วันนี้ ทุกสายตาจับจ้องมาที่ประเทศไทย! เพราะแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเกิดใหม่ แต่ก็มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและกำลังเติบโต จริง ๆ แล้วการเติบโตทางเศรษฐกิของประเทศไทยคาดว่าจะสูงถึง 3.2% ในปี 2567
ตัวเลขการเติบโตเหล่านี้มาจากไหน?
ต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสในประเทศไทย สามารถคลิกที่ลิงก์เพื่อดูข้อมูลสรุปของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ฟรี: https://www.aseanaccess.com/select-countries/thailand.html
#aseanaccess #asean #thailand #การค้าระหว่างประเทศ #marketentry #newmarket #technology #innovation # Manufacturing #consumers #digital #fintech
สัปปายยะ สปา ส่งผ่านความรู้สึกดีด้วย Human Touch
“เพราะอะไร ลูกค้าถึงเดินเข้ามาใช้บริการสปา” อาจฟังดูเป็นคำถามธรรมดา ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่น่าจะรู้คำตอบได้โดยไม่ต้องถาม แต่หากคำถามเดียวกันนี้ ถูกใช้ถามไปยังผู้ให้บริการเอง ก็กลายเป็นโจทย์ที่คนทำธุรกิจสปาต้องกลับมาคิด กลับมาทบทวน เพื่อหาคำตอบให้ชัด
“สัปปายยะ สปา” ตั้งคำถามนี้กับบริการของตัวเองอยู่เสมอ เพราะการเลือกตั้งร้านให้บริการที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ปายไม่ได้เป็นเมืองยอดนิยมในกระแสหลักอีกต่อไป นั้นมาพร้อมกับโจทย์ทางธุรกิจที่แตกต่างจากการเปิดสปาในเมืองหลักที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหล
สิ่งที่สัปปายยะ สปามองเห็นในเมืองปาย ก็คือเสน่ห์ของเมืองเล็ก ๆ ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ห่างไกลจากความพลุกพล่าน เหมาะกับการเป็นเมืองสำหรับพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้อย่างแท้จริง กลับกลายเป็นว่า แม้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ กลับมาใช้บริการเป็นลูกค้าประจำอยู่เสมอ
อาจเป็นเพราะสัปปายยะ สปาพบคำตอบแล้วว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาถึงเมืองปายได้นั้น มักเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจเข้ามาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ พักผ่อนเติมพลัง และโดยมากเป็นขาประจำ และท่องเที่ยวแบบระยะยาว ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการสปานั้น ทุกคนต่างมีปัญหาที่ต้องการให้ทางสปาช่วยดูแล สปา ที่ออกแบบคอร์สจากลูกค้า
หากต้องการสร้างบริการให้ประทับใจและตรงกับความต้องการของลูกค้า ก็ต้องรู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้ง สัปปายยะ สปา ใช้วิธีการสร้างหน้าเว็บสำหรับจองใช้บริการ ที่มีรายละเอียดของร่างกายให้ลูกค้าระบุ ความต้องการด้านต่างๆ น้ำหนักในการนวด ลึกไปจนถึง จุดที่มีปัญหาให้ดูแลเป็นพิเศษ ลูกค้าแต่ละคนจึงสามารถออกแบบคอร์สเฉพาะเจาะจงที่ตัวเองต้องการได้ตามความชอบของแต่ละคน
พิเศษไปกว่านั้น ทางสัปปายยะ สปา เองได้มีการออกแบบน้ำมันนวดที่มีสูตรช่วยเสริมธาตุเจ้าเรือนของลูกค้า ผ่านน้ำมันนวดที่ออกแบบพิเศษให้ซึมผ่านผิวได้อย่างดี ไม่เหนียวเหนอะหนะ แยกสูตรออกเป็น 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยใช้ Essential Oil ที่ไม่มีสารเคมี ไม่มีน้ำหอม ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากในท้องถิ่น ที่มีสรรพคุณทางแพทย์แผนไทย เข้ามาช่วยให้ลูกค้าผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
มากไปกว่าการให้บริการกับสัมผัสทั้ง 5 แล้ว ทางสัปปายยะยังใส่ใจในส่วนสำคัญคือ การส่งมอบความรู้สึกดี ความปรารถนาดี ผ่านสัมผัสจากการนวดของพนักงาน สิ่งเหล่านี้เป็น Human Touch ที่ลูกค้านั้นสามารถรับรู้ได้
มากไปกว่าการเป็นสปา คือการสร้างแวดวงของการดูแลสุขภาพ โดยการจับมือร่วมงานกับ โรงแรม หรือกิจกรรมด้านสุขภาพอื่น ๆ ภายในเมืองปาย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของทุกฝ่ายไปพร้อมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน
จากความใส่ใจส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้านี่เอง ที่เป็นจุดที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษให้กับลูกค้า จนสามารถสร้างการบอกต่อกลับไปยังประเทศ และกลับมาใช้บริการอยู่เสมอ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สัปปายยะ สปา
ที่อยู่: 412 หมู่ 8 ต.เวียงไทย อ. ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
โทร: 081-236-6644
อีเมล: sapaiyaspa@gmail.com
เว็บไซต์: sapaiya.com
Facebook: sapaiyaspa
PTEC แนะ MSME เติมความรู้มาตรฐานสินค้า
รวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรอง + ปั้นโปรดักต์แชมป์เปี้ยน
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) หรือ PTEC ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นอีกหน่วยงานภาครัฐมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME ในมุมของการเป็นศูนย์บริการให้การบริการทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสากล
ดังนั้นผู้ประกอบการ MSME ที่นำเข้า ส่งออก คิดค้นตลอดจนผลิต ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องนำสินค้ามาทดสอบที่ศูนย์แห่งนี้ก่อนจำหน่าย ซึ่งที่นี่จะทดสอบเพื่อให้บริการรับรองภายใต้มาตรฐาน
มอก., กสทช., อย., เบอร์ 5, NECTEC, AEC, CE, FCC และ E-MARK เรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) กล่าวว่า PTEC ถือเป็นห้องปฏิบัติงานที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 เรียบร้อยแล้วทั้งการทดสอบ EMC และการสอบเทียบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานความถี่สูง และขณะนี้ PTEC กำลังเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC17020 เพื่อเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Bodies) รับรองผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้นจึงถือได้ว่า ขอบข่ายการบริการของ PTEC ครอบคลุมความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อจะให้มีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศ และรองรับการประกาศบังคับใช้มาตรฐานต่าง ๆ ในประเทศอีกด้วย
“การให้บริการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ในกรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป จะเป็นมาตรฐาน มอก. หากเป็นผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และการสื่อสาร จะเป็นมาตรฐาน กสทช. ส่วนเครื่องมือแพทย์ เป็นมาตรฐานของ อย. แต่หากผู้ประกอบการ MSME นำเข้าผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจำหน่าย แล้วเป็นสินค้าควบคุม หรือเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา ทาง สคบ. จะติดต่อมาให้ PTEC นำสินค้าดังกล่าวมาทดสอบให้ด้วย”
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดร.ไกรสร พบว่าจุดอ่อนของผู้ประกอบการ MSME ไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน โดยยังเข้าใจว่าสามารถผลิต นำเข้าสินค้า หรือส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้ทันที โดยไม่รู้ว่าจำเป็นต้องนำสินค้าไปทดสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา PTEC พยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้ถึงความจำเป็นในการขอมาตรฐาน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้บริโภค รวมถึงอัพเดทความรู้ในเรื่องมาตรฐานใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวที่พบ เพราะผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า โดยเฉพาะ MSME ขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพยังขาดเงินทุน หรือมีสายป่านไม่ยาวพอในการพัฒนาและทดสอบสินค้า ยิ่งในกรณีที่นำสินค้ามาทดสอบแล้วไม่ผ่านก็จำเป็นต้องกลับไปดำเนินการแก้ไข โดยซื้อวัตถุดิบใหม่เพื่อนำมาผลิต และนำมาผ่านกระบวนการทดสอบที่ PTEC อีกเป็นระยะ ๆ หากสายป่านไม่ยาวพอก็อาจไม่มีเงินทุนมาซื้อวัตถุดิบหรือจ่ายค่าทดสอบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ MSME ขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้มหายตายจากในไปเวลาอันรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่มีไอเดีย และโอกาสในการทำตลาดที่ดีก็ตาม แต่ด้วยสาเหตุดังกล่าวเลยไม่สามารถแจ้งเกิดได้
ดร.ไกรสร เสนอทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องอาศัยกลไกจากภาครัฐที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน MSME ในการเข้ามาช่วยให้เงินอุดหนุนค่าบริการทดสอบแลบของ PTEC หรือภาครัฐจัดตั้งกองทุนสนับสนุน MSME เพื่อให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าทดสอบเพียงครึ่งหนึ่ง ก็จะทำให้ต้นทุนการพัฒนาสินค้าลดลง และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการพัฒนาสินค้าจนออกจำหน่ายสู่ตลาดได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้มาแล้วทั้งนั้น
“อีกเรื่องที่ PTEC แนะนำมาโดยตลอดคือ ลดกระบวนการทางศุลกากรของภาษีนำเข้า เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายใช้เวลานานมากกว่าจะเคลียร์ของออกมาได้ ทำให้เกิดต้นทุนจากการเสียค่าเช่าโดยไม่จำเป็น”
อย่างไรก็ดี แต่ละปี PTEC ได้มีการลงทุนเทคโนโลยีการทดสอบใหม่ตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลายปีมานี้ลงทุนห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลักดันตามนโยบายรัฐบาลรวมถึงกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ทั้งนี้ PTEC ให้บริการทดสอบ สอบเทียบสนับสนุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 ให้ได้การรับรองผลิตภัณฑ์ในระดับสากลโดยบุคลากรมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบัน PTEC ให้บริการทดสอบแบตเตอรีลิเธียมสำหรับยานยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้งานในประเทศ ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และทดสอบตามความต้องการเฉพาะของค่ายยานยนต์ต่าง ๆ ทั้งเพื่อการทำ R&D ในบริษัทผู้ผลิตหรือพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ ๆ จากนโนบายยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งมีการออกมาตรการส่งเสริมออกมาหลายส่วน
รวมถึงให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท ตั้งแต่ แบตเตอรีลิเธียม ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง หัวชาร์จ ไปจนถึงการทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน โดยใช้มาตรฐานสากลและมาตรฐาน มอก. เป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้บริการทดสอบเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะแก่ค่ายยานยนต์ที่ตั้งโรงงานประกอบในประเทศและมีมาตรฐานชิ้นส่วนของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งชิ้นส่วนไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา
สำหรับแนวทางที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ MSMS นั้น ดร.ไกรสร ให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการไทยมีความโดดเด่นและความชำนาญในทักษะงานช่างอยู่แล้วถือเป็นความได้เปรียบเมื่อเทียบกับชาติอื่น แต่ควรสร้างกลไกการรวมกลุ่มแล้วผลิตโปรดักต์ แชมป์เปี้ยน เพื่อจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน หรือตลาด CLMV
“ต้องยอมรับว่าโลกการแข่งขันปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเขตการค้าเสรี และนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตของรัฐบาลในบางประเทศ อาจเป็นข้อจำกัดของ MSME ไทยในเวทีการแข่งขันโลกได้ ผมคิดว่า MSME ไทยเก่งเรื่องงานช่างอยู่แล้ว แต่ต้องรวมกลุ่มกันหาโปรดักต์ แชมป์เปี้ยน อย่างสินค้าใช้งานในชุมชนวิถีไทย หรือเครื่องมือ-เครื่องจักรบางอย่างที่ใช้ในการซ่อมบำรุง รวมถึงอะไหล่เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การรวมตัวดังกล่าวนอกจากจะเป็นจุดขายที่ทำให้เราโดดเด่นได้แล้ว ยังสามารถสร้างอำนาจการต่อรองเวลารวมตัวกันซื้อวัตถุดิบได้ด้วย แล้วตลาดที่เราพอจะแข่งขันได้ก็คือ อาเซียน ซึ่งกลไกดังกล่าวประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ”
หากผู้ประกอบการสนใจใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดต่อสอบถามได้ 02 117 8600 หรือ อีเมล sales@ptec.or.th โดยมีอัตราค่าบริการเบื้องต้น แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการทดสอบ 5,000 บาท และค่าคําขอ 3,000 บาท
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
อีเมล: sales@ptec.or.th
โทรศัพท์ : 02 117 8600 ฝ่ายการตลาดต่อ 8611 ถึง 8614
น้ำผึ้งแสงผึ้ง ปลูกลำไยให้กลายเป็นน้ำผึ้ง
ใครจะคิดว่าจากสวนลำไย จะกลายเป็นฟาร์มน้ำผึ้ง แล้วใครจะคิดว่าจากทนายความ จะกลายมาเป็นคนขายของ
เพราะในโลกธุรกิจ และชีวิต ไม่เคยมีอะไรแน่นอน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ในบางจังหวะชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อแก้ไขสถานการณ์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ คุณต่อ - เอกสิทธิ์ จันทกลาง ที่ชีวิตพลิกบทบาท จากที่เป็นคนไม่ชอบค้าขาย ไม่เคยเข้าสวน เรียนจบมาเป็นทนายความ แต่เมื่อสถานการณ์สวนลำไยของทางบ้านเจอวิกฤติราคาตกต่ำ ก็จำเป็นที่จะต้องกลับมาหาทางช่วยกอบกู้ธุรกิจของทางบ้าน จนกลายมาเป็นกำลังหลักอย่างเต็มตัว สามารถพลิกธุรกิจสวนลำไยให้รอดพ้นวิกฤติ ด้วยการสร้างแบรนด์ น้ำผึ้งแสงผึ้ง
อาจไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นเพราะความช่างสังเกตและความกล้าคิดออกจากกรอบของคุณต่อ ในระหว่างที่คิดหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสวนลำไย ที่แม้จะทำการแปรรูปทุกวิถีทางแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำรายได้มาประคองสวนให้ไปรอด จนวันหนึ่งคุณต่อได้เข้ามาเดินในสวนลำไย แล้วสังเกตเห็นว่ามีผึ้งมาทำรังอยู่บนต้นลำไย เพียงเห็นผึ้งตัวเล็กๆ กลับกลายเป็นตัวจุดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ให้คุณต่อคิดว่า น่าจะเลี้ยงผึ้งเพื่อทำน้ำผึ้งขายได้ เพราะมีวัตถุดิบ มีสวนลำไยพร้อมอยู่แล้ว
มีไฟแล้วก็ต้องมีความรู้ คุณต่อจึงได้รวมตัวกันกับญาติๆ เริ่มเบิกทางอาชีพใหม่ ด้วยการไปศึกษาการเลี้ยงผึ้งที่ศูนย์ศึกษาการเลี้ยงผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทั้งความรู้ และช่องทางการออกสู่ตลาด
ลงทุนเลี้ยงผึ้งครั้งแรก ใช้เวลา 4 เดือน สามารถเก็บน้ำผึ้งได้เต็ม 3 ถัง รวมแล้วประมาณ 600 ลิตร จากการลงทุนเพียงเล็กน้อย สามารถทำราคาได้มากกว่าการขายลำไยหลายเท่า เป็นการจุดประกายให้ก้าวต่อไปในเส้นทางสายน้ำผึ้ง
พอไปเดินเยี่ยมชมสินค้าในตลาด คุณต่อก็ได้สังเกตเห็นว่ามีน้ำผึ้งที่บรรจุขวดขาย นั้นสามารถขายได้ราคาดีกว่าการขายเป็นถัง ก็เป็นแนวคิดที่จะกลับมาเอาน้ำผึ้งบรรจุขวดขายบ้าง พอคิดได้แล้วว่าจะบรรจุลงขวดวางขายอย่างจริงจัง ก็ต้องมีการทำมาตรฐาน ต้องมี อย. รับรอง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ
จากธุรกิจครอบครัว สู่วิสาหกิจชุมชน
เมื่อคุณต่อสามารถสร้างรายได้จากน้ำผึ้ง จนสามารถกอบกู้สถานการณ์ของครอบครัวได้ ก็คิดว่าอาชีพนี้น่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้ด้วยเช่นกัน จึงรวบรวมชาวบ้านที่ต้องการจะศึกษาการเลี้ยงผึ้งมาสอนการเลี้ยงผึ้ง เริ่มต้นจาก 7 คน ก็ค่อยๆ รวบรวมได้เป็น 35 คน รวมตัวกันเลี้ยงผึ้งทำน้ำผึ้งขายกันมาเรื่อยๆ จนมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอมาเห็นเข้า และได้แนะนำว่าให้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร มีการพัฒนาแบรนด์สินค้าเรื่อยมาจนสามารถบรรจุลงขวดขายได้ ภายใต้แบรนด์น้ำผึ้งแสงผึ้ง ส่งเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย OTOP จังหวัดลำพูน เข้าคัดสรรได้เป็นสินค้า 5 ดาว วางขายในตลาด OTOP ทั่วประเทศ
เมื่อออกวางขายเต็มตัว สินค้าเป็นที่ต้องการมาก ก็ต้องมีการขยายเครือข่าย จากที่ผลิตกันเองภายในกลุ่มวิสาหกิจ ก็เริ่มมีการสร้างเครือข่ายกับคนเลี้ยงผึ้งในพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งน้ำผึ้งให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการสั่งซื้อ
ในปัจจุบันสามารถรวบรวมเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งได้มากกว่า 60 กลุ่ม มีผึ้งรวมกันมากกว่า 5,000 รัง ที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน และจับมือสร้างแวดวงธุรกิจให้แข็งแรง จนสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศได้
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
น้ำผึ้งแสงผึ้ง
ที่อยู่: 174 หมู่12 ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
โทร: 065-929-9874
อีเมล: Sangphueng57@gmail.com
Facebook: sangphuengs
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (MASCI) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง ให้บริการด้านการตรวจประเมินระบบการจัดการตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศ โดยส่งเสริมให้องค์กรเกิดการปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
สถาบันเปิดให้บริการทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้ทีมผู้ตรวจประเมินที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามมาตรฐานสากล มีความรวดเร็วในการให้บริการ
บริการจากทางสถาบัน
- บริการตรวจประเมินและรับรองระบบการจัดการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001), มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001), มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรม (ISO 56002) เป็นต้น
- บริการตรวจสอบตามมาตรฐาน เกณฑ์ และข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับสมาคม ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ
- ให้บริการวิทยากรฝึกอบรม การเป็นที่ปรึกษา แนะนำการจัดทำและพัฒนาระบบงาน บริการตรวจประเมินภายใน การพัฒนาผู้ตรวจประเมินภายใน ตามมาตรฐานสากล
- บริการระบบข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และการเตือนภัย ด้านมาตรฐานระบบการจัดการ Standard Intelligence Unit ให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบด้านการมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การดำเนินการการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบก๊าซเรือนกระจก
- บริการฝึกอบรมและการเป็นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการระดับสากลและระดับประเทศ
- บริการฝึกอบรมและการเป็นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาองค์กรด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ MASCI
ที่อยู่: 1025 ชั้น 11 อาคารยาคูลท์ ถนนพหลโยธิน
แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์: 02-617-1727
อีเมล: webmaster@masci.or.th
เว็บไซต์ : www.masci.or.th
Facebook: MASCIThailand