สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD)
“ถ้าเราสามารถยืดอายุการเก็บผลิตภัฑณ์และผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย ก็จะสามารถจำหน่ายได้อย่างกว้างขวางและส่งออกได้มากขึ้น” คำกล่าว ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2498 มีพันธกิจในการมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพการผลิต ผ่านกระบวนการวิจัย ทางวิทยศาสตร์การอาหารในการแก้ปัญหา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหามีมากมายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารต่างๆ ที่มีปัญหาแล้วก็ต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
แม้จะก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาเกือบ 70 ปี แต่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ก็ยังคงพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี การให้บริการข้อมูล และความรู้ ความเข้าใจของบุคคลากร
นอกจากนั้น สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีภารกิจด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการรองรับความต้องการในการแก้ปัญหา
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ปัจจุบันสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ IFRPD มีบริการที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในแขนงต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ดังข้อมูลต่อไปนี้
บริการจากทางสถาบันฯ
ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทุกผลิตภัณฑ์ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตออกจำหน่าย ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลจากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จากนักพัฒนา ตามหลักวิชาการ
การให้บริการฝึกอบรม ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในบริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านเทคโนโลยีการแปรรูป การผลิตและเก็บรักษาอาหาร รวมทั้งวิทยาการต่าง ๆ ที่สถาบันฯ ได้เตรียมไว้สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทุกระดับ โดยให้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว
บริการวิเคราะห์และทดสอบ FQA ทางสถาบันยังมีบริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ ด้านเคมี กายภาพ จุลชีววิทยา และการจัดทำฉลากโภชนาการ ตลอดจนการทดสอบทางชีวภาพด้านโภชนาการและพิษวิทยาอาหาร โดย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเทคนิค วิธีและเครื่องมือที่ทันสมัย
การบริการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญของสถาบัน ที่ทำขึ้นมเพื่อผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยหากต้องการเข้ามาปรึกษาด้วยตนเอง สามารถติดต่อเพื่อนัดวันและเวลาล่วงหน้าได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีบริการอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งยังพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการที่ต้องความช่วยเหลือ ผ่านการฝึกอบรมหรืองานสัมมนาทั้งออนไลน์และออฟไลน์
อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีช่วยในการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการและเกษตรกร ให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยผ่านช่องทางการติดต่อทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook และให้ความรู้ผ่าน ช่องทาง YouTube อีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
ตู้ ป.ณ. 1043 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ , จตุจักร กทม. 10903
เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร: 0 2942 8629-35
โทรสาร: 0 2561 1970
เว็บไซต์ : ifrpd.ku.ac.th / www.facebook.com/ifrpd.ku
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
กระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อย
จาก Passive Income สู่ Agro Tourism
กระท่อมเห็ด เกิดจากความคิดที่ต้องการจะสร้างรายได้เสริมหรือ Passive Income ของพนักงานกินเงินเดือน 2 คนคือ นัยนา ยังเกิด และปรียนันท์ แสงดี ทั้ง 2 หาข้อมูลการทำธุรกิจจนมาเจอหลักสูตรสอนการเพาะเห็ดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงตัดสินใจเข้าอบรม ก่อนเริ่มลงมือเพาะเห็ดอย่างจริงจัง
ผ่านไปไม่กี่ปีจากซุ้มเห็ดเล็กๆ กระท่อมเห็ดได้ขยายกิจการมาเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดในชื่อ “กระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อย” โดยเปิดอบรมไปแล้วกว่า 99 รุ่น ปัจจุบันกระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อยเริ่มขยับขยายไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวการเกษตร หรือ Agro Tourism ที่กำลังได้รับความนิยม
วันนี้นัยนา ยังเกิด จะมาเล่าถึงเคล็บลับความสำเร็จกว่าจะมาเป็นฟาร์มเห็ดอินทรีย์ ว่าทำอย่างไรให้ขายดี ชนิดที่ว่า เพาะเห็ดได้เท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
SME ONE : จุดเริ่มต้นของกระท่อมเห็ดมีที่มาอย่างไร
นัยนา : จุดเริ่มต้นเกิดจากความกลัวตกงาน เพราะสถาบันการเงินที่ทำงานในช่วงนั้นมีการควบรวมกิจการ ตอนนั้นกังวลว่าถ้าเกิดตกงานขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร จากที่เป็นคนทำงานกินเงินเดือนมาตลอดจึงเริ่มมองหาว่าจะทำธุรกิจอะไรเสริม พอดีคุณยายที่เชียงใหม่ให้คำแนะนำว่าให้ลองศึกษาการทำฟาร์มเห็ด จึงเริ่มต้นด้วยการค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ตามด้วยการทดลองหาซื้อก้อนเห็ดให้ร้านสอนวิธีการเพาะเห็ด ว่าต้องรดน้ำอย่างไร ให้ความชื้นแบบไหน แล้วก็ลองเอามาปลูกข้างบ้าน
พอได้ลองทำก็เห็นผลผลิตที่ออกมาแล้วตื่นตาตื่นใจ ก็เลยตกหลุมรัก มันเหมือนกับเราปลูกต้นไม้อะไรไม่เคยขึ้นเลยแต่ทำไมเราปลูกเห็ดขึ้น จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม
พอหาข้อมูลเพิ่มก็เห็นว่าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลักสูตรสอนให้กับคนที่สนใจ จึงตัดสินใจลงเรียนจนจบหลักสูตร และได้อาจารย์ที่สอนมาเป็นที่ปรึกษาตอนที่เริ่มทำธุรกิจ คำแนะนำของอาจารย์ คือ ต้องหาแหล่งชุมชน และหาที่ปลูกใกล้บ้านจะได้ดูแลง่าย เพราะว่าเห็ดต้องดูแลค่อนข้างใกล้ชิด จนได้ที่ประมาณ 300 ตารางวา ก็เริ่มทดลองปลูกรวม 3 กระท่อม กระท่อมละ 5,000 ก้อน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มเห็ดที่ชื่อ กระท่อมเห็ดขึ้นมา
SME ONE : ตอนที่เริ่มทำมองเทรนด์สุขภาพอย่างไร
นัยนา : ตอนนั้นไม่ได้มองเรื่องเทรนด์เรื่องสุขภาพเลย มองแค่ว่าเราจะลงทุนทำอะไรที่ใช้ทุนน้อย แต่ว่าสามารถเก็บเงินได้ทุกวัน ที่สำคัญคือ เราเป็นผู้หญิง ผู้หญิงก็รักสวยรักงามก็ไม่ชอบที่จะไปอยู่กลางแดด ไม่ชอบที่จะต้องไปทำงานหนักๆ แล้วเห็ดคือต้องดูแลในโรงเรือนที่มีความชื้น เก็บในร่ม คือไม่ได้เหนื่อยมาก แล้วพอเก็บเห็ดมาเสร็จ เราก็เอามาแพ็ก เห็ดมันก็สวยเหมือนดอกไม้สีชมพู สีเหลือง สีน้ำตาล สีขาว พอแพ็กบรรจุใส่ลงไปในถุงสวยๆ มันเหมือนกับเราจัดดอกไม้ คือเราก็ทำไปก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย
ประจวบเหมาะที่ช่วงนั้นกระแสเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น กระท่อมเห็ดก็เลยอยู่ในเทรนด์ตรงนั้นไปด้วย เราก็ใช้ประสบการณ์ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จากงานประจำมาประยุกต์ใช้ว่าเราจะชูจุดเด่นส่วนไหนขึ้นมา เพื่อให้คนได้รู้จัก อย่างเช่น วันวาเลนไทน์ เราก็เอาดอกเห็ดสีชมพูมาจัดเป็นช่อบูเก้ เป็นแบบเป็นช่อดอกเห็ดให้คนไปมอบแทนดอกกุหลาบ คือดอกเห็ดสีชมพูแสดงถึงความรักอยู่แล้ว แล้วยังสามารถกินและดูแลสุขภาพได้ด้วย ก็ กลายเป็นว่าคนได้รู้จักเห็ดสีชมพูเพิ่มขึ้น จากเดิมไม่มีใครกล้ากิน
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นปลูกเห็ดขาย เจออุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างหรือไม่
นัยนา : เราเจอปัญหาเรื่องการขาย ตอนแรกเราคิดว่าแม่ค้าที่ขายเห็ดอยู่แล้วคงจะชอบ เพราะไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่อื่น แต่ที่ไหนได้ พฤติกรรมของแม่ค้าตามตลาดสดทั่วไป เขาไม่ได้วิ่งซื้อตามฟาร์ม เขาไปรับซื้อตามตลาดค้าส่ง เช่นตลาดไท เขาจะโทรสั่งตอนเย็นว่าอะไรขาดบ้าง เช่น มะเขือ พริก มะนาว เห็ด วันรุ่งขึ้นเขาไปรับทุกอย่างขึ้นรถกระบะ คือเขาไม่จำเป็นต้องวิ่งไปแต่ละฟาร์ม ก็เลยกลายเป็นว่าแม่ค้าไม่รับเห็ดของเรา
พอแม่ค้าไม่รับซื้อเห็ด แล้วดอกเห็ดก็ออกมาเต็มโรงก็เลยตัดสินใจไปเช่าแผงที่ตลาดกับเพื่อน ตื่นมาประมาณตี 3 ตี 4 แล้วก็เอาเห็ดไปยืนขาย แต่เห็ดของเราเก็บตอนเช้าก็จะดูสด ดูใหม่ เพราะเราเห็นตามท้องตลาดจะเป็นแพ็กๆ แบบว่าเป็นถาดโฟมแล้วก็มีพลาสติกรัด ไม่สวย หน้าตาแต่ละแผงจะเหมือนกันหมด เพราะไปรับที่แหล่งเดียวกัน จึงกลายเป็นว่าเห็ดของเรามีความต่างเกิดขึ้นในท้องตลาด คนที่เป็น End User เดินมาถาม อันนี้คือเห็ดภูฏานหรือ? ทำไมที่เขากินทุกวันหน้าตาไม่เป็นแบบนี้? เราก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าทราบว่าเห็ดของเรามาจากฟาร์มโดยตรง
เชื่อไหมว่า ตอนนั้นเห็ดร้อยกว่าถุง ขายหมดในเวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เราจึงรู้ว่าสินค้ามันขายได้ด้วยตัวของมันเองถ้าของเราดีจริง ก็เลยตัดสินใจว่าถ้าไม่มีใครรับ เราก็มาขายเองดีกว่า ไม่ต้องผ่านแม่ค้าคนกลางด้วย แต่ว่าปรากฏว่าพอเราขายดีมีคนมามุงเพื่อซื้อสินค้าของเรา แม่ค้าที่เขาปฏิเสธเราเขาก็เห็น และรับซื้อเห็ดของเรา หลังจากนั้นก็ไม่ต้องไปขายที่ตลาดอีกเลย กลายเป็นว่าแม่ค้าแวะเวียนกันมาซื้อเห็ดที่ฟาร์มของเรา
ส่วนเรื่องของดินฟ้าอากาศที่ส่งผลกับสินค้า บางครั้งหน้าฝนจะมีปัญหาตรงที่ว่าเห็ดออกมาเยอะก็จะทำให้ราคาของเราจะถูกกดด้วย ถ้าเกิดแม่ค้าที่เขาเคยมารับเรา พอเขาไปเจอที่อื่นถูกกว่าเราเขาก็ไม่เอาของเรา เราต้องทำอย่างไร ก็คือเราต้องเพิ่มการแปรรูป เพิ่มการกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ตอนนี้เราเริ่มไปขายที่ตลาดจริงใจ เซ็นทรัล เวสต์เกต ที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ แล้วก็เพิ่งเริ่มเข้าไปจำหน่ายที่ Golden Place ถ้าเรามีกำลัง เราก็สามารถกระจายทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ผลิตผลของเราสามารถกระจายได้แค่ประมาณ 4-5 สาขาเท่านั้น
SME ONE : จากปลูกเห็ดขายก็เริ่มขยายมาสอนปลูกเห็ด แนวคิดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นัยนา : พอเราได้มาอยู่ตรงนี้ เราก็อยากให้คนได้มีประสบการณ์ในการทำเกษตร เพราะว่าเรานึกถึงตอนที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือน กว่าเราจะหาอาชีพได้สักอาชีพมันยากมาก บางคนนี่ล้มลุกคลุกคลานต้องเสียเงิน แบบลองผิดลองถูก เราก็เลยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ คือให้คนได้สามารถเดินเข้ามาดู ได้เข้ามามีประสบการณ์ในเรื่องของการเอาก้อนเห็ดไปลองเพาะ เหมือนที่เราเคยไปเอาก้อนเห็ดมาลองเพาะข้างบ้าน เพื่อให้รู้ว่าเขาชอบหรือเปล่า เขามีความสนใจในเรื่องของเกษตรหรือเปล่า ก่อนที่เขาจะลงทุนจริง
เราสอนการดูแลเห็ดเบื้องต้น คุณจะเอามาก้อน 2 ก้อน 3 ก้อนก็แล้วแต่ คือเราเปิดรับเต็มที่เลย กลายเป็นว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจพอเพียงกำลังมา หน่วยงานต่างๆ ที่เขาเห็นก็พาชาวบ้านมาเรียนรู้ แล้วเราก็ทำหลักสูตรสำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ด โดยให้อาจารย์ที่เกษตรมาสอนแต่ปรับหลักสูตรให้สั้นลง เหลือแค่หลักสูตรลงมือปฏิบัติอย่างเดียว เพราะว่าคนที่มาเขาก็ต้องการที่จะรู้ว่าตัวเองเหมาะไหมกับอาชีพนี้หรือไม่ เราเปิดเพื่อให้คนที่ได้มาเรียนรู้แบบทำเป็นอาชีพได้อย่างจริงจัง แล้วก็เราเป็นที่ปรึกษาให้
ตอนนั้นเลยกลายเป็นเทรนด์ มีคนสมัครเรียนเยอะมาก เดือนหนึ่งเรารับเต็มที่เกือบ 30 คน เมื่อก่อนตั้งใจจะเปิดแค่เดือนละครั้ง แต่ตอนกระแสเศรษฐกิจพอเพียงมาแรง เราเปิดสอนเกือบทุกอาทิตย์ แล้วคนก็เต็มทุกครั้ง ทุกคนที่เข้ามาคือเขาอยากรู้จริงๆ
SME ONE : ไม่กลัวว่าคนที่เรียนแล้วเขาจะมาแย่งอาชีพเราหรือ
นัยนา : ตอนเราเปิดสอนมีแต่คนถามประเด็นนี้ ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว การเกษตรยุคนี้เป็นเรื่องของปากท้องจริงๆ แต่เห็ดเป็นอะไรที่สามารถประยุกต์ไปช่องทางอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่เอามาผัดกับทอด ไม่ใช่ว่าไปอยู่ตามแผงผักอย่างเดียว ถ้าเกิดเราศึกษาลงไปลึกๆ แล้ว เห็ดมีสารสำคัญของยา เห็ดมีคุณค่าสามารถเป็นโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ คือสามารถต่อยอดไปในเรื่องของสุขภาพ เป็นเทรนด์ในเรื่องอาหารเป็นยา เป็นเทรนด์ในเรื่องของอาหารเสริมได้ คนที่มาเรียนบางส่วนเขามาเรียนเพื่อที่จะไปต่อยอดในเรื่องของสายสุขภาพ นำไปแปรรูป นำไปทำอาหารเสริมแบบทำเป็นผงอาหารบด
แล้วเห็ดมันไม่เหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป สมมติว่า มะม่วง 1 ต้น ออกลูกทีบางครั้งเป็น 100 ลูกพร้อมกันแค่ครั้งเดียว แต่ว่าเห็ดจะไม่ใช่ เราจึงไม่เห็นเลยว่าเกษตรกรฟาร์มเห็ด จะเอาเห็ดมาเททิ้งเพื่อประท้วงรัฐบาลเรื่องราคาของพืชผลการเกษตรจากเห็ด และปัจจุบันนี้ในเชิงของผู้บริโภคเห็ดยังมีความต้องการมากกว่าการผลิตอยู่ ทุกวันนี้ดอกเห็ดที่ออกมาก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งๆ ที่ตอนนี้เราเพิ่งขยายพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 3 โรง เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคแต่ก็ยังไม่พอ
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่ากลัวไหมเราไม่กลัวเลย เราบอกกับคนที่มาเรียนทุกคนว่า สิ่งสำคัญที่เราจะทำเกษตรแล้วประสบความสำเร็จ ก็คือเราต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน สมัยก่อนบางคน One man show คุณจะโตคนเดียวอาจจะทำได้ แต่ในยุคปัจจุบันมันต้องมีการแบ่งปันข้อมูลและมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเช่น เรามีลูกฟาร์ม ช่วงไหนที่ลูกฟาร์มเขาขาดดอกเห็ด เขาจะมีกลุ่มแม่ค้าประจำมารับ เขาก็สามารถวิ่งมารับเห็ดของเราได้ เพื่อที่เขาจะได้ไม่เสียลูกค้าของเขา
เหมือนกัน ถ้าเราขาดดอกเห็ดก็สามารถที่จะไปรับของเขามา เพื่อที่จะเอามาให้ลูกค้าเรา การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจะไม่ทำให้ลูกค้าเราหายไป เวลาที่เกิดโรคระบาดเราก็เปลี่ยนข้อมูลกัน มันก็เลยทำให้เหมือนกับว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน
SME ONE : วันที่กระท่อมเห็ดต้องขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ต้องลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม วันนั้นตัดสินใจด้วยเหตุผลอะไร
นัยนา : อย่างที่บอกว่าเราก็ยังทำงานประจำอยู่ ด้วยความที่เรามีความรู้สึกว่าเราอยากมีรายได้ 2 ทาง ส่วนของฟาร์มเห็ดก็เป็น Passive Income ที่เข้ามา เงินเดือนประจำเราก็มี เราก็มีความรู้สึกว่าธุรกิจนี้ไปได้ แล้วมันก็สามารถที่จะเลี้ยงดูเรา หรือหากเกิด Crisis ในชีวิต เกิดมีการ Layoff หรือว่าเกิดเราเบื่องานหรืออะไรก็ตาม ก็เลยมองว่าถ้าเราจะทำก็ต้องรู้จักต่อยอดอาชีพ จึงตัดสินใจไปซื้อที่ดินที่ไทรน้อยด้วยเงินลงทุนที่มาน้ำพักน้ำแรงของเรา จากเงินเดือนประจำ จาก Passive Income จากฟาร์มที่เราได้มา เอาไปลงซื้อที่ดิน 1 ไร่ แล้วก็ลงทุนใหม่หมดทุกอย่าง
ตอนนั้นคิดไว้ในใจว่ากระท่อมเห็ดจะไม่ใช่แค่ศูนย์เรียนรู้ ไม่ใช่แค่ขายดอกเห็ด แต่ต้องเป็นเกษตรท่องเที่ยว คือ เราต้องทำอย่างไรให้คนได้เข้ามามีประสบการณ์ ได้มาท่องเที่ยว เรียนรู้ แล้วก็ถ้าเกิดใครเข้ามาแล้วเขารู้สึกว่าเขาชอบ แล้วเขาจะเลือกทำเป็นอาชีพต่อ ก็เลยกลายมาเป็นเปิดเป็นสถานที่ที่คนที่เข้ามาเรียนรู้และมาเที่ยวได้ โดยที่มีคาเฟ่ มีร้านอาหารที่เน้นเมนูเห็ดเป็นหลัก แล้วก็มีกิจกรรมให้ครอบครัวพ่อแม่ลูก หรือจะเป็นใครก็ตามที่อยากจะมามีประสบการณ์ได้มาเก็บเห็ด
คือพอเขาได้เข้าไปในโรงเห็ดแล้วให้เขาเห็นว่า ทำไมเห็ดมีสีเหลือง สีชมพู สีดำ สีขาว คือเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าเห็ดต้องดูแลอย่างไร ให้เขาก็รู้สึกว่ามีความสุขกับการที่เขาได้เก็บเห็ด แล้วเราก็ทำหน้าที่ให้ความรู้เขาว่าเห็ดต้องเก็บหรือต้องดูแลอย่างไร แล้วคุณสามารถเอาไปทำอาหารได้อะไรบ้าง แล้วมีประโยชน์กับร่างกายเราอย่างไร ตรงนี้มันก็เลยเป็นวงจรธุรกิจในภาพที่ใหญ่ขึ้น
SME ONE : กระท่อมเห็ดได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากน้อยเพียงใด
นัยนา : COVID-19 ระลอกแรก ไม่กระเทือนเลยขายดีขึ้นอีกต่างหาก เพราะว่าคนทำกับข้าว อยู่บ้าน ล็อกดาวน์ สินค้าของเราที่ขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่พอขาย คือวางขายปุ๊บ หมดวันต่อวันเลย เราก็ต้องเร่งกำลังการผลิตเพื่อจะเอาดอกเห็ดไปวางขาย แล้วก้อนเห็ดของเรา ลูกค้าก็มาซื้อเพราะเขาต้องการเอาเห็ดไปเพาะหลังบ้าน แล้วเก็บเอง จะได้ไม่ต้องไปซื้อตามท้องตลาด เราเลยเพิ่มช่องทางนอกจากที่จะเป็นหน้าฟาร์ม มาขายออนไลน์ผ่าน Shopee ลูกค้าต้องการที่จะให้ส่ง Delivery ไปที่บ้านในต่างจังหวัดก็จะมาซื้อในช่องทางนี้
แล้วบางคนที่เป็นพวกผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่เขาต้องเลี้ยงลูกน้อง อย่างเช่น โรงแรมที่ปิดเขาก็มาเอาก้อนเห็ดไปเพาะ เพื่อที่จะเอารายได้มาเลี้ยงลูกน้อง ให้ลูกน้องมีอะไรทำ ซึ่งตรงนี้กลายเป็นว่าเกษตรสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คนยังต้องกิน ยังต้องใช้ ก็ยังขายได้อยู่
แต่พอระลอกหลังๆ กลายเป็นว่าคนเจอพิษเศรษฐกิจหนักขึ้น การลงทุนก็เริ่มลดลง หลังจากเจอระลอก 3 คนเริ่มชะลอการลงทุน เพราะว่าเขาเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจ อย่างคนที่เขาเป็นเจ้าของโรงแรมที่เคยซื้อเห็ดเราไป เขาก็ไปต่อไม่ไหวต้องเอาลูกน้องออกก็ไม่มีใครดูเห็ด ก็เลยไม่ได้มารับก้อนเห็ดจากเรา จากเดิมที่ว่าเอาก้อนเห็ดไปให้ลูกน้องขาย ก็ต้อง Layoff ก็เลยไม่ทำอะไรต่อ กลายเป็นว่าก้อนเห็ดที่ระลอกแรกขายดี ระลอกหลังก็เริ่มซาลง แต่ดอกเห็ดยังขายได้
ส่วนธุรกิจร้านอาหารช่วงที่เราปิดร้าน เราก็ยังมีรายได้จากการขายก้อนเห็ดมาช่วยจุนเจือ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ ทำให้เราสามารถพยุงธุรกิจให้ไปได้
SME ONE : ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
นัยนา : เรามองไปที่ Plant-Based Food เพราะว่าตอนนี้คนกำลังสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คนไม่ค่อยอยากจะทานอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องปศุสัตว์ที่สร้างมลภาวะ เพราะเขาต้องการอาหารที่ไม่ทำลายโลก อันนี้เป็นเทรนด์ที่เราศึกษามา เราอาจจะอยู่วงการ ESG (Environmental, social and corporate governance) ด้วยก็เลยทำให้เราเห็นภาพ
ในเรื่องของการเกษตรจริงๆ แล้วเห็ดค่อนข้างที่จะไม่มีอะไรที่ทำร้ายโลก เพราะ Zero Waste มากๆ อย่างที่บอกว่าเห็ดถ้าไม่สวยก็ไม่ได้ทิ้งให้เกิดแก๊สมีเทนขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ เพราะเอามาแปรรูปได้หมดทุกอย่าง แล้วก้อนเห็ดก็ไม่เป็นขยะ เพราะว่าเอาไปทำเป็นปุ๋ยได้หมด
ส่วนในตลาดผู้สูงวัย ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะสกัดสารสำคัญในเห็ดนางนวลสีชมพู กับเห็ดนางรมทองที่มีคอลลาเจนค่อนข้างสูง ตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดความสวยความงามได้ ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เขาเกี่ยวข้องเพิ่มเติม
SME ONE : จากนี้ต่อไป อะไรคือความท้าทายของกระท่อมเห็ด
นัยนา : อย่างที่กล่าวไปว่าเราอยากจะเรียนรู้ในเรื่องของการต่อยอดธุรกิจอาหารในส่วนของที่เป็นอาหารในอนาคต คือ Plant-Based Food กับต่อยอดในเรื่องของความสวยความงาม เราพยายามหาสารสำคัญของในเห็ดแล้วก็ดึงออกมา ซึ่งตอนนี้ก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้จักใน Agro Genius ให้คำปรึกษาอยู่
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอบรมกับเรา ทำให้เรารับรู้ข้อมูลว่าในประเทศลาวมีความต้องเห็ดเยอะมาก แต่เขาไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีการรวมกลุ่มที่ทำให้เพาะเห็ดได้ เพราะว่าเขาไม่มีขี้เลื่อยแบบเรา เนื่องจากอาหารของเห็ดที่ดีคือขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา ต้องเป็นไม้ยางพาราถึงจะดีที่สุด ซึ่งตรงนี้ที่ลาวไม่ค่อยมี เคยมีนักลงทุนที่ลาวชวนเราไปลงทุน ซึ่งเรามองว่าลาวก็ไม่ได้ไกลบ้านเราเท่าไหร่ หลัง COVID-19 เราก็คงต้องมาศึกษาตลาดเรื่องนี้อย่างจริงจัง
SME ONE : อยากจะให้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมาทดลองปลูกเห็ดขายจะให้คำแนะนำอะไร
นัยนา : แนะนำว่าคุณต้องเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่าชอบหรือเปล่า เพราะสิ่งนี้มันเป็น Passion ถ้าเรามีความชอบในสิ่งนั้น เวลาเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรมันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากท้อ อันนี้คือต้องถามใจตัวเองว่าเราชอบหรือไม่เป็นอันดับแรก อีกเรื่องคือต้องค่อยๆ ลงมือทำ บางคนอาจจะมีกำลังทรัพย์ก็จริง เราเคยเจอลูกศิษย์หลายๆ คนที่ตอนแรกทำแบบฟาร์มใหญ่โต แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ซึ่งตรงนี้เราอยากให้เขาค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ก้าว หลังจากนั้นจะขยายธุรกิจก็ไม่สายเกินไป ถ้าคุณพร้อมในเรื่องของประสบการณ์ เรื่องของตลาด และเรื่องของกำลังคน เพราะทุกอย่างต้องเอื้อกันหมด ที่สำคัญพอคุณทำแล้วประสบความสำเร็จ คุณต้องต่อยอด และต้องหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่นิ่งอยู่ตรงนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเน้นย้ำ
บทสรุป
ความสำเร็จของกระท่อมเห็ดมาจากการเลือกปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ มีการแข่งขันไม่สูง และมีการศึกษาข้อมูลก่อนจะลงมือทำจริงๆ จนเกิดความชำนาญ อีกทั้งยังใช้วิธีการมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางโดยมีการนำข้อมูลความต้องการของลูกค้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจล่าสุด คือร้านอาหารที่มีการเพิ่มเมนูอาหารใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
รวมถึงประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งที่ทำงานประจำในสายงานสื่อสารการตลาดทำให้กระท่อมเห็ดไวต่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติกรรมการรับสารของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียล มีเดีย
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
กัญชาแคนช้างคำ
จากพืชท้องถิ่นสู่มหานครกัญชาของโลก
การได้รับความนิยมของ “กัญชา” ที่เพิ่งจะเปลี่ยนสถานะจากยาเสพติดมาเป็นพืชสมุนไพรในช่วง 1-2 ปีนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะสินค้าที่เคยต้องหาซื้อกันแบบใต้ดิน เมื่อได้รับโอกาสให้ขึ้นมาวางขายอย่างถูกกฎหมาย กระแสการตอบรับจากคนไทยส่วนใหญ่จึงมีมาอย่างล้นหลาม
พบว่าช่วงแรกของการปลดล็อก ราคาขายของกัญชาในบางจังหวะดีดตัวขึ้นไปสูงถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม
กัญชาจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตาอยากมาก...
SME ONE มีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ทันใจ ณรังศรี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา ที่เป็นเฟืองจักรสำคัญในการสร้าง “กัญชาแคนช้างคำ” ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกในพื้นที่
เป้าหมายสูงสุดของ สจ.ทันใจ นั้นไม่ได้มองกัญชาเป็นแค่พืชสมุนไพร หากแต่มองไกลไปถึงการเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อปลุกปั้นให้จังหวัดนครพนมเป็นมหานครกัญชาของโลก
SME ONE : ที่มาของวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชสมุนไพร หนองแคนช้าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ทันใจ : หลังจากที่รัฐบาลได้มีการแก้ไขพ.ร.บ. ยาเสพติด โดยนุญาตให้ใช้กัญชา-กระท่อมทางการแพทย์ได้ก็เริ่มมองเห็นทิศทางของพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ นั่นก็คือ กัญชา จึงไปจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพร เหตุผลที่ต้องมีคำว่าสมุนไพร เพราะกัญชาจะเกี่ยวโยงหรือเชื่อมโยงกับแพทย์แผนไทย เพราะเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็มีนโยบายให้ปลูกกัญชา แต่มีระเบียบขั้นตอน วิธีการในการขอเข้าร่วมโครงการ โดยให้วิสาหกิจไปทำ MOU (Memorandum of understanding) กับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีแพทย์แผนไทย เราก็ทำโครงการเสนอเป็นขั้นตอนไปเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวจ้องประชุมพิจารณาอนุมัติ
หลังจากได้รับการอนุมัติ เราเริ่มทำโครงการกัญชา 50 ต้น บนโรงเรือนขนาดแค่ 6*12 เมตร โดยปลูกปีละ 2 ครั้ง ตอนที่เราได้รับอนุญาตให้ปลูก พ.ร.บ. ยาเสพติดประเภทที่ 5 จะยกเลิกเฉพาะใบ ก้าน ราก ลำต้น ส่วนช่อ และดอกยังเป็นยาเสพติดอยู่ วิสาหกิจเราก็ขายได้แค่ใบสด ใบแห้ง ก้านแห้ง รากแห้ง ส่วนช่อดอกก็ส่งกลับไปที่กรมการแพทย์ทางเลือกเพื่อนำไปปรุงเป็นยาต่อไป
SME ONE : การปลูกกัญชาดูแลรักษายากกว่าพืชเกษตรทั่วไปหรือไม่อย่างไร
ทันใจ : ไม่ยาก ถ้าเข้าใจตัวกัญชาแล้วก็สามารถปลูกได้ง่ายมาก ปลูกกัญชานี่น้ำมากไปก็ไม่ดี น้ำน้อยก็ไม่ดี เขาไม่ชอบความแฉะ แต่ชอบความชื้น แล้วก็เคมีมากไปก็ไม่ชอบ ชอบปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้ไก่อะไรพวกนี้ ส่วนศัตรูของกัญชา ก็คือเพลี้ย ตั๊กแตน ไรแดง กับโรครากเน่า เชื้อราในโคน ใบเน่าแค่นั้นเอง
SME ONE : สภาพภูมิประเทศมีผลกับคุณภาพของกัญชาหรือไม่ อย่างไร
ทันใจ : กัญชาที่ปลูกในภาคอีสาน ปลูกในภาคเหนือ หรือปลูกในภาคใต้จะได้ผลผลิตที่ไม่เหมือนกัน กัญชาคุณภาพดีที่สุดในโลกจะอยู่แถวสกลนคร นครพนม ฝั่งภูพาน ด้านทิศตะวันออก เพราะดินเหมาะแก่การปลูกกัญชา โดยธรรมชาติแล้วสายพันธุ์กัญชาที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงครามจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์หางกระรอก และสายพันธุ์หางเสือ ซึ่งเหมาะมากกับดินในจังหวัดนครพนม
หรือแม้แต่ภาคอีสานเหมือนกัน แต่ถ้าไปปลูกทางฝั่งกาฬสินธุ์ก็จะมีคุณภาพอีกแบบหนึ่ง ไปปลูกที่ร้อยเอ็ดก็จะได้อีกแบบหนึ่ง เหมือนกับทุเรียนที่ไหนก็ปลูกได้ ในอีสานเขาก็ปลูกได้ แต่รสชาติและคุณภาพจะไม่เหมือนกัน ทุเรียนคุณภาพดีจะมาจากจันทบุรีและระยอง เขาเรียกว่าถิ่นเกิดถิ่นกำเนิดมันอยู่ที่ไหน ก็จะดีอยู่ที่นั่น
SME ONE : ทุกวันนี้คนนิยมทำกัญชาไปทำอะไร
ทันใจ : แล้วแต่คนจะเอาไปใช้ อย่างใบสดเขาอาจจะไปชงเป็นชา ใช้ดื่มตอนเช้า ตอนเย็น ก่อนนอนอะไรได้หมด หรือนำไปปรุงอาหารก็ได้ ใส่ต้มยำก็ได้ ใส่แกงก็ได้ ไปผัดรวมกันกับผักบุ้งก็ได้ ผักกระเฉดก็ได้ หรือไปสร้าง Story ในการตกแต่งถาดอาหาร จานอาหาร สร้างมูลค่าขึ้นมาก็ได้ ส่วนใบแห้งเขาก็จะนำไปเป็นชาชง ไปต้มเป็นยา ก้านกับรากก็สามารถเอาไปดองเหล้าผสมน้ำผึ้งเดือนห้ากินเป็นยาได้ แต่น้ำมันกัญชาปัจจุบันยังผิดกฎหมายอยู่ ต้องรอประกาศกฎกระทรวง เพราะว่าในกฎหมายระบุไว้ว่าสารสกัดจากกัญชามีค่า THC เกิน 0.2% ถือว่ายังผิดกฎหมายอยู่
SME ONE : ทุกวันนี้ขายสินค้าผ่านช่องทางไหน
ทันใจ : เราเน้นขายส่ง ใครสนใจก็สั่งซื้อมา เราก็จัดส่งไปไม่มีนายหน้า ส่วนในอนาคตเราถ้าหากว่ามันเป็นไปได้ เราก็จะไปเพิ่มวัตถุประสงค์ ไปจดแจ้ง ไปขึ้นทะเบียน ไปจ่ายค่าธรรมเนียม เราจะปลูกเพื่อส่งออก เราจะปลูกเพื่อแปรรูป เราจะปลูกเพื่อ ปลูกให้กับบริษัท โรงงาน เราก็ต้องทำ MOU กับบริษัทหรือว่าโรงงานที่จะเอากัญชาไปแปรรูป ไปสกัดออกมาเป็นพืชสมุนไพร หรืออาหารต่างๆ นี่คืออนาคต
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ กับตอนนี้แตกต่างกันอย่างไร
ทันใจ : เราเริ่มได้รับอนุญาตเมื่อปีพ.ศ. 2563 ในปีนั้นเราก็ปลูกมา 2 รอบ ใบสดตอนนั้นเราขายกิโลกรัมละ 15,000 บาท ส่วนใบแห้งเราขายกิโลกรัมละ 40,000 บาท ก้านแห้ง ลำต้นแห้งอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 15,000 บาท รากแห้งก็อยู่ที่ 45,000 บาท รวมแล้วเราปลูก 2 รอบ หักต้นทุน หักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะเหลืออยู่ประมาณ 6-8 แสนบาทประมาณนี้ ตอนนั้นใครๆ ก็สนใจ เพราะกัญชากำลังได้รับความนิยม
มองในเรื่องของสมุนไพร สรรถคุณของกัญชาดีต่อสุขภาพ คนที่ซื้อไปก็จะนำไปชงชากินเป็นต้ม หรือไปเพิ่มมูลค่าทางอาหาร คือไปสร้าง Story เพื่อให้ที่มีกัญชา คนก็รับประทาน ราคาอาหารก็จะสูงขึ้น มาในปัจจุบันราคากัญชาใบสดก็เริ่มผันแปรไป เนื่องจากว่าทางองค์การอาหารและยาสามารถที่จะอนุญาตให้วิสาหกิจที่ขอเข้าร่วมโครงการปลูกกัญชาได้ทั่วประเทศ จนมีจำนวนประมาณ 2,000 เกือบ 3,000 แห่งแล้ว ราคามันเลยไม่นิ่งไง ไม่เหมือนเมื่อปี 2563
ปัจจุบันใบกัญชาสดราคาลงมาอยู่ที่ 2,000 บาท ไม่เกิน 5,000 บาท ใบแห้งจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 10,000 บาท ส่วนก้าน ลำต้นอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ส่วนรากอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อกิโลกรัม แม้ราคาจะขายจดลดลง แต่คนไทยตอนนี้กำลังสนใจเรื่องกัญชามากขึ้น เพราะหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็จะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ก็คือวันที่ 8 มิถุนายน 2565 กัญชาจะสามารถปลูกได้ แต่คนทั่วไปจะปลูกได้อย่างไร เงื่อนไขเป็นอย่างไรก็ต้องรอฟังประกาศทางราชการว่าจะให้คนทั่วไปแจ้งขออนุญาตปลูกได้กี่ต้น ปลูกเพื่ออะไร เพื่อบริโภค เพื่อเป็นยา หรือว่าเพื่อการค้าการขาย ตรงนี้จะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควร
ส่วนวิสาหกิจที่จดวิสาหกิจถูกต้อง ได้รับใบรับรองเป็นวิสาหกิจเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรอฟังประกาศทางราชการอีกครั้งหนึ่งว่าเขาจะให้ไปจดแจ้ง ไปขึ้นทะเบียน ไปจ่ายค่าธรรมเนียม ไม่ว่าคุณจะปลูกเพื่อผลิต คุณจะปลูกเพื่อสกัด คุณจะปลูกเพื่อเป็นการค้าส่งออกป้อนให้กับโรงงาน มันก็มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ แล้วก็ปลายน้ำ แล้วต่อไปก็ต้องฟังทางราชการเป็นหลักหลังจากที่ครบ 120 วันในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้
SME ONE : มองแนวโน้มของธุรกิจกัญชาในอนาคตเป็นอย่างไร
ทันใจ : ผมเชื่อว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะทำให้คนไทยจะลืมตาอ้าปากได้ มีพืชชนิดไหนที่ราคาขายกิโลกรัมละ 2,000 – 3,000 บาทบ้าง ขนาดผักคะน้าที่ปลูกต้องใช้เวลา ต้องปลูกกี่แปลงถึงจะได้ 2,000 บาท แต่กัญชานี่ ทั้งใบแห้ง ใบสด ทั้งก้าน ทั้งราก ทั้งช่อดอกไม่มีที่ทิ้งเลย ทุกส่วนของต้นกัญชาเป็นสมุนไพรทั้งหมด เพราะฉะนั้นตรงส่วนนี้น่าสนใจมาก แต่ที่สำคัญคือ ทางภาครัฐต้องวางแผน ต้องอำนวยความสะดวก ต้องเกื้อประโยชน์ต่อเกษตรเป็นหลัก เพราะว่าเกษตรกร บางครั้งต้นทุนเล็กๆ น้อยๆ ก็แทบจะต้องไปกู้ยืมเขามา ไม่เหมือนภาคเอกชนที่เขามีต้นทุน
เพราะฉะนั้น ภาครัฐต้องมาดูแลเรื่อง 1. คุณภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก กัญชาใครปลูกก็ได้ แต่สำคัญว่าคุณจะเอาสายพันธุ์ที่ดีมาจากไหนที่ทำให้ปลูกได้ดี 2. ปลูกแล้วจะไปขายให้ใคร นี่คือหัวใจสำคัญที่รัฐต้องมาดู รัฐต้องมาควบคุม รัฐมาต้องจัดระเบียบในเรื่องกัญชาให้เป็นระบบ ไม่เช่นงั้นจะเกิดปัญหาปลูกแล้วไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ถ้ามีผลผลิตมากเกินไปไม่รู้จะขายที่ไหน ก็จะมีการกดราคากัน ก็จะมีนายหน้าเข้ามาเหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ สำหรับทางราชการต้องใส่ใจเรื่องนี้
SME ONE : มีความกังวลเรื่องราคาขายในอนาคตหรือไม่
ทันใจ : ในอนาคตก็กลัวเหมือนกัน แต่ถ้าหากหาตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แต่ภายในประเทศได้ หมายถึงส่งออก ถ้าเราสามารถส่งออกได้ในนามวิสาหกิจ หรือในนามนิติบุคคลได้ก็สามารถแข่งกันเรื่องราคา แข่งกันเรื่องคุณภาพ ทีนี้เกษตรกรจะต้องมาแข่งกันเรื่องการคัดกรองสายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนที่ตลาดเขาต้องการ สายพันธุ์ไหนมี CBD สูง มีค่า THC สูงที่ตลาดต้องการ เราก็ต้องมาปรับปรุงสายพันธุ์ รวมถึงแข่งขันกันเรื่องการปลูกกัญชาให้ปลอดภัยจากสารตกค้าง จากสารเคมี ทำให้ต่อไปมันต้องมาวัดกันที่คุณภาพ ก็เพราะสินค้าการเกษตรทั่วไปมันก็จะมีเกรดเอ เกรดบี เกรดซี ราคามันก็ห่างๆ กันไปตามคุณภาพและสายพันธุ์ ทุกวันนี้ที่เราปลูกนี่สายพันธุ์เราเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง คือ สายพันธุ์หางกระรอก
SME ONE : มีวิธีการที่จะต่อยอดธุรกิจจากวิสาหกิจชุมชนอย่างไร
ทันใจ : ที่คิดว่าไว้แล้ว คือจะทำเป็นชาชงเป็นแบรนด์ของเราเอง เป็นแบบสินค้า OTOP เป็นสินค้าประจำถิ่น เป็นของฝาก ซึ่งหลังจากวันที่ 8 มิถุนายนนี้จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะจะสามารถแปรรูปเป็นสินค้าได้มากขึ้น เช่นทำเป็นขี้ผึ้ง เป็นสบู่ เป็นยาสระผม เป็นยาสีฟัน เป็นยาดม ยาหม่อง เป็นยาที่มีสรรพคุณแบบ Viagra ได้ด้วย
เราคุยกันไว้คร่าวๆ สินค้าล็อตแรกก็คงจะเป็นอะไรที่ทำได้ง่ายๆ ก่อนคือ เป็นชาเพื่อสุขภาพ เราจะเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เพราะว่า Concept ของเราก็คือ กัญชาเป็นพืชสมุนไพร เราต้องการให้พี่น้องประชาชนคนไทยเนี่ย ให้มาใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นหลักก่อน และในอนาคตเราก็อยากจะเอาสินค้าเราไปวางขายในห้าง ไปขาย Makro, Lotus หรือ Big C พวกนี้
นอกจากนี้เรามีทำศูนย์การศึกษาเรียนรู้กัญชาแบบครบวงจร เพื่อที่ว่าใครสนใจอยากมาศึกษาดูงานว่าที่นี่เขาปลูกกัญชากันอย่างไร ให้น้ำ ให้ปุ๋ยอย่างไรก็มาดูได้
SME ONE : ชื่อที่เราจะใช้กับผลิตภัณฑ์คืออะไร
ทันใจ : แคนช้างคำ เพราะที่ตั้งวิสาหกิจเราอยู่ที่หนองแคนช้าง ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ทีนี้เราก็เลยขมวดคำว่าหนองแคนช้างมาเป็นแคนช้าง ส่วนคำก็มาจากตำบลนาคำ
SME ONE : จะพัฒนาเป็นสินค้า OTOP มีไปขอคำปรึกษาของหน่วยงานราชการบ้างหรือไม่
ทันใจ : เราขอคำปรึกษาจากสำนักงานสาธารณสุข จากหน่วยงานแผนกแพทย์แผนไทยเป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์ที่เราจะทำจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เพื่อมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ของเรา ตอนนี้เราทำบันทึกข้อตกลงโดยตรงกับกรมการแพทย์ทางเลือก ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทางกรมการแพทย์ทางเลือกคอยเป็นคนชี้แนะชี้นำ และเป็นคนหาตลาดให้ด้วย
SME ONE : มีโอกาสที่จะโปรโมทให้เป็นหมู่บ้านกัญชา เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่
ทันใจ : ในเมื่อจังหวัดเราเป็นจังหวัดที่ปลูกกัญชาที่ดีที่สุดในประเทศก็คิดในใจไว้อยู่ แล้วก็มีการวางแผนไว้แล้ว เพราะทางภาครัฐ และองค์กรส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องการจะผลักดันกัญชาในเชิงสุขภาพ และเชิงการท่องเที่ยว เราคุยกันตลอดและวางแผนไว้ว่าต่อไปในอนาคตอยากให้นครพนมจะกลายเป็นมหานครแห่งกัญชาโลก
SME ONE : อยากให้ฝากแนะนำสำหรับคนที่คิดจะลองปลูกกัญชาในเชิงธุรกิจ
ทันใจ : เริ่มต้นก็ต้องศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนในการปลูกกัญชาให้ถูกต้องตามรายละเอียดที่ทางราชการก่อน จากนั้นก็ต้องมาศึกษาเรียนรู้ว่ากัญชาสายพันธุ์พื้นเมืองแต่ละสายพันธุ์ต้องปลูกอย่างไรยังไง ดูแลรักษาอย่างไร ศัตรูพืชมีอะไรบ้าง ต้องศึกษา ต้องเข้าใจคำว่ากัญชาก่อน ถึงจะลงมือปลูกได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ห้ามทำตามกระแสเด็ดขาด แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจไม่ใช่ว่ามีเงินแล้ว มีทุนแล้ว รวมกลุ่มกันได้ นึกอยากจะปลูก ปลูกเลย เพราะปลูกกัญชามันมีรายละเอียดพอสมควรนะครับ
ส่วนใครสนใจจริงๆ ทีมงานในวิสาหกิจพร้อมให้ความรู้โดยที่ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอำพราง จะอธิบายและก็แนะนำท่านในแนวทางที่มันถูกต้อง เพราะเราต้องการพัฒนากัญชาของประเทศไทยไปด้วยกัน
บทสรุป
ความสำเร็จของกัญชาแคนช้างคำนั้นอยู่ที่การมองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสถานะของกัญชาจากยาเสพติดมาเป็นพืชสมุนไพร และใช้หลักปฏิบัติง่ายๆ คือ “ทำทันที” โดยลงมือทำก่อนใคร นอกจากนี้ยังใช้วิธีการตลาดสมัยใหม่คือเน้นสร้างแบรนด์ “กัญชาแคนช้างคำ” ให้เป็นที่จดจำในภาพของสินค้าพืชสมุนไพร ซึ่งสามารถต่อยอดและเชื่อมโยงกับแพทย์แผนไทยที่ได้รับการยอมรับจากคนไทยทั่วประเทศ
เมื่อมารวมกับแนวคิดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชสมุนไพร หนองแคนช้างที่พยายามยกระดับกัญชาจากสินค้าโภคภัณฑ์ท้องถิ่น (Commodities) สู่การสร้างแบรนด์เพื่อยกระดับมาตรฐาน และสร้างมูลค่า จึงถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับการบุกเบิกพืชสมุนไพรที่กำลังมาแรงอย่างกัญชา
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
น้ำพริกแคบหมูยายน้อย
การตลาดกลับหัวแจ้งเกิดเพราะบูลลี่ตัวเอง
คนที่เล่นโซเชียลมีเดียเป็นประจำน่าจะเคยเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักแชร์โพสต์ภาพหรือข้อความของแบรนด์อาหารอย่าง “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย
น้ำพริกแคบหมูยายน้อยขายของด้วยการโพสต์บูลลี่ตัวเองตลอดเ วลาแถมแฟนเพจก็มักจะชอบเข้ามาร่วมแจมด้วยการบูลลี่ในลักษณะที่ว่า “น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นได้ทุกอย่างยกเว้นอาหาร”
เนื้อหาของบทสนทนาที่กล่าวมานี้ เรียกได้ว่าเป็นการตลาดแบบกลับหัวคือแทนที่จะบอกสรรพคุณด้านดีของสินค้าแต่กลับใช้วิธีการตรงกันข้าม ที่สำคัญคือ วิธีนี้กลับทำให้ยอดขายหรือผลลัพธ์ที่ได้กลับมาดีจนคาดไม่ถึง
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เพราะเหตุใดน้ำพริกแคบหมูยายน้อยถึงประสบความสำเร็จจากหลักสูตรการตลาดนอกตำรา
วันนี้เบียร์–ศรัญญู เพียรทำดี ผู้ก่อตั้งน้ำพริกแคบหมูยายน้อยจะมาเล่าเบื้องหลังการทำงานให้ฟัง
SME ONE : ช่วยเล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นธุรกิจเป็นมาอย่างไร
ศรัญญู : น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเริ่มต้นจริงๆเ มื่อ 3-4 ปีที่ แล้วคุณแม่ผมขายอาหารตามสั่งขายมาหลายปีแล้วก็เลยเลิกขาย จากนั้นก็อยู่บ้านมาสักพัก แม่ก็รู้สึกว่าอยากหาอะไรทำขายเล็กๆ น้อยๆ ก็ไปเจอสูตรการทำน้ำพริกแคบหมูในยูทูป เขาก็ลองทำแล้วขายในหมู่บ้าน ผมเองลองชิมก็รู้สึกว่ารสชาติโอเคก็เลยช่วยแม่หารายได้เพิ่มโดยการโพสต์ลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว เพื่อนผมที่กวนๆ ตลกๆ เห็นก็มาแซวว่า น้ำพริกแคบหมูหรือแคบหมาอะไรประมาณนี้ กินแล้วฟันแตกไหม เราอ่านคอมเมนต์ดูก็รู้สึกว่ามันสนุกตลกดีก็เลยเอาคอมเมนต์พวกนี้ไปลงในเพจที่เคยทำไว้แล้วมีคนติดตามอยู่บ้าง ปรากฏว่าคนชอบ
หลังจากนั้นมาเราก็ยังโพสต์ในเฟสส่วนตัวก็มีคนมาแซวเรื่อยๆ จนเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2 ปีที่แล้วได้ลองเปิดเพจขึ้นมาเพื่อลงคอนเทนต์สนุกๆ เกี่ยวกับน้ำพริกล้วนๆแ ล้วก็ลงคอนเทนต์มาเรื่อยๆ โดยตั้งต้นมาจากความสนุกลงทุกวันจนกลายเป็น Viral
ช่วงเดือนกันยายนจากการที่ช่วงนั้นผมมีไปออกบูธแล้วทำไวนิลไปติดบูธขายน้ำพริก เราอยากได้สโลแกนแต่คิดไม่ออก อยากได้สโลแกนประมาณว่าโก๋แก่มันทุกเม็ดอะไรประมาณนี้ก็เลยโพสต์ไปถามในแฟนเพจ วันรุ่งขึ้นคนก็เข้ามาแชร์เข้ามาคอมเมนต์เยอะมากเป็นหลัก 2-3 หมื่น คนก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้นแล้วพอเราไปออกบูธคนก็มาติดตามในเพจเริ่มมีคนมาขอถ่ายรูปด้วย เราก็ยังคงลงคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ จนรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จะบอกว่าก่อนหน้านี้ผมทำงานประจำอยู่ด้วยแต่น้ำพริกเราทำเพราะความสนุกมากกว่า จนวันนึงรายได้จากน้ำพริกเริ่มสูสีกับงานประจำแล้ว เราก็เลยตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาทำตรงนี้เต็มตัวเป็นอาชีพหลักเลยเมื่อประมาณเดือนเมษายนปีที่แล้วก็คือครบ 1 ปีพอดีที่ออกจากงาน หลังจากออกจากงาน 1 เดือนก็จดทะเบียนเปิดเป็นบริษัทเลยแล้วก็ทำจริงจังจนมาถึงทุกวันนี้
SME ONE : ชื่อน้ำพริกแคบหมูยายน้อยมาจากอะไร
ศรัญญู : พอดีแม่ผมชื่อน้อยแม่ก็เป็นคนทำน้ำพริกด้วยก็เลยเอาชื่อง่ายๆ บ้านๆ เป็นน้ำพริกแคบหมูยายน้อย
SME ONE : วันที่ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจทำเต็มตัวเราเห็นโอกาสในการขายของผ่านแพลตฟอร์มหรือผ่านช่องทางออนไลน์อย่างไร
ศรัญญู : ช่วงแรกคือทำด้วยความสนุกอย่างเดียว ตอนนั้นรายได้ทั้งหมดก็ให้แม่หมดเลย เราอยากให้แม่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ขายแค่ในหมู่บ้าน เพราะเรามีเพื่อนๆ เยอะอะไรแบบนี้ เราก็เลยโพสต์ขายไปในนั้น แต่อย่างที่บอกไปพอเริ่มเปิดเพจถึงจุดนึงคนรู้จักเยอะขึ้นเป็น Viral แล้วรายได้มันเพิ่มขึ้นจึงเริ่มมองเห็นโอกาสซึ่งเป็นช่วงที่ก่อนที่ผมคิดจะลาออกก็เลยวางแผนว่าจะต้องทำการตลาดอะไรให้จริงจังมากขึ้น
SME ONE : ช่วงแรกๆ ทำเจออุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างไหม
ศรัญญู : ช่วงแรกที่ผมทำด้วยความสนุกผมไม่คิดว่ามันเป็นอุปสรรคเลย แต่พอออกจากงานแล้วมาทำจริงจังเราก็จะอุปสรรคแรก คือตัวเราไม่ใช่พ่อค้ามาก่อนเป็นพนักงานประจำมาตลอด ในโลกของการขายของเราเป็นมือใหม่มากเราไม่รู้เรื่องหลังบ้านไม่รู้เรื่องบัญชีซึ่งเราเป็นคนดูแลคนเดียว เรียกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมากกว่าเราก็เลยเริ่มเรียนรู้ไปพอถึงตอนนี้ก็โอเคแล้ว
ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือ ตอนที่ผมเปิดเป็นบริษัทเราเจอ COVID-19 ปีที่แล้ว แต่เราไม่ใช่ร้านอาหารเราอยู่ในออนไลน์มันก็เลยส่งผลดีตรงที่ทุกๆ คนก็อยู่บ้านกันหมดทำให้ยอดขายของเราเยอะขึ้น แต่พอคลายล็อกดาวน์ยอดขายปีนี้ก็จะเริ่มตกลงจากปีที่แล้ว
อุปสรรคตอนนี้อย่างแรกก็คือ ยอดขายที่ดรอปลงเราก็กำลังคิดอย่างอื่นเพิ่ม เมื่อก่อนออนไลน์ 100% ตอนนี้ก็เริ่มมีออกบูธบ้างแล้วก็มีการขยายตลาดไปออฟไลน์บ้างไปดีลกับร้านอาหารเช่นก๋วยเตี๋ยวเรืออะไรแบบนี้ที่เขาต้องใช้แคบหมู
SME ONE : การทำตลาดแบบบูลลี่ตัวเองต้องรักษาความพอดีอย่างไรเพื่อให้คนสนุกสนานแต่คงความน่าเชื่อถือมีอยู่
ศรัญญู : เราอยู่มา 2 ปีแล้ว ถ้ามีคนอื่นเช่นร้านอาหารมาทำตามอันนี้คิดว่าไม่โอเค ลูกค้าจะไม่เก็ทแต่ของผมเปิดมาด้วยแบบนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราใช้การเพิ่มฐานลูกค้าไปเรื่อยๆ โดยที่ลูกค้าจะรู้จักเราก่อนจะซื้อสินค้าของเรา แต่ถามว่ามีขอบเขตไหมก็มีตั้งแต่เปิดเพจมามีอยู่ประมาณ 2-3 คอนเทนต์ที่ลงไปแล้วไม่โอเค เราก็ลบทิ้ง
ประสบการณ์ตอนนั้นทำให้เราคิดมากขึ้นก่อนที่จะลงคอนเทนต์อะไรต้องดูให้รอบคอบมากขึ้น โดยขอบเขตก็มาจากการที่เราเคยลงไปแล้วมันไม่โอเคมันอาจจะแรงไป เราก็จะรู้จุดแล้วว่าจะไม่ล้ำเส้นตรงนี้ หลังจากที่มีการลงไปแล้วคนไม่โอเค การลงครั้งต่อไปเราก็จะไตร่ตรองและคิดมากขึ้น มันก็ทำให้เราคุมโทนได้อยู่ในความสนุกไม่ไปเดือดร้อนคนอื่นไม่ให้ภาพลักษณ์มันดาร์กเกินไปเอาแค่สนุกยิ้มๆ แค่นี้ก็พอ
SME ONE : ตอนนี้คอนเทนต์ที่อยู่ในเพจเราคิดเองประมาณกี่เปอร์เซ็นต์แล้วลูกค้าที่ส่งมาร่วมแจมด้วยประมาณกี่เปอร์เซ็นต์
ศรัญญู : น่าจะประมาณ 50:50 ด้วยความที่คอนเทนต์ของผมมีหลายแบบ ทำเป็นText บ้าง Meme บ้างช่วงแรกเราเป็นคนคิดเองหมด พอทำไปสักพักลูกค้าที่ซื้อของไปเขาถ่ายรูปแล้วส่งมาให้เราทาง inbox เราก็อยากให้ทุกคนเห็นคอนเทนต์ของลูกค้าที่ส่งมาให้เราเหมือนกัน พอเราลงไปคนก็อยากจะไปซื้อแล้วส่งมาให้เราดูเหมือนกันเพื่อให้เราไปโพสต์มันก็จะเป็นลูปแบบนี้
SME ONE : เวลาเราคิดมุขเราคิดจากอะไร
ศรัญญู : ตัวผมอยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมาเองได้ช่วงหลังๆ ผมก็จะใช้มุขที่เป็นกระแสมีอะไรที่เป็นกระแส ช่วงนั้นเราก็พยายามเชื่อมโยงกับสินค้าเราหรือคาแรคเตอร์ของสินค้าเรา ซึ่งถ้าเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับกระแสลูกเพจก็จะชอบมากกว่าเพราะมันเป็นอะไรที่อยู่ในสถานการณ์ตอนนั้นแล้วมันอิมแพคคนได้ง่าย
ส่วนคอนเทนต์ที่อยู่ๆ คิดได้เองก็มีบ้างบางทีไปเจอ Meme ของฝรั่งก็เอามาใส่บ้างให้มันเข้ากับสินค้าเรา ประเด็นหลักเวลาที่เราจะลงคอนเทนต์อะไรมันต้องดึงคาแรคเตอร์หรือจุดขายของเพจเราและสินค้าเราให้เชื่อมโยงกันได้เนียนมากที่สุดให้มันดูสนุกและดูตลกที่สุด แต่ผมก็ไม่ได้เล่นทุกกระแสดูว่ากระแสไหนเล่นได้ มันก็มีหลายครั้งที่คิดว่ากระแสนี้น่าเล่นแต่ดูแล้วไม่รู้จะเชื่อมโยงกันยังไงก็ไม่เล่นมันจะดูฝืนไปถ้าเล่น นอกจากนี้ก็จะมีคอนเทนต์ที่ลูกเพจส่งมาให้อย่างที่บอกไป
SME ONE : ปัจจุบันน้ำพริกแคบหมูยายน้อยมีขายสินค้าอื่นๆหรือไม่
ศรัญญู : เราเริ่มมาจากน้ำพริกแคบหมูตอนนี้ก็มีน้ำพริกปลาทูฟูและน้ำพริกกุ้งเสียบเพิ่มขึ้นมาเพร าะลูกเพจเราบางคนเขากินหมูไม่ได้เราก็เลยคิดต่อว่าจะทำอะไรเพราะเขาอยากสนับสนุนเรา เราก็เลยออก Product เพิ่มที่ไม่ใช่หมู คือเขาเป็นอิสลามแล้วมาสั่ง ซึ่งเราก็รู้แล้วว่าเขากินหมูไม่ได้ก็เลยคิดเป็นน้ำพริกปลากับกุ้งขึ้นมาเพื่อลูกเพจของเราที่ซัพพอร์ตเรา
SME ONE : นอกจากการขายสินค้า ตอนนี้เพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อยเริ่มกลายเป็น Media เพราะมีคนมาจ้าง Tie-in ตรงนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ศรัญญู : ก็คือตั้งแต่ช่วงที่เป็น Viral มาและเมื่อก่อนผมก็เคยรับงาน Tie-in มาบ้างอยู่แล้วจากการเป็นแอดมินเพจ Buffalo Gags ผมคิดไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดเพจแล้วว่าเราต้องมีรายได้ 2 ทาง ทางหนึ่งก็คือมาจากน้ำพริก อีกทางก็คือมาจากการ Tie-in พอแล้วทำคอนเทนต์ไปสักพักเราจะเริ่มเห็นว่ามันขายของอย่างอื่นได้ด้วย ผมไม่ได้คิดว่าถ้าเป็นเพจของกินแล้วต้องขายของกินอย่างเดียวมันทำควบคู่ไปด้วยกันได้ และรู้สึกท้าทายตัวเองด้วย เช่น เวลาเขาให้โจทย์มาว่าขายยาสีฟันในเพจทำให้มันเชื่อมโยงกับ Product ของเราทำยังไง หรือขายร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร
ผมรู้สึกว่ามันเป็นการท้าทายตัวเองด้วยว่าเวลามีลูกค้ามาจ้างแบบนี้เราจะทำคอนเทนต์อะไรได้บ้าง พอเราเริ่มทำไปอันหนึ่งเจ้าอื่นที่เห็นเขาก็เริ่มมาจ้างมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด พอผมดูคอนเทนต์ตัวเองแล้วก็รู้สึกว่ามันก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีคนมาจ้าง Tie-in แต่คนอื่นที่มองเข้ามามันอาจจะดูแปลก เพราะตัวเองขายของอยู่แล้วแล้วยังมีของอย่างอื่นมาขายอีกมันก็ดูแปลกดีแต่ทำออกมาแล้วมันโอเค
ปัจจุบันนี้รายได้มาจากการขายสินค้าเราเองประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์และรายได้มาจากการที่คนมาจ้าง Tie-in ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
SME ONE : ยอดขายน้ำพริกมาจากช่องทางออนไลน์กี่เปอร์เซ็นต์และจากการไปออกบูธกี่เปอร์เซ็นต์
ศรัญญู : มาจากออนไลน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่ไปออกบูธก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะหัวใจหลักที่มาออกบูธ คืออยากมาเจอแฟนเพจมากกว่า เพราะรู้สึกว่าการที่เราเป็นแบรนด์อะไรสักแบรนด์หนึ่ง เข้าใจว่ายอดติดตามเราเยอะแต่ผมคิดในฐานะที่ตัวเองเป็นลูกเพจ เราก็อยากให้แบรนด์ที่เราชอบเป็นกันเองกับเรา ในออนไลน์เราก็เป็นกันเองอยู่แล้ว แต่อยากให้เขาได้เจอเราตัวจริงๆ ด้วยเพราะเวลาที่เขามาซื้อตอนที่เราไปออกบูธก็จะมีการพูดคุยกันเขาก็จะบอกว่าติดตามอยู่นะ ชอบมุขนั้นมุขนี้มากเลย มันทำให้มีความรู้สึกว่าไม่ใช่เป็นแค่พ่อค้ากับลูกค้า แต่รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันมากกว่า แนวคิดแบบนี้ผมก็ใช้ในเพจด้วยเวลาที่คนทักมาสั่งใน Inbox ผมก็จะคุยเล่นมุขก่อนที่จะมีการซื้อขาย ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีกว่าการถามราคาแล้วก็ซื้อขายโอนเงินกันจบ ก็เลยเอาตรงนี้มาใช้ในการออกบูธด้วยมันจะได้มีการเจอกันต่อหน้า
SME ONE : ในส่วนของการผลิตตอนนี้ทำกันอย่างไร
ศรัญญู : ทำเอง 100 เปอร์เซ็นต์เลยแล้วผมก็ให้น้องสาวออกจากงานมาช่วยด้วย ตอนนี้เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่าโฮมเมด พ่อแม่พี่น้องก็คือมาช่วยกันหมด ในส่วนการตลาดผมดูคนเดียวหมดเลย ส่วนการผลิตก็จะเป็นคุณแม่กับน้องสาวช่วยกัน ตอนนี้คุณแม่ก็เลิกขายในไลน์หมู่บ้านแล้ว
SME ONE : ถ้ามีคนมาจ้างผลิตจะรับทำหรือไม่
ศรัญญู : ก็ต้องดูก่อน จริงๆ เราก็คิดว่าจะขยาย เพราะปีนี้เราต้องการเพิ่มยอดขายให้มันเยอะขึ้น และเราอยากได้ตลาดที่เป็นออฟไลน์ ซึ่งถ้าเราได้แล้วเราก็จะคิดต่อว่าจะต้องมีการจ้างคนเพิ่มหรืออะไร แต่ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นยังคงทำแบบเดิมอยู่ ถ้ามีคนมาจ้างเราก็ต้องมีการขยายการผลิตเพิ่มก็เป็นเรื่องอนาคตไป
SME ONE : ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติเราอยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
ศรัญญู : ตอนนี้ก็ใกล้ปกติแล้ว ครึ่งหลังของปีนี้ผมก็แพลนไว้ว่าจะดูตลาดออฟไลน์ ถ้าได้ตรงนี้มันจะเป็นรายได้ที่ตายตัว สมมติเราทำส่งให้ร้านอาหารที่มีหลายสาขาเราก็จะได้ยอดขายจากตรงนั้นตายตัว ส่วนในออนไลน์เราก็ทำการตลาดไปแบบนี้ แล้วมันก็มีอีกหลายส่วนที่ผมยังไม่ได้ทำ อย่างเช่นไลฟ์ขายของก็ยังไม่ได้ทำ ส่วนช่องทาง TikTok ก็กำลังคิดจะทำ ซึ่งมีอีกเยอะมากเลยที่คิดว่าจะทำแต่ยังอยู่ในแผนงาน
อย่างไลฟ์สดจริงๆ ถ้าให้เปิดมือถือไลฟ์มันก็ทำได้เลย แต่ผมก็อยากทำให้มันดีเพราะมันคือไลฟ์ครั้งแรก การไลฟ์แต่ละครั้งต้องมีคอนเทนต์ด้วยตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะยังไงแต่ก็พยายามจะทำให้ได้ภายในปีนี้
SME ONE : ตอนนี้คนรู้จักเราสินค้าก็ติดตลาดแล้ว คิดว่าอะไรคือความท้าทายของน้ำพริกแคบหมูยายน้อย
ศรัญญู : ตอนนี้ผมอยากจะให้ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจครอบครัวจริงๆ สมมติว่าผมวางมือไปแล้วธุรกิจนี้ต้องอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ผมพยายามจะทำแบบนั้นอยู่ลูกหลานผมก็จะได้มาต่อยอดตรงนี้ได้ เพราะตัวผมก็อาจจะไม่ได้อยู่ทำจนสุด จริงๆ แล้วผมก็มีงานในด้านอื่นด้วย ตอนนี้ผมก็เลยอยากจะเพิ่มในส่วนของยอดขาย ความท้าทายก็คือ การเพิ่มยอดขายให้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ให้ยอดมันนิ่งและเสถียรกว่านี้
SME ONE : อยากจะออกมาเป็นผู้ประกอบการ SME ในการทำธุรกิจ
ศรัญญู: เวลาที่คนมาถามผมก็จะบอกว่า สั้นๆ ง่ายๆ คือให้ลงมือทำเลย
บทสรุป
ความสำเร็จของน้ำพริกแคบหมูยายน้อยมาจากหลักการง่ายๆ 3 ประการ ประการแรก เริ่มจากศรัญญูเองที่รู้ว่าตัวเองชอบทำคอนเทนต์ชอบความสนุกสนาน ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างจุดขายที่แตกต่างจนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ประการที่ 2 คือการลงมือทำอย่างจริงจังและทำเต็มที่ และประการสุดท้ายคือทำอย่างสม่ำเสมอศ รัญญูตั้งกฎให้ตัวเองว่าอย่างน้อยต้องลงคอนเทนต์วันละ 1 คอนเทนต์ ซึ่งก็ทำแบบนี้มาตั้งแต่เปิดเพจ จนทำให้ยอดขายและจำนวนผู้ติดตามเติบโตขึ้นทั้ง 2 ด้าน
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
คุณละออ
จากชาวสวนสู่ราชินีผลไม้กวน
ผลไม้กวน “คุณละออ” ก่อตั้งโดย คุณละออ สุวรรณสว่าง เป็นแบรนด์สินค้าผลไม้แปรรูปชื่อดังของจังหวัดระยองที่นักท่องเที่ยวชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะมีวางจำหน่ายในแหล่งของฝากของจังหวัดระยองมากว่า 40 ปี
“คุณละออ” มีรางวัล “สินค้า OTOP 5 ดาว” เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพสินค้า ทั้งความสะอาด รสชาติ ทุกวันนี้คุณละออแทบจะกวนผลไม้ทุกอย่างที่มีในระยอง เช่น ทุเรียน มังคุด สับปะรด ขนุน มะละกอ แก้วมังกร ฯลฯ จนใครต่อใครหลายคนให้สมญานามว่า “ราชินีแห่งผลไม้กวน”
SME ONE : จุดเริ่มต้นธุรกิจของคุณละออผลไม้กวนเป็นมาอย่างไร
ละออ : จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาทำผลไม้กวน ดิฉันเป็นเกษตรมาก่อน ทำสวนปลูกสับปะรดส่งโรงงาน ส่วนสับปะรดที่เหลือซึ่งโรงงานไม่รับซื้อ เช่น มีขนาดที่ไม่ได้มาตรฐานก็นำมาแปรรูปเป็นสับปะรดกวน ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรเลย คือปกติแล้วจะมีคนรับซื้อสับปะรดที่หน้าโรงงาน แต่จะมีบางส่วนที่ถูกคัดออก และขายไม่ได้ราคา เช่น ขายให้โรงงานกิโลกรัมละ 7 บาท เขาก็จะรับซื้อเหลือกิโลกรัมละ 1.50 บาท แต่เกษตรส่วนใหญ่ก็เลือกขาย เพราะดีกว่าเอาไปทิ้งเปล่าๆ
เราก็เลยมีความคิดว่าจะเอาผลไม้ที่ถูกคัดเกรดออก ไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่น เพื่อแก้ปัญหาราคาผลไม้ทั่วไปที่มันตกต่ำ โดนกดราคาด้วยการนำมาแปรรูป สมัยก่อนราคาสินค้าแปรรูปแตกต่างจากขายเหมาเยอะ แต่ปัจจุบันก็เริ่มแตกต่างน้อยลง เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้น ต้นทุนอื่นๆ แพงขึ้น เช่น ค่าแก๊ส หรือค่าแรงสมัยนี้ก็สูงขึ้น
SME ONE : ในวันที่ตัดสินใจเลิกปลูกสับปะรดมาทำผลไม้กวนเต็มตัว ตอนนั้นคิดอย่างไร
ละออ : เราเริ่มต้นจากการทำสับปะรดกวนตอนแรกมันขายได้ ก็เลยมาทดลองทำตัวอื่น ปรากฏว่าทำแล้วมันก็ขายได้อีก ตอนนั้นยังปลูกสับปะรดอย่างเดียว แต่พอเราทำผลไม้กวนขายแล้วติดตลาด เราก็ไม่ได้มีเวลาไปทำสวนสับปะรด และเปลี่ยนมาเป็นหาซื้อจากชาวสวนใกล้บ้านอีกที เรียกว่าเปลี่ยนธุรกิจจากเกษตรกร มาเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแบบครัวเรือนเต็มตัว จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 40 ปีแล้ว
SME ONE : ปัจจุบันคุณละออ ผลิตละจำหน่ายผลไม้กวนอะไรบ้าง
ละออ : เราเริ่มต้นจากสับปะรดเป็นสินค้าตัวแรก ตอนนี้เรามีกล้วย มังคุด ทุเรียน ขนุน มะม่วง เรียกว่ามีผลไม้หลายอย่าง สับปะรดเองก็แปรรูปได้หลายอย่าง อย่างเช่น สับปะรดกวนธรรมดา ที่เอาไปทาขนมปัง มีลูกอมสับปะรด มีสับปะรดกวนกะทิ แล้วก็มีสับปะรดบ๊วย สับปะรดแก้ว ทำได้ 6 อย่างจากสับปะรดลูกเดียว
SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนอาชีพจากชาวสวนมาเป็นเจ้าของโรงงาน เจอปัญหา หรืออุปสรรคอะไรบ้าง
ละออ : ที่เจอคือตอนแรกขายได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งไปขายก็น้อยใจเหมือนกัน แต่ก็กัดฟันสู้ ช่วงแรกๆ ที่เราขาย ตอนเจอปัญหาสินค้าขายไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการให้ลองชิมสินค้า พอคนได้ลองชิมก็ติดใจแล้วก็ซื้อ ร้านก็เลยอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้
คือเราผลิตสินค้าเองแล้วก็ขายผ่านหน้าร้านของตัวเอง ปัจจุบันก็มีขายส่งด้วย สินค้าของเราตอนนี้กระจายออกไปขายทั่วประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงช่องทาง Facebook ที่ให้หลานมาช่วยขาย เราขายส่ง ขายปลีก ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย เราก็ขายทุกทางที่ขายได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันเราก็มีเปิดโอกาสให้คณะศึกษาดูงานมาศึกษาดูงานเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์คุณละออให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น
SME ONE : ปัจจุบันนี้เรารับซื้อผลไม้หรือวัตถุดิบมาจากไหนบ้าง
ละออ : ส่วนใหญ่รับมาจากจังหวัดระยองทั่วทั้งจังหวัด เรามีทำห้องเย็นเพื่อถนอมอาหาร ทำให้เรามีสินค้าขายได้ทั้งปี แม้ว่าผลไม้บางประเภทจะออกเป็นฤดูกาล เช่น ทุเรียนกับมังคุด แต่เราก็มีขายทั้งปี เพราะเรามีห้องเย็น แต่ถ้าเป็นกล้วย หรือสับปะรดจะมีวัตถุดิบตลอดทั้งปี เราก็ไม่ต้องใส่ห้องเย็น
ทุกวันนี้สินค้าเกษตรที่มาส่งให้เราจะมี 2 ประเภท คือ เกษตรกรที่เป็นชาวสวนจริงๆ ทุกอาทิตย์จะมีชาวสวนเจ้าใหญ่มาส่ง 1 ครั้ง และก็จะมีแบบชาวบ้านรายเล็กๆ ในหมู่บ้าน ในชุมชนที่ปลูกกินเองในบ้านแต่กินไม่ทัน เขาก็เอามาขายให้เรา แบบนี้เราก็รับซื้อ
SME ONE : พอมี COVID-19 นักท่องเที่ยวหายไป ยอดขายของคุณละออตกลงมากน้อยเพียงใด
ละออ : สินค้าของเราเน้นขายนักท่องเที่ยวชาวไทย เรายังไม่ได้ขายต่างประเทศเลย ในส่วนของทักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปเลยไม่กระทบยอดขายเท่าไหร่ ส่วนรายได้จากจากนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทยที่หายไป เราแก้ไขปัญหาด้วยการไปขายตามร้านขายอาหารในจังหวัดระยอง เรียกว่าร้านเล็กร้านน้อย ร้านไหนที่ขายได้เราก็เอาไปส่งขาย ก็ขายได้ตลอด
แต่ยอมรับว่า COVID-19 ช่วงแรกๆ ยอดขายของเราก็ตกลง แต่โชคดีที่เราปรับตัวมาขายออนไลน์ ซึ่งทำให้ลูกค้าประจำที่ไม่ได้เดินทาง หันมาสั่งซื้อทางออนไลน์แทน แต่ตอนนี้พอเปิดประเทศเราทำไม่ทันเลย ตอนนี้ลูกค้าสั่งออเดอร์มาต้องรออีก 2 วันถึงจะส่งได้ เพราะเราทำไม่ทันจริงๆ
SME ONE : สินค้าที่ขายดีที่สุดของร้านคุณละออ คืออะไร
ละออ : ที่ขายดีมากๆ ก็คือ กล้วยกวน สับปะรดกวน แล้วก็ทุเรียนกวน เพราะราคาไม่สูง แต่ถ้าเป็นมังคุดกวนต้นทุนจะสูงเขาก็ซื้อน้อยหน่อย ส่วนทุเรียนทอด ขนุนทอดอะไรพวกนี้ต้นทุนสูง เขาก็ซื้อน้อย แต่พวกกล้วยกวน สับปะรดกวน ต้นทุนไม่สูงก็ขายดีมาก สินค้าเราส่วนใหญ่คนซื้อไม่ค่อยซื้อกินเท่าไหร่ แต่นิยมซื้อไปเป็นของฝาก เอาไปฝากญาติต่างจังหวัด อีกอย่างคือเราขายของไม่ได้เอากำไรเยอะ แค่เอาพอจ่ายค่าแรงให้ลูกหลานที่ทำงานอยู่ในนี้ 10 กว่าคนก็พอใจแล้ว
ทุกวันนี้เราขายส่งประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็คือ กระจายไปทุกที่ เราขาย 2 อย่าง คือขายแบบร้านค้าขายของฝากก็จะขายราคานึง แต่ถ้าขายตัวแทนจำหน่ายเราจะขายอีกราคานึง ตัวแทนเราต้องให้ราคาถูกกว่าร้านที่ขายของฝาก
นอกจากนี้เรายังเพิ่มมูลค่าและโอกาสทางการขาย ด้วยการนำเอาผลไม้กวนมาจัดเป็นกระเช้า จัดเป็นแพ็คใหญ่ๆ แทนที่จะเป็นถุงๆ กระเช้าผลไม้กวนที่ขายก็มีตั้งแต่ราคา 500 1,000 2,000 บาท ส่วนที่ขายเป็นชุดก็มีตั้งแต่ 300 -500 บาท
SME ONE : คุณละออเคยขอความร่วมมือจากทางภาครัฐบ้างหรือไม่
ละออ : มีทุกหน่วยงานมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นอบต. อบจ. กรมการพัฒนาชุมชน เกษตรพาณิชย์ อุตสาหกรรม เขามาช่วยทุกหน่วยงาน แต่เราไม่ได้ขอสนับสนุนเรื่องเงินเท่าไหร่ เราขอการสนับสนุนเรื่องการศึกษาดูงาน เรื่องความรู้ต่างๆ เขาก็มาให้คำแนะนำเรา สมัยก่อนเรายังไม่มี เครื่องหมายอย. ทางสาธารณสุขเขาก็แนะนำ เราก็ไปหาความรู้ว่าจะขออย. ต้องทำอย่างไร ถ้าเป็นกรมการพัฒนาชุมชนก็สอนเรื่องการตลาด ถ้าสำนักเกษตรก็สอนเรื่องวัตถุดิบ ทางอุตสาหกรรมก็ให้ความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ส่วนหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ก็ช่วยเรื่องการตลาด
คุณละออเป็นวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านหนองกระบอก อำเภอบ้านค่าย สมัยก่อนทางวิสาหกิจชุมชนก็ช่วยหาตลาดให้ แล้วก็ช่วยหาวัตถุดิบของเกษตรให้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำว่าที่ไหนมีทุเรียนเยอะ ที่ไหนมีมังคุดเยอะ แล้วก็แนะนำชาวสวนให้เอาวัตถุดิบมาส่งขายให้เราด้วย
SME ONE : นอกจากคุณละออจะเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดระยองแล้ว ยังมีรางวัลอื่นๆ อีกหรือไม่
ละออ : เราได้รางวัล 5 ดาวของ OTOP เรื่องแปรรูปเรื่องวัตถุดิบ ได้เป็นผู้หญิงเก่งภาคตะวันออกเรื่องการแปรรูปผลไม้ ส่วนตัวดิฉันเองก็ได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติประจำจังหวัดระยอง ได้เป็นประธานแม่บ้านเกษตรอำเภอ และเป็น หัวหน้าคณะขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบมบาทสตรีอำเภอ
SME ONE : มีแนวโน้มอยากจะทำอะไรเพิ่มอีกไหม
ละออ : เรามีผลิตภัณฑ์อยู่ทั้งหมด 24 ตัว แต่ก็ยังคิดทำเพิ่มอยู่ตลอดเวลา คิดว่าจะทำกล้วยดิบเป็นกล้วยอะไรหลายอย่าง ตอนนี้ก็มีกล้วยม้วนอบแห้งอะไรพวกนี้ ใจก็อยากทำเพิ่มอีก แต่ตอนนี้ตัวเองก็อายุเยอะแล้ว ก็เลยอยากให้หลานๆ มาทำต่อ
เรามีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรก คิดว่าคงทำได้ในเร็วๆ นี้ เพราะตอนนี้มีลูก หลานเข้ามาช่วยทำ ปัจจุบันดิฉันอายุ 78 แล้ว ตอนนี้ก็อยากจะวางแผนส่งต่อให้ลูกให้หลานเข้ามารับช่วงต่อ เรามีการถ่ายทอดเคล็ดลับให้ เช่น การผลิตจะต้องกวนผลไม้อย่างไร ต้องใช้ไฟขนาดไหน ต้องส่งต่อเคล็ดลับให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ว่าเราทำงานอย่างไร มีพนักงานของเราเป็นคนแปรรูป มีคนสั่งซื้อวัตถุดิบ แล้วก็มีคนตรวจว่าปริมาณสินค้าของเราคงที่หรือเปล่า ก็หวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะคิดและทำต่อไปจนถึงส่งออกไปเมืองนอกได้
SME ONE : ถ้าให้เลือกผลไม้ชนิดใหม่มาทำเป็นสินค้า อยากเอาผลไม้อะไรมาทำ
ละออ : ตอนนี้เราก็ลองเอาผลไม้จังหวัดระยองมาทำหมดทุกอย่างแล้ว กระท้อน มะม่วง แก้วมังกรอะไรพวกนี้ เราถนัดเรื่องกวนอย่างเดียว นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะเหลืออะไร เหลือที่กวนไม่ได้
SME ONE : ที่บอกว่าเรามีความชำนาญเรื่องการกวนผลไม้เป็นที่หนึ่ง พอจะบอกเคล็ดลับบอกได้ไหม
ละออ : เคล็ดลับคือตอนทำเราต้องใส่ใจ ตั้งใจ ทำงานละเอียดแบบนี้ต้องใส่ใจ ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ได้ อย่างผลไม้กวนบางคนใช้วิธีผสมวัตถุดิบอย่างอื่น เพื่อให้ต้นทุนถูกลง แต่ของเราไม่มีผสมเลย เราไม่ใส่สารกันบูด ของเรากล้วยกับสับปะรดกวนอยู่ได้นานถึง 8 เดือน เคยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอาสินค้าเราไปวิจัย เขาเอาไปทดลองวางไว้ถึง 8 เดือนก็ไม่ขึ้นรา แล้วรสชาติก็ยังเหมือนเดิม สีสันก็ยังเหมือนเดิมอยู่
ลูกค้าประจำที่มาซื้อสินค้าของเราส่วนใหญ่จะกลับมาซื้อเพราะความสะอาด แล้วเขาก็พาเพื่อนมา เพื่อนก็บอกว่าสะอาดจริง คนที่พามาก็ภูมิใจว่าเขาพาคนมาซื้อของถูกที่ แล้วรสชาติก็อร่อย ลูกค้าของเรามาจากการบอกต่อกันเยอะ เช่น มีตำรวจมาอยู่ที่อำเภอบ้านค่าย เคยซื้อของเราเอาไว้เป็นของฝาก แล้วเขาย้ายไปโคราช พอกลับมาที่ระยองเขาก็จะมาแวะซื้อ ก็คือจะพาพวกมาแวะที่ร้าน เรามีลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เยอะมากที่มาซื้อซ้ำและบอกต่อ
แล้วปัจจุบันนี้ที่ระยองก็มีโรงงานเยอะ พนักงานก็ซื้อไปขายที่โรงงานด้วย พอจะกลับบ้านก็มาซื้อที่ร้าน คนที่มาซื้อที่เป็นลูกค้าเก่าๆ บางคนเขามาที่ร้านก็อยากเจอตัวเรา อยากมาพูดคุย บางครั้งเราให้เด็กๆ ขาย เขาก็จะถามว่าป้าไปไหนบางทีเราทำงานอยู่ก็ต้องออกมารับลูกค้า เพราะเขาอยากเจอ ตรงนี้ก็มีส่วนที่ทำให้ร้านเราขายดี
SME ONE : อยากให้ช่วยให้คำแนะนำสำหรับคนที่จะไปเป็นผู้ประกอบการ SME จะให้คำแนะนำอะไร
ละออ : ถ้าจะทำอะไรก็ให้ตั้งใจโดยเฉพาะกับอาหาร เปรียบเทียบง่ายๆ สิ่งใดที่ทำแล้วเราหรือพนักงานกินไม่ได้ ลูกค้าก็กินไม่ได้ บางครั้งพนักงานมาใหม่ เขาทำอะไรตกแล้วก็หยิบขึ้นมา ก็เลยถามว่าเธอกินได้หรือเปล่า ถ้าเธอกินได้ลูกค้าก็กินได้ ถ้าเธอกินไม่ได้ให้เอาไปทิ้งเลย เพราะว่าฉันไม่เสียดาย ถ้าของไม่ดีฉันไม่ขาย
บทสรุป
เหตุผลที่ทำให้ผลไม้กวนคุณละออที่วางจำหน่ายและขายดีมากว่า 40 ปีนั้น มาจากคุณภาพของสินค้าซึ่งทางคุณละออกจะคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาใช้ในการผลิต เมื่อมารวมกับประสบการณ์ในการทำผลไม้กวนเพียงอย่างเดียวมาตลอด 40 ปี จึงทำให้รสชาติผลไม้กวนของคุณละออมีมาตรฐานเดียว และเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บริโภค จนกลายเป็นอีกหนึ่งของฝากที่ขึ้นชื่อของเมืองผลไม้อย่างจังหวัดระยอง
ส่วนในเรื่องของช่องทางการขาย คุณละออก็มีการกระจายสินค้าไปยังช่องทางการขายที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รวมถึงยังมีการเพิ่มโอกาสการขายด้วยการขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกทางหนึ่ง
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone