รู้ให้อยู่รอด กับเทรนด์ช้อปปิ้งของไทยในวิถี “New normal” สู่สังคมไร้เงินสด - smeone เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

รู้ให้อยู่รอด กับเทรนด์ช้อปปิ้งของไทยในวิถี “New normal” สู่สังคมไร้เงินสด

หัวข้อ : แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – พ.ศ.2564)
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/PolicyPS/Documents/PaymentRoadmap_2564.pdf

 

Covid-19 ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนทั่วโลก ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จนเกิดเป็นวิถีชีวิตใหม่ หรือ นิว นอร์มอล (New normal) ได้ชัดเจน จากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยถึงข้อมูลการใช้เงินของคนไทย จะพบว่าคนไทยหันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ digital payment กันเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย โอนเงิน ผ่านมือถือ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 116 ต่อปีทีเดียว เรียกได้ว่าเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันแล้ว หลังจาก Covid-19 คาดว่าตัวเลขนี้จะยิ่งสูงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

บริการชำระเงินอย่าง ระบบพร้อมเพย์ ที่ช่วยเราสามารถโอนเงินด้วยเบอร์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล หรือหมายเลข e-Wallet ได้สะดวก รวดเร็ว และค่าบริการต่ำ ได้รับความนิยมใช้เพิ่มสูงขึ้นมาก ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ที่สูงถึง 46.5 ล้านหมายเลข (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2561) และมีการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 4.5 ล้านครั้งต่อวัน

ทำไม SME ถึงควรหันมาใช้ digital payment

– พร้อมเพย์ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เช่น บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (cross-bank bill payment) ซึ่งทำให้เราสามารถจ่ายบิลทุกธนาคารที่รองรับผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยมาตรฐาน Thai QR Payment
– Thai QR Payment ที่สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ทำให้ digital payment สามารถเข้าถึง SMEs และร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าในตลาด หาบเร่ แผงลอย ได้อย่างรวดเร็ว
– สามารถต่อยอดการพัฒนามาตรฐาน Thai QR payment ไปสู่การให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ บริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert)
– ร้านค้าสามารถรับชำระเงินด้วยบัตรหรือโทรศัพท์มือถือได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและปลอดภัยมากขึ้น
– ช่วยให้ร้านค้าสามารถรับเงินจากลูกค้าได้หลายช่องทาง

 

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในเรื่องของการช้อปปิ้งออนไลน์ และเลือกชำระเงินแบบไร้เงินสดที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรนำมาใช้ปรับแผนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการมุ่งทำตลาดออนไลน์ และมีช่องทางชำระเงินออนไลน์ อย่าลืมพิจารณาในเรื่องของราคาสินค้าที่ดึงดูดใจ และโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้าได้อีกทางหนึ่ง

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่รับ New Normal ให้รอดได้ด้วย Digital Technology

หัวข้อ : ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 รอดได้ด้วย Digital Technology
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : https://www.etda.or.th/content/new-normal-after-covid-19.html/

 

ความไม่เหมือนเดิมหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เริ่มต้นจากชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เราคิดว่า เรื่องโรคระบาดอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงตัว จนกระทั่งโควิด-19 มาถึง ก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก วันนี้ทุกคนจึงตระหนักเพิ่มขึ้นว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

 

วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรม แค่ชั่วคราวหรือถาวร

การ Work from Home ได้สร้างเศรษฐกิจคนติดบ้าน (From Home Economy) ทำให้ e-Commerce และการทำธุรกรรมทางออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็คือ คนให้ความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขมากขึ้น เช่น ให้ความสำคัญกับการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้การรักษามากยิ่งขึ้น อย่างการรักษาทางไกลเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรับเชื้อเพิ่ม รวมถึงการมี Health Passport ยกระดับเฝ้าระวังการตรวจคัดกรองโควิด-19

 

สำหรับผู้ประกอบการ หลายองค์กรต้องปรับตัว หันหน้าพึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลนำมาใช้ในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้เรื่อง Digital Transformations ที่เคยมีการพูดถึงมาอย่างยาวนานและเกิดขึ้นช้ามาก กลับถูกขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด หรือเกิดขึ้นในพื้นที่ใด เราจะเห็นว่า มันได้ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือ การกะเทาะแผลของสังคม “ความไม่เสมอภาค (Inequality)” ที่มีอยู่ ให้ลึก กว้างและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่หลายองค์กรเอกชนต้องกลับมาทบทวนว่า เราจะสามารถช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

ผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับช่วงวิกฤตโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ต้องอยู่ให้รอด เพราะในระยะนี้เป็นช่วงที่ประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขและชีวิตของคนมากที่สุด ผู้ประกอบการจึงต้องอยู่ให้รอดกับภาระต้นทุนที่ต้องเปิดรับ ต้องกลั้นหายใจ

ระยะที่ 2 ต้องปรับตัว จากความผิดปกติแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม (New Abnormal) นับเป็นช่วงที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในระยะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง เริ่มกลับมาหายใจได้บ้าง แต่ก็ไม่เต็มปอดมากนัก

ระยะที่ 3 ต้องอยู่ให้ยืน จากความปกติที่ไม่ปกติหลังโควิด-19 (New Normal) เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องตั้งคำถามว่า “โลกหลังโควิดนี้ ยังต้องการเราอยู่หรือไม่” ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ มีความจำเป็นหรือไม่ อยู่เพื่ออะไร สร้างคุณค่า (Value) อย่างไรให้กับผู้บริโภค ท่ามกลางวิธีการสื่อสาร การติดต่อที่เปลี่ยนไปนี้

ในวิกฤตโควิดนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำหรือไม่ทำอะไรแล้ว ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ ปรับตัวเข้าสู่ตลาด e-Commerce มากขึ้น ติดต่อลูกค้า B2B (Business-to-Business) กันมากขึ้นด้วยออนไลน์ สามารถสั่งของ เช็กสต๊อกผ่านระบบดิจิทัล เพียงแค่ระบบหลังบ้านต้องเชื่อมต่อข้อมูลกันเท่านั้นเอง ทำให้ธุรกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่จะนำพาเราออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และ Mindset ของคนในองค์กร

 

ETDA กับบทบาทท่ามกลางวิกฤต

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในหน่วยงานของรัฐ ที่มีการปรับตัวเช่นเดียวกับเอกชน เพราะใช่ว่าโควิดจะกระทบกับเอกชนและประชาชนเท่านั้น แต่รัฐก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ทำให้รัฐต้องปรับตัวเน้นการเป็นผู้สนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาให้อะไรที่ติดขัดในช่วงนี้ สามารถทำต่อไปได้และไม่เป็นภาระของเอกชนหรือประชาชนมากเกินไป

ธุรกิจรอดหรือร่วง ช่วงวิกฤตโควิด-19 และหลังจากนี้

วิกฤตนี้ได้สร้างข้อจำกัดทางกายภาพโดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ดังนั้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก จนอาจไปไม่รอดช่วงนี้ ได้แก่

– ธุรกิจที่ต้องอาศัยคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตจำนวนมาก

– ธุรกิจมีสินค้าหรือบริการที่ต้องเข้าถึงลูกค้าทางกายภาพ เช่น ธุรกิจการบิน

– ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

 

หนทางที่ทำให้รอดและการถูก Disrupt ลดลง คือ

– ลดกำลังคน ดึงเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

– จัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่ดี มี Vender ใน Supply Chain มากกว่า 1 ราย และต้องมีความหลากหลาย ทั้งในพื้นที่ สัญชาติ เพื่อกระจายผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

– ปรับการส่งสินค้าและบริการถึงลูกค้าในทุกขั้นตอน ต้องทำผ่านออนไลน์ ปรับตัว ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เทคโนธานี Technopolis พื้นที่นวัตกรรมเสริมแกร่ง SME

ในยุคสมัยที่หลายประเทศแข่งขันช่วงชิงความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความก้าวหน้าของนวัตกรรมและผู้ประกอบการไทย นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งยวด หนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและ SME ของประเทศไทย คือ เทคโนธานี 


เทคโนธานี (Technopolis) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2532 เพื่อสนับสนุนให้มีการเร่งรัดสร้างสรรค์งานวิจัยพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

เทคโนธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่รวมประมาณ 574 ไร่ โดยเป็นแหล่งรวมกิจกรรมทั้งทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

7 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ของเทคโนธานี ได้แก่

1) สำนักงานปลัดกระทรวงอว.
2) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
3) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
4) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
5) ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอว.
6) กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน 
7) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เทคโนธานีมีหลากหลายพันธกิจ อาทิ สนับสนุนให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี, พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของเทคโนธานี ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศ


คุณวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า วว. มีงานวิจัยหลายด้าน อาทิ เกษตร, อาหาร, สมุนไพร และช่วยเหลือ SME ในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงมีสถานที่สำหรับบ่มเพาะธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร

“หลายที่ผลิตภัณฑ์มีปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มาให้วว. ช่วยในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ส่วนใหญ่ตอนนี้จะไปเรื่องเครื่องสำอางค์ บางทีก็เป็นเรื่องอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะมองเรื่องความปลอดภัย การเพิ่มมูลค่า และการยืดอายุ บางทีเขาอยากจะส่งออกต่างประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องอายุการใช้งาน Shelf Life ต่ำ เราจะมีเทคโนโลยีในการช่วยพัฒนา ทำอย่างไรให้อาหารเก็บได้ยาวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ เรามีศูนย์บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยทำแพคเกจจิ้งที่ปลอดภัยและยืดอายุ” 

คุณวิรัช กล่าวว่า วว. ให้บริการที่เป็น Total Solution เบ็ดเสร็จครบวงจร เริ่มตั้งแต่งานวิจัย, ทดสอบ, สอบเทียบเครื่องมือ, การรับรอง และมี Scale-up Plant ในชื่อว่าโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ให้ผู้ประกอบการ SME มาทดลองผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานนี้ขอ GMP (Good Manufacturing Practice) พอผลิตเครื่องดื่มแล้วก็ได้ตราอย. มีบรรจุภัณฑ์และวางขายได้เลย “SME ไม่ต้องไปลงทุนสร้างโรงงาน มาใช้บริการได้เลย หากขายดีก็ค่อยไปสร้างโรงงานเองได้ แต่หากขายไม่ดีก็อาจมาปรับสูตร หรือวิจัยใหม่” 


ในโรงงานของวว. กำลังสร้างไลน์ผลิตเครื่องสำอาง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 โดยต่อไปผู้ประกอบการ SME สามารถมาทดลองผลิตเครื่องสำอางค์ได้ 

หน่วยงานอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเทคโนธานี คือ ศูนย์ฉายรังสี อยู่ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) โดยสทน. เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ มีงานบริการและการฝึกอบรม ประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ คือ อุตสาหกรรม, การแพทย์, อาหาร, อัญมณี, ความปลอดภัยและเครื่องวัดปริมาณรังสี และด้านสิ่งแวดล้อม 

สทน. มีเครื่องฉายรังสีภายใต้การควบคุมและดูแลของศูนย์ฉายรังสี ให้บริการฉายรังสีด้วยรังสีแกมมาให้แก่บุคคลทั่วไปโดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาฉายรังสีนั้นมีหลากหลายชนิด เช่น อาหารสัตว์, สมุนไพร, ผลไม้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา, หลอดยาจุกยางฉีดยา เป็นต้น “ศูนย์ฉายรังสีดีลกับ SME ได้คือ ฉายรังสีเพื่อยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ เช่น แหนม, ผลไม้, สมุนไพร, อาหาร, เครื่องเทศ” คุณวิรัช กล่าว 

สทน. ได้จัดตั้ง “โครงการคูปองนวัตกรรมด้านรังสี” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME และ OTOP สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการผลิต หรือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เข้ามารับการแนะนำหรือวิจัยกับสถาบัน ซึ่งพร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สำหรับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) จัดเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล และให้การส่งเสริมสนับสนุนระบบมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับว่าประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


มว. ให้บริการแก่ผู้ประกอบการหลักๆ  2 เรื่อง

1) ให้บริการสอบเทียบ สำหรับเครื่องมือเกือบทุกประเภทที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ โดยเฉพาะเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งห้องปฏิบัติการสอบเทียบทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้
2) ให้บริการด้านฝึกอบรม เช่น เทคโนโลยีการวัดใหม่ๆ เทคโนโลยีการวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และยังมีบริการให้คำปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น หรือมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพให้กับสินค้า และลดการเกิดของเสีย 

คุณวิรัช กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่คอยปรับเทียบให้เกณฑ์ของประเทศไทยลิงก์กับต่างประเทศและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการปรับจูนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา เช่น ความแม่นยำของเครื่องมือ, เวลา, น้ำหนัก, เสียง, แสง, เคมี, อุณหภูมิ เป็นต้น 

“มว. ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ทำในระดับไพรมารี่ (Primary) ไม่ได้ไดเร็กส์โดยตรงกับ SME อาจมีบ้าง แต่น้อย ยกเว้นว่าเป็นรายการที่แปลกแล้วหาใครทำไม่ได้ ก็จะเข้ามาที่มว. แต่โดยส่วนใหญ่ถ้ามีคนอื่นสอบเทียบให้แล้ว เขาจะไม่มา เพราะมว. ทำระดับไพรมารี่ แต่หน่วยงานอื่น วว. และหน่วยงานแล็บเอกชนทั้งหลาย จะทำ Secondary Standard”

สำหรับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ความสามารถของนักวิจัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องขององค์กร และพัฒนาระบบและกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านงานวิจัยพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรม และสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน 

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน ทำหน้าที่ฝึกอบรม พัฒนา ถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการพลังงาน โดยอบรมพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพในการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อให้การพัฒนาพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

คุณวิรัช กล่าวว่า เป้าหมายของเทคโนธานี คือ หน่วยงานในพื้นที่แห่งนี้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย SDG (การพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงต้องการให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี

จากเป้าหมายและบทบาทข้างต้น ทำให้เทคโนธานีเป็น  One Stop Solution ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 

 

ท่านสามารถติดต่อรับบริการหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยงาน....

  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
    https://www.tistr.or.th/tistrnew/main/index.php
  1. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) http://www.nimt.or.th/main/
  2. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม(ศวฝ.)-กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม http://www.ertc.deqp.go.th/
  3. ศูนย์ฉายรังสี- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)   https://www.tint.or.th/main/index.php/th/
  4. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  http://www.nsm.or.th/
  5. กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน http://www2.dede.go.th/bhrd/

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย




บทความแนะนำ

KOFUKU CAT HOTEL เมื่อความสุขของแมว คือ ความสบายใจของคุณ

เมื่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปอยู่คอนโดมากขึ้น ได้ใช้ชีวิต single ในแบบของตัวเอง มีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคู่ใจ ชอบท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ พักโรงแรมเก๋ ๆ ออกนอกเมืองเกือบทุกสุดสัปดาห์ สำหรับใครบางคนที่สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปด้วยได้คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับ “แมว” ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ถนัดกับการเดินทาง ตื่นเต้น ตัวสั่นกันบ้างเมื่อต้องออกนอกบ้าน ทำให้เจ้าของทาสแมวทั้งหลายชอบพาไปฝากไว้กับเพื่อน กับญาติสนิท ทำให้ นัฐภูมิ โล้กันภัย ผู้ร่วมก่อตั้ง KOFUKU โรงแรมแมว มองเห็นพฤติกรรมของคนรักแมวพร้อมเห็นโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจเปลี่ยน pain point ของคนรักแมวแบบคนที่เข้าใจ (empathy) อย่างแท้จริง ทำไม KOFUKU โรงแรมแมว ถึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนขยายสาขาที่ 2 อย่างรวดเร็วในย่านใจกลางเมืองอย่างคอมมูนิตี้คนรักสัตว์ Trail and Tail สุขุมวิท 39 

 

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ แผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

คุณนัฐภูมิ: จริง ๆ แล้วผมทำธุรกิจอื่นเป็นธุรกิจหลักอยู่ โคฟูกุ เริ่มจากเดิมทีผมเป็นคนเลี้ยงแมวเป็น hobby อยู่แล้ว และช่วงวันหยุดยาวที่บ้านไปเที่ยวต่างประเทศกัน ไปทั้งบ้านก็ไม่รู้จะเอาแมวไปไว้ไหน มันเป็น pain point จริง ๆ ไม่รู้จะฝากใคร เลยเริ่มหาโรงแรมแมว แต่ตอนนั้นเป็นลักษณะอยู่ในบ้าน เหมือนคนมีห้องว่างก็กั้นที่ให้แมวอยู่ ให้เด็กในบ้านมาให้น้ำ ให้อาหาร แต่ไม่ได้มีระบบบริหารจัดการใด ๆ ทั้งสิ้น พอเราเลี้ยงแมว เลี้ยงหมาเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เรา take care เขามาแบบนั้น และบางที่เราฝากไว้แล้วเรา walk in เข้าไปไม่ได้นะต้องบอกก่อน เรารู้สึกว่าแล้วถ้าแมวเราเป็นอะไร มีปัญหาขึ้นมาล่ะ แล้วใครจะดูแล อีกอย่างคือราคาสูงด้วยสักปี 2017 ณ ตอนนั้นก็มีประมาณ 4-5 ที่แต่อยู่ชานเมืองหมดเลย เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าจะมีโรงแรมแมวดี ๆ มีการบริหารจัดการดี ๆ มีระบบ มีคนดูแลชัดเจนในเรื่องของความปลอดภัย ในเรื่องของสุขภาพ อยู่กลางเมือง 

 

SME ONE: แนวคิดตอนเริ่มต้นธุรกิจกับปัจจุบันเป็นอย่างไร ต่างกันไหม

คุณนัฐภูมิ: ตอนเราเริ่มทำปี 2017 ก็เลือกกลางเมืองเลยตรง พระราม 9 ค่าเช่าแพงหน่อย แต่ว่าเป็นจุดที่สะดวกทั้งคนที่มาจากพระราม 2 ก็ไม่ไกลมาก มาจากรามอินทราก็ได้อยู่ หรือคนที่อยู่ในเมืองเองก็นิดเดียว โลเคชั่นมันตรงกลุ่มเป้าหมาย คือต้องบอกว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คนมาอยู่คอนโดอยู่หอพักการที่เขาจะเลี้ยงสัตว์คือคนโหยหาความรักอยู่แล้ว คนแต่งงานน้อยลง คนมีลูกน้อยลง การจะเลี้ยงสัตว์ก็เลี้ยงไม่ได้ ต้องเลี้ยงแมว พอเลี้ยงแมวอยู่คอนโดส่วนใหญ่แอบเลี้ยงหมดซึ่งเขาไม่ได้ไปรบกวนคนอื่นด้วย พอคนเลี้ยงแมวบูมก็เลยเกิดโอกาสนี้ขึ้นมา บวกกับโลเคชั่นไปตอบโจทย์เขาด้วย แต่ 2 ที่นี้ก็ต่างกลุ่มเป้าหมายกัน สาขาแรกจะเป็นคนไทย ส่วนที่สาขานี้ trail & tail จะเป็นกลุ่มต่างชาติ expat ตอนเริ่มต้นใหม่ ๆ ไม่มีใครรู้จักเราก็ต้องทำแบรนด์ดิ้งด้วย เลยไป co-partner กับ โรงพยาบาลสัตว์ iVET เพราะอยู่ใกล้ ๆ กัน คือแต่ละอาทิตย์จะมีคุณหมอมาตรวจแมวที่โรงแรมให้เรา เหมือนเป็นการโปรโมทแล้วเขาได้ลูกค้าแมวใหม่กลับไปด้วย เป็น win win strategy เราก็ได้ความน่าเชื่อถือจากลูกค้า

 

SME ONE: ตอนแรกคิดว่าชื่อนี้เรียกยากสำหรับผู้บริโภคไหม หรือมองว่าสะดุดหูจำง่าย

คุณนัฐภูมิ: โคฟูกุ meaning แปลว่า “ความสุข” เรามองว่าคนจะได้ perceive เลยว่ามีความเป็นญี่ปุ่น คือเราไปเอาความเป็นญี่ปุ่นเพราะเป็นความน่ารัก ตอนนั้นอะไร ๆ ก็ญี่ปุ่น อาหารก็ญี่ปุ่น คิตตี้ก็ญี่ปุ่น มันมีความ relate กับความเป็นแมวเยอะมาก เลยเอาความเป็นญี่ปุ่นมาอยู่ในโรงแรม มีคนถามว่าซื้อ franchise มาเหรอเพราะเราทำให้ over expectation ของคนเลย หลังจากเริ่มได้โมเดลธุรกิจแล้ว ได้ธีม mood & tone ชื่อญี่ปุ่น ขั้นตอนถัดมาเราเลือกทำในสเกลที่ค่อนข้างใหญ่เลย คือมี 44 ห้อง ณ ตอนนั้นที่เคย survey โรงแรมแมวมีมากสุด 16 ห้อง พอเราเลี้ยงแมวอยู่แล้วก็รู้ว่าจริง ๆ แมวเน้น volume เน้นสูงไม่เน้น area เพราะฉะนั้นพอทำได้ 44 ห้องก็สามารถ quote ได้แล้วว่า “เราเป็นโรงแรมแมวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” พอลูกค้าเริ่มมาใช้บริการ พอกลับไปก็จะได้ความรู้สึกกลับไปเลยว่า 1. เราสะอาด...บางทีลูกค้านำแมวมาอยู่ 44 ห้อง 100 ตัวแต่ไม่มีกลิ่น มันคือเทคนิคภายในที่เราบริหารจัดการ circulate ของอากาศ เราทำความสะอาดทุก touch point ของแมวได้ check in/out เราคลีนหมด  2. ปลอดภัย มีการเช็คสมุดวัคซีน ถ้าขาดวัคซีนมาเราก็ไม่อะหลุ่มอะหล่วยเลยเพราะต้องการรักษามาตรฐาน ช่วงแรกเริ่มหาลูกค้าจาก online ก่อน มี FB ยิง ad ปกติ ทำwebsite แต่เรารู้ว่าธุรกิจแบบเรามันน่าสนใจ ก็เลยติดต่อสื่อมาถ่าย มาสัมภาษณ์มากกว่า 100 ที่ใน 3 ปี มีไปออกงาน pet expo เราลงทุนกับ internal program ระบบการจัดการพวก POS สามารถเช็คประวัติแมวได้ว่าเคยมาแล้ว และคราวนี้มีตัวไหนเพิ่มมา มีการเซ็นต์รับ

 

SME ONE: Kofuku ค่อนข้างมีดีไซน์ชัดเจนตั้งแต่เริ่ม ผ่านพวกงานดีไซน์ อันนี้คือมองอย่างไรถึงเริ่มทำ branding 

คุณนัฐภูมิ: คือแบบที่เห็นตามสื่อ แล้วก็มาปรับเองให้เป็นเอกลักษณ์ ความเป็นกระจกโค้ง สีไม้ แต่บรีฟเองเลยกับช่าง ไม่ได้มี interior designer เราเป็น SME อันไหนทำได้เองก็ทำเลยประหยัด cost ก่อน โลโก้ก็แฟนผมเป็นคนออกแบบ แล้วให้เพื่อนแปลภาษาญี่ปุ่นมาครบ การสื่อสาร quote ก็คิดเอง


ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

SME ONE: ผ่านมา 3 ปีมีปัญหาในการทำธุรกิจบ้างไหม

คุณนัฐภูมิ: ตอนนี้ก็มีคู่แข่งมากขึ้น บางทีลูกค้าเราก็ทำเองบ้าง โรงพยาบาลสัตว์ก็ลงมาเล่นด้วย ปี 2018-2019 มีเพิ่มประมาณ 20 กว่าโรงแรมแต่อาจอยู่ชานเมือง กลางเมืองน่าจะสัก 5-6 ที่. แต่ของเราชูเรื่องไม่มีสัตว์ป่วย เราตรวจวัคซีน book ตรวจผิวหนังก่อนฝาก แมวก็เหมือนคนนะ เวลาไปโรงพยาบาลฉีดวัคซีนเขาจะรู้จะหดหู่ มีโอกาสภูมิตกเพราะความกลัว มีมาอยู่น้อยสุดวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่งก็มี คือเจ้าของไปเรียนต่อก็จะมาฝากไว้ บางคนซ่อมบ้าน 2 เดือนเสียงดัง แล้วแวะมาเยี่ยมตลอดมีขนมมาให้

 

นอกจากคู่แข่ง สิ่งที่ยากสุดก็แมวนี่แหละ เราควบคุมไม่ได้ บางตัวดุหมายความว่าพนักงานเราอาจโดนกัดได้ แต่พนักงานเราทุกคนต้องเลี้ยงแมวอยู่แล้วเป็น basic เขาจะเข้าใจพฤติกรรมของแมว เรามีพนักงานสาขาแรก 3 คน ที่สาขา 2 มี 1 คน เพราะฉะนั้น overhead เราจะไม่เยอะ 

 

SME ONE: เรามีห้องให้เลือกด้วย แบบไหนบ้าง มีบริการให้อะไรบ้าง

คุณนัฐภูมิ: capsule อยู่ได้ 1 ตัว deluxe อยู่ได้ 3 ตัว type นี้เยอะสุด sweet อยู่ได้ 6 ตัว penthouse อยู่ได้ 8 ตัว แต่จะบ้านใครบ้านมันหรือมาจากเจ้าของเดียวกันหลายตัวก็รวมได้ เขาจะมีจ่าฝูงก็จะอยู่บนสุดก่อนเลย ที่สาขา 2จะเล็กกว่าแต่เราก็เอาข้อเสียจากสาขาแรกมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ดีไซน์จะต่างกันจะปรับ function ใช้ห้องกันแมวดุได้ เวลาจะทำความสะอาดหรือให้อาหารก็ไม่ต้องเข้าห้อง เช่น ดึงกระบะทรายออกมาแทน กำลังจดสิทธิบัตรอยู่ครับ

 

แล้วแต่ละห้องเราก็มีกล้องวงจรปิด ลูกค้าสามารถโหลดแอปดูแมวตัวเองได้ ลูกค้าเอามาเฉพาะอาหาร กับทราย สาขานี้จะมีปลูกต้นไผ่เงินตัดเก็บให้แมวทานเป็นยาได้ บางทีแมวมาอยู่แล้วภูมิตก เราก็มีหมอจาก iWET มาตรวจตลอดทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 1 วัน ซึ่งอันนี้บริการให้ฟรีอยู่แล้ว ปกติที่นี่จะเต็มช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ นอกจากนี้ระบบ circulation ในทุกห้องและทุกเช้าจะฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อในอากาศให้ เพราะฉะนั้นเปอร์เซ็นต์แมวป่วยตอนหลังมาน้อยมากไม่ถึง 5-10%


แผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต

SME ONE: มองเทรนด์เป็นยังไงบ้างในอุตสาหกรรมนี้

คุณนัฐภูมิ: เติบโตน่ะ aging society เอง อย่างลูกค้าเป็นผู้สูงอายุเยอะเหมือนกันก็ฝากลูกหลานมาเยี่ยม แล้วราคาเริ่มต้นที่ 250.- ถูกมากครับเราเป็นคนเลี้ยงเองก็อยาก serve ดี ๆ บางคนไปต่างประเทศฝากที 2 อาทิตย์ ลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็น repeat เกือบทั้งหมดและมีลูกค้าใหม่เดือนละประมาณ 15% ส่วนใหญ่ถ้าจะมีแมวมาฝากจะต้องมีเหตุการณ์ เช่น ไปเที่ยว ตอนนี้ที่สาขาแรกขยายเป็น 55 ห้อง ชั้นบนทำสำหรับลูกค้าที่มาอยู่ยาว ลูกค้าจะทำเป็นปิ่นโตไว้ ส่ง Kerry มา แต่อย่างช่วงโควิด ไม่มีใครมาฝากเลย ต้องปิดโรงแรม

 

เรื่องสังคมเดี่ยว ไม่มีลูก ไม่แต่งงานก็หันมาเลี้ยงแมวแทน และก็เทรนด์ของดารา celeb เลี้ยงแมว คนเลี้ยงแมวจะทราบดีจะมีปรากฎการณ์แมวงอกด้วยอย่างตัวผมเองตอนนี้ 6 ตัว และตลาดสัตว์เลี้ยงโตขึ้นเรื่อย ๆ market cap ประมาณ 4 หมื่นล้านนะช่วงที่เปิดใหม่ ๆ ครึ่งหนึ่งเป็น service ก็รวมกลุ่มโรงพยาบาล อีกครึ่งหนึ่งเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นก็ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านและโตปีละ 2 digits ทุกปี ตอนนี้มีคนติดต่อขอเป็น franchise แต่เราคิดว่าเป็นธุรกิจบริการ เรายังไม่พร้อมที่จะปล่อย ถ้ามีพลาดแล้วจะยาว 

 

SME ONE: แนวคิดธุรกิจเปลี่ยนจากที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือเป็นไปตามเพลน

คุณนัฐภูมิ: จริง ๆ โควิด มาทำให้เปลี่ยนนะ เปลี่ยนพฤติกรรมคนจากแต่ก่อนจะ 3-5 วัน มาฝากเป็นกลุ่มเลยเวลาไปวิ่งมาราธอนต่างจังหวัด และวิ่งกันทุกอาทิตย์ หรือกลุ่มไปเที่ยวต่างประเทศ 1-2 อาทิตย์ แต่ช่วงนี้กลุ่มพวกนี้หายหมดเลย ช่วงนี้ได้ลูกค้าสูงสุดคือ 3 คืน. ปกติช่วงเสาร์อาทิตย์เต็ม ช่วงวีคเดย์ 25-30 ห้อง. สมัยก่อนช่วงสงกรานต์ เต็มตั้งแต่ ธ.ค. แล้ว บางช่วงต้องเก็บห้องไว้ให้ลูกค้าเก่าก่อนเลยไม่ขาย คิดว่าหลังโควิดธุรกิจโรงแรมอาจเหลือไม่เกินครึ่งมั้ง เรามีทำ CRM สมัคร membership เช่นซื้อ 10,000.- ได้มูลค่า 12,000.- เราไม่ทำลดราคา

 

SME ONE: ช่วงโควิด เรารับมือกับปัญหายังไง

นัฐภูมิ: ตอนนี้ดีขึ้นเริ่มกลับมาแล้ว เดี๋ยวเราจะจัดงาน event ที่นี่แหละ ออก voucher มีคุณหมอมาเล่าให้ฟัง แจกอาหารแมวดี ๆ เป็นการสร้าง engagement กับลูกค้ามีโปรโมชั่น คือเรา benchmark กับโรงแรมใหญ่ ๆ ครับ

 

SME ONE: คิดว่าจะต่อยอดความสำเร็จ ขยายสาขาไหม

นัฐภูมิ: ตามแพลนเดิมปี 2020 จะขยายสาขาเพิ่มอีก 1 และแพลนว่าจะทำ holding เกี่ยวกับแมวและ partnershipกับอันอื่น เช่น ร้าน pet shop ข้างล่าง คือทำให้อยู่ใน ecosystem เดียวกัน ทั้งแนวลึกและกว้าง เช่น เราเก่งเรื่องแมวก็อาจทำเชิงท่องเที่ยว เช่น ไปไต้หวันไหม ไปบางโลเคชั่นที่มีความเชื่อเกี่ยวกับแมว หรืออะไรที่ relate กับแมวขยายเป็น traveling agency ได้ หรือทำ grooming คือให้ครบ ecosystem แต่จะไม่เพาะแมวขาย  

 

SME ONE: เคยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างไหม

นัฐภูมิ: ก็มีของ สสว. นี่แหละที่ตอนนั้นเราทำเรื่องเกี่ยวกับ HR เป็นประกวด SME สุดยอด Start-up แล้วมีอาจารย์จากมหาลัยสวนดุสิตให้คำปรึกษา ตอนนั้น turn over สูงมาก ตอนนี้ดีขึ้นเยอะมาก มีการทำสวัสดิการภายใน คือเราไม่เคยมีการทำงานประจำ ทำที่บ้านก็จะไม่ได้รับ HR ที่ professional แต่จะบอกว่างานนี้มีคนสมัครมาเยอะมาก ปริญญาตรี แล้วก็มี UPI เป็นสถาบันพัฒนาธุรกิจของ SME เหมือนกันเกี่ยวกับระบบความสะอาดภายใน มาเทสชาม เทสอากาศ แล้วก็ได้ certificate เพื่อความมั่นใจลูกค้า


Key Success ของธุรกิจ

SME ONE: ปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจนี้มีอะไรบ้าง 

นัฐภูมิ: ผมว่า partner คือต้อง direction เดียวกัน ต่อให้เดินไกลแต่เดินคนละทางมันก็งงเหมือนกัน เราคุยกันต่างคนต่างเสริมซึ่งกันและกัน เติมจุดเด่นจุดด้อยให้กัน เรื่องจังหวะ เวลาที่เราเข้าตลาดก็สำคัญ ถ้ามาช้ากว่านี้ก็ตามหลังตลาด เทรนด์หลาย ๆ อย่างความสนใจต่าง ๆ เราอาจไม่ได้ grab ตรงนั้นไป ตอนแรกผมออกสื่อเยอะมาก มีแทบทุกวัน the standard เนชั่น ไทยพีบีเอส the cloud คิดว่าถ้าเข้าตลาดเร็วกว่านี้ก็อาจจะบูมนะ ถ้าไปถามอาหารแมวนะจะเห็นว่าโต 15% ขณะที่อาหารหมาโต 5% อาจเพราะ base เยอะ คิดว่าทำรอบด้าน ทั้ง marketing การสื่อสาร แบรนด์ดิ้ง CRM 

 

SME ONE: ความท้าทายนับจากนี้ไปคืออะไร

นัฐภูมิ: ถ้า franchise ก็มองต่างประเทศเลย เคยปรึกษา DITP เช่น ฮ่องกง ตอนยังไม่ประท้วง กำลังซื้อสูง ไต้หวัน ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นชอบมากเพราะเขารู้ความหมายของชื่อ หรือถ้าขยายสาขาคราวหน้าก็ไม่ใช้เงินตัวเองแล้ว เหมือนเป็นระดมทุน กึ่งเป็น franchise ดีไหม หรือให้เขามาบริหารแต่ใช้ระบบเรา เป็นเงินลงทุนเขา joint venture หรือกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น อินโด กำลังซื้อในเมือง หรือกลุ่มโรงพยาบาลัตว์ ถ้าขยายในไทยก็จังหวัดใหญ่ ๆ เชียงใหม่ ภูเก็ต คนเลี้ยงเยอะ


คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

SME ONE: คำแนะนำที่ฝากให้กับผู้ประกอบการ SME (5 Do & Don’t)

นัฐภูมิ: คือผมว่าแต่ก่อนก็จะบอกว่าให้ลองเลย คือต้องทำดูอย่าไปคิดเยอะ แต่ปัจจุบันผมว่ามันไม่ใช่ มันต้องมองอนาคตไกล ๆ บางทีเงินเราจำกัด ตอบคำถามนี้ในแต่ละช่วงอายุจะไม่เหมือนกันครับ อย่างเรื่อง cash flow เรื่องเทรนด์สำคัญ ต้องมองและจับเทรนด์ให้ถูกครับ คือถ้าทำก่อนเทรนด์ หรือเทรนด์กำลังมาก็จะดี ที่สำคัญอาจไม่ใช่คนแรก แต่ต้องไม่ทำเหมือนคนอื่น พยายามสร้างจุดเด่น จุดต่างให้ได้ ตัวอย่างเช่น อยากให้คน perceive โคฟูกุว่า “ความสบายใจ” มากกว่า เราขายความสบายใจ เอาแมวไว้กับเราแล้วไม่ต้องกังวล อันนี้คือจุดที่เราต้องการให้ลูกค้ารับรู้เรื่องนี้ให้ได้ อยากให้คนนึกถึงโรงแรมแมวต้องนึกถึงเรา เราต้องเป็นแนวหน้าของวงการนี้ อีกมุมคือเราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเรา หาของแบบไหน sourcing ของที่ตอบโจทย์ลูกค้าซึ่งอาจไม่ใช่การเล่นราคาแต่เป็นของดีจริง ๆ แปลกไม่เหมือนใคร

 

SME ONE: คุณสมบัติสำคัญในการอยู่รอดในธุรกิจนี้

นัฐภูมิ: ผมว่าเรื่องแรกคือการรู้จักใช้เงิน การ management คือใช้เงินให้ถูกเวลา ประหยัดให้ถูกเวลา จังหวะไหนควรใช้ จังหวะไหนไม่ควรใช้ ถ้ามันต้องลงทุนก็ต้องลงทุน ต้องตีโจทย์ให้แตกอ่ะ อีกเรื่องคือการสนับสนุนจากภาครัฐนะ เช่นการสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการต้องมีอะไรบ้างเพื่อควบคุมคุณภาพ  อย่างโรงแรมแมวไม่เคยมีมาก่อนก็ต้อง set up 

 

SME ONE: หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจนี้ SME ต้องมีคุณสมบัติสำคัญอะไรบ้าง

นัฐภูมิ: คือผมว่าเราต้องเข้าใจ เราจะทำอะไรต้องรู้จริงสำคัญสุด โอกาสก็สำคัญ แต่รู้จริง รู้ insight อะไรบางอย่างทำให้เราเหนือคู่แข่ง ออก service หรือ โปรดักส์ที่มัน serve จริง ๆ เช่นอย่างที่บอก decoration อันไหนที่เราทำความสะอาดไม่ได้ เราเอาออกหมด เอาอันที่มันจำเป็นจริง ๆ


บทสรุป

เพราะการรู้ลึก รู้จริง และเข้าใจถึงความต้องการและพฤติกรรมของแมว สามารถเปลี่ยน pain point ของเจ้าของแมว มาสร้างเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ บวกกับความชัดเจนในความต้องการและมาตรฐานของตัวเองในฐานะผู้เลี้ยงแมวคนหนึ่งจึงเติมเต็มและตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด การรู้จักจังหวะ ศึกษาเทรนด์ ก็เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญให้ โคฟูกุ โรงแรมแมวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก้าวล่วงหน้าคู่แข่งอื่น ๆ อยู่เสมอ ไม่เพียงเข้าใจแมว แต่ยังเข้าไปนั่งในใจของเจ้าของแมว คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่ โคฟูกุ มอบความสบายใจ ไร้กังวลเมื่อฝากแมวมาพักที่โรงแรมนี้

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 



บทความแนะนำ

ใบชาตราสามม้า ชาดีมีคุณภาพ ที่ปรุงรสชาติจากความจริงใจ

น่าสนใจว่า กว่า 80 ปีที่แบรนด์ ๆ หนึ่ง สามารถส่งต่อคำสอน ความผูกพันจากเจนเนเรชั่นที่ 1 สู่เจนเนเรชั่นที่ 3 ที่ทำให้แบรนด์ใบชาของคนไทยยืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทั้งบริบททางสังคม พฤติกรรมผู้บริโภคจากยุคเบบี้บูม ก้าวข้ามสู่กลุ่มเป้าหมายอายุน้อยที่สุดที่แบรนด์นี้มี คือ เจนเนเรชั่น Z  และการแข่งขันในตลาดกาแฟ ชา ที่รุนแรงและซับซ้อน มากมายด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และกลยุทธ์มัดใจผู้บริโภคตลอดเวลา อะไรคือเคล็ดลับ อะไรคือแรงบันดาลใจที่ “คุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์ หรือ คุณต้น ทายาทรุ่นที่ 3 ของใบชาตราสามม้า ปรับตัว ต่อยอด พร้อมสร้างคุณค่าใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ที่อะไร ๆ หมุนเร็วขึ้น ขณะที่การละเลียดดื่มด่ำรสชาติชาจีนกำลังถูกท้าทาย  

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ ปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจของใบชาตรา 3 ม้า

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE: อยากทราบที่มาที่ไป จุดเริ่มต้นของใบชาตราสามม้าว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

คุณอิศเรศ: เริ่มต้นจากคุณปู่อพยพหนีสงครามกลางเมืองมาจากประเทศจีนด้วยเสื่อผืนหมอนใบ มาลงหลักปักฐานที่กรุงเทพฯ เยาวราชนี่แหละครับ เริ่มรับจ้างทำงานทุกอย่าง แต่คุณปู่เป็นคนช่างสังเกตุก็เห็นว่า ทำไมทุกบ้านมีการดื่มน้ำชา ก็เลยอยากลองทำเพราะน่าจะเป็นโอกาสที่ประสบความสำเร็จได้ ในตอนนั้นก็มีแบรนด์ใหญ่ที่ทำใบชาเหมือนกัน ถ้านับจนถึงปัจจุบันก็น่าจะ 100 ปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นคุณปู่เหมือนมีแรงฮึดว่าเราไม่มีภูมิหลังเรื่องใบชาแต่ก็พยายามจะเอาตัวรอดประสบความสำเร็จให้ได้ครับ 

 

SME ONE: แล้วทำไมถึงชื่อว่า ใบชาตราสามม้า

คุณอิศเรศ: สมัยนั้นคุณปู่เล่าว่าเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าร้านชาจีนส่วนใหญ่มีคำว่า 3 อยู่และพอได้คุยกับเพื่อนที่เป็นคนจีนเข้าใจว่า อาจจะมาจากวัฒนธรรมการดื่มชาของคนแต้จิ๋ว ที่มีการชงแบบที่เรียกว่ากังฟูน่ะครับ คือไม่ว่าจะมีแขกมาที่บ้านเยอะแค่ไหนก็จะมีจอกชงชาแค่ 3 จอก หมายถึงวนรอบการชงทีละ 3 จอก ถ้ามา 5 คน ก็จะมีคนที่ไม่ดื่มรอบแรก อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นการตั้งชื่อเพื่อย้อนไปถึงรากเหง้าของการชงชารึเปล่านะครับ และสมัยก่อนจะเป็นชานำเข้าเกือบ 100% ถ้าไม่จากจีนก็ไต้หวัน ชาป่าในประเทศไทยมี แต่ไม่นิยมดื่มในสมัยก่อน ประกอบกับสมัยก่อนชาป่าใบใหญ่ต้องเอามาสับ ตาก ทำให้การควบคุมคุณภาพค่อนข้างยาก สมัยนี้ชานำเข้าจากจีนจะมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ 14 วันก็ถึง เราจะกะได้ว่าชานำเข้าช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม่ร่วง เราควรสั่งนำเข้าตอนช่วงไหน สมัยก่อนชาส่งออกจากประเทศจีนจะไม่อนุญาติให้เป็นเอกชน ซึ่งทำให้การควบคุมคุณภาพจะมาตรฐานเดียวกันและเข้าใจว่ามีตัวแทนติดต่อซื้อขายกับตัวแทนที่แต่งตั้งจากรัฐกึ่งสัมปทาน ที่พ่อค้าคนกลางไปรับชาต่อมาอีกที เพราะฉะนั้นคุณปู่ก็เริ่มไปขอแบ่งจากร้านใบชาเจ้าใหญ่ ๆ มาอีกต่อ

 

SME ONE: จากอดีตจนปัจจุบันชาตราสามม้ามีชาจีนกี่ชนิด กี่รสชาติ ที่ขายกันอยู่

คุณอิศเรศ: เอาเป็นว่าชาจีนที่นิยมดื่มในไทย จะเป็นชาอูหลงเป็นหลักเรียกว่าชากึ่งหมัก ไม่ได้มีการปล่อยให้หมัก 100% เหมือนแบล็คที ชาฝรั่ง ในสมัยก่อนคนไทยยังดูดฝิ่น ซึ่งจะทำลายประสาทการรับรส ในปาก จมูกทำให้ไม่ค่อยรับรส ดังนั้นการจะย่างชาให้คนจีนในไทยที่นิยมดื่มชาก็ต้องย่างให้เกรียม เพราะฉะนั้นชาในสมัยก่อนจะมีรสเข้มมาก คนที่ไม่ดูดฝิ่นก็จะรู้สึกว่าเข้มไป มีกลิ่นย่างไฟแรงมาก แต่สมัยนี้การย่างให้มีรสเข้มถึงแม้น้อยลงแต่ก็ยังมีอยู่ แต่จะมีรสชาติให้เลือกหลากหลายมากขึ้น แล้วเทรนด์ช่วง 10 ปีนี้คนเริ่มมี knowledge เรื่องชามากขึ้น ประกอบกับมี internet เป็นแหล่งข้อมูลให้หาได้ง่ายทำให้หันมาดื่มชาแทนกาแฟเยอะขึ้น 

 

SME ONE: ในสมัยก่อน คุณปู่ได้เห็นโอกาสและขยายตลาดอย่างไร

คุณอิศเรศ: ตอนนั้นเขตในเมืองจะเจาะตลาดยาก คุณปู่ก็เริ่มจากเขตรอบนอกก่อน เช่น พระโขนง ถือว่าไกลแล้วแถวนี้ก็มีรถม้า รถราง วงเวียนโอเดียนเป็นทุ่มจับจิ้งหรีด คุณปู่ก็แพคชาใส่ห่อแล้วขี่จักรยานไปขาย ใช้วิธีลูกตื้อขยันไปฝากขาย ซึ่งตอนเริ่มต้นก็ขายยากหน่อยเพราะไม่มีใครรู้จัก พอรุ่นที่ 2 คุณพ่อจะช่วยคุณปู่มาแต่เด็ก เป็นยุคที่แบรนด์เริ่มผลิดอกออกผล เริ่มมีโมเดิร์นเทรด 7/11 เราก็ส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ช่วงนั้นคุณพ่ออายุ 50 ปี คุณพ่อก็เสีย ผมกับพี่ชายก็มารับหน้าที่ต่อตั้งแต่อายุ 20 กว่า ๆ จนถึงปัจจุบัน

 

SME ONE: พอมาในยุคนี้เห็นโอกาสมีเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

คุณอิศเรศ: จะเรียกว่าชาใบแบรนด์เราล้าหลัง เราก็ยอมรับ ชาจีนเราไม่เคยเกาะกระแสชาเขียวได้ทันแต่พอวิกฤติต้มยำกุ้ง เราก็ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก เหมือนธุรกิจเราทรง ๆ อาจเป็นเพราะเรามีกลุ่มเป้าหมายประจำชัดเจน แต่ถ้าไม่พยายามปรับตัว เราก็อาจโดนหลงลืมจากผู้บริโภคได้ ตลาดของเราในกรุงเทพฯ และรอบ ๆ มีประมาณ 50% ที่เหลือก็เป็นตลาดต่างจังหวัด 

ช่วงยุคผมมีเข้าไปลองทำชาซอง cachet เรามองว่า pain point คนดื่มชาจีนคือไม่สะดวกก็เลยทำเป็นชาซอง ตอนนั้นเราทำเป็นซองฟลอยด์เพื่อควบคุมการไหลผ่านของอากาศ มองกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ แต่ ณ เวลานั้นผมรู้สึกว่าการดื่มชาจีนมันไม่เท่ห์เหมือนชาฝรั่งที่มีป้ายแบรนด์ห้อยเหมือนคนละคลาสกันแหละ ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่ชาซองจะเป็นการเอาเศษชามาทำ เมื่อใดก็ตามที่ใบชาถูกตีให้แตกคุณภาพชาและกลิ่นหอมจะลดลง รสชาติจะเข้มข้นขึ้นเมื่อชงในปริมาณเดิม แต่ชาดีจะไม่มีใครทำชาผงออกมา สมัยนั้น SME เล็ก ๆ อย่างเราการใช้เงิน สิบ ๆ ล้านเพื่อ educate ผู้บริโภคจะยากมาก เราไม่สามารถอธิบายข้อดี จุดต่างได้ละเอียดนัก เราเลือกใช้ได้แค่วิทยุ นิตยสาร แต่ด้วยงบที่น้อยผลตอบรับคือไม่มีใครเห็นหรือได้ยินในวงกว้างเลย และก็ทำโรดโชว์ ชงชิมตามตึกออฟฟิศอยู่หลายปี เราต้องการจับคนรุ่นใหม่ด้วยชาจีนซองก็เลยไม่ประสบผลสำเร็จ อาจเป็นเทรนด์และพฤติกรรมยังไม่ใช่ ยังไม่สามารถขยายฐานได้ เลยปรึกษากัน ปรับเป็นทำยังไงไม่ให้เรา drop ลง เราเลยกลับมาโฟกัสที่คุณภาพชาของเรา รส กลิ่น สีให้ดีที่สุด ในช่วงนี้ยุคดิจิทัล การสื่อสารให้ข้อมูลทำได้ง่ายขึ้นสามารถอธิบายเล่าเรื่องราวในงบที่น้อยกว่า

 

SME ONE: ตอนนั้น hero product ของใบชา 3 ม้าคืออะไร 

คุณอิศเรศ: ยังเป็น อูหลง เบอร์ 1 ผสมสัดส่วนชาเมืองนอกเยอะกว่า สีใบชาจะไม่เข้มแต่กลิ่นหอมกว่า  และเบอร์ 3 เป็นชาอูหลงที่ผลิตในประเทศ ส่วนใหญ่ตัวนี้จะนิยมในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารทั่ว ๆ ไป เพราะสีเข้มเหมาะไปทำเป็นกาใหญ่ชงปริมาณเยอะ ๆ แต่เราเจอปัญหาที่ผู้บริโภคมี perception ว่าเป็นชาที่ใช้ไหว้เจ้า แต่ประเด็นคือเวลาเอาชา 3 ม้าเราไปเทียบ ก็มักไปเทียบกับชาที่แพงกว่า 3 เท่า คือคนละเกรดกัน มันย่อมจะรสชาติต่าง ก็จะบอกว่าชา 3 ม้าไม่มีชาดีเลย เรากลุ้มใจเพราะไม่มีช่องทางที่จะสื่อสาร


 

ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

SME ONE: มองเทรนด์อุตสาหกรรมนี้ กับการดำเนินธุรกิจต่างกับช่วงแรกอย่างไร (มีปัญหาอะไรบ้าง)

คุณอิศเรศ: ผมมองว่าการมาของ internet นอกจากผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นในเรื่องชา วิธีการชง และที่สำคัญคือให้เรามีโอกาสที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคได้ตรงจุด เช่น TVC อาจ reach คนได้เยอะ แต่จะตรงกับผู้ดื่มชาก็อาจเหลืออยู่ไม่มาก และขณะที่ฐานข้อมูลของ line@ หรือ สื่อ social ก็พาเราเข้าไปถึงกลุ่มได้เจาะจงมากขึ้นตาม criteria ที่เลือก เลยได้ความ effective มากกว่าเมื่อเทียบกับ cost เทรนด์ของชาจีนดีขึ้น

จากที่ผมทำ FB มาประมาณ 3-4 ปี ผมมั่นใจว่าผู้บริโภคที่ซื้อเราตอนนี้คือ new user ตอนนี้เราใช้ Line@ FB. Google AdWords ด้วย ถ้าเทียบยอดขายที่มาจากออนไลน์กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่าง opportunity ที่ผ่านมาเราได้ออกสื่อ free media เช่น the cloud และ SME Thailand แล้วมีช่อง 3, 9 แล้วพอเราได้ใส่ความเป็นตราสามม้าเข้าไป โดยเน้นย้ำสิ่งที่คุณปู่บอกว่า “เราต้องขายของที่ลูกค้าอยากได้” หมายความว่าถ้าซื้อชาเราไปและไม่ชอบ และมี complain กลับมาเดี๋ยวเราจะมีหน่วยเราไปคืนเงินให้ จริง ๆ เราทำมานานแล้วแต่เวลานั้นไม่มีช่องทางสื่อสารเข้าถึงได้ง่ายแบบ social media 

ตอนนี้แม้ว่ายอดขายทาง social ประมาณ 2% เมื่อเทียบกับโมเดิร์นเทรด และโชว์ห่วยที่มีประมาณ 50% ของยอดรวม เพียงแต่ว่าการเติบโตทางเพจนั้นโตแบบก้าวกระโดด 100-200% ทุกปี ในเพจและ marketplace เราเริ่มด้วยสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลักนอกเหนือจากตัวปกติ ใน line@ shopee Lazada เราหวังว่าการเติบโตของดิจิทัลจะพาเราไปด้วย เริ่มจับการสังเกตได้ว่าลูกค้าที่มาเนี่ย ไม่รู้เรื่องชาเลย อยากดื่มชาแต่ที่บ้านเคยดื่มอยู่มันเข้ม อยากให้ admin อธิบายหน่อย

ของผมเนี่ยใน website ยังไม่ทำเป็น e-commerce เพราะมองว่าคนที่มาซื้อเราตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นที่มาแล้วกดสั่งเลย ต้องมีการนั่งคุยไปเรื่อย ๆ อธิบายแต่ละชนิด สอนวิธีชงชาจีน ชาเขียว เราบอกแอดมิน อย่าไป hard sale เพราะถ้าเขาอิน เข้าใจ เดี๋ยวก็มาเอง เพราะเราพิสูจน์จากหน้าร้านที่เวลาคนเข้ามาเราจะถามพี่ชอบตัวไหน เราก็จะชงให้ชิมก่อน ถ้าพี่ชอบพี่ค่อยซื้อ การขายชาทางออนไลน์มันต้องคุยกันเป็น 10 นาทีซึ่งเรายินดี เราจะเน้นทีม admin ว่าอยากให้ความน่ารัก ความ welcome ไม่รีบขายของ ให้เช็คก่อนว่าชาในมือเขาคืออะไร ดื่มชาแบบไหน อีกจุดแข็งของเราคือการจัดส่ง ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วสั่งวันนี้เราก็ส่งถึงทันทีไม่เกิน 1 วัน

 

SME ONE: กลุ่มเป้าหมายที่สนใจชาเราทางออนไลน์ เป็นใคร อายุประมาณเท่าไหร่ครับ ตามเป้าที่อยากได้ไหม

คุณอิศเรศ: ชาย หญิง 50:50 กทม.และต่างจังหวัด ตอนนี้ลงมาถึงช่วงมัธยมมาหลายคน แต่ยังเป็นส่วนน้อยนะ ที่ดูรูปโปรไฟล์มีตั้งแต่ 20-35 ปี และชาปกติที่ขายตามโมเดิร์นเทรดขายได้ไม่ถึง 3% แต่จะเป็นชาพรีเมี่ยมขึ้น ถูกที่สุด คือขีดละ 150.- ไปจนถึงราคาขีดละ 1,350.- ตอนนี้จะนำเข้าชาหลายสายพันธุ์และทำเป็น series รวมหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ละ 15 กรัมใน 1 packaging เพื่อให้ลูกค้าได้ลองก่อน แต่ก่อนสั่งเราจะถามความชอบในรสชาที่ดื่มว่าประมาณไหน เพื่อ customized ให้ได้ตรงใจมากขึ้น เช่น ชาอูหลง classic 4 เป็นชาอูหลงไต้หวัน พันธุ์เทกวานอิน พันธุ์สี่เชียน และชามะลิ ซึ่งทำให้ลูกค้าเปิดใจลองง่ายขึ้นเพราะแค่ชนิดละ 15 กรัมพร้อมวิธีชงชาในแต่ละแบบที่ไม่เหมือนกัน จะ educate ปริมาณน้ำ ปริมาณชา อุณหภูมิ เทคนิคเพื่อให้ได้รสชาในจุดที่คุณชอบมากสุด โดยเน้นแยกชาออกทันทีเมื่อถึงรสที่คุณชอบ ไม่งั้นจะเลยจุดอร่อยที่สุดของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน

 

SME ONE: หลัก ๆ ที่เห็นคือปัญหาส่วนหนึ่งมากจากการสื่อสาร มีปัญหาด้านอื่น และวิธีการแก้ปัญหาทำอย่างไร

คุณอิศเรศ: การที่มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มากขึ้น ตัวแทนที่ทำการส่งสินค้าให้ลูกค้าขาดความรับผิดชอบ เช่น ไม่ยอมตามงาน ตามออเดอร์ให้ เมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภคช้า หรือสูญหายระหว่างทาง เช่น เคยมีลูกค้าจากอุตรดิตถ์สั่งสินค้ามา โดยปกติถ้าสั่งก่อน 4 โมงเย็นเราจะแพ็คส่งได้ทันวันนั้นพร้อมส่ง tracking ซึ่งเท่ากับว่าหมดหน้าที่ผู้ส่งแล้ว แต่บางทีบริษัทผู้จัดส่งขาดความรับผิดชอบไม่แจ้งเมื่อล่าช้า กลายเป็นทางเราเมื่อลูกค้าบอก 2 วันแล้วยังไม่ได้รับ ทาง 3 ม้าเองต้องตามให้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ข้อดีคือลูกค้าประทับใจเรามาก และรีวิวที่เราได้ตอนนี้ก็ 5 ดาวหมด  ลูกค้าเราที่มาจาก google จะซื้อแบบ traditional ชาเบสิคเป็นหลักต่างจากคนที่สนใจชาเราใน FB  อย่างปัญหาโควิด เราพบว่าช่วงนั้น ลูกค้าเพจก็ไม่ได้หายไปไหนนะ แม้เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจอาจไม่ค่อยดี 

 

SME ONE: ที่ผ่านมาเคยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่ อย่างไร

คุณอิศเรศ: ในมุมมองของผมเรารู้สึกว่าเราต้องดิ้นรนเอง และเราก็ไม่ได้เสาะหาข้อมูลเองด้วยครับ สิ่งที่ได้จากตอนนั้นคือ free media บ้างจากช่องของรัฐ ก็ทำให้มีกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อายุน้อยลงประมาณ 20 กว่า ๆ เข้ามาหน้าร้าน อยากมาดู มาลองชิมและซื้อเลย 

 

SME ONE: คิดว่าตอนนี้พอมองเห็นช่องทางแหละ เรามีวิธีการต่อยอดความสำเร็จอย่างไร

คุณอิศเรศ: ในเรื่องของเพจ ออนไลน์แพลทฟอร์ม เราคงไม่หยุดที่จะใช้เงินสร้าง awareness ครับ อีกกลุ่มที่เป็น segment ย่อย เช่น พระภิกษุเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สั่งเองอยู่แล้ว เราอาจหาวิธีเจาะเข้าไป แบบงานที่จะมารวมตัวกันปีละครั้งที่สนามหลวง คือเราอาจจะขอไปเป็นสปอนเซอร์  คือชาผมอยู่ในกล่องสังฆทานอยู่แล้ว และพระบางท่านมาซื้อตัวพรีเมี่ยมในเพจอยู่แล้วด้วย เราก็เลยถวายอุปกรณ์ชงไปด้วย 

ยังยืนยันว่าการ educate ลูกค้าเป็นผลดีโดยรวมกับตลาด เหมือนว่าทุกร้านชาย่านเยาวราชก็พยายามทำแบบนี้ เรามีฐานลูกเพจประมาณ สามหมื่นกว่าก็ถือว่า OK สำหรับ sme อย่างเรา แม้ว่าทุกแบรนด์มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชา แต่อีกจุดเด่นนอกจากคุณภาพสินค้าคือการขนส่งเพราะเรามีรถส่งประจำ และมอเตอร์ไซส์อีก 4 คัน บางทีในต่างจังหวัดถ้าสั่งมาเราแพ็คส่งทันที สินค้าเราไม่ต้องรอรอบ สั่งมา 11 โมงเราแพ็คส่งได้เลยเพราะ ems Kerry อยู่ตรงนี้ เวลาแพ็คบับเบิ้ลเสร็จเราลองโยนลงพื้นก่อนเป็น 10ครั้งเพื่อ test ว่าไม่เสียหายก่อนส่ง ไม่ใช่แค่ชา แต่รวมถึงพวกอุปกรณ์ชงชา หรือ ป้านด้วยครับ


 

ปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจของใบชาตรา 3 ม้า

SME ONE: ปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจของใบชาตรา 3 ม้ามีอะไรบ้าง (key Success Factors)

คุณอิศเรศ: อันนี้โดนกำหนดมาตั้งแต่ยุคคุณปู่เลยครับ “ซื่อสัตย์ จริงใจ” อย่างเช่น admin เราจะถูกสอนให้ถามว่าลูกค้าใช้ชาอะไรอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาดื่มชาประเภทไหน จะได้ educate เขาในรสที่เขาชอบดื่ม บางทีบอกวิธีการชงที่ถูกต้อง ถ้าเขากลับไปชงและยังดื่มอันเดิมได้ก็ไม่เป็นไร เพราะวันหลังอาจมาเป็นลูกค้าเราได้เอง 

คนดื่มชาจะไม่ได้ดื่มประเภทเดียวเพราะชาจะมีกลิ่น รสชาติที่ต่างกัน ส่วนใหญ่จะดื่มหลากหลายประเภทจะได้ดื่มแล้วไม่เบื่อ และเราต้องการสื่อสารให้เขารู้ว่า ใบชาเด็ดมาแล้วต้องเอาผึ่ง นวดเขาให้เกิดการช้ำที่ขอบใบ ย่างเพื่อให้เกิด fermentation เพราฉะนั้นรสชาติจากชาเราไม่ได้แต่งสี กลิ่น รส แต่เกิดจากภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า ที่เรียนรู้ว่าชาประเภทไหนควรใช้ทำชาอะไรถึงจะให้รสชาติที่เหมาะสม อย่างที่บอกว่าเราซื่อสัตย์ต่อลูกค้า แม้การผลิตทีละเป็นตัน ๆ เราจะเก็บบางส่วนของแต่ละล๊อตเอาไว้เทียบเพื่อเป็นมาตรฐาน เวลาเราผลิตรอบหน้าให้มีคุณสมบัติ รสชาติที่เหมือนกัน เราจะเอามาชิมเทียบ ทำให้ลูกค้าชิมชาเดือน ม.ค.-ธ.ค. แล้วรสชาติไม่ต่างกันเกิน 5-10% เพราะสินค้าเกษตรจะมีการ fluctuate ของสารอาหารขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ การซึมซับสารอาหาร เพราะฉะนั้นในแต่ละฤดู ชาจะมีรสชาติความหอมต่างกัน  tea master เรามีหน้าที่ปรุงให้รสชาติเรามีมาตรฐานเสมอกันทั้งปีในทุกฤดู 

classic case ของเราเคยมีลูกค้าบอกว่ารสชาติชาเราไม่เหมือนเดิม ใบลอย เราวิ่งรถไปขอมาเปลี่ยนถึง 2-3 รอบเพื่อเอากลับมาเทสรสชาติซึ่งก็ปกติ จนกระทั่งเราคืนเงินลูกค้าพร้อมไม่เอาชาคืนเพราะเรามั่นใจไม่น่าใช่จากชาเราแน่ ๆ สุดท้ายลูกค้าโทรกลับมาบอกว่าเอากระติกน้ำร้อนไปซ่อมกลับมาแล้ว คือตัววัดความร้อนน่าจะเสียน้ำอาจไม่เดือดจริง ตอนนี้ชงชาแล้วได้รสชาติเดิมกลับมาแล้ว  เหมือนเป็นคัมภีร์ หรือกฎของบรรพบุรุษสอนมาว่า ทำการค้าก็ต้องทำแบบนี้ เราไม่รู้สึกว่าเป็นคนรุ่นใหม่แล้วต้องเปลี่ยน แต่กลับกลายเป็นการสร้างความรู้สึกดี มั่นใจให้ลูกค้ามากกว่า


 

คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

SME ONE: มีคำแนะนำที่ฝากให้กับผู้ประกอบการ SME (5 Do & Dont)

คุณอิศเรศ: ผมว่าอันที่ประสบความสำเร็จน่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาบอกมากกว่า สำหรับผมแค่จะบอกว่าสิ่งที่เรายึดถือและนำมาปฏิบัติจากคำสอนของบรรพบุรุษคือว่า “จริงใจและซื่อสัตย์” เวลาแนะนำสินค้าเราจะไม่แนะนำสินค้าที่แพงสุดกับลูกค้า ผมจะบอกว่าถ้าพี่ยังดื่มชาไม่เป็นแบบนี้เนี่ย ผมว่าชาเกรดประมาณนี้ถ้าชงตามวิธีผม มันก็อร่อยได้แล้วนะครับ และถ้าอยากซื้อตัวแพงเราไม่มีปัญหา ผมว่าเมื่อไหร่ที่เราทำให้เขารู้สึกว่าจริงใจ มันจะเปิดโอกาสให้เขามาเป็นลูกค้าเราได้ง่ายกว่า สบายใจกว่า

 

SME ONE: คุณสมบัติสำคัญในการอยู่รอดในธุรกิจนี้

คุณอิศเรศ: ผมคิดว่าคุณภาพสินค้าครับ เวลาที่ต้นทุนแพงขึ้นจริง ๆ และเลี่ยงไม่ได้ คุณอย่าลดคุณภาพ คุณอาจลดปริมาณ ผมว่าผู้บริโภคเข้าใจได้ ส่วนนวัตกรรมในธุรกิจนี้ คิดว่าเป็นอุปกรณ์การชงอย่างเรื่อง cold brew มีมา 20 ปีแล้ว แต่อุปกรณ์สมัยนั้นอาจยังแพงอยู่ แต่ปัจจุบันคุณสามารถนำอุปกรณ์ชงชา cold brew มากับถ้วยพร้อมดื่มในราคาแค่ 300 บาทพร้อมส่ง  คือสามารถพกไปชงชาที่ไหนก็ได้ หรือ glass to go คือเป็นอุปกรณ์กันความร้อน คุณสามารถพกไปแล้วไปหาน้ำเติมข้างหน้าก็พร้อมดื่มได้ และวิธีการชงชาที่พัฒนาให้คนได้สนุกกับการดื่มได้รสชาติที่สกัดได้แท้จริงมากขึ้น

 

SME ONE: หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจนี้ SME ต้องมีคุณสมบัติสำคัญอะไรบ้าง

คุณอิศเรศ: คิดว่าลองหาร้านชาที่คิดว่าคุยได้สนิทใจและลองเข้าไปติดต่อดูก่อน อีกอย่างคือ ใฝ่รู้  โชคดีที่คุณปู่มองการณ์ไกลส่งผมกับน้องหรือพี่ชายไปเรียนไต้หวัน เราเลยสามารถหาข้อมูลอ่านใน web ได้ทั้งภาษาจีนและอังกฤษโดยไม่ต้องแปล ได้อ่านวิธีชงชา พันธุ์ชา อันไหนน่าสนใจ และเราได้มีการติดต่อพูดคุยกับไร่ชาที่ต่างประเทศไว้ 3 ไร่ ทำให้เราสามารถชาแปลก ๆ มาให้คนไทยได้ชิมกัน 

อีกประการคือ ใส่ใจ อย่างผมช่วยธุรกิจที่บ้านมา 30 ปี เพิ่งจะมาชิมชาแบบรู้จริงแยกรายละเอียดทุกรสออกคือ 5 ปีที่ผ่านมา ต้องรู้ความต่างของรสชาติ ต้องศึกษาอย่างใส่ใจ จะต้องจำให้ได้หมด เพราะผู้บริโภคเดี๋ยวนี้จะถามรายละเอียดมาก เราต้องอธิบายให้ได้ว่ามันต่างกันทั้งสี รส กลิ่นเป็นอย่างไร พอเราใส่ใจตอนดื่มจะจำรสได้ชัดเจน แยกได้และเข้าใจเหมือนตอนอ่านศึกษามาก็สามารถตอบได้โดยทำให้ลูกค้าเชื่อว่าเรารู้จริง


 

บทสรุป

ใครจะเชื่อว่าสูตรสำเร็จของธุรกิจใบชาตราสามม้าที่สานต่อมามากกว่า 80 ปี มีหลักคำสอนที่เรียบง่าย “ซื่อสัตย์และจริงใจ” จากรุ่นคุณปู่ แต่สามารถนำมาปฏิบัติได้ร่วมสมัย โดยเฉพาะถูกจริตกับผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ชอบศึกษาเปรียบเทียบข้อมูล คุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสียรอบด้าน ก่อนตัดสินใจเลือกแบรนด์ ยิ่งเป็นแบรนด์ใบชาตราสามม้า ที่มีเรื่องเล่า (Brand story) จากความเป็นผู้เชี่ยวชาญ tea master ตัวจริง บวกกับการสื่อสารออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลู่มผู้บริโภคยุคใหม่ ส่วนที่หน้าร้านก็ยังแวะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดื่มชาพร้อมวิธีชงให้ถูกความชอบในรสชาติของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน (personalized marketing) ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดพร้อมชาคุณภาพดีที่ถูกคัดสรรอย่างคนรู้จริงหลากหลายรสชาติ จึงทำให้แบรนด์ใบชาตราสามม้าเริ่มปรับตัว เปิดใจคนรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจกลับมาดื่มชามากขึ้นกว่าแต่ก่อน

 



Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ