“ธปท.” สร้างกลไกช่วยเหลือเอสเอ็มอี แก้หนี้อย่างยืดหยุ่นพร้อมดึงดิจิตัลแก้ปัญหาระยะยาว

สถานการณ์โควิดลากยาวมาถึงปีที่ 3 ทว่าแต่ละช่วงเวลามีความหนักเบาแตกต่างกันไป ธปท. ในฐานะผู้ที่ดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ จึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจไทย ด้วยการปรับมาตรการความช่วยเหลือเพื่อสอดรับกับสถานกาณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่ง ธปท. ได้มีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ช่วงล็อคดาวน์ครั้งแรกตอนต้นปี 2563 ที่คาดการณ์ว่า แม้สถานการณ์โรคและผลกระทบจะรุนแรง แต่จะสามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น มาตรการที่ออกมาในช่วงแรกจึงมีลักษณะปูพรม (broad-based) เพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน มุ่งเน้นให้ครอบคลุมทั้งการพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเสริมสภาพคล่อง จึงได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจและการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยมีมาตรการเพื่อเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อซอฟท์โลน) และมาตรการเพื่อแก้หนี้เดิม โดยกำหนดให้สถาบันการเงินพักหนี้ในระยะสั้นให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยืดเยื้อยาวนาน เป็นวงกว้าง และมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการฟื้นทางเศรษฐกิจมีความไม่เท่าเทียม (เป็นลักษะ K-shape) ธปท. จึงได้ปรับมาตรการการแก้หนี้เดิมให้มีความเฉพาะเจาะจง (targeted) มากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสม ตรงจุด และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมถึงไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม จนถึงในช่วงปลายปี 2564 ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยเน้นให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง 

นอกจากนี้สำหรับในเรื่องการเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ธปท. ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ มาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายใหม่ที่ไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงินมาก่อน ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการได้ และขยายระยะเวลาของเงินกู้ให้ยาวขึ้นเป็น 5 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก

คุณสุวรรณี กล่าวถึงกลไกลของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ว่าเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยืดเยื้อ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยจุดเด่นของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้คือ การช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมกับเอื้อให้ยังสามารถประคองกิจการและช่วยพยุงการจ้างงานต่อไป และช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกบังคับขายทรัพย์สิน หรือถูกกดราคาทรัพย์สินในภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต ภายใต้โครงการนี้ ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภายใต้เงื่อนไขซื้อคืนในเวลา 3 - 5 ปี ในราคาที่ตกลงไว้ โดยในระหว่างนั้น ลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์สินกลับคืนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. จะสนับสนุนสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีวงเงินภายใต้โครงการไม่เกิน 100,000 ล้านบาท 

“โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ถูกออกแบบให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากข้อมูลความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น sector ที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มอื่นด้วย อาทิ โรงงาน โรงพยาบาลที่เน้นให้บริการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ  รวมถึงสปาและ ร้านอาหาร เป็นต้น”

สำหรับเงื่อนไขการรับโอน การเช่า และการซื้อคืนทรัพย์สินหลักประกัน ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันมีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี นับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะไม่นำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลอื่นหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอม

ในช่วงระยะเวลาภายใต้โครงการ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน โดยต้องแจ้งความประสงค์เช่าทรัพย์ให้สถาบันการเงินทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

สำหรับราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาที่รับโอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สิน หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายระหว่างสัญญาเช่า

ในส่วนของ “สินเชื่อฟื้นฟู” ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนอันจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ในวงกว้างและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นโดยคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่มีวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือเป็นผู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่ไม่ใช่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว้นแต่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน 

“จุดเด่นของมาตรการนี้อีกอย่างคือ กลไกการค้ำประกันผ่านบสย. ที่กำหนดอัตราการค้ำประกันไว้สูงถึง 40% ของหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่ากลไกการค้ำประกันนี้จะช่วยให้ไมโครเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เสี่ยงสูง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและการขนส่ง สามารถเข้าถึงสภาพคล่องเพื่อช่วยประคับประคองและฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินต่อไป รวมถึงฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป”

สำหรับความคืบหน้าของวงเงินภายใต้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ ในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนภายใต้โครงการแล้วประมาณ 43,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44% ของวงเงิน โดยมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 333 ราย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2566 แม้ว่าในปัจจุบันจะมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการออกแบบให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความไม่แน่นอน ดังนั้น หากพิจารณาสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นแล้วพบว่ามีเหตุอันสมควร ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกได้ไม่เกิน 1 ปี โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ 

อย่างไรก็ดี หากไม่มีสถานการณ์โควิดหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามา เอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กก็ยังมีปัญหาหลักคือ การเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือหากเข้าถึงแต่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่าอยู่ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงพยายามปิดช่องว่างด้วยการนำ Digital factoring มาเป็นเครื่องมือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ปลอดภัย และลดต้นทุนยิ่งขึ้น

คุณสุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง ผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการ Factoring ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแบบ end-to-end ในลักษณะของ Open Architecture ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs 

รายเล็ก ๆ และลดความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรม Factoring ที่มีอยู่เดิมโดยเฉพาะในเรื่อง double financing

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธปท. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง Central Web Service (CWS) 

ที่มีต้นทุนต่ำและปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่บันทึกและตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้ที่นำมาใช้ขอสินเชื่อ Factoring ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน อีกทั้งระบบดังกล่าวยังเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการ factoring สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็น Marketplace สำหรับสินเชื่อ Factoring ด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันของผู้ให้บริการอย่างเสรีทั้งด้านราคาและเงื่อนไขการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ธปท. ยังผลักดันให้ผู้ให้บริการ Factoring และแพลตฟอร์มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตามความเหมาะสมในกระบวนการสำคัญ เช่น การสร้างใบแจ้งหนี้ดิจิทัลที่เป็นมาตรฐาน การรับส่งเอกสารผ่านช่องทางดิจิทัล และการใช้ Digital signature ในการรับรองความถูกต้องของเอกสาร เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้มีความสะดวกและรวดเร็ว และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ในระยะยาว 

คุณสุรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากการผลักดันธุรกรรม Digital Factoring แล้ว ธปท. ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs อย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ผ่านภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ (Financial landscape) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างบูรณาการ ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้สถาบันการเงินใช้ประโยชน์จากข้อมูลและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและให้มีข้อมูลเพียงพอในการประเมินความเสี่ยง หรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านนวัตกรรมและบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการมีแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ รวมถึง อาจมีการพิจารณาให้มีผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Virtual bank เพื่อช่วยแก้ Pain points ที่เอสเอ็มอีรายย่อยเผชิญอยู่ เพราะ Virtual bank จะมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ มีเทคโนโลยีหรือข้อมูลในมิติอื่นที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอาจไม่มี ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและเข้าใจพฤติกรรมของลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กได้ดีกว่า 

ในขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่  

(1) โครงการ PromptBizเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาในลักษณะ End to end ครอบคลุมการทำธุรกรรมดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งข้อมูลการซื้อขายสินค้า การออกใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ การชำระเงิน การจ่ายคืนภาษี และอาจพัฒนาถึงการให้สินเชื่อในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงระบบ CWS ธุรกรรม digital factoring กับ PromptBizในอนาคตด้วย 

(2) ส่งเสริมให้มีกลไกการค้ำประกันเครดิตในรูปแบบต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ การร่วมทุน การออกตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นต้น 

(3) โครงการ Open data ที่สนับสนุนการเชื่อม แชร์ และใช้ข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในภาคการเงิน  เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์ที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าจากนานาประเทศได้ในระยะยาว 

ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่นี้  ธปท. มั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กของประเทศไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ

SME D Bank พร้อมเคียงข้าง SMEs ทุกสถานการณ์

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยปี 2564 ช่วยเหลือจำนวน 37,953 ราย วงเงิน 66,000 ล้านบาท  และไตรมาสแรก ปี 2565 ช่วยเหลือไปแล้ว 8,087 ราย วงเงิน 14,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ  23%

                อย่างไรก็ดี ผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายกลุ่มธุรกิจ  เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ธนาคารพร้อมสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้กลับมาเดินหน้ากิจการได้อีกครั้ง ผ่านมาตรการด้าน “การเงิน” และ “การพัฒนา” เช่น การชำระหนี้ ที่ได้ปรับความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยนำมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้  ทำให้สามารถบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ การเติมทุนใหม่ได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการเติมทุนได้อย่างเหมาะสม ขานรับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อ 3D” วงเงินรวมเป็น 19,000 ล้านบาท เกณฑ์เปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากหลักประกันไม่พอ สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้

“สินเชื่อ 3D”  ครอบคลุมทุกความต้องการของทุกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี  ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี  ประกอบด้วย “สินเชื่อ SMEs D Plus” วงเงิน 7,000 ล้านบาท รับรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเดิม และเป็นทุนหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ “สินเชื่อ SMEs D เพื่อการลงทุน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ รวมถึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ   และ “สินเชื่อ SMEs D เสริมสภาพคล่อง” วงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง 

พร้อมเสริมด้วยการสนับสนุน “งานพัฒนา” ช่วยยกระดับกิจการ เพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดโปรแกรมพัฒนา เช่น  “E-learning SME D Academy” เติมองค์ความรู้ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมช่วยโปรโมทสินค้าผ่านสื่อของธนาคาร เป็นต้น สามารถสมัครใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

                และจากการที่รัฐบาลได้เริ่มคลายล็อคมาตรการต่างๆ และเปิดประเทศ SME D Bank ไม่รอช้าที่จะขานรับนโยบายรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทันทีเพราะมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยออกโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)  เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ  รวมถึง เอสเอ็มอีทุกประเภทที่เป็นคู่ค้ากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย  คุณสมบัติเปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ผ่านกิจกรรมด้านการ "พัฒนา"  ควบคู่ด้วย โดยมีโครงการหลากหลาย ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดโปรแกรมเติมความรู้และยกระดับเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรับเทรนด์ท่องเที่ยววิถีใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย  ผ่านทั้งระบบออนไลน์ และลงพื้นที่จัดโฟกัสกรุ๊ปทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดย่อม (SE)  และขนาดกลาง (ME) ซึ่งธนาคารยังจะจัดต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2565 เช่น ยโสธร  ร้อยเอ็ด  สุรินทร์ นครราชสีมา  เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น   

นอกจากนั้น  ยังช่วยส่งเสริมการตลาด พาทูตการท่องเที่ยวและทูตการกีฬา ลงพื้นที่โปรโมทสินค้าหรือบริการให้เอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ เช่น ขนมบ้านคุณย่า จ.นครราชสีมา  บริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  จ.สมุทรสงคราม และ เฌอ บุรีโฮมสเตย์ จันทบุรี จ.จันทบุรี เป็นต้น

                หากสรุปตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูที่ SME D Bank ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เพื่อให้ได้รับการเติมทุน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจการ ประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงาน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อเดือน เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565  รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น25,000 ล้านบาทโดยมีลูกค้าที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว จำนวน 5,254 ราย คิดเป็นวงเงิน 13,041 ล้านบาท

                เพื่อขยายความช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ไกลและกว้างมากยิ่งขึ้น SME D Bankยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร นำไปยกระดับธุรกิจ เพิ่มศักยภาพกิจการ สามารถใช้ บสย.ร่วมค้ำประกัน ขณะที่ ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการด้านเงินทุน จาก SME D Bank วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท  รวมทั้งสนับสนุนด้านการยกระดับความสามารถ เพิ่มทักษะความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และได้วางแผนขยายตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่  ช่วยให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจและเป็นไปตามแนวนโยบายภาครัฐ มุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร “เงินทุน” ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่ “การพัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนเข้าสู่ BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านบาท

ขณะที่ ด้านการพัฒนาศักยภาพSME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา ยกระดับการให้บริการ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดทำ “โครงการ SME D-Care” สร้าง “SME D Coach” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านการอบรมและเพิ่มทักษะ จนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาให้คำปรึกษา เช่น การตลาดออนไลน์ การสร้างมาตรฐาน การผลิต จับคู่ธุรกิจ เทคโนโลยี-นวัตกรรม บัญชี-การเงิน สนับสนุนเงินทุน และบ่มเพาะผู้ประกอบการ พร้อมกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับคำปรึกษา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 20,000 ราย

บทความแนะนำ

I Love Flower Farm สวนดอกไม้ที่มอบความเบ่งบานสู่ชุมชน

I Love Flower Farm สวนดอกไม้ที่มอบความเบ่งบานสู่ชุมชน

 

“I love flower farm อยากเป็นการสร้างความฝัน ให้กับเด็กรุ่นใหม่และชุมชน มันเป็นความฝันเล็กๆ ที่เราสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้” ปุ้ย ณวิศาร์ มูลภา ผู้ก่อตั้ง I love flower farm

จุดเริ่มต้นของ I love flower farm เกิดจากการเป็นผู้ผลิตไม้ดอก เพื่อส่งให้กับออแกไนซ์ทั่วประเทศ ที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ จะทำให้ลูกค้ารู้จักพวกเขามากขึ้น โดยไม่ใช่แค่การทำออนไลน์

คุณปุ้ย พยายามมองหาโอกาสเหล่านั้นจนได้พบว่า มีกลุ่มลูกค้ามากมายที่น่าสนใจสำหรับ I love flower farm โดยเธอมองว่านอกจากเป็นผู้ผลิตแล้ว I love flower farm ยังต้องการเข้าหาและต้องการผู้บริโภครายย่อยให้เข้าถึงแบรนด์เพิ่มมากขึ้น อีกด้วย

จากที่พื้นฐานเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้ I love flower farm เล็งเห็นถึงความน่าสนใจในระดับการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและตอบโจทย์ที่สุดสำหรับการทำดอกไม้ ก็คงหนีไม้พ้นการเปิดให้ชมความสวยงามของมันอย่างใกล้ชิด

 

เริ่มต้น พัฒนา ส่งต่อโอกาส

ด้วยความคิดถึงโอกาสในการทำธุรกิจ ร่วมกับการมองเห็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น คุณปุ้ย จึงได้เริ่มชักชวนผู้ที่ประกอบกิจการทำสวนดอกไม้ในชุมชน มาเริ่มสร้างและพัฒนาการท่องเที่ยวสวนดอกไม้ จนได้เกิดขึ้นมาเป็น I love flower farm

“I love flower farm เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายเกษตรการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว โดยได้สร้างเครือข่ายขยายออกไปเป็นวงกว้างในระดับชุมชน”

แม้จะเป็นคนริเริ่ม แต่คุณปุ้ย ก็ไม่สามารถดำเนินการแนวคิดนี้ให้เติบโตได้เพียงลำพัง หรืออำนาจการตัดสินใจจะต้องเป็นของคุณปุ้ยเพียงคนเดียวเท่านั้น คุณปุ้ยยังได้ปรึกษากับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้บริโภค จนถึงผู้ผลิต หรืเจ้าของสวน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแนวทาง อีกด้วย 

ปัจจุบัน I love flower farm เรียกได้ว่าเป็นเจ้าของกิจการที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเต็มตัว โดยได้มีผู้เข้าร่วม ที่เป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมหารือกับสิ่งที่กำลังจะเกิด รวมกว่า 30 ครอบครัว ซึ่ง I love flower farm ไม่ได้สนใจเพียงในเรื่องธุรกิจและการช่วยเหลือชุมชนเท่านั้น แต่ยังมองลึกลงไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ทางแบรนด์มองว่ามีศักยภาพและองค์ความรู้ที่เหมาะสม สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ ตลอดจนเล็งเห็นถึงการร่วมมือ ร่วมใจเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน

I love flower farm ยังได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตจากทำธรรมชาติ เช่น หลอดที่ผลิตจากต้นข้าว หรือเรื่องที่คนอาจะไม่ได้สนใจ คือ การทำลานจอดรถนอกพื้นที่ เพื่อลดโอกาสปล่อยของเสียทำลายมลพิษในชุมชน เป็นต้น

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ I love flower farmในชุมชนเหมืองแก้ว คือ การผลิตดอกไม้ได้ตลอด 365 วัน โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้เจอดอกไม้หรือไม่ และยังมีการเรียนรู้เทรนด์ของตลาดดอกไม้โลก เพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจ พัฒนาและเพิ่มมูลค่าดอกไม้ที่ปลูกจาก I love Flower Farm ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถส่งออกไปยังหลายประเทศได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และกัมพูชา เป็นต้น

I love flower farm เริ่มต้นจากการวางแผนการทำงานร่วมกันตั้งแต่ เกษตรกรผู้ผลิต จนถึงผู้บริโภค โดยผ่านการทดลอง ในทุกแง่มุม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 

 

ก้าวสู่เกษตรดิจิทัล อย่างเต็มตัว

ด้วยการที่ I love flower farm มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนที่จะจัดงานและการท่องเที่ยว ทำให้ I love flower ได้ผลกระทบอย่างหนัก ในช่วงการแพร่ระบาดนี้ ทำให้ I love flower farm ได้วางแผนธุรกิจใหม่ โดยมองว่าจะแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้อยู่ทนและอยู่ได้นานขึ้น ไม่เพียงแต่เท่านี้ I love flower farm ยังได้รับคำปรักษาจากหน่วยงานรัฐชั้นนำเป็นอย่างดี 

หลายธุรกิจกว่าจะพบทางออกที่เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของธุรกิจตัวเอง ก็อาจจะต้องเรียนผิดเรียนถูก กันมากมาย แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราเจอที่ปรึกษาที่ดี ในทุกกการทำการตลาด จะเห็นได้ว่าได้มีองค์มากมายเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สสว. อุทยานวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงต่าง ๆ  อีกมากมาย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่อยากทำธุรกิจ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ที่เกิดขึ้นตามองค์กรต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

I love flower Farm

ที่อยู่ : 33 ตำบล เหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ 50180 

โทร: 082 897 2679

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

โรงงานนวัตกรรมอาหาร (FISP)

โรงงานนวัตกรรมอาหาร (FISP)

 

โครงการโรงงานบริการนวัตกรรม วว. จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแก้ปัญหาการวิจัยของประเทศ 

โรงงานนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ได้รับการรับรองกระบวนการผลิต ตามมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้มีทีมนักวิจัยและพัฒนา ที่มีทักษะและประสบการณ์กว่า 30 ปี ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิศวกรรมอาหาร 

และด้วยความพร้อมในด้านเทคโนโลยี โรงงานนวัตกรรมอาหาร สามารถผลิตอาหารในระดับ อุตสาหกรรม พร้อมมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน โดยสามารถดำเนินการผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ทำไมโรงงานนวัตกรรม ต้องเข้าแก้ปัญหา

สำหรับการแก้ปัญหาของโรงงานบริการนวัตกรรม เกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

ผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือด้านงานวิจัยมาแล้ว ไม่มีมีเงินลงทุนสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่ทันสมัย เพราะมีราคาสูง โดยสิ่งนี้พบได้บ่อยกับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงและอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตจริงกับสินค้าที่ได้รับการิจัยไปแล้วในทันที

ด้วยเหตุที่ผู้ประกอบการ หรือผู้ริเริ่มมีความตั้งใจอยากเปิดธุรกิจอาหาร มีความไม่พร้อมในการเปิดกิจการ แต่ได้ทำการรับงานวิจัยไปแล้ว อาจทำให้ผลการวิจัยได้ผลลัพธ์หรือสารสำคัญออกมาไม่ตรงกับในงานวิจัย ที่นักวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการได้ประเมินไว้ 

อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องสภาวะที่เครื่องมือในห้องปฏิบัติการกับในโรงงานนั้นแตกต่างกัน จึงไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์วิจัยนั้นออกสู่ตลาดได้จริง ต้องกลับมาวิจัยเพื่อปรับปรุงใหม่ ส่งผลให้งานวิจัยของประเทศไม่สามารถต่อยอดและออกสู่ตลาดได้อย่างสมบูรณ์

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้โรงงานนวัตกรรมอาหาร จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานบ่มเพาะเทคโนโลยีขึ้น เพื่อต่อยอดงานวิจัยตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการขยายขึ้นมาเป็นโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้นักวิจัยของโรงงานฯ สามารถเข้าร่วมพัฒนาขยายผลในระดับโรงงานให้ได้ผลวิจัยเชิงพาณิชย์ที่แท้จริง และพร้อมสำหรับถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการใหม่หรือ Start up ได้ทดลองผลิตออกสู่ตลาดจริง ก่อนจะไปสู่ขั้นตอนลงทุนตั้ง โรงงานผลิตด้วยตัวเอง อีกด้วย

 

บริการจากทางโรงงานฯ

บริการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โรงงานนวัตกรรมอาหาร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการ คิดค้นสูตรต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการด้านอาหารทั่วประเทศ ขอเพียงมีไอเดีย ก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้

บริการบ่มเพาะเทคโนโลยี เป็นส่วนของการพัฒนาและบ่มเพาะเทคโนโลยี ให้กับผู้ประกอบการที่ได้คิดค้นสูตรมาอยู่แล้ว โดยบริการนี้จะเป็นการต่อยอดสูตรจากเดิมของผู้ประกอบการให้ดียิ่งขึ้น

บริการอาหารและเครื่องดื่ม บริการนี้จะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ที่มีสูตรและเคยผลิตจริงมาแล้ว 

บริการวิเคราะห์สอบเทียบบริการอาหาร ส่วนนี้เป็นการช่วยเหลือ ด้านการวิเคราะห์ปัญหาด้านคุณภาพต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ เพื่อขึ้นขอ อย. หรือจดแจ้งด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ กับกระทรวงสาธารณสุข

บริการศึกษาอายุการเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร ในแต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนมีการประเมินการหมดอายุที่แกต่างกัน ทางโรงงานจึงได้มีบริการนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในการควบคุมและกำกับดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประเมินในแต่ละผลิตภัณฑ์

บริการที่ปรึกษาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

ไม่เพียงแต่เท่านั้น โรงงานนวัตกรรมอาหารยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการด้านอาหาร จึงจัดให้มีบริการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี รวมถึงยังได้มีการอบรมด้านการประกอบธุรกิจอาหาร ให้กับผู้ประกอบการ อีกด้วย

ทั้งนี้ ระดับการช่วยเหลือของโรงงานนวัตกรรมอาหาร จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการ ที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหาร ในหลายๆ ด้าน 

สำหรับผู้ประกอบการที่มีแนวคิด มีสูตร หรือมีต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการที่จะผลิต รวมถึงมีฐานลูกค้าทำตลาดเองได้ แต่ยังไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักรเฉพาะ ก็สามารถมาเริ่มกับ ทางโรงงานนวัตกรรมอาหาร FISP ได้เลย 

แต่หากผู้ประกอบการ มีเพียงไอเดียว่าต้องการจะเปิดธุรกิจ ทางโรงงานนวัตกรรมอาหารก็จะส่งตัวไปเริ่มที่ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ.) ก่อน เพื่อทำวิจัยในระดับห้องปฏิบัติกา ให้ได้ข้อมูลที่ต้องการผลิต เพื่อมาขยายสู่การบ่มเพาะเทคโนโลยี ที่ทางโรงงานจะดำเนินการให้จนถึงขั้นตอนการผลิตและตรวจ สอบคุณภาพ ก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์ ออกสู่ตลาดนั้นๆ

สุดท้ายด้วยพันธกิจของโรงงานนวัตกรรมอาหาร (FISP) ที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกๆ ภาคของธุรกิจอาหาร ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มีแนวคิดจะเริ่มต้นธุรกิจด้านอาหารทุกคน สามารถเข้าไปขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานได้ตลอดทุกวันและเวลาราชการ

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร
35 หมู่ที่ 3 เทคโนธานี ตำบลคลองห้า 

อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120

โทร. 02 577 9000

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

AMARC ผู้ช่วยงานแล็บ ด้านการตรวจสอบส่วนผสม และคุณค่าทางโภชนาการอาหาร

AMARC ผู้ช่วยงานแล็บ

ด้านการตรวจสอบส่วนผสม และคุณค่าทางโภชนาการอาหาร

 

หากจะกล่าวว่า “เทคโนโลยี” คือตัวขับเคลื่อนสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการพัฒนาคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าประเภทใหม่ๆ ของผู้บริโภค และเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

                โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยจำนวนมาก เริ่มขยายตัวไปสู่ตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดที่กว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม เป็นสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขของการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน ผู้ประกอบการจึงต้องทำความเข้าใจในกฎหมายของประเทศที่จะส่งออกสินค้าของตน โดยที่สินค้านั้นต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า หรือกระบวนการผลิตตามที่กำหนด

นอกจากนี้ เรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นได้

                ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยุคใหม่ มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม บางกลุ่มใส่ใจเรื่องคุณภาพของอาหารเพื่อสุขภาพของตน บางกลุ่มต้องการอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตน เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่ผลิตจากธรรมชาติไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร อาหารออร์แกนิค หรือ อาหารทางเลือกต่างๆ อย่าง Vegan Food, Keto Food อาหารท้องถิ่น หรืออาหารที่มีความแปลกใหม่ เป็นต้น

                วันนี้ผู้บริโภคยุคใหม่จำนวนมาก ยังให้ความสำคัญและมีความเข้าใจในลักษณะ และคุณภาพของอาหารมากขึ้น จึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด หรือเหนือกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ผลิตอาจต้องมีกระบวนการผลิต หรือการดำเนินธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสิทธิมนุษยชน

                ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีความเข้าใจในผู้บริโภคเป้าหมาย และสามารถเลือกดำเนินการเพื่อให้สินค้าอาหารและบริษัทของตนตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการ และอารมณ์ที่ซับซ้อนของผู้บริโภคได้

                เอมาร์ค (AMARC) คือหนึ่งในผู้ช่วยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหาร เนื่องจากเอมาร์คเป็นแล็บชั้นนำระดับสากลด้านเกษตร อาหาร และยา ที่ให้บริการครบวงจร ทั้งการทดสอบ วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ การตรวจและรับรอง การให้คำปรึกษา และการฝึกอบรม ครอบคลุมตั้งแต่ปัจจัยการผลิต ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ โดยเอมาร์คมุ่งมั่นให้บริการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และสนับสนุนธุรกิจให้สามารถเข้าถึงตลาด และโอกาสใหม่ๆ ด้วยความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์

คุณจารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการสายศูนย์ห้องปฏิบัติการบริษัท AMARC กล่าวว่า AMARC มีบทบาทสำคัญต่อผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหาร ในฐานะผู้ให้บริการวิทยาศาสตร์ด้านการทดสอบวิเคราะห์ (Testing) และตรวจรับรอง (Inspection & Certification) สำหรับธุรกิจเกษตรอาหารเพื่อได้ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ซึ่งจะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพและความปลอดภัย  

                “สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจอาหารต้องรู้ และเข้าถึง มีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง เช่น เรื่องของข้อมูลผลิตภัณฑ์ สูตร หรือส่วนผสม 100% กรรมวิธีการผลิต คือทําอย่างไร ภาชนะบรรจุ หรือฝาปิดควรเป็นแบบไหน รวมถึงข้อมูลการใช้  วิธีการเก็บรักษา ผลิตภัณฑ์เก็บได้กี่วัน ใครทานได้ใครทานไม่ได้”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของประเภทของอาหารตามกฎหมาย ความรู้และเข้าใจในข้อกําหนดที่ต้องทําตามกฎหมายอาหาร การขออนุญาตสถานที่ผลิต/นําเข้า การขออนุญาตผลิตภัณฑ์ การขออนุญาตโฆษณา (เผื่อต้องขอ) ต้องยื่นขออนุญาตที่ไหน อย่างไร นานเท่าใด และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร รู้และเข้าใจข้อกําหนดที่ห้ามทํา ตามกฎหมายอาหาร (อาหารไม่บริสุทธิ์ ปลอม ผิดมาตรฐาน) และรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจและการพัฒนาต่อยอด

                กล่าวโดยสรุป คือ อาหารที่ดีต้องปลอดภัย สมประโยชน์ มีคุณภาพมาตรฐาน คุณค่าทางโภชนาการสมวัย และมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้าง กฎหมายจึงให้ความสำคัญกับสถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์ และการโฆษณาซึ่งผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องรู้ และทำความเข้าใจในข้อมูลต่างๆ เหล่านี้

                อีกเรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญอันดับต้นๆ คือเรื่องของ ฉลากโภชนาการ หมายถึงฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารนั้นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Nutrition Information เพื่อระบุรายละเอียดของชนิด และปริมาณสารอาหารที่มีในอาหารนั้นๆ  ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้มีฉลากโภชนาการ 2  แบบ คือ   

                แบบที่ 1 ฉลากโภชนาการตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบบที่182 (พ.ศ.2541) เป็นประโยชน์ต่อผู้ใส่ใจสุขภาพ หรือผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง รูปแบบฉลากโภชนาการที่กำหนดนี้มี 2 รูปแบบ คือ 1) ฉลากโภชนาการแบบเต็ม จะต้องแสดงชนิดและปริมาณสารอาหารสำคัญที่ควรทราบจำนวน 15 ชนิด และ 2) ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้ในกรณีที่สารอาหารตั้งแต่ 8 รายการ จากจำนวนที่กำหนดไว้ 15 รายการนั้นมีปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้เต็มรูปแบบ

                แบบที่ 2 ฉลากโภชนาการแบบ GDA (Guideline Dairy Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 394 (พ.ศ. 2561) เนื่องจากปัญหาสุขภาพของประชาชนจากภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคอ้วนโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ มีนโยบายลดการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม

โดยกฎหมายกำหนดให้อาหาร 13 ประเภท ต่อไปนี้ ต้องแสดงฉลากโภชนาการและฉลากหวาน มัน เค็ม ได้แก่

1) อาหารขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอด หรือข้าวโพดคั่ว 2) ช็อกโกแลต และขนมหวานรสช็อกโกแลต 3) ผลิตภัณฑ์ขนมอบ เช่น ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต คุกกี้ 4) อาหารกึ่งสำเร็จรูป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 210) พ.ศ.2543 เช่น ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น 5) อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย 6) เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น เครื่องดื่มที่มีหรือทำจากผลไม้ พืชหรือผักหรือไม่ใช่ 7) ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง 8) กาแฟปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง 9) นมปรุงแต่ง 10) นมเปรี้ยว 11) ผลิตภัณฑ์ของนม 12) น้ำนมถั่วเหลือง และ 13) ไอศกรีมที่อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภค

“กระบวนการตรวจสอบส่วนผสม หรือคุณค่าทางโภชนาการที่ว่านี้ เราเรียกว่า กระบวนการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (Testing) สำหรับอาหารจะมีการทดสอบ             ด้านคุณภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์หาองค์ประกอบของอาหาร สารอาหาร วัตถุเจือปนอาหารนั้นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อย่างไร และ ด้านความปลอดภัย เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนต่างๆ เช่น ด้านกายภาพ (เศษหิน ดิน ทรายและซากสัตว์) ด้านเคมีและฟิสิกส์ (โลหะหนัก สารเคมีกำจัดแมลง สารพิษจากเชื้อรา) ด้านเชื้อโรคต่างๆ และด้านการดัดแปรพันธุกรรมและสารก่อภูมิแพ้” 

                คุณจารุวรรณ กล่าวเสริมว่า ในการแสดงฉลากโภชนาการ GDA มีเงื่อนไขต่างๆ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากประกาศของอย. โดยมีขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ดังนี้

                1) ผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องศึกษา และทำความเข้าใจกฎหมาย เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ ที่จะผลิต จัดเป็นอาหารประเภทใดใน 17 ประเภท  และเป็นอาหารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีฉลากโภชนาการและหรือฉลากโภชนาการหวาน มัน เค็มหรือไม่ สถานที่ผลิต เข้าข่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 420 (พ.ศ. 2563)เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต การเก็บรักษาอาหารกฎหมายกำหนด (GMP) และ โฆษณา หมายถึงฉลากและสื่อ

                2) ผู้ควบคุมการผลิตอาหารที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เช่น น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ และน้ำแข็งบริโภคที่ผ่านกรรมวิธีการกรอง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอไรซ์ และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด

                3) การนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน

4) เมื่อได้ผลการทดสอบและฉลากโภชนาการ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมายกำหนดแล้ว ต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ ตามข้อกำหนดการขอขึ้นทะเบียนอาหารนั้น

5) ยื่นขอขึ้นทะเบียนอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

กระบวนการตรวจสอบส่วนผสม หรือคุณค่าทางโภชนาการจะเกี่ยวข้องกับคน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ผลิต ต้องมีกระบวนการผลิตที่ดี มีกระบวนการควบคุม ตรวจสอบตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้กระบวนการต่างๆ การเก็บรักษา เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพคงเส้นคงวา มีความปลอดภัยได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกฎหมาย และมีสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices) ตามที่กฎหมายกำหนด และ ฝ่ายห้องปฏิบัติการ ที่ทำหน้าที่ทดสอบที่ดีจะต้องมีสมรรถนะที่จะทดสอบนั้นๆ มีความเป็นกลางและการปฏิบัติงานที่คงเส้นคงวา

โดยปัจจุบัน AMARC มีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ ISO/IEC 17025: 2017 - General requirements for the competence of testing and calibration laboratories

“โดยเฉพะความพร้อมในเรื่องของ สถานที่ ต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการทดสอบต่างๆ ที่มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับการใช้งานและหากเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อ ชั่ง วัดต้องผ่านการสอบเทียบตามมาตรฐานสากล บุคคลากร ที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์และผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อให้เชื่อมั่นว่า มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะในการทดสอบและระบบการทำงาน” คุณจารุวรรณ กล่าว

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

บทความแนะนำ