PTEC แนะ MSME เติมความรู้มาตรฐานสินค้า
รวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรอง + ปั้นโปรดักต์แชมป์เปี้ยน
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) หรือ PTEC ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นอีกหน่วยงานภาครัฐมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME ในมุมของการเป็นศูนย์บริการให้การบริการทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสากล
ดังนั้นผู้ประกอบการ MSME ที่นำเข้า ส่งออก คิดค้นตลอดจนผลิต ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องนำสินค้ามาทดสอบที่ศูนย์แห่งนี้ก่อนจำหน่าย ซึ่งที่นี่จะทดสอบเพื่อให้บริการรับรองภายใต้มาตรฐาน
มอก., กสทช., อย., เบอร์ 5, NECTEC, AEC, CE, FCC และ E-MARK เรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) กล่าวว่า PTEC ถือเป็นห้องปฏิบัติงานที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 เรียบร้อยแล้วทั้งการทดสอบ EMC และการสอบเทียบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานความถี่สูง และขณะนี้ PTEC กำลังเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC17020 เพื่อเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Bodies) รับรองผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้นจึงถือได้ว่า ขอบข่ายการบริการของ PTEC ครอบคลุมความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อจะให้มีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศ และรองรับการประกาศบังคับใช้มาตรฐานต่าง ๆ ในประเทศอีกด้วย
“การให้บริการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ในกรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป จะเป็นมาตรฐาน มอก. หากเป็นผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และการสื่อสาร จะเป็นมาตรฐาน กสทช. ส่วนเครื่องมือแพทย์ เป็นมาตรฐานของ อย. แต่หากผู้ประกอบการ MSME นำเข้าผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจำหน่าย แล้วเป็นสินค้าควบคุม หรือเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา ทาง สคบ. จะติดต่อมาให้ PTEC นำสินค้าดังกล่าวมาทดสอบให้ด้วย”
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดร.ไกรสร พบว่าจุดอ่อนของผู้ประกอบการ MSME ไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน โดยยังเข้าใจว่าสามารถผลิต นำเข้าสินค้า หรือส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้ทันที โดยไม่รู้ว่าจำเป็นต้องนำสินค้าไปทดสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา PTEC พยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้ถึงความจำเป็นในการขอมาตรฐาน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้บริโภค รวมถึงอัพเดทความรู้ในเรื่องมาตรฐานใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวที่พบ เพราะผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า โดยเฉพาะ MSME ขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพยังขาดเงินทุน หรือมีสายป่านไม่ยาวพอในการพัฒนาและทดสอบสินค้า ยิ่งในกรณีที่นำสินค้ามาทดสอบแล้วไม่ผ่านก็จำเป็นต้องกลับไปดำเนินการแก้ไข โดยซื้อวัตถุดิบใหม่เพื่อนำมาผลิต และนำมาผ่านกระบวนการทดสอบที่ PTEC อีกเป็นระยะ ๆ หากสายป่านไม่ยาวพอก็อาจไม่มีเงินทุนมาซื้อวัตถุดิบหรือจ่ายค่าทดสอบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ MSME ขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้มหายตายจากในไปเวลาอันรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่มีไอเดีย และโอกาสในการทำตลาดที่ดีก็ตาม แต่ด้วยสาเหตุดังกล่าวเลยไม่สามารถแจ้งเกิดได้
ดร.ไกรสร เสนอทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องอาศัยกลไกจากภาครัฐที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน MSME ในการเข้ามาช่วยให้เงินอุดหนุนค่าบริการทดสอบแลบของ PTEC หรือภาครัฐจัดตั้งกองทุนสนับสนุน MSME เพื่อให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าทดสอบเพียงครึ่งหนึ่ง ก็จะทำให้ต้นทุนการพัฒนาสินค้าลดลง และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการพัฒนาสินค้าจนออกจำหน่ายสู่ตลาดได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้มาแล้วทั้งนั้น
“อีกเรื่องที่ PTEC แนะนำมาโดยตลอดคือ ลดกระบวนการทางศุลกากรของภาษีนำเข้า เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายใช้เวลานานมากกว่าจะเคลียร์ของออกมาได้ ทำให้เกิดต้นทุนจากการเสียค่าเช่าโดยไม่จำเป็น”
อย่างไรก็ดี แต่ละปี PTEC ได้มีการลงทุนเทคโนโลยีการทดสอบใหม่ตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลายปีมานี้ลงทุนห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลักดันตามนโยบายรัฐบาลรวมถึงกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ทั้งนี้ PTEC ให้บริการทดสอบ สอบเทียบสนับสนุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 ให้ได้การรับรองผลิตภัณฑ์ในระดับสากลโดยบุคลากรมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบัน PTEC ให้บริการทดสอบแบตเตอรีลิเธียมสำหรับยานยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้งานในประเทศ ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และทดสอบตามความต้องการเฉพาะของค่ายยานยนต์ต่าง ๆ ทั้งเพื่อการทำ R&D ในบริษัทผู้ผลิตหรือพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ ๆ จากนโนบายยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งมีการออกมาตรการส่งเสริมออกมาหลายส่วน
รวมถึงให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท ตั้งแต่ แบตเตอรีลิเธียม ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง หัวชาร์จ ไปจนถึงการทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน โดยใช้มาตรฐานสากลและมาตรฐาน มอก. เป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้บริการทดสอบเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะแก่ค่ายยานยนต์ที่ตั้งโรงงานประกอบในประเทศและมีมาตรฐานชิ้นส่วนของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งชิ้นส่วนไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา
สำหรับแนวทางที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ MSMS นั้น ดร.ไกรสร ให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการไทยมีความโดดเด่นและความชำนาญในทักษะงานช่างอยู่แล้วถือเป็นความได้เปรียบเมื่อเทียบกับชาติอื่น แต่ควรสร้างกลไกการรวมกลุ่มแล้วผลิตโปรดักต์ แชมป์เปี้ยน เพื่อจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน หรือตลาด CLMV
“ต้องยอมรับว่าโลกการแข่งขันปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเขตการค้าเสรี และนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตของรัฐบาลในบางประเทศ อาจเป็นข้อจำกัดของ MSME ไทยในเวทีการแข่งขันโลกได้ ผมคิดว่า MSME ไทยเก่งเรื่องงานช่างอยู่แล้ว แต่ต้องรวมกลุ่มกันหาโปรดักต์ แชมป์เปี้ยน อย่างสินค้าใช้งานในชุมชนวิถีไทย หรือเครื่องมือ-เครื่องจักรบางอย่างที่ใช้ในการซ่อมบำรุง รวมถึงอะไหล่เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การรวมตัวดังกล่าวนอกจากจะเป็นจุดขายที่ทำให้เราโดดเด่นได้แล้ว ยังสามารถสร้างอำนาจการต่อรองเวลารวมตัวกันซื้อวัตถุดิบได้ด้วย แล้วตลาดที่เราพอจะแข่งขันได้ก็คือ อาเซียน ซึ่งกลไกดังกล่าวประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ”
หากผู้ประกอบการสนใจใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดต่อสอบถามได้ 02 117 8600 หรือ อีเมล sales@ptec.or.th โดยมีอัตราค่าบริการเบื้องต้น แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการทดสอบ 5,000 บาท และค่าคําขอ 3,000 บาท
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
อีเมล: sales@ptec.or.th
โทรศัพท์ : 02 117 8600 ฝ่ายการตลาดต่อ 8611 ถึง 8614
น้ำผึ้งแสงผึ้ง ปลูกลำไยให้กลายเป็นน้ำผึ้ง
ใครจะคิดว่าจากสวนลำไย จะกลายเป็นฟาร์มน้ำผึ้ง แล้วใครจะคิดว่าจากทนายความ จะกลายมาเป็นคนขายของ
เพราะในโลกธุรกิจ และชีวิต ไม่เคยมีอะไรแน่นอน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ในบางจังหวะชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อแก้ไขสถานการณ์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ คุณต่อ - เอกสิทธิ์ จันทกลาง ที่ชีวิตพลิกบทบาท จากที่เป็นคนไม่ชอบค้าขาย ไม่เคยเข้าสวน เรียนจบมาเป็นทนายความ แต่เมื่อสถานการณ์สวนลำไยของทางบ้านเจอวิกฤติราคาตกต่ำ ก็จำเป็นที่จะต้องกลับมาหาทางช่วยกอบกู้ธุรกิจของทางบ้าน จนกลายมาเป็นกำลังหลักอย่างเต็มตัว สามารถพลิกธุรกิจสวนลำไยให้รอดพ้นวิกฤติ ด้วยการสร้างแบรนด์ น้ำผึ้งแสงผึ้ง
อาจไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นเพราะความช่างสังเกตและความกล้าคิดออกจากกรอบของคุณต่อ ในระหว่างที่คิดหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสวนลำไย ที่แม้จะทำการแปรรูปทุกวิถีทางแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำรายได้มาประคองสวนให้ไปรอด จนวันหนึ่งคุณต่อได้เข้ามาเดินในสวนลำไย แล้วสังเกตเห็นว่ามีผึ้งมาทำรังอยู่บนต้นลำไย เพียงเห็นผึ้งตัวเล็กๆ กลับกลายเป็นตัวจุดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ให้คุณต่อคิดว่า น่าจะเลี้ยงผึ้งเพื่อทำน้ำผึ้งขายได้ เพราะมีวัตถุดิบ มีสวนลำไยพร้อมอยู่แล้ว
มีไฟแล้วก็ต้องมีความรู้ คุณต่อจึงได้รวมตัวกันกับญาติๆ เริ่มเบิกทางอาชีพใหม่ ด้วยการไปศึกษาการเลี้ยงผึ้งที่ศูนย์ศึกษาการเลี้ยงผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทั้งความรู้ และช่องทางการออกสู่ตลาด
ลงทุนเลี้ยงผึ้งครั้งแรก ใช้เวลา 4 เดือน สามารถเก็บน้ำผึ้งได้เต็ม 3 ถัง รวมแล้วประมาณ 600 ลิตร จากการลงทุนเพียงเล็กน้อย สามารถทำราคาได้มากกว่าการขายลำไยหลายเท่า เป็นการจุดประกายให้ก้าวต่อไปในเส้นทางสายน้ำผึ้ง
พอไปเดินเยี่ยมชมสินค้าในตลาด คุณต่อก็ได้สังเกตเห็นว่ามีน้ำผึ้งที่บรรจุขวดขาย นั้นสามารถขายได้ราคาดีกว่าการขายเป็นถัง ก็เป็นแนวคิดที่จะกลับมาเอาน้ำผึ้งบรรจุขวดขายบ้าง พอคิดได้แล้วว่าจะบรรจุลงขวดวางขายอย่างจริงจัง ก็ต้องมีการทำมาตรฐาน ต้องมี อย. รับรอง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ
จากธุรกิจครอบครัว สู่วิสาหกิจชุมชน
เมื่อคุณต่อสามารถสร้างรายได้จากน้ำผึ้ง จนสามารถกอบกู้สถานการณ์ของครอบครัวได้ ก็คิดว่าอาชีพนี้น่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้ด้วยเช่นกัน จึงรวบรวมชาวบ้านที่ต้องการจะศึกษาการเลี้ยงผึ้งมาสอนการเลี้ยงผึ้ง เริ่มต้นจาก 7 คน ก็ค่อยๆ รวบรวมได้เป็น 35 คน รวมตัวกันเลี้ยงผึ้งทำน้ำผึ้งขายกันมาเรื่อยๆ จนมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอมาเห็นเข้า และได้แนะนำว่าให้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร มีการพัฒนาแบรนด์สินค้าเรื่อยมาจนสามารถบรรจุลงขวดขายได้ ภายใต้แบรนด์น้ำผึ้งแสงผึ้ง ส่งเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย OTOP จังหวัดลำพูน เข้าคัดสรรได้เป็นสินค้า 5 ดาว วางขายในตลาด OTOP ทั่วประเทศ
เมื่อออกวางขายเต็มตัว สินค้าเป็นที่ต้องการมาก ก็ต้องมีการขยายเครือข่าย จากที่ผลิตกันเองภายในกลุ่มวิสาหกิจ ก็เริ่มมีการสร้างเครือข่ายกับคนเลี้ยงผึ้งในพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งน้ำผึ้งให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการสั่งซื้อ
ในปัจจุบันสามารถรวบรวมเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งได้มากกว่า 60 กลุ่ม มีผึ้งรวมกันมากกว่า 5,000 รัง ที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน และจับมือสร้างแวดวงธุรกิจให้แข็งแรง จนสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศได้
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
น้ำผึ้งแสงผึ้ง
ที่อยู่: 174 หมู่12 ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
โทร: 065-929-9874
อีเมล: Sangphueng57@gmail.com
Facebook: sangphuengs
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (MASCI) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง ให้บริการด้านการตรวจประเมินระบบการจัดการตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศ โดยส่งเสริมให้องค์กรเกิดการปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
สถาบันเปิดให้บริการทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้ทีมผู้ตรวจประเมินที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามมาตรฐานสากล มีความรวดเร็วในการให้บริการ
บริการจากทางสถาบัน
- บริการตรวจประเมินและรับรองระบบการจัดการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001), มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001), มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรม (ISO 56002) เป็นต้น
- บริการตรวจสอบตามมาตรฐาน เกณฑ์ และข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับสมาคม ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ
- ให้บริการวิทยากรฝึกอบรม การเป็นที่ปรึกษา แนะนำการจัดทำและพัฒนาระบบงาน บริการตรวจประเมินภายใน การพัฒนาผู้ตรวจประเมินภายใน ตามมาตรฐานสากล
- บริการระบบข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และการเตือนภัย ด้านมาตรฐานระบบการจัดการ Standard Intelligence Unit ให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบด้านการมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การดำเนินการการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบก๊าซเรือนกระจก
- บริการฝึกอบรมและการเป็นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการระดับสากลและระดับประเทศ
- บริการฝึกอบรมและการเป็นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาองค์กรด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ MASCI
ที่อยู่: 1025 ชั้น 11 อาคารยาคูลท์ ถนนพหลโยธิน
แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์: 02-617-1727
อีเมล: webmaster@masci.or.th
เว็บไซต์ : www.masci.or.th
Facebook: MASCIThailand
เคียงเลยมะพร้าวแก้ว
สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม
คนที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่เชียงคาน จังหวัดเลย โดยเฉพาะกับแก่งคุดคู้ อาจจะคุ้นเคยกับสินค้าที่เป็นของฝากของอย่าง “มะพร้าวแก้ว” ไม่มีใครรู้ว่ามะพร้าวแก้วที่เชียงคานเริ่มขายมานานขนาดไหน เพราะมะพร้าวก็ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักของเชียงคาน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ปัจจุบันมะพร้าวแก้วได้กลายเป็นสินค้าของฝากที่ถูกจดจำในลักษณะที่คล้ายๆ กับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเชียงคานไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับข้าวหลามหนองมน หรือขนมหม้อแกงเพชรบุรี เมื่อมะพร้าวแก้วเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมก็ย่อมมีคนท้องถิ่นที่มองเห็นโอกาส และกระโดดลงมาแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือ การแข่งขันสูงขึ้นตามกลไกการตลาด มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเคสหนึ่ง คือ การปรับตัวของ “เคียงเลยมะพร้าวแก้ว” ของคุณธีระวุฒิ ธรรมมาพา ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งคุณธีระวุฒิมีการนำเอานวัตกรรมและความรู้ทางการตลาดสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยง “สงครามราคา”
SME ONE : จุดเริ่มต้นของธุรกิจเคียงเลยมะพร้าวแก้วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ธีระวุฒิ : ผมรู้จักมะพร้าวแก้วมาตั้งแต่ประมาณ 30 ปีก่อน ตั้งแต่รุ่นปู่กับย่าครับเป็นรุ่นแรกเลย แต่จุดกำเนิดที่ว่าใครที่คิดผลิตเป็นคนแรก ผมไม่ทราบจริงๆ สมัยนั้นหมู่บ้านของเราเป็นเกษตรกรรมหมดเลย เรามีต้นทุนชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็คือ แก่งคุดคู้ วันเสาร์อาทิตย์ปู่กับย่าไม่ได้ไปไหน เขาเห็นมะพร้าวที่อยู่หลังบ้านมันเยอะ เมื่อก่อนเป็นสวนมะพร้าว เขาเห็นมันหล่นก็เลยเอามาทำเป็นมะพร้าวเส้นที่เป็นสีๆ
จุดเริ่มต้นเขาก็ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนหมดเลย เมื่อคือมะพร้าวเส้น ใช้มีดมานั่งซอยเส้นแล้วก็เอาไปขายกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน พอเพื่อนบ้านเห็นว่าทำแบบนี้แล้วได้ขายของ เขาก็เลยเริ่มมาทำด้วยกัน ผ่านมาหลายปี ต่อมาก็จะเป็นรุ่นของคุณพ่อคุณแม่ผมก็จะมีหน่วยงานเข้ามาเสริม อย่างเช่น สหกรณ์จังหวัด เกษตรอำเภอ หรือว่าหน่วยงานของพัฒนาชุมชน เขาก็บอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ทำไมไม่รวมกลุ่มกันเพื่อจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของทางภาครัฐ แต่ก่อนชาวบ้านจะทำแค่มะพร้าวเส้นอย่างเดียว มะพร้าวที่มันอ่อนๆ เขาจะเอาทิ้งกันหมด ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ บางหน่วยงานเขาเห็นก็ช่วยกันคิดพัฒนาต่อยอดว่าจะเอามะพร้าวอ่อนไปทำอะไรดี มันเลยพัฒนามาเป็นมะพร้าวเกรด A เกรด B เกรด A คือมะพร้าวที่นุ่มมาก ซึ่งปัจจุบันขายดีมาก
หลังจากนั้นเราก็จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546 มีสมาชิกประมาณ 31 ท่าน ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ยังไม่กลับมา เขาก็ทำกันไปแล้ว ทีนี้พอมาประจบกับเชียงคานมาเปิดเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยว สมาชิกในกลุ่มเลยแยกออกไปเปิดเป็นร้านของตัวเอง ปัจจุบันเหลือสมาชิกกลุ่มอยู่ 21 ท่าน รวมผมด้วย ตอนนี้ผมเป็นรองประธานกลุ่ม
SME ONE : ชื่อเคียงเลยมะพร้าวแก้วมาจากอะไร
ธีระวุฒิ : มาจากอาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งให้ ช่วงแรก ๆ ที่เราเริ่มก่อตั้งกลุ่ม เราใช้ชื่อกลุ่มเป็นชื่อแบรนด์ หน่วยงานอื่นก็จะให้เราไปอบรมเกี่ยวกับพวกอาหาร Packaging ผลิตภัณฑ์การผลิตอาหาร เราก็ไปอบรมเป็นอาทิตย์ ทางอาจารย์เขาก็แนะนำว่าสินค้าของเราควรจะมีชื่อแบรนด์ของตัวเองก็เลยตั้งให้ ท่านตั้งชื่อแบรนด์ให้เราว่า เคียงเลย เราขายมะพร้าวแก้วมาตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย ตอนแรกขายแบบวิสาหกิจชุมชน แต่เพิ่งจะมาใช้ชื่อเคียงเลย ประมาณปี 2548
SME ONE : มะพร้าวเป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดเลยใช่หรือไม่ เพราะความเข้าใจของคนทั่วไป มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของในภาคกลาง ตะวันออก ภาคใต้
ธีระวุฒิ : ที่นี่มีปลูกมานานแล้ว มะพร้าวแก้วจริง ๆ แล้วมันเป็นขนมไทยโบราณ สมัยก่อนตัวของเขาจะขูดเป็นฝอย ๆ แล้วปั้นเป็นก้อน แต่เรามาประยุกต์ไม่ทำให้เป็นฝอย ๆ เราจะใช้มีดคมทำให้มันเป็นเส้น ๆ แต่มะพร้าวที่เลยมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น พอเราผลิตกันแบบจริงจัง ความต้องการของลูกค้ามันเยอะตอนที่เป็นมะพร้าวเกรด A เกรด B บวกกับร้านค้าเพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เราเลยต้องหามะพร้าวจากนอกพื้นที่มา ตอนเริ่มแรกก็มาจาก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์เพราะว่าอยู่ใกล้สุด ต่อมาไม่พอก็เลยไปหาวัตถุดิบจากภาคกลาง อย่างเช่น นครปฐม สมุทรสาคร
ย่านนั้นเขาจะคัดเกรดมะพร้าว และนิยมเอาแค่น้ำเพื่อเป็นมะพร้าวน้ำหอม เขาก็จะส่งน้ำเข้าโรงงาน เนื้อบางทีก็เยอะมีมากเกินไปขายไม่ทัน เราเลยไปรับเนื้อมะพร้าวจากเขามาด้วย เพราะฉะนั้นมะพร้าวใช้ที่เป็นวัตถุดิบจะมี 2 แบบในตอนนี้ คือ เป็นมะพร้าวแกงต้นสูงๆ ธรรมดา อันนี้ก็คือหาได้จากเขตอำเภอเชียงคาน กับอีกอย่างคือมะพร้าวน้ำหอม ก็มาจากโซนภาคกลาง
SME ONE : มะพร้าว 2 สายพันธุ์มีรสชาติต่างกันอย่างไร
ธีระวุฒิ : ไม่ได้ต่างกันมาก ข้อดีของมะพร้าวแกงคือชิ้นมันจะใหญ่ ข้อดีของมะพร้าวน้ำหอมคือกลิ่นมันจะหอม แต่ข้อเสียก็คือชิ้นเล็ก แต่พอเอามาทำเป็นมะพร้าวแก้ว เทกเจอร์หรือความนุ่มมันเหมือนกัน เพราะว่าเกรด A หรือเกรด B มันคือการคัดแยก เราจะสไลด์ส่วนที่นิ่มที่สุดเป็นเกรด A โดยมะพร้าวเกรด A เกรด B จะเป็นมะพร้าวลูกเดียวกัน แต่มะพร้าวที่เป็นเส้น คือมะพร้าวแก่ เขาจะเอาไปซอยเส้นอย่างเดียวเลย แต่ถ้าเกรด A หรือเกรด B เขาจะเรียกว่าเนื้อมะพร้าว 2 ชั้น เขาจะนำมาสไลด์ส่วนที่ติดกับกะลา ก็จะกลายเป็นเกรด A ไป ส่วนชั้นที่ 2 ก็จะเป็นเกรด B
ถามว่าราคาเกรด A กับ B ต่างกันเยอะแค่ไหน ถ้าบรรจุภัณฑ์ 500 กรัม ราคาขายเกรด A จะอยู่ที่ 175 บาท ราคาขายเกรด B จะอยู่ที่ 130 บาท ลูกค้าจะชอบกินแบบนิ่ม ส่วนมากลูกค้าเขาจะทานเกรด A หรือว่าลูกค้าที่ทำ OEM กับผมเขาจะขายเกรด A กันหมดเลย เพราะมันขายง่าย มันนิ่มมันอร่อย
SME ONE : ทุกวันนี้รายได้ของ เคียงเลยมะพร้าวแก้ว มาจากช่องทางใดบ้าง
ธีระวุฒิ : มาจากการขายผ่านหน้าร้านประมาณ 30% ช่องทางออนไลน์ประมาณ 20% และมาจากการรับจ้างผลิตหรือ OEM ประมาณ 50% ในส่วนของหน้าร้าน เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ยอดขายหน้าร้านก็เลยตกลง เราจำเป็นต้องพัฒนาโดยการหาตลาดใหม่ให้ขายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การขายออนไลน์ ซึ่งเราเริ่มขายก่อนช่วง COVID-19 ประมาณ 2 ปี เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่ม ข้อดีของตลาดออนไลน์ก็คือ มียอดสั่งซื้อมาจากทั่วประเทศ
SME ONE : เคียงเลยมะพร้าวแก้วมีไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกบ้างหรือไม่
ธีระวุฒิ : มีครับ จริง ๆ ที่เราเริ่มมีชื่อเสียงมาได้ส่วนหนึ่งก็มาจากเราได้เข้าร่วมกับทางพัฒนาชุมชน เขาก็ไปคัดสรรเป็นสินค้า OTOP โดยเลือกจากสินค้าที่ได้ 5 ดาว เขาจะให้ออกตลาดที่เมืองทอง เมืองทองถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เพราะจะมีห้างใหญ่ ๆ ที่เขามาเดินดูสินค้า ตอนนั้นก็จะมีห้างในเครือของเซ็นทรัลสนใจจะนำไปวางขายที่ Tops เราก็เลยได้ขายกับเขา แต่เป็นชื่อแบรนด์ของเรา เราเลยเริ่มมีชื่อเสียงจากตรงนั้น
SME ONE : ช่วงวิกฤติ COVID-19 มีวิธีการรักษาหรือประคองธุรกิจอย่างไร
ธีระวุฒิ : ช่วง COVID-19 ร้านค้าปลีกก็ไม่ได้สั่งกับเราเลย เพราะห้างก็ไม่ได้เปิด สถานที่ท่องเที่ยวก็ปิดหมดเลย มะพร้าวที่ต้มไว้แล้ว เราทำไว้ก็ฟรีซดรายไว้ ถ้ามีออเดอร์ก็เอาออกมาเคี่ยว 3-4 นาที ตอน COVID-19 เรามีสต๊อกเหลืออยู่ในตู้แช่ประมาณ 700 กิโล เราก็มาคิดกันว่าทำอย่างไรให้มันขายหมด พอดีผมทำเพจไว้ก่อนช่วง COVID-19 ประมาณ 2 ปี ผมเลยใช้การขายออนไลน์ในช่วง COVID-19 ในความโชคร้ายเราก็โชคดี ตอนเดือนเมษายนช่วง COVID-19 ปีแรก มีรายการอาหารรายการดังอย่าง ครัวคุณต๋อย มาเชิญให้เราไปออกรายการ เราได้เห็นพลังของสื่อ เราก็ขายในเพจอยู่แล้ว พอเราก็ได้ออกรายการนี้ กลายเป็นออเดอร์แบบเยอะมาก จนช่วง COVID-19 เราต้องสั่งมะพร้าวมาผลิตโดยที่ปิดหน้าร้านไว้เลย
SME ONE : สินค้าท้องถิ่นรายได้ผูกติดกับนักท่องเที่ยว ช่วง Low Season มีวิธีบริหารธุรกิจอย่างไร
ธีระวุฒิ : ถ้าเป็นช่วงท่องเที่ยว เราก็เน้นเสริมสินค้าที่หน้าร้าน เราจะรู้เลยว่าต่อวันวันเราต้องผลิตเท่าไหร่ แต่ช่วง Low Season ส่วนมากจะเป็นช่วงหน้าร้อน เราก็เปลี่ยนการขาย ผมเลยมองว่าการตลาดสำคัญมาก ผมจึงต้องดึงตลาด OEM มาเสริม เพื่อเราจะได้รายได้ประจำและยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขายหน้าร้านได้เท่าไหร่ การบริหารมันง่ายกว่า และการวางแผนผลิตสินค้าก็จะง่ายกว่า แต่หน้าร้านเราก็จะมีให้กับลูกค้าที่เข้ามาหน้าร้าน หน้าร้านไม่มีไม่ได้ เพราะมันเป็นเหมือนบ้านเรา ให้คนมารู้จักเรา ลูกค้าบางท่านมาจากกรุงเทพฯ ที่สั่งออนไลน์กับเรา เขาก็ตามมาหาถึงที่ร้านก็มี
SME ONE : ปัญหาที่เจอในแหล่งท่องเที่ยว พอเป็นสินค้าขึ้นชื่อก็จะมีแบรนด์ออกมาเหมือนกันหมด เคียงเลยมะพร้าวแก้วทำอย่างไรให้เด่นกว่าคู่แข่ง
ธีระวุฒิ : อย่างแรกก็คือ ต้องรักษามาตรฐานสินค้า มะพร้าวแก้วมีวิธีการผลิตหรือขั้นตอนเหมือนกัน แต่ทำไมร้านเราได้ไปออกรายการทีวี ในเมื่อเขาชิมมาทุกร้านแล้ว เขาบอกว่าทำไมร้านเรารสชาติโดดเด่น มันจะมีบางขั้นตอนบางร้านเขาก็ทำไม่เหมือนกัน เช่น ความสะอาด ของเราจะทำข้างในโรงเรือนเลย เราจะไม่เอามาเคี่ยวหน้าบ้านเหมือนให้นักท่องเที่ยวดู เพราะว่ามันมีฝุ่น ของเราความสะอาดต้องมาอันดับ 1 และในกระบวนการเคี่ยวมะพร้าว อันนี้ผมพูดถึงความโดดเด่นของมะพร้าวของเรานะครับ ผมจะเน้นให้คนงานเคี่ยวมะพร้าวจนแห้งตกผลึก เพื่อเวลาที่เอาไปเข้าเครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาล ตัวน้ำตาลมันจะหลุดออกเยอะ ทำให้เนื้อมะพร้าวเนื้อนวล แล้วก็มีรสชาติที่กลมกล่อมและหวานน้อย อันนี้คือความโดดเด่น
SME ONE : ที่ผ่านมาเจอปัญหาคู่แข่งขายสินค้าตัดราคาบ้างหรือไม่
ธีระวุฒิ : มีครับ และเป็นประเด็นตอนนี้เลย ทำให้เราต้องมาแข่งกับตัวเอง เพราะเราไปบอกคนอื่นให้ขายราคาเท่าเราไม่ได้ เราเลยมามองตัวเองว่าพร้อมตรงไหน เรามีอะไรที่แกร่งกว่าคนอื่น ผมก็เลยมองการตลาดว่าจากที่ผมขายออนไลน์ในช่วง COVID-19 ช่วงนั้นทุกร้านก็ขายออนไลน์เหมือนกัน แล้วตอนนั้นการขายในเพจมันต้องยิงแอด แล้วร้านที่ขายสินค้าเหมือนกันแข่งกันยิงแอด ค่าแอดมันก็จะเพิ่มขึ้น ค่าโฆษณาที่ผมต้องจ่ายให้ Facebook มันเยอะมาก ก็เลยมาคิดใหม่ว่าเราต้องหาตลาดเพิ่ม
ผมเลยไปหาลูกค้าแบบ OEM ผมเน้นคนที่ขายออนไลน์แล้วเขาขายเก่ง เขาอยากทำแบรนด์ของตัวเอง เราสามารถขอ อย. ให้เขาได้เลยโดยที่เขาส่งชื่อแบรนด์มาให้เรา เราก็จะขอ อย. ให้ แต่เงื่อนไขคือจะต้องสั่งผลิตกับเราเท่านั้น เพราะสถานที่ผลิตมันเป็นสถานที่ของเราในเลขของ อย. ปัจจุบันหลักๆ ผมก็อยู่ได้ด้วยลูกค้า OEM เลย ทำให้เรามั่นคงและยั่งยืน
ทำให้เราก็ไม่ต้องห่วงว่าหน้าร้านเราจะไปแข่งราคากับใคร เรามั่นใจว่าสินค้าเราดี ราคาเราไม่จำเป็นต้องลด ก็คือราคามันสมเหตุสมผลอยู่แล้ว ของเขาที่ลดได้ก็เพราะว่าของเขามีข้อด้อย แต่ลูกค้าเขาเป็นคนเลือก ลูกค้าบางคนเขาก็ดูว่าร้านนี้มี อย. ไหม ก็อยู่ที่กลุ่มเป้าหมายของลูกค้าแต่ละท่าน บางท่านเขาไม่ซีเรียสเรื่อง อย. เห็นราคาถูกเขาก็ซื้อ เราเลยได้ฐานลูกค้าที่เป็นระดับกลางขึ้นไปถึงระดับบน
SME ONE : เคียงเลยมะพร้าวแก้วมีส่งสินค้าไปขายต่างประเทศบ้างหรือไม่
ธีระวุฒิ : ตอนนี้กำลังเจรจากันอยู่น่าจะเริ่มที่ตะวันออกกลาง ก่อนหน้านี้ที่ผมบอกว่าต้องแข่งกับตัวเองก็คือ เรามีปัญหาเรื่อง Shelf life (อายุการเก็บรักษา) ของมะพร้าวแก้วที่เราขายกับ Tops ก็คือหมดอายุแค่ 1 เดือน ผมต้องเก็บโจทย์นี้มาพัฒนาเอง โดยมีที่ปรึกษาก็คืออาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ด้านเทคโนโลยีอาหาร พอผมมีปัญหาก็โทรไปคุยกับอาจารย์ ตอนนี้ผมก็พัฒนาให้เก็บได้ 3 เดือนแล้วก็กำลังคุยกันอยู่กับลูกค้ารายหนึ่ง เขาจะนำไปส่งที่ตะวันออกกลาง ตอนนี้เขาคิดชื่อแบรนด์อะไรของเขาอยู่ เป็น OEM
การเพิ่มอายุการเก็บรักษา จาก 1 เดือนเป็น 3 เดือนได้ มาจากกระบวนการผลิตสินค้า และการพัฒนา Packaging ให้สามารถรักษาคุณภาพได้นานขึ้น เริ่มจากวัตถุดิบ กระบวนการผลิตที่สะอาด ผลิตเสร็จแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ทันที สมมติว่ามีออเดอร์วันนี้ 200 แพ็ค ผมจะไม่เคี่ยวมะพร้าวไว้ ก็คือจะให้คนงานเคี่ยวไปด้วย คนที่อยู่ในห้องแพ็คก็จะแพ็คไปด้วย ได้มาก็แพ็คใส่ถุงเลย แล้ว Packaging ก็จะเป็นถุงพิเศษ ที่เราทดลองก็จะได้ประมาณ 3 เดือน แต่จริงๆ มันเก็บได้นานกว่านั้น แต่ผมการันตีให้ลูกค้า 3 เดือน ถ้ามีห่อไหนเสียเคลมได้เลย
SME ONE : ตั้งแต่ทำธุรกิจมา เคยเจอปัญหาไหนที่หนักๆ บ้าง แล้วแก้ปัญาหาอย่างไร
ธีระวุฒิ : เจอหลายเรื่องด้วย ก่อนหน้า COVID-19 ก็จะเป็นเรื่องราคาสินค้า พอร้านเยอะขึ้นก็ตัดราคากันเอง คนที่เขาขายถูกก็ผลิตง่ายๆ เราไม่ต้องลงทุนเยอะแบบเราที่ต้องมีโรงเรือน แล้วการคัดมะพร้าวของเขาก็ไม่คัดดีขนาดเรา เราก็พัฒนาโดยการหาตลาดแบบใหม่คือ ผมก็มาขายออนไลน์ เราจะไม่แก้โดยลดราคาสู้ เพราะผมได้ไปเรียนรู้กับนักการตลาดกรมการพัฒนาชุมชน เขาส่งไปอบรมกับนักการตลาดหลาย ๆ คน เราก็เก็บความรู้ที่ได้จากนักการตลาดทุกท่านนำมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของเรา
SME ONE : ปัจจุบันคนเริ่มมีความรู้เริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลกับเคียงเลยมะพร้าวแก้วหรือไม่
ธีระวุฒิ : ส่งผลครับ เราปรับตัวมาตั้งแต่ช่วง COVID-19 มีลูกค้าบอกว่าทานมะพร้าวแก้วแล้วมันหวานมาก เราเลยมาปรับสูตรอัตราส่วนให้หวานน้อยลงจนถึงปัจจุบัน ในกระบวนการก็เอาน้ำตาลออกให้เยอะ มะพร้าวของเราจะหวานน้อยที่สุด ถ้าเทียบจาก 100% เคียงเลยมะพร้าวแก้วเราลดความหวานลงมาประมาณ 20% ตอนนี้ยังทำได้แค่นี้ เพราะว่าการต้มมะพร้าวจะต้องใช้อัตราส่วนที่เป็นน้ำตาล ถ้าน้ำตาลไม่พอในมะพร้าว เนื้อมะพร้าวเวลาต้มก็จะเละ มันจะกลายเป็นน้ำเชื่อม
SME ONE : อยากจะต่อต่อยอดธุรกิจอย่างไร
ธีระวุฒิ : ในส่วนของผมจะมีอยู่ในใจว่าถ้าได้ลูกค้าประมาณนี้ มันจะเกิดความยั่งยืนกับเรา แต่เราก็ไม่ล้าหลัง เราต้องพัฒนาสินค้าไปเรื่อย ๆ ดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ ตอนนี้ก็มีพัฒนาสูตรกับมหาลัยราชภัฏเลย เขาจะมาช่วยทำสูตรที่หวานน้อยกว่านี้ โดยเปลี่ยนน้ำตาล ใช้น้ำตาลอีกตัวนึง ตอนนี้ก็เริ่มทดลองกันอยู่
ส่วนเรื่องการพัฒนาไปเป็นสินค้าใหม่ เราเคยลองเอาไปเคลือบช็อกโกแลต แต่มันติดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอายุการเก็บอย่างเดียวเลย ถ้าเอาไปเคลือบช็อกโกแลตจะเสียไวมาก และจะมีกลิ่นหืน ตอนนี้ถ้าผมจะพัฒนาเพิ่มก็เรื่องอายุการเก็บรักษา เรามีโจทย์ว่าถ้าสามารถพัฒนาเรื่องอายุการเก็บได้ถึง 6 เดือน เรื่องตลาดไม่ต้องห่วงเลย มีแต่คนติดต่อมาตลอดเลย เขาพร้อมที่จะสั่งกับเราได้เลย ถามว่าเป็นไปได้ไหมก็คิดว่าเป็นไปได้ เพราะกำลังพัฒนารวมกับอาจารย์เรื่องอายุการเก็บด้วย แต่ทางร้านจะเน้นว่าไม่ใช้สารกันบูด
SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของเคียงเลยมะพร้าวแก้ว
ธีระวุฒิ : ความท้าทายคือการรักษาคุณภาพของเราให้เหมือนเดิม กระบวนการผลิตแต่ละกระบวนการต้องเหมือนเดิม ต้องควบคุมให้ได้มาตรฐานเท่าเดิม เรื่องนี้ท้าทายมาก มันยากมาก เพราะมันมีหลายส่วนของกระบวนการผลิตมะพร้าวแก้ว ตั้งแต่เราเลือกวัตถุดิบ จนมาถึงขั้นตอนสไลด์ ตอนนี้ยังใช้คนสไลด์อยู่ เลือกเกรด A เกรด B ตรงนี้สำคัญ การเคี่ยวต้องเคี่ยวเป็นสูตรของเรา เคี่ยวให้น้ำตาลตกผลึก มันก็จะมีผลกับตอนที่เรานำมาแพ็ค น้ำตาลมันร้อนเวลาเรานำมาแพ็ค มันก็จะเก็บได้นาน ต้องอยู่ในถุงที่ดี
SME ONE : อยากให้คุณธีรวุฒิช่วยให้คำแนะนำสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ MSME
ธีระวุฒิ : การที่จะเริ่มธุรกิจส่วนที่สำคัญที่สุด คือเรื่องการตลาด อันดับแรกเราต้องมามองสินค้าตัวเอง มาคิดว่าสินค้าเรามีข้อด้อยตรงไหน แล้วเราก็ต้องแก้ไขปัญหา พอลูกค้าเขาเจอผลิตภัณฑ์ที่ดี เขาก็จะเลือกของเขาเอง คือเราต้องพร้อม เอาง่าย ๆ พร้อมคืออะไร มี Packaging ที่ดี อายุการเก็บรักษาตามที่เขาบอก อันนี้ผมพูดในเชิงอาหารนะ ถ้าเป็นสินค้า OTOP ยิ่งง่ายด้วย
บทสรุป
ความสำเร็จของเคียงเลยมะพร้าวแก้วนั้นมาจากการนำเอาแนวคิดการตลาดสมัยใหม่เข้ามายกระดับจากสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) OTOP ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าผ่านคำว่านวัตกรรม ทั้งในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทำในโรงเรือนแบบปิด ได้มาตรฐาน อย. รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าไว้ได้นานกว่าคู่แข่งในท้องตลาด จนแบรนด์ “เคียงเลยมะพร้าวแก้ว” เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
Get Well Zone
Refillery Store ร้านค้าที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์
Get Well Zone เป็นร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ในย่านเอกมัยที่เน้นขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผม และร่างกาย ภายใต้แนวคิด Less waste living หรือ การใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด โดยมีคุณหยุย มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ กับเพื่อนสนิทร่วมหุ้นกันเปิดร้านเมื่อหลายปีก่อน
จุดแตกต่างของ Get Well Zone อยู่ที่การเลีอกสินค้ามาวางจำหน่าย คือจะเน้นคัดเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าประเภทรีฟิล และสินค้าปลอดสารเคมี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แต่เนื่องจากร้านค้าปลีกประเภทนี้เป็นอะไรที่ใหม่มากในประเทศไทย แน่นอนว่าในระยะแรกคุณหยุยต้องใช้เวลาไปกับการสื่อสารแนวคิดใหม่นี้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย จนร้านเริ่มที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น Get Well Zone ก็ต้องมาเจอกับวิกฤต COVID-19 ซึ่งทางร้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชนิดที่ทำให้คุณหยุยเกือบจะถอดใจหลายครั้ง แต่คุณหยุยก็ยังกัดฟันสู้มาจนถึงปัจจุบัน พยายามของคุณหยุยมาจากเหตุผลเดียว คืออยากเห็นโลกใบนี้ดีขึ้นจากความร่วมมือของทุกคน
SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Get Well Zone เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
มณีรัตน์ : Get Well Zone เปิดบริการช่วงปี 2019 ประมาณเดือนพฤษภาคม ตอนนั้นจริง ๆ ทำกับเพื่อนอีกคนชื่อตูน เหตุผลที่เราเริ่มเปิดธุรกิจนี้ขึ้นมาเพราะว่าตอนนั้นกระแสโลกร้อน และสิ่งแวดล้อมมาแรง ถามว่าเราเปิดตามกระแสหรือเปล่า จริง ๆ มันก็ไม่ทั้งหมด เนื่องจากก่อนหน้านี้หยุยทำงานประจำมาก่อน แล้วก็เป็นจังหวะที่ออกจากงานพอดีช่วงประมาณต้นปี 2019 ส่วนตูนเขาเป็นแม่บ้านแล้วเขาก็กำลังมองหาธุรกิจสักอย่างที่เคยคุยกันว่าอยากทำด้วยกันมานานแล้ว พอหยุยออกจากงานก็เลยมาคุยกันว่าตอนนี้เราพร้อมที่จะทำธุรกิจด้วยกัน
เราเลยมาดูว่าเราชอบอะไรกัน ความชอบที่ว่าก็คือ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ค่อนข้างรู้สึก Concern กับเรื่องของขยะที่เราพบเห็นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นพวกถุงพลาสติก ขวดน้ำ อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของเรา เราจะพกพวกกระบอกน้ำ พวกถุงผ้ากันอยู่แล้ว บวกกับว่าช่วงนั้นเรื่องขยะค่อนข้างมาแรง เราก็เลยคิดว่ามันมีธุรกิจอะไรที่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้
แล้วช่วงนั้นมันจะมีเทรนด์เรื่องของร้านรีฟิล เราก็รู้สึกว่าธุรกิจนี้น่าสนใจก็เริ่มศึกษาว่าร้านรีฟิล หรือว่าร้านที่ลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์มีร้านไหนบ้าง ก็ไปตามดูข้อมูล ไปตามร้านต่าง ๆ เหมือนไปสำรวจตลาด แล้วก็ไปศึกษา ไปพูดคุยกับเจ้าของร้านที่เขาเคยเปิดมาก่อน แล้วก็ตัดสินใจเปิดร้านรีฟิล
อันนี้ก็เป็นที่มาของการเปิดร้าน Get Well Zone คือเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างให้เป็นพื้นที่ให้คนที่มีแนวคิดเดียวกับเรา รู้สึก Concern เหมือนกันมาใช้บริการตรงนี้ได้ และเรารู้สึกว่าร้านแบบนี้ตอนนั้นยังมีน้อย ถ้าเราเปิดร้านลักษณะนี้ขึ้นมาก็น่าจะช่วยซัพพอร์ต หรือว่าช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนที่อยากจะลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ได้มาใช้บริการตรงนี้ด้วย
SME ONE : จากวันที่เริ่มคิดจนมาเปิดร้านใช้เวลาประมาณกี่เดือน
มณีรัตน์ : หยุยออกจากงานประจำเดือนมีนาคม เดือนเมษายนก็ตัดสินใจเปิดเลย คือตัดสินใจว่าจะทำไม่นาน แต่ว่าระหว่างที่ตัดสินใจทำเราก็ไปเซอร์เวย์ ไปตามตลาด Market ต่าง ๆ ไปหาผลิตภัณฑ์ ด้วยความที่ตูนเขาเป็นแม่บ้านมาก่อน เขาก็มีลูกมีสามี เขาจะพิถีพิถันในเรื่องของการหา Product ที่ดีต่อครอบครัวเขา คือไม่มีสารเคมี ใช้แล้วไม่แพ้ หน้าที่ของการหาผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นตูน ส่วนหยุยทำงานด้าน Production มาก่อนจะมีความถนัดในเรื่องของการทำโซเชียล ทำ Content เราก็จะแบ่งหน้าที่กัน
ณ ตอนนั้นเราก็เริ่มเก็บข้อมูล เริ่มหาผลิตภัณฑ์ แล้วก็เริ่มทำ Content โปรโมทตามสื่อโซเชียล คือ Facebook เราเริ่มทำมาเรื่อย ๆ จนเป็นรูปเป็นร่าง ก็คือตอนได้พื้นที่ตรงเอกมัย 24 ก็เริ่มตกแต่ง ได้เปิดจริง ๆ เดือนพฤษภาคม แบบ Soft Opening แล้วก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้
SME ONE : ตอนเปิดร้าน Get Well Zone หาสินค้าจากแหล่งไหน มี Contact อยู่แล้ว หรือว่าอย่างไร
มณีรัตน์ : เริ่มแรกเลยก็ไม่ได้มี Contact ส่วนตัวอะไร แต่ตูนเขาจะมี Product ที่เขาใช้ประจำอยู่แล้ว ของที่ใช้ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ SMEs ที่ไม่ใช่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ คือเป็นแบรนด์เล็ก ๆ เป็นตัวบุคคลที่เขาผลิตน้ำยาทำความสะอาด แชมพู สบู่ ฯลฯ อันดับแรกก็คือตูนเขาใช้ก่อน เขาก็จะเลือก Product ตรงนั้นมาจำหน่าย แต่ทีนี้ในการที่จะนำมาจำหน่าย เราต้องไปคุยกับเจ้าของ Product ก่อนว่าเขายินดีที่จะให้เรานำมาจำหน่ายในลักษณะแบบรีฟิลหรือไม่ เพราะว่าการที่เอาสินค้าเขามารีฟิล มันเป็นการเหมือน Repackage ซึ่งมันจะมีในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของการบรรจุใหม่
ถ้าเกิดเจ้าของ Product เขาอนุญาต เราก็นำมาจำหน่าย แต่ถ้าเกิดเขาไม่อนุญาตก็ไม่เป็นไร เราก็หา Product ใหม่ ๆ ไป Product แรก ๆ ของร้านส่วนใหญ่จะเป็นของที่ตูนใช้มาก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็จะไปเดินตามพวก Green Market ช่วงปลายปี 2018 - 2019 Green Market ค่อนข้างเฟื่องฟู ตอนนั้นไม่ว่าจะที่ไหน ตลาดไหนก็ต้องมี Concept ในเรื่องของ Green Market คือ เรื่องของลดขยะ มีพวกสินค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีสารเคมี ไม่ได้ทดลองในสัตว์ เราก็จะไปดูว่า Product ไหนน่าสนใจก็ดีลมาจำหน่าย
นอกจากนี้เรายังไปดูตามร้านรีฟิลที่เปิดมาก่อนหน้านี้ ว่ามี Product อะไรที่น่าสนใจ เราก็ลองนำมาใช้ ถ้าเกิดเรารู้สึกโอเค เราก็ติดต่อเจ้าของ Product เขาก็ยินดีให้เรามาจำหน่าย อันนี้ก็จะเป็นในเรื่องของเริ่มต้นของการหาProduct มาที่ร้าน
ปัจจุบันเรามีสินค้าอยู่ 2 หมวดหลัก ๆ คือ สินค้าครัวเรือนที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เช่น น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจ้าน น้ำยาซักผ้า ทำความสะอาด แล้วก็มีสินค้ากลุ่มสกินแคร์ บอดี้แคร์ เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ
SME ONE : สินค้ากลุ่มไหนขายดีกว่ากัน
มณีรัตน์ : กลุ่ม Household หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านขายดีกว่า เนื่องจากว่าเป็นของที่มันใช้ง่าย แล้วก็ราคาไม่ได้สูงมาก พวกสกินแคร์ต้องยอมรับว่าราคาค่อนข้างสูงในระดับหนึ่ง แล้วก็คนไม่ได้ใช้เปลืองหรือว่าบ่อยเท่ากับพวกน้ำยาใช้ภายในบ้าน
SME ONE : มองเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างไร คนเปิดรับแค่ไหน
มณีรัตน์ : ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเทรนด์ที่คนให้ความสนใจเยอะ เพราะความแปรปรวนต่าง ๆ ทั้งสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อน ฝนตกผิดฤดูอะไรอย่างนี้ มันทำให้คนเริ่ม Concern กับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แล้วก็บวกกับอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ คนก็รู้สึกว่าจะต้องหา Product อะไรที่ดีต่อตัวเอง ลดเคมีให้มากที่สุด เพราะว่าถ้าพูดถึง Product เก่า ๆ ก่อนหน้านี้ที่เราใช้กันทั่ว ๆ ไป เคมีมันค่อนข้างเยอะ ถ้าเกิดว่าเรายังใช้ตรงนี้ มันก็เหมือนสะสมกับเราไปเรื่อย ๆ คนก็จะเริ่มมองหา Product ที่ Low Chemical เพื่อที่จะลดความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด จริง ๆ แล้วเทรนด์พวกนี้บูมมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว แต่พอ COVID-19 เข้ามา มันทำให้กระแสตกลงไป 2-3 ปี จนตอนนี้ COVID-19 ไปแล้วก็เลยกลับมาบูมเหมือนเดิม
SME ONE : สินค้าปลอดสาร สินค้าออร์แกนิกเหล่านี้ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป คนยอมจ่ายเพิ่มตรงนี้หรือไม่
มณีรัตน์ : ตรงนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ร้านเราเลยจับกลุ่ม Niche คือเป็นเฉพาะบุคคลที่เขาสนใจเรื่องพวกนี้เป็นอันดับแรก แล้วก็มีกำลังจับจ่าย Product เหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปเทียบกับร้านสะดวกซื้อทั่ว ๆ ไปที่มีน้ำยาราคาไม่แพงมาก มันคนละกลุ่มอย่างชัดเจน
ร้านของเราโชคดีที่อยู่ในย่านเอกมัย มีคนต่างชาติมาอาศัยในย่านนี้เยอะ ทำให้ลูกค้าของร้าน Get Well Zone 80% เป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่เขามีกำลังจับจ่าย และเขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ว่าทำไมเขาจะต้องเอาขวดมาเติมน้ำยา บางคนที่เอาขวดมาเติมน้ำยา ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะใช้ Product แค่ Low Chemical แต่ว่าเขาอยากที่จะลดขยะ กับกลุ่มคนที่มาซื้อสินค้าที่ร้านก็จะเป็นกลุ่มที่เขาอยากจะได้ Product ที่ดีต่อตัวเขา ก็คือเป็น Homemade Handmade ทำเอง No Chemical
ร้านเราจริงๆ ไม่ถึงกับติด BTS ซะทีเดียว คือพอลงจาก BTS ต้องต่อรถมาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมันก็ไม่ได้ถึงกับสะดวกสบายขนาดที่ว่าลงสถานีมาแล้วเจอเลย แต่เราก็ยังมีลูกค้าที่มาจาก Emporium มาจากโซนสาทรที่นั่ง BTS มา
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ Get Well Zone เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไร
มณีรัตน์ : ถ้าย้อนไปตอนเปิดธุรกิจใหม่ๆ ต้องยอมรับว่าร้านรีฟิลเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีบางร้านที่เขาเปิดมาแล้วก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น ร้าน Refill Station ซึ่งต้องบอกว่าร้านนี้เป็นร้านแรก ๆ เลยที่เปิดในประเทศไทยว่าเป็นร้านแบบรีฟิล จริง ๆ ก่อนที่ร้านเราจะเปิดตอนปี 2019 เขาเปิดมาแล้ว 3 ปี ซึ่งเราก็ไม่รู้จักร้านเขาเลย แต่พอปี 2019 เทรนด์มันเริ่มมา คนก็เริ่มสนใจร้านลักษณะนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าอันนี้มันน่าสนใจ คือเราเริ่มจากความสนใจ เราเลยเปิดร้านลักษณะนี้ เราเลยเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร แต่กับคนทั่วไปที่เขาไม่เข้าใจ เวลาที่เขามาใช้บริการที่ร้าน เขาจะเกิดคำถามเยอะแยะมากมาย บางคนเขาไม่เข้าใจว่าร้านนี้คือร้านอะไร เข้ามาทำไมถึงมีแกลลอนวาง แล้วจะใช้บริการอย่างไร
เพราะฉะนั้นช่วงแรกที่เปิดร้านก็จะเป็นลักษณะเหมือนร้านเราเป็นแหล่งเรียนรู้มากกว่า คือคนเขาสนใจแล้วก็อยากจะมาดูว่าเป็นอย่างไร เราเน้นให้ข้อมูลมากกว่าที่จะขายด้วยซ้ำ ถ้าพูดถึงตอนเปิดร้านใหม่ ๆ แทบขายไม่ได้เลย หรือว่าขายได้ก็แค่คนที่มาเพื่อที่อยากรู้ว่าร้านมันเป็นอย่างไร แล้วก็มาซื้อน้ำยากลับไป ครั้งเดียวจบ อันนี้คือแรก ๆ แต่ว่าเราก็จะมีลูกค้ากลุ่มต่างชาติที่เขาคุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ กับร้านลักษณะนี้ในบ้านเขา พอเขาเห็นว่าร้านเราเป็นอย่างไร เขาก็จะมาซื้อน้ำยา
แต่ด้วยตอนที่เปิดร้านใหม่ ๆ Product เรามันไม่ได้เยอะ มี Product ละ 1 อย่าง เพราะฉะนั้นตัวเลือกมันน้อย มันก็เลยทำให้การจำหน่ายมันก็ไม่ได้แบบว่าขายดีอะไรมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นอุปสรรคแรกของการเปิดร้านแรก ๆ ก็คือการให้ข้อมูลคนที่ไม่รู้จักธุรกิจนี้มากกว่า คือต้องสร้างความเข้าใจให้เขามากกว่าการจำหน่ายด้วยซ้ำไป
ปัจจุบันเรามีไลน์สินค้าเยอะขึ้น แต่ว่าบางตัวที่เราจำหน่ายแล้วขายไม่ดี เราก็ไม่ได้เอามาจำหน่ายต่อ เพราะฉะนั้นตัวที่ขายแรก ๆ บางตัวก็ไม่ได้ขายตอนนี้ แต่ว่าบางตัวที่แบบลูกค้ามาแล้วเขาก็ถามหา เราก็จะไปหามาจำหน่าย เพราะฉะนั้นตัว Product ก็จะเพิ่มมากกว่าเดิมประมาณสัก 30-40% แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะว่าด้วยความที่มันเป็นลักษณะของการรีฟิล การที่เราถือตัว Product จำนวนมากจะทำให้ตัวสินค้าถูกระบายได้น้อย
ร้านเราเลยต้องเน้นตัวที่ขายดีที่สุดจริง ๆ แล้วก็ตัวที่มันตอบโจทย์คนที่เขาตั้งใจมาซื้อ อย่างตัว Low Chemical ราคาไม่ได้สูงมาก คือเจ้าของ Product บางตัว เขาจำหน่ายด้วยตัวเขาอยู่แล้ว เขาจะมีกลุ่มลูกค้าที่ติดตาม Product เขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่มาซื้อส่วนมาก เขาก็จะตาม Product นี้มา
SME ONE : ช่วง COVID-19 Get Well Zone ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
มณีรัตน์ : ต้องบอกว่าได้รับผลกระทบมากพอสมควร เพราะว่าด้วยความที่เราเป็นร้านแบบรีฟิล ถ้าพูดถึงความ Hygiene มันเทียบไม่ได้กับ Product ที่จำหน่ายเป็นขวดที่มีการซีลขวดพลาสติก ป้องกันเชื้อโรคอะไรอย่างนี้ การรีฟิล คือการเอาขวดที่ใช้แล้วมาเติมน้ำยาแล้วเอากลับไปใช้ ตอน COVID-19 ระบาดมันไม่มีใครที่เขากล้าเอาขวดมาเติมน้ำยาหรอก เพราะฉะนั้นธุรกิจรีฟิล ณ ตอนนั้นต้องบอกได้เลยว่ามันเป็นช่วงต่ำสุด ซบเซาที่สุด เนื่องจากคนไม่กล้าออกจากบ้าน คนไม่กล้ามา ส่วนคนที่ใช้บริการอยู่ก็ยังมี แต่ไม่ได้เยอะมาก
คนที่เขามาใช้บริการจะเป็นคนที่เขาไม่ได้กังวลมาก แต่ตอนนั้นเรื่องพวกนี้มัน Sensitive ถึงบางคนเขาไม่กังวล แต่เราในฐานะร้านค้า เราก็รู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย เราก็มีช่วงหนึ่งเราปิดร้านไปประมาณ 1 เดือน ปรากฏว่าพอปิดไปแล้ว ตัวน้ำยารีฟิลในแกลลอนมันไม่ได้มีการหมุนเวียนของอากาศ มันก็ทำให้น้ำยามันเริ่มเสื่อมคุณภาพ เราก็เลยตัดสินใจเปิดแบบเปิดร้านปกติ แต่ว่าก็จะจำกัดจำนวนคนที่เข้ามา แล้วก็จะเน้นขายออนไลน์ เน้นขายของพวกของใช้ทั่ว ๆ ไปมากกว่า
COVID-19 มันมาเป็นระลอก ระลอกแรกเราก็คิดว่าโอเค จบแล้ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป พอระลอก 2, 3 มาปุ๊บ เราก็เริ่มหาทางออกใหม่ ก็คือตอนนั้น ช่วงระบาดรอบ 2 เรามีการย้ายพื้นที่ ก่อนหน้านี้ร้านเราอยู่ตรงเอกมัย 24 เราย้ายมาเอกมัย 26 ที่ย้ายเพราะสัญญาเช่าที่เก่าจะครบแล้ว แต่ใจเรายังอยากทำอยู่ เรารู้สึกว่าธุรกิจนี้มันไปต่อได้ แต่ว่าเราจะไปต่อไหวไหม ตอนนั้นมันก็เป็นเหมือนแรงฮึดสุดท้ายเหมือนกัน
คือจริง ๆ ตอนที่สัญญาเช่าร้านเก่าหมด ถ้าเราตัดสินใจจะเลิกทำ ณ ตอนนั้นก็จบ มันก็จะไม่มีร้าน Get Well Zone อีกต่อไป แต่ส่วนตัวหยุยรู้สึกว่ามันยังไปต่อได้ ตอนนั้นก็ถามใจตัวเองว่าอยากทำไหม คำตอบ ก็คือเราอยากทำ แต่มันจะไปต่อได้หรือเปล่าก็ต้องใช้คำว่าวัดใจล้วน ๆ บวกกับช่วงนั้นพาร์ทเนอร์อีกคน คือตูน เขามีครอบครัวที่ต้องดูแลอยู่ก็คุยกัน ตูนบอกเขาไม่ไปต่อ เราก็เลยตัดสินใจ เราย้ายพื้นที่จากเอกมัย 24 มาอยู่ตรงซอยข้าง ๆ กัน
SME ONE : ตอนนี้ทำคนเดียว ยังไม่มีหุ้นส่วนเพิ่มใช่หรือไม่
มณีรัตน์ : ตอนนี้ทำอยู่คนเดียว แต่ว่าพอมาทำตรงนี้ ถามว่ามันขายได้ดีไหม มันก็ไม่ได้ดีมาก เราก็เลยคิดไปว่ามันจะต้องมีอีกธุรกิจหนึ่งที่มาซัพพอร์ตกัน ก็คือร้านอาหาร ตอนนี้หยุยก็เลยมีอีกธุรกิจ คือทำร้านอาหารอยู่ในตึกเดียวกัน แต่คนละพื้นที่ แต่ถามว่าธุรกิจร้านอาหารมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับร้าน Get Well Zone แต่ตอนนั้นถ้าเราทำร้านเดียว เราไม่สามารถที่จะมีเงินทุนมาทำให้ร้านนี้ให้อยู่ต่อไปได้ คือใจเราอยากให้มีร้านนี้ต่อ แต่เราต้องหาเงิน เราก็เลยต้องเปิดร้านอาหาร ซึ่งร้านอาหารตรงนี้ก็ทำกับแฟน แฟนเป็นคนทำแล้วเราเป็นคนดูแล
ณ วันนี้ที่ร้านอยู่ได้ก็เพราะว่ามีร้านอาหาร มีเงินหมุนเวียนจากร้านอาหารมาซัพพอร์ตร้าน ถ้าเกิดจะถามถึงคำถามถัดไปว่าร้าน Get Well Zone ทำกำไรไหม ณ ตอนนี้มันยังไม่ได้ทำกำไร เพราะว่ามันถูก COVID-19 ดูดเงินไปเป็นปี ๆ เราจะต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่า แล้วก็ลูกค้าก็ไม่ได้แบบเฟื่องฟูมาก แต่ว่าก็ยังมีกลุ่มลูกค้าเดิมตั้งแต่ Gen แรกของร้านที่มาใช้บริการ
ตอนนี้เรียกว่า Get Well Zone กำลังฟื้นตัวก็ไม่ผิด เราเปิดกลางปี 2019 ก่อน COVID-19 ครึ่งปี ซึ่ง 2-3 เดือนแรกของการเปิดร้าน ไม่ต้องพูดถึงกำไรเลย มันไม่ได้ดีขนาดนั้น ร้านเราเริ่มมีเงินเข้ามาแต่ก็ยังไม่อยากให้เรียกว่ากำไร เพราะว่าเงินที่เราลงทุนไปตอนแรกเรายังไม่ได้คืน แต่ว่าก็ถือว่าเริ่มจำหน่ายของได้ เริ่มมีคนรู้จัก แล้วก็เริ่มไปออกตามพวก Green Market ก็เริ่มมีเงินเข้ามา แต่ยังไม่ถึงขั้นมีกำไรที่จะแบบไปหักลบกับเงินลงทุนมาก่อนหน้านี้ได้ แต่ว่าพอเรามาทำร้านอาหาร ร้าน Get Well Zone ก็อยู่ได้แต่เรายังไม่ได้มีเวลาที่จะไปพัฒนามันต่อเท่านั้นเอง
SME ONE : วางอนาคตของ Get Well Zone ไว้อย่างไร อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
มณีรัตน์ : Get Well Zone ในส่วนของ Concept ร้าน เราจะต้องทำให้มีคนรู้จักให้มากขึ้น เพื่อที่จะมาใช้บริการ คือเป้าหมายเรา เราก็ยังยืนยันว่าเรายังอยากให้ทุกคนมา Concern และหันมาใส่ใจเรื่องพวกนี้ คือเวลาลูกค้ามาใช้บริการที่ร้าน ถ้าบางคนเขาสนใจ เขาจะมาพูดคุย เราเป็นเหมือนคล้าย ๆ วิทยากรย่อม ๆ มาให้ข้อมูลว่าการที่คุณมาเติมน้ำยาอย่างนี้ หรือว่าการที่คุณมาแยกขยะ เรารู้สึกว่าร้านเราเป็นมากกว่าการที่มาขายของอย่างเดียว เราอยากให้คนที่มีความคิดแนวเดียวกันมาเจอกัน มาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า
ด้วยความที่ร้านยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1 ล็อก ก็กำลังคิดว่าจะทำเป็นเหมือนคาเฟ่เล็กๆ อันนี้เป็นแผนที่คุยกันไว้ว่าจะทำประมาณกลางปีนี้ คือจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้คนเข้ามาแล้วมีพื้นที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ มาใช้บริการ แล้วก็เพิ่ม Traffic มากขึ้น
คือต้องบอกว่าทำร้านอาหาร ถ้านึกออกมันวุ่นวายมาก ถ้าเทียบความวุ่นวายกับร้าน Get Well Zone ร้านอาหารวุ่นวายกว่ามาก เพราะมันมี Detail มาก ๆ แต่ตอนนี้เราเริ่มอยู่ตัว เริ่ม Setup คนได้ เริ่มวางระบบร้านอาหารได้ จนตอนนี้เริ่มมีเวลาให้กับร้านตรงนี้ ร้าน Get Well Zone แล้ว เราก็เลยมองว่าตอนนี้เราได้เวลากลับมาพัฒนาร้าน Get Well Zone ให้คนรู้จักมากขึ้น เพิ่มไลน์ Product ให้มากขึ้น แล้วก็หากิจกรรมอะไรให้คนมาใช้บริการตรงนี้มากขึ้น
เพราะก่อนหน้านี้คนค่อนข้างสนใจที่จะมาทำ Workshop อะไรต่าง ๆ แต่เราไม่มีเวลาที่จะมาจัดการ เพราะเราไม่มีคน เราก็คิดว่าอนาคตเราก็อยากจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้มันตาม Concept ที่เราตั้งไว้ Get Well Zone มันมาจากคำว่า Get Well ขอให้คุณหายไว ๆ ก็คืออยากให้โลกนี้มันดีขึ้นไว ๆ แล้ว Zone มันก็จะเป็น Space หนึ่ง เพราะฉะนั้น Concept ของ Get Well Zone ก็คือเป็นพื้นที่พื้นเล็ก ๆ ที่หนึ่งที่จะทำให้โลกนี้มันดีขึ้น เรายังยืนยัน Concept ตรงนี้อยู่ว่าเราอยากจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ในใจกลางเมืองตรงนี้ให้คนคิดถึงถ้าอยากจะทำอะไรสักอย่างให้โลกมันดีขึ้น คือเป้าหมายเราอยากจะสร้างเป็น Community เล็ก ๆ สำหรับคนที่มีความคิดเดียวกันก็คือแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม
SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของ Get Well Zone
มณีรัตน์ : ความท้าทายก็คือเราจะดูแลทั้งร้านอาหารแล้วก็ร้านรักษ์โลกให้มันไปด้วยกันได้อย่างไร ถ้าพูดถึงร้านอาหารมันค่อนข้าง Contrast กับร้าน Get Well Zone 100% เลยก็ว่าได้ คือต้องบอกว่า Get Well Zone กลุ่มคนที่มาใช้บริการจะเป็นกลุ่มที่เขา Concern เรื่องสิ่งแวดล้อม เขาจะเอาขวดเอาถุงอะไรอย่างนี้มาเอง เขาจะไม่ถามหา Packaging อะไรให้มันมากมาย มันขัดกับเรื่องของร้านอาหาร ที่มันมีแต่เรื่องของ Package เต็มไปหมด
ทุกวันนี้ร้านอาหารที่ทำอยู่ หยุยมีหน้าที่ในเรื่องของการคัดแยกขยะเป็นหลัก แล้วก็พยายามที่จะรับขยะส่งต่อไปรีไซเคิล แต่ทีนี้ต่อไปหยุยอยากให้ร้านอาหารอย่างน้อยคนที่มาใช้บริการเริ่มมีความคิดเดียวกัน เริ่ม Concern เรื่องพวกนี้ ไม่มากก็น้อย
ร้านอาหารที่เราทำเป็นร้านส้มตำ แล้วก็เป็นพวกแจ่วฮ้อน เป็นร้านอาหารอีสาน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นคนละกลุ่มกับร้านรักษ์โลก คือเป็นพนักงานออฟฟิศที่อยู่แถว ๆ นี้เข้ามาใช้บริการ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะเน้นเรื่องความรวดเร็ว เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก คือมาถึงแล้วก็สั่งอาหารหรือว่าใส่ถุงกลับบ้านอะไรอย่างนี้ คือต้องยอมรับว่าที่ร้านก็ยังมีการใส่ถุงกลับบ้าน แต่เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าถุงพลาสติกที่คุณรับไป คุณสามารถที่จะรักษ์โลกได้ด้วยการที่คุณเอากลับมาใช้ซ้ำ หรือว่ามีการส่งไปรีไซเคิล
พูดจริง ๆ หยุยทำร้าน Get Well Zone มา 4 ปี เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วปัญหาของขยะหรือว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันไม่ได้มาจาก Package เลย ถ้าคนหรือว่าผู้บริโภคมีการแยกขยะ เพราะว่าทุกวันนี้หยุยรับพลาสติกมาจำนวนมาก แต่หยุยมีการทำความสะอาด หรือว่ามีการนำมาใช้ซ้ำ หรือว่านำไปรีไซเคิล ขยะที่เกิดจากเราแต่ละวันมันน้อยมาก
เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญ ก็คือเราอยากจะให้คนเข้าใจว่าขยะหรือว่า Pollution ต่าง ๆ มันเกิดจากตัวผู้บริโภคเอง ไม่อยากให้ไปโทษผู้ผลิต ผู้บริโภคเองนี่แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะทำให้โลกนี้มันดีขึ้นได้อย่างไร ก็คือคุณต้องมีการจัดการขยะหรือว่าการที่บริโภคไม่ได้เหลือทิ้งเหลือขว้าง ทำให้เกิด Waste จำนวนมาก
อันนี้ก็คือเป็นสิ่งที่เราเฝ้าใฝ่ฝันว่าเราอยากจะทำให้ได้ซึ่งมันยาก เราต้องค่อย ๆ ปลูกฝังเข้าไปทีละนิด ๆ คงไม่ได้แบบทำทันทีเปรี้ยงทั้งหมด เพราะตอนเปิดร้านอาหารใหม่ ๆ หยุยเป็นสายสิ่งแวดล้อม เราก็บอกไม่ได้ ห้ามใช้หลอด ห้ามนู่นนี่นั่น ปรากฏว่าพอทำจริง ๆ มันทำไม่ได้ ลูกค้ายังต้องถามหาหลอดพลาสติกในการดื่มน้ำ จะไปใช้หลอดไม้ไผ่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาออกใหม่ ใช้หลอดพลาสติกในร้านได้ก็จริง แต่หลอดพลาสติกเหล่านี้ เราต้องนำไปรีไซเคิลได้ แค่มีการแยกขยะภายในร้านอย่างจริงจัง เราก็ค่อย ๆ Input เรื่องพวกนี้ให้กับลูกค้าได้เข้าใจว่าพวกนี้มันเกิด Pollution อย่างไร ค่อย ๆ แทรกเข้าไปแทนที่จะแบบไปทำตู้มเดียว แล้วคนก็แบบไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ เขาก็จะไม่เข้าใจอยู่ดี
SME ONE : อยากให้คุณมณีรัตน์ให้คำแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs
มณีรัตน์ : บอกตรง ๆ ว่าหยุยเป็นนักธุรกิจมือใหม่มาก ๆ ก่อนหน้านี้หยุยเป็นพนักงานออฟฟิศมา 20 ปี เพิ่งจะมาทำธุรกิจนี้คือครั้งแรกในชีวิต ต้องบอกว่าทำด้วยใจล้วนๆ คือเป็นแนวติสท์ แต่ทีนี้ถ้าถามว่าในมุมมองของหยุย การที่จะทำธุรกิจอะไรให้รอด คุณต้องให้ใจกับมันก่อน ใจ คือความตั้งใจที่จะทำ แล้วก็รู้สึกว่าธุรกิจที่คุณอยากทำ คุณอยากทำให้มันสำเร็จจริง ๆ แล้วก็พอมันเกิดอุปสรรค เกิดปัญหา คุณต้องถามตัวเองว่าคุณพร้อมที่จะสู้ หรือสู้จนสุดทางแล้วหรือยัง ถ้าเกิดว่าสุดทางแล้วมันไปต่อไม่ได้ เราต้องกลับมาย้อนคิดแล้วว่าทำไมมันถึงไปต่อไม่ได้ มันเป็นเพราะอะไร
อย่างที่ผ่านมาหยุยก็เคยท้อจะปิดร้านไปก็หลายรอบ แต่เราก็กลับมาถามตัวเองว่าเราสู้สุดทางแล้วหรือยัง ถามว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม มันสามารถไปต่อได้ไหม ก็กลับมาถามตัวเอง แล้วก็ไปต่อ แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปต่อได้ หลัก ๆ แล้วสำหรับหยุยการที่จะทำธุรกิจได้ หยุยทำด้วยใจ แล้วก็ต้องมีสติ ด้วยความที่ธุรกิจหยุยมันค่อนข้าง Niche พอสมควร ไม่ใช่ธุรกิจทั่ว ๆ ไป แบบแฟรนไชส์หรืออะไรอย่างนี้ เคยมีคนที่มาปรึกษาอยากจะเปิดร้านแบบนี้กับหยุยเยอะมาก สิ่งที่หยุยบอกอันดับแรก คือคุณเป็นคนที่ Concern เรื่องพวกนี้จริง ๆ หรือเปล่า ชีวิตประจำวันคุณเป็นคนที่พกขวด พกถุงผ้า เป็นคนที่มีการแยกขยะจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าคุณอยากจะมาทำเพื่อหาผลกำไร คุณอย่ามาทำธุรกิจนี้ เพราะสุดท้ายคุณจะไปต่อไม่ได้ คุณต้องถามใจตัวเองก่อนว่าคุณอยากทำจริงไหม ถ้าอยากทำจริงๆ ค่อยมาคุยกันว่าทำอย่างไร พื้นที่คุณอยู่ตรงไหน
ที่หยุยทำได้ทุกวันนี้ เพราะว่าหยุยเริ่มจากเล็ก ๆ เราไม่ได้ทำอะไรที่มันใหญ่เกินตัว เงินทุนเราไม่ได้เยอะ เราเริ่มจากทำพื้นที่เล็ก ๆ แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ มีเงินก็เอามาลงทุนซื้อของเพิ่ม ตกแต่งเพิ่ม ปรับเปลี่ยนนู่นนี่นั่นเพิ่ม คือไม่ทำอะไรที่มันใหญ่เกินตัว เพราะอะไรที่มันใหญ่เกินตัวไป สุดท้ายมันก็อาจจะเจ็บตัวได้
บทสรุป
การที่ร้าน Get Well Zone สามารถยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤต COVID-19 ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของร้านที่ชัดเจนมาตั้งแต่วันแรก ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกที่จับกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดขายอยู่ที่สินค้าปลอดสารเคมีและสินค้ารีฟิล นอกจากนี้อีกปัจจัยที่มีผลอย่างมากก็คือ การเลือกทำเลที่ตั้งของร้านที่อยู่ในย่านเอกมัย ซึ้งถือเป็นแหล่งชุมชนที่มีกำลังซื้อ และมีชาวต่างชาติที่ให้ความใส่ใจในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
สนใจติดต่อ
Website: getwellzoneth.com
Facebook: Get Well Zone
Instragram: getwellzone