยและแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มมูลค่าบ้าง
และสาเหตุที่เลือกมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบในครั้งนี้ก็เพราะมองเห็นคุณสมบัติของมันสำปะหลังที่มีส่วนประกอบหลัก 2 ตัว คือ แป้งกับไฟเบอร์ ที่สามารถนำมาพัฒนาด้วยเทคนิคผ่านการให้ความร้อนและความดันที่เหมาะสม ทำให้เกิดกระบวนการ Pre-gelatinization กับโมเลกุลของแป้ง ช่วยปรับปรุงสมบัติเชิงโมเลกุลของสตาร์ชในมันสำปะหลัง กระทั่งออกมาเป็นทรายแมวเม็ดเล็กละเอียด “Hide & Seek” ทรายแมวมันสำปะหลังเจ้าแรกของโลก
“อีกเหตุผลหนึ่งที่เราใช้สำปะหลังเป็นวัตถุดิบยังเป็นเรื่องของซัพพลายที่มีอยู่ในตลาด เพราะไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการส่งออกมันสําปะหลังสูงสุดในโลก แต่ว่าหลายปีมานี้เราถูกกดดันเรื่องราคาเพราะผู้ซื้อหลักอย่างจีน เริ่มไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเรามากขึ้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกของเราลดลง นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราเลือกมันสำปะหลังมาพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้มีการนำมันสำปะหลังมาทำอย่างอื่นที่เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น”
ข้อดีของการนำมันสำปะหลัง 100% มาเป็นวัตถุดิบทำให้ทรายแมว Hide & Seek มีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งขัน เพราะสามารถดูดซับของเหลวและกลิ่นได้ดี ช่วยเก็บกลิ่นปัสสาวะของแมวได้ดีกว่าทรายแมวทั่วไปตามท้องตลาด ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สามารถจับตัวเป็นก้อนหลังจากแมวใช้งานเสร็จ ทำให้สะดวกในการเก็บ และสามารถนำไปทิ้งในชักโครกได้ เพราะมันสำปะหลังมีคุณสมบัติที่สามารถละลายแตกตัวในน้ำได้เร็ว และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญไม่แต่งสีแต่งกลิ่น ไม่ต้องกังวลหากแมวเผลอทานเข้าไป จึงแน่ใจได้ว่าจะไม่มีโทษหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด เรียกได้ว่าปลอดภัยกับแมวและผู้เลี้ยงอีกด้วย
“เจ้าของแมวประมาณ 90% ใช้ทรายคริสตัล หรือซิลิก้าเจลที่ผลิตมาจากพวกหินภูเขาไฟ หรือแร่เบนโทไนท์ ซึ่งเป็นทรายแมวประเภทย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ถึงผลเสียของทรายดังกล่าวว่าผลึกซิลิก้าสามารถเข้าสู่ร่งกายแล้วส่งผลต่อระบบหายใจ ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งปอด ให้กับแมวและเจ้าของได้ และหากแมวเลียขนที่มีสารดังกล่าวเข้าไป ก็จะทำให้เกิดโรคไตได้ด้วย นั่นจึงเป็นข้อสังเกตว่า ระยะหลังมานี้เราจะพบแมวที่มีอาการป่วยจากกลุ่มโรคเหล่านี้มากขึ้นทุกปี”
อภินันท์ กล่าวว่า บริษัทพยายามพัฒนาทรายแมวให้ครบในทุกมิติ ทั้งความปลอดภัย และออกการใช้งานให้ใช้ได้กับทุกแบบ โดยนำข้อดีของทรายแมวแต่ละประเภทมารวมไว้ที่ Hide & Seek โดยตั้งสโลแกนว่า “เป็นมิตรต่อแมวผู้กลบ และทาสผู้เก็บ” ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อแบรนด์ว่า “Hide & Seek” มาจากเวลาน้องแมวไปอึเขาจะมีธรรมชาติในการขุดแล้วก็กลบ เหมือนซ่อนไว้ แล้วเวลาคนไปตักก็จะไปขุดหา ก็เหมือนน้องแมวเขามาซ่อนแล้วทาสแมวก็ไปค้นหา เหมือนคำว่า Hide (ซ่อน) และ Seek (ค้นหา) นั่นเอง
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของทรายแมว Hide & Seek ประกอบกับราคาอันเหมาะสม แม้ไม่ใช่สินค้าราคาถูก แต่ก็ไม่ได้แพงที่สุดในตลาด ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เลี้ยงสัตว์เหมือนคนในครอบครัว ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
“แต่เราก็พยายามทำราคาขายให้ถูกลง โดยควบคุมต้นทุนมาโดยตลอดทำให้ปัจจุบันลดราคาจากเดิมลงไปได้ 20% แล้ว แต่ในปีหน้าเรามีแผนย้ายกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่หลักสี่ กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดชลบุรี หรือฉะเชิงเทราเพื่อใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ และยังเป็นการเพิ่ม Economy of Scale ให้เราได้ต้นทุนที่ถูกลง โดยสามารถขยายกำลังการผลิตดได้ถึง 50-100 ตันต่อเดือน จากปัจุจบัน 20 ตันต่อเดือน ซึ่งจะทำให้เรามีความได้เปรียบในการแข่งขันภายในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงรองรับการผลิตแบบ OEM ให้กับลูกค้าในทวีปยุโรป”
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายนอกจากจะขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มารเก็ตเพลสแล้ว Hide & Seek ยังจำหน่ายในร้าน Pet Shop และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ท๊อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และโลตัส เป็นต้น ส่วนส่งออกนั้นปัจจุบันส่งไปจำหน่ายในออสเตรเลีย เวียดนาม และตะวันออกกลาง
สุดท้ายนี้ Hide & Seek วางเป้าหมายที่จะเป็นผลิตภัณฑ์รักษโลกอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนานำกากสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มอีก 10% แล้วยังเป็นการส่งเสริม Circular Economy อีกด้วย คาดว่าจะเปิดตัวทรายแมวกากมันสำปะหลังออกสู่ตลาดได้ภายในปีหน้า
ใครที่คิดว่า “ไม้กวาด” ก็เป็นได้แค่ “ไม้กวาด” อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เมื่อสถาปนิกรุ่นใหม่อย่าง ตูน-นนทัช ขันธรูป ที่มองเห็นปัญหา คุณค่าและโอกาส จาดไม้กวาดดอกหญ้าไปพร้อมๆ กัน ตูนมองเห็นว่าไม้กวาดดอกหญ้าที่ขายกันทั่วไปนั้น “ขาดความทนทาน” ตูนมองเห็นคุณค่าของงานฝีมือท้องถิ่นของไทยที่อยากรักษาไว้ และตูนมองเห็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ของสินค้าชิ้นนี้จากงานออกแบบที่เขารัก จนเป็นที่มาของแบรนด์ Sweepy ไม้กวาดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานดีไซน์
SME One : แบรนด์ Sweepy เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นนทัช : Sweepy ดังในเรื่องของไม้กวาด ผมได้เรียนรู้วิธีการทำไม้กวาดตอนที่ผมบวชที่วัดป่าจากคุณลุงประสัก ไม่ใช่แค่เรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำทุกวัน มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่คนที่อยากเรียนรู้ก็มาทำโดยจะมี 2-3 แบบที่วัดกำหนด ที่ผมอยากทำเพราะว่ารู้สึกว่าไม้กวาดมันเป็น Skill ที่เราไม่เคยเรียน แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะไม้กวาดเป็นงานแฮนด์เมดและมีความละเอียด
จากนั้นผมก็สึกออกมา แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเรียนมามันเป็นอะไรที่มีวัฒนธรรมอยู่ งานช่างหรืองานฝีมือของคนไทยเรามันมีวัฒนธรรมและคุณค่า เพียงแค่ดีไซน์ของมันยังขายในตลาดไม่ได้มากกว่า เราก็เลยมาศึกษาเพิ่มเติมว่า ถ้าเราจะเอาไม้กวาดดอกหญ้ามาขายในตลาด เราจะต้องเอามาทำอะไรบ้าง เราจะต้องออกแบบอย่างไรที่มันถึงจะสามารถสื่อสารกับคนได้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะสร้าง ธุรกิจนี้มันเป็นงานคราฟท์ที่ทันสมัย เราไม่ได้อยากสร้างอะไรที่มันเป็นงานคราฟท์อย่างเดียว เราพยายามสร้างให้มันเป็นธุรกิจที่มีสินค้าตัวนึงที่เราออกแบบแล้วมันสำคัญกับบ้านทุกบ้าน
SME One : วันที่เราคิด เราเห็น Pain point อะไรของ Product ดั้งเดิม
นนทัช : จริงๆ ตอนที่เราเริ่มศึกษาตลาดและถามคนว่า Pain point ของไม้กวาดมีอะไรบ้าง ที่เราเจอคือ กวาดแล้วดอกหญ้าชอบหลุด ใช้ไปไม่นานก็เริ่มหลุด เราซื้อไม้กวาดดอกหญ้าที่ตอนนั้นเหมือนจะ 30-40 บาทนี่แหละ เพื่อมาดูว่าข้างในมันทำอย่างไรถึงชอบหลุด แล้วก็เดินทางทั่วประเทศเพื่อที่จะไปค้นหาไม้กวาดแบบต่างๆ ว่ามันมีแบบไหนบ้าง มันทำอย่างไร แล้วเขาขายที่ราคาเท่าไหร่
ช่วงที่เราศึกษาตลาดไม้กวาด ไม้กวาดดอกหญ้ายังมีแบ่งเป็นหลายราคาอีก ส่วนใหญ่เหมือนกับว่าไม้กวาดที่เราเห็นทั่วไป แบบมันไม่ได้เป็นแบบที่มีลิขสิทธิ์ ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนออกแบบ แต่ว่าไม้กวาดทั่วไปผมไม่อยากใช้คำว่าแบ่งเกรด แต่ผมศึกษาแล้วรู้สึกว่ามันมีช่องทางในตลาดนี้อยู่ เพราะผมรู้สึกว่าไม้กวาด 30-40 บาท มันใช้ได้แป๊บเดียวจริงๆ ผมมองว่าสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวันมันมี Pain point อยู่ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงเห็นช่องทางในตลาด ทั้งในเชิงของดีไซน์ และเกรดของดอกหญ้าด้วย ตั้งแต่เรื่องของคุณภาพ เรื่องการคัดเลือก แล้วก็วิธีการเย็บอะไรต่างๆ ถ้าลูกค้าใช้ลองไม้กวาดของเรา Sweepy เราเย็บและมัดดอกหญ้าได้ดีที่สุด เย็บ 2 ชั้น เพื่อให้มันยึดเกาะได้ดี รูปทรงไม้กวาดและน้ำหนักที่ไม่ได้หนักเกินไป มีความยาวพอดี และออกแบบให้มีองศาทีที่กวาดได้กว้างขึ้น ไม่ได้เป็นแบบผ่ากลาง 2 แฉก ทำให้ไม่ต้องก้มหรือบิดตัวเยอะเวลากวาดสามารถที่จะเข้าซอกมุมต่างๆ ได้ค่อนข้างดี เพราะดอกหญ้าของเรามันค่อยๆ โค้งไป ปลายที่มันสั้นกว่าทำให้เราเข้ามุมได้ โดยที่กวาดแล้วไม่เมื่อย ปวดหลังน้อยลง และรู้สึกดีผ่อนคลายเวลาทำความสะอาดบ้าน งานออกแบบมันมีหลายองค์ประกอบที่ทำให้ตอบโจทย์ และแก้ปัญหา Pain point ได้
SME One : คิดว่างานดีไซน์ของ Sweepy ตอบโจทย์ Functional หรือ Emotional มากกว่ากัน
นนทัช : ผมคิดว่าเรื่อง Emotional มันสำคัญมาก ซึ่งผมคิดว่ามีลูกค้าที่เขาเลือกซื้อของด้วย Emotional เยอะมากกว่า Functional ด้วยซ้ำ ลูกค้าของ Sweepy ถ้าดูจากเปอร์เซ็นต์ยอดขาย เราวิเคราะห์ได้ว่าผู้หญิงจะซื้อเยอะกว่า เท่าที่ผมศึกษามาผู้หญิงน่าจะอินกับ Emotional ส่วนเรื่องของ Functional มาทีหลัง คือไม้กวาดของ Sweepy ดอกหญ้ามันจะไม่หลุด และช่วยกวาดบ้านได้ลึกขึ้น ซึ่งไม้กวาดที่มันดูดีดูสวยในบ้าน จึงทำให้ลูกค้ามองเห็น Value ในสินค้าของเรามากขึ้น ส่วนฟังก์ชันมันค่อนข้างไปด้วยกันได้
นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว งานออกแบบไม้กวาดของ Sweepy เราพยายามเน้นเรื่องของ Ergonomic Design หรืองานดีไซน์ที่ตอบโจทย์สรีระของผู้ใช้งานจริงๆ โดยเน้นองค์ประกอบของ 3 E’s คือ 1) Effective (ใช้งานดี) 2) Easy to Use (ใช้งานง่าย) และ 3) Enjoyable (ทำให้ประสบการณ์ในการทำความสะอาดดีขึ้น) เราให้ความปราณีตในทุกขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่แรก คือ การเลือกใช้วัสดุ การคิดไปเรื่องวิธีการใช้งานจริง จนเป็นไม้กวาด Ergonomic Design
SME One : เคยลองเปรียบเทียบไหมว่าไม้กวาดของ Sweepy ที่ราคาสูงกว่า กับไม้กวาดทั่วๆ ไปมีอายุการใช้งานต่างกันขนาดไหน
นนทัช : เท่าที่ผมเปรียบเทียบ ถ้าคนที่ใช้ทุกวัน ใช้ 2-3 เดือน ดอกหญ้าก็จะเริ่มหลุดแล้ว มันจะเริ่มเล็กลงๆ ส่วนของเราจากรีวิวของลูกค้าและที่ใช้กันในบริษัท คนเขาก็ถ่ายรูปมาให้ดู ผมก็เห็นว่าใช้มาเป็นปีแล้วนะ ดอกหญ้าเหลืองจากที่มันเขียวสด คือสีของตัวดอกหญ้ามันค่อยๆ จางลง เพราะใช้ได้นานกว่ากันเยอะ
SME One : วันที่เราเริ่มทำเราคัดเลือกวัสดุเป็นดอกหญ้าอย่างเดียวเลย หรือเรามีการทดลองวัสดุอื่นด้วย
นนทัช : ดอกหญ้าเป็นสินค้าหลักของ Sweepy เราเลือกจากไม้กวาดดอกหญ้าก่อน เพราะมันเป็นไม้กวาดที่คนนิยมและรู้จักกัน หลังจากนั้นเราก็ยังพัฒนาอยู่ เช่น ใช้เส้นใยมะพร้าว
เส้นใยมะพร้าวจะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของความแข็ง ถ้าใยมะพร้าวเราจะเอามาทำเป็นไม้กวาดหยากไย่ หรือกวาดฝ้า ที่มันมีความยาว เพราะเส้นใยมีความแข็ง เพื่อที่จะให้มันกวาดพวกฝุ่นที่เกาะอยู่ได้ ถ้าเป็นไม้กวาดเสี้ยนตาลมันก็จะมีความยืดหยุ่น เราก็จะมีการฉีดน้ำยา ซึ่งเราจะใช้ในการกวาดด้านนอก อาคารพวกใบไม้หรือลานปูนได้ ส่วนตัวดอกหญ้าที่เป็นเมนหลักๆ ก็คือจะยิยมใช้กวาดในบ้าน
ช่วงที่เราพัฒนาสินค้า ผมมีโอกาสได้ลองไม้กวาดพลาสติกด้วย ซึ่งเราพบว่าวัสดุทดแทนอย่างพลาสติก ตอนกวาดมันก็จะกวาดยากนิดนึง เพราะฝุ่นมันจะไม่ขึ้น ผมเลยยังเชื่อในตัวดอกหญ้าที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทำไม้กวาดมานานแล้ว
SME One : คนส่วนใหญ่มองไม้กวาดเป็นสินค้า OTOP แต่เรามาสร้างแบรนด์ มีความหนักใจหรือไม่
นนทัช : ตอนที่ผมทำ ภาพในหัวไม่ได้มองว่าสินค้าของเราเป็น OTOP แล้ว สินค้าของ Sweepy เราใช้คำว่า Craftsmanship เพราะผมคิดว่าเรื่องของ Emotion ตรงนี้สำคัญ คือเรามองถึงการตกแต่งบ้าน เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและการออกแบบที่อินเตอร์ ทันสมัย การออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากความมินิมอลของญี่ปุ่น ผมคิดว่าภาพที่คนจะได้มันเป็นแบบนั้นมากกว่า คือตอนเริ่มต้น เราก็ดูก่อนว่าคนในหมู่บ้าน OTOP เขาอยากทำกันไหม เขาก็ไม่อยากทำ เพราะเขาเคยทำแบบเดิมมานานแล้ว OTOP เขาก็ไม่ได้อยากทำแบบเรา ผมก็เลยคิดว่ามันแยกออกจากกันได้ค่อนข้างชัดเจน
ทุกวันนี้ในส่วนของการผลิต เราก็ผลิตแบบอุตสาหกรรมมีโรงงานเป็นรูปเป็นร่าง แต่เรายังใช้แรงงานจากคนในระแวกนั้น ส่วนแหล่งวัตถุดิบเราก็หามาจากแหล่งปลูกในประเทศไทยที่จะมีอยู่ 2-3 แหล่ง ทางภาคเหนือ และพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศลาว และปากช่อง โคราช
SME One : ช่วงทำธุรกิจแรกๆ Sweepy เจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่
นนทัช : ผมคิดว่าปัญหาตอนเริ่มต้นมันยังไม่ได้เป็นธุรกิจเท่าไหร่ คนมันยังไม่ค่อยครบ ตอนนั้นผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะคิดว่าคนที่เป็น CEO ต้องเริ่มจากการมีคนไม่กี่คนก่อน แล้วก็จะมีปัญหาที่มีคนไม่เก่งอยู่ เราก็จะไปหาคนเก่งมาทำหน้าที่นั้น อย่างเช่นการทำการตลาดในประเทศ เราจะทำการตลาดแบบไหน โฆษณาแบบไหน เราจะเข้า Modern Trade อย่างไร แล้วเราจะสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาอย่างไร แล้วถ้าเราจะส่งออกไปต่างประเทศ เราต้องทำวิธีไหนบ้าง เราก็จะศึกษา Distribution Channel ของเรา เราส่งไปแล้วมันเป็นยังไงบ้าง มันก็คือการสร้างคนผมคิดว่า มีคนที่เราไว้วางใจและสามารถเติบโตกับธุรกิจนี้ได้ คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนน่าจะต้องผ่านให้ได้
ผมใช้เวลาศึกษาตลาดจริงจังประมาณ 1 ปี จนถึงวันหนึ่งที่เราตัดสินใจจะทำไม้กวาดและกว่าจะได้เป็นไม้กวาดออกมา กว่าที่เราจะหาคนที่เราไว้ใจและทำธุรกิจให้เป็นระบบขึ้นมาได้ จนมาถึงตอนนี้ก็ยังมีปัญหาครับ มันก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ เพราะมันเป็นการทำธุรกิจ ปัญหาช่วงเริ่มต้นมันมีอยู่แล้ว ตอนนั้นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จมากกว่า และสิ่งที่ได้มาหลังจากนั้นก็คือว่า เราจะสร้างคนอย่างไร เราจะสร้างระบบอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนไว้วางใจในสินค้าเรา ทำอย่างไรให้ Sweepy เป็นที่พูดถึง ยอมรับ และอยากได้
SME One : Sweepy ทำตลาดมาแล้ว 5 ปี ไม้กวาด Sweepy เวอร์ชั่น 1.0 กับเวอร์ชั่นปัจจุบันมีความแตกต่างรกันหรือไม่
นนทัช : ต้องบอกว่าทุกวันนี้เวอร์ชั่น 1.0 ก็ยังขายอยู่ เพราะว่าคนเขายังชอบแบบอยู่ แล้วมันก็จะมีเวอร์ชั่นอื่นๆ ที่มันผลิตขึ้นมาด้วย เช่น เวอร์ชั่นที่ถอดประกอบได้ ก็จะส่งไปที่เมืองนอก แล้วก็จะมีที่โกยผงที่ขายพร้อมกัน
ทุกวันนี้ Sweepy มีการแตกไลน์สินค้าออกไปบ้าง แต่หลักๆ ก็จะเน้นเรื่องการทำความสะอาด ไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดหยากไย่ ไม้กวาดเสี้ยนตาล ที่โกยผง แล้วเราก็จะมีการทำตะกร้าที่เอาไว้ไปตลาดไปซื้อของ ก็จะเป็นตะกร้าที่แข็งแรงทำมาจากปาล์ม แล้วก็เหมาะที่จะอยู่ในครอบครัวเดียวกับ Sweepy แล้วตอนนี้ก็มีผ้าสปันที่เป็นเหมือนผ้าฟองน้ำที่เอามาเช็ดถู แล้วกสามารถใช้ซ้ำได้
SME One : ช่วง COVID-19 ระบาด Sweepy ได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่
นนทัช : เราขายดีขึ้นเยอะในช่วง COVID-19 ระบาดแรกๆ หลังจากนั้น COVID-19 มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ยอดขายเราก็นิ่งๆ หย่อนๆ บ้าง จน 2 เดือนที่แล้วตัวเลขก็ค่อยขึ้นมาอีก ทุกคนก็น่าจะรู้ว่ายอดใน Modern Trade มันลดลง แล้วเราโฟกัสต่างประเทศมากขึ้นด้วย มันก็เลยทำให้เราขายได้มากขึ้นในตอนนั้น
ปัจจุบันเราขายผ่านช่องทาง Modern Trade เช่นบุญถาวร, Index, Homepro นอกจากนั้นก็จะมีร้านเล็กๆ แล้วก็จะมีส่งออกไปที่อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี แล้วก็มียุโรปที่ฝรั่งเศส โดยรายตอนนี้ประมาณ 60-70% อยู่ในประเทศ และประมาณ 30-40% เป็นตัวเลขส่งออกต่างประเทศ
SME One : ตลาดต่างประเทศบางประเทศนิยมใช้พรม สินค้าของเราไปฟิตกับไลฟ์ไตล์แบบไหน
นนทัช : ผมคิดว่าเขาก็ใช้ไม้กวาดเหมือนกันนะครับ ตอนแรกผมก็แปลกใจเหมือนกัน คือฝุ่นบ้านเขาต้องน้อยกว่าบ้านเราแน่นอน แต่ไม้กวาดก็ยังต้องมี ผมคิดว่าประชากรของเขาก็เยอะด้วยแหละ มันก็เลยทำให้ยังได้ยอดขายเยอะอยู่ตลอด
SME One : วางแผนการขยายธุรกิจในอนาคตไว้อย่างไร
นนทัช : ผมไม่ได้คิดว่าต้องรอให้เหตุการณ์มันกลับมาเป็นปกติ เรื่องของการขยายธุรกิจก็คิดอยู่ แล้วก็ลองทำอยู่เหมือนกัน เพราะว่าสินค้านี้มันเป็นสินค้าที่ต้องมีทุกบ้าน คือผมรู้สึกว่าธุรกิจจะให้มันเป็นไม้กวาดอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องเป็นมากกว่านั้น คือตอนนี้ทุกคนเริ่มออนไลน์กันเยอะขึ้น เราก็ไปร่วมกับโปรโมทของเขามากขึ้น คือเน้นในเรื่อง Distribution Channel มากกว่า ให้คนเข้าถึงเราได้เยอะขึ้น
ในส่วนของสินค้าใหม่ ตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าอะไร เราขอพยายามโฟกัสที่เราทำอยู่ให้มันดีก่อน สิ่งที่สำคัญคืออยากทำให้ภาพของ Sweepy ให้มันชัดเจนด้วย
ในส่วนของความท้าทาย ทุกวันนี้เรื่องท้าทายคือต้องการทำให้ธุรกิจดีขึ้น และการมีสินค้าตัวใหม่ที่ทำขึ้นมา คือไม้กวาดมันเป็น Signature ของเรา แล้วมันก็จะมีตัวอื่นที่คนก็ซื้อ แต่ก็ไม่ได้ซื้อเท่าตัวไม้กวาด การสร้างสินค้าที่เป็น Signature อันนั้นคือความท้าทายที่สุด มันอาจจะใช้เวลา แต่อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้ เราค้นคว้าใช้เวลากับมันมากแค่ไหน
ในเรื่องของการพัฒนาตลาด ถ้าเราสามารถทำอะไรที่มันใหม่ๆ ได้ หรือใครที่คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ผมก็อยากให้คนทำออกมาเรื่อยๆ การออกสินค้าใหม่มันอาจจะไม่ดีกว่าเดิม หรืออาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ ดีกว่าของผมหมายถึงเชิงฟังก์ชั่น เรื่องตัวแบบ และดีไซน์
อีกหนึ่งเป้าหมายที่เราอยากทำเพิ่นขึ้นในอนาคตก็คือ การทำ Co-Branding ผมชอบไอเดียที่มันเป็นความร่วมมือใหม่ๆ ตอนนี้ Sweepy เองอาจจะยังไม่ได้ทำจริงจัง เราเคยทำงานร่วมกับ Habitat คือที่ส่งไปขายที่ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงเกือบมีโอกาสจะได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง H&M แต่ติดปัญหาเรื่องราคาต้นทุน เรื่อง Co-Branding เราเปิดรับเสมอถ้ามีใครสนใจก็อยากให้เขาติดต่อมาได้เลย แต่จะทำได้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องเจรจาดู
SME One : ถ้าอยากจะให้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เราจะให้คำแนะนำอะไร
นนทัช : อยากฝากเรื่องการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ และมี Passion กับมัน เพราะผมอยากให้มองสิ่งที่จะทำเป็นมากกว่าไอเดีย คือถ้ามันทำออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ก็จะดี แล้วก็ลองขายดู ยังไม่อยากให้ยอมแพ้ไปก่อน พอมันเริ่มได้แล้วก็ควรหาความรู้รอบด้านให้เยอะที่สุด และควรรู้รอบด้านในเชิงการทำธุรกิจด้วย
บทสรุป
ความสำเร็จของไม้กวาดดอกหญ้า Sweepy มาจากการให้ความสำคัญทั้งด้าน Emotional Value และ Functional Value เพราะนอกจากจะมีการออกแบบที่สวยงาม การเย็บที่ปราณีตแล้ว ยังคำนึงถึงเรื่อง Ergonomic Design หรืองานดีไซน์ที่ตอบโจทย์สรีระของผู้ใช้งานจริงๆ โดยเน้นองค์ประกอบของ 3 ทั้ง 3 ส่วนคือ ใช้งานดี, ใช้งานง่าย และทำให้ประสบการณ์ในการทำความสะอาดดีขึ้น
เชื่อไหมว่าเกลือทะเลของไทยที่ใช้เวลาทำนับเดือนนี้ มีราคาซื้อขายกันโดยเฉลี่ยตันละประมาณ 1,000 บาท หรือตกกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น กระทั่งมีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจของครอบครัวคือ “นาเกลือ”
พวกเขาเดินตามความฝันอยู่พักใหญ่ ลองผิดลองถูกกันหลายครั้งจนมาเป็น “เจลอาบน้ำจากดอกเกลือ” ที่คิดตามมูลค่าแล้วมีราคาถึง 20,000 บาทต่อ 1 ตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า วันนี้เบญจรัตน์ ปัญญาวงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลักซ์นา จำกัด เจ้าของแบรนด์ IRIN จะมาเผยเคล็ดลับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “สินค้าชั่งตวงวัด” อย่างหมดเปลือก
SME One : จุดเริ่มต้นของ IRIN เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เบญจรัตน์ : IRIN เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อน ๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ 4 คน อายุเฉลี่ยประมาณ 34 - 37 ปี เริ่มจากที่บ้านของหุ้นส่วนคนหนึ่งทำนาเกลือมานานกว่า 100 ปี จึงมีความรู้เกี่ยวกับเกลือค่อนข้างดี ว่าเกลือทะเลมีประโยชน์อย่างไร หุ้นส่วนอีกคนก็เป็นทายาทนักธุรกิจที่เข้าใจระบบธุรกิจ หุ้นส่วนคนที่ 3 ครอบครัวก็ทำโรงงานเครื่องสำอางเป็น Generation ที่ 4 แล้ว ส่วนตัวเองเรียนทางด้านกฎหมายมา IRIN เริ่มจากเพื่อนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มารวมตัวกัน
ไอรินเป็นคำไทยแปลว่า เกลือ จุดเริ่มต้นของ IRIN มาจากการพัฒนาดอกเกลือเป็นผลิตภัณฑ์ Skincare โดยสินค้าตัวแรกของเรา คือสบู่ที่มีส่วนผสมของดอกเกลือที่แก้ปัญหาสิวผดผื่นคันตามร่างกาย เพราะเกลือเป็นยาฆ่าเชื้อโดยธรรมชาติ มีงานวิจัยของต่างประเทศรับรอง
SME One : จากวันที่เริ่มธุรกิจ IRIN ใช้เวลาในการพัฒนาสินค้ากี่ปี
เบญจรัตน์ : ประมาณ 2 ปี นับจากเริ่มจดทะเบียนบริษัท ที่ใช้เวลานานถึง 2 ปี เพราะอยากที่จะพัฒนาสูตรให้ดีที่สุด ปัญหาที่เราเจอตอนแรก ก็คือเราตั้งใจจะใช้ส่วนผสมธรรมชาติ 100% แต่วันที่สินค้าออกสู่ตลาดใช้เวลาถึง 2 ปี ทำให้ไม่ทันท่วงที กลายเป็นว่าพอสินค้าออกมาถึงสินค้าเราจะมีคุณสมบัติดีมาก ตอบโจทย์ลูกค้าทุกอย่าง แต่ตลาดก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สินค้าตัวแรกของเราจึงไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องพัฒนาสินค้าต่อ แต่เราเริ่มมีประสบการณ์จากที่เราลองผิดลองถูกทำอะไรมาหลายอย่าง จนได้มาเป็นสบู่ก้อนที่ขายดีอยู่จนถึงวันนี้
หรืออย่างสบู่เหลวที่เป็นสบู่เกลือเราก็เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยที่ทำสบู่เกลือให้เหลวและใสได้ เพราะปกติถ้าเติมเกลือลงไปในสารละลาย สารตั้งต้นในการทำสบู่มักจะจับตัวเป็นก้อน แต่ IRIN เราทำให้เหลวใสได้
SME One : สินค้าที่ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ 100% มักจะมีราคาสูงอยากทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของ IRIN คือใคร
เบญจรัตน์ : ต้องอธิบายว่าตอนแรกเรายังไม่มีประสบการณ์ สินค้าตัวแรกที่ออกมาของ IRIN จึงขาดทุนจนเลิกผลิตไปในที่สุด เพราะเราตั้งใจทำสบู่ที่เป็น Natural 100% ตอนนั้นเรามีการทำ Survey ก่อนวางขายสินค้า ซึ่งกลายเป็นกับดักตัวเราเอง เพราะคนที่เราเลือกไปถามว่า เขายินดีจะจ่ายในราคาเท่าไหร่สำหรับสินค้าที่เป็น Natural 100% เราพบทีหลังว่าคนตอบมี Bias คือ ตอบมาทุกอย่างดีหมดเลย แต่ลืมคิดไปว่าเขาซื้อครั้งเดียว ตอนนั้นสบู่ Natural 100% ขนาด 250 มิลลิลิตร 1 ขวดจำหน่ายอยู่ที่ 199 บาท ซึ่งลูกค้าซื้อครั้งเดียว ก็กลายเป็นว่าเราไม่สามารถขายได้อีก
แต่พอเราเราเริ่มมีประสบการณ์การทำงานกับ Modern Trade เราก็ปรับตัวว่า IRIN จะเป็น Premium Mass ที่ผู้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ และหันมาเน้นหนักในตลาด Modern Trade โดยจับกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องสิว หรือผดผื่นคันตามร่างกาย แต่มีกำลังซื้อและเป็นกลุ่มที่เน้น Benefit ของสินค้า เพราะ IRIN เป็นกลุ่ม Anti-bacteria ที่แบบให้คุณประโยชน์อื่น ๆ นอกจากการฆ่าเชื้อโรค
SME One : ช่วงแรกนอกจากวางตำแหน่งสินค้าผิดแล้ว ยังเจอปัญหาอะไรอีกหรือไม่
เบญจรัตน์ : ตอนเริ่มต้นเรามีปัญหาทุกจุด เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์จริงๆ เรามีแต่ความรู้ที่เรียนมา ซึ่งโลกธุรกิจของจริงยากกว่าเยอะ เราเจออุปสรรคทั้งในเรื่องของการ Forecast เงินทุน คือเราวางแผนไว้หมด แต่ถึงเวลาลงสนามจริง สิ่งที่วางแผนไว้มันไม่เป็นอย่างที่ตำราบอก การดีลลูกค้า การปิด Order หรือ Supplier ต่าง ๆ หรือการต่อรองกับ Modern Trade ต่าง ๆ ที่กินระยะเวลา ไม่ได้เป็นไปตามที่แบบตำราที่เรียนมา ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคที่เราเจอ
ในส่วนออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging ในตลาดจริง ๆ กับ Packaging ในตำราที่เราเรียนมา ว่าด้วยการออกแบบ Packaging ในตำราบอกว่าควรทำอย่างนี้ ถึงเวลาจริง ๆ Packaging ที่ออกแบบตามตำรา ลูกค้าไม่ซื้อ เราก็ต้องมีการเปลี่ยน Packaging กันใหม่ เพื่อที่จะตอบโจทย์รสนิยมของลูกค้า
ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราอยากจะขายสินค้าที่เป็นไอเดียของเรา ที่เป็นความตั้งใจของเรา ที่เป็นความภาคภูมิใจของเรา อยากขายเพราะเรารักสินค้าตัวนี้ เรารัก Ingredient ตัวนี้ ทำให้เราพยายามจะเล่าแต่สิ่งที่เราอยากจะขายอะให้ลูกค้าฟัง โดยลืมว่าลูกค้าเขาต้องการฟังอะไร นั่นคือข้อผิดพลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ Product ตัวต่อ ๆ มาที่เราเริ่มพัฒนา เราจึงเริ่มจากการฟังลูกค้าจริง ๆ ไปยืนอยู่หน้า Shelf แล้วฟังลูกค้า ฟัง Feedback จริง ๆ จากผู้ใช้
SME One : การหยุดฟังทำเราได้คำตอบที่ชัดเจน แล้วนำไปพัฒนาสินค้าที่ตรงตามความต้องการใช่หรือไม่
เบญจรัตน์ : สินค้าของเรามีพื้นฐานมาจากเกลือ แต่เราเลือกผสมส่วนผสมอื่นๆ เข้าไป เพราะเราฟังลูกค้าว่าอยากได้อะไร ลูกค้าอยากให้เรา Combine เกลือกับอะไร แล้วเราเลือกจากสิ่งนั้นว่าส่วนผสมอะไรที่เอามา Combine แล้วลูกค้าจะซื้อ เช่น เรารู้ว่าลูกค้าชอบมะขาม ลูกค้าชอบขมิ้น เราฟังลูกค้าเสร็จแล้วเราก็เลือกจากคุณสมบัติของส่วนผสมอีกทีว่าอะไรที่เอามา Combine ลงไปแล้วจะทำให้ Effect ของสบู่ดีขึ้น เช่นสบู่เกลือ ผสมมะขาม หรือผสมนมข้าว
ยกตัวอย่าง สบู่ก้อนกับสบู่เหลวก็เป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน ลูกค้าที่ซื้อสบู่เหลวกับลูกค้าที่ซื้อสบู่ก้อนมีวิธีการเลือกที่ไม่เหมือนกัน คนที่ชอบใช้สบู่ก้อนจะชอบความรู้สึกสัมผัสแบบล้างแล้วต้องสะอาด ผิวต้องรู้สึกว่าแห้งสะอาด แต่คนที่ซื้อสบู่เหลวจะเป็นกลุ่มที่ชอบความชุ่มชื้น แต่ต้องไม่เหนียวเหนอะหนะ เพราะฉะนั้น Positioning ของแบบสบู่เหลวกับสบู่ก้อนเป็นคนละกลุ่มกัน แม้จะเป็นสบู่เกลือเหมือนกัน
SME One : IRIN เป็นสินค้าแบรนด์เล็ก มีวิธีการเจาะเข้าตลาด Modern Trade อย่างไร
เบญจรัตน์ : ส่วนหนึ่งมาจากการที่หุ้นส่วนมีประสบการณ์ในกลุ่มสินค้าหมุนเวียนเร็วหรือ FMCG (Fast-moving Consumer Goods) ทำให้มีประสบการณ์ในการนำเสนอสินค้า 2) เราใช้วิธีการ Matching Business 3) เราใช้วิธีการส่งประกวด เวลาที่เราเข้าประกวดโครงการต่าง ๆ ของเอกชน ไม่ว่าจะเป็น Startup Voucher หรือ 7 Innovation Awards ฯลฯ เวทีประกวดจะมีหน่วยงานที่รองรับ เวลาที่ได้รางวัลจะมี Connection ให้เราสามารถเข้าไปเจรจาธุรกิจนำเสนองานกับ Modern Trade ต่าง ๆ กับฝ่ายจัดซื้อโดยตรงได้ด้วย
จริงๆ ค้าปลีกสมัยใหม่จะมีพื้นที่ให้ สินค้ากลุ่ม SMEs ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Modern Trade กับหน่วยงานของรัฐหลาย ๆ หน่วยงาน ว่าจะสนับสนุน SMEs ซึ่งถ้าสินค้าเราได้คุณภาพมาตรฐาน ราคาได้ก็จะเพิ่มโอกาสได้ เพียงแต่ว่าการขายใน Modern Trade มักจะถูกกำหนดราคาโดยเจ้าตลาด ตัวอย่างเช่น ราคาสบู่เหลวขนาด 500 ml. ในกลุ่ม Premium Mass และเป็นสินค้า Anti-bacteria กึ่ง Beauty ราคาถูกกำหนดไว้โดยเจ้าตลาดอยู่ที่ 165 บาท ส่วนสบู่ก้อนราคาก็ถูกกำหนดไว้โดยเจ้าตลาดว่าสบู่ก้อนที่เป็น Natural หรือสมุนไพรประมาณนี้จะถูกกำหนดไว้โดยเจ้าตลาดว่า 48 บาท
จุดนี้เลยทำให้ SMEs เจ้าต่าง ๆ ถ้าไม่ได้มีโรงงานเองจะไม่ง่ายที่จะดีลกับ Modern Trade เพราะว่าขายผ่าน Modern Trade ค่า GP (Gross Profit) เริ่มต้นก็เฉลี่ยตั้งแต่ 30% ขึ้นไป แต่ถ้าเราไปประกวดในโครงการที่ห้างค้าปลีกจัดแล้วชนะก็จะทำให้ได้สิทธิพิเศษบางอย่างที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
SME One : มีแผนที่จะเปิด Pop-up Store ของตัวเองหรือไม่
เบญจรัตน์ : ยังไม่มีแผน เพราะมองว่ายังไม่จำเป็น เนื่องจาก IRIN ดีลกับ Modern Trade เป็นหลัก ลูกค้าเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เจอเรา On shelf อยู่แล้วทุกสาขา เราไม่จำเป็นต้องแย่งลูกค้ากันเอง ในการที่จะตั้ง Store เพิ่ม
SME One : IRIN มีขายให้กลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว เช่นใน Duty Free หรือในย่านที่เป็น Tourist Destination บ้างหรือไม่
เบญจรัตน์ : มีขายบ้าง อย่าง Big C ก็จะมีบางสาขาที่เน้น Tourist เป็นพิเศษ เช่น Big C สาขาราชดำริ ถึงแม้เราจะวางใน Shelf ปกติของ Big C ราชดำริ แต่จริง ๆ กลุ่มลูกค้าเป็น Tourist ซึ่งปกติแบบนี้เราก็จะดีลกับ Modern Trade เลยว่า Location ไหนบ้างที่เป็น Tourist Store เราก็จะมีโปรโมชันสำหรับ Tourist ที่จะซื้อยกลัง แต่ก็ผ่าน Modern Trade
นอกจากนี้ก็ยังมีขายผ่าน Cross Boarder เช่น ประเทศลาว ก็จะมีลูกค้าที่ลาวเป็น Cross Boarder ส่งออกทุก ๆ 2 เดือน ในส่วนของ Duty Free ช่วงก่อน COVID-19 เรามีคุยกับ King Power และบริษัทที่รับทำทัวร์บ้าง
SME One : ช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
เบญจรัตน์ : พอมีสถานการณ์ COVID-19 เข้ามา เราต้องผันตัวเองจากสินค้ากลุ่ม Skincare ที่เกี่ยวกับการแบบต้านแบคทีเรีย ไปสู่สินค้ากลุ่ม Hygiene โดยเริ่มผลิตจากองค์ความรู้ที่เรามี เราเริ่มทำเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่สัมผัสผิวหนังคนได้ ล้างออกได้หรือไม่ล้างออกก็ได้ ทั้ง Alcohol และ Non-Alcohol ที่จะช่วยในการฆ่าเชื้อ ต้านแบคทีเรียและต่อต้าน COVID-19 เรามีแตกแบรนด์ออกไปชื่อว่า DetV จะเป็นน้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์ ส่วน IRIN จะเป็นเกี่ยวกับ Skincare ก็คือผลิตภัณฑ์ที่เน้นในเรื่องของแบบของใช้ส่วนบุคคล
และเนื่องจากในปัจจุบันยอดขายของสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าตกลงกว่า 80% เราก็เลยผันตัวเองมารับผลิตสินค้า OEM เกี่ยวกับ Personal Care ต่าง ๆ รวมไปถึงผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์ที่อยู่ในเครือข่ายเครื่องสำอาง
กลายเป็นว่าธุรกิจที่เติบโตในตอนนี้จะเป็นกลุ่มสินค้า Hygiene Product แทน แต่สินค้ากลุ่ม Hygiene Product เราไม่ได้เข้า Modern Trade เพราะว่าตอนนี้คนไม่เดินห้าง ตอนนี้คนเน้นซื้อสินค้าออนไลน์กับเน้นซื้อสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่ของเราที่ไปวางขายตอนนี้ เราเน้นขายกลุ่มองค์กร ส่วนหนึ่งเพราะว่า End User ก็มีกำลังซื้อลดลง
SME One : ถ้าทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ มีแผนจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
เบญจรัตน์ : Product Line ที่เราวางแผนไว้ จริง ๆ มีแผนที่จะออกใหม่ทั้งหมดอยู่ 21 SKU จะเป็นกลุ่ม Body Care กลุ่ม Personal Care ด้วยความที่โรงงานเราสามารถผลิตได้สินค้าได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ปกติสินค้าในกลุ่ม Face Care ไม่ว่าจะเป็นแบบครีมต่าง ๆ เรามีกลุ่มลูกค้าคือคลินิกความงามต่าง ๆ เป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว เพราะเราเป็นโรงงานผู้ผลิต แต่เราไม่ได้จำหน่ายในฐานะแบรนด์ของแบรนด์ IRIN ถ้าแพลนที่เราจะไปก็คือพวก Lotion หรือ Scrub รวมถึงวางแผนจะผลิตสเปรย์กันยุงจากตะไคร้ที่เป็นสารจากธรรมชาติ
SME One : สินค้ากลุ่มใหม่ๆ เหมือนว่าจะไม่จำเป็นต้องมีเกลือเป็นส่วนผสมหลักแล้ว
เบญจรัตน์ : ปัจจุบันนี้สินค้าที่จะ Launch ออกมาตามแพลนที่วางไว้ 70% คือหลุดจากเกลือไปแล้ว กลุ่มสินค้าที่ยังมีเกลือ ยังคงเป็นสบู่เกลือ และจะมีสครับเกลือทะเล พูดตรงๆ ก็คือเกลือมีข้อดี แต่ก็มีข้อจำกัดในตัวของสินค้าที่ทำได้น้อย ตรงนี้ในตำราก็ไม่ได้สอน คือถ้าเรายังยึดติดอยู่กับตัวตนว่าเราต้องเป็นเกลือเท่านั้นจะทำให้ธุรกิจเราไปไม่รอด เพราะ Product หลายอย่างเกลือไม่สามารถตอบโจทย์ได้
แต่เรายังคงมี Hero SKU หรือสินค้าสร้างชื่อเสียงให้กับ IRIN อยู่ คือเราเริ่มจากเกลือก็จริงแต่ว่าธุรกิจมันต้องเดินไปข้างหน้า ถ้าเรายังยึดอยู่ว่าตัวตนของเราคือเกลือ เราจะไม่พัฒนา ถ้าเราไม่ได้ปรับตัวตามยุคสมัยหรือความต้องการของลูกค้า เราจะอยู่ไม่ได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้
บางทีจุดแข็งก็เป็นกับดักได้ ถ้าไม่ปรับตัว คือก่อนหน้านี้ที่จะมี COVID-19 บริษัทเราก็ยึดติดมากว่าสินค้าเราต้องมีส่วนผสมของเกลือ จนบางทีมันก็เหมือนแบบเป็นกรอบที่ปิดตัวเราเอง จนไม่สามารถทำสินค้าใหม่ ๆ ออกมาได้ ทั้ง ๆ ที่มีลูกค้ามากมายที่เดินเข้ามาบอกเราว่าอยากได้สินค้า IRIN ตัวนี้ ๆ ๆ แต่เราก็ไม่สามารถทำสูตรที่จะใส่เกลือลงไปได้ จนกลายเป็นข้อจำกัด
แต่ในวันที่เราตื่นขึ้นมาแล้ว พูดว่าเฮ่ย...นั่นมันเป็นอัตตาที่เรายึดมั่นว่าต้องเป็นอันนี้เท่านั้น พอเราวางอัตตาลง เราจะเห็นจริง ๆ ว่า Business กำลังจะพาเราไปที่ไหน เพราะสิ่งที่เราค้นพบ คืออะไรที่ลูกค้าจะซื้อ อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่เราอยากจะขายอะไร
SME One : ถ้าไม่ใช่เกลือ แล้วอะไรคือ Key Success ของ IRIN ในปัจจุบัน
เบญจรัตน์ : Key Success ของเราในปัจจุบัน คือเราปรับตัวเร็ว แล้วเราฟังลูกค้าจริง ๆ แล้วเราจะได้ยินว่าลูกค้าต้องการอะไร เราพยายามหา Meet the unmet เสร็จแล้วเราต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทันที อันนี้ที่ทำให้เรายังยืนอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์นี้
SME One : ถ้าลองมองย้อนกลับไปจากจุดเริ่มต้นที่มาจากสินค้า OTOP สินค้าชั่งตวงวัด ถือว่า IRIN มาได้ไกลแค่ไหน
เบญจรัตน์ : IRIN เดินมาไกลมาก จากตอนแรกแค่สินค้า OTOP ที่เราคิดว่าเราจะขายออกบูธตามงาน เราเดินมาจนถึงที่ระดับที่ได้คุยกับ Modern Trade ทุกค่าย แล้วเราเป็นคนตัดสินใจว่า Modern Trade ค่ายนี้เราจะเข้าหรือเราไม่เข้า ถือว่าเรามาไกลมาก
แต่ COVID-19 ทำให้เราได้กลับมาถามตัวเองว่า เราจะพา IRIN ไปทางไหน เหมือนได้กลับมามองเห็นความชัดเจนของตัวเอง จากที่ตอนแรก คือเราจะมุ่งสร้าง Product ที่ต้องมีเกลือเป็นส่วนประกอบ เพื่อบอกว่านี่คือจุดต่างของเรา จนเราได้เจอตัวตนว่าเรามี Hero SKU แล้ว เราจะสร้างตัวเองไปที่ไหนต่อไป หลังจากนี้เราจะตอบโจทย์ลูกค้าอย่างไรในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อก่อนเราคุยกันเป็นไตรมาส ตอนนี้เราแทบจะต้องคุยกันทุกสัปดาห์ จุดนี้คือข้อดีที่ทำให้เรายังไปได้ คือเราปรับตัวเร็ว เนื่องจากเราเป็น SMEs เป็นบริษัทเล็ก ๆ
SME One : อยากจะให้ช่วยให้คำแนะนำกับ SMEs ในการทำธุรกิจ
เบญจรัตน์ : ถ้าจะให้คำแนะนำกับ SMEs อยากจะบอกว่า เห็น SMEs หลาย ๆ เจ้าเขามีความตั้งใจมาก มีสิ่งที่เขาอยากจะขาย มีสิ่งที่เขาอยากจะเล่า มี Story มากมาย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ คำแนะนำสำหรับ SMEs ก็คือก่อนที่จะตัดสินใจอะไร อยากให้ SMEs ชัดเจนในเป้าหมาย ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณจะขายสินค้าที่ต้องการจริงๆ หรืออยากทำธุรกิจ เพราะบางทีสิ่งที่คุณอยากจะขาย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าอยากจะซื้อ
บทสรุป
แม้ว่าความสำเร็จก้าวแรกของ IRIN จะเกิดจากความคิดในการสร้างมูลค่าจากเกลือมาสู่สินค้า Pessonal Care แต่ความสำเร็จก้าวที่ 2 ของ IRIN นั้น มาจากการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยยอมทิ้งสิ่งที่เรียกว่า “อัตตา” ไว้ข้างหลัง เพราะในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าเกลือจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าอื่นๆ เพราะ Product หลายอย่างที่ IRIN ผลิตและวางจำหน่ายในระยะหลัง เช่น แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หรือสินค้าที่กำลังจะวางจำหน่ายในอนาคตอย่าง Face Care เกลือไม่สามารถตอบโจทย์ได้นั่นเอง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน