สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย มุ่งสร้างองค์ความรู้รอบด้าน

เพื่อยกระดับงานคราฟต์ไทยสู่สายตาชาวโลก

 

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. (SACIT) มีชื่อเดิม คือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกด้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ภารกิจหลักของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย คือ การดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งงานหัตถกรรมไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป ทั้งในแง่การสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น และการยกระดับหัตถกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัยสอดคล้องตามความนิยมของแนวโน้มผู้คนทั่วโลก

“เราตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนางานหัตถกรรม จึงมีกระบวนการต้นน้ำในการดำรงไว้ซึ่งงานหัตถกรรมไทย คือ รักษาและขยายองค์ความรู้เหล่านั้น ผ่านการนำเสนอข้อมูลวิธีการสร้างสรรค์ รวมถึงความรู้ที่สามารถนำพาชิ้นงานไปสู่ผู้คนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อาทิ การ Co - Creation เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับงาน การเสริมสร้างทักษะในการทำตลาดหรือทำในเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร เพื่อให้งานหัตถกรรมสามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ”

บนแพลตฟอร์มของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ และ E- Learning Course ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้คนเกี่ยวกับงานหัตถกรรมได้ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีค่าใช้จ่าย  

มากไปกว่านั้น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยยังมีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ MSME เพิ่มเติม โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมตามกำหนดการที่ระบุไว้ อาทิ การให้ความรู้ในศาสตร์ของการย้อมผ้า, ย้อมอย่างไรโดยปราศจากการใช้สารเคมีอาศัยเพียงวัสดุท้องถิ่นของคนพื้นที่ และได้มาซึ่งผ้าที่มีสีสวยงาม รวมไปถึงวิธีการเพิ่มโอกาสทางการตลาดต่าง ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์

“ทางสถาบันฯ มีการลงพื้นที่ดำเนินงานต่อยอดทักษะที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว โดยสนับสนุนให้หาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ที่สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถศิลป์ได้ โดยส่วนมากจะเป็นในทางเน้นการ Upskill – Reskill ให้แก่ผู้คนที่สนใจ”

คุณพรรณวิลาส กล่าวเสริมว่า อีกเรื่องที่ทางสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญากับผู้ประกอบการ MSME เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ จึงมีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการตระหนัก และใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม หรือ Intellectual Properties of Crafts โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เหล่าผู้ผลิตผลงานศิลปหัตถกรรมไทยจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านลายเส้น รูปภาพ เทคนิคบางอย่าง และอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตดังกล่าวได้รับการคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันการลอกเลียนแบบ ที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางการตลาด รวมไปถึงสามารถต่อยอดผลงานไปในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทางสถาบันฯ เล็งเห็นว่าเหล่าครูช่างฯ หรือครูศิลป์ฯ เป็นบุคคลผู้มีความรู้ จึงมีการจัดกิจกรรม Workshop เพื่อเป็นพื้นที่ในการส่งต่อองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงยังมีแผนงานคัดบุคลากรผู้มีศักยภาพสูงเข้าร่วม Cross - culture project ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ ตลอดจนทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นผู้นำทางด้านงานคราฟต์ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง

คุณพรรณวิลาส เผยวิสัยทัศน์ในเชิงธุรกิจว่า เสน่ห์ของงานคราฟต์ไทยสามารถนำมาสร้างเป็นจุดแข็งให้กับ MSME ไทยได้ โดยอาศัยตัวช่วยอย่างเทคโนโลยี เนื่องจากงานหัตถกรรมไทยมีโอกาสในแง่ของการส่งออก สิ่งที่ตามมา คือ การขยายฐานผลิต ฉะนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องการย่นระยะเวลา อย่างที่ทราบกันดีว่างานหัตถกรรมในแต่ละขั้นตอนมักจะใช้เวลาพอสมควร จนเมื่อมีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรง เช่น การเหลาไม้ไผ่ สมัยก่อนมักจะใช้มีดเหลา แต่ปัจจุบันมีเครื่องช่วยเหลาไม้ไผ่เข้ามา ผลพลอยได้คือ ช่วยลดอาการบาดเจ็บของผู้ผลิต อีกทั้งยังทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง และสามารถควบคุมคุณภาพให้ไม้ไผ่ที่เหลาออกมามีขนาดเท่ากันทุกชิ้น

“สิ่งเหล่านี้ จะทําให้การทํางานหัตถกรรมมีความสวยงามและน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาไว้ซึ่งเสน่ห์ของชิ้นงานได้ เราเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรม หรือคนที่ทํางานทางด้านอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อรังสรรค์เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่ทํางานหัตถกรรมให้มีอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงมากขึ้น”

คุณพรรณวิลาส ย้ำว่างานคราฟต์ คือ การสร้างอรรถรสทางใจและอรรถรสทางตาให้แก่คนเสพซึ่งเรื่องของอรรถรสอาจจะไม่ใช่อะไรที่เป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต จึงมีโจทย์ที่ตามมา คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนและให้ผู้คนมองหาสิ่งนี้กันมากขึ้น

ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคที่มีกำลังสำคัญในการซื้อ มักมีชุดความคิดเกี่ยวกับการตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ไม่ทำร้ายโลก และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทะนุบำรุงโลกนี้ จึงนิยมบริโภคสินค้าที่ Eco - Friendly เช่น ผลิตภัณฑ์จากการ Reuse, กระเป๋าจากเศษผ้า, รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น 

“จากงาน Crafts Bangkok 2024 ที่สถาบันฯ เพิ่งจัดไป ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเห็นศักยภาพงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญารากเหง้าของไทยว่าเป็นอะไรที่สามารถส่งต่อ-ส่งออกได้ เนื่องจากสอดรับกับเทรนด์การบริโภคของผู้คนในปัจจุบัน 

ที่สำคัญผลงานของไทยเป็นอะไรที่มีเสน่ห์อย่างมาก เพราะผลงานแต่ละชิ้นจากแต่ละท้องถิ่นมีเรื่องราวเฉพาะแฝงไว้เสมอ จนผู้คนสามารถ Remind ได้เองโดยปริยายว่าถ้าต้องการสินค้าลักษณะนี้ต้องเป็นจากพื้นที่นี้เท่านั้น เช่น ถ้าพูดถึงงานไม้ ก็ต้องเชียงใหม่, ถ้างานผ้า ก็ต้องภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน, ถ้าพวกงานที่เกี่ยวกับมโนราห์ จะเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลัง Craft Power ที่สามารถผลักดันเป็น Soft Power ของประเทศได้” คุณพรรณวิลาส กล่าวเพิ่มเติม

ฉะนั้น แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัย ที่มาจากผู้ผลิตที่ได้รับการเติมองค์ความรู้เสริมแกร่งในด้านต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยด้วยตนเองได้ จะสามารถก้าวต่อไปสู่เวทีตลาดโลกต่อไปได้เช่นกัน 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook, Youtube และ TikTok ชื่อ “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย” หรือค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sacit.or.th

บทความแนะนำ

สถาบันไทย-เยอรมัน ผู้วางรากฐาน Ecosystem ของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง

สถาบันไทย-เยอรมัน

ผู้วางรากฐาน Ecosystem ของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง

 

หัวใจสำคัญของการสร้างความเหนือชั้นในโลกธุรกิจ คือกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะความรวดเร็ว ปริมาณที่เครื่องจักรสามารถผลิตได้ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีที่อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายรายตามไม่ทัน จึงต้องมี “สถาบันไทย-เยอรมัน” เป็นตัวช่วย

สถาบันไทย-เยอรมัน หนึ่งในฟันเฟืองของภาครัฐในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2538 มีภารกิจส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกระบวนการผลิต ให้คำแนะนำตามโรงงานในการพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไปจนถึงฝึกอบรมบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต 

สถาบันไทย-เยอรมันได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมและเครื่องมือใหม่ ๆ จากทั้งพันธมิตรอีกนานาประเทศ ทั้งเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ทำให้มีองค์ความรู้ด้านการผลิตใหม่ ๆ มาส่งต่อให้กับธุรกิจไทยอยู่เสมอ รวมถึงยังมีการจัดงานสัมมนาศึกษาเทคโนโลยีที่ประเทศดังกล่าวด้วย 

ที่ผ่านมาสถาบันไทย-เยอรมันจึงเป็นศูนย์กลางระหว่างฝั่งผู้ผลิตและลูกค้า ผู้มีบทบาทในการสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องกล 

อย่างที่ได้กล่าวว่า สถาบันไทย-เยอรมันมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต ลูกค้ารายหลักจึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีงบประมาณสำหรับพัฒนาบุคลากร สามารถลงทุนจัดอบรมเพื่ออัปเดตความรู้ให้กับคนในบริษัทได้ แต่ผู้ประกอบการ MSME มีเงินทุนไม่มากพอที่จะทำเช่นนั้น สถาบันไทย-เยอรมันจึงพยายามจัดโครงการต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ หรือนิทรรศการร่วมกับหน่วยงานเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงองค์ความรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นบันไดขั้นสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย

“เนื่องจากการจัดอบรมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ทำให้ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เช่นกลุ่มยานยนต์ ขนาดกลางก็จะเป็นธุรกิจแพคเกจจิ้งอาหารที่กำลังมาแรง แต่มีลูกค้ากลุ่ม MSME มีน้อย เราจึงใช้โครงการสนับสนุนจากภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ เช่น จัดหลักสูตรพัฒนาการผลิต หากมีโอกาสก็จะเชิญ MSME เข้ามาฝึกอบรมกับทางสถาบันด้วย” คุณสิริวัฒน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กล่าว

ด้วยขนาดของธุรกิจประเภท MSME ที่ยังเล็ก ซึ่งเสี่ยงต่อการลงทุนซื้อเครื่องจักรอันเกิดจากขาดแคลนเงินทุน บุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิต สถาบันไทย-เยอรมันจึงมีวิธีสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME โดยแบ่งออกตามประเภทของอุปสรรค ดังนี้

1.ขาดแคลนเงินทุน สำหรับผู้ประกอบการที่กังวลเกี่ยวกับการลงทุนซื้อเครื่องจักร สถาบันไทย-เยอรมันจะช่วยทำการวิเคราะห์ผ่าน System Analyze ว่าธุรกิจนั้น ๆ เหมาะกับการลงทุนเทคโนโลยีแบบใด อะไรคือกลไกแห่งความสำเร็จ จากนั้นหารือร่วมกับธนาคารที่เป็นพันธมิตรของสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อสร้าง Credit ในการกู้ยืม ให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก และหามาตรการทางภาษี (เหมาะกับบริษัทที่มีกำไร) ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30% หรือมากที่สุด 100% ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่ค่อยรู้ ว่าปัญหาเรื่องเงินทุนก็สามารถเข้ามารับคำปรึกษากับสถาบันไทย-เยอรมันได้เช่นกัน

  1. ขาดแคลนบุคลากร สำหรับหน่วยงานที่ไม่มีเวลาเพียงพอในการพัฒนาบุคลากร สถาบันไทย-เยอรมันก็มีการฝึกอบรมที่ภาครัฐจัดให้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่คุณสิริวัฒน์ กล่าวไว้ว่า “ยิ่งเทคโนโลยีมีมากขึ้นเท่าไร คนก็ยิ่งต้องพัฒนาตามเพื่อให้การผลิตรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
  2. การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ผ่านมาสถาบันไทย-เยอรมัน มีการจัดงานสัมมนาและ Open House เป็นประจำทุกปี บุคคลที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ทุกกิจกรรมเชิญ Supplier ด้านเทคโนโลยีมาให้ความรู้และเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจให้ฟัง มีการร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดนิทรรศการ ซึ่งในช่วงนี้ก็การเตรียมโครงการที่พัฒนาหลักสูตรเรื่องการให้ความรู้เรื่อง AI อย่างเรื่องหุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงงานพนักงานที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสถาบันไทย-เยอรมันเชื่อว่าเมื่อผู้ประกอบการ MSME เห็นก็จะมีแรงบันดาลใจในการนำไปพัฒนาของตนเองต่อไป

สถาบันไทย-เยอรมัน มองเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมว่า ความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญต่อธุรกิจทั้ง MSME และธุรกิจรายใหญ่ในปัจจุบัน 

ทางสถาบันไทย-เยอรมันจึงเตรียมการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ลดคาร์บอน มีเทคโนโลยี Carbon Platform ที่จะเข้าไปดูว่าในกระบวนการนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไร ต้องปรับปรุงในไลน์การผลิตใดเพื่อลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำ Carbon Credit ไปใช้ต่อได้ในอนาคต

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือเทคโนโลยีการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่ยังไม่ต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) เทคโนโลยีที่สถาบันไทย-เยอรมันคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ก็คือการใช้หุ่นยนต์แบบ Physical ซึ่ง MSME สามารถติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาได้ เพราะที่สถาบันไทย-เยอรมันมีห้องปฏิบัติการทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ เพื่อรับรองมาตรฐานความปลอดภัย 

“การลงทุนซื้อเครื่องจักรต้องคำนึงถึงจำนวนในการผลิตแต่ละรอบ สำหรับกลุ่ม MSME ควรจะออกแบบกระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่นสูง (Flexible Automation) เท่ากับว่าสามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้แบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้ ให้สามารถผลิตได้หลาย ๆ อย่าง (Modular Design) ซึ่งจะสนับสนุนความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต ให้มีความ Customized หรือ Individual ไว้จะดีกว่า” คุณสิริวัฒน์ กล่าวถึงการนำลงทุนเครื่องจักรที่เหมาะสมกับธุรกิจ MSME

ในอนาคตสถาบันไทย-เยอรมัน จะมีโครงการศูนย์ 5G Test Base ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัล เหมาะสำหรับโรงงานที่ไม่อยากเดินสายไฟ ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง AI ในการใช้ Data บริหารการผลิตในโรงงาน อาทิ Advance Robotic ที่ทางสถาบันไทย-เยอรมันร่วมพัฒนากับญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมนี้ให้นักพัฒนาระบบนำไปใช้กับโรงงานของตน และมีระบบ Smart Logistic เพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงผลิตภัณฑ์ ทำให้การขนส่งแม่นยำยิ่งขึ้น

สุดท้าย คุณสิริวัฒน์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักในการลงทุนเครื่องจักรไว้อีกว่า “เห็นหลายที่มีการลงทุนเครื่องจักรที่มีการเชื่อมโยง Data มาใช้ในการจัดการ ที่อยากแนะนำคือ ควรใช้เครื่องจักรที่สามารถเชื่อมระบบการทำงานกับเครื่องจักรอื่น ๆ ได้ด้วย เพื่อให้บริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่ต้องดูการผลิตแบบ Real Time ก็จะทำให้ผู้ควบคุมตัดสินใจวิธีการทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งก็คือการผสานเทคโนโลยี AI กับ Data นั่นเอง”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันไทย-เยอรมัน ที่อยู่: 700/1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ถ. บางนา-ตราด กม. 57 ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000  E-mail: crm_dept@tgi.mail.go.th และ www.facebook.com/thaigermaninst

บทความแนะนำ

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๗ และแนวโน้มปี ๒๕๖๗

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ

สังคมแห่งชาติ ได้จัดทำ "รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๗ และแนวโน้มปี ๒๕๖๗" โดยมี

วัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำไตรมาสและประมาณการเศรษฐกิจในรอบปี รวมทั้ง

วิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในระยะเวลา ๑ ปีข้างหน้า ให้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาและสาธารณชน

 

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์และดาวน์โหลด

ได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ "www.nesdc.go.th" หัวข้อ "ภาวะเศรษฐกิจรายใตรมาส" หรือสแกน OR Code ที่ปรากฏในรูปภาพหรือลิงก์ที่แนบมานี้

https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=QGDP_report

บทความแนะนำ

Bake by Feel ปฏิวัติการขายพิซซ่า จาก “หน้าร้าน” สู่ “รถเคลื่อนที่”

SME One Bake by Feel

 

Bake by Feel ปฏิวัติการขายพิซซ่า

จาก “หน้าร้าน” สู่ “รถเคลื่อนที่”

 

Bake by Feel เป็นร้านอาหารเคลื่อนที่ในรูปแบบ Food Truck ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ และเริ่มมีคนมาเปิดบริการในประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ โดย Bake by Feel เกิดจากความคิดของสองสามี-ภรรยา โอ๊ต-วิทวัส เจริญจิระภักดี และเมย์-ผอบพร เจริญจิระภักดี ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการทำร้านคาเฟ่เล็ก ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะมาปิ๊งไอเดียนำรถบัสมือสองมาดัดแปลงเป็นครัวเคลื่อนที่เพื่อตระเวนอบพิซซ่าและขนมปังขายทั่วภาคอีสาน

และก็เป็นไปตามที่สองสามี-ภรรยาคาดหวัง Bake by Feel รถบัสขายพิซซ่าและขนมปังสามารถสร้างยอดขายได้อย่างถล่มทลายตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มสัญจร

แนวคิดการปฏิวัติการขายจาก “หน้าร้าน” มาสู่ “รถเคลื่อนที่” ของคุณโอ๊ตและคุณเมย์นั้นมีเบืองหลังที่น่าติดตามและถอดรหัสความรู้มากมาย เพราะถึงแม้ว่าจะขายอาหารชนิดเดียวกัน แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับว่าวิธีการบริหารงานนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเคล็ดลับความสำเร็จของ Bake by Feel ได้นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป...

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Bake by Feel เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ผอบพร : กำเนิดของ Bake by Feel เริ่มมาจากเราได้รถบัสคันนี้มาแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ ทีแรกตั้งใจจะซื้อมาขาย เสร็จแล้วก็มาจอดที่บ้านนานมากเป็นเดือน ๆ แต่ก็ยังไม่อยากทำอะไรกับรถสักที ทีนี้เมย์ทำขนม ทำพิซซ่ามีร้านอยู่แล้ว วันหนึ่งก็เลยรู้สึกว่าไหน ๆ เราก็ไม่ได้อยากขายรถคันนี้อยู่แล้วก็เลยลองถอดเบาะออก เปลี่ยนพื้น แล้วก็ยกเตาขึ้นมาบนรถแบบทำกันเอง 2 คน 

ร้านของเมย์อยู่ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี แต่จริงๆ เมย์เป็นคนศรีสะเกษ ครั้งแรกที่รถบัสออกเดินทางก็คือ กลับไปบ้านเพื่อนที่ศรีสะเกษ คือกลับไปบ้านเก่าไปขายที่ลานจอดรถหน้าบ้านเพื่อน อันนั้นจะเป็นครั้งแรกที่ออกเดินทางกันไปจากบ้าน วันนั้นมีคนเยอะมาก มีเพื่อน ๆ มีอะไรมากินกัน คือขายพิซซ่าถึงประมาณตี 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออร์เดอร์เยอะขนาดนั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นทำเป็นธุรกิจได้ จากนั้นมาก็เริ่มมีการวางแผนจัดการอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้เรามีธุรกิจเป็นร้านคาเฟ่เล็ก ๆ ขายอยู่ที่ข้างบ้านตัวเองอยู่แล้ว

 

SME ONE : มีความคิดที่จะขยายสาขามาก่อนหรือไม่ ก่อนถึงวันที่ตัดสินใจเอารถมาทำร้าอาหาร

ผอบพร : โครงการรถบัสนี่ต่อยอดมาเอง ตอนนั้นยังไม่มีความคิดที่จะขยายสาขาอะไร แค่มีความรู้สึกว่าเราทำขนมอยู่บ้าน แล้วแบบว่าเราขายขนมให้คนเดิม ๆ ขายพิซซ่าให้คนเดิม ๆ เมย์อยากทำขนมให้มันเยอะขึ้น จุดเริ่มต้นของความรู้สึกที่มีอยู่ในใจตอนนั้นคือ จะทำอย่างไรให้เราทำอาหารได้เยอะขึ้น เพราะเราชอบทำอาหาร แล้วจะทำอย่างไรให้ขายเยอะขึ้น ซึ่งคำตอบก็คือ เราต้องเปลี่ยนที่ขายไปได้ทุกที่โดยที่เราไม่ต้องไปเช่าร้าน เพราะว่าการไปเช่าร้านที่ใหม่ มันก็จะวนลูปกลับมาที่ปัญหาเดิมคือ มันก็ยังขายให้คนเดิม ๆ อยู่ดี

 

SME ONE : ตอนนั้นมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างไร

ผอบพร : ถ้าเป็นตอนนั้นก็ประมาณปีเกือบ 2 ปีแล้วที่เราเริ่มเดินทางก็เห็นโอกาส เพราะพิซซ่าหรือว่าขนมปังมันเป็นอะไรที่ไม่ได้กินได้ทุกวัน ด้วยความที่เป็นคนไทยไม่ใช่ฝรั่ง มันไม่ใช่อาหารที่กินทุกวัน ถ้าเราอยู่กับที่มันก็จะมีวันที่ขายดีและขายไม่ดี แต่ถ้าเรา 1-2 เดือนไปครั้ง คิดว่าอย่างไรก็ต้องขายได้ คือเขาต้องมากินกันอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีแค่ 1-2 เดือนครั้ง หรือมีแค่ 4 วันที่เราจะมาขายตรงนี้

 

SME ONE : การออกร้านวันแรก ใช้วิธีการโปรโมทร้านอย่างไร

ผอบพร : โปรโมทผ่านโซเชียลมีเดีย เราก็จะมีโพสต์หน้าเพจ หน้าเฟซบุ๊ก แล้วก็โพสต์ในกลุ่มของกินของจังหวัด แต่ละจังหวัดเขาจะมีกลุ่มของกิน มีกลุ่มแลกเปลี่ยนข่าวสารอยู่ เราก็โพสต์ตามกลุ่มนั้น แล้วก็เหมือนกับว่าลูกค้าก็บอกต่อด้วย ส่วนหนึ่งก็คงมาจากคุณภาพหรือว่าอะไรที่เราใส่ใจทำ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีการบอกต่อกัน ไปวันแรกเราจะใช้วิธีโปรโมททางเพจของเรา แล้วก็ในกลุ่มข่าวสาร แต่พอวันที่ 2 ลูกค้าที่กินวันแรก เขาจะไปบอกต่อกันเอง

SME ONE : มีวิธีการกำหนดเส้นทาง หรือเลือกทำเลว่าจะไปขายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ผอบพร :  ตอนแรก ๆ เราก็ยังไม่รู้ แต่ว่าส่วนใหญ่เราจะเลือกสถานที่ที่เป็นร้านอาหาร คือเราจะไม่ขายตาม Event หรือว่าไปขายตามตลาด เราสองคนมีความรู้สึกตั้งแต่แรกว่าเราอยากขายให้คนในพื้นที่ คือเราอยากไปที่ตรงนั้นแล้วอยากให้คนในพื้นที่มาทานของเรา ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มาแล้วไป แล้วก็ไม่ได้มีการบอกต่อ 

ข้อดีตรงนี้ก็คือ พอเราเป็นที่รู้จักร้านต่าง ๆ ที่เขามีอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เขาก็อยากจะ x กับเราก็จะมีทั้งแบบเสนอร้านมาเอง มาชวนเราไป กับเราโพสต์ตามหาหน้าเพจเราหรือว่าหน้ากลุ่มว่าเราจะไปจังหวัดนี้ สินค้าเราเป็นแบบนี้ เราต้องการหาร้านร่วม x ด้วย แต่ต้องเป็นร้านที่มีที่นั่งและมีเครื่องดื่มขาย เพราะว่าเราไม่มีเครื่องดื่มขาย คือลูกค้ามานั่งทานพิซซ่า เขาก็อยากทานกับเครื่องดื่ม อยากมีที่นั่งทาน อะไรประมาณนี้ ร้านไหนสะดวกมีที่จอดให้เราจะไป เราจะใช้วิธีอย่างนี้ 

พอได้ทำเลร้านแล้ว เราก็ค่อยโพสต์ว่าเราจะไปที่นี่ วันนี้ มันก็จะกลายเป็นการช่วยบอกต่ออีกทางหนึ่ง แทนที่จะเป็นเราบอกคนเดียวก็กลายเป็นร้านที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฐานลูกค้าของเขาก็บอกต่อร่วมกัน เป็นการบอกต่อทั้ง 2 ฝ่าย ฐานลูกค้าชนฐานลูกค้ามันก็เลยยิ่งมีการพูดถึงมากขึ้น

 

SME ONE : เคยลองคำนวณค่าใช้จ่ายระหว่างเปิดร้านกับขับรถตระเวนขาย ว่ารูปแบบไหนถูกหรือแพงกว่ากันหรือไม่

ผอบพร :  การเดินทางแพงกว่า แต่ว่าที่มันได้มากกว่าก็คือ เราไม่ต้องเจอวันที่เงียบ หรือวันที่นั่งรอลูกค้า ต่อให้มันแพงกว่าจริง แต่ว่าถ้าเทียบกับจำนวนลูกค้าที่เยอะกว่า แบบเราไป 4 วัน เราได้ลูกค้าแน่ ๆ ตามจำนวนที่เราคิดไว้หรือถ้าไม่ได้ เราก็แค่ลดวันลงแล้วย้ายไปที่อื่น มันก็หยวน ๆ กันมากกว่า 

ถามว่าต้นทุนแพงกว่าไหม ขับรถนี่แพงกว่าอยู่แล้ว เพราะว่าเราเดินทางเราใช้รถ 2 คัน มีค่าที่พัก แล้วก็มีการจ่ายค่าไฟช่วยร้านที่เราไป x ด้วย พอมีการเดินทางหลายอย่างมันต้องเสียมากกว่า แต่ว่าข้อดีที่ได้ก็คือ เราไม่ต้องมานั่งรอลูกค้า แบบถ้าเราเปิดร้ายอยู่ที่เดิมมันก็อาจจะมีหน้าฝน อาจจะมีช่วงที่ขายไม่ได้แบบเปิดเทอมอะไรอย่างนี้ หรือว่าเจอ Low Season อาจจะเงียบ แต่อันนี้คือเราสามารถเลือกได้ว่าตัวเราเองอยากไปอยู่ตรงไหน ขายตรงไหน น่าจะได้เท่าไหร่ ถ้าถามว่าหยวนกันไหมก็คิดว่ามันหยวนกัน แต่ถ้าถามว่าเช่าร้านถูกกว่าไหม ก็ถูกกว่า

SME ONE : ปัจจุบัน Bake by Feel ขายอยู่กี่จังหวัด

ผอบพร :  เยอะมากค่ะ ถ้าอีสานก็เกือบครบทุกจังหวัด แล้วมันมีพวกอำเภอด้วย มันไม่ใช่มีแค่จังหวัด มันจะมีแบบอำเภอรองของแต่ละจังหวัดนั้น ๆ หมายความว่าใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 2 เดือน ถึงจะวนกลับมาขายที่เดิม ส่วนเรื่องวัตถุดิบตามจังหวัดหลัก ๆ จะมีแม็คโครให้เราซื้อ แล้วก็มีของบางอย่างที่เราสั่งตรงจากโรงงาน เราก็จะมีการคำนวนวันได้ว่าของใกล้จะหมด ต้องสั่งไปลงที่ไหนของก็จะไปลงรอไว้ที่ร้านที่เราจะไปอยู่แล้ว

 

SME ONE : : ช่วงแรกๆ ที่เริ่มสัญจร เราเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ผอบพร : เจอค่ะ ตอนนี้ก็ยังเจออยู่ มันเป็นปัญหาที่ถามว่าแก้ได้ 100% ไหมก็ไม่ได้ เพราะว่ายังไงมันก็ยังเป็นรถเคลื่อนที่ของบางอย่างมันก็ยังไม่เหมือนกับการทำครัวถาวร อย่างรถเราตอนนี้เจอปัญหาแน่ ๆ หน้าฝนก็คือ รถรั่ว ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังรั่ว หรือว่าบางครั้งแบบเราไปจอดแล้วแบบมีปัญหาเรื่องไฟกระชากหรือว่าไฟตกก็ยังมี ซึ่งเราก็จะบอกลูกค้าตั้งแต่ต้นว่าปัญหาพวกนี้จะยังมีอยู่ แล้วก็เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน ซึ่งบางครั้งมันอาจจะไปทำให้คิวของอาหารที่เขาสั่งไว้ออกช้า ซึ่งก็อยากให้ลูกค้าเข้าใจตรงนั้น เพราะปัญหาแบบยิบย่อยพวกนี้มีอยู่แล้ว

SME ONE : เคยเก็บตัวเลขหรือไม่ว่าจังหวัดไหนขายดีที่สุด จังหวัดไหนขายไม่ดี และเป็นเพราะอะไร

ผอบพร : มันค่อนข้างจะเฉลี่ยเท่า ๆ กัน แต่ตามประสบการณ์การขายดีมันเป็นช่วงเวลาของแต่ละจังหวัดมากกว่า เช่น เราเคยไปนครพนมหน้าหนาวแล้วเราขายดี พอเราไปนครพนมอีกทีในหน้าร้อนหรือหน้าฝน เราขายไม่ดีแล้ว อันนี้เป็นปัญหาที่ว่าพื้นที่นั้น ๆ ส่วนใหญ่เขาพึ่งนักท่องเที่ยว พอมันเป็นหน้าฝนนักท่องเที่ยวน้อยต่อให้ลูกค้าของเราเป็นคนในพื้นที่ แต่ว่ารายได้หลักของเขาคือนักท่องเที่ยวกำลังซื้อมันก็จะลดลงตาม แต่อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาตกตะกอนกันว่าหน้าฝนกลายเป็นว่าจังหวัดหรืออำเภอที่เขาทำเกษตรกรรมยอดขายสูงกว่า 

สมมติว่าตอนนี้เมย์กับโอ๊ตอยู่กันที่ร้อยเอ็ด หรือว่าอำเภอเล็ก ๆ ของร้อยเอ็ด แต่ยอดกลับดีกว่าอุดรธานีที่อยู่ในเมือง คือกลายเป็นว่าตอนนี้ตั้งแต่ต้นปีมา เรามีการคุยกับร้านต่าง ๆ ที่เราไป x ด้วยว่า ถ้าเป็นเมืองใหญ่ เขาโดนผลกระทบตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นมา แต่ว่าถ้าเมืองเล็ก เมืองรอง เช่น สกลนคร นครพนมจะมีเศรษฐกิจที่ซบเซาตั้งแต่ต้นปีมาเลยซบเซามาตลอด แล้วเขาก็ประคองร้านมาตลอด เพราะว่าเวลาเราไป x กับร้าน เราจะกลายเป็นเพื่อนกัน และจะมีการคุยกันตลอดว่าช่วงนี้ร้านเป็นอย่างไร 

อย่างรอบนี้ที่เราวนไปอุดรฯ ซึ่งแปลกใจมาก เพราะว่าอุดรฯ รอบที่แล้วเราขายดีมาก แต่รอบนี้อุดรฯ ค่อนข้างเงียบ เราก็ไปถามลูกค้าเก่า ๆ ซึ่งเขาทำธุรกิจในพื้นที่ก็เงียบมาตั้งแต่เดือน 5 เดือน 6 เหมือนกัน มันเหมือนกับไม่ได้เป็นปัญหาที่สินค้าเรา แต่เป็นปัญหาที่เศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ

SME ONE : แบบนี้วิธีการกำหนดเส้นทางขายต่อไปอาจจะกำหนดพื้นที่ตามช่วง High Season หรือ Low Season 

ผอบพร : ไม่เชิงค่ะ เราจะกำหนดเป็นเส้นทางเป็นวงกลมเป็นเส้นทางต่อเส้นทาง คือเราทำกันมาจะ 2 ปี มันก็อารมณ์เหมือนเพิ่งวนมาเจอ Season แบบว่าเหมือนเพิ่งเรียนรู้เรื่อง Season ใหม่ก็เลยยังอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ประมาณว่ามันไม่ได้รู้แต่แรกว่าจังหวัดนี้จะ Low Season ตอนนี้ มันเหมือนกับเราตกตะกอนกันมาเรื่อย ๆ เพราะว่าเราเพิ่งทบมาได้แค่ปีเดียวเองที่เราเดินทางมันก็เลยเหมือนวนมาเพิ่งเจอ เพิ่งเรียนรู้แล้ว แต่ว่าการกำหนดเส้นทางมันจะไม่กระโดดไปกระโดดมาอยู่แล้ว เพราะว่ามันเดินทางยาก เราจะเดินทางต่อจังหวัดไปมากกว่า แต่ถ้ามันไปตรงกับช่วงที่  Low Season จริง ๆ เราก็แค่ไม่อยู่นาน เราก็แค่อยู่แค่ 3 วัน ประมาณนี้

และต่อให้ Low Season ขนาดไหน มันก็ไม่ได้ถึงขั้นขายไม่ได้ แต่แค่แบบยอดมันตกซะมากกว่า ก็เลยไม่จำเป็นต้องข้ามไป ไม่จำเป็นต้องกระโดดข้าม ก็คือก็แค่ผ่านไปแล้วก็ไปแวะเพื่อไม่ให้มันนานไป เพราะว่าการที่เราทิ้งลูกค้านานไปมันก็เป็นข้อเสียเหมือนกัน

 

SME ONE : ลูกค้าเรามาจากกลุ่มที่ตามโซเชียลมีเดีย Bake by Feel กี่เปอร์เซ็นต์ และเป็นกลุ่มที่บังเอิญมาเจอกี่เปอร์เซ็นต์

ผอบพร : มาจากโซเชียลมีเดียแทบจะ 99% เลย เพราะว่าถ้าใครบังเอิญมาเจอปุ๊บ เขาก็ต้องกลับไปสั่งในโซเชียลอยู่ดี เพราะเราจะรันคิวตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมาก่อน เราจะไม่ค่อยรับ Walk-in จะไม่ค่อยมีคิวแทรก เพราะฉะนั้นลูกค้าเขาจะรู้อยู่แล้วว่าเขาต้องตามเราผ่านโซเชียล หรือถ้าบังเอิญมาเจอเขามาสั่ง เขาก็ต้องไปลงคิว ต่อจากคนที่ลงคิวไว้แล้วเหมือนเดิม ส่วนใหญ่มันก็เลยจะกลายเป็นเขาก็จะเริ่มเรียนรู้กันแล้วว่าอย่างไรก็ต้องสั่งผ่านเพจไว้ก่อน

SME ONE : ทุกวันนี้เมนูพิซซ่า หรือขนมปังขายดีกว่ากัน

ผอบพร : ขายดีพอ ๆ กัน ปกติแล้วถ้าทำก็ขายหมดทุกวันอยู่แล้ว ลูกค้าที่มาซื้อพิซซ่าก็จะซื้อขนมติดมือกลับไปด้วย ส่วนคนที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ลูกค้าประจำที่อายุ 50-60 ก็มี แบบสั่งทีละ 4 ถาดก็มี เขารู้สึกว่ารสชาติของเรามันเป็นรสชาติที่เข้าถึงง่าย 

เคยมีคนถามเมย์ว่า ทำไมเราถึงคิดจะขายพิซซ่าให้คนอีสาน เพราะว่าตอนนี้ลูกค้าเราคือคนอีสาน เรายังไม่ได้ข้ามภาค เมย์ก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน และไม่เคยคิดว่ามันต้องเป็นพิซซ่าหรืออะไร ทั้งหมดมันตั้งต้นที่เราชอบกินพิซซ่า ชอบกินขนม แล้วเราก็ทำออกมาในรสที่เราชอบกินซึ่งเราก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน เราก็เลยรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นรสชาติที่เข้าถึงง่าย 

แต่ก่อนคิดว่าไปร้านพิซซ่ามันจะต้องเป็นพิซซ่าอิตาลีหรือว่าพิซซ่าอะไรก็ตาม แต่เอาจริง ๆ เราเป็นคนที่กินพิซซ่าเยอะ จนบางครั้งเราเข้าไปในร้านพิซซ่าอิตาลี เราก็ยังไม่เก็ทกับรสชาติ ซึ่งอันนั้นมันเป็นรสชาติของเขา เราก็แค่ทำให้พิซซ่ามันเข้าถึงง่ายแต่ไม่ได้มักง่าย แบบทุกอย่างมันถูกออกแบบถูกคิดมาแล้ว แต่ว่ามันกลายเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย คือคุณสามารถเดินมาซื้อพิซซ่าได้ที่รถบัสที่จอดอยู่ข้างทาง หมายถึงว่ามันไม่จำเป็นต้องไปเข้าร้านหรู ๆ เพื่อนั่งสั่งพิซซ่าแถมสั่งพิซซ่าอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องสั่งสปาเก็ตตี้ ต้องสั่งสลัดด้วย แต่อันนี้มันเป็นเหมือนร้านรถขายลูกชิ้นที่แบบแค่จองไว้แล้วเดินเข้ามารับ แล้วจะเป็นพิซซ่ากล่องเดียวก็ได้ แล้วก็ถือกลับไปกินที่บ้านเป็นมื้อเย็นอะไรอย่างนี้ มันเข้าถึงง่าย 

ส่วนขนมปังที่ร้านต่อให้มันเป็นขนมปังที่เป็นอิตาลี ขนมปังของที่ร้านเมย์ก็จะทำเป็นขนมปังอิตาลี หรือขนมปัง Sourdough ซึ่งเป็นขนมปังที่เข้าถึงยาก เราทำให้มันเข้าถึงง่ายขึ้น

SME ONE : พิซซ่า 3 หน้าที่ขายดีที่สุดคืออะไร

ผอบพร : ที่ขายดีก็จะมีพิซซ่าหน้ารวม หน้ารวมนี่จะมี 3 หน้าในถาดเดียว แล้วก็หน้าสับปะรด เบคอน ทรัฟเฟิล แล้วก็หน้าผักโขม เบคอน เห็ด ลูกค้าจะชอบกินผักโขมอบชีสของที่ร้าน ชอบกินแป้ง อะไรประมาณนี้ ที่เขาบอกว่ามันโอเคที่สุด คือแบบมันจะไม่ใช่แป้งบางกรอบที่กัดปุ๊บแล้วมันจะกรอบ แต่มันจะมีความนุ่ม เหนียว แต่ขอบมันจะมีความกรอบประมาณนี้ แล้วก็ไม่ใช่แป้งหนานุ่มที่แบบแป้งหนาเตอะ แล้วหน้าน้อย ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะชมว่าพิซซ่าที่ร้านเราหน้าล้น แล้วแป้งบาง

 

SME ONE : คุณเมย์เรียนทำพิซซ่า หรือเบเกอรี่มาจากไหน

ผอบพร : ไม่เคยเรียนเลย อาศัยก็ชอบกินแล้วเวลาไปที่ไหนก็จะกินพิซซ่า แต่ก็ยังไม่เคยเจอรสที่ตัวเองชอบเลย แล้วตอนช่วง COVID-19 ปีแรก เมย์เริ่มเรียนทำขนมปังจาก Youtube ด้วยหม้ออบลมร้อนตัวเดียว 400 บาท ตอนนั้นแบบหนักมาก เราโดน COVID-19 หนักแบบแม้กระทั่งหม้ออบลมร้อน 400 ยังไม่มีเงินซื้อ เราต้องแบบเอามาก่อน แล้วค่อย ๆ ผ่อนจ่าย เสร็จแล้วก็เริ่มเรียนจาก Youtube แล้วก็เริ่มทำขายในกลุ่ม Silpakorn Market แล้วมันขายดี ตอนนั้นขายพวกขนมปังคลีน เรียกได้ว่าเมย์เก่งเรื่องลักจำมากกว่า ดูเยอะ ดูปุ๊บ ตรงนี้เรายังทำไม่ได้ เราก็ไปนั่งดู แล้วก็เป็นแบบมันต้องแก้ตรงนี้ ตรงนั้น จนแบบออกมาเป็น Bake by Feel ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ส่วนพิซซ่านี่ก็ดัดแปลงมาจากขนมปังอีกทีนึง เพราะว่าเราทำขนมปังมาก่อน เราอยากได้กินเนื้อแบบไหน เราก็ลองมาทำดูนู่นนี่นั่น และค่อย ๆ ปรับมาจนได้

 

SME ONE : กลับมาที่ชื่อร้าน เริ่มใช้ชื่อ Bake by Feel ตอนไหน

ผอบพร : เมย์เริ่มต้นมาจากชื่อบ้านหอมขนมปัง แล้วเราก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ทีนี้พอเราเริ่มทำขนมปัง คือขนมปังมันจะมีความเป็นทฤษฎี ความเป็นวิทยาศาสตร์เยอะมาก ยอมรับว่าพอเราเริ่มทำมาพักนึง เราอยากเรียนก็เริ่มไปศึกษาความเป็นทฤษฎีแบบว่าหลักการของมัน อุณหภูมินู่นนี่นั่นมันเยอะจนแบบพอทำตามแล้วออกมาเละ ทั้งที่เราก็ขายขนมมาพักใหญ่แล้วนะ ทำไมเราไปทำตามทฤษฎีของเขาที่มันมีความเป๊ะ แต่ออกมาเละ ก็เลยไม่ทำตามทฤษฎีแต่ใช้ความรู้สึก ใช้มือ ใช้สัมผัสที่เรามีนี่แหละ ชัวร์สุด ก็เลยออกมาเป็น Bake by Feel

 

SME ONE : ทุกวันนี้ถือว่าธุรกิจมั่นคงหรือยัง จากการที่ขับรถตระเวนขายมา 2 ปี

ผอบพร : ถ้ามี 3 ระดับ เมย์ว่ามันมั่นคงในระดับ 1 ครึ่ง มั่นคงในที่นี้ก็คือ ตราบใดที่เรา 2 คนยังมีแรงทำอยู่ไม่เป็นอะไรไปมันยังคงมั่นคง เพราะว่าเราไป x กับร้านต่าง ๆ ที่เขามั่นคงอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ เขาลงทุนเปิดร้าน เขาคงไม่ได้ปิดภายใน 1-2 เดือนอยู่แล้ว บางครั้งก็เปิดมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แล้วเขาก็ยังคงรอที่จะให้เรากลับไป เพราะว่าทุกครั้งที่เราไปมันไปช่วยเพิ่มยอดขาย มันแบบว่าไปทำให้ร้านเขาได้ยอดเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า 

แต่ว่าความไม่มั่นคงมันอยู่ตรงที่ว่าตราบใดที่เรายังหาตัวแทนมาแทนเราไม่ได้ หรือว่าจัดการระบบที่แบบเราเองเป็นคนทำ 100% ไม่ได้ อันนี้ยังไม่มีความมั่นคงถึงขั้น 100% ก็ยังพยายามคิดและพัฒนากันอยู่ว่าวันหนึ่งที่เราจะต้องหยุดเดินทางด้วยตัวเองจะทำอย่างไร ในเมื่อเราเองก็ยังอยากไปเจอเพื่อน ๆ ในแต่ละที่ คือพอมันไปมันก็เกิดความผูกพันแบบเป็นเพื่อน หรือเป็นพี่เป็นน้องกัน เหมือนกลับไปเยี่ยมญาติ เหมือนกลับไปเยี่ยมเพื่อน เราก็ยัง

อยากทำอย่างงั้น แต่ว่าวันหนึ่งมันก็ต้องหยุด มันไม่มีทางเดินทางได้ขนาดนี้เราก็ต้องหาวิธีให้ได้ 

 

SME ONE : มีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

ผอบพร : ถ้าคร่าว ๆ เลย ตอนนี้เรายึดหลักอยู่ที่ภาคอีสานใช่ไหม ก็คงคิดเริ่มต้นง่าย ๆ ก่อนว่ามันคงจะต้องมีหน้าร้านที่เป็นระบบครัวอยู่ที่ใจกลางอีสานสักที่หนึ่งอาจจะเป็นจังหวัดขอนแก่น เสร็จแล้วใช้วิธีกระจายรถออกไป กระจายสินค้าจากที่เดียวโดยที่สินค้ายังสดใหม่ อาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ก็ยังไม่เคยลอง อันนี้ยังเป็นแค่ความคิดคร่าว ๆ ที่เราคิดกัน เพราะว่าเรื่องคุณภาพ ถ้าปล่อยออกจากที่เดียวกันจะมีคุณภาพ แต่ทีนี้เราแค่ส่งคนไปขาย เพื่อให้ร้านต่าง ๆ ที่เขารออยู่ และลูกค้าเราตามที่ต่าง ๆ เขาได้กินเหมือนเดิม 

แต่เราหยุดเดินทางก็เหมือนทิ้งลูกค้าไปเลย เพราะลูกค้าบางคนเราไปอยู่ 7 วัน เขาก็กิน 7 วัน หรือบางคนแบบก่อนที่เราจะกลับ เขาก็สั่งไว้เลย 10 ถาดเพื่อแช่ฟรีซไว้ คือเราทิ้งไม่ลงจริง ๆ ถ้าจะให้เราหยุดอะไรอย่างงี้ เราก็เลยคิดว่าแบบมันจะเป็นไปได้ไหมแต่เราก็คงต้องใช้เงินเยอะ อันนี้ก็คือเป็นความคิดที่แบบอนาคต 

SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Bake by Feel นับจากนี้ไป

ผอบพร : เรื่องท้าทายตอนนี้ที่ใกล้ ๆ เลยก็คือตั้งใจจะขับรถข้ามภาคกัน เราอยู่ในอีสานมาจะ 2 ปีแล้ว แล้วเราตอนนี้มันมีร้านที่เราคุย ๆ กันไว้ในกรุงเทพ 2 ที่แล้วก็มีที่จังหวัดชุมพร แล้วก็ภูเก็ต กับสุราษฎร์ เราเลยตั้งใจกันว่าประมาณเดือนกันยายน เราจะเริ่มเข้ากรุงเทพฯ เสร็จแล้วก็จะต่อลงใต้ไปซึ่งอันนี้ท้าทายสุดแล้ว เพราะว่าในอีสาน เราค่อนข้างเป็นที่รู้จักแล้วแต่ภาคอื่นยัง เราเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ ทั้งผู้คน ทั้งอะไรก็ตาม เราเป็นคนอีสาน ยังไงเราอยู่ในอีสาน เราก็อุ่นใจอยู่แล้ว แต่อันนี้คือไปไกลเลยไม่มีใครรู้จักเลยก็ค่อนข้างจะท้าทาย และแอบหวั่น ๆ เราจะใช้วิธีเหมือนเดิม ก็คือเราไปที่ไหนแล้วเราก็จะหาที่ใกล้ ๆ ไปต่อ 

 

SME ONE : อยากให้คุณเมย์ให้คำแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs

ผอบพร : จากประสบการณ์ เมย์ว่าอันดับแรกมันต้องเริ่มต้นที่คุณภาพสินค้า เมย์เชื่อมาก ๆ ว่าไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ขายได้ แต่ขอแค่ให้ทำสิ่งนั้นจริง ๆ เพราะของของเมย์ต่อให้เมย์เดินทาง หรือว่ามีความเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่คืออยู่บนรถบัส แต่ถ้าอาหารของเมย์ไม่ดี และไม่อร่อยมันก็จะไม่ถูกบอกต่อ มันก็จะไม่ได้ไปต่อ เมย์อาจจะจบตั้งแต่เดือนแรกที่เมย์เดินทางก็ได้ แต่ว่าสินค้าของเมย์อย่างที่บอกเราขายอย่างจริงใจ ชีสก็คือชีส แบบว่าเมนูนี้มันราคาเพิ่มก็ต้องเพิ่มราคา ก็คือคุยกันตรง ๆ ลูกค้ารับได้ก็ซื้อรับไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ อันนี้คือรู้เลย เหมือนมันแทบจะไม่มีลูกเล่นอะไรเลยในสินค้าเรา 

เมย์คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าเขารู้สึกสบายใจที่เขาจะจ่ายเงินซื้อแล้วพอเขาสบายใจ เรากลับไปอีกรอบเขาก็ยังกิน เขาก็ยังบอกต่อ อันดับแรกน่าจะเริ่มต้นจากสินค้าไม่ว่าจะเป็นอะไร จะเป็นลูกชิ้นทอดก็ได้แต่ทอดให้มันไม่มีน้ำมันอมได้ไหม คือแบบสร้าง Signature ของสินค้าออกมา แล้วก็ทำให้มันสุด ประมาณนั้นเลย แล้วจะขายอยู่แค่อย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องแปลกใหม่ก็ได้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Bake by Feel มาจากประสาทสัมผัสทางธุรกิจที่ไวจนมองเห็นโอกาสทางการตลาดตั้งแต่ทดลองขับรถขายในครั้งแรกของคุณโอ๊ตและเมย์ เมื่อมารวมกับความจริงใจในการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบคู่ค้า แต่มองเป็นพันธมิตรในการช่วยกันสร้างธุรกิจและยอดขาย จึงทำให้ Bake by Feel ได้รับการตอบรับทั้งจากพาร์ทเนอร์ในส่วนของร้านอาหารในทุกพื้นที่ รวมถึง Bake by Feel ยังมีแฟนคลับที่เหนียวแน่นคอยติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ทั่วภาคอีสาน จึงทำให้มีลูกค้าประจำที่เฝ้ารอสั่งพิซซ่าและขนมปังเป็นจำนวนมาก

บทความแนะนำ

บุญธิดาฟาร์ม กับภารกิจ สร้างนวัตกรรมผ่าน “สาหร่ายพวงองุ่น”

SME One บุญธิดาฟาร์ม

บุญธิดาฟาร์ม กับภารกิจ

สร้างนวัตกรรมผ่าน “สาหร่ายพวงองุ่น”

 

“สาหร่ายพวงองุ่น” เป็นพืชน้ำที่อยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน เช่น ในภูมิภาคอาเซียนไปจนถึงจีนตอนใต้ และบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสาหร่ายพวงองุ่นถูกขนาดนามว่าเป็น “Super Food” เพราะมีคุณสมบัติพิเศษเรื่องของกรดอะมิโน และมีโปรตีนสูง ที่สำคัญคือ เป็นแพลนต์เบส โปรตีน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์อาหารของโลก

ประเทศไทยก็เริ่มมีกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดที่ติดทะเลที่หันมาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ทั้งแบบที่ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาเกลือ นากุ้ง และทำเป็นอาชีพหลัก

SME One มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณวนัสพงษ์ ทรหด ผู้จัดการทั่วไป บุญธิดาฟาร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และมีการวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างจริงจัง เพื่อหวังที่จะสร้างมูลค่า และปั้นให้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทยผ่านคำว่า “นวัตกรรม”

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ บุญธิดาฟาร์ม เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

วนัสพงษ์ : จริง ๆ ผมเป็นผู้จัดการ และตัวฟาร์มเป็นลักษณะของบริษัท ด้วยความบังเอิญเจ้าของบริษัทเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับขายฝากที่ดิน แล้วก็มีคนเอาที่ดินแปลงนี้มาขายฝาก พอเจ้าของบริษัทเขาได้ที่ดินตรงนี้มาก็คิดว่าจะทำอะไรดี บวกกับเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว น่าจะประมาณปี 2007 สาหร่ายพวงองุ่นกำลังเป็นที่นิยม เป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับจังหวัดเพชรบุรี เหมาะกับพื้นที่แถว ๆ นี้ และด้วยความที่พื้นที่เป็นบ่อทะเลอยู่แล้ว ได้โลเคชั่นที่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำในส่วนนี้ เขาก็เลยลองดูว่าทำแล้วจะเวิร์คไหม ก็เลยลองทำตลาดสาหร่ายพวงองุ่นกันดู

 

SME ONE : เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่มีความรู้มาก่อนเลยใช่หรือไม่

วนัสพงษ์ : ใช่ครับ ด้วยความที่เจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ทำด้านการเกษตรมา ตัวผมเองก็ไม่ได้จบเกษตรด้วย ตัวผมจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความบังเอิญที่ผมมีเพื่อนจบด้านประมงมา เพื่อนก็เลยสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ แต่เราก็เข้าหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ในส่วนของประมงอะไรพวกนี้ หานักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้ แล้วก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตประกอบกัน เพราะฉะนั้นต้องถือว่าเริ่มจากศูนย์เลย ไม่รู้อะไรเลยแม้กระทั่งระบบเกี่ยวกับทะเล เราก็ไม่รู้เรื่องเลย ต้องหาเอาเอง ตอนนั้นเรื่องสาหร่ายพวงองุ่นไม่ได้ใหม่แค่เรา แต่ใหม่สำหรับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ซึ่งทางคนที่นำมาเผยแพร่เขาไปดูงานจากญี่ปุ่นมา

 

SME ONE : ตอนที่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินมีสินค้าทางเลือกอื่นหรือไม่ แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกสาหร่ายพวงองุ่น 

วนัสพงษ์ : สาเหตุที่เลือกตัวนี้เพราะว่ากำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังค่อนข้างได้รับความนิยม และโลเคชั่นทุกอย่างเหมาะสม เราก็คิดว่าสาหร่ายพวงองุ่นนี้น่าจะเหมาะกับการทำที่นี่มากที่สุด ที่นี้ในระยะแรก ๆ ในการทำสาหร่ายพวงองุ่นมันมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องของการเลี้ยง การปลูก การดูแล โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่งที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะกับประเทศไทย เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน สาหร่ายพวงองุ่นค่อนข้างมีปัญหาเวลาขนส่งในอากาศที่ร้อน ๆ ห้ามแช่ตู้เย็น ห้ามเปิดฝาทิ้งไว้ ห้ามตากแดด ชอบอุณหภูมิปกติประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงมีปัญหาเวลาหน้าร้อนขนส่งจากเพชรบุรีไปเชียงใหม่ สินค้าเสียหาย เก็บได้ไม่ถึง 2 วันก็เสีย ส่งไปไกล ๆ ต่างจังหวัดมากไม่ได้ แม้กระทั่งที่นี่เองเก็บข้ามวันก็มีปัญหาค่อนข้างบ่อยในช่วงหน้าร้อน สาหร่ายพวงองุ่นจึงไม่สามารถทำได้ทั้งปี ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในน้ำทะเลก็ตาม มันอยู่ได้ดีในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงหน้าหนาวช่วงต้นปี 

เมื่อก่อนจะมีที่เกษตรกรเขาแพ็คขายที่ใส่กล่องใส ๆ ตามท้องตลาด ขายคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด มีแบบนั้นค่อนข้างเยอะ ทีนี้เรามองแล้วว่าการขายสดมันไม่ตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืน อย่างแรกคือปัญหาเรื่องการขนส่ง การเก็บรักษาไม่สามารถทำได้ทั้งปี เราก็เลยมองว่ามันต้องมีนวัตกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้สาหร่ายอยู่ได้ทั้งปี เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าเรามีสินค้าขายได้ทั้งปี มันก็ทำให้เราอยู่ได้ เราก็เลยหันมาพัฒนาสินค้าที่เป็นลักษณะของการบรรจุใส่กระปุกสามารถเก็บได้ประมาณ 2 ปี  

 

SME ONE : สาหร่ายพวงองุ่นมันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรถึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 

วนัสพงษ์ : จากข้อมูลหลายๆ แหล่งนะครับ คุณสมบัติพิเศษส่วนมากจะเป็นในเรื่องของกรดอะมิโน มีโปรตีนค่อนข้างสูง เป็นแพลนต์เบส โปรตีนซึ่งเป็นทางเลือกที่ดี สารอาหารสำคัญค่อนข้างเยอะ เรียกว่าเป็น Super Food ก็ว่าได้ เพราะมีธาตุอาหารค่อนข้างเยอะ ปกติสาหร่ายจะมีธาตุอาหารค่อนข้างมากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นสาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายทะเลแล้วด้วย ก็ยิ่งมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เด่นก็คือมีกรดอะมิโน แล้วก็มีไฟเบอร์ค่อนข้างสูง 

 

SME ONE : ต้นกำเนิดของสาหร่ายพวงองุ่นมาจากประเทศอะไร

วนัสพงษ์ : ที่เด่นๆ คือเริ่มจากญี่ปุ่น เมืองโอกินาวาที่เขามีการพัฒนาทำในเชิงพาณิชย์ที่แรกในโลก น่าจะหลาย 10 ปีแล้ว แต่สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่อยู่ในเขตร้อนในธรรมชาติอยู่แล้ว ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราเหมือนจะไปดูงานที่โอกินาวา ทางกรมประมงก็ไปศึกษาดูงานว่าเอามาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างไร เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้กับชาวบ้านที่ทำนาเกลือ เพื่อมาเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรจะได้มีรายได้เสริมจากทางอื่นนอกจากการทำนาเกลือ เขาก็เลยเอามาผนวกกับการทำนาเกลือทำบ่อกุ้งอะไรพวกนี้ ทางภาคใต้ก็พอจะมี แต่ต้องไปหาตามแหล่งธรรมชาติ น่าจะประมาณ 10 ปีที่ไทยนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง 

ส่วนในเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่าต้นกำเนิดที่กรมประมงเอามาเพาะพันธุ์ให้ที่นี่จริง ๆ เอามาจากญี่ปุ่นเลย หรือเอามาจากในพื้นที่ของเรา เพราะมันค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมากกว่า ว่าจะโตออกมาดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สักเท่าไหร่ 

 

SME ONE : การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น บริษัททำคนเดียวเลยหรือเป็นกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่

วนัสพงษ์ : จริง ๆ จุดเริ่มต้นของบุญธิดาฟาร์ม เราตั้งใจอยากให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ของผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการตลาด เรื่องของการควบคุมคุณภาพ การแบ่งปันข้อมูล เราพยายามตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่มันค่อนข้างเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เราก็เลยค่อนข้างทำคนเดียวอยู่ ที่ฟาร์มเราเป็นฟาร์มอินทรีย์ เราก็พยายามเอาฟาร์มเอาระบบของเราเข้ามาตรฐานให้มันอยู่ในมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราก็ได้มาหมดแล้ว ทั้ง อย. ฮาลาล และฟาร์มอินทรีย์อะไรพวกนี้ 

แต่เราก็ยังมีเครือข่ายที่เป็นชาวบ้าน เป็นลูกฟาร์ม เราก็ติดต่อกันอยู่ ในอนาคตเราก็มองว่าน่าจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ คือถ้าฟาร์มเราไปได้ เราก็สามารถขยายเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกันได้ด้วยเหมือนกัน แต่อาจจะจะต้องดูนิดนึงว่าเขาทำฟาร์มเข้าเงื่อนไขหรือเปล่า คือจะต้องได้มาตรฐานตามที่เรารับได้ด้วย 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจกับปัจจุบันแตกต่างกันมากไหม

วนัสพงษ์ : แตกต่างค่อนข้างเยอะมาก ๆ อย่างแรกคือเรื่องราคา ในปีแรกที่เริ่มต้น ราคาสาหร่ายพวงองุ่นไปถึงราคากิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท เรียกว่าเป็นสินค้าพรีเมียมเลย ช่วงแรกเป็นช่วงตลาดค่อนข้างบูม อาจจะเป็นของแปลกใหม่ด้วย กระแสค่อนข้างดี ราคาก็เลยสูง แล้วก็หลังจากนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันตีว่าไม่เกิน 10 ปี ราคากิโลกรัมตอนนี้อยู่ที่ 100-120 บาท เหตุผล คือ 1. ได้รับความนิยมน้อยลง 2. มีคนทำขายเยอะขึ้นจน Over Supply ด้วยส่วนหนึ่ง และกลุ่มลูกค้าไม่ได้เติบโตไปตามกระแส คือตอนแรกเหมือนอารมณ์ของใหม่แล้วคนอยากลอง 

สาหร่ายมันมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า เหมือนบ้านเราก็ไม่ได้ทานสาหร่ายกันเป็นปกติใช่ไหมครับ เพราะมีของกินค่อนข้างหลากหลาย สาหร่ายไม่ได้อยู่ในเมนูหลักของบ้านเราเยอะ ความรู้ในเรื่องของการรับประทานก็เลยไม่เยอะ แล้วตัวนี้ก็ยังมีเรื่องที่คนไม่ทราบ คือก่อนจะทานสาหร่ายพวงองุ่น จะต้องนำไปแช่น้ำจืดเพื่อลดความเค็มก่อน เพราะว่าสาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายทะเล ดังนั้นจะมีความเค็มอยู่ ก่อนรับประทานต้องเอาไปแช่น้ำจืดเพื่อจะลดความเค็มลง เพื่อให้อยู่ในความเค็มที่เรากินได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้พบกับลูกค้าหรือคนที่รับประทานสาหร่ายพวงองุ่น เกิน 50% ไม่รู้เรื่องนี้ และมีประสบการณ์การทานที่ไม่ดี คือรู้สึกว่าทำไมมันเค็มมาก ทำไมมันมีกลิ่นคาวมาก ทำไมท้องเสีย ประสบการณ์นี้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีเยอะ ทำให้เขาไม่กินอีกเลย เกิน 50% เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีและไม่คิดจะกินอีกเลย อันนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าน้อยลง 

อีกส่วนหนึ่งพอ Over Supply มันก็เกิดปัญหาเดิม ๆ ของเกษตรกรบ้านเรา ก็คือเรื่องของการตัดราคา แล้วด้วยความที่สาหร่ายพวงองุ่นจัดการกับตัววัตถุดิบค่อนข้างยาก เก็บรักษายาก ขนส่งยาก ทำให้การขยายตลาดก็ยากเข้าไปใหญ่ มันก็เลยมีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทานกันอยู่ เล็กมาก ๆ ความต้องการก็เลยไม่ได้เยอะ การรับรู้เรื่องนี้ก็ค่อนข้างน้อย ทุกวันนี้ตลาดก็เลยค่อนข้างซบเซาลงไปเรื่อย ๆ 

 

SME ONE : กลุ่มที่เป็นลูกค้าที่ซื้อไปกินที่บ้าน กับที่ซื้อไปแปรรูป อย่างไหนเยอะกว่ากัน 

วนัสพงษ์ : ถ้าเป็นช่วงที่เราทำแรก ๆ จะมีคนรับซื้อเป็นกิโล ๆ ไปแล้วก็ไปแบ่งขายให้กับลูกค้าย่อย ๆ ตามตลาดนัดอะไรพวกนี้ ตามร้านอาหารก็ค่อนข้างเยอะ แต่พอเราแปรรูป มันแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งก็จริง แต่มันก็มีปัญหาใหม่ของเราก็คือเราต้องไป Educate ตลาดใหม่กับสินค้าใหม่ของเรา ก็กลายเป็นเรื่องยากแบบที่ 2 อีก 

 

SME ONE : บุญธิดาฟาร์มเคยร่วมมือกับร้านอาหารหรือเชฟดัง ๆ นำสาหร่ายพวงองุ่นไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเพื่อให้คนรู้จักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่

วนัสพงษ์ : เคยครับ ในปีแรก ๆ ที่ฟาร์มเราจัดการแข่งขันเลย ให้เชฟมารังสรรค์เมนูจากสาหร่ายพวงองุ่น แล้วก็เอาเมนูพวกนั้นขึ้นไปในเว็บไซต์ด้วยว่าทำอะไรได้บ้าง มีให้ดูเลยว่าใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เราก็พยายามเข้าร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ ซึ่งแรก ๆ ก็เป็นที่นิยมในร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ แต่ด้วยการเก็บรักษาที่ยาก เขาก็เลยเลิกสั่งไปค่อนข้างเยอะ แล้วเขาก็ไม่กลับมาใช้กันอีก เพราะเขารู้สึกว่ายุ่งยากจะเพิ่มไปทำไมประมาณนั้น 

 

SME ONE : คิดว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร

วนัสพงษ์ : ในมุมมองของผมมองว่า ในตอนนี้มี 2 ส่วนที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน คือเรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค การประชาสัมพันธ์ การทำการตลาด ให้ผู้บริโภครู้ว่าสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีเป็นอย่างไร อีกด้านหนึ่งคือฝั่งของผู้ผลิตเองจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน ถ้าเราทำสินค้าออกมาไม่ได้คุณภาพ เช่น ไม่สะอาด ผู้บริโภคนำไปบริโภคก็จะเหม็น ท้องเสียอะไรแบบนี้ ก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าหายไป 

ดังนั้นทางออกต้องทำไปพร้อม ๆ กันทั้งสองด้าน คือผู้ที่เลี้ยงทำฟาร์มสาหร่ายเองก็ต้องรักษาคุณภาพ ทั้งในเรื่องของความสะอาดและมาตรฐานในการเลี้ยง จริง ๆ สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชบำบัดน้ำ สิ่งที่สำคัญก็คือแหล่งน้ำกับความสะอาดของน้ำที่นำมาใช้เลี้ยง ถ้าเรานำไปเลี้ยงในที่ ๆ ปนเปื้อนเคมี หรือนำน้ำที่มีการปนเปื้อน เช่น น้ำจากบ่อกุ้งที่มีการใส่เคมีลงไปอะไรพวกนี้ อันนี้จะไม่ดีกับผู้บริโภค ซึ่งแหล่งที่มาของสาหร่ายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและต้องให้ความสำคัญ ผู้บริโภคจะต้องดูว่าสาหร่ายที่เราซื้อมารับประทานมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือเปล่า หรือต้องตรวจสอบว่ามาจากที่ไหน 

เท่าที่ผมทราบมา กลุ่มผู้เลี้ยงหลายกลุ่มก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานในการเลี้ยง เพราะเขาก็เข้าใจปัญหา เราก็เริ่มผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามาในระบบมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของการเลี้ยง ในเรื่องของความสะอาดเพื่อให้ตัวสินค้ามีคุณภาพ 

ในส่วนที่ประชาชนเขาเจอประสบการณ์ไม่ดี มันเหมือนพลุที่จุดไปแล้ว แล้วดับไปแล้ว อันนี้อาจจะเป็นงานที่ค่อนข้างยากกว่า ถ้าคุณยังไม่เคยกินแล้วมาลองกิน มันยังง่ายกว่าคนที่เคยกินแล้วเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี มันเลยเป็นโจทย์สำคัญเหมือนกันที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการเลือกทานสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีมันจะต้องเลือกแหล่งที่มาด้วย ดังนั้นจะต้องมีการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์กันมากเหมือนกัน คิดว่าภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น่าจะต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเขาเข้าใจในตัวสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้น

 

SME ONE : ช่วง COVID-19 ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

วนัสพงษ์ : ด้วยความที่เราเป็นลักษณะของบริษัท เราก็เลยมีวิชั่นอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่เหมือนกับกลุ่มชาวบ้าน ที่เขามองว่าเป็นการหารายได้เสริมหรือรายได้หลัก แต่เราจะมองในลักษณะของความคุ้มค่า คือมองหลาย ๆ ด้านมากกว่า Product ที่เรานำมาแก้ปัญหาในตอนแรก ในเรื่องของการเก็บรักษา การขนส่ง ดูเหมือนจะตอบโจทย์แล้ว จากปัญหาที่แช่ตู้เย็นไม่ได้ ผมทำให้แช่ตู้เย็นได้ การขนส่งที่อยู่ในที่ร้อนไม่ได้ เราทำให้มันอยู่ในที่ร้อนได้ ส่งได้เป็นเดือนเลย เราเคยส่งไปเยอรมันนีด้วย สามารถส่งข้ามประเทศได้หลายที่ แต่มันก็ยังไม่เวิร์ค 

ด้วยความที่เราใช้เวลาพัฒนามา 2-3 ปี แล้วปีที่เราพร้อมที่จะเปิดตัวออกมาก็เป็นช่วงที่ก่อน COVID-19 เข้ามาในช่วงพักเดียว ในตอนแรกที่เราเปิดตัว Product ขึ้นมา มีหลายชาติเข้ามาพูดคุยสนใจไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย อาหรับเอมิเรตส์ก็มี มีหลายชาติเข้ามาคุยสนใจเยอะมาก หลังจากนั้นไม่นาน COVID-19 ก็มา ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด เพราะปัญหาการเดินทาง มันก็เลยไม่ได้ไปต่อ เรียกว่าหยุดไปเลยเหมือนกัน ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะเปิดตลาดพอดี

หลังจาก COVID-19 ซา เราก็ค่อย ๆ ทำตลาด เราก็ต้องไป Educate ตลาดเพิ่มเติม เพราะสินค้าของเราไม่ใช่สินค้าที่คนเคยเห็นแบบซื้อเป็นแพ็คใส ๆ มีสาหร่ายอยู่ในนั้น ของเราจะเป็นลักษณะใส่กระป๋องเล็ก ๆ คล้าย ๆ ปลากระป๋อง มันจะมีวิธีในการทานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก มันไม่ได้ Ready to eat มันจะต้องเอามาแช่น้ำเพื่อลดความเค็มอีกนิดนึง ซึ่งมันค่อนข้างขัดกับโลกสมัยนี้ เท่าที่ผมสังเกตโลกสมัยนี้ ต้องการอะไรค่อนข้างง่าย สะดวก เร็ว ประหยัดเวลา มันเลยอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับปัจจุบันนี้ 

จริง ๆ เรามีเคยส่งไปเยอรมันนี 2 ครั้ง เขาก็พยายามไปทำตลาดที่ยุโรปเหมือนกัน เขาให้ทางพาณิชย์จังหวัดมาดูว่าเรามีตัวตนจริงหรือเปล่า เพราะทางเยอรมันนีค่อนข้างจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ทางเขาเองก็ไม่ได้สั่งไปเยอะมาก สั่งไปทดลองตลาด เขาก็อาจจะเจอปัญหาคล้าย ๆ เรา คนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้สะดวก มันก็เลยอาจจะนำตัวนี้ไปสู่ลูกค้าค่อนข้างยาก เราก็พยายามผลักดันตัวนี้มาประมาณ 2-3 ปีได้

 

SME ONE : แบบนี้มีโอกาสที่จะกลับไปขายแบบเดิมหรือไม่

วนัสพงษ์ : เรามองว่า Product ของเราอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่เหมาะกับเวลานี้ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนา Product ใหม่เพิ่มขึ้นมา ก็คือยังคงเป็นสาหร่ายพวงองุ่น แต่เป็น Product ใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิม อันนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% อยู่ในช่วงที่กำลังวิจัยพัฒนาอยู่ 

แนวคิดในกาพัฒนาสินค้าใหม่นี้ก็คือ จากที่เราลองทานของเดิมเรารู้สึกว่า ของที่มันต้องไป Educate ตลาดเพิ่ม มันยาก การรับรู้ของผู้คนมันต้องใช้เวลา กว่าเขาจะชิน กว่าเขาจะยอมรับ กว่าเขาจะรับรู้ เราก็เลยมองว่าควรจะเป็นของที่ Ready to eat เลย เป็นของที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว เป็นลักษณะเหมือนขนม เราไม่ต้องสอนว่าอันนี้คือขนม คนแกะกินได้เลย เราไม่ต้องไปสอนว่าต้องกินอย่างไร ถือเป็นวัตกรรมใหม่ มองว่าตัวนี้น่าจะตอบโจทย์กว่า ณ ตอนนี้สินค้าตัวนี้คาดว่าจะพร้อมในการผลิตในปีหน้า 

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเราเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

วนัสพงษ์ : ที่ปรึกษาบ่อย ๆ ก็จะเป็นกรมประมงในเรื่องของการเลี้ยง แล้วก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าหลายหน่วยงานเหมือนกัน ทั้งเรื่องการตลาด การพัฒนา ส่วนใหญ่ก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด เพราะตอนนั้นก็หาตลาดหาลูกค้า ไปหลาย ๆ โครงการ ไปแมชชิ่งไปจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ก็ไปหลายครั้งอยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ หลังจากที่เราไปแมชชิ่งบ่อย ๆ ทางผู้ซื้อก็มองอะไรที่มันง่าย เขาต้องการอะไรที่มันขายได้เลย ไม่ต้องสอน เท่าที่เราไปคุยมาเขาต้องการของที่พร้อมกินได้เลย 

SME ONE : มองว่าจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

วนัสพงษ์ : ตอนนี้สินค้าเดิมเราก็ยังไม่ได้ทิ้ง แต่อาจจะคงไว้ก่อน วันหนึ่งมันอาจจะมาตอบโจทย์ทีหลังก็ได้ ตอนนี้เราก็ไปโฟกัสที่ Product ใหม่ ที่เราค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะไปได้ดีกับยุคนี้ เท่าที่เราคุยผู้บริโภคยุคนี้ค่อนข้างต้องการอะไรที่สะดวก อร่อย เราก็เลยมองว่าอันนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี ตัวสาหร่ายบรรจุเราก็ไม่ได้เลิกไป ก็ยังมีอยู่ เพราะวันหนึ่งตัวนี้อาจจะกลับมาทีหลังก็ได้ 

ผมเคยคุยกับอาจารย์ที่อยู่ในส่วนของการพัฒนา Product เขาบอกก็มีเหมือนกันที่มี Product พัฒนามา 4-5 ปี ขายไม่ได้เลย แต่อยู่มาวันนึงก็ขายได้ ของบางอย่างมันอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่ใช่เวลา เราก็เลยเก็บไว้ก่อน วันหลังอาจจะกลับมาก็ได้ 

 

SME ONE : ตอนที่ทุกอย่างเริ่มกลับสู่ปกติ จะกลับไปมองธุรกิจส่งออกอีกหรือไม่

วนัสพงษ์ : เราก็มองว่าสินค้าเราก็เหมาะกับการส่งออกเหมือนกัน แต่เท่าที่ลองแมทชิ่งดู เขาก็ยังต้องการในลักษณะพร้อมทานอยู่ ก็อาจจะไปลุยส่งออกอีกรอบกับสินค้าตัวใหม่เลย 

 

SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของบุญธิดาฟาร์ม

วนัสพงษ์ : ตอนนี้ความท้าทายก็น่าจะเป็นตัว Product ใหม่ มันจะทำออกมาได้ดีอย่างที่เราคิดไว้หรือเปล่า แต่จากการทดสอบกันเองในกลุ่มเล็ก ๆ ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดี ก็เลยมองว่าตัวนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีของเราได้

 

SME ONE : อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs

วนัสพงษ์ : ผมมองว่าในแต่ละปี แต่ละยุคสมัย ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ ผมคิดว่าบางอย่างมันไม่ได้สำเร็จง่ายก็อาจจะต้องลุยไปกับมันสักพักนึง หาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มันจะไปได้ บางทีเราอาจจะคิดมาดีแล้ว แต่พอไปลงสู่โลกจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด มันอาจจะเป็นคนละอย่างเลยก็ได้ 

ผมมองว่ามันไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าคุณทำแบบนี้แล้วมันจะได้แบบนี้ เราอาจจะต้องคลุกคลีกับมันเพื่อหาโอกาสของเราเองว่า สุดท้ายแล้วเราจะหยิบฉวยโอกาสแบบไหนให้เราได้ แต่ละธุรกิจอาจจะมีทั้งเหมือนกันและไม่เหมือนกัน บางสิ่งบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสู้กับมันได้แค่ไหนมากกว่า และทำจนกว่าจะสำเร็จ

 

บทสรุป

ถ้ามองในเชิงธุรกิจของบุญธิดาฟาร์มก็คงต้องเรียกว่ายังอยู่ในช่วงของการลงทุน และพัฒนาสินค้าให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากสาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา หลายคนยังไม่ค่อยรู้จักแพร่หลาย 

ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการและภาครัฐจำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อสร้างสร้างการรับรู้ และสร้างตลาดให้เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากภูมิประเทศในหลายจังหวัดของประเทศไทยก็เหมาะสมที่จะใช้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และด้วยคุณสมบัติของสาหร่ายพวงองุ่นที่เรียกว่าเป็น Super Food ก็มีโอกาสที่จะผลักดันให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าได้

บทความแนะนำ