เคล็ดลับเกษตรสมัยใหม่แบบจอน นอนไร่ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้สินค้าชุมชน

เกือบทั้งชีวิต เสกสรรค์ อุ่นจิตติ หรือ “ตุ้ย” เจ้าของฟาร์ม “จอนนอนไร่” ทำงานในอุตสาหกรรมโฆษณามาตลอด เขาไต่เต้าตั้งแต่เป็นกราฟิก ดีไซเนอร์จนขึ้นเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ผลงานโฆษณาของเสกสรรค์คว้ารางวัลมากมายในเวทีประกวดงานโฆษณาทั้งในไทยและต่างประเทศ ตำแหน่งสุดท้ายในแวดวงโฆษณาของเสกสรรค์ คือเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซี แมทช์บ็อกซ์ จำกัด ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเป็น Food Maker เต็มขั้น

จากงานโฆษณาที่เปรียบได้กับถนน Super highway เพราะมีการแข่งขันสูงมาก วันนี้เสกสรรค์เปลี่ยนมาใช้ชีวิตความเป็นแบบกึ่ง Slow life คลุกคลีกับการปลูกผักออแกนิกส์ กระนั้นก็ดีประสบการณ์ด้านงานสื่อสารการตลาดและความคิดสร้างสรรค์ก็ยังคงถูกนำมาต่อยอดสินค้าให้กับจอนนอนไร่ 

เสกสรรค์อธิบายว่าตอนกลางวันเขาสวมวิญญาณของ “จอน” เพื่อทำการเกษตร พอตกดึกเขาเปลี่ยนร่างจากจอนเป็น “ตุ้ย” ที่มักจะคิดทดลองปลูกอะไรใหม่ๆ จนออกมาเป็นแนวคิดล่าสุดที่อยากให้ผู้บริโภคเลือกกินอาหารเป็นยา

 

SME One : จุดเริ่มต้นของจอนนอนไร่ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เสกสรรค์ : ย้อนไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งผมถือว่าเป็นช่วงท้ายๆ ของการเป็นครีเอทีฟโฆษณา เนื่องจากโดยตำแหน่งต้องรับผิดชอบด้านงานบริหารมากขึ้นทำให้เริ่มไม่สนุก จนมาถึงจุดพลิกผันคือผมชอบถ่ายภาพลง Instagram จนมีชื่อเสียง มีคนติดตามมากมาย และมี Follower ต่างชาติทักเข้ามาคุยว่าประเทศไทยมีของดีมากมาย จนเกิดความคิดที่จะตระเวณถ่ายภาพใน #77provincesthailand คนเดียว นั่นคือประตูอีกบานหนึ่ง

คราวนี้ผมมีบ้านอยู่ที่กลางดง โคราช ผมสร้างบ้านหลังนี้ไว้เป็นที่ Brainstorm การทำงานมาตลอดชีวิตในช่วงโฆษณา เป็นเหมือนเป็น Base Camp ผมเริ่มถ่ายภาพที่อีสาน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผมได้เห็นชนบทแบบจริงๆจังๆ งานถ่ายภาพต้องถ่ายเช้ามืด ต้องรอตั้งแต่ตี 5 แต่ 7 โมงก็เลิก เวลาที่เหลือทำให้มีโอกาสไปเดินเล่นในป่าเขา มีโอกาสเดินเล่นในตำบลเล็กๆ เดินดูวิถีชาวบ้านแล้วมีความสุขมาก นี่คือประตูอีกบานหนึ่ง 

การได้เห็นมุมมองใหม่ๆ แต่ความหลงใหลยังไม่เกิด แต่เริ่มรู้สึกว่าสนุก จนกระทั่งมีโอกาสได้ลองกินผักออแกนิกส์มากขึ้น สมัยก่อนผมไม่ได้กินผักเยอะ ผมรู้สึกว่าผักออแกนิกส์มันอร่อย ผมไม่ได้รักษ์โลกนะ แต่ผมพูดได้ว่าผักออแกนิกส์ คือ ผักอินทรีย์ผักที่อร่อยที่สุดในโลก อร่อยจนตกใจ ไม่เหมือนผักในเมืองที่ใช้เคมี จนตัดสินใจว่าจะออกมาทำเกษตรอินทรีย์ และใช้เวลาโอนถ่ายงานประมาณ 1 ปี

 

SME One : ชื่อจอนนอนไร่มาจากไหน

เสกสรรค์ : จอนนอนไร่มาจากตัวผมหมดเลย แบรนด์ คือตัวตน ถ้าคุณจะสร้างแบรนด์คุณต้องสะท้อนตัวตนทั้งหมด งานด้านเกษตรของผมเริ่มต้นจากความสนุก ตลอดชีวิตตั้งแต่ทำโฆษณามาผมทำด้วยความสนุก ความสนุกมันจับต้องได้ ความสนุกมันทำให้คุณอยากตื่นเช้าขึ้นมาทุกวัน ถ้าคุณไม่สนุกคุณจะขี้เกียจตื่นเช้า เพราะฉะนั้นชื่อแบรนด์ของผมต้องสนุกเหมือนตัวผม

ส่วนตัวผมชอบจอห์น เลนนอนมานานแล้ว ช่วงที่เล่น Instagram ผมก็ตั้งชื่อ “จอนนอนเล่น” ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น “จอนนอนไร่” ผมเชื่อว่าแค่นี้มันก็ Different แล้ว คนจำได้ง่าย 

 

SME One : ช่วงแรกของการตั้งต้นเป็นผู้ประกอบการ SMEs คิดไว้หรือไม่ว่าเกษตรอินทรีย์จะมาได้รับความนิยมในปัจจุบัน

เสกสรรค์ : จังหวะที่ผมเริ่มมองเป็นธุรกิจมันเกิดขึ้นก่อนเป็นจอนนอนไร่นิดนึง พอดีลูกค้าโฆษณารายใหญ่ของผมมีไร่เกษตรอยู่ แล้วผมมีโอกาสได้ไปทำงาน ได้ไปเรียนรู้ที่ไร่ ผมเชื่อตั้งแต่ 10 ปีก่อนว่าออแกนิกส์จะเป็นสิ่งทดแทน แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ 

10 ปีที่แล้ว ผู้คนจะต้องต้องการอะไรที่ทำให้สุขภาพดีขึ้นนะครับ ณ วันนั้นมันคือการวางแผน ตัวผมเองครึ่งหนึ่งเป็นนักวางแผน ครึ่งหนึ่งเป็นลูกบ้าหรือความคิดสร้างสรรค์ เวลาผมพูดที่ไหน ผมมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Short-term Medium-term แล้วก็ Long-term ผมจะบอกให้ทุกคนมองอย่างต่ำ Short-term คือ 3-5 ปี 10 ปีแล้วก็ 20 ปีเลย


SME One : ปัญหาที่เจอในการเป็นผู้ประกอบการ SMEs คืออะไร?

เสกสรรค์ : แรกๆ ก็เจอปัญหาเรื่องราคา แต่ต่อมาก็พบว่าคนไม่ได้กินเพราะราคาเป็นปัจจัยแรกทุกคน สมมติว่าคุณไปของคุณจะไปซื้อของ คุณซื้อของที่ราคาถูกที่สุดตลอดหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เช่นคุณจะไปซื้อครีมทาผิวก็อาจจะมีครีมทาผิวที่ถูกที่สุด แต่คุณจะหาครีมทาผิวที่คุณต้องการมากที่สุดมากกว่า 

ทีนี้เราก็ต้องมามองตัวเองว่าสินค้าเราเหมาะกับตลาด Mass หรือเปล่า ผมไม่ใช่คน Mass กระดุมเม็ดนี้ต่างกัน ถ้าผมจะทำ Mass ผมต้องใช้อีกบทนึงเลย คุณก็ต้องไปแกะปัญหาใหม่ ทีนี้พอบอกผมไม่ทำ Mass ผมทำ Niche Market ตลาด Niche ของผมคืออะไร ผมว่ามันมาจากนิสัยของผมที่ชอบกินของแปลกๆ แล้วขี้เบื่อ พอเบื่ออะไรทำแป๊บๆ ผมก็หาตัวใหม่มาทำ 

อย่างเช่นผมทำโยเกิร์ต ผมเริ่มสตาร์ทโยเกิร์ตง่ายๆ ทั่วไป ผมก็ทำโยเกิร์ตกุหลาบ คนก็ตกใจแล้วเพราะมันแตกต่างอย่างชัดเจน ฝรั่งยังงงว่าผมทำโยเกิร์ตดอกไม้ ไม่กี่วันมานี้ก็เพิ่งปล่อยโยเกิร์ตทุเรียนออกไป ก็ตอนนี้หน้าทุเรียนก็ทำโยเกิร์ตหมอนทองเลย

ฉะนั้นวันนี้เราไล่กลับไปหานายตุ้ยที่เป็น Creative นี่ไม่มีอะไรแตกต่างเลย มันเป็นเพียงแค่สมุดชีวิตคนละเล่มที่ผมปิดเล่มนั้นไปและผมเปิดเล่มนี้ใหม่ งานของผมจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่รุนแรงเหมือนเดิม ใช้การค้นคว้าที่หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำที มันแค่เป็นการเปลี่ยนวิธีนำเสนอ เปลี่ยนเครื่องมือจากจอต่างๆ เป็นดิน เป็นพืชพรรณ

อย่าลืมว่าช่วงปีแรกที่คิดจะออกมาผจญภัย มันเหมือนเราต้องสังเกตการณ์ ผมดูหมด ดูการปลูกพืชในระบบต่างๆ ข้อดีข้อเสีย ผมก็มามาร์คไว้ว่ามันมีข้อดีอะไร และมันมีข้อเสียอะไรแล้วค่อยมาไตร่ตรอง

ข้อที่หนึ่ง ผมอ่านอนาคตเรื่อง Healthy ข้อ 2 ผมไม่ใช่เป็นคน Healthy หมายความว่าผมปลูกผัก แต่ผมไม่ได้เป็น Vegetarian ยังกินเนื้อสัตว์ แต่ผมมองออกว่าความต้องการตรงนี้มันจะมากขึ้น

 

SME One : วิธีการบริหารงานในปัจจุบัน

เสกสรรค์ : คือ “จอน” กับ “ตุ้ย” แบ่งงานกันชัดเจนมาก ตุ้ยเป็นนักคิดที่ทำงานกลางคืนอย่างเดียว ส่วนตอนกลางวันผมจะไม่คิดเสียเวลา กลางวันจอนมีหน้าที่แพ็กของ ดูผักหรืออะไรๆ คือจะไม่ใช้ความคิดมากนัก ความคิดจะไปอยู่ภาคกลางคืน

เรียกว่ากลางวันเป็นจอน พอตกกลางคืน ตุ้ยมันจะทำงานวางแผนแล้ว เฮ่ย...จอนมาสรุปให้ฟังทีว่าปลูกพืชพันธุ์อะไร เป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร งานของตุ้ยทำเหมือนสมัยอยู่กรุงเทพเลยทุกอย่าง วางแผน เปลี่ยนแปลง แก้ไข คู่แข่งคุณเป็นอย่างไร สถานการณ์โลกเป็นอย่างไร พอตะวันขึ้นค่อยให้จอนไปแก้ไข

ตอนกลางคืนผมจะค้นคว้าข้อมูล เฮ่ย...ทำไมดอกกะหล่ำเมืองนอกถึงสีสวย แต่บ้านเรากลับกินแต่สีขาว เช้าขึ้นมาผมก็ให้จอนเพาะเมล็ดพันธุ์ ผมสั่งเมล็ดเมืองนอกเล็กๆ เข้ามาซองนึงไม่กี่บาท เพื่อมาทดลอง เพื่อทำความรู้จักกับมัน แล้วผมว่าก็การทำงานทดลองมันมีข้อดีมหาศาล เรื่องแรก คือคุณยังไม่ต้องลงทุนเยอะ แค่คุณทำความเข้าใจกับมันก่อน

เรียกว่าผมทดลองจนจะเริ่มกลายเป็นต้นไม้ขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเริ่มคิดแทนผักแล้ว พอผมเลือกปลูกสิ่งที่ไม่ Mass จากปลูกตั้งโอ๋ไทยก็เปลี่ยนไปปลูกตั้งโอ๋ญี่ปุ่น ปลูกกะหล่ำไทยก็เปลี่ยนไปปลูกกะหล่ำเนเธอร์แลนด์ งานมันจึงเป็นเหมือนการทดลองที่สนุกเหมือนยังใช้ชีวิต Creative อยู่

 

SME One : ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด เอาตัวรอดอย่างไร

เสกสรรค์ : สิ่งที่คุณต้องเจอก็คือต้องเจอ โควิดผมมองตั้งแต่ตอนเกิดขึ้นใหม่ๆ ว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ผมมักจะให้ข้อมูลผ่าน Facebook เสมอว่าเราต้องปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารใหม่หมด ต้องคิดว่ากินเพื่อเป็นยา ผมอาจจะมองต่างผมจะมองต่างจากผู้อื่นอยู่ คุณต้องเข้าใจเรื่องปัจจัย 4 มนุษย์มีปัจจัย คือ 4 อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย อาหารกับยา สำหรับผมคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน อาหารมันเป็นยาโดยธรรมชาติ แล้วก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าจริงๆ แล้วพืชผักสมุนไพรเป็นพ่อแม่ของยา เป็นต้นกำเนิดของยามานานแล้ว เพียงแต่วิทยาการในสมัยใหม่เราใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยในการสกัดสารออกมา

บังเอิญผมปลูกสมุนไพรมาตั้งแต่แรก แล้วผมก็เริ่มทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เหตุการณ์โควิดทำให้ผมเริ่มกลับมามองสิ่งที่ผมปลูกไว้ และพบว่าสมุนไพรที่ผมปลูกไว้ ผมกลับทำประโยชน์ให้มันเกิดขึ้นมากกว่าเดิม คือแทนที่จะเอามากินแค่ใบสด ผมก็เริ่มเอาไปทำเป็นชา ผมเริ่มแปรรูปมาเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้สมุนไพรให้มันกินง่ายขึ้น ให้มันเข้ายุคสมัยมากขึ้น สมุนไพรโปร่งฟ้าที่เราปลูกด้วยความหลงใหลว่ารสชาติดีกลายเป็นอาหารที่ต้านไวรัสได้ เพราะผมศึกษาลึกลงไป ผมมีเชียงดาที่ปลูกไว้สำหรับคนที่อยากลดน้ำตาลกับเบาหวานเ ก็เริ่มกลับมามอง เริ่มขยายพืชสมุนไพรมากขึ้น 

ผมไม่เคยคิดที่จะต่อต้านวิธีดูแลรักษาของระบบแพทย์สมัยใหม่นะ แต่คุณทำควบคู่กันได้ สมมติมีคนไม่สบาย ผมจะไม่บอกให้กินสมุนไพร ผมจะบอกให้รีบไปหาหมอด่วน เพราะการแพทย์สมัยใหม่คือการทำให้มันหยุดตอนนั้นเลยแบบปัจจุบันทันด่วน

พอคุณหยุดอาการได้แล้วผมจะแนะนำ สมมติว่าคุณน้ำตาลสูงมากแสดงว่าคุณมีปัญหาเบาหวาน คุณหาหมอเสร็จผมจะแนะนำเชียงดาให้คุณรู้จัก มิฉะนั้นเนี่ยคุณจะกลายเป็นตู้ยาเคลื่อนที่ เพราะคุณขาดยาไม่ได้เลย แต่เชียงดาสามารถช่วบลดน้ำตาลในเลือดได้

 

SME One : ทุกวันนี้ยังเรียกตัวเองว่าเป็นเกษตรกรหรือไม่

เสกสรรค์ : เวลาผมไปบรรยายหรือสอน มักจะบอกว่า ผมเป็น Food Maker และอยากให้เกษตรกรยกระดับเป็น Food Maker ที่ไม่ใช่เกษตรกรทั่วไป บางคนเนี่ยปลูกผักแบบตามคำสั่ง เฮ่ย...ตัวนี้ขายดีจะเอาเงินก็ปลูกแต่ตัวนี้ ถมๆๆๆ แล้วก็รอเจ๊งเพราะตลาดมันเต็ม คุณปลูกเป็นเครื่องจักร ปลูกแต่แทบจะไม่รู้ประโยชน์ว่าปลูกทำไม กินแล้วมีประโยชน์อะไร

 

SME One : ทุกวันนี้ปลูกอะไร ขายอะไรบ้าง สินค้าหลักคืออะไร 

เสกสรรค์ : ผักยังคงเหมือนเดิม แต่ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ จะให้หนักไปที่น้ำสมุนไพรเนื่องจากว่าผมไม่ได้ทำน้ำสมุนไพรที่กินแบบต้องบีบจมูก เพราะจอนนอนไร่เรามีเชฟที่ทำเรื่องเครื่องดื่ม ฉะนั้นผมชอบกินของอร่อย ผมจะบอกว่าทำตัวนี้เป็น Juice ได้ไหมทำตัวนี้เป็นแบบนี้ได้ไหม แล้วผม Fusion ของเก่งผมจะ Fusion ให้อร่อยแล้วก็แปลกหูแปลกตา 

อย่างเช่น Jing Ju Juice นี่ดังมาก เพราะว่าจิงจูฉ่ายเนี่ยคุณสมบัติสำคัญ คือสามารถที่จะป้องกันและรักษาแล้วก็ยับยั้งมะเร็งได้ ข้อต่อมาจิงจูฉ่ายช่วยลดความดันได้ ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเชฟที่ต้องปรุงให้อร่อย ปรุงใหม่ให้กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยเลย ไม่ใช่เครื่องดื่มแบบร้านยาจีน

หรือกระชายไทย กระชายมีคุณสมบัติต้านไวรัส แต่คุณจะขายกระชายกับอะไรให้อร่อย เราไม่ได้ต้มแบบบ้านๆ จอนนอนไร่ไม่ทำบ้านๆ ต้องกินแบบอร่อยเก๋ไก๋กินกับน้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ เอามา Fusion ใหม่ให้อร่อย

ส่วนสินค้าที่เป็น Seasoning การทำเกษตรออแกนิกส์ จะมีจุดอ่อนอยู่ในช่วงกลางปี ช่วงหน้าฝนจริงๆแล้วเป็นช่วงตกต่ำของการปลูกผัก เพราะมันไม่โต เนื่องจากจะไม่ค่อยมีแดด เราก็ไม่อยู่เฉยก็ต้องหาอะไรมาทดแทน เพราะชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า ผมก็หาสินค้าตัวใหม่ๆ มาทดแทน 

การปลูกผักแต่ละปีเรามีเวลาแค่ 6 เดือน ฤดูหนาวเรียงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไล่มาจนถึงฤดูร้อนเดือนเมษายน 6 เดือนทองคำ คุณต้องทำให้ดีที่สุด หลังจากนั้นฝนมาก็ต้องเบรก ก็จะดูตลาดว่าทำอะไรกันอยู่ ถ้าคุณทำอันนี้ผมไม่ทำอะไร

อย่างโยเกิร์ตนี่ ผมคิดว่าผมรู้จักโยเกิร์ตดีมากคนหนึ่งในประเทศไทย เพราะว่าผมเป็นคนแรกๆ ที่ไปประเทศบัลแกเรีย เพราะมีโอกาสทำโฆษณาสินค้าโยเกิร์ต พรีเมียมจนเข้าใจเรื่องโยเกิร์ต ผมจึงคิดทำโยเกิร์ตเสริม แต่ช่วงนี้งานหลักๆ คือทำเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร ผมตั้งโจทย์ต้องเป็น Yummy Healthy คือไม่เอา Healthy นำ ยังไงของกินต้อง Yummy ต้องอร่อยก่อน

 

SME One : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของจอนนอนไร่ 

เสกสรรค์ : ผมอยากจะทำให้อาหารเป็นยายิ่งใหญ่ที่สุด ไม่จำเป็นว่าผมต้องยิ่งใหญ่ แต่ผมจะเอาคุณูปการต่างๆของภูมิปัญญาไทย มาพลิกฟื้นกลับมาให้เกิดประโยชน์อีกครั้งในมุมมองผม แต่ตัวผมเองลำพังก็ไม่ได้มีกำลังอะไร เงินทองก็ไม่ได้มีมากมาย ถ้ามีหน่วยงานมาสนับสนุนในเรื่องของการให้ความรู้ด้านสมุนไพร อาทิ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร หรือจะเป็นการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสุขภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็น่าจะทำให้การพัฒนาอาหารเป็นยาทำได้รวดเร็วกว่านี้ เพราะผมมีความคิดที่จะจุดประกายเรื่องอาหารเป็นยาเพื่อให้ทุกคนจะได้ใช้ภูมิปัญญาอย่างภาคภูมิ 

 

SME One : ถ้าคนกรุงเทพฯ อยากลาออกจากงานมาปลูกผักแบบจอนนอนไร่ จะให้คำแนะนำอย่างไร 

เสกสรรค์ : ตอนนี้ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะสถานการณ์โลก และสถานการณ์โรคไม่มั่นคง ผมคิดว่าไม่ใช่เวลาออกมาปลูกผักเป็นธุรกิจ ต้องคิดให้ดี

 

บทสรุป

เบื้องหลังความสำเร็จของจอนนอนไร่นั้นมาจากส่วนผสมที่ลงตัวของความคิดสร้างสรรค์กับความตั้งใจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนอย่างผักสวนครัว โดยนำเอาประสบการณ์จากการทำงานในแวดวงโฆษณามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อจอนนอนไร่เริ่มขยายธุรกิจมาทำสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรก็ยังคงใช้หลักคิดจากการทำโฆษณา แค่เปลี่ยนวิธีนำเสนอจากเดิมที่สื่อสารผ่านจอทีวีมาเป็นผ่านพืชพรรณ เช่น เปลี่ยนการกินผักจิงจูฉ่ายเป็นเครื่องดื่ม Jing Ju Juice หรือทำโยเกิร์ตธรรมชาติจากดอกกุหลาบ หรือเลือกปลูกผักที่หากินได้ยากอย่าง ตั้งโอ๋ญี่ปุ่น, กะหล่ำเนเธอร์แลนด์

บทความแนะนำ

มาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

 

อัปเดตข่าวสำหรับผู้ประกอบการ SME และพนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กับมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน รายละเอียดดังนี้

#ประเภทกิจการที่ได้รับการเยียวยา
1. ก่อสร้าง
2. โรงแรมที่พักและบริการด้านอาหาร
3. ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ
4. กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
5. ขายส่งและขายปลีก ซ่อมยานยนต์
6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
9. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
.
#จังหวัดที่ตั้งของกิจการที่ได้รับการเยียวยา
1. กรุงเทพมหานคร
2. นครปฐม
3. นนทบุรี
4. ปทุมธานี
5. สมุทรปราการ
6. สมุทรสาคร
7. นราธิวาส
8. ปัตตานี
9. ยะลา
10. สงขลา
.
#ความช่วยเหลือที่จะได้รับ
นายจ้าง
- ได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน
- กรณีไม่มีลูกจ้างในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนลูกจ้างภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับความช่วยเหลือ
- กรณีไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" โครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาท
- ผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาท

ลูกจ้าง
- ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับการจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลา 90 วัน จะได้ทำให้ได้รับความช่วยเหลือสูงสุดที่ 10,000 บาท)

ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู้ ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงจะได้รับความช่วยเหลือ

 

 

บทความแนะนำ

เป้าประสงค์ของแบรนด์ สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจกับคนรุ่นใหม่

 

ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทางเลือกค่อนข้างมาก และยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ค่อนข้างง่าย แถมผู้บริโภคยุคนี้ จะซื้อของแต่ละครั้ง ไม่ได้มองแค่เรื่องคุณประโยชน์พื้นฐานของสินค้าเท่านั้น เพราะนั่นคือเรื่องเบสิคที่พวกเขาจะได้ ดังนั้นผู้บริโภคยุคใหม่จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ากับบริษัทที่ทำสินค้าเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามเขาอยากจะซื้อสินค้ากับบริษัทที่วางตัว อย่างเหมาะสมและรับผิดชอบต่อธุรกิจของตัวเองด้วย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในธุรกิจของโลก และประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่มีการขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมักจะเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริง SMEs ก็สามารถทำได้เช่นกัน แถมยังมีความได้เปรียบในเรื่องของขนาดองค์กรที่เล็ก สามารถปรับตัวได้ทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้ SMEs แต่ละราย จึงต้องมีการบอกถึงเป้าประสงค์ที่องค์กรหรือแบรนด์ของเขามีว่าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องอะไรหรือตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้ามีความกังวลได้อย่างไรบ้าง ในภาษาทางการตลาดเรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า Corporate & Brand Purpose ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาตลอดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ 

 

การมองถึงเป้าประสงค์ที่องค์กรหรือแบรนด์ที่อยู่ในท้องตลาดมีนั้น กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้แล้วในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นแบรนด์หรือองค์กรใหญ่ๆ ออกมาสื่อสารถึงเรื่องนี้กันแทบเกือบจะทุกบริษัท ในแง่ของเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายย่อยเอง เป้าประสงค์ของการทำธุรกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะเข้ามาช่วยผลักดันให้องค์กรหรือแบรนด์สินค้าที่ทำออกมาเข้าไปใกล้ชิด และมีความผูกพันโดยเฉพาะความผูกพันด้านอารมณกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นตัวที่สามารถช่วยให้สามารถจับต้องความแตกต่างได้เป็นอย่างดี

ต้องเป็นสินค้าหรือแบรนด์ที่ถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายที่การทำให้ลูกค้า สังคม หรือโลกใบนี้ดีขึ้น มุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้การสร้างสินค้า หรือแบรนด์ เปลี่ยนมุมไป โดยเจ้าของสินค้าหรือนักการตลาดที่เป็นคนสร้างแบรนด์นั้น จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบสินค้าหรือแบรนด์เพื่อให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ดีขึ้น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค ไม่ใช่เพื่อยอดขายหรือส่วนแบ่งการตลาดของแบรนด์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า แบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าประสงค์ของแบรนด์ที่ชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยทำให้ผู้ใช้ สังคม ตลอดจนโลกใบนี้จะถูกจนจำได้ง่าย และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค แม้จะมีแบรนด์อยู่ในตลาดมากมายก็ตาม

เรื่องของเป้าประสงค์ในการทำแบรนด์หรือธุรกิจนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลับมานิยมอีกครั้งนั้น เป็นเพราะอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ทำให้การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเป็นเรื่องสะดวก เข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น การทำซึ่งเอาเรื่องของเป้าประสงค์เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น จะเข้ามาช่วยทำให้เกิดการเชื่อมต่อด้านอารมณ์และความรู้สึกระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้จะเป็นการปูทางไปสู่ความเชื่อใจ และความภักดีระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีบทบาทต่อการทำตลาดสินค้าแทบทุกประเภท ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้หรือให้การสนับสนุนแบรนด์ที่มีเป้าประสงค์ในการทำให้ตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น  

 

การนำเรื่องของเป้าประสงค์ในการทำธุรกิจนั้น มีหลักการในการเลือกวางเป้าประสงค์โดยจะดูจาก 

  1. ธุรกิจหรือแบรนด์อยู่ในตลาดหรือเซ็กเม้นต์ หรือมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
  2. มีคุณสมบัติทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา และข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไรบ้าง
  3. ลูกค้าหรือสังคมกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไร  โดยจะดูจากความกังวัลตั้งแต่ระดับโลกมาสู่ประเทศ รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรม และสิ่งร่วมสมัยที่กำลังเกิดขึ้น

ภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการใช้เป้าประสงค์ของแบรนด์เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำตลาดก็คือ กรณีของบรีส ที่จับเอา Insight ของบรรดาแม่บ้านเข้ามาเป็นตัวตั้ง โดยคนที่เป็นแม่กังวลว่า การออกไปเล่นซนของลูกๆ จะทำให้เสื้อผ้าสกปรก และซักออกได้ยาก บรีสจึงพยายามเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติ หรือมุมมองนี้ใหม่ โดยกระตุ้นให้กล้าที่จะปล่อยให้ลูกๆ ของพวกเขาออกไปเล่น เพราะการเล่นคือการเรียนรู้อย่างดี ส่วนเรื่องของความสกปรกของเสื้อผ้าลูกๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรีส เป็นการเข้าไปช่วยตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยทั้งลูกค้า และแบรนด์บรีสต่างมีเป้าประสงค์ ที่ตรงกันในเรื่องของการเพิ่มทักษะความรู้ให้กับลูกๆ ผ่านการออกไปมีประสบการณ์ในการเล่นนอกบ้าน การขับเคลื่อนตลาดในรูปแบบดังกล่าวทำให้บรีสยังคงเป็นเบอร์ 1 ที่ถูกลูกค้าเลือกใช้เป็นอันดับแรก ๆ 

 

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว หลายรายมีการนำเรื่องนี้มาใช้ โดยสินค้าชุมชนหลายแห่ง หลายชุมชนที่ออกมาทำสินค้าออร์แกนิกส์ ก็เพราะมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน อย่างในกรณีของร้าน The Salad Concept ที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ร้านในรูปแบบนี้ดูผิวเผินอาจจะเป็นเทรนด์ของการทำร้านอาหารสมัยใหม่แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าของร้านต้องการขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเจ้าของร้านมีพ่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และทําอาหารที่ดีให้พ่อรับประทานจนดีขึ้น จึงตัดสินใจเอาแนววคิดเรื่องการกินเพื่อสุขภาพมาเปิดเป็นร้านอาหาร การที่ผู้ประกอบการเจอปัญหากับตัวเองแล้ว จึงรู้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลตัวเองให้ดีหนึ่งในนั้น คือการเลือกบริโภคอาหารที่ดี มีคุณค่า

ดังนั้นการบริโภคอาหารที่เป็นออร์แกนิกส์จึงเป็นเรื่องดีที่ The Salad Concept อยากจะส่งต่อ ให้กับสังคมในวงกว้างได้บริโภคและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายเหมือนกับที่ครอบครัวเคยประสบปัญหามาก่อน เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยประสงค์ที่เกิดแรงบันดาลใจจากชีวิตจริง ตัวอย่างนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่ก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากมีประสงค์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะส่งต่ออะไรให้กับผู้บริโภค

การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้การมองเรื่องของคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เคยเป็นวิธีการเดิมๆ อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือคำตอบที่ดีอีกต่อไป แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจุดยืนของแบรนด์เรา ยืนอยู่ข้างใคร รวมถึงต้องบอกที่มาที่ไปของแบรนด์เราให้ได้ว่า แบรนด์หรือธุรกิจของเราเกิดมาเพื่อใคร

ที่สำคัญสุดก็คือ การทำให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงเหตุผลของการดำรงอยู่ของแบรนด์หรือธุรกิจของเราให้ได้ว่า ไม่ได้มองแค่ยอดขาย แต่แบรนด์นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร  เพราะจะเป็นวิธีการที่ทำให้แบรนด์หรือธุรกิจสามารถสร้างคุณค่าในใจของลูกค้าได้

การขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเป้าประสงค์ จึงเป็นอีก 1 หัวใจสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ในโลกธุรกิจใบนี้....

 

 

บทความแนะนำ

SHA Plus+ อีกหนึ่งทางรอดธุรกิจท่องเที่ยว เพื่ออนาคตของสถานประกอบการยุค COVID-19

 

ธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยวถือเป็นด่านแรกที่ได้รับแรงปะทะนับจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ยิ่งทำให้ทุกคนกังวลต่อความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัยยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องความไม่มั่นใจต่อเรื่องนี้ดังกล่าว ผู้ประกอบการควรหยิบมาแก้ไขโดยด่วน ด้วยการปรับตัวเพื่อให้ลูกค้ากลับมามั่นใจในความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

และ SHA Plus+ ก็คือคำตอบนั้น

 

SHA Plus+ ถือเป็นเวอร์ชั่นอัปเดตของ SHA นั่นเอง หลังจากกลางปีที่แล้วการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการประเทศไทย 

โดยกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA ได้ มี 10 หมวด ได้แก่ 1. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. โรงแรม/ที่พัก และสถานที่จัดประชุม 3. นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ยานพาหนะ 5. บริษัทนำเที่ยว 6. สุขภาพและความงาม 7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9. โรงละคร โรงมหรสพและการจัดกิจกรรม และ 10. ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ

หนึ่งปีผ่านไป เมื่อเมืองไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ แน่นอนว่า SHA จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ดังนั้น SHA Plus+ เลยเข้ามาเสริมทัพเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยวได้ไปต่อ

เงื่อนไขสำคัญของการได้มาซึ่งสัญลักษณ์ SHA Plus+ นี้มีเพียง 2 ข้อหลักๆ นั่นคือ สถานประกอบการนั้นๆ จะต้องได้รับสัญลักษณ์ SHA มาก่อน และ 70% ของบุคคลากรของสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้ 

 

SHA Plus+  เป็นโครงการที่มี “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโมเดลนำร่อง แม้หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นจังหวะที่ไม่ค่อยเหมาะสมซักเท่าไหร่ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงสูงอยู่ ซ้ำยังไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวสำหรับทะเลอันดามันอย่างภูเก็ต แต่อย่างน้อยการตัดสินใจเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้เรียนรู้ว่าการเปิดประเทศแบบนี้ปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ต้องเพิ่มต้องลดอะไร เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อฤดูท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้มาถึง พูดง่ายๆ ว่าเหมือนกับทดสอบระบบ เพื่อให้พร้อมในฤดูท่องเที่ยวปลายปี

สำหรับ SMEs ที่ทำธุรกิจโรงแรมและที่พัก ที่ต้องการเข้าระบบ SHA Plus+ จำเป็นต้องมี SHA Plus+ Manager เพื่อเข้ามาดูแลประสานงานและอำนวยความสะดวกกับลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวโดยตรง เพราะในระยะแรกที่ระบบฐานข้อมูลและกฏกติกายังมีการเปลี่ยนแปลง SHA Plus+ Manager จะต้องทำหน้าที่ประสานงานด้านข้อมูลระหว่างนักท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ รับผลการตรวจ COVID-19 ของนักท่องเที่ยว ติดตามผลการตรวจในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 การแจ้งผลตรวจ และอัปเดตเส้นทางการเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้กับภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีรายละเอียดมากมาย 

สมมติว่า นักท่องเที่ยว 1 คน ต้องการจะเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต จะต้องเริ่มจากลงทะเบียน Certificate of Entry (COE) เพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว รวมถึงยังต้องซื้อประกัน COVID-19 และซื้อ Pre Paid Swap ไว้ล่วงหน้า และก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงจะต้องมีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1  COVID-19 ก่อนขึ้นเครื่องบิน จนมาถึงจังหวัดภูเก็ตก็ยังต้องมีการตรวจอีก 3 รอบ คือ วันแรกที่มาถึงภูเก็ตนักท่องเที่ยวจะต้องถูกตรวจครั้งแรกแบบ RT-PCR ที่สนามบิน หลังจากนั้นจะมีรถของโรงแรมมารับไปที่ห้องพักโรงแรมโดยจะยังไม่สามารถเดินทางไปที่อื่นได้ จนกว่าผลตรวจครั้งแรกจะออกเป็นลบ พอผลตรวจจะออกมา SHA Plus+ Manager จำต้องทำหน้าที่แจ้งข้อมูลกับแขกที่มาพักภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากทราบว่าผลตรวจเป็นลบ นักท่องเที่ยวถึงจะสามารถไปไหนก็ได้เฉพาะในจังหวัดภูเก็ต และจะมีการตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 และในวันที่ 13 อีกรอบ ซึ่งการตรวจรอบที่ 3 นี้มีผลเป็นลบ นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางไปได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ถ้ามาอยู่ภูเก็ตแค่ 7 วัน ก็ไม่ต้องตรวจครั้งที่ 3

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการต้อนรับนักท่องเที่ยวในมาตรฐาน SHA Plus+ ค่อนข้างจะมีรายละเอียดอยู่พอสมควร จึงแนะนำให้มี SHA Plus+ Manager คอยดูแล

นอกจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้ว ในตอนนี้ก็มีหลายจังหวัดที่เริ่มโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ผู้ประกอบการในเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน ก็รวมตัวกันเปิดสมุย พลัส แซนด์บ็อกซ์ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กระบี พังงา ก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อเปิดทดลองต่อไป

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดภูเก็ตในเวลานี้ควรเตรียมตัวศึกษาขั้นตอนวิธีการขอสัญลักษณ์นี้ก่อน หรืออย่างน้อยก็เตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม เมื่อ  SHA Plus+ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และบุคคลากรของสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็สามารถสมัครได้ทันที

 

เรามาดู 6 ขั้นตอนง่ายๆ ในการขอ SHA Plus+ สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA มาแล้วเท่านั้น (หากสถานประกอบการใดที่ยังไม่มีได้รับมาตรฐาน SHA สามารถสมัครได้ที่ www.thailandsha.com/index#Register)

  1. สมัคร SHA Plus+ ลงทะเบียนได้ที่ www.ภูเก็ตต้องชนะ.com คลิก https://bit.ly/3zAVLB1 คลิกเลือก “ลงทะเบียนขอรับ company vaccine certificate สำหรับ SHA Plus+”
  2. คลิกดาวน์โหลดไฟล์สำหรับใช้ในการสมัคร  โดยเอกสารที่ต้องใช้ ดังนี้

  >>> ไฟล์สำหรับใส่ข้อมูลพนักงานต่างชาติ **ช่องA ใส่สัญชาติตามพาสปอร์ต ช่องB ใส่หมายเลขพาสปอร์ต เมื่อกรอกเสร็จทำการลบชีตชื่อ “ห้ามแก้ไข” ออกแล้วจึงค่อยกด save**

  >>> ไฟล์สำหรับใส่ข้อมูลพนักงานคนไทย **ใส่เลขบัตรประชาชนพนักงานคนไทยทั้งหมด โดยไม่ต้องใส่เครื่องหมายใดๆ และไม่เว้นวรรค**

  >>> กรณีไม่มีประกันสังคม เอกสารรับรองจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจ **ยกเว้น โรงแรมที่พักต้องมีประกันสังคมทุกกรณี**

  >>> หนังสือแต่งตั้ง SHA Plus+ Manager 

  1. คลิก log in ลงทะเบียนโดยใช้ email และ password ขององค์กร/สถานประกอบการ ที่เคยลงทะเบียนในเว็บไซต์ภูเก็ตต้องชนะ
  2. เมื่อเข้าระบบ เอกสารที่จะต้องอัปโหลด คือ 

  >>> อัปโหลดไฟล์ Excel พนักงานไทย โดยใช้ไฟล์นามสกุล .xls หรือ .xlsx เท่านั้น

  >>> อัปโหลดไฟล์ Excel พนักงานต่างชาติ โดยใช้ไฟล์นามสกุล .xls หรือ .xlsx เท่านั้น

  >>> อัปโหลด เอกสารประกันสังคม สปส.1-10 ส่วนที่1 และ ใบเสร็จรับเงินกองทุนประกันสังคม มาตรา33

  >>> SHA Certificate หากบริษัทมีสาขา มี SHA ที่มีภายใต้บริษัทเดียวกันมากกว่า 1 ใบ ให้ใส่ไฟล์แยกตามรูป โดยเซฟไฟล์ .jpg .jpeg .png .pdf และ ต้องบันทึกไฟล์เป็นเลข SHA เท่านั้น 

  >>> SHA Plus+ Manager โดยอัปโหลดหนังสือเป็นไฟล์ .doc .docx .pdf เท่านั้น พร้อมทั้งอัปโหลดสำเนาบัตรประชาชน และสำเนา passport **บันทึกชื่อไฟล์เป็น SHA Plus Manager (ชื่อสถานประกอบการ) และ สำเนาบัตร/Passport SHA Plus+ Manager (ชื่อสถานประกอบการ)**

  1. คลิก เลือกวันเปิดทำการของสถานประกอบการ โดยหากเปิดทำการอยู่ ให้คลิกที่ “กำลังเปิดทำการ” หากยังไม่เปิดทำการ ให้คลิกที่ “จะเปิดทำการในวันที่” และจากนั้น กดใส่วันที่จะเปิดทำการ 
  2. ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้น กดส่งแบบฟอร์ม เป็นอันเสร็จเรียบร้อย และรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้

 

 

บทความแนะนำ

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทางเลือกใหม่ของคนไทย

 

โลกเรามีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine : ICE) วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1886 โดย Karl Benz วิศวกรชาวเยอรมันได้พัฒนารถยนต์ Benz Patent Motorwagen ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบเครื่องยนต์เบนซินขับเคลื่อนด้วยกำลัง 0.75 แรงม้า

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 135 ปีแล้ว ที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในถูกใช้งานมา และยังคงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เหตุผลมาจากเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนามาอย่างยาวนานจนมีประสิทธิภาพสูง และมีราคาที่ถูก แต่ทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ปัญหาโลกร้อนนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์สันดาปนั่นเอง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ทั่วโลกก็พยายามหาทางออกด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันเพียงอย่างเดียว และพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทนเครื่องยนต์สันดาป

 

ปี 1997 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota มีการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดที่ใช้พลังงานน้ำมันและพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Toyota Prius ซึ่งได้รับความนิยมและถูกพูดถึงอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

คิดดูก็แล้วกันขนาดดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Will Smith ยังซื้อไปใช้ในชีวิตประจำวันเลย รถยนต์ไฮบริดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก เพราะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาเครื่องยนต์มอเตอร์ไฟฟ้า 100% อย่างจริงจัง

 

ปี 2006 Tesla Motors สตาร์ทอัพใน Silicon Valley มีการเปิดตัว The Roadster รถต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นไม่นาน ทั่วโลกก็รู้จักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla Model S ในฐานะรถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

การแจ้งเกิดของ Tesla เป็นเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่เร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการปฏิวัติครั้งใหม่ เพราะค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เกือบทุกค่ายทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจกับตลาดนี้อย่างจริงจัง เพราะ Tesla ขายดีจนน่าตกใจ

 

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างน่าสนใจว่า ยอดขายรถ EV (ทั้ง Battery EV : BEV และ Plug-in Hybrid EV: PHEV) ทั่วโลกในปี 2020 สูงถึง 3.2 ล้านคัน ขยายตัว 43% สวนทางตลาดรถยนต์โดยรวมที่หดตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสัดส่วนการขายของ EV กับเครื่องยนต์สันดาปปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% แล้ว

KKP Research ประเมินว่ายอดขาย EV ทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 14 ล้านคันในปี 2025 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเริ่มลดลงเป็นการถาวรหลังแตะระดับ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2027 จากการเสื่อมความนิยมของรถสันดาป

 

โดยปัจจุบัน ประเทศที่รถ EV ได้รับความนิยมละขายดีมากที่สุด คือ ประเทศจีนที่ยอดขายรถ EV ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนถึง 41% จากทั่วโลก 

 

สำหรับประเทศไทย ปีที่ผ่านมามีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารวมรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่วิ่งบนท้องถนนประมาณ 181,000 คัน เกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง หรือคิดเป็นเพียง 1.7% ของยอดรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด 10.4 ล้านคัน แม้ตัวเลขสัดส่วนจะยังดูน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะตลาดรถพลังงานไฟฟ้ามีการเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

 

ถ้าจะให้สรุปเหตุผลที่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็พอจะรวบรวมเหตุผลหลักๆ ได้ดังนี้

1) การรับรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

2) ปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 ที่สูงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

3) การกำหนดเงื่อนเวลาที่จะยุติการผลิตรถสันดาปของค่ายรถทั่วโลก

4) ราคาของรถ BEV ที่ถูกลงโดยเฉพาะรถจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่

5) ราคาของแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาแบตเตอรี่มีราคาลดลงมาถึง 10 เท่าตัว และในอนาคตจะยิ่งถูกกว่านี้อีก

6) นโยบายการเพิ่มสถานีชาร์จทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีข้อเสนอให้รถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสีย 100% (ZEV: Zero-Emissions Vehicles) เท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก แต่ก็สะท้อนถึงความสนใจของภาครัฐต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV และอาจหนุนให้ความต้องการรถ EV ในประเทศเร่งตัวขึ้น

แน่นอนว่า EV นี้เป็นเทรนด์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมมีทั้งผลลบและผลบวกตามมา 

 

SMEs กับรถยนต์ไฟฟ้า ทางรอด และโอกาส

ในส่วนของผลลบนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปที่สำคัญของโลกมายาวนาน แต่ในสายการผลิตรถยนต์ EV ที่หลายค่ายเริ่มมองหาโลเคชั่นที่จะใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ ก็ต้องยอมรับว่านโยบายการสนับสนุนของทางภาครัฐที่ออกมาในตอนนี้ อาจจะสร้างแรงดึงดูดใจของนักลงทุนสู้กับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด 

ข้อมูลจากรายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing ได้รายงานเปรียบเทียบว่า จากรถยนต์สันดาปที่ต้องใช้ชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้นต่อการประกอบรถ 1 คัน พอเปลี่ยนมาเป็นรถ EV พบว่ารถ 1 คันกลับใช้ชิ้นส่วนในการประกอบเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป อาทิ เครื่องยนต์ ลูกสูบ หัวเทียน เพลา เกียร์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ฯลฯ เพราะชิ้นส่วนหรืออะไหล่ทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 

ส่วนคนที่ได้รับโอกาสการขายเพิ่มก็จะเป็นกลุ่มชิ้นส่วนเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สายไฟ, สมองกล, แบตเตอรี่ ฯลฯ

ในส่วนของผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, สถานบริการ Fast Fit ก็อาจจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเช่นกัน เพราะไม่ช้าก็เร็วตลาดรถ EV ก็ต้องมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นใครที่ทำธุรกิจนี้และอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นหน้าด่านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนก็อาจจะต้องวางแผนสำรองไว้ล่วงหน้า

สำหรับคนที่มองเห็นโอกาสและอยากจะลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จ  ปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัทที่เปิดรับคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, บริษัท พร้อมชาร์จ จำกัด (EO charging), EA Anywhere, Fimer ฯลฯ 

แต่ก่อนที่จะลงทุนอาจจะต้องศึกษาเรื่องเม็ดเงินการลงทุน และระยะเวลาในการคืนทุนให้ละเอียดก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานีชาร์จ EV นั้นใช้เวลาต่อคันมากกว่าสถานีน้ำมันอยู่พอสมควร ดังนั้นการสร้างสถานีชาร์จเพียงลำพังอาจจะไม่พอ แต่ต้องสร้างร้านค้า หรือร้านอาหารเพื่อเป็นจุดพักรอ และหวังรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ส่วนนี้ด้วย

ในความเป็นจริง การเติบโตของรถ EV นี้ กลุ่ม SMEs ก็สามารถหยิบมาสร้างเป็นจุดขายได้ อย่างเช่นผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีลานจอดรถ ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวก็สามารถติดตั้งสถานีชาร์จไว้ในบริเวณลานจอดรถได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่มาทานอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลาในร้านค่อนข้างนาน

มีกรณีศึกษาการปรับตัวของ SMEs รายหนึ่งที่น่าสนใจ ที่จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจอาหารแช่แข็งรายเล็กๆ คือ บริษัท วราภรณ์ โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถ EV ยี่ห้อ Fomm ส่งอาหารในพื้นที่ใกล้ๆ ในเขตเมือง

คุณวราภรณ์ อธิบายว่า บริษัทอยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษ และลดโลกร้อน จึงหันมาใช้รถไฟฟ้าในการส่งสินค้าและพบลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ทดลองใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้าซึ่งสามารถลดต้นทุนได้มาก เพราะต้นทุนของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่อวันเฉลี่ยแล้วแค่ 8 บาทเท่านั้น ส่วนรถ Fomm ที่นำมาเสริมก็สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 166 กิโลเมตรต่อชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง (ละ 35 บาท) หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกิโลเมตรละ 25 สตางค์

 

“รถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายถูกลง และลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถ เช่น ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และอื่นๆ อีกมากมาย”

 

 


 

อ้างอิง

https://www.energy.gov/timeline/timeline-history-electric-car

https://www.transtimenews.co/7458/

บทความแนะนำ