หอการค้าไทย บ่มเพาะและสร้างเครือข่ายเพื่อความแข็งแกร่งของ SMEs ไทย
วิสัยทัศน์ของหอการค้าไทย คือ การเป็นสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศที่ใช้ข้อมูล ความรู้ เครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เติบโตได้ในตลาดโลก อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทของหอการค้าไทยในการสนับสนุน SMEs ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
คุณสถาปนะ เลี้ยวประไพ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก หอการค้าไทย อธิบายถึงบทบาทในการสนับสนุน SMEs ไทยว่า หอการค้าไทยมีสมาชิกและเครือข่ายทั้งหมดกว่าแสนรายทั่วประเทศ ทั้งหอการค้ากลาง และหอการค้าจังหวัด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็น SMEs หอการค้าไทยจึงเน้นให้การสนับสนุน SMES ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนเป็นหลัก ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมี 33 คณะ 10 คณะทำงาน และหนึ่งในนั้นมีคณะทำงานที่เกี่ยวกับ SMEs โดยตรง สนับสนุน SMEs ไทยด้วยการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหอการค้าไทยกับภาครัฐ ให้ความรู้ในเรื่องของการบ่มเพาะความรู้ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Big Brother ที่นำองค์กรชั้นนำมาเป็นพี่เลี้ยง บ่มเพาะให้ความรู้ SMEs รุ่นน้องให้เติบโต และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“โครงการ Big Brother เราทำมาปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว เป็นโครงการที่นำเอาบริษัทพี่ที่เป็นบริษัทใหญ่ๆในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล บุญรอดบริวเวอรี่ ไทยเบฟเวอเรจ เอสซีจี โตโยต้า และปีนี้มี กลุ่มปตท เข้ามาร่วม รวมแล้วมีองค์กรใหญ่กว่า 23 บริษัท เข้ามาช่วยกันบ่มเพาะบริษัทน้องซึ่งต่อรุ่นเรารับได้ประมาณ 50 รายอย่างปีนี้เป็นปีที่ 7 เรารับได้ประมาณ 53 ราย ระยะเวลาโครงการประมาณ 1 ปี โดยเราจะเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของการสร้าง Vision และ Mission ขององค์กร การทำ Business canvas model การปรับปรุงเรื่องของผลิตภัณฑ์ การขาย ตลอดจน Supply Chine ของธุรกิจ SMEs เรียกว่าเป็น Full skill Program 1 ปีเต็ม ที่ผ่านมา 6 รุ่นมีบริษัทน้องที่เข้ามาร่วมโครงการแล้ว 363 บริษัท และจาก 6 รุ่นที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจจากการประเมินโดยอาจารย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการหากเป็นสมาชิกของหอการค้า เสียค่าสมัคร 35,000 บาท”
อีกโครงการ คือ โครงการ Business Accelerator ซึ่งเน้นการเข้าสู่ช่องทางการขายทาง Modern trade สำหรับ SMES ไทย เนื่องจากเป้าหมายส่วนใหญ่ของ SMEs ในประเทศต้องการที่จะนำสินค้าเข้าไปขายใน Modern trade ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมในเรื่องสำคัญอย่าง Supply chain
โครงการนี้เราทำร่วมกับทางกลุ่มซีพี ที่มีบริษัทในเครืออย่าง ซีพี ออลล์ โลตัส แม็คโคร เข้ามาช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ เป็นคอร์สระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โครงการนี้เราทำมาแล้ว 3 รุ่นกำลังเปิดรับรุ่นที่ 4 โดย 1 รุ่นจะรับผู้ประกอบการ 60-70 ราย ปัจจุบันมีคนที่เข้ามาร่วมแล้วทั้งหมด 190 ราย และสามารถนำสินค้าเข้าไปขายใน Modern trade แล้ว 30 ราย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการหากเป็นสมาชิกของหอการค้า เสียค่าสมัคร 6,000 บาท
นอกจาก 2 โครงการหลัก หอการค้าไทยยังมีโครงการย่อยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น On site visit ซึ่งให้ SMEs ได้เข้าไปเรียนรู้ ศึกษางานจากสถานประกอบการจริง เช่น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ, Food Innovation ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นต้น ส่วนของช่องทางออนไลน์ ทางหอการค้าไทยมีคอร์สเรียนต่างๆให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนได้ฟรี โดยหลักสูตรทั้งหมดพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยหอการค้า ผู้เรียนที่เรียนจบจะมีใบประกาศให้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการต่อยอดความรู้
ในส่วนของการให้บริการ หอการค้าไทยมีบริการ Chatbot ในการให้ข้อมูลเรื่องของการตั้งบริษัท จดทะเบียนบริษัท เพื่อบริการให้คนเริ่มต้นธุรกิจ เอื้ออำนวยให้ SMEs มีความสะดวกในการสร้างธุรกิจของตนเอง ทั้งหมดเป็นโครงการที่หอการค้าทำอย่างต่อเนื่อง
“ปีนี้หอการค้าไทยครบรอบ 90 ปี เราจะมีโครงการที่เพิ่มความเข้มแข็งในกับสมาชิกเพิ่มเติม อันหนึ่งที่เรากำลังจะทำคือเรื่องของเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ้กเม้นต์ที่เราให้ความสำคัญนอกเหนือจาก การท่องเที่ยวและการบริการ การค้าและการลงทุน”
แผนการทำงานของหอการค้าในปีนี้คุณสถาปนะกล่าวว่าแบ่งเป็น 2 ระดับ ส่วนแรก คือ คณะกรรมการที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ โดยปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทางหอการค้าจะเข้าไปนำเสนอไอเดีย ข้ออุปสรรคต่างๆ ให้หน่วยงานรัฐรับทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายที่ยังไม่ได้เอื้อต่อ SMEs มากนัก รวมถึงการปรึกษาเรื่องการเปิดตลาดใหม่ เช่น ประเทศจีน ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ตอบรับสินค้าของไทยเป็นอย่างดี ส่วนที่สองคือการดำเนินงานของคณะกรรมการภายในที่ต้องพยายามคิดโครงการใหม่ๆออกมาให้ครอบคลุมทั้งเรื่องของ อาหาร เกษตร ท่องเที่ยว การค้า การบริการ
คุณสถาปนะ เสริมว่าความท้าทายของ SMEs ไทย หลังสถานการณ์ COVID-19 คือ เรื่องของการปรับตัว มองสิ่งต่างๆให้ไกลมากขึ้น รวมถึงหาข้อมูล ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจด้วยข้อมูลความรู้ จะช่วยให้ SMEs ไทย สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ สิ่งที่หอการค้าไทยพยายามเน้นให้กับ SMEs มี 3 เรื่องสำคัญคือ
Connect การเชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยการดึง SMEs เข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยสนับสนุนและพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการ พร้อมทั้งจะใช้แนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการระดมความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ เป็นแนวทางในการเดินหน้าเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค
Competitive การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐผลักดัน FTAAP และเร่งขยาย FTA กับต่างชาติให้มากขึ้น พร้อมเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ร่วมกับ BOI และ EEC จัด Road Show แสดงศักยภาพของประเทศ และผลักดัน Ease of Investment โดยกำหนดประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิมอย่าง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการหลายๆ อย่างจะได้รับอานิสงส์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่จะสร้างประโยชน์ระยะยาวทางเศรษฐกิจจากการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี
Sustainable การพัฒนาเพื่อการเติบไตอย่างยั่งยืน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาส เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดัน Bangkok Goals หรือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภาคเอกชน ระยะ 5 ปี ที่จัดทำร่วมกับ อว. เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรรม
“SMEs เป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปได้ SMEs มีส่วนในการผลักดัน แต่ SMES ก็ต้องมีความพร้อม ในการทำให้ธุรกิจของตนเองเติบโตไปได้ แข่งขันได้ การเข้าถึงข้อมูลและคอนเน็คชั่น มีระบบหลังบ้านที่ดีสำคัญในการเติบโต เราต้องกลับไปดูตัวเราเองว่าขาดอะไรอยู่ เราต้องเตรียมความพร้อมกับสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้วิสัยทัศน์ในระยะยาว เราต้องคิดก่อนว่าอนาคตเราต้องการเป็นแบบไหน จะเติบโตไปอย่างไร ถ้าเรามองตัวเองออก หนทางสู่ความสำเร็จก็ไม่ยากอะไร”
ผู้ประกอบการสามารถสมัครเป็นสมาชิกของหอการค้าไทยได้ทาง www.thaichamber.org หรือทาง แอพลิเคชั่น TCC Connect โดยค่าสมาชิกแรกเข้า 2,000 บาท และค่าสมาชิกรายปีเริ่มต้นที่ 2,600 บาท
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ถ้าหากผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ มีความต้องการที่จะกู้เงินกับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะทำอย่างไร
คำถามสำคัญข้อนี้นี่เอง ที่เป็นเหมือนภารกิจหลัก ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในการเข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือมีหลักประกันไม่เพียงพอสามารถได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถได้รับสินเชื่อ เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ บสย. ก็คือ การสร้างโอกาส และ สร้างความรู้ ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทาง บสย. นั้นมีผู้เชี่ยวชาญที่ทรงคุณวุฒิทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับ SME เป็นหลัก ที่ดำเนินการโดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisory Center, FA) พร้อมยินดีให้คำปรึกษาโดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เช่น การกู้เงินกับธนาคารต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง, หากกู้ยืมเงินจากธนาคารไปแล้ว กิจการประสบปัญหา และกำลังจะกลายเป็นหนี้เสียจะแก้ปัญหาอย่างไร, ถ้าหากเป็นหนี้เสียแล้ว อยากขอปรับโครงสร้างหนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น บสย. ก็จะทำการวินิจฉัยและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ
บริการจากทางศูนย์
บริการการค้ำประกัน บสย. เป็นศูนย์กลางข้อมูลของสถาบันการเงิน ที่สามารถแนะนำการให้บริการค้ำประกันที่ตอบโจทย์ เหมาะสมกับขนาดของผู้ประกอบการ และ บสย. สามารถช่วยค้ำประกันให้ได้
บริการให้ความรู้ ให้โอกาสทางการเงิน ดำเนินการโดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บสย. โดยการให้คำปรึกษาแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก
บสย. ต้องการที่จะเห็นผู้ประกอบการ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ให้กิจการสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมอย่างมีเสถียรภาพ สามารถเติบโตจากผู้ประกอบการรายเล็กไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางได้ สามารถที่จะทำงานเชื่อมโยงด้วยกันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้
บสย. เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่มีบทบาทในการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ โดยมีความยินดีที่จะเป็นผู้ให้บริการที่ครบวงจรให้กับผู้ประกอบการ สามารถเติบโตต่อไปได้
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ที่อยู่: อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2 (ชั้น1)
เลขที่ 2922/53 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์: 02-308-2151-2
โทรสาร: 02-308-2152
Call Center: 0-2890-9999
อีเมล: bangkok@tcg.or.th
เว็บไซต์: www.tcg.or.th
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการทำนโยบายเพื่อนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้ขยายขีดความสามารถทางธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และมีรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
บริการจากทางศูนย์
หน่วยบริหารจัดการทุน มีด้วยกัน 3 หน่วย ได้แก่
Sale Talent โครงการสร้างนักขายจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่มีการนำนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ มาฝึกฝนให้สามารถนำสินค้าจากประเทศไทยกลับออกไปขายยังต่างประเทศได้
สอวช. เองยังมีนบายที่ร่วมมือกับ สสว. ในการออกแบบกระบวนการทางธุรกิจเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในประเทศไทย
สอวช. นั้นมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคธุรกิจมีการขยายกิจการให้เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และ มีภาคการผลิตที่มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนในระบบอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล เพราะในอนาคตอันใกล้ เรื่องนี้จะเป็นโจทย์หลักที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันทำให้สำเร็จ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
ที่อยู่: 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 0-2109-5432
โทรสาร: 0-2160-5438
อีเมล: info@nxpo.orth
เว็บไซต์ : nxpo.or.th
Facebook: NXPOTHAILAND
YouTube: NXPO - สอวช.
จากผู้ป่วย สู่จุดเริ่มต้นดูแลผู้ป่วย
จุดเริ่มต้นของ Joy Ride Thailand นั้นมาจาก คุณจอย - ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร ในตอนนั้นยังทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาที่ตั้งใจทำงานอย่างหนัก จนวันหนึ่งมีอาการป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล และที่โรงพยาบาลนี่เอง ที่คุณจอยได้เห็นว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่กำลังรอคิวตรวจ ต่างเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้น บางท่านมาโรงพยาบาลด้วยตนเอง บาง่านเป็นผู้สูงอายุที่พาผู้สูงอายุอีกท่านหนึ่งมา ภาพที่เห็นนั้นกระทบใจ จนทำให้คุณจอยเกิดความรู้สึกว่า อยากที่จะเปลี่ยนอาชีพมาดูแลผู้สูงอายุ เป็นผู้ดูแลรับส่งผู้สูงอายุมาโรงพยาบาล
เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว ในคืนวันนั้นเอง คุณจอยก็ได้ปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจรับจ้างดูแลรับส่งผู้สูงอายุนี้ขึ้น กับผู้คนในกลุ่มสังคมออนไลน์ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ซึ่งมีผลตอบรับสนับสนุนนับพันคอมเมนต์ในชั่วข้ามคืน ทำให้วันรุ่งขึ้น คุณจอย เลือกที่จะยื่นใบลาออกจากกงาน แล้วหันมาเริ่มต้นบทบาทใหม่ทันที
Start-up เต็มที่กับสิ่งที่เชื่อมั่น
ใช้เวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง ในการวางแผนรูปแบบการให้บริการ การตั้งชื่อธุรกิจ ไปจนถึงการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ยื่นจดทะเบียน เปิดเว็บไซต์ เตรียมช่องทางติดต่อต่าง ๆ
Joy Ride Thailand สามารถถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด โดยมีรูปแบบการให้บริการ ที่ครอบคลุมดูแลผู้ที่มีความต้องการการดูเป็นพิเศษ หลากหลายกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึง ดูแลเป็นเพื่อนพาเที่ยว ทำธุระต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งบริการออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่
หัวใจของ Joy Ride
หัวใจหลักในการให้บริการของ Joy Ride Thailand ก็คือ ความใส่ใจ และนั่นเองที่เป็นจุดแข็งที่ยากจะลอกเลียนแบบ เพราะผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้บริการต่างประทับใจที่จะใช้บริการจากผู้คนที่พวกเขาไว้วางใจ จุดนี้เองที่ทำให้ทีมงานของ Joy Ride Thailand นั้นต้องผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกคนสามารถให้บริการลูกค้าอย่างเอาใจใส่ได้ ในระดับเดียวกัน
Joy Ride Thailand ได้วางเส้นทางอนาคตไว้ว่า อยากที่จะกระจายความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ หรือขยายการให้บริการออกไป ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุในทุกที่ สามารถได้รับการดูแลได้อย่างเต็มที่
Joy Ride Thailand หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะ อยู่เคียงข้างคอยรับส่งดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในยามปกติ ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไปจนถึงการส่งทุกท่านเดินทางพักผ่อนอย่างสงบในวันสุดท้ายของชีวิต และนั่นเป็นสิ่งที่ Joy Ride Thailand กำลังทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการต่อไปในอนาคต
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บริษัท วีล ออฟ จอย จำกัด
โทร: 095-395-3974
อีเมล: joyridethailand@gmail.com
เว็บไซต์: joyridethailand.com
Line: @Joyride
Facebook: JoyRideThailand
นวยนาด
สินค้าจากธรรมชาติที่ขอเดินแบบสโลว์ไลฟ์
“นวยนาด” เป็นแบรนด์ Natural Skin care ก่อตั้งโดยคุณปุ้ม นนท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ คุณว่าน ปกาสิต เนตรนคร ทั้ง 2 คนตัดสินใจปลดล็อกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่เร่งรีบ เพื่อย้ายกลับไปอยู่ชนบทในหมู่บ้านเล็กๆ ณ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จุดเด่นของนวยนาดนั้นอยู่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ในเชิงการค้านวยนาดเป็นธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs ที่รันธุรกิจในจังหวะกึ่ง Slow Motion ไม่เร็วเกินไป แต่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวความสุขกับสิ่งรอบตัว จากสินค้า Skin care นวยนาดได้ขยายธุรกิจมาสู่สินค้า Living product อย่างสินค้าเทียนหอม ล่าสุดนวยนาดได้มีการแตกไลน์สินค้าไปสู่ตลาดอาหาร ด้วยการทำ “ไส้กรอกโฮมเมด” ขาย คุณปุ้มซึ่งเป็นคนชอบทำอาหารอธิบายว่า การทำอาหารเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรที่ทำแล้วมีความสุข ซึ่งไส้กรอกโฮมเมดนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการทำอาหารเองมาตลอด
SME ONE : จุดเริ่มต้นของนวยนาดมีที่มาที่ไปอย่างไร
นันท์พัทธ์ : เริ่มจากตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำเกี่ยวกับหนังสือ สำนักพิมพ์ ทำพวก Magazine ทำ Content งานล่าสุดก็ทำเอเจนซี ก็เริ่มคิดแล้วว่าอยากเปลี่ยนไปทำฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่รู้สึกว่าอยากจะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น และอยากมีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นท้องถิ่นอะไรแบบนี้ ตอนนั้นก็ทำผลิตภัณฑ์พวกงานคราฟต์ใช้เองอยู่แล้ว รวมไปถึงทำพวก Skin care ด้วย พอทำมาสักพักก็เริ่มแจกให้คนรู้จักใช้ แล้วก็เหมือนหลายอย่างเป็นใจ เพราะมีคนอยากซื้อก็เลยคิดว่าน่าจะทำแบรนด์ขายเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า
ถึงแม้ว่าจากงาน Publisher มาเป็น Skin care จะมันคนละทักษะ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง งานเขียนก็ชอบ งานคราฟต์ก็ชอบ แค่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เอางานคราฟต์มาทำเป็นงานหลักเท่านั้นเอง แล้วงานหลักที่ทำเป็นงานเขียนมันก็สร้างรายได้ได้ดีด้วย แต่งานฟรีแลนซ์ต้องใช้ความรับผิดชอบสูง คำว่าฟรีแลนซ์มันเหมือนจะอิสระก็จริง แต่กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักกว่าตอนทำงานประจำ เพราะความรับผิดชอบเยอะ และงานก็ไม่รู้ว่าจะมีต่อเนื่องหรือเปล่า ใครใจดีให้งานเรามา เราก็รับหมด กลายเป็นว่าต้องทำงานหนักมาก หลังๆ ก็เริ่มเลือกงานมากขึ้น ลดงานลง เหมือนมันค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายมาทางงานคราฟต์มากขึ้น จนงานฟรีแลนซ์ก็เริ่มน้อยลงไป
SME ONE : ชื่อนวยนาดมาจากอะไร
นันท์พัทธ์ : ตอนที่ทำก็คิดไว้หลายชื่อ จากที่คุยกับแฟน (คุณว่าน) ชื่อนี้ว่านเป็นคนตั้งให้ เขาบอกว่ามันเป็นคำที่เขาเคยได้ยินยายพูดบ่อย เหมือนเขาโดนคุณยายบ่นว่าชักช้านวยนาด เป็นคำที่คนสมัยก่อนพูด เราได้ยินก็รู้สึกว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรามานานมากแล้ว ฟังแล้วมันก็ดูสวยดี แล้วก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เราเป็นอยู่ด้วย เราก็เลยขอคำนี้มาใช้แล้วกัน เอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า นวยนาดเป็นคำเหมือนเป็นคำบ่นของคน ประมาณนวยนาดเชื่องช้าอะไรแบบนี้ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นคำที่สวย มันเป็นภาษาพูดที่สวย ไม่ได้มองไปในเชิงลบเลย
SME ONE : ตอนที่เปลี่ยนอาชีพมาขาย Skin care จากธรรมชาติ เราเห็นโอกาสนี้อย่างไร
นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นมองว่าตลาดที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีแต่ OTOP เรื่องของบรรจุภัณฑ์มันก็ยังไม่ค่อยดึงดูดใจ เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ยังใช้สินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ เพราะเขายังไม่มั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากนัก เราก็เลยคิดว่าถ้าเราจะทำก็ลองทำรูปร่างหน้าตา หรือทำคอนเซปต์ให้ดูสวยงาม น่าเชื่อถือเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เหมือนเราได้คุยภาษาเดียวกัน เพราะตอนแรกๆที่เราทำ คนส่วนใหญ่ยังมองว่าสินค้าจากธรรมชาติเป็นของที่คนสูงวัยใช้ คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยกล้าใช้ของแบบนี้เท่าไหร่ อาจจะมีบ้างแต่เป็นกลุ่มที่ Niche จริงๆ ช่วงแรกที่เราทำนวยนาดก็ใช้วิธีการบอกกล่าวว่าเราได้วัตถุดิบมาจากไหน หามาอย่างไร และขั้นตอนทำเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ เราอาจจะไม่ได้เล่าทีเดียวทั้งหมด แต่เราใช้วิธีค่อยๆ เล่าไปทีละ Product และไปออกอีเว้นท์ในงานที่เกี่ยวข้องกับ Organic skin care หรือพวกของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน คือเรารู้สึกว่าถ้าไปออกอีเว้นท์ในงานกลุ่มนี้ เราก็จะได้กลุ่มลูกค้าที่ตรงและสื่อสารได้ง่าย
SME ONE : ประสบการณ์จากงานประจำที่เคยทำ Content หรือ Publisher มีส่วนช่วยมากน้อยเพียงใด
นันท์พัทธ์ : มีส่วนช่วยมาก เป็นข้อดีที่เราสามารถทำให้ Content มันกระชับหรือเป็นคอนเซปต์เราได้ง่ายจากงานที่เราเคยทำมา แม้กระทั่งตอนนี้ที่นิยมสื่อสารผ่าน Instagram, Facebook, เว็บไซต์ก็ยังมีประโยชน์อยู่
SME ONE : สินค้าที่ขายดีของนวยนาดคืออะไร
นันท์พัทธ์ : ยังเป็นสบู่เหลวชื่นจิต ชื่นใจ เพราะเป็นสินค้าที่จับต้องได้ง่าย และมีกลิ่นที่เป็น Signature ของแบรนด์ด้วย กลิ่นชื่น จิตชื่นใจของสบู่เหลว พัฒนาต่อยอดมาจากสบู่ก้อน ซึ่งตอนทำสบู่ก้อนยังไม่ได้มีกลิ่นที่ดึงดูดใจลูกค้า เพราะเราทำเป็นแบบธรรมชาติเพียวมาก สบู่รำข้าวกลิ่นก็จะอ่อนๆ แล้วเวลาที่เราไปออกร้าน เวลาที่ลูกค้าลองเทส สิ่งแรกที่เขาทำก็คือดม เราก็คิดว่าหรือเราจะลองออกสินค้าที่มีกลิ่นดู เราก็ลองมาศึกษาว่าอะไรบ้างในบ้านเราที่มีกลิ่นแต่ไม่ใช้สารเคมีหรือมีการใช้สารสังเคราะห์ที่น้อยมาก เราก็ไปเจอน้ำอบที่เป็น Signature ของไทยเรา เป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มาก แต่ถ้าให้เรามาทำน้ำอบเฉยๆ คนเขาก็ทำเยอะแล้ว เราก็เลยลองมาทำน้ำอบ 2 กลิ่นดู แต่ก็ยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำอบอยู่ ก็คือกลิ่นชื่นใจที่เป็นดอกไม้ไทย แล้วเราก็ทำอีกกลิ่นหนึ่งขึ้นมา คือกลิ่นชื่นจิต แล้วเราก็มาตั้งคำถามอีกว่าจะทำอย่างไรให้คนเอากลิ่นน้ำอบนี้ไปใช้อยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขาด้วย เราก็เลยทำเป็นสบู่เหลวที่มีกลิ่นน้ำอบ ก็คือกลิ่นชื่นจิตกับกลิ่นชื่นใจ ก็เลยเป็นคอลเลคชั่นชื่นจิต ชื่นใจที่มีน้ำอบแล้วก็สบู่เหลว เหมือนอาบน้ำเสร็จแล้วก็ใช้น้ำอบทาตัว
SME ONE : จากสินค้า Skin care นวยนาดขยายมากลุ่มสินค้า Living product ได้อย่างไร
นันท์พัทธ์ : ที่ทำ Skin care แล้วมาทำเครื่องหอมของแต่งบ้าน เพราะว่าในพื้นที่ที่เราอยู่ อำเภอสี่คิ้วจะมีงานแกะสลักหินทราย เราเล็งไว้แล้วว่าอยากจะทำอะไรกับงานช่าง แต่ตอนนั้นเราทำ Skin care อยู่เรายังตกผลึกหรือคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรแบบไหนดี เราเอาวัสดุมาทดลองทำหลายอย่างมาก จนเรามาทดลองแล้วเจอคุณสมบัติหนึ่งของหินทรายที่เขาไม่ได้เป็นเนื้อหินที่แน่นมาก จะมีรูอากาศที่พรุนอยู่ แล้วเราทำ Skin care ที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ของเราอยู่แล้ว เราก็เลยเอามาทดลองพัฒนาเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องหอม
เราเคยเห็นของคนญี่ปุ่นที่เขามีหินภูเขาไฟแล้วก็เอามาหยดเป็นหินกระจาย เราก็คิดว่าน่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้าเป็นของไทยก็เป็นหินทรายไหม แล้วลองออกแบบรูปลักษณ์ดูว่ามันจะสามารถนำไปใช้เป็นของแต่งบ้านได้หรือเปล่า นอกจากคุณสมบัตินั้นก็ยังสามารถนำมาเป็นอย่างอื่นได้ เช่น เทียนหอมอีกอะไรแบบนี้
หินทรายที่นำมาใช้ ทำให้เครื่องหอมสามารถระเหยได้ด้วยตัวเองเหมือนเป็นถาดแล้วเอาน้ำหอมหยดลงไป 2-3 หยดแล้วก็วางทิ้งไว้ โดยไม่ต้องใช้ความร้อนหรือไฟฟ้าเลย แล้วหินทรายตามธรรมชาติเขาจะมีสี สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีชมพู คือแต่ละชิ้นมันจะไม่เหมือนกัน
SME ONE : ปัจจุบันสินค้าของนวยนาดครอบคลุมกลุ่มไหนบ้าง
นันท์พัทธ์ : ตอนนี้นวยนาดมี Skin care เป็นพวกอาบน้ำบำรุงผิว แล้วก็มีของแต่งบ้านที่เป็นเครื่องหอมเข้ามา ปีนี้เราจะมีเรื่องเกี่ยวกับอาหารด้วย โดยจะแยก Facebook ต่างหากแต่จะใช้คำว่านวยนาดเหมือนกัน เป็นอาหารพวก โฮมเมดไส้กรอก หรือของหมักดองอะไรแบบนี้ อันนี้มันเกิดจากการที่เราอยู่แล้วเราก็ต้องทำกินกันอยู่แล้ว เราก็อยากให้คนที่มาได้กินของแบบเดียวกับที่เรากินด้วย และอาจจะซื้อสินค้านวยนาดด้วยก็แล้วแต่ เป็นโฮมเมดไส้กรอกเหมือนที่กินกับสเต็กอะไรแบบนี้
SME ONE : สินค้าของนวยนาดขายความเป็นของไทย หรือขายความเป็นอีสาน
นันท์พัทธ์ : เราใช้วัตถุดิบที่มาจากอีสาน เราพยายามใช้ของที่อยู่ใกล้พื้นที่เรามากที่สุด แต่เราไม่ได้หยิบความเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาเป็นจุดขาย ถ้าจะให้จำกัดความจริงๆ คือ เราพยายามหาอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือเราในที่ๆ เราอยู่ แล้วด้วยความที่จังหวัดนครราชสีมามันอยู่ในแถบอีสาน สิ่งที่เราเจอและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ก็จะเป็นพืชพรรณในแถบนี้
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจเจอปัญหาอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร
นันท์พัทธ์ : ตอนนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับลูกค้า เราต้องพูดกับคนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคอนเซปต์ที่เราต้องสื่อสาร และช่วงแรกๆ รายได้มันก็ไม่ได้หวือหวาเหมือนกับคนที่ทำธุรกิจที่เขาจะต้องหายอดให้ได้ภายในปีนั้นๆ นวยนาดโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ ขยายสินค้า ค่อยๆ เดินทางมากกว่า ก็เลยต้องใช้ความอดทนและมองเป้าหมายไกลๆ แม้ว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันนำไปสู่อะไร เราต้องค่อยๆ เดินทางไป ช่วงแรกก็เลยติดขัดนิดนึง แต่ด้วยความที่เรารู้ว่าเราทำอะไร ก็เลยไปต่อได้ ปัจจุบันนี้นอกจากขายในประเทศ นวยนาดยังมีจำหน่ายไปต่างประเทศ ถ้าเป็นในแถบเอเชียก็จะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มีทั้งแบบตัวแทน และสั่งไปใช้เอง
SME ONE : ที่ผ่านมานวยนาดเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่
นันท์พัทธ์ : มีไปเข้าโครงการ Talent Thai ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มาให้คำแนะนำการมาแมทชิ่งวัสดุกับดีไซเนอร์แล้วร่วมกันออกแบบ ตอนนั้นได้ทำงานกับทีมงานที่มีคุณภาพ แล้วก็รู้ว่าดีไซเนอร์เวลาทำงานจริงๆ ทำยังไง แล้วก็ได้รู้เรื่องการส่งออกการนำเข้า นอกจากนี้สินค้าเทียนหอมก็ยังเคยได้รางวัลจากการส่งประกวด Design Excellence Award (DEmark) ในปี 2019 สินค้าของนวยนาดมีความน่าสนใจคือ ตอนนั้นเทียนหอมส่วนใหญ่มีแต่ที่บรรจุภัณฑ์เซรามิค ฟังก์ชันที่นอกเหนือจากการจุดยังไม่มีแบรนด์ไหนทำ แต่เทียนหอมนวยนาดฝาเทียนเป็นหินทราย อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าหินมีคุณสมบัติในการหยดอยู่แล้ว แล้วของเราถ้าเราไม่อยากจุดเทียนแล้ว เราก็เอาน้ำหอมหยดแค่ที่ฝาก็ได้ แล้วตัวสินค้าก็สามารถนำมา Reuse ได้อีก
SME ONE : ถ้าจะถามว่าอะไรคือ Key success ของนวยนาด
นันท์พัทธ์ : น่าจะเป็นเรื่องแนวทางในแบบที่เราตั้งใจจะเดิน เราตั้งมั่นว่าเราอยากจะมีอาชีพที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ เราก็เลยยืนหยัดและพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้มันสามารถเดินทางได้ต่อไปเรื่อยๆ และเรามั่นใจด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถเดินต่อไปได้อีกเยอะ และยังมีอะไรให้เราทำอีกเยอะแยะมากมาย เราแค่ต้องบริหารจัดการและรอจังหวะให้ได้เท่านั้นเองว่าแต่ละขั้นตอนเราจะทำอะไร อาจเป็นความโชคดีด้วยที่ ตอนเริ่มต้นเราเริ่มต้นด้วยเงินทุนสำรองที่เราเก็บมา ไม่ใช่เริ่มต้นจากการกู้เพื่อมาทำธุรกิจ เพราะการตัดสินใจมันจะต่างกัน และช่วงคาบเกี่ยวตอนที่ทำใหม่ๆ เราก็ยังมีงานประจำทำอยู่ เราก็เอาเงินจากงานประจำมาต่อทุนได้อยู่เรื่อยๆ ในช่วงแรก
SME ONE : จากนี้ต่อไปคิดว่าจะต่อยอดธุรกิจของนวยนาดอย่างไร
นันท์พัทธ์ : ด้วยความที่เพิ่งจะมีลูกเมื่อปีที่แล้ว เราก็เลยเริ่มวางแผนว่าจะเริ่มนิ่งอยู่กับที่มากขึ้น อย่างที่บอกเรามีเรื่องอาหารโฮมเมดเข้ามา เรามอง Product ในเรื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมด ของใช้ในบ้านหรืออะไรก็ตามที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เราอยากพัฒนาสินค้าไปในแนวทางนั้น เพื่อที่เราจะได้อยู่กับมันได้ เราทำของขึ้นมาเพื่อใช้มันและก็สามารถนำของที่เราทำขึ้นมาขายได้ด้วย แล้วก็อาจจะออกอีเว้นท์น้อยลงเพื่อมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น
การดำเนินธุรกิจของนวยนาดจะเป็นไปในแนวทางนี้มากกว่า คือหาวิธีการหาเงินในแบบอยู่กับที่ ขยับตัวน้อยลง แต่ไม่ได้หมายถึงย้ายไปที่อื่น ก็คือการขยับตัวจะอยู่ที่บ้านอยู่ที่เดิมแบบนี้
ส่วนความท้าทายหลังจากนี้ไป น่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่าแต่ละปีมันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันคือสิ่งที่เราไม่รู้ นี่คือความท้าทาย เหมือนตอน COVID-19 ที่ผ่านมาก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป
ตัวอย่างเช่นวิกฤต COVID-19 ในช่วงแรก เราได้รับผลกระทบจากสินค้าที่เราไปวางขายหน้าร้านไม่ได้ ยอดขายตรงนั้นจะหายไป แต่พอเรารู้ว่ายอดขายจากหน้าร้านหายไป แต่คนยังจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ เราก็เลยลงมาทำพวกของ Limited special จำหน่าย เพราะเราไม่สามารถไปฝากร้านขายได้แล้ว ห้างก็ปิด หน้าร้านก็ไม่ได้เปิด เราก็เลยดึงยอดจากตรงนั้นมาแทนด้วยการทำของที่มันพิเศษหน่อย และเป็นของใช้ที่เหมาะสำหรับคนอยู่บ้าน เป็นกลิ่นพิเศษ เป็นพวกเทียนหอม ก้านหอมกระจายกลิ่นที่สามารถใช้ในบ้านได้ ช่วงนั้นจะเป็น product ประเภทนั้นที่เราทำจำหน่าย เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ที่หายไป
SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่จะมาเป็น SMEs
นันท์พัทธ์ : อยากให้ฝึกทักษะการตัดสินใจและกล้าตัดสินใจ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำ การไม่ทำก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง เมื่อเราตัดสินใจบ่อยๆ จะรู้ว่าทุกๆ การตัดสินใจมันส่งผลหมด แต่ไม่ว่าอยากจะทำธุรกิจอะไร ก็ให้ทำเลยและใช้การตัดสินใจเยอะๆ ถ้าทำแล้วไม่ตัดสินใจมันจะไม่เกิดการเดินต่อไปข้างหน้า การกล้าตัดสินใจนี้ใช้ได้ทั้งกับคนที่กู้เงินมา หรือเป็นเงินก้อนสุดท้ายของตัวเอง เพราะว่าการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เราเองก็เคยอยู่ในจุดที่ต้องลุ้นแล้วเหมือนกัน เราก็ต้องตัดสินใจเหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไปและไม่ทำอะไร
การตัดสินใจมันคือการวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ใช้แค่อารมณ์ ทุกๆ การตัดสินใจเราจะต้องมองข้ามช็อตไปข้างหน้า วิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดและคัดกรองออกมา แล้วเราจะรู้ว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เหมือนเราต้องมองเห็นสิ่งที่แย่ที่สุดที่มันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำสิ่งนี้ สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง เราจะไม่ได้มองแค่ภาพฝันอย่างเดียว
บทสรุป
ความสำเร็จของนวยนาดมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ตัวโปรดักต์เองที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน กับการเลือกวางโพสิชั่นนิ่งของแบรนด์ โดยอาศัยช่องว่างทางการตลาด คือ วางตำแหน่งให้อยู่สูงกว่าสินค้าในกลุ่ม OTOP แต่ต่ำกว่ากลุ่มสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามทันสมัยจนสามารถคว้ารางวัล Design Excellence Award ซึ่งทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในส่วนของงานสื่อสารการตลาด นวยนาดใช้การสร้าง Brand value ผ่านการทำ Storytelling ด้วยการบอกกล่าวเล่าขานถึงความเป็น Organic ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ หรือจะเป็นเรื่องของความเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัว